ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ธรรมชาติของรู้ : อาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=51424
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  หนวดเต่า [ 14 พ.ย. 2015, 08:11 ]
หัวข้อกระทู้:  ธรรมชาติของรู้ : อาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ)

รูปภาพ

หลายๆ คนมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติ เรื่องกำหนดรู้ หรือไม่กำหนดรู้ อะไรแบบนี้ อาการของเรายังโยกโคลง เรายังไม่แน่ใจ ว่า สิ่งที่เรียกสตินั้น คือการกำหนดรู้ หรือว่าให้มันรู้เอง ก็เพราะว่าเดี๋ยวนี้ การทำงานของสมองกับจิตใจนี้ยัง ยังไม่ชัด คือมันยังสะเปะสะปะอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ชื่อว่าการรู้และไม่รู้นี่เอง คือคุณลักษณะของจิต จิตนั้นจะเรียกว่ารู้อะไรตลอดเวลาไม่ได้ มันทั้งรู้ทั้งไม่รู้นี้เอง มันเป็นธรรมชาติของมัน

และดังนั้นในการเจริญสติภาวนา ก็คือให้ธรรมชาติของการรู้และการไม่รู้ รู้แล้วก็ไม่อาจรู้ ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างไม่รู้จบสิ้น สมมติว่าจิตเราไปกำหนดรู้ขึ้น อย่างนี้เป็นการสร้างจุดหรือเป้าขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับมัน ดังนั้น จะต้องให้มันรู้เอง เราก็มีหน้าที่เพียงแต่ตระหนัก เคลื่อนไหว ให้อยู่ในท่าทีของการตื่นตัว กันไม่ให้การง่วงนอนหรือนิวรณ์ ความง่วง ความท้อแท้เข้ามา เท่านั้นเอง เรามีหน้าที่เท่านั้น

แต่ส่วนหน้าที่ที่จะรู้ หน้าที่ที่จะไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะว่าเมื่อมันไม่รู้ มันก็ไม่รู้แล้ว จะให้ย้อนมารู้ ในช่วงที่มันไม่รู้ ก็ไม่ได้อีก ดังนั้นเมื่อมันไปย้อนรู้ มันก็รู้พ้นช่วงที่ไม่รู้มาแล้ว คำพูดเหล่านี้มันสับสนมาก คือเมื่อมันไม่รู้ก็ไม่รู้แล้ว เมื่อรู้ก็รู้แล้ว

ดังนั้นทั้งที่รู้แล้ว และทั้งไม่รู้แล้ว เราก็ไม่มีเรื่องต้องยุ่งกับมันด้วย เรามีหน้าที่ที่จะประคองให้ความต่อเนื่องของความตื่นตัวนี้ เพื่อจะให้มันทำหน้าที่ที่พึงทำ ดูกว้างๆ รูปกว้างๆ ความรู้ที่เราเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถม จนเดี๋ยวนี้ ถ้ามันไม่ลืม ปานนี้เราหัวระเบิดแล้ว ทีนี้มันทั้งรู้ทั้งไม่รู้ปนกันอยู่ บางทีก็ลืมไป

ถ้ามันจะมีสิ่งที่จำเป็นมากในการที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ประคับประคองให้ตัวเรานี้ ได้กระทำตัวให้เป็นภาชนะที่ดีเท่านั้นเอง ปฏิบัติธรรมะนี้ไม่ใช่ที่เพื่อจะให้ได้อะไร แต่เพื่อให้อะไรที่ไม่รู้ได้แสดงตัวมัน เท่านั้นเอง เราก็สามารถเพียงแต่รับรู้ ว่ามันมีสภาพทั้งรู้ได้ทั้งรู้ไม่ได้ อยู่ในตัวเรา

ดังนั้น เมื่อใดที่เราไปสร้างสติขึ้นมา กำหนดรู้การเคลื่อนที่มือ ทันใดนั้น เราสร้างอุปสรรค์ให้กับการทำหน้าที่ของชีวิตแล้ว เหมือนกับเราไปตั้งเป้า บทสรุปใดๆ ที่เราตั้งไว้ ในเบื้องต้นมันจะเป็นพลังผลักดันให้เรากระทำเพื่อมุ่งเข้าไปหาจุดนั้น แต่ในท่ามกลาง พลังอันนี้จะเกิดเป็นแรงหมุนเคลื่อนชนิดที่กระหายจุดมุ่งหมายอื่นๆ นั่นเอง

เรามุ่งเข็มไปที่นั่น พอไปถึงด้วยแรงผลักดันอันนั้น มันต้องการอีกจุดหนึ่ง ที่เรามักจะเรียกว่า “ตัณหา” ตัณหานี้เราไปกำหนดจุดขึ้นมาจึงมีปัญหา สมมติว่าเราไม่มีจุด เมื่อไม่มีจุดชีวิตก็เริ่มเป็นไปเองตามเรื่อง สิ่งที่ไม่รู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่พึงรู้มันก็ไม่รู้ มันจะไปรู้ทำไม ในเมื่อมันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรู้

เมื่อไปรู้สิ่งที่ไม่พึงรู้ มันรู้ไม่จริง เพราะมันไม่มี เมื่อไปสร้างสิ่งที่ไม่มีให้มี เมื่อมันรู้ไม่จริงมันก็สงสัย สงสัยก็กระหายที่จะรู้ จึงเกิดเป็นตัณหาขึ้น คือการแสวงหาอะไรของเรานี้ เรามักจะไม่รู้ว่ามันต้องการอะไร เพราะเจ้าตัวความต้องการเองเป็นตัวสับสนเสียเอง และดังนั้นคำตอบจึงไม่มี

เราจึงได้ยินตัวเราตะโกนว่า “เอะ ผมไม่รู้ว่าผมต้องการอะไร” ก็เพราะว่าตัวความต้องการนี้เองมันสับสนอยู่ในตัวมัน มีความต้องการแล้ว มันจะไม่รู้ว่ามันจะไปจบสิ้นที่ใด

ในแง่ของจิตวิทยาจะชี้ให้เห็นว่า ความต้องการ ความปรารถนานี้ จะยังคงมีเรี่ยวแรงอยู่ เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็นตามที่เป็นจริง เมื่อเราเห็นตามที่เป็นจริงๆ โดยตัวของเราจริงๆ ความต้องการที่จะให้เป็นอื่นจะไม่มี เพราะความต้องการที่จะให้เป็นอื่นเป็นการไม่เห็นตัวจริงของตัวเอง

เมื่อเห็นตัวจริงแล้ว ตัวจริงอันนั้นจะทำให้เราพ้นจากความรู้สึกอคติทั้งหลาย น่าเกลียด หรือน่ารัก การเห็นตามเป็นจริง จะทำให้ไปพ้นจากอคติ (ที่ว่า) มันน่ารัก เราชอบมัน หรือน่าเกลียด โดยย่อแล้วโดยหลักการในการปฏิบัติธรรม เราจะถือเป็นก้าวสำคัญของมนุษย์ก็คือ มนุษย์ได้ก้าวพ้นจากอคติของตัวเอง คือไม่เอาความชอบ หรือความไม่ชอบมาเป็นหลัก

ในการมองที่ตัวเองนั้น เรามักจะมองในแง่ที่จะยกยอตัวเอง หรือเหยียดตัวเอง การสู้รบปรบมือนี้เป็นสิทธิที่ตัวเรา เราจะมีชีวิตที่เรียกว่าเกลียดตัวเอง เบื่อตัวเอง หรือไม่ก็ชมตัวเอง บ้าตัวเอง หลงตัวเอง แล้วทั้งหมดนี้เป็นรูปของความคิด เพราะตัวเองก็คือภาพพจน์ของใครคนหนึ่งที่เราคิดขึ้น ฉันเป็นใครคนหนึ่ง

การยกย่องตัวเองก็ดี หรือการเหยียดตัวเองก็ดี ไม่อาจจัดเป็นการปฏิบัติธรรมได้ เรามักจะได้ยินว่า อย่ามองคนอื่นว่าเป็นผู้อื่นทำผิด ให้มองตัวเองนี่ทำผิด อย่าคิดว่าคนอื่นมีปัญหา ให้มองตัวเองมีปัญหา ที่จริงอย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะถ้ามองเข้าไปที่ตัวปัญหาแล้ว โดยข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่ว่า เมื่อเราเห็นสิ่งนั้นตรงๆ ตัวผู้เห็นนี่จะไม่มี ผมพูดในภาษานี้ บางท่านอาจจะนึกว่าเป็นรหัส แต่นี่เป็นข้อเท็จจริงที่บุคคลพึงประจักษ์เท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องตีความ ไม่ใช่ปรัชญา

ดังที่ผมพูดเมื่อตอนเช้าว่า ในการเห็นของเรานี้ เราจะคิดด้วย มันคิดแล้วมันก็เห็นตามที่มันคิด ดังนั้นการเห็นนั้นเป็นเพียงผลของความคิด ถ้าผมมีความคิดผิดๆ การเห็นของผมนั้นจะผิดไปทันทีเลย การเห็นในนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงตา ตานี้ไม่มีปัญหาเท่าไร แต่การเห็นคือทัศนะ เช่นทัศนะต่อบุคคลคนนี้ มันขึ้นว่าผมคิดอย่างไรในใจด้วย เมื่อผมคิดผมก็เห็นว่าคนๆ นี้ดี คนๆ นี้เลว

ทีนี้การเห็นที่แท้จริงจะปรากฎขึ้น เมื่อไม่มีทัศนะ การเห็นชัดๆ โดยไม่มีทัศนะเลย ไม่มีความคิดเห็นอื่นใดเลย ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีการให้รางวัล ไม่มีการเพิ่มโทษ มันมีแต่การประสบเฉยๆ ไม่มีถ้อยคำใดที่ปลุกขึ้นในใจว่า ดี ชั่ว ตรงนี้เรียกว่าการเห็น ดังนั้นในการเห็นนี้จึงไม่มีทัศนะ

คือเราไม่เคยเรียนอย่างนี้ เราเคยเรียนแต่ตัวภาคทฤษฎี สัมมาทิฐิเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ยึดว่าอันนี้จริง เราก็แค่มอง เช่น เห็นใบไม้เหลืองหล่นนี่ อ๋อ มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง อย่างนี้เป็นเรื่องคิดขึ้น ถ้าขืนรู้ในทีนี้จะไม่มีวันประสบ เพราะเมื่อตอนประสบก็คือการที่ ติดทิ้ง สิ่งที่เป็น มีนส์ เป็น มีเดีย ออกหมด หรือเป็นการประสบ ประสบการณ์ตรงๆ

ประสบการณ์ตรงๆ จากภายนอกก็ไม่สู้เท่าไรนัก แต่ประสบการณ์กับความคิดของตัวเรานี่ ดังที่ผมเล่าตอนเช้าว่า เมื่อเห็น พอคิดวูปออกไปจากการเห็นนั้น มันก็เห็นทันทีนะ แต่เป็นการเห็นด้วยความคิด เราพูดด้วยตัวประสบการณ์ เรามักจะเข้าใจผิดไป ซึ่งคิดว่า เราเคยมีประสบการณ์ ครั้งหนึ่งเมื่อสิบปีที่แล้ว อันนี้ไม่ใช่ประสบการณ์ อันนี้เป็นความจำเกี่ยวกับประสบการณ์ ซึ่งไม่มีร่องรอยของประสบการณ์อีกแล้ว

ผมคิดว่าเมื่อสิบปี ผมรู้จักกับคนๆ หนึ่ง เขาทำให้ผมโกรธมาก เจ็บมาก พอผมนึกขึ้นนี่ มันเป็นประสบการณ์ชั้นสอง ซึ่งเป็นแบบจำลองที่สร้างขึ้นและเป็นปัญหา เพราะตัวประสบการณ์นั้น ถ้าได้ประสบจริงๆ มันจะไม่จำ แต่การประสบนั้นไม่เต็มที่ มันจะหลงเหลือเป็นความจำ และความจำจะตกเป็นฝักฝ่ายของแง่บวกหรือลบ ชอบหรือไม่ชอบ

ผมพูดอย่างนี้บางคนอาจจะเข้าใจบางคนอาจจะงง เพราะต้องการภาคปฏิบัติ ก็มีข้อเท็จจริงอันหนึ่งว่า ถ้าเราพูดกันหมด สิ่งที่พูดนี้จะกลับกลายเป็นอุปสรรค์ขึ้น เพราะเมื่อเดินมันจะเดินภายใต้คำพูดอันนี้ ก็เดินทบทวนว่า เอ๊ เขาพูดอย่างนี้ถูกไหม ทดลองดูสิ มันก็คิดแล้วก็ทำ แบบนี้เราต้องทำให้ตัวการของความรู้ตัวนี้ออกหน้า และความคิดก็ตามหลัง ไม่ใช่คิดแล้วรู้สึก แต่ให้มันรู้สึกตัว อย่างนี้ พอคิดความคิดทุกความคิดจะจบสิ้นลง ความคิดทุกความคิดจะปรากฎสดๆ แล้วก็จบลง มันจะไม่จำ

ดังนั้น ถ้าทำเป็นเส้นทางมันจะไปข้างหน้าเรื่อยๆ มันไม่วกกลับ เมื่อบุคคลเสวยอารมณ์ใด หรือรู้สึกในเรื่องใด สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มันจะจำอารมณ์นั้น พอเป็นสุขมันก็จำสุข ทุกข์ก็จำทุกข์ เมื่อจำสุขจำทุกข์แล้ว มันก็คิดถึงสุข คิดถึงทุกข์ พอคิดถึงสุขถึงทุกข์ มันก็วนเวียนกลับไปสู่สุขทุกข์ ก็จำอยู่อย่างนั้น

ชีวิตของเราจึงกลายเป็นการหมุนย้อน ทำท่าจะไปข้างหน้าแล้วก็ถ้อยกลับหลัง กี่ปีๆ เราก็เป็นอยู่อย่างนั้น ส่วนการหาประสบการณ์สดๆ ร้อนๆ นี่ กลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือการไม่ใช้กระบวนการของความจำเลย การที่จะไม่ใช้ กลับกลายเป็นภาระหนักของเราเสียแล้ว เพราะความจำ ได้กลายเป็นนายของเราแล้ว เราสติอ่อน ตกเป็นทาสของความคิดนึกความจำ การเพิกถอน การไม่ใช้ กลับเป็นงานหนัก งานซึ่งยุ่งยาก คล้ายๆ เราจ้างคนใช้คนสวนมา ในที่สุดมันมีอำนาจเหนือเรา จะบอกเลิกไม่ให้เงินเดือนมัน ไม่ได้เสียแล้ว มันมีอำนาจมันบีบเราเสียแล้ว

ดังนั้นเอง ในการเผชิญหน้ากับตัวเรา หรือสำรวจตัวเราอย่างไม่มีเงือนไขนี้เอง เป็นการเรียนรู้ความทุกข์ยากของมนุษย์ ที่ได้ตกเป็นทาสของความคิดของอารมณ์ เรามาปฏิบัตินี่เพื่อรู้จักทุกข์ ถ้าเมื่อใดหวังจะได้รับความสุข ผมคิดว่าพลาดจุดหมายสำคัญแล้ว เรามานี้เพื่อให้เป็นทุกข์แท้ๆ ให้มาเดินจงกรม ให้มานั่ง ให้มันรู้ทุกข์ แต่เมื่อรู้ทุกข์อันนี้แล้ว มันจะมีข้อดีเกิดขึ้นตรงที่จากความรู้จักทุกข์อันนี้ แต่ทุกข์อันอื่น ทุกข์เล็กๆ มันจะตกไป สภาพทุกข์อันนี้เรียกว่าอย่างไร สภาพทุกข์คือสภาพที่เราต้องทน

โปรดสังเกตุจะเห็นว่า เราต้องทนนั่ง ทนมีชีวิตอยู่ ทนหายใจเข้าหายใจออก เป็นสภาพซึ่งต้องทน ต้องแบก ต้องหาม ท่านก็เรียกว่าขันธ์ ๕ คือเป็นกอง เราก็ต้องพาร่างนี้ มันหิวก็ต้องกิน เคลื่อนไหว นั่ง ลุก ยืน เดิน นอน แต่ถ้าเราดูโดยแง่ของความเป็นภาพพจน์อันนี้ เราก็เห็นเหมือนภาพพยนต์ คนกำลังยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าดูอย่างนี้ยังไม่ชัด แต่ถ้าย้อนมาดูที่ตัวจริงนี่ มันลุก มันเดิน มันยืน มันนั่ง เราจะรู้สึกถึงสภาพซึ่งเปลี่ยนแปลง ต่อเนื่อง ผลักดัน หยุด เงียบ คิด พูด เราจะเริ่มเห็นทั้งหมดนี้ตามที่เป็นจริง

เห็นตามที่เป็นจริง คือการเห็นแบบประสบ ไม่ได้คิด ไม่ได้ใช้ทฤษฎีเลย ตอนที่เรานั่ง เราไม่ได้คิดขึ้นให้มันนั่ง มันก็นั่ง แต่พอความคิดอันหนึ่งเกิด มันก็ลุก เราก็เห็นข้อต่ออันนี้ จากอิริยาบทหนึ่ง มันเลือนไปสู่อิริยาบทหนึ่ง ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้สังเกตุให้ดีจะไม่เห็น เพราะความคิดมันมาเร็ว และอย่างฉับพลันทันด่วน มันก็ลุกพรวดพราดเดินไปห้องน้ำแล้ว กลับมาคิดตั้งหลายเรื่องก็ไม่รู้ตัว ซึ่งการไม่รู้ตัวนี้ก็นับว่าดี ทีนี้การรู้ ถ้ามันรู้ขึ้นเอง ก็นับว่าดี จากสภาพจริงอันนี้ เราจะเข้าไปรู้ หรือไม่เข้าไปรู้ กฎกลไกนั้น ก็ทำหน้าที่อยู่อย่างนั้น

ดังนั้นเอง ในความยุ่งยากลำบากในการปฏิบัติธรรม เพราะเมื่อเราอยากจะให้รู้ เราไปบีบตัวเรา ก็เกิดความทุกข์ชนิดที่ไม่จำเป็นขึ้นมา ผู้ไม่รู้จะปฏิบัติธรรมให้เป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น เช่น ไปทรมานตน ไปอดข้าวอดปลาเข้า ไปบีบบังคับตัวเองให้อดหลับอดนอนทั้งคืน อย่างนี้เรียกคนไม่รู้ ปฏิบัติอย่างนั้น แล้วไม่ช้าไม่นานก็เบื่อหน่าย ทีนี้อีกประเภทหนึ่ง เมื่อได้ยินว่าธรรมะนี่มันจะเป็นเองอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไร ก็ยกเลิกไปเลย กลายเป็นไม่รู้อีกแบบหนึ่ง

แต่สภาพใดที่เป็นสภาพกลางๆ สภาพใดที่เราประคองไว้กลางๆ รู้เห็นตามที่เป็นจริง เรากระพริบตา เรานั่ง สูดลม รู้ก็ได้ หันมารู้ พอรู้จะเห็น โอ้ เป็นอย่างนี้ๆ ในการรู้นั้นไม่มีความพยายามเลย ถ้ารู้มันจะรู้เอง เมื่อใดมันผละ มันจะผละไปเอง ก็คล้ายๆ วัว มันเห็นหญ้าเขียวๆ มันก็กิน กินๆ เดี๋ยวมันก็ไปทางนู้น แล้วก็นอน ก็ยืน เราก็เหมือนกัน พอมันย้อนมารู้ตัวมัน รู้ร่างกายนี้ มันก็รู้ มันก็รู้อันนั้นอันนี้ๆ

มันจะรู้อันไหนก่อน อันไหนหลัง ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ใช่ไปกำหนดให้รู้การกระพริบตา ให้เดินรู้การกระพริบตา อย่างนี้ผิดธรรมชาติ แต่ตราบใดที่เราเคลื่อนไหวเอง กลับไปกลับมาอย่างอย่างนี้ และไม่นอนเสีย ไม่เกียจคร้าน การรู้อันนี้จะถี่เข้า คุณจะย้อนมารู้เห็นความผสานกลมกลืนของตัวเรานี้ เมื่อตอนที่รู้ความผสานกลมกลืนนั้น ถึงผมจะไม่บอกล่วงหน้า ผู้ที่ปฏิบัติถูกก็จะรู้เอง

คือสภาพซึ่งเป็นเองนี้ เช่น ยกมือนี่มันลอยขึ้นมาเอง จะเดินมันเดินเอง ดูประหนึ่งว่ามีใครเดินให้ จะไป เดินกลับไปกลับมา ก็ตัวเรานี้เหมือนตุ๊กตา เดิน กระพริบตา นั่ง หิว กิน ดื่ม ถ่าย เงียบ คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก ถ้าในแง่ปฏิบัติแล้ว ผมพูดได้เท่านี้ครับ แต่ถ้าแง่ความรู้กว้างๆ ว่า ทำไมต้องมาปฏิบ้ติอย่างนี้นี่ พูดกันไม่รู้จบ ดังนั้น จุดที่สำคัญที่ผมเองรู้สึกก็คือ คำพูดชักชวนให้ปฏิบัตินั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติเลย ตัวการปฏิบัติไม่ต้องทำอะไรเลยครับ เพียงแต่ว่าให้ลงมือสังเกตุ เอาอีกแล้วครับ! พอใช้คำว่าสังเกตุเราจะเริ่มทำกันอีกแล้วครับ ทีนี้ก็ไม่มีคำพูดแล้ว

ข้ออธิบายทั้งหมดนี้ ไม่อาจช่วยเรามีคุณธรรมอะไรขึ้นเลย เพราะเมื่อเข้าใจแล้ว ก็คือตัวเรานี้เอง มันเพียงแต่ชี้มาว่า ให้เราย้อนมาที่ตัวเราเท่านั้น แต่ตอนที่ย้อนมาสู่ตัวเราเอง โดยตัวมันเองเป็นภาวะซึ่งพิเศษสุด เป็นภาวะซึ่งหลุดออกจากสภาพที่เราถูกกำหนดอยู่ คือผมไม่ได้ปฏิบัติเพราะมีคนจ้องดูอยู่ และผมไม่ได้เลิกเมื่อมีเพื่อนเลิก ภาวะที่มันเป็นตัวของตัวเองแล้วก็มารู้สึกที่ตัวนี้ เห็นอะไรอย่างจริงใจ อย่างชนิดที่เรียก ที่รู้ที่เห็นเป็นภาวะสดๆ

การเห็นมันก็ยังคิดอยู่ แต่เป็นการคิดสดๆ ต่อเนื่องจากประสบการณ์ที่เห็น คือตัวมันเอง มันจึงเป็นภาวะที่เป็นตัวของมันเองอย่างสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่มันยังมีปัญหา แต่บัดนี้มันได้หลุดออกจากเงือนไขต่างๆ ของเวลา ของสถานที่ ของบุคคล จุดนี้เองที่เรียกว่าจุดที่ธรรมะจะเผยตัวออกมา แต่ถ้าเรายังอยู่ภายใต้เงือนไข คือผมยังเดินเพราะเรามีตราตารางให้เดิน อย่างนั้นผมเดินผมประจบเพื่อนนะครับ กลัวเขาจะหาว่าขี้เกียจ เกียจคร้าน ก็เดินเล่นๆ ไป ถ้าอย่างนี้ไม่มีผลเลย

ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่สุดคือการปลดอิทธิพลรอบข้างออก คือเหมือนกับอยู่คนเดียวในโลกนี้ จุดนี้คือจุดตั้งต้นที่ดีมาก เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างตายดับดิ้นไปหมดแล้ว เหลือแต่ตัวเองเปลือยๆ เปล่าๆ และไม่มีงานจะทำ ไม่มีเรื่องอะไรต้องทำ ดังนั้นก็ เริ่มสังเกตุ ในการเอี้ยว ในการคู้ ในการเหยียด

ก็สิ่งที่เรียกว่าธรรมะก็คือตัวเรา เราถูกสอนให้กระหายคุณธรรม กระหายศีล เราเชื่อมั่นว่าจะต้องมีบาทฐานมีศีล มีสมาธิ แต่ตามที่ผมเข้าใจนั้นไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่ามาเห็นตัวเองตามที่เป็นจริงนี้ มันเป็นศีลอยู่ในตัวแล้ว คือภาวะใดที่มันกระทำอะไรเคลื่อนไหวอยู่แล้วรู้เนื้อรู้ตัวนี้ เป็นศีลแล้ว

ผมอยากจะให้ใช้เวลาส่วนใหญ่คนเดียว เดิน นั่ง เริ่มเงี่ยหูสดับตรับฟังเรื่องราวความเป็นไป ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกข้างนอกข้างใน แต่ให้เริ่มต้นที่ตัวนี้ให้มาก เสียง ลมพัด อะไรนี่ ตื่นตัวอยู่กับสภาพเป็นจริงอันนี้ แล้วเราจะรู้ เราจะรู้ตัวขึ้นทันที โดยธรรมชาติของมันว่าหลายปีแล้วที่เราได้ละเลยความเป็นจริงอันนี้ ความเป็นจริงซึ่งปรากฎจริงๆ เพราะได้หลงพลัดเข้าไปในโลกของความคิด คิดถึงจะเอาบ้านเอาเมือง คิด คือการที่คิดไม่รู้จักจบนี้ ก็เป็นหน้าที่อันหนึ่งของจิต ทำงานได้ไม่รู้จักจบ

แต่เมื่อเรามารู้กับสภาพจริงอันนี้ ความคิดจะเป็นประสบการณ์ซึ่งต่อเนื่อง เราจะเริ่มเห็นว่า ประเดี๋ยวหนึ่งเราจะใส่ใจที่หู เดี๋ยวมาที่ตา เดี๋ยวมาที่ผิวที่ลมกระทบ มันวน ใหม่ๆ มันจะเป็นจุดๆ นานๆ เข้ามันจะประมวลกันขึ้น เราจะรู้สึกคล้ายๆ มีตาอันเดียวเท่านั้น ร่างกายทั้งหมดนี้เหมือนกับตา คุณลักษณะที่ว่า รู้ตัวและไม่รู้หรือลืมตัวนั้น เป็นคุณลักษณะของชีวิต ดังนั้นเราจึงหลับได้ ก็คือมันล้มตัวมันก็ไม่รู้ตัวมันก็หลับ ตื่นขึ้นมามันก็รู้ ลักษณะสองอย่างนี้มันยังสวนทางกันอยู่ บางทีมันรู้บางทีมันไม่รู้

แต่เมื่อใดที่คุณลักษณะสองประการของสิ่งเดียวนี้ คือทั้งรู้ได้ ทั้งรู้ไม่ได้ ก็นี่คับมันรู้อยู่รู้ได้ แต่มันก็ไม่รู้อะไร แต่บัดนี้เราไม่เข้าใจ แล้วเรากลัวมันด้วย เรากลัวภาวะของมัน เรากลัวตัวมัน เรากลัวว่า เอ๊ มันจะอยู่ได้ยังไงนี่ ทั้งรู้ รู้แต่ไม่รู้อะไรนี่มันจะกินอะไรเข้าไป มันจะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง เราไปถามถึง มันคิดขึ้นมา แต่ถ้าภาวะที่รู้ได้และรู้ไม่ได้นี้ชัดและมันเปิดเผยตัวมันเองขึ้นอย่างแจ่มชัดขึ้น คือปัญหาความสงสัยว่าจะอยู่อย่างไรไม่มี

เพราะต่อคำถามที่ว่า เราจะอยู่อย่างไรนี้มันเป็นมายาเท่านั้น ถ้าใครจะถามว่า ผมจะอยู่อย่างไร ตัวผมเองจะถามย้อนว่า ก็คุณเคยเป็นอยู่แล้วอย่างไร เรานี้กังวลมากกว่าความรับผิดชอบต่อการเป็นอยู่อย่างไร แต่โดยที่แท้จริงนี่มันเป็นอยู่แล้วอย่างไร ทุกๆ วันเป็นอยู่แล้วอย่างไร เราก็ไม่เข้าใจ แต่ที่จะถามว่าเราจะอยู่อย่างไรในอนาคต ก็แล้วเป็นอยู่อย่างไรเดี๋ยวนี้ และที่แล้วมาทุกวันเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้น นุ่งกางเกงทีละตัว ใส่กระโปรงทีละตัว กินข้าวทีละคำ มันก็อยู่อันนั้นแหล่ะครับ

แต่สิ่งที่เราถามถึงเป็นมายา คือคิดขึ้นว่า เอ๊ ถ้ามีสงครามจะเอาทรัพย์เก็บที่ไหน คนนั้นตายเราจะอยู่กับใคร ทำอย่างไร มันจะคิดขึ้นครับ พอคิดขึ้นก็วิ่งวนไปตามใยที่ตัวเองชักไว้ เช้าค่ำจะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นเราไม่พร้อมที่จะมีชีวิตอยู่จริงๆ คือเราไม่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆ เลย เราได้แต่เตรียมกาลที่จะมีชีวิตที่ดีในวันหน้า เรามาที่นี่เราก็เริ่มใช้ชีวิตจริงๆ ให้ตัวชีวิตมันเผาผลาญตัวมัน จะเรียกว่าผลาญชีวิตเล่นไม่รับผิดชอบต่ออะไรเลยก็ว่าได้

แต่การกระทำอย่างนี้มันมีเคล็ดอะไรที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือว่าความรู้เนื้อรู้ตัวนี้ต่อเนื่องกันดีแล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่า ถึงเราไม่รับผิดชอบอะไรเลย แต่มันจะเกิดภาวะรับผิดชอบขึ้นเอง คือ ความรู้สึกที่สิ้นเวร ความไม่เบียดเบียน ความไม่ต้องการอะไรมากมายในทำนองที่ต้องเบียดเบียนผู้อื่น เป็นความรับผิดชอบที่แท้จริงต่อสภาพสังคมทุกวันนี้ เราหวาดกลัวที่จะต้องอธิบายให้คนอื่นฟัง หรืออธิบายให้ตัวเองฟัง เรากลัวต่อความคิดของเราเอง


:b8: :b8: :b8:


= รวมคำสอน “ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44291

= ประวัติและผลงาน “ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24878

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/