ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=50883
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 08 ก.ย. 2015, 18:02 ]
หัวข้อกระทู้:  การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

รูปภาพ
Kiss Kiss

การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง

พระครูญาณทัสสี (หลวงปู่คำดี ปภาโส)
วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย


สำหรับการทำสมาธินั้น เราจะกำหนดพุทโธ…พุทโธ…พุทโธ เป็นอารมณ์
หรือจะเรียกว่าเอาพุทโธเป็นเป้าหมายก็ได้
หรือว่าเราจะกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ หรือเป็นเป้าหมายก็ได้เช่นกัน
อันนี้แล้วแต่ว่าเราจะชอบอย่างไหนหรือถูกจริตกับสิ่งใด
เมื่อเรากำหนดสติของเราตั้งมั่นอยู่ที่ไหน จิตของเราก็ให้อยู่ที่นั่น
เพราะสติเป็นเครื่องผูก เป็นเครื่องครอบงำ เป็นเครื่องบังคับ
นอกจากสติและความรู้แล้ว ไม่มีสิ่งไหนในโลกที่จะสามารถบังคับจิตให้สงบลงได้
เมื่อเราต้องการบำเพ็ญสมถะ เราต้องเจริญสติให้มากๆ
ถ้าเราจะกำหนดลมหายใจเข้าออก เราก็กำหนดลมหายใจที่มาสัมผัสที่ปลายจมูก
หรือที่หัวใจ หรือที่ท้องน้อย หรือที่ลิ้นปี่ หรือที่ไหนก็ได้
แต่ให้กำหนดเอาไว้อยู่เพียงจุดเดียวเท่านั้น

การฝึกหัดทำสมาธิภาวนานี้ ในตอนแรกๆ จะทำได้ยาก
มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามแข้งตามขาหรือตามเอวตามหลัง
ในตอนแรกๆ นี้จะต้องอาศัยความอดทน และต้องอาศัยความฝืนอยู่มากพอสมควร
แต่เมื่อกระทำไปประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ ก็จะรู้สึกเคยชิน
อาการปวดเมื่อยต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป
เมื่อเรารู้สึกปวดเมื่อยแล้ว ท่านจึงแนะนำให้เราเปลี่ยนอิริยาบถ
จากการนั่งสมาธิไปเป็นการเดินจงกรม ซึ่งวิธีการกำหนดใจในขณะเดินจงกรมนั้น
ก็เหมือนกับเรากำหนดเวลาที่เรานั่งสมาธินั่นเอง
เพียงแต่ต่างจากการนั่งไปเป็นการเดินเท่านั้น

ในบางครั้งเมื่อเราทำสมาธิได้แล้ว ขณะที่จิตรวมวูบลงไป
ร่างกายของเราก็จะเกิดเห็นเป็นซากศพ
ที่มีสภาพเหมือนกับว่าเพิ่งจะขุดขึ้นมาจากหลุมศพ
แต่จริงๆ แล้วร่างกายของเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เมื่อเราถอนจิตออกมาก็จะเห็นเป็นตัวตนธรรมดา
อาการที่เราเห็นเป็นซากศพเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “อสุภนิมิต”
ถ้าเราเคยได้ยินครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน
ในเรื่องของอสุภนิมิตนี้แล้ว เราก็ทำความรู้เท่าทัน
อสุภนิมิตนี้ถ้าเกิดบ่อยๆ จะเป็นการดีมาก
ท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ท่านนิยมมาก
ถ้าพระเณรองค์ใดได้อสุภนิมิตร่างกายเน่าเปื่อยเป็นซากศพแล้ว
ท่านว่าผู้นั้นจะสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ง่าย

อสุภนิมิตนี้ไม่ใช่เป็นของร้าย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าเราอดกลัวไม่ได้
ก็ให้เราลืมตาเสีย ตั้งสติให้มั่น ขออย่างเดียว อย่าลุกวิ่งหนี
ถ้าเราเคยได้ยินได้ฟังคำแนะนำอย่างนี้แล้ว
เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิต ก็จะระลึกได้อยู่หรอก
แต่ถ้าเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เมื่อเวลาที่เกิดขึ้นก็จะเกิดความกลัว
ถ้าเราลุกวิ่งหนีก็จะทำให้เราเสียสติได้ การลุกขึ้นวิ่งหนีนี้ ขอห้ามโดยเด็ดขาด
การที่เกิดอสุภนิมิตนี้เรียกว่า “มีพระธรรมมาแสดงให้เราได้รู้ได้เห็น
มีความชราในเบื้องกลาง และก็มีการแตกสลายไปในที่สุด”


เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตขึ้น ถ้าเราสามารถทนได้นับว่าเป็นการดีมาก
เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามาก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็น นิมิตภายในตัวเรา
แต่ในบางครั้งก็เกิดเป็นนิมิตภายนอก เช่น ในบางครั้งเกิดเห็นเป็นพระพุทธเจ้า
หรือบรรดาครูบาอาจารย์มาปรากฏให้เห็น หรือเห็นเป็นพวกวัตถุ
เช่น โบสถ์ วิหาร หรือสิ่งต่างๆ นิมิตภายนอกนี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต”
เรื่องของนิมิตเป็นเรื่องที่สำคัญ
ในบางครั้งก็มาทำท่าแลบลิ้นปลิ้นตา ก็อย่าไปเข้าใจว่าเป็นเปรตเป็นผี
ที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าสังขารภายในมันฉายออกไปเพื่อหลอกใจของเราเอง
มันฉายออกไปจากใจนี่แหละ อันนี้พูดเตือนสติไว้

ผู้ปฏิบัติบางคนก็เกิดนิมิตมากจริงๆ แต่บางคนก็เกิดนิดหน่อย
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าอุปนิสัยและวาสนาบารมีที่เราได้กระทำมาตั้งแต่ชาติหนหลัง
การทำสมาธิภาวนานี้ ถ้าบุคคลใดเกิดนิมิตมากก็อย่าได้ไปเกิดความกลัว
จนกระทั่งเลิกปฏิบัติ ขอให้ปฏิบัติต่อไป
โดยให้ตั้งสติมั่นกำหนดรู้อย่างที่แนะนำมาแล้ว เมื่อเราทำต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดอานิสงส์
คือถ้าเป็นคนมีนิสัยดุร้ายก็จะเป็นคนใจดี ถ้าเป็นคนโกรธง่ายก็จะค่อยๆ เบาบางลง
ถ้าเป็นคนปัญญาทึบ เมื่อทำจิตสงบได้แล้วก็จะกลายเป็นคนที่ฟังอะไรรู้เรื่อง เข้าใจในเหตุผล
ถ้าเป็นคนที่ฉลาดอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มพูนปัญญาให้มากขึ้นไปอีก ท่านจึงว่ามีอานิสงส์มาก

ขณะที่เราเกิดเห็นนิมิตขึ้นมา ถ้าเราแก้ความกลัวในนิมิตได้ต่อไปก็จะสบาย
เมื่อเราเกิดความกลัวขึ้น เราอย่าไปยึดถือสิ่งที่เราเห็นในนิมิตเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นเขา
ให้กำหนดรู้ว่าเป็นมาร ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่า “ขันธมาร” หรือ “กิเลสมาร”
เราลองคิดดู พระพุทธเจ้าเองท่านยังมีมารมาคอยรังควาน
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบาปอกุศลที่ได้กระทำมาในแต่ละภพแต่ละชาติ
ได้ตามมากีดกั้นไม่ให้เราได้ทำความดี เกรงว่าเราจะหลุดพ้นจากอำนาจของเขา
ขอให้พวกเรานักปฏิบัติทั้งหลายจงรู้เท่าทันในสิ่งเหล่านี้ไว้
กิเลสมารหรือขันธมารเหล่านั้น อย่าให้เราไปยึดเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นเขา
ให้กำหนดเอาผู้รู้ ผู้รู้ก็คือใจเรา สติกับความรู้ให้เป็นอันเดียวกัน
อย่าส่งไปตามอาการของนิมิตภายนอกที่เราปรากฏเห็น
ให้เรารู้เท่าทันว่าสิ่งนั้นเป็นนิมิต ไม่ใช่เป็นของจริงตามที่เห็น
ถ้าเรากำหนดรู้ไว้อย่างนี้สักพักหนึ่ง นิมิตเหล่านั้นก็จะหายไปเอง


เรื่องของนิมิตนี้จะเกิดหรือไม่เกิดไม่สำคัญ
เพราะว่าการที่เราทำสมาธิภาวนา ก็เพื่อมุ่งให้เกิดความสงบภายในจิตใจเท่านั้น
ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตใจของตนให้สงบเป็นอารมณ์เดียวได้แล้วก็พอเท่านั้น
ไม่มีนิมิตเกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร บางคนภาวนาเพื่ออยากเห็นสิ่งต่างๆ
ความที่อยากเห็นสิ่งต่างๆ ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจของเราเลย
มีแต่กิเลสคือ “ความอยาก” คอยเผาจิตเผาใจเราอยู่อย่างเดียว
การภาวนา ท่านต้องการให้เราปราบกิเลสของเราเท่านั้น
คือเห็นความโลภของตน เห็นความโกรธของตน เห็นความหลงของตน
เห็นราคะตัณหาของตน เห็นมานะทิฏฐิของตน
เมื่อเราเห็นกิเลสดังกล่าวแล้ว
เราต้องวางแผนทำลายกิเลสของตนให้หมดสิ้นจากจิตของเรา
สิ่งนี้จึงเป็นความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้

บางคนภาวนาไปอยากเห็นภาพต่างๆ เช่น นรก สวรรค์ เทวดา เป็นต้น
การที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรแปลก
ที่ว่าไม่แปลกก็เพราะว่าเมื่อเห็นแล้วกิเลสของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม
บางคนแถมยังทำให้เกิดกิเลสเพิ่มมากขึ้นอีกเสียด้วย
คือถือว่าตนเองเป็นผู้วิเศษที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้
เลยไม่ยอมกราบไหว้ใครทั้งนั้น จนกลายเป็นสัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์
ปิดกั้นทางมรรค ทางผล ทางนิพพานไปโดยปริยาย
ความเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความเห็นที่ผิดจากหลักของศาสนา
ส่วนความเห็นที่ถูกนั้นคือการเห็นจิตตามความเป็นจริง เห็นกายตามความเป็นจริง
คือเห็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ของตนและของคนอื่นสักแต่ว่าเป็นธาตุ
ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตนตัว เราเขา และเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้าเราสามารถเห็นได้แบบนี้แล้ว เรียกว่า “เห็นกายตามความเป็นจริง”


ส่วนที่ว่าเห็นจิตตามความเป็นจริงนั้น ท่านถือสภาพรู้เป็นตัว ไม่ได้ถือเวทนา ๓ เป็นตัว
เวทนา ๓ ก็คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาภาวนา (ความไม่สุขไม่ทุกข์คือเป็นกลาง)
สิ่งเหล่านี้ก็จะต้องเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่มีตนไม่มีตัวในเวทนา ๓ ถือแต่ความรู้เป็นตัว
ถ้าเราสามารถเห็นได้แบบนี้แล้ว เรียกว่า “เห็นจิตตามความเป็นจริง”
ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย สิ่งที่ได้พูดมาวันนี้ก็อยากจะเน้นเรื่องนิมิตเป็นใหญ่
เพราะในสมัยนี้มีลัทธิที่สอนกันผิดๆ อีกมาก
ขอให้ผู้ปฏิบัติจงนำไปพิจารณาและปฏิบัติตามนี้ ก็จะสมความมุ่งหวังทุกประการ


คัดมาจาก : หนังสือ “ธรรมโอวาท”
อนุสรณ์เนื่องในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์
และเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๕
:b8: :b8: :b8:


:b50: :b49: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่คำดี ปภาโส”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21222

:b50: :b49: รวมคำสอน “หลวงปู่คำดี ปภาโส”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=40903

เจ้าของ:  student [ 22 ม.ค. 2016, 00:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  อุบาสกน้อย [ 11 ก.ค. 2017, 10:09 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 18 เม.ย. 2020, 10:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

:b8: :b8: :b8: หายไปนาน แต่ก็ยังไม่ลืมกัน smiley smiley smiley

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 07 มิ.ย. 2020, 12:42 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

Kiss
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  AAAA [ 23 ก.ย. 2020, 19:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  Duangtip [ 17 ก.พ. 2021, 14:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

ขออนุโมทนาสาธุการค่ะ
ศรัทธาในปฏิปทาและคำสอนของหลวงปู่คำดี ปภาโส
พระอริยเจ้าผู้อ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อธรรม ยิ่งเจ้าค่ะ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  sirinpho [ 11 เม.ย. 2024, 09:47 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง (หลวงปู่คำดี ปภาโส)

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/