วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.พ. 2012, 00:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต หรือภาวะที่จิตตั้งมั่นนี้ เป็นคำแปลตามตัวอักษร แต่ความหมายของสมาธิที่ใช้ในที่ทั่วไป หาได้จำกัดเพียงแค่คำแปลตามตัวหนังสือเท่านั้นไม่

เมื่อจิตตั้งมั่นนั้น นอกจากจิตใจจะแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำหนด หรือตามต้องการเกี่ยวข้องเพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียวได้แล้ว มันยังพ่วงเอาคุณสมบัติ หรือองค์ธรรมอื่นๆ มาด้วยอีกหลายอย่าง ทั้งองค์ธรรมหรือคุณสมบัติที่นำหน้า หรือที่จำเป็นต้องมีมา เพื่อช่วยให้มันเกิดขึ้น ทั้งองค์ธรรมร่วมที่ช่วยพยุง หรือคอยค้ำจุนให้มันคงอยู่ และทั้งองค์ธรรมที่อาศัยพลอยติดตามมันมา

เมื่อจิตเป็นสมาธิ หรือพูดง่ายๆ ว่า เมื่อเรามีสมาธิ จิตใจก็จะมีความเข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง แกล้วกล้า เข้าประจันกับสิ่งที่กำหนดหรืองานที่ทำ ไม่หดหู่ ไม่ท้อแท้ ถดถอย จะมีสติกำกับอยู่ ตื่นตัว หรือมีใจอยู่กับตัว ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย จะมีความสงบ ซึ่งมาพร้อมด้วยความเยือกเย็น สบายใจ ความผ่อนคลาย ความเอิบอิ่มใจ ปลอดโปร่ง ผ่องใส และความสุข

ในภาวะจิตที่เป็นสมาธิ ความรำคาญ ความเร่าร้อน หงุดหงิดใจ ความเบื่อหน่ายนี่ อยากได้โน่น ความวิตกกังวล ความขุ่นมัวหม่นหมอง ความอึดอัดขัดใจ การสิ้นไป ไม่อาจแทรกแซงเข้ามาครอบงำ

ตรงข้าม จิตใจนั้นนุ่มนวล อ่อนโยน เบาสบาย พร้อมที่จะรับการฝึกฝนพัฒนา หรือการบ่มอบรมและปลูกฝังคุณธรรมทั้งหลาย เช่น เมตตา กรุณา คารวธรรม และความมีวินัย เป็นต้น กับทั้งพร้อมที่จะเรียนรู้ และใช้ความคิดอย่างได้ผลดี ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนเจริญปัญญา จนเข้าถึงญาณที่หยั่งรู้สัจจธรรม

ในองค์มรรค 8 ประการ เมื่อจัดรวมกลุ่มให้เหลือ 3 พวก เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ท่านจึงประมวล สัมมาวายามะ เพียรชอบ, สัมมาสติ ระลึกชอบ, และสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ จัดเป็นหมวดสมาธิ

ในกรณีเช่นนี้ คำว่า "สมาธิ" คำเดียว ก็คลุมความหมายขององค์มรรคทั้ง 3 ข้อนั้น คือ ทั้งความเข้มแข็ง เพียรพยามยาม ความมีสติระลึกนึกได้ มีใจอยู่กับตัว และความมีใจแน่วแน่ แนบสนิทอยู่กับกิจที่กระทำ หรือเรื่องที่ต้องการเกี่ยวข้อง

กระบวนการศึกษาที่เรียกว่า "ไตรสิกขา" ซึ่งประกอบด้วย อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา นั้น เมื่อพูดกันสั้นๆ ท่านก็เรียกเพียงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา….คำว่า "สมาธิ" ในที่นี้แทนคำว่า อธิจิตตสิกขา ซึ่งหมายถึงการฝึกฝนอบรมบ่มพัฒนาจิตใจ ให้ดีงามเจริญแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไปจนเปลี่ยนจากโลกีย์จิต กลายเป็นโลกุตตรจิตในที่สุด

คำว่า "สมาธิ" ที่ใช้ในกรณีเช่นนี้ จึงมีความหมายกว้างขวางอย่างยิ่ง คือ ครอบคลุมการปฏิบัติทางจิต การเสริมพลัง และคุณภาพจิต การทำจิตใจให้ดีงามทุกอย่างดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า บรรดาการปฏิบัติทางจิตที่พ่วงพันกัน อันมีสมาธิเป็นแกนกลาง หรือพูดอย่างสมัยใหม่ว่า "การบริหารและพัฒนาจิตบนฐานแห่งสมาธิ" และโดยนัยแห่งการพูดอย่างสมัยใหม่ เช่นนั้น การบริหารและพัฒนาจิตที่เรียกว่า "สมาธิ" ก็เป็นไปใน 3 ด้าน คือ

1. คุณภาพจิต คือ การสร้างเสริมจิตใจให้ดีงามเจริญเพิ่มพูดด้วยคุณธรรม เป็นจิตใจที่สูง ประณีต เช่นประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา หิริ โอตตัปปะ คารวะ กตัญญู เป็นต้น

2. สมรรถภาพจิต คือ การฝึกฝนพัฒนาจิตใจให้เข้มแข้ง มั่นคง หนักแน่น ทนทาน แน่วแน่ มีความเพียร มีสติ มีขันติ พร้อมด้วยพลัง และความสามารถ เป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน อย่างที่ท่านเรียกว่า นุ่มนวล ควรแก่งาน (กัมมนีย์) โดยเฉพาะงานทางปัญญา คือการที่จะคิดพิจารณา ให้เห็นความจริงแจ่มแจ้งชัดเจน

3. สุขภาพจิต คือ การทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ผ่องใส ปราศจากความขุ่นมัว หม่นหมอง หดหู่ เหี่ยวแห้ง หรือโศกเศร้า ให้มีความสดชื่น ร่าเริง เบิกบาน เอิบอิ่ม สงบและเป็นสุข

การเจริญสมาธิ หรือบำเพ็ญสมาธิ ซึ่งทำให้จิตพัฒนางอกงามด้วยคุณสมบัติทั้ง 3 ประการ คือ คุณภาพจิต สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิต ดังกล่าวมานี้ เรียกว่า สมาธิภาวนา

ผู้ที่จะพัฒนาชีวิตของตนโดยมุ่งหวังให้เป็นชีวิตที่ดีงาม มีความสามารถ ประกอบด้วยคุณธรรม มีความสุขเจริญงอกงาม ด้วยปัญญาที่จะนำไปสู่ความรู้แจ้งสัจจธรรม และชีวิตอันเกษมสมบูรณ์ พึงเจริญสมาธิภาวนา


:b8: ที่มา : http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/samadhi_in_buddhism_%28thai%29.pdf

:b44: รวมคำสอน “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)”‏
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=48552


………………………………
" สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ
คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ "
จาก..มหาปรินิพพานสูตร 10/87


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร