วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2010, 14:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทำบุญแบบพุทธ
พระไพศาล วิสาโล


ถ้าถามว่าทำบุญอย่างไรให้ได้บุญ ตอบอย่างชัดๆง่ายๆก็คือว่า ทำงานศพอย่างที่ทำอยู่ในวันนี้ จะได้บุญมาก ปกติแล้วเวลาเรามางานศพ เราก็อยากจะทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไป แต่ว่าส่วนใหญ่ไม่รู้จักวิธีการทำบุญในงานศพอย่างถูกต้อง คิดว่ามาฟังพระสวดและถวายปัจจัยไทยทานแก่พระก็เป็นบุญแก่ผู้ตายแล้ว

การที่เจ้าภาพได้จัดงานศพอย่างที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ คือมีการจัดการบรรยายเป็นธรรมทาน อาตมาคิดว่าเป็นวิธีการทำบุญที่ได้บุญอย่างแท้จริง เพราะว่าเป็นการทำให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตจิตใจ คือเรื่องธรรมะ อันนี้จัดว่าเป็นบุญเป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง และถ้าหากว่าเราต้องการทำบุญให้ยิ่งไปกว่านี้ เราก็ควรจะคิดว่าทำอย่างไร เราจึงจะทำบุญให้เกิดแก่ผู้ที่ล่วงลับไปนั้น จากไปเพียงแต่ร่างกายแต่ใจหรือวิญญาณก็ยังรับรู้ได้อยู่ อาจจะไม่ชัดเจนเหมือนกับตอนที่มีชีวิตอยู่ ใจที่ยังรับรู้อยู่นี้ คือใจที่ยังไม่ไปเกิดในภพหน้า ยังรับรู้อยู่ว่าเกิดอะไรขึ้นในภพที่เพิ่งจากมา แต่เป็นอย่างลางๆ ไม่ชัดเจน ถ้าเรามางานศพ เรามาด้วยจิตใจที่เป็นบุญ มาด้วยจิตใจที่เป็นกุศล แล้วก็น้อมจิตแผ่เมตตาไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไป อันนั้นก็จะเกิดประโยชน์

ปกติแล้ว เวลามางานศพเรามาโดยไม่ได้คิดว่าการกระทำของเรานั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปอย่างไรบ้าง แต่ถ้าหากทุกท่านมางานศพด้วยใจที่สำรวมก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไป เพราะว่าความสงบความสำรวมใจของผู้ที่มางานศพอาจจะแผ่ไปถึงผู้ที่ล่วงลับไปได้ เมื่อผู้ตายรับรู้ความสงบ โดยเฉพาะเมื่อรับรู้ว่าลูกหลานญาติมิตรและคนรักสามัคคีกัน วิญญาณผู้ตายก็พลอยสงบไปด้วย จึงอาจน้อมไปสู่สุคติได้

แต่ส่วนใหญ่เราไม่เข้าใจว่าบุญหมายถึงอะไร คนไทยนั้นนึกว่าบุญเหมือนกับบัตรสะสมโชค รู้จักไหมโยมบัตรสะสมโชค บัตรสะสมโชคนั้น พอสะสมได้มาก ก็ไปแลกเอาของสมนาคุณได้ คนไทยมักจะเข้าใจบุญในแง่นี้ คือบุญที่เป็นบัตรสะสมโชค ลองมาพิจารณาดูว่าเราคาดหวังอะไรบ้างจากบุญ สิ่งที่คาดหวังจากบุญคือความร่ำรวย ความมีทรัพย์สมบัติ ความมั่งมี เราคิดเพียงเท่านั้น นี่ก็ไม่ต่างจากเวลาเราอยากได้ของสมนาคุณ เราทำอย่างไรบ้าง เราก็มักไปศูนย์การค้าตามที่เขาโฆษณาว่า ที่นั้น ที่นี้ มีบัตรสะสมโชคเยอะๆ เพื่อแลกของ ในทำนองเดียวกัน เวลาเราอยากได้บุญเยอะๆ เราทำอย่างไร เราก็คิดว่าต้องไปที่ๆมีการแจกบุญมากๆ หรือเพิ่มบุญเยอะ นั่นคือต้องไปทำบุญกับพระ ต้องไปทำบุญกับเกจิอาจารย์บุญถึงจะเพิ่มพูน และเมื่อสะสมบุญแบบนี้มากเข้า ก็หวังว่าจะรวยหรือถูกหวยในเวลาไม่นาน

สิ่งที่เราคาดหวังจากบุญนั้น ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการมีทรัพย์สินเงินทองมากๆ แต่เราไม่ได้คิดเลยว่า บุญ ตามความหมายที่แท้จริง หมายถึงการชำระใจให้สะอาด การชำระใจให้ผ่องแผ้ว ถ้าเราทำบุญแล้วเราไม่ได้ทำใจของเรา ให้โปร่งเบา หรือชำระจิตของเราให้สะอาด อันนั้นก็เป็นบุญที่แท้ไม่ได้

การทำบุญด้วยหวังผลดลบันดาล คือ ให้ร่ำรวย มีชื่อเสียง หรือว่ามีหน้ามีตา มียศศักดิ์ มีอำนาจ อันนั้นเป็นบุญแบบบัตรสะสมโชค ไม่ใช่บุญที่แท้จริงในทางพุทธศาสนา บุญในทางพุทธศาสนาจะต้องก่อให้เกิดผล ๒ อย่าง ประการหนึ่ง คือ มีผลต่อจิตใจ คือทำใจให้สงบ ทำใจให้เป็นสุข และขณะเดียวกันก็ทำใจให้สะอาด ถ้าเราทำบุญด้วยความโลภ อยากได้ผลตอบแทน หรือทำบุญเหมือนสะสมโชค อันนั้นจะได้บุญน้อย

ประการที่ ๒ บุญที่แท้จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย ถ้าทำบุญแล้ว คนอื่นไม่ได้ประโยชน์ หรืออานิสงส์ไม่เกิด ไม่แผ่ไปถึงผู้อื่น อันนั้นก็เป็นบุญไม่ได้ เช่น มีความเข้าใจว่า ทำบุญด้วยการไปเช่าวัตถุมงคลแล้ว ก็สามารถไปดูดทรัพย์จากคนอื่นได้ การไปดูดทรัพย์อย่างนี้เป็นการไปเบียดเบียนผู้อื่น จะเรียกเป็นบุญที่แท้ในทางพุทธศาสนาไม่ได้ ขอให้พิจารณาเวลาทำบุญว่า ถ้าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น แล้วไม่ก่อให้เกิดความสงบใจ หรือช่วยลด ช่วยละกิเลสในจิตใจของเราแล้ว ก็ให้เข้าใจว่านั่นไม่ใช่บุญ

คนสมัยก่อน ที่เขาใส่บาตร หรือว่าสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างวิหาร และก็เชื่อว่าเป็นการทำบุญ เพราะว่าการทำเช่นนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย นอกเหนือจากการลดละความเห็นแก่ตัว สมัยก่อนวัดเป็นของชุมชน เวลามาทำบุญในงานศพ ชาวบ้านเอาของมาถวายให้แก่วัด เขาไม่ได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของพระเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ของชุมชนด้วย เพราะเวลาชาวบ้านจะยืมช้อน ยืมจาน ยืมชาม ยืมเก้าอี้ ก็มายืมจากวัด หรือไม่ก็มาใช้ประโยชน์จากศาลาการเปรียญ ซึ่งก็เป็นประโยชน์สำหรับชุมชน เพราะว่าสมัยก่อนวัดเป็นทั้งสถานศึกษา สถานพยาบาล และสถานพบปะของชุมชน แต่เดี๋ยวนี้เราไปติดอยู่ที่ว่า ทำบุญแล้วต้องทำกับวัด และก็ทำด้วยจิตใจที่จะหวังผล อยากจะมั่งมีในชาตินี้ หรือไปเกิดบนสวรรค์ในชาติหน้า ทำบุญแบบนี้ไม่ได้ช่วยทำจิตใจให้เกิดความเบา ไม่ได้ช่วยลดละกิเลส และขณะเดียวกันในระยะหลังมันก็ไม่ค่อยเป็นประโยชน์แก่ชุมชนเท่าไร เพราะวัดกับชุมชนเหินห่างกันมากขึ้น

ที่จริงบุญนี้ มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยากหรือว่าลึกลับซับซ้อนอะไรเลย ถ้าเราเข้าใจบุญจริงๆแล้ว เราก็จะรู้ว่า เราสามารถที่จะทำบุญได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ช่วยเหลือผู้อื่น ก็เป็นบุญ ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีในฐานะที่เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นหลาน ก็เป็นบุญ ซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การงาน ก็เป็นบุญ หรือว่าดำรงตนโดยไม่ไปหมกมุ่นกับอบายมุข นี่ก็เป็นบุญ ฉะนั้น บุญเราทำได้ทุกเวลา ถ้าเราทำหน้าที่ของเราให้ดีในฐานะที่เป็นพ่อ เป็นแม่ ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นเพื่อนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อันนั้นก็เป็นบุญแล้ว แต่เราไม่เข้าใจบุญตรงนี้

อาตมาเคยนึกเล่นๆถ้าหากว่าอาตมาเป็นบุญ ก็คงจะอดน้อยใจไม่ได้ที่ว่า คนส่วนใหญ่ละเลยบุญ ไม่รู้จักบุญ เราอยากจะได้บุญ แต่ว่าไปเอาสิ่งอื่นมาเป็นบุญแทน ในทางพุทธศาสนา บุญทำได้ ๓ ระดับ ระดับแรก เรียกว่า ทาน เป็นเรื่องของการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น จะช่วยเหลือใครก็แล้วแต่ อันนั้นถือว่าเป็นทานได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องช่วยด้วยการให้เงิน เราช่วยด้วยการสละเวลา ด้วยการสละกำลัง ก็เป็นบุญแล้ว บางทีคนไปเข้าใจว่า ทานนี่ ต้องให้แก่คนขอทาน หรือทานนี่ ต้องหมายถึงสังฆทานเท่านั้น ถึงจะเป็นบุญ ไม่ใช่ การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ตลอดจนการตอบแทนผู้มีพระคุณ เช่น พ่อ แม่ หรือว่าการบูชาคุณครูบาอาจารย์ หรือว่าการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นทาน เป็นบุญในส่วนแรก คือการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น

ส่วนระดับที่ ๒ คือการประพฤติปฏิบัติ เรียกว่า ศีล ก็คือมีความสุจริต การทำการงานอย่างสุจริต แต่บางครั้งแม้จะทำงานทำการด้วยความสุจริตแล้ว บุญก็ยังไม่ครบถ้วนเพราะว่ายังไปเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการคิดร้าย หรือว่าระบายอารมณ์ใส่ผู้อื่น อันนี้เป็นการเบียดเบียนซึ่งทำให้ศีลไม่ครบถ้วน เพราะฉะนั้น นอกจากการทำการงานด้วยความสุจริตแล้ว เราก็ต้องไม่คิดที่จะเบียดเบียน หรือไม่กระทำการใดที่เบียดเบียนผู้อื่น แม้แต่เพียงด้วยวาจา ทีนี้บางคนทำการงานด้วยความสุจริตแล้ว ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา ไม่ระบายอารมณ์ใส่ผู้อื่น ด้วยความเป็นคนเจ้าอารมณ์แล้ว แต่ก็ยังอาจจะหมกมุ่นอบายมุข ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบเล่นการพนัน ชอบเล่นหวย อันนั้นก็ยังเป็นบุญที่ครบถ้วนไม่ได้ ต้องครบ ๓ อย่าง คือทำการงานด้วยความสุจริต ไม่คดโกง ไม่คิดเอาเปรียบเบียดเบียนใคร แม้แต่ด้วยวาจา แล้วก็ดำเนินชีวิตโดยไม่ไปหลงอยู่ในอบายมุข อันนี้ถึงจะเป็นบุญที่ครบถ้วนในฝ่ายศีล ถ้าหากเราทำ ๓ อย่างนี้ได้ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ ให้รู้ไว้ว่า นี่ก็เป็นบุญ

บุญประการที่ ๓ คือการทำข้างใน คือจิตใจของตัวเอง ให้เกิดความสงบ ให้มีปัญญา เวลาทำงานทำการด้วยสติ ทำแล้วเกิดสมาธิ มีความขยันหมั่นเพียร นี่ก็คือการฝึกฝนจิตใจ ที่ทางพระเรียกว่า ภาวนา ก็เป็นบุญอีกเหมือนกัน ถ้าเรามีอุบายในการทำจิตไม่ให้โกรธ เวลากระทบกับสิ่งที่ไม่พึงพอใจ มีคนมาด่า มีคนมาว่า หรือประสบการพลัดพราก การสูญเสีย เหล่านี้แล้วประคองจิตไว้ให้เป็นปกติ ไม่เศร้าโศกเสียใจ รู้จักปล่อย รู้จักวาง รู้จักมองในแง่ดีว่า สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ ช่วยฝึกฝนให้เรามีความเข้มแข็ง ให้เราเกิดปัญญา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นภาวนาได้เหมือนกัน ถือว่าเป็นบุญอีกอย่างหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า เรื่องการทำบุญในทางพุทธศาสนาเราทำได้ตลอดเวลา เราทำได้ทุกที่ เราทำได้แม้แต่อยู่ในบ้าน เราทำได้แม้แต่อยู่คนเดียว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องไปหาพระ จะต้องไปทำสังฆทานที่ไหน การทำสังฆทาน การทำบุญกับพระ ก็ดีมีประโยชน์ แต่ว่าให้เข้าใจว่าบุญนั้น ทำได้มากมายหลากหลาย ประเด็นสำคัญคือทำบุญแล้ว จะต้องเกิดประโยชน์ ๒ อย่างพร้อมกัน ก็คือว่า ช่วยทำให้ใจสงบ ผ่องแผ้ว ช่วยทำให้ใจเบา ช่วยลดละกิเลส และอันที่ ๓ คือ เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น จะเห็นได้ว่าการทำบุญ ๓ ประการที่อาตมาว่ามาเมื่อกี้ คือ ทาน ศีล ภาวนา ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นพร้อมกัน เช่น การให้ทาน ถ้าเราให้ทานก็จะเป็นการลดละกิเลส ลดละความโลภ และทานที่เราทำก็เป็นประโยชน์ เป็นอานิสงส์ต่อผู้อื่นด้วย หรือเวลาเรามีศีลศีลนั้นก็ช่วยทำให้ใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ เพราะว่าเราไม่ไปเบียดเบียนใคร มันก็เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย คือ เกิดความเป็นอยู่ที่สงบร่มเย็นในสังคม ในชุมชน ในครอบครัว ในบ้าน การภาวนาก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราทำใจให้รู้จักปล่อยวาง ทำใจให้สงบ ทำใจให้เป็นปกติ ขยันขันแข็งในการทำงาน หรือว่ารักษาจิตไม่ให้เศร้าหมอง คนที่อยู่ข้างเคียงก็พลอยได้รับความสงบเย็น พลอยได้รับอานิสงส์จากเราด้วย

ระยะหลังการทำบุญของคนไทยเรานี้ มักจะมองข้ามประโยชน์ที่เกิดแก่ผู้อื่น เวลาทำบุญ เราคิดแต่จะเอา จะเอา จะเอา และเป็นการเอาในเชิงวัตถุ แต่ว่ามันไม่ช่วยขัดเกลาจิตใจเรา และสิ่งที่เราทำนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย เช่น เวลาจัดงานบุญ งานบวช งานแต่งงาน บางทีมันไปก่อความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตอื่น เช่น ฆ่าสัตว์ หรือบางทีมีการกินเหล้าเมายากัน ก็ทะเลาะกันเบียดเบียนกัน แล้วคิดไปว่านี่คือการทำบุญ ที่จริงมันไม่ใช่

อาตมาก็พูดไปแล้วว่าบุญมี ๓ ประการ โดยจำแนกตามลักษณะการทำบุญ แต่ยังมีการแบ่งประเภทของบุญอีกแบบหนึ่งโดยจำแนกตามบุคคลที่ได้รับบุญซึ่งก็มี ๓ เหมือนกัน คือ ๑ . ทำบุญต่อตัวเอง ๒ . ทำบุญต่อผู้อื่น ๓ . ทำบุญต่อสังคม อาตมาคิดว่า ๓ อย่างนี้ ถ้าทำให้ครบถ้วนจะเป็นบุญมาก ทำบุญต่อตัวเอง ก็เช่นว่า การไม่มอมเมาตัวเองด้วยยาเสพติด ไม่มอมเมาด้วยอบายมุข เวลานี้เรามอมเมาตัวเองด้วยสิ่งเหล่านี้มากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นการพนัน การละเล่น ยาเสพติด ยาบ้า หวย หรือว่าความบันเทิงที่ทำให้ลุ่มหลง อันนี้ก็เป็นการมอมเมา เวลานี้คนติดอบายมุขมากเหลือเกิน จนเมืองไทยกลายเป็นเมืองอบายมุข แสดงว่าเราไม่รู้จักการทำบุญให้แก่ตัวเอง

การทำบุญให้แก่ตัวเองมีอีกหลายอย่าง นอกจากจะไม่มอมเมาตัวเองด้วยอบายมุขแล้ว ก็รู้จักหาสิ่งดีงามมาใส่จิตใจ เช่น ฟังธรรมะ หรือว่ามองสิ่งต่างๆในแง่ดี รู้จักวิธีระงับความโกรธ ทำจิตใจให้เป็นปกติ ให้มีความสุขสงบเย็น หรือว่า การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ให้ชีวิตยุ่งเหยิงวุ่นวายมาก เวลานี้คนส่วนมากมักใช้ชีวิตให้ลำบากซับซ้อน ทำตัวเองให้ยุ่งเหยิง จนกระทั่งไม่มีเวลาให้กับตัวเอง หรือครอบครัว เราเอาของอะไรก็ไม่รู้ มาใส่ปากท้องของเรา มาใส่ใจของเราทั้งที่มันไม่เป็นประโยชน์เยอะแยะไปหมด แม้กระทั่งความโกรธ ความเกลียด เราก็เอามาใส่จิตใจเรา แล้วก็ถอนไม่ได้ เราต้องรู้จักถอนด้วยการภาวนา

ส่วนการทำบุญต่อผู้อื่นก็ได้แก่ การทำบุญให้แก่คนยากคนจน และไม่ใช่แค่ทำกับคนเท่านั้น กับธรรมชาติเราก็ต้องรู้จักทำบุญให้ด้วย ด้วยการไม่เอาเปรียบ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รู้จักวิธีใคร่ครวญพิจารณาว่า ทำอย่างไรถึงจะมีชีวิตที่ไม่ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้น้ำ เรารู้หรือไม่ว่า การใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอย่างไรบ้าง เวลาเราใช้ไฟฟุ่มเฟือยเรารู้หรือไม่ว่าทำให้คนจำนวนมากต้องพลัดที่นาคาที่อยู่เพราะต้องสร้างเขื่อน หรือไม่ก็ต้องทำให้สัตว์มากมายต้องล้มตาย เพราะว่าป่าถูกทำลายไป เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักทำบุญให้แก่ผู้อื่นอย่างถูกต้องด้วย โดยการพิจารณาว่า การใช้ชีวิตของเราแต่ละวันๆไปเบียดเบียนเอาเปรียบใครหรือเปล่า

การทำบุญต่อสังคม ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะเรามักจะมองข้ามสังคมหรือส่วนรวมไป การทำบุญต่อสังคมเช่นว่า นอกจากการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ถึงลูกถึงหลานของเราแล้ว ต้องรู้จักเอาใจใส่เรื่องสาธารณสมบัติด้วย สมบัติของส่วนรวมมีหลายอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่น แม่น้ำ ลำคลอง ภูเขา ทะเล หรือว่า เงินหลวง เงินราชการ ส่วนที่เป็นนามธรรมเช่น วัฒนธรรม ประเพณี เหล่านี้เราต้องช่วยกันรักษาไว้ อะไรที่ทำให้วัฒนธรรม ประเพณี เสื่อมโทรม เราก็ต้องหาทางป้องกันแก้ไข หรือเวลามีการคอรัปชั่นขึ้นมาก็ต้องหาทางปกป้องคัดค้าน ไม่ให้มีการคอรัปชั่น อย่างที่ปีที่ผ่านมามีหลายท่านพยายามต่อต้านการทุจริตยา นี่ก็ถือว่าเป็นการช่วยรักษาสาธารณสมบัติ ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง

การทำบุญต่อส่วนรวมที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การทำบุญให้แก่ศาสนา ศาสนาเป็นทรัพย์สมบัติของสังคม เป็นทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษและจะสืบต่อไปยังลูกหลาน เราต้องช่วยกันรักษาไว้ เวลานี้ พุทธศาสนากำลังเสื่อมโทรมมาก ไม่ว่าจะปรากฏเป็นข่าวคราวทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ดังนั้นเราต้องช่วยกันรักษาพุทธศาสนา คนไทยหรือชาวพุทธไทยมักคิดว่า ศาสนาเป็นเรื่องของพระ ไม่อยากจะยุ่ง ศาสนาจะเสื่อมโทรมอย่างไร จะมีการหลอกเอาศาสนามาเป็นประโยชน์ส่วนตัวอย่างไร หรือว่าจะมีการทำศาสนาให้วิปริตผิดเพี้ยนไปอย่างไร เราก็ไม่สนใจ ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ อันนี้ไม่ถูก เราต้องรู้จักทำบุญกับศาสนาด้วย ด้วยการทำนุบำรุงศาสนาให้เจริญ

เวลานี้ บ้านเราจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูพุทธศาสนา ต้องมีการปฏิรูปพุทธศาสนากันอย่างจริงจัง เรื่องนี้จึงต้องอาศัยกำลังของชาวพุทธไทยทุกๆคน ที่จะต้องมาร่วมกันทำบุญแบบนี้ แต่ก่อนคนไทยก็ทำบุญให้แก่ศาสนาด้วยการสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างพระพุทธรูป สร้างพระไตรปิฎก แต่สมัยนี้ของเหล่านี้มีเยอะเกินไปแล้ว สิ่งที่เรายังขาดอยู่คือตัวธรรมะ หรือความรู้ความเข้าใจในธรรมะรวมทั้งการรักษาพระธรรมวินัย ให้ถูกต้องให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อันนี้ต้องอาศัยกำลังชาวพุทธทุกคน

อาตมาอยากจะฝากทิ้งท้ายไว้ว่า เราจะต้องช่วยกันรักษาสมบัติของส่วนรวม โดยเฉพาะพุทธศาสนา ต้องหาทางทำให้พระสงฆ์หรือคณะสงฆ์ของเราดีขึ้น ต้องช่วยกันทำ อะไรที่จะทำให้การเผยแผ่ธรรมะเป็นไปอย่างถูกต้อง เราต้องทำ ใครที่ทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการประพฤติตัวไม่ถูกต้อง ทำลายพระธรรมวินัย ก็ต้องช่วยกันปกป้อง แก้ไขไม่ให้มีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้น ถ้าทำเช่นนั้นได้ก็เรียกได้ว่าเป็นบุญ .

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร