วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 18:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2017, 20:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
วัดอโศการาม
อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

แสดงธรรมอบรมสมาธิ
วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙


(๑.) การภาวนานี้จะต้องกำหนดสติให้เป็นไปได้พร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง คือ ขณะที่หายใจเข้าและหายใจออกต้องมี ๑. ลม ๒. คำภาวนา ๓. จิต ควบคู่กันไปทุกๆ ขณะๆ และมี “สัมปชัญญะ” กำกับไปด้วยเสมอจึงจะเรียกว่า ตั้งอยู่ในองค์ภาวนาซึ่งเป็นตัวบุญกุศล

(๒.) “สติ” เป็นตัวบุญ คือ ความไม่ประมาท ความประมาทเป็นตัวบาป คือ “เผลอ”

(๓.) “สัมปชัญญะ” คือ ตัวสำรวจที่คอยตรวจผลของการกระทำว่า ส่วนใดดี ส่วนใดไม่ดี แล้วก็แก้ไข เช่น ถ้าลมหายใจของเรายังไม่เป็นที่สบายก็ต้องขยับจิตเสียใหม่ คือเปลี่ยนการหายใจ เหมือนกับเราเปลี่ยนที่นั่ง ถ้าเรานั่งตรงไหนไม่สบาย เราก็ต้องลุกขึ้นไปหาที่นั่งใหม่ ตรงไหนสบายเราก็รักษาที่นั่งตรงนั้นไว้ให้นานๆ และไม่ต้องเปลี่ยนอีก

(๔.) สติอยู่กับลม เรียกว่า “อานาปานสติ” สติอยู่กับกายเรียกว่า “กายคตาสติ” ถ้ามีสติอยู่กับกายและจิตอยู่เสมอก็เรียกว่า “เจริญกัมมัฏฐาน” อย่างที่นั่งภาวนากันอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่า เรานั่งทำงาน คือ “ทำกัมมัฏฐาน”

(๕.) “สติ” เป็นตัวเหตุ ถ้าเราทำงานทางจิตมาก ผลทางจิตก็เกิดมาก ถ้าเราทำงานทางกายมาก ผลทางกายก็เกิดมาก

(๖.) ผลที่เกิดจากกัมมัฏฐาน คือ ๑. ทำให้บาปทางใจสงบไปหมด ๒. ทำให้ธาตุสงบไปทุกๆ กอง จิตของเราก็โปร่งว่างเหมือนทะเลที่ไม่มีคลื่น คือ ลมก็สงบ น้ำก็ราบเรียบ อากาศก็ใส เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะมองเห็นอะไรๆ ไปได้ไกล เป็นเหตุให้รู้เรื่องราวของร่างกาย อย่างต่ำก็รู้เรื่องปัจจุบันของกาย คือ รู้เรื่องของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ในส่วนที่สำคัญและส่วนที่ไม่สำคัญ

ส่วนที่สำคัญ คือ ส่วนที่อยู่ประจำ ส่วนที่ไม่สำคัญ คือ ส่วนที่สัญจรไปมา ซึ่งเป็นตัวสื่อสารให้ธาตุภายในกับภายนอกประสานกัน ในส่วนธาตุลม เราก็จะรู้ว่า ลมที่ประจำนั้นมีกี่กอง ลมที่สัญจรไปมานั้นมีกี่จำพวก ธาตุดินที่ประจำนั้นอยู่ส่วนไหนบ้าง ธาตุดินที่สัญจรนั้นอยู่ส่วนไหนบ้าง ธาตุน้ำกองไหนที่ขังอยู่ในธาตุประจำของมัน ส่วนไหนที่รับเข้ามา ธาตุไฟส่วนไหนมีประจำ ส่วนไหนที่เข้ามาเพิ่มเติม อากาศส่วนใดประจำ อากาศส่วนใดสัญจร ตลอดจนถึงวิญญาณธาตุก็เช่นเดียวกัน เช่น ตามองไม่ชัดเพราะจักขุวิญญาณธาตุมันเป็นอย่างไร มันเปลี่ยนแปลงอย่างใดๆก็รู้ไปหมด ตลอดถึงโสตวิญญาณธาตุ ฆานะ ชิวหา กายมโน เราก็มีสติสัมปชัญญะกำกับรู้เสมอ

สติสัมปชัญญะนี้เปรียบเหมือนกับกล้องสองอันที่ส่องทางไกล จิตเปรียบเหมือนกับเจ้าของ ถ้าธาตุภายในร่างกายของเราไม่มีความปกติ ไม่สงบราบคาบแล้ว ถึงกล้องนั้นจะวิเศษวิโสเพียงไร เราก็มองไม่เห็น อย่างพระพุทธเจ้านั้นเมื่อพระองค์จะส่องพระญาณตรวจดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงใช้ดูเวลาที่เงียบสงัด คือตอนยามสามใกล้จะสว่างซึ่งเป็นเวลาที่พื้นโลกกำลังราบคาบ ดวงจิตของมนุษย์ทั้งหลายกำลังสงบนิ่งอยู่ด้วยอาการหลับ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงใช้ “กล้องวิเศษ” ของพระองค์ส่องฉายไปทั่วโลก แล้วก็ทรงทราบเหตุการณ์ได้ตลอดหมด ดวงจิตที่สงบนั้นมีลักษณะเหมือนทะเลที่กำลังสงบ ลมก็เงียบ เรือก็นิ่ง น้ำก็ใส อากาศก็โปร่ง ดวงจิตนี้เมื่อเราอบรมไปอบรมไปก็จะแก่ขึ้นทุกที จิตก็จะกล้า กายก็จะคม สามารถตัดอะไรๆ ให้ขาดหมด เหมือนกับมีดที่เราคอยหมั่นลับอยู่เสมอ มันจะหนีจากความคมไปไม่ได้

ดังนั้นเราก็ควรจะทำไปๆให้เหมือนกับลับมีด ถ้าส่วนใดยังไม่ดีก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่จนกว่าผลของความดีจะเกิดขึ้นในกิจการ เมื่อผลเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นสัมมาสมาธิ จิตตั้งอยู่ในปัจจุบันเป็นเอกัคคตารมณ์ “ปุญญฤทธิ์” ก็จะเกิดขึ้นทางจิต “อิทธิฤทธิ์” ก็จะเกิดขึ้นทางกาย อิทธิฤทธิ์นั้นเช่น เวลาที่เราไม่สบายตรงไหนเราก็นึกให้สบายตรงนั้นได้ นึกสร้างธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมให้มันดีขึ้นเหมือนกับการตอนต้นผลไม้ ถ้ากิ่งไหนมันหัก กิ่งไหนมันผุ เราก็ตัดทิ้งไปและตอนใหม่ ถ้าหักอีกก็ตอนอีก ตอนจนกระทั่งมันดีจนได้ เมื่อเราดำเนินจิตอยู่อย่างนี้ “อิทธิบาท ๔” ก็ย่อมเกิดขึ้นพร้อมบริบูรณ์ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า “ใครประกอบด้วยอิทธิบาทแล้วย่อมนานตาย” คือ

๑. “ฉันทะ” ความพอใจในกิจที่ตนกระทำ
๒. “วิริยะ” ความพากเพียรบากบั่นไม่ท้อถอยละทิ้งในงานที่ตนกระทำ
๓. “จิตตะ” ความเอาใจใส่จดจ่ออยู่กับการงานนั้นอย่างเดียว
๔. “วิมังสา” ความรอบคอบในจิต ความรอบคอบในเหตุในผลที่ตนกระทำ

ทั้งหมดนี้เป็นบาทที่จะก้าวขึ้นสู่มรรค เป็นเหตุให้เกิดอิทธิฤทธิ์ บุญญฤทธิ์ ตลอดถึงหมดอาสวกิเลสถึงนิพพานก็ด้วยอิทธิบาทนี้

ฉะนั้นตามที่ได้กล่าวมาแต่ต้นก็เพื่อให้พวกเราทั้งหลายได้รู้จักการสร้างสติสัมปชัญญะให้เป็น “กล้องวิเศษ” สำหรับตนเองได้สำรวจส่องดูเหตุการณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม จึงควรพากันอบรมจิตใจให้ตั้งเที่ยงอยู่ในองค์ภาวนาเพื่อบังคับขับต้อนจิตให้อยู่กับตัว ใครจะจำได้เท่าไรหรือทำได้เท่าไรก็ตามก็ควรตั้งใจทำให้เสมอๆอย่าทอดทิ้ง อย่าทำๆหยุดๆเพราะจะทำให้กิจการของเราไม่บรรลุความสำเร็จได้ ถ้าเราเป็นนายงานที่คอยหมั่นสอดส่องดูแลร่างกายและจิตอยู่เสมอแล้ว คนงานของเราได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็จะไม่กล้าเถลไถลและโกงงาน จะต้องทำหน้าที่ของตนของตนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การงานของเราก็จะสำเร็จได้โดยสมบูรณ์

อีกประการหนึ่งถ้าเรามีกล้องวิเศษแล้ว เราก็จะเป็นผู้มีสายตาไกลผิดจากคนธรรมดาสามัญอันเป็นสิ่งทีสามารถจะคุ้มครองตัวเราได้รอบตัว เราก็จะพ้นภัยอันตรายต่างๆ และประสบแต่ความสุขความเจริญทุกประการ

(๗) จิตที่เป็นสมาธิแล้วถึงจะมีอารมณ์ใดผ่านมา ใจก็ไม่วอกแวกไปตามอารมณ์นั้น เหมือนกับคนที่กำลังขะมักเขม้นตั้งอกตั้งใจทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ถึงจะมีใครเดินผ่านมาเรียกร้องและซักถามก็ไม่อยากพูดด้วยหรือแม้แต่จะเงิยหน้าขึ้นดู ฉันใดจิตที่ตัดสัญญาต่างๆ ทิ้งได้หมดนั้นก็ย่อมจะต้องอยู่ในองค์ภาวนาอย่างเดียวฉันนั้น



คัดลอกจาก
หนังสือแนวทางปฏิบัติ วิปัสสนา-กัมมัฏฐาน เล่ม ๒
พระอาจารย์ลี ธัมมธโร. มกราคม, ๒๕๕๓. หน้า ๑๔๘-๑๕๓



:b46: รวมคำสอน “พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38679

:b46: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21381

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2020, 21:54 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร