ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

อารมณ์ของการปฏิบัติ (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=33711
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  sirisuk [ 09 ส.ค. 2010, 10:37 ]
หัวข้อกระทู้:  อารมณ์ของการปฏิบัติ (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ)

:b42: :b42: :b42:

อารมณ์ของการปฏิบัติ
(หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ)

1...

วันนี้เป็นวันที่ ๑๒ ธันวาคม พวกท่านทั้งหลาย มาปฏิบัติธรรมะ หรือมาเจริญสติในที่นี่ ต้องพยายามตั้งจิตตั้งใจฟังให้ดี จึงจะไม่พลาดผิด การเจริญสติ เจริญปัญญาวิธีนี้ ถ้าทำให้สมบูรณ์แล้ว ต้องเกิดญาณปัญญาเกิดขึ้น เมื่อมีญาณปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีอารมณ์

อารมณ์ขั้นต้นๆ ต้องรู้รูป รู้นาม
แล้วก็ต้องรู้รูปทำ รู้นามทำ
รู้รูปโรค รู้นามโรค

รูปโรค-นามโรค มี ๒ อย่างด้วยกัน โรคทางกาย เช่น โรคทางเนื้อหนัง เจ็บหัว ปวดท้องนี้ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล ให้หมอตรวจและเช็คร่างกายให้ดีแล้ว หมอจะเอายาให้กินมารักษา โรคบางอย่างหายได้ทันที แต่โรคบางอย่างนานๆ อาจจะหายได้ และโรคบางอย่างอาจจะไม่หายก็ได้

แต่โรคทางจิตใจหรือโรคทางวิญญาณนี้ ต้องเจริญสติ เจริญปัญญา ให้ญาณปํญญาเกิดขึ้น รู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจจริง จึงจะหายได้ แล้วก็รู้ทุกขัง รู้อนิจจัง รู้อนัตตา แล้วก็รู้สมมุติ

สมมุติ อะไร ๆ รู้ให้หมด ให้ครบ ให้จบ ให้ถ้วน เช่น ผี เทวดา นรก สวรรค์ อะไรก็ตาม รู้ให้รู้จริงๆ สิ่งที่โลกเขาสมมุติขึ้น

แล้วก็รู้ศาสนา รู้พุทธศาสนา โดยมากคนไม่เข้าใจเรื่องศาสนา กับพุทธศาสนานี้

ศาสนา แปลว่า คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ ศาสนาจึงมีมาก มีหลายอย่างหลายศาสนา มีศาสนาผี ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเทวดา และมีศาสนาพวกคริสต์ พวกอิสลาม หรือศาสนามหายาน และก็มีพุทธศาสนา

คำว่าศาสนานี้ แปลว่าคำสั่งสอน ใครรู้เรื่องอะไร ต้องนำเรื่องนั้นมาสอน แต่คำสอนนั้นต้องสอนให้คนละชั่ว ทำดี พุทธศาสนา คือ ผู้ที่รู้ ผู้ที่ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกว่า พุทธศาสนา เมื่อพูดถึงศาสนานั้น บางคนอาจจะเข้าใจ หรือบางคนยังไม่เข้าใจ แต่ต้องชำแหละหรือพูดแสะออกให้รู้ ให้เข้าใจจริงๆ

ศาสนาที่จริงแล้ว คือ ตัวทุกคนนั่นแหละ เป็นตัวศาสนา ไม่ว่าคนชาติไหน ภาษาใด ไม่ว่าชายหรือหญิง เด็กและผู้ใหญ่ เป็นตัวศาสนาเหมือนกัน

พุทธศาสนา คือ ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญา เข้ามารู้ตัวเอง คือ รู้รูป รู้นาม นี่เองตัวพุทธศาสนา

พุทธศาสนา แปลว่าที่พึ่ง เมื่อรู้จริงแล้ว ต้องพึ่งได้จริงๆ

ศาสนาแปลว่าที่พึ่ง กำจัดทุกข์ กำจัดภัยได้จริง เมื่อรู้จริงๆ แล้ว ต้องไม่ไปอาศัยผี ไม่อาศัยเทวดา และไม่อาศัยฤกษ์งามยามดีทั้งหมดเลย เพราะว่าตัวเองรู้ว่าตัวเองเป็นตัวศาสนาจริงๆ

ท่านผู้ฟังทั้งหลาย จงพยายามฟัง แล้วจดจำนำไปพิจารณา ให้รู้แจ้ง รู้จริง ไม่ใช่รู้จำมาจากคำพูดของคนอื่น และไม่ใช่รู้จำมาจากตำรับตำรา หรือเกิดขึ้นจากธรรมชาติจริงๆ จึงเรียกว่าพุทธศาสนาแก้ทุกข์ และกำจัดทุกข์ได้จริง

รู้บาป รู้บุญ รู้จริงๆ เรื่องนี้

บาปก็คือโง่ หรือมืด หรือไม่เข้าใจนี่เอง คนโง่ คนไม่เข้าใจ คนอื่นหลอกลวงได้ เรียกว่า คนบาป

บุญก็คือ รู้แจ้ง รู้จริง รู้ตัวเองนี่จริงๆ เรียกว่า เป็นบุญ เป็นกุศลจริงๆ

การเจริญสติ เจริญปัญญาวิธีนี้ รู้ได้ทุกๆ คน ไม่ยกเว้น อุปมาเปรียบเทียบให้ฟัง เช่น เม็ดข้าวทุกเม็ด จะเป็นข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ก็ตาม ถ้าหากเป็นเม็ดอ้วนเม็ดเต็มสมบูรณ์แล้ว เอาไปเพาะลงที่ดินที่ชุ่มที่เย็น สามารถแตกดอกออกผลได้เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น การเจริญสติ เจริญปัญญาวิธีนี้ ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ จะเป็นคนชาติไหน ถือศาสนาอะไรก็ตาม รู้ได้ เห็นได้ เข้าใจได้ เช่นเดียวกัน


2....

การเจริญสติ เจริญปัญญา เมื่อสมบูรณ์แล้ว มีญาณปัญญาเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อญาณปัญญาเกิดขึ้นแล้ว แก้ทุกข์ได้จริงๆ เช่น เราทุกข์เพราะเราสงสัย ลังเลใจ เช่นว่า บาป บุญ นรก สวรรค์ หรือเทวดา หมดจริงๆ เรื่องนี้ เช่น เรามีทุกข์เพราะสิ่งเหล่านี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ความทุกข์นั้นจะหมดลดน้อยลงไปอย่างน้อยที่สุดต้อง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และจะเหลืออยู่ภายใน ๔๐ เปอร์เซ็นต์

ความรู้ขั้นเบื้องต้น หรือขั้นต้นๆ เรื่องรูป-นาม เรื่องทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เรื่องสมมุติ เรื่องศาสนา เรื่องพุทธศาสนา เรื่องบาป เรื่องบุญ จบเบื้องต้นเท่านี้ แต่ต้องเจริญสติวิธีนี้ วิธีเคลื่อนไหว ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ ขั้นต้นๆ หรือเบื้องต้นที่จะรู้รูป รู้นาม รู้ทุกขัง รู้อนิจจัง รู้อนัตตา รู้ศาสนา รู้พุทธศาสนา รู้บาป รู้บุญ นี้อย่างนาน ไม่เกิน ๓๐ วันหรือ ๑ เดือน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็พยายามฝึกฝนอบรมตัวเองให้มากๆ ที่พูดให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายวันนี้ พูดเฉพาะในการปฏิบัติเท่านั้น การปฏิบัติหรือเจริญวิปัสสนานั้น มีมาก มีหลายวิธี ข้าพเจ้าได้ทำมา เช่น พุทโธ หายใจเข้า-พุธ หายใจออก-โธ และนับ ๑-๒-๓ ถึง ๑๐ หายใจเข้าว่า ๑ หายใจออกว่า ๒ ถึง ๑๐ แล้วก็นับจาก ๑๐ ลงมาถึง ๑ หายใจเข้าว่า ๑๐ หายใจออกว่า ๙ นับกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ แล้วก็นับตั้งแต่ ๑ ถึง ๒๐ นับตั้งแต่ ๒๐ ลงมาถึง ๑ แต่หายใจเข้าว่า ๒๐ หายใจออกว่า ๑๙ อย่างนี้แหละ

จากนั้นมา ข้าพเจ้าได้ทำสัมมาอรหัง เรียกว่า หายใจเข้าว่า สัมมา หายใจออกว่า อรหัง เหมือนกัน แล้วจากนั้น ยังได้มาทำวิธีพอง-ยุบ หายใจเข้าว่า พองหนอ หายใจออกว่า ยุบหนอ รวมความแล้วว่า เรียกว่า อานาปานสติ ดูลมหายใจเข้าสั้น ออกยาว ลมหยาบ ลมละเอียด ให้รู้ ให้เข้าใจ เมื่อทำไปนานๆ มันเกิดความสงบ คือหลงต้นลม ปลายลมหายใจนี้เอง

วิธีทำความสงบนี้ ข้าพเจ้าสามารถที่จะแนะนำให้ท่านผู้ฟังทั้งหลาย เข้าใจได้ง่ายๆ นี้เรียกว่า สงบมี ๒ อย่าง คือ สงบแบบไม่รู้ เรียกว่า สมถกรรมฐาน ความไม่รู้แปลว่า อยู่ใกล้โมหะ ภาษาตัวหนังสือที่ท่านเขียนเอาไว้ เรียกว่า อวิชชา แปลว่า ไม่รู้ อวิชชานั้น ไม่เป็นภาษาไทย แปลจากตัวหนังสือเป็นภาษาไทยแล้วว่า บอกว่า ไม่รู้ ดังนั้น รากเหง้าของบาปทั้งหมด พูดสั้นๆ ขึ้นอยู่กับความไม่รู้นี่เอง การทำสมถกรรมฐานหรือเจริญวิปัสสนาก็เช่นเดียวกัน ทำไปเพราะความไม่รู้ จึงว่า ไม่มีสติเท่าที่ควร

ตัวอย่าง พระพุทธเจ้าของเรา ก็ได้ทำมาอย่างผิดๆ ถูกๆ มา เช่น ไปศึกษาอยู่กับอาฬารดาบส และอุทกดาบส จนได้สมาบัติแปดนั้น ก็ไม่ใช่เป็นทางดับทุกข์ ไม่ใช่เป็นทางพ้นทุกข์ เป็นเพียงความสงบเท่านั้น เมื่อแก้ทุกข์ แก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ อาจารย์ก็ว่าหมดความรู้ พระองค์ก็ไม่พอพระทัย จึงลาอาจารย์ทั้งสองนั้นหนีไป ศึกษาด้วยตนเอง เช่น กลั้นลมหายใจ ไม่กินข้าว ไม่พูดไม่คุยกับใครทั้งหมด เมื่อทำเช่นนั้น ก็จ่อย-ผอมลง ท่านผู้ฟังทั้งหลาย คงจะเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว สิ่งเหล่านี้

เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์เห็นว่า ไม่ถูกทางแล้ว จึงกลับมาฉันผลไม้ เช่น หมากขามป้อม หมากส้มมอ ที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมา

อันนี้แหละทำให้พระองค์เสียเวลา เสียประโยชน์ ทำให้ช้านาน เพราะความไม่รู้นี่เอง เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเบญจวัคคีย์ทั้งห้า ก็หนีจากพระองค์ไป พระองค์ก็เดินหนีไปคนเดียว ไปพบกับนางสุชาดา เอาข้าวมาบวงสรวงเทวดา นั้นเรียกว่า ศาสนาเทวดา เคยมีการบวงสรวง อ้อนวอน ขอร้อง อย่างนั้นอย่างนี้ เรียกว่า ศาสนาเทวดา ตายแล้วต้องไปเกิดสวรรค์ กับลงมาเกิดเมืองมนุษย์ เราเข้าใจอย่างนั้น

เมื่อพระองค์ได้กินข้าวนางสุชาดาแล้ว ก็จับเอาถาดหรือขัน ไปอธิษฐานที่ริมแม่น้ำ คำอธิษฐานนั้นว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ ฆ่ากิเลสตาย คายกิเลสหลุด ดับทุกข์ได้จริงนั้น ข้าพเจ้าวางถาดหรือขันใบนี้ลงผิว..บน..บนผิวน้ำนี่ จะให้ถาดใบนี้ทวนกระแสของน้ำขึ้นไปถึงต้นน้ำ ว่าอย่างนั้น

ในทางตรงกันข้ามว่า หากว่าข้าพเจ้าจะไม่ตรัสรู้ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ฆ่ากิเลสไม่ตาย คายกิเลสไม่หลุด ดับทุกข์ไม่ได้จริงๆ ข้าพเจ้าวางถาดหรือขันใบนี้ลงไปบนผิวน้ำนี่ ให้มันไหลไปตามกระแสของน้ำ ว่าอย่างนั้น

เรื่องนี้ ท่านผู้ฟังทั้งหลายคงจะเคยได้ยินมามากพอสมควรแล้ว แล้วพระองค์ก็เลยขึ้นมาที่ต้นโพธิ์ ว่าอย่างนั้น แล้วก็เลยมาบำเพ็ญทางจิต แล้วก็ได้ตรัสรู้ ฆ่ากิเลสตาย คายกิเลสหลุด เป็นพระพุทธเจ้าได้จริง

ไฟล์แนป:
01teean04-Result-of-merit1.jpeg
01teean04-Result-of-merit1.jpeg [ 13.98 KiB | เปิดดู 2701 ครั้ง ]

เจ้าของ:  sirisuk [ 09 ส.ค. 2010, 10:40 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อารมณ์ของการปฎิบัติ (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ)

3....

(ขึ้นต้นหน้าสองของเทป ช่วงต้นๆ ฟังไม่ชัด เสียงเบามาก)
..........

อันนั้น มันเป็นเรื่องของบุคคลที่ไม่รู้ แล้วก็ฟัง แปลผิดๆ แล้วเข้าใจมาอย่างผิดๆ แล้วก็มาสอนกันอย่างผิดๆ ก็เลยไม่รู้ความจริง

ดังนั้น ท่านผู้ฟังทั้งหลาย จงเลือกคัดเอาให้ได้ เช่น เราพอใจครูบาอาจารย์องค์ไหน และครูบาอาจารย์องค์ใดมีความสามารถที่จะแนะนำเราได้ สอนเราได้ เลือกเอาได้ตามชอบใจ

หนังสือกาลามสูตรว่าไว้ ๑๐ ข้อ บอกว่า อย่าเชื่อถือโดยการฟังตามๆ กันมา ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองบอกว่า อย่าเชื่อถือโดยเห็นเขาทำตามๆ กันมา..... สิบข้อไปดูเอาเอง เมื่อพูดอย่างนี้ ท่านผู้ฟังอาจจะมีความสงสัยเกิดขึ้นภายในจิตใจ ให้เชื่อใคร ที่ตรงไหน อาจจะเข้าใจอย่างนั้น

ข้าพเจ้ารับรองได้บอกว่า เชื่อตัวเอง การกระทำของตัวเอง ที่ถูกต้อง ถูกตรง

การพูดให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายฟังวันนี้ พูดด้วยความใจจริง บางคนจะหาว่าข้าพเจ้าอวดดี แต่ไม่ใช่ข้าพเจ้าอวดดี ข้าพเจ้าสามารถที่จะนำคำพูด ความสัตย์ ความจริง มาเล่าสู่กันฟัง

สัจจะแปลว่าของจริง ของแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน จะเป็นคนยุคนั้น หรือยุคนี้ก็ตาม หรือจะเป็นคนสมัยนั้น สมัยนี้ก็ตาม มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เหมือนกันกับคนสมัยนั้น คนสมัยนี้ ถ้าเจริญสติ เจริญปัญญาจริงๆ แล้วสามารถรู้ได้เช่นเดียวกันกับสมัยพระพุทธเจ้า การเจริญวิธีนี้ต้องมีอารมณ์รู้ เช่น ญาณเกิดขึ้น ปัญญาก็ตามหลัง บุคคลผู้ที่ฟังนั้น เรียกว่าฟังด้วยปัญญาญาณ

ส่วนพระพุทธเจ้านั่น ต้องมีญาณของปัญญา ไม่ใช่เป็นปัญญาญาณ ญาณออกหน้า ปัญญาตามหลัง พระองค์จึงรู้แล้ว เข้าใจแล้ว นำไปสอนคนอื่นได้

เมื่อคนมีปัญญาฟังพระองค์แสดงแล้ว จดจำ นำเอาไปประพฤติปฏิบัติ ความทุกข์ก็ลดน้อยลงไปจริงๆ เพราะพระองค์ไม่มีความหลงผิด ไม่มีอวิชชา มีแต่สติ มีแต่ปัญญาล้วนๆ จึงทำลายโทสะ โมหะ โลภะ ได้จริง

เราเคยพูดกันอยู่แล้วว่า อกุศล เรียกว่า โทสะ โมหะ โลภะ เป็นรากเหง้าของอกุศล อกุศลก็คือบาปนั่นเอง พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ ตัวอวิชชา นี่แหละ เป็นรากเหง้าทำให้จิตใจเศร้าหมอง ส่วนจิตวิญญาณของคนนั้น ไม่มีการเศร้าหมอง มีแต่ความสะอาด สว่าง สงบ อยู่แล้ว

ท่านผู้ฟังทั้งหลาย นั่งอยู่ขณะนี้ ฟังข้าพเจ้าพูด และกับคุณชาลรส์พูดอยู่เดี๋ยวนี้ จิตใจของท่านผู้ฟังทั้งหลาย เป็นอย่างไรกัน จิตใจเป็นปกติ ใช่ไหม? ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโลภ ไม่มีความหลง ใช่ไหม ฟังข้าพเจ้ากับคุณชารลส์พูดอยู่นี้ จิตใจลักษณะเฉยๆ ใช่ไหม? ลักษณะเฉยๆ นี้ ทางธรรมะที่เป็นตัวหนังสือเขียนไว้นั้น เรียกว่า อุเบกขา อุเบกขา แปลว่า วางเฉย ลักษณะนี้มีอยู่แล้วในทุกคน ไม่มีการยกเว้น ที่เราเคยพูดกันว่า ใจร้าย ใจโกรธ ใจโลภ ใจหลง อันนั้น เป็นการเข้าใจผิด

ตัวชีวิตจริงๆ ตัวจิตใจของเราจริงๆ นั้น มันไม่เคยโกรธใคร ไม่เคยโลภ ไม่เคยหลง มันเฉยๆ อย่างนี้แหละ ท่านผู้ฟังทั้งหลาย ลักษณะนี้ท่านเรียกว่านิพพาน เหนือทุกข์ เหนือสุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข เฉยๆ นี่แหละ คือนิพพาน

ท่านผู้ฟังทั้งหลาย มีปัญญาฟังแล้ว รู้เรื่อง คนที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง เรียกว่า ปุถุชน ไม่มีปัญญา ที่พูดความจริงให้ฟังวันนี้ ก็เพื่อทำความเข้าใจกัน ไม่ให้หลงผิดนั่นเอง

การเจริญสติวิธีเคลื่อนไหวนี้ อย่างนานที่ข้าพเจ้าจะพูดให้ฟังวันนี้ เอ้า ให้เวลา ๑ ปี ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติ เมื่อสติปัญญาสมบูรณ์แล้ว ท่านจะรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง

เห็น รู้ เข้าใจ ขั้นต้นบทนี้ เรียกว่า เห็น รู้ เข้าใจวัตถุ แล้วก็เห็น รู้ เข้าใจปรมัตถ์ แล้วเห็น รู้ เข้าใจอาการ อย่างนี้เรียกว่า เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาเกิดขึ้นจากญาณปัญญาของธรรมชาติ

แล้วเห็น รู้ เข้าใจเวทนา โอ๊! ที่ข้าพเจ้าพูดเมื่อตะกี๊ที่หลงไป แล้วเห็น รู้ เข้าใจโทสะ แล้วเห็น รู้ เข้าใจโมหะ แล้วเห็น รู้ เข้าใจโลภะ สิ่งเหล่านี้ก็ลดน้อย หรือเบาลงไป

พูดความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เคยมีอยู่ในคน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะลดน้อยลงไปอย่างน้อยที่สุดต้อง ๖๐ เปอร์-เซ็นต์ เมื่อข้าพเจ้าปฏิบัติ ข้าพเจ้าเข้าใจอย่างนี้ว่า น้ำหนักตัวของข้าพเจ้านี้ มีอยู่ ๑๐๐ กิโล เมื่อข้าพเจ้าได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจ วัตถุ ปรมัตถ์ อาการ นี่เป็นพักหนึ่ง

แล้วก็เข้าใจ เห็น รู้ โทสะ โมหะ โลภะ ลักษณะนี้ ข้าพเจ้าปรากฏขึ้นมาว่า น้ำหนัก ๑๐๐ กิโลนั้น หลุดไปแล้ว ๖๐ กิโลอย่างน้อยที่สุด แต่พูดเป็นใจของข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าสลัดทิ้ง ๘๐ กิโล

เมื่อรู้ เห็น เข้าใจอย่างนี้แล้ว เวทนาก็ไม่ทุกข์ สัญญาก็ไม่ทุกข์ สังขารก็ไม่ทุกข์ วิญญาณก็ไม่ทุกข์

อันนี้เป็นอารมณ์-เป็นอารมณ์ของนามรูป ไม่ใช่รูปนาม เพราะลักษณะความคิด คือจิตวิญญาณมันนึก มันคิดนั้น เป็นนาม เป็นรูปของความคิด คิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ อันนั้นแปลว่า นามรูป มันคิด เรียกว่า นามรูป

4...

แต่ก่อน ข้าพเจ้าไม่เคยรู้อย่างนี้ รู้ตรงนี้แหละ ทำให้จิตใจของผู้ปฏิบัติ คือเจริญสติ เจริญปัญญา จะเบาขึ้น ข้าพเจ้าได้ถามทักทายมาหลายคนแล้วว่า เป็นอย่างไร เป็นพระได้ไหม เป็นได้ ผู้หญิง ผู้ชาย ตอบข้าพเจ้าเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด เนี่ยะ ไม่ใช่เป็นเทวดา พระ มันเหนือเทวดาไปแล้ว เทวดานั้นไม่มีจิตใจที่จะเปลี่ยนแปลงเหมือนกับพระได้

ดังนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ข้าพเจ้าเลยเข้าใจว่า เทวดากับพระนี้ เราเป็นพระ ไม่ต้องไปกราบไหว้เทวดา เรื่องเหล่านี้ เราไม่เข้าใจเท่านั้น ผี เทวดา ฤกษ์งามยามดี มันทำอะไรให้เราไม่ได้ ถ้าพูดตรงๆ แล้ว คนโง่เท่านั้น กลัวผี กลัวเทวดา กลัวฤกษ์งามยามดี คนโง่นี้ เรียกว่า จิตใจต่ำ พูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าปุถุชนนั่นเอง

ปุถุชน เขาว่าเป็นคนหนาไปด้วยอวิชชา ไปด้วยกิเลส ว่าอย่างนั้น จึงว่าเป็นผู้มีจิตใจต่ำ ยังเป็นมนุษย์ไม่ได้ มนุษย์แปลว่าผู้มีจิตใจสูง เมื่อจิตใจสูงแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวใครที่ไหนเลย

ดังนั้น ศาสนาจึงว่า เป็นที่พึ่งได้จริง ผู้มีหูทิพย์ ตาทิพย์เท่านั้น จึงจะรู้เรื่องนี้ ที่ข้าพเจ้าว่าหูทิพย์ ตาทิพย์ ที่นี้ ไม่ได้หมายถึงที่ว่า ตาทิพย์เราอยู่ที่กรุงเทพนี้ สามารถมองเห็นคนที่อยู่จังหวัดอื่น พูดเรื่องนั้น เห็นเขาทำอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะไปหูทิพย์ ตาทิพย์ ไปคุยกับผี คุยกับเทวดาได้ และสามารถรู้บัตร รู้เบอร์อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น

คำว่าหูทิพย์-ตาทิพย์ ที่ข้าพเจ้าพูดนี้ สามารถมองเห็นชีวิตจิตใจของตัวเอง นี่เอง กำลังพูด กำลังคิดอะไร ต้องเห็น ต้องรู้ ต้องเข้าใจ สัมผัสได้จริงๆ เรื่องนี้ และคนอื่นก็สามารถที่จะรู้อย่างที่ข้าพเจ้าพูดนี้ได้ เมื่อเจริญสติ เจริญปัญญาได้ถูกทางแล้ว

ต่อไป เจริญสติ เจริญปัญญาขึ้นให้มาก โดยการเคลื่อนไหว จะเข้าใจอารมณ์โดยธรรมชาติ เกิดขึ้นจริงๆ เรียกว่า ญาณปัญญา รู้ เห็น เข้าใจได้ กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม สี่อย่างนี้

กิเลส หมายถึงสิ่งที่เหนียวที่สุด มันติดอยู่กับโลก ตัณหา แปลว่า ของหนักที่มีอยู่ในโลก อุปาทาน เข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านั้น กรรม เราก็ไปเสวยทุกข์ เพราะเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านั้น

เรื่องนี้ คนฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ เรื่องที่พระพุทธเจ้าแสดงเอาไว้ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เอง เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วว่า อวิชชา แปลว่า ความไม่รู้ อวิชชาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เราไม่เข้าใจเรื่องนี้ จึงทำไปตามความเห็น ความเข้าใจของตนเอง โลกเป็นอย่างนั้น

เมื่อเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญาแหลมคมแล้ว เราก็หาทางออกให้จนได้

ท่านผู้ฟังทั้งหลาย เมื่อฟังแล้ว มีปัญญา และไม่ต้องนึกต้องคิดอะไรมาก เช่น เราทำผิด พูดผิด คิดผิด เข้าใจผิด เราก็ไปหมุนเอาสิ่งเหล่านั้น มันก็เลยหนัก เป็นเส้น เป็นสาย เป็นวงจรไป….



http://truthoflife.fix.gs/index.php?topic=350.0

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 11 ส.ค. 2010, 21:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อารมณ์ของการปฎิบัติ (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ)

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/