วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2020, 14:31 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
หนังสือ ประตูสู่มรรค ผล นิพพาน ๒
ท่านพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
หัวข้อ ไม่แซงซ้ายไม่แซงขวา หน้า ๑-๒๐


รูปภาพ

ไม่แซงซ้ายไม่แซงขวา
พระธรรมเทศนาโดย...
ท่านพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
วัดบุญญาวาส ตําบลบ่อทอง อําเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
เทศน์วันมาฆบูชา วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

*************

การทําสมาธิภาวนา เราจะกําหนดกรรมฐานบทใดบทหนึ่งซึ่งถูกกับจริตของเราก็ได้ โดยปกติแล้วโดยทั่วไป กําหนดอานา ปานสติกรรมฐานควบคู่กับพุทธานุสติกรรมฐาน คือหายใจเข้าให้เราระลึกถึงคําว่า “พุท” หายใจออกระลึกถึงคําว่า “โธ” ให้มีสติกําหนดรู้ที่ปลายจมูก อันนี้ก็อย่างหนึ่ง บางคนก็กําหนดสติรู้ลมหายใจเข้าออกแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องภาวนาพุทโธก็ได้ บางคนกําหนดลมไม่สะดวกก็บริกรรมภาวนาในใจว่า “พุทโธๆ” ไปเรื่อยก็ได้ หรือจะบริกรรม ธัมโม สังโฆ ในใจก็ได้

ในกรรมฐานที่เราบริกรรมภาวนา เราถูกจริตกับกรรมฐานบทใด กําหนดสติสมาธิอยู่กับกรรมฐานบทนั้น ให้มีสติ ให้มีความตั้งใจว่าต่อแต่นี้ไปเราจะฝึกสติอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา จิตจะสงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เราจะกําหนดสติ ฝึกหัดทําสมาธิภาวนา ไม่ต้องไปนึกถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วหรือเรื่องในอนาคต พยายามทําสติให้ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันธรรมอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา เหมือนกับว่าเรานั่งคนเดียวอยู่ในอากาศไม่มีใครอยู่รอบๆ ข้าง ทําความรู้สึกเรานั่งอยู่คนเดียวในโลกนี้ ไม่มีใครอยู่ด้วย กําหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนาไปเรื่อยๆ เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอะไรเกิดขึ้นมา ก็ตั้งสติขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะฝึกหัดสมาธิภาวนา ได้เวลาพอสมควรก็จะให้สัญญาณ

วันนี้พวกเราก็ได้มารวมกันลงอุโบสถ ในครั้งสมัยพระพุทธกาลนั้น อย่างที่พวกเราได้ศึกษาได้ยินได้ฟังกันสืบต่อกันมานั้น วันมาฆบูชาเป็นวันซึ่งพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปมารวมกัน ประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งเป็นความอัศจรรย์ เป็นครั้งเดียวในพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ มีมากน้อยยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็ตามแต่บารมีขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การที่พระอรหันต์ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายเป็นจํานวนมากนั้น เป็นสิ่งที่หาได้ยากในโลกนี้ ในสมัยก่อนนั้นผู้ซึ่งสละชีวิตในการที่จะครองเรือนอยู่ในเพศฆราวาส สละชีวิตครอบครัว สละชีวิตหน้าที่การงานต่างๆ ออกมาเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตามคําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้น คนสมัยก่อนมีความมุ่งหวังการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในเพศผ้ากาสาวพัสตร์ มีจุดมุ่งหมายแต่เพียงอย่างเดียว คือการประพฤติปฏิบัติเพื่อทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพานภายในดวงใจของแต่ละบุคคล อาศัยความมีศรัทธาในพระพุทธเจ้าในคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้เกิดพระอรหันต์สาวกขึ้นมาสืบต่อกันมาเป็นจํานวนนับไม่ถ้วนจนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้

พวกเราทุกคนนั้นยังเป็นผู้ซึ่งมีกิเลสอยู่ภายในดวงใจของเรา จําเป็นที่ต้องฝึกหัดอบรมจิตใจของเราให้มีความสะอาด ให้มีความบริสุทธิ์ตามคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า เมื่อตถาคตได้ล่วงไปแล้ว ธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพวกเธอทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราทุกคนซึ่งมีความตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องยึดหลักธรรมวินัยเป็นแบบอย่าง เป็นเครื่องดําเนิน เพราะพระอรหันต์สาวกทั้งหลายท่านก็ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัย ไม่แซงซ้ายแซงขวา ไม่ออกนอกลู่นอกทาง เมื่อเราปรารถนาความพ้นทุกข์หรือทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เราต้องมีศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติ ความจริงการอยู่ในเพศผ้ากาสาวพัสตร์นี้ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการแสวงหาลาภ สักการะหรือเสียงสรรเสริญเยินยอทั้งหลาย แต่เป็นไปเพื่อการทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน และทุกคนก็รู้แล้วว่า ความทุกข์แห่งความเกิดนั้น เต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น เมื่อมีความเกิด ความทุกข์ต่างๆ ก็ติดตามมา ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ ความตาย ความทุกข์อีกนานัปการ ซึ่งทําให้จิตใจเราเป็นทุกข์อันไม่มีที่สิ้นสุดในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นผู้ซึ่งไม่ประมาท

พระพุทธองค์ท่านได้ทรงถามพระอานนท์ว่า ในวันหนึ่งนั้นเธอได้พิจารณาถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ตอบว่าวันละ ๗ ครั้ง บางองค์ก็มากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น แต่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ตถาคตพิจารณาถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก คือพระพุทธองค์นั้นมีสติอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้าออกจึงเป็นผู้ซึ่งไม่ประมาท เพราะฉะนั้นวันและคืนที่ผ่านพ้นไป เราได้พิจารณาถึงความตายกันบ้างหรือเปล่า หรือปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ การเข้ามาอยู่ในเพศสมณะหรือสามเณรก็ตาม บางครั้งอาจจะเกิดความเคยชินเมื่อเราอยู่เป็นเวลาหลายพรรษา เพราะฉะนั้นต้องกระตุ้นเตือนจิตใจของเราด้วยการหาอุบายให้เกิดศรัทธาในการที่จะกระทําความเพียร เพื่อที่จะก่อให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญา อยู่เสมอๆ ภายในใจของเรา

ถ้าเรามีความเพียรน้อย กิเลสก็ครอบงําจิตใจเรา ทําให้จิตใจเราท้อถอยหรือท้อแท้ในการปฏิบัติ กิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลงซึ่งมีอยู่ในดวงใจของเรา ทําให้จิตใจของเราคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆ ในเรื่องทางโลก ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งจะทําลายจิตใจของเราให้ไม่สามารถที่จะตั้งมั่นอยู่ได้ในเพศผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะฉะนั้นเราต้องหาอุบาย ผลิตอุบายให้เกิดศรัทธาความเพียรเสมอ ความจริงการประพฤติปฏิบัตินั้น เมื่อเราสละชีวิตการครองเรือน การมีครอบครัวออกมาแล้ว สละหน้าที่การงานต่างๆ ภายนอกออกมาแล้ว เราเข้ามาบวชมาประพฤติปฏิบัติ ก็ให้มีความตั้งใจในการที่จะต่อสู้กับกิเลส ไม่ใช่ว่าจะต่อสู้กับบุคคลอื่นภายนอก หรือต่อสู้กับคนทั้งหลายทั้งปวง เราต้องต่อสู้กับกิเลสภายในจิตใจเรา มีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราอยู่เสมอ

เรารู้แล้วว่าความโลภเป็นกิเลส ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทเป็นกิเลส เราต้องพยายามที่จะละ พยายามที่จะปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ออกไปจากจิตใจของเรา ไม่เก็บไม่กักขังอารมณ์ที่ไม่ดีไว้ภายในจิตใจของเรา ถึงแม้ว่าเราจะมีกิเลสอยู่ภายในใจของเราก็ตาม แต่ถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญาที่จะเฝ้าดูกิเลสภายในใจของเราแล้ว จิตของเราก็ตกเป็นทาสของอารมณ์ ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีสติให้อยู่ในขอบเขตของธรรมวินัย มีสติเฝ้าดูแลรักษาจิตใจของเราตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจากจําวัด แล้วก็มีสติพยายามที่จะดูจิตใจของเราอยู่ทุกขณะจิตว่า จิตใจของเรามีความคิดไปในเรื่องอะไร คิดไปในเรื่องที่ดีหรือคิดไปในเรื่องไม่ดีก็ให้รู้จัก

เมื่อเรารู้แล้วว่าความนึกคิดไปในเรื่องอดีตก็ตาม เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร เราก็กําหนดสติ กําหนดสมาธิตัดอารมณ์ออกไป เมื่อเรามีความคิดปรุงแต่งถึงเรื่องอนาคตในเดือนหน้า ปีหน้าซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร เราก็กําหนดสติทําสมาธิตัดอารมณ์นั้นออกไปจากจิตใจของเรา หรือมีความฟุ้งซ่านในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน เราก็กําหนดสติทําสมาธิ ตัดอารมณ์นั้นออกไปเสมอๆ ทําจิตของเรานั้นให้มีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันธรรม คือเห็นจิต เห็นอารมณ์ เห็นอาการของจิตภายในใจของเรา ถ้าเราไม่มีสติเฝ้าดูจิตใจแล้ว ความนึกคิดปรุงแต่งภายในจิตใจของเราก็ปรุงแต่งไปในเรื่องที่ไม่ดี เป็นเรื่องซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร จิตเราก็วิ่งตามอารมณ์ไป ไม่สามารถที่จะเห็นความทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือเห็นความดับทุกข์ หรือทําให้รู้จักข้อประพฤติปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะฉะนั้นคําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้น ท่านทรงสอนให้พวกเราทุกคนดําเนิน ประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในศีลสมาธิปัญญา

ในเมื่อเรามีธรรมวินัยเป็นขอบเขต เป็นศีลของพระหรือสามเณร ความสงบภายในใจของเรานั้น ถ้าเรามีสติวินัย ไม่ละเมิด ไม่กระทําผิดวินัยแม้แต่อาบัติเพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็จะทําให้สติเริ่มต่อเนื่องขึ้นมา เราก็มีหน้าที่ดูอารมณ์ภายในจิตใจของเราเท่านั้น เมื่อมีเวลาว่างเราก็เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทําสมาธิภาวนาอยู่เสมอๆ รู้จักฝืน รู้จักอดทนต่อกิเลส ต่อความหนาว ความร้อน ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เราต้องรู้จักฝืนใจในการประพฤติปฏิบัติ แบบหลวงพ่อชาท่านกล่าวไว้อยู่เสมอ เมื่อเราขยันก็ให้ทําความเพียร ถ้าขี้เกียจนั้นก็ให้ฝืนประพฤติปฏิบัติกระทําความเพียรไม่หยุด เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีความท้อถอยคลายจากความเพียร เราก็ต้องหาอุบายให้เกิดศรัทธาความเพียรขึ้นมา ตั้งใจที่จะเดินจงกรม นั่งสมาธิอยู่ทุกๆ วันไม่ได้ขาด มีสติมีปัญญาหาข้อบกพร่องภายในจิตใจของเราว่า ทําไมเราจึงทําจิตใจของเราให้สงบไม่ได้ เขายังฝึกลิงให้เชื่องได้ ฝึกม้าฝึกช้างให้หายพยศได้ เราทําไมจะฝึกจิตใจของเรานั้นให้สงบไม่ได้

ถ้าเรามีสติพยายามที่จะดูแลรักษาจิตใจของเราอยู่เสมอ หาอุบายที่จะพิจารณาละอารมณ์ที่ไม่ดีออกจากจิตใจของเราทุกๆ ขณะจิตที่มีความทุกข์เกิดขึ้น จิตเรานั้นจะมีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันธรรม เมื่อมีเวลาว่างเราก็กําหนดทําสมาธิภาวนาอยู่เสมอๆ หรือทําให้มากเจริญให้มาก ใจของเราก็จะเกิดความสงบของสมาธิเกิดขึ้นเมื่อใจของเรานั้นมีสติต่อเนื่อง จิตของเราก็สงบเป็นสมาธิ เกิดปิติ เกิดความสุขใจเกิดขึ้น เกิดอุเบกขาของสมาธิเกิดขึ้น คือวางจากอารมณ์ซึ่งเป็นอดีต วางจากอารมณ์ซึ่งเป็นอนาคต มีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันธรรม มีความสงบ มีอุเบกขาของจิต


เมื่ออยู่ในอิริยาบถทั่วไป ตาเราเห็นรูปจะเป็นรูปวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตก็ตาม ความรู้สึกเกิดขึ้นที่ใจของเรามีความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เราต้องมีสติมีปัญญาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์อันนั้นที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะทําให้จิตของเราเป็นกลางอยู่ในปัจจุบันธรรมทุกๆ ขณะจิตซึ่งมีกิเลสเกิดขึ้น จะเป็นความพอใจไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทุกสิ่งทุกอย่างก็ดี เรามีสติเห็นอารมณ์ เห็นอาการของจิตเหล่านั้น ก็ต้องหาอุบายปัญญาพิจารณาปล่อยวางอารมณ์ ทั้งความพอใจออกไป ให้จิตเป็นกลาง ปล่อยวางอารมณ์ซึ่งมีความไม่พอใจออกไป ให้สติตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรม เราทําเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สติสมาธิของเราก็ต่อเนื่อง

ปัญญาที่พิจารณาปล่อยวางอารมณ์นั้น ทําให้จิตของเราเป็นกลาง ทําให้จิตของเรานั้นสงบด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา เราพิจารณาเช่นนี้แต่อารมณ์ทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะขาดออกไปจากจิตใจของเราได้ เพราะวันนี้เห็นรูปอันหนึ่ง ได้ยินเสียงอย่างหนึ่ง ความพอใจความไม่พอใจเกิดขึ้น เราพิจารณาละไปได้หรือทําสมาธิตัดไปได้ แต่พรุ่งนี้เราไปเห็นรูปใหม่ ความพอใจความไม่พอใจก็เกิดขึ้นอีก ความพอใจความไม่พอใจเมื่อเราได้ยินเสียงก็เกิดขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นการที่มีสติปัญญาที่จะพิจารณาอารมณ์ออกไปจากจิตใจของเรานั้น เราต้องทํางานทุกๆ วัน มีสติตามรักษาใจทุกๆ วัน แต่อารมณ์ทั้งหลายก็ไม่ขาดออกไปจากจิตของเราหรอก ขาดเพียงชั่วคราวเหมือนต้นไม้ซึ่งมีกิ่งก้านสาขาอยู่ เราเอามีดไปฟัน วันจันทร์เราเอามีดไปฟันกิ่งหนึ่ง วันอังคารเราฟันอีกกิ่งหนึ่ง วันพุธ พฤหัสเราฟันอีกกิ่งหนึ่งจนถึงวันอาทิตย์ กิ่งของวันจันทร์ก็แตกขึ้นมาใหม่ กิ่งวันอังคารก็แตกขึ้นมาใหม่

ถ้าเราไม่ขุดรากถอนโคน ต้นไม้ก็ไม่ตาย อารมณ์ภายในจิตใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติพิจารณาปล่อยวางอารมณ์ออกไปทุกๆ ขณะจิตก็ตาม ในวันพรุ่งนี้เราก็ไปเจอรูปใหม่ ได้ยินเสียงใหม่ จมูกดมกลิ่นใหม่ ลิ้นสัมผัสรสใหม่ กายสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อันใหม่ ความรู้สึกเกิดขึ้นที่ใจก็มีอยู่เสมอๆ เพราะฉะนั้นท่านถึงให้ย้อนกลับมาพิจารณาทําลายอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายตน อันเป็นรากหรือเป็นต้นเหง้าของความโลภ ความโกรธซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อทําสมาธิ เมื่อจิตสงบดีแล้ว พอเป็นบาทฐานแห่งการพิจารณา เราก็ยกร่างกายของเราขึ้นมาพิจารณาเป็นสิ่งสําคัญ

การทําสมาธิภาวนานั้น บางครั้งพอจิตสงบได้ระดับหนึ่ง อาจจะรู้เห็นสิ่งต่างๆ ภายนอก อาจมีความรู้ในเรื่องอดีต เรื่องอนาคตก็ตาม หรือเรื่องในปัจจุบันก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงความรู้ภายนอกเท่านั้น ไม่เป็นความรู้เพื่อที่จะดับความทุกข์ในจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นการทําสมาธิภาวนา บางทีก็สามารถที่จะให้รู้เห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกได้ แต่สิ่งที่สําคัญที่สุด คือ การทําสมาธิภาวนาเพื่อให้จิตใจของเราสงบ เพื่อที่จะก่อให้เกิดสติปัญญาในการที่จะพิจารณาละกิเลสออกจากจิตใจของเรา

บางทีเราทําจิตสงบอาจเห็นนิมิตอสุภกรรมฐานเกิดขึ้น เห็นนิมิตร่างกายของเราเน่าเปื่อยผุพังไป หรือเห็นนิมิตร่างกายของบุคคลอื่นเน่าเปื่อยผุพังไป ถ้าเห็นนิมิตหรือลักษณะเช่นนี้ ก็ให้มีสติกําหนดพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของร่างกายของเรา หรือร่างกายของบุคคลอื่นได้ ทําให้เกิดปัญญาในการที่จะเห็นความจริง หรือรู้เท่าทันความจริงของร่างกายของเราว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน หรือร่างกายของคนอื่นว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นเมื่อจิตสงบพอสมควร เมื่อเราทําสมาธิภาวนาก็มาพิจารณาร่างกายของเรา พิจารณาอาการ ๓๒ หรืออสุภกรรมฐาน หรือพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟก็ได้ พิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกสลายไปในที่สุด พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ให้จิตของเราเห็นภายในของเรา จึงจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปจากจิตใจของเราได้

ถ้าจิตของเราไม่เห็นความไม่เที่ยงความไม่ใช่ตัวตนของกายนี้ จิตเราก็ไม่สามารถที่จะถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายตนได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราทําจิตใจให้สงบ เมื่อพักจิตอยู่ในความสงบพอสมควร จิตของเราเริ่มนึกคิดปรุงแต่ง เราก็ยกร่างกายขึ้นมาพิจารณา บางครั้งจิตอาจเกิดความสลดสังเวช เกิดปีติเกิดขึ้น หรือจิตรวมเป็นสมาธิขึ้นมาก็ได้ ทําสลับกันไป บางครั้งทําสมาธิจิตสงบแล้วก็มาพิจารณาร่างกาย คือใช้สมาธิอบรมปัญญา หรือบางครั้งเวลาเรากําหนด เราจะนั่งสมาธิ เราก็ใช้ปัญญายกร่างกายขึ้นมาพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นความจริง ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เมื่อเราใคร่ครวญให้เห็นความจริงของร่างกายของเรานี่เป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน จิตอาจรวมเป็นสมาธิลงไปก็ได้ เรียกว่าใช้ปัญญาอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ทําสลับกันไปแล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นสมาธินี้จะเป็นบาทฐานแห่งสติปัญญาในการพิจารณาร่างกายของเรา หรือร่างกายของบุคคลอื่นหรือวัตถุธาตุทั้งหลาย ให้เห็นความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

สมาธิเป็นบาทฐานแห่งสติปัญญาที่จะพิจารณาอารมณ์ภายในจิตใจของเรา จะเป็นอารมณ์ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็ดี หรือความไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็ดี สติปัญญานี้จะพิจารณาและปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปจากจิตใจทีละเล็กทีละน้อย ในเบื้องต้นนั้นกิเลสอย่างหยาบที่จะเห็นได้ง่าย คือความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส สติปัญญาต้องพิจารณาอยู่เสมอ พิจารณาอารมณ์เพื่อที่จะปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตใจของเรา แล้วเร่งทําสมาธิภาวนาเพื่อที่จะให้สติปัญญาพิจารณากายในกายตนให้เห็นชัดยิ่งๆ ขึ้นไป จะเป็นอารมณ์ความโลภก็ตาม ก็ต้องรู้จักพิจารณาละออกไปจากใจของเรา

พระเรานั้นเรื่องของความโลภน้อย เมื่อเราสละวัตถุภายนอกมาแล้ว ความจริงไม่มีเรื่องอะไรมาก ความโลภที่ละเอียดขึ้นก็มีเพียงปัจจัย ๔ ของพระเราคือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรคเท่านั้น ซึ่งพระต้องอาศัยปัจจัยทั้ง ๔ เพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อบําเพ็ญภาวนาในขณะที่ทรงร่างกายนี้อยู่ เพราะฉะนั้นสติปัญญาก็ต้องพิจารณาให้เห็นความจริงว่า จีวรก็เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น ร่างกายของบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ก็เหมือนกัน บิณฑบาตอาหารขบฉันก็เหมือนกัน เป็นแค่เพียงธาตุทั้ง ๔ เสนาสนะ หรือยารักษาโรคก็เหมือนกัน ทั้งคนใช้ คนอาศัย หรือปัจจัยทั้ง ๔ ก็เป็นแต่เพียงธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น เราพิจารณาเช่นนี้เพื่อไม่ให้เกิดกิเลส มิให้เกิดความอยากในปัจจัยทั้ง ๔ เครื่องอาศัยทั้งหลาย


พระอรหันต์ทั้งหลายในครั้งพุทธกาล หรือครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านไม่ได้กังวลกับบริขารทั้ง ๔ ที่อาศัย บางครั้งปัจจัยทั้ง ๔ ไม่ว่าจะสมบูรณ์ ขาดแคลนก็ตาม มีไม่มากก็ตาม แต่ท่านอาศัยปัจจัยทั้ง ๔ เพียงเพื่อบําเพ็ญภาวนาเท่านั้น ในสมัยก่อนนั้นบางทีผ้านุ่ง ผ้าอาศัย มันน้อย ท่านก็ใช้ผ้าบังสุกุล ท่านไม่มีความทะเยอทะยานที่จะใช้ผ้าให้เนื้อประณีตหรืออย่างดี ท่านใช้ผ้าบังสุกุลหรือผ้าที่เขาทิ้งเสียแล้ว หรือผ้าห่อศพมาซักทําความสะอาด เย็บปะชุนมานุ่งอาศัยเพียงเพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น เพียงปกปิดร่างกายเท่านั้น การบิณฑบาตนั้นก็อาศัยบ้านสามสี่หลังคาเรือนพอขบฉันวันหนึ่งเท่านั้น เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ได้ฉันเพื่อให้ร่างกายมีวรรณะผ่องใสหรือร่างกายสมบูรณ์

การอาศัยเสนาสนะก็ตาม บางทีในสมัยก่อนก็อาศัยเงื้อมผาในถ้ำหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือกระต๊อบมุงหญ้าคาเพียงเท่านั้น เสนาสนะที่อาศัยก็เป็นเพียงป้องกันลม พายุ ฝน แดด พระอรหันต์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า เสนาสนะที่อาศัยนั้น เมื่อนั่งสมาธิลงไปแล้ว ถ้ามีพายุฝนไม่เปียกหัวเข่าก็ถือว่าเสนาสนะนั้นเป็นเสนาสนะที่ดีแล้ว ที่เลิศแล้ว อาศัยเพียงเพื่อนั่งสมาธิภาวนาเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเสนาสนะที่ดีมากมายอะไรนัก หรือยารักษาโรค บางครั้งครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้สนใจเรื่องยารักษาโรค ไปประพฤติปฏิบัติในป่า หรืออยู่บนเขา หรือในถ้ำก็ตาม บางครั้งมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนหรือธาตุไม่ปกติ ท่านก็ใช้ธรรมโอสถพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ใช้สมาธิ ใช้สติปัญญาพิจารณาแยกแยะร่างกายของเรานี้ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หาสมุฏฐานของโรค พิจารณาให้เห็นว่า เวทนาก็สัก แต่ว่าอาการอันหนึ่งไม่ใช่จิตนี้ จิตนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่ง เวทนาก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ท่านก็ใช้ธรรมโอสถเท่านั้น

สมัยก่อนนั้นก็ไม่ได้มีปัจจัย ๔ มากมายอะไร แต่ครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์ ท่านก็ประพฤติปฏิบัติทําให้ดวงใจของท่านรู้ธรรม เห็นธรรม หรือเป็นธรรมขึ้นมาได้ เพราะท่านมีความมุ่งมั่นอันเด็ดเดี่ยว สละทุกสิ่งทุกอย่างหรือแม้แต่ชีวิตเพื่อต้องการที่จะรู้ธรรมเห็นธรรม เพราะฉะนั้นให้พวกเราทุกคนพึงพยายามตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ละความโลภออกไปจากจิตใจของเรา เมื่อเรามีความตั้งใจเช่นนี้ เราก็ไม่ห่วงไม่กังวลอะไร อาศัยปัจจัย ๔ พอสมควร เร่งรัดประพฤติปฏิบัติขัดเกลาจิตใจเรานั้นให้บรรเทาเบาบางไปจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ข้อวัตรอันใดซึ่งถูกกับจริตของเรา หรือธุดงควัตรข้อใดซึ่งถูกกับจริตในการที่จะแก้กิเลสภายในจิตใจของเรานั้น ก็ให้น้อมนํามาประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะทําลายกิเลสภายในจิตใจของเรานั้นเป็นสิ่งสําคัญ

เมื่อใจเรายังมีความโกรธ ความอาฆาตพยาบาท ความไม่พอใจอยู่ก็ตาม พระภิกษุพึงเจริญเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอันไม่มีประมาณทุกๆ วัน มีความรู้สึกว่าจะทําลายความโกรธ ความไม่พอใจนี้ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจของเรา ไม่ใช่ว่าจะเก็บกักขังความโกรธ ความไม่พอใจ อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ไว้ ถ้าเรามีสติมีปัญญามีความตั้งใจที่จะทําลายหรือละกิเลสออกจากจิตใจของเราแล้ว เราก็จะเห็นกิเลสซึ่งเกิดขึ้นภายในใจของเรา คือ ความทุกข์ แล้วเราจะหาทางที่จะค้นพบสาเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์ เราทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า ความโกรธเป็นความทุกข์ เราก็ต้องเจริญเมตตา ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ให้มีอารมณ์แห่งความโกรธเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา แม้นอารมณ์แห่งความโกรธความไม่พอใจจะเกิดขึ้นก็ตาม เราทุกคนก็มีหน้าที่ที่จะหาทางทําลายหรือละวางออกไปจากจิตใจแต่ละบุคคลให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทําได้

เพราะฉะนั้นการเจริญเมตตาให้อภัยซึ่งกันและกันอยู่เสมอ เป็นสิ่งซึ่งสําคัญที่เราทุกคนจะต้องพยายามรักษาจิตของแต่ละบุคคล ไม่ต้องไปรักษาจิตของบุคคลอื่น รักษาจิตของเรานี้แหละให้บรรเทาเบาบางไปจากความโลภ บรรเทาเบาบางไปจากความโกรธ บรรเทาเบาบางไปจากความหลงในกายตน หลงในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเกิดขึ้นภายในใจของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาพิจารณาเช่นนี้อยู่เสมอ อารมณ์ต่างๆ จะบรรเทาเบาบางลงไป เราก็ทําสมาธิภาวนา เมื่อจิตของเราว่างจากอารมณ์ เมื่อเราทําสมาธิภาวนาให้ต่อเนื่อง ความสงบก็เกิดขึ้นในอิริยาบถนั่งสมาธิ เมื่อเราออกจากอิริยาบถนั่งสมาธิ ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่งหรือทําอะไร เราก็มีสติในการทํากิจการงานภายนอก เมื่อเราเข้าที่เดินจงกรม จิตใจเราก็สงบ เพราะเรามีสติชําระอารมณ์ออกไปจากจิตใจเราอยู่เสมอทุกๆ ขณะจิต

เมื่อเรากําหนดทําสมาธิภาวนาในอิริยาบถเดินจงกรม จิตก็สงบเป็นสมาธิ เพราะเรามีสติมีปัญญาพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีที่เป็นกิเลสออกจากใจอยู่เสมอๆ เมื่อเราออกจากอิริยาบถเดินจงกรม เรายืนเดินนั่งหรือทําอะไร เราก็มีสติรักษาใจของเรา เมื่อเรานั่งสมาธิเจริญกรรมฐานที่เราภาวนา จิตเราก็ว่างจากอารมณ์เพราะอารมณ์ต่างๆ นั้นถูกสติปัญญาพิจารณาอยู่เสมอๆ เมื่อเรากําหนดสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก จิตเราก็เป็นสมาธิ เมื่อเรากําหนดสติอยู่กับคําภาวนาว่า พุทโธ จิตใจเราก็มีสติมีสมาธิตั้งมั่นเกิดขึ้น เมื่อเราทําเช่นนี้ทุกๆ วันไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง และนอน หรือทําอะไรก็แล้วแต่ สติสมาธิก็จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราในทุกๆ อิริยาบถ จากความสงบในอิริยาบถนั่งสมาธิ ก็ทําให้ความสงบเกิดขึ้นในอิริยาบถเดินจงกรม หรือความสงบเกิดขึ้นในอิริยาบถทั่วไป ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือทําอะไรก็แล้วแต่ ความสงบก็จะอยู่ในจิตใจของเราอยู่เสมอ สติก็จะเห็นอารมณ์ภายในใจของเรา สามารถที่จะพิจารณาทําลายหรือละวางอารมณ์ออกไปจากจิตของเราได้ทุกๆ ขณะจิตโดยต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการที่จะพิจารณาร่างกายของเรานั้นให้เห็นความจริงของความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของกายนี้ก็ต้องอาศัยพื้นฐานของจิตซึ่งมีสมาธิ


เมื่อจิตของเรานั้นไม่สามารถที่จะพิจารณาเห็นร่างกายของเรานี้เป็นปฏิกูล เห็นอสุภกรรมฐานหรือธาตุกรรมฐาน พึงพยายามกําหนดสติ ทําสมาธิ เจริญให้มาก ทําให้มากอยู่ทุกวัน เพื่อที่จะเป็นกําลังที่จะทําให้จิตของเราสงบ เมื่อจิตของเราสงบแล้วก็ลองมาพิจารณาร่างกายใหม่ ถ้าสติปัญญาเห็นร่างกายของเรานี้ชัดขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จิตของเราก็จะค่อยๆ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนออกไป ความโลภก็บรรเทาเบาบางออกไป ความโกรธก็บรรเทาเบาบางออกไป ความหลงในกายตนก็ค่อยๆ บรรเทาเบาบางออกไป สติปัญญาซึ่งพิจารณาอยู่เสมอ สลับกับการทําสมาธิภาวนานี้ ก็จะค่อยๆ ถ่ายถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายตนทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเห็นร่างกายชัดเจนว่า ร่างกายนี้เป็นแต่เพียงธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น เห็นร่างกายในอดีต ในอนาคต ว่าเป็นสภาวะเกิดขึ้นแล้วแตกสลายไปในที่สุด

มีสติรู้เท่าในปัจจุบันว่า ร่างกายของเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุตามธรรมชาติ ก็ปล่อยวางความยึดมั่นออกไปจากจิตใจของเรา เมื่อจิตถอนออกจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายตน ความโลภก็ดับลงไป ความโกรธก็ดับลงไป ความหลงในกายตนก็ดับลงไป ความหลงในวัตถุธาตุทั้งหลายอันเป็นแต่เพียงธาตุตามธรรมชาติก็ดับลงไป เห็นรูปหรือได้ยินเสียงก็สักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าเสียง สภาวธรรมทั้งหลายเป็นแต่เพียงธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น มีความเกิดขึ้นมาแล้วมีความแปรเปลี่ยนไป และมีความแตกสลายไปในที่สุด หาใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่ จิตของเราก็เดินไปในท่ามกลาง ไม่กระทบกับทางทั้งสองฝั่ง คือความพอใจและความไม่พอใจในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

เมื่อจิตเราปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนออกไปในร่างกายบุคคลอื่นออกไป ในวัตถุธาตุทั้งหลาย ความสงบความเยือกเย็นใจก็เกิดขึ้น คือความสุขภายในจิตใจก็เกิดขึ้น อันเป็นความสุขที่แท้จริงเป็นความสงบด้วยปัญญาที่ละกิเลสออกไปจากจิตใจของเราในเบื้องต้น คือละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายตน แต่กิเลสคือความหลงส่วนละเอียดนั้นก็ยังมีในจิตใจของเรา คือความหลงในเวทนาของจิต ความหลงในสัญญา ความจําของจิต ความหลงในสังขาร ความนึกคิดปรุงแต่งภายในจิตของเรา ความหลงยึดมั่นถือมั่นในวิญญาณ ความรับรู้ต่างๆ ว่าเป็นจิตใจของเรา ส่วนละเอียดนี้บุคคลซึ่งละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในรูป คือร่างกาย จึงจะเดินมรรคพิจารณาต่อไป ความจริงเป็นมรรคของอรหัตมรรคที่จะพิจารณาจิตและพิจารณาธรรมในส่วนละเอียด

เมื่อละรูปร่างกายออกไปได้แล้ว ก็เหลือส่วนละเอียดคือเรื่องของจิต เรื่องของธรรม ซึ่งเกิดขึ้นภายในใจของเรา จิตนั้นซึ่งเมื่อยังมีความหลงอยู่ ก็ต้องมีสติมีปัญญาพิจารณาอารมณ์ ส่วนละเอียดซึ่งอยู่ภายในจิตใจของเรา จิตนั้นก็ยังมีความยึดถือเวทนาของจิต แม้นแต่มีความสุข หรือความทุกข์เพียงเล็กน้อยก็ปรากฏขึ้นภายในจิตใจนี่แหละ ความสุขทั้งหลายภายในจิตมีมาก ความทุกข์นั้นแทบจะไม่เห็น เพราะจิตนั้นได้ละกิเลสส่วนหยาบออกไป กิเลสส่วนละเอียดยังมีอยู่ สติปัญญาก็ต้องพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงของความสุขอันนั้น หรือความทุกข์ที่ยังมีกิเลสอยู่ หรือความจําทั้งหลายซึ่งจิตนั้นก็หลงยึดมั่นถือมั่นว่าจิตเป็นของตัวเอง หรือความคิดดีคิดไม่ดี ความนึกคิดปรุงแต่งในอารมณ์กุศลทั้งหลายก็คิดว่าเป็นจิตของเจ้าของ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาเวทนาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของเวทนาของจิต หรือมีสติปัญญาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของความจําได้หมายรู้ทั้งหลาย มีสติมีปัญญาพิจารณาให้เห็นสังขารความนึกคิดปรุงแต่งว่าเป็นความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน มีสติมีปัญญาพิจารณาวิญญาณความรับรู้ต่างๆ ว่า อันนั้นเพียงสักแต่ว่าอาการอันหนึ่ง ไม่ใช่จิตของเรา

ผู้ซึ่งเจริญมรรคก็พิจารณาด้วยสติปัญญาให้รู้รอบในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของจิต นักปราชญ์ทั้งหลายท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อพิจารณารู้รอบแล้ว ก็มาพิจารณาจิตของเจ้าของ ซึ่งเป็นอวิชชาอยู่ในดวงใจ คือ ความหลงซึ่งมีอยู่ในจิต พิจารณาทําลายอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นของจิต ซึ่งหลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น ตัวจิตความนึกคิดปรุงแต่งทั้งหลาย เพราะความรู้สึกโดยทั่วไปแล้วเราจะคิดว่าสิ่งที่ปรุงแต่งออกมาจากใจมันเป็นจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาทําลายอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นภายในจิตทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ให้มีอะไรเหลือ ไม่ต้องสงวนอะไรไว้ ครูบาอาจารย์ท่านบอก เพราะฉะนั้นการพิจารณาจิต พิจารณาธรรมจึงเป็นสิ่งที่ละเอียด พิจารณาทําลายจิต แม้นสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นจิตเจ้าของ ก็พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงความไม่ใช่ตัวตนของจิตอันนั้น หรือธรรมทั้งหลายที่รู้ที่เห็นขึ้นมา ก็พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

“สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ” ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน พิจารณาไถ่ถอนความยึดมั่นถือมั่นทุกสิ่งทุกอย่างออกจากดวงใจ จึงจะเกิดความบริสุทธิ์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติทั้งหลายต้องประพฤติปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นอยู่ในขอบเขตของธรรมวินัย ยึดหลักปฏิปทาขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวกทั้งหลายเป็นแบบอย่าง ไม่แซงซ้ายแซงขวา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัย ตามคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ ไม่ได้มุ่งหวังลาภสักการะ หรือสิ่งภายนอกทั้งหลายทั้งปวง มีความมุ่งหวังอันเด็ดเดี่ยว สละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์หรือทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน แม้แต่ชีวิตนั้นเราก็ยอมสละ เพื่อที่จะให้รู้ธรรมเห็นธรรมหรือจิตใจเป็นธรรมขึ้นมา


ครูบาอาจารย์ทุกๆ องค์เป็นผู้มีจิตใจเด็ดเดี่ยว ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนหรือท้อถอยแบบพวกเรา เพราะฉะนั้นพวกเรานั้นต้องพลิกจิตของเรานั้น ให้เกิดศรัทธาความเพียรอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าจะท้อถอยล้มลุกคลุกคลานก็ตาม เราก็ต้องตั้งใจที่จะเอาชนะกิเลสให้ได้ไม่วันใดวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้มุ่งหวังการประพฤติปฏิบัตินั้น ความจริงนั้นไม่ต้องมากมายอะไร เราสละชีวิตเลยต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้ามีลมหายใจอยู่ มีความรู้สึกอยู่ เราจะประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดไม่ท้อถอย สละทรัพย์สมบัติ สละชีวิต สละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการรู้ธรรมเห็นธรรมอันนั้นจึงจะพอดี เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ความจริงก็ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งยากลําบากอะไร ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งเหลือวิสัยของมนุษย์ซึ่งพึงปฏิบัติ ถ้าเป็นสิ่งซึ่งยากลําบากแล้วองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงไม่สอนให้พวกเราทุกคนปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงหรือทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ทําจิตใจของเราให้หมดไปจากกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง

เพราะฉะนั้นให้พึงพยายามมีความตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกๆ วัน อย่าท้อถอย อย่าขี้เกียจ ถึงแม้ว่ามีความท้อถอย ความขี้เกียจ เราก็ต้องฝืนจิตใจของเรานั้นประพฤติปฏิบัติ เราอาศัยปัจจัย ๔ จากชาวบ้านทั้งหลาย ให้มีความสํานึกภายในจิตใจของเราว่า เราจะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพราะชีวิตของเราเป็นของไม่แน่นอน เกิดขึ้นมาแล้วไม่นาน ก็ต้องแตกสลายไป เพราะฉะนั้นในแต่ละวันแต่ละคืนนั้นพึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มีสติมีปัญญาดูแลรักษาจิตใจของเราอยู่เสมอๆ ใจของเราจะเกิดความสงบ ความเยือกเย็น หรือเกิดความสุขใจเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากศีลสมาธิปัญญา วันนี้ก็ให้ความเห็นแก่พวกเราพอสมควร ขอยุติแต่เพียงเท่านี้.
*************

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50225

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2020, 20:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2020, 09:35 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2020, 14:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2021, 13:09 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร