วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 01:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


วิมุตติมรรค
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

การรู้ทุกข์จนละสมุทัยและแจ้งนิโรธนี้แหละคือการเจริญมรรค
ผู้ใดเข้าใจอริยสัจจ์ ผู้นั้นจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ครั้งที่ 01
คุยกันก่อน

1. คุยกันก่อน

บทความเรื่องนี้เขียนขึ้น เพื่อเล่าให้เพื่อนๆ ทราบถึงวิมุตติมรรคหรือเส้นทางแห่ง ความหลุดพ้น ซึ่งเรียบง่าย รื่นรมย์ และเป็น ทางนำให้ประจักษ์ถึงนิพพานซึ่งอยู่ต่อหน้าต่อตานี้เอง เส้นทางสายนี้มีผู้พยายามแสวงหากันมามากมายแต่ไม่พบ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และพวกเราจะพบเส้นทางสายนี้ตามพระพุทธเจ้าได้โดยง่าย หากได้ศึกษาบทเรียน 3 บทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ซึ่งเมื่อดำเนินตามเพียงไม่นาน เราจะรู้สึกได้ว่านิพพานอยู่ไม่ไกลเกินหวัง

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงวิมุตติมรรค ผู้เขียนขอเชิญชวนเพื่อนผู้สนใจธรรม ให้เปลี่ยนความรู้สึกของตนเองจากการเป็น 'นักปฏิบัติ' ไปเป็น 'นักศึกษา' เสียก่อน เพราะคำว่า 'ปฏิบัติ' เป็นสิ่งที่หลอกหลอนพวกเราให้รู้สึกว่า เราจะต้องทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เหนือธรรมดา เพื่อให้ได้มาซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่เหนือธรรมดา ในขณะที่คำว่า 'ศึกษา' บอกให้เราทราบว่า สิ่งที่เราจะต้องทำคือการเรียนรู้ความจริง และสิ่งที่ได้มาก็คือองค์ความรู้ ทั้งนี้การเรียนรู้ความจริงในทางพระพุทธศาสนาก็คือการเรียนรู้ความจริงของสิ่งที่เรียกว่า 'ตัวเรา' อันได้แก่ รูปนาม/กายใจนี้เอง สำหรับวิธีเรียนรู้ความจริงก็ได้แก่การเจริญไตรสิกขาหรือการเรียนรู้ บทเรียน 3 บท อันได้แก่ ศีล จิต และปัญญา จนเกิดองค์ความรู้คือความรู้แจ้งอริยสัจจ์อันเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วยการ รู้ทุกข์ คือรู้แจ่มแจ้งในความจริงของรูปนาม/กายใจ ว่ามีลักษณะเป็นไตรลักษณ์คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ ตัวเรา เมื่อรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้วก็เป็นอันละสมุทัย หรือตัณหาอันได้แก่ความอยากที่จะให้ 'ตัวเรา' มีความสุขและพ้นทุกข์ แล้วประจักษ์แจ้งนิโรธหรือนิพพานในฉับพลัน การรู้ทุกข์จนละสมุทัยและแจ้งนิโรธนี้แหละคือการเจริญมรรค

พึงทราบไว้เลยว่า ผู้ใดเข้าใจอริยสัจจ์ ผู้นั้นจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

2. ว่าด้วยบทเรียนทั้ง 3

ความรู้แจ้งอริยสัจจ์หรือวิชชาหรือสัมมาทิฐิ ได้มาด้วยการศึกษาบทเรียนสำคัญ 3 บทหรือไตรสิกขา ประกอบด้วยศีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา ซึ่งโดยทั่วไปมักจะพูดกันติดปากว่าเป็นการศึกษาเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา แต่ถ้าจะพูดให้ถูกก็น่าจะกล่าวว่าเป็นการศึกษาเรื่องศีล จิต และปัญญา

ศีลสิกขา เป็นไปเพื่อให้จิตอยู่ในสภาพ เป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำ พร้อมที่จะเรียนรู้จิตในขั้นต่อไป

จิตสิกขา เป็นไปเพื่อให้จิตพร้อมที่จะเจริญปัญญาในขั้นการเรียนรู้อริยสัจจ์ ซึ่งจิต จะต้องเป็นมหากุศลจิต ประกอบด้วยความสามารถที่จะหยั่งรู้ความจริงของสภาวธรรม และเกิดขึ้นเองเพราะจิตรู้จักและจดจำสภาวธรรม (รูปนาม/กายใจ) ได้แม่นยำ จิตชนิดนี้จะปราศจากนิวรณ์อันเป็นกิเลสชั้นกลาง มีความตั้งมั่น อ่อนเบา คล่องแคล่ว และซื่อตรงในการรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง

ปัญญาสิกขา เป็นไปเพื่อให้จิตเกิดความรู้แจ้งในอริยสัจจ์ อันเป็นเครื่องละกิเลสชั้นละเอียด คือสังโยชน์รวมทั้งอวิชชา ซึ่งจิตจะรู้แจ้งอริยสัจจ์ได้ก็ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ความเป็นจริงของทุกข์หรือรูปนาม/กายใจ จนจิตทำลายความยึดถือรูปนามลงได้แล้ว จิตจึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากอาสวกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้อย่างถาวร อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

มีข้อน่าสังเกตว่า (1) บทเรียนทั้ง 3 นี้เป็นเรื่องของการให้การเรียนรู้กับจิตทั้งสิ้น คือ 2 บทเรียนแรกเป็นการเตรียมความพร้อมของจิตเพื่อการเจริญปัญญา และบทเรียนสุดท้ายเป็นการให้การเรียนรู้กับจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและหลุดพ้นจากกองทุกข์กองกิเลสในที่สุด (2) บทเรียนทั้ง 3 เป็นเครื่องยับยั้ง ข่ม และประหารกิเลสอย่างหยาบ กลาง และละเอียดไปตามลำดับ และ (3) บทเรียนทั้ง 3 นี้แม้จะแตกต่างกัน แต่หัวใจของการเรียนกลับเป็นสิ่งเดียวกัน คือถ้ามีสติเนืองๆ จิตจึงจะเรียนรู้และสอบผ่านบทเรียนทั้ง 3 นี้ได้ แต่หากขาดสติเสียอย่างเดียว จิตจะสอบผ่านบทเรียนเหล่านี้ไม่ได้เลย


ครั้งที่ 002. ศีลสิกขา

3. ศีลสิกขา

3.1 วัตถุประสงค์ของการศึกษาเรื่องศีล เพื่อให้กายวาจาสงบเรียบร้อย อันจะเป“น พื้นฐานให้จิตเกิดสัมมาสมาธิในลำดับต่อไป

3.2 ชนิดของศีล ศีลมีหลายระดับ แต่หากจะจำแนกง่ายๆ ก็อาจจะแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ (1) ศีลในระดับจริยธรรม (2) ศีลเพื่อการปฏิบัติธรรม และ (3) ศีลของพระอริยบุคคล

3.2.1 ศีลในระดับจริยธรรม ได้แก่การงดเว้นการทำบาปอกุศลทางกายและวาจา เช่นศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 เป็นต้น ศีลชนิดนี้เกิดจากเจตนามั่นที่จะงดเว้นการทำความชั่วหยาบทางกายและวาจา ผู้มีศีลเหล่านี้จะสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข และตัดเครื่องรบกวนจิตใจให้ฟุ้งซ่าน ลงได้ ศีลระดับนี้จำเป็นมากสำหรับนักปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุดผู้ปฏิบัติจะต้องตั้งใจงดเว้น การทำบาปอกุศล 5 ประการคือการฆ่าและทำร้ายคนและสัตว์ทั้งหลาย การเบียดเบียนประทุษร้ายทรัพย์สินของผู้อื่น การเบียดเบียน ประทุษร้ายของรักของหวง เช่น บุตรภรรยา ของผู้อื่น การกล่าวเท็จ กล่าวส่อเสียด กล่าวคำหยาบและกล่าวเพ้อเจ้อ และการเสพสิ่งเสพติดอันเป็นเครื่องส่งเสริมความประมาทขาดสติของตน

3.2.2 ศีลเพื่อการปฏิบัติธรรม ได้แก่ อินทรียสังวรศีล เป“นศีลที่พัฒนาไปจากศีลใน เชิงจริยธรรมอีกชั้นหนึ่ง เกิดจากการมีสติคุ้มครองรักษาจิตไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำเมื่อมี การกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เช่น เมื่อเห็นคนอื่นทำกระเป๋าสตางค์ ตก จิตเกิดความอยากได้ก็มีสติรู้ทันความอยากได้ของตน ความอยากนั้นจะครอบงำจิตไม่ได้ จิตจะเกิดความสงบตั้งมั่นเป็นปกติ อยู่ และเรียกเจ้าของใหญ่หยิบกระเป๋ากลับไปได้อย่างมีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือเมื่อถูกคนด่าว่า จิตเกิดความโกรธก็มีสติรู้ทันความโกรธที่เกิดขึ้น ความโกรธนั้นจะครอบงำจิตไม่ได้ จิตจะเกิดความสงบตั้งมั่นเป็นปกติอยู่ ไม่มีเรื่องต้องทะเลาะวิวาทด่าทอหรือทำร้ายกัน เป็นต้น

อินทรียสังวรศีลนี้เป็นเครื่องมือฝึกสติได้เป็นอย่างดี นอกจากจะเป็นศีลแล้ว ยังเกื้อกูลต่อการเจริญวิปสสนาด้วยการดูจิตในชีวิตประจำวันด้วย จึงเป“นสิ่งที่เพื่อนนักปฏิบัติควรฝึกให้มีขึ้นในชีวิตประจำวันให้ได้

3.2.3 ศีลของพระอริยบุคคล เป็นศีลที่พัฒนาไปจากอินทรียสังวรศีลอีกชั้นหนึ่ง เป็นศีลอัตโนมัติที่ไม่ต้องจงใจรักษา เพราะพระอริยบุคคลตั้งแต่ระดับพระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอนาคามีจะไม่กังวลสนใจคอยนับศีลเป็นข้อๆ แต่จะมีธรรม มีสติ สัมมาสมาธิ และปัญญาเป็นเครื่องรักษาจิตให้เป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสหยาบๆ ครอบงำจนถึงขั้นการทำผิดศีลในเชิงจริยธรรมได้ ส่วนพระอรหันต์ นั้นจิตปราศจากอาสวกิเลสห่อหุ้ม จึงไม่มีทาง ที่จะเกิดกิเลสย่อมจิตได้อีก ดังนั้นจึงไม่ จำเป็นต้องมีธรรมใดเป็นเครื่องรักษาจิตจากกิเลสอีกต่อไป

3.3 วิธีมีศีล คนทั่วไปรักษาศีลด้วยการ ข่มใจไม่ให้ทำชั่ว แต่นักปฏิบัติควรรักษาศีลด้วยสติปัญญา คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายกระทบสัมผัส หรือใจรู้ธัมมารมณ์ต่างๆ หากจิตเกิดความยินดีพอใจก็รู้ทัน หากจิตเกิดความยินร้ายไม่พอใจก็รู้ทัน และหากจิตเฉยอยู่ก็รู้ทัน การรู้ทัน นี้แหละเป็นงานของสติ เมื่อรู้ทันแล้วอกุศลที่ยังไม่เกิดจะไม่เกิด อกุศลที่เกิดอยู่แล้วจะดับไป กุศลที่ยังไม่เกิดจะเกิด กุศลที่เกิดแล้วก็จะเกิดง่ายยิ่งขึ้น และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากความรู้ทันสภาวธรรมที่เกิดขึ้นนั้น จะประกอบไปด้วยความรู้จริงหรือความเข้าใจด้วย คือรู้ว่าความยินดีพอใจหรือความยินร้ายไมพอใจตลอดจนความเฉยๆ นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงหรือเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเป็นคราวๆ ห้ามก็ไม่ได้ บังคับก็ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ชั่วขณะก็ดับไป การรู้ความจริงนี้แหละเป็นงาน ของปัญญา

3.4 ผลของการศึกษาเรื่องศีล มีหลายประการที่สำคัญคือ (1) สามารถดำรงชีวิต อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม (2) ทำให้จิตใจเป็นปกติไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำ และพร้อมที่จะพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาสมาธิและปัญญาต่อไป (3) เป็นการฝ–กหัดการเจริญ วิปัสสนาไปในตัว และ (4) ทำให้จิตใจเข้มแข็ง ขึ้นและอนุสัยกิเลสจะค่อยๆ อ่อนกำลังลงเพราะกิเลสชั่วหยาบไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นต้น สรุปแล้วการรักษาศีลด้วยการข่มใจ ทำให้จิตสงบจากกิเลสชั่วคราว แต่การรักษาศีลด้วยสติปัญญาเป็นการเจริญ วิปัสสนาไปในตัว จะทำให้จิตพ้นกิเลสถาวรในอนาคตได้


ครั้งที่ 04. วิรตีเจตสิก

4.3.2 สิ่งดีงามที่เป็นเครื่องงดเว้นการทำบาปทางกายและวาจา (วิรตีเจตสิก) เป็นสิ่งดีงาม 3 อย่างที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลบางดวง ได้แก่ (1) สัมมาวาจา คือการงดเว้น ความทุจริตทางคำพูด 4 ประการ ได้แก่ การงดเว้นการพูดเท็จ การงดเว้นการพูดส่อเสียด ให้เขาแตกแยกกัน การงดเว้นการพูดคำหยาบ และการงดเว้นการพูดเพ้อเจ้อ (2) สัมมากัมมันตะ คือการงดเว้นความทุจริตทางกาย 3 ประการ ได้แก่ การงดเว้นการฆ่า และทำร้ายคนและสัตว์ทั้งหลาย การงดเว้นการล่วงละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น และการงดเว้นการประพฤติผิดในกาม และ (3) สัมมาอาชีวะ คือการงดเว้นการประกอบอาชีพที่ทุจริตซึ่งต้องล่วงละเมิดสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะ

4.3.3 สิ่งดีงามที่แผ่ไปถึงสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่มีประมาณ (อัปปมัญญาเจตสิก) ได้แก่สิ่งดีงามที่แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่มีประมาณ มีทั้งหมด 4 อย่างได้แก่ (1) เมตตา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข (2) กรุณา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ (3) มุทิตา คือความยินดีด้วยที่ผู้อื่นมีความสุข และ (4) อุเบกขา คือความ วางใจเป็นกลางเมื่อผู้อื่นประสบความทุกข์ และไม่สามารถช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตาม ในตำราพระอภิธรรมจัดสิ่งดีงามที่เป็น อัปปมัญญาเจตสิกไว้เพียง 2 อย่างคือกรุณา และมุทิตา เพราะเมตตาก็คืออโทสะ และอุเบกขาก็คือตัตรมัชฌัตตตาหรือความเป็น กลางของจิตต่อสภาวธรรมต่างๆ ด้วยปัญญา ซึ่งกล่าวไว้แล้วในหัวข้อสิ่งดีงามที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลทุกดวง

4.3.4 ความเข้าใจความเป็นจริงในอริยสัจจ์ 4 (ปัญญินทรียเจตสิก) หรือ อโมหะหรือตัวปัญญาที่รู้ความเป็นจริงในอริยสัจจ์ 4 ได้แก่ (1) ความรู้ทุกข์ คือความรู้ว่ารูปนาม/ขันธ์ 5/กายใจเป็นตัวทุกข์และเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ และรู้ว่ากิจต่อทุกข์ ก็คือการรู้ให้ตรงความจริงว่ารูปนามมีลักษณะเป็น ไตรลักษณ์ (2) ความรู้สมุทัย คือรู้ว่าตัณหาหรือความดิ้นรนทะยานอยากของจิตเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และรู้ว่ากิจต่อสมุทัยคือการละเสีย (3) ความรู้นิโรธ คือรู้ถึงสภาวะแห่งความดับสนิทของตัณหาและทุกข์ และรู้ว่ากิจต่อนิโรธคือการเข้าไปเห็นแจ้ง และ (4) ความรู้มรรค คือรู้ถึงมรรคมีองค์ 8 ประการ และรู้ว่ากิจต่อมรรค คือการเจริญหรือทำให้มาก ซึ่งได้แก่การเจริญ สติปัฏฐาน 4 ให้ถูกต้องตามหลักของวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง


ผู้ปฏิบัติควรทำความรู้จักลักษณะของจิต
ที่เป็นกุศลและอกุศลให้ดี
มิฉะนั้นจะไปหลงสร้างอกุศลจิต
ทั้งที่คิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่

ครั้งที่ 06.ข้อสรุป

4.5 ข้อสรุป สรุปแล้วผู้ปฏิบัติควรทำความรู้จักลักษณะของจิตที่เป็นกุศลและอกุศลให้ดี มิฉะนั้นจะไปหลงสร้างอกุศลจิตทั้งที่คิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ ตัวอย่างเช่น (1) หากกำหนดอารมณ์กรรมฐาน อันใดอันหนึ่งแล้ว จิตเกิดความหนัก แน่น แข็ง ซึมทื่อ แสดงว่าจิตในขณะนั้นเป็นอกุศล แน่นอน (2) หากจิตคิดเรื่องที่ไม่ดีก็เป็นอกุศล แน่นอน (3) หากจิตคิดในเรื่องที่ดีงาม เช่น คิดอยากช่วยเหลือผู้อื่น คิดบริกรรมพุทโธ คิดบริกรรมพองหนอยุบหนอ คิดถึงพระรัตนตรัย คิดถึงร่างกายว่าเป็นปฏิกูล/อสุภะ คิดถึงลมหายใจเข้าออก คิดพิจารณา ธรรมว่าตัวเราไม่มี มีแต่รูปนามที่ไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ และเป็นอนัตตา จิตขณะนั้นก็เป็นกุศล ธรรมดาๆ ยังไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน และ (4) หากจิตเกิดระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏได้ตรงตามเป็นจริง โดยไม่ได้เจตนาจะระลึก จิตจะมีความเบา อ่อน ควรแก่การงาน ว่องไว ซื่อตรง รู้ ตื่น เบิกบาน สงบ สะอาด สว่าง จิตในขณะนั้นก็เป็นจิตที่ เป็นกุศลในขั้นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ในข้อ 4.6)

4.6 ลักษณะของจิตที่ควรเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เราได้พูดกันแล้วถึงลักษณะของจิตที่เป็นกุศลและอกุศล ต่อไปนี้ควรรู้จักลักษณะของจิตที่ควรใช้เจริญสมถกรรมฐานและจิตที่ควรใช้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะหากเราใช้จิต ที่ควรเจริญสมถกรรมฐานไปเจริญวิปัสสนากรรมฐาน งานเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็จะไม่ประสบผลสำเร็จดังที่มุ่งหวังไว้ ในหัวข้อนี้มีเรื่องที่ควรศึกษาทำความเข้าใจดังนี้

4.6.1 จิตที่มีคุณภาพ ในทางพระอภิธรรม ถือว่าจิตที่จะใช้เจริญสมถะ และวิปัสสนาจะต้องเป็นมหากุศลจิตญาณสัมปยุตคือประกอบด้วยปัญญา ซึ่งมีอยู่ 4 ดวง คือ (1) จิตที่มีโสมนัสคือความสุขใจ ประกอบด้วยปัญญา และเกิดเองโดยไม่ต้องโน้มน้าวชักจูงให้เกิด (อสังขาริก) (2) จิตที่มีโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา แต่เกิดขึ้นด้วยการโน้มน้าวชักจูงให้เกิด (สสังขาริก) (3) จิตที่มีอุเบกขาคือความรู้สึกเป็นกลางไม่สุขไม่ทุกข์ ประกอบด้วยปัญญา และเป็นอสังขาริก (4) จิตที่มีอุเบกขา ประกอบด้วยปัญญา แต่เป็นสสังขาริก

4.6.2 ความแตกต่างในการทำสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน แม้ในภาคพระปริยัติธรรมจะถือว่าจิตที่ใช้เจริญสมถะ และวิปัสสนาเป็นจิตประเภทเดียวกัน แต่ก็ระบุความต่างขององค์ประกอบอย่างอื่นไว้ คือ (1) อารมณ์ของสมถะใช้อารมณ์บัญญัติ ส่วนอารมณ์ของวิปัสสนาใช้อารมณ์ปรมัตถ์ และ (2) การทำสมถะใช้การเพ่งหรือการดูตัว อารมณ์เรียกว่าอารัมณูปนิชฌาน ส่วนการทำ วิปัสสนาใช้การรู้ลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน


ผู้เขียนเห็นว่าในการเจริญสมถะและวิปัสสนานั้น
สติ สมาธิ และปัญญาจะทำงานแตกต่างกัน
เป็นเหตุให้เกิดการเพ่งอารมณ์ในการทำสมถกรรมฐาน
และเกิดการรู้ลักษณะของอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ครั้งที่ 07.
ความเห็นของผู้เขียน

4.6.3 ความเห็นของผู้เขียน ผู้เขียนเห็นด้วยกับพระปริยัติธรรม อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าพระปริยัติธรรมเปรียบเหมือนแผนที่ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่พบเห็นจากการปฏิบัติ ซึ่งขอฝากไว้ให้เพื่อนนักปฏิบัติพิจารณาอีกบางประการ ดังนี้คือ

4.6.3.1 จิต ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้
(1) จิตที่จะใช้เจริญวิปัสสนาจะต้องเป็น มหากุศลจิต ซึ่งมีองค์ประกอบครบถ้วนตาม ข้อ 4.3.1 ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ ก็คือ หากปฏิบัติวิปัสสนาแล้วจิตเกิดความหนักแน่น แข็ง ซึม ทื่อ หรือพยายามเข้าไปแทรกแซงอารมณ์ นั่นแสดงว่าจิตดวงนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่สมควรแก่การเจริญวิปัสสนาเสียแล้ว

(2) จิตที่จะใช้เจริญวิปัสสนาได้จริงจะต้องมีกำลังมาก ซึ่งสติจะต้องเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องโน้มน้าวชักจูงให้เกิด (อสังขาริก) และเหตุให้เกิดสติก็คือถิรสัญญาหรือการที่จิตจดจำสภาวธรรมคือรูปนามได้แม่นยำ ไม่ใช่เกิดจากการกำหนด เพ่งจ้อง หรือบังคับให้เกิด ส่วนจิตที่ใช้ทำสมถกรรมฐานนั้นเกิดขึ้นด้วยการโน้มน้าวชักจูงให้เกิด (สสังขาริก) เพราะการทำสมถกรรมฐานต้องมีความจงใจ กำหนด เพ่งจ้อง ประคองจิตไว้ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง

4.6.3.2 อารมณ์ ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้
(1) อารมณ์ของสมถกรรมฐานกว้างขวางมาก จะเป็นอารมณ์อะไรก็ได้นับตั้งแต่ (ก) อารมณ์บัญญัติ เช่น การบริกรรมพุทโธ บริกรรมพองยุบ การพิจารณาคุณของพระพุทธเจ้า การพิจารณาคุณของพระธรรม การพิจารณาคุณของพระสงฆ์ การพิจารณาทานและศีลที่ได้กระทำแล้วด้วยดี การพิจารณากายให้เป็นปฏิกูลและอสุภกรรมฐาน เป็นต้น (ข) อารมณ์รูปนาม การมีสติระลึกรู้อารมณ์รูปนามนั้น หากไม่ประกอบด้วยปัญญาเห็นไตรลักษณ์ก็ยังเป็นเพียงการเพ่งอารมณ์หรือการทำสมถกรรมฐาน ดังนั้นผู้ปฏิบัติไม่ควรประมาทว่าเมื่อตนรู้อารมณ์ รูปนามอยู่จะต้องเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเสมอไป และ (ค)อารมณ์นิพพาน ใช้เจริญสมถกรรมฐานได้ในขั้นการเจริญสัญญาเวทยิตนิโรธหรือนิโรธสมาบัติของพระอนาคามี และพระอรหันต์ที่ชำนาญในอรูปฌาน

(2) อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานมีจำกัด คือใช้ได้เฉพาะ อารมณ์รูปนาม เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อถอดถอนความเป็นผิด และความยึดถือรูปนามว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั่นเอง จะใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ไม่ได้เพราะบัญญัติไม่ใช่ของจริง และจะใช้นิพพาน เป็นอารมณ์ไม่ได้เพราะนิพพานไม่ใช่อารมณ์ ที่เกิดเนืองๆ และไม่ใช่รูปนาม/กายใจของตน

4.6.3.3 การเพ่งและการรู้ลักษณะของอารมณ์ ผู้เขียนเห็นว่าในการเจริญสมถะและวิปัสสนานั้น สติ สมาธิ และปัญญาจะทำงานแตกต่างกัน เป็นเหตุให้เกิดการเพ่งอารมณ์ในการทำสมถกรรมฐาน และเกิดการรู้ลักษณะของอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยจะขอให้ข้อสังเกตเทียบเคียงกัน 3 ประการ ดังนี้คือ สติ สมาธิ และ ปัญญา


ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
สติจะระลึกรู้อารมณ์รูปนามที่กำลังปรากฏ
อย่างสักว่ารู้ เป็นการรู้ขึ้นมาเอง
มีสมาธิตั้งมั่นรู้อย่างคนวงนอก
และระลึกรู้ด้วยปัญญาเข้าใจไตรลักษณ์

ครั้งที่ 08.
ลักษณะของอารมณ์
ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

4.6.3.3.1 สติ

(1) สติในการทำสมถกรรมฐานนั้น จะต้องเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง โดยน้อมใจ หรือกำหนด หรือเพ่ง ให้จิตเคลื่อนไปจับแนบเข้ากับตัวอารมณ์อย่างสบายๆ โดยอารมณ์นั้นต้องถูกกับจริตคือรู้แล้วสบาย หากรู้แล้วเครียดแสดงว่าไม่ถูกกับจริตและจิตจะไม่สงบ เมื่อจิตรู้อารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องและสบายแล้ว จิตจะสงบได้เอง

(2) สติในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน นั้น จะต้องเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์รูปนามที่กำลังปรากฏอย่างสักว่ารู้ คือรู้อย่างคนวงนอกเหมือนคนที่ดูฟุตบอลอยู่ข้างสนาม หรือดูละครอยู่หน้าเวที และการระลึกรู้นั้น เป็นการรู้ขึ้นมาเอง (อสังขาริก) โดยไม่ได้จงใจจะรู้หรือพยายามจะรู้ การที่สติระลึกรู้ขึ้น มาได้เองก็เพราะจิตจดจำสภาวะของรูปนาม นั้นๆ ได้ การระลึกรู้ไม่ได้เกิดจากการเพ่งจ้อง หรือกำหนดรู้เหมือนเมื่อทำสมถกรรมฐาน

4.6.3.3.2 สมาธิ

(1) สมาธิในการทำสมถกรรมฐานนั้น เป็นสภาวะความตั้งมั่นของจิตอยู่ในตัวอารมณ์ จิตจะเกาะเกี่ยว แนบแน่น จมแช่ไม่คลาดเคลื่อนไปจากตัวอารมณ์อันเดียวนั้น เช่น เมื่อรู้ลมหายใจ จิตก็เกาะอยู่กับลมหายใจ เมื่อรู้ท้องพองยุบ จิตก็เกาะอยู่กับท้อง เมื่อรู้มือหรือรู้เท้า จิตก็เกาะอยู่กับมือหรือเท้า เมื่อรู้เวทนา จิตก็เกาะอยู่กับเวทนา เมื่อรู้จิต จิตก็เกาะอยู่กับความว่างของจิต และเมื่อบริกรรม จิตก็เกาะอยู่กับคำบริกรรม เป็นต้น

(2) สมาธิในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นสภาวะความตั้งมั่นของจิต ในระหว่างที่รู้อารมณ์รูปนาม จิตกับอารมณ์ จะต่างกันต่างอยู่ แยกออกจากกัน เหมือนมี ช่องว่างระหว่างกัน จิตเหมือนคนดูละครอยู่นอกเวที หรือดูฟุตบอลอยู่ข้างสนาม หรือดูสิ่งที่ลอยไหลตามสายน้ำอยู่บนตลิ่ง โดยจิตจะมีสติสักว่ารู้อารมณ์รูปนาม และมีปัญญาเห็นลักษณะของอารมณ์รูปนามที่กำลังปรากฏนั้น คือเมื่อรู้รูปก็เห็นรูปเป็นสักว่ารูป และมีจิตเป็นผู้รู้รูปอยู่ต่างหากจากรูป เมื่อรู้เวทนาก็เห็นเวทนาเป็นสักว่าเวทนา และมีจิตเป็นผู้รู้เวทนาอยู่ต่างหากจากเวทนา เมื่อรู้จิตก็เห็นจิตเป็นสักว่าจิต และมีจิตอีกดวงหนึ่งเป็นผู้รู้จิตดวงก่อนที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ และเมื่อรู้สภาวธรรมใดๆ ก็เห็นเป็นสักว่าสภาวธรรม และมีจิตเป็นผู้รู้สภาวธรรม อยู่ต่างหากจากสภาวธรรมนั้นๆ

4.6.3.3.3 ปัญญา

(1) ปัญญาในการทำสมถกรรมฐานนั้น มีลักษณะสำคัญคือ (ก) เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นด้วยการคิดหรือเจือด้วยความคิดหรือจินตามยปัญญา และถึงแม้สิ่งที่คิดนั้นจะเป็นความจริง แต่ก็เป็นความจริงที่เจือด้วยสมมติบัญญัติ เช่น พระพุทธเจ้ามีคุณจริง แต่เรามีปัญญารู้คุณของพระพุทธเจ้าได้ด้วยการ คิดพิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งเมื่อไตร่ตรองแล้วจิตก็เข้าถึงความสงบสุข ร่างกายเป็นปฏิกูล/อสุภะจริง แต่เรามีปัญญารู้ได้เป็นครั้งคราวด้วยการคิดพิจารณาไตร่ตรองกาย ซึ่งเมื่อไตร่ตรองแล้วจิตก็เข้าถึงความสงบสุข ความตายมีจริง แต่เรามีปัญญารู้ได้เป็นครั้งคราวด้วยการคิดพิจารณาไตร่ตรองถึงชีวิตของตนเองและสัตว์อื่น ซึ่งเมื่อไตร่ตรองแล้วจิตก็เข้าถึงความสงบสุข และกายนี้ใจนี้เป็นไตรลักษณ์จริง แต่เรามีปัญญา (ปัญญาชนิดนี้ชื่อสัมมสนญาณ) รู้ได้ด้วยการคิดพิจารณารูปนามในอดีตกับปัจจุบันว่าแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อไตร่ตรองแล้วจิตก็เข้าถึงความ สงบสุข เป็นต้น และ (ข) เป็นปัญญาที่จิตฉลาดรอบรู้ในอุบายวิธีที่จะข่มนิวรณ์ อันเป็น ศัตรูของความสงบจิตได้ เช่น เมื่อจิตเกิดกามฉันทะก็ฉลาดที่จะเจริญอสุภกรรมฐานเพื่อข่มกามฉันทะให้สงบลงชั่วคราว เมื่อจิตเกิดพยาบาทก็ฉลาดที่จะเจริญเมตตาเพื่อข่มพยาบาทให้สงบลงชั่วคราว และเมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ฉลาดที่จะเจริญอานาปานสติเพื่อข่มความฟุ้งซ่านให้สงบลงชั่วคราว เป็นต้น

(2) ปัญญาในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีลักษณะสำคัญคือ (ก) เป็นปัญญาที่เกิดจากการรู้ หรือ การเจริญสติ หรือ ภาวนามยปัญญา ซึ่งไม่เจือด้วยความ คิด คือเกิดจากการเจริญสติระลึกรู้สภาวธรรม คือรูปนามที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบันอยู่เนืองๆ โดยในขณะนั้นจิตมี สัมมาสมาธิ (คือความตั้งมั่นของจิตที่สักว่ารู้อารมณ์รูปนาม) เป็นเครื่องสนับสนุน และ (ข) เป็นปัญญาที่จิตเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม/กายใจว่ามีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ จนจิตเป็นกลางต่อรูปนาม และปล่อยวางรูปนามแล้วประจักษ์ถึงนิพพานได้ในที่สุด


อกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกดวง
ที่น่าจะทำความรู้จักให้ดีก็คือ โมหะ
อันมีลักษณะเป็นการไม่รู้ความจริงของอารมณ์
หากจิตหลงจากอารมณ์รูปนามไปสู่อารมณ์บัญญัติ
หรือเรื่องราวที่คิดแล้ว ก็จัดว่าหลงทั้งสิ้น

ครั้งที่ 05.
ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล
4.4 ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล จิตอกุศลต้องประกอบด้วยความชั่วหรือองค์ธรรมฝ่ายชั่วหรืออกุศลเจตสิกซึ่งมีอยู่ 14 อย่าง/ดวง จำแนกออกได้เป็น 5 ประเภทคือ

4.4.1 กลุ่มโมหะ สามารถเกิดร่วมกับอกุศลจิตได้ทั้ง 12 ดวง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัพพากุสลสาธารณเจตสิก มีทั้งหมด 4 อย่างหรือ 4 ดวง ได้แก่ (1) โมหะ คือความหลงหรือธรรมชาติที่ปิดบังความจริงของอารมณ์ ทำให้จิตไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ตรงตามความเป็นจริง (2) อหิริกะ คือธรรมชาติที่ไม่ละอายต่อการทำผิดทางกายวาจาใจ (3) อโนตตัปปะ คือธรรมชาติที่ไม่กลัวเกรงต่อผลของบาป และ (4) อุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่านหรือธรรมชาติที่จับอารมณ์ไม่มั่น อนึ่งการที่เจตสิกกลุ่มโมหะนี้มี 4 ดวงจึงมีชื่อเรียกกลุ่มว่า โมจตุกกเจตสิก

4.4.2 กลุ่มโลภะ สามารถเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิตได้ทั้ง 8 ดวง ธรรมฝ่ายชั่วกลุ่มนี้มี 3 อย่างหรือ 3 ดวงได้แก่ (1) โลภะ คือความอยากได้ยินดีติดใจ ในอารมณ์ต่างๆ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ (2) ทิฏฐิ คือธรรมชาติที่เห็นผิด และ (3) มานะ คือความอวดดื้อถือตัว อนึ่ง การที่เจตสิกกลุ่มโลภะนี้มี 4 ดวงจึงมีชื่อเรียกกลุ่มว่า โลติกเจตสิก

4.4.3 กลุ่มโทสะ สามารถเกิดร่วมกับโทสมูลจิต 2 ดวง มี 4 อย่าง/ดวง ได้แก่ (1) โทสะ คือธรรมชาติที่ประทุษร้ายหรือความโกรธ (2) อิสสา คือธรรมชาติที่ไม่พอใจในคุณสมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่นหรือความอิจฉา (3) มัจฉริยะ คือธรรมชาติที่หวงแหนในสมบัติ และคุณความดีของตนหรือความตระหนี่ และ (4) กุกกุจจะ คือธรรมชาติที่รำคาญใจในความชั่วที่ได้ทำแล้วและรำคาญใจหรือร้อนใจที่ยังไม่ได้ทำความดี อนึ่งการที่เจตสิกกลุ่มโทสะนี้มี 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกกลุ่มว่า โทจตุกกเจตสิก

4.4.4 กลุ่มถีนมิทธะ เป็นเจตสิกที่ประกอบหรือเกิดร่วมกับจิตฝ่ายอกุศล 5 ดวงที่เป็นสสังขาริกหรือจิตเกิดขึ้นได้ด้วยการมีสิ่งกระตุ้นชักชวนโน้มนำให้เกิดขึ้น (ประกอบด้วยโลภมูลจิต 4 ดวงกับโทสมูลจิต 1 ดวง ซึ่งรายละเอียดจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะจะทำให้บทความนี้ซับซ้อนเกินไปจนยากสำหรับนักปฏิบัติที่ไม่เคยศึกษาพระอภิธรรม) เจตสิกกลุ่มนี้มี 2 อย่าง/ดวงได้แก่ (1) ถีนะ คือธรรมชาติที่ทำจิตให้หดหู่ท้อถอยหรือความท้อแท้ และ (2) มิทธะ คือธรรมชาติที่ทำให้จิตซึมเซาหรือความเกียจคร้านที่จะรู้อารมณ์ อนึ่งการที่เจตสิกกลุ่มนี้มี 2 ดวงจึงมีชื่อเรียกกลุ่มว่า ถีทุกเจตสิก

4.4.5 วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในอารมณ์ เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉาเท่านั้น ความสงสัยในที่นี้หมายถึงความลังเลสงสัยที่เป็นอกุศล คือความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ความสงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และความสงสัยในปฏิจจสมุปบาท ส่วนความสงสัยอื่น เช่น ความสงสัยทางวิชาการหรือสงสัยในชื่อถนน เป็นต้น ไม่จัดเป็นวิจิกิจฉาที่เป็นอกุศล แต่จัดเป็นวิจิกิจฉาเทียมหรือปฏิรูปกวิจิกิจฉา

หากจิตของผู้ปฏิบัติประกอบด้วยเจตสิกเหล่านี้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง ก็จัดเป็นอกุศลจิตแล้ว และอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกดวงที่น่าจะทำความรู้จักให้ดีก็คือ โมหะ อันมีลักษณะเป็นการไม่รู้ความจริงของอารมณ์ โดยเฉพาะผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากจิตหลงจากอารมณ์รูปนามไปสู่อารมณ์บัญญัติหรือเรื่องราวที่คิดแล้ว ก็จัดว่าหลงทั้งสิ้น พวกเราจึงควรทำความรู้จักกับ การหลงคิด ให้ดี เพราะเป็นศัตรูที่เกิดบ่อยที่สุดสำหรับ ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จริงอยู่การหลงคิดอาจจะนำไปสู่การคิดถึงเรื่องราวที่เป็นกุศลก็ได้ แต่กุศลนั้นจะเป็นเพียงโลกียกุศล หรืออย่างดีที่สุดก็เป็นเพียงการเจริญสมถกรรมฐาน ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งต้องมีสติระลึกรู้อารมณ์รูปนามตามความเป็นจริง คำว่า 'รู้รูปนามตามความเป็นจริง' นี่แหละคืออโมหะหรือปัญญา

ที่มา http://board.agalico.com/showthread.php?t=21958


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร