วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2011, 21:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบติดทองคำเปลว “แผ่นดินอุดมธรรม” สร้างสรรค์โดย อ.พิชัย นิรันต์
: ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์) จิตรกรรม ประจำปี พ.ศ ๒๕๔๖]



ธ ร ร ม า ธิ ป ไ ต ย
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)


“พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม
คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ
ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่

หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นพระพุทธเจ้า
คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา
และการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสนา
แทนพระองค์ของพระพุทธเจ้า
ก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้"


หลักการข้อนี้ของพระพุทธศาสนา
เป็นหลักกว้างขวางครอบคลุมถึงคุณงามความดีอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
ถือกันว่าทันสมัยและสูงในคุณค่ารวมทั้งหลักเรื่องการทำความดี
เพราะเห็นแก่ ความดี

ผู้เขียนขออัญเชิญพระนิพนธ์ของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
มาตั้งเป็นประธานในบทนี้ เพราะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของพระองค์ท่าน
ในเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกจับใจ ทำให้พยายามค้นคว้าเฉพาะในข้อนี้เป็นพิเศษ
มาตั้งแต่ในสมัยที่ยังเล่าเรียน พระปริยัติธรรมอยู่

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
มีพิมพ์ไว้ในที่หลายแห่ง ในที่นี้ จะขออ้าง
หนังสือพุทธคุณกถา ฉบับหอสมุดวชิรญาณ
พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ หน้า ๕๑
ดังนี้

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2011, 21:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


“อนึ่ง เนื่องด้วยการถือชาติ คนทั้งหลายย่อมมีปกติเห็นแก่ตัว
จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตัวต้องได้ประโยชน์ด้วย
จึงจะทำ อัธยาศัยนี้ติดมาในสันดาน

แม้แห่งคนถือพระพุทธศาสนาทำบุญให้ทาน
ยังปรารถนาจะได้สมบัติอย่างนั้นอย่างนี้
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงชักนำให้ละความเห็นแก่ตัว
และให้ตั้งใจทำมุ่งความสมควรเป็นใหญ่

ทรงติการทำด้วยอัตตาธิปไตยยกตนเป็นใหญ่
และโลกาธิปไตย เพ่งโลกเป็นใหญ่

และทรงสรรเสริญธรรมาธิปไตย มุ่งธรรมเป็นใหญ่”


ข้อธรรมเรื่องอธิปไตย ๓ นี้
มีปรากฏใน พระสุตตันตปิฏกเล่ม ๒๐ หน้า ๑๘๖ เล่ม ๑๑ หน้า ๒๓๑

และใน วิสุทธิมรรค สีลนิทเทส หน้า ๑๖
เป็นแต่ไม่มีข้อที่ติอัตตาธิปไตย หรือโลกาธิปไตยไว้โดยตรง
หากชี้ให้เห็นความดีกว่ากันอยู่ในตัวของอธิปไตยทั้ง ๓ ข้อนี้

แต่พระพุทธภาษิตที่ยกย่องธรรมาธิปไตยโดยตรงมีอยู่
คือในพระสุตตันตปิฏก เล่ม ๒๐ หน้า ๑๓๘
ทรงแสดงคุณธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ
เทียบเคียงกับคุณธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ถือธรรมเป็นใหญ่
(ธัมมาธิปเตยย = ธรรมาธิปไตย)
ซึ่งประกาศความที่พระพุทธศาสนายกย่องธรรมาธิปไตยเป็นเลิศ

ก่อนที่จะกล่าวเรื่องอื่นต่อไป ขอให้เราวิเคราะห์เรื่องอธิปไตย ๓ เป็นอันดับแรก
เพื่อเป็นมูลฐานแห่งความเข้าใจในหลักแห่งพระพุทธศาสนา
อธิปไตยหรือความเป็นใหญ่ ๓ อย่างที่แสดงในหลักพระพุทธศาสนา คือ

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2011, 22:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๑. อั ต ต า ธิ ป ไ ต ย

ถือตนเป็นใหญ่ ปรารภตนหรือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง
แต่ถ้าปรารภแล้วทำคุณงามความดี ก็ยังดีกว่าคนไม่ทำความดี


บุคคลประเภทนี้ถ้าจะทำอะไรจะบริจาคเงินหรือสิ่งของ
ก็ต้องการให้ประกาศชื่อเสียง ต้องได้เป็นผู้มีเกียรติจึงจะทำ

บางครั้งบุคคลบางคนที่ทำอะไรโดยดีดลูกคิดถึงผลได้ผลเสีย
คือหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง
นำอะไรไปให้ใครก็เข้าทำนองให้น้อยเพื่อให้ได้มาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถือว่า ความเห็นแก่ตัวจูงให้คนทำความดี
แม้ความดีนั้นยังไม่สมบูรณ์
ก็ยังถือได้ว่าเป็นบันไดขั้นแรกแห่งการก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้มีจิตใจสูง ขึ้นในโอกาสต่อไป

๒. โ ล ก า ธิ ป ไ ต ย

ถือโลกเป็นใหญ่ ปรารภสังคม หรือโลกเป็นประมาณ
สุดแต่คนอื่นหรือส่วนมาก เขาว่าอย่างไร ก็ถืออย่างนั้น อันนี้เอง
บางครั้งก่อความเดือดร้อนให้เป็นอันมาก


เช่นคนใดในครอบครัวตายลง ตามประเพณีต้องสวด ๓ คืน ต้องมีทำบุญ ๗ วัน
ต้องเลี้ยงคนเลี้ยงพระ และในบางกรณีต้องเลี้ยงเหล้าด้วย
ตนเองยากจนไม่มีเงิน ก็สู้ไปหยิบยืมเขามาทำบุญ เพื่อไม่ให้คนทั้งหลายติเตียน

หรือในกรณีอื่น
จะบวชลูกบวชหลานต้องเชิญแขกมาเลี้ยงอาหาร มีการลงขัน
คือผู้รับเชิญเอาเงินมาช่วยแล้วก็จดจำนวนไว้
เพื่อถึงคราวเขาจะได้เอาเงินไป ช่วยให้สมส่วนกัน
ในการนี้ ต้องฆ่าสัตว์เอามาเลี้ยงกันอย่างรื่นเริง

ยิ่งกว่านั้น ถ้าเจ้าภาพใจใหญ่
แต่การเงินไม่ใหญ่ตามใจพยายามจัดงานใหญ่โตให้ครบเครื่อง
มีทั้งมหรสพและดนตรีด้วย ก็ต้องถึงเป็นหนี้เป็นสินเขาเพื่อทำบุญ

การทำอะไรตาม ๆ ผู้อื่นโดยไม่ดูฐานะของตนอย่างนี้
บางครั้งก็ก่อเหตุเดือดร้อนให้ และถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย
ก็เลยได้บาปแทนบุญไป
การทำความดีด้วยถือโลกเป็นใหญ่จึงมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย

๓. ธ ร ร ม า ธิ ป ไ ต ย

ถือธรรมเป็นใหญ่ ปรารภความถูกต้องความสมควร
ซึ่งอาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า

เป็นการทำความดี เพราะเห็นแก่ความดี


เมื่อทำไปแล้วและแน่ใจว่าเป็นการสมควรแล้ว
ใครจะเห็นหรือไม่เห็น ใครจะโฆษณาชื่อเราหรือไม่
แม้ที่สุดเมื่อทำบุญคุณแก่ใครแล้ว เขาไม่กล่าวแม้คำขอบใจ
และไม่สำนึกบุญคุณเลย
บางครั้งยังเนรคุณเอาด้วยซ้ำ ก็ไม่ถือเป็นข้อควรเสียใจ

เพราะความมุ่งหมายที่ทำนั้นคือทำความดี เพราะเห็นแก่ความดี, ความถูกต้อง,
ไม่ใช่ทำด้วยหวังอะไรตอบแทน เมื่อจิตใจสูงเช่นนี้
ก็เป็นเหตุให้การกระทำเป็นไปในทางที่เหมาะที่ควร
ไม่มีการแฝงความลับลมคมในอะไรไว้เบื้องหลัง
จะไม่มีการบ่นน้อยอกน้อยใจว่าทำดีไม่เห็นได้ดี

เพราะบางครั้งคนที่ชอบบ่นอย่างนี้
มักไม่ค่อยทำความดีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
จุดประสงค์ของเขาดูเหมือนอยู่ที่การทวงผลดีมากกว่า

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มิ.ย. 2011, 10:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


หลักคำสอนที่หนักเน้นในเรื่อง ธรรมาธิปไตย นี้
สมคล้อยกับคุณลักษณะพิเศษที่ว่า
พระพุทธศาสนาสอนอย่างตรงไปตรงมาเป็นอย่างดี


เพราะ หลักธรรมาธิปไตย นี้ อาจนำไปใช้ได้ในหลายกรณี เช่น

๑. ในการอำนวยความยุติธรรม
๒. ในการพิจารณาว่าอะไรผิดอะไรถูกเป็นต้น


การอำนวยความยุติธรรม ของตุลาการหรือผู้เป็นใหญ่เป็นประธานนั้น
ถ้าถือหลักธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่แล้ว
ก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้อคติ หรือความลำเอียง ๔ ประการ คือ

-ลำเอียงเพราะรักหรือชอบกันเรียก ฉันทาคติ
-ลำเอียงเพราะชังเรียก โทสาคติ
-ลำเอียงเพราะหลงรู้เท่าไม่ถึงการณ์เรียก โมหาคติ กับข้อสุดท้าย
-ลำเอียงเพราะกลัวเรียก ภยาคติ


เราคงเคยเห็นพ่อแม่บางคนเข้ากับลูกจนไม่ยอมฟังเหตุผลอะไรทั้งสิ้น
ลูกของตนไม่ว่าจะผิดมากน้อยอย่างไรไม่ยอมเชื่อว่าผิดทั้งสิ้น
สุดแต่ว่าถ้าลูกร้องมาฟ้องเป็นต้องเชื่อไว้ก่อนว่าเด็กอื่นผิด เป็นผู้รังแกลูกของตน

บางครั้งเลยทอดตัวลงไปเป็นคู่ความทะเลาะกับเด็กอื่น ๆ แทนลูกของตน
หรือช่วยลูกของตนตบตีเด็กอื่น
ครั้นพ่อแม่ของเด็กอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมเข้ามาช่วยลูกของตนบ้าง
เรื่องของเด็กก็เลยกลายเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ถึงฆ่าฟันประทุษร้ายกันอย่างน่าสลดใจ

โบราณจึงสอนไว้ว่า อย่าเป็นคนหูเบาเชื่อง่าย
ลงโทษคนหรือปักใจว่าคนนั้นคนนี้ผิดหรือเลวทรามเพียงฟังคนอื่นบอกเล่า
เพราะผู้บอกอาจพูดตามข่าวซึ่งไม่เป็นจริง หรือมีใจมุ่งร้ายใส่ความผู้อื่นก็ได้

การพิจารณาว่าอะไรผิดอะไรถูก ข้อนี้
ก็ใกล้เคียงกับข้อที่ว่าด้วยการอำนวยความยุติธรรม
แต่อาจใช้ได้ในกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล

เช่น การฟังเหตุผล การวินิจฉัยเรื่องราวต่าง ๆ
ที่จะนำมาเป็นแนวประพฤติปฏิบัติหรือรับไว้ดำเนินการ

ยกตัวอย่าง เช่น การนับถือศาสนา
ถ้าเราถือธรรม คือความถูกความตรงเป็นใหญ่
เราก็จะไม่เพียงนับถือตามบรรพบุรุษ แต่จะมีเหตุผลของตนเอง
สามารถวินิจฉัยได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร ไม่ใช่นับถือเพราะกลัวหรือเพราะหลง

ผู้เขียนขอเสนอการที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสิน
หรือชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นมงคล
ในท่ามกลางข้อโต้แย้งของคนทั้งหลาย ซึ่งตามประวัติปรากฏว่า
มีการถกเถียงกันอยู่ถึง ๑๒ ปี บ้างว่า มงคลอยู่ที่การเห็น


เช่น ตื่นเช้าเห็นหญ้าเขียวสดเป็นมงคล
บ้างว่า อยู่ที่การได้ยินถ้อยคำอันเป็นมงคล
บ้างว่าต้องเอามูลโคสดเป็นมงคล
ในปัจจุบันนี้เราเรียกด้ายดิบ ที่เอามาจับรวมกันหลาย ๆ เส้น
สวมศีรษะในเวลารดน้ำว่ามงคล
ฝรั่งถือว่าตะปูเกือกม้าเป็นมงคล

แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงมงคลบ้าง
ไม่ปรากฏว่า ไม่ทรงชี้ไปที่วัตถุหรือโชคลางอะไรเลย

กลับทรงชี้ไปที่ความประพฤติดีปฏิบัติชอบต่าง ๆ ว่าเป็นมงคล
อย่างนี้เรียกว่าทรงถือธรรมเป็นใหญ่ อันเป็นธรรมาธิปไตยแท้


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มิ.ย. 2011, 10:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ผู้เขียนขอประมวลเหตุการณ์ และหลักคำสอนในประวัติศาสตร์
พระพุทธศาสนามากล่าวไว้ในบทนี้
เพื่อแสดงหลักธรรมาธิปไตยของพระพุทธศาสนาให้เห็นชัดเป็นข้อ ๆ ไป คือ :-

๑ . ข้อความต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
เช่น การที่พระพุทธศาสนาสอนให้เลิกทาส
ไม่ให้ดูหมิ่นเหยียดหยามกันเพราะเรื่องชาติชั้นวรรณะ
ไม่ให้ติดในเรื่องฤกษ์งามยามดีหรือน้ำมนต์ ไม่ให้หลงใหลในฤทธิ์เดช
รวมทั้งสอนให้มนุษย์มีจุดนัดพบกันที่ศีลธรรม
ดังได้กล่าวมาแล้วในบทต้น ๆ ของหนังสือนี้ อาจชี้ได้ว่า

การที่ทรงสั่งสอนไว้อย่างมีคุณลักษณะพิเศษอันน่าชื่นชมเช่นนั้น
ก็เพราะทรงใช้หลักธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นข้อใหญ่ข้อเดียว
ความดีงามน่าเลื่อมใสต่าง ๆ ก็ตามมา


๒. คำสั่งสอนของศาสดาจารย์เจ้าลัทธิอื่นจากพระพุทธศาสนานั้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าถูกถ้าชอบแล้วพระองค์ก็ทรงรับว่าถูกว่าชอบ
ไม่ใช่สักว่าเป็นศาสนาอื่นแล้วก็จะต้องประณามกันทันที
คำสอนของใครก็ตามถ้าสอนถูกก็ใช้ได้ด้วยกัน
แต่จะถูกมากถูกน้อยแค่ไหน
เป็นเรื่องที่ศาสนิกชนจะพึงใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลดูด้วยตนเอง
ข้อนี้ ยิ่งแสดงความเป็นธรรมาธิปไตยแห่งพระพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง
ในประวัติทางพระพุทธศาสนาจึงมีว่า

ภิกษุรูปหนึ่งได้ ฟังหญิงเก็บฟืนร้องเพลงในป่า
แต่เนื้อเพลงเป็นคติสอนใจเลยนำมาตรองสอนตัวเอง
และได้บรรลุมรรคผลในที่สุด

เรื่องนี้จึงวินิจฉัยได้ว่า

ธรรมนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ใครจะเป็นคนกล่าว
ถ้ารู้จักถือเอาประโยชน์แล้ว ก็ใช้ได้ทั้งสิ้น


บางครั้ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนที่อายุร้อยปีไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม
สู้คนมีอายุวันเดียวแต่ตั้งอยู่ในศีลธรรมไม่ได้
คำเปรียบอย่างนี้ใช้หลักธรรมาธิปไตยนี้เอง

๓. ครั้นหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นว่า คฤหัสถ์หรือบรรพชิตจะดีกว่ากัน

พระพุทธเจ้าจะตรัสตอบอย่างไร
จึงจะเรียกว่าเป็นกลางเป็นธรรมและเป็น ธรรมาธิปไตยแท้


พระองค์จึงตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่สรรเสริญการปฏิบัติผิดของคนทั้ง ๒ ประเภท
คือคฤหัสถ์และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตามเป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้ว
ย่อมไม่ได้ชมซึ่งญายธรรมอันเป็นกุศล เพราะเหตุคือการปฏิบัติเป็นมูล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราสรรเสริญการปฏิบัติชอบของคนทั้ง ๒ ประเภท
คือคฤหัสถ์และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม
เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้วย่อมได้ชมญายธรรมอันเป็นกุศล
เพราะเหตุคือการปฏิบัติชอบเป็นมูล”


เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงอาศัยหลักธรรมาธิปไตยตอบปัญหานี้ได้อย่างดียิ่ง

จะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต
ถ้าประพฤติดีแล้วพระองค์ก็ทรงสรรเสริญ
ถ้าประพฤติผิดแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงสรรเสริญทั้งนั้น
ความถูกต้องจึงมิใช่อยู่ที่เพศ ที่บุคคล แต่อยู่ที่ธรรม

ใครตั้งอยู่ในธรรม คนนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกปฏิบัติชอบ


๔. เรื่องปรากฏใน ปวารณาสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (เล่ม ๑๕ หน้า ๒๘ๆ)
เล่าว่าในวันปวารณาคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ บุพพาราม
ซึ่งนางวิสาขาสร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถี

มีพระอรหันตสาวกจำนวนประมาณ ๕๐๐ รูปร่วมประชุมอยู่ด้วย
ตามประเพณีทางวินัยเมื่อถึงวันปวารณาภิกษุทุกรูปที่นั่งประชุมในพิธีกรรม
จะ ต้องกล่าววาจาอนุญาตให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้
โดยถือว่าการว่ากล่าวตักเตือนกันนั้นเป็นทางทำให้เกิดความเจริญ
ขณะที่ประชุมกันอยู่ ณ กลางแจ้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงปวารณา
คืออนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายทักท้วงการกระทำทางกายและวาจาของพระองค์ได้

พระสารีบุตรได้ลุกขึ้นประคองอัญชลีกราบทูลสรรเสริญพระพุทธเจ้า
กล่าวว่าท่านไม่มีที่ติเตียนพระพุทธเจ้า
แล้วจึงปวารณาตนเป็นรูปที่ ๒ เรื่องนี้คล้ายกับลี้ลับไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง
แต่รู้สึกว่าเป็นแบบฉบับอันดีเลิศว่า
แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงถือธรรมเป็นใหญ่
ถึงกับเปิดโอกาสให้พระสาวกว่ากล่าวตักเตือนได้
เป็นตัวอย่างแห่งธรรมาธิปไตยอันดียิ่งในพระพุทธศาสนา

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มิ.ย. 2011, 11:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๕. พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้
(ปรากฏในอิติวุตตกะ พระสุตตันตปิฏก เล่ม ๒๕ หน้า ๓๐๐) ในความว่า

“ภิกษุที่จับชายสังฆาฏิของพระองค์ติดตามพระองค์ไปทุกฝีก้าว
แต่จิตใจยังประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ
ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ไกลพระองค์ และพระองค์ก็ชื่อว่าอยู่ไกลภิกษุรูปนั้น

ทั้งนี้เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม จึงไม่เห็นพระองค์
ส่วนภิกษุผู้อยู่ไกลกระองค์แม้ร้อยโยชน์
แต่จิตใจไม่ประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง และความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ
ภิกษุนั้นชื่อว่า อยู่ใกล้พระองค์และพระองค์ก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น
ทั้งนี้เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเห็นธรรม จึงเชื่อว่าเห็นพระองค์”


คำว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ
ซึ่งแปลออกมาจากภาษาบาลีในที่นี้ เป็นการแปลถอดความไม่ใช่แปลโดยพยัญชนะ
ถ้าแปลโดยลำดับถ้อยคำก็จะต้องแปลว่า

“เป็นผู้มีอภิชฌา (ความโลภ) มีความกำหนัดกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท
มีความดำริแห่งใจในทางประทุษร้าย เป็นผู้หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ
มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์ปรากฏ”


ซึ่งเมื่อจัดประเภทเข้าในอกุศลธรรมแล้ว
ก็รวมอยู่ในโลภโกรธ หลงและความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ

พระพุทธภาษิตนี้ชี้ชัดลงไปว่า

คนจะอยู่ไกลอยู่ใกล้พระพุทธเจ้านั้น มิใช่จะชื่อว่าอยู่ไกลอยู่ใกล้โดยระยะทาง
ต้องเห็นธรรมจึงชื่อว่าอยู่ใกล้ ถ้าไม่เห็นธรรมก็ชื่อว่าอยู่ไกล
คราวนี้จึงทำให้พวกเราในสมัยนี้สบายใจได้ว่า แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานแล้ว
แม้พระองค์จะเคยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดีย
พวกเราอยู่ไกลถึงในประเทศไทย และกาลเวลาก็ล่วงมานาน
แต่สิ่งเหล่านี้มิได้กีดกันหรือทำให้เราห่างไกลจากพระพุทธเจ้าเลย

ถ้าเราสนใจในธรรม ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม
แม้เราจะไม่แขวนพระ ไม่มีพระเครื่องรางของขลัง
แต่เราก็ชื่อว่าได้ใกล้ชิดอยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา

หลักธรรมข้อนี้ จึงเป็นธรรมาธิปไตยที่มีเหตุผล
และเป็นคติเตือนใจจูงให้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าได้ เสมอ

๖. ในสมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพาน
พระองค์ทรงปรารภการที่พุทธบริษัทบูชาพระองค์เป็นใจความว่า

“การบูชาพระองค์ด้วยอามิสบูชา มีดอกไม้เป็นต้น ยังไม่ชื่อว่าบูชาแท้
แต่ผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติชอบตามทำนองคลองธรรม
ผู้นั้นจึงชื่อว่าเคารพสักการะนับถือบูชาพระตถาคตด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม”


(มหาปรินิพพานสูตร เล่ม ๑๐ หน้า ๑๖๐)

เป็นอันแสดงว่า ปฏิบัติบูชาหรือธรรมบูชานั้นเป็นบุชาอันสูงสุดว่าการบูชาด้วยอามิส
เช่นธูป เทียนดอกไม้

ถ้าจะพิจารณาโดยใกล้ชิดแล้ว
ก็เป็นการสั่งสอนอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนพระองค์
ไม่ถือพระองค์เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับรับเครื่องสักการบูชา
ข้อสำคัญขอให้คนทั้งหลายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเข้าไว้ ก็จะชื่อว่าบูชาพระองค์ไปเอง
เป็นการต้อนคนเข้าหาคุณความดี
อย่างสมกับที่หลักการแห่งศาสนานี้ถือธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่

เป็นการเตือนจิตให้ศาสนิกชนสำนึกอยู่เสมอว่า

การประพฤติปฏิบัติสำคัญยิ่งกว่าพิธีกรรมหรือเครื่องประกอบอื่น
เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ยากจน
ไม่มีเครื่องสักการบูชางดงามหรือมีราคาแพง ได้ใช้การบูชาด้วยปฏิบัติ
อันจะทำให้มีฐานะสูงยิ่งกว่าคนที่บูชาด้วยอามิส

การนับถือพระพุทธศาสนา จึงไม่มีอะไรกีดกันความยากจน
หรือคนชั้นต่ำให้ต้องรู้สึกมีปมด้อยแต่อย่างไร
เพราะเมื่อถือธรรมเป็นใหญ่แล้วทุกคนก็มีสิทธิปฏิบัติธรรมได้ด้วยกันทั้งสิ้น


๗. ก่อนจะปรินิพพานอีกเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

“ดูก่อนอานนท์ ! ธรรมและวินัยอันใดที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป”


(มหาปรินิพพานสูตร เล่ม ๑๐ หน้า ๑๗๘)

พระดำรัสนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า

ในพระพุทธศาสนาไม่ถือผู้นั้นผู้นี้เป็นประมาณ
หากถือธรรมเป็นสำคัญ ถ้าพระพุทธเจ้าจะทรงตั้งผู้นั้นผู้นี้แทน
ก็จะต้องตั้งกันสืบ ๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด


เพราะบุคคลมีเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ถ้าถือธรรมวินัยเป็นหลัก นานเท่านานก็จะเสมือนหนึ่งพระพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่
เพราะแม้พระพุทธเจ้าเอง ก็มิใช่สำคัญที่เนื้อหนัง
พระองค์ทรงชี้อยู่เสมอว่า ทรงเป็นพระพุทธเจ้าโดยธรรม
เนื้อหนังของพระองค์ตกอยู่ในสภาพธรรมดา
คือจะต้องเปื่อยเน่าทรุดโทรมไปเช่นมนุษย์อื่น ๆ


ก็ทรงแสดงว่าไม่ได้เป็นเพราะชื่อที่เรียกอย่างเดียว ต้องมีคุณธรรมด้วย เช่นที่ตรัสว่า

“บุคคลไม่ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เพราะวินิจฉัยคดีได้รวดเร็ว
แต่ผู้ใดเป็นบัณฑิต แยกเรื่องถูกเรื่องผิดได้ ตัดสินคนโดยไม่ผลุนผลัน
โดยธรรมโดยเสมอภาค ผู้มีปัญญานั้นเป็นผู้คุ้มครองธรรมย่อมเรียกได้ว่าผู้ตั้งอยู่ในธรรม”



(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มิ.ย. 2011, 11:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


“บุคคลไม่เป็นบัณฑิตเพียงเพราะพูดมาก
ต่อเป็นผู้ปลอดโปร่งจากความชั่ว ไม่มีเวร ไม่มีภัย จึงเรียกได้ว่าเป็นบัณฑิต”

“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่เพียงเพราะมีผมหงอก วัยอันแก่ของเขายังเรียกว่าแก่เปล่า
แต่ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีความไม่เบียดเบียน มีความสำรวม มีการฝึกตน
เป็นผู้มีปัญญา คายมลทินโทษเสียได้ ผู้นั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่”

“บุคคลยังไม่ชื่อว่าเป็นสาธุชน เพียงเพราะพูดจาเก่ง
หรือเพราะมีรูปร่างงดงาม แต่ยังมีความริษยา มีความตระหนี่และขี้อวด
ผู้ใดถอนรากความชั่วทุกชนิดเหล่านั้นได้
ผู้นั้นเป็นผู้คายโทษ มีปัญญา เรียกได้ว่าเป็นสาธุชน”

“บุคคลย่อมไม่เป็นสมณะ เพียงเพราะมีศีรษะโล้น
คนที่ไม่มีวัตรพูดพล่อย ๆ ประกอบด้วยความปรารถนาความโลภ จะเป็นสมณะได้อย่างไร
ผู้ใดสงบบาปน้อยใหญ่เสียได้ด้วยประการทั้งปวง
จึงเรียกว่าสมณะได้เพราะสงบบาปทั้งหลาย”

“บุคคลย่อมไม่เป็นภิกษุเพียงเพราะเที่ยวขออาหารคนอื่น
สมาทานธรรมอันเป็นพิษแล้ว จะเป็นภิกษุเพราะเหตุนั้นไม่ได้
ผู้ใดลอยบุญลอยบาป เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์
พิจารณาโลกด้วยปัญญาผู้นั้นเรียกได้ว่าเป็นภิกษุ”


ตัวอย่างแห่งการแสดงธรรมอย่างตรงไปตรงมาโดยถือธรรมเป็นใหญ่
ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตยในธรรมบท ขุททกนิกาย (เล่ม ๒๕ หน้า ๔๙-๕๐)
ซึ่งยกมาแปลเพียงบางตอนนี้
ย่อมทำให้เราแน่ใจรวมทั้งตัดสินบุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกต้อง

ใครจะปลอมแปลงทำตนเป็นบัณฑิต หรือปลอมเพศเป็นสมณะ
แต่ไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรม ความจริงก็จะปรากฏให้ตัดสินได้เอง

ผู้เข้าใจในหลักธรรมาธิปไตยดีแล้ว ย่อมปลอดโปร่งสบายใจในที่ทุกสถาน
เพราะไม่ถูกความหลงผิดชักจูงให้หลงใหลไปด้วยประการต่าง ๆ


คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาข้อนี้ นับเป็นเลิศจริง ๆ
ข้อหนึ่งในคุณลักษณะทั้งหลาย
ซึ่งผู้ใช้ปัญญานับถือศาสนาย่อมพากันเห็นจริงและยกย่องโดยทั่วกัน


:b8: :b8: :b8:

ที่มา : http://www.cybervanaram.net/index.php?o ... &Itemid=13

:b44: รวมคำสอน “อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49286

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44661


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ส.ค. 2018, 10:09 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2019, 08:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 26 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร