วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2010, 14:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ หลังจากที่ผู้เขียนได้รับหนังสือธรรมะจากคุณสินีนาฏ ประเสริฐภักดี ชมรมเพื่อนคุณภาพ ต้องขอขอบคุณกัลยาณมิตรผู้มีเมตตาท่านนี้ที่ส่งมาให้อ่าน เป็นหนังสือธรรมะ ๓ เล่ม โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ชื่อว่า แด่เธอผู้รู้สึกตัว, ปกติ และพลิกโลกเหนือความคิด เมื่อได้อ่านแล้วสรุปได้ความว่าหลวงพ่อเทียน ท่านคิดค้นด้วยตัวของท่านเองถึงวิธีเจริญสติด้วยการเคลื่อนไหว คว่ำฝ่ามือ หงายฝ่ามือ ขึ้นลงรวม ๑๔ จังหวะ ท่านว่าเป็นวิธีที่ตรงและง่ายที่สุดลัดที่สุดที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างรวดเร็วที่สุดไม่เกิด ๓ เดือน อย่างกลางไม่เกิน ๑ ปี และอย่างช้าที่สุดไม่เกิน ๓ ปี ท่านเชิญให้ท้าพิสูจน์ได้ มีวัดในสายการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้อยู่ทั่วประเทศมากกว่า ๖๐ แห่ง และแห่งที่ใกล้บ้านผู้เขียนที่น่าสนใจมากที่สุดคือ วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดสนามใน และพกพาเอาความสงสัยไปด้วยคิดว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวันด้วยการตามรู้ไป ทุกอิริยาบถที่ผู้เขียนปฏิบัติอยู่นี้ก็นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจอยู่แล้ว เป็นต้นว่าทุกข์น้อยลงและสังเกตเห็นความโกรธเกิดและดับอย่างรวดเร็ว ส่วนการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวคว่ำมือหงายมือน่าจะเป็นการสร้างรูปแบบที่ทั้ง จำกัดด้วยอิริยาบถ ทั้งเป็นการจ้องเพ่งดูอาการเคลื่อนไหว น่าจะเป็นการสร้างสมาธิมิเป็นการปฏิบัติแบบสมถกรรมฐานไปหรือ?

ในวันนั้นได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ ๒ รูป เป็นเวลา ๓ชั่วโมงเศษ ท่านแรกคือพระอาจารย์โทน (โทนี่) เป็นพระภิกษุชาวเนเธอร์แลนด์อายุ ๔๓ ปี พรรษา ๑๙-๒๐ ปี พูดไทยชัดเจน ท่านได้เมตตาอธิบายให้ฟังว่าการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้สำคัญและจำเป็น เพราะเป็นการสร้างสติให้มีกำลังโดยไม่เพ่งจ้อง เพียงแต่สังเกตรู้การเคลื่อนไหวทีละจังหวะ แล้วให้รู้สึกว่าจบไปทีละจังหวะ แล้วจังหวะใหม่ก็เกิดขึ้นแล้วก็จบอีก จบอีก ไปทีละจังหวะๆ จนครบ ๑๔ จังหวะ มิใช่ทำติดต่อกันรวดเดียว ๑๔ จังหวะ จะเป็นการช่วยกระตุ้นสติให้รู้สึกตื่นตัวติดต่อเป็นลูกโซ่ต่อกันไป จะเห็นรูป-นาม เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับๆ ได้เร็ว ควรจะหาเวลาว่างปฏิบัติไปด้วยกันทุกวันพร้อมๆ กับอิริยาบถย่อย จะทำให้เกิดสติดีขึ้นเร็ว มีพละกำลังมากและมั่นคง

ส่วนอีกท่านหนึ่งคือพระอาจารย์คำไม ฐิตสีโล ท่านเดินทางมาจากจังหวัดเลย มาปฏิบัติหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดสนามในชั่วคราวจนกว่าหลวงพ่อทอง อาภากโร เจ้าอาวาสจริงจะกลับจากการสอนธรรมต่างประเทศพระอาจารย์คำไม มีอายุและพรรษาพอกันกับพระอาจารย์โทน วันนั้นสนทนาธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติเจริญสติหลายแง่หลายมุม ได้เมตตาให้คำแนะนำผู้เขียนว่า ตามที่ผู้เขียนได้ปฏิบัติโดยวิธีเจริญสติทุกปัฏฐานในชีวิตประจำวันนั้นถูก ต้องแล้ว แต่ถ้าหากสติเผลอหรือหลุดบ่อยๆ ควรเจริญสติด้วยการคว่ำมือหงายมือด้วย จะทำให้การเผลอสติสั้นลงๆ และไม่เผลอในที่สุด แม้หลวงพ่อเทียนเองขณะกำลังป่วยและใกล้มรณภาพท่านยังเจริญสติด้วยวิธีนี้จน วาระสุดท้ายของชีวิต ท่านพระอาจารย์คำไม ยังเมตตาแนะนำวิธีแก้วิปัสสนูปกิเลสรวม ๓ ด่านให้ด้วย ได้แก่ ด่านแรกจะเกิดญาณหยั่งรู้จะมีอาการอยากพูดอยากสอน อยากให้คนอื่นมารู้ด้วย ด่านต่อมาคือ จินตาญาณจะมีธรรมผุดขึ้นนึกถึงธรรมะเป็นเรื่องเป็นราวลำดับขั้นตอน บางทีถึงกับรำพึงรำพันพูดหัวข้อบรรยาย ธรรมะคนเดียว และด่านที่ ๓ จะเกิดอาการวิปลาส คือ เห็นผิดไปว่ามีแต่ สุข สุภ นิจจังและอัตตา ไม่มีทุกขัง อสุภ อนิจจัง อนัตตา ท่านแนะวิธีแก้ว่า ให้รู้เข้ามาที่ตัวเราให้มากขึ้น ก็จะผ่านวิปัสสนานูปกิเลสเหล่านั้นไปได้ท่านว่าผู้ปฏิบัติบางคนจะได้ธรรมะ เห็นรูป-นาม ขาดจากกันได้เร็วเพียง ๓๐ วันก็มี บางคนเร็วกว่านี้ก็มี

หลังจากกได้สนทนาธรรมแล้ว ทำให้ผู้เขียนหายข้องใจเกิดความกระจ่างแจ้งหมดทุกข้อ หายสงสัย และถึงบางอ้อ เกิดปัจจัยตังกับตัวเองว่าวิปัสสนูปกิเลส ๓ ด่านมันเป็นอย่างนี้นี่เอง!

หลังจากวันนั้นแล้ว ผู้เขียนก็เริ่มลงมือปฏิบัติเคลื่อนไหวคว่ำมือ-หงายมือ ทำไป ทำไปไม่กี่ครั้ง เริ่มรู้สึกสนุก เพลิน ฯลฯ จึงขอเรียกการปฏิบัตินี้ว่า “ฝ่ามืออรหันต์”

จึงอยากขอแนะนำว่า ถ้ามีโอกาสควรเข้าไปฝึกปฏิบัติตามแบบวิธีของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ดูบ้าง อาจถูกกับจริตนิสัยและก็จะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น

วัดสนามใน มีพื้นที่ประมาณ ๗-๘ ไร่ มีศาลาใหญ่เป็นอาคารถาวร๒ ชั้น ๑ หลังอยู่กลางและล้อมรอบด้วยห้องกรรมฐานเล็กๆ ขนาด ๒x๒ เมตรสำหรับพระและอุบาสก ๔๐ หลัง อยู่ด้านหนึ่ง และสำหรับอุบาสิกาอีกด้านหนึ่ง๓๓ หลัง มีโรงครัวศาลาและลานปฏิบัติธรรม สามารถเข้าปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา และจะพักอยู่ปฏิบัติกี่วันก็ได้ตามสะดวก ติดต่อรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์หมายเลข ๐๒-๘๘๓๗๒๕๑ มีผู้ปฏิบัติเดินทางไปพักค้างปฏิบัติมากบ้างน้อยบ้างตามโอกาส ควรโทรศัพท์สอบถามเรื่องที่พักก่อนที่จะเดินทาง

มรณานุสสติ

คืนและวันพลันดับลงลับล่วง ท่านทั้งปวงจงอุตส่าห์หากุศล
พลันชีวิตคิดถึงรำพึงตน อายุคนนั้นไม่ยืนถึงหมื่นปี

อันความตายชายนารีหนีไม่พ้น จะมีจนก็ต้องตายวายเป็นผี
ถึงแสนรักก็ต้องร้างห่างทันที ไม่วันนี้ก็วันหน้าจริงหนาเรา
ฯลฯ
(สุนทรภู่)

ที่มาhttp://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1130.php

รูปภาพ

แด่เธอผู้รู้สึกตัว และเดินทางลัด ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ประจักษ์ได้ด้วยการรู้
พึงเห็นได้ด้วยตนเอง
วิธีปฏิบัติการเจริญสติ

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักหน้าที่ของเรา หน้าที่ของมนุษย์คือการปฏิบัติธรรม หน้าที่ของมนุษย์คือการสอนมนุษย์ให้เป็นมนุษย์

ดังนั้น เราจึงควรดูที่ตัวของเราเองก่อน เราควรพิจารณาตัวของเราเองก่อน เราควรสอนตัวของเราเองก่อน ถ้าเราทำชีวิตของเราให้สูญไปโดยไร้ประโยชน์ เราไม่สามารถจะซื้อมันกลับมาได้อีก ถ้าเราปล่อยให้ชีวิตของเราเป็นทุกข์เราทำชีวิตของเราให้สิ้นเปลือง พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนอะไรอื่นนอกจากการดับทุกข์ แต่เมื่อเราไม่รู้เราแสวงหาออกนอกตัวเรา แต่ทุกข์ชนิดนั้นมิได้ดำรงอยู่ คำสอนของผู้เป็นครูของโลกทั้งหลายเปรียบเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า แต่ใบไม้ที่สามารถนำมาทำยาได้มีเพียงเล็กน้อย อย่าได้เอามาทั้งหมดทั้งรากและลำต้น เมื่อมาปฏิบัติกรรมฐาน หรือวิปัสสนา เราควรจะเอาเฉพาะสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิด สามารถดับทุกข์ที่ต้นเหตุของมันสามารถทำลายโมหะ เราเอาเฉพาะแก่น แก่นของคำสอนที่ข้าพเจ้าพูดถึงอยู่นี้คือการมีสติ มีปัญญา เห็นความคิด เมื่อความคิดเกิดขึ้น เห็นมัน รู้มันเข้าใจมัน รู้มันในทุกลักษณะที่มันเกิด และรู้ถึงวิธีป้องกันมิให้มันมาลวงเรา

ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใด นั่นคือที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ ไม่มีใครจะทำแทนเราได้ ไม่ว่าเราจะไปที่ใดเราเป็นบุคคลที่ไป ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด เราเป็นบุคคลที่อยู่ นั่ง กิน ดื่ม นอนหลับ เราเองเป็นผู้กระทำ ถ้าเราเป็นบุคคลที่รักษาศีลหรือให้ทาน เราสามารถปฏิบัติได้ และถ้าเราเป็นบุคคลที่ไม่เคยกระทำสิ่งเหล่านี้ เราก็สามารถปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน การช่วยเหลือบุคคลอื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ดีในทางโลก ส่วนการปฏิบัติเจริญสติ สมาธิ ปัญญา นั้นดีในทุกๆ ทาง ดังนั้นก่อนที่เธอจะสอนผู้อื่นเธอควรจะฝึกฝนตนเองกระทั่งเธอเห็น รู้ และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและอย่างแท้จริง เมื่อเธอเห็นจริง รู้จริง และเป็นจริงแล้วเธอจะสามารถสอนผู้อื่นได้อย่างสบาย

ดังนั้น การปฏิบัตินี้เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง เราต้องสอนตัวเราเอง เราต้องเห็นด้วยตัวของเราเอง เราต้องรู้ด้วยตัวของเราเองเราต้องเข้าใจด้วยตัวของเราเอง เราต้องทำด้วยตัวของเราเอง ดังนั้นเธอไม่จำเป็นต้องสนใจในบุคคลอื่น เพียงปฏิบัติการเคลื่อนไหวนี้ให้มาก ทำเฉยๆ ไม่รีบร้อน ไม่ลังเลสงสัย ไม่คาดคิดล่วงหน้า และทำโดยไม่คาดหวังผล ให้ง่ายๆ และเพียงแค่เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวทีละครั้ง และรู้ เมื่อเธอไม่รู้ ปล่อยมันไป เมื่อเธอรู้ ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้ บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้ เมื่อร่างกายเคลื่อนไหว รู้มัน เมื่อจิตใจเคลื่อนไหว รู้มัน การปฏิบัตินี้เป็นการปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นให้ผ่อนคลายและให้เป็นธรรมชาติ เป็นปกติธรรมดา จงตั้งใจปฏิบัติจริงๆและปฏิบัติอย่างสบายๆ

วิธีของการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

เมื่อเราขึ้นรถหรือลงเรือ และนั่งลงเรียบร้อยแล้ว เราพลิกมือขึ้นพลิกมือลง เราเคลื่อนมือ เหยียดมือ หรือคลึงนิ้วมือ กะพริบตา หายใจกลืนน้ำลาย และอื่นๆ ให้รู้สึกตัวถึงการเคลื่อนไหวเหล่านี้ มันเป็นวิธีที่เรียกความรู้สึกให้กลับมาที่ตัวของเราเอง เมื่อความคิดเกิดขึ้นให้รู้ถึงความคิดนั้นและปล่อยวาง

วิธีของการเจริญสติเมื่อเราอยู่บ้าน

เราอาจจะนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งเหยียดขา เราอาจจะยืนหรือนอนสร้างจังหวะได้เช่นเดียวกัน เมื่อเราเดินจงกรม (เดินกลับไปกลับมาระยะประมาณ ๘ – ๑๒ ก้าว) เราต้องไม่แกว่งแขน เราอาจกอดอกหรือเอามือประสานไว้ข้างหน้า หรือประสานไว้ข้างหลังก็ได้ วิธีปฏิบัติในท่านั่งมีดังนี้

รูปภาพ

ภาค ๑ : อารมณ์สมมุติ

ต้องรู้ รูป-นาม (ร่างกาย-จิตใจ) ต้องรู้ รูปทำ-นามทำ ต้องรู้รูปโรค-นามโรค รูป-โรค-นามโรคมีสองชนิด โรคในทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือมีบาดแผล เราต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โรคทางจิตใจ คือ โทสะ โมหะ โลภะ (ความโกรธ, ความหลง, ความโลภ) ในการแก้ไขเราต้องใช้วิธีของการเจริญสตินี้

ต่อไปต้องรู้ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา (ทนไม่ได้, ไม่เที่ยง, บังคับควบคุมไม่ได้)
แล้วต้องรู้ สมมุติ (สิ่งที่ยอมรับตกลงกัน) ไม่ว่าสมมุติ อะไรในโลกรู้ให้ถึงที่สุด

แล้วต้องรู้ ศาสนา (“คำสอน”) ต้องรู้ พุทธศาสนา (“คำสอนของพระพุทธเจ้า”) ศาสนาคือคนทุกคนไม่ยกเว้น ศาสนาหมายถึงคำสอนของท่านผู้รู้ รู้พุทธศาสนา พุทธะหมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรมซึ่งได้แก่ สติ สมาธิ ปัญญา (การรู้ตัว, การตั้งใจ, การรู้) ดังนั้นเราจึงเจริญปัญญา
แล้วต้องรู้ บาป (“ความชั่ว, ความมัวหมอง”) ต้องรู้ บุญ (“ความดี, คุณงามความดี”) บาปคือความมืด ความโง่ การไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นอย่างไรบุญคือความฉลาด การรู้ การรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ใครก็ตามที่ไม่รู้เรียกว่าเป็นผู้ยังไม่มีบุญ
จบภาคที่ ๑ จะเกิดอุปสรรคขึ้นที่จุดนี้ เพราะว่าเรายึดติดในความรู้ของวิปัสสนุ วิปัสสนุ (เครื่องเศร้าหมองของความรู้ภายใน คือเมื่อเรารู้ออกนอกตัวของเราไม่สิ้นสุด เราจะต้องถอนตัวออกมา เราจะต้องไม่เข้าไปในความคิด

ภาค ๒ : อารมณ์ปรมัตถ์

ใช้สติดูความคิด เมื่อความคิดเกิด รู้มัน เห็นมัน เข้าใจมัน สัมผัสมัน ทันทีที่ความคิดเกิด ตัดมันทิ้งไปทันที ทำเหมือนแมวตะครุบหนู หรือเหมือนนักมวยที่ขึ้นเวทีต้องชกทันที เขาไม่จำเป็นต้องไหว้ครู ไม่ว่แพ้หรือชนะนักมวยต้องชก เราไม่ต้องคอยใครหรือเหมือนกับการขุดบ่อน้ำ เมื่อเราค้นพบน้ำ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตักโคลน ตักเลนออก ตักน้ำออกจนหมดน้ำเก่าเอาออกให้หมด บัดนี้น้ำใหม่จากภายในจะไหลออกมา เราจะต้องกวนที่ปากบ่อ ล้างปากบ่อ ล้างโคลน ล้างเลนออกให้หมด ทำมันบ่อยๆ น้ำจะใสสะอาดโดยตัวของมันเอง เมื่อน้ำใสสะอาดมีอะไรตกลงไปในบ่อ เราจะรู้เห็นและเข้าใจทันที การตัดความคิดก็เช่นเดียวกัน ยิ่งเราตัดเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น

แล้วให้เราเห็น วัตถุ (สิ่งที่มีอยู่) เห็น ปรมัตถ์ (สิ่งที่กำลังมีอยู่เป็นอยู่ สัมผัสอยู่) เห็น อาการ (การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่กำลังมีอยู่) วัตถุหมายถึงของที่มีอยู่ในโลก ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวคนและจิตใจของคนและสัตว์ปรมัตถ์ หมายถึงของที่มีอยู่จริง เรากำลังเห็นกำลังมีกำลังเป็นเดี๋ยวนี้ต่อหน้าต่อตาของเรา สัมผัสกได้ด้วยจิตใจ อาการ หมายถึงการเปลี่ยนแปลง สมมุติเรามีสีย้อมผ้าอยู่เต็มกระป๋อง เดิมคุณภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเรานำมาย้อมผ้ามันจะติดเนื้อผ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเรารู้ เราเห็น เราสามารถสัมผัสด้วยจิตใจ สียังเต็มกระป๋องเหมือนเดิม แต่คุณภาพได้เสื่อมไปแล้ว นำมันไปย้อมผ้ามันจะไม่ติดเนื้อผ้า สิ่งที่เราต้องเห็นจริงๆ ต้องรู้จริงๆ

แล้วเห็น โทสะ โมหะ โลภะ
แล้วให้เราเห็น เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ (การรู้สึก-การจำได้-การปรุงแต่ง-การรับรู้) เห็นมัน รู้มัน และสัมผัสมัน เข้าใจสิ่งนี้จริงๆเราไม่ต้องสงสัย

บัดนี้ จะเกิด ปีติ (ความยินดี) ขึ้นเล็กน้อย แต่ปีติเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติในชั้นสูง เราไม่ต้องสนใจกับปีตินั้น เราต้องมาดูความคิด นี้คือจุดเริ่มต้นของอารมณ์ปรมัตถ์ของการเจริญสติแบบนี้ของผู้มีปัญญา

ดูความคิดต่อไป จะเกิดความรู้หรือ ญาณ หรือ ญาณปัญญา(ความรู้ของการรู้) ขึ้น
เห็น รู้ และเข้าใจ กิเลส (ยางเหนียว) ตัณหา (ติด, หนักอุปาทาน (ไปยึดไปถือ) และ กรรม (การกระทำหรือการเสวยผล) ดังนั้นความยึดมั่นถือมั่นจะจืดลง จะหลุดตัวออก จะจางหายไป เหมือนดังสีที่คุณภาพเสื่อมไปแล้ว ไม่สามารถจะย้อมติดผ้าได้อีก
จะเกิดปีติขึ้นอีก เราต้องไม่สนใจในปีตินั้น ถอนความพอใจและความไม่พอใจออกเสีย
ดูความคิดต่อไป ดูจิตใจที่กำลังนึกคิดอยู่ จะเกิดญาณชนิดหนึ่งขึ้นเห็น รู้ และเข้าใจ ศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ หรือ อธิศีลสิกขา(ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัด อบรมในทางความประพฤติอย่างสูงๆ”) อธิจิตตสิกขา (“ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิตเพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง”)อธิปัญญา สิกขา (“ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิต เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูงในทางหลุดพ้นหรือถอนราก”) ขันธ์ หมายถึง รองรับหรือต่อสู้สิกขา หมายถึง บดให้ละเอียดหรือถลุงให้หมดไป
ดังนั้น ศีล (ความเป็นปกติ) เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างหยาบ คือ โทสะ โมหะ โลภะ ตัณหา อุปาทาน กรรม เมื่อสิ่งเหล่านี้จืดลง จางลง และคลายลง ศีลจึงปรากฏ
สมาธิ เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างกลาง คือ ความสงบ
เห็น รู้ และเข้าใจ กามาสวะ (อาสวะ คือ “ความใคร่ ความอยาก”) ภวาสวะ (อาสวะ คือ “ความเป็น”) และ อวิชชาสวะ (“อาสวะคือ การไม่รู้”) เพราะกิเลสนี้เป็นกิเลสอย่างกลางซึ่งทำให้จิตใจสงบ
นี้คืออารมณ์หนึ่งของการเจริญสติวิธีนี้ เมื่อเรารู้และเห็นอย่างนี้ เราจะรู้ ทาน (“การ-ให้”) การรักษาศีลและกระทำกรรมฐาน (“การภาวนา”)ทุกแง่ทุกมุม
แล้ว ญาณปัญญา จะเกิดขึ้นในจิตใจ ฯลฯ
จบอารมณ์ของการเจริญสติวิธีนี้ มันจะเป็นอย่างมหัศจรรย์และยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งมีอยู่ในจิตใจของคนทุกคนไม่ยก เว้น ถ้าเรายังคงไม่รู้เดี๋ยวนี้ เมื่อใกล้จะหมดลมหายใจ เราต้องรู้อย่างแน่นอนที่สุด ผู้ที่เจริญสติ เจริญปัญญามีญาณจะรู้ ส่วนผู้ที่ไม่เคยเจริญสติ เจริญปัญญา เมื่อใกล้จะหมดลมหายใจมันจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่เขาไม่รู้ เพราะว่าเขาไม่มีญาณรู้อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการจำหรือการรู้จัก รู้ด้วยญาณปัญญาของการเจริญสติที่แท้ สามารถรับรองตัวเองได้ กล่าวกันว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว ญาณย่อมเกิดขึ้น ให้ระมัดระวังความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น ให้รู้สึกตัวของเธอเองอย่าได้ยึดติดในความสุขหรือสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้น ความสุขก็ไม่เอา ความทุกข์ก็ไม่เอา เพียงกลับมาทบทวนอารมณ์บ่อยๆ จากรูป-นาม จนจบทีละขั้นๆและรู้ว่าอารมณ์มีขั้นมีตอน
แน่นอนทีเดียว ถ้าเธอเจริญสติอย่างถูกต้อง การปฏิบัติอย่างนานที่สุดไม่เกิน ๓ ปี อย่างกลาง ๑ ปี และอย่างเร็วที่สุด ๑ วัน ถึง ๙๐วัน เราไม่จำต้องพูดถึงผลของการปฏิบัตินี้ ความทุกข์ไม่มีจริงๆ

มีการปฏิบัติกรรมฐานต่างๆ อยู่หลายวิธี ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติวิธีต่างๆมาเป็นอันมาก แต่วิธีเหล่านั้นไม่นำไปสู่ปัญญา บัดนี้วิธีที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้คือวิธีที่นำไปสู่ปัญญาโดยตรง ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ถ้าเขารู้วิธีการอย่างถูกต้อง เมื่อปัญญาเกิดขั้นเขาจะรู้ เห็น และเข้าใจด้วยตัวของเขาเอง ดังนั้นวิธีของการพลิกมือขึ้นและลงนี้ คือวิธีสร้างสติ เจริญปัญญา เมื่อมีการปฏิบัติอย่างทั่วถึงโดยตลอดแล้ว มันก็จะสมบูรณ์และเป็นไปเอง

ทุกคนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ยกเว้น ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ว่าเขาจะทำงานอะไร ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาไหน เขาสามารถปฏิบัติได้ทุกคนมีร่างกายและจิตใจ ร่างกายคือวัตถุที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตา เราอาจเรียกมันว่ารูป แต่จิตใจเราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา เราไม่สามารถสัมผัสด้วยมือเราอาจเรียกมันว่า นาม ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน

เมื่อเราสร้างสติ เจริญสติ ปัญญาจะเกิดขึ้นและรู้ด้วยตัวของมันเองเพียงแต่ให้สิ่งที่มีอยู่แล้วได้เติบ โตงอกงามขึ้น สิ่งที่ไม่เป็นจริงเราไม่ต้องทำมันขึ้นมา เมื่อเรารู้รูป-นาม เรารู้ทุกสิ่งและเราสามารถแก้ทุกข์ได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น เราจะไม่ยึดติดใจสมมุติ เมื่อรู้สิ่งนั้นแล้ว เราปฏิบัติความรู้สึกตัวให้มากขึ้นเคลื่อนไหวมือดังที่ข้าพเจ้าแนะนำเธอ บัดนี้ทำให้เร็วขึ้น ความคิดเป็นสิ่งที่เร็วที่สุด มันเร็วยิ่งกว่ากระแสไฟฟ้า

เมื่อสติปัญญาเพิ่มขึ้น มันจะรู้ เห็นและเข้าใจโทสะ โมหะ โลภะเมื่อเรารู้มัน ทุกข์ในจิตใจจะลดลง คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดและคิดว่า โทสะ โลภะและโมหะ เป็นสิ่งปกติ แต่ผู้รู้กล่าวว่า โทสะ โมหะ โลภะ เป็นทุกข์ เป็นของน่าเกลียดสกปรก ดังนั้นเขาจะไม่ให้สิ่งนั้นมาเข้าใกล้นี้เรียกว่า การรู้ชีวิตจิตใจของตนเองซึ่งมีความสะอาด สว่างและสงบ เมื่อเรารู้จุดนี้ มันจะเกิดศักยภาพอันยิ่งใหญ่เหมือนดังลำธารสายเล็กๆ ไหลลงกลายเป็น แม่น้ำใหญ่

ดังนั้น วิธีของการปฏิบัติคือ มีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ รู้อิริยาบถของร่างกาย และการเคลื่อนไหวเล็กๆ เช่น กะพริบตา เหลียวซ้ายแลขวาหายใจเข้าและหายใจออก การเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านี้สามารถเห็นได้ด้วยตาแต่เราไม่อาจเห็นความคิดด้วยตาได้ เราเพียงสามารถรู้และเห็นด้วยสมาธิ สติปัญญา สมาธิที่ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงอยู่นี้ มิใช่การนั่งหลับตา สมาธิ หมายถึงการตั้งจิตใจเพื่อให้รู้สึกถึงตัวของเราเอง เมื่อเรามีความรู้สึกตัว อย่างต่อเนื่องนี้เรียกว่าสมาธิ หรืออาจเรียกว่าสติ เมื่อจิตใจคิดเราจะรู้ความคิดทันที และความคิดจะสั้นเข้าๆ เหมือนดังบวกกับลบ ถ้าหากจะพูดก็มีเรื่องจะต้องพูดอีกมาก แต่ข้าพเจ้าประสงค์ให้พวกเธอทั้งหมดปฏิบัติการเคลื่อนไหว ปฏิบัติด้วยตัวของเธอเองโดยวิธีของการเคลื่อนไหว ผลจะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง

การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม
แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม
แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม
อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี
แสวงหาตัวเรานี้
ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ
นี่แหละ จะรู้จะเห็น

ข้อความทั้งหมดนี้ได้คัดลอกจากหนังสือ “แด่เธอผู้รู้สึกตัว” ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ (พันธ์ อินทผิว) หน้าที่ ๙๓-๑๑๓ และประวัติของท่าน พร้อมรายชื่อวัดในสายงานของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ โดยได้รับอนุญาตจากพระภิกษุฉัตรชัย จันทรสโร รองประธานมูลนิธิฝ่ายบรรพชิต ตามหนังสือมูลนิธิ, ลงวันที่ ๒พฤษภาคม ๒๕๔๗ ที่แนบไว้แล้ว

ประวัติโดยสังเขป
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เดิมชื่อ พันธ์ อินทผิว เกิดเมื่อวันที่ ๕กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่บ้านบุฮม ต. บุฮม อ. เชียงคาน จ. เลย บิดาชื่อ จีนมารดาชื่อ โสม บิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก ในสมัยนั้นหมู่บ้านบุฮมยังไม่มีโรงเรียน ท่านจึงไม่ได้เรียนหนังสือ ในวัยเด็กท่านได้ช่วยมารดาทำไร่ทำนา เช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ ในหมู่บ้าน

เมื่ออายุได้ ๑๐ กว่าปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับหลวงน้าที่วัดในหมู่บ้าน ได้เรียนตัวหนังสือลาวและตัวหนังสือธรรม พออ่านออกและเขียนได้บ้าง และได้เริ่มฝึกกรรมฐานตั้งแต่คราวนั้น ท่านได้ปฏิบัติหลายวิธีเช่น วิธีพุทโธ วิธีนับหนึ่ง สอง สาม... หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๑ ปี๖ เดือน ก็ลาสิกขาบทออกมาช่วยทางบ้านทำมาหากิน

เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณี ได้ศึกษาและทำสมาธิกับหลวงน้าอีกครั้งหนึ่ง หลังจากบวชได้ ๖ เดือนท่านได้ลาสิกขาบทออกมา และแต่งงานมีครอบครัวเมื่ออายุ ๒๒ ปี มีบุตรชาย ๓ คน ท่านมักจะเป็นผู้นำของคนในหมู่บ้านในการทำบุญ จนเป็นที่นับถือและได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านถึง ๓ ครั้ง แม้จะมีภาระมาก ท่านก็ยังสนใจการทำสมาธิ และได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตลอดมา

ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่ในตัวอำเภอเชียงคานเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือท่าน ได้ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า เดินเรือค้าขายขึ้นล่องตามลำน้ำโขงระหว่างเชียงคาน-หนองคาย-เวียงจันทน์ บางครั้งไปถึงหลวงพระบาง ทำให้ท่านได้มีโอกาสพบปะกับพระอาจารย์กรรมฐานหลายรูป จึงเกิดความสนใจธรรมะมากขึ้น นอกจากนี้ ท่านยังเห็นว่าแม้จะทำความดี ทำบุญ และปฏิบัติกรรมฐานมาหลายวิธีตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ท่านก็ยังไม่สามารถเอาชนะความโกรธได้ท่านจึงอยากค้นคว้าหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้

ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่ออายุได้ ๔๕ ปีเศษ ท่านได้ออกจากบ้านโดยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่กลับจนกว่าจะพบธรรมะที่แท้จริง ท่านได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดรังสีมุกดาราม ต. พันพร้าว อ. ท่าบ่อ จ. หนองคาย (ปัจจุบันคืออ. ศรีเชียงใหม่) โดยทำกรรมฐานวิธีง่ายๆ คือ ทำการเคลื่อนไหว แต่ท่านไม่ได้ภาวนาคำว่า “ติง-นิ่ง” (ติง แปลว่า ไหว) อย่างที่คนอื่นทำกัน ท่านเพียงให้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายและจิตใจเท่านั้น ในชั่วเวลาเพียง๒-๓ วัน ท่านก็สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด โดยปราศจาก พิธีรีตองหรือครูบาอาจารย์ ในเวลาเช้ามืดของวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐

หลังจากนั้น ท่านได้กลับมาเผยแพร่ชี้แนะสิ่งที่ท่านได้ประสบมาแก่ภรรยาและญาติพี่น้องเป็นเวลา ๒ ปี ๘ เดือน โดยในขณะนั้นท่านยังเป็นฆราวาสอยู่

วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าถ้าหากบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จะทำให้การเผยแพร่ธรรมะสะดวกขึ้น

คำสอนของหลวงพ่อได้แพร่หลายออกไปทั้งในและต่างประเทศ ได้มีผู้ปฏิบัติตามเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อได้อุทิศชีวิตให้กับการสอนธรรมะอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยหรือสุขภาพของร่างกาย จนกระทั่งอาพาธเป็นโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหารเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ถึงแม้ว่าสุขภาพของท่านจะทรุดโทรมลงมาก แต่ท่านก็ยังคงทำงานของท่านต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

หลวงพ่อได้ละสังขารอย่างสงบ ณ ศาลามุงแฝกบนเกาะพุทธธรรมสำนักปฏิบัติ-ธรรมทับมิ่งขวัญ ต. กุดป่อง อ. เมือง จ. เลย เมื่อวันที่ ๑๓กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลา ๑๘.๑๕ น. รวมอายุได้ ๗๗ ปี และได้ใช้เวลาอบรมสั่งสอนธรรมะแก่คนทั้งหลายเป็นเวลา ๓๑ ปี

วัดในสายงานของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

หากท่านสนใจการเจริญสติโดยอาศัยเทคนิคของ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดจากวัดตามรายชื่อดังต่อไปนี้(ส่วนหนึ่ง)
๑. หลวงพ่อทอง อาภากโร วัดสนามใน ต. วัดชลอ อ. บางกรวย จ. นนทบุรี ๑๑๑๓๐ โทร. (๐๒) ๔๒๙-๒๑๑๙
๒. พระอาจารย์มหาดิเรก พุทธยานนโท อาศรมแพร่แสงเทียน ม.๑ ต. แม่ยางฮ่อ อ. ร้องกวาง จ. แพร่ ๕๔๑๔๐
๓. ท่านเจ้าคุณเมธีปริยัติโยดม วัดพระนอนจักรสีห์ ต. จักรสีห์ อ. เมือง จ. สิงห์บุรี ๑๖๐๐๐
๔. พระอาจารย์วิมล จตฺตมโล วัดป่าเขาคงคา บ้านโนนระเวียง ต. โคกกระชาย อ. ครบุรี จ. นครราชสีมา ๓๐๒๕๐
๕. พระอาจารย์เอนก เตชวโร วัดโมกขวนาราม ต. บ้านเป็ด อ. เมือง จ. ขอนแก่น ๔๐๐๐๐
๖. หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ วัดภูเขาทอง ต. ท่ามะไฟหวาน อ. แก้งคร้อ จ. ชัยภูมิ ๓๖๑๕๐
๗. หลวงพ่อจรัญ จรณสัมปันโน สวนป่าอกาลิโก บ้านห้วย หมู่ ๓ ต. หนองโดน อ. จัตุรัส จ. ชัยภูมิ ๓๖๑๓๐
๘. พระมหาสุพรม ปัญญาวโร สำนักสวนพุทธธรรม ต. ปากน้ำ อ. แหลมสิงห์ จ. จันทบุรี ๒๒๑๓๐
๙. พระอาจารย์สุริยา มหาปัญโญ วัดโสมพนัส ต. ภูเพ็ก อ. พรรณนานิคม จ. สกลนคร ๔๗๑๓๐
๑๐. พระอาจารย์คำไม ฐิตสีโล เกาะพุทธธรรม สำนักทับมิ่งขวัญ ต. กุดป่อง อ. เมือง จ. เลย ๔๒๐๐๐
๑๑. สวนธรรมสากล ซ. ๔๑ ถ. เพชรเกษม อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา ๙๐๑๑๐ โทร. (๐๗๔) ๔๒๒-๒๔๗
๑๒. มูลนิธิหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (พันธ์ อินทผิว) ๕๒ ม. ๕ ต.ทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐ โทร. (๐๒) ๔๒๙-๒๑๑๙


ที่มา http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1129.php


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร