วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 21:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2020, 17:15 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


ฆ่ากิเลสให้ตาย คลายกิเลสให้ออก
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


รูปภาพ

ณ โอกาสต่อนี้ไปเป็นโอกาสนั่งสมาธิภาวนา
ให้พากันนั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาทับมือซ้าย
ตั้งกายให้ตรง หลับตานึกภาวนาพุทโธ พุทโธ ทุกลมหายใจเข้าออก
การนั่งสมาธิภาวนานี้เป็นการปฏิบัติบูชาในทางพระพุทธศาสนา
อันเอากาย วาจา จิต ของเรามาปฏิบัติบูชา นี้สำคัญกว่าสิ่งใดๆ ทั้งหมด
เพราะตัวเราทุกคนมีปริมณฑลหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบกาย
มีจิตใจครองอยู่ในร่างกายนี้
ดวงจิตดวงใจของคนเรานั้นมีอยู่ภายในทุกดวงใจ
คนหนึ่งก็มีดวงใจดวงหนึ่งอยู่ภายในร่างกาย
แต่ดวงจิตดวงใจดวงนี้ เป็นธาตุนามธรรม ไม่มีรูปร่างสีสัณฐาน
ถ้าเราไม่ภาวนาไม่รวมจิตรวมใจเข้ามาอยู่ภายในแล้วก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ
เพราะจิตใจเป็นของละเอียด แต่ก็พารูปร่างกาย
ให้ยืน เดิน นั่ง นอน ไปมา พูดจาปราศรัยอยู่ตลอดเวลา
ชั่วระยะเวลาที่ยังมีชีวิตลมหายใจอยู่นี้
จิตใจนั้นก็แสดงออกทางตา ได้แก่เวลาเห็นรูป
แสดงออกทางหู ได้แก่เวลาฟังเสียง
แสดงออกทางจมูก ได้แก่เวลาดมกลิ่น
แสดงออกทางลิ้น ทางรสอาหารในเวลาบริโภค
แสดงออกทางกาย ได้แก่โผฏฐัพพะ
สัมผัสสิ่งที่มากระทบร่างกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
จิตใจดวงนี้ก็ดีใจเสียใจไปตามอารมณ์เรื่องราวที่ผ่านเข้ามา
แล้วก็แส่ส่าย ลุ่มหลงไปตามอารมณ์ภายนอก ไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงไปได้

เมื่อถึงเวลานั่งสมาธิภาวนาอย่างนี้ เป็นเวลาสงบกาย สงบวาจา
เป็นเวลาสงบจิต ความคิดฟุ้งซ่านรำคาญภายนอกต่างๆ นานา
เราต้องให้รู้เท่าทัน ว่าบัดนี้ เวลานี้ ปัจจุบันนี้ ในที่นี้
เป็นเวลาภาวนา เป็นเวลาละกิเลส เป็นเวลาคิดภายใน ไม่ใช่คิดภายนอก
เป็นเวลารู้ภายใน ไม่ใช่รู้ภายนอก เป็นเวลาฝึกฝนจิตใจให้สงบตั้งมั่น
คือเวลาปัจจุบันนี้ เวลานี้เป็นเวลาฝึกจิตฝึกใจอบรมจิตใจแล้ว
ไม่ต้องคิดถึงใคร ไม่ต้องคิดถึงอารมณ์เรื่องราวใดๆ ทั้งหมด
ตั้งใจบริกรรมภาวนาภายในดวงจิตดวงใจ
กายกับใจ รูปกับนาม ตัวคนเรานี่เอง เอาจิตนั้นมากำหนดกาย

ทำไมท่านจึงให้เอาจิตนั้นมากำหนดกาย ก็เพราะจิตมันหลงกายหลงรูป
ไม่ว่าจะหลงออกไปภายนอกก็ตาม ก็รูปร่างกายของคนเรานี่แหละ
ความไม่รู้แจ้งในธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ความไม่รู้แจ้งในก้อนอสุภกรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
ตับไต ไส้พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำเลือด น้ำเหลือง
ในร่างกายของคนเรานี้เอง เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็มีกลิ่นปฏิกูลของไม่งามอยู่อย่างนี้เอง
ถ้าลองร่างกายนี้หมดลมลงเมื่อใดเวลาใดแล้ว ปฏิกูลโสโครกก็จะแสดงออกมา
ในรูปขันธ์นี้สมมติว่า ที่เรานั่งสมาธิภาวนาอยู่นี้แหละ
ถ้าเกิดใครตายขึ้นมาสักคนหนึ่ง ถ้าไม่เก็บ ไม่ช่วยดูแลรักษาแล้ว
ก็จะเต็มไปด้วยแมลงวัน มาดูดมากินน้ำเลือดน้ำเหลืองของผู้ตายคนนั้น
เราผู้เทศน์ผู้ฟังก็จะนั่งเทศน์นั่งฟังไม่ได้ เพราะปฏิกูลโสโครกกลิ่นเหม็นๆ นี้
ไม่เหมือนกลิ่นหอม กลิ่นหอมนั้นคนเราชอบ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องหอมทั้งหลายยังไม่มี ก็แสวงหามาดม
แต่ของเหม็นนั้นถ้าเกิดมีขึ้นมาที่ใดแล้วไม่มีใครชอบ
ชอบและไม่ชอบนั่นแหละเราต้องภาวนาเพียรเพ่งดูความจริง
ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้ เมื่อมาประชุมเป็นก้อนเป็นหน่วยแล้วไม่คงทน
ย่อมมีเวลาแตกทำลาย เมื่อแตกดับทำลายแล้วก็ย่อมมีกลิ่นที่คนเราไม่ชอบ

ความจริงแล้ว ผู้ภาวนาจะต้องกำหนดรู้ว่ากลิ่นเป็นของมีอยู่ประจำโลก
ทั้งเหม็นทั้งหอม ที่เราจะต้องให้รู้ให้เข้าใจคือว่าดวงจิตที่มาหลงในกลิ่น
กลิ่นหอมทำไมจิตคนเราชอบ กลิ่นเหม็นทำไมคนเราไม่ชอบ
นี่แหละมันเอนเอียงไปตามความรักความชัง ความดีใจเสียใจ
ธรรมดาของในโลกนี้ไม่ว่าของสิ่งใดๆ เมื่อเกิดขึ้นมาตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
ดับไปแล้วก็เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
รูปนามกายใจของคนเราเป็นอยู่อย่างนี้
จิตใจนี้ไม่รู้ต่างหาก ไม่ภาวนาไม่สงบ จึงมองไม่เห็นกำหนดไม่ได้


ในทางพุทธศาสนา พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเตือนพุทธบริษัท
ให้กำหนดก้อนอสุภกรรมฐานในร่างกายสังขารของทุกคน
ว่าไม่ใช่ของสวยของงาม เหมือนกับจิตใจหลงคิดไปหมายไป
ก้อนอสุภะแท้ๆ นับแต่เราตื่นนอนมาก็จะเห็นว่า
เราต้องถ่ายปัสสาวะ ต้องถ่ายอุจจาระ
ตื่นเช้าขึ้นมาก็จะต้องแสวงหาอาหารมาบริโภค
มาหล่อเลี้ยงก้อนอสุภะนี้อยู่ตลอดเวลา
ถึงอย่างนั้นก็ดี ก็ยังมีความแก่ชรา มีความเจ็บไข้ได้ป่วย
มีความแตกพังทำลายลงไปได้
แม้ใครจะมีความรักความหวงแหนขนาดไหนก็ตามที
รูปขันธ์ร่างกายนี้เต็มไปด้วยก้อนอสุภะ
เต็มไปด้วยความชรา พยาธิ มรณะ กรรมฐานอยู่อย่างนี้เอง
แต่จิตใจคนเราไม่กำหนดไม่ภาวนาให้เห็นแจ้งภายในจิตใจ
จนได้พากันหลงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกอันนี้
จะเกิดเท่าใดตายเท่าใดที่เป็นมาแล้วนั้นนับไม่ถ้วน
ท่านให้ชื่อว่าอเนกชาตินับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว
แต่จิตใจอันหลงอันนี้ก็ยังสำคัญผิด
คิดว่ารูปนามเป็นของเที่ยงแท้แน่นอนยั่งยืน

พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงเตือนว่า
รูปนาม กายใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ไม่ว่าจะเกิดในยุคสมัยใดก็ตาม เป็นอยู่อย่างนี้เอง

เกิดมาเป็นคนชาติหนึ่งก็ต้องตายหนหนึ่ง ไม่มีใครจะเหลืออยู่ในโลก ไม่ตาย
เกิดที่ไหนก็ต้องตายที่นั้น เกิดที่โลกมนุษย์นี้ก็ต้องตายที่โลกมนุษย์นี้
เมื่อยังไม่ตายท่านจึงให้บำเพ็ญคุณงามความดี บำเพ็ญทานรักษาศีลเจริญภาวนา
ประพฤติปฏิบัติสร้างบุญสร้างกุศล สร้างบุญบารมีเหล่านี้ให้บังเกิดมีขึ้น
ที่เราภาวนาว่าพุทโธอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็สร้างบุญบารมี
สร้างดวงจิตดวงใจให้สงบระงับ ไม่ให้วุ่นวายภายนอก หลงใหลไปไม่มีที่สิ้นสุด

ในโลกเรานี้ไม่มีอะไรเป็นของใหม่
รูปก็รูปอันเก่านี้แหละ นามได้แก่จิตใจก็จิตใจอันเก่า
ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นของใหม่แท้ในโลกนี้
รูปร่างกายของคนเรามันก็ถ่ายเทมาจากของเก่านั่นเอง ต่อกันเรื่อยมา
ก็ธาตุดินอันเก่า ธาตุน้ำอันเก่า ธาตุไฟ ธาตุลมอันเก่านั่นเอง
เมื่อธาตุดินธาตุน้ำไฟลมอันเก่า แม้จะได้มาใหม่ก็ไม่พ้นความแก่ความชรา
หนีไม่พ้นจากความเจ็บไข้ได้ป่วย
อันความเจ็บไข้ได้ป่วยนี้เป็นทุกข์ คำว่าทุกข์ก็คือว่าไม่ใช่รูปร่างกายมันทุกข์
จิตใจที่มาครองยึดเอาตัวตนของเรานี่เป็นกองทุกข์เป็นก้อนทุกข์
ที่ว่าอยู่ดีสบายนั้นเหมือนกับว่ามีความสุข
อะไรต่อมิอะไรไม่เป็นไปตามใจหวัง ก็ดิ้นรนวุ่นวายเหมือนกับอายุจะถึงร้อยพันปี
แต่แท้ที่จริงแล้วสังขารธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
มีความเกิดขึ้นที่ไหนก็ต้องมีความแตกดับที่นั้นๆ ไม่ต้องสงสัย

ฉะนั้นการภาวนาทำความเพียรละกิเลสกำหนดกายกำหนดจิต
รวมจิตรวมใจเข้ามาสู่ความสงบระงับภายในดวงจิตดวงใจของเรานี้
ให้ทุกคนเพียรพยายามรวบรวมกำลังใจให้มาตั้งมั่นอยู่ภายใน
เพียรเพ่งอยู่ในดวงจิตดวงใจ ในพุทโธที่เราบริกรรมภาวนาอยู่
ตามที่ท่านให้บริกรรมภาวนาพุทโธนี้ ก็เพื่อให้จิตใจดวงที่มีความรู้อยู่นี่แหละ
ไม่ให้หลงใหลออกไปภายนอกตามสังขารมารกิเลส
ธรรมดาจิตใจนี้ชอบเที่ยวและหลงใหลไปกับสังขารมาร กิเลสมาร
สิ่งที่ไม่ดีนี่แหละถ้ามันได้ปรุงแต่งขึ้นนึกคิดมาแล้ว
อันที่มันไม่ดีก็กลายเป็นของดีไปได้ ดีอยู่ในความหลงความเมา
มันหลงมันเมาแล้ว มันก็ติดอยู่ข้องอยู่ พัวพันอยู่
ในกิเลสตามวัตถุตามโลกในวัฏสงสารเรานี่เอง

ด้วยเหตุนี้ พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
พระองค์ทรงเตือนให้ภาวนา ให้สงบจิตสงบใจ
ถ้าจิตใจดวงที่รู้อยู่ไม่สงบตั้งมั่นภายในจิตใจแล้ว
ก็ชื่อว่าไม่รู้ไม่ภาวนา มันหลงไปตามความอยากได้ ความอยากดี
ความอยากเป็น อยากมี ดิ้นรนวุ่นวายไปหมด
จนกระทั่งไม่รู้สึกว่าตัวจะตายเมื่อใดก็ไม่รู้
ดิ้นรนวุ่นวายไป ไม่รู้จักว่า เราเกิดมาแล้วต้องตาย
เราเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องชรา เราเกิดมาแล้วต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
ถ้าไม่คิด ไม่อ่าน ไม่ภาวนา ไม่พิจารณาไว้ก่อนให้แจ่มแจ้งชัดเจน
ทีนี้ถ้าลองเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาละก็วิตกวิจาร
เจ็บน้อยหนึ่งก็เข้าใจว่า ปรุงแต่งไปว่าเจ็บมาก แล้วเราจะแตกจะตายไป
ทำไมหนอเราจะต้องตายแต่เมื่อเด็กเมื่อหนุ่ม ก็ร้องไห้
อะไรมันร้องไห้ รูป ร่างกายหรือมันร้องไห้ น้ำตาไหลเปล่า
รูปร่างกายเขา เพียงแต่ว่าเป็นก้อนธาตุก้อนหนึ่งเท่านั้น
จิตใจนั้นแหละวิตกวิจาร ฟุ้งซ่านรำคาญไม่เย็นอกเย็นใจ
ไม่สบายอกสบายใจ ไม่รวมไม่สงบไม่เป็นดวงหนึ่งดวงเดียวภายในจิต
เมื่อไม่เป็นดวงหนึ่งดวงเดียวภายในจิตก็ไม่รู้
จิตก็มายึดเอาตัวกูของกู ตัวข้าของข้า ตัวเราของเรา
ยึดเอาไปจนกระทั่งดิน แผ่นดิน อะไรภายนอกก็ยึดเอาถือเอา
ถ้าดูในจิตในใจก็เหมือนกับจะหาบหามโลกนี้ไปได้
เหมือนตัวเองจะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ไข้ไม่ตาย
ไม่พลัดพรากจากของรักของชอบใจเลย

แต่ความจริงหาเป็นไปเช่นนั้นไม่
เกิดมาไม่นานภายใต้ใกล้ร้อยปีนิดเดียวเท่านั้น
เดี๋ยวก็จะจากกันไป เดี๋ยวก็จะตายกันไป
สิ่งที่ตัวเองยึดไว้ถือไว้ว่าตัวเราของเรา ทรัพย์สินเงินทอง
วัตถุข้าวของ อะไรต่อมิอะไรเป็นตัวตนของเรานั้น ผลที่สุดไปได้แค่ไหน
ต้องคิดต้องภาวนาดูให้ดี ความคิด ความยึดมั่นในจิตใจ
ร่างกายสังขารอันนี้ก็ไปได้แค่ป่าช้าป่าเหวเท่านั้นเอง
ทำไมมนุษย์ไปเกิด ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนจึงมีป่าช้าป่าเหว
ป่าช้าป่าเหวมีไว้เพื่อประโยชน์อะไร
นั่นแหละรูปนาม กายใจ ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่งของบุคคลเรา
เมื่อเกิดมาแล้วจำเป็นต้องมีป่าช้า
สร้างบ้านแรกๆ ก็ไม่มีป่าช้า แต่ทำไมมันมี ก็เพราะว่ามนุษย์เรามันต้องตาย
ตั้งวัดใหม่ๆ ก็ยังไม่มีพระเณรตายญาติโยมตาย
แต่ว่านานเข้าต้องมีคนตาย ใครก็ไม่รู้จะตายเป็นคนแรก
ก็มีพวกเราผู้ฟังผู้เทศน์นั้นแหละจะต้องตาย ในวัดก็ตายได้
ในบ้านก็ตายได้ ความตายไม่เลือกเพศพันธุ์ วรรณะ
เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็จำเป็นต้องตาย

มรณํ เว ภวิสฺสติ ความตายนี้ระลึกให้ได้เสมอ
เตือนจิตใจที่ประมาทมัวเมา ลุ่มหลง ลืมภาวนาละกิเลส

เมื่อลืมภาวนาละกิเลสมันก็ภาวนาเพิ่มกิเลส
มีแต่จะหาเพิ่มเอาสังขารมาร กิเลสมาร มันรู้แต่จะเพิ่มจะหาเข้ามา
แบกเข้ามา หิ้วมาหามไป หามไปเท่าไรๆ ก็หนักเท่านั้น
ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระอันหนัก
ผู้ใดวางขันธ์ทั้งห้ามาภาวนาละกิเลส ดวงจิตดวงใจดวงรู้อยู่ภายในใจ
เดี๋ยวนี้ เวลานี้ มีอยู่ที่นี่ ไม่ต้องไปหาที่อื่น
พุทโธอยู่ในจิตนี้ ธัมโม สังโฆ ก็ในจิตใจนี่แหละ
เมื่อรวมสู่จิตสู่ใจดวงรู้อยู่ปัจจุบันในที่นี่นี้แหละ ตัตถะ ตัตถะ ในที่นี้
พระองค์ทรงเตือนว่านี่ก็คือรู้ ที่ไหน ใจที่มั่นคงอยู่ภายในนี่แหละ
รวมเข้ามาสงบเข้ามา ตัตถะ ตัตถะ ในที่นี้ ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ เวลานี้
จิตใจนั้นไม่ต้องไปหาเป็นก้อนเป็นหน่วยเป็นสีสันวรรณะ
รู้ที่ไหนตั้งที่นั่น ตั้งที่ไหนก็มีความรู้ที่นั่น

สิ่งอื่นใดนอกจากดวงจิตใจที่รู้ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้เวลานี้แล้ว
ไม่เที่ยงทั้งหมด จะคิดดีเท่าไร ความคิดก็ไม่เที่ยง
ปรุงแต่งดีเท่าไร ความปรุงแต่งก็ไม่เที่ยง
ได้ดีมีสุขอย่างไร ได้ดีมีสุขก็ไม่เที่ยง
ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนทุกสิ่งทุกอย่าง จึงได้เปลี่ยนแปลงไป
ดูความเปลี่ยนแปลงของรูปนามตัวตนคนเรานั้นให้ดี
แรกเริ่มเดิมทีได้มาจากไหน ร่างกาย สังขารของแต่ละคน ตั้งแต่เกิดมา
เกิดมาจากที่ไหน เกิดมาจากครรภ์มารดา
เมื่อเกิดมาจากครรภ์มารดา ดูความเปลี่ยนแปลงแรกเริ่มก็ได้
ชื่อว่าตัวน้อยหนึ่งนิดเดียว อยู่ในท้องมารดาเก้าเดือน สิบเดือนก็อยู่ไม่ได้
ก็แสดงเคลื่อนที่ออกมาเรียกว่าเกิด
เกิดทางโลกเขาหมายถึงตกฟากหรือว่าคลอดจากครรภ์มารดา
แต่ว่าเกิดในพุทธศาสนาท่านหมายถึงจิตปฏิสนธิวิญญาณมาครอง
ยึดเอาก้อนธาตุดินน้ำไฟลม ตั้งแต่ในท้องแม่โน้นเอง
เรียกว่าเกิด ดวงจิตมายึดเอาถือเอา
แล้วได้ชื่อว่าเกิด ตั้งขึ้นมา ปฏิสนธิวิญญาณยึดเอาถือเอา
ดวงจิตดวงนี้มายึดเอาก้อนธาตุ กรรมฐานอันนี้จนคลอดออกมา
เกิดมามันก็เปลี่ยนแปลง แสดงให้ทุกคนรู้ได้เข้าใจว่ามันไม่เที่ยงจริง
ถ้ามันเที่ยงจริงก็ต้องอยู่ในท้องแม่ตลอดซิ ไม่ต้องเกิดมาเป็นทุกข์เป็นร้อน
อยู่ในท้องแม่ ไม่ต้องรู้ต้องเห็นอะไร ก็อยู่ไม่ได้
มันก็แสดงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั่นเอง

แม้คลอดออกมาแล้วแรกก็ตัวน้อยนิดเดียว
ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นแหละ ก็มีความเจริญขึ้น
จนเคลื่อนไหวไปมาพูดจาปราศรัย รู้จักทำดีทำชั่ว
จนมาถึงเวลานั่งสมาธิภาวนามันเที่ยงแท้แน่นอนที่ไหน
มันเลื่อนไหลไปมาอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้
และเมื่อมาถึงเวลาบัดนี้ก็อย่าเข้าใจว่าเที่ยงอยู่ที่นี่
ก็เปลี่ยนแปลงไปวุ่นวายไปอีกตามอำนาจกิเลสไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าไม่สงบระงับไม่หยุดไม่นิ่งไม่สงบไม่เย็นใจลงไปเสียแล้ว
ก็คือว่าต่ออยู่เรื่อย หมุนเวียนเปลี่ยนไปมาต่อไปเรื่อยไป ไม่มีที่สุดที่สิ้น

ให้พากันรวบรวมกำลังจิตกำลังใจเข้ามาภายใน
ดวงจิตดวงที่รู้อยู่ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้เวลานี้
นั่นแหละคือดวงจิตดวงใจของเราแท้ๆ
ดวงแท้ไม่ได้ไปไหนนับแต่มาปฏิสนธิมาเกิด
ก็ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในอุปาทานภายในดวงจิตอันนี้เอง
ยึดว่าตัวเรายึดว่าของเรา
ทั้งๆ ที่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เขาไม่ได้ว่าเป็นของบุคคลผู้ใด
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ลองถามไปทุกอย่างในร่างกาย
ว่าเขาเป็นของเราไหม เป็นของใคร เขาจะเฉยทั้งนั้น
จิตใจหลงอันนี้ต่างหากเป็นผู้มาปรุงแต่ง
มาคิด มานึก มายึด มาถือต่างๆ นานา จนไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงไปได้
ลงท้ายที่สุดเมื่อไม่ได้สมความมุ่งมาดปรารถนา ชีวิตมันจะแตกจะดับ
มรรคผลในทางหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยังไม่แจ่มแจ้งภายในจิตใจ
ชีวิตก็จะมาแตกมาดับภายในร้อยปีนี่แหละ ทุกคนจะต้องเห็นด้วยตนเอง

ที่ว่าหลบหลีกหนีไม่พ้นซึ่งความเจ็บความไข้ซึ่งความตาย
แม้จะตั้งโรงพยาบาลใหญ่เท่าไรมากเท่าไรก็ตาม
ความแก่ความชราความเจ็บไข้ได้ป่วย โรคภัยไข้เจ็บที่คนเราว่าแก้ได้
ความจริงมันแก้ไม่ตก มันเป็นเพียงว่าแก้ไปบรรเทาไปรอวันตายเท่านั้น
ตายเมื่อใดแล้วก็จบ ถ้ายังไม่ตายเราก็ยังไม่จบ
รูปขันธ์ร่างกายนี้เป็นอยู่อย่างนี้
ไม่เหมือนจิตใจ จิตใจนี้มีเวลาจบลงได้

ผู้ใดบำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา มาปฏิบัติบูชาภายในจิต
มาเลิกละความโกรธ ความหลง ความโลภ
ความไม่สงบระงับภายในจิตใจออกไปให้หมดสิ้น
จนจิตใจของตัวเองภายในนั้นรู้แจ้งรู้จริง
ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรที่จะแน่นอน

ขึ้นชื่อว่าโลภโกรธหลงแล้วไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน
จนแจ่มแจ้งขึ้นมาได้ในหัวใจของตนเอง
จนเห็นโทษแห่งความโกรธความโลภความหลง
ว่ามันทุกข์อย่างนี้ มีโทษอย่างนี้ มีภัยอย่างนี้
ให้มาหลงมายึดมาถือเอา เพราะความไม่รู้
เพียรพยายามทำให้แจ้งภายในจิต
เมื่อจิตใจนี้ละความยึดความถือ ความยึดหน้าถือตา
ความยึดตัวถือตน ความยึดเราของเราออกไป
จิตใจได้ปัญญา ได้วิชาความรู้ขึ้นมาในจิตในใจ
การที่จิตใจมายึดเอาถือเอา
ความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้เป็นความหลง อวิชชาความไม่รู้
ความรู้แจ้งกระจ่างสว่างขึ้นมาภายในจิต ความมืดมนอนธการก็จะดับไป

เมื่อความรู้แจ้งรูปเองรู้อะไร ก็รู้ในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แจ้งอะไร ก็แจ้งรูปนามกายใจของคนเราตัวเรานี้แหละ
ว่าตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ตัวเราของเราก็เพียงสมมติของโลกเท่านั้น
เขาสมมติว่าอย่างนั้นก็พูดไปอย่างนั้น ว่าไปอย่างนั้น
จิตอย่าได้หลงใหลไปกับสมมติของโลก
เมื่อจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
เห็นแจ้งในรูปนามกายใจนี้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว
จิตก็ว่างสงบระงับ จิตก็ย่อมเลิกละตัวอุปาทาน
ความยึดว่าตัวกูของกู ตัวข้าของข้า
ข้าเป็นนั่น ข้าเป็นนี่ ข้าไม่แก่ไม่เจ็บไม่ไข้ไม่ตาย
ย่อมรู้แจ้งแล้วว่าเข้าถึงวิมุตติหลุดพ้น
วิมุตติหลุดพ้นก็คือจิตใจดวงที่รู้อยู่นี่แหละ มันหลุดมันพ้น พ้นด้วยปัญญา
พ้นด้วยญาณ ด้วยปัญญา รู้แจ้งว่ากิเลสอันใดยังมีอยู่
กิเลสความโกรธยังมีอยู่ไหม? ยังอยู่ก็เลิกละออกไป เพียรละออกไปจนหมด
หมดก็ใส ใสมันก็แจ้ง แจ้งมันก็รู้สึกได้ด้วยตนเองว่าเจ้าโลภะไม่ดี
เลิกละทิ้งให้หมด จิตก็ย่อมแจ้งสว่างขึ้นมา โทสะ โมหะ ไม่มีในจิตใจผู้ใด
จิตใจของผู้นั้นก็เข้าถึงวิมุตติหลุดพ้น
เป็นที่จบสิ้นแห่งการมาเวียนว่ายตายเกิดในโลก
ในวัฏสงสาร ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก

ดูพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
พระองค์ไม่ต้องมาเกิดมาตายวุ่นวายในโลกนี้อีกต่อไป
พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ท่านไม่มาวุ่นวายเกิดตายอยู่ในโลกนี้
ไม่ต้องมาโกรธ มาโลภ มาหลง ไม่ต้องมาฆ่าฟันรันแทงกัน
ฆ่ากิเลสให้ตาย คลายกิเลสให้ออก
พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้านั้น ท่านไม่ฆ่าคนไม่ฆ่าสัตว์ภายนอก
ท่านฆ่าสัตว์ภายในคือฆ่ากิเลสในหัวใจ
ฆ่าความไม่รู้ให้ดับให้ตายไป ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน
พุทโธ อยู่ในจิตดวงที่รู้นี่เอง
ธัมโม อยู่ในจิตดวงที่รู้นี่เอง สังโฆ อยู่ในจิตดวงที่รู้นี่เอง

พระพุทธเจ้าท่านฆ่าความโกรธ
ฆ่าความโลภ ฆ่าความหลง ละทิ้งจนหมดสิ้น
พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้พระนามว่า
พระองค์ละกิเลสพร้อมด้วยวาสนาหมดไปสิ้นแล้ว
ไม่มีกิเลสใดๆ ที่มาเกาะอยู่ในจิตใจได้
พระองค์ทรงเห็นแจ้งด้วยญาณด้วยปัญญา
กิเลสก็ย่อมตกออกจากจิตใจของพระองค์ไปได้
แต่จิตใจของปุถุชนคนเรานั้น รู้จักแต่กลับเก็บเอากิเลส
ยึดเอากิเลส ถือเอากิเลส แบกเอากิเลส หามกิเลส ไปอยู่ตลอดเวลา
ไม่รู้จักละวางกิเลสออกจากจิตใจเสียเลย


คัดมาจาก : หนังสือ รวมพระธรรมเทศนา ๑๐๘ กัณฑ์ เล่ม ๑
ที่ระลึกในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕
จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสตร์ เอสโซ่
:b8: :b8: :b8:


:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42673

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21573


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร