วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 11:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ม.ค. 2009, 11:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ม.ค. 2009, 11:09
โพสต์: 3


 ข้อมูลส่วนตัว


ดิฉันไปฝึกกรรมฐานมา 7 วัน ก็มีเดินจงกรม และ นั่งสมาธิ แล้วกลับมาทำที่บ้านเอง โดยจะใช้เวลาเดินจงกรม 1 ชั่วโมง และนั่งสมาธิ 1 ชั่วโมง และมีอาการดังนี้ค่ะ

1. เวลาเดินจงกรมเมื่อกำหนด "ยืนหนอ" จากหน้าผากไปสู่ปลายเท้า จากไปเท้าไปสูหน้าผาก รู้สึกว่าที่บริเวณหน้าผากจะหนัก ๆ เวลาหายใจรู้สึกว่าตรงที่มันหนัก ๆ มันไหลขึ้นไหลลงค่ะ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากการเพ่งกายมากไปหรือปล่าวคะ แล้วจะต้องแก้ไขยังไง แต่เวลานั่งจะเป็นแต่ช่วงแรก ๆ ที่จะเข้าสมาธิใหม่ ๆ หลังจากนั้นก็จะไม่เป็นอะไร
2. ขณะที่เดินจงกรม มักมีอาการเวียนหัว ถ้าเดินช้ามากจะมีอาการเซ จะแก้ไขอย่างไรคะ
3. เวลานอนรู้สึกเหมือนตัวเบาหวิว ๆ และจะรู้สึกตัวเวลาที่นอนดิ้นค่ะ เลยต้องกำหนด "ยุบ-พองหนอ" ถูกหรือไม่คะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ม.ค. 2009, 22:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ธ.ค. 2008, 23:00
โพสต์: 48

ที่อยู่: บางแค

 ข้อมูลส่วนตัว


กำหนดรู้ตามปัจจุบันไปเรื่อยๆครับ^^ อย่าไปเกร็งมันมาก เอาเท่าที่ได้

1.ผมว่าผมเคยเป็นนะอาการนี้ของผมมันเหมือนอาการว่ามีอะไรมาอยู่ใต้ผิวหนังแล้วก็คลานๆไปเรื่อยๆ ผมเป็นแค่ตอนนั่งสมาธิแรกๆ พอปฏิบัติไปเรื่อยๆไม่เจออาการนี้แล้วก็ปวดหนอ กระดึ๊บหนอ(ศัพท์ตอนนั้นเท่าที่ไปได้) ผมว่ามันคงแสดงให้เห็นอะไรนานาจิตตังมากกว่าที่ตอนเราไม่มีสติไม่รู้ตัว พอมีสติได้ระดับนึง ร่างกายเรามีอะไรที่ไม่รู้อีกเยอะ เช่นวันนึงคิดกี่รอบ ปวดขากี่รอบ เหมือนมีมดกัดกี่รอบ เยอะแยะ ถ้าเราสติไวทัน(ถ้าถึงระดับนั้นแล้ว สมาธิคงแน่นกว่านี้) เกิดปุ๊บ รู้ปั๊บ ดับปุ๊บ

2.หมั่นแผ่เมตตาหน่อยก็ได้ครับ เท่าที่เคยถามมาเหมือนกับว่ามีเจ้ากรรมนายเวรมาทวง วิทยากรสอนกรรมฐานเขาก็ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า เหมือนตอนเราไม่มีเงิน พอมีคนมาทวงเงิน ก็ไม่มีอยู่ดี พอเราเริ่มมีเงินหน่อย เขาได้ที ก็รีบมาทวงเงินเรา ประมาณนั้น ตอนแรกเราไม่มีบุญ หรือมีน้อย พอเราเริ่มมี ก็เริ่มมาทวงกัน (ยกตัวอย่างเฉยๆนะ)

อือ..วันก่อนอ่านเจออยู่ กระทู้นึงที่นำเรื่องมาเล่า เวลาแผ่เมตตา ผมแผ่เมตตาทีก็ไม่ชอบ เพราะทำให้ต้องคิด ปฏิบัติรู้ไม่ต่อเนื่อง เพิ่งรู้สึกตัวเมื่อวานเองว่า เพราะเรา ไม่ชอบหนอ ไม่ชอบคิดหนอ กำหนดตรงนี้ไม่ทัน รู้แต่กำหนดไม่ทัน เสร็จมาร... แต่ถ้าไม่รู้ก็ละไว้นะครับ อย่าพยายามไปคิดเอง เออเองตามฉบับคนอื่นเขา เด๋วกลายเป็น นึกไปเอง

3.เหมือนเดิมครับ รู้หนอ หวิวหนอ อย่าไปฝืนมัน บังคับไปจิตไป พอง-ยุบ ตอนนอน เดี๋ยวสติตื่น+อยากไม่นอนดิ้น อยากไม่ให้ตัวหวิว ยาวครับ นอนไม่หลับ^^ ไว้ถ้ามีโอกาสถึงระดับนั้นแล้ว(ซึ่งผมเองไม่รู้เมื่อไหร่ หรือว่าจะมีไหม) ค่อยว่ากันใหม่^^

.....................................................
คำที่ข้าพเจ้าได้กล่าวอ้างมาทั้งหมดนี้ ส่วนมากเป็นของครูบาอาจารย์ ผู้เขียนหนังสือต่างๆ พ่อแม่ ญาติ ผู้มีคุณและเพื่อนๆของข้าพเจ้า สิ่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปนั้น ถ้าผิดพลาดอย่างไรก็ขอความกรุณาชี้แนะด้วย และบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้แจกจ่ายธรรมทานนั้นขอให้ผลบุญนั้นส่งถึง บุคคลที่ได้กล่าวมา ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสุข ข้าพเจ้าขอถวายเป็นพุทธบูชา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2009, 12:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
ดิฉันไปฝึกกรรมฐานมา 7 วัน ก็มีเดินจงกรม และ นั่งสมาธิ แล้วกลับมาทำที่บ้านเอง โดยจะใช้เวลาเดินจงกรม 1 ชั่วโมง และนั่งสมาธิ 1 ชั่วโมง และมีอาการดังนี้ค่ะ


ศึกษาวิธีปรับอินทรีย์ที่นี่ครับ

http://www.free-webboard.com/view.php?u ... d=5&topic=ว่าด้วย%20%20การปรับอินทรีย์

อ้างคำพูด:
1. เวลาเดินจงกรมเมื่อกำหนด "ยืนหนอ" จากหน้าผากไปสู่ปลายเท้า จากไปเท้าไปสูหน้าผาก รู้สึกว่าที่บริเวณหน้าผากจะหนัก ๆ เวลาหายใจรู้สึกว่า ตรงที่มันหนัก ๆ มันไหลขึ้นไหลลงค่ะ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากการเพ่งกายมากไปหรือปล่าวคะ แล้วจะต้องแก้ไขยังไง แต่เวลานั่งจะเป็นแต่ช่วงแรก ๆ ที่จะเข้าสมาธิใหม่ ๆ หลังจากนั้นก็จะไม่เป็นอะไร


ตอบ 1. เมื่อมีอาการทางกาย เช่นว่านั้น จิตจะอุปาทาน (ยึด) ทันทีในทุกกรณี ยึดมากเหมือนมีอาการมาก ยึดน้อยก็มีอาการน้อย เมื่อไม่ยึดก็ไม่มี ถึงมีจิตไม่ยึดก็ไม่รู้สึกกระทบกระแทกถึงจิตใจได้ คือจิตใจจะเป็นอิสระปลอดโปร่งโล่งเบา พูดในเชิงลึกก่อนครับ

ต่อนี้จะเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ เพราะว่าโยคีระดับนี้ยังเข้าไม่ถึงระดับดังกล่าวข้างต้น
ก็จะต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติพิจารณาที่ละเอียดมากๆ

ที่ถามข้อ 1 ท่อนแรกกับท่อนหลังอาการต่างกัน ที่ว่าเวลาเดินรู้สึกหนักๆที่หน้าผาก แต่เวลานั่งจะคลาย เพราะขณะนั่งจิตจะเพ่งอารมณ์กรรมฐาน คือ พอง-ยุบ หรือหายใจเข้า-ออกอยู่
หมายความว่า จิตปล่อยวางความรู้สึกตรงหน้าผากไปแล้ว

ต่อไปนะครับ ขณะเดินจงกรม หรือ ยืนกำหนดรูปยืน ไม่ต้องถึงกับยืนวาดรูปยืนหนักๆขนาดนั้น ใช้ความรู้สึกพิจารณาอาการยืนทั้งองคาพยพ
สมมุติว่า รู้สึกเจ็บ ตึง ตรงนั้นตรงนี้ ฯลฯ จิตจะแล่นไปรับรู้อารมณ์นั้น แต่ไม่พึงดูเฉย ๆ (ส่วนมากโยคีมักดูเฉยๆ) ให้กำหนดอาการที่ตึง เป็นต้น รู้สึกอย่างไรกำหนดอย่างนั้น "ตีงหนอๆๆ"
"ไหลหนอๆๆ" กำหนดแล้วปล่อย ตามดูอารมณ์ปัจจุบันขณะต่อ

อ้างคำพูด:
2. ขณะที่เดินจงกรม มักมีอาการเวียนหัว ถ้าเดินช้ามากจะมีอาการเซ จะแก้ไขอย่างไรคะ


ตอบ 2. ไม่ทราบว่า เดินจงกรมระยะไหนครับ เพิ่งฝึกปฏิบัติไม่ควรเดินระยะสูง เช่น ระยะ
4-6 ควรเดินระยะที่ 1 ให้คล่องก่อน อีกทั้งไม่ควรเดินช้าเกินไป เดินเหมือนเราเดินปกติทั่วๆไป
นั่น กำหนดทันกายเคลื่อนไหวเป็นอันใช้ได้ครับ
พูดง่ายๆ วิ่งเอายังได้ แต่ก็ยังตามทันรู้ทันกายที่เคลื่อนไหวนั้น จะยกตัวอย่างฝึกทหารใหม่ให้ดูเป็น
ตัวอย่าง...แถวตรง วิ่ง...หน้าวิ่ง...ซ้าย ซ้าย ขวา ซ้าย ซ้าย ขวา ซ้าย ซ้าย ซ้าย ขวา
ซ้าย ฯลฯ อย่างนี้ก็ใช้ได้ ซ้ายเป็นซ้าย ขวาเป็นขวารู้ทัน แล้วความรู้สึกเวียนหัวจะหาย ต่อไปร่างกายจะแข็งแรง ป้องกันโรคได้ ร่างกายที่ซวนเซเพราะเดินช้าเกินไป เพราะจิตยังไม่นิ่งพอจึงเซ อุปมาเหมือนเราเดินไต่ไม้ข้ามท้องร่อง จิตไม่มั่นไม่นิ่งร่างกายก็โยกเยกเซได้ หรือ เหมือน
นักกายกรรมเดินไต่ลวดที่ขึงไว้ หากสมาธินิ่งแน่วแน่ก็ไต่ได้ไม่เซ หากขณะนั้นจิตใจฟุ้งซ่านคิดเรื่อง
นั้นเรื่องนี้หรือเกิดกลัวขึ้นมาร่างกายก็โยกเยกร่วงหล่นได้

อ้างคำพูด:
3. เวลานอนรู้สึกเหมือนตัวเบาหวิว ๆ และจะรู้สึกตัวเวลาที่นอนดิ้นค่ะ เลยต้องกำหนด "ยุบ-พองหนอ" ถูกหรือไม่คะ


ตอบ 3. รู้สึกอย่างไรกำหนดอย่างนั้นครับ รู้สึกว่าตัวเบาๆ “เบาหนอๆๆ” แล้วปล่อยความรู้สึกนั้น หากต้องการนอนหลับก็หลับไป ไม่พวงต่อการอาการนั้น กำหนดรู้ตามอาการแล้วหลับต่อ

หากคำตอบยังคลุมเครือตรงไหนถามใหม่นะครับ :b1:

สุดท้าย ปัจจุบันแต่ละขณะๆ เราอาการอย่างไร รู้สึกอย่างไร นั่น คือ อารมณ์กรรมฐานที่ให้จิตกำหนดรู้ ครับ กำหนดตามที่รู้สึกนั้น ก็เป็นอันใช้ได้ และถูกต้องครับ :b42:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 09 ม.ค. 2009, 15:08, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2009, 13:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒.สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ หรือ สาเหตุของปัญหา: การดับทุกข์นั้น ทำได้ด้วยการกำจัดสาเหตุของมัน แต่เมื่อค้นหาสาเหตุ คนมักเลี่ยงหนีความจริง ชอบมองออกไปข้างนอก หรือ มองให้ไกลจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงมักมองหาตัวการข้างนอก ที่จะซัดทอดโทษให้ หรือ ถ้าจะเกี่ยวกับตนเอง ก็ให้เป็นเรื่องห่างไกลออกไป จนรู้สึกว่าพ้นจากความรับผิดชอบของตน สิ่งที่ถูกซัดทอดให้เป็นสาเหตุนั้น ปรากฏออกมาเป็นลัทธิ ที่ผิดพลาด
๓ ประการ คือ

1) ปุพเพกตวาท ลัทธิกรรมเก่า ถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงที่ประสบในบัดนี้ เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน

2) อิศรวรมิรมิตวาท ลัทธิพระเป็นเจ้า ถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงที่ประสบในบัดนี้ เป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่

3) อเหตุกวาท ลัทธิคอยโชค ถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงที่ประสบในบัดนี้ เป็นไปเอง แล้วแต่โชคชะตาที่เลื่อนลอย ไปมีเหตุ ไม่มีปัจจัย


ทางธรรมปฏิเสธลัทธิเหล่านี้ เพราะขัดต่อกฎธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย แล้วท่านให้มองหาสาเหตุของทุกข์ตามกฎธรรมดาที่ว่านั้น โดยมองเหตุปัจจัยเริ่มตั้งแต่ภายในที่ตัวตน และที่ในตนเอง ได้แก่ กรรมคือการกระทำ การพูด การคิด ที่ดีหรือชั่ว ซึ่งได้ประกอบแล้วและกำลังประกอบอยู่ และที่ได้สั่งสมไว้เป็นลักษณะนิสัย ตลอดจนการตั้งจิตวางใจต่อสิ่งทั้งหลาย และการมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้องหรือผิดพลาดกับเหตุปัจจัยในสภาพแวดล้อมทั้งหลาย


ในขั้นพื้นฐาน ท่านกล่าวลึกลงไปอีกว่า ตัณหา ความทะยานอยาก ที่ทำให้วางใจ ปฏิบัติตนแสดงออก สัมพันธ์ และกระทำต่อชีวิตและโลกอย่างไม่ถูกต้อง อย่างไม่เป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริง แต่เป็นไปด้วยความยินดียินร้ายชอบชัง เป็นต้น ตลอดจนกิเลสปกป้องตัวตนทั้งหลาย เช่น ความกลัว ความริษยา ความหวาดระแวง ฯลฯ ที่สืบเนื่องมาจากตัณหานั่นแหละ คือ ที่มาแห่งปัญหาความทุกข์ของมนุษย์

ตัณหา มี 3 อย่าง คือ กามตัณหา อยากกาม ได้แก่ อยากได้อยากเอาอยากเสพเสวยอย่างหนึ่ง
ภวตัณหา อยากภพ ได้แก่ อยากเป็นอยากคงอยู่ตลอดไป อยากมีชีวิตนิรันดรอย่างหนึ่ง
วิภวตัณหา อยากสิ้นภพ ได้แก่ ปรารถนาภาวะสิ้นสูญอย่างหนึ่ง และลึกลงไปกว่านั้น ท่านแสดงกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท อันมีอวิชชา เป็นมูลของตัณหา ว่าเป็นที่ไหลเนื่องมาแห่งปัญหาความทุกข์นั้น
เมื่อใด กำจัดอวิชชาตัณหาที่เป็นต้นตอของปัญหา และซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ได้แล้ว มนุษย์ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลสปกป้องตัวตนทั้งหลาย
เมื่อนั้น เขาก็จะสามารถปฏิบัติต่อชีวิตและสัมพันธ์กับโลกทั้งส่วนมนุษย์ สัตว์อื่น และธรรมชาติ ด้วยปัญญาที่เข้าใจสภาวะและรู้เหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ซึ่งทำให้แก้ปัญหาได้จริงอย่างเต็มความสามารถและสติปัญญาของมนุษย์ และความทุกข์จะมีเหลืออยู่ ก็เป็นเพียงทุกข์ตามสภาวะธรรมดา และไม่มีอิทธิพลครอบงำจิตใจของเขาได้ ในเมื่อไม่มีอิทธิพลของตัณหาครอบงำอยู่ภายใน ภารกิจของเขาจะมีเหลืออยู่เพียงการคอยใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาสถานการณ์และเรื่องราวทั้งหลายที่เกี่ยวข้องให้รู้เข้าใจสภาวะและเหตุปัจจัยตามเป็นจริง แล้วจัดการด้วยปัญญานั้นให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข

แต่ตราบใด กิเลสที่บิดเบือนครอบงำ และที่ทำให้เอนเอียงทั้งหลาย ยังบีบคั้นบังคับมนุษย์ให้เป็นทาสของมันได้ ตราบนั้น มนุษย์จะไม่สามารถแก้ปัญหาขจัดทุกข์ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายนอก หรือทุกข์ภายใน โดยมากเมื่อจะแก้ปัญหา เขามักจะกลับทำปัญหาให้ขยายตัวออกไปมากขึ้น ในรูปเดิมบ้าง ในรูปของปัญหาใหม่ๆอื่นๆบ้าง เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นในภายในแทนที่จะดับหรือสามารถลดทอนปริมาณแห่งทุกข์ให้เบาบางลงได้ด้วยปัญญา ก็กลับถูกตัณหาบีบกดให้ชดเชยออกไปด้วยเติมทุกข์ที่ใหญ่กว่าเข้ามา หรือระบายทุกข์นั้นออกไปให้เป็นโทษภัยแก่คนอื่นและแก่สังคม ความทุกข์และปัญหาของมนุษย์ได้เป็นไปและเป็นอยู่อย่างนี้ ตามอำนาจบงการของตัณหาที่มีอวิชชาคอยหนุนอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

(พุทธธรรมหน้า 903 )

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 13 ม.ค. 2009, 18:38, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2009, 15:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ม.ค. 2009, 11:09
โพสต์: 3


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณ คุณกรัชกายค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ แต่ก็สงสัยอยู่ว่าถ้าคนที่เขานั่งอย่างเดียว หรือ เดินอย่างเดียว หรือนั่งเดินไม่เท่ากัน เช่น นั่งมากกว่าเดิน หรือเดินมากกว่านั่ง จะส่วนใหญ่แล้วเอนเอียงไปทางอินทรีย์ไหน หรือว่าขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละคนคะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2009, 16:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คุณนามพึงทำความเข้าใจคำว่า อินทรีย์ ในที่นี้ก่อน
อินทรีย์ มี ๕ คือ สิทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์

ดูหน้าที่ขององค์ธรรมที่ท่านจัดเป็นอินทรีย์แต่ละอย่างๆครับ

เครื่องมือวัดความพร้อม

หลักธรรมที่เป็นเครื่องวัดความพร้อมและบ่งชี้ความก้าวหน้าช้า หรือเร็ว ของบุคคลในการปฏิบัติธรรม ได้แก่ อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา


หลักธรรมชุดนี้ใช้สำหรับการปฏิบัติธรรมได้ทั่วไปตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด


อินทรีย์ แปลว่า สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน คือ ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ ในที่นี้ หมายถึง เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่กำจัดกวาดล้างอกุศลธรรมซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม เช่น ความเพียรกำจัดความเกียจคร้าน ทำให้เกิดความพร้อมในการทำงานและปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปได้

ความหมายของอินทรีย์ ๕ อย่างนั้น ท่านแสดงสรุปได้ ดังนี้


๑. ศรัทธา - หน้าที่ของศรัทธาคือความน้อมใจดิ่งหรือเด็ดเดี่ยว (อธิโมกข์) มั่นใจในความจริงความดีของสิ่งที่นับถือ หรือปฏิบัติ

๒. วิริยะ - เพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้ถึงพร้อม การมีความแข็งขันบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม หน้าที่ของวิริยะคือการยกจิตไว้ (ปัคคาหะ) มีกำลังใจ ก้าวหน้าไม่ท้อถอย

๓. สติ - หน้าที่ของสติคือการดูแลหรือคอยกำกับจิต (อุปัฏฐาน) ระลึกได้ กำกับใจไว้กับกิจ นึกถึงสิ่งที่พึงทำพึงเกี่ยวข้อง

๔. สมาธิ -หน้าที่ของสมาธิคือการทำจิตไม่ให้ส่าย (อวิกเขป) มีใจมั่น แน่วแน่ในกิจ ในสิ่งที่กำหนด

๕. ปัญญา - หน้าที่ของปัญญาคือการเห็นตามจริง (ทัสสนะ) รู้เข้าใจความจริง รู้สิ่งที่ทำ
ที่ปฏิบัติ หยั่งรู้หรือรู้เท่าทันสภาวะ


มีพุทธพจน์ รับรองคำกล่าวของพระสารีบุตรว่า อินทรีย์ ๕ อย่างนี้ ส่งผลเป็นปัจจัยต่อเนื่องกัน กล่าว คือ
ศรัทธา ทำให้เกิดความเพียร ความเพียรช่วยให้สติมั่นคง
เมื่อสติมั่นคงแล้ว กำหนดอารมณ์ก็จะได้สมาธิ
เมื่อมีสมาธิดีแล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจ มองเห็นซึ้งถึงโทษของอวิชชาตัณหาที่เป็นเหตุแห่งสังสารวัฏ มองเห็นคุณค่าของนิพพาน ซึ่งเป็นภาวะปราศจากความมืดแห่งอวิชชาและความทุรนทุราย แห่งตัณหา สงบประณีตดีเยี่ยม
ครั้นเมื่อรู้ชัดเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยตนเองแล้ว ก็จะเกิดมีศรัทธาที่เป็นศรัทธาอย่างยิ่งหรือยิ่งกว่า
ศรัทธา หมุนเวียนกลับเป็นสัทธินทรีย์ อีก

ดังพุทธพจน์ว่า “ดูกรสารีบุตร อริยสาวกนั้นแล เพียรพยายามอย่างนี้ ครั้นเพียรพยายาม
แล้ว ก็ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ก็ตั้งจิตมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งจิตมั่นแล้ว ก็รู้ชัดอย่างนี้
ครั้นรู้ชัดแล้ว ก็เชื่อยิ่งอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งหลายที่แต่ก่อนนี้ เราเพียงแต่ได้ยินได้ฟังเท่านั้น
ย่อมเป็นดังนี้แล ดังเราสัมผัสอยู่ด้วยตัว และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาอยู่ในบัดนี้”

(สํ.ม.19/1010-1022/297-300)


พุทธพจน์นี้ จะแลเห็นความสืบเนื่องสัมพันธ์กันเป็นเหตุปัจจัยกันและกันขององค์ธรรม สุดท้ายจะ
ประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง ดังท่อนสุดท้ายที่ว่า ธรรมทั้งหลาย ที่แต่ก่อนนี้
เราเพียงแต่ได้ยินได้ฟังเท่านั้น ย่อมเป็นดังนี้แล ดังเราสัมผัสอยู่ด้วยตัว และเห็นแจ้งแทง
ตลอดด้วยปัญญา อยู่ในบัดนี้


เมื่อรู้เห็นด้วยตนเช่นว่านั้นแล้ว เขาจะเชื่อมั่นมั่นใจอย่างที่ไม่ต้องอ้างถึงผู้ใด เพราะอะไร ?
เพราะโยคีนั้นเข้าใจแจ้งประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว


อินทรีย์ ๕ นี้ ได้แก่ พลธรรม ๕ ( สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ และปัญญาพล)
เป็นต้น นั่นเอง

ดูชัดๆ อีกครั้งในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค
ท่านแสดงอกุศลธรรมฝ่ายตรงข้าม ที่อินทรีย์ ๕ จะกำจัดเป็นคู่ๆ (ขุ.ปฏิ.31/425/302; 452/332)

๑. ศรัทธา – เป็นใหญ่ในหน้าที่น้อมใจดิ่ง หรือ มุ่งไปเด็ดเดี่ยว กำจัดอกุศลธรรม คือ ความไม่เชื่อถือ

๒. วิริยะ- เป็นใหญ่ในหน้าที่ประคอง หรือ คอยยกจิตไว้ กำจัดอกุศล คือ ความเกียจคร้าน (โกสัชชะ)

๓. สติ – เป็นใหญ่ในหน้าที่คอยคุ้ม หรือ ดูแลจิต กำจัดอกุศล คือ ความประมาท

๔. สมาธิ- เป็นใหญ่ในหน้าที่ ทำจิตไม่ให้ซ่านส่าย กำจัดอกุศล คือ ความฟุ้งซ่าน
(อุทธัจจะ)

๕. ปัญญา- เป็นใหญ่ในหน้าที่ ดูเห็นตามสภาวะ กำจัดอกุศล คือ อวิชชา
(ความไม่รู้สภาวธรรมความเป็นจริง)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2009, 17:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ก.ค. 2008, 14:11
โพสต์: 839

ที่อยู่: สงขลา

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ :b20: ครับบท่าน

.....................................................
ทำดีทุกทุกวัน เมื่อโอกาสมา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2009, 08:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
แต่ก็สงสัยอยู่ว่า ถ้าคนที่เขานั่งอย่างเดียว หรือ เดินอย่างเดียว หรือนั่งเดินไม่เท่ากัน เช่น นั่งมากกว่าเดิน หรือเดินมากกว่านั่ง จะส่วนใหญ่แล้วเอนเอียงไปทางอินทรีย์ไหน หรือว่าขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละคนคะ



เมื่อเห็นอินทรีย์ว่ามี ๕ อย่าง ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ทั้งแลเห็นหน้าที่
ของธรรมดังกล่าวด้วยว่า ใครทำหน้าที่อะไรกันบ้างแล้ว
ทีนี้ก็ถึงคำถามที่เกี่ยวกับจงกรม-นั่ง ที่เหลื่อมล้ำกัน มีความหมายมากครับสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐานลิงค์ที่ให้ไว้ก็มีหลักฐานอยู่ แต่จะยกมาให้ดูตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง ก่อน


คัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวถึงความสำคัญของการปรับอินทรีย์ทั้งหลายให้เสมอกัน
โดยย้ำว่า ถ้าอินทรีย์อย่างหนึ่งอย่างใดแรงกล้าเกินไป และ อินทรีย์อื่นอ่อนอยู่
อินทรีย์อื่นเหล่านั้น ก็จะเสียความสามารถในการทำหน้าที่ของตน เช่น
ถ้าศรัทธาแรงไป วิริยะก็ทำหน้าที่ยกจิตไม่ได้
สติก็ไม่สามารถดูแลจิต สมาธิก็ไม่สามารถทำจิตให้แน่ว
ปัญญาก็ไม่สามารถเห็นตามเป็นจริง

ตามหลักทั่วไป ท่านให้ปรับอินทรีย์เสมอกันเป็นคู่ๆ คือ
ให้ศรัทธาสม หรือ เสมอกับปัญญา
และ ให้สมาธิสม หรือ เสมอกับวิริยะ
ถ้าศรัทธากล้า ปัญญาอ่อน ก็อาจเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่น่าเลื่อมใส
ถ้าปัญญากล้า ศรัทธาอ่อน ก็จะเอียงไปข้างอวดดีเป็นคนแก้ไขไม่ได้เหมือนโรคเกิดจากยาเสียเอง
ถ้าสมาธิกล้าวิริยะอ่อนความเกียจคร้านก็เข้าครอบงำ เพราะสมาธิเข้าพวกกันได้กับโกสัชชะ
แต่ถ้าวิริยะแรง สมาธิอ่อน ก็เกิดความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ เพราะวิริยะเข้าพวกกันได้
กับอุทธัจจะ
เมื่ออินทรีย์ 2 คู่นี้ เสมอกันดี
การปฏิบัติธรรมก็เดินหน้าได้ผลดี
ส่วนสติ เป็นข้อยกเว้น
ท่านว่ายิ่งสติมีกำลังก็ยิ่งดี มีแต่จะช่วยองค์ธรรมข้ออื่นๆได้ดียิ่งขึ้น
ช่วยรักษาจิตไม่ให้ตกไปทั้งข้างอุทธัจจะและข้างโกสัชชะ
การยกจิตข่มจิตต้องอาศัยสติทั้งนั้น
ท่านอ้างพุทธพจน์ที่ว่า สติมีประโยชน์ต้องใช้ทุกที่ทุกกรณี-
(พุทธพจน์นี้อยู่ในตอนว่าด้วยโพชฌงค์ สํ.ม.19/572/158)
และ สติเป็นที่พึ่งที่อาศัยของใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2009, 11:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จับคู่ให้ดูอีกที

ศรัทธา + ปัญญา
วิริยะ+สมาธิ

ที่ชัดเจนคือคู่วิริยะ กับ สมาธิ โยคีควรปรับให้สมกันขณะปฏิบัติกรรมฐาน
จึงจะทำให้องค์ธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยทำหน้าที่ได้เต็มสามารถ

หากวิริยะล้ำเกินสมาธิ จะรู้สึกว่าร่างกายเบาๆ คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง ส่วนจิตใจก็จะคล่องว่องไว คุมให้อยู่กับกรรมฐานยากสักหน่อย
แต่เมื่อสมาธิล้ำเกินวิริยะ ร่างกายจะหนักๆอึดอาด ด้านจิตใจจะซึมๆง่วงเหงาหาวนอนได้ง่าย
ไม่กระปรี้กระเปร่า
เมื่อสมาธิล้ำเกินวิริยะมากๆ จะเป็นเช่นรายนี้

viewtopic.php?f=2&t=18948&st=0&sk=t&sd=a

ทีนี้แหละจงกรมช่วยได้

เบื้องต้น ท่านให้จงกรมกับนั่งด้วยเวลาที่เท่าๆ กันก็จริง แต่กระนั้นสมาธิอาจล้ำก็ได้
หรือเมื่อรู้สึกง่วงๆซึมๆ หรือ มีอาการบีบรัดตรงนั้นตรงนี้ พึงเดินระยะต่ำๆ 1-3 เดินให้มากกว่านั่งเข้าไว้
แต่เมื่อสังเกตแล้ววิริยะล้ำเกินสมาธิ คือ รู้สึกร่างกายเบาๆ คล่องๆ จิตใจก็คล่องเบาๆ
พึงจงกรมระยะ 4-6 หรือจงกรมระยะต่ำๆนั่นแหละ แต่เดินให้น้อยกว่านั่ง คือ นั่งให้มากกว่าเดินแก้

ดังนั้นเบื้องต้นพึงเริ่มเวลาจากน้อยไปหามาก เช่น เดิน 30 นาที นั่ง 30 นาที เมื่อทั้งเดินและนั่งแคล่วคล่องแล้ว ก็ปรับขยับเวลาขึ้นไปอีกสัก 5-10 นาที ฯลฯ

ฉะนั้นคำถามที่ว่า

อ้างคำพูด:
ถ้าคนที่เขานั่งอย่างเดียว หรือ เดินอย่างเดียว หรือนั่งเดินไม่เท่ากัน เช่น นั่งมากกว่าเดิน
หรือเดินมากกว่านั่ง จะส่วนใหญ่แล้วเอนเอียงไปทางอินทรีย์ไหน หรือว่าขึ้นอยู่กับลักษณะ
ของแต่ละคนคะ


จึงไม่แน่นอนตายตัว แล้วแต่ว่าอินทรีย์ตัวไหนอ่อนหรือล้ำเกินกว่ากันครับ


ไม่ทราบ คุณนามสับสนไหมครับ หากยังไม่แจ้ง ถามได้อีกครับ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 18:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๑. ทุกข์ คือ ปัญหาต่างๆของมนุษย์ เป็นเรื่องบีบคั้นชีวิต
จิตใจ มีอยู่ทั่วไปแก่สัตว์มนุษย์ทุกคน เกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใด ก็เป็นจุดสนใจ เป็นของเด่นชัดแก่ผู้นั้น
เมื่อนั้น แต่ว่าที่จริงมองกว้างๆชีวิตมีปัญหาและเป็นปัญหากันอยู่เรื่อยๆ เป็นธรรมดา ดังนั้น ทุกข์จึงเป็นจุดสนใจปรากฏเด่นชัดอยู่ในชีวิตของทุกๆคน เรียกได้ว่าเป็นของชัดรู้ง่ายเห็นง่าย จี้ความสนใจ เหมาะที่จะยกขึ้นเป็นข้อปรารภ คือเป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงธรรม ยิ่งกว่านั้น ทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว และน่าตกใจสำหรับคนจำนวนมาก คอยหลีกเลียง ไม่อยากได้ยิน แม้แต่คนที่กำลังเพลิดเพลินลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตระหนักรู้ว่าคนเองกำลังมีปัญหา และกำลังก่อปัญหา เมื่อมีผู้มาชี้ปัญหาให้ ก็จะกระทบใจทำให้สะดุ้งสะเทือนและมีความไหวหวั่น สำหรับคนที่อยู่ในภาวะเช่นนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนปรารภเรื่องทุกข์เพื่อกระตุ้นเตือนให้เขาฉุกใจได้คิด เป็นทางที่จะเริ่มต้นพิจารณาแก้ปัญหาดับความทุกข์กันได้ต่อไป
เมื่อแสดงอริยสัจโดยตั้งต้นที่ทุกข์ ก็เป็นการสอนที่เริ่มจากปัญหา เริ่มจากสิ่งที่เห็นง่ายเขาใจง่ายเริ่มจากเรื่องที่
น่าสนใจ และโยเฉพาะเป็นการสอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ใช้เรื่องเลื่อนลอย ไม่ใช่เรื่องคิดเพ้อฝัน หรือสัก
ว่าพูดตีฝีปากกันไป เมื่อพูดกับใครก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคนนั้น เมื่อพูดเป็นกลางๆก็เกี่ยวข้องกับทุกคน

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทุกข์ มิใช่เพื่อให้เป็นทุกข์ แต่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะดับทุกข์ เพราะทรงรู้ว่าทุกข์
หรือปัญหานั้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ดับได้ มิใช่เป็นของเที่ยงแท้แน่นอนจะต้องคงอยู่ตลอดไปชีวิตนี้ที่ยังคับข้อง ก็
เพราะมีทุกข์มีปัญหาคอยรบกวนอยู่ ถ้าดับทุกข์แก้ปัญหาแล้ว หรือได้สร้างความสามารถในการดับทุกข์แก้
ปัญหาไว้พร้อมแล้ว ชีวิตก็ปลอดโปร่งโล่งเบา พบสุขแท้จริง

แต่การดับทุกข์ หรือ แก้ไขปัญหานั้น มิใช่ทำได้ด้วยการหลบเลี่ยงปัญหา หรือ ปิดตาไม่มอง
ทุกข์ ตรงข้ามต้องใช้วิธีรับรู้สู้หน้าเข้าเผชิญดูมัน การรับรู้สู้หน้ามิใช่หมายความว่า จะเข้าไปแบกทุกข์ไว้
หรือ จะให้ตนเป็นทุกข์ แต่เพื่อรู้เท่าทัน จะได้แก้ไขกำจัดมันได้ การรู้เท่าทันนี้คือ การทำหน้าที่
ต่อทุกข์ให้ถูกต้อง ได้แก่ ทำปริญญา คือ กำหนดรู้ ทำความเข้าใจสภาวะของทุกข์หรือปัญหา
นั้น ให้รู้ว่าทุกข์หรือปัญหาของเรานั้นคืออะไรกันแน่ อยู่ที่ไหน
(บางทีคนชอบหลบเลี่ยงทุกข์
หนีปัญหา และทั้งที่รู้ว่ามีปัญหา แต่จะจับให้ชัดก็ไม่รู้ว่าปัญหาของตนนั้นคืออะไร ได้แต่เห็นคลุมๆเครือๆหรือ
พร่าสับสน) มีขอบเขตแค่ไหน เมื่อกำหนดจับทุกข์ได้อย่างนี้ เหมือนแพทย์ตรวจอาการจนรู้
โรครู้จุดที่เป็นโรคแล้ว ก็เป็นอันเสร็จหน้าที่ต่อทุกข์ เราไม่มีหน้าที่กำจัดทุกข์ หรือ ละเว้น
เพราะทุกข์จะละได้ที่ตัวมันเองไม่ได้ ต้องละที่เหตุของมัน ถ้าจะละทุกข์ที่ตัวทุกข์ก็เหมือนรักษาโรค
ที่อาการ เช่นให้ยาระงับอาการไว้ แก้ไขโรคไม่ได้จริง พึงดำเนินการค้นหาสาเหตุต่อไป

แพทย์เรียนรู้เกี่ยวกับโรค และต้องเรียนรู้เรื่องร่างกายอันเป็นที่ตั้งแห่งโรคด้วย ฉันนั้น ผู้จะดับทุกข์เมื่อเรียนรู้
ทุกข์ ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ รวมถึงสภาวะแห่งสังขารโลกที่เกี่ยวข้องด้วย ฉันนั้น

สาระสำคัญของอริยสัจของที่ ๑ คือ ยอมรับความจริงเกี่ยวกับทุกข์ตามที่มันเป็นอยู่ แล้วมองดูรู้จักชีวิตและ
โลกตามที่มันเป็นจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2009, 15:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือภาวะหมดปัญหา: เมื่อได้กล่าวถึงทุกข์หรือปัญหาพร้อมทั้งสาเหตุ อันเป็นเรื่องร้ายไม่พึงใจแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ทรงชโลมดวงใจของเวไนยชนให้เกิดความเบาใจและให้มีความหวังขึ้น ด้วยการตรัสอริยสัจข้อที่ ๓ คือ นิโรธ แสดงให้เห็นว่า ทุกข์ที่บีบคั้นนี้ดับได้ ปัญหาที่กดดันนั้นแก้ไขได้ ทางออกที่น่าพึงใจมีอยู่ ดังนี้ เพราะสาเหตุแห่งปัญหาหรือความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่กำจัดหรือทำให้หมดสิ้นไปได้ ทุกข์หรือปัญหาตั้งอยู่ได้ด้วยอาศัยเหตุ เมื่อกำจัดเหตุแล้ว ทุกข์ที่เป็นผลก็พลอยดับสิ้นไปด้วย เมื่อทุกข์ดับไปปัญหาหมดไป ก็มีภาวะหมดปัญหา หรือภาวะไร้ทุกข์ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นไปเอง โดยนัยนี้นิโรธอริยสัจ จึงตามเข้ามาเป็นลำดับที่ ๓ ทั้งโดยความเป็นไปตามธรรมดาของกระบวนธรรมเอง และทั้งโดยความเหมาะสมแห่งกลวิธีการสอนที่ชวนสนใจ ช่วยให้เข้าใจและได้ผลดี


เมื่อกำจัดตัณหา พร้อมทั้งกิเลสว่านเครือที่คอยกดขี่บีบคั้นครอบงำและหลอนล่อจิตลงได้ จิตก็ไม่ต้องถูก
ทรมานด้วยความเร่าร้อน ร่านรน กระวนกระวาย ความหวาดหวั่นพรั่นกลัว ด้วยกระทบกระทั่ง ความหงอย
เหงา และความเบื่อหน่าย ไม่ต้องหวังความสุขเพียงด้วยการวิ่งหนีหลบออกไปจากอาการเหล่านี้บ้าง แก้ไข
ด้วยหาอะไรมาเติมมากลบปิดไว้หรือมาทดแทน ให้บ้าง หาที่ระบายออกไปภายนอกบ้าง พอผ่านไป
คราวหนึ่งๆ แต่คราวนี้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ เป็นตัวของมันเอง ปลอดโปร่งโล่งเบา มีความสุขที่ไร้
ไฝฝ้าด้วยไม่ต้องสะดุดพะพานสิ่งกังวลคั่งค้างใจ สงบ สดชื่น เบิกบาน ผ่องใสได้ตลอดทุกเวลา
อย่างเป็นปกติของใจ บรรลุภาวะสมบูรณ์แห่งชีวิตด้านใน

ส่วนอีกด้านหนึ่ง เมื่อจิตหลุดพ้นจากกิเลสที่บีบคั้นครอบงำหลอนล่อและเงื่อนปมที่ติดข้อง
ในภายในเป็นอิสระ ผ่องใสแล้ว อวิชชาไม่มีอิทธิพลหนุนชักใยอีกต่อไป ปัญญาก็พลอยหลุดพ้นจาก
กิเลสที่บดบัง เคลือบคลุม บิดเบือน หรือย้อมสี บริสุทธิ์เป็นอิสระไปด้วย ทำให้สามารถคิดพิจารณาสิ่ง
ทั้งหลายอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง มองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะและตามเหตุปัจจัย เมื่อไม่มี
อวิชชาตัณหาคอยชักให้ไขว้เขว ปัญญาก็เป็นเจ้าการในการชักนำพฤติกรรมทำให้วางใจ ปฏิบัติตน
แสดงออก สัมพันธ์กับโลกและชีวิตด้วยความรู้เท่าทันคติแห่งธรรมดา นอกจากปัญญานั้นจะเป็นรากฐาน
แห่งความบริสุทธิ์เป็นอิสระของจิตในส่วนชีวิตด้านในแล้ว ในส่วนชีวิตด้านนอก ก็จะช่วยให้ใช้ความรู้
ความสามารถของตนไปในทางที่เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหา เสริมสร้างประโยชน์สุขได้อย่างแท้จริง สติ
ปัญญาความสามารถของเขาถูกใช้ให้เป็นประโยชนได้เต็มที่ของมันไม่มีอะไรหน่วงเหนี่ยวบิดเบน เป็นไปเพื่อ
ความดีงามอย่างเดียว ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา หรือชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญา
ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง เป็นสุขอยู่เป็นปกติเอง ไม่ห่วงไม่กังวลเกี่ยวกับตัวตน
ไม่ต้องคอยแสวงหาสิ่งเสพเสวย และคอยปกป้องเสริมความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่แบกถือเอาไว้แล้ว
จิตใจก็เป็ดกว้างออก แผ่ความรู้สึกอิสระออกไป พร้อมที่จะรับรู้สุขทุกข์ของเพื่อสัตว์โลก และคิดเกื้อกูล
ช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินในมรรคาแห่งอารยชน ไม่จำเป็นที่จะต้องรอเพื่อเสวยภาวะที่ดีงามเป็นประโยชน์
เช่นนี้ ต่อเมื่อได้บรรลุนิพพานที่เป็นความหมายสูงสุดของนิโรธเท่านั้น แม้ในระหว่างดำเนินในมรรคาที่
ถูกต้องนั่นเอง ก็สามารถประสบผลแห่งการปฏิบัติประจักษ์แก่ตนได้เรื่อยไป โดยควรแก่การปฏิบัติ ด้วยว่านิโรธนั้นมีผ่อนลงมารวมด้วยกันถึง ๕ ระดับ
(ขุ.ปฏิ. 31/65/39; 704/690) คือ

๑. วิกขัมภนนิโรธ ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยข่มไว้ โดยทำจิตใจให้สงบ เยือกเย็นผ่อนคลาย
หายเครียดปราศจากความขุ่นมัวเศร้าหมอง หายเร่าร้อนกระวนกระวาย ด้วยวิธีฝ่าย เฉพาะอย่างยิ่งหมาย
เอาสมาธิในระดับฌาน ซึ่งกิเลสถูกทำให้สงบไว้ ได้เสวยนิรามิสสุขตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น

๒. ตทังคนิโรธ ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงข้าม เฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักคิดรู้จัก
พิจารณา มีปัญญารู้เท่าทันความจริงที่เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยและจะพึงแก้ไข
ที่เหตุปัจจัย ไม่ขึ้นต่อความอยากความปรารถนาและความหมายมั่นยึดถือของมนุษย์ แล้ววางใจได้
ถูกต้องและปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นด้วยท่าทีแห่งความรู้ ความเข้าใจ ความหวังดีมีน้ำใจงามและความเป็น
อิสระ เมื่อปัญญานี้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนตรงตามสภาวะ ก็เรียกว่าวิปัสสนาญาณ ทำให้กิเลสและความ
ทุกข์ดับหายไปได้ตลอดชั่วเวลานั้น มีจิตใจสงบบริสุทธิ์ เป็นสุข ผ่องใส กับทั้งทำให้จิตประณีตและ
ปัญญางอกงามยิ่งขึ้น

๓. สมุจเฉทนิโรธ ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยตัดขาด คือบรรลุโลกุตรมรรค ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคขึ้นไป
ดับกิเลสดับทุกข์ได้เสร็จสิ้นเด็ดขาดตามระดับของมรรคนั้นๆ

๔. ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยสงบระงับไป คือบรรลุโลกุตรผล เป็นอริยบุคคลตั้งแต่
โสดาบันขึ้นไป กิเลสดับสิ้นไปแล้วมีความบริสุทธิ์ปลอดโปรงเป็นอิสระตามระดับของอริยบุคคลขั้นนั้นๆ

๕. นิสสรณนิโรธ ดับกิเลสสลัดออกได้ หมายถึงภาวะที่เป็นอิสระปลอดโปร่งอย่างแท้จริงและโดย
สมบูรณ์ คือ ภาวะแห่งนิพพาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 19:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 20:09
โพสต์: 112


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:
ผมกำลังอยู่ขั้นดูลมหายใจเข้าออกอยู่เลยขอรับ เลยยังไม่ถึงขั้นของพวกท่านขอรับ
แต่ ขอขอบพระคุณเจ้าของกระทู้และท่านผู้รู้ที่กรุณาตอบขอรับ
หวังว่าคงไม่ว่าอะไรกันน่ะขอรับถ้าจะขอสำเนาเอาไว้เวลา ผมถึงขั้นนี้จะได้เอามาใช้ได้

:b44: :b8: เจริญในธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 19:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว



๔.มรรค
คือ ทางดับทุกข์ หรือวิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดสาเหตุแห่งปัญหา:
เมื่อรู้ทั้งปัญหา(ทุกข์), ทั้งสาเหตุแห่งปัญหา (สมุทัย), ทั้งจุดหมายที่เป็นภาวะหมดสิ้นปัญหา (นิโรธ),
รู้ทุกอย่างครบถ้วนแล้ว ก็พร้อมและเป็นอันถึงเวลาที่จะต้องลงมือปฏิบัติ โดยเฉพาะแง่ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดโดยตรง ก็คือ เมื่อรู้จุดหมายที่จะต้องไปให้ถึง ว่าเป็นไปได้และคืออะไรแล้ว การปฏิบัติเพื่อบรรลุจุด
หมายนั้น จึงจะพลอยเป็นไปได้ด้วย ถ้าไม่รู้จุดหมายคืออะไร จะไปไหน ก็ไม่รู้จะปฏิบัติหรือเดิน
ทางไปอย่างไร
ดังนั้น ว่าโดยความสัมพันธ์ระหว่างข้อธรรมด้วยกัน มรรคย่อมสมควรเข้าลำดับเป็นข้อสุดท้าย
อีกอย่างหนึ่งว่าโดยวิธีการสอน ตามธรรมดานั้น การปฏิบัติ เป็นกิจที่ต้องอาศัยเรี่ยวแรงกำลัง
ถ้าผู้ปฏิบัติไม่เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งที่เป็นจุดหมาย ก็ย่อมไม่มีกำลังใจ
จะปฏิบัติ อาจเกิดความระย่อท้อถอย หรือถึงกับไม่ยอมปฏิบัติ
แม้หากปฏิบัติก็อาจทำอย่างถูกบังคับ จำใจ ฝืนใจ สักว่าทำ ไม่อาจดำเนินไปด้วยดี
ในทางตรงข้าม ถ้าเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งที่เป็นจุดหมายแล้ว เขาย่อมยินดีปฏิบัติ ยิ่งจุด
หมายนั้นดีงาม เขาอยากได้มากเท่าใด เขาก็จะมีกำลังใจปฏิบัติด้วยความเข้มแข็งมากเท่า
นั้น เมื่อเขาประสงค์จริงจังแล้ว แม้ว่าการปฏิบัติจะยากลำบากเท่าใดก็ตาม เขาก็จะพยายามต่อสู้ทำ
ให้สำเร็จ
การที่พระพุทธเจ้าตรัสนิโรธไว้ก่อนหน้ามรรค ก็เพราะเหตุผลข้อนี้ด้วย คือให้ผู้ฟัง
มีความหวังและเห็นคุณค่าของนิโรธที่เป็นจุดหมายนั้นก่อน จนเกิดความสนใจกระตือรือร้น
ที่จะเป็นเรียนรู้วิธีปฏิบัติและพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติต่อไป
เมื่อพระองค์ตรัสนิโรธให้เห็นว่า เป็นภาวะควรบรรลุถึงอย่างแท้จริงแล้ว ผู้ฟังก็ตั้งใจ
ที่จะรับฟังมรรคด้วยใจมุ่งมั่นที่จะเอาไปใช้เป็นข้อปฏิบัติ และทั้งมีกำลังใจเข้มแข็งพร้อม
ที่จะลงมือปฏิบัติตามมรรค และยินดีที่จะเผชิญกับความยากลำบากในการปฏิบัติตามมรรคนั้นต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 22 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron