วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 07:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ธ.ค. 2012, 02:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ดูความปรุงแต่ง
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


ต่อไปนี้ก็พึงตั้งใจฟังธรรมะเป็นหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ อาตมาจะได้น้อมนำมาบรรยายตามสติกำลังปัญญาความรู้ความเข้าใจ สิ่งใดที่ฟังแล้วโยมก็ต้องพิจารณาวิเคราะห์ จะถูกจะผิดนั้นก็อย่าเพิ่งเชื่อทีเดียว เราจะต้องฟังอย่างผู้ที่ต้องพิจารณาและก็ต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ

การที่เราปฏิบัติก็เพื่อที่เราจะทำความบริสุทธิ์ให้เกิดในจิตใจ หรือว่าต้องการที่จะดับทุกข์ให้ตัวเองต้องการที่จะแก้ปัญหาทางจิตใจที่มีอยู่ ปัญหาทางจิตใจก็คือว่าเรามีความทุกข์จากที่เรามีกิเลส มีความทุกข์เศร้าหมองเร่าร้อนวิตกกังวลฟุ้งซ่านหงุดหงิด มาจากการที่เรามีกิเลส ใจมีกิเลสทั้งนั้น ก็ต้องชำระจิตให้สะอาดโดยการที่ละกิเลสออกไปจากใจ การที่เราจะละกิเลสออกไปจากจิตใจก็ต้องเป็นผู้รู้ขึ้น ต้องทำใจของตนเองให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และทำใจของตนเองให้มีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ธรรมก็คือตัวเองนั่นแหละ เห็นธรรมตามความเป็นจริงก็คือเห็นตนเองตามความเป็นจริง เห็นตนเองที่ไม่ใช่ตนเองเรียกว่าเห็นความจริง

คำว่าตนก็เป็นเรื่องการสมมุติพูดกัน แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นตน ไม่เป็นตัวตนคำว่าเรา คำว่าของเรา คำว่าเขา ก็เป็นสมมติเรียกกัน แต่ว่าปุถุชนนั้นไม่ใช่เรียกไปเฉย ๆ มันยึดว่าเป็นจริงไปด้วย ยึดว่าเป็นเราจริง ๆ เป็นของเราจริง ๆ เป็นตัวตนจริง ๆ แต่เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วก็ได้พบว่าไม่เป็นตัวไม่ใช่เรา ไอ้ที่เรียกว่าเราก็เป็นเพียงสมมติ ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเราไม่ใช่ของเรา สักแต่ว่าเป็นสิ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดดับเปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย

ฉะนั้นการที่เราจะลงมือปฏิบัติให้จิตใจมีความรู้ เป็นผู้รู้เป็นผู้เห็นแจ้งเป็นผู้ละกิเลสได้ก็ต้องลงมือปฏิบัติ ต้องเพียรพยายามปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องของการฟังเฉย ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการอ่านการฟังการพูดไปเฉย ๆ แต่เป็นเรื่องของการลงมือกระทำเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ธรรมะไม่ได้อยู่ในตำราไม่ได้อยู่ในครูบาอาจารย์ ไม่ได้ไปอยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ในตนเอง การรู้จักธรรมะก็คือการดูในตัวเอง

เริ่มต้นของการจะศึกษาธรรมะก็คือเริ่มการมีสติ การฝึกการมีสติ การฝึกสติอยู่กับปัจจุบัน ทำสติอยู่กับปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมที่ไหน ปัจจุบันธรรมที่กายที่ใจนี้เอง การมีสติระลึกรู้ก็คือการระลึกรู้เข้ามาในกายในใจของตนเอง ไม่ใช่เรื่องอะไรมากมาย เป็นเรื่องของการตามดูรู้ทันกายที่เป็นอยู่ภายใน จิตใจที่เป็นอยู่ภายใน ตามดูตามรู้ต่อสิ่งเหล่านี้ที่กำลังปรากฏเป็นไปอยู่ นี่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมะ

การเริ่มการศึกษาธรรมะ สติจะต้องระลึกเกาะอยู่กับกายไว้อยู่เสมอ ๆ สติจะต้องระลึกเกาะอยู่กับจิตใจของตนเองอยู่เสมอ การรู้ก็รู้ได้ทุกอิริยาบถนั่นแหละ กายนี้จะอยู่ในท่าใด ๆ ก็เอาสติไปตามรู้ได้หมด ไม่ว่ากายนั่งอยู่ กายจะยืนอยู่ กายจะเดินอยู่ กายจะนอนอยู่ กายจะเคลื่อนไหวคู้เหยียดเคลื่อนไหวอยู่ ก็ให้มีสติตามดูรู้กายนี้ไป กายภายนอก กายภายใน บางทีก็เห็นอยู่

เป็นสัณฐานเป็นทรวดทรงเป็นท่าทางเป็นรูปร่างของกาย เรียกว่าดูแบบภายนอก ดูแบบภายในก็เข้าไปรู้ถึงความรู้สึกภายในกายที่มันเคลื่อนไหวอยู่ มันมีความไหวความตึงความกระเพื่อมอยู่ทุกส่วนของกาย เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะระลึกรู้ทั่วพร้อมกายทั้งหมด ไม่ได้เจาะจงว่าจะรู้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง จะต้องรู้จิตใจของตนเองว่ากำลังคิดนึก กำลังรู้สึกปรุงแต่งให้เกิดความรักความชังเกิดความสงบความไม่สงบ ความสบายไม่สบาย นี่ก็ต้องมีสติตามระลึกตามรู้ตามพิจารณาก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเกินวิสัยที่เราจะทำได้เพราะเราไม่ได้ไปคว้าธรรมะนอกโลก ความรู้สึกทางกายทางใจนี่แหละเป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาพิจารณา ก็ไม่ได้ไปค้นธรรมะที่ไหนเลย ค้นธรรมะในตัวเอง ทุกคนก็มีตัวมีกายมีใจอยู่ ปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติได้ เพราะว่ามีตัวอยู่มีชีวิตจิตใจอยู่นี่ ไม่ใช่คนตาย คนตายก็หมดโอกาส ฉะนั้นยังเป็น ๆ ก็ปฏิบัติได้

ไม่ใช่เรื่องว่าเราจะต้องจดจำอะไรมากมายแต่เป็นเรื่องการคอยดูกายดูใจในปัจจุบันนี่เท่านั้น กายที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน จิตใจที่กำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน อย่างนี้เรียกว่าการปฏิบัติธรรมเจริญสติจนเป็นมหาสติ สติที่ใหญ่มีกำลัง สมาธิก็เกิดขึ้น สมาธิเกิดขึ้นจากการมีสติเท่าทันนี่แหละ ถ้ามีสติเท่าทันต่อสภาวธรรมทางกายทางใจก็จะเกิดสมาธิขึ้นเอง ความสงบในจิตใจก็เกิดขึ้น จิตที่มันไม่สงบเพราะเราขาดสติ มันไม่มีสติตามดูรู้ทันจิตก็จะปรุงแต่ง ปรุงแต่งในเรื่องที่ได้ยินได้ฟังหรือเรื่องที่ได้เห็น ในเรื่องที่ได้คิดไว้ได้รู้ไว้ เอาไปปรุงแต่งในเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น จิตก็วุ่นวายสับสนสร้างความทุกข์ต่อจิตใจของตนเอง หรือปรุงแต่งไปในเรื่องอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น วิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ นั่นเพราะขาดสติ

ถ้าเรามีสติเราก็ระลึกรู้ทันซะความคิดความนึก เสียงดังมาสติระลึกได้ยินเสียง จิตเป็นอย่างไร จิตกระเพื่อมจิตหวั่นไหวจิตไม่พอใจหรือจิตวางเฉย สติมันก็เกิดขึ้น สติต้องทำหน้าที่ระลึกรู้สภาพธรรมต่าง ๆ ที่มาปรากฏทางตาทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ วนเวียนอยู่ในตัวนั้นแหละ รวมเรียกว่ารู้ในกายในใจ พยายามให้รู้ในกายในใจ ไม่ได้รู้ออกไปข้างนอก ไม่ได้ไปรู้ที่คนอื่น ไม่ได้ไปเพ่งคนอื่น แต่ว่าจะเพ่งรู้เข้ามาในตนเอง แม้ตาต้องสัมผัสกับสิ่งภายนอก หูต้องสัมผัสกับเสียงภายนอก จมูกต้องสัมผัสกับกลิ่น ลิ้นต้องสัมผัสรส แต่การปฏิบัติธรรมนั้นเราดูปฏิกิริยาดูสภาวะความมีความเป็นที่มันเกิดขึ้นในตัวเองที่มันปรากฏสัมผัสสัมพันธ์อยู่ในตัวเอง นี่คือการปฏิบัติธรรม

การได้ศึกษาธรรมะคือการที่จะชำระจิตให้สะอาดให้บริสุทธิ์ คือการที่จะดับทุกข์ให้ตัวเองก็ทำกันอยู่อย่างนี้ ให้ชำนาญให้สติสัมปชัญญะมีความคล่องตัว รู้ทั่วถึงไปทุกส่วนของกาย รู้ทั่วถึงไปทุกส่วนของจิตใจด้วยความปล่อยวาง ด้วยความไม่เอาอะไร ด้วยความปรกติ เพราะฉะนั้นเวลาสติสัมปชัญญะไปรับรู้สิ่งใดก็ปล่อยวางสิ่งนั้น รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็วางไป รู้แล้วก็เท่านั้นเองแค่นั้นเอง สิ่งใด ๆ เกิดขึ้นในตัวเองก็รับรู้แล้วก็ผ่านไป ๆ แต่ก็พิจารณาอยู่มีความสังเกตมีการพิจารณา พิจารณาความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านั้น ความเกิดดับของสิ่งเหล่านั้นความหมดไปความสิ้นไปของสิ่งเหล่านั้น ความบังคับบัญชาไม่ได้ของสิ่งเหล่านั้น เรียกว่ามีการพิจารณามีสัมปชัญญะพิจารณาสอดส่องในธรรมให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง นี่ ! ทำอยู่อย่างนี้ ระลึกไปพิจารณาไปสังเกตไปปล่อยวางไป ประคับประคองไป ทำไปให้มันพอดีไป

เดี๋ยวมันตึงไป เดี๋ยวมันหย่อนไป เดี๋ยวมันเผลอไป เดี๋ยวมันคิดออกไปข้างนอก ก็คอยรู้คอยดูคอยปรับเข้ามา คอยน้อมเข้ามาหาอยู่ในตนเองนี่แหละ บางทีมันก็เผลอไผลออกไป เพลินออกไป คิดออกไปก็ฉุกรู้ขึ้นมา อ้อ ! นี่คิด นี่นึก นี่ปรุงแต่ง นี่ชอบ นี่ไม่ชอบ สงบดี มีความสงบ มีความไม่สงบ มีความเคลื่อนไหวในกาย กระเพื่อมไหวตึงหย่อน เย็นร้อน นี่ได้ยินเสียง มีรู้กลิ่น มีสัมผัส อยู่อย่างนี้

สื่อสัมผัสอยู่ก็แค่ที่ตาที่หูที่จมูกที่ลิ้นที่กายที่ใจ มีความรู้สึกเกิดขึ้นทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในจิตใจอยู่ มันเป็นสายสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นปัจจัยเราก็ดูว่าเป็นปัจจัยกันอยู่เพราะมีสิ่งนี้จึงเกิดสิ่งนี้ พอสิ่งนี้หมดไปสิ่งนี้ก็หมดไป เราก็จะเห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน มีเสียงมากระทบได้ยินเกิดขึ้น จิตรู้สึกอย่างไร บางทีก็มีเย็นมีตึงมีไหวกระทบกาย รู้สึกปวดรู้สึกเจ็บ จิตใจหวั่นไหวไหม จิตใจวางไหม ความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไรในจิตใจ จิตที่มีทุกข์เพราะอย่างไรทำไมมันจึงทุกข์ เราจะพบว่า อ้อ ! ทุกข์เพราะว่ามันปรุงแต่งต่างหาก มันปรุงอยู่ มันคิดมันนึกมันปรุงอย่างนั้นอย่างนี้

พอมันปรุงแล้วมันก็เป็นทุกข์ใจ ปรุงในทางให้กลัว จิตก็กลัว ปรุงแต่ง เขาเรียกว่าปรุงแต่ง เช่น อยู่คนเดียวอยู่ในที่เปลี่ยวมันก็ปรุงว่าจะมีสิ่งน่ากลัวตรงนั้นมาเป็นอย่างนั้นทำอย่างนั้น โผล่มาให้เห็นอย่างนั้น อาศัยสัญญาความจำที่จำไว้มันปรุง มันก็กลัว ถ้าไม่ปรุงแต่งมันจะไม่กลัวอะไร อย่างคนไปในที่......... คนหนึ่งไปในที่เดียวกัน คนหนึ่งไม่กลัว คนหนึ่งกลัว คนที่กลัวคือได้ยินได้ฟังมาก่อนว่าที่นั้นนะ โอ้โห มีงูนะ มีงูใหญ่ มีงู มันจำไว้ก่อนแล้ว ฟังในใจไว้ เวลาไปมันก็คอยระแวงคอยคิดคอยนึก นึกกลัว คนหนึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังก็ไม่กลัวอะไร ไม่คิดว่าจะมีอะไรมันก็ไม่เกิดการปรุงแต่ง


ตานี้เราไม่สามารถจะห้ามการได้ยินได้ฟังได้ เราจะฟังแต่เรื่องดี ๆ มันก็เลือกฟังไม่ได้ มันก็ต้องมีเสี่ยงดี เสียงไม่ดี บางทีเราก็หาเรื่องไปฟังเอาด้วย เขาจะพูดอะไรไม่ดี เราก็หาฟัง เหมือนคนกลัวผีแต่ก็อยากฟังเรื่องผี เขาจะเล่าเรื่องผีแล้วก็อยากฟัง ฟังแล้วก็มาปรุงแต่งให้กลัว ตานี้เราเลือกไม่ได้เราห้ามไม่ได้การที่จะพบอารมณ์ดีไม่ดี แต่ว่าเราระมัดระวังจิตของเราได้ ความปรุงแต่งในจิตใจของเรานี่ พอไปอยู่ในที่มืดอยู่ในที่เปลี่ยวนี่ เราลองสังเกตในใจของตัวเองว่ามันคิดนึกหรือเปล่า มันปรุงแต่งไหม ลองไปดูว่ามันเป็นจริงไหมว่ามันปรุงแต่ง มันจะต้องปรุงแต่งว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นจะมาอย่างนั้นจะเป็นอย่างโน้น มันก็กลัว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีอะไร มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ แต่มันกลัวเสียแล้ว

บางทีก็กลัวเชือก เห็นเชือกเป็นงู กลัว กลัวเชือก เชือกไม่ได้ทำอะไรให้ได้ก็กลัวเสียแล้ว แสดงว่าความกลัวมันอยู่ในจิตที่ปรุงแต่ง คิดไปเอง นึกไปเอง นี่ก็ต้องไปเฝ้าดูจิตของตัวเอง พอมันปรุงขึ้นมาว่าจะเป็นอย่างนั้นคิดอย่างนี้ ก็รู้ทัน รู้ทัน รู้ที่ความนึกคิดนั่นแหละ รู้ที่กำลังปรุง ปรุงแต่ง รู้ รู้ รู้ การที่มีสติเข้าไปรู้ ไปรู้ นี่เราจึงไม่ขยายตัว ความปรุงแต่งนี่มันเป็นเหมือนโรงผลิต โรงงานผลิตอะไรต่าง ๆ ถ้าเราไปทำลายที่โรงงานเสียแล้ว เราเข้าถึงรัง รังผลิต ทำลายเสียแล้วมันก็ผลิตออกมาไม่ได้ จิตนี่เหมือนกันนะที่มันกลัว มันก็ผลิตขึ้นจากในใจ ถ้าเรารู้ทันมันจะไม่ผลิตออกมา ไม่สร้างอะไรขึ้นมาก็ไม่กลัวอะไร

ไม่ว่าจะเป็นความกลัวหรือความแค้นหรือความกำหนัดยินดีในกามก็ตาม มันก็มาจากความปรุงแต่งทั้งนั้นแหละ อย่างเช่นเราเกิดความโกรธ ความอาฆาตมาดร้าย มันก็เกิดจากปรุงแต่งในจิตนี่ มันจะปรุงว่าเขาว่าอย่างนั้นเขาไม่ดีอย่างนั้นเขาเป็นอย่างนั้น เขาทำไม่ดีต่อเราอย่างนั้น เขาพูดไม่ดี เขาอะไร มันก็ต้องมีสิ่งปรุงในจิตแล้วมันก็เกิดความโกรธความแค้น ความทุกข์ ความทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายก็เกิดขึ้นมาในจิตใจมาจากปรุงแต่งในจิตทั้งหมด ที่นี้ถ้าเรารู้ คำว่าเราก็คือสติ สติสัมปชัญญะเข้าไประลึกไปรู้ในจิตที่กำลังปรุงอยู่ ปรุงอยู่หรือว่ามันปรุง

มันมีทุกข์เสียแล้ว มันผลิตยู่ แล้วมันก็ทุกข์อยู่วนเวียนอยู่ในจิตนั่นแน่ะ ก็รู้ไปทั้งการตรึกนึก รู้ไปทั้งความทุกข์ที่มันเกิดขึ้น รู้ทั้งความไม่สบายใจความโกรธความแค้นก็ดีที่มันเกิดขึ้น ก็รู้ไปหมด แล้วมันก็ยังปรุงอยู่นี่ เราก็รู้อีก มันจะพบว่า เมื่อขณะที่สติสัมปชัญญะเข้าไปหยั่งรู้ ไปหยั่งรู้ หยั่งรู้ อาการความทุกข์ความไม่สบายใจความโกรธความแค้นจะคลายตัวลง จะมีอาการจางลงคลายลง ก็รู้ สติสัมปชัญญะก็ไปรู้อาการที่มันคลายมันจางหรือมันวู้บ......ไป มันหายมันว่างไป ก็รู้อาการนั้นอีก

นี่เรียกว่าเห็นธรรมะ เห็นสัจธรรมของธรรมชาติ มันเกิดมันดับมันแปรมันเปลี่ยน ความปรุงแต่งต่าง ๆ ความไม่ชอบใจความโกรธความแค้นความทุกข์ใจเป็นสภาวธรรมทั้งหมด ศึกษาธรรมะคือศึกษาสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้นี่คือธรรมะ ธรรมะฝ่ายอกุศลก็เป็นธรรมะ คือธรรมชาติที่มันเกิดมันดับ มันก็ไม่ใช่ตัวตน เราก็เห็นสิ่งเหล่านี้เกิด หมดไปสิ้นไป หาใช่ตัวตนเราเขาไม่ บังคับบัญชาอะไรไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าได้ปฏิบัติธรรม

ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกินวิสัย เป็นเรื่องอยู่กับตัวกับจิตใจ ทำได้ทุกคน ก็มีจิตมีใจมีกิเลส กิเลสก็ยังเกิดขึ้นได้ สติปัญญาทำไมจะเกิดขึ้นไม่ได้ เราต้องนึกให้กำลังใจกับตัวเราเองอย่างนั้น เมื่อมันมีทุกข์ ทุกข์มันยังมีได้ ความดับทุกข์ทำไมมันจะมีไม่ได้ มันมีหลงมันก็ต้องมีปัญญา หลงยังมีได้ปัญญาทำไมจะมีไม่ได้ ความสบายใจมันมีได้ ความสิ้นความไม่สบายใจมันก็มีได้ เพียงแต่ว่าต้องคลำไป ปฏิบัติธรรมก็คือต้องค่อย ๆ ศึกษาพิจารณาไปให้เข้าถึงให้แยบคายขึ้นตามลำดับ

ความที่จิตมีราคะ จิตที่มีราคะคือความต้องการยินดีในกามคุณอารมณ์ เกิดความกำหนัดยินดีขึ้นในจิตใจหรือว่าเป็นไปในทางกาย เป็นเหตุเป็นปัจจัย ความรู้สึกทางกายมันก็มาจากจิตนั่นแน่ะ จิตมันเกิดขึ้นก่อน จิตที่มีราคะเกิดขึ้นก่อนกายก็เป็นไป เป็นเหตุเป็นปัจจัย ตานี้จิตที่มีราคะก็มาจากสิ่งใด ก็มาจากการปรุงแต่งนั่นแหละ เกิดจากการคิดนึกเกิดจากการปรุงแต่งสร้างสรรค์ประดิษฐ์เรื่องในความรู้สึกให้เกิดความพึงพอใจ

มันสร้างมันผลิตมันประดิษฐ์เรียกว่าเกิดความดำริ มันก็ให้เกิดเป็นความหมายเกิดเป็นมโนภาพเป็นเรื่องเป็นเหตุการณ์เป็นอะไรต่าง ๆ ในมโนภาพของจิต จิตก็เกิดราคะขึ้น ความกำหนัดยินดี แล้วก็เป็นทุกข์เอง จิตใจก็จะไม่สบายเอง เดือดร้อนเองวุ่นวายเองทั้งกายทั้งจิตใจ นี่นะจิตที่จริงมันหาเรื่องให้ตัวมันเองแท้ ๆ จิตมันคอยจะหาเรื่องเอาทุกข์ใส่ใจตัวเองด้วยการปรุงแต่งอยู่ ปรุงแต่งไปให้เกิดความกลัว ความกลัวก็เกิด ปรุงแต่งไปให้เกิดความวิตกกังวลห่วงใย กลัวอย่างนั้นกลัวอย่างนี้ มันก็เกิดจากในจิตคิดปรุงแต่งทั้งหมด

ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนี่มีสติสัมปชัญญะเข้าไปรู้เข้าไปจับมันทัน เห็นตัวผลิตเหมือนกับเห็นโรงงานผลิตเครื่องใช้ไม้สอยอาหารเครื่องอุปโภคบริโภค มีโรงงานผลิตนี่เราเข้าไปทำลายรังของโรงงานได้ทัน แบบเขาผลิตยาเสพติด ถ้าเข้าไปทำลายที่ผลิตเสียแล้วมันก็ไม่มียาออกมาขายมันมีมาไม่ได้ก็เพราะมันไม่มีที่ผลิต ฉะนั้นถ้าไปจับได้ทันตรงที่มันผลิต มันก็ผลิตไม่ได้ตำรวจไปทำลายรังที่ผลิตเสียแล้ว ทำลายเครื่องไม้เครื่องมือ ทำลายคนผลิต ยามันก็ไม่มีออกมา แต่ทุกวันนี้ทำลายไม่ถึงรังไม่ถึงที่ผลิต ได้บ้างเล็กๆน้อยๆ บางแห่งไม่ได้ทั้งหมด จิตใจนี้ก็เหมือนกันที่มันผลิตที่มันสร้างปัญหาเป็นทุกข์เป็นโทษเป็นภัยขึ้นมานี่

มันมาจากความปรุงแต่งในจิตใจด้วยความหลงความโง่ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น กิเลสนั่นแหละมันก็สร้างให้ผลิตความหลง ความโลภ ความโกรธ ความไม่รู้ความยึดมั่นถือมั่นทำให้เกิดการปรุงแต่ง ปรุงแต่งก็คือมันตรึกนึกมันผลิต จะเรียกว่ามันผลิต ถ้าเป็นการสร้างวัตถุสิ่งของเขาเรียกผลิต แต่ว่าในจิตใจท่านใช้คำว่าปรุงแต่ง ปรุงแต่งเหมือนกับเราทำอาหารเราก็ต้องปรุงแต่ง ปรุงแต่งรสชาติ เราปรุงแต่งยังไง ก็ต้องเอาสิ่งโน้นใส่สิ่งนี้ใส่ กวนไปกวนมา ปรุงแต่งทั้งหมด มันจึงได้รสชาติอาหารไปต่าง ๆ เป็นแกงส้ม แกงเขียวหวาน เป็นแกงอะไรต่ออะไร แล้วแต่ว่าจะเอาอะไรมาปรุง มันจึงเกิดเป็นอาหารต่าง ๆ

จิตนี้ก็เหมือนกันมันเกิดทุกข์เกิดโทษเกิดภัยเกิดความเดือดร้อนราคะโทสะโมหะ อะไรขึ้นมา มันก็เกิดจากความปรุงแต่งขึ้นในจิตใจ มันตรึกมันนึกมันสร้างสรรค์มันผลิต ถ้าหากไปดูทันไปรู้ตรงเข้าไปถึงจุดของจิตใจที่กำลังปรุงแต่งอยู่ สลายได้ ความปรุงแต่งก็จะสลายตัว พอจะผลิตพอจะปรุงขึ้นมารู้ทัน รู้ทัน สลายไป เมื่อสลายไปมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น หรือว่าที่มันเกิดอยู่แล้ว เหตุปัจจัยที่จะทำให้มันเกิดสืบสายต่อเนื่องยืดยาวมันก็ตัดขาดลง

อาการที่มันเป็นอยู่ก็จึงคลายตัวลงไป หรือว่าแสดงอาการดับวูบลงไปให้เห็น ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะที่คมกล้าจริง ๆ มันก็สามารถจะแสดงความดับทันทีให้เห็นก็ได้ มันจะรู้สึกว่ามัน วู้บ....ลงไป สลายลงไปหรือเบาลงมาก็เห็นมันจางลง ความโกรธก็ดีความกลัวก็ดีราคะก็ดีมันจางลง ๆ ก็ยังรู้อยู่ รู้อยู่จนกระทั่งมันหายไป สลายไป ใจก็ว่างเปล่า แต่มันก็ไม่หยุดยั้งนะ จิตนี้มันก็คอยจะปรุงอีก


เบาใจเบา มันก็ปรุงได้อีก พอมันไปสัมผัสอย่างนี้มันก็ปรุงว่าจะดีอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น ปรุงว่าเรานี่ได้พบสัจธรรมแล้วเราบรรลุแล้ว มันก็เกิดจากการปรุงทั้งนั้น เกิดได้เหมือนกันก็ต้องรู้ทันอีก มันยังไม่ถึงที่สุดปรุงแต่งไปเสียก่อน ก็กลับกลายเป็นไม่เห็นอะไรไม่รู้อะไรจริง ถูกหลอกได้ถูกลวงได้ ตอนแรกมันลวงไปในทางให้เป็นทุกข์ให้รู้สึกว่าไม่สงบวุ่นวายด้วยกิเลสชนิดต่าง ๆ ถ้าเกิดมันสงบดีมันก็ปรุงแต่งหลอกล่อไปในทางดี ก็อาจจะไม่รู้ตัวว่า อ้าว ! นี่ถูกปรุงแต่งอยู่ เห็นเป็นอย่างนั้นเห็นเป็นอย่างนี้ มันปรุงมาก ๆ ก็เห็นเป็นนิมิต เห็น

เป็นภาพ ที่มันมีภาพขึ้นมามันก็ปรุงแล้ว ปรุงแต่ง เห็นภาพดีภาพสวยงามก็ทำให้เคลิบเคลิ้มทำให้พอใจทำให้ติดใจเกิดความสุขสงบขึ้นมา ในใจก็ยินดีพอใจปรุงแต่งด้วยความยินดีพอใจ ก็เรียกว่าติดกับเหมือนกัน มันหลอกอย่างนั้นไม่ได้มันก็มาหลอกอย่างนี้ หลอกในทางร้ายไม่ได้มันก็หลอกในทางดี ถ้าเราไม่รู้ทันเราก็ไปกับมันอีก เพลิดเพลินกับมันอีก เลยไม่รู้ปัจจุบันไม่รู้สภาวะปัจจุบันไม่รู้จิตที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน

เพราะมันไปเคลิบเคลิ้มหลงใหลในนิมิตบ้าง ในมโนภาพ ในความหมายในความสงบ เราจะต้องเห็นความปรุงแต่งอยู่เสมอ แม้จิตใจที่กำลังสงบสบายกำลังว่าง มันไม่ใช่ว่ามันจะคงที่เมื่อไร ความว่างในจิตใจไม่ได้คงที่ มันก็เอาอีกแล้ว ก็มีสัญญาความจำมีตรึกมีนึกขึ้นมาได้เรื่อย ๆ เรื่อย ๆ การปฏิบัติจึงไม่มีการหยุดยั้งต้องรู้เรื่อยไป รู้เรื่อยไป สัมผัสรู้จิตรู้กายเรื่อย ๆ ไป แล้วก็ปรับไปเรื่อย ๆ ให้มันพอดีอยู่เรื่อย ๆ ให้มันเป็นปรกติอยู่เรื่อย ๆ ให้มันปล่อยวางอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็ให้มันเป็นปัจจุบันอยู่เรื่อย ๆ



เรื่องของปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญ ต้องกลับมาเป็นปัจจุบันให้สั้น ๆ ปัจจุบันที่สั้นที่สุดไว้ กำลังเห็นกำลังได้ยินเรียกว่าปัจจุบัน กำลังรู้กลิ่นกำลังรู้รส กำลังรู้สึกสัมผัส กำลังเย็นกำลังร้อนกำลังตึงกำลังหย่อน กำลังไหว กำลังคิดกำลังนึก กำลังพอใจกำลังไม่พอใจ กำลังปรุงแต่งอยู่นี่ จะรู้เฉพาะปัจจุบัน สติสัมปชัญญะที่มันจะรู้ปัจจุบันได้ดีได้ต่อเนื่องก็คือ มันจะต้องมีการปล่อยวางด้วย ปล่อยวางไป มันจึงจะได้เป็นปัจจุบัน ปัจจุบัน ๆ ขึ้น เพราะว่าสภาวะมันเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน ๆ ๆ ต่อเนื่อง ๆ ๆ ๆ กันอย่างรวดเร็ว ถ้ามัวไปยึดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมันก็ไม่เห็นปัจจุบันอันต่อ ๆ มา ถ้าไปยึดไปเกาะติดในอารมณ์ใดมันก็ไปตามอารมณ์นั้น เป็นอดีตก็อดีตไปด้วยกัน ยังไม่เกิดขึ้นเป็นอนาคตมันก็เป็นอนาคตอยู่ สิ่งที่อยู่ตรงหน้าอยู่เฉพาะหน้าอยู่เฉพาะจิตใจอยู่เฉพาะปัจจุบันมันจึงมองไม่เห็น

เหมือนเรานั่งอยู่นี่คนที่นั่งอยู่ตรงหน้าเข้ามาหาตรงหน้า ถ้าเราไม่ดูเข้ามาใกล้ ๆ เงยหน้าไปดูแต่ที่อื่น เหลียวไปดูที่อื่น มันก็ไม่เห็นคนตรงหน้านี่ เหมือนกับสภาวะที่มันเกิดขึ้น เป็นปัจจุบันนี่ ไม่เห็น ไม่เห็นเพราะว่ามัวตามไปดูในอารมณ์เก่า อารมณ์ที่ผ่านไปแล้ว อารมณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่สลัดไม่ปล่อยออก อารมณ์ที่ผ่านไปแล้วไม่ปล่อยออกไม่วางออก มันไม่เห็นอารมณ์ไม่เห็นสภาวะที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า บางทีเราปฏิบัติเราก็มัวไปใฝ่ฝันไปใฝ่หา ไปค้นหาสภาวะเอาจริงเอาจัง แต่ไอ้ตรงที่อยู่ใกล้ ๆ ไม่เห็นน่ะเพราะเราไปค้นเกินไป มันเลยเลย ฉะนั้นต้องหัดดูเข้ามากระชั้น ๆ หัดมองเข้ามาใกล้ ๆ ตัว หัดรู้เข้ามาที่ใกล้ ๆ สิ่งที่วางอยู่ตรงหน้า สิ่งที่เป็นไปอยู่เฉพาะหน้า สิ่งทั้งหลายยังคงอยู่ตรงนั้นเดาให้มันเป็นนั่นมันเป็นนี่ จิตไม่พ้นพรรณนาชั่วตาปีไร้นาทีถ่องแท้แต่ก็มีจริง

สิ่งทั้งหลายยังคงอยู่ตรงนั้น ดูในสิ่งที่มันมีมันเป็นอยู่เฉพาะหน้าปัจจุบันอารมณ์ แล้วสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้ามันก็ไหลไป ผ่านไป ไหลไป เราเหมือนกับเข็ม เป็นเหมือนเข็มที่มันจะต้องตั้งอยู่ในจุดตรงอยู่เสมอ มีอะไรถ่วงไปก็กลับตีขึ้นมาอยู่ปัจจุบัน สติสัมปชัญญะที่จะตีกลับเข้ามาสู่ปัจจุบันไว้ ฉะนั้นความปล่อยความวางความไม่เอาอะไรจะต้องมีอยู่บวกกันไปกับสติสัมปชัญญะ จึงจะทำให้การระลึกรู้เป็นไปในปัจจุบันอารมณ์ นี่คือการปฏิบัติธรรม

เราฝึกหัดทำอยู่อย่างนี้ ยืนก็รู้ เดินก็รู้ นั่งก็รู้ รู้อะไร ก็รู้ภายในตัวเอง รู้ความรู้สึก ความรู้สึกในกายในใจเคลื่อนไหว ทำไปทำมา ทำเรื่อย ๆ ไป เรียกว่าการปฏิบัติธรรม การเจริญกรรมฐาน แล้วก็จะพบได้ว่า เออ ! เมื่อเราทำไปแล้วนี่ จิตใจเมื่อมีสติสัมปชัญญะถูกต้องเป็นปัจจุบันมันจะพบความสงบความโปร่งความเบา ความปลอดโปร่งในจิตในใจขึ้น จะพบว่าขณะใดที่เผลอสติขณะใดที่ไม่มีสติไม่เพียรพยายามกำหนดรู้ กิเลสทั้งหลายก็จะกลุ้มรุมจิตใจ

นั่นเพราะจิตปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา แล้วไม่รู้ตัวไม่เท่าทัน ไฟได้ไหม้ขึ้นในบ้านมากมาย ไม่ได้ดูไม่ได้รู้เรามัวออกนอกบ้านไป บ้านคือในใจของตนเองนี่แหละ ไฟไหม้อยู่ ราคะโทสะโมหะเป็นไฟไหม้อยู่ เราไปมัวแต่ไปภายนอก มัวแต่ดูภายนอกมันก็เลยดับไม่ได้ ยิ่งเราดูภายนอกมากเท่าไร ยิ่งไปเสริมไฟภายในมากเท่านั้น ดูคนโน้นอย่างนั้น ดูคนนี้ว่าอย่างนั้น แต่ใจของเราจะเกิดไฟติดขึ้นมาก มากขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องทิ้งภายนอกกลับมาแก้ปัญหาแก้ภายในใจของเรา

ตามติดเกาะสถานการณ์ตามดูรู้ทันจิตให้ทันกัน ทันควันกัน จิตจะคิดก็รู้ทัน จิตจะนึกรู้ทัน จิตจะพอใจจิตไม่พอใจ จิตปรุงแต่งก็รู้ เผลอไปก็ให้รู้ว่าเผลอไป มีสติขึ้นมาก็หัดรู้ว่านี่มีสติ เห็นความเผลอกับความมีสติแตกต่างกัน ต้องตีรอบเข้ามา สติก็ระลึกเข้ามาที่สติได้ สติระลึกเข้ามาที่ปัญญา ปัญญาก็พิจารณาตัวปัญญาพิจารณาสติ ก็เป็นมหาสติเป็นมหาปัญญา รอบรู้ทั่วถึง นี่วนเวียนกันอยู่ในตัวนี้ในกายในจิตนี่ เรียกว่าได้ปฏิบัติธรรม

ผู้ปฏิบัติก็จะพบสัจธรรม อย่างน้อยก็พบว่าธรรมะนี้ประเสริฐ สามารถจะคลี่คลายความทุกข์ในตัวเองได้ เห็นแน่ชัดว่าการปฏิบัติธรรมอย่างนี้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ได้ เพราะเมื่อลงมือปฏิบัติ ทำสติสัมปชัญญะแล้วจิตใจก็มีความสุขสงบขึ้น คลายจากความทุกข์ขึ้น มันจะมีข้อยืนยันเป็นหลักธรรม หลักธรรมะนั่นจะยืนยันให้กับตัวเราเองว่า ต้องปฏิบัติอย่างนี้ ก็ทำให้รู้ว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นของแท้ เป็นธรรมที่ดับทุกข์ได้จริง

แม้ว่าเรายังดับทุกข์โดยสิ้นเชิงไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อเราได้รับกระแส เราได้ปฏิบัติได้บ้าง ดับทุกข์ให้ตัวเองได้บ้าง มันก็จะมีความรู้ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง เราทำไปอย่างนี้มันดับทุกข์ อย่างน้อยก็ดับเป็นปัจจุบันได้ ดับความทุกข์คลี่คลายความทุกข์ในปัจจุบันนี้ได้ ก็ไม่ต้องไปเอาอะไรมากมาย ให้ปัจจุบันจิตใจตัวเองมันสามารถคลายทุกข์เบาจากความทุกข์ มีความสุขมีความสงบมีความรู้ตื่นอยู่ เป็นปัจจุบันเป็นขณะ ๆ นี่ก็พอใจแล้ว

เพราะฉะนั้นเราเป็นชาวพุทธถือว่าเรามาถูกทางแล้ว เรามาปฏิบัติตามพุทธศาสนานี่ถูกทางตรงที่เราพิสูจน์แล้วมันคลี่คลายความทุกข์ให้เราได้ เรื่องอื่นก็ไม่สำคัญ เรื่องภพชาติ นรก สวรรค์มีจริงไม่จริงไม่สำคัญ ไม่ต้องไปรู้ก็ได้ ถึงจะรู้ก็ไม่ใช่ดับทุกข์ได้ จะรู้ว่าตัวเองเกิดกี่ชาติ ๆ ก็ดับทุกข์ไม่ได้ จะรู้ว่ามีนรกสวรรค์นางฟ้าเทวดาอยู่กันอย่างไร นรกอยู่กันกี่ขุมอย่างไร ๆ ถึงจะนั่งไปเห็นก็ใช่ว่าจะดับทุกข์ได้ ไม่ต้องเห็นอย่างนั้นแต่เห็นในตัวเองดังที่กล่าวมาแล้ว เห็นความปรุงแต่งในจิตใจ เห็นกายเห็นใจเห็นความรู้สึกในกายในจิตใจอยู่เสมอ ๆ นี่แหละ คือการที่จะดับทุกข์ได้ ปัญหาทั้งหลายแหล่มันอยู่ที่การดับทุกข์

พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องอะไรนอกจากทุกข์กับความดับทุกข์ ปฏิบัติให้รู้จักทุกข์ แล้วดับทุกข์ได้ก็พอแล้ว เรื่องโลกเรื่องชาติหน้าชาติหลังนรกสวรรค์ไม่สำคัญเท่ากับการรู้จักทุกข์ รู้จักทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ เข้าถึงความดับทุกข์ เจริญข้อปฏิบัติได้เต็มที่ก็หมดปัญหาหมดความสงสัย ถึงเราจะไม่มีฤทธิ์ไม่มีเดช ไม่ได้มีตาทิพย์หูทิพย์ ไม่ได้ไปรู้วาระจิตของใคร ไม่ได้มีวิชาอาคมอะไร ก็ไม่สำคัญ ขอให้จิตสะอาดจิตบริสุทธิ์ ขอให้ดับทุกข์ตัวเองได้

เพราะว่ามันไม่มีอะไรเหนือกว่าการดับทุกข์ ไม่มีปัญหาอันใดมันจะเทียบเท่ากับการทุกข์ ปัญหาทั้งหลายแหล่มันก็รวมอยู่ในเรื่องของความทุกข์ สิ่งที่ควรได้ควรถึงก็คือความดับทุกข์ มียศมีลาภมีสุขสรรเสริญก็แค่นั้นเอง ถ้าไม่ได้ดับทุกข์ให้ตัวเองก็ยังทุกข์ มียศก็ทุกข์กับยศ มีลาภก็ทุกข์กับลาภ มีสรรเสริญก็ทุกข์กับสรรเสริญ ถ้าหากว่าไม่มีธรรมะเสื่อมจากลาภก็เป็นทุกข์ เสื่อมจากยศเสื่อมจากสรรเสริญได้รับนินทาก็เป็นทุกข์ถ้าไม่มีธรรมะ ถ้าถึงธรรมะเสียแล้วสิ่งอื่นก็เลยไม่สำคัญ ฉะนั้นก็จะต้องเล็งเป้าไปให้ถูกต้อง

หน้าที่ชีวิตของเราที่แท้จริงก็อยู่ที่ว่าปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์ เรามีหน้าที่อย่างอื่นก็ทำไปตามหน้าที่ แต่ว่าหน้าที่ของชีวิตจริง ๆ ต้องอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ เรามีหน้าที่เป็นสามีภรรยา เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นครูเป็นอาจารย์ก็ทำหน้าที่ไปตามหน้าที่นั้น ๆ น่ะ แต่ต้องรู้ว่าหน้าที่สำคัญของชีวิตอีกอันหนึ่งก็คือการดับทุกข์ให้ตัวเอง แต่เราอยู่ในโลกอยู่ในสังคมก็ต้องทำหน้าที่ของโลกไปตามสมมุติ จะไปทิ้งหน้าที่อะไรทุกอย่างก็ไม่ได้ นั่นก็คือการปฏิบัติธรรมะแต่เป็นธรรมะที่จะอยู่กับโลก อยู่กับความถูกต้องของโลก ก็ต้องทำแต่ไม่ใช่ทำเอาจริงเอาจังกว่านั้นคือทำไปตามหน้าที่ของการมีหน้าที่นั้น ๆ แต่สิ่งที่เราจะต้องเอาจริงเอาจังสนใจเล็งเป้าหมายไปถึงก็คือการเรียนรู้สภาพธรรมในตัวเอง เจริญสติสมาธิให้รู้แจ้งในตนเอง

อันนี้คือเป้าหมายหน้าที่ที่เราจะต้องทำในชีวิตที่เกิดมา ดับทุกข์ได้ตรงนี้ ดับทุกข์ด้วยการรู้จักตัวเอง รู้จักพิจารณาตัวเอง ไม่ใช่ดับทุกข์ด้วยการมีเงินมีทองมากมาย มีทรัพย์มียศมีบริวาร มีคนสรรเสริญ มีคนชอบอกชอบใจเรามาก ไม่ใช่ดับทุกข์ได้ตรงนั้น ดับทุกข์ได้จากการที่เรารู้แจ้งในตัวเอง ปล่อยวาง ความปล่อยวางก็มาจากการที่เราต้องรู้แจ้งแทงตลอดในตัวเอง จึงให้ความสำคัญสิ่งนี้ไว้

แล้วก็ไม่เกินเอื้อมไม่ใช่สุดวิสัยเกินเอื้อม เพราะว่าสิ่งที่เราจะทำมันอยู่กับตัวเรา การงานต่าง ๆ ภายนอกยังอาจจะไกลด้วยซ้ำ แต่การงานภายในการงานของการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์นั้นอยู่กับตัวเสมอ ไปไหนก็ไปด้วย นั่งอยู่ตรงไหนเดินอยู่ตรงไหนยืนอยู่ตรงไหน ก็มีตัวอยู่อย่างนี้ มีกายมีใจมีตาหูจมูกลิ้น มีเห็นได้ยินรู้กลิ่นรู้รส มีความตรึกนึกปรุงแต่ง ก็ทำหน้าที่ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ ดูสิ่งเหล่านี้ไปทุกวันทุกเวลา เฝ้าดูเฝ้ารู้เฝ้าติดตามไป

อันนี้ถ้าเราปฏิบัติใหม่ ๆ ยังจับไม่ถูก ก็จำเป็นจะต้องดูเฉพาะที่ไปก่อนก็ได้ หรือมีรูปแบบมีสมมุติเข้ามาก่อนก็ได้ ในเบื้องต้นมันจึงมีหลากหลายแตกต่างกันออกไปในเรื่องของแบบฝึกหัด ในเรื่องของสมมุติที่จะเอามาฝึกเป็นอุปกรณ์ที่จะเอามาฝึก เหมือนกับการว่ายน้ำ ใช้มะพร้าว ใช้ก้านกล้วย ใช้ต้นกล้วย ใช้ยาง ใช้ซุงต้นไม้อะไรมาเป็นที่เกาะในการฝึกว่ายน้ำ ไม่มีใครผิดใครถูก ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ แล้วแต่ใครจะถนัดเอาอะไรมาฝึก แต่ว่าเมื่อทำ ๆ ไปแล้วก็

เป็นเรื่องของการต้องปล่อยออกวางออกทั้งหมดในรูปแบบในสมมุติในบัญญัติที่เอามาฝึก คำบริกรรมพุทโธก็ดี บริกรรมพองหนอยุบหนอ หรือว่ารูปนามหรือจะเพ่งดูในรูปร่างสัณฐานพิจารณาผมขนเล็บก็ดี หรือการจะเพ่งดูส่วนใดส่วนหนึ่ง นิมิตก็ดี ทุกอย่างต้องปล่อยออกหมด ทั้งหมดในเรื่องสมมุติ ให้รู้ว่านี่มันเป็นเครื่องมาอาศัยฝึกเป็นอุปกรณ์ ทำเหมือนกันก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ใครถนัดกันไหนก็เอาอันนั้น

ที่เราทำแล้วมันเกาะได้อยู่ได้จิตเราผูกพันอยู่กับตัวเองได้ อาศัยเพื่อจะฝึกเพื่อจะให้จิตเราอยู่กับตัวเองเท่านั้นแหละ ทำอย่างไรให้จิตเรามีสติควบคุมอยู่ในกายในจิต เรามีวิธีการอย่างไรก็เอาอันนั้นแน่ะ เราทดลองดู ทดลองทดสอบดู ทำอย่างไรให้จิตเรามาเกาะรู้อยู่กับกายได้รู้กับจิตได้ก็เอาอันนั้นแน่ะ แต่ว่าถึงจุดหนึ่งเราก็ปล่อยออกไป เมื่อเราเป็นขึ้นจิตมันเกาะกับกายกับใจได้ดีก็ปล่อยสมมุติปล่อยรูปแบบ ปล่อยคำบริกรรมปล่อยสมมุติออกไป

ให้รู้ตรงเข้าไปสู่ภายในในความรู้สึกในกายในจิตให้รู้ว่าคือปรมัตถ์ คือความรู้สึกต่าง ๆ เป็นสภาวะ อย่างนี้น่ะเรียกว่าเราเข้าใจใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้อง ถ้าใช้แล้วยึดอยู่อย่างนั้นมันก็เข้าไม่ถึงธรรมะ บางคนก็ต้องใช้ก่อน บางคนเป็นแล้วฝึกหัดมาเป็นแล้วก็ไม่จำเป็นว่ายน้ำก็โดดลงไปว่ายเลย บางคนเป็นแล้วมันก็ว่ายได้ แต่คนไม่เป็นก็อาจจะต้องมีสิ่งมาช่วยไปก่อน แต่ก็อย่าไปยึดอยู่ก็ปล่อยวางออกไป

ฉะนั้นวันนี้ก็คงจะใช้เวลาในการปรารภธรรมะมาในเรื่องของการให้ดูความปรุงแต่งในจิตใจว่า ปัญหาทั้งหลายแหล่ความทุกข์ทั้งหลายแหล่อะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันมาจากความปรุงแต่งในจิตใจทั้งหมด ถ้าเรารู้เข้าไปสู่จิตใจ รู้ทันตรงปรุงแต่งแล้วก็ดับสลายความปรุงแต่งที่จะก่อตัวได้ ความทุกข์ทั้งหลายก็สิ้นสุดลง แต่มันก็เป็นเพียงเป็นขณะ ๆ ไป มันยังไม่ใช่ดับโดยสนิท มันก็ผลิตขึ้นมาได้อีก ก็ตามดูรู้มันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ไปจนกว่ามันจะตัดกันขาดสิ้น ซึ่งความขาดสิ้นก็ไม่ได้มาจากไหนก็มาจากการรู้ทันกันอยู่เรื่อยนี่แหละ จากที่ละเป็นขณะ ๆ ไปนี่แหละ ฉะนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ไปเพียรพยายามฝึกหัดอบรมตนเอง

ตามที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่าน เทอญ


ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13389


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 38 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร