วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 03:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2017, 15:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b42: หลักการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร
ธรรมบรรยาย ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี (ศูนย์ ๔)
จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


วิปัสสนากรรมฐานนั้นเน้นอะไร วิปัสสนากรรมฐานเน้นการกำหนดรู้ถึงอาการพระไตรลักษณ์ คือความจริงของรูปนาม การปฏิบัติมีหลายรูปแบบ แต่วิปัสสนากรรมฐานนั้นเจาะจงจำเพาะการพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์ของรูปนามเป็นหลัก ที่ตั้งชื่อคอร์สว่า “ดับตัวตน ค้นธรรม” อันที่จริงแล้วทุกคนก็รู้ว่าการกำหนดอารมณ์แต่ละครั้งนั้น ถ้ากำหนดด้วยความรู้สึกว่า “เรา” เป็นผู้กำหนด ก็จะมีอัตตาเข้าไปแทรกเป็นระยะ ๆ มักจะกำหนดด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นผู้ดู เราตามรู้ เราตามเห็น แล้วก็ให้เป็นอย่างที่เราต้องการ อันนี้ความเป็นเราก็เกิดขึ้นมา

แต่การดับตัวตน ค้นธรรม ก็คือเอาความรู้สึกว่าเป็นเราออกจากใจ ดับความรู้สึกว่าเป็นเรา ให้เหลือแต่สติ สมาธิ ปัญญา พิจารณาถึงสภาวธรรมที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าเราว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่าสภาวธรรมนั้นจะเป็นแบบไหนก็ตาม จะปรากฏเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจก็ตาม ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอารมณ์นั้น ๆ แม้แต่ตัวจิตที่ทำหน้าที่กำหนดรู้อารมณ์ต่าง ๆ เอง ก็รู้ว่าเขามีการเกิดดับไปด้วยหรือไม่ อย่างไร... อันนี้คือสิ่งสำคัญ ถ้าเรามีเจตนารู้ในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะกำหนดรู้ทั้งรูปและนาม ไม่ใช่กำหนดรู้แค่อาการของรูปที่เกิดขึ้น

ทีนี้ ทบทวนอีกนิดหนึ่งว่า อารมณ์หลัก ๆ ของสติปัฏฐานสี่คือ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต และรู้ธรรม เราจะต้องไม่ลืมว่านี่คืออารมณ์หลัก ๆ ที่จะปรากฏขึ้นมาให้เราได้กำหนดรู้ อารมณ์หลักเหล่านี้เขาจะเวียนกันมา ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน - อิริยาบถหลักทั้งสี่ หรือในอิริยาบถย่อยก็ตาม เขาจะสลับกันเกิดขึ้น ในอิริยาบถนั่ง อาการอะไรที่อาศัยร่างกายเราเกิดขึ้น เขาเรียกว่า “อาการของกาย” โดยส่วนใหญ่ก็คือ อาการของพองยุบ อาการของลมหายใจเข้าออก อาการเต้นของหัวใจของเรา นี่แหละคืออาการของกายในขณะที่เราเจริญสติในอิริยาบถนั่ง

ถ้าใหม่ ๆ ลมหายใจหรืออาการพองยุบอาจจะชัด แต่สักพักก็อาจจะเป็นอาการเต้นของหัวใจ หรืออาการกระเพื่อมไหวที่รูป อย่างใดอย่างอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นมา ขณะที่นั่งเจริญกรรมฐานก็ให้เริ่มจากจุดนี้ ถ้าไม่มีอาการเต้นของหัวใจ ไม่มีอาการของลมหายใจ ไม่มีอาการกระเพื่อมไหว มีแต่อาการหมอก ๆ มัว ๆ สลัวขึ้นมาข้างหน้า หรืออาการไหว ๆ หรือเป็นสีเป็นแสงปรากฏขึ้นมาข้างหน้า มีการปรากฏขึ้นมาแล้วเปลี่ยนไปดับไป มีแล้วหายไป นั่นก็คือสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น บางทีเราก็เรียกเป็นนิมิตบ้าง แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นนิมิตหรือเป็นอะไร เราจะเรียกตามที่เห็นที่เป็น

ถ้าเป็นสีก็เรียกว่ามีสี ถ้ามีแสงเกิดขึ้นมาก็เรียกตามอาการนั้น ที่สำคัญก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นสีเป็นแสงต่าง ๆ เกิดขึ้นมา หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือ เข้าไปกำหนดรู้ว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร เกิดแล้วดับอย่างไร... ถามว่า สีหรือแสงต่าง ๆ ที่ปรากฏเฉพาะหน้าเราเกิดจากอะไร ? เกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยกำลังของสมาธิของสติของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏให้ได้รู้ได้เห็น และเป็นสิ่งที่โยคีจะต้องตามกำหนดรู้ดูว่าเขาเกิดดับในลักษณะอย่างไร เห็นไหม ดูกายในกาย ดูจิตในจิต ดูเวทนาในเวทนา แล้วก็รู้ธรรมในธรรม อันนี้เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นที่ไม่ใช่อาการของลมหายใจ ไม่ใช่อาการของกาย

ทีนี้เวทนา ผู้ปฏิบัติในที่นี้ส่วนใหญ่ก็จะรู้ดีว่าเวทนาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติของร่างกายเรา มันไม่ใช่เป็นเรื่องพิเศษอะไร แต่ความพิเศษอยู่ที่ “การที่เรามีสติเข้าไปกำหนดรู้เวทนาที่เกิดขึ้น” ความพิเศษจะเกิดขึ้นมาเมื่อเรามีสติเข้าไปกำหนดรู้อาการเกิดดับของเวทนาที่กำลังปรากฏอยู่นี้ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดดับในลักษณะอย่างไร อาการเกิดดับของเวทนาที่ปรากฏอยู่นี้เปลี่ยนไปต่างจากเดิมอย่างไร นั่นคือวิธีเพิ่มปัญญา พิจารณาด้วยความแยบคาย

เวทนานุปัสสนา - การตามรู้อาการของเวทนา เวทนาทางกายนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงไป วิธีกำหนดเวทนา ให้สังเกตในลักษณะเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้ยิน หรือเคยได้ยินแล้วแต่ยังเข้าใจไม่ชัด หรือเข้าใจแต่ยังไม่ชัดในการกำหนดเวทนา ส่วนใหญ่เราตามรู้ว่า พอมีเวทนาทางกายเกิดขึ้น จะกำหนดว่าปวดหนอ ปวดหนอ... หรือว่า รู้ว่าปวด ปวด ปวด... แล้วก็ข้ามไป อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง

แต่การกำหนดรู้เวทนาอย่างไม่มีเรา ให้สังเกตในลักษณะอย่างนี้ว่า เวทนาที่กำลังปรากฏนั้นกับจิตที่ทำหน้าที่รู้หรือกับสติของเรานี่ เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน อันนี้ต้องสังเกตนะ ไม่ใช่แค่คิด! ให้สังเกตกำหนดรู้ขณะนั้นจริง ๆ ที่เป็นปัจจุบันขณะจริง ๆ ว่า เวทนาที่กำลังปรากฏกับจิตที่ทำหน้าที่รู้ เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน และให้สังเกตว่า เวทนาที่ปรากฏขึ้นมาแต่ละขณะมีความต่างกันอย่างไร

อย่างเช่น ขณะที่เรานั่งไปสักพัก เวทนาปรากฏขึ้นมาที่หัวเข่า และเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา อันนี้คือลักษณะของเวทนา พอมีเวทนาเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา สังเกตว่า กลุ่มก้อนของเวทนากับจิตที่ทำหน้าที่รู้ เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน อันนี้คือการสังเกต ตรงนี้เราจะได้แยกระหว่างเวทนากับจิต แยกนามกับนาม เวทนาเป็นนาม แต่จริง ๆ แล้วจะเป็นอะไรไว้ค่อยเรียกทีหลังก็ได้นะ แต่ให้สังเกตว่า จิตกับเวทนาเขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน อันนี้ขั้นตอนหนึ่ง

และถ้าสติเราดี พิจารณาเห็นจิตกับเวทนาเป็นคนละส่วนกัน ขอให้สังเกตว่าเวทนานั้นเกิดอยู่ที่ไหน “เวทนานั้นเกิดอยู่ที่ไหน ?” เมื่อกี้อาจารย์บอกว่าเกิดอยู่ที่หัวเข่า แต่ไม่จำเป็นว่าเราต้องมีรูปร่างของหัวเข่า คือสัญญาจำได้ว่าบริเวณหัวเข่า ถามว่า เขามีรูปร่างของหัวเข่าไหม ? หรือว่าเกิดเป็นก้อน ตั้งอยู่ในที่ว่าง ๆ ตั้งอยู่ในความสงบ ? การพิจารณาตรงนี้เพื่อคลายอุปาทาน - คลายอุปาทานการเข้าไปยึดว่าเป็นของเรานั่นเอง

จากนั้นก็มีเจตนาพิจารณาถึง “การเปลี่ยนแปลง” ของตัวเวทนาว่าเกิดดับในลักษณะอย่างไร - มีการเคลื่อนไหว มีอาการเดี๋ยวปวดมากขึ้น เดี๋ยวเบาลงเป็นขณะ ๆ หรือเดี๋ยววุบหาย วุบหาย เป็นขณะ นี่คือรู้การเปลี่ยนแปลงของเวทนา เพราะฉะนั้น การกำหนดเวทนา ให้มีเจตนาที่จะรู้ถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเวทนา แต่ว่าขอให้พิจารณาว่าเวทนานั้นเกิดอยู่ที่ไหน - เกิดอยู่ในที่ว่าง ๆ เกิดอยู่ที่หลัง เกิดอยู่ที่ไหล่ เกิดอยู่ที่หัวเข่า หรือเกิดอยู่ในความสงบ เกิดอยู่ที่โล่ง ๆ ? สังเกตในลักษณะอย่างนี้

การกำหนดรู้แบบนี้ ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เรากำหนดรู้ตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่บังคับให้เขาเป็น การที่เรามีเจตนาที่จะรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เราจะได้เห็นถึงสภาวธรรมที่กำลังปรากฏจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ใช้สัญญา เราจำได้ว่านี่คือหัวเข่า นี่คือหลัง นี่คือไหล่... ถึงแม้ไม่มีรูปร่างก็จำได้ว่าเป็นหลังเป็นไหล่ นั่นคือเราจะติดในบัญญัติ แล้วจะยึดเอาความเป็นฆนบัญญัติ ความเป็นกลุ่มก้อนความเป็นเราขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ในการกำหนดอารมณ์ ขอให้กำหนดสภาวะตามที่เป็นจริง เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น! เพราะตัวยึดหรืออุปาทาน ไม่ใช่รูปยึด แต่จิตเป็นตัวยึด รูปเป็นที่อาศัยของเวทนา แต่รูปไม่ได้ยึดเวทนา ตัวที่ยึดเวทนาคือจิตของเรา ความเข้าใจของเราที่เข้าไปยึดเอาเวทนาว่าเป็นของเราแค่นั้นเอง! พระพุทธเจ้าบอกว่าเวทนาเป็นของไม่เที่ยง เราก็เข้าไปพิจารณาดูตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแค่นั้นเอง ว่าไม่เที่ยงอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร ต่างจากเดิมอย่างไร

ไม่ใช่รู้ว่าไม่เที่ยงแล้วไม่สนใจ ถ้ารู้ว่าไม่เที่ยงแล้วไม่สนใจ ตรงนั้นทั้งสติ สมาธิ ปัญญาของเราจะไม่พัฒนาขึ้น แค่เข้าใจแล้วปล่อยไป แล้วความทุกข์ก็จะตามมาเป็นปกติอีก เราก็จะเกิดความทุกข์กับเวทนาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เพราะเรา “คิด” ว่าปล่อยวาง... คำว่า “ปล่อยวาง” กับ “ปล่อยทิ้ง” ต้องแยกกันนิดหนึ่งนะ บางทีเรา อ้ะ! ปล่อยไปเหอะ ปล่อยไป ไม่ยึด.... แต่ก็ยังติดอยู่ในใจ

การที่เราปล่อยวางจริง ๆ ปล่อยวางด้วยปัญญา พิจารณาจนเห็นชัดตามความเป็นจริง ตรงนี้แยกส่วนกันอย่างสิ้นเชิง เขาเรียกเป็น “สมุจเฉท” แยกส่วนกันอย่างเป็นสมุจเฉท คือสิ้นเชิง เห็นชัดเจนแล้วว่าเป็นคนละส่วนกัน ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่ใช่ของเรา ตรงนั้นแหละจิตก็จะเปลี่ยนจะต่างไป เราก็จะเห็นตามความเป็นจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่เข้าใจแต่ไม่แน่ใจว่าถูกหรือเปล่า อันนี้มันจะตัดความลังเลสงสัยในสภาวธรรมที่เกิดขึ้น

การส่งอารมณ์อยากให้เป็นแบบนี้ ในการปฏิบัติธรรมถ้าสงสัยเรื่องสภาวะขอให้ถาม เวลาส่งอารมณ์ก็ถามได้ หรือตอนเย็นเอามาถามสนทนาธรรมกัน เพื่อความเข้าใจในสภาวธรรมที่ชัดขึ้น จะได้กำหนดถูก อะไรที่เป็นสภาวะ อะไรที่เป็นความคิด ตรงนั้นจะช่วยได้เยอะในการปฏิบัติธรรม บางทีเราปฏิบัติธรรมแล้วเราพูดถึงความเข้าใจมากกว่าสภาวะที่เข้าถึง แล้วก็จะสับสนว่าถูกหรือผิด ถูกหรือผิด ถูกหรือผิด... อยู่เรื่อย ๆ เราก็จะไม่ชัดเจนในตัวเอง

แต่ถ้าเราพูดถึงสภาวะที่เราเห็น สภาพจิตใจที่กำลังเป็นอยู่ จิตเราที่เกิดขึ้น อาการพระไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นของกาย เวทนา จิต หรือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นก็ตาม สภาวธรรมมีไม่เยอะแต่ลึกซึ้งละเอียด สิ่งที่พิเศษก็คือ “สภาพจิต” ของเราเอง จิตใจของเราที่พัฒนาขึ้น สติสมาธิของเราแก่กล้าขึ้น การพิจารณาละเอียดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือเป็นการขัดเกลาจิตใจของเรา จะเห็นได้ชัดขึ้นว่าจิตใจเราเปลี่ยนไปอย่างไร อันนี้คือส่วนสำคัญ

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรม อาจารย์ถือว่าโยคีทุก ๆ คนที่นั่งอยู่ ณ สถานที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ตั้งใจ เป็นผู้มีเจตนาแน่วแน่ที่จะเข้ากรรมฐานปฏิบัติธรรม โดยหลักของการเข้ากรรมฐานจริง ๆ ตื่นเช้าขึ้น มา เดินจงกรม-นั่งสมาธิตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นสลับกันไป บัลลังก์ต่อบัลลังก์ เดินจงกรมนั่งสมาธิไป โดยที่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ต้องไปกังวล เป็นการพัฒนาตัวเอง เป็นการควบคุมตัวเอง เป็นการจัดการกับตัวเอง



แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 08 ก.พ. 2018, 09:02, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2018, 09:02 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ ในการจัดการในการปฏิบัติตรงนี้ ลองสังเกตอย่างหนึ่งว่า ในการปฏิบัติธรรมสิ่งที่จะเข้ามารบกวนจิตใจเรามากที่สุดคืออะไร ? สภาวธรรมที่เกิดขึ้นที่เราเรียกว่า “ฟุ้งซ่าน” ฟุ้งซ่านเรื่องอดีตเรื่องอนาคตแล้วแต่ แต่ส่วนมากแล้วนี่เป็นความคิด เราจะได้เห็นว่าความฟุ้งซ่านความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะอะไร - เพราะความอยากของเรา เพราะความกลัวของเรา เพราะความพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า... อารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าไม่ใช่แค่สิ่งที่ตาเห็น แต่อาจจะเป็นสิ่งที่กำลังคิดอยู่ ความคิดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้แหละมารบกวนจิตใจของเรา

ที่จริงแล้วตรงนี้จัดเป็นการดูจิตในจิต เราจะได้เห็นจิต จิตทำหน้าที่คิดโน่นคิดนี่คิดสารพัด ที่เรารู้ว่าจิตเราคิดอะไร อันนี้คือการดูจิตอย่างหนึ่งนะ ดูกายในกาย, รู้เวทนาในเวทนา-ตามรู้เวทนา, ตามรู้จิตในจิต คือ จิตที่คิดโน่นคิดนี่ คิดเรื่องสารพัดทั้งดีและไม่ดี แต่ก็คือความคิด เห็นไหม ส่วนมากนี่เราทนได้ยากเพราะเราไปแยกว่าความคิดนี้ฉันชอบ/ไม่ชอบ ชอบ/ไม่ชอบ... ที่ทนไม่ได้ไม่ใช่เพราะคิดมาก แต่เพราะชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ ทำให้ความคิดนั้นมาเป็นตัวบีบคั้นกดดันเราจนอดทนหรือทนสู้ไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าความคิดที่เกิดขึ้นมาเป็นสภาวธรรมที่ปรากฏทางจิตเรา หลักของวิปัสสนาก็คือ เราต้องเข้าไปกำหนดรู้ - ตามรู้จิต ดูจิตในจิต ดูว่าคิดอะไร อันนี้อย่างหนึ่งนะ การเข้าไปรู้ว่าคิดอะไรนี่ส่วนใหญ่ก็จะคิดยาว เพราะคิดจากเรื่องหนึ่งต่อไปอีกเรื่องหนึ่งไปเรื่อย ๆ คิดดี/ไม่ดี ชอบ/ไม่ชอบ ก็จะคิดปรุงแต่งต่อไป ที่เรียกว่า “ตัวสังขาร” แต่ตามหลักของวิปัสสนา การจัดการกับความคิดก็คือ ความคิด “เกิดอย่างไร ดับอย่างไร” ดี/ไม่ดีเรารู้อยู่แล้ว เพราะ “สัญญา” ทำหน้าที่ของเขา ตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้น

รู้ว่าความคิดไม่ดีเข้ามาแล้ว เราก็โมโหว่าทำไมเราต้องคิดไม่ดี โมโหก็คืออาหารของกิเลสนั่นเอง ยิ่งไม่พอใจกิเลสก็จะยิ่งเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น วิธีก็คือว่า ความคิดขึ้นมา... เกิดดับอย่างไร ? ในการกำหนดรู้ความคิดก็ใช้หลักการเดียวกันกับการกำหนดรู้เวทนา เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมา ลองสังเกตดูว่า จิตที่ทำหน้าที่รู้ความคิดกับความคิด เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ? สิ่งที่ทำให้ความคิดยึดเกาะก็คือความเป็นเรา ไม่ใช่รูป! เวทนายังอาศัยรูปอยู่ การละรูปเป็นเรื่องยาก แต่การละตัวตนนั้นง่าย เพราะไม่มีอะไรให้เขาเกาะ เขาเป็นนามธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าเรากำหนดรู้ว่าความคิดที่เกิดขึ้นมาเขาเกิดดับอย่างไร และสังเกตว่า ความคิดที่เกิดขึ้นกับจิตที่ทำหน้าที่รู้เป็นคนละส่วนกัน ความคิดเขาจะลอยเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ลอยเข้ามาแล้วก็ผ่านไป... ที่ผ่านไม่ได้เพราะมีเราเป็นผู้รับอยู่เสมอ ตรงนี้เขาเรียกคิดอย่างมีตัวตน และที่เรารับนี่ก็กลายเป็นชอบไม่ชอบนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ถ้าเราดับความรู้สึกพอใจ/ไม่พอใจ หรือละความชอบ/ไม่ชอบ พอใจที่จะรู้ความคิดที่เกิดขึ้นว่าเขาเกิดดับอย่างไร - เรื่องนี้ขึ้นมา ดับแบบนี้... มีแล้วหมดไป มีแล้วหายไป... ตรงนี้ความคิดก็จะจบง่ายขึ้น แล้วจิตจะจัดระเบียบตัวเองได้ง่ายขึ้น

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาความคิด เขาเรียก “ดูจิตในจิต” นี่ ขอให้มีเจตนาที่จะรู้ว่าความคิดเกิดดับอย่างไร อันนี้อย่างหนึ่ง ตามหลักของวิปัสสนาพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์แล้ว ต้องพอใจที่จะรู้ว่าเขาเกิดดับอย่างไรเป็นหลัก - เกิดอย่างไร ดับอย่างไร เกิดแล้วหมดไป... เพราะนี่คือธรรมชาติของความคิด ธรรมชาติของขันธ์จริง ๆ ไม่มีอะไรตั้งอยู่นานเลย! สังเกตไหมว่า หนึ่งนาทีเราคิดกี่เรื่อง ? ห้านาทีเราคิดกี่เรื่อง ? เพราะฉะนั้น แสดงว่าเขาเปลี่ยนเร็วมาก เขาดับเร็วมาก อายุอารมณ์เขาตั้งไม่นาน ถ้าเราพอใจที่จะรู้ปุ๊บนี่ เดี๋ยวเขาก็ผ่านไป ผ่านไป... “ไม่มีผู้รับ มีแต่ผู้รู้”

ทีนี้ ต้องมี “เจตนา” ที่จะรู้ว่าเกิดแล้วดับ เพราะการมีเจตนาที่จะรู้ให้ทันการเกิด หรือเห็นการดับ สติจะมีกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเห็นชัดว่าความคิดแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมา เขาแยกส่วนกันชัดเจนจริง ๆ ว่าอันนี้มีช่องว่าง ขาดไป อันใหม่ขึ้นมา คือต้องมีเจตนาที่จะกำหนดรู้จริง ๆ ไม่ใช่แค่รู้แล้วผ่าน รู้แล้วผ่าน... ลองสังเกตดูว่า ถ้าคิดขึ้นมาแล้วรู้แล้วผ่าน เราไม่ใส่ใจ สภาพจิตเราเป็นอย่างไร ? ยังเหมือนเดิมไหม ? ยังเหมือนเดิม! แล้วทุกข์เหมือนเดิมอยู่! ถ้าถามว่าทำถูกหรือยัง อันนี้ก็ลองตอบตัวเองนะ

มีสติแล้วทำไมยังทุกข์อยู่ ? แสดงว่ามีสติ มีสมาธิ แต่ขาดปัญญา ก็ยังทุกข์อยู่! เพราะฉะนั้น สติ สมาธิ ปัญญาก็ต้องไปด้วยกัน การพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์ของความคิดที่เกิดขึ้น เรียกว่า “ดูจิตในจิต” อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งการดูจิตในจิต นอกจากที่เรารู้ว่าคิดอะไร ความคิดเกิดดับอย่างไร ให้ดูว่าสภาพจิตใจเราตอนนั้นรู้สึกเป็นอย่างไร - รู้สึกสงบ รู้สึกสบาย รู้สึกมีความสุข รู้สึกผ่องใส รู้สึกขุ่นมัว รู้สึกอึดอัด ขัดเคือง แน่น หรือเป็นอย่างไร ? นั่นคือลักษณะของสภาพจิต หรือผลของการกำหนดรู้ความคิดที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าการที่จะละอกุศลหรือละความทุกข์ สิ่งที่จะปรากฏก็คือตัวสภาพจิตตรงนี้ว่าจิตเราเป็นอย่างไร เราจะเห็นว่าบางครั้งคิดเรื่องต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย แต่คิดได้อย่างสงบ ตัวที่สงบนั้นเรียกว่า “ตัวสภาพจิต” สภาพจิตใจเรา จิตที่มีสมาธิ ความคิดเกิดขึ้นได้แสดงว่าความคิดจึงเป็นธรรมชาติของขันธ์ ๆ หนึ่งแค่นั้นเอง คิดแล้วจิตใจเป็นอย่างไร - อันนี้ส่วนหนึ่ง และจะละเอียดขึ้นก็คือ ตัวจิตที่ไปรู้ว่าคิด รู้ว่าสุข รู้ว่าทุกข์ ตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้เอง เขาเรียกว่า “วิญญาณรู้” หรือ “ตัววิญญาณขันธ์” ตรงนี้ เขามีอาการรู้แล้วดับไป เกิดใหม่ รู้แล้วดับไปด้วยหรือเปล่า - อันนี้เพิ่มละเอียดขึ้นมา

การดูจิตในจิตจึงต้องใส่ใจอย่างดี เพราะเป็นสภาวธรรมที่ลึกซึ้งที่แยบคาย ที่เรามักบอกว่ากิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนไม่รู้ เพราะเราไปสนใจแค่รูปข้างนอก ถ้าเราไม่ได้ดูสภาพจิตของเราว่าขณะนั้นเป็นอย่างไร กิเลสมาตอนไหน สติเราก็จะรู้ไม่ทัน! เพราะฉะนั้น เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอใจ/ไม่พอใจเกิดขึ้น เฉย ๆ เกิดขึ้นมานี่ ตอนนั้นเรามีเจตนาไหม ? หรือเป็นไปโดยที่ไม่มีเจตนารับรู้เลย ? รู้แต่ว่าบังเอิญขณะนั้นสภาพจิตใจสงบก็เลยไม่กระทบเท่าไหร่ ถ้าเกิดบังเอิญขณะนั้นจิตใจไม่สงบก็กระทบอย่างจังเหมือนกัน แล้วเราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา หรือมีกิเลสปรากฏขึ้นมา

เพราะฉะนั้น การมีสติกำหนดรู้สภาพจิตตนเอง การดูจิตในจิต จะช่วยให้เราประคองจิตได้ดี แล้วการที่จะทำให้จิตสงบเป็นอย่างไร ? การจะทำให้จิตตื่นตัวเป็นอย่างไร ? เวลาเรามีความขุ่นมัว หรือว่าเป็นตัวถีนมิทธะ มีความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นมานี่ เราจะทำอย่างไร ? นี่คือการดูจิตในจิต เพราะฉะนั้น หลักของวิปัสสนา – รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม อันนี้คืออารมณ์หลักใหญ่ ๆ ที่เขาจะเวียนสลับกันมา เพราะว่าในบัลลังก์เดียว ไม่ใช่ว่าเกิดแค่อาการของรูป มีทั้งเวทนา ทั้งจิต สลับกันมา

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะไหนปรากฏขึ้นมาเขาก็เป็นอารมณ์ปัจจุบัน ถ้าเขาเด่นชัดขึ้นมานั่นคืออารมณ์ปัจจุบัน หน้าที่ของโยคีคือ มีสติเข้าไปกำหนดรู้ว่าเขาเกิดดับอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร... งานเราก็เหลือแค่นี้ในการปฏิบัติธรรม “รู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือกาย เวทนา จิต ธรรม อาการเหล่านี้ปรากฏเป็นเรื่องปกติชีวิตประจำวันของเรา อันนี้พูดถึงในลักษณะที่เราอยู่ในอิริยาบถนั่ง

อิริยาบถเดิน จริง ๆ แล้วไม่ต่างกันหรอก อาการเหล่านี้ก็ปรากฏ กาย เวทนา จิต และธรรมเหมือนกัน การเคลื่อนไหวของกายก็คืออาการของกาย กระทบมีเวทนา - เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง หนัก เบา ปวด เมื่อย ชา คัน เกิดขึ้นมาตามร่างกาย เกิดได้ไหม ? เกิดได้ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าอารมณ์ปัจจุบันขณะนั้นเป็นอะไร ขอให้มีสติรู้ชัดว่าถ้าเรากำหนดอาการเดิน อารมณ์อะไรอาการลักษณะไหนที่ปรากฏชัด ก็ให้กำหนดไป

ถ้าโยคียกจิตขึ้นสู่ความว่างได้ ทำจิตให้ว่าง ๆ ไม่มีตัวตน แล้วก็เดินเข้าไปในความว่าง เดินอยู่ในความว่าง สังเกตแค่อาการเคลื่อนไหวของการเคลื่อนไป ไม่ต้องไปดูรูปร่างของเท้าก็ได้นะ ไม่ต้องกลัวเท้าหายหรอก ยังไงก็อยู่! แต่จะหายจากความรู้สึกเรา คือว่าง ๆ ไป เหลือแค่อาการ สังเกตอาการเคลื่อน - กระทบแล้วดับอย่างไร กระทบแล้วดับอย่างไร... อันนี้ให้พิจารณาตามจังหวะที่เราเคยเดินจงกรมอยู่ แต่ถ้าไม่แน่ใจเดี๋ยวส่งอารมณ์ก็ถามได้ แล้วก็จะมาทำความเข้าใจกันในจุดที่ต้องสังเกตรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่าต้องทำอย่างไร อันนี้คือหาอารมณ์หลัก ๆ ในจุดที่เราต้องกำหนดรู้

ทีนี้โดยปกติแล้วนี่ ถ้าปฏิบัติเราก็จะส่งอารมณ์ ถ้าส่งอารมณ์ทุกวันได้ก็ดี! การส่งอารมณ์ - การเล่าสภาวะไม่จำเป็นต้องเล่าส่วนที่ดีที่สุดนะ ไม่จำเป็นว่า อูว..ปฏิบัติให้ดีที่สุดแล้วค่อยมาเล่า เผื่ออาจารย์จะได้ชม อันนี้ไม่ต้องนะ! มีปัญหาก็เล่าได้ ปฏิบัติไม่ได้ กำหนดไม่ได้ อันนั้นมาเล่าได้ เพื่อแก้สภาวะไป เราจะทำความเข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้นด้วยกัน ว่าถ้าเจอสภาวะแบบนี้แก้อย่างไร และจะให้ปฏิบัติเดี๋ยวนั้น ทำเดี๋ยวนั้น ถ้าเข้าใจ เห็นแล้ว ก็ปฏิบัติต่อ ผลเป็นอย่างไรก็ว่ากันไปตามแต่ละขณะ แต่ละบัลลังก์ แต่ละสภาวะไป

เพราะรายละเอียดของธรรมะยังมีอีกเยอะ เทคนิคหรือวิธีการกำหนดสภาวธรรมในแต่ละช่วง ในแต่ละขณะนั้น จะมีความแตกต่างกัน เขาเรียก “สภาวญาณที่เปลี่ยนไป” การเข้าไปกำหนดรู้อาจจะมีความแตกต่างกันในบางขณะที่เราต้องทำ บางอย่างที่ต้องเพิ่ม - เพิ่มสมาธิอย่างไร เพิ่มสติอย่างไร อันนี้อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมคอร์สนี้ ก็อยากให้เราเอาจริง ๆ นะ เดินทางจริง ๆ ตั้งใจจริง! จะเดินไปไหน - ขอให้ไปนิพพาน! นิพพานัสสะ เม ภันเต เผื่อจะใกล้นิพพานเข้าไปอีกก้าวหนึ่ง พัฒนาจิตเราให้ดี สติเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ทีนี้ อิริยาบถย่อย เพราะอิริยาบถนอนโยคีถนัด คือถนัดนอนนะ กำหนดถนัดด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ!? อิริยาบถย่อยนี่เป็นส่วนสำคัญมาก ๆ นะ อิริยาบถย่อย – การจะหยิบ จะจับ เคลื่อนไหว การจะกระพริบตา อ้าปาก หันซ้ายหันขวานี่ แค่นิดหนึ่ง นิดหนึ่ง เราก็ต้องมีสติกำหนดรู้! เราสังเกตอาการของอิริยาบถย่อย เวลาจะเคลื่อนเขาดับอย่างไร เคลื่อนแล้วเขาเกิด-ดับอย่างไร อย่างเช่น เราหันหน้า ขณะที่เราหันนี่ มันเป็นเส้นไป หรือขาด ดับเป็นขณะ ๆ ๆ ๆ ไป นี่คืออาการเกิดดับของการเคลื่อนไหวเป็นขณะ หยุด ๆ ๆ ๆ แล้วก็ดับไป...



แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 23 เม.ย. 2018, 09:34, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2018, 09:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แม้แต่เราหันหน้ายังเห็นอาการเกิดดับได้ ฉะนั้น กระพริบตาก็เหมือนกัน เราสังเกต เรามีเจตนา มีสติรู้ชัดกับอารมณ์ปัจจุบัน สภาวธรรมก็จะปรากฏชัด แต่จะให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการกำกับให้มีเจตนาที่ชัดเจน เขาเรียกว่า “รู้ต้นจิต” รู้ก่อนทำ! ก่อนที่จะขยับ ให้มีสติก่อนนิดหนึ่ง แล้วก็เคลื่อนไป... คำว่า “มีต้นจิต” ก็ไม่จำเป็นต้องช้าเสมอไป อาจจะเร็วก็ได้ช้าก็ได้ ขออย่างเดียว-เน้นว่าขออย่างเดียว คือให้มีสติรู้ชัดและรู้ทัน ถ้าไม่ทัน-ถอยกลับมาให้ช้าลง ถ้าทันแล้วเร็วแค่ไหนก็ได้ อันนี้เอากำลังของสติเราเป็นที่ตั้ง ถ้าเราทันนี่ ช้าได้ เร็วได้ นี่คือการกำหนดสภาวธรรม

เพราะฉะนั้น นอนก็ต้องพูดนะ ไม่พูดก็ไม่ครบอิริยาบถทั้งสี่อีกนะ ส่วนใหญ่แล้วทำไมเขานอนตะแคง ? จริง ๆ แล้วนอนพร้อมที่จะลุก พอเมื่อยก็ลุกปฏิบัติ มีสติกำหนดรู้ เพราะว่าคนเรานี่นอนท่าเดียว ยากนะ! ปกติก็นอนตะแคงซ้ายบ้างขวาบ้าง เพื่อที่จะได้นอนสบายมากขึ้นให้ตลอดทั้งคืน ถ้านอนท่าเดียว จะขยับปั๊บ รู้สึกตัว ก็ต้องตื่นขึ้นมาปฏิบัติ... ก็ขอให้กำหนดเอง ประมาณว่าเราจะนอนกี่ชั่วโมง แต่ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ต้องนอนน้อยนะ - บัณฑิตนอนสี่ เศรษฐีนอนหก ยาจกนอนแปด ถ้านอนมากกว่านั้นก็แย่เลย!

เราเป็นนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญปัญญา ลองดูว่า เราจะนอนมากนอนน้อยอย่างไร ? กำหนดรู้สภาวธรรมให้มากขึ้น ตั้งนาฬิกาให้กับตนเอง - นาฬิกาใจก็ได้ นาฬิกาปลุกก็ได้ ตั้งไว้ในใจเรา จะตื่นเวลานั้น จะเดินจงกรม แล้วก็จะปฏิบัติไป... ทีนี้ว่า ในการปฏิบัติแต่ละบัลลังก์จะนานแค่ไหน ? ดูแล้วที่นั่งอยู่นี่ ชั่วโมงหนึ่งเรื่องเล็กเลยนะ... เอาเป็นว่าไม่ต้องเยอะ สบาย ๆ บัลลังก์สลับกันครั้งละชั่วโมงหรือ ๔๕ นาที พิจารณาตามความเหมาะสม - ธรรมะเกินแล้วหลับก็ไม่ดี น้อยเกินฟุ้งซ่านก็ไม่ดี

ทีนี้ การเล่าสภาวะ อาจารย์จะใช้วิธีสอบอารมณ์ เน้นดูว่าโยคีมีสภาวะอะไร มีปัญหาตรงไหน - ถ้าใครรู้สึกคิดมาก มาเล่า แล้วก็ลองปฏิบัติดูว่าแก้ปัญหาความคิดมากได้ไหม กลัวมาก ๆ ก็จะได้รู้ว่ากลัวอะไรบ้าง แก้ได้ไหม... ยิ่งเรามาอยู่กับธรรมชาติ จริง ๆ แล้วบรรยากาศดีมากเลย แต่ก็ต้องเข้าใจธรรมชาตินะ ธรรมชาติตรงนี้มีแมงมีมดมีอะไรเข้ามาเป็นเรื่องปกติเลย อันนี้เราก็กั้นธรรมชาติข้างนอกไม่ให้เข้ามา ไม่มีมดไม่มีแมงเท่าไหร่ ก็ดีไป ไม่ต้องกลัว! เราจะได้เจริญสติ ฝึกขันติ... ขันแล้วไม่ใช่มานั่งติโน่นตินี่ นั่นไม่ใช่ขันติแล้ว นั่นเหลือแต่ติอย่างเดียว! ขันให้แน่น ๆ อดกลั้น นี่คือสติกำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน

อย่าลืมว่า เรามาพิจารณากำหนดรู้อาการพระไตรลักษณ์ พัฒนาปัญญาของเรา เพื่อรู้สัจธรรมความเป็นจริง ไม่มีเราไม่มีเขา มาเพื่อละความเป็นเราเป็นเขา มาเพื่อปล่อยวาง ปล่อยวางเราจากการเข้าไปมีประธาน เพื่อความอิสระของจิตเรา ปล่อยวางรูปนาม ปล่อยวางความคิด ปล่อยวางอกุศล ปล่อยวางความเป็นตัวตน ปล่อยวางกิเลส ละออกไป ให้จิตเราได้เกิดความอิสระ แต่บางครั้งความอิสระก็ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้น ความอิสระต้องใช้สติ สมาธิ ปัญญา พิจารณาเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง จะทำให้เราคลายอุปาทานได้อย่างเป็นสมุจเฉทหรืออย่างเด็ดขาด เป็นลำดับไป

เพราะฉะนั้น คิดว่าโยคีรู้แนวทางในการปฏิบัติแล้ว วันนี้การแสดงธรรมมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอหยุดไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่โยคีทุก ๆ คน เจริญพร


ที่มา ศึกษาเพิ่มเติมที่ http://www.mtt4.com (ไม่รองรับระบบ android and ios) รองรับระบบ window linux macเท่านั้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร