วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 11:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2010, 13:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ความรู้เบื้องต้น ในการเจริญสติปัฏฐานหรือเจริญวิปัสสนานั้น สิ่งที่จำเป็นอันดับแรกคือ ศึกษาให้เข้าใจก่อนว่า การปฏิบัติวิปัสสนานั้นทำอย่างไรใช้อะไรเป็นอารมณ์ ฯลฯ
ในการปฏิบัติวิปัสสนาที่ถูกต้องตามเหตุผลนั้นต้องใช้นามรูปเป็นอารมณ์ เพราะนามรูปเป็นของจริง มีจริง มีสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือ บังคับให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ บังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ มีความปรากฏให้เห็นชัด พิสูจน์ได้ตลอดเวลา เช่น ทางหู เสียงเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม เมื่อเสียงเกิดขึ้น การได้ยินก็เกิด เมื่อเสียงดับ การได้ยินก็ดับ เสียงที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปนั่นแหละไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ในทางทวารอื่น ๆ ก็มีรูปนามเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเช่นกัน ฉะนั้นรูปนามมีอยู่ทุกทวาร รูปนามมีอยู่พร้อมแล้วตามทวารต่างๆ คือ ทางตา หู จมูกลิ้น กาย และทางใจ ไม่จำเป็นต้องไปเที่ยวหาจากที่อื่นเลย มีพร้อมอยู่แล้วเมื่อเวลากำหนดทางทวารไหนก็มีรูปนามทางทวารนั้น ฯลฯ
เหตุที่ต้องใช้รูปนามเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้น ก็เพื่อทำลาย “สักกายทิฏฐิ” คือ ความเห็นผิดในรูปนามนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นเราเป็นของเรา ออกไปเสีย เช่น ทางตา เมื่อมีการเห็นเกิดขึ้น ถ้าไม่กำหนดว่า“นามเห็น” ความเข้าใจผิดว่า “เราเห็น” ก็จะเกิดติดตามมาในความรู้สึกนั้นทันที
สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดเข้าใจผิดเช่นนี้มีอยู่ในจิตใจของคนเราทั่วๆ ไป และมีมานานติดมาหลายภพหลายชาติจนนับไม่ถ้วน ไม่รู้เท่าไรแล้วจนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น และเทศนาสั่งสอนอริยสัจธรรม ความเข้าใจผิดเห็นผิดจึงถูกทำลายไป ความเห็นถูกจึงเกิดขึ้น
การปฏิบัติวิปัสสนาที่ถือว่าสำคัญมากคือ “อารมณ์ปัจจุบัน” ซึ่งอารมณ์ปัจจุบันนี้สามารถทำลายความยินดียินร้ายได้โดยสิ้นเชิง อารมณ์ที่เป็นอดีต อนาคต เป็นที่ตั้งอาศัยเกิดของความยินดียินร้าย จึงต้องระวังอย่าให้จิตตกไปสู่อารมณ์อดีตหรืออนาคต
สิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ประกอบให้จิตได้อารมณ์ปัจจุบันก็คือ “ความรู้สึกตัว” (สติสัมชัญญะ) ฯลฯ เรื่องของการดูอารมณ์ปัจจุบัน ฯลฯ แลยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ “โยนิโสมนสิการ” หมายถึงการใส่ใจถูกเข้าไว้ในใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าขาดสิ่งนี้ไปแล้ว ญาณที่จะรู้แจ้งว่าเป็นรูปนาม มนสิการใจให้เห็นเป็นรูปนามตามความเป็นจริง เมื่อเห็นว่าเป็นรูปนามแล้ว รูปนามนั้นก็จะประกาศให้รู้ความจริงว่า รูปนามนั้นไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ทำวิปัสสนาแล้วเห็นอะไร ยังมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเห็น คือบางคนก็พูดว่าทำวิปัสสนาแล้วเห็น นรก สวรรค์ เห็นพระอรหันต์ เห็นพระพุทธเจ้าได้ยินเสียงพระพุทธเจ้า หรือเห็นเลข เห็นหวย หรือเห็นญาติของคนที่ตายไปแล้วอย่างนี้ก็มี ความเป็นจริงการทำวิปัสสนาไม่ได้เห็นอย่างนั้นการทำวิปัสสนาจะไม่มีนิมิตอะไรให้เห็นได้เลย นอกเสียจากรูปหรือนามเท่านั้นที่เป็นอารมณ์ให้เห็น และการเห็นรูปหรือนามก็ไม่ได้เห็นเป็นนิมิตเป็นรูปร่างให้ปรากฏว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นคนนั้นเป็นคนนี้
การที่เห็นเป็นรูปร่างว่าเป็นคนนั้นเป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนา แต่เป็นอารมณ์ของสมาธิ และการเห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ แสดงว่าจิตได้ตกไปจากอารมณ์วิปัสสนาไปสู่อารมณ์อื่นแล้ว ฯลฯ จะมีนิมิตต่างๆ เข้ามาแทนที่ ทำให้เห็นเป็นสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญวิปัสสนาอะไรเลย กลับเป็นอุปสรรคต่อการเจริญวิปัสสนาอีกด้วย
เห็นรูปนามแล้วได้อะไร ผลลัพธ์ที่ได้จากการเจริญวิปัสสนานั้นก็คือได้เห็นแจ้ง รู้แจ้งตามความเป็นจริง ละความเห็นผิด ละความเข้าใจผิดที่เรียกว่า “วิปัลลาส” เสียได้ วิปัลลาสมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
๑. อัตตวิปัลลาส ได้แก่ เห็นว่าเป็นอัตตา เป็นตัวตน เห็นว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
๒. นิจจวิปัลลาส เห็นว่าเที่ยง เห็นว่ามั่นคง ไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง
๓. สุขวิปัลลาส เห็นว่าเป็นสุข เห็นว่าเป็นของดี
๔. สุภวิปัลลาส คือเห็นว่าสวยงาม น่ารัก น่าปรารถนา

นึกกับรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร ก่อนที่จะกำหนดหรือดูรูปนาม จะต้องเข้าใจว่า “นึก” กับคำว่า “รู้สึก” ว่าต่างกันอย่างไร
คำว่า “คิดนึก” นั้น จิตมันน้อมไปสู่อารมณ์ในอดีต หรืออนาคตฯลฯ จิตไม่ได้รู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน ฯลฯ
จะดูรูปนามกันอย่างไร เมื่อรู้แล้วว่า รูปนั้นมี ๖ คือ รูปทางตารูปทางหู รูปทางจมูก รูปทางลิ้น รูปทางกาย และรูปทางใจ การดูก็ต้องดูรูปใด รูปหนึ่งที่กำลังปรากฏอยู่ กำลังมีอยู่ ซึ่งเรียกว่าปัจจุบันอารมณ์ ฯลฯ
นามนั้นก็มี ๖ คือ นามทางตา นามทางหู นามทางจมูก นามทางลิ้น นามทางกาย และนามทางใจ การดูก็ต้องดูนามใดนามหนึ่งที่กำลังปรากฏอยู่ กำลังมีอยู่
อนึ่ง การดูรูปหรือนามนั้น หมายถึง “ตามรู้” ไม่ใช่ไปจ้องดูหรือเพ่งดูอย่างเอาจริงเอาจังอะไรอย่างนั้น และการดูในที่นี้หมายถึง “ดูด้วยใจ”โดยมีสติระลึกอยู่ที่อารมณ์ปัจจุบันคือ “รูป” หรือ “นาม” ในขณะนั้น และมีสัมปชัญญะ คือ ปัญญา ความรู้อารมณ์ปัจจุบันที่สติระลึกอยู่นั้นว่าเป็นนามอะไร รูปอะไร ในขณะนั้น ฯลฯ
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ว่าอย่างไร เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมชื่อว่า “อนัตตลักขณสูตร” “พระพุทธเจ้าถามปัญจวัคคีย์”“รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
พระปัญจวัคคีย์ก็ตอบว่า “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์”
พระปัญจวัคคีย์ก็ตอบว่า “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นว่า สิ่งนั้นว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา”
พระปัญจวัคคีย์ก็ตอบว่า “ไม่ควรพระเจ้าข้า”
นี่คือข้อความตอนหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระปัญจวัคคีย์ แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ ต่อไปถึง เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ พระปัญจวัคคีย์ ก็รู้แจ้งว่า ขันธ์ ๕ มีรูป เป็นต้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนา จึงต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ คือ กำหนดรู้ตามความเป็นจริง เอาของจริงมากำหนด ฯลฯ คือนามกับรูป หรือขันธ์ ๕ เมื่อนั่งจะต้องกำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า “รูปนั่ง” ที่นั่งอยู่ในท่านี้มันเป็นรูปไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา และธรรมชาติที่รู้ว่าเป็นรูปนั่งนี้ก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ตกลงที่นั่งอยู่นี้มีรูปกับนามเท่านั้น ไม่มีเรา เมื่อกำหนดหรือทำวิปัสสนาจึงต้องกำหนดว่ากำลังดูรูปนั่ง ฯลฯ
การกำหนด กำหนดที่รูปหรือนามก็ได้ สุดแล้วแต่สภาวะอันใดจะปรากฏชัดเจนในขณะนั้น เหตุผลก็คือ เพราะสำคัญผิดเอารูปนั่งว่าเป็นเรานั่งบ้าง เอารูปนอนว่าเป็นเรานอน เอารูปยืนว่าเป็นเรายืน เอารูปเดินว่าเป็นเราเดิน หรือเอานามคิดว่าเป็นเราคิด เอานามชอบว่าเป็นเราชอบ เอานามโกรธว่าเป็นเราโกรธ เอานามปวดนามเมื่อยว่าเป็นเราปวดเราเมื่อย จึงต้องกำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า ที่ว่าเรา นั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน ฯลฯนั้น แท้จริงเป็นรูปไม่ใช่เรานั่ง ไม่ใช่เรานอน ไม่ใช่เรายืน ไม่ใช่เราเดิน ฯลฯเพื่อถ่ายถอนความเห็นผิดความสำคัญผิดนั้นออกไป ทั้งนี้เพราะความเห็นผิดความเข้าใจผิดนั้นเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง
นี้คืออารมณ์ของวิปัสสนาทางทวารทั้ง ๖ พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติทางทวารทั้ง ๖ เพื่อให้ท่านทั้งหลายที่ใฝ่ต่อการปฏิบัติได้รู้และเข้าใจนามรูปทางทวารทั้ง ๖ และการปฏิบัติวิปัสสนาทางทวารทั้ง ๖ ที่ทุกท่านจะต้องรู้ไว้

กิเลส ๑,๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘
จากหนังสือความรู้ เรื่อง วิปัสสนาและมหาสติปัฏฐานสูตร
ของ สรรค์ชัย พรรหมฤาษี

กิเลส ๑,๕๐๐
กิเลส คือธรรมชาติที่ทำให้จิตเศร้าหมองเร่าร้อน จิตใจเศร้าหมองเร่าร้อนด้วยธรรมชาติใด ธรรมชาตินั้นชื่อว่ากิเลส
กิเลสมี ๑๐ อย่าง คือ :-
๑. โลภะกิเลส คือ ความยินดีพอใจในอารมณ์ ติดใจในอารมณ์
๒. โทสะกิเลส คือ ความไม่ยินดี ไม่พอใจในอารมณ์
๓. โมหะกิเลส คือ ความมัวเมาลุ่มหลง ไม่รู้ความเป็นจริงของอารมณ์
๔. มานะกิเลส คือ ความเย่อหยิ่ง ถือตน สำคัญตน เย้ยหยัน เหยียดหยาม ติเตียน ทนงตน ตีเสมอ โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ลบหลู่คุณท่าน ฯลฯ
๕. ทิฏฐิกิเลส คือ ความเห็นผิดจากเหตุผลตามความเป็นจริง
๖. วิจิกิจฉากิเลส คือ ความสงสัย ลังเลใจในพระรัตนตรัย เป็นต้น
๗. ถีนะกิเลส คือ ความหดหู่ ท้อถอย จากความเพียรในกุศล
๘. อุทธัจจะกิเลส คือ ความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ
๙. อหิริกะกิเลส คือ ความไม่ละอายต่อการกระทำบาปอกุศล
๑๐. อโนตตัปปะกิเลส คือความไม่เกรงกลัวต่อผลของบาปอกุศล

การนับกิเลส ๑,๕๐๐ มีวิธีนับดังนี้
๑. ธรรมชาติที่เรียกว่ากิเลสนั้นมี ๑๐ ดังกล่าวข้างต้น
๒. อารมณ์ธรรม คือธรรมที่เป็นอารมณ์ของกิเลส มี ๑๕๐ คือ จิต๑ เจตสิก ๕๒ นิปผันนะรูป ๑๘ และลักขณะรูป ๔ รูปมี ๒๘ รวมเป็นอารมณ์ ๗๕ประการ ซึ่งเป็นอารมณ์ภายใน ๗๕ อารมณ์ภายนอก ๗๕ รวมเป็น ๑๕๐
๓. เอาอารมณ์ธรรม ๑๕๐ คูณด้วยกิเลส ๑๐ จึงเป็นกิเลส ๑,๕๐๐

ตัณหา ๑๐๘
ตัณหา ๑๐๘ คือ ความอยากได้ ความปรารถนาที่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ แล้วแสวงหาให้ได้มาตามต้องการ เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์ เมื่อได้มาแล้วก็ดิ้นรนอยากได้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก หรือเมื่อได้มาแล้วก็ต้องระวังรักษาเพราะกลัวจะสูญหายพลัดพราก เมื่อสูญหายพลัดพรากก็เป็นทุกข์อีก ตัณหาเกิดขึ้นกับใครก็จะเกิดทุกข์กับคนนั้นทันที
ตัณหามี ๓ อย่าง ดังนี้ คือ
๑. กามตัณหา คือ ความยินดี ติดใจ หรือความต้องการในอารมณ์๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกนึกคิด
๒. ภวตัณหา คือ ความชอบใจ ติดใจในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ คือ การได้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดาก็พอใจ ชอบใจ ในการเป็นมนุษย์หรือเทวดา ถ้าเกิดเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ก็ยินดีติดใจ พอใจในรูปภพ อรูปภพ หรือพึงพอใจในฌาน สมาบัติตั้งแต่ รูปฌาน ถึงอรูปฌานมีอารมณ์ที่ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ โดยยึดถือว่าเกิดอย่างไรตายไปก็เป็นอย่างนั้น ไม่สูญหายไปไหน เช่น ตายจากมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์อีก เป็นต้น
๓. วิภวตัณหา คือ ความชอบใจ พอใจ ในอุจเฉททิฏฐิ คือ ชอบใจติดใจ ว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญ บุญบาปแลผลบุญผลบาปไม่มี
อารมณ์ของตัณหา มี ๖ ดังนี้คือ
๑. รูปตัณหา ได้แก่ ความอยากได้ในรูป
๒. สัททตัณหา ได้แก่ ความอยากได้ในเสียง
๓. คันธตัณหา ได้แก่ ความอยากได้ในกลิ่น
๔. รสตัณหา ได้แก่ ความอยากได้ในรส
๕. โผฏฐัพพตัณหา ได้แก่ ความอยากได้ในสัมผัสทางกาย
๖. ธัมมตัณหา ได้แก่ ความอยากได้ในอารมณ์ทางใจ
การนับตัณหา ๑๐๘ มีวิธีนับดังนี้
๑. ตัณหามี ๓ คูณกับอารมณ์ของตัณหา ๖ เป็น ๑๘
๒. ตัณหา ๑๘ เกิดทั้งภายในได้ ๑๘ เกิดภายนอกได้ ๑๘ จึงเท่ากับมีตัณหา ๓๖
๓. ตัณหา ๓๖ เกิดได้ใน ๓ กาล คือ กาลในอดีต ๓๖ ปัจจุบัน๓๖ และอนาคต ๓๖ รวมตัณหาทั้งหมดมี ๑๐๘

ที่มา http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1148.php


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 18 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร