วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 23 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 00:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธชินราช : ปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบสุโขทัยตอนปลาย หล่อด้วยสำริดลงรักปิดทอง
ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้ว ณ พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) จ.พิษณุโลก]



ก า ร ห ล่ อ พ ร ะ

เรื่อง “หล่อพระ” นี้มุ่งให้ผู้อ่านได้ทราบถึง
กรรมวิธีในการสร้างพระพุทธรูปโดยวิธีแบบโบราณ
ซึ่งมีความยากลำบาก และสลับซับซ้อนมาก
อันเป็นการบ่งบอกถึงความเจริญก้าวหน้าทางอารยธรรมของบรรพบุรุษ
และยังผลให้ลูกหลานได้รับมรดกอันดีงามนี้
ไว้ใช้ในการประกอบอาชีพช่างหล่อสืบต่อมาตราบเท่าปัจจุบัน


ผู้เขียนซึ่งเป็นลูกหลานชาวช่างหล่อคนหนึ่ง
จึงคิดที่จะเขียนวิธีการหล่อพระขึ้นไว้
ก่อนที่มรดกชิ้นนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงสูญสลาย หรือถูกลืมไป
เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้แล้ว
ก็เลยขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักชาวบ้านช่างหล่อพอสังเขป

กล่าวกันว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านช่างหล่อ
เป็นชาวกรุงศรีอยุธยา มีอาชีพช่างหล่อแต่เดิมมา

ภายหลังเมื่อกรุงศรีอยุธยาสูญเสียแก่พม่า
และได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่กรุงธนบุรี
ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ย้ายติดตามมาด้วย
และได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนนำอาชีพช่างหล่อมาดำเนินชีวิต
ประกอบอาชีพอยู่ในละแวกตรอกบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย

ข้อพิสูจน์นี้สืบได้ว่าชาวบ้านในละแวกนี้มีอาชีพเดียวกันหมด
และเป็นเครือญาติพี่น้องสืบสกุลต่อเนื่องกันมา

อาทิเช่น สกุลพวกช่างปั้น ช่างเททอง ช่างขัด
ช่างลงรัก ปิดทอง ช่างติดกระจก

ทุกคนต้องมีความสามัคคีกันจึงจะร่วมงานกันได้ด้วย
แต่ละงานต้องอาศัยความชำนาญเป็นสำคัญ
หากขั้นตอนของช่างทำพลาดหรือขาดฝีมือ งานจะล้มเหลว


ซึ่งท่านผู้อ่านจะได้ทราบในเนื้อเรื่องเอง
ปัจจุบันโรงงานทั้งหมดในเขตตำบลบ้านช่างหล่อนี้มีราว ๒๐-๓๐ โรงงาน
ผลงานที่ทำคือพระพุทธรูป พระบรมรูปพระราชบิดา และอนุสาวรีย์ต่างๆ เป็นต้น

การสร้างพระพุทธรูปนั้นชาวบ้านมักจะเรียกว่า
การหล่อพระ หรือ การทำพระ


ในการเขียนเรื่องนี้จะพยายามนำคำศัพท์ของชาวบ้านมาใช้ทั้งหมดเท่าที่จะทำได้
ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์คงไว้ซึ่งภาษาโบราณของชาวช่างหล่อ
ซึ่งยังคงใช้กันอยู่ในหมู่พวกช่างหล่อทั้งหลายในปัจจุบัน

นอกจากนี้จากการได้สอบถามภาษาศัพท์ที่ชาวบ้านใช้
กับของทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรปรากฎว่า
ส่วนใหญ่ใช้คำศัพท์เช่นเดียวกัน
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าคนงานของโรงงานหล่อกรมศิลปากร
ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านช่างหล่อเกือบทั้งสิ้น

รูปภาพ
[พระนาคปรก ๙ เศียร : ต้นแบบเพื่อจัดสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก
๙ เศียร สูง ๖๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๓๒ เมตร พุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์
ของวัดอ้อน้อย จ. นครปฐม เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล
เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 01:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ : ปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบอยุธยาตอนปลาย ทรงเครื่องแบบมหาจักรพรรดิราชาธิราช
หล่อด้วยสำริด พระเศียรตอนเหนือของพระนลาฏสามารถเปิดออกได้ และถอดพระเกตุมาลาได้
ภายในพระเศียรเป็นบ่อกว้าง ลึกลงไปเกือบถึงพระศอมีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลา
และไม่เคยเหือดแห้งไป ปรากฏมหัศจรรย์อยู่เช่นนี้ตลอดมาเป็นระยะเวลานับร้อยปี
ประดิษฐาน ณ อุโบสถ วัดตูม ต.วัดตูม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา]



โดยประวัติการกำเนิดพระพุทธรูปนั้น
ได้มีการพบหลักฐานเกี่ยวกับบรรดาศิลปวัตถุสถานอันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ณ ประเทศอินเดียสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ในราว พ.ศ. ๒๗๐-๓๑๑
พระองค์เลี่อมใสในพระพุทธศาสนามาก
จนถึงกับยกพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประเทศ

แต่อินเดียในสมัยนั้นยังคงห้ามมิให้ทำรูปคนสำหรับเคารพบูชา
คือไม่ทำรูปพระพุทธองค์เป็นรูปมนุษย์
กลับมาทำรูปอื่นๆ เป็นสัญลักษณ์แทน


รูปภาพ

เช่น ปางประทานปฐมเทศนา ทำเป็นรูปธรรมจักรและกวางหมอบ
อันหมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อแสดงปฐมเทศนาในป่ามฤคทายวัน

และปางมหาภิเนษกรมณ์ ซึ่งเป็นรูปม้าผูกเครื่องไม่มีคนขี่เหล่านี้เป็นต้น

รูปพระพุทธองค์ที่ทำเป็นแบบรูปมนุษย์เกิดขึ้นภายหลังพุทธศตวรรษที่ ๖
เป็นฝีมือช่างแคว้นคันธาระ
และช่างเมืองมถุราในประเทศปากีสถานและอาฟกานิสถานปัจจุบัน
จากนั้นก็เกิดสกุลช่างอีกสกุลหนึ่งทางภาคใต้ของอินเดียที่เมืองอมรวดี

แต่กระนั้นก็ยังมีนักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า

พระพุทธรูปแรกเกิดขึ้นในรัชกาลพระเจ้ากนิษกะ
ระหว่าง พ.ศ. ๖๖๒-๗๐๖ เป็นฝีมือช่างกรีกโรมัน
เชื่อว่าได้รับอิทธิพลและพวกช่างมาจากทางเอเชียตะวันตก

รูปภาพ
[แผนภาพแสดงวิวัฒนาการทางพุทธศิลป์ หรือพุทธลักษณะของพระพุทธรูป
จำแนกแต่ละยุคสมัยตามภูมิภาคของสยามประเทศ ดังนี้ :

ศิลปะยุคทวาราวดี : พบที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย
ศิลปะยุคศรีวิชัย : พบที่บริเวณภาคใต้
ศิลปะยุคลพบุรี : พบที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ศิลปะยุคเชียงแสน-ล้านนา : พบบริเวณภาคเหนือตอนบน
ศิลปะยุคสุโขทัย : พบที่บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
ศิลปะยุคอู่ทอง : :พบที่บริเวณภาคกลาง
ศิลปะยุคอยุธยา : พบที่บริเวณภาคกลาง
ศิลปะยุครัตนโกสินทร์ : พบที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย]




เหตุที่ได้สร้างพระพุทธรูปภายหลังพุทธปรินิพพานมานานนี้เอง
จึงอนุโลมสร้างแบบขึ้นตามมหาปุริสลักษณะ
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาและตามที่ตำรากล่าวกันไว้


เพื่อเป็นพุทธานุสติให้บุคคลได้เห็นรูปพระองค์ท่าน
แล้วระลึกถึงท่านผู้เป็นเจ้าของศาสนา
ให้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
โดยมิได้คำนึงที่จะทำให้เหมือนพระองค์โดยแท้


เมื่อมีผู้นิยมสร้างทำกันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
ได้ทำเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ หลายปาง

ความหมายของปางหมายถึงเรื่องตอนนั้นๆ ในพระพุทธประวัติ
หรืออาจหมายถึงท่าทางอิริยาบถ

ในประเทศไทยเริ่มจากสมัยทวารวดีมีราว ๑๐ ปาง
สมัยศรีวิชัยที่พบมี ๖ ปาง
สมัยลพบุรีที่พบมี ๗ ปาง
สมัยเชียงแสนมี ๑๐ บาง
สมัยสุโขทัยมี ๘ ปาง
สมัยอยุธยามี ๗ ปาง
และสมัยรัตนโกสินทร์มีถึง ๔๐ ปาง

ปัจจุบันมีพระพุทธรูปต่างๆ ในประเทศไทย
รวมแล้วมีประมาณไม่น้อยกว่า ๕๐ ปาง


รูปภาพ
[พระหริภุญชัยบรมโพธิสัตว์ : ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร พุทธศิลป์ล้านนาแบบหริภุญชัย
(ทรงเครื่อง) วัสดุสำริด ประดิษฐาน ณ พระระเบียง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 01:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระศรีศากยมุนี : ปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบสุโขทัย หล่อด้วยสำริดลงรักปิดทอง
เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๕
ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์บรรจุพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ประดิษฐาน ณ พระวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ]



เรื่องราวของการหล่อพระพุทธรูปในประเทศไทยในสมัยแรก
เริ่มก่อนสมัยสุโขทัยนั้นไม่ปรากฎความแน่ชัด
ศิลปวัตถุเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่าที่พบในประเทศนั้น
มีตั้งแต่สมัยดั้งเดิมซึ่งสร้างขึ้นตามคติแบบอินเดียเก่า

คือ รูปธรรมจักรและกวางหมอบ มาตลอด
จนถึงพระพุทธรูปแบบ อมรวดี คุปตะ ปาละ และทวารวดี
ซึ่งค้นพบที่จังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี
อุบลราชธานี และนครปฐม โดยลำดับ

รูปภาพ
[พระพุทธรูปที่มีลักษณะพุทธศิลป์แบบทวาราวดี]


อย่างไรก็ดีพระพุทธรูปเหล่านี้ส่วนมากเป็นรูปศิลา
มีที่เป็นรูปสัมฤทธิ์อยู่บ้างแต่เป็นขนาดเล็ก
ตราบจนถึงสมัยสุโขทัยจึงได้มีการหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่
ซึ่งงดงามยิ่งขึ้นมากดังเป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้ว

จึงเชื่อกันว่า วิธีการหล่อพระในประเทศไทยได้ตั้งหลักมั่น
และเริ่มสร้างกันแพร่หลายแต่ครั้งนั้น

ในบรรดาผู้เกี่ยวข้องในการหล่อพระเรียกว่าเป็นพวกช่างทั้งนั้น
การจะสร้างพระได้แต่ละองค์
จะต้องใช้ช่างหลายประเภทร่วมมือกันด้วย
มีน้อยมากที่คนๆ เดียวทำได้หมดและได้ดี


ช่างแต่ละงานมีความชำนาญกันไปในหน้าที่ของตน
ความชำนาญนี้เป็นความสามารถของช่างแต่ละประเภท
อันได้แก่ ช่างปั้น ช่างเททอง หรือช่างหล่อ ช่างลงรักปิดทองและช่างตัด

การทำพระจัดแบ่งออกได้เป็นพวกทำพระใหญ่ และทำพระเล็ก
ความใหญ่ของพระนี้วัดขนาดจากหน้าตักเป็นนิ้วหรือเป็นศอก

หากพระขนาด ๒๐ นิ้วขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นพระใหญ่
ซึ่งโดยมากทำการหล่อเพื่อเป็นพระประธานในโบสถ์หรือวิหาร
มากกว่านำไปบูชาตามบ้านเรือน


ในการหล่อพระจะมีการแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท

๑. งานพวกช่างปั้น (ช่างรูป)
๒. งานช่างเข้าดิน
๓. งานช่างเททองหรือช่างหล่อ
๔. งานช่างขัด และช่างรักปิดทอง


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 15:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธสิหิงค์ : ปางสมาธิ พุทธศิลป์แบบลังกา ขนาดหน้าตัก ๖๖ ซม. สูง ๙๑ ซม.
หล่อด้วยสำริด สร้างขึ้นโดยกษัตริย์องค์หนึ่งจากเมืองลังกาอัญเชิญมากรุงสุโขทัย
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ กรุงเทพฯ]



:b44: ก า ร ปั้ น หุ่ น :b44:

ก่อนที่จะขึ้นหุ่นพระต้องมีการเตรียมดินที่จะใช้ปั้น
ในการเตรียมดินหุ่นมีวิธีการที่ยุ่งยากพอสมควร
สวนผสมของดินหุ่นคือดินเหนียวกับทราย

ดินเหนียวที่ใช้กันอยู่มาจาก อำเภอบางบัวทอง จังหวัดปทุมธานี
เพราะมีคุณภาพดีและเหมาะสมที่จะใช้
มีสีเหลืองเจือปนเรียกว่า ดินขี้งูเหลือม

เมื่อได้ดินแล้วจะนำมาตากให้แห้ง ทุบเป็นก้อนเล็กๆ
ใส่ลงในตุ่มหรือภาชนะที่ขังน้ำไว้เป็นการหมักดินในน้ำนี้เรียกว่าการแช่ดิน

รูปภาพ
[การแช่ดิน]


ถ้าแช่ไม่ดีดินจะเป็นไต เมื่อผสมกับทรายจะทำให้นวดไม่เข้ากัน

ดังนั้นการแช่ดินจึงเป็นกรรมวิธีสำคัญด้วยเหมือนกัน
เมื่อใส่น้ำลงไปในภาชนะที่แช่จะต้องใส่จำนวนดินให้พอดีกับน้ำในตุ่มหรือภาชนะที่ใส่
และต้องคอยดูแลน้ำไม่ให้แห้ง

การแช่ดินใช้เวลานานพอขนาดที่จะเห็นว่าเนื้อดินภายในน้ำเข้าซึมได้ทั่วถึงกันดี
สำหรับทรายนั้นนิยมใช้ทรายมอญ จาก ตำบลบางพูด จังหวัดนนทบุรี
และเขตติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี

ด้วยมีเม็ดทรายเล็กและละเอียด
แต่ในปัจจุบันทรายที่ว่านี้ไม่มีแล้ว
จึงต้องนำทรายที่ใช้ก่อสร้างมาร่อนเลือกเอาขนาดกลางไม่ละเอียดมากนัก
แต่ก็ไม่ได้หยาบแบบทรายที่ใช้ถมที่

รูปภาพ
[การร่อนทราย]


อัตราส่วนที่ใช้ผสมกับดินทำดินหุ่นนั้น
ใช้ดินเหนียว ๑ ส่วน ผสมทราย ๓ ส่วน
วิธีที่ผสมผสานให้เข้ากันได้ดีคือ
การนำมานวดผสมกับน้ำพอควร เรียกว่า เหยียบดิน


เมื่อเห็นว่าดินกับทรายผสมเข้ากันดี
โดยมองแยกดินเหนียวกับทรายไม่ออกแล้ว
จึงนำมาปั้นเป็นก้อนๆ ลูกเท่าผลส้มโอ
คือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๖ นิ้ว

ปั้นแล้วนำมาวางเรียงบนกระดาน
ซึ่งได้จัดสถานที่ไว้โดยใช้กระดานยกพื้น ปรับพื้นหน้าให้เรียบร้อย
ความกว้างใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดของพระที่จะทำ
แล้ววางดินเรียงเป็นรูปองค์พระเรียกว่า ขึ้นหุ่นพระ


รูปภาพ
[การขึ้นหุ่นพระ]
รูปภาพ
[เตรียมดินปั้นเป็นก้อนสำหรับขึ้นหุ่นพระ]


ในขั้นแรกนี้ ช่างปั้นหรือช่างรูป
จะขึ้นหุ่นพระพอมีรูปร่างเป็นเค้าเท่านั้น
ก้อนดินจะนำมาตั้งเป็นชั้นสูงขึ้นๆ
โดยมีเหล็กหรือไม้เป็นแกนกลางหรือเป็นหลัก
เพื่อให้ขึ้นหุ่นได้ดีเป็นการประคองก้อนดินให้เกาะไม่ให้ร่วนง่าย
และสะดวกในงานที่จะตบแต่งขึ้นเป็นองค์พระ

ส่วนการเข้าแขนพระเรียกว่า ออกแขน
จะใช้ลวดผูกเป็นโครงไว้ลองแขน


รูปภาพ
[เริ่มออกแขนพระ]


เมื่อหุ่นพระมีความแข็งหรือหมาดพอตกแต่งได้แล้ว
ก็จะเริ่มต่อเติมกันไปจนให้ได้ตามขนาดที่ต้องการของผู้ทำหรือผู้ว่าจ้าง
ในการทำชั้นนี้เป็นการทำหุ่นแกนใน
การทำหุ่นจะยึดถือความเที่ยงขนาด และมาตราส่วนเป็นสำคัญ

รูปภาพ
[พระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์ : ปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบล้านนา หล่อด้วยสำริด
ประดิษฐาน ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 15:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธอังคีรส : ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ พุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์
ขนาดหน้าตัก ๒ ศอกคืบ หรือ ๖๐ นิ้ว หล่อด้วยสำริด กะไหล่ทองคำ
ใต้ฐานพุทธบัลลังก์บรรจุพระบรมอัฐิบูรพกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ถึง ๔ รัชกาล
คือ รัชกาลที่ ๒, รัชกาลที่ ๓, รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ]



~ เครื่องมือที่ใช้ในการทำหุ่นพระนี้คือ ~

ระดับ มีไว้สำหรับวางถ้วยโลหะวัดระดับน้ำทำให้จัดพื้นฐานได้ความเที่ยงตรงไม่เอียง
ลูกดิ่ง ใช้ห้อยแบ่งความเที่ยงเส้นผ่าศูนย์กลางของกลางองค์พระ
วงเวียน ใช้วัดและแต่ง ด้านซ้ายขวาให้ได้ขนาดถูกต้อง
เขาควาย ใช้วัดองค์ และวัดเศียรให้เป็นไปตามสัดส่วนและขนาด
กราด เป็นไม้สักประดิษฐ์ขึ้นเอง มีซี่เป็นเป็นเหล็ก
ประดิษฐ์ไว้หลายแบบหลายขนาดใช้ซอนคุ้ยเขี่ย ตกแต่งหุ่นแกนดิน

รูปภาพ
[ลูกดิ่ง วงเวียน เขาควาย กราด มีด และไม้เสนียด]


การตกแต่งพระนี้ทำกันโดยยึดแบบลักษณะของพระโบราณที่เคยทำกันมาก่อน
เช่น แบบสุโขทัย แบบอู่ทอง แบบเชียงแสน แบบอยุธยา ฯลฯ

ในการคัดแบบจะเลือกหาองค์ที่เห็นว่างามของแบบและในสมัยนั้นๆ
แม้แบบจะเล็กหรือใหญ่ไปช่างปั้นก็สามารถย่อหรือขยายรูปให้ได้
ตามสัดส่วนและขนาดที่ต้องการ

ในการปั้นหุ่นมักจะเอารูปมาวางไว้เป็นตัวอย่าง
แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ที่เห็นใช้ภาพถ่ายเป็นแบบ

หลังจากจัดแต่งแกนจนเป็นที่พอใจแล้ว
จะเริ่มงานปั้นตกแต่งจนเป็นรูปปั้นเท่าสัดส่วนจริงตามที่ต้องการ
งานขั้นนี้นับว่าสำคัญเพราะรูปจะสวยหรือไม่ขึ้นอยู่กับช่างปั้นโดยแท้


ในการสร้างพระใหญ่นั้นจะไม่ป้นนิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาท พระกรรณ รัศมี
และเม็ดพระศกไปพร้อมกัน
แต่จะทำต่างหากแล้วนำมาติดต่อภายหลังในขณะที่เข้ารูปขี้ผึ้ง

รูปภาพ
[นายช่างขณะแต่งขี้ผึ้ง ปันนิ้ว และต่อพระหัตถ์]


เมื่อปั้นหุ่นได้ดีแล้วจะเริ่มงานตกแต่งโดยใช้กระดาษทราย ขัด ถู
เพื่อปรับให้พื้นราบเสมอกัน
จากนั้นจะทำรางและทำร่อง
เพื่อเป็นทางเดินของน้ำทองเมื่อเวลาเททอง

เส้นรางนี้จะแบ่งอยู่กลางองค์จากเศียรถึงฐาน
แล้วผ่าตรงระหว่างกลางลงมารวมทั้งด้านข้างทั้งสองข้าง
ส่วนตามองค์จะทำคล้ายก้างปลาทำให้น้ำทองที่เทวิ่งไหลได้รวดเร็วขึ้น

เมื่อทำรางเรียบร้อยแล้วขั้นต่อไปจะใช้ ดินมอม
อันหมายถึงดินเหนียวผสมขี้เถ้าถ่าน
ซึ่งคนโบราณใช้แกลบเผาไฟแล้วเอาขี้เถ้าของแกลบมาผสมกับดินเหนียว

แต่ปัจจุบันใช้เถ้าถ่านจำพวกแกรไฟร์ผสมกับดินเหนียวแทน
โดยละลายกับน้ำให้ใสพอสมควร
กวนผสมให้เข้ากันดีแล้วจึงนำมาทาให้ทั่วองค์หุ่น

การใช้ดินมอมทานี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการปกปิดผิวทรายที่ปั้นไว้มิให้ทรายร่วง
และทำให้รูปหุ่นมีผิวแกนแข็งขึ้น ไม่หลุดเมื่อเมื่อเททองก่อนเข้าขี้ผึ้ง
ทั้งทำให้ทองวิ่งได้สะดวกเมื่อเททองด้วย

หลังจากทาดินมอมแล้วจะใช้ขี้ผึ้งอุดรางทางเดินทั้งหมด
แล้วทำความสะอาดหุ่นที่ได้ทำการมอมดินนั้นไว้
นำไปผึ่งให้แห้งแล้วทาด้วยเทือก
ที่องค์หุ่นพระนั้นให้ทั่วองค์เพื่อรอการเข้าขี้ผึ้งต่อไป

การปั้นหุ่นของกรมศิลปากรแตกต่างกับการปั้นหุ่นพระของชาวบ้าน
ตรงที่ใช้ดินเหนียวหรือดินน้ำมันตกแต่งทำรูปทั้งหมด
ทั้งนี้เพราะในการปั้นรูปเหมือนนั้น
จำเป็นจะต้องตกแต่งโครงสร้างของหน้าและรูปรอยต่างๆ ให้ละเอียดกว่ารูปพระ


หากใช้ดินทรายหุ่นรูปจะทำให้ลำบากในการตกแต่ง
จึงต้องใช้ดินเหนียวปั้นหุ่น และถอดพิมพ์ด้วยปูนปาสเตอร์ แล้วนำทำหุ่นขี้ผึ้ง
ส่วนการทำหุ่นขี้ผึ้งก่อนเททองนั้นจะมีวิธีการเหมือนชาวบ้านทำทุกประการ

รูปภาพ
[พระพุทธเทวปฏิมากร : ปางสมาธิ พุทธศิลป์แบบอยุธยา
หล่อด้วยสำริดลงรักปิดทอง ใต้ฐานชุกชีชั้นที่ ๑ บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ (บางส่วน)
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 18:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธโลกนาถ ราชมหาสมมติวงศ์ องค์อนันตญาณสัพพัญญู สยัมภูพุทธบพิตร :
ปางห้ามสมุทร พุทธศิลป์แบบอยุธยา หล่อด้วยสำริดปิดทอง ขนาดสูง ๒๐ ศอก
ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศตะวันออก มุขหลังชั้นใน
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ]



:b44: ก า ร เ ข้ า ขี้ ผึ้ ง :b44:

การเข้าขี้ผึ้งหรือบุขี้ผึ้งในขั้นนี้
นับว่าเป็นงานฝีมือสำคัญของช่างรูปอย่างหนึ่ง
ผู้เข้าขี้ผึ้งต้องชำนาญในการใช้ขี้ผึ้ง มิฉะนั้นจะเสียเวลาเปล่า


รูปภาพ
[การเคี่ยวขี้ผึ้ง]


เมื่อนำขี้ผึ้งที่เคี่ยวได้ที่ดีแล้ว
นำมาบดในแบบไม้สักซึ่งจะให้มีความหนาบางเท่าใดนั้น
แล้วแต่แบบที่ต้องการและความเหมาะสมของขนาด
ขององค์พระเล็กและพระใหญ่ที่หุ่นนั้น

เสร็จแล้วนำขี้ผึ้งที่บดเป็นแผ่นมาบุที่องค์พระจนทั่ว
แล้วขูดแต่งทำพื้นองค์พระให้เกลี้ยง
ช่างผู้เข้าขี้ผึ้งจะตกแต่งพระพักตร์เพิ่มเติม
ปั้นนิ้วพระหัตถ์ ปั้นนิ้วพระบาท
และลวดลายอื่นๆ เพิ่มตามต้องการจนสำเร็จ

ความหมายบางของขี้ผึ้งเท่ากับความหนาบางของทอง
ที่เทเป็นองค์พระออกมาแล้ว
การตกแต่งใช้ไม้เสนียดมาเกลี่ยแต่งตามซอกตามุมพระเนตร และแต่งเล็บ
หรือกล่าวได้ว่าแต่งส่วนละเอียดปลีกย่อยทั้งหลายให้ชัดเจน

แล้วจึงติดเม็ดพระศก ตามเศียรจนดูสวยงาม
สิ่งที่นำมาติดแต่งภายหลัง คือ นิ้วมือ หู และจมูก
พวกที่กล่าวนี้จะปั้นด้วยขี้ผึ้งตัน

รูปภาพ
[พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ :
พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบมหาจักรพรรดิราชาธิราช ปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบสมัยอยุธยาตอนปลาย
หล่อด้วยโลหะสำริดหุ้มทอง ประดิษฐาน ณ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา]



หุ่นขี้ผึ้งนี้จะทราบได้ว่าองค์พระสวยและได้ขนาดถูกต้องเพียงใด
เพราะเมื่ออยากจะดูรูปองค์พระเมื่อเททองเสร็จแล้ว
ก็ดูองค์พระที่หุ่นขี้ผึ้งนี้ได้จะเหมือนกันทุกประการ


ดังนั้นจึงเป็นขั้นปลายในการหุ่นรูป
หากต้องการแก้ไขในช่วงนี้ผู้ว่าจ้างมักจะมาดูรูปหุ่นขี้ผึ้งก่อน
หากไม่พอใจจะได้ทำการเปลี่ยนแปลงกันได้
จึงนับว่าเป็นขั้นสุดท้ายในการตกแต่งของช่างปั้นหรือช่างรูป
ที่จะทำรูปให้เรียบร้อยละทำให้สวยได้


เรื่องของขี้ผึ้งขออธิบายให้พอเข้าใจด้วย คือขี้ผึ้งสมัยก่อนใช้ขี้ผึ้งแท้
ครั้งเมื่อจะใช้ก็นำมาเคี่ยวกับชันจนละลาย
ปัจจุบันนี้ขี้ผึ้งแท้หายากและราคาแพงมาก จึงใช้พาราฟินแทน
โดยนำมาผสมกับชันและน้ำมันยาง หรือน้ำมันพืชเติมเพื่อให้นิ่ม
ตามแต่ความเหมาะสมในการใช้
ชันที่ว่านี้เป็นชนิดเดียวกับชันที่ใช้อุดเรือหรือยาเรือนั่นเอง

ขี้ผึ้งที่ผสมแล้วนี้โดยมากมักจะผสมฝุ่นแดงเสร็จแล้วนำใส่กระทะเคี่ยว
แล้วจึงกรองกับตะแกรงตาละเอียดทิ้งให้แข็งลงพอควร
แล้วนำมาบดเป็นแผ่นโดยใช้กระดานไม้สักหน้าเรียบเป็นแม่แบบ
และใช้ไม้แกนแข็งกลึงจนกลมเป็นเครื่องมือใช้สำหรับบดขี้ผึ้งให้เป็นแผ่น

รูปภาพ
[การบดตัดขี้ผึ้งเป็นแผ่นบนกระดานไมสัก]


เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้กับการทำงานขี้ผึ้งนี้ คือ ไม้เสนียด
ใช้แต่งหน้า แต่งเล็บ และแต่งนิ้ว
ขอเป็นเหล็กขอมีไว้สำหรับขูดขี้ผึ้ง และมีดสำหรับตัดขี้ผึ้ง

รูปภาพ
[ไม้เสนียด และขอ]

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 18:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระประธานวัดระฆังโฆษิตาราม : ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ พุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์
ขนาด หน้าตักกว้าง ๔ ศอก สูง ๔ ศอกเศษ หล่อด้วยสำริดลงรักปิดทอง
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดระฆังโฆษิตาราม วรมหาวิหาร บางกอกน้อย กรุงเทพฯ]



:b44: ก า ร เ ต รี ย ม ห ล่ อ :b44:

หลังจากได้รูปหุ่นขี้ผึ้งสวยงามตามความต้องการแล้วก็เริ่มลงมือทาขี้วัว

ส่วนผสมของ ขี้วัว คือ นำขี้วัวธรรมดานี่เอง
มาคั้นกับน้ำให้เป็นเมือกแล้วผสมกับดินนวล
(ดินนวลเป็นดินที่มีสีนวลเนื้อดินซุยละเอียดอ่อน) พระอุโบสถวัด

เมื่อผสมดี่แล้วจึงนำมาทาให้ทั่วทั้งองค์พระ
ประโยชน์ของขี้วัวจะรักษาเอาความชัดเจนของรูปร่าง
และลวดลายขององค์พระไว้ให้คงรูป
ขี้วัวใช้ทาปล่อยทิ้งแล้วทาทับประมาณ ๓ ครั้ง

รูปภาพ
[นายช่างขณะลงขี้วัวทาทับประมาณ ๓ ครั้ง]


ครั้นเมื่อเห็นว่าแห้งดีแล้วจึงนำตะปูจีน
ซึ่งมีลักษณะแบบเดียวกับที่ใช้ตอกเรือ
นำมาตอกลงให้ห่างกันราวฝ่ามือ
จนกระทั่งทั่วองค์พระเรียกว่า ตอกทอย


จุดประสงค์ของการตอกทอยก็เพื่อให้เหล็กตะปูยึดแกนในกับดินข้างนอก
ที่จะนำมาหุ้มในชั้นต่อไปไม่ให้เคลื่อนที่และยังให้ความหนาของทองอยู่คงที่ด้วย

เมื่อตอกทอยเสร็จทั่วองค์แล้วจึงใช้ดินนวลผสมกับทราย
ในอัตราส่วนดินนวล ๑ ส่วนต่อทราย ๔ ส่วน
ซึ่งช่างหล่อเรียกว่า ดินอ่อน ด้วยเป็นดินที่ละเอียด

ทำการหุ่นแบบต่างๆ เรียกว่าเป็น การเข้าดิน ขั้นแรก

รูปภาพ
[ตอกทอยและเข้าดินแล้ว]


วิธีเข้าดินอ่อนจะโปะดินให้เรียบมีความบางพอควรไม่หนานัก
ตกแต่งให้เสมอกันแล้วทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ ๑ คืน
จุดประสงค์ที่เข้าดินอ่อนก็เพื่อเป็นผลดีกับหุ่นรูปภายใน
เมื่อเททองแล้วเวลากระเทาะออกจะร่อนออกง่ายเป็นฉลาบน้อย

หลังจากนั้นจะใช้ดินเหนียว ๑ ส่วน ผสมกับทราย ๔ ส่วน
ซึ่งช่างเรียกว่า ดินแก่ นวดให้เข้ากัน
และโปะทับดินอ่อนนั้นจะมิดตะปูที่ตอกทอยออกไว้
พอกทับไว้ประมาณ ๒ ชั้น แล้วปล่อยทิ้งดินแก่ให้แห้ง

จากนั้นใช้ลวดสานให้รอบเป็นตาสี่เหลี่ยมกว้างเท่าฝ่ามือรอบองค์พระ
แล้วเอาดินผสมทราย ส่วนผสมเช่นเดียวกับดินแก่
ใช้พอกทับให้มิดลวดเรียกว่า ทับปลอก ทิ้งทับปลอกให้แห้ง


เมื่อเห็นว่าทับปลอกแห้งดีแล้งจึง ล้มหุ่นพระ เพื่อจะรอทำการเททอง

การล้มหุ่นพระคือนำพระลงพิงนอนกับ จะเข้
ให้รับช่วงไหล่และฐานพระไว้สองตำแหน่ง
เพื่อเตรียมการเคลื่อนย้ายขึ้นทน

รูปภาพ
[ลักษณะของแผ่นจะเข้]


เมื่อล้มพระแล้วทำการ สางดิน หมายความว่า
เอาชะแลงกระทุ้งดินภายในฐานพระตกแต่งให้เรียบร้อย


เมื่อเสร็จแล้วก็ดีดหรือยกหุ่นพระขึ้น
โดยให้ทางเศียรปักลงข้างล่างและจัดขึ้นทนรองรับเศียรพระ
นำเหล็กมาปักยึดองค์พระเพื่อเป็นหลัก
และใช้ลวดรัดองค์พระยึดเกาะหลักไม่ให้ล้มก่อนที่จะรื้อจะเข้ออก

จากนั้นจะเริ่มจับดินรอบนอก ปั้นปากจอก หรือ ชนวน
คำว่า ปากจอก คือปากทางที่จะเททองลง
และขึ้นกระบวนทางเศียรของพระซึ่งอยู่ตรงที่ต่ำที่สุด

รูปภาพ
[นายช่างขณะปั้นปากจอก หรือชนวนของพระขนาดเล็ก]


กระบวน คือ ทางที่ขี้ผึ้งไหลออก
และเริ่มก่อเตาอิฐล้อมรอบองค์พระจนมิดองค์พระ
โดยให้ห่างจากองค์พระพอสมควร ปิดกระบาน
คำว่า กระบาน คือดินเหนียวผสมกับแกลบทำเป็นแผ่น
สำหรับปิดเตาหุ่น หรือเตาทอง


ต่อจากนั้นก็เอาไฟสุมในเตาหุ่น
เพื่อให้ขี้ผึ้งภายในองค์พระละลายเรียกว่า สำรอกขี้ผึ้ง
หรือเผาให้ขี้ผึ้งละลายออกจากหุ่น


ผู้ควบคุมงานการสุมเผาหุ่น
ต้องมีความรู้พอในการดูเปลวไฟและดูว่าขี้ผึ้งไหลออกหมดหรือยัง
สำหรับการใส่ไฟที่หุ่นพิมพ์ นิยมใช้ฟืนแสมเป็นส่วนมาก

เมื่อสำรอกขี้ผึ้งออกหมดแล้วก็ใส่ฟืนให้เต็มเตา
คอยสังเกตเมื่อพิมพ์ ลุกดวง
หมายความว่าหุ่นภายในที่มีขี้ผึ้งติดอยู่ลุกเป็นเปลวไฟ
เหมือนจุดไต้แสงแลบออกมาทางปากจอก


เมื่อลุกดวงหมดไปเรียกว่า ดับดวง
แล้วช่างใส่ไฟพิมพ์หุ่นจะกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ดับดวงไป
แล้วลดไฟให้ร้อนน้อยลงเรียกว่า บ่ม จนกระทั่งพิมพ์หุ่นสุก


โดยสังเกตเห็นจากเปลวไฟและอิฐภายในเตาหรือหุ่นพระ
และอิฐที่ปิดปากจอกเมื่อไม่มีเขม่าขี้ผึ้ง
ช่างเททองจะรู้ดีและจะคอยสังเกตอยู่

เช่นเดียวกับน้ำทองจะใช้ได้หรือไม่ต้องสังเกตจากเปลวไฟ
และอิฐภายในเตาทอง
ในระหว่างนี้เตาหุ่น จะรื้อออกเพื่อเตรียมงานเททอง

รูปภาพ
[หุ่นขี้ผึ้งเพื่อเตรียมการหล่อพระ ในโรงหล่อ จ.พิษณูโลก]

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 22:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (พระสุโขทัยไตรมิตร หรือพระทองสุโขทัย) :
ปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบสุโขทัย หล่อด้วยทองคำแท้ น้ำหนัก ๕.๕ ตัน (ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา)
ประดิษฐาน ณ วิหารพระทองคำ วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร กรุงเทพฯ]



:b44: ก า ร เ ท ท อ ง :b44:

ในขณะที่ช่างทองเตรียมพิมพ์หุ่นอยู่นั้น
ช่างทำน้ำทองก็จะเริ่มทำงานไปพร้อมกันโดยการก่อเตาทอง

ในการก่อเตาอิฐต้องให้ใหญ่กว่าเป้าเล็กน้อย
วางกรับ วางเตาหม้อและลำรางเบ้า
เสร็จเรียบร้อยจึงเอาทองแท่งใส่เบ้าทำการสูบทอง

รูปภาพ
[เตาเผาน้ำทองและเบ้า]


การสูบทองแต่โบราณใช้คนเป็นผู้สูบ
การสูบคือการปั๊มลมเข้าเตาหลอมทองนั่นเอง
ปัจจุบันใช้เครื่องสูบลมไฟฟ้า


วิธีการของงานหลอมทำน้ำทองนับว่าสำคัญเช่นกัน
เพราะต้องชำนาญงานในการสังเกตดูว่าร้อนได้ที่แล้วหรือยัง
และวิธีการหลอมทองต้องค่อย ๆ ใส่ทองลงไป
โดยเอาส่วนที่จะลงไปครั้งหลังเผาให้ร้อนพอควรก่อน
แล้วจึงเทใส่ลงไปผสมกับน้ำทองที่ละลายแล้ว
หากใส่ของเย็นลงไปในเบ้านั้นจะทำให้ระเบิดเกิดอันตรายได้


การหลอมทำน้ำทองใช้เบ้าเป็นภาชนะซึ่งมีลักษณะคล้ายกระป๋องใส่น้ำ
จะขออธิบายเรื่องของ การทำเบ้าและกระบาน ให้พอทราบกัน

รูปภาพ
[เบ้าวางอยู่ในเตาหลอม]


ทั้ง เบ้า และกระบาน เป็นอุปกรณ์ในการเททองหล่อพระ
กล่าวคือ เบ้าแบบโบราณใช้ดินเหนี่ยวนำมาเหยียบนวด
กับขี้เถ้าแกลบนวลจนเหนียวให้เข้ากันอย่างดีด้วยกรรมวิธีที่ลำบาก
เป็นอาชีพเฉพาะอย่างหนึ่งของชาวบ้านที่รับทำเบ้าและกระบานซึ่งจะทำควบคู่กันไป

กระบาน คือส่วนผสมที่ทำเป็นแนวแบน
ใช้วางปิดบนเตาเผาทองและเตาเผาหุ่น
เมื่อปั้นเป็นรูปเบ้าและแผ่นกระบานแล้ว
จึงนำไปตากให้แห้งก่อนนำมาใช้เบ้าเป็นภาชนะในการหลอมทอง


แต่กระบานใช้ปิดปากเต่า เบ้าแบบโบราณที่ใช้ทำกันดังกล่าวมานี้
ในปัจจุบันเลิกทำใช้แล้วเพราะเบ้าแบบเก่าใช้หลอมทองได้ครั้งเดียวต้องทิ้งไป
จึงหันมาใช้เบาที่ทำจากต่างประเทศ เช่น จากเยอรมัน
ซึ่งมีลักษณะรูปร่างเหมือนกันกับเบ้าของไทยแต่คุณภาพการทนไฟใช้ได้ดี
คือใช้ได้นาน ๒๐-๓๐ ครั้ง ทำให้ใช้จ่ายสิ้นเปลืองน้อยลง


รูปภาพ
[เต้าหลอมน้ำทอง โลหะที่ปิดปากทองเป็นโลหะทนไฟ ใช้แทนกระบาน]


เมื่อทุกอย่างพร้อมกันดีแล้วคือ น้ำทองดี
พิมพ์ดีพร้อมก็จะเริ่มทำการเททองที่เคี่ยว
ในการเริ่มเททองต้องเขี่ยไฟออกจากเตาพิมพ์ให้มากเท่าที่จะเอาออกมาได้
แล้วรื้ออิฐที่ก่อไว้นั้นออกให้หมดใช้น้ำราดเป็นการลดความร้อน
ในระยะนี้ต้องระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้น้ำถูกพิมพ์เพราะจะทำให้แตกร้าวได้

เมื่อจัดสถานที่สำหรับเททองเรียบร้อยแล้วก็จักพรม น้ำฉลาบ
คือใช้น้ำโคลนค่อนข้างเหลวพรมที่หุ่นพระนั้น
เพื่อให้เหล็กที่เข้าปลอกอยู่
และเหล็กที่ปักมัดพิมพ์อยู่เย็นตัวแข็งลงบ้าง
เพื่อที่จะได้ต้านทานน้ำหนักของทองที่จะเทลงไปเมื่อพรม น้ำฉลาบ เสร็จก็ใช้ ดินยา
(เป็นดินเหนียวผสมทรายพิเศษเหนียวกว่าดินหุ่น)
อุดยาส่วนที่เป็นรอยแตกร้าวให้ทั่วแล้วก็เริ่มเปิดเตาทองทำการถอนออกจากเตา

ผู้ถอนต้องมีความรู้และมีกำลังแข็งแรง
เมื่อถอนแล้วจัดการตักหน้า
หมายถึงปาดถ่านออกให้หมดเหลือแต่น้ำทองเท่านั้น
แล้วช่างเททองจะยกเบ้าทองนั้น
โดยปรกติช่างเททองจะเอาผ้าชุบน้ำพันรอบมือและแขนเพื่อบรรเทาความร้อน

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 22:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธนฤมลธรรมโมภาส : ปางสมาธิ พุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์
ขนาด หน้าตัก ๒๒ นิ้วครึ่ง สูง ๓๖ นิ้ว วัสดุ โลหะกะไหล่ทองทั้งองค์พระและฐาน
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา
สร้างตามแบบวัดคริสต์ เป็นศิลปะแบบโกธิค(Gothic)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกับวัดอื่น]



การยกเป้าทองใช้ คีม
คีบถอนหมายถึง คีบเป้าออกจากเตามาวางที่ คีมเท หรือ คีมโคม
แล้วยกส่งให้คนเทนำไปเทลงในปากจอก
ที่ปั้นไว้ที่หุ่นพระทำการเททองจนหมดเบ้า

รูปภาพ
[ช่างขณะยกเบ้าน้ำทองออกจากเตาหลอม แล้วตักหน้าเอาถ่านและขี้ผึ้งออก]

รูปภาพ
[นายช่างขณะใช้คีมยกเบ้าน้ำทองจากเตาหลอม]


จากนั้นจึงนำเอาเบ้าอื่นๆ มาเทต่อจนกระทั่งเต็มองค์พระ
โดยสังเกตจากน้ำทองที่ล้นปากจอกออกมา
เป็นการเสร็จวิธีการเททอง


คนที่ทำน้ำทองนี้เทต้องมือแม่นทนความร้อนได้ดี
ถ้าเป็นพระองค์ใหญ่มากจะต้องทำสะพานไต่ขึ้นไปเทบนร้าน
นับว่าอันตรายมาก ถ้าพลาดน้ำทองหกลวกเนื้อจะทะลุไปถึงกระดูก
แต่ก็ไม่ค่อยมีผู้ประสบอุบัติเหตุในการทำงานนี้มากนัก
เพราะทุกคนที่ทำงานหน้าที่นี้ต้องเคยงานมาก่อน
ช่างพวกนี้เรียกว่า ช่างเททอง


รูปภาพ
[นายช่างขณะยกเบ้าน้ำทองลงในหุ่นพระ]


ในกรณีที่เป็นพระองค์ขนาดใหญ่
การหลอมน้ำทอง ต้องทำหลายๆ เตา
และทองที่ผสมต้องชั่งวัดให้เท่ากันในแต่ละเตาที่เผา
เช่นน้ำหนักของทองในเบ้า หนึ่ง มีทองเหลือง ๓๐ กิโลกรัม
มีทองแดง ๑๐ กิโลกรัม ทุกๆ เบ้าจะต้องผสมเท่าๆ กัน
ทั้งนี้เพื่อให้พระทั้งองค์มีสีที่ผสมสีเดียวกันหมด


น้ำทองต้องคำนวณให้พอกับขนาดของพระที่ต้องการเท
โดยคิดจากน้ำหนักของขี้ผึ้งที่ใช้ปั้นหุ่นไว้แต่ละองค์
เรื่องนี้ช่างเททองย่อมรู้กันดี

เมื่อกล่าวถึงเรื่องน้ำทองแล้วขอกล่าวถึงเนื้อทองกับส่วนผสมเล็กน้อย

พระประธานส่วนมากใช้ ทองเบญจพรรณ หมายถึง โลหะอะไรก็ได้
ที่มีทองเหลืองเป็นส่วนผสมนำมายุบรวมๆ กัน
และนำมาหลอมเอาเฉพาะทองเหลือง


ทั้งนี้เพราะทองเหลืองราคาถูกกว่าทองแดง
ด้วยทำมาจากทองแดงผสมกับสังกะสี
อัตราส่วนของทองเหลืองอย่างดีให้สีสวยงามคือ
ทองแดง ๘ ส่วน กับสังกะสี ๑๒ ส่วน
หากปนสังกะสีมากไป จะทำให้สีจืดคือมีสีขาวมาก และเนื้อเปราะ
แต่ถ้าหากต้องการจะให้ทององค์พระออกสีแดงก็ผสมทองแดงให้มากขึ้น

รูปภาพ
[พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร : ปางประทานพร พุทธศิลป์แบบสุโขทัย
หล่อด้วยโลหะทองเหลืองหนัก ๑๐๐ หาบ ประทับยืนอยู่บนฐานลายบัวคว่ำบัวหงาย
ใต้ฐานพระบรรจุพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ประดิษฐาน ณ ซุ้มวิหารทิศบริเวณบันได วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 23:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธมิศราชโลกธาตุดิลก : ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ พุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ขนาดหน้าตัก ๑.๗๕ เมตร วัสดุ โลหะผสมทอง
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารพระบรมชนกนาถมาบรรจุ
ใต้พุทธบัลลังก์ และถวายพระนามว่า “พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก”
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ]



:b44: ก า ร ต ก แ ต่ ง ห ลั ง ห ล่ อ :b44:

ในกรณีที่ขณะเททองหากว่าหุ่นพระมีการแบ่งตัว
หรือมีรอยรั่วจะต้องรีบทำการอุดยากัน
ช่างพวกนี้เรียกว่า ช่างรับรั่ว


ในเวลาเททองพวกช่างรับรั่วนี้
จะมีหน้าที่คอยเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิดจนเสร็จงานการเททอง
เสร็จงานนี้แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เนื้อทองเย็น
พระใหญ่จะทิ้งไว้อย่างน้อย ๑๐-๒๐ ชั่วโมง
แต่ทางที่ดีควรเป็น ๒-๓ วัน

พระขนาดเล็กควรทิ้งไว้ราว ๖-๑๐ ชั่วโมง
แล้วจึงทุบดินแกะปลอกเหล็กที่หุ้มออก

ช่างที่มีหน้าที่ตกแต่งจะทำการเคาะดินจัดแต่งทำความสะอาดองค์พระ
โดยตะไบตะเข็บที่เป็นรอยครีบและอุดรอยรั่วที่เป็นรูตัดตะปู
ที่เรียกว่าตอกทอยและอุดแผลต่างๆ จัดแต่งขัดจนเกลี้ยง

รูปภาพ
[พระพุทธรูปที่เททองเสร้จแล้ว จะเห็นว่ามีกระบานติดอยู่ด้วย]

รูปภาพ
[นายช่างขณะกระเทาะดินให้เหลือแต่ทอง]


ในสมัยโบราณนั้นใช้ตะไบขัดเป็นงานละเอียดมาก
ขั้นแรกใช้ตะไบหยาบ ต่อมาจะใช้ตะไบละเอียดลง
จนกระทั่งลงกระดาษทรายขนาดหยาบ
และจนถึงกระดาษทรายขนาดละเอียดแล้วก็ยังเช็ดขัดอีก
ช่างพวกนี้เรียกว่า ช่างขัด


ในการลงตะไบขัดจะต้องมีความชำนาญในการขัดใหลึกให้ตื้นเท่าใด
ทั้งนี้ขึ้นอยู่ฝีมือที่กดตะไบลงไป
แต่ในปัจจุบันช่างตามโรงงานทุกโรงงานจะใช้เครื่องไฟฟ้าขัด
และปัดชักเงากันทั้งนั้น ซึ่งดูสวยงามกว่า
มีเงามากแต่ไม่ทนเหมือนใช้ขัดด้วยมือ

รูปภาพ
[เมื่อกระเทาะดินออกแล้ว ขัดแต่งด้วยครื่องไฟฟ้า]


การทำพระรมดำมี ๒ วิธี

วิธีแรกคือการใช้น้ำยาไฮโป กับกรดดินประสิว
นำมาต้มกับน้ำพออุ่น แล้วเอาพระจุ่มลงไปในถังที่ต้มนั้น
เมื่อเห็นว่าดำดีแล้วก็นำมาขัดล้าง แต่งสีให้ดำเสมอกัน

ถ้าหากบางแห่งสีแก่ไปก็ลบออกทำให้เป็นสีเดียวกัน
แล้วเอาตะเกียงเตาพ่น (ตะเกียงน้ำมันก๊าด)
เอาควันรมให้ดูเรียบเงาเสมอกัน หากสีไม่เข้ากันก็ใช้แปลงขัด

รูปภาพ
[พระพุทธรูปรมดำ]


ส่วนวิธีที่สองนั้น ใช้รมดำด้วยน้ำยาโปตัสเซี่ยมซัลไฟด์
กับ น้ำยาเฟอร์ริกคลอไรด์
โดยนำแต่ละชนิดมาใส่ภาชนะแยกต่างหาก
และใช้แปรงทาสีจุ่มโปตัสเซี่ยมซัลไฟด์ ทาที่องค์พระก่อน

เมื่อเห็นว่าแห้งดีจึงนำมาล้างน้ำให้สะอาด
รอให้แห้งแล้วจึงใช้น้ำยาเฟอร์ริกคลอไรด์ทาที่องค์พระให้ทั่ว
ปล่อยให้แห้งดีจึงนำมาล้างน้ำ
หากสีไม่เสมอกันก็ทาทับจนดูดำเท่ากันดูออกเงาสวยงาม
พระแบบรมดำนี้ก็ดูสวยเป็นที่นิยมไปอีกแบบหนึ่ง

รูปภาพ
[พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า) : ปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบสุโขทัยผสมเชียงแสน
หล่อด้วยโลหะสำริด ลงรักปิดทอง รัศมีองค์พระกะไหล่ด้วยทองคำ
ฝังพระเนตรฝังเพชรที่พระอุณาโลม ใต้ฐานพุทธบัลลังก์
บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ]



การทำอีกแบบหนึ่งก็คือ การลงรักปิดทอง
วิธีการนี้ออกจะยากลำบาก
ต้องมีช่างต่างหากออกไปเรียกว่า ช่างลงรักปิดทอง


วิธีทำจะทำภายหลังจากตกแต่งองค์พระที่เททองให้เรียบร้อยเกลี้ยงเรียบแล้ว
จึงเอารักที่จัดเตรียมไว้มาบดให้เหนียว
ลักษณะรักเหมือนแป้งข้นๆ
นำมาทาลงบนองค์พระ เหมือนโป๊วรถยนต์
เกลี่ยปรับให้เรียบร้อยเท่ากันทั้งองค์แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง ๔-๕ วัน

รูปภาพ
[วิธีการลงรักก่อนจะนำไปปิดทอง]


เมื่อแห้งแล้วขัดด้วยกระดาษทรายผึ่งทิ้งไว้ประมาณ ๑ เดือน
ถ้ายิ่งนานก็ยิ่งดี เมื่อแห้งจนเป็นที่พอใจแล้ว
นำน้ำรักมาใช้แปรงทาให้ทั่วทั้งองค์ทิ้งไว้ให้แห้ง
แล้วทำกระโจมครอบองค์พระเอาผ้าชุบน้ำขึ้นคลุมไว้บนกระโจม
เพื่อรักษาความชื้นให้เหมาะสม ทิ้งไว้หนึ่งคืน

วันรุ่งขึ้นลองเอามือแตะรักที่องค์พระดูก่อน
หากว่าไม่ติดมือก็แสดงว่าแห้งดีแล้ว
สามารถจะนำแผ่นทองคำเปลวติดได้เลย
ช่างที่ปิดทองจะต้องเคยงานเป็นอย่างดี
จะได้ไม่เปลืองทองวิธีปิดนั้นใช้ปิดเรียงกันแผ่นต่อแผ่น
แต่ถ้ามีรอยด่าง ก็จะตกแต่งปิดทับจนแลดูสวยงามเป็นการเสร็จพิธีลงรักปิดทอง

งานของช่างลงรักปิดทองนี้หายาก
เพราะจะต้องรู้จักจัดทำผสมรักและวิธีการในการลงรักและปิดทองด้วย


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2009, 00:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์: ปางลีลา พุทธศิลป์แบบสุโขทัย หล่อด้วยสำริดรมดำ สูง ๑๕.๘๗๕ เมตร
ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ
สร้างแล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙
ประดิษฐาน ณ พุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม : ภาพถ่ายเมื่อวันอาสาฬหบูชา พ.ศ. ๒๕๕๑]



จะขอวกกลับมาอธิบายเกี่ยวกับการจัดทำรักให้พอเข้าใจกัน
รักเป็นน้ำยาชนิดหนึ่งได้มาจากต้นรักซื้อมาทางประเทศพม่า
หรือมีทางเหนือเช่นจังหวัดเชียงใหม่ ซื้อขายกันเป็นปีบ

ลักษณะเหมือนน้ำมันดินแต่เหนี่ยวกว่า
คล้ายยางมะตอยนำมาผสมกับ สมุ
วิธีทำสมุคือ เอาใบตองแห้งที่สะอาดไปเผาไฟ
และเอาขี้เถ้าของใบตองดังกล่าวนี้
มาผสมกับน้ำรักทาองค์พระก่อนที่จะลงรักน้ำใสก่อนการปิดทอง

พระพุทธรูปทั้งสามแบบที่กล่าวมานี้
คือ พระขัด พระรมดำ และพระปิดทอง
ในปัจจุบันมีผู้นิยมพระรมดำกันมากกว่าพระปิดทอง


เมื่อตกแต่งพระที่หล่อได้ตามแบบที่ต้องการแล้ว
ขั้นสุดท้ายคือการเบิกพระเนตรซึ่งถือว่าเป็นงานสุดท้ายเป็นการเสร็จวิธีการทำพระ

ในการสร้างพระพุทธชินราชจะต้องสร้างเรือนแก้วต่างหาก
รวมทั้งเททองต่างหากด้วยเช่นเดียวกับสร้างพระประธานองค์ใหญ่มาก
จะสร้างฐานแยกต่างหาก เททองต่างหาก
เสร็จแล้วนำมาติดต่อตบแต่งภายหลัง


เกี่ยวกับฤกษ์ยามในพิธีกรรมของการหล่อพระก็ขึ้นอยู่กับฤกษ์ยามของผู้สร้าง
ฉะนั้นวันเวลาในการเททองจึงขึ้นอยู่กับฤกษ์ของผู้ว่าจ้างทำ
ฤกษ์เททองอาจเป็น เช้า สาย บ่าย เย็น หรือค่ำ
แต่ถ้าหาฤกษ์เป็นเวลาตอนเช้าพวกช่างก็จะชอบกัน
เพราะจะได้มีเวลาพักผ่อนหลังจากเสร็จงานเนื่องจากเป็นงานใช้กำลัง


พิธีในการเททองส่วนใหญ่จะจัดทำเฉพาะพระใหญ่ที่สร้างเป็นพระประธาน
ผู้จ้างมักจะให้มีการจัดทำพิธี
แต่ถ้าให้ไปเททองตามวัดต่างๆ นอกสถานที่ของโรงงานพิธีต่าง ๆ
ก็จะไปทำ ณ สถานที่ที่ไปเททองนั้น

พิธีมี ๒ แบบ คือแบบธรรมดาทั่วๆ ไป
และแบบพิธีใหญ่ คือมี พุทธาภิเศก ด้วย


ขณะเททองในพิธีจะมีเครื่องบูชาราชวัตร ฉัตรธง ๔ มุม
รอบเตาเผาหุ่น จัดศาลเพียงตา
ภายในศาลมีเครื่องสังเวยคือ หัวหมู บายศรี
กล้วย น้ำพระพร้าวอ่อน ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว น้ำและบุหรี่

รูปภาพ
[ในวันพิธีเททอง นายช่างเททองจะแต่งกายด้วยชุดขาวทุกคน]


นายช่างเททองจะแต่งกายด้วยชุดขาวทุกคน
ถือกันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วนิมนต์พระมา ๙ รูป สวดชัยมงคล
เมื่อพิธีใหญ่คือพิธีพุทธาภิเศกหรือปลุกเศก
ซึ่งโดยมากจะมีในเวลากลางคืนจะมีพระสงฆ์มาทำพิธี


เครื่องปลุกเศกมีพวกเทียนพุทธาภิเศก เรียกว่า เทียนชัย
เครื่องใช้ในพิธีมีแจกัน ๒ คู่ ใช้ดอกบัวใส่แจกันๆ ละ ๔ ดอก
มีเชิงเทียน ๔ ด้าน ใช้เทียนหนัก ๑ บาท
รวมเป็น ๔ เล่ม กระถางธูป ๔ กระถาง

แต่ละกระถางใช้ธูปกำละ ๙ ดอก
มีเชิงเทียนสำหรับทำเชิงชนวนจุดอีก ๑ อัน
ทั้งหมดนี้คือพิธีกรรมในการเททองหล่อพระ

(มีต่อ : การหล่อพระขนาดเล็กหรือพระบูชา)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2009, 02:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธรูป ภปร. พ.ศ. ๒๕๐๘ : ปางประทานพร พุทธศิลป์ผสมผสานใกล้เคียงสมัยสุโขทัย
ประดับผ้าทิพย์ด้วยตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. เนื้อสำริดรมดำ หน้าตัก ๙ นิ้ว
ออกแบบโดย นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างศิลปกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานภาษิต สำหรับจารึกไว้ที่ฐานด้านหน้า
เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของชาติว่า “ทยุย ชาติยา ส สมาคุติ สติสญุชานเนน โภชิสิย รกุชนุติ”
คนชาติไทยจะรักความเป็นไทอยู่ ได้ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี ฐานด้านหลังมีแผ่นจารึกข้อความว่า
“เสด็จพระราชดำเนินพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘”]



:b44: ก า ร ห ล่ อ พ ร ะ ข น า ด เ ล็ ก หรือ พ ร ะ บู ช า :b44:

การหล่อพระขนาดเล็กนี้มีกรรมวิธีคล้ายกับการสร้างพระขนาดใหญ่
แต่ง่ายกว่าจึงได้จัดนำมาเขียนไว้ตอนท้ายของเรื่อง

พระขนาดเล็กที่สร้างมากคือปางประทานพร เช่น พระพุทธรูป ภปร.
ซึ่งเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน และก็พระประจำวันซึ่งจะได้เขียนไว้ตอนท้ายเรื่อง
สมัยก่อนนิยมพระนั่งสมาธืและพระปางสะดุ้งมารเป็นพระบูชา
นิยมกันมากคือพระขนาดหน้าตัก ๕ นิว และ ๙ นิ้ว
ขนาด ๗ นิ้ว นั้นไม่ค่อยจะนิยมกัน

อย่างไรก็ดีพระบูชาขนาดเล็ก
อาจมีขนาดตั้งแต่ ๓ นิ้ว จนถึงขนาด ๒๐ นิ้ว ก็ได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโต๊ะหมู่บูชาและสถานที่ด้วย


ในการสร้างพระเล็กใช้ปั้นรูปด้วยดินเหนียวแต่ทำกันน้อย
ส่วนใหญ่ปั้นด้วยขี้ผึ้งแล้วนำมาทำพิมพ์
เมื่อถอดพิมพ์แล้วจึงจะเอาพิมพ์มาใช้ทำกันต่อไป
ไม่ต้องเสียเวลาในการปั้นรูปอีกบ่อยๆ
แบบที่ทำคือตั้งแต่ขนาดหน้าตัก ๘ นิ้ว ถึง ๒๐ นิ้ว
โดยจะใช้ทำเป็นพิมพ์ไว้

รูปภาพ
[การกระทุ้งดินพระเล็กก่อนนำไปปั้นปากจอก]


ในการปั้นรูปตามแบบของกรมศิลปากรนั้นนิยมปั้นด้วยดินเหนียว
ถ้าหุ่นเล็กอาจใช้ดินน้ำมัน
แต่วิธีของชาวบ้านใช้ขี้ผึ้งปั้นกันแทบทุกคน
แล้วใช้ปูนปาสเตอร์เป็นแกนใน บางคนใช้ดินอุด


เมื่อปั้นตกแต่งจนสวยงามตามแบบต้องการแล้ว
ทำการถอดพิมพ์โดยใช้ปูนปาสเตอร์หรือซีเมนต์ถอดเป้นท่อนๆ
แต่การใช้ปูนปาสเตอร์มักจะไม่ทนและเสียรูป
ดูรูปก็ไม่ค่อยชัดเหมือนพิมพ์ด้วยปูนซีเมนต์

การถอดพิมพ์จะทำเป็น ๒ ผา คือด้านหน้าหลัง
โดยแบ่งส่วนด้านข้างองค์ออกเป็น ๒ ส่วน
เวลาใช้ทำจะนำพิมพ์ ๒ ผานี้มาแช่น้ำ ใช้สบู่ทาให้ลื่น
นำมาประกบกันใช้ผ้าหรือเชือกมัดบีบให้แน่น เอาขี้ผึ้งที่ผสมกับขนาดได้ที่


คือเป็นน้ำข้นๆ ตักใส่พิมพ์ โดยระวังอย่าให้ขี้ผึ้งเป็นพอง
เมื่อเทจนเต็มแล้วจับคว่ำด้านฐานพระลงเทขี้ผึ้งออกลงอ่างเคี่ยวขี้ผึ้ง
นำพิมพ์ขี้ผึ้งที่กรอกขี้ผึ้งติดอยู่นี้ลงไปแช่ในน้ำเพื่อลดความร้อน
ทำให้ขี้ผึ้งแห้งเร็วขึ้นเมื่อเห็นว่าเย็นแล้วจึงแกะพิมพ์ออก
จะเห็นรูปองค์พระขี้ผึ้งซึ่งยังมีตะเข็บรอยต่อเป็นครีบอยู่ข้างๆ องค์

ช่างตกแต่งจะนำมาขัดเกลาให้เกลี้ยง
โดยใช้ผ้าพับเป็นชั้นขนาดหนาพอมือจับได้ถนัด
แล้วเอาผ้าไปจุ่มน้ำมันยางเล็กน้อย
แตะลงบนแผ่นสังกะสีที่พิงพาดไว้บนเตาไฟอ่อนๆ
พอความร้อนถึงมือก็รีบนำผ้านั้นมาเช็ดขัดตกแต่งรอยแผล
และใช้ขี้ผึ้งอุดรูแผล ตัดครีบและตะเข็บข้าง
ทำให้เรียบร้อยเป็นการเสร็จเรื่องตกแต่งขี้ผึ้งแบบหยาบๆ

ขั้นต่อมาคือนำส่วนต่างๆ มาต่อเติมให้ครบองค์
เช่น ส่วนที่ทำพิมพ์ไม่ได้คือพวกข้อศอก เท้า ข้อมือ ฐาน
และสิ่งตกแต่งอื่นๆ เช่น รัศมี เม็ดพระศก และพวกบัวต่างๆ ที่ติดตามฐาน


เรื่องลักษณะของฐานบัวจะได้อธิบายให้ทราบในตอนต่อไป

เมื่อตกแต่งจนเรียบร้อยดังใจแล้วเป็นอันว่าหมดงานขี้ผึ้ง
และแล้วใช้ดินขี้หนู ซึ่งเป็นดินเหนียวปนทรายแต่ค่อนข้างร่วน
ยัดกระทุ้งให้เต็มข้างในใช้เหล็กเป็นแกนเสียบถึงเศียร (ด้านใน)
เสร็จแล้วติดชนวนที่จะทำเป็นทางเดินของน้ำทองเวลาเททอง

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วเริ่มลงขี้วัวแล้วเข้าดินโดยวิธีการเช่นเดียวกับการทำพระใหญ่
คือลงดินอ่อน ดินแก่ แล้วจึงเข้าลวดมัดตรึงรอบองค์พระให้แน่นลักษณะแบบตาข่าย
จากนั้นติดกระบวนและปั้นปากจอกซึ่งเป็นทางสำหรับเททอง

รูปภาพ
[พระเล็กเข้าดินเรียบร้อยแล้ว เตรียมรอเททอง]

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2009, 03:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระนิรโรคันตราย : ปางสมาธิ พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ วัสดุ สำริด กะไหล่ทอง
ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ นิ้ว สูงจากฐานจรดยอดพระเกศ ๑๓.๕ นิ้ว
ประดิษฐาน ณ ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสสเทวมหาเถร) คณะ ๖
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร]



การสร้างพระเล็กนั้นนิยมทำจำนวนมาก
ฉะนั้น จึงมักทำพร้อมๆ กัน
โดยนำมาวางเรียงใช้ท่อเหล็กเป็นตะแกรงทำร้านวางท่อเหล็กเป็นแนว
แล้วใช้อิฐล้อมทำเป็นเตาเผาลักษณะการทำเตาพระเล็กเป็นราง
เพื่อเอาพระวางเรียงกันทีละหลายๆ องค์
สำหรับเตรียมเททองพร้อมๆ กันไม่เป็นการเสียเวลา

เตาหนึ่งๆ เผาหุ่นพระขนาด ๙ นิ้ว ได้ราว ๓๐ องค์
หากเป็นพระขนาด ๕ นิ้ว จะวางเรียงได้ประมาณ ๑๐๐ องค์

รูปภาพ
[เตาเผาหุ่นสำหรับเททองพระเล็ก]


การเทน้ำทองก็มีกรรมวิธีเช่นเดียวกับการทำพระใหญ่ทั้งสิ้น

เครื่องมือและสิ่งของที่ใช้ทำพระในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปหลายแบบพอสรุปได้คือ
ไม่มีใครประกอบอาชีพ ทำเบ้าแล้วเพราะใช้เบ้าจากประเทศเยอรมันแทน

เครื่องสูบลมแต่ก่อนเป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยมสูง
แล้วใช้ไม้ด้ามยาวสูงกว่าปล่องด้านปลาย
มีกระดานแบนๆ เป็นแผ่นคล้ายจานผูกติด
วิธีใช้ปั๊มให้ปั๊มลงทำให้เกิดลมในกล่องไม้สี่เหลี่ยมนั้น
ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นใช้เครื่องสูบลมไฟฟ้า

อีกอย่างคือ วิธีขัดพระด้วยมือ
ปัจจุบันเลิกทำกันแล้วหันมานิยมใช้เครื่องไฟฟ้าชักเงาหรือปัดเงาแทน


รูปภาพ

ที่กล่าวมานี้คือการหล่อพระพุทธรูปแบบโบราณ
ซึ่งทุกโรงงานทำพระจะมีวิธีการสร้างเหมือนกันทุกแห่ง
จึงเป็นการดีที่จะเขียนไว้ให้ได้ทราบถึงกันบ้าง

การสร้างพระ ชาวบ้านไม่ได้คำนึงคิดสร้างแบบทำขึ้นเอง
ส่วนใหญ่ทำตามรูปร่างดั้งเดิมเช่น แบบสุโขทัย แบบเชียงแสน
แบบอยุธยา แบบอู่ทอง และพระพุทธชินราช ฯลฯ


สัดส่วนที่คำนึงถึงจึงยึดถือของเดิมเป็นหลัก
จะขออธิบายสั้นๆ พอสังเขปดังนี้

~ แบบสุโขทัย ~

มีลักษณะสวยมาก หน้ารูปไข่ มีรอยยิ้ม อ่อนช้อยคล้ายผู้หญิง
มองดูเรียวงามไปทั่วทั้งองค์อิ่มเอิบสวยงามมาก
บ่งบอกถึงศิลปะขั้นสูง
ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าเป็นเพราะชาวเมืองสุโขทัย
มีความอยู่ดีกินดี มีความสุข
ศิลปะที่แสดงออกมาจึงเป็นดังที่เห็นกันเช่นพระพุทธรูปในสมัยนั้น

รูปภาพ

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวมีลักษณะสวยงามที่สุด
สร้างสมัยปลายสุโขทัย ลักษณะพระพักตร์เป็นแบบสุโขทัยกับเชียงแสน

~ แบบเชียงแสน ล้านนา ~

รูปภาพ

มีลักษณะเป็นแบบผู้ชายเต็มตัว อกกว้าง มีกล้าม ลักษณะกลม
แสดงถึงความบึกบึน กล้าหาญ

~ แบบอู่ทอง ~

รูปภาพ

มีลักษณะรูปเหมือนคนธรรมดามาก
แสดงความรู้สึกออกมาให้เห็นชัด หน้าดุ ส่วนใหญ่เป็นพระนั่ง

~ แบบอยุธยา ~

รูปภาพ

ไม่ค่อยสวยนัก อาจเป็นเพราะประชาชนในสมัยนั้น
ไม่ค่อยมีจิตใจที่จะทำอะไรกันนัก
เนื่องจากมีสงครามเกิดขึ้นบ่อยๆ ครั้ง และมีช่างน้อย

~ แบบรัตนโกสินทร์ ~

รูปภาพ

เป็นพระที่สวยไปอีกแบบหนึ่งและที่มีมากหาดูได้ที่วัดสุทัศน์
มีปางต่างๆ กันราว ๔๐ ปาง

รูปภาพ
[พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ : ปางมารวิชัย พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์
ประดิษฐานบนฐานชุกชีสูง ปั้นลายปิดทองคำเปลวประดับกระจกสี
พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มี.ค. 2009, 01:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธชินราช(จำลอง) : พุทธศิลป์แบบสุโขทัย ปางมารวิชัย
ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก หล่อด้วยสำริดลงรักปิดทอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงปรารถนาจะได้พระพุทธรูปที่งดงามที่สุด
จึงดำริว่าพระพุทธชินราชเป็นพระที่งดงาม ครั้นจะอัญเชิญมาก็เห็นว่าไม่ควรเพราะเป็นพระคู่เมืองพิษณุโลก
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างจำลองถอดแบบแล้วอัญเชิญลงมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ]



คนโบราณทำพระโดยยึดหลักกะดูให้ได้สัดส่วน
เช่นหน้าตักกว้างเท่าใด สมควรจะมีเศียรใหญ่แค่ไหน อกกว้างขนาดไหน เหล่านี้เป็นต้น
แต่ส่วนที่เห็นแปลกพิเศษไปจากลักษณะของมนุษย์
เช่น ใบหูยาน เกศหรือรัศมีที่อยู่บนเศียรและพระยืนมีมือยาวเกินหัวเข่าลงมา
ก็เพราะผู้ทำมีจุดประสงค์เพื่อที่จะให้องค์พระพุทธรูปดูแตกต่างไปจากมนุษย์ธรรมดา

ฉะนั้น การที่กล่าวข้างต้นว่าพระแบบอู่ทองมีลักษณะเหมือนมนุษย์มากที่สุดนั้นคือ
การสร้างไม่ได้เพิ่มเติมอะไรให้แปลกพิเศษมากนั่นเอง

รูปภาพ
[พระพุทธรูปสมัยอู่ทองยุคต้น จำนวน ๓ องค์ พระพุทธรูปองค์กลางมีขนาดใหญ่เรียกว่า
“หลวงพ่ออู่ทอง” สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑)
อยุธยาตอนต้น ราวปี พ.ศ. ๑๙๑๐ ประดิษฐาน ณ วิหารวัดกระโจมทอง จ.นนทบุรี]



ในการบูชาพระหมู่มักนิยมพระกัน ๓ แบบ ซึ่งถือกันเป็นโชคเป็นลาง

เช่น แบบอู่ทอง หมายถึงมีความร่ำรวย มีอู่ข้าวอู่น้ำ
แบบที่ ๒ คือแบบสุโขทัย หมายถึง ทำให้สุโขสุขีอะไรทำนองนั้น
วนแบบที่ ๓ คือแบบเชียงแสนหมายถึงร่ำรวยมีเงินหมื่นเงินแสน


อนึ่ง ในปัจจุบันพระพุทธรูป ภปร.
ซึ่งเป็นพระปางประทานพรกับพระพุทธชินราช
ซึ่งมีลักษณะสวยงามและมีซุ้มเรือนแก้วดูจะเป็นที่นิยมกันมาก

พระสำหรับบูชาตามบ้านมีผู้นิยมสร้างกันเป็นพระประจำวันก็มีมาก
พระที่จัดไว้เป็นพระประจำวัน คือ

วันอาทิตย์ ปางถวายเนตร
วันจันทร์ ปางห้ามญาติ
วันอังคาร พระนอนไสยาสน์
วันพุธ พระอุ้มบาตร
วันพฤหัสบดี พระนั่งสมาธิ
วันศุกร์ พระยืนรำพึง
วันเสาร์ พระนาคปรก


รูปภาพ
[พระพุทธรูปประจำวันเกิด]


ลักษณะของฐานพระมีหลายแบบ เช่นแบบสี่เหลี่ยมและแบบมีลายบัวที่ฐาน

แบบของบัว มี ๒ แบบ คือ

บัวคว่ำและบัวหงาย
แบบที่สองเป็นแบบบัวชั้นเดียว


ส่วนลักษณะของรูปร่างบัวยังแยกแยะออกไปอีก
เช่นมีลักษณะแบบใบขี้เหล็ก (เหมือนในขี้เหล็ก)
ใบมะยม (ใบแหลมเหมือนใบมะยม)
และจาวตาล (มีรูปโค้งคล้ายจาวตาล)

พระที่จะใช้ฐานแบบใด ใช้บัวอย่างไร
ขึ้นอยู่กับความสวยงามตามแบบของพระและผู้สั่งทำ


เช่น พระพุทธรูป ภปร. จะใช้บัวแบบใบมะยม
แบบสุโขทัย จะใช้ฐานบัวใบขี้เหล็ก
แบบรัตนโกสินทร์ บัวเป็นแบบจาวตาล
พระอู่ทองและอยุธยาฐานมักจะไม่มีลวดลายอะไร
แบบเชียงแสน มีบัวแบบจาวตาลและเป็นบัวชั้นเดียว
ส่วนใหญ่แล้วพระยืนจะใช้ฐานบัวชั้นเดียว
และพระนาคปรก จะมีบัวชั้นเดียวเช่นเดียวกัน

แต่พระพุทธชินราชฐานเป็นฐานสิงห์มีบัว ๒ ชั้น คือบัวคว่ำและบัวหงาย

แม้ว่าการหล่อทำพระพุทธรูปจะมีมานาน
นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันก็ตาม
ปรากฎว่ามีวิธีการหล่อเพียงบางอย่างที่เปลี่ยนไป
วนวิธีการที่สำคัญในการหล่อพระของชาวบ้าน
มิได้ก้าวหน้าหรือเปลี่ยนแปลงเลย

ความก้าวหน้าทางวิชาการก็มิได้ช่วยให้มีวิธีใหม่เกิดขึ้น
จึงชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราเป็นผู้มีความสามารถอย่างสูงยิ่ง


รูปภาพ
[พระศรีอริยเมตไตรย : ปางมารวิชัย พุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์
ขนาดหน้าตักกว้าง ๙๒ เซนติเมตร สูง ๑๐๗ เซนติเมตร หล่อสำริดลงรักปิดทอง
เป็นการหล่อแบบพระสาวก คือพระเศียรไม่มีเปลวรัศมี
ประดิษฐาน ณ วัดไลย จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา]


:b8: :b8: :b8:

รวบรวมและเรียบเรียงทั้งเนื้อหาและภาพมาจาก :
- “หล่อพระ” : ชุดความรู้ไทยอันดับที่ ๔๐๐๓
ขององค์การค้าคุรุสภา โดย วดี กัณหทัต,

- http://www.kumpunpra.com/gp8-1-2.htm

:b8: :b8: :b8:

กิตติกรรมประกาศ :

- ขอขอบคุณ “น้องดา” และ “หนูอันนา” ที่ช่วยสแกนภาพ “การหล่อพระ”
จากหนังสือดังกล่าวไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะคะ
:b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2009, 15:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 มิ.ย. 2008, 22:40
โพสต์: 1769

แนวปฏิบัติ: กินแล้วนอนพักผ่อนกายา
งานอดิเรก: ปลุกคน
สิ่งที่ชื่นชอบ: Tripitaka
ชื่อเล่น: สมสีสี
อายุ: 0
ที่อยู่: overseas

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิขอรับ :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ศีล ๕ รักษาตนไม่ให้เกิดในอบายภูมิ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 23 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร