วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 23:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2009, 19:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




64.jpg
64.jpg [ 82.35 KiB | เปิดดู 5065 ครั้ง ]
ความมุ่งหมาย และ ประโยชน์ของสมาธิ



ความมุ่งหมายของสมาธิที่ใช้อย่างถูกต้อง หรือพูดตามศัพท์ว่า ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธิ

นั้น เพื่อเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาอย่างได้ผลดี

พูดอย่างง่ายๆว่า สมาธิเพื่อปัญญา ดังบาลีว่า

“สมาธิเพื่ออรรถ คือ ยถาภูตญาณทัสสนะ” บ้าง

“ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์” บ้าง

“จิตวิสุทธิ เพียงแค่มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นอรรถ” บ้าง

และพุทธพจน์ที่ว่า

“สมาธิที่ศีลบ่มรอบแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ปัญญาที่สมาธิบ่มรอบแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

จิตที่ปัญญาบ่มรอบแล้ว ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเทียว จากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ

ภวาสวะ อวิชชาสวะ”


แม้ว่าสมาธิ จะมีความมุ่งหมายดังกล่าวมานี้ก็จริง

แต่สมาธิก็ยังมีคุณประโยชน์อย่างอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากจุดมุ่งหมายนั้นอีก

ประโยชน์บางอย่าง เป็นผลพลอยได้ในระหว่างการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายของสมาธินั้นเอง

บางอย่างเป็นประโยชน์ส่วนพิเศษออกไป ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนยิ่งกว่าธรรมดา

บางอย่างเป็นประโยชน์ที่เกื้อกูล แม้แก่ท่านที่ได้บรรลุจุดหมายของสมาธิเสร็จสิ้นไปแล้ว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 11 ต.ค. 2009, 13:36, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2009, 19:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




00733-2.jpg
00733-2.jpg [ 32.82 KiB | เปิดดู 5066 ครั้ง ]
(ขยายความ คห.บน)

สมาธิเพื่ออรรถคือยถาภูตญาณทัสสนะ – สมาธิเพื่อจุดหมายคือการรู้เห็นตามเป็นจริง

(วินย.8/1084/406)

สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอรรถเป็นอานิสงส์ - ความมุ่งหมายและผลสนองที่พึงประสงค์

ของสมาธิ คือ การรู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริง

(องฺ.ทสก.24/1/2)

จิตวิสุทธิเพียงแค่มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นอรรถ- การบำเพ็ญสมาธิให้จิตบริสุทธิ์

มีจุดหมายอยู่แค่จะทำความเห็นความเข้าใจให้ถูกต้องบริสุทธิ์

(ม.มู.12/298/295)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 02 ต.ค. 2009, 21:54, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.พ. 2009, 08:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




thai-gift019.gif
thai-gift019.gif [ 19.65 KiB | เปิดดู 5065 ครั้ง ]
โดยสรุป พอจะประมวลประโยชน์ของสมาธิได้ดังนี้





ก.ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายหรืออุดมคติทางศาสนา

ประโยชน์ที่เป็นความมุ่งหมายแท้จริงของสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา คือ เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง

แห่งการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด อันได้แก่ความหลุดพ้น จากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง


๑) ประโยชน์ที่ตรงแท้ของข้อนี้ คือ การเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้ง

สภาวธรรมตามความเป็นจริง

เรียกตามศัพท์ว่า เป็นบาทแห่งวิปัสสนา หรือ ทำให้เกิดยถาภูตญาณทัศนะ

ดังได้กล่าวแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

๒) ประโยชน์ที่รองลงมาในแนวเดียวกันนี้ แม้จะไม่ถือว่า เป็นจุดหมายที่แท้จริง

คือการบรรลุภาวะที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราว ที่เรียกว่าเจโตวิมุตติประเภทยังไม่เด็ดขาด

กล่าวคือ หลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจพลังจิต โดยเฉพาะด้วยกำลังของฌาน

กิเลสถูกกำลังสมาธิ กด ข่ม หรือ ทับไว้ ตลอดเวลาที่อยู่ในสมาธินั้น

เรียกเป็นศัพท์ว่า วิกขัมภนวิมุตติ


(แทรกลิงค์วิมุตติไว้ให้ด้วย)

viewtopic.php?f=2&t=20363


:b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55:


ข. ประโยชน์ในด้านการสร้างความสามารถพิเศษเหนือสามัญวิสัย ที่เป็นผลสำเร็จอย่างสูงในทางจิต

หรือเรียกสั้นๆว่า ประโยชน์ในด้านอภิญญา ได้แก่ การใช้สมาธิระดับฌานสมาบัติเป็นฐาน

ทำให้เกิดฤทธิ์และอภิญญาขั้นโลกีย์อย่างอื่นๆ คือ หูทิพย์ ตาทิพย์ ทายใจคนอื่นได้

ระลึกชาติได้ จำพวกที่ปัจจุบันเรียกว่า ESP (Extrasensory Perception)



ค. ประโยชน์ในด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ เช่น ทำให้เป็นผู้มีจิตใจและมีบุคลิก

ลักษณะเข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น สุภาพ นิ่มนวล สดชื่น ผ่องใส

กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า เบิกบาน งามสง่า มีเมตตากรุณา

มองดูรู้จักตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง



(ตรงข้ามกับลักษณะของคนมีนิวรณ์ เช่น อ่อนไหว ติดใจหลงใหลง่าย หรือ หยาบกระด้าง

ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด หงุดหงิด วู่วาม วุ่นวาย จุ้นจ้าน สอดแส่ ลุกลี้ลุกลน หรือหงอยเหงา

เศร้าซึม หรือขี้หวาด ขี้ระแวง ลังเล)


เตรียมจิตให้อยู่ในสภาพพร้อมและง่ายแก่การปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ และเสริมสร้างนิสัยที่ดี

รู้จักทำใจให้สงบและสะกดยั้งผ่อนเบาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้

เรียกอย่างสมัยใหม่ว่ามีความมั่นคงทางอารมณ์ และมีภูมิคุ้มกันโรคทางจิต

ประโยชน์ข้อนี้ จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นในเมื่อใช้จิตที่มีสมาธินั้นเป็นฐานปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน

คือ ดำเนินชีวิตอย่างมีสติตามดูรู้ทันพฤติกรรมทางกายวาจา

ความรู้สึกนึกคิดและภาวะจิตของตนที่เป็นไปต่างๆ

มองอย่างเอามาเป็นความรู้สำหรับใช้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่ยอมเปิดช่องให้ประสบการณ์

และความเป็นไปเหล่านั้น ก่อพิษเป็นอันตรายแก่ชีวิตจิตใจของตนได้เลย

ประโยชน์ข้อนี้ย่อมเป็นไปในชีวิตประจำวันด้วย



ง. ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น


๑) ใช้ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย หายเครียด เกิดความสงบ หายกระวนกระวาย

ยั้งหยุดจากความกลัดกลุ้มวิตกกังวล เป็นเครื่องพักผ่อนกาย ให้ใจสบายและมีความสุข

เช่น บางท่านทำอานาปานสติ ในเวลาที่จำเป็นต้องรอคอยและไม่มีอะไรที่จะทำ

เหมือนดังเวลานั่งติดในรถประจำทาง หรือปฏิบัติสลับแทรกในเวลาทำงานใช้สมองหนัก เป็นต้น

หรืออย่างสมบูรณ์แบบได้แก่ฌานสมาบัติที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ใช้เป็นที่พักผ่อน

กายใจ เป็นอยู่อย่างสุขสบายในโอกาสว่างจากการบำเพ็ญกิจ ซึ่งมีคำเรียกเฉพาะว่า

เพื่อเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร


๒) เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียน และการทำกิจทุกอย่าง

เพราะจิตที่เป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอยเสีย

ย่อมช่วยให้เรียน ให้คิด ให้ทำงานได้ผลดี การงานก็เป็นไปโดยรอบคอบ ไม่ผิดพลาด

และป้องกันอุบัติเหตุได้ดี เพราะเมื่อมีสมาธิก็ย่อมมีสติกำกับอยู่ด้วย

ดังที่ท่านเรียกว่า จิตเป็นกัมมนียะ แปลว่า ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน

ยิ่งได้ประโยชน์ในข้อที่ ๑ มาช่วยเสริม ก็ยิ่งได้ผลดีมากยิ่งขึ้นไปอีก


๓) ช่วยเสริมสุขภาพกายและให้แก้ไขโรคได้ ร่างกายกับจิตใจอาศัยกันและมีอิทธิพลต่อกัน

ปุถุชนทั่วไป เมื่อกายไม่สบาย จิตใจก็พลอยอ่อนแอเศร้าหมองขุ่นมัว

ครั้นเสียใจไม่มีกำลังใจ ก็ยิ่งซ้ำให้โรคทางกายนั้นทรุดหนักลงไปอีก

แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ พอประสบเรื่องราวให้เศร้าเสียใจรุนแรง ก็ล้มป่วยเจ็บไข้ไปได้

ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ (โดยเฉพาะท่านที่มีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว) เมื่อเจ็บป่วยกาย

ก็ไม่สบายอยู่แค่กายเท่านั้น

จิตใจไม่พลอยป่วยไปด้วย ยิ่งกว่านั้นกลับใช้ใจที่สบายมีกำลังจิตเข็มแข็งนั้นหันกลับมา

ส่งอิทธิพลบรรเทาหรือผ่อนเบาโรคทางกายได้อีกด้วย อาจทำให้โรคหายง่ายและไวขึ้น

หรือแม้แต่ใช้กำลังสมาธิระงับทุกขเวทนาทางกายไว้ก็ได้

(เช่น ที.ม.10/93/117 ฯลฯ)

ในด้านดี ผู้มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน ย่อมช่วยให้กายเอิบอิ่มผิวพรรณผ่องใสสุขภาพกายดี

เป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว

ความสัมพันธ์นี้มีผลต่ออัตราส่วนของความต้องการ และการเผาผลาญใช้พลังงานของร่างกาย

ด้วย

เช่น จิตใจที่สบายผ่องใสสดชื่นเบิกบานนั้น ต้องการอาหารน้อยลงในการที่จะทำให้ร่างกายสมบูรณ์

ผ่องใส

เช่นคนธรรมดามีเรื่องดีใจ ปลาบปลื้มอิ่มใจ ไม่หิวข้าว หรือพระที่บรรลุธรรมแล้วมีปีติเป็นภักษา

ฉันอาหารวันละมื้อเดียว แต่ผิวผ่องใส เพราะไม่หวนละห้อยความหลัง ไม่เพ้อหวังอนาคต -

(สํ.ส.15/22/7)

ไม่เฉพาะจิตใจดี ช่วยเสริมให้สุขภาพกายดีเท่านั้น

โรคกายหลายอย่างเป็นเรื่องของกายจิตสัมพันธ์ * เกิดจากความแปรปรวนทางจิตใจ เช่น

ความมักโกรธบ้าง

ความกลุ้มกังวลบ้าง ทำให้เกิดโรคปวดศีรษะบางอย่าง หรือโรคแผลในกระเพาะอาหารอาจเกิดได้

เป็นต้น

เมื่อทำจิตใจให้ดีด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ช่วยแก้ไขโรคเหล่านั้นได้

ประโยชน์ข้อนี้ จะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีปัญญาที่รู้เท่าทันสภาวธรรมประกอบอยู่ด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 08 ต.ค. 2009, 16:16, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.พ. 2009, 08:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




12.gif
12.gif [ 8.54 KiB | เปิดดู 5062 ครั้ง ]
* สภาพกายจิตสัมพันธ์ อาจแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ ตามขั้นของพัฒนาการทางจิต

ขั้นต่ำสุด ผลต่อกาย กระทบจิตด้วย คือ เมื่อไม่สบายกาย จิตพลอยไม่สบายด้วย

ซ้ำเติมตนเองให้หนักขึ้น

ขั้นกลาง จำกัดขอบเขตของผลกระทบได้ คือ ความทุกข์ความไม่สบายมีอยู่แค่ไหน

ก็รับรู้ตามที่เป็นแค่นั้น วางใจได้ ไม่ให้ทุกข์ทับถมลุกลาม

ขั้นสูง จิตช่วยกาย คือ เมื่อร่างกายทุกข์ ไม่สบาย นอกจากไม่เก็บไปก่อทุกข์แก่ใจแล้ว

ยังสามารถ ใช้สมรรถภาพที่เข้มแข็งและคุณภาพที่ดีงามของจิต ส่งผลดีกลับมาช่วยกาย

ได้อีกด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 02 ต.ค. 2009, 22:09, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.พ. 2009, 10:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




1672807riz9vk7w5v.gif
1672807riz9vk7w5v.gif [ 108.57 KiB | เปิดดู 5061 ครั้ง ]
ถ้าสรุปตามพระบาลี การฝึกอบรมเจริญสมาธิมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆดังนี้


“ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา มี ๔ อย่าง ดังนี้ คือ

๑. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร

๒. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อการได้ญาณทัสสนะ

๓. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อสติและสัมปชัญญะ

๔. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย”


(องฺ.จตุกฺก.21/41/57 ฯลฯ)


แบบที่ ๑ บาลีขยายความว่า ได้แก่ ฌาน ๔ ข้อนี้ก็คือ การเจริญฌาน ในลักษณะที่เป็นวิธีหาความ

สุขแบบหนึ่ง ตามหลักที่แบ่งความสุขเป็น ๑๐ ขั้น -

(แทรกลิงค์ สุข ๑๐ ขั้น)

viewtopic.php?f=2&t=18652

ซึ่งประณีตขึ้นไปตามลำดับคือ กามสุข สุขในรูปฌาน ๔ ขั้น สุขในอรูปฌาน ๔ ขั้น

และสุขในนิโรธสมาบัติ

พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย นิยมเจริญฌานในโอกาสว่าง เพื่อเป็นการพักผ่อน

อย่างสุขสบาย ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร


แบบที่ ๒ บาลีขยายความว่า ได้แก่ การมนสิการอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา

เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีใจเปิดโล่งไม่ถูก (นิวรณ์) ห่อหุ้ม

ฝึกให้เป็นจิตที่มีความสว่าง


อรรถกถาอธิบายว่า การได้ญาณทัสสนะในที่นี้ หมายถึงการได้ทิพยจักษุ และท่านกล่าวว่า

ทิพยจักษุนั้นเป็นยอดของโลกียอภิญญา

บางแห่งท่านกล่าวถึงญาณทัสสนะนี้คำเดียว หมายคลุมถึงโลกียอภิญญาหมดทั้งห้า

ดังนั้น ประโยชน์ข้อนี้ จึงหมายถึงการนำเอาสมาธิไปใช้เพื่อผลสำเร็จทางจิต คือ ความสามารถ

พิเศษจำพวกอภิญญา รวมทั้งอิทธิปาฏิหาริย์


แบบที่ ๓ คือ การตามดูรู้ทันความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นดับไป ในความเป็นอยู่ประจำวัน

ของตน

ดังที่บาลีไขความไว้ว่า เวทนา สัญญา และวิตกทั้งหลาย จะเกิดขึ้น จะตั้งอยู่ จะดับไป

ก็เป็นไปโดยรู้ชัด


แบบที่ ๔ บาลีขยายความว่า ได้แก่ การเป็นอยู่โดยใช้ปัญญาพิจารณาเห็นอยู่เสมอถึงความเกิดขึ้น

และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้

ความเกิดขึ้นของรูปเป็นดังนี้

ความดับไปของรูปเป็นดังนี้

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นดังนี้

เกิดขึ้นดังนี้ ดับไปดังนี้

มองอย่างกว้างก็ คือ การใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ทางปัญญา เป็นอุปกรณ์ในการเจริญวิปัสสนา

อย่างที่เรียกว่า เป็นบาทฐานของวิปัสสนา เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ อาสวักขยญาณ

หรือ วิชชาวิมุตติ


:b53: :b53: :b53: :b53: :b53: :b53: :b53: :b53: :b53: :b53:


จะเห็นได้ว่า ประโยชน์อย่างที่ ๑ และ ๒ เป็นด้านสมถะ

ส่วนประโยชน์อย่างที่ ๓ และ ๔ เป็นด้านวิปัสสนา ประโยชน์อย่างอื่นๆที่ได้กล่าวข้างต้น

แม้จะไม่มีระบุไว้ในพระบาลีนี้ ก็พึงเห็นว่าเป็นประโยชน์พลอยได้สืบเนื่องออกไป

ซึ่งพึงได้รับในระหว่างการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สี่อย่างนี้บ้าง

เป็นข้อปลีกย่อยกระจายออกไปไม่ต้องระบุไว้ให้เด่นชัดต่างหากบ้าง


:b54: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43:

ทิฏฐธรรมสุขวิหาร - การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

สมาธิภาวนา - การเจริญสมาธิ

อาโลกสัญญา - กำหนดหมายในแสงสว่าง

ทิวาสัญญา - กำหนดหมายว่าเป็นกลางวัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 02 ต.ค. 2009, 22:15, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2009, 18:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




q1.jpg
q1.jpg [ 30.13 KiB | เปิดดู 5057 ครั้ง ]
ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ท่านก็ได้สรุปอานิสงส์ คือ ผลได้ต่างๆของสมาธิภาวนา

หรือ การฝึกสมาธิไว้เหมือนกัน

ดังท่านได้แสดงไว้ในวิทธิมรรค มี ๕ ประการ คือ

๑. เป็นวิธีพักผ่อนอย่างสุขสบายในปัจจุบัน (ทิฏฐสุขวิหาร)

ข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา (คือ ระดับฌาน) สำหรับพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ทำกิจ

เพื่อความหลุดพ้นเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ต้องใช้ฌานเพื่อบรรลุภูมิธรรมใดๆต่อไปอีก


อ้างพุทธพจน์ว่า

“ฌานเหล่านี้ เรียกว่าเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร ในวินัย ของพระอริยะ”


(ม.มู.12/102/73)


๒. เป็นบาทหรือเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา

ข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนาก็ได้ หรือขั้นอุปจาระก็พอได้ แต่ไม่โปร่งนัก

ประโยชน์ข้อนี้ใช้สำหรับพระเสขะและปุถุชน

อ้างพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง”


(สํ.ข.17/27/18)


๓. เป็นบาทหรือเป็นฐานแห่งอภิญญา

ข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา สำหรับผู้ได้สมาบัติ ๘ แล้ว เมื่อต้องการอภิญญา

ก็อาจทำให้เกิดขึ้นได้


อ้างพุทธพจน์ว่า

“จิตนุ่มนวลควรแก่งาน...จะน้อมจิตไปเพื่อประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมที่พึงประจักษ์แจ้ง

ด้วยอภิญญาอย่างใดๆ ก็ถึงความเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่”


(องฺ.ติก.20/542/331)


๔. ทำให้ได้ภพวิเศษ คือ เกิดในภพที่ดีที่สูง

ข้อนี้ เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนาสำหรับปุถุชนผู้ได้ฌานแล้วและฌานมิได้เสื่อมไปเสีย

ทำให้ได้เกิดในพรหมโลก

อ้างพุทธพจน์ว่า

“เจริญปฐมฌานขั้นปริตตกุศลแล้ว เกิดที่ไหน ? ย่อมเข้าร่วมพวกเทพพรหมปาริสัชชา”


(อภิ.วิ.35/1107/570)

๕. ทำให้เข้านิโรธสมาบัติได้

ข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนาสำหรับ (พระอรหัต์หรือพระอนาคามี)

ผู้ได้สมาบัติ ๘ แล้ว ทำให้เสวยความสุขอยู่ได้โดยไม่มีจิตตลอดเวลา ๗ วัน

อ้าง ญาณในนิโรธสมาบัติ ในปฏิสัมภิทามรรค

(ขุ.ปฏิ.31/225/147)


:b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42:

ความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ หรือ ความมุ่งหมายในการเจริญสมาธินี้

จะช่วยป้องกันและกำจัดความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ และ ชีวิตของพระสงฆ์

ในพระพุทธศาสนาได้เป็นอันมาก เช่น ความเข้าใจผิดว่า

การบำเพ็ญสมาธิเป็นเรื่องของการถอนตัว ไม่เอาใจใส่ในกิจการของสังคม

หรือว่าชีวิตพระสงฆ์เป็นชีวิตที่ปลีกตัวโดยสิ้นเชิง ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 02 ต.ค. 2009, 22:26, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2009, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 20:09
โพสต์: 112


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: เนื่องจากปัญญาอย่างไม่เต็มเปี่ยม แต่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จึงแนบต่อมาให้ดูกันครับ

จิตเป็นของแปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์..หลวงตาบัว8พค05

ฝึกรู้ความเคลื่อนไหวของใจ ก้าวลงสู่ความสงบ ด้วยความมีสติ มีแต่เงียบเย็นใจ เหลือแต่ธรรมชาติความสุข สติ ความรู้ ขณะจิตได้รวมลง (จะว่ารักษาจิตด้วยสติก็ไม่ถนัด สติกับความรู้เลยกลายเป็นอันเดียวกัน ไม่ทราบว่าใครรักษาใคร รู้อยู่เท่านั้น)

รู้สึกกายไม่มี เวทนาก็หมด(จิตละเอียดเต็มที่ เมื่อจะถอนขึ้นมา จะกำหนดย้อนคืนไปในอดีต และความเป็นอยู่ของเราในขณะรวมและพักสงบอยู่) เวลาจิตถอนออกมาแล้ว ถ้าจิตควรแก่การพิจารณาด้วยปัญญา ก็ต้องค้นคว้าในความเป็นอยู่ของกาย จนกระทั่งว่ากายของเราทุกส่วนได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยปัญญาจนเพียงพอ ไม่มีส่วนใดๆ จะยังเหลืออยู่ให้เป็นตัวอุปาทาน


ถือมั่นในกายจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ต่อจากนั้นจะเป็นสภาพที่ว่างเปล่า แม้จะปรุงขึ้นมาก็สักแต่ว่าปรากฏชั่วขณะเดียว เหมือนอย่างฟ้าแลบก็ดับไป เป็นความว่างประจำจิต

ขณะจิตอันหนึ่งซึ่งเป็นธรรมชาติที่แปลกและอัศจรรย์ยิ่งกว่าธรรมชาติใด ๆ มาปรากฏขึ้นในขณะเดียวเท่านั้น เพราะขณะจิตนั้นได้ทำงาน หรือว่าลบล้างความหลงของตนเองสิ้นสุดลงไปแล้วนั้นแล เราจึงจะเห็นโทษแห่งความเป็นมา ผ่านมาเอง เราจะเห็นโทษแห่งปฏิปทาที่เป็นมาที่ลุ่มๆ ดอนๆ คือ มีทั้งผิดทั้งถูกสับสนระคนกันไป เหมือนข้าวสารกับแกลบรำฉะนั้น และคุณแห่งปฏิปทาของเราที่ได้ปฏิบัติมาแต่ต้นจนถึงจุดนี้ ว่าเป็นสวากขาตธรรม และเป็นนิยยานิกธรรมโดยแท้ ฉะนั้นเมื่อขณะจิตนั้นได้ทำงานสิ้นสุดลงไปแล้ว ไม่เห็นมีเรื่องอะไรที่จะเป็นปัญหาให้ขบคิดต่อไปอีก นอกจากใจดวงเดียวเท่านั้นไปก่อเรื่องราวทั้งหลาย แล้วนำมาเผาลนตนเองให้เดือดร้อนเท่านั้น

:b8: เจริญในธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2009, 08:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




1588005lhu1nq7vr7.gif
1588005lhu1nq7vr7.gif [ 27.38 KiB | เปิดดู 5056 ครั้ง ]
ข้อพิจารณาต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันและกำจัดความเข้าใจผิดที่กล่าวแล้ว


-สมาธิเป็นเพียงวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมาย ไม่ใช่ตัวจุดหมาย

ผู้เริ่มปฏิบัติอาจต้องปลีกตัวออกไปมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตสังคมน้อยเป็นพิเศษ

เพื่อการปฏิบัติฝึกอบรมช่วงพิเศษระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงออกมามีบทบาทในทางสังคม

ตามความเหมาะสมของตนต่อไป

อีกประการหนึ่ง การเจริญสมาธิโดยทั่วไปก็มิใช่จะต้องมานั่งเจริญอยู่ทั้งวันทั้งคืน และวิธีปฏิบัติ

ก็มีมากมายเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับจริยา เป็นต้น

-จะเห็นได้จากหลักฐาน เช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในหลักสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้นว่า

บุคคลบางคน อาจใช้เวลาปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ นั้น อย่างจริงจังต่อเนื่องกัน

เป็นเวลาเพียง ๗ วัน เท่านั้น ก็บรรลุอรหัตผลได้

สำหรับท่านที่สำเร็จผลเช่นนี้แล้ว การใช้สมาธิต่อจากนั้นไปตามปกติก็คือ เพื่อประโยชน์

ในข้อทิฏฐธรรมสุขวิหาร

ส่วนเวลาที่เหลืออยู่มากมายในชีวิต ก็ย่อมสามารถใช้ให้เป็นไปตามพุทธพจน์

ที่มีเป็นหลักมาแต่ดั่งเดิม

คือ “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย -

ภิกษุทั้งหลาย จงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของคนเป็นอันมาก”


-การดำเนินปฏิปทาของพระสงฆ์ขึ้นต่อความถนัด ความเหมาะสม ของลักษณะนิสัย

และความพอใจส่วนตนด้วย

บางรูปอาจพอใจและเหมาะสมที่จะอยู่ป่า

บางรูปถึงอยากไปอยู่ป่า ก็หาสมควรไม่

มีตัวอย่างที่พระพุทธเจ้า ไม่อนุญาตให้ภิกษุบางรูปไปปฏิบัติธรรมในป่า-

(องฺ.ทสก.24/99/216 ฯลฯ)

และแม้ภิกษุที่อยู่ป่า ในทางพระวินัยของสงฆ์ ก็หาได้อนุญาตให้ตัดขาดจากความรับผิดชอบ

ทางสังคมโดยสิ้นเชิงอย่างฤๅษีชีไพรไม่


-ประโยชน์ของสมาธิและฌานที่ต้องการในพุทธธรรม ก็คือภาวะจิตที่เรียกว่า

“นุ่มนวล ควรแก่การงาน” ซึ่งจะมาใช้เป็นที่ปฏิบัติการของปัญญาต่อไปดังกล่าวแล้ว


:b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41:


ส่วนการใช้สมาบัติและฌานเพื่อประโยชน์อื่นจากนี้ ถือเป็นผลได้พิเศษ

และบางกรณีกลายเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุน

ตัวอย่างเช่นผู้ใดบำเพ็ญสมาธิเพื่อต้องการอิทธิปาฏิหาริย์ ผู้นั้นชื่อว่า ตั้งความดำริผิด

อิทธิปาฏิหาริย์นั้นอาจก่อให้เกิดผลร้ายได้มากมาย เสื่อมได้ และไม่ทำให้บรรลุจุดหมาย

ของพุทธธรรมได้เลย (เช่น กรณีของพระเทวทัตและนักบวชก่อนสมัยพุทธกาล)

ส่วนผู้ใดปฏิบัติเพื่อจุดหมายทางปัญญา ผ่านทางวิธีสมาธิ และได้ปาฏิหาริย์ด้วย

ก็ถือเป็นความสามารถพิเศษไป

อย่างไรก็ดี แม้ในกรณีปฏิบัติด้วยความมุ่งหมายที่ถูกต้อง แต่ตราบใดที่ยังไม่บรรลุจุดหมาย

การได้ปาฏิหาริย์ย่อมเป็นอันตรายได้เสมอ -(ปลิโพธ คืออุปสรรคอย่างหนึ่งของวิปัสสนา)

เพราะเป็นเหตุให้เกิดความหลงเพลิน และความติดหมกมุ่น ทั้งแก่ตนและคนอื่น

และอาจเป็นเหตุพอกพูนกิเลสจนถ่วงให้ดำเนินต่อไปไม่ได้

พระพุทธเจ้า แม้จะทรงมีอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย แต่ไม่ทรงสนับสนุนการใช้อิทธิปาฏิหาริย์

เพราะไม่ใช่วิถีแห่งปัญญาและความหลุดพ้นเป็นอิสระ

ตามพุทธประวัติจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าใช้อิทธิปาฏิหาริย์ในกรณีเพื่อระงับอิทธิปาฏิหาริย์

หรือเพี่อระงับความอยากในอิทธิปาฏิหาริย์


-สำหรับผู้ฝึกอบรมก้าวหน้าในมรรคแล้ว หรือสำเร็จบรรลุจุดหมายแล้ว มักนิยมใช้การเจริญสมาธิ

ขั้นฌาน เป็นเครื่องพักผ่อนอย่างสุขสบายในโอกาสว่างๆ เช่น พระพุทธองค์เอง

แม้จะเสด็จจาริกสั่งสอนประชาชนจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับคนทุกชั้นวรรณะ และทรงปกครอง

คณะสงฆ์หมู่ใหญ่ แต่ก็ทรงมีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือ ฌายี และ ฌานสีลี *

-(ม.ม.12/82/78 ฯลฯ)

หมายความว่า ทรงนิยมฌาน

ทรงพอพระทัย ประทับในฌานแทนการพักผ่อนอย่างธรรมดาในโอกาสว่าง

เช่น เดียวกับสาวกเป็นอันมาก อย่างที่เรียกว่าทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือเพื่อการอยู่เป็นสุข

ในปัจจุบัน

ที่ปรากฏว่าทรงปลีกพระองค์ไปอยู่ในที่สงัดเป็นเวลานานๆ ถึง ๓ เดือน -

(ดู สํ.ม.19/1363/412)

เพื่อเจริญสมาธิ ก็เคยมี และการนิยมหาความสุขจากฌานนี้

บุคคลใดจะทำแค่ไหนเพียงใดย่อมเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่หากความติดชอบมากนั้น

กลายเป็นเหตุละเลยความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ย่อมถูกถือเป็นตำหนิได้

ถึงแม้จะเป็นความติดหมกมุ่นในขั้นประณีต อีกทั้งระบบชีวิตของพระภิกษุสงฆ์

ในพระพุทธศาสนาว่าตามหลักบทบัญญัติในทางวินัย ย่อมถือเอาความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

เป็นหลักสำคัญ

ความเจริญรุ่งเรืองก็ดี ความเสื่อมโทรมก็ดี ความตั้งอยู่ได้และไม่ได้ก็ดี ของคณะสงฆ์

ย่อมขึ้นอยู่กับความเอาใจในรับผิดชอบต่อส่วนรวมนั้นเป็นข้อสำคัญด้วย

สำหรับพระพุทธเจ้า และท่านที่ปฏิบัติถูกต้อง สมาธิย่อมช่วยเสริมการบำเพ็ญกิจเพื่อพหูชน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 02 ต.ค. 2009, 22:38, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2009, 08:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




024.gif
024.gif [ 36.1 KiB | เปิดดู 5053 ครั้ง ]
* พึงสังเกตในคัมภีร์รุ่นหลังๆ กล่าวถึงพวกฤๅษีชีไพรก่อนสมัยพุทธกาล ที่เจริญฌานได้แก่กล้า

นิยมเอาฌานเป็นกีฬา จึงมีศัพท์เรียกว่า ฌานกีฬา ซึ่งหมายความว่า ฌานเป็นเครื่องเล่นสนุก

หรือสิ่งสำหรับหาความเพลิดเพลินยามว่างของพวกนักพรต

(เช่น ขุ.อป.32/3/26 ฯลฯ)

ที่กล่าวถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า

(สํ.อ.2/239 ฯลฯ)

และพุทธสาวกที่ยังไม่บรรลุอรหัตผล

(ธ.อ.7/81 ฯลฯ)

ว่าเล่นฌานก็มีบ้าง

แต่ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ว่าเล่นฌานกีฬายังไม่พบเลย

เรื่องนี้ควรเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับความแตกต่างในการดำเนินชีวิตว่า วิถีชีวิตแบบใดเป็นที่พึงประสงค์

ในพุทธศาสนา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 02 ต.ค. 2009, 22:46, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2009, 09:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




y1pzCtueIutJFnkmR2dMwXNbYYn6-HsE76zN9oEu2mMgyaXaywXEPA7_ZQPQLi103Ag-_4-bKJgrRM.jpg
y1pzCtueIutJFnkmR2dMwXNbYYn6-HsE76zN9oEu2mMgyaXaywXEPA7_ZQPQLi103Ag-_4-bKJgrRM.jpg [ 61.31 KiB | เปิดดู 5052 ครั้ง ]
ผู้ปฏิบัติธรรมอาจใช้สมาธิเพียงขั้นต้น เป็นจุดเริ่มต้น สำหรับใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรม

ตามหลักวิปัสสนา และสมาธินั้นก็จะเจริญขึ้นไปกับการเจริญวิปัสสนาด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสมาธิที่เจริญขึ้นไปด้วยการปฏิบัติเช่นนี้ ในที่สุดจะมีกำลังพอที่จะช่วย

ให้ผู้ปฏิบัติบรรลุผลที่หมายของวิปัสสนาคือความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ประจักษ์แจ้ง

นิพพานได้ก็จริง

แต่ก็ไม่แรงกล้าเพียงพอที่จะให้ได้ผลสำเร็จทางจิตที่เป็นส่วนพิเศษออกไป คือ อภิญญาขั้น

โลกีย์ต่างๆ มีอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นต้น

นอกจากนั้น การเริ่มต้นสมาธิที่ยังอ่อน ก็เหมือนคนเดินทางที่มีกำลังน้อยไม่เข็มแข็ง

ทำให้มีความพร้อมในการเดินทางน้อยลง แม้จะหวังไปค่อยๆเสริมกำลังข้างหน้า

ก็สู้คนที่เตรียมพร้อมเต็มที่ไปแต่ต้น เริ่มเดินทางด้วยความมั่นคงไม่มีห่วงกังวลเลยไม่ได้

ยิ่งถ้าปัญญาไม่เฉียบแหลมอีกด้วยก็ยิ่งยากลำบาก หรือ ปัญญาแก่กล้าไป บางทีก็พาให้ฟุ้งซ่านเข้าอีก-

(วิสุทธิ. 1/165...เค้า วินย.5/2/7 องฺ.ฉกฺก.22/326/420)

ดังนั้น จึงเกิดความนิยมที่จะฝึกอบรมเน้นหนักด้านสมาธิให้เป็นพื้นฐานไว้ก่อนไม่มากก็น้อย

แม้จะไม่หวังเอาผลสำเร็จทางด้านพลังจิตถึงขั้นฤทธิ์อภิญญาอะไร แต่ก็พอให้เป็นพื้นฐาน

ที่มั่นคงพอสมควรในการเจริญปัญญาต่อไป


เรื่องที่ว่ามานี้ ถ้ามองดูความเป็นไปในชีวิตจริง จะเห็นชัดยิ่งขึ้น

คนบางคนถ้าอยู่ในสถานที่มีเสียงรบกวนเพียงเล็กน้อย หรือ มีคนอื่นเดินผ่านไปผ่านมา

จะทำอะไรที่ใช้ความคิดไม่ได้เลย ที่จะใช้ปัญญาพิจารณาอะไรอย่างลึกซึ้งเป็นอันไม่ต้องพูดถึง

แต่คนบางคนมีจิตแน่วแน่มั่นคงดีกว่า แม้จะมีเสียงต่างๆรบกวนรอบด้าน มีคนพลุกพล่านจอแจ

ก็สามารถใช้ความคิดพิจารณาทำงานที่ต้องใช้สติปัญญาได้อย่างปกติ

บางคนมีกำลังจิตเข้มแข็งมาก แม้อยู่ในสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นหวาดกลัวก็ไม่หวั่นไหว

สามารถใช้ปัญญาคิดการณ์ต่างๆ อย่างได้ผลดีดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ


:b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42:


ดังมีเรื่องเล่าว่า พระเจ้านะโปเลียนที่ ๑ แห่งฝรั่งเศล ทรงมีพลังจิตสูง

ทรงประสงค์คิดเรื่องไหนเวลาใดก็คิดเรื่องนั้นเวลานั้น

ไม่ไม่ต้องการคิดเรื่องใด ก็ไม่คิดเรื่องนั้น เปรียบสมองเหมือนมีลิ้นชักจัดแยกเก็บเรื่องต่างๆไว้เป็น

พวกๆอย่างมีระเบียบ ชักออกมาใช้ได้ตามต้องการ

แม้ทรงอยู่ในสนามรบท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิดกึกก้อง เสียงคนเสียงม้าศึกวุ่นวายสับสน

ก็มีกิริยาอาการสงบ คิดการณ์ได้เฉียบแหลมเหมือนในสถานการณ์ปกติ

หากต้องการพักผ่อน ก็หลับได้ทันที



ต่างจากคนสามัญจำนวนมากที่ไม่ได้ฝึก เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น อย่าว่าแต่คิดการใดๆเลย

แม้แต่เพียงจะควบคุมจิตใจให้อยู่ที่ก็ไม่ได้ มักจะขวัญบิน ใจไม่อยู่กับเนื้อตัว ตื่นเต้นไม่เป็นกระบวน

เรื่องเล่านี้ แม้จะไม่พบหลักฐานยืนยัน

แต่ในกรณีทั่วไป ทุกคนก็คงพอจะมองเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างคนที่มีกำลังจิตเข้มแข็ง

กับคนที่มีกำลังจิตอ่อนแอ เรื่องพระเจ้านะโปเลียน ที่เล่ากันมานั้น

ก็นับว่าไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์เลย

หากเทียบกับตัวอย่างในคัมภีร์เช่น อาฬารดาบส กาลามโคตร ระหว่างเดินทางไกล นั่งพักกลางวัน

อยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง

มีกองเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ขับผ่านไปใกล้ๆ ท่านก็มิได้เห็นไม่ได้ยินเสียงกองเกวียนนั้นเลย

และพระพุทธเจ้า คราวหนึ่งขณะประทับนั่ง ณ เมืองอาตุมา มีฝนตกหนักมาก ฟ้าคะนอง

เสียงฟ้าผ่าครื้นครั่นสนั่นไหว

ชาวนาสองพี่น้องและวัวสี่ตัว ถูกฟ้าผ่าตายใกล้ที่ประทับพักอยู่นั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงอยู่

ด้วยวิหารธรรมอันสงบ ไม่ทรงได้ยินเสียงทั้งหมดนั้นเลย

(ที.ม.10/120-1/152-3)

และมีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสว่า ผู้ที่ฟ้าผ่าไม่สะดุ้ง ก็มีแต่พระอรหันต์ขีณาสพ ช้างอาชาไนย

ม้าอาชาไนย และพญาสีหราช -

(องฺ.ทุก.20/302-4/97)

ในหมู่คนสามัญ กำลังใจ กำลังปัญญา ความแน่วแน่มั่นคงของจิต

ก็ยังแตกต่างกันออกไปเป็นอันมาก

สำหรับคนส่วนมาก ซึ่งกำลังความมั่นคงของจิตไม่มาก กำลังปัญญาก็ไม่เฉียบแหลมนัก

ปราชญ์หลายท่านจึงเห็นว่า ถ้าไม่เตรียมจิตที่เป็นสนามทำงานของปัญญาให้พร้อมดีก่อน

โอกาสที่จะแทงตลอดสัจธรรมด้วยโลกุตรปัญญา ย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง

ท่านจึงเน้นการฝึกจิตด้วยกระบวนสมาธิภาวนา ให้เป็นฐานก่อนเจริญปัญญาอย่างจริงจังต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 02 ต.ค. 2009, 22:55, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 เม.ย. 2009, 22:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 มิ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1855

แนวปฏิบัติ: อานาปานสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: THAILAND

 ข้อมูลส่วนตัว


ความมุ่งหมายของสมาธิที่ใช้อย่างถูกต้อง หรือ พูดตามศัพท์ว่า ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธินั้น
เพื่อเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาอย่างได้ผลดี พูดอย่างง่ายๆว่า สมาธิเพื่อปัญญา ดังบาลีว่า
“สมาธิเพื่ออรรถ คือ ยถาภูตญาณทัสสนะ” บ้าง
“ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์” บ้าง
“จิตวิสุทธิเพียงแค่มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นอรรถ” บ้าง


และพุทธพจน์ที่ว่า
“สมาธิที่ศีลบ่มรอบแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ปัญญาที่สมาธิบ่มรอบแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
จิตที่ปัญญาบ่มรอบแล้ว ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเทียว จากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ”


สมาธิเพื่อปัญญา ท่านกรัชกาย
:b8: โมทนา สาธุ

.....................................................
[สวดมนต์วันละนิด-นั่งสมาธิวันละหน่อย]
[ปล่อยจิตให้ว่าง-ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ]


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร