วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 02:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2018, 10:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สอนวิธีเจริญสติ
๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘

รูปภาพ

โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร
เรียบเรียงโดย แม่ครูนราวรรณ กุลธรชุติภาส

เมื่อเกิดความรู้สึกเหนื่อย เพลีย ซึมๆ ขยายความรู้สึกให้กว้างไม่ได้ ให้จับที่ความรู้สึกไม่ต้องขยาย ความรู้สึกอยู่ตรงไหนก็จับตรงนั้น ความรู้สึกอยู่ใกล้รูปก็ให้จับความรู้สึกที่อยู่ใกล้รูป ความรู้สึกอยู่ในรูปก็ให้จับความรู้สึกที่อยู่ในรูป จับความรู้สึกได้แล้วตัวตนจะหายไป เมื่อไม่มีตัวตนความรู้สึกก็จะกว้างออกเอง สติจะใสขึ้นตื่นตัวขึ้นเอง ให้เอาความรู้สึกที่ใสตื่นตัวนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อ ถ้าเอาความรู้สึกที่ใสตื่นตัวนั้นไปวางข้างหน้าอย่างเดียว ก็จะเป็นไปเรื่อยๆ อยู่อย่างนั้น ความใสตื่นตัวก็จะค่อยๆอ่อนกำลังลง จะต้องจับที่ความรู้สึกที่ใสตื่นตัวที่วางอยู่ข้างหน้าอีกต่อหนึ่ง เพราะนั่นคือการกำหนดดูจิตในจิต เมื่อทำอย่างนี้จะรู้สึกถึงความรู้สึกที่มีกำลังมากขึ้น จากนั้นต้องรู้ถึงเจตนาที่จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรต่อด้วย ไปกำหนดรู้อารมณ์ ไปกำหนดรู้เสียง ไปกำหนดรู้ความคิด ไปกำหนดรู้อิริยาบถย่อย ต้องกำหนดรู้อย่างนี้ไม่งั้นเหมือนกับไม่ได้ทำอะไร แค่ยกจิตขึ้นสู่ความรู้สึกทำให้ตื่นตัวแล้วก็ธรรมดา ไม่ได้เจาะสภาวะ ต้องกำหนดรู้อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะต้องสานต่อไปเลย เอาพลังจิตตัวนี้มาใช้ประโยชน์ไม่งั้นไม่เกิดประโยชน์

ขณะเปลี่ยนอิริยาบถย่อยก็ต้องจับที่ความรู้สึกต้องทำให้ต่อเนื่อง กำหนดไม่ต่อเนื่องความรู้สึกที่ใสตื่นตัวจะลดลงเรื่อยๆที่สุดแล้วก็เฉยๆ ขณะที่นั่งต้องมีเจตนาที่จะรู้ว่าเรานั่งทำอะไร จิตทำงานนะ กายพักไม่ทำจิตต้องทำไม่งั้นไม่ตื่นตัว ขณะที่กายไม่ได้ทำงาน จิตต้องกำหนดรู้ถึงการไม่ทำของกาย จิตต้องกำหนดรู้ถึงการพักของกาย ไม่งั้นพอกายไม่ทำกายสงบนั่งเฉยๆ แล้วจิตไม่ทำงานด้วย คือจิตไม่พิจารณาสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อจิตไม่ทำงานก็หยุด พอหยุดก็จะเฉื่อยลงๆ ถ้าจิตเรายังมีการกำหนดพิจารณาสภาวะ มีการพิจารณาอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีอาการอย่างไร ขณะที่รูปมีการเปลี่ยนแปลง นามหรือความรู้สึกมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ขณะที่เห็นว่ารูปมีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกที่ใสตื่นตัวนั้นมีกำลังมากขึ้นหรือน้อยลง ความรู้สึกที่ทำหน้าที่กำหนด ในแต่ละครั้งแต่ละขณะมีช่องว่างหรือติดกัน รูปมีอาการเกิด-ดับ จิตมีอาการเกิด-ดับหรือไม่

เมื่อจิตเราทำงานตลอดเวลาก็จะมีความตื่นตัวต่อๆไปเรื่อยๆ สติก็จะมีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ สภาวญาณก็จะก้าวหน้าขึ้นชัดเจนขึ้นด้วย กำลังความใสตื่นตัวบางครั้งก็ดีบางครั้งก็ตก เกิดจากไม่ได้พิจารณาสภาวะอย่างต่อเนื่อง มีสมาธิอย่างเดียวไม่มีความตื่นตัวสติก็อ่อนก็เฉื่อย เมื่อต้องการให้จิตตื่นตัวให้เพิ่มตัวมุ่งพร้อมกับกำหนดทิศทาง ทิศทางก็คืออารมณ์ที่ต้องการกำหนดรู้ ความตื่นตัวก็มีกำลังมากขึ้น ทำให้รูป-นามคล่องแคล่วขึ้น เมื่อสติ สมาธิสมดุล ปัญญาก็เกิด แต่ถ้าสมดุลกันแล้วไม่พิจารณาไม่กำหนด ปัญญาก็ไม่เกิดอีก ต้องพิจารณาอาการอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย พิจารณาลักษณะการเปลี่ยนแปลง หรือพิจารณาอาการเกิด-ดับของสภาวะที่เกิดขึ้น สภาวญาณก็จะปรากฏชัดขึ้น ความสงบ นิ่งๆ เฉยๆ คือสมาธิเป็นการสงบจากอารมณ์ แต่ถ้ามีสติกำหนดด้วยก็จะเป็นการเจริญวิปัสสนา จิตมีความตื่นตัวพร้อมที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมที่จะกำหนดรู้ พร้อมที่จะพิจารณาอารมณ์ต่างๆ จิตชนิดนี้จะมีความเพียรมาก ไม่เกิดอาการเบื่อหน่ายการงานที่ต้องทำ ต้องกำหนดรู้ ต้องพิจารณา ความซึมเซาไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นสมาธิที่สงบเงียบเฉยๆ จะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลยได้พักอย่างเดียว อาการนิ่งสงบเป็นสมถะ นิ่งสงบอย่างเดียวจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ตาม ถ้าไม่เห็นอาการเกิด-ดับ ก็จะเป็นสมถะที่มีแต่สมาธิ เพราะไม่เห็นอาการเกิด-ดับของอารมณ์ วิปัสสนาปัญญาไม่เกิด อาการพระไตรลักษณ์ไม่ปรากฏ ในความนิ่งสงบจะต้องกำหนดรู้ถึงอาการนิ่งสงบด้วย ความตื่นตัวจึงจะมีกำลังต่อเนื่อง

ขณะที่ได้ยินเสียง เอาความรู้สึกเข้าไปกำหนดรู้ในเสียงนั้น ก็จะรู้สึกว่าทั้งได้ยิน ทั้งเห็นอาการเกิด-ดับเปลี่ยนแปลงด้วย เห็นบัญญัติและปรมัตถ์สลับกัน เสียงที่ฟังรู้เรื่อง (รูปบัญญัติ) มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน เป็นคนละส่วนกับความรู้สึกที่ทำหน้าที่กำหนดรู้ เสียงที่มีอาการเกิด-ดับ (รูปปรมัตถ์) ไม่เป็นกลุ่มก้อน มีอาการเกิด-ดับพร้อมกับความรู้สึก เมื่อยกจิตเข้าไปรู้อาการเกิด-ดับของเสียง จะเห็นว่าอาการเกิด-ดับที่ปรากฏขึ้นในความว่างไม่มีรูปร่าง นั่นเป็นอารมณ์ปรมัตถ์เป็นญาณสูงแล้ว และถ้าหากรับรู้บัญญัติก็เป็นบัญญัติที่ไม่มีตัวตน เป็นญาณที่ 1 คือแยกรูปแยกนามได้แต่ไม่เห็นอาการเกิด-ดับ แต่ถ้ามีเจตนาที่จะสังเกตอาการเกิด-ดับของอารมณ์ที่เกิดขึ้น สภาวญาณต่อไปก็จะปรากฏให้เห็น เห็นว่าเวลาเกิดๆ อย่างไร เวลาดับๆอย่างไร ถ้าสติมีกำลังเราสามารถที่จะยกจิตขึ้นสู่ญาณสูงได้เลย (อารมณ์ที่ละเอียดขึ้นไปอีก) หรือว่าจะเริ่มจากญาณต่ำก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาของเราในขณะนั้น ถ้าเข้าไปรู้เข้าไปเกาะติดกับอาการปรมัตถ์เลย ก็จะเข้าถึงญาณสูงได้อย่างรวดเร็ว ทำอย่างนี้ได้สติต้องมีความใสคมชัดนะ ต้องมีความตื่นตัวมีความนิ่ง จึงเกาะติดหรือจับอารมณ์นั้นได้ เวลาปฏิบัตินี่กำลังของเราขึ้นเป็นขณะๆเป็นลำดับ ถ้ากำลังเราไม่ถึงเราไม่สามารถกระโดดไปถึงตรงนั้นได้ในทันที ขึ้นได้นิดเดียวเดี๋ยวก็ตกลงมาเพราะกำลังไม่ถึง จะเกาะติดอาการปรมัตถ์ไปได้ตลอดสติต้องมีกำลังมากเป็นพิเศษจริงๆ

การที่เราไม่รู้ลักษณะญาณดีอย่างหนึ่งแล้วก็ไม่ดีอย่างหนึ่ง ดีนั้นทำให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติ ไม่ดีทำให้จิตตกได้ง่ายถ้าหากไม่สมหวัง ที่ถูกให้รู้ว่าเป็นสภาวญาณก็พอ ไม่ต้องไปรู้ว่าญาณนี้ ญาณ 11 ญาณนี้ 12 ญาณ 13 สุดท้ายเดี๋ยวจ้องแล้ว จ้องเมื่อไหร่ตัวตนก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเรารู้ว่าอ๋อ! อันนี้เป็นลักษณะของสภาวะ แล้ววิธีเข้าถึงสภาวะอันนี้ต้องทำอย่างนี้ ทำแล้วสภาวะจะก้าวหน้าได้เร็วขึ้นเพราะเหตุนี้ นี้คือสิ่งที่ต้องรู้ต้องเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้กำลังใจ ความเพียรก็เกิด รู้ว่าเกาะติดสภาวะได้เมื่อไหร่โอกาสขึ้นญาณสูงก็เกิดขึ้น มีแต่จิตที่ทำหน้าที่รับรู้ไม่มีเราเป็นผู้รับรู้ มีแต่รูปกับนามที่ทำหน้าที่เท่านั้น ขณะกำหนดเสียง เสียงเป็นรูปความรู้สึกเป็นนาม นามทำหน้าที่รับรู้เสียงไม่มีเราเป็นผู้รับรู้ มีแต่รูป-นามเท่านั้น รูปเกิดขึ้นนามทำหน้าที่รับรู้แค่นั้นเอง นี่คือสภาวะ นี่คือธรรมชาติของรูป-นาม พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี่คือภาวะความเป็นอนัตตา สภาวะเหล่านี้ถ้าพูดออกมาสื่อออกมาได้จะดีมากๆ เมื่อตัวตนดับไปไม่มีเราแล้วเหลืออะไร ก็เหลือแต่รูปกับนาม เสียงเป็นรูปความรู้สึกเป็นนาม

ขณะกำหนดเวทนาให้ขยายความรู้สึกให้กว้างกว่าเวทนา แล้วจับที่ความรู้สึกที่รู้ในเวทนาเพียงอย่างเดียว แค่รู้สึกนะ เมื่อมีอาการกระทบแล้วให้ปล่อยอาการนั้นผ่านรูป (ตัว) กระทบแล้วปล่อยให้ผ่านรูปๆ ให้สังเกตดูว่าขณะที่ผ่านรูป (ตัว) อารมณ์นั้นผ่านในลักษณะอย่างไร ผ่านแบบแผ่วเบา ผ่านแบบวูบหาย ผ่านแบบเลือนหาย หรือจะสังเกตตรงจุดกระทบก็ได้ กระทบแล้วมีอาการเป็นอย่างนี้ๆ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น อย่างนี้เรียกว่ากำหนดดูอาการ ขณะที่รูปมีเวทนาจิตจะเป็นอุเบกขา รูปมีอาการแปรปรวนไม่มีใครเบิกบานได้หรอก แค่อุเบกขามีแต่อาการเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าพิเศษแล้ว ธรรมชาติของจิตต้องทำหน้าที่รับรู้ ถ้าปรุงแต่งเป็นอกุศลก็เกิดกิเลสเกิดความทุกข์ขึ้นมาถ้าปรุงแต่งเป็นกุศลก็เกิดสุข ขณะที่เกิดภาวะกดดันให้สังเกตดูว่า อารมณ์ข้างนอกกดดันความรู้สึกใช่มั้ย ลองให้อารมณ์นั้นผ่านรูปไปจะรู้สึกอย่างไร ให้พิจารณาสังเกตดูความกดดันที่อยู่ข้างหน้า มีอาการผลักเข้ามาทำให้อึดอัดใช่มั้ย พอรู้สึกอึดอัด 1. ให้ความกดดันนั้นผ่านรูปเราไปเลย 2. ขยายความกดดันให้กว้างออกแล้วให้เลยไปข้างหลัง สังเกตดูว่าผ่านได้มั้ย ผ่านได้ใช่มั้ย ที่ว่าผ่านรูปความรู้สึกต้องกว้าง บาง หรือเบา อย่างใดอย่างหนึ่งถึงจะผ่านได้ ต้องทำความรู้สึกให้ว่างด้วยการปล่อยความรู้สึกให้กว้างออก ให้แรงกดดันผ่านรูปไปอาการนั้นก็จะหายไป อารมณ์บัญญัติ (ความเป็นกลุ่มก้อน) เป็นเหตุให้เรารู้สึกกดดัน ความกดดันเกิดจากมีตัวตน เมื่อต้องการดับความกดดันให้ใช้วิธีดับตัวตนก็ได้ เมื่อตัวตนหมดไปความกดันจะหายไปด้วย เหตุหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติช้านั้น เกิดจากไม่ได้เอาวิธีที่สอนไปใช้ต่อ ไม่ได้ทำต่อเนื่อง เช่นบอกให้เอาความรู้สึกมุ่งเข้าไปกำหนดที่อาการ มุ่งทีเดียวแล้วก็หยุดไม่ได้กำหนดต่อ บางครั้งพอมีอาการอื่นเกิดขึ้นมุ่งครั้งเดียวแล้วก็หยุด มุ่งเฉพาะอาการที่บอกอาการเดียว พอบอกให้เอาความรู้สึกเกาะติดอาการ เกาะได้ชั่ววันหนึ่งพอวันต่อไปไม่ทำต่อแล้ว ไม่ได้เกาะอาการอีกไม่กำหนดต่อ ตรงนี้แหละ บางทีพอไม่เกาะก็ถอยกลับมา พอเกาะก็จะดีขึ้น พอเกาะไม่ได้ก็ไม่พยายามที่จะเอาความรู้สึก เข้าไปเกาะอาการนั้นให้ได้ พยายามหาอาการหาอารมณ์ใหม่ ความใสของสติก็เลยมีอาการขึ้นๆลงๆ สภาวญาณก็เลยไม่ก้าวหน้า ญาณหมายถึงปัญญา ที่สามารถเข้าไปเห็นอาการพระไตรลักษณ์ในขณะนั้น เห็นอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอารมณ์นั้นในขณะนั้น

เมื่อขยายความรู้สึกให้กว้างกว่ารูปจิตจะมีกำลัง พอจิตมีกำลังให้เอากำลังนั้นไปใช้ประโยชน์ ด้วยการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์หลักอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเดิน เสียงที่ได้ยิน อาการของลมหายใจ อาการพอง-ยุบ หรือว่าอาการเกิด-ดับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ยกจิตเข้าไปเกาะติดกับอาการเกิด-ดับที่ปรากฏขึ้นมา ต้องเข้าใจนะว่า ต้องอาศัยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งของ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ความเย็น ร้อนอ่อน แข็ง หย่อน ตึง) ความรู้สึก หรือธัมมารมณ์ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดแล้ว อยู่ๆก็เกิดแล้ว อย่างนี้ไม่ดีต้องรู้ว่าเป็นอาการเกิด-ดับของอารมณ์อะไร กำหนดอารมณ์อะไรอยู่อาการเกิด-ดับจึงได้ปรากฏขึ้นมา บางคนกำหนดอารมณ์หลักไม่ชัดเจน พอหายปุ๊บจะกำหนดต่อไม่รู้จะกำหนดอะไรต่อ เพราะไม่มีอารมณ์หลักที่ชัดเจนแน่นอน กำหนดอารมณ์อยู่ มีเสียงปรากฏชัดขึ้นมาในความว่าง จะต้องกำหนดเสียงที่อยู่ในความว่างนั้นทันที เมื่อมีอาการเกิด-ดับเกิดขึ้น ก็สามารถรู้ได้ในทันทีว่าเป็นอาการเกิด-ดับของเสียง บางครั้งขณะกำหนดนั่งอยู่จะมีอาการคล้ายชีพจรเต้นตุ้บๆไม่มีรูป แต่รู้สึกได้ถึงอาการเต้นนั้น นั่นเป็นอาการของรูปละเอียด ให้เอาความรู้สึกเข้าไปเกาะติดกับอาการเต้น แล้วให้พิจารณาอาการเต้นนั้นมีอาการอย่างไร เต้นสม่ำเสมอ เดี๋ยวช้าเดี๋ยวเร็วไม่แน่นอน อาการเต้นยิ่งกำหนดยิ่งชัดยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือยิ่งกำหนดยิ่งละเอียดยิ่งเล็ก เป็นอาการเล็กลงเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องคงที่ เป็นอาการเล็กลงที่ไม่คงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ขณะที่กำลังกำหนดพิจารณาอาการเหล่านี้อยู่ ถ้าหากมีอารมณ์จรแทรกเข้ามา ให้ไปกำหนดอารมณ์จรก่อน ถ้าหากอารมณ์จรนั้นหมดไปก็ให้หลับมากำหนดอาการเต้นต่อ วิปัสสนาต้องอาศัยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในการเจริญสติ เพื่อให้เข้าถึงแก่นของอารมณ์นั้นๆ เข้าถึงความไม่มีตัวตนในทุกๆอารมณ์ทุกๆอาการ เพื่อยุติความสงสัยในรูป-นามขันธ์๕ ด้วยตนเอง เป็นการยุติที่ไม่ได้เกิดจากการฟัง การคิด หรือจากความเชื่อ เป็นการยุติที่เกิดจากการปฏิบัติ รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง

ขณะกำหนดเกิดอาการยิบๆข้างนอก เป็นอาการของรูปละเอียด ที่รู้สึกว่าอยู่ข้างนอกเกิดจากไม่มีตัวตน ไม่มีเรา เราต้องรู้ว่าอาการนี้เป็นอาการของรูปอะไร อย่างขณะที่เรากำหนดอาการนั่ง เราจะเห็นว่าอาการนั่งเป็นกลุ่มก้อนมีรูปร่าง รูปนั่งกับความรู้สึกเป็นคนละส่วน มีความรู้สึกว่ารูปนั่งที่ถูกกำหนดรู้ไม่ใช่ตัวเรา ส่วนความรู้สึกขณะนั้นยังเป็นเราอยู่ พอเป็นอย่างนี้จะต้องทำลายความรู้สึกที่ยังรู้ว่าเป็นเรา ให้เอาความรู้สึกเข้าไปในความรู้สึกที่เป็นเรา ความรู้สึกที่เป็นเราจะหายไป เหลือแต่ความรู้สึกล้วนๆ เป็นความรู้สึกที่ทำหน้าที่รับรู้เท่านั้น รูปตัวก็ไม่ใช่เรา นามหรือความรู้สึกก็่ไม่บอกว่าเป็นเราหรือเป็นใคร นามมีหน้าที่รับรู้เพียงอย่างเดียว ต้องสังเกต ต้องกำหนดทุกขั้นตอนนะ ทำอย่างนี้สติจะไม่หลุดจากอารมณ์ปัจจุบัน กำหนดต่อไปรูปนั่งที่เป็นกลุ่มก้อนชัดเจน จะบางลงๆ ยิ่งกำหนดยิ่งบาง จากที่มีรูปร่างมีหน้าตาก็เริ่มเลือน กำหนดต่อไปอีกตรงนี้สำคัญนะ รูปมีความบางมากขึ้นหน้าตาก็ค่อยๆหายไป พอกำหนดไม่ทันปัจจุบันหน้าตาก็แวบขึ้นมาให้เห็นอีก พอกำหนดได้ปัจจุบันหน้าตาก็หายไปอีก พอสติอ่อนมากๆ หน้าตา รูปร่างก็เป็นผืนเดียวกัน เห็นชัดว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร พอสติอ่อนลงมาอีกก็รู้เลยว่านั่นคือเรา พอสติมีกำลังมากขึ้นก็เห็นแวบๆส่วนนั้นส่วนนี้อีก เห็นปุ๊บหายๆ แค่รู้ว่าเป็นตาแต่ยังไม่บอกว่าเป็นตาของใคร แค่รู้ว่าเห็นยังไม่บอกว่าเห็นอะไรก็แวบหาย ถ้านึกก็ยังนึกออกว่าเป็นอะไรหรือเป็นใคร บางครั้งเห็นตาแวบขึ้นมานิดนึงแล้วแวบหายไปอย่างรวดเร็ว อาการที่รู้ถึงส่วนนั้นส่วนนี้จากที่เกิดบ่อยก็ค่อยๆน้อยลงๆ เป็นอาการน้อยลงที่อยู่นิ่งๆ หลังแวบหมดจะมีอาการนิ่งๆ สลับอยู่อย่างนี้จนกว่าสติจะมีความใสมากขึ้น รูปที่นิ่งก็เริ่มมีอาการยิบๆ นี่คือการเข้าไปรู้ เข้าไปเห็นถึงธรรมชาติของรูป ต้องรู้ให้ละเอียดอย่างนี้จึงจะเรียกว่ากำหนดต่อเนื่อง


บางครั้งเรานั่งหลับตาปุ๊บเหมือนกับรูปเรากว้างออกใหญ่ขึ้น อาการนี้จะเกิดขึ้นได้ความรู้สึกของเราต้องอยู่ข้างในหรืออยู่หลังรูป (รูป) รู้สึกมั้ยว่ารูปเราใหญ่ไม่ใช่หนานะ พอไม่มีตัวตนไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเรา อาการยิบๆ เกิดขึ้นจึงรู้สึกว่าอยู่ข้างนอก อาการยิบๆ เป็นอาการของรูปละเอียด (ตัว) เราต้องรู้ว่าจิตเราอยู่ในรูปหรือว่านอกรูป รู้สึกมั้ยว่าอยู่หลังรูปบัญญติ (รูปตัว) แต่ขณะเดียวกันเหมือนกับอยู่ข้างในรูปละเอียด ทำไมจึงรู้ว่าอาการยิบๆ ที่เกิดขึ้นในความว่างที่เราเห็น เป็นอาการของรูปอะไร เกิดจากเรามีสติกำหนดต่อเนื่อง เห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปเป็นขั้นเป็นตอน เกิดความมั่นใจเราจึงบอกได้ว่าเป็นอาการของอาการอะไร อาการยิบๆเป็นอาการเปลี่ยนแปลงของรูปที่กำลังกำหนดอยู่ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นๆ ต้องรู้ด้วยนะ อาการยิบๆเป็นอาการของรูปไม่ใช่นาม (ความรู้สึก) ถ้าเป็นความรู้สึกจะไม่มีอาการยิบๆหรอก ความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นหนึ่งครั้ง (จิตหนึ่งดวง) จะดับครั้งเดียว อาการยิบๆเป็นอาการแตกกระจายของรูปบัญญัติ นามแตกกระจายไม่ได้มีแต่ดับอย่างเดียว สังเกตดูนะ จับที่ความรู้สึกที่ทำหน้าที่รับรู้เสียง ความรู้สึกที่ทำหน้าที่รับรู้มีอาการแตกกระจายมั้ย เมื่อสังเกตจะเห็นว่า ที่แตกกระจายนั้นเป็นรูปไม่ใช่ความรู้สึก ที่บอกว่าเป็นรูปเพราะอาการแตกกระจายรับรู้ไม่ได้ ความรู้สึกรับรู้ได้ รับรู้ทีเดียวแล้วก็หมด ความรู้สึกจึงไม่แตกกระจาย คำว่าแตกกระจายกับขยายกว้างออกก็ไม่เหมือนกันนะ แตกกระจายจะไม่เป็นกลุ่มก้อนรูปร่าง ขยายกว้างไม่มีอาการยิบๆ อาการยิบๆ เกิดจากรูปไม่รวมตัว ขยายกว้างออกเกิดจากการรวมตัวของรูป ขณะที่มีอาการยิบๆแตกกระจายออก ความรู้สึกที่รับรู้จะรับรู้ถึงอาการแตกกระจาย แต่ความรู้สึกไม่แตกกระจาย แตกกระจายเป็นพรุเป็นอาการของรูปไม่ใช่ความรู้สึก แตกเป็นเหมือนเม็ดฝนระยิบระยับไปหมดเป็นอาการของรูป แตกออกเป็นเสี่ยงๆเป็นอาการของรูป พุ่งขึ้นมาแล้ววูบหายไปเป็นอาการของรูป แตกเป็นหย่อมๆเป็นอาการของรูป อาการไหวๆ เป็นอาการของรูป ไหวในลักษณะเป็นเงาๆเป็นอาการของรูป ไหวแบบรู้บ้างไม่รู้บ้างเป็นอาการของนาม (ความรู้สึก) รู้แบบหายๆเป็นอาการของนาม ถ้าเอาความรู้สึกเข้าไปเกาะติดกับอาการก็จะเห็นชัดขึ้น ให้เกาะติดอาการด้วยการจับที่ความรู้สึกที่รู้ถึงอาการไหวๆ อาการไหวๆจะค่อยๆลดน้อยลง ให้จับความรู้สึกที่รู้ถึงอาการค่อยๆลดน้อยลงนั้นต่อ จากนั้นก็จะมีอาการคล้ายเป็นแผ่นใสๆแยกส่วนออกแล้วหายไปๆ อันนี้เป็นอาการของรูปนะไม่ใช่ความรู้สึก ถ้ามีอาการแยกเป็นชั้นรูปร่างชัดเจนนั่นเป็นบัญญัติ

ขณะที่เห็นอาการเกิด-ดับเราต้องบอกได้นะ ว่าเป็นอาการเกิด-ดับของรูปหรือของนาม ถามว่าเป็นอาการเกิด-ดับของอารมณ์อะไรต้องบอกได้ เมื่อไหร่ที่อารมณ์หรือความรู้สึกหดสั้นลง ก็จะอยู่ใกล้ตัวเข้ามา ใกล้ตัวเข้ามา ต่อมาอารมณ์นั้นก็จะอยู่เฉพาะหน้าจริงๆ อารมณ์ต่างๆจะเกิดอยู่เฉพาะหน้าให้เรากำหนด ไม่ต้องไล่ตามหรือหาอารมณ์อีกต่อไป อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ชัดขึ้นๆ เป็นอาการปรมัตถ์ เกิดอยู่ข้างหน้าแล้วก็ดับอยู่ข้างหน้า เป็นอาการเกิด-ดับพร้อมกันของรูปของนาม รูปละเอียดหมายถึงรูปที่ไม่มีรูปร่างเรียกรูปนี้ว่ารูปปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ไม่มีรูปร่างจะมีแต่อาการเท่านั้น บอกได้แต่อาการอย่างเดียว เช่นมีอาการไหวๆ มีอาการกระเพื่อมๆ มีอาการหมอกๆ มีอาการระยิบระยับ มีอาการเลือนๆคล้ายจะบอกได้แต่ก็สรุปไม่ได้ มีอาการเหมือนใช่แต่ก็ไม่ใช่ สื่อออกมาได้ยากเพราะไม่ชัดเหมือนบัญญัติ มีอาการคล้ายจะคิดแต่ก็บอกไม่ได้ว่าคิด มีอาการคล้ายจะมีแต่ก็ไม่มี คล้ายๆจะเป็นสีนี้แต่ก็ไม่ชัด คล้ายจะเป็นสีเขียวแต่ก็ไม่แน่ใจ คล้ายจะเป็นสิ่งนั้น คล้ายจะเป็นสิ่งนี้ ล้วนแล้วแต่ให้ความรู้สึกไม่มั่นใจไม่แน่ใจ ไม่กล้าสรุปว่าใช่สิ่งนี้หรือใช่สิ่งนั้น เป็นความรู้สึกที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เมื่อมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ให้กำหนดรู้อยู่ในความรู้สึกเท่านั้น ไม่ต้องไปกังวลว่าสิ่งที่กำหนดรู้อยู่นั้นเป็นอะไร คืออะไร เรียกว่าอะไร เพราะขณะที่กังวลอยู่ หรือต้องการเห็นให้ชัด รู้ให้ชัด ก็จะกำหนดรู้ไม่ทันขณะแรกของอารมณ์ เพราะอารมณ์ปรมัตถ์จะเลือนหายเร็วกว่าบัญญัติ เมื่อเป็นอย่างนี้จึงทำให้เรากำหนดลำบาก เพราะต้องพบกับอารมณ์ที่ไม่ชัดแล้วยังเลือนหายเร็วกว่าเมื่อก่อนอีก อย่างที่บอกจึงต้องจับที่ความรู้สึก การจับที่ความรู้สึกที่รู้ถึงอาการนั้นจะช่วยให้การกำหนดได้ปัจจุบันมากขึ้น การที่จะถึงเป้าหมาย ถึงจุดสุดยอดของวิปัสสนาได้นั้น ต้องอาศัยขณะแรกของอารมณ์ปรมัตถ์เท่านั้น เมื่อเกิดอาการลังเล สงสัย หรือมีความอยากเข้าไปเกี่ยวข้อง ปรมัตถ์ก็จะตกสู่บัญญัติทันทีไม่มีระหว่างคั่น เพราะอาการนี้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก จากที่ไม่มีตัวตนก็จะมีตัวตนขึ้นมาในทันทีอย่างไม่รู้ตัว ขอให้ทำความเข้าตรงนี้นะ เพราะมีประโยชน์มาก

ความรู้สึกเราบางครั้งเหมือนรอให้อาการต่างๆเกิด ถ้ามีอาการนิ่งรอจะต้องจับที่ความรู้สึกเราที่นิ่งรอ ขณะนิ่งรอตัวตนก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อต้องการดับตัวตนจึงต้องจับความรู้สึกที่นิ่งรอ นิ่งรอในความว่างก็ต้องจับอาการนิ่งรอในความว่าง นิ่งรอว่าอะไรจะเกิดในความว่าง อะไรจะเกิดนั้นเป็นอาการจ้องแล้ว ตัวตนเกิดแล้ว จึงต้องไปจับที่อาการจ้องว่าอะไรจะเกิดในความว่าง รู้ว่าจ้อง รู้ว่ารอ รู้ว่าคอย ตรงนี้ยังอยู่ใกล้ตัวตนมาก ต้องระวัง เพราะเผลอนิดเดียวตัวตนเกิดแล้วๆ จะต้องเข้าไปจับหรือเกาะติดอาการอีกทีหนึ่ง ไม่ว่าอาการหรืออารมณ์อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ต้องมีสติเข้าไปเกาะติดกับอาการนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาการของรูป ของนาม ชัดหรือไม่ชัดก็ตาม ต้องเกาะติด ต้องกำหนดให้หมด แค่รู้อย่างเดียวสภาวะไม่ก้าวหน้า อย่างมากก็แยกรูปแยกนาม (ไม่มีตัวตน) อย่างสูงก็ได้แค่ญาณที่ 3 ขณะที่เรานิ่งและจับที่ความรู้สึกที่นิ่งรอนี่ จิตจะมีพลังมีกำลัง แต่ถ้ารอไปเรื่อยๆเฉื่อยๆไม่มีความตื่นตัวอันนั้นน่ะไม่ดี ต้องนิ่งแล้วรู้ชัดว่าขณะนี้เรานิ่งสังเกตอะไร ขณะที่กำลังสังเกตให้จับที่อาการสังเกตว่า มีการเปลี่ยนแปลงหรือนิ่งสังเกตเฉยๆ อาการสังเกตมีการเปลี่ยนแปลง แล้วตัวที่ทำหน้าที่จับสังเกตมีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ต้องรู้ เข้าใจนะ ในความว่างสภาวะว่างจะว่างได้ไม่นาน แล้วก็ต้องมีสภาวะใหม่เกิดขึ้นมาอีก ต้องมีเกิดใหม่แน่นอน อาจจะเป็นความคิดของเรา ขณะรอคิดอะไรหรือเปล่า คิดหาสภาวะหรือเปล่า ถ้ามีในขณะรอให้จับอาการรอ ขณะคิดให้จับอาการคิด ขณะมองหาสภาวะให้จับอาการมองหา เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นความว่างก็ไม่ว่างแล้ว ว่างในที่นี้หมายถึงว่างจากสภาวะ ว่างไม่มีตัวตนกับว่างจากสภาวะไม่เหมือนกันนะ ตรงนี้ต้องเข้าใจนะ ขณะกำหนดให้สังเกตว่าแต่ละอาการที่เอาความรู้สึก ไปจับหรือเกาะติดมีอาการอย่างไร ให้จับที่ความรู้สึก ความจริงไม่ซับซ้อน พอพูดมากขึ้นอธิบายมากขึ้นจะรู้สึกว่าหลายชั้นขึ้น พออธิบายละเอียดแล้ว ก็จะจับอะไรไม่ถูก ก็จะเลือกสิ่งที่คิดว่าเราน่าจะทำได้ และให้ผลดี เลือกจะทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ เลือกเองหมด พอเลือกเองหมดบางทีมันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องการปฏิบัติก็เลยช้า สภาวะก็เลยขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวได้ปัจจุบัน เดี๋ยวไม่ได้ปัจจุบัน เดี๋ยวท้อแท้ เดี๋ยวเบื่อหน่าย เดี๋ยวมีตัวตน เดี๋ยวไม่มีตัวตน เดี๋ยวว่าง เดี๋ยวไม่ว่าง เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติจึงสำคัญมากๆ

ฟังเฉยๆกับการฟังด้วยการกำหนดรู้นั้นต่างกัน ถ้าเราฟังด้วยการกำหนดรู้จะมีความเข้าใจในธรรมชาติของรูป-นาม เข้าใจถึงอาการไม่เที่ยงของรูป-นาม ทั้งเห็นทั้งรู้สึกชัดว่าลักษณะอย่างนี้ๆเกิดจากความไม่เที่ยง เกิดจากบังคับไม่ได้ เกิดจากตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นความเข้าใจที่ไม่ใช่เกิดจากความคิดเรา แต่เป็นความเข้าใจที่เกิดจากการปฏิบัติของเรา เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างบังคับไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจก็มีกำลังใจกำลังใจที่รู้ว่ามาถูกทางแล้ว เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้โอกาสที่สภาวญาณก็ก้าวหน้าก็มี ถ้ารู้ว่าแค่ฟังเฉยๆสภาวก็จะเป็นพื้นๆ ธรรมดา แค่แยกรูป-นามธรรมดา เห็นชัดเกิดในที่ว่างแต่ไม่เห็นอาการพระไตรลักษณ์ ไม่เห็นอาการเปลี่ยนแปลงเกิด-ดับของอารมณ์ เป็นอาการเห็นแค่แยกรูป-นาม เวลาเล่าสภาวะต้องเล่าตั้งแต่มีเจตนาที่จะกำหนดอารมณ์อะไร เป็นต้นว่าต้องการกำหนดเสียง ขณะที่ได้ยินเสียงเอาความรู้สึกเกาะติดเสียงที่ได้ยิน ขณะที่กำหนดด้วยการเกาะติดอาการ ก็จะรู้ว่าสภาวะมันเป็นอย่างนี้ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ๆ สภาวะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ให้เล่าถึงการเปลียนแปลงของสภาวะในขณะนั้น ไม่ต้องไปกังวลว่าจะเล่าถูกหรือผิด ให้เล่าตามอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างเดียวไม่ต้องกังวล ขณะฟังเสียงให้จับที่ความรู้สึกที่ได้ยิน จะเห็นว่าการได้ยินนั้นต้องอาศัยใจด้วย การได้ยินนั้นไม่ได้เกิดจากหูอย่างเดียว ถ้าไม่มีใจการได้ยินของเราก็ไม่เกิด มีใจแต่ไม่ใส่ใจดูจิตในจิตของเราเอง ก็ไม่เห็นอาการพระไตรลักษณ์ จิตเป็นผู้ได้ยินเสียง เมื่อต้องการเห็นอาการพระไตรลักษณ์ของเสียง จึงต้องจับที่ความรู้สึกที่ได้ยิน ไม่ใช่จับที่เสียงอย่างเดียว ถ้าเราจับที่เสียงอาการพระไตรลักษณ์เกิดช้า ให้เราจับที่ความรู้สึกที่ได้ยิน จะเห็นอาการพระไตรลักษณ์ได้เร็วกว่า นี่คือประโยชน์ของการพิจารณา ของการกำหนดอารมณ์ปัจจุบัน จะเห็นลักษณะการเกิด-ดับของเสียง มีลักษณะวูบดับไปนิดหนึ่ง แล้วก็วูบดับไปอีก

บางครั้งจับเสียงแล้วมีอาการโล่งไม่เห็นอะไร เกิดจากกำลังไม่ถึงกำลังไม่พอก็จะไม่เห็น จึงบอกว่าอย่าหา นี่แหละพอหาอย่างนั้นปุ๊บคอยจ้อง พอจ้องมีตัวตนกำลังไม่พอ เพราะฉะนั้นจึงให้เกาะติดแล้วสังเกต ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ขณะต่อไปเป็นอย่างไร บางคนกำลังสติมีเท่าเดิมกำหนดเมื่อไหร่ก็จะเห็นอย่างนั้น จึงเน้นกำหนดให้ได้ปัจจุบัน ให้ทันขณะแรกให้ได้มากที่สุด เมื่อกำหนดทันขณะแรกของอารมณ์ปัจจุบันได้มากขึ้น สติก็จะมีกำลังมากขึ้นด้วย อารมณ์ต่างๆจะเกิดขึ้นมาให้เราได้เห็นได้กำหนดต่ออีก เราก็จะบอกได้เองไม่ต้องไปหาหรอก เห็นมั้ยภาพคมชัดกับภาพเบลอต้องมีคนบอกมั้ย พอเห็นปุ๊บเราจะรู้สึกเลยว่า เออ ! ภาพนี้ใสนะ คมชัดนะ ลายเส้นคมชัด ขอบคมชัดเราบอกได้เอง ภาพนี้มันเบลอๆเราก็บอกได้รู้ได้เอง ก็เหมือนอาการเกิด-ดับเหมือนกัน เห็นเกิด-ดับเป็นแบบนี้ ดับแบบเฉียบขาด เด็ดขาด ดับอย่างพลุ ต้องมีใครบอกมั้ยว่าดับแบบไหน เห็นแล้วจะรู้ได้เลยว่ามีลักษณะอย่างน อันนี้พุ่งขึ้นๆๆ ไม่เห็นดับมีแต่พุ่งขึ้นอย่างเดียว อันนี้ดับแบแตกกระจายขึ้นข้างบน อันนี้แตกแล้วก็กระจายออก เราบอกได้เพราะเราเห็นเอง ลักษณะอาการต่างๆก็เหมือนกัน ให้เล่าตามที่เห็นนั้นเลย เห็นลักษณะอาการแตกต่างกันเกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง อาจจะเกิดจาก 1. สมาธิ 2. สติ 3. ความเพียร 4. การพิจารณา มีกำลังต่างกันไม่เท่ากัน คนที่มีการพิจารณาที่ละเอียดอ่อน ก็จะเห็นรอยต่อของอาการนั้น พอสิ่งนี้ดับปุ๊บช่องว่างตรงนี้เป็นอย่างนี้ อาการใหม่เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้จะต่อเนื่องไป จะต้องเห็นช่องว่างระหว่างญาณ รอยต่อของญาณ ไม่ใช่ช่องว่างระหว่างอารมณ์อย่างเดียง ช่องว่างระหว่างอารมณ์พวกเราเห็นอยู่แล้ว ยังไงก็เห็นถ้าไม่เห็นสภาวญาณไม่ก้าวหน้า ช่องว่างระหว่างญาณนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การกำหนดในขณะนั้นต้องต่อเนื่องได้ปัจจุบันจริงๆ

ที่ปฏิบัติช้าเพราะไม่สามารถวางตำแหน่งของสติได้ ได้แต่ตามกำหนดรู้ตามดูอาการของรูปไปเรื่อย ดูแต่อาการของรูปอย่างเดียว ไม่สามารถเอาความรู้สึกเข้าไปเกาะติดในอาการได้ อาการในที่นี้หมายถึงอาการที่เกิดอยู่ในความรู้สึก อย่างเช่นขณะที่เคลื่อนไหวมือ ก็เอาจิตตามดูอาการเคลื่อนนั้นไป จะต้องเข้าไปเกาะติดอาการเคลื่อนที่ปรากฏอยู่ในความรู้สึกอีกทีหนึ่ง จะช่วยให้ญาณสูงเกิดเร็วขึ้น พอไปเกาะติดอาการที่เกิดอยู่ในความรู้สึก รูปมือจะหายไปเหลือแต่อาการ พอรูปมือหายไปอาการระยิบๆ ปรากฏขึ้นมา เริ่มเข้าสู่ญาณสูงขึ้นแล้ว เป็นลักษณะฆนบัญญัติแตก พอมีอาการยิบๆเกิดขึ้นให้สังเกตอาการยิบๆ กำหนดอาการยิบๆ ที่เกิดอยู่ในความรู้สึก ถ้าเราไปไล่ตามอาการ ไล่ยังไงก็ไม่ทันหรอก ขณะกำหนดไม่ต้องไปพยายามดูอาการยิบว่ามีรูปร่างอย่างไร เราต้องมีเจตนาที่จะกำหนดอาการขณะที่เคลื่อนด้วย สังเกตอาการเคลื่อนว่ามีลักษณะการเคลื่อนเป็นอย่างไร มีอาการต่อเนื่องหรือเป็นขณะๆ ต้องมีเจตนาที่ลึกซึ้งเข้าไปอีก ขณะเคลื่อนมีอาการเกิด-ดับๆ หรือว่าเป็นเส้นๆ ขาดเป็นช่วงๆ เคลื่อนแบบบางๆ ไหวๆ ตรงนี้ต้องสังเกตต้องพิจารณา ไม่ใช่รู้ว่าไป รู้ว่าเคลื่อนอย่างเดียว แค่รู้ว่าไปเป็นบัญญัติอย่างเดียว จะต้องมีเจตนาที่จะเข้าไปสังเกตว่าขณะไปมีอาการอย่างไร ขณะเคลื่อนไหวมีอาการเป็นอย่างไร ต้องมีความสังเกตอย่างนี้จึงจะเข้าถึงปรมัตถ์ได้

เมื่อถูกความคิดรบกวนตลอดเวลา เห็นแต่ความต่อเนื่องของความคิดตั้งอยู่ตลอดเวลา เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าความคิดนั้นไม่มีการดับ ลองดูนะ วิธีพิสูจน์ความคิด ลองคิดถึงเรื่องอะไรก็ได้ครั้งเดียว ครั้งเดียวนะ แล้วบังคับให้ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นตั้งอยู่สัก10นาที ตั้งอยู่ได้หรือเปล่า ถ้าสังเกตจะเห็นว่าตั้งอยู่ไม่ได้มีอาการแวบไป ต้องคิดซ้ำ ต้องคิดใหม่ใช่มั้ย บังคับไม่ได้ นี่คืออนัตตา นี่คือความไม่เที่ยงของความคิด ถ้าความคิดเข้ามาเยอะให้ใช้วิธีสังเกตอย่างนี้ อันนี้เข้ามาดับอย่างนี้ อันนั้นเข้ามาดับอย่างนี้ เราจะเห็นความคิดแยกเป็นคนละส่วนจากที่เห็นว่าความคิดติดกันเป็นพืดแยกส่วนไม่ได้ ก็จะเห็นเป็นคนละส่วน เมื่อจับที่ความรู้สึกที่คิดต่อไปอีก จะเห็นว่าความคิดครั้งแรกกับความคิดครั้งหลัง มีช่องว่างแยกเป็นคนละส่วนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปก็จะเห็นมากขึ้นไปอีกว่า แม้ความรู้สึกที่รับรู้ถึงความคิดนั้นก็เป็นคนละส่วนกัน ใจที่รับรู้ถึงความคิดกับอาการคิดเกิด-ดับพร้อมกัน ความคิดที่เกิดขึ้นไม่มีตัวตนเป็นผู้คิด แต่ถ้ามีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้คิดเมื่อไหร่จะปรุงแต่ไปเรื่อย มันก็เลยไม่ดับซักที เพราะไม่เห็นรอยต่อของความคิด ไม่เห็นรอยต่อของมโนภาพที่เกิดขึ้น ที่ไม่เห็นอาการเกิด-ดับของความคิดเพราะไม่รู้วิธีกำหนด ไม่รู้วิธีเจริญสติ ไม่ได้จับที่ความรู้สึกที่รู้ว่าคิดจึงไม่เห็นอาการเกิด-ดับ เห็นแต่ความคิดต่างๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ความคิดเก่ายังไม่หมดความคิดใหม่ก็เกิดขึ้น อันเก่ายังไม่ทันหมดอันใหม่เกิดต่อทันที เราไม่เห็นอาการดับเห็นแต่อาการเกิดอย่างเดียว

ตรงนี้เรียกว่าเห็นแต่อาการตั้งอยู่ ภพชาติ กิเลส หรือความทุกข์ต่างๆ อาศัยความตั้งอยู่ของความคิดเกิด ความคิดมันจึงยาวเพราะเห็นแต่ความต่อเนื่องของความคิด ถ้าเราเห็นเราเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับ เราก็จะอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันอย่างเดียว เมื่ออยู่กับปัจจุบันก็จะไม่มีการปรุงแต่ง เห็นแต่ธรรมชาติของจิตที่คิดเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ ไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับความคิดนั้น เมื่อไม่ถูกปรุงแต่งด้วยกิเลสจิตก็ไม่เศร้าหมอง ถ้าถูกกิเลสปรุงแต่งเมื่อไรจิตเศร้าหมองก็เกิด แต่ถ้าเรารู้ว่าคิดไม่ดีเกิดขึ้นรู้แล้วรีบเอาสติเข้าไปดับเดี๋ยวก็หยุด

ธรรมะในแต่ละขณะถ้าเข้าถึงแล้วจะทำให้สภาพจิตเปลี่ยน สภาวะเปลี่ยน รูปเปลี่ยน อาการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สภาวะที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวบอกว่ากำหนดได้ปัจจุบันมั้ย เข้าถึงสภาวะนั้นจริงมั้ย กำหนดไล่ตามสภาวะแล้วมีแต่อาการหายไปๆไม่ดับ ที่ไม่ดับนั้นเกิดจากตัวไล่ (สติ) ไม่ดับ ให้จับตัวความรู้สึก(สติ)เอง เพราะความรู้สึกเป็นตัวไล่ ให้สังเกตว่าขณะแรกหายอย่างนี้ ขณะต่อไปหายอย่างไร ไม่ใช่รู้แค่ว่าหายอย่างเดียว ให้เพิ่มความนิ่งความสงบให้มากขึ้น ถ้าเราเพิ่มความนิ่ง (สมาธิ) ให้มากขึ้น อาการต่างๆจะปรากฏชัดขึ้นมาไม่ต้องไปหา เมื่อความรู้สึกเข้าถึงอาการ อาการก็ดับความรู้สึกดับๆพร้อมกับอาการ ต้องสังเกตว่าดับในลักษณะอย่างไรต่อไปสภาวะก็จะชัด ถ้าเราไปหาๆยังไงก็ไม่ทัน เพราะขณะที่เราหาความรู้สึกก็จะแยกออกมาทันที ความรู้สึกแยกออกปุ๊บ ความรู้สึกก็เป็นตัวเพ่งอาการทันที เพราะฉะนั้นถ้าอยากเห็นต้องเข้าไปเกาะติดอารมณ์อย่างเดียว เข้าไปที่อาการอย่างเดียว ถ้ามีอาการสะดุดเบาๆก็ให้สังเกตอาการสะดุดเบาๆนั้นอีก อาการสะดุดเบาๆนั้นรู้สึกชัดหรือไม่ชัด ความรู้สึกดับหรือเปล่า ต้องสังเกตอย่างนี้ไม่ใช่ไปจ้องให้มันชัด ให้สังเกตแล้วจะชัดขึ้นเองไปบังคับให้ชัดไม่ได้ สิ่งเหล่านี้บังคับบัญชาไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ทำให้ชัด ก็คือสติและสมาธิของเรามีกำลังแค่ไหน วิธีสังเกตพอเรานิ่งสมาธิเพิ่มขึ้น สติเพิ่มขึ้น ความตื่นตัวมากขึ้น เมื่อทุกอย่างมีกำลังสภาวะก็จะชัดขึ้นเอง เรียกว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่ใช่ไปบังคับ จึงต้องทำเหตุปัจจัยให้ดีขึ้น การทำเหตุปัจจัยให้ดีขึ้นก็คือ การเพิ่มสมาธิ สติให้มีกำลังมากขึ้นเท่านั้นเอง

ขณะที่เห็นอาการดับแต่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง(รูปดับนามไม่ดับ) เกิดจากเข้าไม่ถึงอาการนั้น ได้แค่เห็นจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง การที่จะให้ทันปัจจุบันจริงๆความรู้สึกต้องอยู่ที่เดียวกับอาการ ในขณะที่ความรู้สึกแตะถูกอาการ นั่นเป็นลักษณะอาการที่ทันปัจจุบันจริงๆเข้าถึงจริงๆ เมื่อทำได้ต่อเนื่องสภาวะจะก้าวหน้าเร็ว สิ่งที่ต้องรู้ก็คือว่าขณะนี้เราจะกำหนดอย่างนี้เพื่ออย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเราอยากเห็นอย่างนี้อยากเห็นอย่างนั้น นี่เป็นความอยากแล้วเป็นความอยากที่มีตัวตน ทางสายกลางไม่เกี่ยวกับความอยาก ความชอบหรือไม่ชอบ ไม่เกี่ยวกับความอยากหรือไม่อยาก ถ้าอยากเมื่อไรก็ไปไม่ถึง อยากได้ มรรค ผล นิพพาน อยากได้น่ะเรียกมีเป้าหมายชัดเจน ถ้าอยากก็ต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่นั่งอยากอยู่อย่างนั้นแล้วไม่ทำอะไร พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “เราอาจอาศัยความอยาก เพื่อละความอยากได้” ก็คือถ้าอยากที่จะหลุดพ้นก็ต้องอาศัยความอยาก แล้วก็ปฏิบัติเพื่อที่จะละความอยาก พอปฏิบัติหลุดพ้นแล้วความอยากที่อยากจะหลุดพ้นก็หายไป อยากอย่างอื่นก็หายไปด้วย แม้แต่กระทำความดีก็ไม่ได้อาศัยความอยากของความมีตัวเอง อาศัยเหตุปัจจัยที่ควรทำ พระพุทธเจ้าแสดงความดีให้ประจักษ์ให้เห็น ให้คนแยกแยะออกว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ถ้าต้องการความสุข สงบ สันติแก่ชีวิต ก็จะต้องเลือกทำความดี ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อความสันติสุข เพื่อให้ความดีของตัวเองเจริญยิ่งๆขึ้นไป เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ประกาศว่า “เราแสดงธรรมเพื่อให้คนศรัทธา เราไม่ได้แสดงธรรมเพื่อต้องการสาวก แต่แสดงธรรมเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นพ้นจากทุกข์” เห็นมั้ยพระองค์ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองสักอย่าง พระองค์ทำเพื่อให้สรรพสัตว์ได้พ้นจากความทุกข์ ให้พบกับสันติสุขของชีวิต เป็นศาสนาที่ให้อิสระไม่มีการบังคับแต่มีกรอบชัดเจนว่า ถ้าต้องการความเจริญในธรรมกรอบเป็นอย่างนี้นะ อันไหนให้โทษจะไม่ชี้ทางให้ ถ้าต้องการหลุดพ้นทำอย่างนี้ พระองค์ทรงแสดงความจริงให้ประจักษ์ พระองค์สิ้นสุดแล้วไม่มีแล้วที่จะทำบาป ไม่มีความรู้สึกที่จะเบียดเบียนแล้ว เพราะอะไร เพราะกิเลสความโกรธไม่มีแล้ว จึงไม่มีตัวกระตุ้นให้ทำบาปอีก

คำว่าเอาจิตออกนอกรูป (ตัว) กับปล่อยจิตให้เลื่อนลอยต่างกัน ขณะที่เอาความรู้สึกออกนอกตัวแล้วจับที่ความรู้สึกที่อยู่นอกตัวอีกทีหนึ่ง ตรงนี้เป็นการเอาจิตออกนอกตัวอย่างมีสติสัมปชัญญะ เพราะมีจิตอีกดวง (สติ) ทำหน้าที่ดูอีกทีหนึ่ง หมายถึงว่าเอาจิตออกมาตั้งไว้ข้างหน้าแล้วจับที่จิตที่อยู่ข้างหน้า แล้วสังเกตจิตที่อยู่ข้างหน้าว่าเป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร ซึ่งต่างกับการปล่อยจิตออกนอกตัวไปเรื่อยๆ การปล่อยจิตออกนอกตัวไปเรื่อยๆ นั้น จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปหมด ซึ่งต่างกับการปล่อยจิตออกนอกตัวอย่างมีสติ จิตที่มีสติคอยควบคุมจะไม่เลื่อนลอย จะสังเกตเห็นการทำงานของจิตได้สติต้องใสและคม ขณะที่จิตอยู่นอกตัว (ไม่มีตัวตน) จะเห็นว่าจิตนั้นมีอาการเบา อาการโล่งว่าง เมื่อจิตว่างจากอุปาทานอาการตื่นตัวของจิตจึงเกิดขึ้น เพราะเหตุนี้สติสัมปชัญญะจึงดีมากๆ นี่เป็นการดูจิตในจิตจึงไม่ใช้ปล่อยให้จิตเลื่อนลอย จิตที่คลายอุปาทานสามารถเห็นจิตของตัวเองได้ ใช้งานได้จึงไม่ธรรมดา คนที่ไม่เคยปฏิบัติก็จะเข้าใจผิดเกิดอาการกลัว กลัวว่าเมื่อจิตออกนอกตัวแล้วจะกลับไม่ได้กลัวจิตหลุดไปเลย จิตที่มีสติคอยดูแลรักษาจะไม่หลุดลอย

จิตที่หลุดลอยเกิดจากขาดสติหรือสติอ่อน จริงๆ พอตกใจปุ๊มสติก็มาที่ตัวแล้ว มีใครบ้างพอตกใจแล้วจิตไปอยู่ที่อื่น ถ้าอยู่ที่อื่นจะไม่รู้ถึงอาการตกใจ วันนี้พอก่อนนะ ขอให้มีแต่ความสุขความเจริญ



:b8: :b8: :b8: ที่มา http://www.mtt4.com


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2018, 08:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2018, 16:04 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณครับที่รับชม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2020, 09:15 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร