วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 07:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 08:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 10:58
โพสต์: 16


 ข้อมูลส่วนตัว


ผมฝึกสมาธิด้วยการบริกรรม "พุทโธ" ตามลมหายใจเข้าออก พอนั่งไปได้เกือบๆ 10 นาที จะรู้สึกว่า คำบริกรรมจะเริ่มแผ่วเบา แล้วตัวก็โงนเงนไปมาคล้ายๆ ว่าจะหลับครับ (ซึ่งบางครั้งผมคิดว่า เกือบจะหลับไปแล้วจริงๆ แต่พอมีสติก็กลับมานั่งตัวตรงใหม่) หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผมนั่งสมาธิตอนเกือบเที่ยงคืนซึ่งเป็นเวลานอนตามปกติของผม ก็เลยทำให้ร่ายกายมันง่วงไปเอง แบบนี้ควรจะแก้ไขยังไงดีครับ

และอยากจะถามด้วยครับว่า "อนัตตา" หมายถึงอะไรกันแน่ ไปอ่านหนังสือบางเล่ม เจอคำว่า "ตัวกู-ของกู" ไม่เข้าใจจริงๆ ครับว่าแปลว่าอะไร

.....................................................
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ
(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 11:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอตอบคุณ heungseong ดังนี้ครับ

ถาม : นั่งสมาธิแล้วง่วงนอน ควรจะแก้ไขอย่างไรดีครับ

ตอบ : การนั่งสมาธิแล้วง่วงนอน หรือกล่าวอย่างเป็นทางการคือ ถูกนิวรณ์ ข้อ "ถีนมิทธะ" เข้าครอบงำนั่นเอง การแก้ไข ผมแนะนำให้แก้อยู่ 2 ช่วง คือ

ช่วง 1 แก้ไขความง่วงที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ขณะที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ แล้วเกิดความโงกง่วงเข้าครอบงำ ให้แก้ไขละความง่วงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

ลำดับที่ 1 หากเรากำลังบริกรรมคำใดๆ อยู่ ในที่นี้ คือคำว่า "พุท-โธ" ให้เราบริกรรมคำเดิมนี้ให้มั่นเข้าไว้ เช่น ให้กำหนดพุทโธถี่ยิบขึ้นอีก, หรือไม่ต้องใช้หายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" แต่เป็นนึกว่าพุทโธถี่ๆ ในใจอย่าได้มีช่องว่างเว้น เป็นต้น จะทำให้ละความง่วงได้

ระดับที่ 2 ถ้ายังละไม่ได้ นำธรรมะบทใดบทหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังมาพิจารณา เช่น การพิจารณาอาการง่วงเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา, พิจารณาถึงโทษประการต่างๆ ของความง่วง, นึกบทอิติปีโสฯ ในใจ, นึกคำแผ่เมตตาในใจ เป็นต้น จะทำให้ละความง่วงได้

ระดับที่ 3 ถ้ายังละไม่ได้ นำธรรมะบทใดบทหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังมาพิจารณา หรือนำมาท่องสวดออกเสียงให้ละเอียดละออทุกซอกทุกมุม เช่น พิจารณาร่างกายประกอบไปด้วยปฏิกูล, พิจารณาอวัยวะต่างๆ ที่เห็นตามร่างกาย, แผ่เมตตา, นึกสวดอิติปิโสฯ เป็นต้น จะทำให้ละความง่วงได้

ระดับที่ 4 ถ้ายังละไม่ได้ ให้ลืมตาขึ้น ดึงใบหูของตนเองแรงๆ เอามือแหย่หู ดึงผมแรงๆ ให้ทั่วหัวแบบค้างเอาไว้ เอามือลูบตามแขนขา ลำตัว หายใจเข้าลึกๆ ถี่เร็วหลายๆ ครั้ง จะทำให้ละความง่วงได้

ระดับที่ 5 ถ้ายังละไม่ได้ ให้ลุกขึ้น ไปล้างหน้าล้างตา พักไปแป๊บหนึ่ง ไปดูนู้นนี่สักครู่ จะทำให้ละความง่วงได้

ระดับที่ 6 ถ้ายังละไม่ได้ ให้กำหนดเหมือนดั่งว่ามีแสงสว่างดั่งดวงอาทิตย์ ดั่งแสงในตอนกลางวันหาประมาณไม่ได้อยู่ในจิตใจ โดยอาจใช้คำภาวนาว่า "แสงสว่าง" มาบริกรรมควบคู่ไปด้วยอย่างถี่ยิบอย่าได้ว่างเว้น (ไม่ต้องสนใจลมหายใจ) จะทำให้ละความง่วงได้

ระดับที่ 7 ถ้ายังละไม่ได้ ให้เปลี่ยนมาเดินจงกรมควบคู่ไปกับคำบริกรรม ไม่ฟุ้งซ่านไปคิด หรือสนใจเรื่องอื่น จะทำให้ละความง่วงได้

ระดับที่ 8 ถ้ายังละไม่ได้ ให้เลิกฝึกปฏิบัติแต่เพียงแค่นั้น เปลี่ยนมานอน หลับพักผ่อนด้วยท่าสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า นึกตั้งใจมั่นว่า "จะลุกขึ้นฝึกใหม่อีกในตอนเช้า" หรือ "จะลุกขึ้นฝึกอีกในตอน XX นาฬิกา" (XX คือ เวลาที่ต้องการลุกขึ้น เช่น ตีห้า เป็นต้น) จนกว่าจะหลับไป และเมื่อถึงเวลาตื่นให้รีบตื่นขึ้นมาอย่าได้รอช้า อย่าขี้เกียจ เมื่อลุกขึ้นแล้วทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย จากนั้นจึงเริ่มฝึกสมาธิด้วยท่านั่งอีกครั้งต่อไป

ช่วงที่ 2 ป้องกันความง่วงไม่ให้เกิดขึ้นไว้ก่อน คือ การสำรวจตนเองว่าเรามีปัจจัยอะไรบ้างที่ให้เกิดความง่วงขึ้นขณะฝึกบ้าง แล้วให้ละปัจจัยต่างๆ นั้นออกเสีย หรือให้เหลือน้อยที่สุด เป็นต้นว่า

- การกินอาหาร : เป็นเหตุให้ง่วงนอน ควรไม่กินมาก หรือจะให้ดีไม่ควรตอนเย็น หากจะกินควรกินแต่น้อย หรือกินน้ำปานะ หรือกินก่อนฝึกประมาณ 4 ชั่วโมงเพราะอาหารจะย่อยเสร็จแล้วจะได้ไม่ง่วง

- การจัดสรรเวลา : การฝึกตอนดึกเกินไป ผสมกับการนอนพักผ่อนน้อยย่อมทำให้เกิดความง่วงนอนได้ ดังนั้น ควรจะดูว่าตนเองฝึกเวลาไหนจะไม่ง่วง และพักผ่อนแค่ไหนจะเพียงพอกับตนเองไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป แนะนำว่าควรจะประมาณไม่เกิน 5 - 6 ชั่วโมงก็พอสำหรับผู้ใหญ่

- การทำงานและกิจกรรม : กิจการงานต่างๆ ของเราควรจะให้เหลือเท่าที่จำเป็น กิจกรรมอะไรที่ไม่จำเป็น เช่น สังสรรค์กับเพื่อนๆ เป็นต้น หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ควรจะเลี่ยง เพราะเป็นเหตุให้มีเวลาในการฝึกน้อย และทำให้เวลาฝึกจะอ่อนเพลีย ง่วงนอนได้

ทั้งหมดนี้เมื่อผู้ปฏิบัตินำไปประยุกต์ใช้จะสามารถแก้ไข และป้องกันความง่วงได้ สรุปสิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขความง่วง คือ จะต้องมีฉันทะ-อยากทำ มีความเพียร-ไม่ยอมแพ้ สู้ตายจะไม่ยอมแพ้แก่ความง่วง ไม่ขี้เกียจ ไม่กินมาก พยายามทำจิตให้มีปีติตื่นตัวไม่หดหู่อยู่เสมอๆ ครับ

ถาม : อนัตตาแปลว่าอะไรกันแน่ ไปอ่านหนังสือบางเล่ม เจอคำว่า "ตัวกู-ของกู" ไม่เข้าใจจริงๆ ครับว่าแปลว่าอะไร

ตอบ : ตรงนี้ขอยกเอาความหมายจากลักษณะของอนัตตามาให้อ่านก่อน

อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา,ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน โดยอรรถต่างๆ

๑. เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ
๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง
๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ
๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่หรือเป็นตามธรรมดาของมัน เช่น ธรรมที่เป็นสังขตะ คือสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา;

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

การอธิบายอนัตตา หากเราจะอธิบายโดยทางทฤษฏีดูจะเป็นอะไรที่เข้าใจยาก แต่หากจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จะต้องใช้การปฏิบัติสังเกตสภาวอนัตตาตามแล้วจะกระจ่างโดยไม่ยาก ไม่ต้องเอาอะไรไกลที่ไหน ให้ลองสังเกตพิจารณาสภาวะอนัตตาตามสิ่งที่ใกล้ตัว คือ ร่างกายของคุณนี่แหละ หากใครไม่ได้ร่ำเรียนธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมจะเข้าใจว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่เข้าใจเท่านั้น ยังมีความยึดถือว่ามี ว่าเป็นตัวตนเป็นเรา(กู)อยู่ด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะร่างกายนี้แท้จริงประกอบขึ้นมาจากสิ่งต่างๆ มาประกอบรวมเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะต่างๆ น้อยใหญ่, ธาตุทั้งสี่, ขันธ์ห้า, รูปธรรม-นามธรรม แล้วสมมุติเรียกกันว่า "ตัวตน(อัตตา)" หรือ "ตัวเรา" หรือ "กู" เท่านั้น โดยแท้จริงตัวตน(อัตตา)-ตัวเรา-กูไม่ได้มีอยู่เลย

หรือเหมือนกับสิ่งของ บ้าน รถ ลาภ ยศ ตำแหน่ง สามี ลูกหลาน ฯลฯ หรือเอาใกล้ตัว คือ คอมพิวเตอร์นี่แหละ เราอาจจะไปหลงคิดว่ามีอยู่จริงๆ เป็นของเรา(ของกู) เราเป็นเจ้าของอยู่จริงๆ ก็เป็นได้ แต่หากเรามีสติพิจารณาแยกย่อยส่วนออกไปทีละอย่างให้ละเอียดที่สุด เราจะเห็นว่ามันประกอบขึ้นมาจากส่วนประกอบย่อยๆ ไปทีละชั้นเรื่อยๆ ไปย่อยจนกระทั่งเหลือเพียงธาตุที่ไม่เที่ยง ไม่คงตัว ไม่คงที่อยู่ตลอดเวลาเท่านั้น และสิ่งย่อยๆ เหล่านี้ก็ล้วนทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ทำงาน สิ่งนี้จึงทำงาน ไม่ได้เกิดจากการบังคับบัญชาโดยตรงแต่อย่างไรเลย เป็นเพียงปัจจัยทำงานสอดคล้องกัน เช่น เราไม่สามารถไปสั่งว่าให้เครื่องติดโดยที่เราไม่ได้กดปุ่ม Power (เมื่อกดปุ่ม Power แล้วจึงมีกระบวนการไฟฟ้าทำงานกับอุปกรณ์ภายในอีก), สั่งให้อ่านแผ่นซีดีโดยที่ยังไม่ได้ใส่ซีดี (เมื่อใสซีดีไปแล้วซีดีจะทำงานกับเครื่องอ่านซีดีและ CPU ต่อไป) เป็นต้น

จึงทำให้เห็นว่าแท้จริงสิ่งนั้นหาได้มีอยู่เลย มีแต่เพียงสมมุติเท่านั้น ดังนั้นไม่มีสิ่งใดเลยที่จะไปยึดงว่าเป็นวของเรา หรือมีเราเป็นเจ้าของได้ หากคนที่มองไม่เห็นอย่างนี้ หลงไปอย่างนี้ เรียกว่า "หลงสมมุติ" "ยึดติดกับสมมุติ" เมื่อหลงสมมุติ ติดกับสมมุติ ย่อมจะก่อให้เกิดทุกข์ โทมนัส เสียใจ ต่อมาได้

แต่หากหมั่นทำตามที่กล่าวมาทั้งหมด คิดว่าเป็นการเพียงพอที่จะให้เห็นว่า "อนัตตา" คืออะไร "ตัวกู ของกู" คืออะไร ผมได้อธิบายถึงลักษณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพสูญ คือ ว่างเปล่าจากสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา, สภาพที่หาเจ้าของไม่ได้ ไม่ได้เป็นของใคร, สภาพที่ทำงานสอดคล้องกัน ไม่สามารถสั่งบังคับให้เป็นไปตามใจได้, สภาพที่สิ่งต่างๆ ทำงานประสานกันอย่างเป็นธรรมดาอย่างนั้น, สภาพที่แท้จริงแย้งกับอัตตาอย่างไร

หวังว่าจะทำให้คุณเข้าใจในความหมาย พร้อมกับลักษณะของอนัตตาเพิ่มมากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ หากคุณยังไม่เข้าใจ คุณจะต้องพยายามไปสังเกตสิ่งต่างๆ ที่ได้รับรู้ในชีวิตประจำวัน อาจพิจารณาตามหลักที่ได้บอกไปจากตัวอย่างก็ได้ ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจกระจ่างชัดเจนมากขึ้นได้ครับ ที่นี้เมื่อคุณทำเนื่องๆ คุณจะเห็นไปถึงสภาพของความเป็นอนิจจตา และทุกขตาอันเป็นไปอยู่ภายในด้วยครับ หากคุณทำได้เป็นอันว่าคุณเห็นเข้าใจครบหมดแล้ว ใน "ไตรลักษณ์ " คือ อนิจจตา, ทุกขตา, อนัตตา

ขอให้เจริญในธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 14:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


พอดีเข้าไปเห็นบทความหนึ่งที่ดีเรื่อง วิธีแก้ง่วง โดย อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก เนื้อหามีดังนี้

รูปภาพ

วิธีแก้ง่วง
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


พระโมคคัลลานะตอนบวชใหม่ๆ ได้ประมาณ 7 วัน รับกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า แล้วไปฝึกสมาธิวิปัสสนาอยู่ที่ตำบลกัลวาลมุตตคาม เกิดความง่วงเหงาหาวนอนขนาดหนัก ทำอย่างไรก็ไม่หายง่วง นั่งสมาธิก็แล้ว เปลี่ยนอิริยาบถ เดินไปเดินมาก็แล้วยังง่วงบรมง่วงอยู่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าเสด็จมาพบท่าน จึงทรงแนะนำวิธีแก้ง่วงให้ท่าน

วิธีแก้ง่วงมีดังนี้

1. ถ้านึกถึงสิ่งใดเรื่องใดอยู่แล้วเกิดความง่วง ก็ให้นึกถึงสิ่งนั้นให้มากๆ (เช่น เรากำลังนึกถึงเรื่องฟุตบอล แล้วถ้าง่วง ก็ให้นึกให้ชัดๆ ไล่ไปเป็นคนๆ เลยยิ่งดี คนนี้ได้ลูกแล้วเลี้ยงเลื้อยผ่านฝ่ายตรงข้ามตั้งสามสี่คน แล้วซัดตูมเข้าโกลไปเลย ทำได้ไง นึกถึงแค่นี้ก็ตาสว่างแล้ว...ฮิฮิ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงยกตัวอย่างนี้ดอก ผมว่าเอาเอง)

2. ถ้าไม่หาย ให้ตรึกตรองพิจารณาข้อความหรือเรื่องราวที่ได้ฟังมาหรือเล่าเรียนมา (สมัยเรียนหนังสือได้ฟังเรื่องหนึ่ง ครูเล่าให้ฟัง ศรีปราชญ์เธอมีปฏิภาณดีมาก โต้ตอบกับพระสนมสนุกมาก

หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ฤดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นเดียวกัน

นึกถึงเรื่องนี้ทีไรหายง่วงทันที อยากเป็นกวีเหมือนศรีปราชญ์ให้ได้ จะได้มีปฏิภาณโต้ตอบคนมันๆ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เป็นสักที เป็นได้แค่ศรีปาด !)

3. ถ้าไม่หาย ให้ท่องข้อความหรือตำราที่อ่านอยู่นั้นดังๆ แล้วจะหายง่วง (สมัยผมเป็นเณรน้อย ท่องหนังสือดึกๆ สะลึมสะลือ ก็อุตส่าห์ระงับความง่วงแต่ไม่ค่อยสำเร็จ จึงเอาเคล็ดลับข้อนี้มาใช้ ท่องข้อความนั้นดังๆ เรียกว่าแหกปากตะโกนว่างั้นเถอะ หายง่วงเป็นปลิดทิ้ง...ฮิฮิ ไม่ต้องถึงขั้นนั้นก็ได้ ให้หาข้อความที่มันออกเสียงยากพยายามท่องเพื่อไม่ให้ผิด จะได้ผลชะงัดนัก เช่น “ดูหนูสู่รูงู งูสุดสู้หนูสู้งู ดูงูสู้หนูอยู่ รูปงูทู่หนูมูทู”

ท่องดังๆ สิครับ เดี๋ยวก็งงว่า หนูสู้งู หรืองูสู้หนู อะไรมันจะพัลวันปานนั้น มู่ทู่มูทูอย่างพิศวงงงงวยเป็นที่ยิ่ง ท่องไปๆ พยายามมีสติควบคุมไม่ให้ผิด แถมยังขำขันอีกต่างหาก ไม่หายง่วงคราวนี้จะไปหายคราวไหน

4. ถ้ายังไม่หาย คราวนี้เอาวิธีใหม่ เลิกท่อง เอานิ้วยอนหูทั้งสอง หมายถึงเอานิ้วแยงหูทั้งสองข้าง แยงไปมา ให้จักกะจี้ไปเลย หัวร่อเอิ้กอ้าก หายง่วงได้ หรือเอาฝ่ามือลูบไปตามตัว ให้ประสาทตื่นตัวไปทุกส่วน หรือทำทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

5. ถ้ายังไม่หาย แสดงว่ามันง่วงบรมง่วงจริงๆ ขนาดนิ้วแยงหูแล้วยังเฉย ใช้วิธีใหม่ คราวนี้ให้ลุกขึ้นจากที่นั่ง เอาน้ำล้างหน้าล้างตาให้เย็นสบาย ตาจะได้สว่าง แหงนดูดาวเดือนบนฟากฟ้าอันพราวระยิบระยับ ความง่วงนอนอาจหายไปได้ แต่มองดาวเดือนแล้วอย่ารำพึงกลอนทำนองว่า “จันทร์เพ็ญเด่นฟ้า ดาริกาเคียงข้าง แต่ไฉนข้าไร้นาง เคียงข้างดุจจันทร์มันวังเวง” ขืนรำพึงวังเวงปานนี้ เดี๋ยวก็ง่วงซึมหนัก (ฮา)

6. ถ้ายังไม่หาย มีวิธีต่อไปคือ ให้นึกถึง “อาโลกสัญญา” คือ นึกว่าโลกนี้ทั้งโลกสว่างจ้าไปด้วยแสงพระอาทิตย์ตั้งเจ็ดแปดดวงร้อนจ้าไปหมด เขาว่าความง่วงมันตามความมืดมา ถ้ารู้สึกว่ามืดๆ มักจะง่วง เพราะฉะนั้นให้นึกว่าโลกนี้สว่างไสวไปหมด ก็อาจหายง่วงได้

7. ถ้ายังไม่หาย ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม คือเดินกลับไปกลับมาช้าๆ มีสติกำหนดรู้เท่าทันการเคลื่อนไหว ความง่วงก็อาจหายไป

8. ทำถึงขั้นนี้แล้วยังไม่หาย ยังง่วงอยู่เหมือนเดิม คราวนี้งัดไม้เด็ดออกมาเลย รับรองว่าหายแน่นอนคือ “ให้นอนเสีย” รับรองหายเป็นปลิดทิ้ง

พระโมคคัลลานะได้สดับวิธีแก้ง่วงจากพระพุทธองค์ก็ได้ทำตาม ตำราว่าท่านสามารถระงับความง่วงได้ บรรลุพระอรหัตสำเร็จเป็นพระอรหันต์ภายใน 14 วันหลังจากบวช

ตำรามิได้แจ้งละเอียดว่าท่านทำถึงขั้นไหนจึงระงับความง่วงได้ ถึงขั้นที่ 8 เลยหรือเปล่า อันนี้ไม่ทราบ นักเรียนนักศึกษาดูหนังสือแล้วง่วง ลองนำไปปฏิบัติดูครับทำตามคำแนะนำเป็นข้อๆ บางคนอาจเพียง 3-7 ข้อ บางคนอาจถึง 7 ข้อ ก็หายง่วง

ถ้าทำถึงขั้นนั้นแล้วไม่หายแสดงว่าง่วงเต็มแก่ นอนซะเป็นดีที่สุด แล้วค่อยลุกมาดูหนังสือต่อ แต่สมัยนี้เด็กๆ อาจมีเทคนิคแก้ง่วงแตกต่างออกไปก็ได้ เห็นอยู่ได้ดึกๆ ดื่นๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์ คุณพ่อคุณแม่ว่างๆ ก็ย่องๆ ไปดูบ้าง เห็นเทคนิคแก้ง่วงของลูกหลานท่านอาจตาค้าง นอนไม่หลับไปสามสี่คืนก็ได้ (ฮา)


หนังสือข่าวสด รายวัน หน้า 29
คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง

ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=14606


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร