วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 11:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=22



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2013, 20:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

โลกธรรม
พระนิพนธ์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



นมตฺถุ รตนตตยสฺส
ลาโภ อลาโภ อยโส ยโส จ
นินฺทา ปสํสสา จ สุขํ จ ทุกฺขํ
เอเต อนิจฺจา มนุเชสุ ธมฺมา
อสสฺสตา วีปริณามธมฺมา
เอเต จ ญตฺวา สติมา สุเมโธ
อเวกฺขตี วีปริณามธมฺมา
อิฏฺฐสฺส ธมฺมา น มเถนฺติ จิตฺต
อนิฏฺฐโต โน ปฏิฆาตเมติ
ตสฺสานุโรธา อถ วา วิโรธา
วิธูปิตา อตฺถคตา น สนฺติ
ปทญฺจ ญตฺวา วิรชํ อโสกํ
สมฺมปฺปชานาติ ภวสฺส ปารคูติ


:b8: :b8: :b8:

จะแสดง โลกธรรม ๘
ผู้รู้แลปฏิบัติมิให้โลกธรรมครอบงำย่ำยีจิตต์ของตนจนเกินไป
หรือจนเบาบางห่างไกลจิตต์
ก็ประสบความผาสุกทุกอิริยาบถไม่ว่าเวลาไร
ผู้เช่นนี้มีอยู่มิใช่น้อย ผู้ยังไม่รู้จึงยังไม่ปฏิบัติ
จิตต์ก็ฟุ้งซ่านระส่ำระสายวุ่นวายเดือดร้อน

เพราะโลกธรรมก็มีอยู่มากหลายเหมือนกันฯ
เพราะฉะนั้น จะได้แสดงประดับความดำริแห่งผู้ไม่รู้
เมื่อได้ทำในจิตต์มิให้โลกธรรมอันทำน้ำจิตต์ให้ระส่ำระสาย
ธรรมบรรยายนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น อนุสาสนีย์
สำหรับประชุมชนผู้ไม่รู้ได้เรียนรู้ แลฝึกจิตต์ให้รู้เท่าโลกธรรมฯ

อธิบายโลกธรรมทั้ง ๘

๑. สวิญญาณกทรัพย์ ทรัพย์ที่มีวิญญาณ ได้แก่มนุษย์แลสัตว์ทั้งปวง
อวิญญาณกทรัพย์ ทรัพย์ที่หาวิญญาณมิได้
ได้แก่ แก้วแหวนเงินทองเครื่องใช้ไม้สอย
ไร่นานา เรือกสวน ที่บ้านเรือนเรือแพ เป็นต้น

ทรัพย์ที่มีวิญญาณ และทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ
โดยประเภทอีกนัยหนึ่งมี ๒ คือ
ทรัพย์ที่มีวิญญาณทั้งปวง กับทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ แพนนกที่ยกรื้อขนไปได้
เรียกว่า สังหาริมทรัพย์ ๑ ทรัพย์ที่หาวิญญาณมิได้อยู่กับที่
เช่น ที่ บ้าน นา สวน ตึก เรือน เป็นต้น เรียกว่า อสังหาริมทรัพย์ ๑
ทรัพย์ที่กล่าวมาแล้วนี้ที่บุคคลได้มาเป็นสิทธิของตน เรียกว่า ลาภฯ

๒. ลาภเหล่านั้นมาพิบัติไปด้วยภยันตราย
เช่น ทำผิดกฏหมายแผ่นดิน ถูกริบต้องปรับไหม เพลิงไหม้
น้ำพัดไป ถูกฉ้อ ถูกโจรปล้น ชื่อว่า เสื่อมลาภฯ

๓. ได้รับยกย่องให้มีอิสริยยศชั้นหนึ่งจนถึงชั้นสูงสุด
หรือเพียงแต่ชั้นใดชั้นหนึ่ง
มีบริษัทบริวารน้อยหรือมากเพิ่มพูนประดับอิสริยยศ ชื่อว่า ยศฯ

๔. ประพฤติทุจริต คนไม่นับหน้าถือตา ถูกถอดแลปลดชรา
บริษัทบริวารหลีกเลี่ยงไม่นิยมยำเกรง ชื่อว่า เสื่อมยศฯ

๕. ติเตียนต่อหน้าและลับหลังก็ตาม โดยความเป็นจริงแลเกินไปกว่าความจริง
หรือถูกติเตียนโดยผู้ถูกติเตือนไม่ได้ประพฤติเสียหายดังที่กล่าวติ ชื่อว่า นินทาฯ

๖. ยกย่องตามเป็นจริง แลเกินกว่าความจริง
หรือยกย่องโดยผู้ถูกยกย่องไม่ได้ทำดีตามที่ยกย่อง ชื่อว่า สรรเสริญฯ

๗. สบายกาย สบายใจ แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ สบายทั้งกาย สบายทั้งใจ
ชื่อว่า ความสุขฯ

๘. ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่สบายทั้งกายทั้งใจ
ชื่อว่า ความทุกข์ฯ

โลกธรรม ๘ มีอรรถาธิบายโดยประสงค์ ดังนี้

(มีต่อ)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2013, 20:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


โลกธรรม ๘ เกิดแต่เหตุแลให้ผล

๑. บุคคลที่เลี้ยงชีพโดยชอบธรรม เช่นเป็นชาวนาก็ลงทุนลงแรงทำนา
โชคดีฝนฟ้าน้ำท่าก็เป็นไปพอดี เจ้าของก็เกี่ยวนวดส่งขายได้กำไรพอประมาณบ้าง
ได้เกินคาดหมายบ้าง เป็นลาภที่เกิดแต่เหตุโดยประกอบโดยชอบธรรม
ได้ประสพผลคือ ความมีทรัพย์มั่งคั่ง ได้เลี้ยงครอบครัวบริบูรณ์
กิจการของชาวสวนพ่อค้าแลช่างก็ทำโดยสัมมาอาชีวะ
ก็เป็นอันดุจเดียวกันกับชาวนาอันพรรณนามาแล้วฯ

ฝ่ายบุคคลผู้เลี้ยงชีพโดยมิจฉาชีพ
เช่น หาทางฉ้อโกลงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือประพฤติเป็นโจรปล้นบ้าน
ผู้ประพฤติเช่นนี้ก็เป็นเหตุให้มีทรัพย์สินเงินทอง เป็นเหตุให้ลาภเกิดขึ้นเหมือนกัน
แต่ต่างกัน เพราะลาภเช่นนี้ เกิดแต่เหตุที่ประกอบหาชอบธรรมไม่
ให้ผลมีแต่วิปฏิสารเดือดร้อนอยู่เสมอ

ที่สุดก็จะได้รับโทษทัณฑ์ไม่เร็วก็ช้า เหตุให้เกิดลาภ เหตุให้เกิดผลต่างกัน
เพราะเกิดจากสัมมาอาชีพ หรือมิจฉาชีพ ผู้หวังมีลาภควรเว้นมิจฉาชีพ
ควรให้เป็นไปแต่สัมมาชีพ ถึงจะสมควรแก่ภาวะของตนผู้หวังมีลาภฯ

๒. บุคคลระวังไม่ดี ทรัพย์ทั้งปวงที่มีอยู่ ก็จะถึงความวิบัติ ด้วยภัยอันใดอันหนึ่ง
มีราชภัย คือทำผิดกฏหมายต้องถูกปรับไหม เป็นต้น
หรือก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
แต่ก็เผอิญเคราะห์ร้าย หรือกรรมที่ทำไว้แต่ปางหลังมาอำนวยผล
สมบัติพัสดุบรรดาที่มีก็ถึงซึ่งความพินาศไปจนสิ้นเนื้อประดาตัว
โจรทำโจรกรรม ได้อะไรมายากที่จะเก็บงำมาไว้ได้
เพราะเป็นของร้อน มีแต่จะฉิบหายไปด้วยราชทัณฑ์
มิหนำซ้ำพลอยพาทรัพย์สินที่มีอยู่ซึ่งได้มาโดยชอบธรรมหมดไป
ด้วยเหตุแห่งความเสื่อมลาภเป็นดังนี้ฯ

ความเสื่อมลาภนั้น ให้เกิดผลคือความยากจนเข็ญใจอย่างร้ายกาจ
ถึงกับวันนึงๆ จะมีอาหารบริโภคก็เต็มที บางวันก็มีกินบางวันก็ต้องอดฯ

๓. บุคคลผู้ประพฤติสุจริต มีความอุตสาหะ แต่ในทางที่ชอบในทางที่ปรีชา
ย่อมมีชื่อเสียงดี ปรากฏเป็นเหตุให้ได้รับยศบรรดาศักดิ์
ตามคุณานุรูปโดยลำดับฯ บุคคลแม้ปรากฏว่าเป็นผู้ประพฤติทุจริต
เกียจคร้านงานการที่มีประโยชน์ ไม่เห็นโทษในงานการที่หาประโยชน์ไม่ได้
กลับขยันขันแข็งทำจริงๆ ก็ยังมียศยิ่งนี้ พอจะหยั่งลงสันนิษฐานได้ว่า
เพราะกุศลสัมมาปฏิบัติแต่ปางหลังกำลังมาอำนวยผลนั่นเอง
จึงได้ยศยิ่งใหญ่ นี้ก็เป็นเหตุให้ได้ยศฯ ความมียศให้ผล
คือมีผู้นับหน้าถือตา แลเป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์ฯ

๔. บุคคลผู้มียศ ไม่สงวนยศ มาเป็นผู้ประมาทประพฤติเป็นทุจริตเห็นเป็นกิจดี
นี้เป็นเหตุแห่งความเสื่อมยศฯ ต้องถูกถอดลงเป็นคนสามัญ ไม่มีใครเคารพ ยำเกรง
นี้เป็นผลแห่งความเสื่อมยศฯ

๕. บุคคลประพฤติผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบุคคลที่คนอื่นไม่พอใจ
จะประพฤติผิดหรือถูกก็ตาม เป็นเหตุที่จักยกขึ้นติฉินนินทา
โดยเป็นจริงน่าติบ้าง โดยเกินไปบ้าง โดยไม่เป็นจริง
ไม่น่าติบ้างฯ เหตุแห่งความนินทาดังนี้ฯ

นินทาให้ผล คือผู้ถูกนินทา ถ้าผู้นินทาถูกผู้ถูกนินทาทำความผิดจริง
ผู้ถูกนินทาก็เสียชื่อในส่วนที่ทำผิดนั้น
ถ้าผู้ถูกนินทางดเว้นการทำผิดนั้นเสียไม่ทำต่อไป
ก็ชื่อว่าได้รับประโยชน์จากการนินทาฯ

๖. บุคคลประพฤติดีอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏ ก็มีผู้สรรเสริญ
หรือผู้ประพฤติไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็มีผู้ยกยอเหมือนกัน แต่ถ้าผู้ยกยอนั้น คงมีความประสงค์สิ่งไรในผู้นั้น
เหตุแห่งความสรรเสริญดังนี้ฯ ความสรรเสริญให้ผล
คือผู้ได้รับคำสรรเสริญ ถ้ามีปรีชาก็จะได้รู้สึกว่าความประพฤติดีของตนปรากฏแก่ผู้อื่น
ก็จะประพฤติอยู่เสมอแลประพฤติให้ดียิ่งขึ้น
ถ้าเขลาก็จะหันไปประพฤติไม่ดีก็เปนได้ฯ
ถ้าผู้ถูกยกยออันไม่น่ายอ เพราะไม่มีความดีในตน มัวแต่เพลินไปในคำยอ
ไม่ทำความดีก็ไม่มีทางจะจะทำดีอะไรฯ

๗. บุคคลได้ลาภได้ยศโดยชอบธรรม ได้ความสรรเสริญโดยน่าสรรเสริญจริง
เป็นเหตุให้ได้ความสุขฯ บุคคลรักษาตัวดีหมั่นผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
ทำกิจการไม่ให้บอบช้ำ หมั่นพักผ่อนให้เพียงงพอดี ระวังการกินอยู่หลับนอน
เป็นเหตุไม่ให้เกิดโรค ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ลาภเช่นนี้ให้ผลได้ความสุขกายสุขใจฯ
อดทนต่อกำลังกิเลส แลผรุวาจา ทุกขเวทนา
ประกอบด้วยโสรัจจะ ความเสงี่ยมนี้เป็นตัวลาภอย่างยอด
ให้เกิดสุขจิตต์ตลอดจนกายก็เป็นสุขฯ

๘. บุคคลเสื่อมลาภเสื่อมยศ ถูกติฉินนินทา
เพราะความประพฤติเสียหายระวังรักษาร่างกายไม่ดี ก็เกิดเจ็บไข้
ปล่อยให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลส ประสงค์สิ่งใดก็ไม่ได้สิ่งนั้นตามประสงค์
เหล่านี้เป็นเหตุให้ทุกข์ระทมกายระทมใจเกิดขึ้นฯ

โลกธรรมเกิดแก่บุคคลทั่วหน้า แต่ใจของผู้นั้นๆ ต่างกัน

สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ บรรพชิต ทั่วกัน
จะต้องประสบกระทบกระทั่งโลกธรรมไม่มีสิ่งไรจะป้องกัน

ข้อสำคัญนั้นควรประพฤติให้ดีชอบ
พิจารณาให้เห็นความเป็นไปของโลกธรมนั้นมีปกติเป็นอย่างไร
แล้วทำใจให้มั่นคงเป็นหลัก ไม่น้อมใจไปตามโลกธรรมซึ่งมีปกติไม่อยู่ที่ฯ

โลกธรรมย่อมกระทบบุคคลไม่เลือกหน้า
แลทำจิตต์ฉันใดไม่เป็นหลักมั่นไม่คลอนโคลง
จะได้นำ โลกธรรมสูตร อันเป็นพระพุทธภาษิตสุคโตวาท
กล่าวข้อความเช่นนั้นมาแสดง
เพื่อเป็นข้อปฏิบัติของผู้หวังความสุข ในชาตินี้แลชาติหน้าฯ

(มีต่อ)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2013, 20:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


โลกธรรมสูตร

ก็โลกธรรมสูตรนั้น มาในอัฏฐกนิบาตอังคุตตรนิกายว่า

เอกํ สมยํ ภควา สาวฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม

กาลครั้งหนึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ เชตวนาราม
ของอนาถกบิณฑกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายในที่นั้น
เพื่อให้ตั้งจิตต์สดับพระพุทธโอวาท จึงตรัสว่า

อฏฺฐิมา ภิกขฺเว โลกธมฺมา โลกํ อนุปริวตตนติ โลโก จ อฏฺฐ โลกธมฺเม อนุปริวตฺตติ

แน่ะ ภิกษุทั้งหลายโลกธรรม ๘ เหล่านี้ย่อมเป็นไปตามโลกคือหมู่สัตว์
โลกคือหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามโลกธรรมฯ


โลกธรรม ๘ คือ
ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ฯ


แน่ะ ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับฯ
ปุถุชนกับอริยสาวกจะแปลกกัน จะอธิบายความผิดกันจะต่างกันอย่างไรฯ


เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว
ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่า ธรรมทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นเค้ามูล
เป็นผู้แนะนำเป็นที่ระลึกอาศัยฯ เนื้อความแห่งภาษิตนั้น
จงแจ่มแจ้งแด่พระผู้มีพระภาค ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระผู้มีพระภาคแล้ว
จักได้ทรงจำไว้เป็นเนติแบบอย่างฯ

สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเตือนให้ภิกษุเหล่านั้นฟังแลทำใจให้ดีแล้วตรัสว่า

แน่ะภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ปุถุชนนั้นหาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า
โลกธรรม ๘ นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
แต่โลกธรรมนั้นแล เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่คงทน เป็นของแปรปรวนฯ
โลกธรรม ๘ ก็ครอบงำจิตต์แห่งปุถุชนนั้นตั้งอยู่ฯ
ปุถุชนนั้นก็ยินดีตามโลกธรรมที่เป็นอิฏฐารมณ์
คือ ลาภ ยศ ความสรรเสริญ แลความสุข
ยินร้ายที่เป็นโลกธรรมที่เป็นอนิฏฐารมณ์
คือ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ความนินทาแลความทุกข์
เมื่อปุถุชนถึงพร้อมด้วยตวามยินดีแลความยินร้ายอย่างนี้แล้ว
ก็ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสก ปริเทว ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เรากล่าวว่าไม่พ้นจากทุกข์ฯ


แน่ะภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแก่อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว
อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า
โลกธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
แต่โลกธรรมนั้นแลเป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่คงทน เป็นของแปรปรวนฯ
โลกธรรม ๘ ก็ไม่ครอบงำจิตต์แห่งอริยสาวกนั้นตั้งอยู่ฯ
อริยสาวกนั้นก็ไม่ยินดีตามโลกธรรมที่เป็นอิฏฐารมณ์
คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ แลความสุข
ย่อมไม่ยินร้ายในโลกธรรมที่เป็นอนิฏฐารมณ์
คือ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ความนินทา แลความทุกข์ฯ
เมื่ออริยสาวกละความยินดีแลความยินร้ายอย่างนี้แล้ว
ก็ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณ โสก ปริเทว ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เราย่อมกล่าวว่าพ้นจากทุกข์ฯ


แน่ะภิกษุทั้งหลาย
ปุถุชนกับอริยสาวกแปลกกัน
หมายความผิดกันต่างกันอย่างนี้แลฯ


เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสฉะนี้แล้ว จึงตรัสนิคมคาถาว่า

ลาโภ อลาโภ อยโส ยโส จนินฺทา ปสํสา จ สขํ จ ทุกฺขํ เป็นต้น

มีความว่าธรรมในมนุษย์เหล่านี้
คือ ลาภ เสื่อม ลาภ เสื่อมยศ ยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์
เป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นวิปริณามธรรม

ผู้มีปัญญามีสติรู้แล้วย่อมพิจารณาเห็นธรรมเหล่านี้ว่าเป็นวิปริณามธรรม
สภาพแห่งโลกธรรมที่เป็นอิฏฐารมณ์ย่อมไม่ย่ำยีจิตต์แห่งผู้มีปัญญานั้น
จิตต์แห่งผู้มีปัญญานั้นย่อมไม่ถึงซึ่งความคับแค้น
เพราะโลกธรรมที่เป็นอนิฏฐารมณ์

ความยินดีแลความยินร้ายของผู้ที่มีปัญญานั้นย่อมไม่มี
อันผู้มีปัญญานั้นกำจัดแล้ว ถึงความพินาศแล้ว
ผู้มีปัญญานั้นรู้อมตบทอันหาธุลีคือกิเลสไม่ได้
อันไม่มีความโสก เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
ชื่อว่าย่อมรู้ชัดโดยชอบ ด้วยประการฉะนี้แลฯ

อธิบายโลกธรรมสูตร

อธิบายแห่งโลกธรรมสูตร ในข้อที่ควรอธิบายฯ
โลกธรรม ๘ นั้นเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งๆ ชวนให้นึก
อาจให้เกิดความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง แบ่งออกเป็น ๒ พวกฯ

ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ๔ อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่ปรารถนา
เรียกว่า “อิฏฐารมณ์”

เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ๔ อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่ไม่ปรารถนา
เรียกว่า “อนิฏฐารมณ์”ฯ

โลกธรรมทั้ง ๘ นั้นเป็นไปตามบุคคลทั้งปวงๆ
ก็เป็นไปตามโลกธรรม ๘ นั้นฯ บุคคลทั้งปวงเป็น ๒ พวก

บุคคลสามัญพวก ๑ พระอริยะบุคคลพวก ๑ฯ

โลกธรรมเกิดแก่บุคคลทั้ง ๒ พวกเหมือนกัน
แต่บุคคล ๒ พวกทำในจิตต์ผิดกันฯ


บุคคลสามัญถูกโลกธรรมมากระทบ
ก็ไม่คิดเห็นว่าโลกธรรมเกิดขึ้นแก่เราแล้ว
แต่เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ แปรปรวน
โลกธรรมก็เข้าครอบงำจิตต์บุคคลสามัญนั้นๆ
ก็ยินดีตามโลกธรรมที่เป็นอิฏฐารมณ์
ยินร้ายที่เป็นโลกธรรมที่เป็นอนิฏฐารมณ์
ก็ไม่พ้นจากทุกข์มีชาติเป็นต้นฯ


ฝ่ายพระอริยะบุคคลถูกโลกธรรมกระทบ
ก็คิดเห็นว่าโลกธรรมเกิดขึ้นแล้วเรา
แต่เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่แปรปรวนฯ
โลกธรรมก็ไม่ครอบงำจิตต์พระอริยะบุคคลนั้นๆ
ก็ไม่ยินดียินร้ายต่อโลกธรรมที่เป็นอิฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ก็พ้นจากทุกข์มีชาติเป็นต้นฯ


โลกธรรมสูตรมีใจความเข้าใจง่ายดังกล่าวมานี้ฯ

ก็คฤหัสถ์ครองเรือน ต้องเลี้ยงชีพด้วยเครื่องเลี้ยงชีพ
อันใดอันหนึ่งมีพาณิชยการเป็นต้น
แม้โดยสัมมาอาชีวะ ก็เพื่อให้ได้ทรัพย์มาเลี้ยงชีพ
ให้พอฉะเพาะตนให้ครอบครัวตลอดบริษัทบริวาร
เมื่อเป็นไปโดยปลอดอุปสัคแล้ว ก็ต้องมีความยินดีต่อลาภที่ได้มา
แลให้สำเร็จกิจที่ต้องประสงค์ ยินดีอย่างนี้ก็น่าจะต้องยินดี
แต่ควรยินดีเฉพาะลาภที่มีอยู่
หากลาภบางอย่างหรือแทบทั้งหมดมีเหตุต้องวิบัติไปด้วยเหตุไร
แลหมดวิสัยที่จะให้ได้คืนมา ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียใจ

ยินดีอยู่แต่ในลาภที่มี ก็เป็นการดีของผู้ครองเรือน
เมื่อจะฝึกทำจิตต์ให้วิเศษกว่านี้ ก็พึงหยั่งเห็นว่าลาภหรือเสื่อมลาภ
เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ลาภเสื่อมลาภก็จะไม่ครอบงำจิตต์
จิตต์ก็ปราศจากความยินดียินร้าย
ผู้มีจิตต์เช่นนี้จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงฯ

แท้ที่จริงลาภหรือเสื่อมลาภเป็นของไม่เที่ยง ไม่ถาวรแปรปรวนเป็นปกติ
แต่บุคคลไม่เห็นจริงดังนี้ มาเห็นผิดไปเสียว่า
ลาภหรือเสื่อมลาภเป็นของเที่ยง เป็นของถาวร เป็นของยั่งยืน

ครั้นถึงความเสื่อมลาภจึงเกิดวิปฏิสารยินร้าย
เมื่อมาเห็นตามเป็นจริง ประสบความเสื่อมลาภก็จะไม่วิปฏิสารเดือดร้อน
เพราะมาเมื่อเห็นตามความเป็นจริง
คราวยังสมบูรณ์ด้วยลาภหรือคราวลาภถึงความฉิบหาย
ก็จะมีอัธยาศัยตามปกติไม่ยินดียินร้ายฯ
แม้จะทำอัธยาศัยให้เด็ดขาดเช่นนี้ไม่ได้
แต่เมื่อทราบความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว ถึงคราวมีลาภหรือเสื่อมลาภ
จะได้มีสติข่มความยินดี หรือความยินร้ายให้น้อยหรือให้เบาบางลงฯ

โลกธรรมอีก ๖ มียศ เสื่อมยศเป็นต้น
ควรเทียบมาด้วยข้อที่ว่าด้วยลาภและเสื่อมลาภ
ก็จะเป็นปฏิปทาสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติ ด้วยประการฉะนี้ฯ


* หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความโลกธรรมนี้ ใช้อักขรวิธีตามต้นฉบับ

:b8: :b8: :b8:

คัดลอกบางตอนมาจาก ::
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ สิริวฑฺฒโน)

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13636

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20842

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2015, 16:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2008, 09:20
โพสต์: 349


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8: :b20:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร