วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 05:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2012, 01:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ชี้ทางดับทุกข์
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรสี)


ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติ สัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้พึงตั้งใจฟังธรรมะคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ก็ขอให้ได้ปฏิบัติไปด้วยพร้อมกับการได้ฟังธรรม เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในการเข้าถึงธรรมะยิ่งขึ้น การเข้าถึงธรรมะก็เป็นเรื่องเฉพาะตนคือแต่ละท่านนั้นต้องเข้าถึงด้วยตนเอง แต่ว่าก็อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนเป็นเครื่องชี้ทางบอกทาง การได้ฟังคำชี้ทางบอกทางในขณะที่กำลังปฏิบัติก็จะเป็นปัจจัยอันใกล้ชิดต่อการกระทำได้ตรงได้ถูกต้องยิ่งขึ้นไม่หลงลืมไปเสียก่อน ทำให้มีเหตุมีปัจจัยในการสะกิดการระลึกการกำหนดได้ถูกต้องได้ตรงทางยิ่งขึ้น ผู้แสดงธรรมก็เป็นเพียงนำธรรมะของพระพุทธเจ้าที่สั่งสอนไว้มาบอกกล่าวเป็นเสมือนแผ่นที่แห่งการเดินทาง ส่วนการเดินทางผู้เดินทางก็เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายเอง

แม้ว่าโดยบุคคลก็เรียกว่ามีผู้ปฏิบัติธรรมผู้บอกทาง แต่ถ้าว่าโดยสภาวะโดยปรมัตถ์แล้วก็เป็นเรื่องของธรรมชาติเป็นเรื่องของจิตหรือว่าเป็นเรื่องของรูปนาม หาใช่ความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ แต่การพูดจาการสื่อให้เข้าใจกันก็ต้องเป็นสมมติใช้ภาษาสมมติ เช่น คำว่าเรา คำว่าเรานี้เป็นสมมติขึ้นมา ซึ่งผู้ที่ยังเป็นปุถุชนไม่เข้าใจว่ามันเป็นเพียงแต่สมมติเท่านั้น แต่กลับไปยึดมั่นถือมั่นเอาจริง ๆ ในความหมายของคำว่าเรา ไม่ได้เห็นว่าเป็นเพียงสมมติ แต่กลับไปมีความรู้สึกมีความเห็นว่าเรานั้นเป็นจริงเป็นจัง นี่คือความยึดผิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น

ซึ่งการปฏิบัติก็มีเป้าหมายในการที่จะละความรู้สึกความเป็นตัวตน ความยึดมั่นถือมั่นแห่งความเป็นเราเป็นของเรา ปฏิบัติไปจริง ๆ เข้าถึงจริง ๆ ก็จะต้องหลุดพ้นจากความเป็นเรา ไม่ใช่ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เราจิตใจไม่ใช่เรา แต่ก็ยังมีเราไปอยู่อีกอย่างหนึ่ง อันนี้ก็ไม่ใช่ คำว่าไม่มีเราหรือธรรมชาติที่ไม่มีเรานั้นก็คือไม่มีจริง ๆ คือไม่มีอยู่ที่ใด ไม่มีเราอยู่ ณ ส่วนใด อันนี้ก็เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งของผู้ปฏิบัติธรรม นั่นคือปฏิบัติไป ๆ อันนี้ก็ไม่ใช่เรา กายไม่ใช่เราจิตใจไม่ใช่เรา แต่ก็ยังมีความเป็นเรา

ฉะนั้นการที่จะให้มันหลุดพ้นจากความเป็นเราก็ต้องดูให้มันทั่วถึงไป มันมีความยึดตรงไหนเป็นเราก็ต้องรู้แจ้งในตรงนั้นในสิ่งนั้น ยึดว่ารูปเป็นเราก็ต้องดูไปที่รูปให้เห็นว่ารูปเป็นเพียงธรรมชาติไม่ใช่เรา ยึดเวทนาก็ต้องดูไปที่เวทนาให้เห็นแจ้งในเวทนาว่าเวทนานั้นไม่ใช่เรา หรือยึดในสัญญาสังขารวิญญาณก็ต้องดูไปรู้ไปในส่วนนั้น เพื่อให้รู้แจ้งตามความเป็นจริงว่ามันไม่ใช่เรา มีตรงไหนที่ยึดก็ต้องดูไปที่ตรงนั้นด้วย มันยึดสติเป็นเราปัญญาเป็นเรา สัมปชัญญะเป็นเรา ก็ต้องรู้เข้าดูเข้าไปแจ้งในสติในปัญญาในสัมปชัญญะให้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ความเป็นเราก็จะไม่ไปแขวนอยู่ ณ ที่ตรงไหน

การปฏิบัติ ตัวการปฏิบัติเป็นสภาวะก็คือสติสัมปชัญญะความเพียรคือตัวสภาวะ สติก็ไม่ใช่เรา สัมปชัญญะก็ไม่ใช่เรา ความเพียรก็ไม่ใช่เรา สติเป็นตัวระลึก สัมปชัญญะเป็นตัวพิจารณา รวมความว่าเหมือนกับเป็นตัวดูตัวรู้เป็นผู้ดู ตัวที่เข้าไปดูตัวที่เข้าไปส่องในธรรม ถ้าไม่พิจารณาก็จะสำคัญว่าเป็นเรา เรากำลังดูเรากำลังรู้เรากำลังพิจารณา เรากำลังเห็นนั่นเรากำลังดูนี่ นี่เรียกว่าถูกอุปาทานเข้าไปยึดมั่น สติสัมปชัญญะก็เป็นโลกียธรรม เป็นธรรมที่ถูกอุปาทานยึดไว้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องใส่ใจพิจารณาถึงตัวสติปัญญาให้มันเห็นว่าไม่ใช่เรา

การจะลบความรู้สึกเป็นเราก็ต้องเห็นว่าสติก็เป็นเพียงธรรมชาติที่มีลักษณะแห่งการระลึก ระลึก ระลึกแล้วก็แค่นั้นเอง ระลึกก็ดับไปไม่ได้มีความเป็นตัวตน ปัญญาหรือตัวพิจารณาก็ให้เห็นว่าเป็นเพียงธรรมชาติที่เกิดขึ้นทำหน้าที่พิจารณาทำหน้าที่สังเกตแล้วก็ดับลง หาความเป็นเราไม่ได้ ตานี้ถ้าหากไม่มีการรู้ไม่มีการพิจารณามันก็จะถูกสำคัญมั่นหมายเหมือนเป็นตัวเป็นตนจริง ๆ เหมือนมีเราจริง ๆ ดูเข้าไปจริง ๆ แล้วก็ไม่มีแก่นสาระแห่งความเป็นเรา เวลาปฏิบัติจึงต้องให้สติมันระลึกถึงตัวมันเอง สติระลึกถึงตัวสติ ปัญญาพิจารณาถึงตัวปัญญา สติระลึกถึงตัวสติระลึกถึงตัวปัญญา ปัญญาพิจารณาสติพิจารณาปัญญา

ดังที่กล่าวแล้วว่าสติสัมปชัญญะเหมือนกับเป็นตัวดู ตัวดูที่กำลังไปดูสภาวะ กำลังส่องพิจารณาอยู่ ก็ให้ตัวดูนั้นน่ะมันดูตัวดูหรือตัวรู้ สติสัมปชัญญะก็เป็นสภาพรู้เพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต สติเป็นเจตสิกธรรมเกิดร่วมกับจิต สัมปชัญญะก็เป็นตัวปัญญาเกิดร่วมกับจิต มันจะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ สติเกิดมาโดยไม่มีจิตไม่ได้ ปัญญาเกิดขึ้นมาโดยไม่มีจิตไม่ได้ เจตสิกเหล่านี้ต้องอาศัยจิต เจตสิกทุกชนิดต้องอาศัยจิตเกิด ฉะนั้นในขณะที่มีการระลึกได้หรือว่าสติเกิดขึ้นสัมปชัญญะเกิดขึ้น นั่นก็หมายถึงว่าเกิดร่วมกับจิต

จิตคือสภาพแห่งการรู้อารมณ์ จิตมีลักษณะแห่งการรู้อารมณ์เป็นธรรมที่ให้เจตสิกนั้นพลอยรู้อารมณ์ไปด้วยเพราะมันเกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นในขณะที่มีการระลึกมีการพิจารณา มันก็เป็นสภาพรู้ นอกจากระลึกมันก็เป็นสภาพรู้ให้สภาพรู้นั้นรู้ตัวมันเอง คือสภาพรู้มาดูสภาพรู้ หรือจะเรียกว่าเป็นตัวดูบ้าง ตัวดูนั้นน่ะมันดูตัวดู ให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรา เพราะสภาพรู้นั้นมันก็เกิดชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป เกิดดับไปอย่างรวดเร็ว

ถ้าเห็นว่ามันดับไปในขณะนั้นน่ะมันก็จะลบความเป็นตัวตน ความรู้สึกแห่งความเป็นตัวตนในขณะนั้นมันจะถูกลบไม่มีเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะเห็นว่ามันดับไป มันไม่มีอะไรคงตั้งอยู่ถาวรแก่นแท้อยู่ การรู้การเห็นอย่างนี้จะต้องเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในฐานะที่ยังตัดไม่ขาด เวลาไม่รู้ไม่ระลึกไม่พิจารณาอุปาทานก็จะเข้าไปยึดไว้อีก ยึดไว้เป็นเราอีก ถ้าสติสัมปชัญญะระลึกพิจารณารู้ทัน เห็นเป็นเพียงธรรมชาติ เกิดดับเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อุปาทานก็ยึดไม่ได้ในขณะนั้น อันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่คงที่มันดับไป สติมันก็ดับสัมปชัญญะก็ดับไปความเพียรดับไป ก็จะต้องให้เพียรให้เกิดขึ้น เกิดขึ้น ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ

ตัวสติสัมปชัญญะกับเรื่องราวมันคนละอย่างกัน กับความหมายคนละอย่างกัน เรื่องราวความหมายกับสติหรือกับจิตนั้นคนละอย่างกัน แต่ว่าจิตสามารถจะไปรับรู้เรื่องราวได้ จิตนี่สามารถจะคิดถึงเรื่องต่างๆ ได้แต่เรื่องต่างๆนั้นไม่ใช่จิต เรียกว่าเป็นอารมณ์ของจิตหรือเป็นธรรมที่ถูกรู้ของจิต เป็นอารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้ของจิตไม่ใช่จิต ในขณะที่คิดไปนึกไปถึงคนนั้นคนนี้

คิดไปถึงเรื่องราวต่างๆเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นสถานที่เป็นการงานเป็นเหตุการณ์ อารมณ์เหล่านั้นเป็นความหมายบ้าง เป็นภาพบ้าง เป็นมโนภาพเป็นความหมายเป็นชื่อเป็นภาษาบ้าง ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิต อารมณ์เหล่านี้เป็นธัมมารมณ์เรียกว่าธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ของจิตทางมโนทวาร เป็นธัมมารมณ์ที่ไม่ใช่ของจริง คือเป็นธัมมารมณ์ในส่วนบัญญัติ ส่วนจิตใจอันเป็นตัวเข้าไปรู้เรื่องนั้นเป็นของจริงเป็นปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่มีอยู่จริง ๆ

ฉะนั้นเวลาเจริญวิปัสสนาสติจะต้องคัดอารมณ์ให้ถูก ไม่ให้ไหลไปอยู่กับอารมณ์ ให้กลับรู้เข้ามาที่จิต คือระลึกเข้ามาที่ตัวรู้ ในขณะที่กำลังคิดนึกไปสู่เรื่องราวต่างๆ สติระลึกเข้ามาที่ความคิดหรือระลึกเข้ามาที่สภาพรู้อารมณ์ หรือระลึกที่ความรู้สึกในจิตที่ประกอบกันอยู่ขณะนั้น ความคิดที่แล่นไปอาจประกอบด้วยความโลภหรือความโกรธหรือความหลง หรือประกอบด้วยธรรมฝ่ายกุศลก็ตาม สติสัมปชัญญะก็ระลึกพิจารณาถึงสภาพธรรมที่ประกอบกับจิตโดยความรู้สึก เข้าไปอ่านเข้าไปพิจารณาถึงความรู้สึกขณะที่คิด

ฉะนั้นการระลึกที่จิตใจจึงจะเห็นว่ามีสองแง่ด้วยกัน แง่หนึ่งระลึกในลักษณะของจิตโดยตรงก็คือสภาพรู้อารมณ์ ลักษณะของจิตก็คือสภาพที่รู้อารมณ์ สติสัมปชัญญะเข้าไประลึกพิจารณาลักษณะแห่งการรู้อารมณ์ รู้อารมณ์ ๆ อีกแง่หนึ่งก็ระลึกถึงลักษณะอาการในจิตหรือสิ่งที่ประกอบกับจิตเรียกว่าเจตสิก อันมีลักษณะแตกต่างกันไปต่างๆ ความโลภก็อย่างหนึ่ง ความโกรธก็อย่างหนึ่ง ความหลงก็อย่างหนึ่ง เมตตาก็อย่างหนึ่ง ศรัทธาก็อย่างหนึ่ง ปีติก็อย่างหนึ่ง ก็สามารถที่จะเห็นสิ่งต่างๆปรากฏ สิ่งเหล่านี้เรียกว่านามธรรม เรียกว่าระลึกถึงนามธรรมชนิดต่างๆ ว่าเป็นคนละอัน เป็นคนละอันๆ ความรู้สึกสบายก็อันหนึ่ง ไม่สบายก็อันหนึ่ง สงบก็อันหนึ่ง ไม่สงบก็อันหนึ่ง รู้อารมณ์หนึ่งดับไป รู้อีกอารมณ์หนึ่งดับไป รู้อีกอารมณ์หนึ่งดับไป คนละอัน ๆ กันไป


ในขณะที่รู้ระลึกถึงความรู้สึกบางขณะยังระลึกเข้ามาที่ตัวสติอยู่ตัวสัมปชัญญะอยู่ เพราะสติก็เป็นเจตสิกประกอบกับจิตเป็นนามธรรม รวมความว่าไม่ได้รู้ไปไหนเลยระลึกรู้กันอยู่ที่ตัวเอง รู้กันที่จิตรู้ที่อาการในจิตรู้ที่สติสัมปชัญญะ ก็อยู่อย่างนั้นแน่ะ นี่ในส่วนของจิตใจ

ส่วนในส่วนของทางกายก็รู้ในความรู้สึก ทางกายนี้ส่วนที่เป็นปรมัตถ์ก็จะมีความรู้สึกเป็นความไหว ความกระเพื่อม ความสั่นสะเทือนในส่วนต่าง ๆ ของกาย หรือความเย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึง นี่คือปรมัตถ์คือของจริง ส่วนขณะใดที่จิตนึกเลยไปเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานของกาย จะเป็นท่อนแขนท่อนขาใบหน้าลำตัว อันนี้เรียกว่าเป็นบัญญัติเกิดขึ้นมาอีกอารมณ์เป็นบัญญัติแล้ว

เป็นสมมติเป็นธัมมารมณ์ เข้าใจอย่างนี้ก็น้อมเข้ามาสู่ความรู้สึก กำหนดเข้ามาสู่ปรมัตถ์ สังเกตเพียงแค่ความรู้สึกที่มันไหว มันสะเทือน มันกระเพื่อม มันตึง มันหย่อน มันเย็นมันร้อน หรือมีเวทนา ทุกขเวทนาเป็นความไม่สบายกาย หรือมันสบายกาย รู้ที่ความรู้สึก นี้เขาจะเรียกว่าเป็นทางเดินของวิปัสสนา

ความรู้สึกนั้นก็มีอยู่ทุกส่วนของร่างกายก็จะต้องรู้ทั่วไปทั้งหมดทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นที่ขา ที่เท้า ที่นิ้วเท้า ที่มือ ที่นิ้วมือ ที่แขน ลำตัว หน้าท้อง หน้าอก สันหลัง ที่คอ ที่ศีรษะ ใบหน้า ลูกตาจมูก ปาก ริมฝีปาก ในปาก ในคอ ในสมอง หนังศีรษะ มีความรู้สึกทั้งนั้นแม้แต่ในสมอง จะพบความสั่นไหวความกระเพื่อมของมัน แล้วแต่ว่าจะมีปัญญามีสติคมขนาดไหน คมกล้าขนาดไหน ใหม่ๆ ก็รู้ได้ในส่วนหยาบๆ ความตึงความหย่อน ความไหวที่หยาบ ๆ ทำไป ากขึ้นบ่อยขึ้น สติปัญญาคมขึ้นก็จะไปรับในส่วนละเอียดขึ้น ความไหวที่ละเอียดที่บางเบาก็รับรู้ไป

ที่กล่าวมานี่ก็จะเห็นว่ามันมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือที่จิตใจอีกส่วนหนึ่งก็คือที่กาย ฝึกไปทำไปก็รู้ไปพร้อม ๆ กันได้ รู้ทั้งความรู้สึกจิตใจ รู้จิตใจ รู้ความรู้สึกที่กาย สามารถจะรู้ไปด้วยกัน กล่าวอย่างนี้ไม่ขัดต่อหลักปริยติธรรมหรือ ไหนว่าจิตรับอารมณ์ได้ทีละอารมณ์ ทำไมจะมารับรู้พร้อม ๆ กัน อันนี้ ได้ยินก็มี เห็นลืมตาก็เห็นก็มี ถ้าหากว่าเคลื่อนไหวกาย มันก็เป็นเรื่องของจิตที่สั่งออกไป แต่มันก็สามารถจะทำงานได้ ดูเหมือนว่ามันพร้อมกัน

เห็นก็เห็น คิดก็คิด ได้ยินก็ได้ยิน ฉะนั้นบางคนเวลาทำงานปากก็พูดไป มือก็เขียนไปใจก็คิดนึก เหมือนกับทำไปพร้อมกันได้ทั้งหมด ทำไปพร้อมกัน นั่นคือความเร็วของจิตที่มันสามารถจะรับรู้อารมณ์ต่างๆ การเคลื่อนไหวกายก็ต้องเกิดกับจิต การคิดนึกก็เป็นเรื่องจิต การพูดก็เต็มไปด้วยเรื่องของจิต คิดก็คิด ฟังก็ฟัง ได้ยินก็ได้ยิน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเมื่อสติสัมปชัญญะมีความเร็วมีความคมกล้า มันก็สามารถจะรับอารมณ์ต่างๆ ทั้งส่วนที่กายทั้งส่วนที่จิตใจรวดเร็วไปเหมือนกับพร้อมกันไป

สติสัมปชัญญะระลึกที่จิตอยู่ดูจิตใจอยู่แต่ก็ยังรับรู้ความรู้สึกที่กายได้ โดยไม่ต้องไปจ้องดูไม่ต้องไปเพ่งดูกาย ความชำนาญขึ้นรู้จิตอยู่มันก็รู้กายด้วย ไม่ใช่ไปจ้องมากไปเลยซะอีกด้วยซ้ำ เลยไปเป็นสมมติเป็นรูปร่างสัณฐาน ดูที่จิตแล้วไม่ได้ตั้งใจเข้าไปจ้องดูกายแต่มันก็มีกระแสแห่งการรับรู้ความรู้สึกที่กายไปด้วยกัน ความรับรู้อย่างนี้ก็จะบริสุทธิ์ขึ้นคือ เป็นปรมัตถ์บริสุทธิ์ไม่ขยายออกไปสู่รูปร่างสัณฐาน

เมื่อผู้ปฏิบัติฝึกหัดปฏิบัติสัมปชัญญะระลึกถึงส่วนของความรู้สึกที่กายทั้งส่วนที่จิตใจเรื่อยไป ก็พัฒนาหรือปรับการรับรู้นั้นให้มันเป็นกลางเป็นปรกติยิ่งขึ้น อย่าให้มันตึง อย่าให้มันตึงเกิน อย่าให้มันเผลอ ไม่เพ่งไม่เผลอ ใหม่ ๆ ปฏิบัติก็อดเผลอ เผลอไปในส่วนของการไปจ้องไปบังคับไปกดข่ม หรือไม่ก็เผลอไปเลยลอย จิตล่องลอย

ดูไปรู้ไป ดูไปรู้ไปมันมักจะเพ่งลงไป ๆ ไปกดอารมณ์ไปบังคับกาย นั่นถือว่าเกินเลย ขาดความพอดี ดูไป ๆ เลยเป็นเหยื่อของอุปาทาน เข้าไปยึดมั่นในอารมณ์ ยึด มีตัณหาเป็นแรงก็จะทำให้เป็นเหยื่อของอุปาทานยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงว่าถ้าปฏิบัติด้วยความอยาก มีความอยากจะสงบอยากจะให้เห็นอยากจะให้รู้ อยากจะให้ได้อย่างงั้น นั่นน่ะจะทำให้เกิดการจดจ้องไปเพ่งไปเล็งไป แล้วก็เลยยึดอารมณ์สะกดร่างกาย

ถ้าพิจารณารู้อย่างนี้ก็ถอนออกมาคลายตัวออกมาปล่อยวางออกมา คืนสู่สภาพความเป็นปรกติโดยการตัดความอยาก ความกลัวว่าจะไม่รู้กลัวว่าจะไม่ทัน ไม่ห่วงในสิ่งเหล่านี้ปล่อยออกมาคลายตัวออกมา ปล่อยวาง ให้มันปล่อยมันวางแต่ก็ยังรู้อยู่ ยังรู้ยังระลึกยังรู้ยังพิจารณา แต่มันจะเบาๆ มันจะเผินๆ ขึ้นมา มันก็มาอยู่ในส่วนของหมิ่นเหม่กับการที่จะล่องลอย

เพราะฉะนั้นมันก็เผลอง่าย จิตเผลอง่าย ๆ มันก็ต้องเป็นธรรมดาที่จะต้องเสียไปบ้างเผลอไป รู้ขึ้นมาบ้าง เผลอไปบ้าง รู้ขึ้นมาบ้าง เผลอไปบ้าง แต่ถ้าทำบ่อยขึ้น รู้บ่อยขึ้น ๆ นานขึ้นมีกำลังขึ้นความเผลอก็น้อยลง ความรับรู้นั้นก็จะถูกต้องไม่เคร่งไม่เผลอ มีความรู้มีความปล่อยมีความวางอยู่ในตัว เรียกว่าได้ความสมดุลได้ความเป็นกลาง

อารมณ์ก็ถูกต้องคืออารมณ์เป็นปรมัตถ์ รู้อยู่กับความไหว รู้อยู่กับตัวรู้ รู้อยู่ความรู้สึกในตัวรู้ เรียกว่ารู้อารมณ์นั้นเป็นปรมัตถ์ ถูกต้องในส่วนของอารมณ์ ถูกต้องในส่วนของปัจจุบัน รับปัจจุบันอยู่ ถูกต้องในส่วนของความเป็นกลางเป็นพอดี ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ถือว่าเป็นการเข้าถึงวิปัสสนา

ปัจจุบันอารมณ์ต้องเป็นปัจจุบันที่สั้น ชั่วขณะแว้บเดียวนิดเดียวเท่านั้น ผ่านไปก็เป็นอดีต ผ่านไปแล้วก็เป็นอดีต ชั่วขณะนิดหนึ่งผ่านไปก็เป็นอดีต จะต้องไม่พะวงถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วหรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น วางจากอดีตวางจากอนาคต กำหนดเฉพาะอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันนั้นก็เป็นปรมัตถ์เป็นของจริง

วางท่าทีของสติสัมปชัญญะก็ได้ส่วนเป็นกลาง มันก็เกิดความถูกต้อง วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นสภาวะคือรูปนามนั้นน่ะ ความไหว ความเอียง ความกระเพื่อมที่กายก็ดี ตัวรู้ ตัวความรู้สึกในจิตใจก็ดี มีความเปลี่ยนแปลง มีความเกิดดับ มีความหมดไปสิ้นไป มีสภาพบังคับไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาเกิดขึ้นคือการเห็นแจ้ง


วิปัสสนาคือการเห็นแจ้ง เห็นแจ้งก็คือเห็นความจริง เป็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริง รูปนามก็คือไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ได้เห็นความเป็นคน ไม่ได้เห็นความเป็นเราเป็นของเรา ไม่ได้เห็นเป็นตัวเป็นตน ไม่ได้เห็นเป็นของเที่ยง ไม่ได้เห็นเป็นของสวยงาม เป็นสุขเป็นอัตตาเป็นตัวตนเป็นเราเป็นของเรา แต่มันเห็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นนามมีสภาพไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เรียกว่าเห็นแจ้งเห็นวิเศษเห็นตามความเป็นจริง อย่างนี้จึงเรียกว่าวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาได้เกิดขึ้น

เมื่อเราฟังอย่างนี้แล้วจะเห็นว่ามันก็ไม่ได้มีเรื่องอะไร ไม่ใช่มีอะไรมากมายในการปฏิบัติ คือไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร จะเห็นว่าทำอยู่รู้อยู่ที่ความรู้สึกที่กายกับที่จิตใจอยู่อย่างนี้น่ะในตัวนี่เอง ตัดอดีตอนาคตอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบัน แล้วก็ใส่ใจพิจารณาไม่ได้ไปทำอะไรขึ้นมา คือไม่ต้องไปสร้างอะไรขึ้นมา ไม่ต้องไปนึกไม่ต้องไปคิดอะไรขึ้นมา แต่ดูรู้อยู่ในสิ่งที่มันมีมันเป็นอยู่ เพียงแต่ว่ารู้ให้ตรงให้มันเป็นกลาง ถ้าวางไม่เป็นกลางเดี๋ยวมันก็ถูกหลอก บางทีมันก็ถูกหลอก

ไม่วางให้เป็นกลางมันก็จะเกิดการสำคัญมั่นหมาย แม้แต่ความเกิดดับความไม่เที่ยงมันก็ถูกหลอกได้ คือกิเลสจากความคิดเห็นไปเอง คิดเอาเองเป็นมายา คือไม่ได้ไปสัมผัสสภาวะแห่งความเกิดดับจริงแต่ว่าอาศัยความคิดนึกเอา ก็กลายเป็นความรู้ว่ามันไม่เที่ยง ความรู้ว่ามันเกิดดับ อันนี้ผู้ปฏิบัติก็ต้องระวังว่าความปรุงแต่งของจิตมันปรุงแต่งไป จึงต้องเป็นผู้เที่ยงตรงเป็นกลางจริงๆในการจะพิจารณาในธรรม วางจิตใจให้เป็นกลางไม่ให้มันเอียงไป มิฉะนั้นมันก็จะถูกหลอก

อย่างขณะที่เห็นเป็นรูปร่างสัณฐานอยู่นี่มันถูกหลอกอยู่ ถูกหลอกจนชินกับความหลอก จนเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงเป็นของจริง หลับตาแล้วก็เห็นเป็นรูปร่างสัณฐานของกาย พอมันไม่เห็นขึ้นมามันไม่เอาขึ้นมา จิตมันไม่ปรุงขึ้นมา มันหายไปรูปร่างหายไป ผู้ปฏิบัติบางทีก็เกิดความไม่เข้าใจคิดว่าไม่ได้ดูของจริง ไม่เห็นตัวเองเสียแล้ว แล้วจะมัวไปค้นหาอยู่เพราะเข้าใจว่านั้นคือของจริง เพราะชินชาติดมาอยู่กับสมมติ ที่นี้ผู้ปฏิบัติก็ต้องเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือสมมติ ต้องลบ

สัญญาวิปลาสความจำที่คลาดเคลื่อน จำไว้ผิด จำเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นสัณฐานเป็นตัวตนไว้ แต่เราเข้าใจว่านี่คือของจริง มันก็เลยขยายออกไปเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น การสัมผัสรู้เข้าไปในสภาวะจริงๆนั้น จะต้องปลอดจากรูปร่างสัณฐาน ไม่มีรูปร่างแขนขาหน้าตาอวัยวะแห่งกาย เวลามันทิ้งไปแล้วมันหายไปแล้วก็ไม่ต้องไปค้นหาดู ค้นหานี่มันจะต้องนึก การตรึกการนึกเข้าไปสู่สมมติอีก

หรือว่าบางครั้งนั่งไปแล้วสัณฐานของกายมือเท้ามันเปลี่ยนแปลง มีลักษณะตัวมันใหญ่ขึ้นตัวมันสูงขึ้น มือมันไปคนละทาง มือมันบิดมันงอ นี่แหละสมมติมันไม่มีสภาพคงทนต่อการพิสูจน์ มันจึงไม่ใช่ของจริงมันแล้วแต่ว่าจิตจะปรุงอย่างไร สัญญาที่จำไว้ว่าอย่างไร สัญญามันปรุงมันจำไปอีกอย่างมันก็บิดเบี้ยวไป ตัวสูงตัวใหญ่เป็นถ้ำเป็นเหวเป็นเขาไปก็ได้ นี่น่ะสมมติไม่มีสภาวะ ถ้าเป็นสภาวะเป็นปรมัตถ์แล้วมันจะไม่เปลี่ยนลักษณะของมัน คงทนต่อการพิสูจน์

เวลากำหนดรู้มาที่กาย ถ้าจะดูเพื่อให้มันเกิดสมาธิเราก็ดูรูปร่างดูรูปร่างสัณฐานกาย แต่ก็ต้องรู้ว่านี่คือทำเพื่อสมาธิ ที่เราไปเพ่งดูรูปร่างของกาย ต้องรู้ว่านี่คือทำเพื่อสมาธิ อารมณ์เหล่านี้เป็นบัญญัติ เราก็เพ่งดูก็เป็นกรรมฐานเหมือนกัน รูปร่างสัณฐานของกายก็เป็นกรรมฐาน แต่เป็นกรรมฐานหรือเป็นที่ตั้งของสติเพื่อให้เกิดความสงบ ถ้าเราต้องการทำความสงบก็ดูรูปร่าง

ที่นี้เมื่อดูไปจิตมันสงบมีสมาธิ มีปีติ ถ้ารูปร่างนั้นมันชักจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่กล่าวมาแล้ว มันอาจจะบิดงอมันจะสูงใหญ่ ถ้าเราไปดูรูปร่างอย่างนั้นเรื่อยไปมันก็จะไปกันเรื่อยเฉื่อยไป มโนภาพเหล่านั้นมันก็จะไปได้หลายๆอย่าง ทำให้เราคลาดเคลื่อนจากสติสัมปชัญญะจริง ๆ

ฉะนั้นเมื่อจะน้อมเข้าสู่ทางเดินของวิปัสสนาก็จะต้องรู้เข้าสู่ความรู้สึก อย่างในขณะนั่งไปดูกายเห็นเป็นรูปร่างเป็นตัวรูปร่างแขนขา หรือตัวมันใหญ่มันสูงมันหนา ก็อย่าไปดู พอจะเข้าสู่วิปัสสนาอย่าไปดูรูปร่าง ให้สังเกตที่ความรู้สึกความไหวความสะเทือนความกระเพื่อมความเบา แต่อย่าไปดูทรวดทรงของกาย ถ้าดูทรวดทรงของกายมันเป็นสมถะ มันจะไปใหญ่ แต่จิตของผู้ปฏิบัติในขณะนั้นจะรู้สึกสงบสบาย ไม่เมื่อยไม่ปวด นั่งได้นาน นั่นแสดงว่ามันถึงมันมีสมาธิ

น้อมเข้าสู่วิปัสสนาก็รู้เข้าสู่ความรู้สึก แต่บางคนก็อาจจะติดทิ้งไม่ออก ดูแล้วก็ยังเป็นรูปร่างอยู่ อันนี้ก็ต้องดูเข้ามาที่จิตช่วย ดูเข้ามาที่จิต รู้เข้ามาที่จิต ดูความรู้สึกในจิต ไม่ได้ตั้งใจไม่ต้องไปจ้องเพ่งอยู่ที่กายแต่มันจะรับรู้ในความรู้สึกที่กายด้วย อย่างนี้มันก็จะไม่ขยายจะไปปรุงออกไปสู่รูปร่างสัณฐาน ดูที่จิตมันก็จะคืนเข้าสู่สภาพความเป็นปรกติ

การปฏิบัติก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่เอาบัญญัติมาใช้เลย แต่ให้รู้ว่าเมื่อเข้าสู่วิปัสสนาจริงๆ นั้นจะต้องรู้ปรมัตถ์ให้ล้วนๆให้มากที่สุด คัดบัญญัติออกไปให้สิ้นเชิงที่สุด แต่ในขณะที่ดำเนินการปฏิบัติในเบื้องต้นในขั้นฝึกหัดก็สามารถที่จะเอาบัญญัติมาใช้เพ่ง คือว่าเป็นการปฏิบัติมีการทำสมถะบ้างแล้วก็มาเป็นวิปัสสนา หรือว่าบางขณะเป็นสมถะบางขณะเป็นวิปัสสนา ก็แล้วแต่ว่าเราจะใช้

การจะเข้าไปรู้สภาวะที่ละเอียดที่กายมันก็ต้องมีสมาธิ เพราะสมาธิธรรมดาขณิกสมาธิก็จะรับความรู้สึกหยาบๆได้ ความไหวความสะเทือนความกระเพื่อมหยาบๆ แต่ไม่สามารถจะรับให้ละเอียดให้ลึก ๆ ลงไปที่ละเอียดบางเบา อันนั้นต้องมีสมาธิขึ้นการให้มันมีสมาธิก็อาจจะจงใจให้มันมีสมาธิก็ได้ หรือว่าไม่ได้จงใจพัฒนาทางด้านสติสัมปชัญญะ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งสมาธิก็จะเกิดร่วมขึ้นมาได้เอง

วิธีจงใจก็คือต้องเพ่งไปสู่บัญญัติ เช่น การเพ่งลมหายใจเข้าออก ดูความหมายของลมเข้าลมออก หรือเพ่งรูปร่างสัณฐานของกาย หรืออย่างอื่นก็แล้วแต่ ซึ่งมีอารมณ์หลายชนิดหลายอย่างที่จะทำให้เกิดสมาธิ เมื่อเราได้สมาธิอย่างนั้นก็ขยายเข้ามาสู่วิปัสสนา ปล่อยจากสมมติบัญญัติเข้ามารู้ในความรู้สึก อันนี้เรียกว่าจงใจตั้งใจทำให้มันเกิดสมาธิก่อน แต่ก็ไม่ใช่สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เอาแต่อุปจารสมาธิ พอที่จะรับรู้อารมณ์ต่างๆ พิจารณาอารมณ์ต่างๆ ได้

อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าทำสติระลึกรู้รูปนามต่างๆ คือเป็นปรกตินี่แหละ รู้ให้ทันมีความรู้มีความปล่อยให้ทันๆ ทำมากขึ้นๆๆ มันก็มีสมาธิเกิดร่วมได้ มันจะมีสมาธิขึ้นมาได้เองถ้าสติทันอยู่กับปัจจุบันแล้วก็มีความปล่อยมีความวาง แม้แต่ดูจิตอยู่ดูจิตรู้จิตตรงสมาธิก็เกิดร่วมได้ ผู้ปฏิบัติจะเห็นชัดถึงว่าความสงบมันจะลงไปอีกชั้นหนึ่งจากขณิกสมาธิที่รู้ปรกติธรรมดา มันจะแนบเนียนลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันก็จะทำให้ไปรับความละเอียดของสภาวธรรมได้ คือเข้าไปสัมผัสรูปนามที่ละเอียดได้อีก

แต่ทั้งนี้ก็ต้องพัฒนาไปให้มันสมดุลกัน สมาธิมากเกินไปสติสัมปชัญญะไม่พอไม่ทันกันก็ไม่เห็นไม่สามารถจะเห็นสภาวธรรม ก็ต้องพัฒนาสติสัมปชัญญะให้ทันกันไปกับสมาธิ หรือสมาธิมันน้อยนิวรณ์มันก็เข้ามาได้ง่าย เจริญวิปัสสนาที่ใช้ขณิกสมาธิจะต้องพบกับนิวรณ์ต่าง ๆ ความฟุ้งซ่านความรำคาญใจ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ สงสัยนี่จะต้องเข้ามา จะเข้ามาก็เอาสิ่งนั้นน่ะมาดูมาพิจารณา มาเป็นอารมณ์ของสติซะเลย

ฉะนั้นการเจริญวิปัสสนาโดยตรงมันไม่ใช่ว่าจะราบรื่นด้วย มีแต่ความสงบสบายตลอด มันจะต้องมีนิวรณ์สลับเข้ามาบ้าง เมื่อมีนิวรณ์ก็เอานิวรณ์เป็นสิ่งที่กำหนดรู้ไปเป็นกรรมฐานไป รำคาญ อย่าไปเกลียดชังกับนิวรณ์ เวลาฟุ้งก็ทำใจให้เป็นกลางดูความฟุ้ง ดูแบบปล่อยวาง รับรู้รับทราบเท่านั้น ไม่ต้องไปคิดให้มันหาย ไม่ต้องบังคับให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

อันนี้ก็เป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ อาตมาคงใช้เวลามาตามสมควรแล้ว ก็คงจะยุติการปรารภธรรมะไว้แต่เพียงเท่านี้ ที่สุดนี้ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ


ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13407


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร