วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2010, 16:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รู้แจ้งปรมัตถธรรมด้วยการเจริญพละ ๕

โดย....พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ

การเจริญวิปัสสนากล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาองค์ประกอบของจิต (เจตสิก) ฝ่ายกุศล ให้เข้มแข็งจนกระทั่งสามารถคุ้มครองจิตได้อย่างต่อเนื่อง องค์ธรรมเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “ พละ ” ซึ่งมี ๕ ประการ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ในการเข้าอบรมวิปัสสนากรรมฐานการปฏิบัติที่ถูกต้องจะช่วยพัฒนาศรัทธาให้เข้มแข็ง มั่นคง มีความพากเพียรอย่างแรงกล้า มีสมาธิหยั่งลึก มีสติรู้รอบเป็นผลให้ปัญญาสูงขึ้นตามลำดับ ผลแห่งการปฏิบัติ อันได้แก่ ญาณทัศนะ หรือปัญญา จะเป็นพลังจิตที่สามารถหยั่งรู้ความเป็นจริงอันสูงสุด จนสามารถกำจัดอวิชชาให้หมดสิ้นไปพร้อม ๆ กับ ทุกข์ อุปาทาน และโทมนัสทั้งปวง

พัฒนาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสร้างเหตุที่เหมาะสม ๙ ประการที่จะนำไปสู่ความเจริญของพละคือ ๑.การใส่ใจสังเกตดูความเป็นอนิจจังของอารมณ์ในขณะกระทบอายตนะทั้งหก ๒.การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยความเคารพ เอาใส่ใจและละเอียดอ่อน ๓.การมีสติปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ๔.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติ ๕.พยายามจดจำสถานการณ์หรือพฤติกรรมที่มีส่วนช่วยให้การปฏิบัติดำเนินไปด้วยดีในอดีต เพื่อที่จะรักษา หรือเสริมสร้างปัจจัยเหล่านี้ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เผชิญกับความยามลำบาก ๖.ปลูกฝังโพชฌงค์ทั้งเจ็ด ๗.มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยว ๘.มีความอดทนและบากบั่นเมื่อเผชิญกับความเจ็บปวด หรืออุปสรรคอื่นใด ๙.มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติไปจนกว่าจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ อันได้แก่ความพ้นทุกข์

การปฏิบัติของโยคีนั้นจะสามารถก้าวหน้าไปได้ไกล แม้เพียงการเจริญเหตุที่เหมาะสมข้างต้นเพียง ๓ ประการแรก กล่าวคือ จิตใจของผู้ปฏิบัติจะเริ่มมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา หากผู้ปฏิบัติเฝ้าดูสิ่งที่ปรากฏทางกายและทางจิตอย่างพิถีพิถัน ด้วยความเคารพและอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายในสภาวะเช่นนี้ นิวรณ์ต่าง ๆ จะถูกกำจัดไปอย่างรวดเร็ว พละทั้ง ๕ จะทำให้จิตใจเข้าสู่ความสงบ ปราศจากสิ่งรบกวน โยคีที่ปฏิบัติมาถึงขั้นนี้จะพบกับความสงบเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนจนบางคนอาจรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า “ สิ่งที่ครูบาอาจารย์กล่าวถึง ทั้งความสันติสุขและสงบเยือกนั้น เราสามารถประสบได้ด้วยตัวเองจริง ๆ ” การปฏิบัติดังกล่าวนี้ก็จะช่วยสนับสนุนให้ศรัทธา ซึ่งเป็นพละประการแรกเริ่มเกิดขึ้น

ศรัทธาชนิดนี้เรียกว่า “ ศรัทธาเบื้องต้นที่เกิดจากการประจักษ์แจ้งความจริงด้วยตนเอง ” กล่าวคือ ประสบการณ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความรู้สึกว่า ผลการปฏิบัติขั้นสูงไปที่พระอาจารย์กล่าวถึงนั้น อาจปรากฏแก่ตนเองได้จริงเมื่อมีศรัทธา ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และทำให้จิตมีพลังมากขึ้น เมื่อมีพลังใจ ก็มีความพากเพียร บากบั่นตามมา ผู้ปฏิบัติจะกล่าวกับตัวเองว่า “ นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น และหากเราพยายามมากกว่านี้ก็จะได้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก ” ความพยายามที่ได้รับการเสริมสร้างขึ้นอีกเช่นนี้จะทำให้จิตสามารถกำหนดอารมณ์อันเป็นเป้าหมายในการกำหนดได้ทุกขณะ สติก็จะแนบแน่นขึ้นและหยั่งลึกลงยิ่งขึ้นตามลำดับ

สติเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ กล่าวคือจิตที่รวมเป็นหนึ่งได้ เมื่อสติกำหนดรู้อารมณ์ในแต่ละขณะ จิตก็จะมีความมั่นคง ไม่วอกแวก และมีปีติอยู่ในการกำหนดนั้น ๆ ในสภาพธรรมชาติเช่นนี้ สมาธิก็จะรวมลงและตั้งมั่นขึ้น ดังนั้นยิ่งสติมีกำลังมากขึ้นเท่าใด สมาธิก็มีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อศรัทธา วิริยะ สติ และสมาธิมีอยู่พร้อมกัน ปัญญาซึ่งเป็นพละประการที่ ๕ ย่อมจะเกิดขึ้นเอง ตราบเท่าที่พละทั้งสี่ประการแรกปรากฏอยู่ ปัญญาหรือญาณก็จะเกิดขึ้นเอง ผู้ปฏิบัติจะเริ่มตระหนักแก่ใจตนเองอย่างชัดแจ้งว่า รูปกับนามเป็นคนละสิ่งกัน และเริ่มเห็นว่ารูปกับนามเป็นปัจจัยในการเกิดขึ้นของกันและกันอย่างไร เมื่อญาณปัญญาก้าวหน้าขึ้น ความศรัทธาอันเกิดจากการเข้าไปประจักษ์ความจริงด้วยตนเอง ก็จะเข้มแข็งขึ้น

ผู้ปฏิบัติที่หยั่งรู้การเกิดดับของอารมณ์ในทุกขณะจะพบปีติอย่างสูง “ เป็นประสบการณ์ที่ประเสริฐยิ่งนัก ที่เห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ผ่านไปเป็นขณะ ๆ โดยปราศจากตัวตน ไม่มีใคร ไม่มีอะไรเลย ” การค้นพบนี้จะก่อให้เกิดความโล่งอกและสบายใจอย่างมาก ญาณทัศนะต่อ ๆ มาที่หยั่งรู้ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา จะยิ่งเสริมสร้างความศรัทธายิ่งขึ้น และจะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความเชื่อมั่นหนักแน่นว่าธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมานั้นเป็นของจริงแท้

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อาจเปรียบได้กับการลับมีดด้วยหินลับมีด ผู้ลับต้องวางมีดให้อยู่ในมุมที่เหมาะสม ไม่สูงเกินไปหรือไม่ต่ำเกินไป กดลงด้วยน้ำหนักที่พอดี ผู้ลับจะเคลื่อนใบมีดไปอย่างสม่ำเสมอบนหินลับมีดจนกระทั่งมีดข้างหนึ่งเริ่มเกิดขึ้น เสร็จแล้วจึงกลับใบมีดไปอีกข้างหนึ่ง กดลงด้วยน้ำหนักเท่า ๆ กัน ในมุมเดียวกัน ตัวอย่างนี้แสดงอยู่ในพระไตรปิฎก ความเที่ยงตรงของมุมเปรียบได้กับความพิถีพิถันในการปฏิบัติ ส่วนแรงกดและการเคลื่อนไหว เปรียบเสมือนสติที่ต่อเนื่องกัน หากความพิถีพิถันและความต่อเนื่องคงอยู่ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติก็มั่นใจได้ว่าในระยะเวลาไม่นาน จิตจะมีความเฉียบแหลม เพียงพอที่จะหยั่งลงสู่สัจธรรมของชีวิตได้



๑. การใส่ใจสังเกตความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งปวง


ปัจจัยสนับสนุนประการแรกในการพัฒนาพละ คือ การเฝ้าสังเกตว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนแต่จะต้องเสื่อมสลายและดับสิ้นไป ในระหว่างการปฏิบัติวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติจะเฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามอายตนะทั้งหก ในการนี้ ผู้ปฏิบัติควรจะตั้งเจตนาในการกำหนดว่า การกำหนดนี้เพื่อให้เห็นว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในที่สุดก็จะดับไปดังที่ผู้ปฏิบัติทราบดี ปรากฏการณ์นี้จะเห็นจริงได้ ก็ด้วยประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ๆ เท่านั้น

การวางท่าทีจิตใจเช่นนี้สำคัญมากในการเตรียมตัวเพื่อการปฏิบัติ การยอมรับตั้งแต่ต้นว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นอนิจจัง และจะต้องเปลี่ยนแปรไปเป็นการป้องกันปฏิกิริยา (อันไม่พึงปรารถนา) ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติเผชิญหน้ากับความจริงดังกล่าวในภายหลัง ซึ่งบางครั้งเป็นความจริงที่เจ็บปวด หากปราศจากการยอมรับนี้ ผู้ปฏิบัติอาจจะต้องเสียเวลาไปมาก จากความเข้าใจที่ตรงข้ามว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้เป็นนิจจัง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของญาณ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติอาจยอมรับอนิจจังด้วยศรัทธาไปก่อน แต่เมื่อการปฏิบัติก้าวหน้าไป ความศรัทธานี้จะได้รับการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเอง



๒. ความพิถีพิถันเอาใจใส่ด้วยความเคารพ


ปัจจัยพื้นฐานประการที่สองในการเสริมสร้างพละได้แก่ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยท่าทีจิตใจที่ระมัดระวัง มีความเคารพและความพิถีพิถันยิ่ง การจะสร้างทัศนคติเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติอาจจะคิดถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว การระลึกรู้กาย ความรู้สึก จิต และอารมณ์ จะทำให้จิตมีความบริสุทธิ์ เอาชนะความทุกข์และความโศกเศร้าพิไรรำพัน ทำลายความเจ็บปวดและความเครียดโดยสิ้นเชิง และเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด พระพุทธองค์ทรงเรียกการปฏิบัตินี้ว่าสติปัฏฐานสี่ หมายถึงการเจริญสติบนฐานทั้งสี่ซึ่งเป็นสิ่งหาค่ามิได้โดยแท้จริง

การระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังใจในการกำหนดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่อายตนะทั้งหกอย่างระมัดระวังและเอาใจใส่ ในระหว่างการเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โยคีควรจะเคลื่อนไหวให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยระลึกว่าสติของตนยังอ่อนมาก การทำสิ่งต่าง ๆ ช้าลง เปิดโอกาสให้สติติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกายได้ทัน สามารถกำหนดการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งได้อย่างละเอียด

พระไตรปิฎกเปรียบเทียบความเอาใจใส่ระมัดระวังและพิถีพิถันนี้กับภาพของคน ๆ หนึ่ง กำลังข้ามแม่น้ำบนสะพานแคบ ๆ ไม่มีราวจับ มีแม่น้ำไหลเชี่ยวอยู่เบื้องล่าง แน่นอนว่าบุคคลผู้นั้นจะไม่สามารถกระโดดเร็ว ๆ หรือวิ่งข้ามสะพานได้ เขาจะต้องก้าวอย่างระมัดระวังไปทีละก้าว

นักปฏิบัติยังอาจเปรียบได้กับบุคคลที่กำลังถือบาตรที่มีน้ำมันอยู่เต็มเปี่ยม เราคงพอคาดเดาได้ถึงระดับความระมัดระวังที่เขาใช้เพื่อมิให้น้ำมันหก ระดับของสติเช่นนี้เองที่ควรมีอยู่ในการปฏิบัติธรรม

ตัวอย่างทั้งสองนี้มาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์เอง เนื่องจากในสมัยหนึ่งมีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งดูทีว่าจะปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า แต่พระสงฆ์เหล่านั้นปฏิบัติอย่างไม่สำรวม เช่นหลังจากการนั่งสมาธิ จะผุดลุกขึ้นอย่างขาดสติ เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งโดยไม่สำรวม มองนกบนต้นไม้และเมฆในท้องฟ้าอย่างปราศจากความระมัดระวังสำรวมใจ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการปฏิบัติของพวกท่านจะไม่คืบหน้าเลยเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ ก็ทรงสำรวจดูและพบว่าความบกพร่องของพระสงฆ์เหล่านี้ก็คือการขาดความเคารพในความจริงของสิ่งทั้งปวง ในพระธรรมคำสั่งสอนและการปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์จึงเสด็จไปหาพระสงฆ์เหล่านั้นและตรัสเทศน์ถึงภาพของคนถือบาตรน้ำมันข้างต้น พระธรรมเทศนาดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้พระสงฆ์เปล่านั้นตั้งปณิธานว่าจะพิถีพิถันและระมัดระวังในทุกอิริยาบถ จนสามารถบรรลุธรรมได้ในเวลาไม่นาน

ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์สิ่งนี้ได้ด้วยตนเองในการเข้าอบรมพระกรรมฐาน โดยการเคลื่อนไหวให้ช้าลง มีความเอาใจใส่ระมัดระวังยิ่งและปฏิบัติด้วยความเคารพยิ่ง ผู้ปฏิบัติเคลื่อนไหวช้าลงเท่าไร ก็จะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติเร็วขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในโลกนี้ บุคคลย่อมต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ บางครั้งเราต้องทำอะไรเร็ว ๆ เช่นคนที่ขับรถช้า ๆ บนทางด่วนก็อาจประสบอุบัติเหตุหรือปฏิบัติผิดกฎจราจรได้ ในทางกลับกัน การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก็ต้องกระทำอย่างทะนุถนอมทำอย่างช้า ๆ ถ้าหากแพทย์หรือพยาบาลเร่งรีบจนเกินไปเพียงเพื่อทำงานให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องทนทุกข์ทรมานหรือเสียชีวิตได้

ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจสถานการณ์ของตนเองว่าเป็นอย่างไร และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้นไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอบรมพระกรรมฐานหรือในภาวะปรกติ การมีความเกรงใจ และเคลื่อนไหวในระดับปรกติย่อมเป็นสิ่งสมควรหากมีผู้รออยู่ อย่างไรก็ตาม หากผู้ปฏิบัติเข้าใจว่า เป้าหมายหลักของการปฏิบัตินั้นก็คือการเจริญสติ ดังนั้น เมื่ออยู่คนเดียวก็ควรกลับไปทำอะไร ๆ ช้าลง เช่น การรับประทานอาหารช้า ๆ ล้างหน้า แปรงฟัน และอาบน้ำด้วยสติอย่างถี่ถ้วน



๓. มีสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย


ความต่อเนื่องไม่ขาดสายของสติเป็นปัจจัยที่สำคัญประการที่สาม ในการพัฒนาพละทั้ง ๕ ผู้ปฏิบัติต้องพยายามที่จะอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุก ๆ ขณะโดยไม่ขาดตอน ด้วยวิธีนี้ สติก็จะเริ่มก่อตัวและเจริญขึ้นได้ การเจริญสติเป็นการป้องกันมิให้กิเลส ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ ความเศร้าหมอง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง แทรกซึมเข้ามาบ่อนทำลาย และนำเราไปสู่ความมืดบอดได้ ตราบใดที่สติยังเข้มแข็งอยู่ กิเลสจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อจิตใจปราศจากกิเลส จิตก็จะเป็นอิสระ โปร่งเบา และเป็นสุข

ฉะนั้น จงพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาความต่อเนื่องของสติ เมื่อจะเปลี่ยนอิริยาบถ จงแยกความเคลื่อนไหวเป็นส่วน ๆ และกำหนดการเคลื่อนไหวแต่ละส่วนอย่างระมัดระวังยิ่ง เช่นเมื่อจะลุกจากท่านั่ง ให้กำหนดความตั้งใจที่จะลืมตา แล้วกำหนดความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเปลือกตาเริ่มเคลื่อนไหว กำหนดการยกมือออกจากหน้าตัก การขยับขา และอื่นๆ ตลอดทั้งวัน จงมีสติระลึกแม้ในอิริยาบถย่อยที่ละเอียดที่สุด นอกเหนือจากการยืน เดิน นั่ง และนอน เช่น การหลับตา การหันหน้า การหมุนลูกบิดประตู ฯลฯ

นอกจากในเวลาที่หลับไปแล้ว โยคีควรจะรักษาสติไว้ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติ ความต่อเนื่องควรจะมีความถี่ถึงขนาดที่ผู้ปฏิบัติไม่มีเวลาในการคิดทบทวนลังเล วิเคราะห์ หาเหตุผลเปรียบเทียบประสบการณ์กับตำราที่เคยอ่านใด ๆ ทั้งสิ้น จะมีเวลาพอสำหรับการมีสติตามรู้ปัจจุบันอารมณ์เท่านั้น

พระไตรปิฎกเปรียบเทียบการปฏิบัติธรรมเหมือนกับการจุดไฟ ในสมัยก่อนเมื่อยังไม่มีไม้ขีดไฟหรือแว่นขยายนั้น การจุดไฟต้องอาศัยวิธีโบราณที่นำวัตถุมาเสียดสีกัน อุปกรณ์ประกอบด้วยคันธนูที่เอาสายธนูไปพันกับไม้อีกท่อนหนึ่ง โดยปลายไม้นี้นำไปเสียบไว้ในหลุมเล็ก ๆ บนแผ่นกระดาษที่มีเศษไม้และใบไม้กองอยู่ เมื่อคนไสคันธนูไปมา ท่อนไม้ก็จะหมุนขัดสีกับแผ่นกระดานก่อให้เกิดความร้อนพอที่จะทำให้ใบไม้และกิ่งไม้ลุกไหม้ได้อีกวิธีหนึ่งก็คือ ใช้มือหมุนท่อนไม้โดยตรง ทั้งสองวิธีนี้คนจะต้องถูท่อนไม้นั้นกลับไปกลับมาจนกว่าจะเกิดแรงเสียดทานที่เพียงพอจะทำให้ไฟลุกขึ้นได้ คราวนี้ลองสมมุติดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากบุคคลผู้นั้นเสียดสีไม้เป็นเวลา ๑๐ วินาที แล้วพัก ๕ วินาที เพื่อพิจารณาดู ไฟจะติดขึ้นได้อย่างไร ในทำนองเดียวกัน ความพยายามที่ต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นในการจุดไฟแห่งปัญญาให้เกิดขึ้น

พฤติกรรมของกิ้งก่าก็เป็นตัวอย่างที่ (ไม่) ดีอีกอย่างหนึ่งของการปฏิบัติธรรม พระไตรปิฎกใช้กิ้งก่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับการปฏิบัติที่ขาดความต่อเนื่อง กล่าวคือ เวลากิ้งก่ามองเห็นอาหารหรือกิ้งก่าตัวเมีย มันจะวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่จะไม่จู่โจมเข้าสู่เป้าหมายในทันที มันจะโผไปสั้น ๆ แล้วหยุด มองดูท้องฟ้า เอียงคอไปมา เสร็จแล้วก็ทะยานไปอีกหน่อยหนึ่ง ก่อนจะหยุดลงอีกเพื่อมองโน่นมองนี่ต่อไป มันจะไม่เคยถึงเป้าหมายในคราวเดียวเลย

โยคีที่ปฏิบัติแบบลักปิดลักเปิด มีสติชั่วครู่ชั่วยามแล้วหยุดเพื่อคิดโน่นคิดนี่ เป็นโยคีกิ้งก่า ถึงแม้ว่ากิ้งก่าจะเอาชีวิตรอดได้ด้วยพฤติกรรมแบบนี้ แต่การปฏิบัติของโยคีอาจไม่รอด ผู้ปฏิบัติบางคนรู้สึกว่าจำเป็นต้องหยุดคิดทุกครั้งที่มีประสบการณ์ใหม่ ๆ เฝ้าสงสัยว่าเขาถึงญาณขั้นไหนแล้ว ในขณะที่บางคนอาจไม่นึกถึงสิ่งใหม่ แต่คอยคิดกังวลถึงเรื่องเดิม ๆ ที่คุ้นเคย

บางคนอาจบ่นว่า “ เหนื่อยเหลือเกินวันนี้ สงสัยเมื่อคืนจะนอนไม่พอ หรือทานมากไป น่าจะงีบสักพักหนึ่ง หรือเท้าเจ็บเหลือเกิน ไม่รู้เป็นแผลหรือเปล่า ถ้าเป็นเดี๋ยวการปฏิบัติจะแย่ ขอลืมตาดูหน่อยดีกว่า ” เหล่านี้คือความลังเลของกิ้งก่า



๔. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

องค์ประกอบประการที่ ๔ ในการพัฒนาพละ ๕ ได้แก่การมีปัจจัยที่เกื้อกูลต่อการเจริญสติและปัญญา ๗ ประการ คือ

๑. สถานที่ที่เหมาะสม บริเวณสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนาควรจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกพอสมควร และเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรม

๒. อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม หมายถึงการออกบิณฑบาตเป็นประจำวันของพระสงฆ์ สถานที่ปฏิบัติธรรมควรอยู่ไกลพอควรจากหมู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวน แต่ต้องใกล้ชุมชนพอที่จะออกบิณฑบาตได้ สำหรับฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรม ต้องมีความสะดวกในเรื่องอาหารพอควรแต่ไม่ถึงกับเป็นเครื่องล่อใจหรือรบกวนต่อการปฏิบัติธรรม และผู้ปฏิบัติพึงหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำลายสมาธิ เช่น บริเวณที่มีคนพลุกพล่าน โดยย่อ ความสงบระดังหนึ่งเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ต้องไม่หนีจากความเจริญ จนไม่สามารถแสวงหาปัจจัยที่จำเป็นในการประทังชีวิตได้

๓. วาจาที่เหมาะสม ในระหว่างการปฏิบัติธรรม ความจำเป็นในการพูดจามีน้อยมาก อรรถกถากำหนดให้เพียงการฟังธรรมเทศนาเท่านั้น แต่เราอาจจะเพิ่มการสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ (การสอบอารมณ์) เข้าไว้ด้วยได้ บางครั้งการสนทนาเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน หรือไม่แน่ใจว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป

แต่โปรดจำไว้ว่า อะไรก็ตามที่มากเกินไปย่อมเป็นโทษ อาตมาเคยสอนในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีกระถางต้อนไม้ที่กัปปิยะของอาตมาเอาใจใส่รดน้ำมากเกินไป ผลก็คือใบไม้กลับร่วงหลุดไปหมด สิ่งเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้กับสมาธิของผู้ปฏิบัติ หากผู้ปฏิบัติสนทนาธรรมมากเกินไป หรือแม้แต่การบรรยายธรรมของพระอาจารย์เอง โยคีต้องประเมินดูอย่างระมัดระวัง หลักการง่าย ๆ ก็คือ ให้ดูว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้นช่วยให้สมาธิดีขึ้นหรือไม่ หรือทำให้เกิดสมาธิหรือไม่ หาไม่แล้ว ผู้ปฏิบัติก็ควรหลีกเลี่ยง เช่น ไม่เข้าฟังธรรม หรืองดสอบอารมณ์ เป็นต้น

โยคีที่เข้าอบรมแบบเข้มงวด ควรหลีกเลี่ยงการพูดจาทุกชนิดให้มากที่สุด โดยเฉพาะการพูดเรื่องทางโลก แม้แต่การสนทนาธรรมอย่างลึกซึ้งก็อาจไม่เหมาะสม ในระหว่างการปฏิบัติที่เข้มงวด ผู้ปฏิบัติควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียงประเด็นความเชื่อกับเพื่อนโยคีในระหว่างการปฏิบัติ นอกจากนั้น สิ่งที่ไม่สมควรที่สุด ได้แก่สนทนาเกี่ยวกับอาหาร สถานที่ต่าง ๆ ธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ เหล่านี้เป็น “ คำพูดทางโลก ”

เป้าหมายของข้อห้ามเหล่านี้ ก็เพื่อป้องกันสิ่งที่อาจรบกวนจิตใจโยคี พระพุทธองค์ตรัสแก่โยคีด้วยความเมตตายิ่งว่า “ นักปฏิบัติที่เอาจริง ไม่ควรพูด เพราะการพูดบ่อย ๆ จะทำให้โยคีมีสิ่งรบกวนจิตใจมาก ”

อย่างไรก็ตาม การพูดจาอาจเป็นสิ่งจำเป็นในบางครั้งระหว่างการปฏิบัติธรรม ในกรณีเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติต้องระมัดระวังที่จะไม่พูดอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่จำเป็นจะต้องสื่อสารจริง ๆ และควรมีสติตลอดกระบวนการของการพูด ในเบื้องต้นจะเกิดความต้องการพูดก่อน แล้วตามด้วยความคิดว่าจะพูดอะไรและอย่างไร ผู้ปฏิบัติควรกำหนดความคิดดังกล่าวทั้งหมด ตั้งแต่การเตรียมความคิดที่จะพูด และอาการพูดจริง ๆ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ขณะพูด เช่น ริมฝีปาก ใบหน้า ตลอดจนท่าทางประกอบ ล้วนต้องกำหนดทั้งสิ้น

หลายปีมาแล้วในประเทศพม่า มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งเพิ่งเกษียณอายุ เขาเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดมาก ได้อ่านพระไตรปิฎกและหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่แปลเป็นภาษาพม่าดี ๆ จำนวนมาก และได้ผ่านการปฏิบัติกรรมฐานมาบ้าง ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเขายังไม่ลึกซึ้งนัก แต่เขาก็มีความรู้พื้นฐานค่อนข้างมาก และประสงค์ที่จะสอนสิ่งที่เขารู้ เขาจึงได้หันไปเป็นอาจารย์

วันหนึ่งเขาเข้ามาปฏิบัติที่ศูนย์ปฏิบัติกรรมฐานในเมืองย่างกุ้ง และเมื่ออาตมาสอนโยคี อาตมาก็จะอธิบายหลักการปฏิบัติแล้วถึงเปรียบเทียบคำสอนของอาตมากับพระไตรปิฎก โดยพยายามประสานแนวคิดที่อาจดูเหมือนไม่ตรงกัน ชายคนนี้จะเริ่มตั้งคำถามทันทีว่า “ คำกล่าวนี้มาจากไหน มีเอกสารอ้างอิงหรือเปล่า ” อาตมาพยายามแนะนำเขาอย่างสุภาพให้เลิกวิตกในประเด็นเหล่านั้น แล้วตั้งหน้าปฏิบัติต่อไป แต่เขาอดไม่ได้ เป็นเวลาติดต่อกัน ๓ วันที่เขาทำอย่างนี้ในระหว่างการสอบอารมณ์

ในที่สุด อาตมาถามเขาว่า “ ท่านมาที่นี่ทำไม ท่านมาเพื่อที่จะเรียน หรือมาสอนอาตมากันแน่ ” ในสายตาของอาตมา เขามาเพื่ออวดความรู้มิใช่มาปฏิบัติธรรม ชายคนนั้นตอบอย่างร่าเริงว่า “ เอ้อ ผมมาเป็นนักเรียนสิครับ ท่านสิเป็นอาจารย์ ” อาตมากล่าวว่า “ อาตมาได้พยายามบอกท่านอ้อม ๆ ตลอด ๓ วันที่ผ่านมา แต่ถึงตอนนี้ อาตมาจำต้องบอกท่านตามตรง ท่านทำตัวเหมือนบาทหลวง ซึ่งตามปรกติจะทำหน้าที่ประกอบพิธีแต่งงานให้ชาวบ้าน จนกระทั่งถึงคราวที่บาทหลวงจะแต่งงาน แทนที่จะไปยืนในตำแหน่งเจ้าบ่าว กลับขึ้นไปบนแทนพิธี แล้วประกอบพิธีแต่งงานเสียเอง ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้มาร่วมงานเป็นอันมา “ ชายคนนั้นเข้าใจประเด็นในที่สุด เขายอมรับข้อผิดพลาด แล้วกลายเป็นนักเรียนที่ว่าง่ายหลังจากนั้น

โยคีที่ประสงค์จะเข้าใจธรรมจริง ๆ จะต้องไม่เลียนแบบชายคนนี้ ความจริง พระอรรถกถากล่าวไว้ว่า ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะมีความรู้ความสามารถมากเพียงใด ในระหว่างการปฏิบัติกรรมฐาน ต้องทำตัวราวกับคนไร้ความสามารถและเป็นคนสงบเสงี่ยมว่าง่ายอย่างยิ่ง ในกรณีนี้ อาตมาจะขอเล่าทัศนคติอย่างหนึ่งที่อาตมามีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่ออาตมายังไม่มีความชำนาญ เชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาตมาก็จะไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องนั้น ๆ และถึงแม้ว่าอาตมาจะมีความชำนาญเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม อาตมาก็จะไม่เข้าไปแสดงความเห็นหรือแทรกแซงในเรื่องใด หากไม่ได้รับการขอร้องก่อน

ปัจจัยสนับสนุนประการที่ ๔ ได้แก่ บุคคลที่เหมาะสมโดยเฉพาะวิปัสสนาจารย์ หากคำสอนของท่านช่วยให้ผู้ปฏิบัติก้าวหน้า มีสมาธิตั้งมั่นมากขึ้น หรือทำสมาธิที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ก็อาจกล่าวได้ว่า วิปัสสนาจารย์ท่านนั้นเหมาะสม

นอกจากนี้ บุคคลที่เหมาะสมยังมีอีก ๒ ลักษณะ คือ (๑) ชุมชนที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม และ (๒) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้คนในชุมชนนั้นๆ ในระหว่างการอบรมเข้มงวด โยคีจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน ในการพัฒนาสติและสมาธิ ผู้ปฏิบัติต้องละทิ้งกิจกรรมทางโลก โยคีจึงต้องพึ่งพาอุปัฏฐาก ที่สามารถทำงานบางอย่างแทนโยคี เช่น การจ่ายตลาด และทำอาหาร ซ่อมแซมที่พัก และอื่น ๆ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติเป็นกลุ่ม ก็คงต้องคำนึงถึงผลกระทบของโยคีต่อสังคมด้วย ความเกรงอกเกรงใจเพื่อนโยคีเป็นสิ่งสำคัญ การกระทำอะไรเร็ว ๆ หรือเสียงดังก็อาจกระทบกระเทือนต่อผู้อื่นได้มาก ด้วยการพิจารณาเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติก็จะกลายเป็นบุคคลที่เหมาะสมสำหรับโยคีอื่น

ปัจจัยที่สนับสนุนประการที่ ๕ ได้แก่อาหาร กล่าวคือ อาหารที่เหมาะสมกับโยคี ก็มีส่วนช่วยให้การปฏิบัติก้าวหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติต้องระลึกอยู่เสมอว่า จะให้ได้อย่างใจทุกประการ คงเป็นไปไม่ได้ การปฏิบัติเป็นกลุ่ม อาจมีคนจำนวนมากและอาหารก็ต้องทำทีละมาก ๆ สำหรับทุกคน ในกรณีเช่นนี้ ย่อมดีที่สุดที่จะทำใจให้ยอมรับอาหารใด ๆ ก็ตามที่ผู้จัดหามาให้ แต่หากการปฏิบัติถูกกระทบเพราะเกิดความรู้สึกอดอยาก หรือรังเกียจอาหารแล้ว ก็ควรแก้ไขเท่าที่จะทำได้



เรื่องของนางมาติกมาตา


ครั้งหนึ่งมีพระสงฆ์ ๖๐ รูป ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า โดยมีนางมาติกมาตาเป็นโยมอุปัฏฐาก นางมีความศรัทธามาก พยายามเลือกสรรอาหารที่คิดว่าพระสงฆ์จะชอบและปรุงอาหารให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับพระทุกรูปทุก ๆ วัน วันหนึ่ง นางมาติกมาตาเข้าไปกราบเรียนถามพระสงฆ์ว่า ฆราวาสจะปฏิบัติธรรมอย่างพวกท่านบ้างได้หรือไม่ “ ได้สิ ” พระสงฆ์ตอบ แล้วสอนวิธีการให้นาง นางเพียรพยายามปฏิบัติแม้ในขณะปรุงอาหาร และทำงานบ้านอื่น ๆ จนในที่สุดนางก็บรรลุเป็นพระอนาคามีและด้วยบุญที่สั่งสมมาในอดีต นางจึงมีอภิญญา เช่นตาทิพย์ หูทิพย์ กล่าวคือสามารถมองเห็นและได้ยินในที่ไกล ๆ และมีเจโตปริยญาณ คือสามารถหยั่งรู้ใจคนอื่น

นางมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รู้ว่าตนได้บรรลุธรรมวิเศษ และคิดว่าเนื่องจากตนมีงานมาก ต้องดูและครัวเรือนและทำอาหารถวายพระสงฆ์ทุกวัน เหล่าพระสงฆ์จึงน่าจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติกว่านางมาก ด้วยญาณวิเศษ นางจึงตรวจดูความคืบหน้าของพระสงฆ์ทั้ง ๖๐ รูป และต้องตกใจเมื่อพบว่ายังไม่มีพระสงฆ์รูปใดเลยที่ได้บรรลุ แม้เพียงวิปัสสนาญาณขั้นต้น

“ เกิดอะไรขึ้น ” นางสงสัยแล้วตรวจดูสภาวะของพระแต่ละรูปด้วยอภิญญาเพื่อหาสาเหตุของอุปสรรคในการปฏิบัติ สถานที่ก็ไม่มีปัญหา การอยู่ร่วมกันก็มิใช่ปัญหา อาหารนี้แหละที่เป็นอุปสรรค เนื่องจากพระบางรูปชอบเปรี้ยว บางรูปชอบเค็ม บางรูปชอบเผ็ด บางรูปชอบขนมหวาน และบางรูปชอบผัก ด้วยความสำนึกในพระคุณที่พระสงฆ์สั่งสอนกรรมฐานให้จนนางได้บรรลุธรรมะอันยิ่งใหญ่ นางมาติกมาตาเริ่มทำอาหารแบบที่พระแต่ละรูปชอบ ในไม่ช้า พระทุกรูปก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

การบรรลุธรรมอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งของนางประกอบกับความเฉลียวฉลาดและความเสียสละเพื่อผู้อื่นเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับพ่อแม่ และผู้ที่ดูแลผู้อื่น ซึ่งแม้จะช่วยผู้อื่นอยู่ ก็มิใช่ว่าจะสิ้นความหวังในการบรรลุสัจธรรมอันลึกซึ้ง

ในโอกาสนี้ อาตมาขอกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับมังสวิรัติไว้ด้วย บางคนคิดว่าการกินผักแต่อย่างเดียวเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง แต่ ในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ไม่ปรากฏแนวคิดว่า มังสวิรัติช่วยให้สามารถเข้าถึงธรรมได้เป็นพิเศษแต่อย่างใด

พระพุทธองค์เองมิได้ทรงห้ามการรับประทานเนื้อโดยสิ้นเชิง เพียงแต่วางเงื่อนไขไว้บางอย่าง เช่น สัตว์นั้นต้องมิได้ถูกฆ่าเพื่อการบริโภคครั้งนั้นโดยเฉพาะ พระเทวทัตได้ทูลขอให้พระพุทธองค์บัญญัติพระวินัย ห้ามการฉันเนื้อโดยเด็ดขาด แต่หลังจากที่ได้ทรงไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น

ในสมัยนั้น ก็เช่นเดียวกันกับสมัยปัจจุบัน คือผู้คนส่วนใหญ่จะรับประทานเนื้อและผัก มีเพียงพวกพราหมณ์หรือชนชั้นสูงที่เป็นมังสวิรัติ เมื่อพระสงฆ์ออกบิณฑบาตท่านต้องรับอาหารทุกชนิดที่คนถวาย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใด การแบ่งแยกระหว่างผู้ถวายที่เป็นมังสวิรัติ หรือที่รับประทานเนื้อสัตว์ ย่อมขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของการบิณฑบาต นอกจากนี้ ทั้งพราหมณ์และชนชั้นอื่น ๆ ก็อาจมาบวชเป็นพระภิกษุ ภิกษุณีได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาเรื่องนี้ตลอดจนประเด็นต่าง ๆ ที่ตามมาทั้งหมดแล้วเช่นกัน

ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องรับประทานมังสวิรัติเพื่อที่จะปฏิบัติธรรม แน่นอนว่าการรับประทานมังสวิรัติที่สร้างความสมดุลให้แก่ร่างกาย ย่อมเป็นประโยชน์กับสุขภาพ และหากผู้ปฏิบัติไม่รับประทานเนื้อสัตว์เพราะเมตตาสงสารสัตว์ ก็นับเป็นกุศลเจตนาอย่างแน่นอน แต่หากร่างกายของผู้ปฏิบัติคุ้นเคยกับการรับประทานเนื้อสัตว์หรือมีปัญหาสุขภาพอันใดที่ทำให้ต้องรับประทานเนื้อสัตว์ การปฏิบัติดังกล่าวไม่ควรถือว่าเป็นบาป หรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม การวางกฎระเบียบที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็ย่อมจะไร้ประสิทธิผล

ปัจจัยสนับสนุนประการที่ ๖ ได้แก่ ภูมิอากาศเหมาะสม มนุษย์นั้นมีความสามารถในการปรับตัวในสภาพอากาศต่าง ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาวเพียงไร มนุษย์จะหาทางปรับตัวให้สามารถอยู่อย่างสุขสบายได้ แต่หากวิธีการเหล่านี้มีข้อจำกัด หรือไม่มีหนทางที่จะปรับตัวได้ ก็อาจเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติ ในกรณีดังกล่าว หากกระทำได้ ก็ควรย้ายไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ที่มีภูมิอากาศเหมาะสม

ปัจจัยสนับสนุนประการที่ ๗ ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายได้แก่อิริยาบถที่เหมาะสม อิริยาบถในที่นี้ หมายถึง การยืน เดิน นั่ง และนอน การนั่งเป็นอิริยาบถที่เหมาะสำหรับสมถภาวนาที่เน้นความสงบ ในการปฏิบัติในสายของพระอาจารย์มหาสีสยาดอนั้น วิปัสสนากรรมฐานจะใช้อิริยาบถนั่งและเดินเป็นพื้นฐาน แต่ไม่ว่าการปฏิบัติแบบใด เมื่อสติมีความต่อเนื่องตั้งมั่นดีแล้ว อิริยาบถใดก็นับว่าเหมาะสมทั้งสิ้น

โยคีที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติ ควรหลีกเลี่ยงอิริยาบถนอนและยืน เพราะการยืนก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้ในระยะเวลาอันสั้น ความตึงและน้ำหนักที่กดลงสู่ขา อาจรบกวนการปฏิบัติได้ ท่านอนมีปัญหาเพราะทำให้เกิดความง่วงเนื่องจากความเพียรต่ำ และเป็นท่าที่สบายเกินไป

จงตรวจสอบสถานการณ์ของตนเองเพื่อดูว่า ปัจจัยสนับสนุนทั้งเจ็ดมีครบหรือไม่ หากไม่ครบ ก็ควรหาทางทำให้ปัจจัยดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้การปฏิบัติของตนเองมีความก้าวหน้าต่อไป และหากการกระทำนั้นมุ่งส่งเสริมความเจริญในธรรมปฏิบัติอย่างแท้จริงแล้ว ก็ย่อมมิใช่การกระทำที่เห็นแก่ตัว



๕. จดจำสภาวะที่เอื้ออำนวยในอดีต


วิธีที่ ๕ ในการเจริญพละ ๕ คือการอาศัยสิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิในอดีต ซึ่งหมายถึง จดจำสถานการณ์ที่ช่วยให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยดีในอดีต ทั้งทางด้านสติและสมาธิ ดังที่ผู้ปฏิบัติทุกคนรู้ดี หากปฏิบัติมีขึ้นมีลงบางครั้งเรารู้สึกเบิกบานสุขสงบในดินแดนแห่งสมาธิ แต่บางครั้งเราอาจรู้สึกหดหู่ ถูกกิเลสเล่นงาน ไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย การใช้ “ สมาธิปัญญา ” ก็คือ เวลาที่ผู้ปฏิบัติกำลังมีสมาธิแนบแน่น สติตั้งมั่น ให้ผู้ปฏิบัติสังเกตว่า สถานการณ์แบบไหนมีส่วนช่วยทำให้การปฏิบัติของตนเป็นไปเช่นนั้น เราจัดการกับจิตใจของตนเองอย่างไร มีสภาวะอะไรเกิดอยู่ในขณะที่การปฏิบัติที่ดีนั้นกำลังดำเนินอยู่ เมื่อประสบกับปัญหาในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะได้ระลึกถึงปัจจัยที่ดีเหล่านั้น และสามารถสร้างให้เกิดขึ้นอีกได้



๖. ปลูกฝังโพชฌงค์เจ็ด


วิธีที่ ๖ ในการพัฒนาพละให้คมกล้า คือการปลูกฝังโพชฌงค์เจ็ด หรือองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ให้เกิดขึ้นได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา คุณสมบัติของจิตเหล่านี้คือสาเหตุของการตรัสรู้ธรรม เมื่อมีโพชฌงค์ในใจก็เท่ากับผู้ปฏิบัติสร้างเหตุแห่งการตรัสรู้ธรรม และกำลังก้าวเข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้นทุกขณะ นอกจากนี้ โพชฌงค์เจ็ดก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการระลึกรู้มรรคผล (มัคคญาณผลญาณ) ในทางพุทธศาสนา เมื่อกล่าวถึงการระลึกรู้ต่าง ๆ หมายถึงความระลึกรู้ที่เจาะจงชั่วขณะ อันเป็นปรากฏการณ์ทางจิตที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถระลึกรู้ได้ มัคคญาณผลญาณคือสภาวะจิตที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและประกอบกันเป็นประสบการณ์แห่งการตรัสรู้ธรรม มัคคญาณผลญาณคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสภาวะจิตเปลี่ยนจากการระลึกรู้อยู่ในสมมุติบัญญัติเข้าสู่พระนิพพาน ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้กิเลสถูกกำจัดออกไป ทำให้จิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ในระหว่างการพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดมรรคผลนี้ ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจโพชฌงค์เจ็ด ก็อาจใช้องค์ธรรมเหล่านี้ในการรักษาสมดุลในการปฏิบัติของตนได้ วิริยะ ปีติ และธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ช่วยยกระดับจิตเมื่อจิตหดหู่เศร้าหมอง ในขณะที่ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ทำจิตให้สงบลง เมื่อจิตโลดโผนโจนทะยานเกินไป หลายครั้งโยคีอาจรู้สึกหดหู่ ท้อถอย ขาดสติ และคิดว่าการปฏิบัติของตนแย่ลง ไม่ก้าวหน้า สติไม่สามารถกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเคย ในเวลาเช่นนี้ โยคีต้องพยายามกระตุ้นจิตใจของตนให้หลุดพ้นจากภาวะดังกล่าว ทำให้จิตใจสดใสขึ้น โยคีควรหาวิธีสร้างกำลังใจ หรือแรงบันดาลใจ เช่น การฟังธรรมเทศนาที่จับใจ ที่จะทำให้เกิดปีติ บันดาลใจให้เกิดความพากเพียรยิ่งขึ้น หรือทำให้ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์เจริญขึ้นโดยการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติ องค์ธรรมทั้งสามนี้ กล่าวคือ ปีติ วิริยะ และธัมมวิจยะ มีประโยชน์มากเมื่อเผชิญกับความหดหู่และท้อถอย

เมื่อธรรมบรรยายก่อให้เกิด ปีติ วิริยะ หรือธัมมวิจยะแล้ว ผู้ปฏิบัติควรใช้ประโยชน์จากสภาวะเช่นนี้ในการพยายามปรับจิตของตนให้กำหนดสิ่งต่าง ๆ ให้ได้แม่นยำ และชัดเจนมากขึ้น จนกระทั่งสามารถระลึกรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแจ่มแจ้ง

ในบางขณะ โยคีอาจมีประสบการณ์แปลก ๆ หรือด้วยเหตุผลบางอย่าง ผู้ปฏิบัติอาจพบว่า ตนเองกำลังมีจิตใจที่ชื่นบาน มีปีติ และความสุขอย่างท่วมท้นพลุ่งพล่าน ในระหว่างการปฏิบัติ จะเห็นโยคีเหล่านี้มีใบหน้าที่เบิกบาน มีอาการเดินตัวลอย เนื่องจากจิตมีพลังมากเกินไป สติจึงพลาดพลั้ง ไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันขณะได้ และแม้ผู้ปฏิบัติเหล่านี้จะกำหนดอารมณ์กรรมฐานได้บ้างก็จะเป็นการกำหนดแบบเฉียด ๆ ผ่านเลยไป ไม่ตรงปัจจุบัน

หากผู้ปฏิบัติพบว่าตัวเองมีจิตใจฟูฟ่องเกินไป ก็อาจปรับให้สมดุลได้โดยโพชฌงค์ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา โดยอาจเริ่มจากการยอมรับว่าจิตตนเองมีพลังมากเกินไปจริง ๆ แล้วระลึกว่า “ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน พระธรรมจะปรากฏให้เห็นเอง เราควรที่จะนั่งดูอย่างสงบเยือกเย็นและรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ด้วยสติอันสุขุมอ่อนโยน ” ความคิดเช่นนี้จะช่วยให้ความสงบเกิดขึ้น และเมื่อพลังจิตส่วนเกินอ่อนตัวลง ผู้ปฏิบัติจะสามารถเริ่มตั้งสมาธิได้อีก วิธีการนี้เป็นการทำให้การปฏิบัติแคบเข้ามา แทนที่จะพยายามกำหนดหลาย ๆ สิ่ง ก็ให้ลดสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ให้น้อยลง และตั้งใจกำหนดอย่างเต็มที่มากขึ้น จิตจะเริ่มช้าลง และกลับสู่สภาวะปรกติในไม่ช้า ประการสุดท้าย ผู้ปฏิบัติอาจเลือกใช้อุเบกขาตะล่อมจิตด้วยความคิดที่ว่า “ โยคีไม่ควรเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน สิ่งที่สำคัญที่สุดเพียงประการเดียวก็คือ ต้องเฝ้าดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าดีหรือเลว ”

หากผู้ปฏิบัติสามารถรักษาความสมดุลในจิตเอาไว้ได้ ลดความตื่นเต้น และทำจิตที่หดหู่ให้ผ่องใส ก็แน่ใจได้ว่าปัญญาญาณจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

ความจริง ผู้ที่จะทำหน้าที่ปรับความสมดุลในการปฏิบัติได้ดีที่สุดคือ วิปัสสนาจารย์ที่มีความสามารถ หากวิปัสสนาจารย์ติดตามการปฏิบัติของลูกศิษย์อย่างต่อเนื่อง โดยการสอบอารมณ์ วิปัสสนาจารย์จะสามารถเห็นและแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลในการปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ให้แก่โยคีได้

อาตมาอยากเตือนมิให้โยคีท้อถอยเมื่อคิดว่าตนประสบกับปัญหาในการปฏิบัติ โยคีเปรียบเหมือนเด็กทารก ซึ่งต้องผ่านการพัฒนาหลายขั้นตอน ในระหว่างขั้นตอนเหล่านี้ ทารกอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและร่างกายอย่างมากมาย บางครั้งอาจรู้สึกหงุดหงิดง่าย ๆ เอาใจไม่ถูก ทารกอาจร้องไห้โยเย โดยไม่เลือกเวลา มารดาที่ขาดประสบการณ์ อาจวิตกมากในช่วงดังกล่าว ข้อเท็จจริงก็คือ หากทารกไม่เผชิญกับความทุกข์เหล่านี้ ทารกก็ไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ ความคับข้องใจของทารกส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาณของการพัฒนา ดังนั้นหากผู้ปฏิบัติคิดว่าการปฏิบัติของตนกำลังจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จงอย่าวิตก ผู้ปฏิบัติอาจเป็นเหมือนเด็กทารกซึ่งกำลังพัฒนาเป็นขั้น ๆ ก็ได้



๗. พยายามอย่างกล้าหาญ


วิธีที่ ๗ ในการสร้างเสริมพละทั้ง ๕ คือการปฏิบัติธรรมด้วยความกล้าหาญ ถึงขนาดที่ผู้ปฏิบัติพร้อมที่จะสละร่างกายและชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องได้ หมายถึง การให้ความสำคัญแก่ร่างกายน้อยลงกว่าปรกติแทนที่จะเสียเวลาในการตกแต่งร่างกาย หรือดูและความสะดวกสบายของตนเอง ผู้ปฏิบัติจะทุ่มเทพลังให้มากที่สุดให้แก่การเจริญกรรมฐาน

ถึงแม้ว่าร่างกายเราอาจจะยังแข็งแรงในขณะนี้ แต่ร่างกายจะเป็นสิ่งไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงเมื่อเราตายเราจะใช้ประโยชน์อะไรได้จากซากศพ ร่างกายเปรียบเหมือนภาชนะที่บอบบาง มันจะยังใช้งานได้ตราบเท่าที่ยังไม่แตกสลาย ทันทีที่มันหมดลมล้มลง มันจะไม่มีประโยชน์กับเราอีกต่อไป

เมื่อเรายังมีชีวิต และมีสุขภาพดีพอควร นับว่าเรายังโชคดีที่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมได้ เราควรที่จะเร่งดึงเอาสาระอันประเสริฐออกมาจากร่างกายของเรา ก่อนที่จะสายเกินไป ก่อนที่ร่างกายเราจะกลายเป็นซากศพ แน่นอนว่าเราจะไม่จงใจทำให้เราอายุสั้นลง แต่จะปฏิบัติอย่างสมเหตุสมผล โดยรักษาสุขภาพเพียงเพื่อให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมต่อไปได้เท่านั้น

อาจมีผู้ถามว่า เราจะเอาสาระอะไรจากร่างกายนี้ ครั้งหนึ่งมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อประเมินราคาของธาตุที่ประกอบกันเป็นร่างกายมนุษย์ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม เป็นต้น อาตมาคิดว่า ร่างกายของคนเรา คงมีราคาไม่ถึงหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายในการแยกส่วนประกอบเหล่านี้คงสูงกว่าราคาของร่างกายทั้งหมดหลายเท่า หากปราศจากวิธีแยกสารดังกล่าวแล้ว ซากศพก็เป็นสิ่งไร้ค่า นอกเสียจากเอาไปทำปุ๋ย ยกเว้นกรณีที่เอาอวัยวะของผู้ตายไปผ่าตัดให้กับผู้ป่วยอีกผู้หนึ่ง ในกรณีนี้ ก็เป็นเพียงการยืดระยะเวลากลายเป็นซากศพเท่านั้น

ร่างกายอาจเปรียบได้กับกองขยะ น่าขยะแขยงเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก คนทั่ว ๆ ไป ไม่เห็นประโยชน์อะไรจากกองขยะ แต่คนที่ฉลาดก็อาจนำเอาสิ่งของบางอย่างกลับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเอาของสกปรกบางชิ้น นำมาล้างแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก มีคนจำนวนมากร่ำรวยจากการทำธุรกิจนำของเก่ามาใช้ใหม่เช่นนี้

จากกองขยะที่เรียกว่าร่างกายของเรานี้ เราก็อาจสกัดเอาทองคำออกมาได้ด้วยการปฏิบัติธรรม ทองคำแท่งหนึ่งก็คือ ศีล ความบริสุทธิ์ทางความประพฤติ เป็นความสามารถในการฝึกฝนและพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ให้ถึงความเป็นอารยชน เมื่อสกัดคุณลักษณะที่ดีงามต่อไปอีก ก็จะได้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เหล่านี้คืออัญมณีที่หาค่ามิได้ ที่เราสามารถสกัดจากร่างกายได้ด้วยการเจริญกรรมฐาน เมื่อพละเจริญเต็มที่แล้ว จิตจะสามารถเอาชนะความโลภ ความโกรธและความหลงได้ เมื่อจิตปราศจากกิเลสเหล่านี้ ก็จะพบกับความสันติสุขที่มิอาจซื้อหาได้ บุคคลผู้นั้นจะมีแต่ความสงบเยือกเย็นและอ่อนหวาน จนทำให้ผู้พบเห็นมีจิตใจสูงขึ้นไปด้วย ความเป็นอิสระภายในนี้ ไม่ขึ้นกับสถานการณ์หรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และจะเกิดได้จากการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเท่านั้น

ใคร ๆ ก็รู้ว่าความทุกข์ใจไม่อาจถูกทำลายได้ด้วยความปรารถนาจะพ้นทุกข์แต่เพียงอย่างเดียว ใครบ้างไม่เคยต่อสู้กับความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่าง ซึ่งตนเองรู้ว่าหากทำไปแล้วจะสะเทือนใจผู้อื่น มีใครบ้างที่ไม่เคยหงุดหงิดหัวเสีย ทั้งที่ใจจริงอยากจะรู้สึกพอใจและเป็นสุขมากกว่า ใครบ้างที่ไม่เคยรู้จักว่าความสับสนเป็นความทรมานเพียงใด เราสามารถกำจัดความเจ็บปวดและความไม่น่าพอใจเหล่านี้ได้แม้จะไม่ง่ายนักสำหรับคนส่วนใหญ่ การฝึกจิตนั้นอาศัยความทุ่งเทมากพอ ๆ กับรางวัลที่จะได้รับ แต่เราก็ไม่ควรท้อถอย เป้าหมายและผลของวิปัสสนาก็คือความหลุดพ้นทุกประเภท ทุกรูปแบบ และทุกระดับ จากความทุกข์ทางกายและจิตใจ หากปรารถนาความหลุดพ้นเช่นนี้ โยคีก็ควรจะยินดีกับโอกาสที่จะได้ปฏิบัติธรรม

เวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือเดี๋ยวนี้ เมื่อร่างกายยังแข็งแรง ก็นับเป็นโชคที่เรายังมีพละกำลังในการปฏิบัติ เมื่ออายุมากขึ้น กำลังกายก็จะถดถอยลง อย่างไรก็ตามบางครั้งอายุก็ช่วยให้มีปัญญามากขึ้น เช่นอาจช่วยให้เข้าใจความแปรปรวนของชีวิตได้ดีขึ้น



“ ความจำเป็นเร่งด่วนทำให้ต้องปฏิบัติธรรม ”


ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมีชื่อว่ารัฐบาล มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย เนื่องจากยังหนุ่มแน่นและแข็งแรง จึงได้ใช้ชีวิตหาความสำราญมาเกือบทุกประเภทก่อนบวช แม้จะร่ำรวย มีเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องมาก และสามารถใช้ทรัพย์สมบัติแสวงหาความสุขในรูปแบบต่าง ๆ จนนับไม่ถ้วน แต่ในที่สุดท่านก็สละสิ่งเหล่านี้ออกแสวงหาความหลุดพ้น

วันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าโกรัพยะราชเสด็จประพาสป่าก็มาพบพระภิกษุรูปนี้เข้าโดยบังเอิญ พระราชาจึงตรัสถามว่า “ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านยังหนุ่มและแข็งแรงกำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์ ท่านทิ้งครอบครัวที่ร่ำรวย และโอกาสแสวงหาความสุขต่างๆ ละญาติพี่น้อง มานุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อยู่อย่างโดดเดี่ยวเพื่ออะไร ไม่รู้สึกเหงาบ้างหรือ ไม่เบื่อบ้างหรือ ”

พระรัฐบาลจึงตอบว่า “ มหาบพิตร เมื่ออาตมาได้สดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ ก็ทำให้อาตมารู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วนยิ่งนักที่จะต้องปฏิบัติธรรม อาตมาประสงค์จะแสวงหาประโยชน์สูงสุดจากร่างกายนี้ก่อนที่จะตายไป ดังนั้น อาตมาจึงละทิ้งชีวิตทางโลก และเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์นี้ ”

หากผู้ปฏิบัติยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบปฏิบัติ โดยไม่ผูกพันกับร่างกายหรือชีวิต บางทีพระพุทธพจน์ต่อไปนี้อาจช่วยได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า เราควรที่จะระลึกว่า โลกนี้มิได้ประกอบด้วยอะไรเลย นอกจากรูปกับนาม ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปกับนามมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่แม้ขณะเดียวแต่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรามาอาศัยร่างกายและจิตใจนี้ เราก็ไม่อาจหยุดยั้งความชราได้

เมื่อเรายังเด็ก เราก็ยินดีที่จะเติบโต แต่เมื่อเราแก่ตัวลง เราก็พบว่าเราตกอยู่ในวังวนของความเสื่อมอย่างไม่มีวันกลับคืน

เราพอใจที่จะมีสุขภาพดี แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเราจะสมปรารถนา เราถูกรบกวนด้วยความเจ็บป่วยไม่สบายอยู่เนื่อง ๆ ตลอดชั่วชีวิต ความเป็นอมตะไม่มี ทุกคนต้องตาย ไม่มีใครอยากตาย แต่ก็ไม่มีใครเลี่ยงได้ คำถามอยู่ที่ช้าหรือเร็วเท่านั้น

ไม่มีใครเลยในโลก ที่จะรับประกันได้ว่าความปรารถนาของเราที่จะเจริญเติบโต มีสุขภาพดี และไม่ตาย จะเป็นจริงได้ แต่คนก็ปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงข้อนี้ คนแก่ก็พยายามแต่งตัวให้ดูหนุ่มสาว นักวิทยาศาสตร์คิดหาวิธีรักษา และวิธีการต่าง ๆ ที่จะชะลอความชรา และพยายามแม้แต่จะให้คนตายฟื้นขึ้นมา เมื่อเราป่วยเราก็ทานยาเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น แต่เราก็จะต้องป่วยอีกที่สุดแล้วเราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความแก่และความตายได้

นี่คือจุดอ่อนของชีวิต ชีวิตนี้ไร้ความมั่นคง ไม่มีที่ปลอดภัยให้หลบซ่อนจากความแก่ ความเจ็บ และความตาย ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตใด ๆ ทั้งสัตว์ มนุษย์ และที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้ปฏิบัติเอง

หากโยคีปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หากผู้ปฏิบัติมีญาณเห็นปรากฏการณ์ทางกาย ทางจิต เกิดขึ้นและดับไปทุก ๆ ขณะ ผู้ปฏิบัติจะสามารถรู้ได้เองว่าไม่มีที่หลบภัยใด ๆ ไม่มีสิ่งใดที่มั่นคง แต่หากปัญญาญาณยังไม่ถึงขั้นนี้ การคิดคำนึงถึงความเปราะบางไร้สาระของชีวิต ก็อาจช่วยกระตุ้นให้เรารู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิบัติธรรมขึ้นมาได้ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานจะช่วยให้รอดพ้นจากสิ่งน่ากลัวเหล่านี้ได้

สิ่งมีชีวิตยังมีจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งคือ การไร้สมบัติที่แท้จริง การกล่าวดังนี้อาจฟังดูแปลก เมื่อเราเกิดมา เราก็เริ่มสะสมความรู้ในทันที เราได้รับ ลาภ ยศ ตามควรแก่ฐานะ ส่วนใหญ่ก็ทำงานนำเงินเดือนที่ได้มาซื้อสิ่งต่าง ๆ เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าทรัพย์สมบัติ และในทางหนึ่งมันก็เป็นทรัพย์สมบัติจริง ๆ แต่หากทรัพย์สมบัตินี้เป็นของเราจริง ๆ เราจะต้องไม่มีวันพรากจากมัน แต่เมื่อมันแตกหัก หรือสูญหาย หรือถูกขโมยไป จะกล่าวว่าเรายังเป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริงได้อยู่หรือ เมื่อเราตายไม่มีอะไรเลยที่เราเอาไปด้วยได้ ทุกอย่างได้มา สะสมแล้วก็ทิ้งไว้เบื้องหลัง จึงอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตไร้สมบัติที่แท้จริง

สมบัติของเราทุกชิ้น ต้องทิ้งไว้เบื้องหลังทันทีที่เราตาย ทั้งนี้สมบัติอาจแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. อสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคาร ที่ดิน ฯลฯ โดยปรกติสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา แต่ก็ต้องทิ้งไว้เมื่อเสียชีวิต ๒. สังหาริมทรัพย์ เช่น เก้าอี้ แปรงสีฟัน เสื้อผ้า และอื่นๆ ที่เรานำติดตัวไปเวลาเดินทางไปในที่ต่าง ๆ บนโลกในชั่วชีวิตหนึ่ง ๓. ความรู้ ศิลปะ และวิทยาการ ความชำนาญ ที่เราใช้เลี้ยงชีวิตของเราและคนอื่น ๆ ตราบเท่าที่เรายังมีร่างกายที่ทำงานเป็นปรกติ วิทยสมบัตินี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าเราจะไม่สูญเสียสมบัตินี้เช่นเดียวกัน เราอาจลืม หรือถูกห้ามมิให้ใช้ความรู้นั้น โดยรัฐบาลหรือโดยความโชคร้ายอื่น ๆ เช่น หากศัลยแพทย์ต้องสูญเสียแขน หรือประสบกับสิ่งที่ทำลายชีวิตอันเป็นปรกติสุข ศัลยแพทย์ผู้นั้นอาจได้รับความสะเทือนใจจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้

ไม่มีสมบัติใดเลยที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตในโลกนี้ได้ อย่าว่าแต่โลกหน้า หากเราสามารถมองเห็นได้ว่า เราไม่มีอะไรเลย และชีวิตนี้เป็นสิ่งชั่วคราวยิ่งนัก เราก็จะมีความสงบมากขึ้น เมื่อพบกับสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งหลายข้างต้น



เอกสมบัติที่แท้จริงของมนุษย์


อย่างไรก็ตาม มีสมบัติบางอย่างที่ติดตามเราไปหลังความตายได้ สิ่งนี้ก็คือ กรรม หรือผลของการกระทำของเราเอง กรรมดีและกรรมชั่วจะติดตามเราไป และเราก็จะไม่อาจหลีกหนีมันได้ด้วย

ความเชื่อว่ากรรมเป็นเอกสมบัติที่แท้จริง ก่อให้เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติธรรมอย่างบากบั่น และถี่ถ้วน ความเข้าใจว่า กรรมดี เป็นการลงทุนให้เกิดความสุขในอนาคต กรรมชั่วจะตามกลับมาสนองผู้กระทำนั้น จะทำให้เรากระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยการระลึกถึงความดี มีความเผื่อแผ่ ใจกว้าง และเมตตา เราจะพยายามบริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาล และผู้ประสบภัยต่าง ๆ เราจะช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัว ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อนฝูง และคนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ เราอาจจะปรารถนาที่จะสร้างสังคมให้ดีขึ้น โดยการระวังรักษา กิริยา วาจา และการกระทำต่าง ๆ ของตัวเราเอง เราจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบสุขเมื่อเราพยายามที่จะปฏิบัติธรรม และเอาชนะกิเลสที่เกิดขึ้นและหมักหมมอยู่ในจิตใจ การกระทำดังกล่าวจะนำพาให้เรามีปัญญาญาณที่สูงขึ้น จนถึงเป้าหมายสูงสุด ผลของกุศลกรรมจาก ทาน ศีล และภาวนา โดยการพัฒนาจิตหรือเจริญกรรมฐาน จะติดตามเราไปในภพหน้า ราวกับเงาตามตัว ฉะนั้น จงอย่าได้หยุดยั้งในการสร้างกุศลกรรมเหล่านี้

เราทุกคนล้วนเป็นทาสของตัณหา แม้จะเป็นเรื่องน่าละอายแต่ก็เป็นเรื่องจริง ตัณหานั้นไม่มีที่สิ้นสุด ทันทีที่เราได้รับอะไรบางอย่าง เราจะพบว่ามันไม่ดีอย่างที่คาดหวังไว้ และเราก็จะพยายามหาอย่างอื่นต่อไป นี้คือธรรมชาติของชีวิต คล้ายกับการพยายามตักน้ำด้วยตะข่ายจับแมลง ชีวิตไม่มีวันเต็ม ด้วยการตามใจตนเองหรือไล่ตะครุบสิ่งต่าง ๆ มาเป็นของตน ตัณหาไม่อาจสนองตัณหาได้ หากเราเข้าใจความจริงข้อนี้ เราก็จะมุ่งแสวงหาความพอใจในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น พระพุทธองค์ จึงตรัสไว้ว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่

มีเรื่องเกี่ยวกับชายคนหนึ่ง มีอาชีพสานตะกร้าขาย เขาเป็นคนง่าย ๆ มีความสุขอยู่กับการสานตะกร้า เขาจะผิวปาก ร้องเพลง และใช้เวลาอย่างมีความสุข ในเวลากลางคืน เขาก็จะนอนในกระท่อมเล็ก ๆ และหลับอย่างมีความสุข วันหนึ่ง มีเศรษฐีผ่านมา และเห็นชายสานตะกร้าที่ยากจนผู้นี้ แล้วเกิดความสงสาร จึงให้เงินแก่ชายคนนี้ ๑๐๐๐ เหรียญ “ โปรดรับเงินไว้ ” เขากล่าว “ และนำไปหาความสุข ”

ชายสานตะกร้ารับเงินมาด้วยความขอบคุณ เนื่องจากเขาไม่เคยมีเงินถึง ๑๐๐๐ เหรียญมาก่อนในชีวิต เขานำมันกลับไปที่กระท่อมของตน และเริ่มกังวลว่าจะเก็บไว้ที่ไหนดี เขารู้สึกว่ากระท่อมไม่ปลอดภัยพอ เขาจึงนอนไม่หลับทั้งคืน ด้วยความวิตกว่า โจรหรือแม้แต่หนูอาจมาขโมยหรือกัดแทะเงินก้อนนี้

วันรุ่งขึ้น เขาก็เอาเงิน ๑๐๐๐ เหรียญ ไปทำงานด้วย แต่เขาก็ไม่อาจร้องเพลงหรือผิวปากได้ เพราะมัวแต่วิตกกังวลเรื่องเงินนั้น อีกคืนหนึ่งเขาก็ไม่อาจหลับตาลงได้ ในวันรุ่งขึ้น เขาจึงนำเงินไปคืนเศรษฐีผู้นั้น โดยกล่าวว่า “ เอาความสุขของผมคืนมา ”

ผู้ปฏิบัติอาจคิดว่า พระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมให้คนแสวงหาความรู้ หรือเกียรติยศ หรือทำงานหนักเพื่อหาเงินมาสนับสนุนครอบครัวตนเอง และเพื่อนฝูง ตลอดจนบริจาคให้แก่กิจกรรม และสถาบันที่ทำคุณประโยชน์ มิใช่เลย ศาสนาพุทธสนับสนุนให้คนใช้ประโยชน์จากชีวิต ความรู้และสติปัญญาอย่างเต็มที่ ตราบเท่าที่เขาแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาอย่างถูกกฎหมาย และซื่อสัตย์ ประเด็นก็คือ ให้พอใจในสิ่งที่ตนมี อย่าเป็นทาสของตัณหา ให้หมั่นคำนึงถึงจุดอ่อนของชีวิต เพื่อที่เราจะได้สร้างคุณประโยชน์จากร่างกายและชีวิต ก่อนที่เราจะล้มป่วย หรือแก่เกินไปที่จะปฏิบัติ และทิ้งร่างอันเป็นซากศพที่ไร้ค่านี้ไป



๘. อดทนและบากบั่น


หากเรา ปฏิบัติอย่างอาจหาญ ไม่คำนึงถึงร่างกายหรือชีวิต เราก็จะสามารถพัฒนาพลังที่จะผลักดันเราขึ้นสู่การปฏิบัติขั้นสูงเพื่อความหลุดพ้น ทัศนคติที่กล้าหาญเช่นนี้ นอกจากจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนที่ ๗ ของการเจริญพละดังกล่าวแล้ว ยังก่อให้เกิดปัจจัยที่ ๘ ซึ่งหมายถึงความอดทนและบากบั่นอีกปัจจัยหนึ่ง โดยเฉพาะเวลาต้องสู้กับความเจ็บปวดในร่างกาย

โยคีทุกคนเคยประสบกับทุกขเวทนาในการนั่งวิปัสสนามาแล้ว จากการที่จิตต้องเป็นทุกข์ เพราะความเจ็บปวดเหล่านี้ และการที่จิตดิ้นรนจากการถูกควบคุมในระหว่างการปฏิบัติ

การจะนั่งให้ได้สักหนึ่งชั่วโมง ต้องอาศัยความพยายามอย่างสูง เบื้องต้นเราจะต้องพยายามรักษาใจให้อยู่กับเป้าหมายหลักในการกำหนดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การยับยั้งและควบคุมนี้อาจทำให้จิตถูกบีบคั้นได้มาก เนื่องจากจิตคุ้นเคยกับการโลดแล่นไปในที่ต่าง ๆ การพยายามรักษาสมาธิ ทำให้เกิดความเครียดอันเกิดจากการดิ้นรนของจิตนี้ เป็นความทุกข์อีกประเภทหนึ่ง

เมื่อจิตดิ้นรนมากเข้า ร่างกายก็จะเริ่มมีอาการตามไปด้วย ความเครียดจะเกิดขึ้น ความทุกข์จากการดิ้นรนของจิต รวมกับเวทนาทางกายก็นับว่าเป็นงานที่หนักเอาการอยู่ จิตใจที่บีบคั้นและร่างกายที่เคร่งตึง อาจทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถเฝ้าดูความเจ็บปวดตรง ๆ ได้ จิตใจจะเริ่มหวั่นไหวด้วยความรู้สึกผลักไสและความโกรธ คราวนี้ความทุกข์กลายเป็นสามเส้าคือ จิตที่ดิ้นรนในตอนแรก ความเจ็บปวดทางกาย และความทุกข์ใจที่เกิดจากทุกข์ทางกาย

นี่เป็นโอกาสที่จะนำหลักธรรมข้อที่ ๘ ในการพัฒนาพละมาใช้ คือความอดทนและบากบั่น ให้โยคีพยายามจับตาดูความเจ็บปวดโดยตรง หากผู้ปฏิบัติไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดอยู่ “ โอฉันเกลียดความปวดจริง ๆ อยากให้สบายเหมือนเมื่อสัก ๕ นาทีที่ผ่านมาจัง ” เมื่อเผชิญหน้ากับความโกรธและความโลภ หากปราศจากความอดทน จิตก็จะสับสนและตกเป็นเหยื่อของโมหะ ไม่สามารถกำหนดอะไรได้ชัดเจน ไม่อาจมองเห็นลักษณะของความปวดที่แท้จริงได้

ในกรณีเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติอาจคิดว่าเวทนาเป็นเสี้ยนหนาม เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติอาจจะอยากขยับตัวเพื่อ “ ให้สมาธิดีขึ้น ” แต่หากขยับตัวจนเป็นนิสัย การปฏิบัติก็จะไม่ก้าวหน้า ความสงบและสมาธิของจิตมีพื้นฐานมาจากกายที่สงบนิ่ง

อันที่จริง การเคลื่อนไหวอยู่เสมอเป็นวิธีที่ดีในการปิดบังลักษณะที่แท้จริงของความเจ็บปวด ความปวดอาจปรากฏอยู่ตรงหน้าผู้ปฏิบัติอย่างเด่นชัดที่สุด ในประสบการณ์ทั้งหลาย แต่ผู้ปฏิบัติกลับเคลื่อนไหวเพื่อจะได้ไม่ต้องมองเห็นความปวดนั้น ผู้ปฏิบัติจะเสียโอกาสสำคัญในการเข้าใจว่า จริง ๆ แล้วความเจ็บปวดคืออะไร

ความจริง เราก็อยู่กับความเจ็บปวดมาตั้งแต่เกิด มันอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของเรา แล้วจะวิ่งหนีมันไปทำไม ถ้าหากความเจ็บปวดเกิดขึ้น จงเฝ้าดูมันราวกับโอกาสที่มีค่าที่จะเข้าใจบางอย่างที่คุ้นเคยให้ถ่องแท้และในแง่มุมที่ลึกซึ้งขึ้น

ในขณะที่มิได้ปฏิบัติอยู่ บ่อยครั้งเราก็สามารถฝึกความอดทนต่อความรู้สึกเจ็บได้ โดยเฉพาะเมื่อกำลังทุ่มเทความสนใจให้กับอะไรบางอย่างที่เราชอบ เช่นคนที่ชอบเล่นหมากรุก ก็อาจนั่งจ้องมองกระดานหมากรุกขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังรุกฆาต บุคคลนั้นอาจนั่งมาแล้ว ๒ ชั่วโมง แต่ก็ไม่รู้สึกถึงตะคริวที่เกิดขึ้น เนื่องจากกำลังคิดหาทางออกจากสถานการณ์อันจนแต้มนั้น จิตใจจะจับจ้องอยู่ที่ความคิดนั้น และหากมีความเจ็บปวดอยู่บ้าง ก็อาจไม่ใส่ใจจนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมาย

ในการปฏิบัติธรรมนั้น ความอดทนยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นการพัฒนาปัญญาที่สูงส่งยิ่งกว่าการเล่นหมากรุก และทำให้เราพ้นจากความหายนะอย่างแท้จริง





กลยุทธ์ในการต่อสู้ความเจ็บปวด


ความสามารถในการหยั่งรู้ธรรมชาติอันแท้จริงของสรรพสิ่ง ขึ้นอยู่กับระดับสติและสมาธิที่ผู้ปฏิบัติสามารถพัฒนาขึ้นได้ ยิ่งจิตสามารถรวมเป็นหนึ่งได้มากเท่าใด จิตก็จะมีความสามารถในการหยั่งรู้ และทำความเข้าใจสัจธรรมได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเผชิญอยู่กับความเจ็บปวด หากสมาธิอ่อนแอ เราก็ไม่อาจรับรู้ได้ถึงความรู้สึกไม่สบายอันปรากฏที่ร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีสมาธิดีขึ้น แม้แต่ความเจ็บปวดเล็กน้อย ก็มีความชัดเจนราวกับผ่านแว่นขยายจนเกินจริง มนุษย์ส่วนใหญ่ “ มีสายตาสั้น ” ในเรื่องนี้ หากปราศจากแว่นขยายคือ สมาธิ โลกก็จะดูมัว ๆ เบลอ ๆ และไม่ชัดเจน แต่เมื่อเราสวมแว่น (มีสมาธิ) สิ่งต่าง ๆ ก็สว่างไสวและชัดเจน ทั้งที่วัตถุนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร สิ่งที่เปลี่ยนคือความคมชัดของสายตาเรานั่นเอง

เมื่อเรามองดูหยดน้ำด้วยตาเปล่า เราก็ไม่เห็นอะไรมากนัก แต่ถ้านำหยดน้ำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เราก็จะเห็นหลายสิ่งหลายอย่าง บางอย่างกำลังเคลื่อนไหวเต้นไปมาอย่างน่าสนใจ ถ้าหากเราสามารถสวมแว่นแห่งสมาธิในระหว่างการปฏิบัติธรรม เราจะประหลาดใจกับความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ที่เกิดขึ้นในจุดที่เจ็บปวด ที่ดูเหมือนแน่นิ่งและไม่น่าสนใจ ยิ่งสมาธิหยั่งลึกลง ความเข้าใจในความเจ็บปวดก็จะยิ่งสูงขึ้น ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกตื่นใจที่พบว่า ความจริงแล้ว ความเจ็บปวดนี้มีการแปรปรวนตลอดเวลา จากความรู้สึกแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง เปลี่ยนแปลงไป ลดลง เพิ่มขึ้น ผกผัน และเคลื่อนย้ายไปมาได้ สมาธิและสติจะยิ่งหยั่งลึกลง และมีความเฉียบคมมากขึ้น และเมื่ออาการเหล่านี้ถึงจุดน่าสนใจที่สุดแล้ว ทันใดนั้น ความรู้สึกก็จะขาดหายไปราวกับม่านเวทีการแสดงได้ปิดลง และความปวดก็หายไปอย่างอัศจรรย์

ผู้ปฏิบัติที่ขาดความกล้า หรือความเพียรที่จะเฝ้าดูความเจ็บปวด จะไม่มีวันเข้าใจความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ในความเจ็บปวด เราจึงต้องสร้างความกล้าในจิตใจ มีความพยายามอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะเฝ้าดูความเจ็บปวด เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่วิ่งหนีความเจ็บปวด แต่มุ่งหน้าเข้าหามันตรง ๆ

เมื่อความเจ็บปวดเกิดขึ้น กลยุทธ์แรกคือให้กำหนดจิตมุ่งไปที่ความเจ็บปวดโดยตรง และเข้าไปยังศูนย์กลางของความเจ็บปวดนั้น ผู้ปฏิบัติจะพยายามหยั่งให้ถึงรากของมัน ดูความเจ็บปวดอย่างที่มันเป็น กำหนดอย่างต่อเนื่อง พยายามหยั่งลึกเข้าไปในความเจ็บปวด โดยไม่ต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้ใด ๆ

บางครั้ง เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามมาก ๆ ก็อาจเหนื่อยล้า ความเจ็บปวดอาจทำให้หมดแรงได้ เช่นเดียวกัน หากผู้ปฏิบัติไม่สามารถรักษาระดับความเพียร สติ และสมาธิไว้ในระดับที่เหมาะสมได้ ก็ถึงเวลาที่จะถอนจิตออกมา

กลยุทธ์ที่สอง ในการจัดการกับความเจ็บปวดก็โดยการเล่นกับมัน ผู้ปฏิบัติจะเข้าไปหาความเจ็บปวดแล้วผ่อนคลายจิตลง เอาจิตจับที่ความเจ็บปวด แต่ลดความเข้มข้นของสติและสมาธิลงเบา ๆ วิธีนี้ทำให้จิตได้พักผ่อน เสร็จแล้วก็กลับเข้าไปดูความเจ็บปวดอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง และหากยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็ถอยออกมาอีกเข้าไปกำหนดแล้วถอยออกมาเช่นนี้ ๒-๓ ครั้ง

หากความเจ็บปวดรุนแรงมาก และพบว่าจิตตึงเครียด รู้สึกบีบคั้น แม้ว่าจะได้ใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะหยุดพัก แต่มิได้หมายถึงการเคลื่อนไหวกายในทันที แต่ให้ปรับสิ่งที่สติเข้าไปรับรู้ก่อน โดยไม่สนใจความเจ็บปวด ให้หันไปกำหนพองยุบ หรือเป้าหมายอื่น ๆ ที่ใช้กำหนดอยู่ พยายามทำให้สมาธิตั้งมั่นให้มากที่สุดจนไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดนั้น



การรักษาโรคทางร่างกายและจิตใจ


ผู้ปฏิบัติต้องพยายามเอาชนะความอ่อนแอของจิตใจทุกรูปแบบด้วยความเข้มแข็งกล้าหาญราววีรบุรุษเท่านั้น ผู้ปฏิบัติจึงจะสามารถอาชนะความเจ็บปวดและเข้าใจมันอย่างที่มันเป็นจริง ๆ ความรู้สึกที่ทนได้ยากอาจเกิดขึ้นได้เสมอระหว่างการปฏิบัติ โยคีเกือบทุกคนจะเห็นความทุกข์ทางกายของตนซึ่งมีอยู่ตลอดชีวิตได้อย่างชัดเจน โดยได้รับการขยายด้วยพลังของสมาธิ ในระหว่างการปฏิบัติเข้ม ความเจ็บปวดจากแผลเก่าเคราะห์กรรมสมัยเด็ก หรือความเจ็บปวดในอดีต ก็อาจหวนกลับคืนมาได้ การเจ็บป่วยในขณะนั้น หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน อาจเลวลงอย่างกะทันหัน หาก ๒ ประการหลังนี้เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติควรคิดว่าเป็นโชคของตน กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติมีโอกาสที่จะรักษาความเจ็บป่วย หรืออาการเรื้อรังได้ด้วยความพากเพียรอันแรงกล้าของตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยยาแต่อย่างไร โยคีหลายคนสามารถเอาชนะปัญหาสุขภาพของตน ด้วยการปฏิบัติกรรมฐานแต่เพียงอย่างเดียว

ประมาณ ๑๕ ปี มาแล้ว มีชายคนหนึ่งป่วยเป็นโรคลมในระบบทางเดินอาหารมาเป็นเวลานาน เมื่อไปพบแพทย์ หมอบอกว่าเขาเป็นเนื้องอกและต้องทำการผ่าตัด ชายคนนี้กลัวว่าการผ่าตัดอาจล้มเหลว และเขาจะต้องตาย

ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเข้ามาปฏิบัติกรรมฐานกับอาตมา ในไม่ช้าเขาก็รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง ตอนแรก ๆ ก็ไม่มาก แต่เมื่อการปฏิบัติของเขาคืบหน้า จนถึงญาณที่หยั่งรู้ความเจ็บปวดอย่างชัดเจน เขารู้สึกทรมานอย่างสาหัส เขารายงานให้อาตมาฟัง อาตมาบอกเขาว่าถ้าเขาอยากกลับบ้าน ไปหาหมอก็ได้ แต่อาตมาอยากให้เขาอยู่อีก ๒-๓ วัน

เขาคิดดูว่า การผ่าตัดก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าเขาจะไม่ตาย เขาจึงตัดสินใจที่จะปฏิบัติต่อไป เขาต้องทานยา ๑ ช้อนชาทุก ๆ ๒ ชั่วโมง บางทีความเจ็บปวดกำเริบจนทนไม่ได้ บางทีเขาก็สามารถกำราบมันได้ มันเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน มีทั้งแพ้และชนะ แต่เขาเป็นคนมีความกล้าหาญมาก

ในระหว่างการนั่งสมาธิคราวหนึ่ง ความปวดรุนแรงทำให้ร่างของเขาสั่นเทา เสื้อผ้าชุ่มไปด้วยเหงื่อ เขารู้สึกว่าเนื้องอกนั้นแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ มีความบีบคั้นมากขึ้นตามลำดับ ทันใดนั้น การรับรู้เกี่ยวกับท้องของเขาหายไป มีแต่ความรู้ และก้อนความเจ็บปวด มันเจ็บมากแต่ก็น่าสนใจมาก เขาเฝ้าดูมันโดยมีแต่จิตที่รู้ กับความเจ็บปวดเท่านั้นที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทันใดนั้นก็เกิดการระเบิดขึ้น โยคีผู้นั้นกล่าวว่า เขาได้ยินเสียงระเบิดที่ดังมาก หลังจากนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบลง เขาลุกขึ้นด้วยเหงื่อที่ท่วมตัว เขาเอามือคลำที่ท้องแต่ตรงบริเวณที่เคยเป็นเนื้องอกนั้น มันหายไป เขาหายจากโรคนั้นโดยสิ้นเชิง และยิ่งไปกว่านั้น เขาได้ปฏิบัติจนได้เห็นพระนิพพานด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน ชายคนนั้นก็จากศูนย์ปฏิบัติไป อาตมาขอให้เขาบอกให้อาตมาทราบด้วย ว่าหมอว่าอย่างไร คุณหมอตกใจมากที่เห็นว่าเนื้องอกหายไป ชายคนนั้นเลิกควบคุมอาหารที่กระทำมา ๒๐ ปี และยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ และมีสุขภาพดี แม้แต่คุณหมอก็เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนาด้วย

อาตมาไปพบกับคนจำนวนมาก ที่หายจากอาการปวดหัวเรื้อรัง โรคหัวใจ วัณโรค แม้แต่มะเร็ง และอาการบาดเจ็บรุนแรงจากสมัยเด็ก ๆ บางคนหมอไม่รับรักษาแล้ว ทุก ๆ คนต้องเผชิญความเจ็บปวดที่รุนแรงและพวกเขามีความบากบั่นและกล้าหาญจนรักษาตนเองได้ ที่สำคัญ หลายคนได้รับความรู้ ความเข้าใจ สัจธรรมที่ลึกซึ้งมากขึ้น ด้วยการเฝ้าดูความเจ็บปวดด้วยความกล้าหาญจนได้ญาณทัศนะ

ผู้ปฏิบัติไม่ควรท้อถอยจากอาการเจ็บปวด แต่ควรมีศรัทธาและความอดทนบากบั่นจนกว่าจะเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง



๙. ปฏิปทาที่ไม่หวั่นไหว


ปัจจัยที่ ๙ ที่จะนำไปสู่ความเจริญของพละก็คือ จิตใจที่จะทำให้เรามุ่งเดินหน้าอย่างไม่วอกแวก หรือยอมพ่ายแพ้ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

อะไรคือเป้าหมายของการปฏิบัติ เรามาศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา ทำไม การเข้าใจจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้น เราต้องซื่อสัตย์กับตนเอง เพื่อที่เราจะได้รู้ปฏิปทาของตนเอง ในการบรรลุเป้าหมายที่ว่านั้น มีมากน้อยเพียงไร



กุศลกรรมและศักยภาพของมนุษย์


เราลองมาพิจารณาศีลดู การได้มีโอกาสอันประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และเข้าใจว่า โอกาสนี้มาจากกุศลกรรมแล้ว เราควรที่จะพยายามใช้ชีวิตให้เต็มศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ ความหมายอันเป็นนัยยะที่ดีงามของคำว่า “ มนุษย์ ” ก็คือ ความเมตตาและความกรุณาอันสูงส่ง มนุษย์ทุกคนก็ควรที่จะพยายามรักษาคุณสมบัติข้อนี้ให้สมบูรณ์มิใช่หรือ หากเราสามารถปลูกฝังความเมตตากรุณาขึ้นในจิตใจ เราก็จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างกลมเกลียว และมีความสุข คุณธรรมเกิดจากการคำนึงถึงความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งผู้อื่นและตนเอง การที่คนเรามีศีลธรรม ไม่เพียงแต่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังปกป้องตนเองจากความทุกข์ในอนาคต เราทั้งหลายควรที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำที่มีผลเสีย และประกอบแต่กุศลกรรมซึ่งจะช่วยให้เราพ้นทุกข์อย่างถาวร

กรรมเป็นทรัพย์สมบัติที่แท้จริงของเราเพียงอย่างเดียว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากเรายึดแนวคิดเช่นนี้ เป็นหลักของความประพฤติ การปฏิบัติธรรม และเป็นหลักของชีวิต ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว กรรมจะติดตามเราไปทุกหนทุกแห่งในชาตินี้และชาติหน้า นักปราชญ์ย่อมสรรเสริญและเมตตาเรา และเราจะมุ่งหวังความสุขได้ทั้งชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าจะถึงพระนิพพาน

การประกอบอกุศลกรรม ทำให้เสื่อมเกียรติ และเสียชื่อเสียงแม้ในชาตินี้ นักปราชญ์จะตำหนิ ดูหมิ่นเราและเราก็ไม่อาจหลีกพ้นผลของกรรมนั้นในอนาคต

เนื่องจาก กรรม อาจก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสีย กรรมจึงอาจเปรียบได้กับอาหาร อาหารบางชนิดมีความเหมาะสม และช่วยบำรุงสุขภาพ ในขณะที่อาหารบางประเภทเป็นพิษต่อร่างกาย หากเรารู้ว่าอาหารชนิดใดมีคุณค่า และรับประทานอาหารนั้นในเวลาและปริมาณที่เหมาะสม เราก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข ในทางกลับกัน หากเราไม่อาจอดกลั้นความยั่วยวนของอาหารที่ทำลายสุขภาพและเป็นพิษ เราก็ต้องรับผล เราอาจเจ็บป่วย และทุกข์ทรมาน และอาจตายได้



กัลยาณกิจ


การให้ทาน หรือความใจกว้างจะช่วยลดความโลภในจิตใจ ศีลห้าช่วยควบคุมอารมณ์ และกิเลสอย่างหยาบในส่วนของความโลภและความโกรธได้ ด้วยการรักษาศีลนี้ จิตใจจะได้รับการควบคุมในระดับที่ไม่ให้เกิดผลทางกาย หรือแม้แต่ทางวาจาได้

ผู้ที่รักษาศีลอย่างเคร่งครัด ก็จะเป็นผู้น่าเคารพแม้ว่าใจจิตใจอาจเต็มไปด้วยความทุกข์ ทรมานจากความร้อนใจ ความโกรธ ความโลภ และเล่ห์เพทุบายต่าง ๆ ที่ยังมีกำลังมาก ดังนั้น ในขั้นต่อไปจึงต้องมี การภาวนา ซึ่งเป็นภาษาบาลี หมายถึงการพัฒนาจิตใจให้ดีงาม โดยส่วนแรกของการภาวนาคือการป้องกันอกุศลจิตมิให้เกิดขึ้นและส่วนที่สอง คือทำให้เกิดปัญญาในขณะที่จิตปราศจากอกุศลแล้ว



ความสุขจากสมาธิและวิปัสสนูกิเลส


สมถภาวนา หรือการเจริญสมาธิ มีพลังที่จะทำให้จิตสงบ วิเวก และห่างไกลจากกิเลส โดยกดข่มกิเลสไว้ ไม่ให้ส่งผลร้าย สมถภาวนามิได้มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา แต่มีในศาสนาอื่นด้วย เช่นศาสนาฮินดู สมาธิเป็นการปฏิบัติอันน่าชมเชย โดยผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ ในระหว่างที่จิตจดจ่ออยู่กับเป้าหมายของการทำสมาธิ ผู้ปฏิบัติจะสามารถบรรลุถึง ปีติ ความสุข และความสงบอย่างลึกซึ้ง บางครั้งพลังจิตที่พิเศษก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีนี้ ทว่าความสำเร็จของสมถภาวนา มิได้ทำให้เกิดปัญญาญาณเห็นสัจธรรมของรูปและนามต่าง ๆ กิเลสจะถูกกดข่มไว้แต่มิได้ถอนราก จิตใจยังมิได้หยั่งลงสู่สภาวะความเป็นจริง ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงยังมิได้พ้นจากสังสารวัฏ และอาจกลับลงสู่อบายภูมิได้ในอนาคต ดังนั้น แม้ว่าเราอาจได้รับผลดีมากมายจากสมาธิ แต่ก็อาจกลับเป็นผู้ที่ล้มเหลวในที่สุดได

หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้พระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงใช้เวลา ๔๙ วัน อยู่ที่พุทธคยา เสวยวิมุติสุข แล้วทรงพิจารณาว่า โลกถูกทับถมด้วยกิเลส และคนยังจมอยู่ในความมืดมนอนธกาลยิ่งนัก ทำให้พระองค์ทรงเล็งเห็นความยากลำบากอย่างยิ่งในการจะสั่งสอนเวไนยสัตวแล้วพระองค์ก็ทรงระลึกถึงบุคคลสองคน ซึ่งอาจรองรับธรรมะของพระองค์ได้ เนื่องจากมีจิตที่สะอาดและมีกิเลสเบาบางอยู่แล้ว ทั้งสองท่านได้แก่ อดีตพระอาจารย์ของพระองค์คือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส แต่ละท่านมีลูกศิษย์มากมาย เนื่องจากท่านได้บรรลุสมาธิขั้นสูง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงสามารถปฏิบัติตามคำสอนของพระอาจารย์ทั้งสองอย่างเชี่ยวชาญแล้ว แต่ทรงตระหนักว่าพระองค์ทรงต้องการบรรลุสิ่งที่สูงส่งกว่าคำสอนเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม จิตใจของดาบสทั้งสองมีความบริสุทธิ์มาก โดยพระอาฬารดาบสสำเร็จฌานเจ็ด และพระอุทกดาบสได้ฌานแปด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดแล้ว กิเลสห่างไกลจากท่านทั้งสอง แม้ในระหว่างที่ท่านมิได้เข้าสมาธิ พระพุทธองค์ทรงแน่พระทัยว่าท่านทั้งสองจะบรรลุธรรมได้ด้วยการเทศนาสั้น ๆ เท่านั้น

ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาอยู่ดังนี้ ก็มีเทวดามากราบทูลว่า พระดาบสทั้งสองเสียชีวิตแล้ว โดยอาฬารดาบสตายไปเมื่อ ๗ วันก่อน ส่วนอุทกดาบสเพิ่งตายไปเมื่อคืนก่อน ทั้งสองได้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ที่มีจิตแต่ไม่มีรูป พรหมพระดาบสทั้งสองไม่มีหูหรือตาที่จะรับทราบพระธรรมจากพระพุทธองค์ พระดาบสจึงหมดโอกาสที่จะบรรลุธรรม

เนื่องจากการได้พบครูอาจารย์และได้ฟังธรรมะ เป็นสองหนทางเท่านั้นที่จะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างถูกทาง พระดาบสทั้งสองจึงพลาดโอกาสที่จะตรัสรู้ธรรมได้

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ พระดาบสทั้งสอง ฉิบหายเสียแล้ว ”



ปัญญาในการหลุดพ้น


อะไรเล่าที่ขาดหายไปในการเจริญสมถกรรมฐาน ตอบง่าย ๆ ก็คือ สมถภาวนาไม่สามารถก่อให้เกิดความเข้าใจในสัจธรรมได้ ความเข้าใจนี้จะเกิดขึ้นได้จากวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น มีเพียงปัญญาญาณที่เห็นลักษณะของรูปและนามที่แท้จริงเท่านั้น จึงจะทำลายความคิดเรื่องอัตตา ความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา ได้ หากปราศจากความเห็นแจ้ง ซึ่งเกิดจากการระลึกรู้ด้วยความปล่อยวางแล้ว เราจะไม่อาจหลุดพ้นจากความคิดเรื่องอัตตาได้เลย

มีเพียงปัญญาที่รู้แจ้งที่จะเข้าใจ หลักของเหตุและผล ซึ่งหมายถึงการเห็นความเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันของรูปแลนาม ปัญญานี้จะทำให้ละทิ้งอุปาทานว่า สิ่งต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ โดยปราศจากเหตุ มีเพียงการเห็นแจ้งปรากฏการณ์ของรูปและนามที่เกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถหลุดพ้นจากความวิปลาสที่ว่า สิ่งต่าง ๆ มีความเที่ยง คงทน และต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ด้วยการรู้แจ้งด้วยตนเองถึงธรรมชาติอันแท้จริงของความทุกข์เท่านั้น ที่จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในวัฏสงสาร ด้วยการรู้แจ้งว่าปรากฏการณ์ทางกาย ทางจิต ดำเนินไปตามกฎของธรรมชาติ โดยปราศจากผู้ใดหรือสิ่งใดบังคับควบคุมเท่านั้น จึงจะทำให้บุคคลคลายจากความยึดมั่นในอัตตาได้

นอกเหนือจากการพัฒนาปัญญาไปตามลำดับขั้นจนถึงพระนิพพานแล้ว เราจะไม่อาจเข้าใจความสุขที่แท้จริงได้ ด้วยพระนิพพานเป็นเป้าหมาย ผู้ปฏิบัติจึงควรทุ่มเท ความเพียร บากบั่น ไม่ท้อถอย มุ่งมั่นจนกว่าจะถึงจุดหมาย

ประการแรก ผู้ปฏิบัติต้องมีความเพียรเมื่อจะเริ่มปฏิบัติ โดยเอาจิตจับอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง และเฝ้าดูอย่างต่อเนื่อง อาจมีการจัดช่วงเวลาการเดินและการนั่งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เรียกว่าเป็น “ ความเพียรเริ่มแรก ” ที่จะนำผู้ปฏิบัติเข้าสู่หนทางแห่งสติปัฏฐานและคืบหน้าต่อไป

แม้จะเกิดมีอุปสรรค ผู้ปฏิบัติก็จะยังคงประพฤติปฏิบัติต่อไป และเอาชนะอุปสรรคด้วยความอดทน หากเบื่อหรือง่วง ให้รวบรวมพลังขึ้นต่อสู้ หากรู้สึกเจ็บปวด ให้พยายามเอาชนะจิตใจที่อ่อนแอ ซึ่งคอยจะล่าถอยและไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด ความเพียรระดับนี้เรียกว่า “ ความเพียรที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง ” ซึ่งจะทำให้โยคีหลุดพ้นจากความเกียจคร้าน โดยมีความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

หลังจากนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติสามารถเอาชนะความยากลำบากเหล่านี้ และเริ่มพบกับความสงบแล้ว โยคีต้องไม่ปล่อยใจตามสบาย แต่จะยังคงเร่งความเพียรให้เกิดปัญญาสูงยิ่ง ๆ ขึ้น เรียกว่า “ ความเพียรอย่างแรงกล้าเพื่อไปให้ถึงความหลุดพ้น ”

ดังนั้น ปัจจัยที่ ๙ ข้างต้น ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพละทั้ง ๕ แท้จริงแล้วหมายถึงการใช้ความเพียรใสระดับต่าง ๆ เป็นขั้น ๆ โดยไม่หยุดยั้ง ลังเล ยอมแพ้ หรือล่าถอยจนกว่าจะถึงจุดหมาย

เมื่อเราดำเนินไปตามแนวทางนี้ ใช้ประโยชน์จากปัจจัยทั้งเก้าประการ พละทั้ง ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาก็จะเฉียบแหลม และหยั่งลึกมากขึ้น ๆ จนสามารถนำจิตไปสู่ความหลุดพ้นได้

อาตมาหวังว่า โยคีคงจะสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของตนเองได้ และหากยังพบข้อบกพร่องในบางด้าน ก็ขอให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลข้างต้น

ขอให้โยคีมีความพากเพียรมุ่งหน้าต่อไป จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ปรารถนาด้วย เทอญ ฯ

สาธุ...สาธุ...สาธุ

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร