ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

อเหตุกจิต ๓ ประการ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=43531
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  wincha [ 05 ต.ค. 2012, 15:45 ]
หัวข้อกระทู้:  อเหตุกจิต ๓ ประการ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

รูปภาพ

อเหตุกจิต ๓ ประการ

๑. ปัญจทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้ามไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้

หู ไปกระทบเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้ามไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้

จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้

ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้ามไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้

กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือ กายสัมผัส จะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้

วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาแฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น

ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็น เช่นนั้น ย่อมกระทำมิได้

การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้เป็นต้น

(ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)

๒. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือ วิจารณ์ความคิดเหล่านั้น

ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) มีเท่ากันในพระอริยเจ้าและในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ ควรพิจารณาอเหตุกจิตนี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม

อเหตุกจิตนี้นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจในอเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) นี้เอง

อเหตุกจิต ข้อ (๓) เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้เป็นผลของการเจริญจิต จนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้องในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง

คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้ละสิ่งไม่ดี สร้างสิ่งที่ดีแล้วทำจิตใจผ่องแผ้วสะอาดบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ในที่สุดบุญเราก็ไม่เอา ไม่ยึด คือทำบุญโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในบุญ หลวงพ่อปัญญานันทะ เคยสอนเกี่ยวกับลอยบาป-ปล่อยบุญไว้

หลวงปู่ดูลย์ปรารภธรรมครั้งหนึ่งว่า

“สัจจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจจธรรมนั้น แล้วก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อมีนักปราญช์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อจะอธิบายสัจจธรรมนั้น นำมาตีแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจจธรรมด้วยกัน เราย่อมจะต้องอาศัยแนวทางในสัจจธรรมนั้นที่ตนเองได้ไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว”

“คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมาย ก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียวคือพระนิพพาน การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วจะต้องหลงอยู่ในความคิดเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน”

“การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวมีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง”

“การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวม สงบ และคำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมีวิมุตติเป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง”

“ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลัง หรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง”

ท่านกล่าวถึงความสุขในชีวิตว่า

“ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวมดูความสุขว่า ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แต่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย”


คัดลอกมาจาก ::
หนังสือบุญแท้จริงไม่ติดโลก
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=1188

เจ้าของ:  คนธรรมดาๆ [ 05 ต.ค. 2012, 19:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อเหตุกจิต ๓ ประการ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

:b8:

เจ้าของ:  ปลีกวิเวก [ 06 ต.ค. 2012, 09:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อเหตุกจิต ๓ ประการ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

:b8: :b8:

เจ้าของ:  student [ 07 ต.ค. 2012, 01:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อเหตุกจิต ๓ ประการ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

อนุโมทนาครับ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/