วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 19:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ส.ค. 2023, 09:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


การพิจารณา “ธรรม” คืออย่างไร
วิสัชนาธรรมโดย...หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร


รูปภาพ

:b49: :b50: ปุจฉา :
ดิฉันขอกราบรบกวนถามหลวงปู่ว่าการปฏิบัติภาวนาจะต้องพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ทั้ง ๔ อย่างใช่ไหมเจ้าค่ะ สำหรับกาย เวทนา จิต ดิฉันพอจะเข้าใจ ส่วนธรรมนั้นดิฉันคิดเอาเองว่าจะต้องพิจารณาจากธรรมชาติที่เห็นอยู่เป็นประจำ เช่นเห็นใบไม้ที่ร่วงลงมาจากต้น ดิฉันก็พิจารณาว่าก่อนที่มันจะร่วงลงมา มันเคยเป็นใบอ่อนที่ผลิออกมาจากยอดไม้มีสีเขียวอ่อนๆ เมื่อใบมันโตขึ้นสีก็ค่อยๆ เข้มขึ้นจนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อเซลล์ของมันตายแล้วมันก็เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อธาตุน้ำในใบของมันแห้งหมดก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแห้งกรอบล่วงลงสู่พื้นดิน ในไม่ช้าก็แตกละเอียดเป็นผุยผง ที่สุดก็กลายเป็นดิน

ย้อนมาดูตัวของเราเมื่อแรกเกิด ผิวเนื้อก็แดงระเรื่อ พอโตขึ้นผิวก็เปลี่ยนเป็นสีขาวเหลือง ถ้าถูกแดดถูกลมมากๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ พอเข้าสู่วัยชราผิวหนังก็จะตกกระเป็นไฝฝ้าจุดด่างดำทั้งตัว ทั้งยังเหี่ยวย่น ผมก็หงอกขาว ตามัว หูตึง ฟันหลุด หลังโก่ง เรียวแรงก็ไม่มี เดินเซไปมา ในไม่ช้าก็ตาย เมื่อตายแล้วธาตุลมก็หมดไป ธาตุไฟก็ดับไป ขึ้นอืดพองเน่าเหม็นเป็นอาหารของหมู่สัตว์และหนอน ส่วนที่เป็นของแข็งก็กลายเป็นธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลวก็กลายเป็นธาตุน้ำซึมลงไปในดิน นี่คือธรรมชาติไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ทุกสิ่งเกิดขึ้นแปรปรวนไปดับสลายไปในที่สุด ดิฉันพิจารณาจากสิ่งที่เห็นอยู่เป็นประจำถูกต้องไหมเจ้าค่ะ ถ้าไม่ถูกหลวงปู่โปรดชี้แนะด้วย และจะพิจารณาอย่างไรเพื่อให้เกิดปัญญาเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป หลวงปู่โปรดเมตตาด้วยเจ้าค่ะ


:b49: :b50: วิสัชนา :
การพิจารณาอย่างที่เล่ามานี้มันเป็นการถูกต้องแล้ว ขอให้พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ น้อมเข้ามาหาตัวบ้าง น้อมออกนอกบ้าง ก็มีความหมายอันเดียวกัน ธรรมภายนอกที่น้อมเข้ามาหาตัวเรียกว่า “อัชฌัตตาธัมมา” ธรรมภายในที่น้อมออกไปข้างนอกเรียกว่า “พหิทธาธัมมา” และมีความหมายอันเดียวกัน แม้อดีตอนาคตที่ล่วงไปก็ดี ที่ยังไม่มาถึงก็ดี ทั้งหยาบทั้งละเอียดทั้งประณีต ก็มีความหมายอันเดียวกัน

แม้ปัจจุบันที่กำลังเห็นอยู่จะเห็นพร้อมกับลมออกเข้าก็ยิ่งดี เพราะมีทั้งหนังทั้งเขาเป็นพยานเอกอยู่ในตัว ก็มีความหมายอันเดียวกัน จะได้ไม่ติดอยู่ทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบันด้วย เรียกว่ารู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติตามเป็นจริง พ้นจากความสงสัยตามเป็นจริง ข้ามความหลงที่เคยหลงมาตามเป็นจริง ที่เคยหลงมานั้นมี ๔ ประเภท คือ สำคัญว่าหนังหุ้มอยู่โดยรอบเป็นของสวยงามหนึ่ง เห็นสำคัญต่อไปว่าเป็นของเที่ยงหนึ่ง เห็นสำคัญว่าเป็นสุขหนึ่ง เห็นว่าเป็นตัวตนหนึ่ง จืดจางไปในตัว ข้ามทะเลหลงเหล่านี้ไปในตัวก็ว่าได้ นี่คือตัวศีล สมาธิ ปัญญา กลมกลืนไปขณะเดียว ไตรสิกขาก็ว่า

อนึ่งที่สงสัยว่าพิจารณา “ธรรม” นั้นคือยังไง ยกอุทาหรณ์เช่น ลมหายใจเข้าออก เห็นลมไม่เที่ยงแห่งหายใจเข้าออก ก็เป็นการเห็นอนิจจังแล้ว ก็เป็นทุกข์อยู่ในตัวแล้ว ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราอยู่ในตัวแล้ว นี่เรียกว่าพิจารณาธรรมเรียกว่า “เห็นธรรมในธรรม” เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ก็เรียกว่าเห็นธรรมในธรรมเหมือนกัน คำว่าธรรมแปลว่าทรงอยู่ ธรรมมี ๒ ประเภทโดยย่อ

ประเภทที่เราเห็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นประเภทของธรรมฝ่ายสังขาร เกิดขึ้นหาระหว่างมิได้ แปรปรวนหาระหว่างมิได้ ความแก่ก็หาระหว่างมิได้ เราจะรู้ตามเป็นจริงหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา ความเจ็บก็หาระหว่างมิได้ ความตายจากเช้า สาย บ่าย เที่ยง ก็หาระหว่างมิได้ นี่ก็เป็นธรรมานุปัสนาเหมือนกัน เพราะรู้ตามเป็นจริงอยู่ในตัว ปฏิบัติตามเป็นจริงอยู่ในตัว สิ้นความสงสัยตามเป็นจริงอยู่ในตัว ก็ตัดสินเผงว่า “ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ลงธรรมาสน์เลย” นี่เรียกว่าธรรมฝ่ายสังขาร

ประเภทที่ ๒ ธรรมฝ่ายนิพพานนั้น เมื่อสิ้นความสงสัยในนี้แล้ว จิตก็ไม่เพลินในสังขารทั้งปวง ไม่หลงในสังขารทั้งปวง นั้นคือประตูเข้าสู่พระนิพพาน เพราะหมดปัญหาที่จะผูกขึ้นในตัวเพื่อจะให้ตัวหนักใจแก้อีก เรียกว่า “พระนิพพาน” เพราะไม่ใช่เป็นรูปเป็นนามเป็นบ้านเป็นเมือง เรียกได้ว่า “มีอยู่ทรงอยู่เท่านั้น” จะเทียบใส่ทางวัตถุไม่ถูกทั้งนั้น เพราะพระนิพพานธรรมไม่ใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย ถ้าหมายอยู่ก็พอเหมือนๆ นั่นเอง และก็หมุนๆ นั่นเอง และก็หมันๆ นั่นเอง เพราะเป็นหมัน และพระนิพพานไม่ใช่กองนามรูปที่เห็นด้วยตานอก แต่สามารถเห็นได้ด้วยตาในจนไม่มีที่หมาย แต่ไม่ยืนยันว่าสูญๆ จนเลยเถิด สูญแต่ไม่มีรสโลภรสโกรธรสหลงเท่านั้น เพราะรสเหล่านี้มันหายออกจากขันธสันดานดวงใจไปแล้ว ใจก็เป็นเจ้าใจล้วนๆ ผู้รู้ก็เป็นผู้รู้ล้วนๆ ไม่มีท่านผู้ใดเข้าไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ไม่สำคัญตนเป็นผู้รู้ ไม่สำคัญผู้รู้และใจเป็นตน ก็จบปัญหากันเพียงนั้น ในพระพุทธศาสนาจบกันเพียงนั้น เมื่อไม่สำคัญว่าผู้รู้และใจเป็นตน ไม่สำคัญว่าตนเป็นใจและผู้รู้แล้ว เหตุผลจะมาจากประตูใด ความสำคัญว่าสูญๆ สานๆ ความสำคัญว่าไม่สูญไม่สานจะมาจากประตูใดอีกเล่า ความกลัวแพ้กลัวชนะจะมาจากประตูใดอีกเล่า

ยกอุทาหรณ์อีก เพื่อให้เข้าใจชัด เมื่อดินน้ำไฟลมไม่สำคัญตนว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลมแล้ว มีผู้ไปทำอันตรายดินน้ำไฟลมแล้ว ดินน้ำไฟลมจะไปผูกเวรภัยกับใครเล่า แม้เขาจะไปขี้รดดินน้ำไฟลม ก็คงจะไม่ยืนยันในโลภโกรธหลงอะไร เมื่อใจของพวกเราไม่เหมือนดินน้ำไฟลม แล้วคอยรับคอยปัดอยู่ พวกเราก็ยังไม่พ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง นี่โหรเอกคือพระบรมศาสดาทายไว้ให้พวกเราแล้ว เรียกว่าแผนที่ก็ได้ จิตใจของพวกเราถ้าเป็นเหมือนดินน้ำไฟลมแล้ว ไม่มีใครให้คะแนนก็ตาม พวกเราก็ไม่มีวิญญาณปฏิสนธิในที่ใดๆ ทั้งสิ้น ก็ข้ามความหลงโดยสิ้นเชิงไป ณ ที่นี้เอง


คัดมาจาก...หนังสือ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐, เดือนกันยายน ๒๕๕๓
:b8: :b8: :b8:

:b47: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44660

:b47: รวมคำสอน “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38521

:b47: ประมวลภาพ “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต” วัดภูจ้อก้อ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=44375


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร