ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56242
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 27 มี.ค. 2010, 16:48 ]
หัวข้อกระทู้:  ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์)

รูปภาพ

ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ อธิฏฺฐานปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันปัณณรสีดิถีที่ ๑๕ ค่ำ แห่งศุกลปักษ์
เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาตประชุมกัน
เพื่อจักฟังพระธรรมเทศนา ตามนิยมในพระธรรมวินัย
และได้พร้อมใจกันทำกิจเบื้องต้น มีไหว้พระสวดมนต์สมาทานศีลสำเร็จแล้ว
ต่อนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา อันเป็นพระบรมพุทโธวาท
ด้วยการฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ มีประโยชน์โดยส่วนเดียว
อย่าลืมอานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ ประการที่ท่านแสดงไว้ว่า

อสุตํ สุณาติ จะได้ยินได้ฟังข้ออรรถข้อธรรม
ที่ตนยังไม่เคยได้ยินได้ฟังนั้น ประการ ๑

สุตํ ปริโยทเปติ ข้ออรรถข้อธรรมที่ตนเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ก็จักคล่องแคล่วชำนาญผ่องใสขึ้นกว่าเก่า ประการ ๑

กงฺขํ วิตรติ จะกำจัดความสงสัยอันมีอยู่ในใจเสียได้ ประการ ๑

สกจิตฺตํ ปสีทติ จะทำน้ำจิตของตนให้ผ่องใสเบิกบานยิ่งขึ้น ประการ ๑

อตฺตโน จิตฺตํ อุชุํ กโรติ จักกระทำจิตใจของตนให้เป็นคนซื่อตรง ประการ ๑


อานิสงส์ ๕ ประการ ย่อมสำเร็จแก่ผู้หมั่นสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา
ถ้าผู้ไม่ฟังไม่ได้เลย ถึงผู้ฟังแต่ไม่ตั้งใจด้วยดีก็ไม่ได้อานิสงส์ ๕ ประการนี้เหมือนกัน
ให้พุทธบริษัทพึงเข้าใจว่า ตนของเราเกิดมาในวงศ์แห่งผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
เป็นลาภอันสำคัญส่วนหนึ่ง และได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนา
ซึ่งเป็นพุทธโอวาทจริงจัง ข้อนี้ก็เป็นลาภอันสำคัญส่วนหนึ่ง
ซ้ำมีความเชื่อความเลื่อมใส ในกรรมและในผลของกรรมตามพุทธโอวาท
โดยไม่มีความสงสัย ข้อนี้ก็เป็นลาภอันสำคัญข้อหนึ่ง
เมื่อได้ประสพโอกาสอันสมควรเช่นนี้ ควรจะตั้งใจว่า
เราจักไม่ปล่อยโอกาสอันดีนี้ให้เสียไป จักเป็นผู้ปฏิบัติให้เต็มความสามารถ
ความจริงการฟังพระธรรมเทศนาเป็นภาคพื้นแห่งวิชา
คือความรู้ ความฉลาดย่อมเกิดขึ้นได้โดยลำดับ เพราะการฟังเป็นเหตุ
ถ้ามีความรู้ความฉลาดมากขึ้นเท่าใด
ย่อมได้รับผลคือความสุขความสำราญ ความเย็นใจมากขึ้นเท่านั้น

(มีต่อ)

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 27 มี.ค. 2010, 17:37 ]
หัวข้อกระทู้:  ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์)

บัดนี้จักแสดง อธิฏฐานบารมี ต่ออนุสนธิสืบไป

อธิฏฺฐานํ นาม ชื่ออันว่า การอธิฏฐาน คือการตั้งใจมันในคุณความดีนั้น ๆ
ชื่อว่า อธิฏฐานบารมี เป็นคุณธรรมให้สำเร็จกิจทุกหน้าที่
แม้พระพุทธเจ้าสร้างโพธิสมภารมาสิ้นโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมาก
ก็มิได้ละเมินอธิฏฐานบารมี
ตัวอย่างดังเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
เมื่อพระชนม์ได้ ๘ พรรษา ทรงประทับอยู่ ณ บัลลังก์ เกิดความวิเวกใจ
ได้ตั้งอธิฏฐานบารมีว่า ตนของเรานี้นับเข้าในโพธิสัตว์เป็นผู้ยินดีแล้วในทานบริจาค
ถ้ามีผู้ใดต้องการมาขอเอาตัวของเราไปเป็นทาส เราก็จักชำระทิฏฐิมานะออกเสีย
จักไปรับใช้เป็นทาส ตามความปรารถนาของเขา
ถ้ามีผู้ต้องการสรีราวยวะ มีศีรษะและมือเท้าเป็นต้น เราก็จักตัดให้ตามประสงค์ดังนี้
ยังมหัศจรรย์ มีแผ่นดินไหวให้บังเกิดขึ้นได้ ข้อนี้เป็นตัวอย่างในอธิฏฐานบารมี


แม้ในปัจฉิมชาติที่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
ก็ได้ทรงตั้งอธิฏฐานบารมีหลายประการ เมื่อแรกเสด็จออกบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์
ก็ได้ตั้งอธิฏฐานบารมีว่า เราจักเป็นผู้ไม่กลับคืนครองฆราวาสอีก เป็นธรรมดาดังนี้

ภายหลัง ณ วันเดือน ๖ เพ็ญ เป็นวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ตอนตะวันบ่าย พระองค์เสด็จไปประทับ ณ ร่มโพธิ์
ทรงประทับบนกองหญ้าคาด้วยบัลลังก์สมาธิ
ตั้งอธิฏฐานบารมีว่า ถ้าเราไม่ได้ตรัสรู้อุตตริมนุสสธรรม
ถึงแม้เนื้อและเลือดกระดูกและเอ็นของเราจักเหือดแห้งย่อยยับ
ก็จงเป็นไปเถิด เราจักไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์สมาธิอันนี้ ดังนี้

ถึงเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ยังต้องใช้อธิฏฐานบารมีอยู่เหมือนกัน
ในประถมโพธิกาล ได้ทรงตั้งธรรมเทศนาอธิฏฐานว่า
เราจักแสดงธรรมประกาศพระพุทธศาสนา และตั้งอายุสังขาราทิฏฐานว่า
ถ้าบริษัททั้ง ๔ ของเรายังไม่ไพบูลย์เพียงใด เราจักยังไม่นิพพานก่อนเพียงนั้น ดังนี้

อาการที่ตั้งมั่นในธรรมนั้น ๆ ดังนี้ เป็นลักษณะแห่งอธิฏฐานบารมี
อาศัยเหตุนี้เป็นหลัก ครูสอนพระกัมมัฏฐานทุกวันนี้
จึงต้องให้มีดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการบูชาขึ้นครูขึ้นบากัน
และมีคำอาราธนา ขออัญปีติและยุคคละและสุขสมาธิ เป็นต้น
ตามถนัดของอาจารย์ คำอาราธนาก็คือคำอธิฏฐานนั้นเอง
คำอธิฏฐานนี้ ย่อมเป็นอุปการคุณทั่วไปในการกุศลทั้งปวง
ผู้จะให้ทาน ก็ต้องมีอธิฏฐานบารมี คือความตั้งใจมั่นว่า
วันหนึ่งเราจะให้ทานสิ่งนั้นสิ่งนี้เท่านั้นเท่านี้
ผู้จะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ก็ต้องมีอธิฏฐานบารมี
คือความตั้งใจว่า เราจะรักษาศีล ๕ เราจะรักษาศีล ๘

คำสมาทานที่ว่า สมาทิยามิ นั้น ก็คือคำอธิฏฐานนั้นเอง
ผู้จะไหว้พระสวดมนต์ ผู้จะเจริญสมถะวิปัสสนา ก็ต้องมีอธิฏฐานบารมีกำกับทั่วไป
ถึงแม้ท่านทั้งหลายที่พากันมาฟังพระธรรมเทศนา
และสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ทุกวันนี้ ก็สำเร็จด้วยอธิษฐานบารมี
คือความตั้งใจมั่นในกิจอันเป็นกุศลของตนนั่นเอง
ผู้ที่บวชเรียนอยู่ในพระพุทธศาสนาที่อยู่ได้นาน ๆ หรือตลอดชีวิต
ก็อยู่ด้วยอธิฏฐานบารมี คือความตั้งใจในในหน้าที่ของตนนั่นเอง
ความตั้งใจ ชื่อว่า เจตนา ถ้าตั้งใจในกิจที่ชอบ เป็นบุญเป็นกุศล ชื่อว่า กุศลเจตนา
ถ้าตั้งใจในกรรมที่ผิด ที่เป็นบาป ชื่อว่า อกุศลเจตนา
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัสว่า เจตนาเป็นตัวกรรม
ดังที่มาว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดังนี้ ความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า เจตนาเป็นตัวกรรม ดังนี้

อาศัยนัยนี้การวินิจฉัยวัฏฏะ ๓ จึงยกกรรมขึ้นก่อน คือเจตนาที่คิดดีคิดชั่วขึ้นก่อนเป็นกรรม
ออกมาเป็นการงานของกายของวาจาเป็นกิเลส ให้ผลเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นตัววิบาก
ถ้าความสุขเป็นสิ่งที่ปรารถนา ก็คิดการรักษา ถ้าความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ปรารภนา
ก็คิดหาทางแก้ไข เป็นเจตนากรรมอีก หมุนกันอยู่อย่างนี้ เรียกว่า ไตรวัฏฏ์
ผู้ที่ตัดไตรวัฏฏ์ไม่ขาด ปล่อยให้เขาหมุนอยู่อย่างนั้น
ย่อมเป็นอริยสังโฆชั้นสูง ชั้นพระอรหันต์ไม่ได้ ตามที่มาใน รัตนสูตร ว่า
ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ, วิรตฺตจิตฺตายติเก ภวสฺมึ,
เต ขีณพีชา อวิรุฬฺหิ ฉนฺทา, นิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป
ดังนี้

มีเนื้อความว่า ไตรวัฏฏ์เท่าที่มีแล้วในกาลก่อนของพระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่าใดสิ้นไปแล้ว
ส่วนใหม่ซึ่งจะก่อให้เกิดวิบากขันธ์ต่อไปอีกมิได้มี พระอริยเจ้าทั้งหลายเกล่านั้น
ท่านมีจิตเบื่อหน่าย ไม่มีความยินดีในภพที่จักมีต่อไปในเบื้องหน้า
พระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นมีกรรมวัฏและกิเลสวัฏ ซึ่งเป็นพืชพันธุ์แห่งวิบากวัฏสิ้นไปแล้ว
มีฉันทะมิได้งอกงาม ท่านมีปัญญาชัชวาล ตลอดถึงขันธปรินิพพาน
ด้วยอันดับแห่งจริมกจิตดวงหลัง ดังประทีปดวงนี้ติดขึ้นแล้วและดับไปฉะนี้ ดังนี้

ชักมาแสดงพอให้เข้าใจลักษณะของไตรวัฏในอธิฏฐานบารมี
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมาเต็มรอบแล้ว
จึงได้นำมาแจกแก่พุทธบริษัท ผู้ที่รับแจกได้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงตาม
ก็ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานนับด้วยโกฏิด้วยล้านไม่ถ้วน
ส่วนพวกเราทั้งหลายก็เป็นสาวกสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกันทุกคน
เมื่อเข้าใจว่า อธิฏฐานบารมีอาให้ผลสำเร็จได้จริง
ก็ควรจะบำเพ็ญให้เต็มรอบในชาตินี้แหละ เป็นการชอบยิ่ง
ที่จักผัดวันปันเมื่อไปถึงชาติหน้าภพหน้า ไม่เป็นการน่ายินดีเลย
เพราะยังเป็นคนมีคติยังไม่แน่นอน ถ้าพลาดเผลอไถลไปเกิดเสียในสุคติ
ก็จักเสียกาลเวลาไม่ใช่น้อย ถึงอย่างไรก็ควรตั้งอธิฏฐานบารมี
คือตั้งใจให้มั่นในไตรสิกขา อันเป็นที่ประชุมแห่งพระอริยมรรคให้เต็มขีด
ซึ่งเป็นของไม่เหลือความสามารถ พอที่จักพากเพียรให้เกิดให้มีได้
ที่ทำไม่ได้ทุกวันนี้ ขาดศรัทธาอันเดียวเท่านั้น เพราะพระยามารคือกามกิเลส
ล่อลวงให้เดินในทางผิดร่ำไป พระยามารทำเป็นมิตาให้ความสุขในต้นมือ
ถ้าเราหลงเชื่อเขาอยู่อย่างนี้จะเอาตัวไม่รอด
ลงท้ายเราจะต้องได้รับความทุกข์ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าไม่มีที่สิ้นสุด

ความทุกข์อันใดจะมายิ่งใหญ่เท่าความไม่สมหวัง เป็นอันไม่มีในโลก
ความสมหวังเป็นความสุขอย่างสำคัญในโลก ก็โลกเป็นของไม่เที่ยง
ไม่แน่นอนอยู่โดยธรรมดาของเขา เราจะไปหาความสมหวังทุกหน้าที่
จะมีทางได้แต่ที่ไหน ความจริงความสุขในกาม
อันพระยามารล่อลวงให้เราหลงให้เราเพลินนั้น ล้วนแต่ห้อมล้อมอยู่ด้วยทุกข์ทั้งนั้น
ความทุกข์อันเราจะพึงถึง คือความชราทุพลภาพ
หูหนวก ตามัว ร่างกายคดค่อม ไปมาลำบากยากเข็ญทุกหน้าที่
ยังพยาธิความป่วยไข้สารพัดโรคนับไม่ถ้วน
ถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องได้รับความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาแสนสาหัส
ยังมรณะความตายอีก ก็แสนลำบาก ตัวเองก็ไม่อยากตาย
คนอื่นก็ไม่มีใครอยากให้ตาย ตายไปดื้อ ๆ อย่างนั้นเอง
ความทุกข์เหล่านี้น่าสยดสยองยิ่งนักหนา จำเพาะจะมาถึงเราทุกอย่าง
ครั้นความป่วยไข้ความตายมาถึงเข้า ก็พากันร้องไห้ละ
ทีนี้การร้องไห้นั้นมีความประสงค์อะไร โกรธให้ความตาย หรือโกรธให้ผู้ตาย
หรือโกระว่าตัวไม่มีอำนาจห้ามไม่ให้เขาตายไม่ได้
รู้ไหมว่า ใครเป็นเจ้าของตาย ใครเป็นผู้ให้ตาย เขาตายไปทำไม
เขาเกิดมาทำไม ตรองดูให้ดีซี ตอบปัญหาให้ได้ทุกข้อ
อย่ามัวแต่ร้องไห้ หาเหตุหาผลมิได้ เขาจะว่าเราเป็นคนบ้า

ความทุกข์เหล่านี้มาแต่อวิชชาเป็นต้นเหตุ เพราะมืดไม่รู้จึงตอบปัญหาไม่ถูก
ให้พึงเข้าใจว่า ถ้าเรายังอ่อนแอ ไม่บำรุงศรัทธาให้บริบูรณ์แล้ว
ก็จักได้รับทุกข์เหล่านี้ไม่ทีที่สิ้นสุด เพราะเหตุนั้นจึงควรปลูกศรัทธา
ความเชื่อในคุณพระรัตนตรัย เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
เชื่อต่ออธิฏฐานบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วตั้งใจให้มั่น บำเพ็ญกองศีล กองสมาธิ กองปัญญาให้เต็มรอบ
แล้วหมั่นตรวจตรองในวิปัสสนากัมมัฏฐาน
เพ่งสังขารร่างกายของตนจนให้เกิดญาณทัสสนะ รู้จริงเห็นจริงว่า
ส่วนนี้เป็นสังขาร ส่วนนี้เป็นวิสังขาร ธรรมดาของสังขารนั้น
เป็นของแต่งได้ คือแต่ให้เป็นบุญเป็นบาป แต่งให้ดีให้ชั่วได้

ส่วนวิสังขารแต่งไม่ได้ ต้องปล่อยให้แก่ความเป็นเองตามสภาพของเขา
การรู้เท่าสังขารนี้แล เป็นทางมรรคผลนิพพาน
ถ้ามีอธิฏฐานบารมี ตั้งใจมั่นในไตรสิกขา มีความมุ่งหวังต่อโลกุตรธรรมโดยตรง
เพราะเห็นโทษแห่งสังขาร ดำเนินในอริยมรรคญาณ
ก็คงจะสำเร็จตามความมุ่งมาตรปรารถนา
ให้พุทธบริษัทหมั่นมนสิการดำเนินตาม ก็จักสำเร็จนิพพานสุขอันไพศาล
พ้นชาติ ชรา มรณะกันการโดยไม่ต้องสงสัย ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ


:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า กลางเดือนอ้าย (๘/๙/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี]


:b50: :b50: ทศบารมีวิภาค : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=56279

:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908

เจ้าของ:  Duangtip [ 20 ก.ค. 2018, 06:54 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 21 ส.ค. 2023, 18:38 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์)

:b8: :b8: :b8:
Kiss

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/