วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 00:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2010, 13:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

มหาสติปัฏฐานสูตร

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
เอกายโน อยํ ภิกขเว มัคโค สัตตานํ วิสุทธิยา ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นหนทางที่เป็นไปอันเอก

สัตตานํ วิสุทธิยา = เพื่อความหมดจด วิเศษของสัตว์ทั้งหลาย
โสกปริเทวานํ สมติกกมาย = เพื่อความข้ามพ้นซึ่งความโศก และความร่ำไร
ทุกขโทมนัสสานํ อัตถังคมาย = เพื่ออัสดงดับไปแห่งทุกข์ และโทมนัส
ญายัสส อธิคมาย = เพื่อบรรลุญายธรรม (มรรคที่เป็นโลกุตตระ)
นิพพานัสส สัจฉิกิริยาย = เพื่อกระทำนิพพานให้แจ้ง
ยทิทํ จัตตาโร สติปัฏฐานา = หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ คือ
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน = พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน = พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน = พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน = พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่
ด้วยมีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะมีสติ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ

สติปัฏฐาน ๔

๑. ระลึก พิจารณา กาย... = กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๒. ระลึก พิจารณา เวทนา... = เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๓. ระลึก พิจารณา จิต... = จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๔. ระลึก พิจารณา ธรรม... = ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
สติ = ระลึก
สัมปชัญญะ = พิจารณา รู้พร้อม (สังเกต)
ปัฏฐาน = ที่ตั้ง

วิวัฏฏะ
จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต
รูป คือ ธรรมชาติที่เสื่อมสิ้นสลายไป

จิต (วิญญาณ) ได้แก่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะคิดนึกที่เป็นกุศล อกุศล เป็นต้น
เจตสิก ที่ประกอบ กับ กุศลจิต ได้แก่ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ระลึกได้ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ไม่โลภไม่โกรธ ไม่หลง (ปัญญา) ความสงสารเป็นต้น ที่ประกอบ กับอกุศลจิต ได้แก่ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ความโลภ ความเห็นผิด ความถือตัว ความโกรธความอิจฉา หวงแหน รำคาญใจ หดหู่ ท้อถอย สงสัย
ที่ประกอบทั้งกุศลจิต ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิตก วิจาร
และอกุศลจิต ปีติ ฉันทะ เป็นต้น
รูป ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประสาทตา ประสาท หู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น

หลักการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนว “สติปัฏฐาน ๔”
ของ พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี)

ขั้นตอนการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ขั้นตอนที่ ๑ : กำหนดรู้บัญญัติ เช่น
ลมหายใจเข้า-ออก – โดยตั้งสติไว้ที่โพรงจมูก หรือทรวงอก หรือหน้าท้องตามความถนัด พยายามให้รู้ทันทุกขณะลมหายใจ เข้า – ออก
อิริยาบถ – ยืน เดิน นั่ง นอน โดยตั้งสติไว้ที่กายทั้งตัวในท่าทางนั้นๆ หรือให้รู้สึกตัวว่า กำลังยืน เดิน นั่ง นอน
หรืออื่นๆ – อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ (ที่เป็นกรรมฐาน)

ขั้นตอนที่ ๒ : กำหนดรู้ปรมัตถ์ เจาะจง เช่น
ทางกาย มีความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง หรือความรู้สึกสบาย – ไม่สบาย
แต่เป็นไปเฉพาะที่ของร่างกาย เช่น ที่ทรวงอก หน้าท้อง
ช่วงนี้ อาจจะยังกำหนดบัญญัติ – ปรมัตถ์ ควบคู่กันไป

ขั้นตอนที่ ๓ : กำหนดรู้ปรมัตถ์ทั่วไป คือ
การกำหนดรู้ทุกส่วนของร่างกาย และทุกส่วนของจิตใจ หรือกำหนดรู้ปรมัตถ์ทั่วไป
ตลอดถึงทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ส่วนที่กาย มีความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง รู้สึกสบาย – ไม่สบาย
โดยกำหนดรู้ทั่วทุกส่วนของร่างกาย
ส่วนที่จิตใจ มีจิต กับอาการในจิต ความรู้สึกในจิต
๑. ความนึกคิด
๒. อาการ ความรู้สึก
๓. ผู้รู้

ช่วงนี้ พยายามทิ้งอารมณ์บัญญัติออกไป ให้เหลือปรมัตถ์ล้วนๆ มากที่สุด
โดยเฉพาะทางใจ ต้องใช้ความสังเกตระลึกรู้ ให้เป็น ให้ได้
อาการในจิต – ความรู้สึกในจิต (เจตสิก) คือ สภาพความปรุงแต่งต่างๆ เช่นชอบ ไม่ชอบ ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ ท้อถอย สงสัย ขุ่นมัว เศร้าหมองผ่องใส เอิบอิ่ม เบิกบาน สงบ ไม่สงบ เสียใจ ดีใจ สุขสบาย เฉยๆ เป็นต้น

กำหนด หมายถึง การระลึกรู้
อุปมา – จิต เหมือนน้ำใสบริสุทธิ์อาการในจิต (เจตสิก) เหมือนสีต่างๆ ที่เข้าไปผสมกับน้ำ
หรือ - จิต เหมือนน้ำเจตสิก (สิ่งที่ประกอบกับจิต) เหมือนเครื่องแกงต่างๆ จิต + เจตสิก = น้ำแกง

ขั้นตอนที่ ๔ : รู้ ละ วาง คือ การปรับการกำหนดรู้นั้นให้เป็นไปอย่างได้ส่วนเป็นกลางปกติ ไม่ยินดี ยินร้ายไร้ความอยาก ความยึด ไร้การบังคับ โดยสิ้นเชิง

รู้แต่ไม่เอา ละแต่ก็รู้

รู้ คือ สติสัมปชัญญะ เข้าไปรู้สภาวะต่างๆ คือ รูปธรรม- นามธรรม หรือ ปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏอยู่
ไม่เอา คือ ไร้ความอยาก ความยึด
อยาก คือ ต้องการ เป็นตัณหา
ยึด คือ เพ่งเล็งจ้องจับ กดข่ม สะกดไว้ ยันไว้ เป็นส่วนของอุปาทาน

ละแต่ก็รู้ คือ การปล่อยวางต่ออารมณ์นั่นแหละ แต่ไม่ใช่การปล่อยแบบไม่รู้ไม่ชี้ หรือไม่ใช่ปล่อยแบบปล่อยปละละเลย แต่เป็น การปล่อยแบบสติสัมปชัญญะยังทำหน้าที่ระลึกอยู่ อุปมา การรู้ ละ วาง เหมือนการแตะสัมผัสต่อสิ่งของต่างๆ ที่ทะยอยผ่านเข้ามาเฉพาะหน้า โดยไม่ไปจับยึดไว้คือ แค่แตะ ปล่อยๆ อันใหม่ๆ เรื่อยไปๆ

ปล่อยก็แค่ปล่อย อย่าถึงกับผลักใส (ปฏิเสธ)

สติ คือ ธรรมชาติหรือสภาพระลึกกได้ในที่นี้คือ ระลึกตรงสภาวะที่กำลังปรากฏ

สัมปชัญญะ คือ พิจารณาในที่นี้เพียงแค่สังเกตวิเสสนลักษณะและสามัญญลักษณะของสภาวะที่กำลังปรากฏ

วิเสสนลักษณะ คือ ลักษณะโดยเฉพาะของรูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม ซึ่งไม่เหมือนกันเช่น
รูปดิน - จะมีลักษณะ แข็ง หรืออ่อน (แข็งน้อย)
รูปไฟ - จะมีลักษณะ ร้อน หรือเย็น (ร้อนน้อย)
รูปลม - จะมีลักษณะ ตึง หรือหย่อน (ตึงน้อย)
นามเห็น - จะมีลักษณะ รู้สี
นามได้ยิน - จะมีลักษณะ รู้เสียง
นามคิดนึก - จะมีลักษณะ รู้เรื่องราว เป็นต้น

สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะโดยทั่วไป มีเหมือนกันทุกรูป-นามได้แก่
๑. อนิจจัง = ไม่เที่ยง
๒. ทุกขัง = ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องดับไป
๓. อนัตตา = บังคับบัญชาไม่ได้

การจะดำเนินสติสัมปชัญญะเข้าสู่ลักษณาการที่สมดุล ได้ส่วน เป็นกลาง เป็นปกติ ว่างจากสมมุติบัญญัติ ปลอดจากความยินดี (อภิชฌา) ความยินร้าย (โทมนัส) ได้สม่ำเสมอติดต่อกันได้นั้น จะต้องหมั่นฝึกฝนอบรมการเจริญสติอยู่เสมอ จนเกิดความชำนิชำนาญขึ้น

วิปัสสนาญาณที่เกิดขึ้น คือ ความรู้เห็นสภาวธรรมชาติตามความเป็นจริง กล่าวคือ สังขาร ได้แก่ ร่างกายและจิตใจนั้น แท้ที่จริงเป็นเพียงธรรมชาติ หรือสิ่งที่หาใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นเรา เป็นของเราไม่ สิ่งธรรมชาติเหล่านั้น มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เกิด-ดับ บังคับไม่ได้อยู่ตลอดเวลา และดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

การรู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ อย่างแจ้งชัด ไม่ได้เกิดจากการคิดนึกเอา แต่เป็นการรู้เห็นเฉพาะหน้าจริงๆ จึงจะเรียกว่าเข้าถึงวิปัสสนาและวิปัสสนานี่แหละจะเป็นยานนำพาเข้าสู่วิมุตติ

ขั้นตอนที่ ๕ : วิมุตติ คือ สภาพความหลุดพ้น ได้แก่ การที่ได้พัฒนาการทางจิตปัญญาสมบูรณ์แบบ คือ องค์ประกอบของความตรัสรู้ประชุมพร้อมอย่างครบครัน เข้าถึงสภาพของความดับสนิท ชนิดตัณหาอุปาทานตามไม่ถึง ว่างจาก กิเลส เป็นธรรมที่พ้นโลก ที่เรียกว่า นิพพาน

หมายเหตุ

ลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติกรรมฐาน ตามที่ได้แสดงมานี้นั้น ก็เป็นการแสดงอยู่ใน หลักสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ แต่นำสรุปเป็นแบบฝึกหัดขั้นตอนเพื่อจับประเด็นได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนที่ ๑ ก็คือ สติปัฏฐานข้อที่ ๑ ในหมวดที่ว่าด้วย
อานาปานปัพพะ อิริยาบถปัพพะ เป็นต้น
อารมณ์ของจิต หรือของสติ ยังเป็นสมมุติ
บัญญัติอยู่ด้วย
ขั้นตอนที่ ๒ จัดอยู่ในสติปัฏฐานข้อที่ ๑, ๒, ๔
ขั้นตอนที่ ๓-๔ จัดอยู่ในสติปัฏฐานข้อที่ ๑, ๒, ๓, ๔

สำหรับผู้ที่มีปัญญาดี หรือผู้ที่ฝึกฝนมานานแล้ว ก็ปฏิบัติเข้าสู่ขั้นที่ ๓-๔ ไปเลย ไม่ต้องเริ่มต้นขั้นที่ ๑ ก็ได้ ส่วนผู้ที่เริ่มต้นจากขั้นตอนที่ ๑ก็อย่าติดอยู่แค่นั้น ให้พยายามทำความเข้าใจฝึกหัดพัฒนาให้ก้าวหน้าในขั้นตอนยิ่งขึ้นไป คือ ให้เข้าถึงซึ่งวิปัสสนา กล่าวคือ สติจะต้องระลึกจรดสภาวะว่างจากสมมุติบัญญัติ เห็นแจ้งในสภาวะตามความป็นจริง

แนวปฏิบัติกรรมฐาน
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี)
แสดง ณ ศาลาเขมรังสี สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๗


การประพฤติปฏิบัติธรรม เราสามารถทำได้ทุกขณะ ทุกเวลา และทุกสถานที่ ทุกขณะที่เรามีสติระลึกรู้ จัดได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ในโอกาสนี้จะได้ปรารภธรรมะเกี่ยวกับเรื่อง การปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด ถือได้ว่าเป็นหน้าที่ของทุกชีวิตที่จะต้องดำเนินไปเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์

การปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จัดได้ว่าเป็นการงานอันสำคัญที่สุด เป็นการงานอันประเสริฐที่จะทำให้เราเข้าถึงความดับทุกข์ได้ กล่าวได้ว่าไม่มีการงานอันใดที่จะทำให้เราดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงนอกจากการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น การงานอื่นๆ ที่เราทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพต่างๆ อันนั้นถือว่ามันเป็นเพียงการหาทรัพย์มาเพื่อให้มีไว้ใช้จ่ายในด้านปัจจัย ๔ สำหรับดำรงชีวิตให้อยู่รอดในปัจจุบัน คนเรานั้นถ้าแม้ว่าไม่มีสติปัญญาแล้ว เขาก็ไม่สามารถที่จะได้รับความสุขที่สมบูรณ์ได้ หรือแม้ว่าจะมีความสุขทางร่างกาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกสิ่งทุกอย่างก็ตาม แต่ถ้าหากว่าจิตใจยังมีความรุ่มร้อน ยังมีความวิตกกังวลและเต็มไปด้วยอาสวะกิเลสต่างๆ แล้ว ก็ถือได้ว่าเขายังไม่มีความสุขที่แท้จริง เพราะฉะนั้น การงานที่เราทำกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดๆ ก็ตาม ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาให้กับเราได้โดยสิ้นเชิง คือยังไม่สามารถจะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

สำหรับในด้านการงานทางธรรมนั้น โดยประมวลแล้วมีอยู่ด้วยกัน ๓ ประการ คือ การบริจาคทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา ผู้ใดที่บริจาคทานเสมอๆ แต่ไม่รักษาศีล ไม่เจริญภาวนาอย่างนี้ ถือว่ายังไม่สามารถดับทุกข์ให้กับตนเองได้ จริงอยู่การบริจาคทานนั้น จัดเป็นส่วนหนึ่งของงานทางธรรม แต่ว่ามันเป็นเพียงเหตุเพียงปัจจัยให้เราได้มีทรัพย์ ผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองในปัจจุบันชาติจำนวนมากนั้น ก็เป็นเพราะว่าเขาได้สะสมในเรื่องทานไว้แล้วในอดีตชาติ คือเคยบริจาคทานเสียสละทรัพย์สินเงินทองมาก่อน และเมื่อมาเกิดในชาติใหม่ สิ่งนี้ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้เขามีทรัพย์สมบัติมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยบริจาคทานแต่ไม่รักษาศีลย่อมทำให้เกิดมาร่างกายพิกลพิการไม่สมบูรณ์ หรือร่างกายมีโรคภัยเบียดเบียนได้ นั่นเป็นเพราะว่าเขาไม่ได้รักษาศีลมาให้ดี ศีลนี้จะตบแต่งร่างกายให้มีความสมบูรณ์ผู้ใดที่มีร่างกายสวยงามสดใสแข็งแรง สมบูรณ์ในอาการ ๓๒ นั่นก็เพราะว่าเขารักษาศีลมาดี ดังนั้น การงานทางธรรมเราจึงต้องให้มีทั้งทาน ศีลและเจริญภาวนาควบคู่กันไป การเจริญภาวนานั้น เป็นส่วนของการให้เกิดปัญญาทำให้ดับทุกข์ได้

การเจริญภาวนาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. การเจริญสมถกรรมฐาน มีผลเพื่อให้เกิดความสงบ และได้ฌานในระดับต่างๆ ตลอดทั้งอภิญญา
๒. การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีผลเพื่อให้เกิดปัญญา และเข้าถึงมรรคผลนิพพาน

การเจริญสมถกรรมฐานนั้น ทำให้เกิดความสงบได้ แต่ไม่สามารถที่จะตัดกิเลสให้ขาดสิ้นได้ เป็นเพียงแต่ระงับไว้ได้เพียงชั่วคราวและเมื่อสมาธิเสื่อม มีอารมณ์มากระทบยั่วยวน กิเลสก็จะเกิดขึ้นได้เต็มหัวใจอีกไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ สำหรับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็จะทำให้ถึงที่สุดในการที่จะตัดกิเลสให้ขาดสิ้นได้ และเมื่อกิเลสขาดสิ้นไปจากจิตใจ จิตใจก็จะไม่มีความทุกข์ด้วยอำนาจของกิเลส ไม่ว่าจะมีอารมณ์ใดมากระทบ หรือมีอารมณ์มายั่วยวน จิตใจก็จะมีแต่ความปกติ มีแต่ความปลอดโปร่ง มีความเป็นอิสระ มีความรู้ตื่นเบิกบานอยู่เสมอ ฉะนั้น การปฏิบัติจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงซึ่งวิปัสสนากรรมฐาน

ในการที่จะเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เข้าถึงมรรคผล นิพพานนั้น บางคนอาจต้องอาศัยการเจริญสมถกรรมฐานก่อน จนกระทั่งได้รับผลในระดับฌานคือให้จิตใจเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิแนบแน่นในอารมณ์ สมาธิในระดับของฌานนี้จะดับความรู้สึกทางประสาททั้ง ๕ คือ ไม่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายรู้เพียงทางจิตใจ และจิตใจนั้นจะไม่รู้ในเรื่องอื่น นอกจากนิมิตอย่างเดียวเข้าไปสงบนิ่งอยู่ จิตใจไม่ไหวไปอย่างอื่น บุคคลใดที่จะสามารถฝึกเข้าฌานและออกฌานได้จนชำนาญ คือนึกจะเข้ามาเมื่อไหร่ก็เข้าได้ทันที และนึกจะออกเมื่อไหร่ก็ออกได้ทันที อย่างนี้เรียกว่าได้ผลการเจริญสมถะ เมื่อมาต่อขั้นวิปัสสนา เขาก็สามารถกำหนดได้โดยให้ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของรูปนาม หรืออารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะของจริงๆ คือจะรับรู้อารมณ์ปรมัตถ์ในขณะที่สมาธิคลายตัวลง ตอนแรกจิตยังคงอยู่ในสมาธินิ่งแนบในอารมณ์นั้นๆพิจารณาอะไรไม่ได้เพราะจิตมันดิ่งดับไป แต่เมื่อสมาธิคลายตัวลง มีการตรึกมีการรับรู้อารมณ์ได้ ก็ให้ปล่อยวางจากนิมิตที่เป็นดวงแก้ว สี แสง หรือเป็นความว่างอะไรก็ตาม ให้ปล่อยจากนิมิตเหล่านั้น และทวนกระแสมารับรู้ที่จิตกับสิ่งที่อยู่ในจิต จิตในขณะนั้นจะมีสมาธิ ซึ่งประกอบด้วยความสงบความปีติ คือ ความอิ่มเอิบใจ หรือประกอบด้วยความสุข คือสบายใจ ประกอบด้วยความตั้งมั่นในอารมณ์ หรือประกอบด้วยความวิตกวิจารณ์เรียกว่า องค์ฌานคือ ทวนกระแสของจิตเข้ามารู้ที่จิต แทนที่จะไปเพ่งที่อื่นก็กลับมาเพ่งที่ตัวจิตหรือตัวที่อยู่ในจิต ตัวที่อยู่ในจิตก็คือ ความสงบ หรือความสบาย หรือความปีติ ความอิ่มเอิบใจ หรือความตั้งมั่นในอารมณ์ เรียกว่า น้อมมาดูที่จิตเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นนามธรรม ซึ่งมีลักษณะเกิดดับไม่ได้ตั้งอยู่ ปรากฏแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไปๆ เพื่อสติสัมปชัญญะได้น้อมมาดูสิ่งที่อยู่ในจิตได้ตรงสภาวะได้ส่วน ก็จะเห็นธรรมชาติของจิตและสิ่งที่อยู่ในจิตนั้นตามความเป็นจริง คือมันมีความเกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเห็นความเกิดดับ ก็จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง มันแปรปรวนสิ่งเหล่านี้มันเป็นทุกข์ ในความหมายก็คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เรียกว่าเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะบังคับบัญชาให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ทั้งนั้นอย่างนี้เรียกว่า ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาเกิดขึ้นก็จะเห็นชัดว่าในจิตนี้มีความเกิดดับเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา จิตและสิ่งที่อยู่ในจิตนั้นไม่ใช่เรา เคยยึดถือว่าจิตนี้เป็นเรา ปีติเป็นเรา ความสงบหรือสมาธิเป็นเรา เมื่อกำหนดลงไปจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นเพียงธรรมชาติที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดดับเท่านั้น การเห็นอย่างนี้ก็เป็นวิปัสสนาขึ้นมา ซึ่งสามารถจะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือก้าวขึ้นไปสู่ขั้นโลกุตระ บรรลุมรรคผล นิพพานได้

การกำหนดแบบที่หนึ่ง เรานำเอาสมาธิที่ได้อยู่ในระดับของฌานมาเป็นพื้นฐานโดยการเบนอารมณ์ เบนจากการกำหนดที่เป็นบัญญัติมากำหนดอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ คือทิ้งจากนิมิตต่างๆ แล้วมาดูที่จิตและสิ่งที่อยู่ในจิตก็จะสามารถทำให้รู้แจ้งตามความเป็นจริงได้

ที่กล่าวมานี้เป็นแบบที่หนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติในลักษณะที่ต้องทำสมาธิให้ได้ถึงระดับฌานก่อนแล้วจึงมาต่อวิปัสสนาทีหลัง และเมื่อสำเร็จแล้วจะเรียกว่า เจโตวิมุติ การหลุดพ้นด้วยกำลังของจิตคือสมาธิเป็นพื้นฐานบางคนอาจจะไม่ถนัดวิธีนี้ จะให้ไปนั่งสมาธิให้ได้ฌานก่อนก็คงทำไม่ได้ หากจะคอยให้ทำได้ก็อาจจะแก่ตายไปเสียก่อน การที่จะให้จิตดิ่งและได้ฌานนั้นบางคนทำได้ยากมาก เพราะว่าต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น สถานที่สงบวิเวก ต้องตั้งใจเพียรพยายามจริงๆ และถ้าคนไม่มีอุปนิสัยเหตุปัจจัยมาแต่อดีต ไม่เคยบำเพ็ญฌานมาก่อนก็คงทำได้ยาก ต้องมาฝึกฝนในปัจจุบันนี้อย่างหนักถึงจะได้ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ตัวว่าเราทำไม่ได้ถึงขนาดนั้นประกอบกับกาลเวลาได้ผ่านไป ชีวิตของเรามีแต่จะเหลือน้อยลงๆ ทุกที เราจะมัวมาทำให้ได้ฌานก็คงทำไม่ทัน

แบบที่สอง ก็ขอแนะนำให้เราทำพอสมควร คือสมาธิพอสมควร เช่นการเพ่งอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ก็มีหลายแบบด้วย เป็นต้นว่าการกำหนดลมหายใจเข้าออกเพื่อให้เกิดสมาธิพอสมควร ไม่ถึงกับดิ่งลงไป พอให้จิตใจมีความสงบระงับ ไม่วุ่นวายไปในเรื่องอื่น เรียกว่า ขั้นอุปจารสมาธิ เฉียดฌานแต่ไม่ถึงกับได้ฌาน ในขณะที่กำหนดแล้วมีเสียงดังมากระทบก็จะไม่รู้สึกรำคาญแต่ยังได้ยินเสียง นั้นอยู่ ยังรู้สึกอยู่จิตใจก็ยังคงคิดนึกอยู่ในใจ แต่มีความสงบระงับจากอารมณ์ลงไปพอสมควรต่อจากนั้นก็จะให้พิจารณาดูรูปนามที่ ปรากฏในขณะนั้น คือเพ่งไปแล้วไม่ไปสู่สมมติ ถึงแม้กำลังกำหนดลมหายใจอยู่ก็ตาม แต่ไม่ไปสู่สมมติ ให้กำหนดรู้อยู่กับปรมัตถ์

ขณะที่เรากำหนดดูลมหายใจตอนแรกๆ เราก็ทำให้เกิดสมาธิก่อนเราอาจจะภาวนาบริกรรมหายใจ เข้า-พุท หายใจออก-โธ หรือจะนับ ๑-๒-๓ อะไรก็ตาม คำบริกรรมนี้ถือเป็นเพียงอุปกรณ์ เป็นวิธีการ เป็นเทคนิคที่จะช่วยทำให้เกิดความสงบขึ้นเท่านั้น ผู้ปฏิบัติบางคนอาจมีความถนัดไม่เหมือนกัน แบบไหนก็ตามที่เราทำแล้วเกิดความสงบก็ให้นำมาใช้ได้วิธีการปฏิบัติก็ให้เพ่ง ดูลมหายใจไปเรื่อยๆ จนจิตสงบลมระงับ ลมหายใจมีความละเอียด เมื่อมีสมาธิลมหายใจจะละเอียดมากจนเหมือนกับว่าไม่มีลมหายใจเลย แต่ว่าไม่ได้ให้มันถึงกับดิ่งดับหรือไปอยู่กับความว่าง เพราะว่าขณะที่เราปฏิบัติเพ่งลมหายใจอยู่นั้น พอมีสมาธิลมละเอียดก็จะจับไม่ได้ เมื่อจับไม่ได้จิตมันก็จะไปสู่ความว่างเปล่า ซึ่งความว่างเปล่านั้นเป็นบัญญัติ เป็นสมมติอย่างหนึ่ง ถ้าจิตไปอยู่กับความว่างก็จะได้แค่ความสงบ ความสบายแต่ไม่เกิดปัญญาเพราะความว่างไม่ใช่ของจริง เมื่อไปอยู่กับของไม่จริงมันก็จะรู้ตามความเป็นจริงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องมาดูที่ของจริงของจริงในขณะที่จิตมีความว่างนั้นก็คือจิตนั่นเอง จิตที่มีความว่างนั้นให้ทวนกระแสเข้ามารู้จิต เรียกว่า กำหนดตัวรู้สภาพรู้นั่นเอง จิตคือตัวที่รู้อารมณ์ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกหัดจากการสังเกตจิตใจให้ออก กำหนดจิตใจให้เป็น ถ้าหากเรากำหนดจิตไม่เป็นแล้ว การปฏิบัติของเราจะเจริญก้าวหน้าไปไม่ได้ มันก็จะได้แค่นิ่งอยู่ อยู่กับสมมติบัญญัติ อยู่กับความว่างความสงบ ดังนั้นในขณะที่จิตสงบลง ก็ให้น้อมมาดูที่จิตหรือสิ่งที่อยู่ในจิตและแบบที่สองนี้จะต่างจากแบบแรกที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น

แบบแรกนั้นต้องจิตดิ่งลงไปให้ได้ฌานก่อน แล้วพอถอยออกฌานก็มากำหนดที่จิต ส่วนแบบที่สองนี้ ก็ปฏิบัติทำนองเดียวกันกับแบบแรก แต่ไม่ถึงกับดิ่งก็ให้กำหนดจิตได้เลย มาพิจารณาถึงจิตและสิ่งที่อยู่ในจิต ไม่ว่าจะเป็นความสงบ ความปีติหรือความสุขก็ตามให้น้อมมาพิจารณาในจิตใจอย่างนั้นก็จะทำให้เห็น ความเปลี่ยนแปลง เกิด ดับ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้อย่างเดียวกัน และสามารถที่จะก้าวไปสู่ความหลุดพ้นได้

แบบที่สาม ก็ต้องอาศัยบุคคลที่มีปัญญามาก และต้องมีความเข้าใจเรื่องสภาวะมากพอสมควรจึงจะปฏิบัติได้ และแบบที่สามนี้จะใช้สมาธิเพียงเล็กน้อย ไม่ต้องทำให้ดิ่งดับ ไม่ต้องทำให้สงบมาก แล้วให้กำหนดรูปนามได้เลยเป็นแบบธรรมชาติ สามารถทำได้โดยไม่เลือกอารมณ์ เพียงแต่ให้ศึกษาก่อนว่าอารมณ์ที่เป็นรูปนามนั้นมีลักษณะอย่างไรบ้าง อย่างที่กายนี้ก็ต้องให้รู้ก่อนว่าที่กายนี้มีความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ความรู้สึกไม่สบาย ซึ่งเป็นของจริง ก็ให้พยายามกำหนดดู นั่งอยู่ตรงไหนก็พยายามกำหนดดูความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความหย่อนความตึง ลมหายใจเข้าออก นั่งอยู่ก็ให้รู้เข้ามาที่กายนั่ง ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งลงไปถึงสิ่งที่มากระทบที่กาย มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็ง มีหย่อน มีตึง ทางหูก็มีเสียง มีการได้ยินเสียงเป็นของจริง ทางตาก็มีสี มีการเห็นเป็นของจริง ทางจมูกก็มีกลิ่น มีการรู้กลิ่นเป็นของจริง ทางลิ้นก็มีรสมีการรู้รสเป็นของจริง ทางใจก็มีความนึกคิด มีความรู้สึกปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอกุศลกรรม คือตรึกไปในการอกุศล มีความโลภ ความโกรธความหลง หรือว่าฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของที่ต้องกำหนดรู้ทั้งสิ้น หรือว่าจิตใจเป็นไปในฝ่ายกุศล มีเมตตา มีกรุณา สงสารคิดจะช่วย มีมุทิตา คือ ความพลอยยินดี หรือแม้แต่ตัวศรัทธา ตัวสติ ต้องนำมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ต้องกำหนดทั้งหมด รู้ตัวไปทั้งหมด ไม่เลือกอารมณ์ โดยให้วางจิตอยู่เป็นกลาง มีสติรับรู้ในอารมณ์ต่างๆ ทั่วไปแล้วแต่อารมณ์อะไรที่เกิดขึ้นก็ระลึกรู้อารมณ์อันนั้น อย่างนี้ก็ถือเป็นการปฏิบัติที่สามารถจะทำให้เราเข้าไปสู่มรรคผล นิพพานได้

การปฏิบัติแบบนี้ เราสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะในชีวิตการทำงานของเราก็มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็ง มีหย่อน มีตึง มีเห็นมีได้ยิน รู้กลิ่น รู้รสอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องฝึกการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่ตื่นนอนมาก็ต้องมีการงานเป็นต้นว่า ล้างหน้า แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ รับประทานอาหาร ใส่เสื้อผ้า เดินไปเดินมา มีการนั่ง มีการยืน มีการเดิน มีการนอน ฯลฯ ก็มีสติกำหนดรู้คือ ให้มีสติความระลึกได้ ให้มีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม ในขณะที่เคลื่อนไหว ยืนก็รู้ว่ากายยืน เดินก็รู้ว่ากายเดินก้าวไป นั่งก็รู้เข้ามาที่กายนั่งนอนก็รู้ที่กายนอน ก้มเงยเหลียวซ้าย แลขวา กะพริบตา อ้าปาก ให้ทำสติรู้ทุกขณะในอิริยาบถย่อยต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม วิธีปฏิบัติแบบนี้จะเป็นการศึกษาความเป็นจริงของชีวิต และเมื่อเราศึกษาพิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ก็จะทำให้เราเกิดปัญญาได้ว่า ในชีวิตนี้ ในตัวเราเองนี้ไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติ จะว่าเป็นเราก็ไม่ใช่ เป็นของเราก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เป็นของจริงที่มีอยู่ แต่มีอยู่ในลักษณะที่ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ฉะนั้นเลือกเอาว่า เราจะปฏิบัติในลักษณะอย่างไร

เมื่อปฏิบัติไปแล้วจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องอื่นๆ ประกอบอีก

ประการแรก เราต้องเข้าใจว่า การที่จะรู้แจ้งตามความเป็นจริงนั้นต้องรู้ หรือว่าศึกษาพิสูจน์ แต่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น การจะรู้แจ้งจริงๆนั้นต้องรู้ในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน คือสิ่งที่กำลังปรากฏ อันไหนที่มันดับไปแล้วก็ให้แล้วกันไป ส่วนอันไหนที่ยังไม่เกิดขึ้นก็อย่าไปคำนึงถึง ให้พยายามดูเฉพาะปัจจุบัน ขณะที่กำลังคิดอยู่ก็เป็นปัจจุบัน กำลังสงบก็เป็นปัจจุบัน กำลังเห็นกำลังได้ยิน กำลังรู้กลิ่น กำลังรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจุบัน แต่ถ้าหากมันผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป เราไม่ต้องเก็บมานึกคิดอีก ถึงแม้ว่าพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องปล่อยผ่านไป ก็ให้เราพร้อมที่จะพิสูจน์อันใหม่ เพราะมันมีอันใหม่อยู่ตลอดเวลา รูปใหม่ นามใหม่ เกิดขึ้นตลอดเวลา หายใจเข้าดับไป-หายใจออกเกิดขึ้น หายใจออกดับไป-หายใจเข้าเกิดขึ้น มันมีให้เราพิสูจน์อยู่ตลอดเวลา เย็นกระทบ ตึง ไหว เคลื่อนไหว คิดนึกก็มีอยู่ตลอดเวลา พอใจ ไม่พอใจ สงบ ไม่สงบ ก็มีให้พิสูจน์อยู่ตลอดเวลาเช่นนั้น ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องไม่ไปพะวงถึงสิ่งที่มันดับไปแล้ว แต่พยายามปรับให้อยู่กับปัจจุบันให้สั้นที่สุด อันนี้มีหลักไว้ว่าต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบัน

ประการที่สอง คือต้องให้เป็นปกติ หมายถึงว่า ปฏิบัติไปแล้วจะต้องดำเนินไปสู่ความเป็นปกติ ไม่กดข่ม ไม่คร่ำเคร่ง ไม่บังคับ ต้องรู้จัก ปรับปรุงในการที่จะปรับผ่อนในการกำหนด ไม่ว่าจะเป็นส่วนของร่างกายหรือส่วนของจิตใจก็ตาม จะต้องปรับผ่อนให้เข้าไปสู่ความเป็นปกติ ไม่บังคับสภาวะโดยละเอียดจริงๆ แล้ว จะไม่มีการบังคับอารมณ์ คือ ไม่บังคับจิตให้รู้ตามหรือตามรู้อยู่เรื่อยไป โดยที่ไม่ไปบังคับจิตว่าอยู่ที่ตรงนั้นเท่านั้นหรือต้องไม่ไปที่อื่น เราจะไม่บังคับอย่างนี้ ดังนั้น เมื่อมีอะไรมาปรากฏก็ให้กำหนดรู้ อันนี้ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่เราจะต้องเอาไปประกอบการปฏิบัติคือความปกติ

ประการที่สาม ที่เราจะต้องเอาไปประกอบการปฏิบัติก็คือ การรู้จักปล่อยวาง ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์ดีก็อย่าไปยินดีด้วยอารมณ์ไม่ดีก็อย่าไปยินร้าย พยายามวางจิตให้เป็นกลางๆ วางจิตเฉยๆไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์ ก็เท่ากับว่ารู้จักผ่อน รู้จักปล่อย รู้จักวาง ไม่ยึดมั่นในอารมณ์เหล่านั้น บางครั้งเราปฏิบัติไป ๆเราคิดว่าเราจะต้องเอาให้ได้ เราจะต้องทำให้ได้ ก็เพ่งเล็งพยายามจะเอาจะดูให้เห็นจะทำให้ได้เหล่านี้มันไม่ปกติ เพราะจะไปยึดอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาเพื่อให้มีทั้งความรู้และความละ ไปด้วย ความรู้ถ้าไม่มีการละก็ยึดอารมณ์และถ้าละโดยไม่รู้ก็หลงอารมณ์ มันทำให้เลอะเลือนได้เหมือนกันการละโดยที่ไม่ยอมรับรู้อารมณ์นี้มันก็จะทำ ให้ล่องลอยได้ จึงต้องมีตัวรู้ควบคู่ไปด้วยกัน เมื่อสภาวะธรรมอันใดเกิดขึ้น เราต้องกำหนดรู้และต้องละไปในตัว เรียกว่าละนั้นคือการปล่อยวาง ฝึกการปล่อยวางในอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราสามารถฝึกฝนอบรมให้ยิ่งขึ้นในลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ได้ เราก็จะมีความแยบคายยิ่งขึ้น

การปฏิบัตินั้น ไม่มีใครที่จะทำปุ๊บปั๊บแล้วลงตัว รู้แจ้งเห็นจริงได้ทันทีนอกจากผู้ที่ได้สะสมบารมีมาแล้วอย่างเต็มเปี่ยม ในสมัยพุทธกาลนั้นจะมีผู้มีบารมีอย่างเต็มเปี่ยมอยู่มากมาย และพอท่านเหล่านั้นได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเข้า ก็สามารถบรรลุได้ทันที ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าเขาได้สั่งสมบุญบารมีมามากแล้วนั่นเอง ส่วนพวกเรายังทำมาน้อย ยังฝึกมาไม่เต็มที่ เราก็ต้องอาศัยเวลาเพียรพยายามกันต่อไป เราต้องฝึกให้มาก และต้องปฏิบัติให้มากเรียกว่าทำให้ชำนิชำนาญ ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม พวกเราไม่ฝึกให้มากแล้ว เราก็จะมีความชำนาญในสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนาที่จะให้รู้แจ้งเห็นจริงนั้นต้องอาศัยความชำนาญ สติต้องชำนาญในการกำหนดรู้ ไม่ยึด ไม่เลอะเลือน มีความเป็นกลางในการกำหนด การที่จะทำจิตให้เป็นกลางนั้นต้องมีความชำนาญ ถ้าไม่มีความชำนาญแล้ว จะทำให้มากไปด้านใดด้านหนึ่งเช่น ตกไปในการยึดอารมณ์คือตึงเกินไป ตกไปในอารมณ์คือ เผลอเรอล่องลอย คือหย่อนเกินไป มันไม่ได้มีความพอดี ดังนั้นการที่จะทำจิตให้พอดีนั้น เราจะต้องพยายามฝึกบ่อยๆ ครั้ง ทำให้ต่อเนื่อง ไม่ว่าเราจะอยู่ไหนอย่างไรก็ตามให้เราพยายามฝึกหัด ฝึกฝนเจริญสติอยู่เสมอ

สรุปแล้วก็คือ ให้เราพยายามศึกษาเข้ามาในตัวเอง ศึกษาเข้ามาในกายที่ใจของตัวเอง ไม่ใช่ส่งจิตไปศึกษาสิ่งภายนอก เพราะการศึกษาสิ่งภายนอกนั้นศึกษาเท่าไรๆ ก็ไม่มีวันรู้จบและไม่สามารถจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แต่การศึกษาเข้ามาที่ภาย ใน ศึกษาเข้ามาที่ตัวเองนี้สามารถจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้เพียรพยายามกันต่อไป


ที่มา http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1135_2.php


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2010, 11:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอ อนุโมทนา สาธุ กับคุณ wincha ที่ได้ได้นำธรรมะดีๆ จากท่านพระครู เกษมธรรมทัต(สุรศีกดิ์ เขมรังสี) มาให้ศึกษา แนวทางปฏิบัติธรรม เพื่อเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2010, 20:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2010, 00:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร