วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 17:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 18:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความหลงผิดอีกอย่างหนึ่ง ที่มักชักพาคนให้เข้าไปติด คือ การแล่นจากสุดโต่งแห่งความคิดเห็นด้านหนึ่ง

ไปยังสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ คนพวกหนึ่งยึดติดถือมั่นในตัวตนว่า เป็นของจริงแท้คงที่ถาวร

สัตว์บุคคล เป็นตัวตนอย่างนั้น ซึ่งมีจริง มิใช่สิ่งสมมุติ สัตว์บุคคลมีตัวจริงแท้ที่ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป

ไม่ว่า คนจะตาย ชีวิตจะสิ้นสุด ตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวตน ดวงชีวะ อาตมัน หรือ อัตตา (soul) นี้

ก็จะคงอยู่อย่างเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลายไปด้วย

บ้างก็ว่า อัตตาตัวนี้ไปเวียนว่ายตายเกิด

บ่างก็ว่า อัตตาตัวนี้รออยู่ เพื่อไปสู่นรก หรือ สวรรค์นิรันดรสุดแต่คำตัดสินของเทพสูงสุด

ความเห็นของคนพวกนี้เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ หรือ สัสสตวาท แปลว่า ความเห็นว่าเที่ยง คือ เห็นว่าสัตว์

บุคคล ตัวตน หรือ อัตตาเที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดไป

ส่วนคนอีกพวกหนึ่ง ก็เห็นว่า มีตัวตนเช่นนั้นอยู่ คือยึดถือสัตว์ บุคคล เป็นตัวแท้ตัวจริง

แต่สัตว์ บุคคลนั้นไม่เที่ยงแท้ถาวร สูญสลายไปได้ เมื่อคนตาย ชีวิตจบสิ้น สัตว์ บุคคล ก็ขาดสูญ

ตัวตนก็หมดไป ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ หรือ อุจเฉทวาท แปลว่า ความเห็นว่า

ขาดสูญ คือ เห็นว่า สัตว์บุคคล ตัวตนหรืออัตตาไม่เที่ยงแท้ถาวร ดำรงอยู่ชั่วคราวแล้วก็สูญสิ้นไป


แม้แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนถ่องแท้ ก็อาจตกไปในทิฏฐิ ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาหลักกรรมในแง่สังสารวัฏ (เวียนตายเวียนเกิด) ถ้าเข้าใจพลาดก็อาจกลายเป็น

สัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าเที่ยง

ผู้ที่ศึกษาหลักอนัตตา ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าขาดสูญ

จุดพลาดที่เหมือนกันของทิฏฐิสุดโต่งทั้งสองอย่าง ก็คือ ความเห็นว่าหรือยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคลที่เป็นตัวแท้

ตัวจริง

แต่พวกหนึ่งยึดถือว่า สัตว์บุคคล ตัวตนนั้นคงตัวอยู่ยั่งยืนตลอดไป

ส่วนอีกพวกหนึ่งเห็นไปว่า สัตว์ บุคคล ตัวตนที่มีอยู่นั้นมาถึงจุดหนึ่งตอนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อกายแตก

สลาย ชีวิตนี้สิ้นสุด สัตว์ บุคคล ตัวตนหรืออัตตา ก็ถูกตัดขาดสูญสิ้นไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกพวกหนึ่งที่เห็นเลยเถิดไปอีกทางหนึ่งว่า ความไม่มีตัวตนก็คือ ไม่มีอะไรเลย

ความไม่มีสัตว์ บุคคล ก็คือไม่มีผู้รับผล เมื่อไม่มีใครรับผล การกระทำใดๆ ก็ไม่มีผล ทำก็ไม่เป็นอันทำ

ไม่มีความรับผิดชอบต่อกรรม

หรือพูดง่ายๆว่า กรรมไม่มีนั่นเอง

ความเห็นและความยึดถือแนวนี้ ถ้าแยกละเอียดออกไปก็มี ๓ ทิฏฐิ คือ

พวกหนึ่ง เห็นว่าทำก็ไม่เป็นอันทำ หรือว่าการกระทำไม่มีผล เรียกว่า อกิริยทิฏฐิ หรืออกิริยวาท

พวกหนึ่ง เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างเลื่อนลอย สุดแต่ความบังเอิญไม่มีเหตุปัจจัย

พูดง่ายๆว่า เห็นว่าไม่มีเหตุ เรียกว่า อเหตุกทิฏฐิ หรือ อเหตุกวาท

และอีกพวกหนึ่ง เห็นว่าหรือถือว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักเป็นสาระได้

เรียกชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ หรือ นัตถิกวาท

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 19:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นกระบวนธรรม เกิดจากส่วนประกอบต่างๆประมวลกันขึ้น และเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ก็ย่อมไม่มีทั้งตัวตนที่จะเที่ยงแท้ยั่งยืน และทั้งตัวตนที่จะดับสิ้นขาดสูญคือแม้แต่ในขณะที่เป็นอยู่นี้

ก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอยู่แล้ว จะเอาตัวตนที่ไหนมายั่งยืน จะเอาตัวตนที่ไหนมาขาดสูญ เป็นอันปฏิเสธทั้ง

สัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิ ในเมื่อกระบวนธรรมดำเนินไปอยู่ โดยองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์

เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย จะว่าไม่มีอะไรได้อย่างไร และจะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่าง

เลื่อนลอยตามความบังเอิญ ไม่เหตุปัจจัยได้อย่างไร เป็นอันปฏิเสธทั้งนัตถิกทิฏฐิ และ อเหตุกทิฏฐิ

ในเมื่อกระบวนธรรมดำเนินไปตามเหตุปัจจัย แปรเปลี่ยนเป็นไปตามเหตุและผลที่เกิดขึ้น

ในกระบวนธรรมนั้น การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเหตุอยู่ในกระบวนธรรมนั้น จึงย่อมจะต้องมีผล

ไม่มีทางสูญเปล่า และเป็นการมีผลโดยไม่ต้องมีผู้รับผล คือผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรมเอง

(เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา และความแปรเปลี่ยน หรือ เสริมย้ำคุณสมบัติของจิตใจ หรือ บุคลิกภาพ

เป็นต้น จะเรียกอย่างกึ่งสมมุติก็ว่า กระบวนธรรมนั้นแหละ เป็นผู้รับผล) ซึ่งเป็นการเกิดผลที่แน่นอนยิ่งกว่า

การมีตัวตนเป็นผู้รับผลเสียอีก (เพราะ ถ้ามีตัวตนที่เที่ยงแท้คงตัว ตัวตนนั้นอาจปฏิเสธไม่ยอมรับผล

ก็ได้) ในเมื่อความเป็นไปตามเหตุปัจจัยมีอยู่ เหตุและผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรม กระบวนธรรม

ก็แปรเปลี่ยนไป จะว่าทำไม่เป็นอันทำ หรือ การกระทำไม่มีผลได้อย่างไร เป็นอันปฏิเสธ อกิริยทิฏฐิ

หรือ อกิริยวาท

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 20:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อความต่อไปนี้ จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค อาจช่วยเสริมความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้

จึงขอยกคำแปลมาแสดงไว้ ณ ที่นี้



“ว่าโดยความจริงแท้ (สัจจะ) ในโลกนี้มีแต่นามและรูป (นามธรรม และ รูปธรรม)

ก็แลในนามและรูปนั้น สัตว์ หรือ คนก็หามีไม่ นามและรูปนี้ว่างเปล่า ถูกปัจจัย ปรุงแต่งขึ้น

เหมือนดังเครื่องยนต์ เป็นกองแห่งทุกข์ (สิ่งไม่คงตัว) เช่น กับหญ้าและฟืน” *

(* วิสุทธิ.3/216)

“ทุกข์นั่นแหละมีอยู่ แต่ผู้ทุกข์หามีไม่ การกระทำมีอยู่ แต่ผู้ทำไม่มี นิพพานมีอยู่ แต่คนผู้นิพพาน

ไม่มี ทางก็มีอยู่ แต่ผู้เดินทางไม่มี” *

(* วิสุทธิ.3/101)


“ผู้ทำกรรมก็ไม่มี ผู้เสวยผลก็ไม่มี มีแต่ธรรมทั้งหลายล้วนๆ เป็นไป (กระบวนธรรม)

อย่างนี้นี่เอง เป็นความเห็นที่ถูกต้อง เมื่อกรรมและวิบาก (ผลของกรรม) พร้อมทั้งเหตุ เป็นไปอยู่อย่างนี้

ต้น ปลาย ก็ไม่เป็นที่รู้ได้ เหมือนดังก่อนหรือหลังแห่งเมล็ดพืชกับต้นไม้ เป็นต้น

แม้ในอนาคต เมื่อสังสาระยังมีอยู่ ก็ยังมองไม่เห็นการที่จะไม่เป็นไป (ของกรรมและวิบาก)”


“พวกเดียรถีย์ ไม่รู้ความข้อนี้ จึงไม่เป็นอิสระ (อสยํวสี =ไม่มีอำนาจในตน หรือ ไม่เป็นตัวของตนเอง

ต้องขึ้นต่อผู้อื่นด้วยการยึดถือผิด) ยึดเอาสัตตสัญญา (ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคล)แล้ว มีความ

เห็นไปว่า เที่ยงแท้ยั่งยืน (เป็นสัสสตะ)บ้าง

ว่าขาดสูญ (เป็นอุจเฉทะ) บ้าง พากันถือทิฐิ 62 อย่าง ขัดแย้งกันและกัน

พวกเขาถูกมัดด้วยเครื่องพันธนาการคือทิฐิ ถูกกระแสตัณหาพัดพาไป เมื่อล่องลอยไปตามกระแสตัณหา

ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้

ส่วนภิกษุพุทธสาวก รู้กระจ่างความที่ว่ามาอย่างนี้ ย่อมเข้าใจปรุโปร่ง(แทงตลอด) ถึงปัจจัยที่ลึกซึ้งละเอียด

และว่าง

“กรรมไม่มีในวิบาก วิบากก็ไม่มีในกรรม ทั้งสองอย่างว่างจากกันและกัน แต่ปราศจากกรรม ผลก็ไม่มี

เหมือนดังว่า ไฟมิใช่อยู่ในแสงแดด มิใช่อยู่ในแว่นแก้ว (อย่างเลนส์นูน) มิใช่อยู่ในมูลโคแห้ง (ที่ใช้

เป็นเชื้อเพลิง) แต่ก็มิใช่อยู่ภายนอกจากวัตถุทั้งสามนั้น หากเกิดจากการประกอบพร้อมเข้าด้วยกัน ฉันใด

วิบากก็หาไม่ได้ที่ภายในกรรม แต่ภายนอกกรรมก็หาไม่ได้

ส่วนกรรมเล่าก็ไม่มีในวิบากนั้น กรรมว่างจากผล

ผลก็ไม่มีในกรรม แต่ผลก็อาศัยกรรมนั่นแหละเกิดขึ้นจากกรรมนั้น ฉันนั้น

แท้จริง ในกระบวนแห่งสังสาระนี้ เทพก็ตาม พรหมก็ตาม ผู้สร้างสังสาระ หามีไม่ มีแต่ธรรมทั้งหลาย

ล้วนๆ เป็นไป ด้วยอาศัยการประชุมพร้อมแห่งเหตุเป็นปัจจัย”

(วิสุทธิ.3/22-7)


“ธรรมชาตินี้ มีเหตุ เกิดขึ้นพรั่งพร้อมแล้วอย่างนี้ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง คลอนแคลน เป็นของชั่วคราว

ไม่ยั่งยืน ธรรมทั้งหลาย ก็เกิดจากธรรมทั้งหลาย โดยเป็นเหตุกัน ในกระบวนความเป็นไปนี้ จึงไม่มีทั้งตัวตน

(อัตตา)ไม่มีทั้งตัวอื่น


“ธรรมทั้งหลาย ยังธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น โดยความประกอบพร้อมแห่งเหตุเป็นปัจจัย พระพุทธเจ้า

ทรงแสดงธรรมเพื่อความดับแห่งเหตุทั้งหลาย เมื่อเหตุทั้งหลายระงับไป วงจร(วัฏฏะ) ขาด ก็ไม่หมุน

ต่อไป ชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ย่อมมีเพื่อการทำความจบสิ้นทุกข์อย่างนี้ เมื่อหาตัวสัตว์ไม่ได้

จึงไม่มีทั้งขาดสูญ ไม่มีทั้งเที่ยงแท้ยั่งยืน”

(วิสุทธิ.ฎีกา 3/383)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 20:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กล่าวโดยสรุป หลักอนัตตาช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันและมีความสัมพันธ์สอดคล้อง

กับหลักการต่อไปนี้ คือ



ก.ปฏิเสธทั้งลัทธิที่ถือว่าเที่ยง (= สัสสตวาท)

และลัทธิที่ถือว่าขาดสูญ (= อุจเฉทวาท)


ข.ปฏิเสธลัทธิที่ถือว่า มีเทพสูงสุดผู้สร้างสรรค์บันดาลโลก กำหนดโชคชะตาชีวิตของมนุษย์

(= อิศวรนิรมิตวาท)


ค.เป็นเครื่องสนับสนุนหลักกรรมตามความหมายของพุทธธรรม พร้อมกันนั้นก็ปฏิเสธลัทธิที่ถือว่าการกระทำ

ไม่มีผล ทำไม่เป็นอันทำ (=อกิริยวาท)

ปฏิเสธลัทธิกรรมเก่า (=ปุพเพกตวาท เช่น ลัทธินิครนถ์)

ปฏิเสธลัทธิกรรมแบบมีอาตมัน หรือ ลัทธิกรรมแบบมีวรรณะ (เช่น ลัทธิฮินดู)

ปฏิเสธลัทธิเสี่ยงโชคถือว่า ทุกอย่างเป็นไปอย่างเลื่อนลอยสุดแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัย (อเหตุวาท)

และปฏิเสธลัทธิที่ถือว่า ไม่มีอะไรเลย (= นัตถิกวาท)

ง.แสดงลักษณะแห่งบรมธรรม (ธรรมสูงสุด คือ จุดหมายสุดท้าย) ของพระพุทธศาสนา ซึ่งต่างจาก

จุดหมายลัทธิศาสนาจำพวกอาตมวาท (=ลัทธิที่ถือว่า มีอาตมัน หรืออัตตา เช่น ศาสนาฮินดู เป็นต้น)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 21:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ลักษณะทั้งสาม คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ที่ได้บรรยายมานี้ เป็นภาวะที่สัมพันธ์เนื่องอยู่ด้วยกัน

เป็นอาการสามด้าน หรือ สามอย่างของเรื่องเดียวกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน


ดังพุทธพจน์ที่ตรัสบ่อยๆว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้น เป็นอนัตตา

(ยททิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา)” และมักมีข้อความที่ตรัสต่อไปอีกด้วยว่า

“สิ่งใด เป็นอนัตตา สิ่งนั้น พึงเห็นด้วยสัมมาปัญญาตามที่มันเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา มิใช่เราเป็นนั่น

นั่นไม่เป็นตัวตนของเรา” * (* สํ.สฬ.18/1/1)

หรือที่ตรัสในรูปคำถามต่อไปว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือ เป็นสุข ?”

เมื่อได้รับคำกราบทูลตอบว่า เป็นทุกข์ ก็ตรัสต่อไปว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความปรวนแปรไปได้

เป็นธรรมดา ควรหรือที่จะมองเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา” *

(* สํ.ข.17/128/83)


ความเนื่องอยู่ด้วยกัน ความสัมพันธ์สืบต่อกัน ความเป็นต่างด้านของเรื่องเดียวกัน และความเป็นเหตุ

เป็นผลแก่กัน
ของลักษณะทั้งสามนี้

อาจกล่าวให้สั้นที่สุดได้ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ประมวลกันเข้า องค์ประกอบเหล่านั้น

สัมพันธ์กันโดยอาการที่ต่างก็เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับสลาย เป็นปัจจัยส่งต่อสืบทอดกัน ผันแปรเรื่อยไป

รวมเรียกว่า เป็นกระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในสภาพนี้

1)ภาวะที่องค์ประกอบทั้งหลายเกิดสลายๆ องค์ประกอบทุกอย่าง หรือกระบวนธรรมทั้งหมด

ไม่คงที่ = อนิจจตา

2 )ภาวะที่องค์ประกอบทั้งหลายหรือกระบวนธรรมทั้งหมดถูกบีบคั้นด้วยการเกิดสลายๆ ต้องผันแปรไป

ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่คงตัว = ทุกขตา

3)ภาวะที่เกิดจากองค์ประกอบทั้งหลายประมวลกันขึ้น ไม่มีตัวแกนถาวรที่จะบงการ ต้องเป็นไปตามเหตุ

ปัจจัย ไม่เป็นตัว =อนัตตตา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 21 มี.ค. 2010, 21:21, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 21:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




Y8951248-1.jpg
Y8951248-1.jpg [ 53.76 KiB | เปิดดู 4206 ครั้ง ]
(ต่อเนื่องจาก คห.บน)


ถ้ามองดูลักษณะทั้งสามอย่างนี้พร้อมไปด้วยกัน ก็จะมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สมมุติเรียกเป็นตัวตนอันหนึ่งๆนั้น

เป็นที่รวมขององค์ประกอบต่างๆมากมาย ที่มาแออัดยัดเยียดกันอยู่ และองค์ประกอบเหล่านั้นทุกอย่าง

ล้วนแต่กำลังเกิดดับแตกสลายไม่คงที่ และต่างก็จะแยกพรากกระจัดกระจายกันออกไปเต็มไปด้วยความ

บีบคั้นกดดันขัดแย้งกัน อันทำให้ผันแปรสภาพไป ไม่คงตัว ต้องอาศัยความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย

เป็นเครื่องควบคุมความเป็นไปให้คงรูปเป็นกระแสเป็นกระบวนธรรมอันหนึ่งอยู่ ไม่เป็นตัวใดๆ ล้วนเป็นไป

ตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 21:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอันใดไม่เที่ยง อันนั้นย่อมเป็นทุกข์ อันใดเป็นทุกข์ อันนั้นย่อมเป็นอนัตตา ก็จริง

แต่อันใดเป็นอนัตตา อันนั้นไม่จำเป็นต้องไม่เที่ยง ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์เสมอไป กล่าวคือ สังขารหรือ

สังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารหรือสังขตธรรมทั้งปวงนั้นย่อมเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

แต่ธรรมทั้งปวง คือ ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือ ทั้งสังขารและวิสังขาร แม้จะเป็นอนัตตา

แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องไม่เที่ยงและเป็นทุกข์เสมอไป หมายความว่า อสังขตธรรมหรือวิสังขาร

(คือนิพพาน) แม้จะเป็นอนัตตา แต่ก็พ้นจากความไม่เที่ยงและพ้นจากความเป็นทุกข์

โดยนัยนี้ คำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะทั้งสามเท่าที่แสดงมาแล้ว ซึ่งมีความหมายเนื่องเป็นอันเดียวกัน

เป็นต่างด้านของเรื่องเดียวกัน จึงมุ่งสำหรับสังขารหรือสังขตธรรมเป็นสำคัญ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 22:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




Y8951248-3.jpg
Y8951248-3.jpg [ 43.53 KiB | เปิดดู 4200 ครั้ง ]
ดูความหมาย อัตตา อนัตตา และอัตตา นิรัตตา เพิ่มที่

viewtopic.php?f=2&t=18974

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 23:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.พ. 2010, 13:35
โพสต์: 355

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ที่ยังปฏิบัติจนเห็นจริงเรื่องไตรลักษณ์ และเรื่องอนัตตา ไม่ได้ แต่ไปท่องจำตามๆกันมาแบบผิดๆถูกๆ แต่แสดงกระทู้เสียยาวเหยียดเรื่องไตรลักษณ์ และเรื่องอนัตตา เหมือนเป็นผู้รู้

สมเด็จพระสังฆราช อริยวงศาคตญาณ (แพ ติสูรเทโว)

"สัตว์โลกยังมีอวิชชาจะเข้าใจว่าขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เว้นเมื่อเข้าถึงอสังขตธาตุได้ความบริสุทธ์เป็นนิพพาน จะเข้าใจว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาทันที แล้วจะเห็นว่าพระนิพพานเป็นอัตตา"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 41 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร