ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

อิทธิบาท ๔ พละ ๕ : หลวงปู่สรวง ปริสุทฺโธ (วัดถ้ำขวัญเมือง)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=44190
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Hanako [ 30 ธ.ค. 2012, 13:38 ]
หัวข้อกระทู้:  อิทธิบาท ๔ พละ ๕ : หลวงปู่สรวง ปริสุทฺโธ (วัดถ้ำขวัญเมือง)

รูปภาพ

:b42: อิทธิบาท ๔ พละ ๕ :b42:
พระครูภาวนาภิรมย์
พระอาจารย์สรวง ปริสุทฺโธ

วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร

:b45: อ่านกระทู้รวมคำสอนหลวงปู่สรวง ปริสุทฺโธ :b45:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44188


:b48: อิทธิบาท ๔ :b48:

เมื่อทำฌาน ๔ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ก็อยากรู้ว่าอาการของฌาน ๔ เป็นอย่างไร
เพื่อจะตรวจสอบดูว่าการปฏิบัติของตนถึงฌาน ๔ แล้วหรือยัง

ลักษณะของฌาน ๔ นั้น จิตจะตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา อุเบกขา
คืออยู่ในอารมณ์ของความสงบระงับจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ไม่ฟุ้ง ในเรื่องใดมีอารมณ์ที่เป็นกลาง
ไม่สุขไม่ทุกข์ไม่ชอบไม่ชัง ไม่ปรุงแต่งต่อสิ่งที่มากระทบ มีสติสมบูรณ์รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสได้
แม้จะ มีเสียงดัง ให้ได้ยินไม่ว่าจะเป็นเสียงใด ก็สักแต่ว่ารู้ในเสียงนั้น
โดยไม่เข้าไปปรุงแต่งให้จิตกระเพื่อมไหว หรือหากมีเวทนาเกิดขึ้นกับกายกับจิต
ไม่ว่า จะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา โดยไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดียินร้ายต่อเวทนานั้น
จิตยังคงตั้งมั่นในอุเบกขาคืออารมณ์ที่ เป็นกลางเช่นนี้ จึงจะเข้าเรียกว่าเข้าถึงฌาน ๔

เมื่อเข้าถึงฌาน ๔ อย่างแนบแน่น ก็จะมีอาการทางกายตามมา เช่นชาที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้ามา
อาการชาอาจจะปรากฏบนใบหน้า ริมฝีปาก หรือแม้กระทั่งลิ้น บางคนอาจจะชาที่ใบหน้าก่อน
อาการชาจะมารวมที่ปาก จนบางทีปากยื่นออกไป บางครั้งหากไม่ชาก็จะมี
อาการ เกร็งแข็งไปทั้งตัวเหมือนถูกตรึงไว้ ขยับเขยื้อนไม่ได้
ต้องคลายจากสมาธิหรือใช้กำลังอย่างแรงจึงจะขยับได้ เหล่านี้ล้วนเป็นอาการของฌาน ๔ ทั้งสิ้น

หากผู้ปฏิบัติทำฌาน ๔ ได้สมบูรณ์ดีแล้วจึงจะสมควรขึ้นวิปัสสนา
การด่วนทำวิปัสสนาโดยยังไม่ได้ฌาน ๔ นั้น กำลังของ สมาธิ ไม่เพียงพอ
แม้ว่าในช่วงทำวิปัสสนาเราไม่ได้ใช้สมาธิระดับฌาน๔ คือระดับอัปนาสมาธิ
แต่เราใช้สมาธิระดับกลางคืออุปจารสมาธิ ิหรือ สมาธิในระดับฌาน ๓ แก่ๆ ก็ตาม
แต่ถ้าพื้นฐานของสมาธิไม่แข็งแรงดีแล้ว ก็ยากที่จะก้าวหน้าไปถึงระดับมรรคผลได้
นอกจากนี้ ยังถูกนิวรณ์ ๕ กวน และต้องเผชิญกับทุกขเวทนา
จากการนั่งนานๆ จนทนกันแทบไม่ไหว
ยิ่งไปกว่านั้นยังถูกโทสะกิเลสและกามราคะ ตีขึ้นมาอย่างแรงด้วย
ดังนั้น การได้สมาธิถึงฌาน ๔ จึงเป็นกำลังสำคัญของการทำวิปัสสนาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติ
ผ่านอุปสรรคดังกล่าวได้ และนำไปสู่มรรคผล ได้ง่ายกว่าการไม่ได้ฌาน ๔

ในการทำวิปัสสนานั้นผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงฌาน ๔ ก็ต้องถอยสมาธิจากฌาน ๔ ลงมาเล็กน้อย
เพราะสมาธิในฌาน ๔ จิตจะนิ่งสงบ อยู่ท่าเดียวไม่ยอมคิดถึงเรื่องอะไร
จึงต้องผ่อนสมาธิลงมาให้อยู่ในระหว่างฌาน ๔ กับฌาน ๓ ที่ต้องถอยมาอยู่ระดับนี้
แม้ในตำราหรือใน พระปริยัติธรรมจะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่จากคำสอนของครูบาอาจารย์
และจากการทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง เห็นว่าได้ผลดีจึงถือว่า ใช้ในทางปฏิบัติได้
เพราะการปฏิบัติเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ผู้มีประสบการณ์แล้วจึงจะรู้ว่าใช้ได้หรือไม่ได้
เมื่อเห็นว่าใช้ได้โดยวัดผลจาก การปฏิบัติก็ถือว่าเป็นหลักในการปฏิบัติได้

การถอยจากสมาธิจากฌาน ๔ ลงมาอยู่ระหว่างฌาน ๓ ครึ่ง ไม่ได้มีเครื่องมือไปวัด
แต่กะเอาประมาณเอา เพราะเรื่องของจิต เป็นนามธรรมเอาอะไรไปวัดไม่ได้
เมื่อถอยแล้วก็เลี้ยวไปทางซ้าย คือให้โยกตัวไปทางซ้ายเล็กน้อย
จากนั้นด้วยกำลังของสมาธิก็จะทำให้ตัวโยก กลับไปทางขวาแล้วโยกซ้ายขวาไปมา
การที่ต้องโยกตัวไปมาเช่นนี้ก็ไม่มีบอกไว้ในพระปริยัติธรรมหรืออภิธรรมเช่นกัน
แต่เป็นผลที่ได้จากประสบการในการปฏิบัติ ซึ่งปฏิบัติแล้วได้ผลดี
การที่พระอภิธรรมไม่ได้บัญญัติให้ทำเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความลังเลสงสัยว่า
เป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกทางหรือไม่ ปฏิบัติแล้วจะนำไปสู่มรรคผลหรือไม่

เรื่องนี้ก็ขอให้พิเคราะห์ดูว่าในขณะปฏิบัติวิปัสสนานั้น
สมาธิของผู้ปฏิบัติจะอยู่ระหว่างฌาน ๒กับฌาน ๔ สมาธิของฌาน ๒ มีปิติหล่อเลี้ยง
ซึ่งเราได้ทำอุปเพงคาปีติมาแล้ว จนเกิดกายโยกไปมาหรือเกิดผรณาปีติรู้สึกขนลุกซูซ่า
มีอาการซาบซ่านไปตามตัว หรือเกิดโอกกันติกาปีติ
สมาธิของฌาน ๒ จะดึงลงมาให้ตัวสั่นตัวโคลง
ขณะเดียวกันสมาธิของฌาน ๔ ก็จะดึงขึ้นไปให้อยู่ในอุเบกขา
การดึงกันระหว่างกำลังสมาธิในฌาน ๔ และฌาน ๒
บางครั้งก็ทำให้ผู้ปฏิบัติตัวโยกเอง โดยไม่ต้องสั่งให้โยกเมื่อทำวิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติเป็นจำนวนมากมักจะสงสัยว่าทำวิปัสสนาโดยตัวไม่ต้องโยกได้หรือไม่นั่งอยู่เฉยๆ
คอยรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรม ได้หรือไม่ รู้แล้วละในสิ่งที่รู้ เท่านี้ก็ทำวิปัสสนาได้
เรื่องนี้ขอให้พิจารณาดูว่าขณะที่เราขึ้นไปถึงฌาน ๔ นั้น กำลังของสมาธิจะมีมาก
เมื่อลดลงมา อยู่ระหว่างฌาน ๓ กับฌาน ๔ ถ้านั่งเฉยๆ ไม่ช้าสมาธิก็จะแนบแน่นขึ้น
เข้าไปอยู่ในฌาน ๔ อีก จิตก็จะนิ่งอยู่ในอุเบกขา ไม่สนใจในเรื่องอื่นใด
เอาแต่จะอยู่ในความสงบท่าเดียว ซึ่งสมาธิเช่นนี้นำมาทำวิปัสสนาไม่ได้
การทำวิปัสสนานั้นสติและจิตจะต้อง คล่องแคล่ว ตื่นตัว ไวต่อ ความรู้สึกที่มากระทบ
เหมือนนักเทนนิสที่พร้อมจะวิ่งเข้าไปรับลูกทุกทิศทางที่ฝ่ายตรงข้ามตีมา
ด้วยเหตุนี้ การโยกตัวไปมาทางซ้ายขวาจึงช่วยให้สติและจิตตื่นตัวไม่เผลอเข้าไปอยู่ในฌาน ๔
และไม่ตกอยู่ในฌาน ๒ ที่รุนแรง เพราะถ้าตัวโยก ตัวสั่นแรงเกินไปก็ทำให้วิปัสสนาไม่ได้

เมื่อออกจากฌาน ๔ ลงมาอยู่ฌาน ๓ ครึ่ง
และโยกตัวไปมาแล้วก็เจริญ โพธิปักขิยธรรม ๓๗
อันเป็นธรรมที่นำไปสู่มรรคผล นิพพาน

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ มีดังนี้

๑. สติปัฏฐาน ๔
๒. สัมมัปปธาน ๔ หรือเพียร ๔
๓. อิทธิบาท ๔
๔. พละ ๕ ซึ่งถ้าแก่กล้าเป็นอินทรีย์ ๕
๕.โพชฌงค์ ๗
๖. มรรค ๘


** หมายเหตุ สติปัฏฐาน ๔ และสัมมัปปธาน ๔
หรือเพียร ๔ ใช้ตลอดเวลาที่นั่งและไม่นั่งกรรมฐาน

สติปัฏฐาน ๔ คือการมีสติรู้ในฐานทั้ง ๔ อันมี
ฐานกาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานเวทนา เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)


โดยรู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกาย เวทนา จิต และธรรมนั้น มีธรรมชาติเป็นของไม่เที่ยง
เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ไม่ใช่เป็นของสัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา
เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติมิควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
หากมีปรากฏการณ์ใดๆ เกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็ให้มีสติ รู้แล้วก็ละเสีย

สัมมัปปธาน ๔ คือความเพียรเพื่อ

๑. ปิดกั้นมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่ไห้เกิดขึ้นในจิต (สังวรปธาน)
๒. ขจัดอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในจิตแล้วให้หมดไป (ปหานปธาน)
๓. ทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้นในจิต (ภาวนาปธาน)
๔. รักษาและพัฒนากุศลธรรมที่มีอยู่แล้วในจิต
ให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นไป (อนุรักขนาปธาน)


ธรรมหมวดสติปัฏฐาน ๔และสัมมัปปธาน ๔ นี้
ผู้ปฏิบัติเจริญแล้วขณะที่ทำฌาน ๔
และเมื่อทำวิปัสสนาไม่ต้องเจริญธรรมทั้งสองหมวดนี้เพราะใช้ตลอดเวลา

:b44: สำหรับหมวดธรรมที่เหลือจะเจริญอย่างไร

เมื่อขึ้นวิปัสสนาให้เริ่มเจริญ อิทธิบาท ๔ ขณะที่กายโยกไปมาทางซ้ายขวานั้น
ก็ให้ภาวนาอิทธิบาท ๔ ตามไปด้วย คือท่องในใจว่า ฉันทะ : ความพอใจในผลของการปฏิบัติ
วิริยะ : ความเพียรในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ จิตตะ : ความเอาใจใส่ในธรรมที่ปฏิบัติอยู่
วิมังสา : การใช้จิตตรึกตรองในธรรมที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดละออ ท่องไปช้าๆ ๔ เที่ยว
การท่องนอกจากจะเป็นการภาวนา หรือบริกรรมในธรรมหมวดนี้แล้ว
ยังเป็นการตรวจสอบดูว่าธรรมในหมวดนี้เจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง
กล่าวคือเมื่อภาวนาไปสัก ๒ เที่ยวแล้วก็สำรวจว่าฉันทะหรือความพอใจ
เรามีความพอใจต่อการปฏิบัติหรือไม่วิริยะหรือความเพียร ได้เพียรปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
จิตตะหรือใจที่จดจ่อ เราจดจ่อต่อการปฏิบัติแค่ไหนวิมังสาหรือใคร่ครวญประมวลผล
เราได้ไตร่ตรองใครครวญในธรรมและผลของการปฏิบัติหรือไม่
การตรวจสอบธรรมเหล่านี้ไม่ต้องใช้เวลาตรวจสอบมาก เดี๋ยวจิตจะฟุ้งไปในความคิด

ในขณะที่เราภาวนาอยู่กับองค์ธรรมของอิทธิบาท ๔ คือท่องฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อยู่นั้น
สติจะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แม้จะหลับตาแต่ก็เหมือนกับว่า
สายตาของเราทอดไปในระยะปลายนิ้วของแขนที่เหยียดออก
คือคะเนว่าถ้าเหยียดแขนไปตรงๆ ปลายนิ้วสุดตรงใด
ก็ให้สายตาของเราพักอยู่ตรงหน้า ณ จุดนั้น
ที่ต้องกำหนดจุดพักสายตาไว้ตรงนั้น
ก็เพราะว่าขณะที่ภาวนาอยู่นั้นอาจจะมีนิมิตเป็นภาพเกิดขึ้นที่ตรงนั้น
ภาพนิมิตที่เกิดขี้นอย่าไปนึกอยากให้มันเกิด แต่ถ้ามันเกิดก็ปล่อยให้ให้เกิดตามเหตุปัจจัยของมัน
และมันจะเป็นภาพอะไรก็แล้วแต่ขอให้เรามีหน้าที่เพียงรู้ว่ามีสิ่งใด แล้วก็ละเสีย
อย่าไปชอบอย่าไปชังเพราะถ้าชอบก็เป็นกิเลสฝ่าย ราคะ (ความรักความใคร่พอใจ)
หรือโลภะ (ความโลภอยากได้ของเขา) ถ้าไปชังก็เป็นกิเลสฝ่าย โทสะ (ความโกรธ)
ถ้าเราไปหลงยึดติดก็จะเป็นกิเลสฝ่าย โมหะ (ความหลงไม่รู้)
นอกจากนี้การหลงยึดติดในนิมิต ก็ยังเป็น วิปัสสนูปกิเลส อีกด้วย

นิมิตเกิดขึ้นได้ทางทวารต่างๆ เช่น ตาจากการนั่งเห็นรูปหรือแสงสี
บางทีก็เห็นเป็นแสงจุดเล็กๆ แล้วสว่างจ้า บางทีก็เห็นเป็นพระพุทธรูป
บางทีก็เห็นเป็นภาพสวรรค์ หรือภาพต่างๆ นาๆ การเห็นนิมิตทางตาแม้จะหลับตาก็ตาม
จะเป็นทางนำไปสู่ทิพจักขุ (ตาทิพย์) หรือจักขุญาณ (เห็นด้วยตาใน)
นอกจากนี้ก็อาจจะมีนิมิตทางเสียง โดยหูของเราอาจได้ยินเสียงสวดมนต์แว่วมาทั้งๆ
ที่ไม่มีวัดหรือมีใครสวดมนต์อยู่แถวนั้น นิมิตที่ปรากฏทางเสียง
จะนำไปสู่ทิพยโสต (หูภายในได้ยิน) หรือโสตญาณ ที่เรียกว่าหูทิพย์
ซึ่งทั้งหูทิพย์และตาทิพย์นี้ เป็นที่ยอมรับกันในพุทธศาสนาว่ามีจริงเป็นจริงจะปฏิเสธว่าไม่มีไม่ได้
ผู้ปฏิบัติบางคนอาจได้กลิ่นหอมหรือกลิ่นประหลาดเข้ามากระทบจมูกชั่ววูบของลมหายใจ
ทั้งๆ ที่ไม่มีต้นเหตุของกลิ่นนันให้สัมผัสนี่ก็เป็นนิมิตทางกลิ่นเหมือนกัน
หรือบางคนอาจจะได้นิมิตทางลิ้น คือรู้สึกว่ารสใด รสหนึ่งเกิดขึ้น
ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับประทานอะไรในขณะนั้น หรือบางคนอาจจะได้นิมิตทางโผฏฐัพพะ
คือเหมือนกับมีอะไรมาถูกต้องกาย เช่น เหมือนมีตัวไรมาไต่บนใบหน้าทำให้รู้สึกคันยุกยิก
แต่พอลืมตาหรือเอามือมาลูบดูกลับไม่เห็นมีอะไร

ไม่ว่านิมิตจะเป็นอะไรเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่าไปหลงไหล อย่าไปยึดติด
อย่าไปชอบ อย่าไปชังขอเพียงมีสติ รู้ แล้ว ละ เสีย


ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะเอานิสัยทางโลกเข้ามาปนกับการปฏิบัติทางธรรม
นิสัยทางโลกนั้นหากประสบกับสิ่งที่ตนพอใจก็ชอบ อยากพบ อยากเห็น อยากสัมผัส
อยากสัมพันธ์ อยากครอบครอง แต่ถ้าพบในสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาก็ชัง ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น
ดังนั้นเมื่อเจอนิมิตที่ตนพอใจก็อยากเจออีกหรืออยากให้อยู่นานๆ เป็น กามตัณหา
เพราะมี ราคะกิเลส แต่ถ้าเป็นนิมิตที่ตนไม่พอใจก็อยากผลักใสไม่อยากให้ดำรงอยู่
เป็น วิภวตัณหา (ความอยากในสิ่งที่ไม่อยาก) เพราะมี โทสะกิเลส (ความโกรธ)
ซึ่งความชอบความชังดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มพูนกิเลสเข้าไปในจิตใจ
แทนที่จะเอากิเลสออกจากจิต
ดังนั้น จึงต้องมีสติคอยกำกับจิตและมีปัญญาเท่าทัน
อย่าไปหลงไหลอย่าไปชอบ อย่าไปชัง
เพียงรู้ รู้แล็วก็ ละ (คือว่าที่ใจ หรือให้ใจว่า ละ นี่คือวิปัสสนา)

ความจริงถ้าเรามีอิทธิบาท ๔ ที่แก่กล้า เราก็จะไม่หลงในนิมิต
กล่าวคือ ถ้ามีฉันทะหรือความพอใจต่อการปฏิบัติ รักที่จะปฏิบัติ มีวิริยะพากเพียรต่อการปฏิบัติ
โดยไม่เกรงกลัวต่อความเหนื่อยยาก มีจิตตะหรือมีใจจดจ่อต่อการปฏิบัติ
แม้จะมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็ระลึกรู้ทันท่วงทีด้วยการมีสติคอยกำกับเช่น
รู้ว่ามีนิมิตเกิดขึ้นแล้วและมีวิมังสา คือใคร่ครวญไตร่ตรองในธรรมหรือในนิมิตที่เกิดขึ้น
ว่าเป็นของไม่เที่ยง ผ่านมาก็ผ่านไป ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบที่ชัง
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ละหรือปล่อยวางในนิมิตได้ หากทำได้เช่นนี้ตัววิมังสาก็จะเป็นตัวปัญญา

นอกจากนิมิตแล้วขณะที่เราภาวนอิทธิบาท ๔ คือท่องคำว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
อาจจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งนอกเหนือไปจากนิมิตเกิดขึ้นกับกายกับจิตของเรา
เช่น รู้สึก ปวด เมื่อย คัน ตัวหนัก ตัวเบา ตัวร้อน ตัวเย็น
หรือมีอารมณ์จรไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ให้รู้แล้วละเสีย
ตัวรู้คือสติ ตัวละตัวปัญญา (สติ : ระลึกได้มีปัญญารู้ติดตามมา)

การเจริญอิทธิบาท ๔ จะเพิ่มพลังของสติและปัญญา
อิทธิบาท ๔ หมายถึง การเดินไปด้วยฤทธิ์หรือก้าวไปด้วยฤทธิ์
แต่จะมีฤทธิ์ใดนั้นก็จะต้องมีกำลังหรือพละควบคู่กันไปด้วย
เพราะถ้ามีฤทธิ์แต่ไม่มีกำลัง ฤทธิ์นั้นก็จะไปไม่รอด
หรือมีกำลังแต่ไม่มีฤทธิ์ กำลังนั้นก็ไปได้ไม่ไกลเช่นกัน
ดังนั้น ธรรมะทั้งสองหมวดนี้จึงเกื้อกูลกัน
ด้วยเหตุนี้เมื่อเราเจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว เราต้องเจริญพละ ๕

เจ้าของ:  Hanako [ 30 ธ.ค. 2012, 14:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อิทธิบาท ๔ พละ ๕ : หลวงปู่สรวง ปริสุทฺโธ (วัดถ้ำขวัญเมือ

รูปภาพ

:b42: พละ ๕ :b42:

พละ ๕ คือธรรมที่เป็นกำลัง ถ้ามีขึ้นบริบูรณ์แล้วก็จะเป็นอินทรีย์ ๕
หรือธรรมที่เป็นใหญ่อันจะทำไปสู้ความสำเร็จ ประกอบด้วย

ศรัทธา (ความเชื่อ)
วิริยะ (ความเพียร)
สติ (ความระลึกได้)
สมาธิ (ความตั้งใจมั่น)
และปัญญา (ความรู้)


สติอยู่กลาง คือสติทันกาล ผัสสะที่เกิดกับกายกับจิตรู้ทันทีแล้วละ

ในการเจริญพละ ๕ ก็คล้ายกับอิทธิบาท ๔ คือตัวยังคงโยกซ้ายโยกขวา
พร้อมกับภาวนาคำว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ว่าไปอย่างนี้ ๕ เที่ยว
ว่าช้าๆ ไม่ต้องย้อนหลัง เมื่อว่าไปสัก ๓ เที่ยว แล้วก็ลองตรวจสอบดูว่า
ธรรมทั้ง ๕ หมวดนี้มีขึ้นในจิต เจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง
ความหมายขององค์ธรรมทั้ง ๕ หมวดนี้มีขึ้นในจิตเจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง
ความหมายขององค์ธรรมทั้ง ๕ มีดังนี้

ศรัทธา : คือความเชื่อถือ เราเชื่อในกฎแห่งกรรมที่ว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วหรือไม่
เชื่อในพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หรือไม่กล่าวคือการเชื่อในพระพุทธเจ้าว่ามี
พระปัญญาธิคุณ (ปรีชาญาณหยั่งรู้) ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เองหรือไม่
เชื่อในพระบริสุทธิคุณ (ความหมดกิเลส)
ว่าทรงมีจิตบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองหรือไม่
และเชื่อในพระกรุณาธิคุณ (ช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ถึงนิพพานด้วยการสั่งสอนธรรม)
ว่าทรงเสียสละพระองค์สั่งสอนเวไนยสัตว์ ตลอดพระชนม์ชีพหลังจากทรงตรัสรู้แล้วหรือไม่
สำหรับการเชื่อในพระธรรมนั้น
ได้แก่ เชื่อว่าธรรมของพระองค์ปฏิบัติแล้วนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้หรือไม่
ส่วนการเชื่อในพระสงฆ์นั้น
ได้แก่ เชื่อว่าเป็นผู้สืบศาสนาให้ยืนยาวเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ
ควรแก่การสักการบูชาหรือไม่ หากเรามีความเชื่อในสิ่งนี้แล้ว
จึงจะเรียกได้ว่ามีศรัทธาในพระรัตนตรัย
และถ้ามีศรัทธาเกิดขึ้นจะนำสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทุ่มเทแรงกายแรงใจ
เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเท่านั้นที่จะนำเราพ้นทุกข์ได้
แต่ถ้าเราขาดศรัทธา หรือมีศรัทธาไม่ลึกซึ้ง
ก็ยังมีความลังเลสงสัย ไม่ทุ่มเทการปฏิบัติ มีความเกียจคร้าน
ไม่เชื่อว่าปฏิบัติแล้วจะได้ผลจริง เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

วิริยะ : คือความเพียร หรือสัมมัปปธาน ๔ หรือเพียร ๔ นั่นเอง
ซึ่งจะต้องเพียรหนักยิ่งขึ้นที่จะปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง
ความเพียรนี้ก็เหมือนกับความเพียรในอิทธิบาท ๔ แต่ความเพียรในพละ ๕
จะมีกำลังสูงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะสมาธิมีกำลังดีขึ้น
จิตละเอียดขึ้นศรัทธาแนบแน่นขึ้นจากการเพียรปฏิบัติ
ก็จะได้พบปรากฎการณ์ต่างๆ ที่มากระทบ ทางสัมผัสทั้ง ๖
ไม่ว่าจะเป็นรูป (ตา) เสียง (หู) กลิ่น (จมูก) รส (ลิ้น)
โผฏฐัพพะ (กาย) ธรรมารมณ์ (ใจ) สิ่งที่กระทบนั้นจะละเอียดยิ่งขึ้นไป
นิมิตที่ปรากฏก็จะละเอียดขึ้นไป ตามกำลังของสมาธิและตามความละเอียดของจิต

สติ : ความระลึกรู้สึกหรือรู้ตัวจะมีกำลังสูงขึ้น
รู้ตัวเร็วขึ้นในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต
สติจะคล่องแคล่วว่องไวรับรู้ผัสสะที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นทวารใดทวารหนึ่ง
เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส
กายกระทบโผฏฐัพพะหรือสิ่งที่สัมผัสกาย ใจกระทบธรรมารมณ์หรืออารมณ์ที่จิตคิด
สติก็จะรู้ได้รวดเร็ว กำลังของสติจะคอยอุปการะจิต
ให้จิตมีความแหลมคมและมีกำลังที่จะรู้และละต่อสิ่งนั้น
(ซึ่งคือตัววิปัสสนาปัญญา) โดยไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบที่ชัง
จิตจะคลายจากกามคุณ ๕ อันมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
เท่ากับว่าจิตจะละจากอุปาทานในกามคุณ ๕ นั่นเอง
เมื่อสติมีกำลังเช่นนี้ปัญญาก็เกิดตามมา
เป็นปัญญาที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ คือมรรคผลนิพพาน

สมาธิ : ได้แก่ความตั้งมั่นของจิต ขณะทำวิปัสสนาต้องควรตรวจดูว่า
สมาธิของเราหนักไปอยู่ในฌาน ๔ หรือน้อยไปอยู่ในฌาน ๒
วิธีตรวจสอบก็โดยการสังเกตนิมิต โดยดูว่านิมิตที่เราเห็นเอียงไปทางซ้าย
หรือทางขวา หรืออยู่ตรงกลาง ถ้าเอียงไปทางขวา
แสดงว่าสมาธิหนักไปใกล้ฌาน ๔ ถ้าเอียงไปทางซ้าย แสดงว่าสมาธิอ่อนไปอยู่ใกล้ฌาน ๒
แต่ถ้าอยู่ตรงกลางหน้าก็แสดงว่าเราใช้สมาธิกำลังพอเหมาะการปรับสมาธิให้อยู่ในภาวะสมดุล
ทำได้โดยการปรับแต่งการโยกของกาย ถ้าสมาธิมากไปเฉียดอยู่ในฌาน ๔
กายจะโยกช้าหรือโยกเบาแทบจะหยุด ก็ให้โยกแรงขึ้นสักหน่อย
แต่ถ้าสมาธิอ่อนไปเฉียดฌาน ๒ กายจะโยกเร็วแรง
ก็ให้โยกช้าเบาลง สมาธิก็จะอยู่ในภาวะที่เหมาะสม
ดังนั้นวิธีโยกกายจึงเป็นประโยชน์ในการปรับระดับของสมาธิอีกทางหนึ่งด้วย
การปรับระดับของสมาธิดังกล่าวไม่มีอยู่ในพระอภิธรรม
ที่รู้ได้ก็จากประสบการณในการปฏิบัติ
ซึ่งกว่าจะพบอาจารย์ก็เสียเวลาไป ๔-๕ วัน เพราะไม่มีใครบอกใครสอนมาก่อน

ปัญญา : ได้แก่ความรู้ในธรรมที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ ภาวนาอยู่
โดยตรวจสอบดูว่าธรรมในหมวดใดองค์ใดที่เราภาวนามาแล้วยังบกพร่องอยู่ก็ให้รีบแก้ไขเสีย
การรู้ดังกล่าวคือตัวปัญญาแต่ถ้ารู้แล้วยังแก้ไม่ได้
แสดงว่าปัญญาในพละ ๕ ของเรายังไม่ดีพอ
เมื่อยังไม่ดีพอ พละ ๕ ก็ยังไม่สมบูรณ์ และกำลังไม่สมบูรณ์ก็เป็นอินทรีย์ ๕ ไปไม่ได้
พละ ๕ สมบูรณ์มีกำลังเมื่อใดก็จะเป็นอินทรีย์ ๕ เมื่อนั้น
(คือมีสติรู้เท่าทันต่อผัสสะที่มากระทบ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้ละทันหมด)

อินทรีย์ ๕ : คือธรรมที่เป็นใหญ่นำไปสู่ความสำเร็จ
ประกอบด้วยองค์ธรรมเช่นเดียวกับพละ ๕ คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
ต่างกันที่องค์ธรรมแต่ละองค์ในอินทรีย์ ๕ มีความสมบูรณ์
หรือมีกำลังสูงกว่าพละ ๕ เช่น เมื่อถึงอินทรีย์๕ ตัวสติจะว่องไวและมีกำลังยิ่งขึ้น
รู้ตัวเท่าทันต่อผัสสะที่มากระทบทุกอย่าง หากมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เช่น เจ็บปวดจากการนั่ง
สมาธิในพละ ๕ ก็สามารถสู้กับเวทนาได้แต่ถ้าพละ ๕ ไม่แข็งก็อาจจะสู้เวทนาไม่ได้
ต้องเปลี่ยนท่านั่งหรือออกจากสมาธิเสียก่อนเป็นการอ่อนแอต่อการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติให้ถึงมรรคผลต้องสู้กับทุกขเวทนาอย่างไม่ยอมแพ้มัน
จากประสบการณที่ผ่านมาอาจารย์เคยเจ็บจนไม่รู้จะทำอย่างไร
เอาผ้ารองตั้ง ๒-๓ชั้น ก็แก้ความเจ็บปวดไม่ได้ เจ็บปวดเหมือนมีหนามมีเข็มมาทิ่มแทงที่ก้น
แม้เจ็บจนเหงื่อไหลน้ำตาร่วงก็เคยแต่ว่าใจมันคล้ายเสือ มันสู้ไม่ยอมแพ้
ถ้าไม่หายปวดก็จะไม่ยอมออก นั่งเป็นชั่วโมงสองชั่วโมงสามชั่วโมงนี่คือการต่อสู้กับกิเลสมาร
โดยมีตัวกำลังเป็นตัวฮึดขึ้นมาในใจ นั่งสู้กับมันจนดึกดื่นค่อนคืนไม่ยอมแพ้

พละ ๕ : นี้สติอยู่กลาง คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
เมื่อเจริญวิปัสสนาแก่กล้าแล้ว สติของเราก็จะทันต่อผัสสะ เมื่อทันหมดทุกด้านเราก็ละมันทัน
มันเกิดเมื่อไรก็ละทันเมื่อนั้นทั้งกายทั้งจิตจิตของเราก็ว่าง

แต่อย่าลืมว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนั้น จะมีอะไรก็ตามที่มากระทบกายเราเพียงแผ่วเบา
เช่นคล้ายกับไรไต่ก็ละเพราะการปฏิบัติธรรมในส่วนวิปัสสนานี้
การที่ผัสสะใดๆ ก็ตามที่เราได้รับไม่ว่ากระทบกายหรือกระทบจิต
ย่อมประกอบไปด้วย ตัณหา (ความอยาก) ทั้งนั้น
เช่น เรานั่งกรรมฐานอยู่และลมพัดโชยมา
เรารู้สึกว่าเย็นสบาย เราเกิดมีความพอใจ ก็เป็นสุขเวทนา
คือเป็น กามตัณหา (ความพอใจในกาม) หรือพวก ราคะ (ความใคร่หรือชอบในสิ่งใดๆ)
แต่เมื่อเกิดอากาศร้อนอบอ้าวเพราะไม่มีพัดลม เราเกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ
เป็นพวกวิภวตัณหา จัดเป็นฝ่ายโทสะ
ถ้าเราไม่รู้ว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนั้นว่าเป็นตัณหาตัวไหน จิตของเราก็เป็นโมหะ

การปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลส หรือราคะ โทสะ โมหะ และการที่เรารู้จักการตัดวัฏสงสารใด
ก็ต้องตัดที่ตัวตัณหาให้สิ้นไป ธรรมตัวตัณหานี้ก็อยู่ในอริยสัจ ๔ คือตัว สมุทัย
ซึ่งเป็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ตัณหาพาให้เกิดทุกข์ เมื่อเราดับทุกข์เสียได้ทุกข์มันก็เกิดไม่ได้
การปฏิบัติเพื่อหวังพระนิพพานเราจะต้องมุ่งอยู่ที่ตัวอริยสัจ
พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมด้วยธรรมตัวนี้
และพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตรัสรู้เช่นเดียวกับพระพุทธองค์
เคยพบบางหมู่เหล่ามุ่งสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้ถึงพระนิพพาน จะเป็นไปได้อย่างไร
ในเมื่อธรรมสติปัฏฐานเป็นเพียงธรรมองค์หนึ่งของมรรคองค์ที่ ๗ เท่านั้น
จะถึงพระนิพพานได้อย่างไร มรรคจะต้องสมบูรณ์ทั้ง ๘ องค์
และยังจะต้องใช้ธรรมอีก ๖ หมวดมาประกอบอีก รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
การนำโพธิปักขิยธรรม ๓๗ มาปฏิบัตินั้น จะบริกรรมจากอิทธิบาท ๔
พละ ๕ (หรืออินทร์ ๕) โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ ไปตามลำดับ
ส่วนเพียร ๔ หรือสัมมัปปธาน ๔ (มรรคองค์ที่ ๖) และสติปัฏฐาน ๔ (มรรคองค์ที่ ๗) นั้น
นำมาใช้ตอนเจริญวิปัสสนาทั้งเวลานั่งสมาธิและนอกเวลานั่งสมาธิ

การปฏิบัติวิปัสสนาต่อจากสมถะนั้นจักขุญาณมีจำนวนมาก
เพราะมีปรากฏตามปฐมเทศนาคือธรรมจักษุ ที่พระพุทธองค์แสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
เพราะจักขุญาณนี้เป็นวิชชาหนึ่งใน ๘ ที่จะทำให้เกิดผลในวิชชาบุพเพนิวาสานุสติญาณ
เจโตปริยญาณ และจุตูปปาตญาณ ได้ด้วย ถ้าไม่มีจักขุญาณก็เท่ากับคนตาบอด
วิชชาทั้ง ๘ ในพระพุทธศาสนานั้นเกี่ยวกับญาณทั้งสิ้น
การจะเข้าถึงพระนิพพานได้ก็ต้องมีวิชชาอาสวักขยญาณ มีรู้เห็นนิมิต
ตามพระไตรปิฏกกล่าวไว้ว่า “พระนิพพานนั้นไม่สำเร็จด้วยความนึกคิด
แต่สำเร็จด้วยความเพียรติดต่อกันไม่ขาดสาย”

ปีหนึ่งนั่งกรรมฐานเพียง ๓ เดือน เฉพาะในพรรษา และนั่งเพียงครั้งละ ๑๐-๒๐ นาทีนั้น
อย่าหวังเลยจะพบสัจธรรม อาจารย์เพียรมาต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
คือตั้งสัจจะไว้ว่าถ้าไม่รู้ก็สู้แค่ตาย
พระบรมครูของเรานั่นแหละเป็นแบบที่เราสมควรจะดำเนินตามกัน

ปัจจุบันมีธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย เราพึงระมัดระวังตัวให้จงหนัก
ถ้าหากถลำตัวเข้าไปแล้วถอนตัวได้ยากนัก ทิฏฐิ มานะ อุทัจจะ เป็นกิเลสที่สำคัญ
ผู้ที่จะพ้นสามตัวนี้ได้ก็มีแต่พระอรหันต์
อย่างไรเสียก็อย่าพึ่งไปคิดว่าฉันหมดสมมุติก่อนวิมุตเป็นอันขาด
เพระพระนิพพานนั้นถึงด้วยใจ ที่รู้ว่าวิมุตตินั้นเป็นอย่างไร ลักษณะไหน
วิมุตติด้วยวาจาคารมนั้นเป็น “นิพพานดิบ” (นิพพานยังมีขันธ์ ๕)
แต่วาจาไปด้วยคารมคมคายจนบางแห่งเคยพบคำสอนเป็นธรรมซึ่งพระอรหันต์ท่านดำรงอยู่
มาสอนให้ปุถุชนทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ธรรมสำหรับพระอรหันต์ซึ่งหลุดพ้นแล้ว
แต่ท่านยังครองตนเป็นมนุษย์อยู่ ที่เรียกว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน *”
มาสอนให้ปุถุชนปฏิบัติกัน ถ้าใครทำตามได้รับผลเลย ก็คงไปนิพานกันหมดแล้ว
จะเป็นไปได้หรือช่วยกันคิดดูเถิด...จบเพียงเท่านี้

* สอุปาทิเสสนิพพาน : หมายถึง นิพพานที่ยังมีอุปาทิเหลืออยู่ ,
ดับกิเลสแต่ยังมีขันธ์ ๕ เหลืออยู่ คือนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่

:b44: :b44:

ที่มา
http://www.wattham.org/wattham_itibaj4pla5.php

เจ้าของ:  คนธรรมดาๆ [ 31 ธ.ค. 2012, 06:50 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อิทธิบาท ๔ พละ ๕ : หลวงปู่สรวง ปริสุทฺโธ (วัดถ้ำขวัญเมือ

:b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/