วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ย. 2012, 00:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ


แนวปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ

วัดภัททันตะอาสภาราม
ต.หนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี



การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น ผู้ปฏิบัติหรือที่เรียกว่าโยคีนั้น ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถึงสภาวะของรูปนามที่เกิดขึ้นในร่างกายของผู้ปฏิบัติเอง สภาวะของรูปนั้นเป็นรูปร่าง ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนรอบๆ ตัวเรา ร่างกายของคนเราทั้งหมดที่มองเห็นได้ชัดเจนนั้น เรียกว่า รูป

สภาวะของนามมีหน้าที่ในการรับรู้อารมณ์ นามรูปนี้สามารถเห็นได้เด่นชัด เมื่อใดก็ตามที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ใจนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้อารมณ์ทั้งหลายด้วยตนเอง โดยกำหนดว่า เห็นหนอ ได้ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ ถูกหนอ คิดหนอ เป็นต้น


ทุกขณะที่โยคีผู้ปฏิบัติเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัส นึกคิดเรื่องราวต่างๆ ก็ควรกำหนดรู้อารมณ์เหล่านี้ตามความเป็นจริง แต่ว่าในกรณีของผู้เริ่มปฏิบัติใหม่ก็ไม่สามารถกำหนดได้ทุกๆ สภาวะที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงควรเริ่มกำหนดสภาวะที่เกิดขึ้นเฉพาะที่สามารถรู้ได้ง่ายและชัดเจนเท่านั้น

เมื่อมีการหายใจเข้าอยู่ ท้องจะพองขึ้นและยุบลง โดยปกติการเคลื่อนไหวจะปรากฏชัดเจน อาการที่ท้องพองยุบนี้เรียกว่า วาโยธาตุ ผู้ปฏิบัติควรเริ่มต้นด้วยการกำหนดอาการที่ท้องพองยุบนี้โดยตั้งใจกำหนด ผู้ปฏิบัติจะพบว่า เมื่อหายใจเข้าท้องจะพองขึ้น เมื่อหายใจออกท้องจะยุบลง เมื่อท้องพองขึ้นก็ให้กำหนดด้วยใจว่า พองหนอ เมื่อท้องยุบลงก็ให้กำหนดด้วยใจว่า ยุบหนอ

ถ้าหากว่าในขณะที่กำหนดอาการพองยุบอยู่ด้วยใจนั้น อาการพองยุบไม่ชัดเจน ก็ให้เอาฝ่ามือแตะที่ท้อง โดยไม่ต้องบังคับลมหายใจ ไม่ว่ามันจะช้าลงก็ไม่ต้องทำให้มันไวขึ้น อีกทั้งไม่ต้องหายใจแรงขึ้น ถ้าผู้ปฏิบัติบังคับลมหายใจ ก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อย ให้หายใจอย่างธรรมดาตามปกติ แล้วกำหนดอาการพองอาการยุบของท้อง ให้กำหนดอาการพองอาการยุบด้วยใจ ไม่ใช่ท่องด้วยปาก

ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติจะเรียกชื่อว่าอย่างไรไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่จริงแล้วสาระสำคัญอยู่ที่ การกำหนดรู้ ขณะที่กำหนดอาการพองของท้องให้กำหนดตั้งแต่ท้องเริ่มพองไปจนถึงสุดพอง เหมือนกับว่าผู้ปฏิบัติเห็นอาการพองด้วยตาตนเอง การกำหนดอาการยุบของท้องก็ให้กำหนดเช่นเดียวกัน คือให้กำหนดตั้งแต่ท้องเริ่มยุบไปจนถึงสุดยุบ ประหนึ่งว่าผู้ปฏิบัติเห็นอาการยุบของท้องด้วยตาตนเอง

ฉะนั้น การกำหนดอาการพองของท้องนั้น อาการที่ท้องพองขึ้น กับใจที่รู้ว่าท้องพองขึ้น ให้ดำเนินไปพร้อมกัน กล่าวคือให้ทันกันพอดี คล้ายกับว่าปาก้อนหินไปกระทบที่เป้าฉะนั้น การกำหนดอาการยุบของท้องก็มีนัยเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้ปฏิบัติกำหนดอาการพองยุบของท้องอยู่นั้น จิตใจก็จะฟุ้งซ่านไป ผู้ปฏิบัติก็ต้องกำหนดสภาวะที่จิตฟุ้งซ่านไปนี้ โดยกำหนดด้วยใจว่า ฟุ้งซ่านหนอ หรือ ฟุ้งหนอๆๆ เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้จิตที่ฟุ้งซ่านนี้ไปสักครั้ง สองครั้ง จิตใจก็จะหยุดฟุ้งซ่าน เมื่อจิตใจหยุดฟุ้งซ่านแล้ว ผู้ปฏิบัติก็กลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องใหม่

เมื่อจิตนึกคิดไปที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ให้กำหนดว่า ถึงหนอๆ แล้วก็ให้กลับมากำหนดรู้อาการพองยุบของท้องอีก ถ้าผู้ปฏิบัตินึกคิดไปพบคนบางคน ก็ให้กำหนดว่า พบหนอๆๆ แล้วก็กลับคืนมากำหนดอาการพองยุบ ถ้าหากผู้ปฏิบัติหวนรำลึกถึงไปพบพูดคุยกับคนบางคน ก็ให้กำหนดว่า พูดหนอๆๆ เมื่อกล่าวโดยย่อ ผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดทุกสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือการพิจารณาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น

กล่าวคือ ถ้าผู้ปฏิบัตินึกคิดก็ให้กำหนดว่า นึกคิดหนอๆๆ ถ้าผู้ปฏิบัติคิดก็ให้กำหนดว่า คิดหนอๆๆ ถ้าผู้ปฏิบัติคิดวางแผนก็ให้กำหนดว่า วางแผนหนอๆๆ ถ้าผู้ปฏิบัติสังเกตเห็นก็ให้กำหนดว่า สังเกตหนอๆๆ ถ้าผู้ปฏิบัติพิจารณาก็ให้กำหนดว่า พิจารณาหนอๆ ถ้าผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกเป็นสุขก็ให้กำหนดว่า สุขหนอๆๆ ถ้าผู้ปฏิบัติรู้สึกเบื่อก็ให้กำหนดว่า เบื่อหนอๆๆ ถ้าผู้ปฏิบัติดีใจก็ให้กำหนดว่า ดีใจหนอๆๆ ถ้าผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกท้อแท้ใจก็ให้กำหนดว่า ท้อหนอๆๆ

การกำหนดสภาวะที่จิตรับรู้อารมณ์ทุกอย่าง เรียกว่า จิตตานุปัสสนา เพราะว่าคนเราขาดการกำหนดสภาวะจิตที่นึกคิดและรู้อารมณ์เหล่านี้ตามความเป็นจริง ดังนั้นคนเราดูเหมือนว่า ตัวเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งที่เรานึกคิดและคิดว่ามีอัตตาตัวตนอยู่ เช่นฉันเป็นผู้นึกคิด เป็นผู้คิด เป็นผู้วางแผน เป็นผู้รู้ เป็นต้น โดยคิดว่ามีตัวตน ที่จริงแล้วตั้งแต่เด็กเล็กเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และก็กำลังคิดอยู่ในขณะนี้ ความจริงแล้วความมีตัวมีตนเช่นนั้นไม่มีอยู่เลย มีแต่เพียงอาการที่จิตรับรู้อารมณ์ต่อเนื่องไม่ขาดสายเข้ามาแทนที่เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงต้องกำหนดอาการที่จิตนึกคิดอารมณ์เหล่านี้ตามที่มันเป็นจริง โดยกำหนดอารมณ์แต่ละอย่างและทุกๆ สภาวะที่จิตนึกคิดตามที่มันเกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดสภาวะต่างๆ อยู่เช่นนั้น สภาวะที่ถูกกำหนดก็จะค่อยๆ หายไป แล้วก็ให้กลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป

เมื่อผู้ปฏิบัตินั้นกำหนดวิปัสสนากรรมฐานเป็นเวลานานๆ ความรู้สึกว่าร่างกายแน่น ตึง ร้อน ก็จะเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็ต้องกำหนดว่า ตึงหนอ ร้อนหนอ อย่างตั้งใจเหมือนกัน และเมื่อมีความรู้สึกเจ็บปวด เบื่อหน่าย ก็ให้กำหนดว่า เจ็บหนอ เบื่อหนอ ความรู้สึกเหล่านี้ทั้งหมดเรียกว่า ทุกขเวทนา การกำหนดทุกขเวทนาเรียกว่า เวทนานุปัสสนา

การขาดการกำหนดทุกขเวทนา จะทำให้ผู้ปฏิบัติคิดว่า เราตึงแน่น เรารู้สึกร้อน เรารู้สึกเจ็บปวด เมื่อสักครู่นี้เรารู้สึกดีขึ้นแล้ว ขณะนี้เรารู้สึกกระวนกระวายใจกับความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจเหล่านี้ ความรู้สึกว่าตัวเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอารมณ์ที่ไม่น่าใคร่น่าพอใจ เป็นความคิดที่นับว่าผิด ความจริงแล้วไม่มีตัวตนรวมอยู่กับความรู้สึกไม่พอใจเลย เป็นแต่เพียงการสืบต่อเนื่องกันของความรู้สึกที่ไม่พอใจ ในแต่ละขณะจิตหนึ่งๆ เท่านั้น เปรียบประดุจการสืบต่อเนื่องกันของกระแสไฟฟ้าใหม่ ซึ่งทำให้ไฟสว่างขึ้นฉะนั้น

ดังนั้น ทุกเวลาในชีวิตของเรา ก็มักจะประสบกับอารมณ์ไม่น่าพอใจ จึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจแล้วๆ ไม่พอใจเล่าๆ ผู้ปฏิบัติจึงควรกำหนดความรู้สึกเช่นนี้ว่า ไม่พอใจหนอๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกตึงแน่น หรือความเจ็บปวดก็ตาม ก็ให้กำหนดว่า ตึงหนอ ร้อนหนอ ปวดหนอ ในกรณีของโยคีที่เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ความรู้สึกตึงแน่นเจ็บปวด ดูเหมือนว่าจะทวีความรุ่นแรงขึ้นเรื่อยๆ และก็จะทำให้อยากเปลี่ยนท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดด้วยว่า อยากเปลี่ยนหนอๆๆ แล้วหลังจากนั้นโยคีก็ควรกลับมากำหนด ตึงหนอ ร้อนหนอ เป็นต้นต่อไป

มีคำสุภาษิตที่ว่า ความอดทนนำไปสู่พระนิพพาน คำพูดนี้ตรงกันมากกับกรณีความพยายามในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงต้องมีความอดทน ถ้าหากผู้ปฏิบัติเปลี่ยนท่านั่งอยู่บ่อยๆ เนื่องจากไม่สามารถอดทนต่อความรู้สึกตึงแน่น หรือความรู้สึกร้อนที่เกิดขึ้นได้ สมาธิที่ดีก็ไม่แก่กล้า ถ้าสมาธิไม่แก่กล้า วิปัสสนาปัญญาก็จะไม่ผลิตผล และก็จะไม่มีการบรรลุมรรคญาณ ผลญาณ พระนิพพานได้

ด้วยเหตุนี้ความอดทนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิบัติวิปัสสนา จริงอยู่ นับว่าเป็นการอดทนอย่างมาก ที่ต้องประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เช่น ความรู้สึกตึง แน่น ความรู้สึกร้อน ความรู้สึกเจ็บปวด และความรู้สึกอื่นๆ ในตัวผู้ปฏิบัติ ความรู้สึกเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะอดทนได้ แต่ผู้ปฏิบัติก็ไม่ควรเลิกการกำหนดทุกขเวทนา ในเมื่อทุกขเวทนาเช่นนั้นเกิดขึ้น หรือแม้แต่เปลี่ยนท่านั้นในขณะปฏิบัติกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติควรอดทนกำหนดทุกขเวทนาไปโดยกำหนดว่า ตึงหนอๆ ร้อนหนอๆ ในที่สุดทุกขเวทนาทั้งหลายจะค่อยๆ ทุเลาเบาบางลงไป ขอเพียงให้ผู้ปฏิบัติอดทนกำหนดทุกขเวทนาต่อไป

เมื่อสมาธิดีแก่กล้าแล้ว แม่แต่ทุกขเวทนาที่รุนแรงก็จะค่อยๆ หายไปเอง แล้วผู้ปฏิบัติก็กลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป แน่นอนที่สุด ถ้าผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องเปลี่ยนท่านั่ง ในกรณีที่ทุกขเวทนาไม่หาย แม้ผู้ปฏิบัติได้กำหนดเป็นเวลานานแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งผู้ปฏิบัติอดทนต่อทุกขเวทนาไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติก็ต้องกำหนดจิตว่า อยากเปลี่ยนหนอๆ ถ้ายกมือขึ้นก็กำหนด ยกหนอๆ ถ้าเหยียดมือหรือแขนออกไปก็กำหนดว่า เหยียดหนอๆ ควรเหยียดอย่างช้าๆ พร้อมกับกำหนดว่า ยกหนอๆๆ เหยียดหนอๆๆ ถูกหนอๆๆ เป็นต้น ถ้าเอนตัวไปก็กำหนดว่า เอนหนอๆๆ ถ้าเท้ายกขึ้นก็กำหนดว่า ยกหนอๆๆ ถ้าเท้าเคลื่อนไหวไปก็กำหนดว่า เคลื่อนหนอๆๆ ถ้าเท้าตกลงไปก็กำหนดว่า ตกหนอๆๆ แต่ถ้าไม่มีสภาวะอื่นแทรกซ้อน ปกติธรรมดาก็ให้ผู้ปฏิบัติกลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป

การกำหนดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จะต้องไม่มีการหยุดพักการกำหนดในระหว่าง เพราะว่าอาการกำหนดก่อนและการกำหนดทีหลัง ต้องต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย สภาวะของสมาธิแรกกับสมาธิหลัง ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน สภาวะของปัญญาแรกกับปัญญาหลัง เป็นปัจจัยหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ลำดับขั้นที่ต่อเนื่องกันสูงขึ้นก็จะแก่กล้าขึ้นในจิตใจของโยคี โยคีผู้ปฏิบัติจะบรรลุมรรคญาณและผลญาณได้ ก็โดยการรวมกำลังของศีลสมาธิปัญญา

กระบวนการของวิปัสสนากรรมฐานนั้น ก็เช่นเดียวกับการก่อไฟ คือต้องเอาไม้สองท่อนมารวมกันแล้วสีไฟโดยใช้กำลังมาก และไม่หยุดหย่อนในระหว่าง จนกระทั้งว่าความร้อนได้ที่ หรือเมื่อเปลวไฟลุกขึ้น ในทำนองเดียวกันในการกำหนดวิปัสสนากรรมฐานนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องกำหนดติดต่อ ไม่หยุดหย่อนในระหว่าง ไม่หยุดพักผ่อน ไม่ว่าสภาวะอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ผู้ปฏิบัติจะต้องกำหนดรู้

ยกตัวอย่างเช่น มีอาการคันเกิดขึ้นในระหว่าง โยคีมีความประสงค์ที่จะเกา เพราะว่ามันอดทนได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนี้โยคีจะต้องกำหนดทั้งสองสภาวะ คือความรู้สึกคันและใจที่อยากจะเกา ไม่ใช่ว่าพอมีอาการคันก็เกาทันที ถ้าผู้ปฏิบัติมุ่งกำหนดต่อไปอย่างบากบันอดทน โดยทั่วไปอาการคันก็จะค่อยๆ หายจางไป เมื่ออาการคันหายไปแล้ว ผู้ปฏิบัติก็กลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป ถ้าหากว่าอาการคันไม่ได้หายไป ผู้ปฏิบัติก็ต้องเกามันให้หายคันเป็นธรรมดา แต่ก่อนอื่นผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดว่า อยากเกาหนอๆๆ ถ้าผู้ปฏิบัติกำลังเกา ก็กำหนดว่า เกาหนอๆ สภาวะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในขณะที่โยคีกำลังเกาที่คันอยู่ ก็ควรกำหนด โดยเฉพาะเวลามือแตะก็ควรกำหนดว่า แตะหนอๆ เกาหนอๆ เป็นต้น แล้วก็ค่อยกลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป

ทุกเวลาที่ผู้ปฏิบัติเปลี่ยนท่า ก็ต้องกำหนดต้นจิตก่อนว่า อยากเปลี่ยนหนอ แล้วก็กำหนดอาการเคลื่อนไหวทุกอย่างติดต่อกันไป เช่นเวลาลุกขึ้นจากท่านั่งก็กำหนดว่า ลุกหนอ เวลายกแขนขึ้นก็กำหนดว่า ยกหนอ เวลาแขนเคลื่อนไหวก็กำหนดว่า เคลื่อนหนอ เวลาเหยียดแขนออกไปก็กำหนดว่า เหยียดหนอ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติเปลี่ยนอิริยาบถ ก็ให้กำหนดอาการเคลื่อนไหวทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันนั้นด้วย เช่นร่างกายเอนไปข้างหน้า ก็ให้กำหนดว่า เอนหนอๆ ขณะที่ลุกขึ้นรู้สึกตัวเบา ก็ให้กำหนดว่า เบาหนอๆ ผู้ปฏิบัติควรกำหนด ลุกหนอๆ อย่างช้าๆ

โยคีผู้ปฏิบัติควรทำตัวเหมือนคนอ่อนแอ คนเจ็บไข้ คนป่วย คนมีสภาพร่างกายปกติจะลุกขึ้นก็ลุกขึ้นโดยง่าย รวดเร็วคล่องตัว อันบุคคลผู้ลุกขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนเจ็บไข้ไร้พละกำลังเสมอไป เหมือนกับกรณีคนทนทุกข์เพราะเจ็บหลัง ก็ต้องลุกขึ้นอย่างช้า ด้วยเกรงว่าหลังจะเจ็บและเป็นเหตุให้ปวดเจ็บ โยคีผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกัน เมื่อจะเปลี่ยนท่าก็ต้องเปลี่ยนอย่างค่อยๆ ช้าๆ และเปลี่ยนอย่างมีสติ สมาธิและวิปัสสนาปัญญาจึงจะแก่กล้า

ดังนั้น จึงต้องเริ่มกำหนดอาการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เมื่อลุกขึ้นโยคีต้องลุกขึ้นอย่างช้าๆ เหมือนกับคนเจ็บไข้ ในเวลาเดียวกันก็กำหนดว่า ลุกหนอๆ ไม่ใช่แต่เพียงเท่านี้ แม้แต่ตาเห็นรูป โยคีผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติเหมือนกับว่าไม่ได้เห็น เมื่อหูได้ยินเสียงก็เช่นเดียวกัน คือผู้ปฏิบัติจะต้องทำเหมือนว่าหูหนวก ดังนั้นในกรณีที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ความใส่ใจของผู้ปฏิบัติก็คือต้องกำหนดรู้เท่านั้น ผู้ปฏิบัติจะได้เห็นได้ยินอะไรก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะไปสนใจดู สนใจฟัง หรือไม่ว่าจะเป็นสิ่งแปลกใหม่น่าสนใจก็ตาม ที่ผู้ปฏิบัติได้เห็นได้ยิน ก็ต้องปฏิบัติเหมือนกับว่า ไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน ต้องกำหนดอย่างตั้งใจเท่านั้น

เมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย โยคีควรเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เหมือนกับว่าเป็นคนอ่อนกำลัง เป็นคนเจ็บไข้ เช่นเหยียดแขนขา ก็เหยียดช้าๆ คู้เหยียดแขนขาอย่างช้าๆ ก้มศีรษะลง เงยศีรษะขึ้นอย่างช้าๆ การเคลื่อนไหวทุกอย่างทั้งหมด โยคีจะต้องทำอย่างช้าๆ แม้เมื่อลุกขึ้นจากที่นั่ง โยคีก็ต้องค่อยๆ ลุกขึ้น โดยกำหนดว่า ลุกหนอๆๆ เมื่อทำตัวให้ตรง ยืนขึ้นก็ให้กำหนดว่า ยืนหนอๆ

เมื่อมองดูที่นี่บ้าง ที่นั่นบ้าง ก็กำหนดว่ามองหนอ เห็นหนอ และเมื่อเดินไปก็ให้กำหนดที่เท้าที่ก้าวไป ไม่ว่าจะก้าวเท้าข้างขวาไป หรือก้าวเท้าข้างซ้ายไปก็ตาม โยคีจะต้องมีความรู้สึกทุกๆ การเคลื่อนไหวที่เนื่องด้วยกัน ตั้งแต่ยกเท้าขึ้นไปจนถึงเหยียบเท้าลงไป กำหนดรู้เท้าแต่ละเท้าที่ก้าวไป ไม่ว่าจะเป็นเท้าข้างขวาหรือเท้าข้างซ้ายก็ตาม นี้เรียกว่าวิธีการกำหนด เมื่อผู้ปฏิบัติเดินเร็ว

ถ้าโยคีปฏิบัติได้เช่นที่กล่าวมานี้ ก็นับว่าเป็นการเพียงพอ เมื่อโยคีเดินไวๆ หรือเดินทางไกล แต่เมื่อเดินช้าๆ หรือเดินจงกรม โยคีก็ควรกำหนดการเคลื่อนไหว ๓ ระยะในแต่ละก้าวคือ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ แต่ถ้ากำหนดตอนแรกก็ให้กำหนด ยกหนอ เหยียบหนอ โยคีจะต้องกำหนดรู้อย่างเท่าทัน

ขณะที่เท้ายกขึ้น เช่นเดียวกันขณะที่เท้าเหยียบลง ก็ต้องกำหนดรู้ตามความเป็นจริง ถึงสภาวะที่เท้าหนักในขณะเหยียบลง โดยกำหนดว่า หนักหนอๆ โยคีจะต้องเดินไปโดยกำหนดว่า ยกหนอ เหยียบหนอ ในการเดินก้าวไปแต่ละก้าว การกำหนดเช่นนี้จะกำหนดง่ายขึ้นหลังจาก ๒ ระยะไปแล้ว เมื่อโยคีมุ่งกำหนดการเคลื่อนไหว ๓ ระยะตามที่อธิบายแล้วว่า ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ

ในการเริ่มต้น การกำหนดการเคลื่อนไหว ระยะที่ ๑ หรือระยะที่ ๒ เท่านั้นก็เป็นการเพียงพอ คือขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ในเวลาที่เดินไวและที่เดินช้าๆ ก็ให้กำหนดว่า ยกหนอ เหยียบหนอ ถ้าเมื่อเดินไปอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติต้องการที่จะนั่งก็ให้กำหนดต้นจิตว่า อยากนั่งหนอๆ เมื่อจะนั่งลงถ้าเกิดตัวมีอาการหนัก ขณะย่อลงก็ให้กำหนดว่า หนักหนอๆ อย่างตั้งใจ เมื่อผู้ปฏิบัตินั่งลงก็ให้กำหนดอาการเคลื่อนไหวทุกอย่างที่เกิดขึ้น ในการจัดเท้าจัดแขน เมื่อมีการเคลื่อนไหวใดๆ คือเมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ร่างกายอยู่ในภาวะปกติ ก็ให้ผู้ปฏิบัติกำหนดพองหนอ ยุบหนอต่อไป

ขณะที่กำหนดอาการอารมณ์หลักอยู่นั้น ถ้าแขนขาเกิดอาการตึงและเกิดความรู้สึกร้อนอวัยวะบางส่วนของร่างกาย ก็ให้ผู้ปฏิบัติกำหนดว่า ตึงหนอ ร้อนหนอ แล้วก็กลับมากำหนดพองหนอ ยุบหนอ ขณะที่กำหนดพองหนอยุบหนออยู่นั้น ถ้าเกิดอยากนอนลงก็ให้กำหนดว่า อยากนอนหนอๆ ตลอดถึงการเคลื่อนไหวของเท้า แขน ขณะที่ผู้ปฏิบัตินอนลงก็ควรกำหนดไปด้วย

การยกแขนขึ้นก็ดี การยืดแขนออกก็ดี การวางศอกลงที่พื้นก็ดี การก้มลงก็ดี การงอขาก็ดี การเอียงตัวไปก็ดี ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ปฏิบัติเตรียมนอนลงอย่างช้าๆ ก็ควรกำหนดรู้ทุกอย่างโดยการกำหนดว่า ยกหนอ ยืดหนอ วางหนอ ก้มหนอ เป็นต้น การกำหนดอาการที่ผู้ปฏิบัตินอนลงนั้น เป็นสิ่งสำคัญ ในอิริยาบถนอนนี้ผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุมรรคญาณและผลญาณได้ เมื่อสมาธิและญาณแก่กล้าก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ชั่วขณะคู้แขนหรือชั่วขณะเหยียดแขน มรรคญาณผลญาณก็สามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์ของพระอานันทเถระ

พระอานันทเถระเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างหนัก เพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ตลอดคืนในตอนเย็นของวันปฐมสังคายนา ท่านปฏิบัติกายคตาสติตลอดคืน โดยกำหนดย่างก้าวแต่ละก้าวว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ และกำหนดสภาวะที่เกิดขึ้นแต่ละอย่าง กำหนดต้นจิตก่อนเดิน กำหนดอาการเคลื่อนไหวของกายทุกอย่างที่เกิดขึ้น ในเวลาเดินจงกรม แม้ว่าการปฏิบัติกรรมฐานได้ดำเนินมาถึงเวลาใกล้รุ่งอรุณแล้วก็ตาม ท่านพระอานันทเถระก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ได้ทราบว่าท่านพระอานันทเถระได้ปฏิบัติวิปัสสนาโดยการจงกรมมาก และเพื่อที่จะทำให้สมาธิกับวิริยะเสมอกัน ท่านจึงได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในท่านอนชั่วขณะหนึ่ง โดยท่านได้เข้าไปในห้องนอน ท่านได้นั่งลงบนที่นอนและเอนตัวลงนอน ขณะที่ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนั้นก็กำหนดว่า นอนหนอๆ แล้วในที่สุดท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในทันทีทันใด ท่านพระอานันทเถระได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ก่อนที่จะเอนตัวลงนอน ท่านได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี และเป็นพระอรหันต์

ได้ทราบว่าความเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เกิดขึ้นมาติดๆ กันชั่วขณะเดียว ดังนั้นขอให้ระลึกถึงการบรรลุถึงพระอรหันต์ของท่านพระอานันทเถระเป็นตัวอย่าง ซึ่งการบรรลุเกิดขึ้นชั่วขณะเดียวกัน ไม่ได้ใช้เวลายาวนานแต่อย่างใด เพราะเหตุนี้โยคีจึงควรกำหนดด้วยความพากเพียรตลอดเวลา ไม่ควรลดหย่อนในการกำหนดโดยคิดว่า มีการพลั้งเผลอเล็กน้อยบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนัก การเคลื่อนไหวทุกอย่างที่ปรากฏในระหว่างการนอน ตลอดถึงการจัดแจงแขน เท้า ผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดอย่างตั้งใจไม่หยุดหย่อน

ถ้าไม่มีอาการเคลื่อนไหวใดๆ ร่างกายอยู่ในภาวะปกติ ก็ให้ผู้ปฏิบัติกลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป แม้ว่ามันเป็นเวลาดึกดื่นได้เวลานอนหลับแล้วก็ตาม โยคีก็ไม่ควรขึ้นไปนอนโดยหยุดพักการปฏิบัติ แท้ที่จริงโยคีควรเจริญสติปัฏฐานอย่างตั้งอกตั้งใจจริงๆ อย่างกับว่าจะยกเลิกการหลับนอนเลยทีเดียว และควรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไปจนกระทั่งหลับไป ถ้าการปฏิบัติกรรมฐานก้าวหน้าดี ผลการปฏิบัติก็จะสูงขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะไม่ง่วงเหงาหาวนอน

อีกประการหนึ่ง ถ้าความง่วงเหงาหาวนอนมีกำลังส่งสูงขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะหลับไปเอง แต่เมื่อผู้ปฏิบัติรู้สึกง่วงควรกำหนดว่า ง่วงหนอ ถ้าหากหนังตาหย่อนลงก็ให้กำหนดว่า หย่อนหนอๆ แต่ถ้าหากหนังตาหนักก็ให้กำหนดว่า หนักหนอๆ หรือรู้สึกเจ็บปวดตาก็ให้กำหนดว่า เจ็บหนอๆ โดยการกำหนดเช่นนั้น ความง่วงเหงาหาวนอนก็จะจางหายไป ตาก็จะกลับแจ่มใสขึ้นดังเดิม โยคีควรกำหนดด้วยว่า แจ่มใสหนอๆ หรือ แจ้งใสหนอๆ แล้วก็มุ่งกำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป

อย่างไรก็ดี โยคีต้องมุ่งกำหนดวิปัสสนากรรมฐานอย่างบากบั่น ถ้าหากความง่วงเหงาหาวนอนจริงๆ เกิดขึ้นในระหว่าง โยคีก็จะหลับไปเองหรือหลับไม่ยาก ความจริงหลับง่ายถ้าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในท่านอนก็จะค่อยๆ ม่อยหลับในที่สุด ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติใหม่ไม่ควรกำหนดกรรมฐานส่วนมากในท่านอนกำหนด แต่ควรกำหนดกรรมฐานให้มากในอิริยาบถนั่งและอิริยาบถเดินจงกรม แต่ถ้ามันเป็นเวลาดึกดื่นแล้ว ได้เวลานอนก็ควรกำหนดกรรมฐานในท่านอน โดยกำหนดอาการพองยุบของท้อง แล้วในที่สุดก็จะหลับไปตามธรรมชาติ

เวลาที่ผู้ปฏิบัติหลับไปนั้นถือว่าเป็นเวลาพักผ่อนของโยคีผู้ปฏิบัติ แต่จริงๆ แล้วสำหรับโยคีผู้ปฏิบัติแบบเอาจริงเอาจัง ก็จะกำหนดเวลานอนเพียง ๔ ชั่วโมงเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเวลาเที่ยงคืนนี้ไว้ เวลา ๔ ชั่วโมงนับว่าเป็นเวลาเพียงพอแล้ว ถ้าผู้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานคิดว่า เวลา ๔ ชั่วโมง ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของสุขภาพ ก็อาจจะเพิ่มเป็น ๕ ชั่วโมงหรือ ๖ ชั่วโมง ก็นับว่าเหมาะสมและเพียงพอแก่ความต้องการของสุขภาพแล้ว เมื่อใดก็ตามเมื่อโยคีผู้ปฏิบัติตื่นขึ้นมา เมื่อนั้นก็ควรกำหนดต่อไป

โยคีผู้มุ่งหวังบรรลุมรรคญาณผลญาณจริงๆ ก็ควรพักจากการกำหนดกรรมฐานเฉพาะในเวลาที่หลับไปเท่านั้น เวลาอื่นชั่วขณะที่ตื่นขึ้นมาก็ควรจะกำหนดอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนผ่อนพัก เพราะเหตุนั้น ขณะที่โยคีตื่นขึ้นมาในทันทีก็ควรกำหนดสภาวะจิตที่ตื่นขึ้นมาว่า ตื่นหนอๆ แต่ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติไม่สามารถกำหนดรู้สภาวะจิตที่พึ่งตื่นได้ทันทีพอดี ก็ควรเริ่มกำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป

ถ้าผู้ปฏิบัติตั้งใจลุกขึ้นจากเตียงนอน ก็ควรกำหนดว่า ตั้งใจลุกหนอๆ แล้วก็มุ่งกำหนดการเปลี่ยนแปลงอาการเคลื่อนไหวต่างๆ ในร่างกาย อย่างเวลาที่ผู้ปฏิบัติกำหนดในการจัดแขนจัดขา เมื่อผู้ปฏิบัติยกศีรษะขึ้นก็ให้กำหนดว่า ยกหนอๆ เมื่อลุกขึ้นก็ให้กำหนดว่า ลุกหนอๆ เมื่อลุกนั่งก็ให้กำหนดว่า นั่งหนอๆ ถ้าผู้ปฏิบัติจัดการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม ก็ให้กำหนดทุกอย่างเหมือนกับเวลาที่กำหนดในการจัดแขนขา ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นใดๆ มีแต่อาการนั่งอย่างสงบ ผู้ปฏิบัติก็ควรกลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป

ผู้ปฏิบัติควรกำหนดเช่นเดียวกันในเวลาล้างหน้าและเวลาอาบน้ำ แม้ว่าอาการเคลื่อนไหวทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเวลาล้างหน้าและอาบน้ำจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างเร่งรีบก็ตาม แต่โยคีผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดอาการเคลื่อนไหวทุกอย่างที่สามารถกำหนดได้ เวลาแต่งตัวก็ดี เวลาจัดเตียงนอนให้เรียบร้อยก็ดี เวลาเปิดประตูปิดประตูก็ดี ผู้ปฏิบัติควรกำหนดทุกอย่างอย่างตั้งใจเท่าที่เป็นไปได้

เมื่อผู้ปฏิบัติรับประทานอาหาร ขณะมองดูโต๊ะอาหารก็ควรกำหนดว่า มองหนอ เห็นหนอๆ เมื่อผู้ปฏิบัติเอื้อมมือไปที่อาหารก็กำหนดว่า เอื้อมหนอๆ มือแตะอาหารก็กำหนดว่า แตะหนอๆ รวบรวมอาหารมาจัดเตรียมก็กำหนดว่า รวบรวมหนอ จัดหนอๆ นำอาหารใส่ปากก็กำหนดว่า มาหนอๆ ก้มศีรษะนำอาหารใส่ปากก็กำหนดว่า ก้มหนอ ใส่หนอ วางมือก็ให้กำหนดว่า วางหนอ เงยศีรษะขึ้นก็ให้กำหนดว่า เงยหนอ

สรุปก็คือ ควรกำหนดทุกสภาวะให้เท่าทันตามสมควร

วิธีการกำหนดนี้เป็นไปตามวิธีการรับประทานอาหารของชาวพม่า โยคีที่ใช้ช้อนส้อม ตะเกียบก็ควรกำหนดอาการเคลื่อนไหวในลักษณะท่าทางที่เหมาะสม เมื่อโยคีเคี้ยวอาหารก็กำหนดว่า เคี้ยวหนอๆ เมื่อรู้รสอาหารก็กำหนดว่า รู้หนอๆ เมื่อโยคีชอบใจรสอาหารก็กำหนดว่า ชอบใจหนอๆ เมื่อกลืนอาหารลงไปในลำคอก็กำหนดว่า กลืนหนอๆ สรุปก็คือโยคีควรกำหนดทุกสภาวะที่เกิดขึ้น นี้เป็นวิธีการกำหนดที่ควรกำหนดในเวลารับประทานอาหารแต่ละคำข้าว

ขณะที่โยคีรับประทานแกงก็เช่นเดียวกัน ทุกๆ อาการเคลื่อนไหวที่เกิดมีขึ้น เช่นการเอื้อมมือก็ให้กำหนดว่า เอื้อมหนอ จับช้อนก็ให้กำหนดว่า จับหนอ เวลาตักก็กำหนดว่า ตักหนอ เป็นต้น อาการเคลื่อนไหวสภาวะทุกอย่างโยคีควรกำหนดทั้งนั้น ความจริงการกำหนดเช่นนี้ในเวลารับประทานอาหารค่อนข้างจะยุ่งยาก เนื่องจากมีหลายสิ่งหลายอย่างมากมายที่จะต้องคอยสังเกตและกำหนด โยคีผู้เริ่มปฏิบัติอาจเป็นไปได้ที่จะพลาดพลั้งหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรกำหนด แต่ถึงอย่างไรก็ควรตั้งใจกำหนดอาการทุกสภาวะ แน่นอนล่ะ ถ้าผู้ปฏิบัติเผอเรอขาดสติไปก็ไม่สามารถที่จะกำหนดได้เลย

แต่ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติมีสมาธิแก่กล้า ก็จะสามารถกำหนดทุกสภาวะที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าได้อรรถาธิบายมาหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อให้โยคีทั้งหลายได้กำหนดรู้ แต่เมื่อสรุปแล้วก็มีบางอย่างบางสิ่งที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติม กล่าวคือ เมื่อโยคีเดินไวๆ พึงกำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ซ้ายหนอ ขวาหนอ ในกรณีที่เดินช้าๆ ให้กำหนดว่า ยกหนอ เหยียบหนอ ถ้านั่งลงอย่างสงบแล้วก็ให้กำหนดอาการพองยุบของท้อง ในเวลานอนก็เช่นเดียวกันให้กำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ

ถ้าไม่มีสภาวะอันใดเป็นการเฉพาะที่จะต้องกำหนด ในเวลาที่กำหนดอาการพองยุบอยู่นั้น ถ้าเกิดว่าใจฟุ้งซ่านให้กำหนดว่า ฟุ้งหนอ และก็กลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป เมื่อเกิดความรู้สึกตึงก็ให้กำหนดว่า ตึงหนอ อาการเจ็บปวดก็ให้กำหนดว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ อาการคันก็ให้กำหนดว่า คันหนอ แล้วก็กลับคืนมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป แม้เมื่อเกิดอาการงอแขนขาก็ให้กำหนดว่า งอหนอ คู้หนอ เหยียดแขนขาก็ให้กำหนดว่า เหยียดหนอ เคลื่อนไหวแขนขาก็ให้กำหนดว่า เคลื่อนหนอ โค้งศีรษะก็ให้กำหนดว่า โค้งหนอ ถ้าเงยศีรษะขึ้นก็ให้กำหนดว่า เงยหนอ ถ้าเอนตัวไปข้างหน้าก็กำหนดว่า เอนหนอ ตัวตรงก็ให้กำหนดว่า ตรงหนอ แล้วก็กลับมากำหนดอาการพองยุบของท้องต่อไป

ถ้าโยคีมุ่งกำหนดอาการดังที่กล่าวมานั้น จะสามารถกำหนดสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้มากขึ้นโดยลำดับ ในช่วงที่ปฏิบัติใหม่ๆ จิตใจของโยคีก็จะฟุ้งไปที่นี่บ้าง ที่นั่นบ้าง จนลืมการกำหนดสภาวะต่างๆ แต่โยคีก็ไม่ควรท้อถอย ทุกคนที่เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะต้องเผชิญกับความยุ่งยากที่คล้ายๆ กันนี้ แต่ถ้าหากโยคีปฏิบัติมากขึ้นก็จะสามารถกำหนดรู้อาการที่คิดฟุ้งซ่านได้ทุกขณะ จนในที่สุดกระทั่งว่าจิตใจไม่ฟุ้งซ่านไปที่ไหนอีกเลย จิตใจอยู่ตรึงแน่นกับอารมณ์กรรมฐาน

อาการที่จิตมีสติได้กำหนดรู้เท่าทันอารมณ์กรรมฐาน เช่น รู้เท่าทันอาการพองยุบของท้อง กล่าวคือ อาการพองของท้องจะเกิดขึ้นพร้อมกับอาการที่จิตกำหนดรู้อาการพองของท้อง อาการยุบของท้องก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับจิตที่รู้อาการยุบของท้อง รูปารมณ์กับสภาวะจิตที่กำหนดรู้เกิดขึ้นพร้อมกันคล้ายเป็นคู่ แต่ในการเกิดขึ้นพร้อมกันนี้ไม่มี สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา รวมอยู่ด้วยเลย มีแต่รูปกับนามเท่านั้น

ในเวลาปฏิบัติโยคีก็จะได้ประสบพบเห็นสภาวะเหล่านี้ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงเฉพาะผู้ปฏิบัติเอง ขณะที่โยคีกำหนดอาการพองยุบของท้องอยู่นั้น ก็จะสามารถแยกแยะได้ว่าอาการพองขึ้นของท้องเป็นรูป และใจที่กำหนดรู้อาการพองขึ้นของท้องนั้นเป็นนาม อาการยุบของท้องก็ดุจเดียวกัน กล่าวคือ อาการยุบลงของท้องเป็นรูป และใจที่กำหนดรู้อาการยุบของท้องเป็นนาม ดังนั้นโยคีก็จะรู้ชัดแจ้งถึงการเกิดขึ้นพร้อมกันในคู่ของสภาวะรูปนามเหล่านี้

ดังนั้น การกำหนดทุกครั้ง โยคีก็จะทราบชัดอย่างแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า มีเพียงรูปนามเท่านั้นซึ่งเป็นอารมณ์ของความรู้ และนามเป็นผู้กำหนดอารมณ์นั้น ความรู้ที่แยกแยะนามรูปออกจากกันได้นี้ เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นปัญญาเบื้องต้นของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้บรรลุญาณนี้อย่างถูกต้อง ความรู้ในนามรูปปริจเฉทญาณนี้จะเป็นผลสำเร็จก็ต่อเมื่อโยคีกำหนดสืบต่อกันไปจนสามารถรู้โดยแยกแยะเหตุและผลของนามรูปได้ ซึ่งความรู้ชนิดนี้เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ

ขณะที่โยคีมุ่งกำหนดอยู่นั้นก็จะพบเห็นด้วยตนเองว่า สภาวะที่เกิดขึ้นดับไปชั่วขณะๆ คนสามัญธรรมดาจะทึกทักเอาว่า สภาวะที่ปรากฏทางรูปนามสืบต่อคงทนตลอดชีวิต กล่าวคือ จากความเป็นหนุ่มไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ และก็ไม่มีสภาวะที่ปรากฏชนิดใดๆ เลยที่อยู่ยงคงกระพันนิรันดร์กาล สภาวะที่ปรากฏทุกอย่างทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งว่าไม่ได้คงที่อยู่แม้ชั่วขณะการกระพริบตา

โยคีจะรู้ชัดถึงความจริงนี้ด้วยตนเองขณะที่มุ่งกำหนดต่อไป และก็จะมีความมั่นใจในความเป็นอนิจจังของสภาวะปรากฏเช่นนั้นทั้งหมด ความมั่นใจแน่แน่วเช่นนี้เรียกว่า อนิจจานุปัสสนาญาณ ญาณนี้ก็จะทำให้ทุกขานุปัสสนาญาณเป็นผลต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นญาณที่ทราบชัดว่า ความเป็นอนิจจังนี้ทั้งหมดก็คือสภาวะที่ทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ โยคีดูเหมือนว่าจะเผชิญกับความยุ่งยากลำบากมาทุกชนิดในชีวิตเช่นกัน ซึ่งมันเป็นที่รวมลงแห่งกองทุกข์ทั้งมวล นี้เรียกว่า ทุกขานุปัสสนาญาณ เช่นเดียวกัน

ต่อมาโยคีก็จะมีความแน่ใจว่า สภาวะที่ปรากฏทางนามรูปเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย โดยเป็นไปตามความปรารถนาของผู้ใดผู้หนึ่งก็หาไม่ และจะบ่งบอกว่าใครเป็นผู้คอยควบคุมบงการก็หาได้ไม่เช่นเดียวกัน แท้ที่จริงสภาวะที่ปรากฏทั้งหมดนั้นล้วนเป็นอนัตตา ความรู้แจ่มแจ้งเช่นนี้เรียกว่า อนัตตานุปัสสนาญาณ ขณะที่โยคีมุ่งกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เมื่อได้รู้ชัดอย่างไม่หวั่นใจสงสัยว่า สภาวะที่ปรากฏเหล่านี้ทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่อดีตพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระอริยสาวกทั้งหลายได้ทรงรู้แจ้งแล้วโดยการเจริญสติปัฏฐาน

ผู้เป็นโยคีนักปฏิบัติทุกท่านควรทำไว้ในใจว่า ขณะนี้ตนเองกำลังอยู่บนเส้นทางสติปัฏฐาน บนทางสายนี้เท่านั้นที่จะทำให้ความประสงค์ที่จะบรรลุมรรคญาณ ผลญาณ นิพพานธรรม และความสุกงอมของบารมีของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสมบูรณ์บริบูรณ์ได้ นักปฏิบัติทั้งหลายจึงควรรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มาเจริญสติปัฏฐาน และได้มาประสบเห็นอริยสมาธิและวิปัสสนาญาณที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยสาวกทั้งหลายได้ทรงประสบพบเห็นมาแล้ว

ความจริงผู้ปฏิบัติอาจจะบรรลุมรรคญาณผลญาณ ในระยะของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๑ เดือน ๒๐ วัน หรือ ๑๕ วันเท่านั้น สำหรับบุคคลผู้มีบารมีแก่กล้าก็จงยกไว้เถิด อาจจะบรรลุธรรมเหล่านี้แม้ภายใน ๗ วัน

ดังนั้น โยคีผู้ปฏิบัติควรมีความพอใจไม่หวั่นไหว โดยเชื่อว่าจะต้องบรรลุธรรมเหล่านี้ตามเวลาที่ระบุข้างบนแน่ และเมื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นแล้วก็จะละสักกายทิฏฐิ ความเข้าใจผิดว่ามีตัวตน และวิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจเสียได้ และพระธรรมก็จะรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ไปเกิดในอบายภูมิ ขอให้โยคีจงมีศรัทธาควรมุ่งมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของตนต่อไป ขอให้ผู้ปฏิบัติทุกท่านจงมีความสามารถปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ดี จงบรรลุพระนิพพานอย่างเร็วพลัน ดุจดังพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอริยสาวกทั้งหลายที่ได้ทรงบรรลุแล้วด้วยเถิด สาธุๆๆ


จาก...หนังสือคู่มือแนวปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อการรู้แจ้ง
http://watbhaddanta.blogspot.com/
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=4269


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2012, 08:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


จะตั้งใจต่อไปครับ

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร