วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 15:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2013, 08:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: มรรค ๘ :b44:

พระครูภาวนาภิรมย์
พระอาจารย์สรวง ปริสุทฺโธ

วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร

:b40: อ่านกระทู้รวมคำสอนหลวงปู่สรวง ปริสุทฺโธ :b40:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44188

:b42: :b42:

คราวที่แล้วได้แสดงธรรมแนวปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ สำหรับวันนี้จะแสดงธรรมต่อไปเรื่องมรรค ๘
ในการที่จะปฏิบัติธรรมขั้นมรรค ๘ นั้น ให้เข้าใจว่าธรรมที่จะปฏิบัตินี้เป็นธรรมที่สูงยิ่งขึ้น
ละเอียดยิ่งขึ้น ละเอียดมาก ฉะนั้นเราจะต้องฝึกสติให้แข็งตั้งแต่โพชฌงค์
เมื่อจะขึ้นมรรค ๘ พอลงอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ตัวที่โยกซ้ายขวาก็จะหยุดนิ่งอย่างที่แสดงธรรมไว้แล้วนั่นแหละ

เมื่อจะขึ้นมรรค ๘ เราก็กระตุกกายขึ้นนิดหนึ่งเพื่อให้สติตื่นตัว
พอกระตุกขึ้นแล้วก็โยกกายไปทางซ้ายขวาแล้วบริกรรมภาวนา
๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบในอริยสัจ ๔
๒. สัมมาสังกัปโป คือ การดำริชอบ (ที่จะออกจากกาม)
๓. สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันโต คือ การทำงานชอบ
๕. สัมมาอาชีโว คือ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายาโม คือ เพียรชอบ หรือเพียร ๔
๗. สัมมาสติ คือ การมีสติชอบ หรือสติปัฏฐาน ๔
๘. สัมมาสมาธิ คือ การมีใจตั้งมั่นชอบ หรือมีฌาน ๔


บริกรรมอย่างนี้ช้าๆ เมื่อบริกรรมอยู่เราก็จะต้องทำความเข้าใจ
ในความหมายขององค์ธรรมแต่ละองค์ไปด้วย
ในระยะแรกหรือเมื่อขึ้นมรรค ๘ รอบสองรอบแรก
เราจะภาวนาเฉพาะหัวข้อขององค์มรรคไปก่อนก็ได้
โดยยังไม่ต้องทำความเห็นในความหมายขององค์ธรรม
ต่อไปจึงค่อยทำความเข้าใจความหมายขององค์ธรรม แต่ละองค์ให้ชัดเจน
ถ้าจำไม่ได้ก็ต้องท่องให้เข้าใจก่อน ความหมายของธรรมแต่ละองค์มีดังนี้

สัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นชอบ โดยเห็นอริยสัจ ๔ ได้แก่
ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ที่เกิดกับเรา ขณะที่นั่งกรรมฐานอยู่
เราต้องรู้แล้ว ละ มันเสีย ถ้า ละ แล้วไม่ดับก็บังสุกุล ไม่ว่าเจ็บที่กายหรือที่ใจของเรา
นึกคิดต่างๆ ก็ต้องละให้หมด เห็นสมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา
อันมีกามตัณหา ได้แก่ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ภวตัณหา ได้แก่ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่
และวิภวตัณหา ได้แก่ ความอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่ เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์
เราต้องละมันเสียอย่าให้มีความอยาก นิโรธ คือ ความดับทุกข์เราต้องทำให้แจ้ง
ส่วนมรรคมีองค์ ๘ เราต้องเจริญและเราก็กำลังเจริญอยู่

สัมมาสังกัปโป คือดำริชอบ อย่างไรที่เรียกว่าดำริชอบ คือดำริออกจากกาม
กามมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือ วัตถุกาม อย่างที่สองคือ กิเลสกาม
คือที่เรานั่งทำวิปัสสนาเพื่อละ โดยละราคะ ละโทสะ ซึ่งเป็นกิเลสตัวสำคัญที่เกิดขึ้นกับจิต
มีลูกหลานเยอะแยะ ตัวราคะก็คือตัวที่เราชอบ
สิ่งใดที่เรารักเราชอบเราพอใจสิ่งนั้นจัดเป็นพวกราคะทั้งสิ้น
สิ่งใดที่เราไม่ชอบ เราเกลียดไม่อยากจะดู ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะจับต้อง
สิ่งนั้นจัดเป็นพวกฝ่ายโทสะ ถ้าเราไม่รู้ทั้งสองอย่างนี้ว่าอันไหนฝ่ายราคะอันไหนฝ่ายโทสะ
เราก็มีโมหะหรือผู้หลง และก็อย่าได้ออกนอกลู่นอกทางที่สอนไว้
ถ้าใครปฏิบัติออกนอกลู่นอกทางที่แสดงธรรมไว้นี้ ก็จัดว่าเป็นโมหะอีกเหมือนกัน

ตัวสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปโปนี้เป็นตัวปัญญา ขึ้นมรรคแล้วใช้ปัญญาอยู่หน้า
เมื่อขึ้นโพชฌงค์มีสติขึ้นหน้า เพราะเราต้องทำสติให้แข็งจนมีสติรู้ก่อนกาลรู้ก่อนเกิด
เมื่อขึ้นมามรรค ๘ แล้วหมายความว่าสติแก่กล้าดีแล้ว เราก็ใช้ปัญญาขึ้นหน้า
ท่านเรียงไว้อย่างนั้นในหลักพระปริยัติธรรมนับว่าถูกต้องแล้ว
เพราะใช้ปัญญาเป็นใหญ่จากการทำความเห็นชอบ

สัมมาวาจา คือเจรจาชอบหรือพูดชอบ
ได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ
เราพิจารณาไปตามลำดับอย่างนี้เลย เมื่อเราพิจารณาไปอย่างนี้ถ้าวันนี้เราทำผิด
เช่น พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อมันจะขึ้นมาที่จิตทันที รู้ทันที
อ้อ...วันนี้เราพูดมากไป หรือวันนี้เราเกือบโกหกไป หรือโกหกเลยก็มี
เรารู้ที่มรรคนี่เมื่อรู้แล้วก็จะเกิดความร้อนใจร้อนกายขึ้นมา
แต่ถ้าเรากล่าวไปโดยไม่เจตนา เราพลั้งเผลอสติไป เราก็จัดแจงวิรัติเสียหรืองดเว้นเสีย
ต่อไปก็ต้องระมัดระวังอย่าให้พลั้งเผลออีก
และถ้าเป็นสามเณรเมื่อรู้ว่าศีลข้อนี้ขาดก็รีบต่อทันที ไม่ใช่ว่ารอไว้จนวันพรุ่งนี้

สัมมากัมมันโต คือการทำงานชอบ เราก็ไล่ดูทำความเห็นไปในตัวการงานชอบ
คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย นี่เป็นการงานชอบ
เราไล่ไปอย่างนี้ ถ้าเราทำอะไรผิดพลาดใน ๓-๔ ข้อนี้มันก็จะขึ้นมาทันที
บางทีขึ้นทั้งรูปทั้งนิมิตและขึ้นทั้งความรู้ขึ้นมา
บางทีขึ้นทั้งตัวรู้และขึ้นทั้งนิมิตขึ้นมาทุกๆ อย่างเลยทีเดียว

สัมมาอาชีโว คือการเลี้ยงชีพชอบ คือเราไม่ค้าของเถื่อน ไม่ขายสุราเมรัย
ไม่ขายยาพิษ ไม่ขายศาตราวุธ ไม่ขายสัตว์เป็นให้เขาเอาไปฆ่าหรือค้าทาสค้ามนุษย์
ถ้าเป็นพระก็ต้องงดเว้นดิรัจฉานวิชา ต้องเลี้ยงชีพโดยบิณฑบาตนี่อยู่ในสัมมาอาชีโว

ธรรมทั้งสามข้อ คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว
เป็นศีลจัดเรียงอยู่ในลำดับกลางมีปัญญาอยู่ต้น


สัมมาวายาโม คือเพียรชอบ ได้แก่เพียร ๔ หรือสัมมัปปธาน ๔ นั่นเอง
คือ สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้นในสันดานในจิตของเรา
ถ้ามันเกิดขึ้นก็ใช้เพียร

ข้อที่ ๒ ปหานปธาน คือประหารมันเสียหรือละมัน
ตัวละนั่นแหละเป็นตัวประหาร

ข้อที่ ๓ ภาวนาปธาน คือเพียรภาวนาเพื่อให้บุญกุศล
หรือสิ่งดีงาม ที่ยังไม่มีในจิตให้เกิดขึ้นในจิตของเรา
ก็ที่เรานั่งบริกรรมภาวนาอยู่นี่แหละเป็นตัวภาวนาปธาน

ข้อที่ ๔ อนุรักขนาปธาน คือเพียรรักษาจิต เราก็รู้ว่าเรารักษาจิตของเราดีหรือไม่
อนุรักขนาปธาน คือการรู้รักษาจิต รักษาจิตของตนไม่ให้เศร้าหมองหรือไม่ให้เป็นอกุศล
การรักษาจิตเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราทุกๆ คนผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักรักษาจิตแล้ว
กิเลสมันจะยุ่งกับเราไม่ได้มากหรือบางทีอาจไม่มีเลย ในวันหนึ่งๆ มีแต่ความสงบ
เพราะเราทำอนุรักขนาปธานคือการรักษาจิตให้เป็น
บางคนที่งุ่นง่านเดือดดาลรุ่มร้อนไม่รู้จักรักษาจิต
ปล่อยให้จิตท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ๑๘ ตำบล ๑๘ ตำบล คืออะไรบ้าง
ก็คือตัณหา ๓ คูณด้วยประตูทั้ง ๖
ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๓ คูณ ๖ ก็เท่ากับ ๑๘ นั่นแหละ
๑๘ ตำบล เป็นสถานที่จิตมันท่องเที่ยวไปแล้วก็ไปพาเอาบาปอกุศลมาสู่จิต
ดังนั้นตัวสัมมาวายาโม หรือความเพียรชอบ จะเป็นตัวคอยรักษาจิต
ไม่ให้ท่องเที่ยวไปในแดนต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อจิต

สัมมาสติ ข้อที่ ๗ คือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเองมี กาย เวทนา จิต ธรรม
ให้ระลึกถึงสติปัฏฐาน ๔ ที่เรากำลังนั่งทำอยู่นั่งปฏิบัติอยู่นั้นเราต้องมีสติ
เราต้องรู้ว่าอะไรสัมผัสกาย เช่น ร้อนหนาว เย็น แข็ง อ่อน หรือมันคัน
มันเมื่อย มันปวด ที่เรา ละ มันนั่นแหละเรียกว่ากายหรือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายนี้มีเพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันขึ้นมาเป็นกายนี้ องค์ที่ ๑
มีความตรึกตรองเพียงเท่านั้น

ส่วน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ ความรู้สึกต่างๆ
เช่น สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับกายกับจิตก็ตาม
เรารู้เราเห็นก็ทำการละทันทีเพราะตัวละเป็นตัววิปัสสนา

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ ความรู้ในอารมณ์ของจิตโดยรู้ว่าจิตเราเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว
สงบหรือฟุ้งซ่านนี่คนฉลาดต้องรู้ตรงนี้ เพราะอยู่เฉยๆ จิตมันขึ้นกรุ่นๆ ยังไม่มีเรื่องอะไร
เราต้องรู้แล้วจิตนั่นเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองเราก็ทำการ ละ ทันที
หรือบังสุกุลให้มันดับเสียจากความเศร้าหมอง เพราะเมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว
เดี๋ยวก็หาเรื่องหาราวมาให้เรายุ่งแหละ เมื่อจิตผ่องแผ้วดีแล้ว
เราก็รักษาจิตที่ผ่องแผ้วไว้ด้วยอนุรักขนาปธานนั่นเอง ให้รู้จักอย่างนี้

ส่วน ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การรู้ในสิ่งที่จิตคิด อันได้แก่ นิวรณ์ ๕ เป็นต้น
หากเรานั่งภาวนาอยู่แล้วมีความรู้สึกยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแสดงว่าเรามี กามฉันทะ
หรือรู้สึกขัดเคืองโกรธ ใครคนใดคนหนึ่ง แสดงว่าเรามี พยาบาท
หรือจิตมีความหดหู่ ซึมเซา ง่วงนอน แสดงว่ามี ถีนมิทธะ หรือจิตฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องอดีต
เรื่องอนาคต แสดงว่ามี อุทธัจจกุกกุจจะ หรือมีความลังเลสงสัยในการปฏิบัติ
ตลอดจนในคำสอนแสดงว่ามี วิจิกิจฉา เมื่อรู้ว่าจิตมีอาการเหล่านี้ก็ให้ ละ เสีย

สัมมาสมาธิ คือความมีใจตั้งมั่นชอบ ในที่นี้หมายถึงฌาน ๔ นั่นเอง
เราต้องสำรวจฌานของเรา ที่เราเข้าฌานมาก่อนที่จะเจริญมรรค ๘
นั่นฌานของเราเวลานี้สมบูรณ์อยู่หรือไม่ต้องสำรวจให้รู้
ถ้ามีฌาน ๔ ก็มีอาการปลายเท้าปลายมือชาหรือริมฝีปากชา
หากมีอาการอย่างนี้แล้วก็หมายความว่าเรามีฌาน ๔ อยู่ครบ
ถ้าที่ปลายมือปลายเท้าหรือริมฝีปากไม่ชา เราก็ต้องปรับปรุงสมาธิ
คือ โยกกายให้อ่อนหายใจให้อ่อน ปรับฌานเสียให้ถูกต้อง คือทำฌานให้มีฌาน ๔ ให้ได้
เพราะในมรรคตัวที่ ๘ นี้ท่านบัญญัติไว้ว่าให้มีรูปฌาน ๔ อยู่อย่างสมบูรณ์
เมื่อฌาน ๔ สมบูรณ์ เวลาเราโยกกายไปๆๆ มันจะหยุดเอง ไม่ใช่เราหยุดมัน ธรรมะมันหยุดเอง
กายของเราที่โยกไปมานั้นหยุด ค่อยๆ โยกเบาลงๆ แล้วหยุดกึก
จากนั้นก็จะจ้าคล้ายๆ เหมือนธรรมโพชฌงค์
แต่ธรรมตอนนี้มันสัมปยุตมาตั้งแต่ต้นจนถึงสัมปยุตด้วยมรรค ๘ แล้ว
ความสุขความสบายของเราก็เบาเหมือนลอยอยู่ในอากาศ แล้วรู้สึกเหมือนกับไม่มีฌาน
ตัวมันเบา มันคล่อง สบายมากกว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ถ้าธรรมถูกต้องแล้วจะต้องรู้ชัดอุเบกขาฌาน อุเบกขาสัมโพชฌงค์ และสัมมาสมาธิมรรค
๓ แบบนี้มีลักษณะต่างๆ กัน ความสบายผิดกัน ธรรมยิ่งสูงยิ่งสบายมาก
ถ้าใครถึงแล้วก็รู้เองชัดว่า อ้อ…นี่คือมรรค ๘
ที่สัมปยุตมาแล้วด้วยอิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘

เมื่อเจริญมรรค ๘ ก่อนที่มรรคจะสมบูรณ์เราจะพบนิมิตหลายอย่างที่อาจารย์พบ
สำหรับตัวอาจารย์เอง ด้วยสมาธินิมิต เห็นจาน ๘ ใบตั้งอยู่บนโต๊ะ
แล้วรู้ด้วยว่าที่เห็นจานขาวๆ นั้น จานกระเบื้องตั้งอยู่ ๘ ใบ จานขนาดเดียวกันทั้งหมด
เราก็รู้ว่านี่คือมรรค ๘ และถ้าเราดูภายในจาน มีอาหารเต็มเปี่ยมทุกจานทั้ง ๘ ใบ
นี่แสดงว่ามรรคของเราเต็มสมบูรณ์แล้ว มรรคทั้ง ๘ สมบูรณ์
คือถ้าย่อลงมา ศีล สมาธิ ปัญญา
มีกำลังเท่าเทียมกันแล้ว แต่มีนิมิตขยายให้เห็นทั้ง ๘ เราก็รู้ได้ทันที
เมื่อสมบูรณ์อย่างนี้แล้วก็สามารถที่จะสัมปยุตลงถึงพระนิพพานได้
เช่นเดียวกันที่โพชฌงค์ ๗ ก็ถึงพระนิพพานได้ ที่มรรค ๘ ก็ถึงพระนิพพานได้
ฉะนั้น เราพึงทำความเห็นในมรรค ๘ ให้ดี

แล้วในมรรค ๘ นี้ถ้าใครลุล่วงหมดกิเลสตัดสังโยชน์ ๑๐ ได้ ธรรมปฏิจจสมุปบาทจะเกิดขึ้น
คือมีลักษณะเหมือนกับโซ่เส้นโตๆ มีห่วง ๑๐ กว่าห่วง โซ่ที่เกี่ยวโยงกัน
แล้วหมุนอยู่ตรงหน้าเราเห็นเป็นวงกลม ถ้าเราตัดโซ่นั้นขาดได้เราก็หมดกิเลสแน่ในชาตินี้
ที่อาจารย์พบเป็นความจริงเช่นนี้ โซ่เหล็กนั้นขาวไม่มีสนิม คือธรรมปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมขั้นสูง
ตั้งแต่ อวิชชา นั่นแหละตัวไม่รู้ ทำให้มี สังขาร มีสังขารก็มี จุติวิญญาณ มีวิญญาณก็มี
นาม-รูป มีนาม-รูปก็มี สฬายตนะ มีสฬายตนะก็มี ผัสสะ มีผัสสะก็มี เวทนา
มีเวทนาก็มี ตัณหา มีตัณหาก็มี อุปาทาน มีอุปาทานก็มี ภพ
มีภพก็มี ชาติ แล้วก็มี ชรา พยาธิ มรณะ ตามมา
เวลาทำธรรมปฏิจจสมุปบาทไล่ไป ไล่มาได้
สำคัญที่ตัดห่วงโซ่ที่ร้อยรัดสัตว์โลกให้เวียนว่ายตายเกิดนี้
ตัดตรงไหน ต้องตัดที่ตัณหา ไม่ทำกรรมดีกรรมชั่ว ทำแต่มหากุศลนี้เท่านั้น คือปฏิบัตินี่เท่านั้น
เช่น บางคนทำกรรมชั่วก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก
ทำกุศลมากทำบุญทำทานรักษาศีลมาก ก็ไปเกิดในสวรรค์อีกเป็นอย่างนี้
ถ้าเราตัดเสียซึ่งกรรมคือไม่กระทำ สวรรค์เราก็ไม่ปรารถนา นรกเราก็ไม่ต้องการ เราก็ไม่เอาทั้งนั้น
เราตัดหมดเรียกว่าตัดกรรมได้ นี่เป็นหลักที่สำคัญและตัวที่ตัดคือตัว ละ นั่นเอง
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมหัวใจสำคัญก็คือรู้แล้วละ ละทั้งดีละทั้งชั่ว ละทั้งชอบละทั้งชัง
ตัณหาก็จะไม่เกิดขึ้น การปรุงแต่งก็จะไม่เกิดขึ้น

นิมิต ๒ อย่างนี้ที่เคยพบมา ยังมีอื่นๆ อีกแต่ว่ายกตัวอย่างมาเพียง ๒ ตัวอย่างนี้
ก็เห็นว่าพอจะเป็นที่เหมาะสมแก่เวลา

ฉะนั้น ทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้ฌาน ให้เกิดปัญญาเป็นเครื่องดับทุกข์
แต่ที่เรายังไม่ได้อะไร เราจะต้องฝึกฝนตัวของเราเองขึ้นมา ไม่ใช่ให้ใครมาช่วยเรา
ไม่ใช่ให้ครูอาจารย์มาช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ ต้องเพียรเอาเอง
แม้พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่าพระองค์ชี้ทางให้เท่านั้น ส่วนเราที่จะปฏิบัติได้ รู้ธรรมได้
ก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา หากเรามีความเพียรพยายาม มีความอดทน
มีความเพียรให้มาก มันก็จะก้าวหน้าไปบนเส้นทางของอริยมรรค

ถ้าเราเพียรน้อยมัวแต่เกียจคร้านมัวแต่จะกินจะนอนมันก็ไม่ได้
เพราะปัญญาของเราทุกคนที่เกิดเป็นคนนี่เท่าเทียมกันทั้งนั้น ดังที่เคยแสดงไว้แล้ว
แต่ที่เรามาโง่ฉลาดกันในปัจจุบันก็เพราะความหยาบช้าของกิเลสที่อยู่ในจิตของเรา
ใครมากใครน้อยกว่ากัน จิตยิ่งสว่างดีคือมีปัญญา
หากจิตถูกห่อหุ้มจนดำเป็นก้นหม้อแล้วอย่างนี้มันโง่
ถ้ามีกิเลสห่อหุ้มน้อยมันก็มีปัญญา เรียกว่ามีปัญญาตื่นขึ้นมา
ถ้าห่อหุ้มบางมากก็มีปัญญารวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ ละ กิเลสออกได้ไม่ยาก
สำหรับบางคนที่เกิดมาในชาตินี้ทำกรรมชั่วมาตั้งแต่เกิด
พอรู้เดียงสาก็รู้จักฆ่าสัตว์รังแกสัตว์ไม่มีอะไรก็จับแมลงปอหรือผีเสื้อ
เอาหญ้าเจ้าชู้เสียบก้นเล่นอย่างนี้
เห็นตัวอะไรไม่ได้เอาไม้ตีให้ตายหมดให้หมด อย่างนี้ทำบาปตั้งแต่เล็ก
การสะสมบาปมาตั้งแต่เล็กจนโต ขึ้นมาจิตใจก็ไปในทางที่ต่ำ
เห็นการประหารผู้อื่นเป็นของสนุก ไม่ได้นึกไม่ได้รู้ว่าเป็นบาป อย่างนี้จิตของเราก็หยาบ
จะให้เกิดปัญญารวดเร็วนั้นเป็นไปได้ยาก
ต้องใช้ความเพียรขัดเกลาจิตมากกว่าคนที่มีจิตสะอาดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ถึงว่าบุญกุศลของคนเราไม่เท่ากัน
การปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลจึงเป็นเรื่องของบุญของกุศล
เป็นเรื่องของจิต ต่างกับการปฏิบัติงานทางโลก

ฉะนั้น เราต้องทำความเพียรให้สูง เพียรให้มาก คือนั่งให้มากนั่นแหละ
อยู่โดดเดี่ยวอย่าเข้าไปหาหมู่คณะ ให้เป็นผู้สันโดษไว้ พยายามฝึกฝนตนเอง
เตือนตนเอง อย่าให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน อย่าให้ผู้อื่นต้องเตือน

มีผู้ถามพระพุทธองค์ว่ามีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามาก
ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์มาก ทำไมถึงได้สึกกลับบ้านไปเสีย
หรือบางคนก็เพียรแล้วแต่ไม่เห็นหมดกิเลส พระองค์ตรัสตอบว่า

“ตถาคตเป็นเพียงแต่ผู้ชี้ทางให้เขาเดินเท่านั้น
ใช่ว่าตถาคตจะจูงมือไปพระนิพพานได้
ทุกคนต้องเดินไปเองก้าวไปเอง”


เปรียบเหมือนว่าที่พระองค์ชี้บอกทางไปกรุงราชคฤห์
คือเมืองพระเจ้าพิมพิสารในสมัยนั้นว่า นี่คือทางเดินไปกรุงราชคฤห์
ถ้าผู้ที่เดินไม่เดินออกไปนอกเส้นทางเดินตามทางมันก็จะถึงได้ทั้งสิ้นโดยรวดเร็ว
ทีนี้ไม่อย่างนั้นเขาแวะข้างทางเสียบ้าง เดินอ้อมเสียบ้าง เดินย้อนหลังกลับบ้าง
ถนนที่บอกที่ชี้ไว้เขาไม่เดินไปตามทางนั้นมันจึงไม่ถึง กรุงราชคฤห์ นี่ก็เช่นเดียวกัน
พวกเราที่ฟังธรรมอยู่นี้ที่ไม่ปฏิบัติธรรมก็เพราะว่าความที่เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวของเรามากเกินไป
ไม่มีความอดทน ไม่มีความขยันหมั่นเพียร มัวแต่จะหาความสุขหรือคิดจะนอนให้ได้มาก
คืออยู่เฉยๆ ไม่ได้ฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเอาจริงเอาจัง จะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร

เราต้องฝึกฝนอบรมตัวของเรานี้เองให้เป็นคนขยันในการปฏิบัติธรรม
ที่สำคัญที่สุดกลางวันควรจะนั่งให้ได้อย่างน้อยสักหนึ่งชั่วโมง ทำให้ได้
นี่บางคนนอนทั้งวันทั้งๆ ที่มีเวลาก็ไม่ได้ทำอะไร หนังสือก็ไม่อ่านไม่เปิดค้นคว้า
ที่ทำไปๆ ก็เพราะเกรงกลัวอาจารย์จะดุจึงจะมานั่งกัน
หากมานั่งด้วยศรัทธาอันแท้จริงว่าเราต้องการ ละ กิเลส ถึงไม่หมดก็บางลงน้อยลง
ถ้าคิดอย่างนี้ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ของยาก เพียรให้จริงก็คงได้


ธรรมที่พระองค์สอน เป็นธรรมสำหรับสอนมนุษย์และเทวดาไม่ได้สอนผู้อื่น
ที่พระองค์มาประสูติในโลก พระองค์ก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกเรานี่แหละ
ถึงแม้ว่าจะประสูติในตระกูลกษัตริย์ก็ตาม ก็มีเนื้อหนังมังสาเช่นมนุษย์ทั้งหลาย
แต่มีบุคลิกลักษณะที่พิเศษคือพระองค์เป็นผู้มีบุญวาสนาที่สร้างมาแต่อดีตมาก
จึงทำให้พระองค์สวยสดงดงามอิ่มเอิบผิวพรรณผ่องใสได้ลักษณะทุกประการ
ใครเห็นใครก็เคารพรักใคร่พอใจเป็นอย่างนี้
และก็ได้วางหลักธรรมทั้งพระธรรมพระวินัย
วางไว้ได้หมดครบถ้วน ๘ หมื่น ๔ พันพระธรรมขันธ์
ทั้งหมดเป็นศีล ๒ หมื่น ๑ พัน เป็นพระสูตร ๒ หมื่น ๑ พัน พระปรมัตถธรรม ๔ หมื่น ๒ พัน
รวม ๘ หมื่น ๔ พัน พระธรรมขันธ์ นี่คือคำสั่งสอนของพระองค์
คำสั่งคือศีล คำสอนคือธรรม
พระสูตรคือเรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์เคยตรัสเล่าให้พระสาวกของพระองค์ฟัง พระอานนท์จำไว้
แล้วเรียกว่าพระสุตตะคือการได้ยินนั่นเอง หากเราได้ยินได้ฟังมาก
เราก็จะได้จดจำมาประพฤติปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างที่พระองค์ได้เคยต่อสู้เคยผจญมา

เราทุกคนทั้งภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา ต่างก็ถึงแล้ว ซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึงได้ยินได้ฟังอยู่แล้ว ธรรมะที่แสดงนี้ของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
ที่อาจารย์แสดงให้พวกเราฟังก็ดี เพื่ออบรมสั่งสอนให้เดินทางที่ลัดที่สุด
คืออาจารย์ได้ผ่านทางนี้มาแล้ว ทั้งหมดอาจารย์ได้เดินมาแล้วรู้จักแล้วถึงที่สุดแล้ว
จึงมอบธรรมอันนี้ให้แก่ศิษย์ ศิษย์ทุกๆ คน ควรภูมิใจในการได้ฟังธรรม
ในการได้ปฏิบัติธรรมตามอาจารย์ที่แสดงมา พยายามบากบั่น อย่าเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
อย่าเห็นแก่เรื่องอื่นใด ผู้ที่จะมีกุศลมีบุญวาสนาได้พบความจริงตรงๆ ที่สอนไม่ไขว้เขวนั้นยาก
เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เท่าที่สังเกตดูไม่ใช่ว่าอาจารย์จะอวดดีขึ้นมาว่า
อาจารย์นี้วิเศษกว่าอาจารย์ทั้งหลาย
แต่ถ้าว่ายังมีอาจารย์อื่นที่วิเศษกว่าที่อาจารย์สอนนี้ อาจารย์ก็คอยสอดส่องดูแล
ป่านนี้คงพบบ้างแล้ว แต่นี่อาจารย์ก็ไม่เคยพบพระอาจารย์ผู้ใดเลยที่จะสอนอย่างนี้

ฉะนั้น เราเป็นผู้มีบุญกุศลมีวาสนา ถ้าในชาตินี้เรายังไม่รู้จักที่จะนำของดีติดตัวไป
อาจารย์ก็ไม่รู้ที่จะกล่าวว่าอะไรให้ดียิ่งไปกว่านี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ใครเข้าถึงธรรม ผู้นั้นก็เข้าถึงตถาคต” อันนี้เป็นความจริงแท้
ถ้าเราปฏิบัติธรรมลุล่วงถึงที่สุดแล้ว เราจะสามารถเห็นพระพุทธองค์ได้จริงๆ
อาจารย์ได้พบสิ่งนี้มาแล้ว ไม่ใช่นิพพานแล้วสูญ นิพพานอายตนะยังมีอยู่นะ
พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายตลอดถึงพระพุทธเจ้าเป็นวิสุทธิเทพนะ อย่าเข้าใจเป็นอย่างอื่น
ในธรรมะของพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ในพระนิพพาน อายตนะมีอยู่”
ถ้าอายตนะมีอยู่มันก็ต้องมีอยู่ แต่ผู้ที่มีตาทิพย์เห็นเช่นนั้นต้องเป็นตาชั้นเดียวกัน
คือตาของวิสุทธิเทพด้วยกัน ผู้ที่หมดกิเลสเรียกว่า “วิสุทธิเทพ”
อย่างอุปปัตติเทพ สถิตอยู่ในสวรรค์ ๖ ชั้น พรหม ๑๖ ชั้น
อรูปพรหม ๔ ชั้น ก็ตาม นี่่ยังไม่หมดกิเลส
ยังไม่เป็นวิสุทธิเทพเป็นแต่อุปปัตติเทพเท่านั้น
หรือพวกสมมุติเทพคือพวกท้าวพระยามหากษัตริย์ที่ยังเป็นมนุษย์นี้
เป็นสมมุติเทพเกิดจากครรภ์ของมารดา

สำหรับธรรมมรรค ๘ ก็เห็นสมควรแก่เวลาว่าจบเพียงเท่านี้
เป็นเวลา ๓๐ นาทีพอดี จบเพียงเท่านี้

:b41: :b41:

ที่มา
เวบไซต์วัดถ้ำขวัญเมือง
http://www.wattham.org/wattham_mak8.php

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 35 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร