วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ส.ค. 2020, 11:57 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๒
ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์, มกราคม ๒๕๕๐
พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๕ จิตพระอริยะอยู่เหนือกิเลส
หน้า ๔๓๓-๔๔๘


รูปภาพ

จิตพระอริยะอยู่เหนือกิเลส
พระธรรมเทศนาโดย...
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙

*************

ต่อไปนี้ให้พากันตั้งใจนั่งสมาธิภาวนา
ปล่อยวางอารมณ์ภายนอกออกไปให้หมดสิ้น ตั้งใจบริกรรมภาวนา

วันนี้เป็นวันสิริมงคลวันหนึ่ง เป็นวันอุโบสถในทางพุทธศาสนา
ให้พวกเราทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติภาวนา

ที่ถ้ำผาปล่องนี้ สถานที่ที่เราอยู่อาศัย เป็นสถานที่สิริมงคล
เมื่อเรามาสู่สถานที่สิริมงคลแล้ว อย่าปล่อยให้จิตใจฟุ้งซ่านไปที่อื่น
จงตั้งอกตั้งใจภาวนา ดำเนินภายในดวงจิตดวงใจ

คำว่า ภาวนา นี้ ได้แก่สงบจิตสงบใจ
ไม่ให้ใจวุ่นวายคิดถึงบ้านถึงเรือน คิดถึงลูกถึงหลาน วุ่นวายไปภายนอก

ให้พากันระลึกถึงมรณภัย มรณกรรมฐาน
มันใกล้เข้ามาทุกวันทุกคืน ไม่ใช่ว่าเราอยู่ที่เก่า
สังขารธรรมทั้งหลาย รูปร่างกายของเราทุกคน
มีความเจ็บไข้ได้ป่วย มีความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมไปสิ้นไปทุกวันคืน

แม้ผู้ที่ยังเด็กยังหนุ่ม ก็อย่าประมาทมัวเมาว่าข้าพเจ้าไม่แก่
การตายไม่เฉพาะแต่คนแก่ บางคนหนุ่มนั้นตายก่อนคนแก่ก็มี
คนแก่ยังยืนยาวคราวไกลไปก็มี

ทุกคนจงระลึกถึงมรณภัย คือความตาย ไม่มีทางหลบหลีก
แม้จะหลบหลีกได้ว่า ในเวลาเราหนุ่มแน่นกำลังดีไม่ตาย
เมื่อถึงวัยแก่วัยชราก็ไม่มีทางหลบ จำเป็นต้องแตกดับทำลาย

แต่ผู้ใดภาวนาดี ละกิเลสความโกรธหมดไป
ละกิเลสความโลภหมดไป ละกิเลสความหลงหมดไป
ผู้นั้นก็ไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนประการใด
แม้ความตายมาถึงเข้า ท่านก็ยอมตาย

คือท่านเห็นแล้วว่า ตายเป็นเรื่องของธาตุทั้งสี่
ดิน น้ำ ไฟ ลม มันกระจัดกระจายไป เขาก็เรียกว่าตาย
ใช้การไม่ได้เขาก็เรียกว่าตาย จิตใจมันไม่ได้ตาย

จิตใจไม่ได้ตายนั้น ย่อมส่อแสดงให้เห็นแล้วว่า
แม้พระอริยะเจ้าทั้งหลายที่เราว่าท่านดับขันธ์เข้าสู่นิพพานแล้ว
มันก็เป็นแต่ว่าดวงจิตดวงใจของท่านส่วนหนึ่ง
ร่างกายของท่านแตกดับไป แต่จิตใจเป็นของไม่ตาย

แต่จิตนี้เมื่อกิเลสราคะ โทสะ โมหะหมดไปแล้ว ออกจากจิตใจไปแล้ว
เหลือแต่จิตอันบริสุทธิ์ผ่องใส จะอยู่ที่ใด เป็นอะไรอยู่ ก็ชื่อว่าอยู่ในนิพพาน
ไม่มีเรื่องราวอะไรที่จะมาทำให้ท่านเป็นทุกข์เป็นร้อนอย่างสามัญชนคนเราทั่วไป


คนเราทั่วไปที่มันทุกข์มันร้อนอยู่ ก็คือว่ากิเลสทางตา ได้แก่รูป
ตาเห็นรูปก็เกิดกิเลส หูได้ยินเสียงก็เกิดกิเลส เพราะกิเลสมันยังไม่ดับ
จึงจำเป็นต้องตั้งอกตั้งใจภาวนา อย่ามีความท้อถอย

ผู้ใดท้อถอยชื่อว่าเป็นผู้มัวเมา จะต้องมาเวียนว่ายตายเกิด
ในภพน้อยภพใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด ยุ่งเหยิงอยู่ด้วยกิเลสกาม วัตถุกาม

ตั้งแต่วันนี้ไป ให้พากันตัดบ่วงห่วงอาลัย
อารมณ์สัญญาที่คิดถึงบ้านถึงเรือน
ถึงลูกถึงหลาน ถึงอะไรต่อมิอะไร ให้ตัดขาด

ว่าสถานที่เรานั่งสมาธิภาวนาอยู่นี้ เท่ากันกับว่าเป็นสถานที่วิเศษ
เป็นทางที่จะให้เราทุกคนละกิเลสให้หมดไปสิ้นไปได้ ถ้าตั้งใจภาวนา
แต่ไม่ใช่ว่าสถานที่จะมาละกิเลสให้เรา ใจเรานี้แหละภาวนาละกิเลสเอาเอง

กิเลสนั้นเมื่อผู้ใดเลิกได้ละได้แล้ว ไม่เลือกว่าเณร
ไม่เลือกว่าพระ ไม่เลือกว่าจะสมมุติว่าเป็นธรรมยุต เป็นมหานิกาย
อะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่สมมุตินั้นละกิเลส
การละกิเลสเป็นเรื่องภายในจิตใจของแต่ละดวงจิตดวงใจ


สถานที่ก็ไม่ได้มาละกิเลสให้แก่เรา จิตใจเรานั้นเองเป็นผู้ละกิเลส

เมื่อภาวนาพุทโธ พุทโธ เมื่อภาวนามรณกรรมฐาน
ได้ทุกลมหายใจเข้าออก จนดวงจิตดวงใจผู้รู้อยู่นี้ไม่ไปไหน
อยู่ภายในสงบนิ่งแน่วเป็นดวงเดียว ตั้งมั่นอยู่ภายในจิตใจได้ตลอดเวลา

นั่นแหละต้นทางที่จะเป็นไปเพื่อเลิกละกิเลส ตัดกิเลสตัณหาได้
เพราะกิเลสตัณหานั้นมีอยู่ภายใน ไม่ใช่มีแต่ภายนอก

เมื่อคนเราจิตไม่สงบระงับ ก็เข้าใจว่าสิ่งภายนอกเป็นกิเลส
รูปเป็นกิเลส เสียงเป็นกิเลส กลิ่นเป็นกิเลส
รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นกิเลส

ความจริงตัวกิเลสจริงๆ ก็คือจิตใจของเราทุกคนนี้แหละ
ในดวงจิตผู้รู้นั้นมีกิเลสราคะอยู่ที่นั้น มีกิเลสโทสะอยู่ที่นั้น มีกิเลสโมหะอยู่ที่นี้

เมื่อใดการภาวนาละกิเลสภายในใจของเรายังไม่พร้อมมูลบริบูรณ์แล้ว
อาสวกิเลสเหล่านี้ก็ต้องอยู่ในใจนี้ตลอดเวลา

การภาวนาละกิเลสต้องละภายใน ไม่ใช่ละภายนอก
ภายนอกนั้นเป็นแต่ว่าอุปกรณ์กิเลส


เราให้คิดดูดีๆ ว่าถ้าหากว่าคน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นกิเลส
ก็ลองคิดดูว่าถ้าเราฆ่าคนทั้งโลกนี้ให้ตายไปหมด ยังเหลือแต่เราคนเดียว
กิเลสเรามันจะหมดไปสิ้นไปหรือไม่ มันก็ยังไม่หมด

คนทั้งโลก สัตว์ทั้งโลก สมมุติว่าให้เขาตายไปหมดเสีย
กิเลสของเรามันจะหมดไปไหม มันก็ไม่หมด
เมื่อไม่หมดแสดงว่าอันนั้นก็ไม่ใช่ตัวกิเลส

ตัวกิเลสจริงๆ ก็จิตเรานี่แหละ จิตขี้เกียจขี้คร้านภาวนา
จิตไม่รักษาศีล จิตไม่มีทาน จิตไม่มีศีล จิตไม่มีภาวนา จิตไม่ละกิเลส

เมื่อจิตไม่ละกิเลสก็นี่แหละคือตัวกิเลส
ตัวกิเลสเป็นตัวอย่างไร ตัวกิเลสก็เป็นตัวเหมือนตัวเรานั่นเอง
ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง ดวงใจครองอยู่ในร่างกายอันนี้ นั่นแหละตัวกิเลส

ดูเวลากิเลสความโกรธมันเกิดขึ้น
ตาแดง ตาพอง ทุบต่อยตีกัน ประหัตประหาร ฆ่าฟันรันแทงกัน

อะไรมันตี อะไรมันทำ ก็คือจิตนั่นแหละมาใช้รูปร่างกายนี้
ให้ดุด่าว่าร้ายออกมา จนถึงรบราฆ่าฟันกันเป็นธรรมดาโลก

นั่นแหละกิเลสมันอยู่ภายใน แต่เวลามันจะทำ มันมาใช้รูปขันธ์นี้ให้ทำ
รูปขันธ์ร่างกายนี้มันไม่ได้กลัวบุญกลัวบาป
มันเป็นเพียงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น
สุดแท้แต่จิตที่มีกิเลสหรือไม่มีกิเลสภายในใช้ให้ทำอะไร มันก็ทำ

นี่แหละร่างกายสังขาร ตัวกิเลสก็ตัวเราทุกคนนั่นแหละ จิตเราทุกคนนั่นแหละ
กิเลสความโลภ กิเลสความไม่อิ่มไม่พอในวัตถุข้าวของทรัพย์สินเงินทอง

กิเลสกาม วัตถุกาม มันอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่กายนี้ อยู่ที่จิตนี้แหละ
ดวงจิตนั่นแหละเป็นตัวกิเลสราคะตัณหา แล้วเวลามันใช้ก็มาใช้รูปขันธ์
ทำให้เกิดลูกมา ทำให้เกิดหลานมา เป็นทุกข์เป็นร้อนวุ่นวาย
มันมาจากไหน ก็มาจากจิต จิตราคะตัณหา

พระภิกษุสามเณร แม่ขาวนางชี อยู่ดีๆ ไม่ได้ ต้องสึกไปก็เพราะอะไร
ก็เพราะอำนาจกิเลสโลภะ กิเลสราคะตัณหา
ไม่ภาวนาละกิเลสในจิตใจอันนี้ออกไป

เมื่อกามตัณหา ภวตัณหา มีอยู่ในจิตใจ ไม่เลิกไม่ละ ไม่สงบระงับ
มันก็วุ่นวายสร้างภพสร้างชาติขึ้นมา สร้างรูปสร้างนามขึ้นมา
มันมีอยู่ภายใน ไม่ใช่อยู่ภายนอกอย่างเดียว ตัวสำคัญมันอยู่ที่จิต

ทั้งนี้เมื่อพระพุทธเจ้าของเรา
พระองค์รู้ว่ากิเลสทั้งหลายแหล่พาให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันอยู่ที่ดวงจิต
พระองค์ก็เอาดวงจิตภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก
พระองค์ควบคุมจิตใจไม่ให้วิ่งหนีไปที่อื่น
ทบทวนกระแสเข้ามาสู่ภายในดวงจิตดวงใจ ดวงที่รู้อยู่ภายใน


ตอนแรกๆ ก็เอาลมหายใจเป็นที่ยึดเหนี่ยว
คือว่าเอาลมหายใจเป็นที่สังเกต ลมเข้าไป จิตผู้รู้อยู่ที่นี้ดูจิตดูลม ไม่ให้หลง
จิตเข้ามาจิตออกไป ตามอยู่ที่ลมนี้ ผู้รู้ว่าลมก็คือจิตนั่นเอง

แต่ว่าจิตใจคนเรานั้น จะหาเป็นตัวเป็นตน
เหมือนคนเหมือนวัตถุข้าวของไม่ได้ ไม่มีตัว
ไม่มีตัวแต่มีอำนาจใหญ่ อำนาจกิเลสมันใหญ่

เหมือนกับธาตุลม ธาตุอากาศ ลมไม่มีตัวตน
เวลามีลมแรงๆ พัดมา พัดเอาบ้านเมืองตึกรามพังทลายไป
นั่นลมไม่มีตัวแต่ทำไมมันมีกำลัง

นี่แหละจิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกัน
จิตใจที่ยังมีกิเลส มันก็ใช้ให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส

จิตใจที่มุ่งหวังเห็นทางพ้นทุกข์ภัยในโลกในวัฏสงสาร
ต้องเป็นทานบารมี การทำบุญให้ทาน
ศีลบารมี รักษากายวาจาจิตของตนไม่ให้ทำผิดในหลักศีลห้า ศีลแปดขึ้นไป


เมื่อบำเพ็ญประกอบกระทำอยู่ในสิ่งเหล่านี้
จิตใจของเราทุกคนก็ย่อมมีกำลังแก่กล้าในกองการกุศล
ในการภาวนาละกิเลส ไม่ปล่อยให้ความลังเลสงสัยมาอยู่ในจิตในใจ
ไม่ว่าจะนั่งจะนอนจะยืนจะเดินไปมาที่ไหน

ภาวนามรณกรรมฐานเตือนจิตใจนี้อยู่เสมอ
ว่าชีวิตของเรานี้ต้องถึงซึ่งความตาย
ที่ใครคิดว่าเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็จะไปโรงพยาบาลให้มันดีมันหาย

มันไม่มีทางที่จะหายได้ มันนับวันนับคืน นับชั่วโมง นาที วินาที
มันใกล้ไปสู่ความตายทุกวันเวลา
เมื่อมันเจ็บไข้ได้ป่วยได้ แล้วจะไม่ตายนั้นไม่ได้
มันต้องตายแน่ๆ มันแสดงให้เห็นแล้วว่าหนีไม่พ้น

เมื่อหนีไม่พ้นแล้วนั้น มันก็มีทางพ้นอยู่ก็คือการภาวนา
เอาจิตใจให้มันหลุดมันพ้นออก ไม่ให้ใจหลงใจเมามาอยู่ภายในนี้


ท่านจึงมีวิธีการภาวนาพุทโธ ภาวนามรณกรรมฐาน ภาวนาลมหายใจ
เพื่อให้จิตใจเราทุกดวงจิตดวงใจสงบระงับตั้งมั่นเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว


เดี๋ยวนี้จิตมันฟุ้งไปซ่านไปมัวเมาไป ไม่มีที่สุดที่สิ้น เลยวุ่นวายอยู่อย่างนั้นเอง
พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านมีความสุขกายสบายใจ
ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เพราะท่านภาวนาละกิเลส

ภาวนาละกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
เมื่อใดยังมีกิเลสราคะ โทสะ โมหะอยู่ เราอย่าได้ถอยความเพียร
มันจะคิดไปที่ไหน อย่าไปตามอำนาจกิเลสที่มันคิด
ให้มาอยู่ภายในดวงจิตดวงใจของตนให้ได้

ใจเป็นธาตุรู้ มีอยู่ในใจทุกๆ คน
การภาวนาไม่ใช่ว่าเรามาภาวนามาปรุงมาแต่งเอาใจใหม่ มันไม่ใช่อย่างนั้น

ใจมันมีอยู่แล้ว จิตมันมีอยู่แล้ว
แต่จิตนี้เป็นจิตที่หลงใหลไปตามจิตสังขาร
จิตวิญญาณ จิตกิเลส จิตตัณหา มันดิ้นรนวุ่นวายไปตามกามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา ตลอดเวลา หาเวลาสงบระงับไม่ได้


ท่านจึงสอนว่า ให้สงบจิตสงบใจลงไป ภาวนาพุทโธ
ให้จิตใจมาจดจ่อในพุทโธ สงบระงับลงไป
ไม่ต้องไปตามอารมณ์อะไรของใครทั้งหมด

เรื่องราวอดีตอนาคตมันอยู่ข้างหน้า
อนาคตกาลก็อย่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อน อดีตที่มันล่วงมาแล้ว
สิ่งเหล่านั้นมันก็ล่วงมาแล้ว จิตอย่าไปหลงไปยึดเอามา

เดี๋ยวนี้เวลานี้ดวงจิตดวงใจภาวนาอยู่ที่นี้ นั่งอยู่ที่นี้บริกรรมอยู่ที่นี้
จิตอย่าวุ่นวายไปที่อื่น ให้รวมจิตใจเข้ามา ตั้งให้มั่น เอาให้มันจริง

เมื่อจิตใจสงบระงับตั้งมั่นแล้ว
จิตใจดวงที่สงบระงับตั้งมั่นนี้ก็จะมองเห็นทีเดียวว่ากิเลสราคะไม่ดีอย่างไร
ก็จะได้ทำการละกิเลสราคะ ตัดต้นตอให้มันหมดไปสิ้นไป

กิเลสโทสะไม่ดีอย่างไร ต้นตอของกิเลสโทสะมันอยู่ที่ไหน
จะได้ตัดละกิเลสความโกรธออกไป

กิเลสความหลงไม่ดีอย่างไร
จะได้ทำความเพียรละกิเลสความหลงให้หมดไปสิ้นไป

เมื่อเลิกเมื่อละถอนออกไปหมดแล้ว
จิตใจก็จะเย็นสบาย มีความสุขไม่ทุกข์ร้อนประการใด


เหตุนั้น การภาวนาทำความเพียรปฏิบัติบูชาในทางพุทธศาสนานี้
จงตั้งจิตเจตนาลงให้มั่นคง อย่าได้ให้ใจอ่อนแอท้อแท้กลัวตาย
การสร้างบุญบารมี ภาวนาละกิเลสมันไม่ตาย

ถ้าหากว่าผู้ใดภาวนาเด็ดเดี่ยวแล้วก็ตายเอาตายเอา จะมีพระพุทธเจ้าได้หรือ
เพราะว่าภาวนาเคร่งเครียดเข้าไปก็ตาย ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า
ภาวนามากเข้าไปจะได้เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ได้ มันตายเสียก่อน

ถ้ามันเป็นอย่างนี้ ก็ไม่มีพระซิ ที่มันมีพระอยู่ก็คือว่ามันไม่ตาย

เดี๋ยวนี้จิตคนเรามันหลงสังขารมารในจิตของตัวเอง สู้สังขารมารกิเลสมารไม่ได้
เมื่อกิเลสราคะโทสะของตัวเกิดขึ้น ใครจะตักเตือนมันก็ไม่ฟัง
ฟังกิเลสราคะโทสะของตนอย่างเดียว
ผลที่สุดกิเลสราคะ โทสะ โมหะมันก็เอาเราไปฆ่าให้ตาย
ไม่มีประโยชน์อะไรถ้ามันตายจากคุณงามความดี
ไม่ได้คุณงามความดีในใจนั้น ชื่อว่าตายจากบุญจากกุศล

ในช่วงนี้ระยะนี้เรายังมีชีวิตอยู่
ยังมีจิตมีใจภาวนาพุทโธได้อยู่ ภาวนามรณกรรมฐานได้อยู่
จงพากันรีบเร่งตั้งอกตั้งใจอย่าประมาทมัวเมา
ไม่ว่าจะเป็นกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน
อยู่คนเดียวหรือว่าเข้าหาหมู่อย่างไรก็ตาม เราต้องระมัดระวัง

สิ่งใดจะพาให้จิตใจเพื่อนฝูงฟุ้งซ่านรำคาญ
ก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องคิดไปในเรื่องนั้น

จงพยายามตักเตือนซึ่งกันและกัน
ให้ภาวนาทำความเพียรละกิเลสอย่างไร
จิตใจจะสงบระงับตั้งมั่นเป็นดวงเดียวแล้ว
ให้พากันเอาอกเอาใจในจิตใจของตนให้มาก

มากที่สุดจนกระทั่งสู้กับกิเลสในหัวใจของตัวเองได้
ถึงขั้นละกิเลสความโกรธหมดไปได้
ละกิเลสความโลภได้ ละกิเลสความหลงได้
นั่นแหละจึงชื่อว่าผู้ภาวนาอย่างแท้จริง

ถ้ายังไม่ถึงการละกิเลส ก็ยังไม่จริงทั้งนั้นแหละ ยังไม่พอ มันเล็กๆน้อยๆ
อย่าไปเลือกกาลเลือกเวลา ถ้าจะมาภาวนาแค่เวลาฟังธรรมนี้ยังไม่พอ

จิตใจจะเต็มเปี่ยมในบุญบารมีได้ จะต้องทำทุกขณะทุกเวลา
จนจิตที่พลั้งเผลอมัวเมาไปตามกิเลสทั้งหลายนั้นดับไปหมดไป
ยังเหลือแต่จิตเจริญธรรมกรรมฐาน
สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาอยู่เนืองนิจติดต่อกันไป

จนถึงได้กำลังความสามารถอาจหาญเต็มที่
มรรคสมังคีก็จะประหารกิเลสมาร
และสังขารมารภายในจิตใจนั้นได้อย่างเด็ดขาด
กิเลสราคะ โทสะ โมหะ ก็จะดับไปหมดสิ้นไป

จิตใจของพระสาวกเจ้าทั้งหลายก็ย่อมมีความสุขความสบาย
ไม่เดือดเนื้อร้อนใจตามอำนาจกิเลสประการใด
เรียกว่าท่านอยู่เหนือกิเลส ท่านอยู่เหนือโลก
ท่านไม่ลุ่มหลงมัวเมาไปตามกิเลส
ราคะ โทสะ โมหะ ในจิตใจอย่างเราๆ ท่านๆ

นั่นจึงชื่อว่าพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ท่านทำความเพียรภาวนาละกิเลสมาก่อนพวกเราทั้งหลาย จนสามารถอาจหาญ
ท่านมีความเมตตาการุญขนาดไหน แม้ท่านจะดับขันธ์ไปสู่นิพพานนานแล้วก็ตาม

พวกเราทั้งหลาย ให้ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลภาวนา ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
เอาให้พ้นทุกข์พ้นภัยในโลกในวัฏสงสารให้จงได้
อย่ามาติดอยู่ข้องอยู่ในวัฏสงสารอันเป็นที่เดือดเนื้อร้อนใจอยู่ตลอดเวลา

อันเราๆ ท่านๆ ทุกคนนี้แหละ ที่เราได้มาประพฤติปฏิบัติ
นั่งสมาธิภาวนาหลับตาอยู่ในเวลานี้
ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญบารมีพอสมควรแล้ว อย่ามาทิ้งบุญบารมีของตนเสีย


บุญบารมีนี้ถ้าเราเสริมสร้างอยู่เสมอ ภาวนาอยู่ทุกเมื่อ
บำเพ็ญทาน รักษาศีล ไม่ท้อถอย สดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอนอยู่
บุญบารมีในจิตใจของเราก็ค่อยแก่กล้าสามารถขึ้นไปโดยลำดับๆ
เพราะมันขึ้นอยู่กับความเพียร ความหมั่น ความขยัน

ความท้อแท้อ่อนแอในหัวใจ ความสงสัยทั้งหลายแหล่ในศีลก็ตาม
ในทาน ในภาวนา อะไรทั้งหมด อย่าไปมัวสงสัยอยู่
อะไรก็ตาม ถ้าหากว่ามันเป็นอุบายสอนใจของเรา
ให้สงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนา เยือกเย็นสบายลงไปได้นั้น
ก็ชื่อว่าเป็นอุบายธรรม เป็นอุบายภาวนาทั้งนั้น

ความสงสัยในทาน ในศีล ในภาวนา
เมื่อจิตใจสงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนาแล้ว
ความสงสัยทั้งหลายแหล่จะหมดไปหายไป
ไม่มีในจิตใจของพระอริยเจ้าทั้งหลาย

ในเมื่อเวลาเราตั้งใจประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมอยู่
ยังไม่ได้ก้าวล่วงออกจากกิเลส
มันมีอุปสรรคมากมายนับไม่ถ้วน มีความสงสัยเต็มโลก

หลักที่เราจะต้องจัดการกับตัวเอง ก็คือว่าตัวสักกายทิฏฐิ
ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น กายะก็เนื้อตัวเรานี้แหละ
ความเห็นผิดคิดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของของเรา

หาได้รู้ไม่ว่าร่างกายสังขารนี้มัน
ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ น้ำเลือดน้ำเหลือง
วาโย ธาตุลมพัดผ่านไปมา เตโช ธาตุไฟความร้อนความอบอุ่น
มีอยู่ในร่างกายสังขารตัวตนอันนี้

ร่างกายสังขารอันนี้ก็ตัวธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเท่านั้นเอง
จิตมาอาศัยอยู่ เอาเป็นบ้านเป็นเรือนของตัว
แล้วก็หลงมัวเมาอยู่อย่างนั้น มาติดอยู่ข้องอยู่ แล้วจะมาสำคัญผิดคิดว่า
พระธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่บริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ได้

เพราะว่าความเพียรของเรามีน้อย ความอดทนไม่พอ
การประพฤติปฏิบัติพระธรรมคำสั่งสอนของเรามันยังไม่ถึงพริกถึงขิงต่างหาก

ผู้ตั้งความเพียรภาวนา ทำความเพียรละกิเลสในตัวในใจของตัวเอง
มีอยู่ที่ไหนในใจบัดนี้เวลานี้ ก็จงรวบรวมกำลังจิตกำลังใจ
ให้สามารถอาจหาญขึ้นมาภายในจิตใจอันนี้
เพียรเพ่งอยู่ในใจของตัวเอง มีความสงบตั้งมั่นอยู่ในใจ

สิ่งใดนอกจากดวงจิตดวงใจที่รู้อยู่ออกไปทั้งหมดนั้น ไม่มีที่จบไม่มีที่สิ้น
ที่จบที่สิ้นอยู่ที่รู้อยู่ ไม่ใช่รู้ไป รู้อยู่ แจ้งอยู่ ประจักษ์อยู่
ในชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งหลาย
ความวิปโยคพลัดพรากจากสิ่งทั้งหลาย มันเป็นตัวทุกข์

ตัวทุกข์ ตัวอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นอยู่ภายในจิตใจ
ความเร่าร้อนก็มีอยู่ในดวงจิตดวงใจนี้
มาทำความเพียรปฏิบัติบูชา เพียรเพ่งอยู่ในดวงใจนี้
จนเห็นแจ้งแทงตลอดในคำว่า ภพชาติทั้งหลายที่มาลุ่มหลงมัวเมาอยู่

ขึ้นชื่อว่าอวิชชาตัณหาในจิตไม่มีที่สุดที่สิ้นได้
ผู้ภาวนาทำความเพียรปฏิบัติบูชา
จงรวบรวมกำลังจิตกำลังใจของตนเข้ามาภายใน
ตั้งให้มั่นอยู่ในดวงจิตดวงใจดวงนี้ให้ได้

นอกจากเดี๋ยวนี้ ออกไปทั้งหมดเป็นความหลง
เดี๋ยวนี้เวลานี้ ถ้ามารู้จักรู้แจ้งอยู่ในเดี๋ยวนี้ขณะนี้
จนเห็นแจ้งชัดลงไปในจิตใจดวงนี้ว่า
นอกจากเดี๋ยวนี้เวลานี้แล้วเป็นความหลง

หลงไปในอดีตที่ล่วงแล้วมาก็ไม่มีที่สุดที่สิ้น
จะหลงไปข้างหน้าอีกก็ไม่มีที่สุดที่สิ้น ที่จบมันไม่มี
มันวนๆ อยู่ในอาการอันเก่า กิเลสในหัวใจความดิ้นรนวุ่นวาย

ความหลงนั้น หลงในที่ไหน หลงในรูป หลงในเสียง
หลงในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
หลงก็คือว่าไม่รู้แจ้งอยู่จำเพาะจิต ไม่แจ้งอยู่ภายใน
มัวแส่ส่ายลุ่มหลงไปตามอาการภายนอก

ย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นในหน้าในตา ในตัวในตน ในเราในของของเรา
ย่อมเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน วุ่นวายภายในจิตใจนั้นเอง

ผู้บำเพ็ญภาวนาปฏิบัติบูชาในทางพุทธศาสนา
จงยกจิตใจของตนให้รู้แจ้งรู้จริงอยู่ ณ ภายใน
จนจิตใจนี้เรียกว่ารู้ละออกไป
รู้ถอนออกไป รู้ปล่อย รู้วางออกไปทั้งหมด

ตัวทิฏฐิมานะ ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น
มานะ ความยึดตัวยึดตน ยึดเรา ยึดของของเรา
ยึดสิ่งใดถือสิ่งใด ก็ย่อมเป็นทุกข์ในหัวใจ

เมื่อจิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นในที่ทั้งปวง
จะเป็นเรื่องภายนอกภายในอะไรก็ตาม
ให้เห็นแจ้งว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้แน่นอนยั่งยืน
เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไปเลย

จงเป็นผู้ทำความเพียร เสียสละปลดปล่อยออกจากจิตใจ
จนกระทั่งความยึดถือในที่ทั้งปวง มันหลุดออกไปได้ ลอยออกไปได้
ไม่สำคัญผิดคิดว่าหน้าตา ชื่อเสียง รูปนาม ตัวตนนี้เป็นของเรา
ไม่ใช่ของเรา ตัวเราของเรา ความหลงต่างหาก
ไม่มีอะไรเป็นตัวตนยั่งยืนตลอดไปเลย

รูปร่างกายมีอยู่ที่ไหน ชราพยาธิก็มีอยู่ที่นั้น
สังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความปรุงแต่งขึ้นแล้วก็ดับไป

ดวงจิตดวงใจเป็นผู้รู้อยู่ภายในตัวภายในใจนี้ บัดนี้เดี๋ยวนี้มีอยู่ตลอดเวลา
จงรวมจงสงบ จงตั้งมั่นลงไปในจิตใจนี้
ตัณหาความดิ้นรนวุ่นวาย อย่าได้ดิ้นรนวุ่นวายไปในที่ใดๆ

จงเป็นผู้เลิกละตัณหาทั้งหลาย จะเป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสตัณหาทั้งหลาย จงเลิกละตัดทอนลงไป
ในหลักปัจจุบันขณะนี้เวลานี้ให้หมดสิ้นลงไป
ชื่อว่าเป็นผู้ภาวนาทำความเพียรละกิเลส เลิกละออกไป
จนให้ความยึดมั่นถือมั่นในจิตใจนั้นเลิกละออกไปจริงๆ

ทำความเพียรแจ้งอยู่ในจิตในใจนี้ ปัจจุบันนี้
ตั้งจิตตั้งใจให้มั่นคงลงไปภายใน
ตั้งลงไปทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก
เตือนจิตใจดวงนี้ให้มีความตั้งมั่นอย่าได้หวั่นไหว
อย่าได้ลุ่มหลงไปในอดีตอนาคต

จงเป็นผู้ทำความเพียรในหลักปัจจุบันขณะเดี๋ยวนี้เวลานี้
ติดต่ออยู่เสมอภายในจิตใจนี้
เรียกว่าเป็นผู้รู้แจ้งในธรรมปฏิบัติ ในหลักปัจจุบันนี้ตลอดเวลา

ใจไม่มีรูปร่าง สี สัณฐานอะไร
มีความรู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง อยู่ภายในจิตใจนี้ รู้ที่ไหนตั้งใจลงไปที่นั้น
มีความเพียรเพ่งอยู่ มีสติระลึกได้อยู่ มีสมาธิจิตตั้งมั่นอยู่ภายในจิตใจนี้

สิ่งอื่นใดนอกจากดวงจิตดวงใจดวงนี้ออกไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
มีความไม่เที่ยงอยู่เสมอ ภายในรูปนามกายใจนี้

รูปนามนี้เต็มไปด้วยก้อนทุกข์ เต็มไปด้วยกองทุกข์
ตั้งแต่เกิดจนแก่ ตั้งแต่แก่จนตาย ตายแล้วก็กลับมาเกิดอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้

นี่แหละชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ มันทุกข์อย่างนี้แหละ

ความทุกข์ ความลำบากรำคาญ มันมาจากจิตใจ ไม่รู้แจ้งในกองทุกข์
มายึดเอาถือเอาในกองทุกข์อันนี้ว่าเป็นเรา เป็นของของเรา
ก็เป็นทุกข์อยู่ในหัวใจอย่างนี้

สัพเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
ความรู้ ความเห็น ความเข้าใจใดๆ ทั้งหมดในจิตใจนั้น
อย่าได้หลงไปยึดเอาถือเอา ให้เห็นว่ารูปนามกายใจนี้ ไม่ใช่ตัวตนของเรา

ตัวเราของเราเพราะความหลงต่างหาก
เมื่อจิตไม่หลง จิตรู้แจ้งรู้จริงอยู่ในดวงจิตดวงใจ ก็มีความสงบตั้งมั่นอยู่
ก็ย่อมคลายกิเลสออกไป ถอนกิเลสออกไปจากจิตใจ

เมื่อถอนกิเลส ละกิเลสออกจากจิตใจได้ ใจดวงนี้ก็แจ้งสว่างไสว
ไม่หวั่นไหวสั่นสะเทือนตามอำนาจกิเลสใดๆ ทั้งนั้น
เรียกว่าภาวนาละกิเลส ละแล้วก็ละอีก ถอนแล้วก็ถอนอีก
ปล่อยแล้วก็ปล่อยอีก วางแล้วก็วางอีก จนกระทั่งเอาถึงความหลุดพ้น

จนหลุดพ้นจากตัวจากตน จากหน้าจากตา
จากความสุขความทุกข์อันใดที่บังเกิดมีขึ้น
เรียกว่าหลุดออก หลุดออกจากอุปาทานความยึดถือ
ความยึดถือในรูป ความยึดถือในนาม ในกาย ในจิต
ถอนออกไป ละออกไป ปล่อยออกไป วางออกไป

เรียกว่าจาโค เสียสละ ปฏินิสสัคโค ปล่อยออกไป มุตติ เอาให้หลุดพ้น
อนาลโย กิเลสอันใดที่เลิกได้ละได้แล้วไม่ต้องอาลัยเสียดายตายอยาก
เป็นผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ สงบอยู่ แจ้งอยู่ในจิตใจนี้

นี่แหละผู้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติภาวนา ทำความเพียรละกิเลส
ละลงไปที่นี้ ละลงไปภายใน ถอนรากแก้วของกิเลสออกไปให้หมดสิ้น

การละกิเลสไม่ใช่ละที่อื่น ละที่จิตใจหลงนี้ออกไปให้หมดสิ้น
จิตหลงใจหลง ใจยึดใจถือ ใจไม่ปล่อยไม่วาง
เลิกละออกไปให้หมด เอาจนหมด ใส

เมื่อจิตใจเลิกละความยึดหน้าถือตา ความยึดตัวถือตน
ยึดเรา ยึดของของเรา ออกไปได้หมดสิ้น จิตใจก็เย็นสบาย นั่งก็สบาย นอนก็สบาย
ยืนเดินไปมาในที่ใดๆ ก็สบายอกสบายใจ มีความเพียรเพ่งอยู่ในดวงจิตดวงใจนี้

นี่แหละผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จงรวมจิตใจของตนเข้ามา
อย่าได้วิตกวิจารณ์ฟุ้งซ่านไปในที่ใดๆ จงเห็นแจ้งอยู่ ณ ดวงจิตดวงใจดวงนี้
มารู้แจ้งรู้จริงอยู่ภายใน ไม่วุ่นวายภายนอก

จิตใจก็ย่อมมีความรู้แจ้ง มีความรู้จริง มีความรู้เลิกรู้ละออกไปให้หมดสิ้น

เมื่อจิตใจมีความรู้แจ้งรู้จริง อยู่ในหลักปัจจุบันนี้แล้ว
จิตใจก็ต้องสงบสุขเยือกเย็นในทางพุทธศาสนา


ฉะนั้น ให้เราทุกๆ คนรวมกำลังตั้งมั่นลงไปในจิตใจนี้
ให้แน่วแน่มั่นคงหนักแน่นเหมือนพื้นแผ่นดิน

จงรวบรวมกำลังจิตกำลังใจให้หนักแน่นเหมือนพื้นแผ่นดิน
จิตใจก็จะเย็นสบาย ไม่สะทกสะท้านหวาดกลัวต่อภัยอันตรายทั้งหลาย

ฉะนั้น ให้มีความเพียรเพ่งอยู่ สติระลึกอยู่ สมาธิจิตมั่นคงอยู่
ปัญญาญาณอันวิเศษก็จะสามารถละกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดไป สิ้นไป

ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนาภายในจิตใจของตนต่อไป


*************

:b49: :b50: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21573

:b49: :b50: รวมคำสอน “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42673


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron