วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2021, 08:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทางสายกลาง
พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ
:b47: :b50: :b47:
รูปภาพ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นบรมครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย แม้ปรินิพพานนานแล้วพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า ขออำนวยพรสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ความสงบแห่งจิต ความผาสุกทุกประการ จงบังเกิดมีแด่ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจใฝ่ในธรรม ผู้แสวงหาคุณงามความดี ผู้ใฝ่บุญใฝ่กุศลทั้งหลาย โดยทั่วกันทุกท่านทุกคน ณ โอกาสนี้

เวลาล่วงเลยมาตีห้าใกล้จะสว่างแล้ว โอกาสที่เหลือก่อนที่ฟ้าจะสาง วันใหม่มาถึง..เป็นเวลาที่เราจะได้พูดได้ฟังกันในสิ่งที่ควรจะพูดจะฟัง ผมรู้สึกเป็นห่วงเพื่อนสหธรรมิกเป็นห่วงมากๆ เพราะว่าเวลาผมไม่พอเดี๋ยวนี้งานนิมนต์เยอะ ต้องเที่ยวไปไกลๆ เหนื่อยๆ เมื่อวานก็แสดงธรรมอยู่ที่โรงแรมสองสามชั่วโมงตั้งแต่บ่ายโมงถึงบ่ายสี่โมง พวกท่านอยู่ที่นี่เป็นเวลานานมาแล้วตั้งแต่เข้าพรรษา อะไรๆ มันจะเข้าร่องเข้ารอยเข้ารูปเข้าร่างบ้างแล้ว ถ้าผู้ที่มีความพอใจมีฉันทะขึ้นมา แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ ผมจึงไม่อาจจะไปที่ไหนไกลๆ เมื่อวานมีงานนิมนต์ทางโทรศัพท์ทางไกล ให้ท่านเจ้าคณะอำเภอเมืองมาคอยดักผมที่โรงแรมดุสิต ไปแสดงธรรมที่ทางจังหวัดภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ตั๋วที่นั่งเครื่องบินสองที่ ผมไม่กล้ารับทั้งไม่อยากไป เพราะเป็นห่วงพวกเราก็เลยบอกเลิกไปสองสามแห่งแล้ว

ที่เป็นห่วงก็คือว่าเวลาเรามันน้อยที่จะได้อยู่ด้วยกัน ได้พูดได้จาได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรม เวลาของท่านทั้งหลายก็น้อย ท่านที่มาบวชชั่วคราวนี่ สามเดือนนิดเดียว แต่ก็จะมีคุณมีค่ามากตลอดเวลาเราไม่ได้อยู่กับตนเอง อยู่กับงานกับการ อยู่กับสภาพแวดล้อม อยู่กับอารมณ์ที่มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปรุงแต่งหมุนติ้ววัฏฏสงสารอยู่ตรงนั้น พอเรามาบวชสามเดือนนี่ก็เหมือนมาอยู่กับตนเองมาศึกษาตนเอง มาทำความเข้าใจกับชีวิตกับจิตใจตนเอง

เรื่องที่เราสวดมาเมื่อกี้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ได้ เรื่องธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสูตร เป็นธรรมะบทแรกที่พระพุทธเจ้าของเราท่านแสดง เรียกว่าเป็นหัวน้ำ หัวกะทิแห่งหลักธรรมทั้งหมด และเป็นธรรมะที่ท่านได้ตรัสรู้ เมื่อกี้เราก็สวดตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา เป็นข้อปฏิบัติอันตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ท่านยืนยันว่าท่านตรัสรู้ด้วยธรรมอันนี้ ที่เราเอามาสวดกันธัมมะจักรนั้นมีหัวใจอยู่ที่อริยมรรคมีองค์แปดประการ

ทีนี้อริยมรรคมีองค์แปดยังชื่อว่าทางสายกลาง ทำความเข้าใจกับทางสายกลางให้มากๆ ผู้ที่เรียนในนักธรรมนี่ สอบมาจนจบนักธรรมตรี โท เอก ก็ยังจะไม่เข้าใจอยู่ดี ขอให้เข้าใจนะ ยังไม่เข้าใจดี ที่แจกไปเป็นแปดแฟคเทอร์ แปดองค์ประกอบรวมกันมาเป็นอันเดียว เหมือนเชือกที่มีเกลียวแปดเกลียว แล้วเอามารวมเป็นอันเดียวกัน ปฏิบัติเพื่อจะนำไปสู่ความดับทุกข์

ทางสายกลาง คำว่าทางสายกลางนี้จะต้องทำความเข้าใจ ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิปลูกขึ้นมาก่อน ทีนี้เมื่อไม่มีทางสายกลางไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ก็มีขึ้นมาไม่ได้ ตัวพรหมจรรย์อยู่ตรงนี้ ตัวศาสนาอยู่ตรงนี้

เรื่องทางสายกลางถ้าหากไม่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจอย่างถูกต้องจะมีไม่ได้ ขอให้เข้าใจว่าทางสายกลางนี้ ไม่ต้องรอให้มันมีทั้งสองมาขนาบข้างจึงจะรู้จักกลาง ไม่ต้องรอให้มี การไปลองให้เต็มที่ในเรื่องกาม แล้วก็ไม่ต้องรอไปจนกว่าเป็นการทรมานตัวเอง จนสุดเหวี่ยงไม่ต้องมีสุดโต่งทั้งสอง เรียกว่า เอเต ภิกขะเว อุโภ อันเต บอกชัดได้ว่า อุโภ อันเต เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนี้ไม่เข้าไปหาที่สุดทั้งสองอย่าง ในการปฏิบัติที่สุดทั้งสองอย่าง เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะเลย ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องในสิ่งเหล่านั้น

ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา, โย จายัง กาเมสุ กามะ สุขัลลิกานุโยโค, หีโน, คัมโม, โปถุชชะนิโก, อะนะริโย, อะนัตถะ สัญหิโต

นี้คือการประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย, เป็นของต่ำทราม, เป็นของชาวบ้าน, เป็นของชนชั้นปุถุชน, ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า, ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย

ฟังให้ดี กาม แปลว่า ใคร่ สุขัลลิกะ ตามประกอบความใคร่ในความสุขทางกาม ความสุขที่พอใจทุกอย่างที่พอใจ จนติดยึดที่กำหนัดเข้าไปนั้นแหละเป็นกาม นั่งสมาธิหลับนานๆ พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่านี่กำลังเป็นการสั่งสมกามราคะ ฟังให้ดีๆ นะ เพราะว่ามันพอใจจะตื่นทำไม มันพอใจมันหลับมันดีอยู่แล้ว บอกให้ลุกยังไม่ลุกนี่แหละท่านบอกว่าสั่งสมราคานุสัย ราคะก็คือการกำหนัด อนุสะยะความกำหนัดตามเข้าไปนอนอยู่ในใจแล้ว พอตื่นขึ้นมาจากหลับมันจะฟุ้งให้ดูคิดไปหากามก็มีกำลังแรง ประเภทนั่งหลับนานๆ นี้กามมีกำลัง

อีกอย่างหนึ่ง คือ การประกอบการทรมานตนให้ลำบาก ในประเทศอินเดียหิมะลงหน้าหนาว ไปตากหิมะให้มันหนาวให้มันหมดความรู้สึก ทรมาน เรื่องเพศให้มันตายไปเลย บางคนนั่งกำมือไม่แบไม่ยอมแบกี่ปีกี่ชาติก็ไม่แบ เล็บมันก็งอกออกทะลุหลังมือ อย่างนี้จึงเรียกว่า อัตตะกิละมะถานุโยค

บางคนนอนย่างไฟ เขาว่าย่างกิเลสให้มันเหือดแห้ง บางคนเอาเท้าเกี่ยวต้นไม้ เอาหัวห้อยลงดิน มันยากมากกิเลสนี่ ทรมานมันให้มันหมดประสิทธิภาพ บางคนแทงเอาหนามจิ้มแทงแล้วก็ติดไว้เลย ไปเห็นแล้วยิ่งทรมานใจเรียกว่าหุ่นทรมานใจคน แทงลง หมดเลือดแล้วก็น้ำเหลืองน้ำหนองไหลอาบหนามที่คาบวมเปื่อย ทรมานอย่างนั้นจึงเรียกว่า อัตตะกิละมะถานุโยค ตื่นมาตั้งแต่ตีสองอย่างพวกเรามานั่งสมาธินี้มันไม่ใช่อัตตะกิละมะถานุโยค

โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค, ทุกโข, อะนะริโย, อะนัตถะสัญหิโต เอเตเต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา.

เป็นสิ่งนำมาซึ่งทุกข์, ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า, ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง ไม่เข้าไปหาที่สุดแห่งการกระทำ ๒ อย่างนั้น มีอยู่

การทรมานตนให้ลำบาก พูดถึงตัวนี้กิเลสมันอาจจะเข้าข้างตัวเอง พวกเราตื่นมาตั้งแต่ตีสองนี่มานั่งสมาธิมันไม่ทรมานตนหรือไม่ มันทรมานกิเลสอันนี้มันไม่ทรมานตน คำว่า อัตตะกิละมะถานุโยค การทรมานตน อัตตะ แปลว่า ตน กิละมะถานุโยค ตามประกอบตนให้ลำบาก อีกอันหนึ่งตามประกอบตนทางกาม แต่ในอินเดียเขาไม่ได้ถือว่าทรมานอย่างเรานะ เขาทรมานจนเสียสมรรถภาพของกาย อย่างบางคนนี้เขาว่ากามมันเกิดขึ้นเพราะอวัยวะไปเดี๋ยวนี้ท่านก็จะเห็น ขออภัยพูดภาษาชัดๆ อย่างบางคนยืนเอาเชือกผูกอวัยวะเพศถ่วงใส่ก้อนหินลงไป ยืนทรมานมัน ไม่จำเป็นที่จะมีทั้งสองอันนั้นเราก็สามารถเข้าถึงทางสายกลาง

ถ้าหากเรามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั้นก็คือ ความเข้าใจต่อธรรมชาติกฎของธรรมชาติและตัวชีวิตทั้งหมดที่มันเป็นตัวธรรมชาติ กฎของธรรมชาติเข้าใจธรรมชาติของชีวิตและจุดหมายที่สูงสุดของจิตใจ ที่จะนำไปให้ถึงนั่นคือเป้าหมายของมัน เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติแห่งชีวิตและเป้าหมายสูงสุดแห่งจิตใจที่จะนำเข้าถึง เราพร้อมที่จะเผชิญหน้าทุกอย่างเผชิญกับความจริงทุกอย่าง

ความทุกข์นั่นแหละคือความจริงที่สุด ที่เราจะต้องพบกับมันและเราจะต้องเผชิญหน้ากับมันอย่างรับผิดชอบเต็มที่ ระบบของอริยมรรคมีองค์แปด นั่นคือระบบแห่งการจัดการกับชีวิตของเราเอง ด้วยมือสองข้างของเราถ้าเข้าใจเรื่องเจริญมรรคมีองค์แปด เข้าใจเรื่องสัมมาทิฏฐิขึ้นมา ก็จะก้าวล่วง ก้าวล่วงการหวังพึ่งสิ่งภายนอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์แม้แต่เทวดาฟ้าดินเทพเจ้า เครื่องรางของขลังทั้งหลายก็หมดความหมาย เป็นเครื่องวัดสัมมาทิฏฐิ เป็นเครื่องวัดพุทธศาสนิกชนอีกด้วย

ถ้าหากเครื่องรางของขลังไสยศาสตร์ การหวังพึ่งอ้อนวอน เซ่นสรวงบวงบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ทั้งหลายยังมีเกลื่อนกล่นในหมู่พุทธบริษัท ก็พึงรู้เถิดว่ายังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ยังไม่รู้จักทางสายกลางยังไม่เข้าถึงมรรค พวกคุณฟังดีๆ นะ ล้วนแต่ปัญญาชนทั้งนั้นที่ผมเป็นห่วงที่สุด ก็กลัวไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้แหละ

ผมตื่นมาตั้งแต่ตีสอง แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากที่อื่นไกลๆ งานเยอะ ผมก็มานั่งกับพวกท่าน มานั่งทำไม นั่งปรก มีนะมีคนเชิญผมนิมนต์ผม ถวายตั๋วเครื่องบินอย่างดี ให้นั่งเครื่องบินไปนั่งปลุกเสกในกรุงเทพฯ ในที่อันใหญ่โต แต่ผมไม่ไป ผมไม่ไป ใครอยากจะขี่เครื่องบินก็เอาไปเถอะตั๋วเครื่องบินไปแทนผมมั่งก็ได้

อันนั้นมันเป็นการนั่งปรกอิฐหินปูนทรายปรกไปแล้วก็ทำท่าปลุกเสกด้วยภาษาบาลีแล้วก็เอาไปขายได้เงิน แต่มันไม่เป็นไปเพื่อสติปัญญาไม่เป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงแห่งศาสนา แต่มันเป็นไปเพื่อความเสื่อม ผมก็ไม่ไปถ้าใครบอกว่าไม่ไปไม่ได้ ผมก็จะได้ คือไม่ไป หัวเด็ดตีนขาดผมก็ไม่เอา ที่นี่มันคนอยากขี่เครื่องบินเขาก็ไปแทนผม พอใจที่จะมานั่งปรกนั่งปรกพวกท่านทั้งหลาย นั่งปรกคนนี่ปรกพระเณรที่เดินไปเดินมาได้ แต่ขายไม่ได้ พวกนี้ทั้งปรกแล้วก็ปลุกเสก

ผมนั่งปรกมาตั้งแต่ตีสองกับพวกท่านเดี๋ยวนี้ก็จะปลุก ยังไม่ตื่นด้วยซ้ำหลับไปก็มี ไม่รู้จะปลุกยังไง สงสัยต้องเคาะหัวให้ตื่น ถึงว่าน่าสงสารคนพูด สงสารตนเองมากๆ นี่ความจริงผมนั่งอยู่ข้างบน ผมตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งอยู่กับพวกท่าน เป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา นั่งปรกให้กำลังใจนั่งทนดู

พวกท่านนั่งหลับงอกแงก นั่งนอนก็มี นั่งปรกเสียจนหลับเลย นอนก็มี นอนก็ไม่นอนเฉยๆ นั่งก็ไม่นั่งเฉยๆ บางคนยังปล่อยแก๊สพิษออกมาอีกใส่อาวุธเคมีออกมาอีก ตัวเองไม่รู้อะไรเลยนั่งเฉย ปึ๋งออกมา ไม่รู้เหม็นหรือหอมเจ้าของนั่งหลับเฉย เราอยู่ใต้ลมตรงนี้ก็รับไปเต็มเปาก็ไม่ว่าอะไร เพราะมันเป็นความไม่รู้ ไม่ใช่ความจงใจของพวกเราและมันก็เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าผู้นั้นรู้ ผู้นั้นตื่นด้วยสติก็คงไม่ทำอย่างนี้ ก็คงจะลุกออกไปโดยธรรมชาติ แต่นี่เปล่าเลย นั่งฟังเสียงไปบ้างใส่เคมีออกมากลิ่นตลบเลยแต่ตัวเองเฉย เวลาผมไม่มีมาก จะไปไกลๆ ผมก็เป็นห่วงพวกท่านทั้งหลายนี้แหละกลัวไม่เข้าใจ

เพราะฉะนั้นดังที่กล่าวแล้วว่า ถ้าสังคมชาวพุทธเรายังเต็มไปด้วยการปรกการปลุกเสก เครื่องรางของขลังนั่งทางใน ไสยศาสตร์เสกเป่าเหล่านี้ก็พึงรู้เถิดว่า พุทธศาสนาของเราไม่ได้เจริญอะไร มีแต่เสื่อมถ้าเราหลงผิดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เมื่อกี้เราพูดอริยมรรคมีองค์แปด อริยมีองค์แปดนั้นก็คือ ความเข้าใจในระบบธรรมชาติของชีวิตจิตใจของตนเอง และธรรมชาติภายนอกจากขบวนการของธรรมชาติ นี่เราทำความเข้าใจมาสู่ขบวนการปฏิบัติของมนุษย์ ต่อธรรมชาติคือชีวิต ชีวิตก็คือตัวธรรมชาติ จนไปถึงที่สุดแห่งจิตใจส่งไปถึงที่สุด หลุดพ้นจากวัฏฏสงสารพ้นไปจากทุกข์

พรหมจรรย์นี้ก็คืออริยมรรคมีองค์แปด มีวิมุตติ เป็นเป้าหมาย อย่าลืมว่าพรหมจรรย์นี้ไม่มีอย่างอื่นมีความหลุดพ้นวิชา วิมุตติเป็นอานิสงส์เป็นเป้าหมาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพรหมจรรย์นี้ มี มหาสาโรปมสูตร ท่านบอกว่าเหมือนคนถือขวาน ถือขวานไป ปรารถนาแก่นไม้ไปเห็นต้นไม้ใหญ่ๆ เนื้อความโดยย่อเพิ่มเติมดังนี้

ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์ ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้ถูกความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย และความคับแค้นใจ ท่วมท้นแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นไปในเบื้องหน้าแล้ว ไฉนหนอจึงจะกำจัดที่สุดแห่งทุกข์นี้ได้

เขาผู้นั้นออกบวชแล้วยังลาภสักการะและชื่อเสียงให้เกิดขึ้น ก็อิ่มใจเต็มความปรารถนาด้วย ลาภสักการะและชื่อเสียงนั้นยกตนข่มผู้อื่น และมีความประมาทมัวเมาแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ อุปมาเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่เขาละเลยแก่น กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไม้เสีย ตัดเอาแต่กิ่งและใบไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นไม้คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้า ก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษนี้ไม่รู้จักแก่นไม้ ฯลฯ เมื่อต้องการแก่นแต่กลับตัดเอากิ่งและใบไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นไม้ กิจที่จะพึงกระทำด้วยแก่นไม้จึงไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขาเลย

อนึ่ง กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ เขายังสมบูรณ์แห่งศีลให้เกิดขึ้น ก็อิ่มใจเต็มความปรารถนาด้วยความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น ยกตนเองข่มผู้อื่น และมีความประมาทมัวเมา ย่อมอยู่เป็นทุกข์ อุปมาเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ เขาละเลยแก่น กระพี้ เปลือกและใบไม้ แต่ได้ถากเอาแต่สะเก็ดไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นไม้ก็พึงถูกกล่าวหาว่าบุรุษนี้ไม่รู้จักแก่นไม้ ฯลฯ ถากเอาแต่สะเก็ดไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นไม้ กิจที่จะกระทำด้วยแก่นไม้จึงไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขาเลย

อนึ่ง กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ เขายังสมบูรณ์แห่งสมาธิให้เกิดขึ้น ก็อิ่มใจเต็มความปรารถนาด้วยความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น ยกตนเองข่มผู้อื่น และมีความประมาทมัวเมา ย่อมอยู่เป็นทุกข์ อุปมาเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ เขาละเลยแก่น สะเก็ด เปลือก กิ่งและใบไม้ แต่ได้ถากเอากระพี้ไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นไม้ ก็จะพึงถูกกล่าวหาว่า บุรุษนี้ไม่รู้จักแก่นไม้ ฯลฯ ถากเอากะพี้ไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นไม้ กิจที่จะพึงกระทำด้วยแก่นไม้จึงไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขาเลย

อนึ่ง กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต มีลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้น เขาไม่อิ่มใจ ไม่เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีลเขาไม่อิ่มใจไม่เต็มความปรารถนาด้วยความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น ได้ความสมบูรณ์แห่งสมาธิ เขาไม่อิ่มใจ ไม่เต็มความปรารถนาด้วยความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น

ได้ความสมบูรณ์แห่งญาณทัสสนะหรือปัญญา เขาไม่อิ่มใจ ไม่เต็มความปรารถนาด้วยญาณทัสสนะ หรือปัญญานั้น ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่ประมาทมัวเมา ย่อมยังความสมบูรณ์ให้สำเร็จ คือ ภาวะจิตหลุดพ้นจากกิเลสเพราะเห็นแจ้งด้วยปัญญา

ดังนั้น พรหมจรรย์นี้ จึงมิใช่ลาภสักการะ ชื่อเสียง มิใช่ความสมบูรณ์ด้วยศีล มิใช่ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ และมิใช่ความสมบูรณ์ด้วยญาณทัสสนะ เป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์นี้มีความหลุดพ้นจากกิเลสของใจอันไม่กลับกำเริบ นั่นแหละจึงได้ชื่อว่าเป็นประโยชน์ เป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา

๑. ลาภสักการะและชื่อเสียง เปรียบเหมือนกิ่งไม้และใบไม้

๒. ความสมบูรณ์ด้วยศีล เปรียบเหมือนสะเก็ดไม้

๓. ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ เปรียบเหมือนเปลือกไม้

๔. ความสมบูรณ์ด้วยญาณทัสสนะ เปรียบเหมือนกระพี้ไม้

๕. ความหลุดพ้น (จากกิเลส) เปรียบเหมือนแก่นไม้


บางคนก็ไปถือเอายอดอ่อนๆ มัน บางคนก็ไปเอาเปลือกแห้งๆ มัน บางคนก็ไปถากเอาเปลือกมันเข้าใจว่าเป็นแก่น บางคนก็ไปเอากระพี้ “บ้านเราเรียกว่าเอามอกมัน คนหนึ่งไปเห็นยอดอ่อนๆ ก็เข้าใจว่าแก่นมันก็เด็ดเอา” คนหนึ่งฉลาดกว่านั่นหน่อยหนึ่ง เห็นยอดอ่อนๆ โอ้...ไม่ใช่แก่นตัวนี้ ก็ไปเอาสะเก็ดมันแห้งๆ นี้ อีกคนหนึ่งฉลาดกว่านี้นิดหนึ่งบอกว่าไม่ใช่แก่น แก่นมันคือตรงนี้ ใต้สะเก็ดแห้งๆ นี้ ที่แท้ก็คือเปลือก

คนหนึ่งฉลาดขึ้นมาอีกว่า นี้ก็ยังไม่ใช่ ต้องใต้เปลือกนี้เข้าไปอีก คือกระพี้ ภาษาภาคอีสานว่า “มอก” ส่วนคนผู้ฉลาดก็เข้าถึงแก่น ฟันเอาแก่น ไม่เอายอดอ่อนๆ ไม่เอาสะเก็ดแห้งๆ ไม่เอาเปลือก ไม่เอากระพี้ หลังจากนั้นท่านก็เปรียบเทียบ ลาภสักการะที่เขานำมาถวายมากๆ เสียงสรรเสริญเยินยอไปไหนแห่หน้าแห่หลังเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน

อันนั้นพระพุทธเจ้าว่ายอดอ่อนๆ นั้นยอดอ่อนๆ ของพรหมจรรย์ยังไม่ใช่แก่น ต่อมาก็สะเก็ดแห้งๆ ไม่สนใจเรื่องลาภสักการะเสียงสรรเสริญเยินยอ พูดง่ายๆ ว่าไม่ปรารถนาความเด่นดังร่ำรวย ไม่ถือว่าอันนี้เป็นผลของพรหมจรรย์ สูงขึ้นมาอีกต้องการรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ศีลบริสุทธิ์ แต่ความเข้าใจศีลมันก็ยังน้อย ก็เลยมาหยุดอยู่เพียงแค่ศีล ศีลนั้นท่านเรียกว่าสะเก็ดแห้งๆ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล แต่จะสำเร็จโดยศีลหามิได้” นั่นยังมีต่ออีก เหนือเกินกว่านั้นอีกเมื่อรักษาศีลดีงามเท่านี้ก็พอใจ ไม่ก้าวล่วงต่อไปเกินกว่านั้น ก็พอแล้ว นี้คือตัวพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าว่าเป็นสะเก็ดแห้งๆ ต่อมาอีกไม่สนใจเรื่องลาภสักการะ รักษาศีลดีก้าวล่วงมาถึงสมาธิดังนี้ พวกเราทำอยู่นี้อย่าไปหลงอีกนะ “โฮ้...นั่งสมาธิตั้งแต่ตีสองทุกวันๆ” นี่ยอดพรหมจรรย์ก็ยังไม่ใช่อีก อันนี้ท่านว่าเปลือกมัน “เปลือกนะนี่ อยู่ใต้เก็ดแห้งๆ” แต่เมื่อเจริญสมาธิแล้วก้าวล้ำลึกลงไปอีกถึงญาณทัศนะมีฤทธิ์มีเดช (magi cal power) มีหูทิพย์มีตาทิพย์ (extra sensory perception) มีอภินิหารขึ้นมา มีความพิเศษทางประสาทของจิต เห็นอะไรไกลๆ รู้อะไรแปลกๆ ที่คนอื่นเขาไม่เห็น เห็นเทวดาฟ้าดินเห็นนิมิตเห็นอะไรอันนี้แหละ สุดยอดแล้วว่างั้น

แท้ที่จริงยังไม่ใช่ อันนั้นยังเป็นเพียงกระพี้ แต่ถ้าเราก้าวล่วงสิ่งเหล่านี้ไป ไปถึงความหลุดพ้น เป็นแก่น ไม่หมกมุ่นสยบไม่ติดข้องขัดคาแม้แต่สิ่งเหล่านี้แหละ “ไม่ได้ออนซอนสิ่งเหล่านี้” มีฤทธิ์มีเดชอะไรก็เฉย พยายามที่จะทำลาย อาสวะปลดปล่อยจิตให้หลุดพ้นออกไป หลุดพ้นออกไป อันนี้ท่านเรียกว่า วิมุตติสารา สาราก็ตรงกับคำว่า สาระ แปลว่า แก่น ท่านสะกดด้วยอักษรรอเรือ วิมุตติสารา อย่างเราเริ่มต้นว่า ฉันทะมูละกา มีความพอใจเป็นรากแล้ว มะนะสิการะสัมภะวา การกระทำไว้ในใจ ถ้าเกิดขึ้นมาพร้อมกันถึงพร้อมอย่างนี้ มันส่งมาเป็นทอดๆ เมื่อมีความพอใจแล้วก็มีการกระทำไว้ในใจ หลังจากนั้นมันก็จะส่งกันต่อไป

จากการกระทำไว้ในใจนั้นก็จะเกิดทุกข์อย่างที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นต้นเหตุให้เกิดธรรมะ เขาด่ามาก็ได้ ธรรมะถ้ามันถึงจุดนี้ เลยบอกว่า ฉันทัง ภิกขะเว ชาเนติ อาระภะติ จิตตัง นะมะติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ประคองจิตใจ ให้เกิดความพอใจในการประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ อย่างเราไม่พอใจมัน หงุดหงิดมันอะไรต่ออะไร ประคองมันให้เกิดความพอใจ หาอะไรมาประมวลถึงความพอใจในการบวช ความพอใจในการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา

เมื่อเกิดความพอใจแล้ว มันจะไปไหนไม่ว่าจะทำอะไรไปนั่งถ่ายอยู่ในห้องน้ำ มันก็ มะนะสิการะสัมภะวา มะนะ แปลว่า ใจ สิการะสัมพะวา มันกระทำอยู่ในใจตลอด อะไรๆ ทำอะไรอยู่ ทำงานทำการส่วนรวม มองดูใจนี่มันก็ครุ่นพิจารณาอยู่ในธรรม ได้ยินเสียงเพื่อนพูดกระทบกระทั่ง แทนที่มันจะไปโกรธไปโมโหในสิ่งที่มันไม่ดีได้ธรรมะ เขายกย่องมาก็ได้ธรรมะ เขาด่ามาก็ได้ธรรมะ

ผัสสะทุกอย่าง ผัสสะสมุททะยา ตาไปเห็นรูปอะไรที่ไม่สวยไม่งามก็เอาไปเป็นธรรมะได้ นั่งอยู่นี่เพื่อนปล่อยแก๊สพิษออกมาก็ยังได้ธรรมะอีกด้วย ปึ๋งออกมาเรานั่งอยู่ใต้ลมเต็มเปาได้ธรรมะ ผัสสะสมุททะยา พิจารณาไปอย่างใดก็ได้ นึกเห็นหน้าขาวๆ ผมยาวๆ ปากแดงๆ คิ้วโก่งๆ มันปึ๋งออกมาแก๊สพิษของมันนี่ หอมไหม “มันก็คงเหม็นเหมือนกัน อย่างนั้นก็ยังเป็นธรรมะได้อีก” คิดเข้าไปสิ หรือไม่ก็แยกธาตุตั้งแต่ธาตุสี่ ขันธ์ห้าออกมา โอ้ย...ลมพัดมาในท้องลมในไส้ลมเดี๋ยวนี้มันพัดอุจจาระออกมา มันก็มีแต่
ของสกปรกโสมมนี่คิดดูสิ ถ้าหากมีฉันทะเป็นราก มนสิการะ ถึงพร้อมกระทำไว้ในใจ ผัสสะทุกอย่างไม่ว่ารูป ไม่ว่าเสียง ไม่ว่ากลิ่น ไม่ว่ารส ไม่ว่าผัสสะ ไม่ว่าอารมณ์ใดเกิดขึ้นในใจมีแต่เหตุให้เกิดกุศลธรรม “ไม่ใช่หนาว่ามันจะเกิดอกุศล” แต่ถ้ามันไม่มีรากคือเหมือนกับปลูกต้นไม้ ถ้ามีรากมีงอกเกิดขึ้นแล้ว ใส่น้ำลงไปใส่ปุ๋ยลงไปมันได้รับเต็มที่ก็เจริญ

เวทะนาสะโมสาระนา เวทนาคืออารมณ์ทุกอย่าง feeling ทุกอย่างเป็นที่ประชุมลงแห่งธรรม สะโมสร สะโมสาระนา ดีใจเราก็ได้ธรรมะ เสียใจเราก็ได้ธรรมะ เฉยๆ เราก็ได้ธรรมะ เวทนาเหล่านี้ทำให้เราฉลาด หลังจากนั้นก็ ปัญญุตะรา ปัญญาเป็นยอด แทงขึ้นไป แทงขึ้นไป สตาทิปัตเตยยา สติก็ทำงานอยู่ตลอดมีอะไรก็สติทำงานเป็นใหญ่ สมาธิปมุขขา สมาธิเป็นหลักเป็นประธานอย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น สติปมุขา หลังจากนั้นก็หยั่งลง อมโตปทา หยั่งลงสู่อมตะ วิมุตติสาราก็เข้าถึงแก่นสาระคือวิมุตติ วิมุตตินี่เป็นแก่นของ พรหมจรรย์เหมือนต้นไม้ที่มีแก่น เพราะนั่นเราจะต้องเข้าใจว่า หลักอริยมรรคมีองค์แปด สัมมาทิฏฐิเข้าใจเบื้องต้นเลยให้ได้ ว่าการปฏิบัติ

การมาบวชของเรานั้นมันจะต้องครบในอริยมรรคมีองค์แปดที่เราพูดนั้น มันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา สองข้อแรกเปิดหนังสือของท่านทบทวนดูก็ได้ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สองอันเป็นปัญญา เวลาเราพูดเราบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เวลาในมรรค ปัญญาขึ้นมาก่อน ปัญญาขึ้นมาก่อนนะ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

การดำริคืออะไร? คือความเห็น ถ้าความเห็นของพระเจ้าแผ่นดินเรียกว่า พระราชดำริ ความดำริชอบนั้นก็หมายความว่า ความครุ่นคิดความหวังความปรารถนา ต่อไปเป็นความชอบในนี้ถ้าหากเราเข้าใจ มีสัมมาทิฏฐิมีความเข้าใจชอบ ความดำริมันก็ชอบขึ้นมา ความคิดปรารถนาตั้งใจก็เดินไปสู่ทางที่มันชอบ สองอันนี้เป็นปัญญาแต่ปัญญารุ่นแรกๆ นะ ยังไม่ใช่ปัญญาที่พูดถึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา พูดแบบนี้พูดถึงผลมาพูดแบบเรียง แบบมรรคเลยเป็นเหตุนำไปสู่ผล ที่พูดว่า

ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้ ความจริงนั้นปัญญาจะต้องนำหน้าแล้วไม่มากก็น้อย ปัญญาในช่วงนี้ช่วงลงทุนประพฤติปฏิบัติเป็นเพียงข้าวปลูกเป็นเพียงเมล็ดเผ่าพันธุ์แห่งปัญญา เหมือนกับชาวบ้านเขาทำนานั่นนะข้าวปลูกไม่มากเท่าไหร่หรอก ข้าวพืชมีสักกระสอบหนึ่ง เอาไปหว่านเป็นเชื้อแล้วมันเจริญงอกงามก็ถอนเอาไปดำ ตัวนี้ขยายๆ พอมันเป็นลูกเป็นหมากเก็บเกี่ยวเข้ายุ้งเข้าฉาง ก็ข้าวเหมือนกันกับข้าวปลูกแต่คนละข้าว ข้าวปลูกน้อยถ้ากินก็กินได้ไม่นานถึงปี


เพราะฉะนั้นมันไม่จบอยู่เพียงสัมมาทิฏฐินะ ที่เราพูดนี้มันเป็นข้อปฏิบัติ พอถึงสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ หลังจากนั้นก็สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สามอันนี้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตา สัมมาอาชีโว การพูดจาชอบ การกระทำการงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ เป็นศีล เลี้ยงชีวิตนี้เรียกว่าศีลนะ เลี้ยงชีวิตนี่ถ้าผิด เลี้ยงชีวิตในทางผิดก็เป็นการทำลายศีล ในทางพระนี้ท่านบีบไว้เลย

พระจะไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้องอย่างที่เราเห็นเกลื่อนกล่นอยู่อย่างนี้ ผมไม่แน่ใจละทีนี้ ไม่ว่าไม่แน่ใจ ผมไม่เชื่อเลยว่าท่านรักษาศีลชนิดนี้สมบูรณ์ เพราะสัมมาอาชีโวของพระนี่ หนึ่ง กุหะนา เว้นจากการหลอกลวงเขานั่น ลัปปะนา เว้นจากการพูดจาเลียบเคียงหลอกลวงเขาไหม เมื่อเราทำเหรียญทำอะไรต่ออะไร ของมันดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ไปโฆษณากัน รุ่นขี่แรด ขี่เสือ ขี่สิงห์ มีหมดก็ซื้อไป ลัปปะนา เลียบเคียงไม่ตรงๆ ก็เลียบเคียง โน้มน้าวให้เขาหลงเชื่ออันนี้นำมาซึ่งลาภสักการะ อันนั้นก็ไม่ได้ นิพเปสิกะตา ขู่เข็ญอย่างเป็นหมอดู มีโอกาสขู่เข็ญ ดวงคุณตกต่ำมากปีนี้ ถ้าเป็นภาษาภาคอีสานว่า “ชะตาขาด ธาตุหัก หลักโค่น” ตายแน่ๆ เจ้าปีนี่ที่พึ่งก็ไม่มีตัวเสวยก็แรง พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก ต้องดาบสี่เขื่อน แก้พรหมชาติ แก้ชะตาหลวง เขาถามว่าท่านทำเป็นไหม แก้ดวงชะตา พระบางรูปอาจจะบอกว่า ก็มีแต่อาตมานี่ละทำเป็น ว่าไปโน่น “ต้องเสียค่าครูค่าคายเท่านั้นเท่านี้”

พวกหมอดูก็เหมือนกันพระหมอดูเยอะเลย จบดอกเตอร์มาไม่ได้เอาความเก่ง เอาความรู้ มาสอนศาสนาพุทธมาปฏิบัติธรรม เอาดอกเตอร์มาเป็นดอกเตอร์หมอดู ดอกเตอร์ดูนั่งทั้งวัน ไม่ทำอะไรดูหมอ มาแล้ว...คนมาดูหมอส่วนมากเป็นผู้หญิง “ยิ่งพวกที่ใส่รองเท้าส้นสูง ใส่เสื้อคอลึกยิ่งสำคัญ” ไปกุฏิเต็มไปด้วยรองเท้ายองๆ จะไปหาก็ไม่ได้ท่านรับแขก แขกท่านก็คือพวกเขามีทุกข์ เรียนจบดอกเตอร์ข้ามฟ้าข้ามทะเลมา เป็นพระอย่างดีเพื่อนผมไม่ทำอะไรนั่งดูหมอ” คุณต้องแก้อย่างนั้นอย่างนี้นะ ผูกดวงเท่าไหร่ แปดร้อย เขาถามท่านทำเป็นไหม ท่านบอกว่า ก็ทำให้คนนั้นคนนี้อยู่ นั่นเลียบเคียงอีกด้วย ก็มันผิดลักษณะของศีล พูดถึงพระของโยมก็ยิ่งหนักเข้าไปหลายอัน

ทีนี้สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สามอันนี้เป็นสมาธิ พอเรามาเรียงดูว่า ปัญญา ศีล สมาธิ แต่มันไม่จบเพียงแค่นี้เราเรียนกันเพียงแค่นี้ แต่เมื่อมันมี ปัญญา ศีล สมาธิ จากสมาธินี้จะส่งให้เกิดปัญญา แต่มันไม่ใช่ปัญญาแบบปัญญาแรกๆ เข้ามาสู่ระดับญาณเมื่อกี้เราจึงพูดเรื่องมรรคที่พระพุทธเจ้าของเราว่า ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา เป็นสิ่งที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว จักขุกรณี ที่นี้จับจุดตรงนี้เรียกว่า จักขุกะระณี เป็นเครื่องทำให้เกิดจักษุ มรรคแปด จักษุถ้าเราแปลธรรมดาก็แปลว่า ตา ไม่มีตาหรือพระพุทธเจ้าแต่ก่อนตาบอดอย่างนั้นหรือ มาบวชแล้วหรือถึงมีตา จักขุกรณี ถึงมองเห็นขึ้นมาได้ อันนี้คนละตากันแล้ว

ตานี้เป็นเพียงจักษุเพียงให้มองเห็น เมื่อยิ่งกว่าจักษุต่อไปนั้นก็มาถึงญาณกรณี คุณก็ดูตามหนังสือสิว่า จักขุกรณี เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ ญาณกะระณี เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ นี่ๆ คืออะไรเราเห็นได้ชัดว่าจักษุนี้ก็เพียงให้มองเห็นธรรมดา ญาณลึกลงไปกว่านั้นอีก ความรู้ธรรมดาครั้งแรกเหมือนข้าวพืชเหมือนข้าวปลูก เหมือนเมล็ดพันธุ์บัดนี้เมล็ดพันธุ์ได้ออกลูกออกหมากแล้ว แล้วเอามาเก็บเกี่ยวเป็นญาณ เหมือนญาณ ญาณเกิดมาจากความรู้ต่ำๆ ธรรมดาพัฒนามาถึงขั้นสูงโดยอาศัยศีล อาศัยสมาธิ หลังจากนั้นญาณเหล่านี้ก็ทำให้จิตใจรู้สึกปล่อยวางมากขึ้น ความสงบก็เกิดมา หลังๆ ปัญญาก็มี

ครั้งแรกสมาธิอบรมปัญญา ปัญญาก็ไปอบรมสมาธิ สมายะ เข้าไปสงบระงับหลังจากนั้น อุปะสมายะ แล้วไปไหนทีนี้ ตรงนี้มีปัญญายิ่งขึ้นไปอีก อะภิญญายะ เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเพิ่มขึ้น

อภิ แปลว่า ยิ่ง แปลว่า เพิ่ม ครั้งแรกมีจักษุให้มาเห็น ต่อมาก็มีญาณ เมื่อเริ่มมีจักษุแล้ว ก็มีการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด เริ่มมีจักษุครั้งแรกเป็นความรู้น้อยๆ ว่าอันนี้เป็นบาปอันนี้เป็นบุญ อันนี้เป็นคุณอันนี้เป็นโทษ พอนี้ปฏิบัติรักษาศีลดีเข้าไปอีก สมาธิเพิ่มเข้าไปอีกก็เกิดญาณ ญาณนี้ก็เกิดส่งผลต่อไปให้สมาธิลึกลงไปอีก อุปะสมายะ เข้าไปสงบ เป็นไปเพื่อความสงบ อุปะสมายะ หลังจากนั้นความสงบได้ถึงระดับหนึ่งก็ส่งให้เกิดอภิญญายะ รู้ยิ่ง เพิ่มความรู้ขึ้นมากกว่าจักขุกรณี มากกว่าญาณกรณี ตรงนี้มาสู่คำว่า อภิญญายะ รู้ยิ่ง รู้ยิ่งขึ้นมา มาถึงความรู้อิ่มตัว ไม่มากไม่น้อย อิ่มตัวคือไปถึงการทำลายทุกข์ได้ ความทุกข์ไม่สามารถขยายอยู่ในจิตในใจแล้วตั้งอยู่ไม่ได้

ความรู้ก็พอดีไปถึงที่สุดดับทุกข์อันนี้ จึงเกิดคำหนึ่งว่า สัมโพธายะ เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม รู้ยิ่งมาถึงรู้พร้อม รู้พร้อมก็คือรู้อัตโนมัติเลย พอดีเป๊ะๆ ของมันหลังจากนั้นก็ นิพพานายะ สังวัตตะติ เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะนั้นระบบของมรรคจะต้องเริ่มต้นด้วยความรู้ จักขุกะระณี ญาณกะระณี รู้เรื่องราวของธรรมชาติแห่งชีวิตจิตใจและเป้าหมาย ในการปฏิบัติจะต้องมีเป้าหมาย เป้าหมายอันนั้นมันอาจไม่เกี่ยวกับไอ้สองอันข้างๆ นี้เพราะมันไม่ต้องไปลองผิดไม่ต้องลองถูก

พระพุทธเจ้าวาง step ไว้คืออยู่ที่เป้าหมาย เข้าใจว่าเป้าหมาย อยู่ตรงนู้น เข้าใจธรรมชาติชีวิตจิตใจของตนเองให้ดี แล้วก็นำไปสู่เป้าหมายนั้น ก่อนที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นจะต้องเข้าใจธรรมชาติ ชีวิตของตนเองจิตใจของตนเอง ชีวิตนี้จะต้องประสบพบพานกับความทุกข์ จึงบอกว่า ความทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ความทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ความทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากความทุกข์หามีอะไรไม่

ก็คือความบีบคั้นเปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอดนั่นแหละ เราเผชิญหน้ากับความทุกข์ไม่ได้หลบทุกข์หนีทุกข์ไปไหน เรียกว่าเป็นระบบเผชิญหน้ากับความจริง รับผิดชอบต่อการกระทำคำพูดความคิดของตนเอง จัดการชีวิตของตนเองก้าวล่วงการเซ่นสรวง บวงบนอ้อนวอน เทวดาอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์อภินิหารต่างๆ หมดความหมาย เมื่อเข้าใจเรื่องสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นมา เราจะต้องเข้าใจอย่างนี้ไม่ต้องอ้อนวอนแล้ว ไม่ต้องพูดว่า

อุกาสะ อุกาสะ ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าจะสมาทานเอาซึ่งพระกรรมฐานเสร็จแล้วสุดท้ายก็ขอ ขณิกะสมาธิ อุปะจาระสมาธิ อัปปะนาสมาธิ และวิปัสสนาญาณ จงบังเกิดมีในขันธะสันดานของข้าพเจ้า แล้วก็นั่น ครั้งแรกก็อุกาสะ ต่อมาก็ ข้าพเจ้าจะสมาทานเอาซึ่งพระกรรมฐานมีสติไว้ในลมหายใจเข้าออก สิบหน ร้อยหนพันหน ขอขณิกะสมาธิ อุปปะจาระสมาธิ อัปปะนาสมาธิ หลังจากนั้นบางแห่งมากไปกว่านั้น ขอบารมีหลวงพ่อนั้นหลวงพ่อนี้อาจารย์นั้นอาจารย์นี้ขอบารมีหลวงพ่อนู้นหลวงพ่อนี้ อาจารย์นู้นอาจารย์นี้ “โฮ คือสิง่ายแท้ขอเอาได้ปานนั้น” อะไรจะง่ายขนาดนั้น

พระพุทธเจ้าว่า อักขาตาโร ตะถาคะตา ภิกขะเว เราตถาคตเป็นเพียงผู้บอกชี้ทางให้เท่านั้นนะ ตุมเหหิ กิจจัง กาตัพพัง ความพากเพียรพยายาม ให้เข้าถึงจุดหมายปลายทาง เป็นเรื่องของพวกเธอนะ เราช่วยอะไรเธอไม่ได้นะ เดี๋ยวนี้มันผูกกันไปหาอาจารย์หนึ่งก็มอบตัว มอบชีวิตจิตใจกับท่านอาจารย์ ปริจะชามิ สละแล้วชีวิตบูชาท่าน สละบูชาพระพุทธเจ้าแล้วก็อธิษฐานกรรมฐาน บูชาอย่างดีขอบารมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หลังจากนั้นก็ขอบารมีอาจารย์ที่ตัวเองเข้าไปถึงนั่นนะ นั่งก้นยังไม่ทันอุ่นเลย สมควรแก่เวลาแล้วแค่นั้น ลุกไปกินข้าวต้มแล้วสว่างแล้ว มีหรือยังข้าวต้ม ลองดูเถอะคุณพ่อใหญ่แม่ใหญ่ ถ้าง่ายขนาดนั้นพระพุทธเจ้าช่วยเราไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้นเรื่องอริยมรรคมีองค์แปดนั้น คือการเข้าไปจัดการกับชีวิตของตนเอง ด้วยการรับผิดชอบดูสติปัญญาที่เข้าไปรู้ธรรมชาติ ชีวิตจิตใจและเป้าหมายแห่งพรหมจรรย์ เมื่อเราเข้าใจเป้าหมายแล้วก็ลงมือเลยจัดการ ทีนี้ก่อนที่จะเข้ามาถึงตรงนี้มันมีปัญหามาก ก่อนที่จะเข้ามาสู่มรรค อันนี้ผมไปเที่ยวเทศน์ตรงโน้นตรงนี้ก็เหมือนกับไปเที่ยวเรียกคนเข้ามาสู่มรรคหนทางอันนี้

วัฏฏสงสารท่านเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เต็มไปด้วยความมืดมน เต็มไปด้วยความเร่าร้อน เต็มไปด้วยความลุ่มหลงนี่ ยังมีเส้นทางที่ทอดตัวยาวเหยียดเส้นทางความบริสุทธิ์ ไปสู่เป้าหมายอันจะออกจากความเร่าร้อน มืดมน กระวนกระวาย แต่เส้นทางสายนี้มันก็ทอดอยู่อย่างนี้ บุคคลทั้งหลายก็หลงไป หลงทิศ หลงทางไปเหมือนเดินในป่าในดง ทีนี้ครูบาอาจารย์พระสงฆ์องค์เจ้าบางท่าน หรือศาสนาแต่ละศาสนาก็เหมือนกัน ก็เดินตามทางคือมรรคเหมือนกัน แต่จะไปสู่จุดจบคือความดับทุกข์เหมือนกันไหม

พระพุทธเจ้าบอกว่าก่อนที่ท่านจะตายนะ ท่านเทศน์กัณฑ์หนึ่ง ก่อนที่จะตายคืนนั้นแหละ ไม่ถึงสองชั่วโมงก่อนที่จะตายท่านได้เทศน์เรื่องนี้ ขนาดนั้นนะพระพุทธเจ้าเทศน์ก่อนจะตายทำงานตายคาที่เลย จะมาพูดอะไรพวกเราแค่นี่เอง มีคนหนึ่งแกกระหืดกระหอบจะไปหาพระพุทธเจ้า ชื่อว่าสุภัททะ สาวกองค์สุดท้าย ภิกษุทั้งหลายกีดกัน พระอานนท์และพระอื่นๆ กันทั้งนั้น อย่าเข้าไปพระศาสดากำลังอาพาธหนัก ทุกขเวทนาอยู่คุณอย่าเข้าไปรบกวน คนนั้นก็ขอให้ผมเข้าไปหานิดเดียวก็ได้ ครั้งเดียวครั้งแรกที่ผมมานี้ เป็นครั้งสุดท้ายขอเถอะ ก็ต่อรองกันถึงสามครั้ง พวกนี้ห้ามลูกเดียวพระพุทธเจ้ากำลังไข้หนักเลย กำลังเข้าขั้นโคม่า

พระพุทธเจ้าท่านได้ยิน เพราะสติสัมปชัญญะ จิตใจท่านไม่ได้ป่วยไข้นี่ ร่างกายป่วยไข้ไป จิตใจไม่ได้เป็นอะไร อะโรคะยา ไม่มีโรคแล้วไม่มีอะไรจะเข้าไปเสียดแทงแล้วเรื่องจิต ท่านก็บอกว่าพวกเธอว่าอะไร พวกเธอห้ามอะไร โต้อะไรกัน อานนท์ก็มาบอกเรื่องราวให้ฟังพระพุทธเจ้าบอกให้เขาเข้ามาสิ เวลาจะพบกันมันยิ่งน้อยให้เขามาเถอะอนุเคราะห์เขา คนนี้ถือศาสนาอื่นโดยเป็นนักบวช เป็นปริพาชก ปริพาชกเป็นนักบวชชนิดหนึ่ง มันมีปริพาชก อเจลก มีชฎิล มีอะไรต่ออะไรเยอะแยะสมัยนั้น

สุภัททะปริพาชกเข้าไปก็เข้าไปถามเลย แทนที่จะถามธรรมะนะ ถามว่า “นอกศาสนาของท่านไปแล้วมีไหม ศาสนาที่มีสมณะหนึ่ง สอง สาม สี่ คือ พระโสดาบัน สกิทา อนาคา อรหันต์ สี่ระดับนี้มีไหม” พระพุทธเจ้าของเราก็บอกว่า เวลาของเราก็มีน้อย ทำไมเธอไม่ถามอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่านั้น ทำไมไม่ถามว่าทำยังไงจะเข้าไปถึงความเป็นสมณะ ที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ไปถามหาทำไมเรื่องนั้น

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เวลาของเราเหลือน้อย เราขอบอกให้เธอทราบว่า นอกจากอริยมรรคอันประกอบไปด้วยองค์แปดประการนี้ จักไม่มีเลย ท่านบอกว่า จักไม่มีเลยนอกจากอริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นตัวพรหมจรรย์นี้จะไม่มี สมณะหนึ่ง สอง สาม พูดง่ายๆ ว่าทางมีเยอะแยะ ทางคือศาสนานะเป็นตัวทาง ทอดนำศาสนิกให้เดินไปทางจิตใจ แต่ไปแล้วมันไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันออกไปไม่ได้จากทุกข์

คนโบราณอีสานเลยพูดไว้คำหนึ่งว่า

ทางหลายเส้น ตามใจไห่เลือกไต่ คั่นเจ้ามักเส้นเวิ้ง
ทางเลี้ยวกะหากมี มัวแต่เทียวทางเวิ่ง เขิงหลายมันสิค่ำ
มัวแต่กินหมากหว่า มันสิซ่าคำทาง ลูกหลานเอ้ย


อาจจะพูดเหมือนคนไม่เต็มแต่มีความหมาย ปรัชญาที่รุ่งเรืองผมพอใจมากตั้งแต่เด็กๆ ผมจำตั้งแต่น้อยๆ

นกอีเอี้ยงกินหมากโพธิ์ไฮ แซวๆ เสียงบ่มีโตฮ้อง
แซวๆ ฮ้องโตเดียวเมิดหมู่ เมิดหมู่นั่นหากแม่นเอี้ยงคู่โต


ครั้งแรกว่า “แซวๆ เสียงไม่มีตัวร้อง แซวๆ ร้องตัวเดียวทั้งฝูง ทั้งฝูงนั้นเป็นนกเอี้ยงเหมือนกัน” พูดสนุกๆ หรือก็มาคิดว่าพูดเหมือนคนไม่เต็ม แต่ความหมายมันมีเหมือนเส้นทาง ทางหลายเส้นตามใจให้เลือกเดิน ชอบเส้นโค้งทางเลี้ยวก็หากมี ไม่ถูกทางก็มี หลงไปหลงมา มัวแต่เทียวทางอ้อมทางเวิ้งอยู่เรื่อยก็ไม่ไหว หลังจากนั้นมันก็ช้า ตายทิ้งไม่รู้กี่แสนชาติแล้วเกิดมาในวัฏฏสงสารนี้

ทางเดินของชีวิต บางทีเราอาจจะนับถือศาสนาหนึ่ง บางทีก็ไม่มีศาสนา เดินไปเหมือนตาบอด บางทีก็เดินไป เดินไปทางเส้นนั้นก็ไปสุดลง พบกับความมืดหรือพบทางตัน พระพุทธเจ้าของเราท่านก็เลยตรัสบอกสุภัททะ ท่านบอกว่า “อากาเส วัปปะทัง นัตถิ พาหิโร นัตถิ สะมะโณ นัตถิ พะหิโร เหมือนในอากาศที่ท้องฟ้าเนี่ย จะไม่มีรอยเท้าของผู้ใด” หลังจากนั้นบอก สะมะโณ นัตถิ พาหิโร สมณะภายนอก พหิ พหิระ พหิโร ภายนอก สมณะ หิโร ภายนอก สมณะภายนอกจากอริยมรรคจากธรรมวินัยนี้ ไม่มีสมณะหนึ่ง สอง สาม เหมือนกับบนอากาศนี่ไม่มีรอยเท้า

เพราะเหตุนั้นถ้าไปตามทางนี้จะมีสมณะที่หนึ่ง สอง สาม ในอริยมรรคมีองค์แปด แล้วสุภัททะปริพาชกก็ถามว่า “ทำอย่างไรจึงจะสามารถเข้าถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ออกจากทุกข์ได้” พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่าง่ายๆ “เยเต ภิกขะเว สัมมาวิหะเรยยุง อะสุญโญ โลโก อะระหันเตหิ อัสสะ ถ้าเธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ทั้งหมดนี่เป็นอยู่โดยชอบในอริยมรรคแปด เป็นอยู่โดยชอบ สัมมาวิหะเรยยุง เป็นอยู่โดยชอบ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์” จักไม่ว่างจากพระอรหันต์เลยถ้าเป็นอยู่โดยชอบในแปดประการนี้


ตอนที่ผมยังเป็นเด็กน้อยๆ ผมอ่านเจออยู่ในหนังสือ ผมก็ไปถามท่านญาครูดี แกยังไม่ได้ตายยังอยู่ แกเป็นจารย์เฒ่า อายุเจ็ดสิบปี เป็นเจ้าอาวาส บวชมายี่สิบปี สามสิบปีอยู่ไม่ได้สึก ลาสิกขา ผมไปอ่านพบในหนังสือ เยเต ภิกขะเว สัมมาวิหะเรยยุง อะสุญโญ โลโก อะระหันเตหิ อัสสะ ถ้าภิกษุเป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ผมถามท่านว่า อาจารย์เราไม่อยู่โดยชอบหรือ ทำไมไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนท่าน แล้วเราอยู่อย่างไร ผมเป็นเณรน้อยผมถาม เจ้าจะมาถามหาพระอรหันต์อะไรตอนนี้ มันหมดแล้ว ท่านบอกอริยมรรคมีองค์แปดท่านก็ไม่ตอบไม่อธิบายอะไรเป็นอยู่โดยชอบ ก็ไม่ตอบ

ถ้าภิกษุเป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ สุภัททะขอบวชทันทีเลย มั่นใจแล้วทางสายนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าว่า “เธอเป็นปริพาชก นักบวชนอกศาสนา เธอต้องอยู่ติตถิยะปริวาส เป็นนาคเสียก่อนสี่เดือน” ติตถิ แปลว่า ท่า ติตถิยะปริวาส แปลว่า เข้ามาอยู่เฉพาะในท่านี้ก่อนสักสี่เดือน ดูว่าเธอจะแน่นอนไหม พอจะบวชได้ไหม สุภัททะบอกว่า อย่าว่าแต่สี่เดือนเลย สี่ปีผมก็เอาขอให้ได้บวช ได้บวชในวันนั้นเลย เพราะศรัทธามันกล้ามาก ฉันทะมันกล้ามาก ไม่ว่าแต่สี่เดือน สี่ปีผมก็เอาท่านว่า

เพราะฉะนั้นอริยมรรคมีองค์แปดท่านสอนจนตาย ท่านสอนจนตายว่า ให้เป็นอยู่โดยชอบแปดประการนี้โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์ ทีนี้ทางเส้นนี้ก็เลยทอดตัวอยู่ในโลกนี้ ผู้ที่จะนำคนมาหาทางเรียกว่า มรรควิทู ภาษาบาลีว่า มัคคะวิทู ผู้รู้ทางอย่างแจ่มแจ้ง ก็อาศัยพระสงฆ์เป็น มรรควิทู อย่างน้อยบุคคลนั้นต้องเข้าถึงธรรมมั่นอยู่ในอริยมรรคนี้ เดินตามองค์มรรคนี้มีครบแปดประการนี้อย่างธรรมดา อย่างกลางๆ หรือสูงสุดจึงจะพามหาชนเข้ามาได้เข้าถึงได้ในมรรค ในผล ในพระนิพพาน

เพราะฉะนั้นเมื่อจะจูงมาก็ไม่มา เขาเกาะอะไรอยู่ ติดอะไรอยู่ ท่านก็เอาสิ่งที่เขาติดนั่นแหละไปยื่นให้ ไปล่อให้เขาจับ แล้วก็ดึงมาทั้งพวง มาถึงก็มาแกะออกจากสิ่งที่เขาติด และก็ให้เขาเดินไปอย่างถูกต้อง เหมือนเขาติดเครื่องรางของขลัง เขาติดของดีภายนอก เขาเป็นทุกข์ใจ เขามาเพราะอยากรดน้ำมนต์ เขาทุกข์เขายากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนนี้เขายังไม่ได้อยากมาวัด เขาไม่ได้อยากมาวัด เขาไม่รู้จักทางเขามืดอยู่ แต่เขากำลังหาทาง บางทีเขาถามท่านมีของดีไหม นอนไม่หลับฝันไม่ดีเคราะห์ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นเขาอยากมาหาทางออกจากทุกข์ เขามีทุกข์ตรงนี้

บางท่านก็เลยเอาสิ่งที่เขาติดนั่นแหละล่อ เขาเลยเข้าใจว่ามรรคนี้ก็คือรดน้ำมนต์ทำแล้วก็สบายใจ มรรคไม่พอขอของไปแขวนคอบ้าง ท่านก็เอาสิ่งที่เขาติดนี่ยื่นให้ เขาก็ติดเขาก็มาบ่อยๆ แต่เมื่อติดแล้วไม่แกะเขาออกบอกทางที่ดีที่ถูกให้เขา ไปมาได้เงินได้ทอง เกิดเอกลาภตัวเองก็เลยติดไปกับเขา ทำไปเรื่อยอันนี้อันตราย พระพุทธเจ้าว่าลิงติดตัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ลิงติดตัง ครั้งแรกก็ไปติดตังแค่มือ มือก็ไปจับเสียก่อน ติดมือหนึ่งมือสองก็ไปแกะ ที่นี่ติดสองมือเลย เท้ายันเข่าช่วยไปอีก ติดกันอีลุงตุงนัง เขาว่าเหมือนพระภิกษุติดลาภครั้งแรกๆ ก็ได้น้อยๆ เอ้ มันทำอย่างนี้มันได้ดี รดน้ำมนต์บ้างให้เหรียญไปบ้าง ให้ผ้าประเจียดไปบ้าง ตะกรุดโทนไปบ้าง มาเรื่อยๆ ทีนี้สร้างรูปแบบ โอ้ ต้องมาวันอังคารนะจึงขลัง ว่ากันไปโน้น พอถึงวันอังคาร มาขนาดเต็มวัดเต็มวาเลยก็มี ปลุกเสกแล้วก็ว่า เอาตู้บริจาคไปตั้งไว้ เขามาก็ต้องหยอดตู้แน่จะได้เยอะๆ เขาอยากได้พิเศษก็ต้องเป่าหัวกระหม่อมให้อีก หลังจากนั้นก็รดน้ำมนต์ พ่นน้ำมันเข้าไปอีก สักกระหม่อม เสกกระบาลเข้าไปได้เงินได้ทองหลงกันไปใหญ่


พระพุทธเจ้าว่า ลิงติดตังเหมือนภิกษุติดลาภสักการะ ในที่สุดเธอก็ไม่มีอะไรทีจะวิเศษไปกว่าเขา หลงเหมือนกัน พาเขามืดหลงทางไปด้วยกัน เรียกว่าตาบอดจูงตาบอด ไม่รู้จะไปไหนบอดกับบอดจูงกันทั้งวัน จะไปไหนบอด ไม่รู้เหมือนกันไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ไม่เห็นทาง เพราะเหตุนั้นอันนี้สำคัญมาก เป็นเครื่องประกาศเป็นคะแนนให้แก่ศาสนา อริยมรรคมีองค์แปด ยังไม่ถึงรุ่งอรุณถ้าหากคนยังติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้

ทีนี้ทำอย่างไรคนจะเข้าถึงมรรค มันจะมีอยู่ลักษณะที่เรียกว่าปัจจัย ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิอย่างเดียว อีกเจ็ดสัมมานี่ตามมาเป็นแถว เหมือนรถไฟ อาศัยหัวจักรอันเดียวเท่านั้น ตู้จะมีกี่ตู้ก็ตาม หัวจักรแล่น ทุกตู้ก็จะตามกันไปเป็นแถวเลย ตั้งแต่เมืองอุดรถึงกรุงเทพฯ ลงไปจนถึงสงขลาหาดใหญ่ ตั้งแต่เมืองอุบลเข้าไป ถ้าหัวจักรมันตกรางตกด้วยกันทั้งหมด

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ สมาทานัง สัพพะ ทุกขัง อุปัจจะคุง เมื่อถือเอาความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วก็พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ไม่ต้องพูดถึงอีกเจ็ดอันมันจะถูกต้อง ถ้าหัวหน้ามันถูกต้อง ทีนี้เราจะทำอย่างไรเราจะสร้างสัมมาทิฏฐิ อันเป็นหัวหน้าแห่งมรรคขึ้นมาได้ พระพุทธเจ้าว่ามีปัจจัยอยู่สามอัน อ้าวเขียนลงไปเลย ปัจจัยภายนอกของมัน

๑. ปะระโตโฆสะ ภาษาบาลีหน่อยนะ ปะระโตโฆสะ แปลว่า เสียงโฆษณาบอกกล่าว จากผู้อื่น จากผู้รู้ คือตรงนี้เราจะต้องฟังเสียงเสียก่อนข้อหนึ่ง

๒. กัลยาณมิตตา ตรงนี้ลงสู่การปฏิบัติแล้วนะ คือบางทีได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ตาม กัลยาณมิตรนั้นคือบุคคลสภาพแวดล้อมของเราดีงาม กัลยา แปลว่า งาม แปลว่า ดี มีมิตรที่ดีอย่างพวกเราอยู่ด้วยกันนี่ เราทำให้เกิดปัจจัย สัมมาทิฏฐิ ทำไมเราต้องมานั่งสมาธิด้วยกัน เวลาตีฆ้องตีระฆังทำไมไม่ปล่อย ให้ต่างคนต่างทำในกุฏิ ห้าสิบหกสิบองค์ ผมว่าถ้าลองปล่อยให้ทำ มันจะนั่งได้พอสามสิบนาทีไหม มันไม่มีกัลยาณมิตร นั่งได้สักหน่อยก็สมควรแก่เวลาแล้ว มันก็จะเป็นไปนั้น ตีระฆัง ก็ตีปลุกไปเฉยๆ เท่านั้น รู้สึกตัวแล้วก็นอนต่อ

กัลยาณมิตรกับปรโตโฆสะ สองอันนี้ อันหนึ่งได้ยินได้ฟังจากผู้รู้เสียงจากผู้อื่น จากท่านผู้รู้ สื่อสารเครื่องพิมพ์อย่างทุกวันนี้ ได้อ่าน ทุกวันนี้ อย่างเทปนี่ ช่วยได้ดีมากเลย ผมไปตามบ้านนอกไปไกลๆ ตามวัดตามวารู้สึกว่าพระเณรเปิดเทปอาจารย์สมภพเทศน์จ้อยๆ เจ้าของไปไม่มีคนรู้จัก ผมไปที่นครสวรรค์วันนั้นรู้สึกจะเป็นอำเภอตาคลี เขานั่งสมาธิกันขาวเต็มไปหมด คนหลายร้อยนั่ง ไม่มีใครเทศน์มีแต่ผมเทศน์แต่เป็นเทปเขาเปิดจ้อยๆ ตัวคนเทศน์จริงๆ นี่เดินผ่านไปเขาก็เงียบ เขานั่งอยู่เป็นชั่วโมงสองชั่วโมง ฟังเทศน์ในแนวปฏิบัติ

ฟังเรื่องอานาปานสติ แต่เขาไม่รู้เลยว่าผู้เทศน์เดินย่องๆ ผ่านเข้าไปเขาไม่รู้เลย ทุกวันนี้เขาก็ยังไม่รู้ ผมไม่เคยแสดงธรรมตรงนั้นเลยแต่ผมไปเยี่ยม ผมไปจากสระบุรีไปดูว่าเขาทำอย่างไรกัน มีคนเอารถมารับไปดูเขานั่งสมาธิ คนหลายร้อยคน

เทศน์ก็เป็นเสียงผมนั่นแหละเทศน์ ผมเดินผ่านไปแล้วมีอีกคนหนึ่งว่า ท่านอาจารย์บอกให้เขารู้จักไหม ผมบอกไม่ๆ เขาฟังเทศน์มันก็ดีอยู่แล้ว จะไปบอกเขาทำไมอันนี้เราเรียกว่า ปรโตโฆสะ ปะระ แปลว่า อื่น ปรโตโฆสะ เสียงจากแหล่งอื่นจากผู้อื่นจากผู้รู้ หรือจะเป็นหนังสือให้เราอ่านก็ดี สิ่งพิมพ์ต่างๆ เหล่านี้สามารถทำให้เราเกิดสัมมาทิฏฐิได้

แต่ในขณะเดียวกัน ปรโตโฆสะ ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันก็หลงปัจจัย มิจฉาทิฏฐิก็เหมือนกัน เหตุที่ทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิก็คือ

๑. มิจฉาปะระโตโฆสะ เสียงจากแหล่งอื่นที่ไม่ดี จากผู้อื่น จากผู้รู้ที่ไม่ดี ที่ผิดๆ หลังจากนั้นก็

๒. ปาปะมิตตะตา ไม่ใช่กัลยาณมิตร เป็นมิตรบาป มิตรชั่ว ไปพบเพื่อนไม่ดีก็ไปด้วยกันทั้งหมด

เพราะเหตุนั้นสองอันนี้สำคัญ เรามานี้เราเป็นกัลยาณมิตรให้กัน ผมก็เป็นกัลยาณมิตรให้กับท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายก็เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กันและกัน ขี้เกียจก็มองดูเพื่อน เมื่อเช้าก็กินข้าวเหมือนกัน กินในบาตรเหมือนกันไม่ต่างกัน แต่ทำไมเราไม่สู้ขี้เกียจ แค่นี้ก็เหมือนจะตาย มันเริ่มคิด เพื่อนทำไมเขาทำได้ เขาไม่ขี้เกียจหรือ ทำไมเราทำไม่ได้

นั่งไปบางคนมันอาศัยมานะ มาอยู่กับเพื่อน เพื่อนไม่พลิก ขาเราก็อย่าพลิกเลย มันจะตายไหมลองดู เขาทำไมทนได้ ไม่พลิก นานๆ มันก็เริ่มเคยชินทนได้ ท่านเรียกว่า ธัมมานัง ปะฏิเสวะติ เสพจนคุ้น บางคนคิดว่าทำไมคนอื่นนั่งหลับได้ เราจะนั่งไม่ได้หรือ เรามีแต่คิดมีแต่ปวดแข้งปวดขา คิดไปคิดมาปวดไปปวดมาหลับที่นี่

บางคนเอาไปเอามาก็ชำนาญเก่งในการนั่งหลับอีก พวกนั่งหลับไม่ปวดขา หรือมันปวดไม่ทัน จะปวดทันอย่างไรนั่งยังไม่ถึงสิบนาทีมันหลับก่อนปวดไม่ทันสิทันปวดหยังนั่งปั๊บบ่ทันพอสิบนาที ถ้าจะปวดก็ปวดตามหลังตอนตื่นขึ้นมาก็ช่างเถอะปวดทีหลัง ก่อนที่มันจะปวดหลับซะก่อนแล้วสงบก่อน

ทีนี้ถ้าเราทำจิตให้สงบเร็วๆ มันก็ก้าวล่วงทับเวทนา แต่ก็ยังเป็นหินทับหญ้าอยู่ แต่เวลาตื่นขึ้นมาปั๊บนี่ มีประโยชน์อย่าพึ่งลุก อย่าพึ่งไปมะเล่งเข่งข่าง ถ้านอนนั่งหลับตื่นขึ้นมา มันอิ่มนะ มันจะไปอย่าพึ่งไปอย่าพึ่งลุกไปดูมันจะคิดอะไร ถ้ามันปวดก็ดูมันปวด ตอนนี้ดูย้อนหลัง เรียกว่าเวทนาในเวทนา ลุกขึ้นบิดขี้เกียจไม่มีสติ ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ลุกขึ้นได้มะเล่งเข่งข่าง ไปละหาอยู่หากินละที่นี่ ไม่มีสติจับยัดใส่ปาก อย่างนั้นนั่นก็กิเลสอ้วนไปมาก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นตื่นขึ้นมา อย่าพึ่งทำอะไร ตั้งสติดีๆ ก่อน

เพราะฉะนั้นเวลาตื่นขึ้นมาทำวัตรสังเกตได้ ถ้าผู้ใดนั่งสมาธินานๆ อาจจะง่วง แต่ถ้าทำวัตรเร็วไป นั่นแสดงว่าไม่ได้หล่อเลี้ยงสมาธิไม่ได้หล่อเลี้ยงสติ ทำวัตรก็ให้มันนิ่มนวล พูดจาถ้อยคำที่ไพเราะนิ่มนวล ผสานเสียงไพเราะ พิจารณาไป กราบก็กราบลงอย่างนิ่มนวล ลุกขึ้นมาอย่างนิ่มนวล เป็นมุทุวัง อ่อนโยนนิ่มนวลเหมือนกราบต่อหน้าพระพุทธเจ้า กราบพระไม่ใช่ตะคลุบกบเหมือนจับกบสามครั้ง บางทีครั้งหนึ่ง สองครั้ง ไม่มีสติสี่ครั้งก็มี บางครั้งตั้งนะโมผิด นะโมสอง นะโมสาม บางครั้งนะโมสี่ก็มี เพราะเราไม่ได้เลี้ยงสมาธิ


ถ้าหากมานั่งหลับตื่นมาปั๊บมันอิ่มแล้ว มันมีของให้ดู ดูลมหายใจ ดูความเจ็บปวด ตามคอตามหลังตามเอว เอาปวดนั้นมาดูเวทนา เวทนานุปัสสนา กระทำวิปัสสนาให้เกิดขึ้นในการดูเวทนาให้เห็นความรู้สึกในความรู้สึก ในความรู้สึกมันมีอะไร นี่ๆ มันฉลาดนะ พระพุทธเจ้าท่านสอนเราดีๆ ให้เราเข้าใจ ให้เราเป็นมวย

ในครั้งสมัยพุทธกาลก็มีพระนั่งหลับเก่งๆ เยอะแยะ พระอรหันต์ยิ่งหลับเก่ง แต่ว่านั่งหลับมีประโยชน์หนา ตื่นขึ้นมาพิจารณาใคร่ควรธรรมข้อไหน จะไปทำประโยชน์อะไรวันนี้ พระอรหันต์นี่มีแต่ประโยชน์ในหัวใจ ท่านเดินย่องๆ ไป เห็นเข็มหล่นอันเดียวท่านก็เก็บ ถ้าไม่เก็บปรับอาบัติทุกกฎ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ท่านไม่มองข้าม มีแต่ระเบียบ ความมีระเบียบเป็นการฝึกจิตใจให้ละเอียดให้รู้จักรับผิดชอบ แม้แต่เข็มเล่มเดียว แต่พวกเราช้อนสเตนเลส เห็นอะไรทิ้งก็ไม่สนใจ บาตรกองก้นจูดกูด บาตรตก บาตรทิ้ง ไม่รู้เป็นของใครไม่สนใจ พระพุทธเจ้ามาเห็นอาจจะด่า ไม่รู้จะด่ายังไง ด่าก็เป็นหนาพระพุทธเจ้า ด่าให้มีประโยชน์

ทีนี้พอตื่นขึ้นมาปั๊บ เราก็ดูเวทนา หรือถ้ายังหลับอยู่อย่างนี้ ผมสังเกตนะผู้ที่ไม่มีสมาธิถ้าเวลาเขาหลับเขาก็ไม่โยก แต่ถ้าตื่นขึ้นมายังโยกอยู่แสดงว่าไม่หลับหรอก ยังไม่หลับครึ่งหลับครึ่งตื่น ถ้าหลับจริงจะโยกเลย ในสมัยพุทธกาลมีเยอะแยะ พระนั่งหลับจนเทวดาไม่อยากเชื่อ เทวดาสงสัยพระนั่งหลับ เอ้ พวกนี้ทุกข์อะไรทุกข์ มานั่งเหมือนกับมีความทุกข์ทรมาน เอ้ ถ้าว่าทุกข์ก็นั่งตั้งแต่หัวค่ำจนว่าจะสว่าง ก็ยังนั่งอยู่ถ้าว่าเป็นคนทุกข์ ทำไมนั่งได้นานขนาดนี้ คนทุกข์มันนั่งไม่ได้นานมันนอนไม่ได้หรอก มันกลิ้งไปกลิ้งมา มันทุกข์มันยาก

พวกเทวดาก็สงสัย สมณะนี้มีทุกข์หรือมีสุขกันแน่หนอ สงสัย ถ้าจะว่ามีสุข มีสุขอะไรไม่เห็นมีอะไรน่าเพลิดเพลิน นั่งอยู่คนเดียวในป่า แถมมานั่งหลับ ตื่นขึ้นมาก็ยังนั่งอยู่ไม่มีอะไรน่าจะสนุกสนานเพลิดเพลิน คงจะทุกข์มากกว่า แต่เมื่อมาคิดดูถ้าทุกข์ทำไมมานั่งอยู่ได้นานๆ “เอ้ คนทุกข์มันไม่นั่งได้นานขนาดนี้” มันต้องกลัดกลุ้มมันต้องกระดุกกระดิกพลิกแพลง ถ้ามีทุกข์แม้แต่นอนก็ไม่หลับ อันนี้น่าจะมีความสุข เอะ! มันอย่างไรกันแน่ เทวดาก็แปลกใจ จึงไปถามสมณะว่า ท่านนั่งอยู่อย่างนี้ ลมหนาว ลมเหนือล่องพัดผ่านใบไม้ก็หลุดล่วง หน้านี้เป็นหน้าหนาว ท่านนั่งอยู่อย่างนี้ท่านมีความทุกข์อะไร บ้านของท่าน ญาติของท่านไม่มีหรือ ท่านหนีทุกข์อะไร?

ท่านบอกว่า “ญาติไม่มี (ญาติคือกิเลส) แต่ที่อยู่เรามี บ้านเรามีคือวิหารธรรม” ท่านอยู่อย่างนี้ท่านมีความสุขหรือมีความทุกข์ ท่านบอกว่า “แล้วท่านเข้าใจว่าเราเป็นอย่างไร” เทวดาบอกว่า “ไม่เข้าใจ จะว่าทุกข์ก็เหมือนมีความสุข จะว่ามีความสุขก็ไม่เห็นเพลิดเพลินอะไรนั่งอยู่เฉยๆ” ท่านก็เลยบอกว่า “นันทิโต อทุกขิโต โหมิ ทุกเข เยวะ โหติ นันทิโต คนมีความทุกข์นั่นแหละจึงไปเพลิดเพลิน”

คนมันทุกข์จึงอยากไปกินเหล้า พวกไปหาทางออกจากทุกข์แต่ร้องเพลง สดชื่นเบิกบาน เหมือนดอกไม้บานยามเช้า เหมือนดอกคัดเค้าบานเย็น กะลึบกึบกึบ ทุกข์เกือบตายแล้วก็มีแต่จะตาย กินเหล้าหนีทุกข์มีแต่จะเพิ่มทุกข์ พระพุทธเจ้าว่าปุถุชนผู้ไม่ได้เรียนรู้ เมื่อถูกทุกขเวทนาเข้าบีบคั้น ก็ไม่มีทางออก ไม่มีนิสสะระณะ ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีปัญญาที่จะออกจากทุกขเวทนานั้น

เพราะฉะนั้นพระโสดาบันทำความทุกข์สิ้นไปได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ดับทุกข์ไปได้ มรรคของท่านชัดเจนขึ้นมา ๒๕ เปอร์เซ็นต์ มันจึงเป็นระดับๆ โสดาบันจึงทำลายอาสวะสังโยชน์ข้อที่เรียกว่า สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา ความสงสัย สีลัพพตปรามาส การประพฤติปฏิบัติที่ยังลูบคลำ ยังไม่เข้าใจ บัดนี้เข้าใจข้อวัตรปฏิบัติที่ถือ เข้าใจแน่นอนเข้าใจเป้าหมายรู้จุดยืน

เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่า สักกายะทิฏฐิ ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในตัวตนที่แท้จริง เกิดความจางคายละได้ ถึงแม้ยังไม่ขาดหมดแต่ก็รู้ว่าไม่ใช่เราแน่ๆ ยึดมั่นนี้เต็มที่ไม่ได้ เพราะมันคายไปแล้ว ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ต่อมาก็วิจิกิจฉา เรื่องสงสัยในการปฏิบัติว่าอย่างนี้ถูกไหม อย่างนี้เป็นคำสอนพระพุทธเจ้าหรือไม่ ไม่ต้อง สงสัยมันแน่ใจที่สุดเลยว่าต้องถูก ถ้าเราทำมาขนาดนี้เห็นแค่นี้ ทำมันต่อไปมากๆ จะเป็นอย่างไรมันเห็นหลักชัยอยู่ข้างหน้าไปเลย เพราะฉะนั้นถ้าก้าวล่วงความสงสัย วิจิกิจฉาเสียแล้ว โสเทนติ มัจจัง วิติณณะ กังขัง ชำระกิจก้าวล่วงความสงสัยเสียได้ ทีนี้มันก็นิยะโต เที่ยงแท้ สัมโพธิ ปะรายาโน จะบรรลุธรรมในเบื้องหน้าที่สูงๆ ขึ้นไป

เพราะฉะนั้นการกล่าวธรรมิกถา ขอหยุดลงเพียงเท่านี้ ขอท่านทั้งหลายจงประสพแต่ความสุขความเจริญ ด้วยอริยธรรม มีใจสะอาด สว่าง สงบ พบเส้นทางแห่งชีวิตอันบริสุทธิ์สดใส นำชีวิตของท่านให้เจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู โชติช่วงดังดวงไฟส่องชีวิตดิถีไปจนถึงซึ่งดับลงแห่งปัญหาความทุกข์ ปัญหาชีวิต ปัญหาหัวใจ หมดไปสิ้นไปทุกท่านทุกคนเทอญฯ


รูปภาพ
พระมูลคันธกุฏี หรือ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร”
บนยอดเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์
กุฏิอันเป็นที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้า
ในพรรษาที่ ๓, ๕, ๗
และพรรษาสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
------------------------------


บทสรุป

พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าทางสายกลางนี้เป็นทางที่ถูกต้องมีแปดประการ

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ, คือความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าอันนี้มันเป็นทุกข์ อันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อันนี้เป็นเหตุที่ตั้งอยู่ไม่ได้ของความทุกข์ อันนี้เป็นหนทางเพื่อที่จะทำให้ความทุกข์ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นการในอริยสัจ ๔ เป็นอย่างนั้นนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ความดำริในการออกจากกาม, ความดำริในการไม่มุ่งร้าย, ความดำริในการไม่เบียดเบียน, คิดถูกตั้งใจถูก คิดยังไงก็คิดเพื่อที่จะออกจากกาม ไม่ตามใจมันมาก มันพาเราทุกข์

สัมมาวาจา การพูดจาชอบ, เว้นจากการพูดไม่จริง, เว้นจากการพูดส่อเสียด, เว้นจากการพูดคำหยาบ, เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, พูดจาเบียดเบียนคนอื่นพูดกระแทกแดกดัน พูดหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง

สัมมากัมมันโต การทำการงานชอบ, เว้นจากการฆ่า, เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว, เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ไม่มีการเข่นฆ่า ไม่มีการล่วงเกินสามีภรรยาคนอื่น ที่ว่า กาเมสุมิฉาจารา ไม่มีการลักขโมยสามอันนี้, การงานชอบ

สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ ละการเลี้ยงชีวิตที่ผิดเสีย เป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ เลี้ยงชีวิตชอบหาใส่ปากอยากใส่ท้อง เลี้ยงครอบครัวผัวเมียอย่างถูกต้อง ไม่มีการเบียดเบียนไม่ค้าขายในทางที่มันผิด ถ้าจะค้าจะขายอย่าผิดศีลผิดธรรม มิจฉาอาชีพ เราเว้นจากสิ่งเหล่านี้ การค้าขายที่ผิด เลี้ยงชีวิตที่ผิดกฎหมาย

สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบ,เพียรไม่ให้อกุศลธรรมเกิด เพียรละอกุศลธรรมที่เกิด เพียรสร้างกุศลธรรมที่ไม่เกิดให้เกิดขึ้นเพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดแล้วให้เจริญ คือเพียรป้องกันความชั่วไม่ให้มันเกิดขึ้น เพียรละความชั่วให้มันหมดไป สร้างสิ่งที่ดีให้มันเกิดขึ้น เพียรรักษาสิ่งที่ดี

สัมมาสติ ความระลึกชอบ ระลึกเห็นกายในกาย ระลึกเห็นเวทนาในเวทนา ระลึกเห็นจิตในจิต ระลึกเห็นธรรมในธรรม เห็นในสติปัฏฐานทั้ง ๔ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้

สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่ เข้าถึงทุติฌานไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เข้าถึงตติยฌานเพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข


ผู้ไม่โลเล

“ภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแปดอย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมเสียสำหรับภิกษุ ผู้ยังไม่จบกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อลุถึงนิพพาน มูลเหตุแปดอย่างอะไรกันเล่า? แปดอย่างคือ

● ความเป็นผู้ไม่พอใจในการทำงานก่อสร้าง
● ความเป็นผู้ไม่พอใจในการคุย
● ความเป็นผู้ไม่พอใจในการนอน
● ความเป็นผู้ไมพอใจในการจับกลุ่มคลุกคลีกัน
● ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
● ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
● ความเป็นผู้ไม่พอใจในการทำ เพื่อเกิดสัมผัสสะสบายทางกาย
● ความเป็นผู้ไม่พอใจในการขยายกิจ ให้โยกโย้โอ้เอ้เนิ่นช้า.

ภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแปดอย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมเสีย สำหรับภิกษุผู้ยังไม่จบกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อลุถึงนิพพาน

(พระไตรปิฏกบาลีสยามรัฐ ๒๓/๓๔๓/๑๘๔)

ปฏิบัติ ที่ไหนดี มีคำถาม
การทำตาม หน้าที่ดี มีความหมาย
การทำงาน ในหน้าที่ ไม่วุ่นวาย
ไม่เสียหาย เพราะมีธรรม นำสุขจริง


:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...หนังสือ ชีวิตที่มีคุณค่า
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม
บ้านฝาง ตำบลบ้านแพด อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร หน้า ๕๗-๙๒

ISBN : 978-974-7808-54-4 จัดพิมพ์โดย : กองทุนกัลยาณธรรม อุทยานธรรมดงยาง
ตำบลคลีกลิ้ง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ โทร. ๐๘๙-๙๔๙-๑๘๘๓, ๐๘๑-๔๗๔-๑๑๕๒


:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19971

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=59736

:b50: บทสวด ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=20815

:b50: พระมูลคันธกุฏี บนยอดเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44857

:b50: มัชฌิมาปฏิปทา : สายกลางสองมิติ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=36871

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2022, 10:11 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร