ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

กัมมัฏฐาน : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=50114
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Hanako [ 18 พ.ค. 2015, 08:31 ]
หัวข้อกระทู้:  กัมมัฏฐาน : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

รูปภาพ

พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

พระธรรมเทศนาแสดงเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๔


ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35963

รวมคำสอนและประมวลภาพ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43000

:b46: :b46:

คำว่า "กัมมัฏฐาน" ไม่ใช่หมายความแต่ว่า ผู้เป็นพระเป็นสงฆ์
หรือว่าฆราวาสตั้งอกตั้งใจปฏิบัติฝึกหัดรุกขมูลหรือเดินจงกรม
แล้วจึงจะเรียกว่า "กัมมัฏฐาน" เท่านั้น แท้ที่จริงเป็นคำสาธารณะทั่วไปหมด

คำว่า กัมมัฏฐาน จึงมี "กัมมะ" คือ การกระทำ "ฐานะ" คือ ที่ตั้ง
ทำแล้วทำในที่ใดตั้งในที่ใด ที่นั่นแหละเรียก "กัมมัฏฐาน"

นี่หมายความทั่วไปหมด พวกชาวบ้านชาวเมืองเขาทำการทำงาน
ทำให้แน่วแน่เต็มที่ก็เรียกว่า กัมมัฏฐาน เหมือนกัน
ทำโต๊ะ ทำเก้าอี้ ทำอะไรต่างๆ ทำบ้านทำเรือน ทำการก่อสร้าง
ทุกสิ่งทุกประการที่เราตั้งใจทำจริงๆ จังๆ นั่นแหละเรียกว่า กัมมัฏฐาน
คือ "ทำให้มั่น ทำที่ตั้งให้มันมั่นในกิจนั้นๆ" เรียกว่า กัมมัฏฐาน
ด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่แต่พระเท่านั้นดอกที่ว่ากัมมัฏฐาน


กัมมัฏฐานในที่มีท่านพูดเฉพาะ ที่พูดเฉพาะนั้น
เรื่องการทำสมาธิภาวนาเป็นกิจกรรมที่หนึ่งซึ่งทำให้จิตแน่วแน่
เรียกว่า กัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนามีคำบริกรรมให้มันแน่วแน่ให้เต็มที่
ไม่ให้จิตวอกแวกไปมาหน้าหลัง จนกระทั่งจิตแน่วแน่เป็นสมาธิภาวนา
นั่นล่ะท่านเรียก "เอกัคคตารมณ์" คือ จิตเป็นอันหนึ่ง เรียกว่า "สมาธิ"

เลยเฉพาะเรียกกัมมัฏฐานในพุทธศาสนา
ส่วนกัมมัฏฐานทั่วไปที่กล่าวมานั้น ทำอะไรต่างๆแน่วแน่ให้เต็มที่
ยึดสิ่งนั้นๆ แต่ว่ามันเป็น "ของภายนอก" ไม่ได้อยู่เข้ามา "ในกาย"
นั่นก็เรียกกัมมัฏฐานเหมือนกัน

แต่กัมมัฏฐานในศาสนานี้แน่วแน่ลงเต็มที่แล้วเข้ามาในกาย
ให้อยู่ที่กายแห่งเดียว จนกระทั่งพิจารณาแน่วแน่เต็มที่ กายก็ไม่อยู่
มาอยู่ที่จิตอันเดียว นั่นล่ะเรียก "กัมมัฏฐาน"


กัมมัฏฐานมีหลายอย่าง ท่านอบรมหลายวิธี เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐
มีอนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น ให้เห็นเฉพาะตัวของเรา
ไม่ได้ดูในที่อื่น ไม่ได้เพ่งดูในที่อื่น ให้เห็นเฉพาะตัวของเราเท่านั้น
เห็นตัวของเราแล้วยังแน่วแน่ลงไปจนเห็นจิตของตนเอง
นี่เรียกว่า เพ่งมองภายใน ไม่ได้เพ่งภายนอก


เมื่อเพ่งเข้ามาพิจารณาอยู่ในตัวของเราอย่างเดียว คือ มันใกล้เข้ามา
อยู่ในตัวของเรา เฉพาะตัวของเรานี่ มันใกล้เข้ามาที่สุด
เรียกว่า พิจารณาอสุภในตัวของเรา พิจารณาความไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นเป็นของเปื่อยเน่า ปฏิกูล หรือเป็นของไม่เที่ยงถาวร

เราไม่พิจารณาก็เข้าใจว่าเป็นของเที่ยงถาวร ไม่พิจารณาก็ไม่เห็นเป็นของปฏิกูล
ทำเสริมสวยทุกสิ่งทุกประการหรูหรา ของที่ไม่ดีก็ทำให้มันดีขึ้น
คือต้องการให้มันสวยนั่นเอง ต้องการให้มันงามนั่นเอง ต้องการให้มันอยู่ถาวรนั่นเอง
คือ ปกปิดความจริงของมัน ไม่ให้เห็นตามเป็นจริง

แต่ "กัมมัฏฐาน" นั้น ท่านไม่ปิด..ท่านเปิด เปิด "ของจริง" ขึ้นมาให้เห็น
พิจารณาของจริง มันปฏิกูลยังไง มันเปื่อยเน่ายังไง มันเป็นของไม่เที่ยงยังไง
ให้มันชัดด้วยตนเอง นั่นจึงเรียกว่า "กัมมัฏฐาน"
พิจารณานี้ที่เดียว
ไม่ให้พิจารณาส่งออกภายนอก พิจารณาให้เห็นของจริงเสียด้วย เห็นของจริงตามเป็นจริง
เราคิดดูว่า ตัวของเราเป็นของจริงยังไง ว่า "อสุภะปฏิกูล" น่ะ มันมีจริงไหม

พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกนี่เป็นต้นโดยลำดับ
หรือจะพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องพิจารณาโดยลำดับก็ได้เหมือนกัน
ขอให้เห็นชัดลงไปแล้วก็แล้วกัน

สมมติว่า เราพิจารณาเฉพาะฟันของเรานี่ ของปฏิกูลโสโครก
เราต้องแปรงต้องนั้นทุกวี่ทุกวัน วันนึงตั้งหลายหนหลายครั้ง
ฟันนั้นของปฏิกูล มีมูลฟันเกรอะกรังอยู่นั่น แต่ว่าฟันมันก็มีประโยชน์
เคี้ยวอาหารแหลก..ให้แหลกแล้วจึงค่อยกลืนลงไป
เฉพาะฟันแห่งเดียว พิจารณาเฉพาะฟันแห่งเดียว
อาหารของที่เราเคี้ยวลงไปน่ะ คลุกเคล้าด้วยน้ำลาย
ถ้าไม่มีน้ำลายก็กลืนไม่ได้ มีน้ำลายคลุกเคล้าเข้า เคี้ยวจนมันแหลกเหลว
ถ้าหากในขณะนั้นเราคายออกมา แล้วไม่สามารถที่จะเอาเข้าปากได้อีก
อันนั้นก็แสดงว่าปฏิกูลแล้ว ของน่าเกลียดแล้ว
กลืนลงไปอยู่ในลำไส้แล้วยิ่งแล้วใหญ่ ไม่สามารถที่จะเอาออกมาได้
อยู่ในกระเพาะ เปื่อยเน่า ฯลฯ (เทปไม่ชัดหนึ่งประโยค) สิ่งสารพัดทุกอย่างที่มันย่อยลงไป
มันต้องไปตามประสาท ไปตามเส้นเลือด ให้ไปบำรุงร่างกาย ทุกชิ้นทุกส่วน
ตั้งแต่เส้นผมตลอดจนเท้า อวัยวะเข้าไปแห่งใดทุกชิ้นทุกส่วน
อาหารเข้าไปในที่เดียวนั่นแหละ มันจัดแจงแต่งเรื่องแต่งไปเองตามเรื่องของมัน
ไปหล่อเลี้ยงแล้วไม่ต้องไปให้มันหรอกเข้าถึงกระเพาะแล้ว

ส่วนเศษเหลือไหลไปตามลำไส้ ลำไส้ใหญ่ เป็นอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นมูตร เป็นคูถ
ยิ่งสกปรกใหญ่ เหม็นก็แสนเหม็น น่าเกลียดสุดๆ พึงเกลียด น่าเกลียดน่ากลัวที่สุด
นั่นเป็นเฉพาะอันเดียวแค่นั้นแหละ เราไม่ต้องพิจารณาให้เกิดปฏิภาคดอก
ปฏิภาคมันคือเป็นนิมิต พิจารณาอสุภะนี้เดี๋ยวก็จิตรวมวูบลงไป
เกิดเปื่อยเน่าเละไปหมดเลยอันนั้นเป็นปฏิภาค เขาเรียกว่า ปฏิภาค

พิจารณาอย่างที่ว่านี่ไม่ต้องเกิดปฏิภาคให้มันยาก..เห็นชัดตามเป็นจริงเลย
ภายนอกเราก็เห็น ภายในเราก็เห็น เรียกว่า "ญาณทัสสนะ"
เห็นทั้งภายนอกภายใน ส่วนอื่นๆ ก็เหมือนกันค่อยพิจารณาเอง..
นั่นล่ะเรียก "ของปฏิกูล" มันจะมีดีที่ไหนคนเรา

พระพุทธเจ้าท่านเทศน์นักหนา (คาถาบาลี ๑ ประโยค ฟังไม่ชัด)
มีไถ้สองปาก คือว่า กรอกลงไปทางปากแล้วก็ไหลออกไปทางทวาร
เรียกว่า ไถ้สองปาก ไหลอยู่ตลอด นี่ล่ะทุกวันทุกวัน (คาถาบาลี) มีอะไรล่ะคนเรา
มีไถ้สองปากเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรเลยหมดทั้งตัว มีดีอะไรคราวนี้

เราเห็นชัดอย่างนี้เห็นตามเป็นจริงนี้เรียกว่า เห็นของจริง
เห็นอันนี้เรียกว่า "เห็นด้วยสมาธิ" จิตแน่วแน่จึงค่อยลงค่อยเห็นลงได้
ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ไม่เห็น เห็นแต่ของสวยของงาม ของสกปรกมันไม่อยากเห็น

ถ้าจิตเป็นสมาธินะ..เห็นตามเป็นจริง ไม่มีสกปรกเลย เห็นตามเป็นจริงไม่มีสกปรก
มันเป็นอยู่อย่างนั้น นี่ว่าโลก..เห็นเป็นเรื่องโลกอันหนึ่ง เห็นเป็นเรื่องธรรมอย่างหนึ่ง
ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วเห็น "ธรรม" ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิแล้วเป็น "โลก"

เห็นของสดสวยงดงามไปทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่สวยก็ตกแต่งให้สวย
มันไม่งามก็ตกแต่งให้งาม แท้ที่จริงตัวของเรามันมีงามอะไรเล่า มันมีสวยอะไรเล่า
แต่เราเข้าใจว่ามันของสวยของงาม แล้วก็เขียนนั่นวาดนี่อะไรต่างๆ ตกแต่ง
วาดคิ้ววาดปากอะไรต่างๆ ไปตามเรื่องนั่นแหละ แต่งผี..ไม่มีดีอะไรหรอก
ตัวนี้เรียกว่า ซากผี แต่งสวยๆ งามๆ เหมือนเขาแต่งโลงผีนั่นแหละ

ภายนอกสวยสดงดงามแต่ทำไมเหม็นหึ่งอยู่นั่น อันตัวของเราก็เหมือนกันแหละ
แต่งภายนอกก็แต่งสวยๆ งดงามทุกอย่าง ไม่อยากดูของไม่ดี แต่ภายในเหม็นหึ่ง
ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วจึงจะเกิดความสลดสังเวช
เห็นตัวตนของเรานี่เป็นของน่าเบื่อหน่าย นั่นเรียกว่า เห็นอสุภะ
เห็นอนิจจังแล้วทีนี้ เห็นทุกขังและอนัตตาแล้ว


อย่างเคยอธิบายให้ฟังมาแล้ว "ของไม่เที่ยง" มันแปรปรวนไปทุกวันๆ
สิ่งทั้งปวงหมดในโลกนี้ไม่มีเที่ยงสักอย่างเดียว เที่ยงแท้ก็คือ "ความตาย"
ทุกคนต้องตาย ถ้าได้แต่งขึ้นมาปรากฏขึ้นมาแล้ว..เสื่อมในตัว
อย่างคนเกิดขึ้นมานั้นวันหนึ่งก็ได้เสื่อมไปวันหนึ่งแล้ว สองวันก็เสื่อมไปสองวันแล้ว
เดือนสองเดือนก็เสื่อมไปแล้ว มันแก่ไป คือมันเสื่อมไป

สิ่งวัตถุสิ่งของทั้งปวงหมดก็เหมือนกัน เราสร้างขึ้นมายังไม่ทันสำเร็จ..เสื่อมไปแล้ว
เสื่อมไปทุกวันๆ ความข้อนั้นเห็นยาก ถ้าไม่พิจารณา..เห็นยาก

ก็สร้างอยู่ยังไม่ทันสำเร็จเสื่อมได้ไง..มันลำบากพูดยากอยู่เหมือนกัน

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา นับวันได้แต่เสื่อม เสร็จไม่เสร็จก็ต้องเสื่อม
ทั้งที่เสื่อมอย่างนั้นยังสร้างให้ ให้มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เป็นบ้านเป็นเรือนก็ดี
นี่สร้างขึ้นมา..มันเสื่อมแล้วนั่น ของวัตถุที่ทำมันเสื่อมไปแล้ว
ทำเสร็จแล้วก็เสื่อมไป อย่างว่าบ้านเรือนของเราทำอย่างนี้ พอเสร็จแล้วก็เสื่อมไป
เสื่อมไปทีละน้อยละน้อย เดือนหนึ่งปีหนึ่งเสื่อมไปโดยลำดับ
ถ้าไม่เสื่อมร้อยปีสองร้อยปีมันก็ถาวรมั่นคงน่ะสิ อันนี้มันเสื่อมค่อยชำรุดทรุดโทรม
นั่นล่ะปานนั้นจึงค่อยเห็นความทรุดโทรมของมัน นั่นเรียกว่า "ของไม่เที่ยง"

ตัวของเราก็เหมือนกัน แก่วันแก่เดือนแก่ปีโดยลำดับ
ถ้าหากว่ายังหนุ่มยังวัยอยู่ ก็เข้าใจว่าตนไม่มีเสื่อม

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/