วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 13:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2021, 20:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b47: :b50: :b47: เพียรสอดส่องมองย้อน
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒


รูปภาพ

ต่อไปนี้พึงพากันตั้งใจให้ดี สำรวมใจของตนให้แน่วแน่ อย่าส่งใจไปทางอื่น
เพราะการส่งใจไปนอก มันทำให้ใจฟุ้งซ่าน สงบลงไม่ได้
ต้องทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน
คือว่าทวนความคิดความนึกนั่นเข้ามาภายใน ไม่ส่งจิตคิดออกไป
อันนี้เป็นบทบาทเบื้องต้นแห่งการภาวนา
ถ้าว่าใครทวนกระแสเข้ามาภายในนี้ไม่ได้แล้วก็ภาวนาไม่เป็น จิตสงบลงไม่ได้
เพราะฉะนั้นต้องน้อมสติระลึกเข้าไป ตามลมหายใจเข้าออก
จิตนี้จึงจะหยุดคิดลงได้ ไม่เช่นนั้นหยุดไม่ได้
เพราะว่าจิตนี้มันต้องอาศัยสติเป็นเครื่องประคับประคอง มันจึงหยุดนิ่งอยู่ได้
ถ้าไม่มีสติกำกับแล้ว มีแต่มันคิดเรื่อยเปื่อยไปในเรื่องต่างๆ ภายนอก

ดังนั้นพึงพากันเข้าใจที่ท่านสอนให้ฝึกภาวนาสมาธิ ก็เพราะเหตุผลดังกล่าวมาเนี่ย
ครั้นเมื่อใจมันไม่ตั้งมั่นอยู่ภายในแล้ว
มันก็ไปเที่ยวเกาะเที่ยวข้องอยู่กับเรื่องราวของโลกภายนอกโน่น อะไรต่ออะไร
มันยึดถือสิ่งใดไว้ มันก็ไปวิตกวิจารณ์อยู่ในสิ่งนั้น
ก่อให้เกิดความเสียใจบ้าง ดีใจบ้าง
ก่อให้เกิดความหลงความเมาไป โดยไม่มีประโยชน์อะไร
หมายความว่าความคิดไปนั้น มันไม่มีประโยชน์อะไร
เพราะมันไม่ใช่ความคิดที่กลั่นกรองด้วยปัญญา
มันคิดไปตามสัญญาเจตสิกต่างหาก ให้พึงเข้าใจกันดังนั้น

พระพุทธเจ้าก็จึงทรงสอนให้คนเรานั่นน่ะ ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน
ดังเช่นทรงสอนให้เจริญอานาปานสติอย่างนี้นะ
ให้ตั้งสตินึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นอารมณ์
นี่ก็แสดงว่าทรงสอนให้ระลึกเข้ามาหาจิต
หยั่งเข้าไปควบคุมจิตอยู่ภายในจิตนั้น ถึงจะหยุดลงได้
หรืออย่างทรงสั่งสอนให้ตั้งสติไว้ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมารมณ์
ที่ท่านเรียกว่าสติปัฏฐานสี่นั่น
ลองสังเกตดู มันก็ล้วนแต่เรื่องที่ให้มีสติระลึกเข้ามาอยู่ที่กายที่ใจนี้ทั้งนั้นแหละ
เพื่อจะได้ให้ใจมันตั้งมั่นอยู่ภายใน ไม่ให้มันไปเกาะไปข้องกับสิ่งภายนอก
คนในโลกอันนี้เนี่ย มันพ้นจากโลกอันนี้ไปไม่ได้
ก็เพราะว่าจิตของตนไปเกาะไปข้องอยู่กับสิ่งที่ตนพออกพอใจต่างๆ ในโลกนี้แหละ
ไม่ใช่อื่นไกลอะไร แล้วเกิดมาแล้ว ก็มาบ่นทุกข์กันว่าเบื่อ เบื่อโลกอันนี้หลาย
แต่แล้วมันไม่ใช่เบื่อด้วยอำนาจแห่งปัญญา
มันเบื่อด้วยอำนาจแห่งความทุกข์ ความวุ่นวายต่างๆ
เมื่อมันวุ่นวายขึ้นมาแล้ว มันก็เบื่อ
แต่เบื่อแล้ว หากไม่รู้จักทางออกจากทุกข์เหล่านั้น
ดังนั้นความเบื่อเช่นนั้นน่ะ มันไม่เป็นทางพ้นทุกข์ได้
ต่อเมื่อผู้ใดได้มาพยายามเพ่งลมหายใจเข้าหายใจออกนี่เป็นอารมณ์
จิตนี้มันก็จะไม่คิดไปทางอื่น มันจะไม่ส่งออก

พร้อมกันนั้น เราก็นึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตน
ในเมื่อสติมันนึกน้อมเข้ามาภายในถึงจิตใจ
แล้วก็นึกถึงคุณพระรัตนตรัย แก้วสามประการนั่นแหละเป็นที่พึ่ง
เพราะเราทุกวันนี้เนี่ย ผู้นับถือพระพุทธศาสนาเรา
ก็เอาคุณพระทั้งสามนี้แหละเป็นที่พึ่งของจิตใจ
เพราะอะไรจึงมีที่พึ่งอย่างนั้น
ก็เพราะว่าโลกสันนิวาสอันนี้ มันเต็มไปด้วยภัยอันตรายต่อชีวิตนี้
แล้วก็บางอย่างก็ป้องกันไม่ได้เลย
บุคคลจะมีอำนาจวาสนา มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างไรก็ป้องกันไม่ได้
เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน
ก็ได้แก่ความชำรุดทรุดโทรมของร่างกาย ความแตกดับของร่างกาย
อันนี้น่ะ ไม่มีใครป้องกันได้เลย

ดังนั้นแหละพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนให้หาที่พึ่งทางใจ
เพราะว่าร่างกายนี้จะพึ่งได้เพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง
เราจะพึ่งตลอดไปไม่ได้เลย
ก่อนอื่นก็พยายามน้อมใจเข้ามาภายในนี้ และเข้าใจไว้ให้ดี
หลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเนี่ย
บางคนก็อาจจะว่าถึงน้อมเข้ามาแล้ว จิตก็ไม่ยอมอยู่
มันก็คิดไปอีกของเก่า มันก็ต้องใช้พระเดชและการฝึกจิตนี้นา
ถ้ามันไม่ยอมหยุดนี้ ก็ต้องใช้ความอดทนอดกลั้น
เมื่ออดไม่คิดเลยอย่างนี้นะ มันก็หยุดยั้งความคิดได้
แต่ทีแรกมันก็อาจจะไม่ยอมหยุดอยู่บ้างแหละ
เมื่อเราอดไปทนไปนานเข้า มันก็เป็นตปธรรมน่ะ ความอดนี้นะ
มันเผาอารมณ์ต่างๆ ที่จิตยึดถือไว้นั้นน่ะให้ระงับไป
เมื่ออารมณ์ต่างๆ ที่จิตยึดไว้มันดับลงไป จิตนี้มันก็รวมลงได้ มันเป็นอย่างนั้น
แต่การอดกลั้นต่อความคิดความนึกต่างๆ มันก็ลำบากบ้างเหมือนกัน
แต่ก็ต้องอดต้องทน ดีกว่าที่จะมาข้องอยู่ในโลกอันนี้
ดีกว่าที่จะมาผูกพันกับโลกอันนี้
การที่มาผูกพันอยู่กับโลกอันนี้เรื่อยไป มันมีแต่ทุกข์ ทุกข์หลาย
การที่เราอดเราทน ข่มจิตสกัดกลั้นจิต ความคิดต่างๆ ให้ยุติลงได้
ถึงแม้มันจะทุกข์จะลำบาก มันก็ลำบากไปไม่นาน
พอสติมันแก่กล้า ความอดทนทำใจให้เข้มแข็งหนักแน่นเข้าไปแล้ว
จิตนี้มันก็หยุดคิดหยุดนึกได้ มันก็อ่อนกำลังลง
พออ่อนกำลัง ความคิดต่างๆ มันก็หยุดนิ่งอยู่ได้

นั่นแหละ จิตนี้จึงว่ามันมีลักษณะอาการต่างๆ กัน
บางคนก็น้อมจิตลงสู่ความสงบได้ง่าย ไม่ดื้อด้าน
บางคนมันก็ดื้อด้าน จิตนี้น้อมลงสู่ความสงบ มันไม่ยอม
มันก็จะคิดส่งไปเพ่นพ่านไปในโลกสงสารอันนี้
ท่านอุปมาไว้เหมือนกับลิง ธรรมดาลิงมันอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เลย
ลุกลี้ลุกลนอยู่อย่างนั้นแหละ นิสัยของลิงมัน
หากเป็นอย่างนั้น ชอบกระโดดโลดเต้นไปตามต้นไม้ในป่า
ฉันใด จิตที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรม มันก็เป็นเช่นนั้นแหละ
เพราะว่ามันเคยคิดเคยส่งจิตไปเกาะไปข้องกับอะไรต่อมิอะไรในโลกนี้มา
ไม่ใช่ชาติเดียวเท่านั้น ที่ล่วงแล้วมามันก็ส่งจิตใจไปเกาะไปข้องพอแรงแล้ว
เหตุดังนั้นมันจึงได้มาเกิดอีกอยู่เนี่ย
แต่ว่าการที่ได้มาเกิดเป็นคนอยู่ในชาตินี้
ก็เนื่องมาแต่ใจมันยินดี เลื่อมใสในบุญในกุศล
ถึงแม้ว่าจิตใจจะไม่สงบแต่ก็มีความยินดีเลื่อมใส
ในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ยินดีเลื่อมใสในทานการกุศลต่างๆ
ยินดีในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มันมีความยินดีอย่างนั้นแล้ว
ก็เป็นผู้เว้นจากบาป ไม่ทำบาปมา บุญกุศลอันนั้นแหละ ก็จึงได้ส่งมาเกิดเป็นมนุษย์
เป็นมนุษย์ แต่จิตนี่หากยังฟุ้งซ่านเลื่อนลอยอยู่อย่างนั้น
มันก็ต้องวกไปเวียนมาอยู่อย่างนี้อีก
ถ้าไม่ฝึกฝน จิตนี้ให้มันหยุดมันนิ่งเมื่อใดแล้ว
ก็จะไม่หยุดการหมุนเวียน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ลงได้
แต่บางทีมันก็หมุนไปสู่ทุกข์ ในเมื่อจิตมันคิดไปในทางบาปอกุศล
ถ้ามันไม่คิดไปในทางบาปอกุศล เพียงแต่คิดเลื่อนลอยไปตามเรื่อง
ที่ไม่เป็นบาปต่างๆ เฉยๆ อย่างนี้
มันก็ไม่ถึงกับว่าจะได้ไปอบายภูมิทั้งสี่ มีนรก เป็นต้น
แต่มันทำให้เทียวเกิด เทียวตายอยู่ในโลกนี้ ไม่สิ้นสุดเรื่องมันน่ะ

ดังนั้นทุกคนต้องเรียนให้รู้เรื่องราวของตัวเอง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนไว้
ซึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา
ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน มันเป็นทุกข์รวบยอดเลย
ความทุกข์อันเกิดจากความยึดถือนี่ มันก็มาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
ยึดถือขันธ์ ๕ อันไม่ประกอบไปด้วยปัญญา ประกอบไปด้วยตัณหา อวิชชา
อย่างนี้มันก็ใช้ขันธ์ ๕ นี่ไปทำดีบ้าง ทำชั่วบ้างไปอย่างนั้นน่ะ
คราวระลึกถึงความดีได้ก็ทำดีไป คราวระลึกถึงความชั่วได้ก็ทำชั่วไป อย่างนี้แหละ
ยึดถือด้วยอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา มันก็เป็นเหตุได้รับผลทั้งสองอย่าง
ได้รับผลเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างในสงสารอันนี้อยู่อย่างนั้น
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ในญาณที่สอง ที่ท่านเรียกว่า จตูปปาตญาณ
ปรีชาหยั่งรู้ว่าสัตว์โลกทั้งหลาย เกิดมาแล้วก็มาทำดีบ้างทำชั่วบ้าง
แล้วบัดนี้ก็ได้รับผลแห่งการกระทำนั้น เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างไปในสงสารอันนี้
นี่พระองค์เจ้าตรัสรู้ในญาณที่สองนั่นน่ะ

ดังนั้นเมื่อพระองค์แสดงธรรม พระองค์จึงแนะนำให้พุทธบริษัททั้งหลาย
เพียรพยายามละกรรมอันชั่วออกจาก กาย วาจา ใจให้ได้
ไม่เช่นนั้นก็จะหนีจากวังวนนี้ไม่ได้ ก็จะวนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ
ทีนี้ถ้าผู้ใดมาฝึกใจนี้สงบ ตั้งมั่นลงในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ตั้งมั่นในบุญกุศลที่ตนบำเพ็ญมา
คือว่าเมื่อทำใจให้สงบลงเป็นหนึ่งแล้ว ก็หมายความว่าจิตของผู้นั้นน่ะ
เป็นอันว่ามีคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
มีบุญกุศลที่ตนได้ทำมาแต่ก่อนเป็นเครื่องอยู่ จึงสงบนิ่งอยู่ได้
ถ้าใจมันมั่นอยู่ในบุญในคุณอย่างว่านี้แล้ว มันไม่น้อมไปทางบาปแล้วน่ะ
มันก็แสวงหาทำแต่บุญกุศล ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นเรื่อยไปเท่านั้นเอง
อย่างว่าทุกสิ่งทุกอย่าง มันมีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน
ถ้าฝึกใจนี้ให้ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ดีแล้ว มันก็ไม่หมุนไปในทางชั่ว
คนเราน่ะให้สังเกตดูจิตใจของตนทุกคน ว่าวันนี้น่ะใจเรายังคิดหมุนไปทางชั่วมีไหม
เช่น คิดไปพอใจในทางที่ฆ่าสัตว์
คิดไปอยากจะไปลักไปล่อเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน
หรือไปฉ้อโกงหลอกลวงผู้อื่นให้เสียทรัพย์เสียสิน หมู่นี้น่ะมีไหมในใจนะ
หรือว่าใจมันอยากไปทำชู้กับสามีภรรยาของคนอื่น
หรือว่าความคิดความนึกของจิตใจเนี่ยมันอยากจะพูดเท็จ
พูดเรื่องไม่จริง คำไม่จริง หลอกคนอื่นให้เสียทรัพย์เสียสินก็ดี
จิตทุกวันนี้มันคิดจะส้องเสพของมึนเมาต่างๆ หรือไม่
เช่น สุรา เมรัย กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีน หมู่นี้ มันชอบหรือไม่อันหมู่นี้

เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้งหลาย
จะพึงพิจารณาตัวเอง พิจารณาจิตตัวเองนั่นแหละ
เมื่อรู้ว่ามันไม่ต้องการแล้ว ไม่ต้องการทำแล้วกรรมชั่วต่างๆ เหล่านี้
เช่นนี้แล้ว ก็รักษาความรู้ความเห็นอันนั้นไว้ให้ได้ รักษาความคิดอย่างว่านั้นไว้ให้ได้
อย่าไปปล่อยให้จิตมันเผลอคิดไปในทางเบียดเบียนดังว่านั้นต่อไป
เมื่อรักษาจิตดวงนี้ไม่ให้วิตกไปในทางอกุศลนั้นแล้ว
ความประพฤติทางกาย วาจา มันก็มีแต่ทางดีสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ ไป
ทำอะไร พูดอะไร ก็ชอบที่จะเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นไปเรื่อยๆ
พูดถึงการคิดการนึกเกี่ยวกับการเจริญสมถะวิปัสสนาอย่างนี้น่ะ
มันก็ไปได้คล่องแคล่วในเมื่อฝึกใจให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมอย่างว่านั้นได้
มันก็เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอยู่ตลอดเวลา
บุคคลมีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมคิดแก้ปัญหาความขัดข้องของชีวิต
ได้อย่างว่องไวทันกับเหตุการณ์
เมื่อเกิดมีอุปสรรคอะไรขึ้นในชีวิตจิตใจอันนี้
มันก็มองเห็นช่องทางที่จะแก้อุปสรรคอันนั้นได้โดยปลอดโปร่ง

ดังนั้นท่านผู้มีสมาธิจิตแล้ว จึงมักไม่ค่อยมีเรื่องยุ่งเหยิงเท่าไหร่
ไม่ค่อยก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นก็ไม่เอา
ก่อความทุกข์ความโศกให้แก่ตัวเองก็ไม่มี
เนื่องจากว่าผู้มีใจตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ มีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งมา
มันก็กำหนดเรื่องนั้นพิจารณาได้เห็นแจ้งประจักษ์ขึ้นมาได้
เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว
มันก็แปรปรวน แตกดับไป ไม่มีอะไรเที่ยงยั่งยืนเลย
จะเป็นเรื่องดีเรื่องชั่วอะไรก็ตามแหละ
มันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไป จึงไม่เป็นสิ่งควรยึดถือเอา
โดยเฉพาะเรื่องชั่ว เรื่องที่จะทำให้ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลงไปต่างๆ นานา อย่างนี้นะ
มันล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรยึดถือไว้ทั้งนั้น
ถ้าขืนยึดถือไว้ มันก็ก่อให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา
ก่อให้เกิดมานะทิฏฐิขึ้นในใจ ก็ทำให้ใจหันไปในทางอกุศลแล้ว
บัดนี้วิตกไปในทางอกุศล เมื่อใจมันน้อมไปทางอกุศล
มันก็กายทำ ใช้วาจาพูดไปในทางอกุศล นี่มันเป็นอย่างนี้
เรื่องมันความชั่วร้ายทั้งหลายที่แสดงออกไปทางกาย ทางวาจา
มันก็ออกไปจากจิตที่ไม่สงบนี้เอง

อย่าไปโทษคนอื่นว่ามาเบียดเบียนตนอย่างโน้นอย่างนี้
ตนถึงได้โกรธ ตนถึงได้เดือดร้อนเป็นทุกข์
ไม่ควรที่จะไปโทษคนอื่นอย่างนั้น
โทษตนเองนี่ไม่ฝึกจิตใจให้ตั้งมั่นต่อกุศลธรรม
มันถึงไม่มีปัญญารู้เท่าความดีความชั่วในโลกนี้
เพราะว่าความดีความชั่วมันเกิดจากคน
บัดนี้เราจะไปเที่ยวปราบบุคคลในโลกอันนี้ไม่ให้ทำชั่ว พูดชั่ว
ด้วยอำนาจอาชญาต่างๆ นี่มันไม่ได้น่ะ ไม่มีใครทำได้ในโลกอันนี้

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ปราบตัวเองนี่แหละ อย่าไปคิดปราบคนอื่น
เมื่อปราบใจตัวเองได้ ห้ามใจตัวเองได้แล้วอย่างนี้นะ
มันก็ไม่มีความเดือดร้อนอะไร มันจะเดือดร้อนอะไร
เช่น เขาด่ามาเนี่ยเราก็ไม่ด่าตอบซะ แล้วเรื่องมันก็ไม่ลุกลามต่อไปอีก
เราก็ไม่ยึดเอาคำด่าของเขามาไว้ในใจ
มาวิตกวิจารณ์ว่าคนนั้นด่าเรา คนนี้ด่าเรา คนนั้นเสียดสีเรา ไม่วิตกมันละ
เพราะอันนั้นมันเป็นสมบัติของคนอื่นเขาต่างหาก
คำด่าว่าเสียดสีนั่นมันไม่ใช่สมบัติเราแล้ว
มันก็เป็นของไม่ดี เราจะไปยึดเอามาทำไม
ก็สอนใจตัวเองเข้าไปอย่างนี้นะ เมื่อสอนใจตัวเองได้ มันปลงก็วางได้
เมื่อได้กระทบกระทั่งกับเรื่องไม่ดีแต่ละครั้งๆ เราก็เอาชนะใจตัวเองได้
ไม่ยึดไม่ถือเอาไว้ในใจนานไปๆ มันก็รู้เท่าทัน
แล้วบัดนี้เรื่องไม่ดีเรื่องชั่วต่างๆ กระทบกระทั่งมา
มันก็ไม่ตื่นเต้นไม่หวั่นไหว เพราะฝึกมาแล้วนี่
ฝึกปล่อยฝึกวางมาแล้ว จนชินเลยทีเดียว มันต้องเป็นอย่างนี้นา

การฝึกฝนจิตใจนี่ให้พากันเข้าใจ
เราจะปล่อยให้จิตมันยึดถือเรื่องชั่วไว้ในใจอยู่อย่างนั้น
มันก็เดือดร้อนอยู่อย่างนั้นแหละ
แล้วก็มักจะไปกระทบกระทั่งกับผู้อื่นเรื่อยไป
ผู้มีใจร้อนอยู่ด้วยเรื่องชั่วต่างๆ เหล่านั้น
ดังนั้นแหละมนุษย์เรามันจึงทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยๆ
ผูกเวรต่อกันและกันอยู่อย่างนั้นไม่หยุดยั้ง
ก็เพราะใจนี่น่ะมันไปยึดเอาความชั่วของคนอื่นมาไว้เป็นอารมณ์
ดังนั้นมันจึงคิดแก้แค้นกันอยู่ไม่รู้รอด แล้วยังไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์
การไปยึดเอาความชั่วของผู้อื่นมาเป็นสมบัติของตนเอง

ถ้าผู้ใดทวนกระแสจิต พิจารณาได้ว่าการไปยึดเอาเรื่องชั่ว
ที่ผู้อื่นระบายออกมาจากภายในจิตใจนั้น
มาไว้เป็นสมบัติของตนนี้ มันเป็นทุกข์ มันเดือดร้อนหลาย
มันทำให้เกิดอกุศลจิตขึ้นมา ไม่ดีเลย
ถ้าคิดเห็นอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นมันก็ปล่อยวางทิ้งไปเลย เรื่องนั้นไม่ยึดไว้แล้ว
แต่นี่มันไม่ได้ทวนกระแสจิตเข้ามาพิจารณา
ให้เห็นโทษของความยึดถือในเรื่องที่ไม่ดีนั้น
คนเรามันจึงเป็นอย่างนั้น ขอให้เข้าใจ

ดังนั้นการภาวนามันจึงเป็นกิจที่เราจะต้องทำโดยตรงเลย
ถ้าผู้ใดไม่ฝึกหัดภาวนาอย่างว่านี่ มันก็ไม่มีทางพ้นจากทุกข์ในสงสารอันนี้ไปได้เลย
ทำบาปทำกรรมอยู่อย่างนั้น จะต้องเป็นผู้ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง ติดตัวไปอยู่อย่างนั้น
แล้วบัดนี้ก็ได้เสวยทั้งสุข ได้เสวยทั้งความทุกข์ สับสนปนเปกันไปอยู่อย่างนั้นนะ
นี่ลองคิดดูให้ดี มันเป็นอย่างนี้แหละ บุคคลผู้ไม่ฝึกฝนจิตตนเอง
แต่มันก็ไม่ใช่ว่าคิดชั่วอยู่ตลอดเวลาหรอก แต่คราวคิดดี มันก็คิดดีก็ทำดีไป
แต่ใจที่ไม่ได้ฝึกให้ตั้งมั่น แล้วเมื่อเวลาเรื่องชั่วมากระทบเข้า มันหากทนไม่ไหว
มันหากคิดชั่วไปตามเรื่องชั่วนั้นเสีย ให้เข้าใจ
ทีนี้จิตที่ฝึกฝนให้ตั้งมั่นลงไปอยู่ในกุศลธรรมแล้ว
เวลาเรื่องชั่วกระทบกระทั่งเข้ามา มันไม่หวั่นไหว มันก็รู้เท่าทัน
รู้ว่าเรื่องนี้ชั่วไม่ควรยึดเอามาไว้ มันจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นในใจ
เมื่อมันรู้อย่างนี้มันก็ปล่อยทิ้งเลย ไม่ยึด ไม่วิตกวิจารณ์ไป
ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไปตามเรื่องชั่วที่บุคคลอื่นหยิบยื่นเอามาให้นั้น

เมื่อทำได้อย่างนี้ ผู้นั้นก็รักษาบุญกุศลความดีไว้ในใจของตนสม่ำเสมอไป
สิ่งใดชั่วก็ไม่ยึดถือเอาอย่างนี้ จึงเชื่อว่าได้ปฏิบัติตามพุทธโอวาท
ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลกโดยแท้จริง
จุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้านั่นน่ะ ก็เพื่อที่จะให้พุทธบริษัททั้งหลาย
ได้เพียรพยายามละกรรมอันชั่วออกจากกาย วาจา ใจของตน
แล้วก็สอนให้เพียรพยายามกระทำกรรมอันดี ที่เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น
ให้เกิดมีขึ้นในกาย วาจา ใจของตนแล้ว
ให้เพียรพยายามชำระใจอันนี้ให้ผ่องใสสะอาด
ปราศจากกิเลส ตัณหา อวิชชาน้อยใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสุดท้าย
อันข้อปฏิบัติข้อสุดท้ายนี่นะ มันก็แล้วแต่กำลังความสามารถของแต่ละบุคคล
จะชำระจิตของตนให้หมดจดจากกิเลสตัณหาได้มากน้อยเพียงใด
อันนั้นก็ไม่เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เหมือนอย่างการละความชั่ว

เมื่อบุคคลมาเพียรพยายามละกรรมอันชั่วออกจากกาย วาจา ใจได้แล้ว
ตั้งหน้าทำแต่ความดีอันนี้สำคัญมาก
เพราะว่าเมื่อบุคคลละชั่วได้แล้ว ตั้งหน้าทำความดีเรื่อยไปแล้ว
อย่างนี้มันก็เป็นการชำระจิตอยู่ในตัวเลยบัดนี้
อาศัยบุญกุศลความดีต่างๆ หมู่นี้แหละ
เมื่อมันเกิดขึ้นในใจแล้ว มันก็กำจัดกิเลสออกไปเรื่อยๆ ไป
แต่ว่ามันไม่ได้กำจัดทีเดียวหมดไปเลยได้
มันค่อยกำจัดออกไปทีละน้อยๆ ออกไปอยู่อย่างนั้นแหละ
เพราะว่าอินทรีย์มันยังไม่แก่กล้าพอนะ
มันก็จะไปกำจัดกิเลสให้ขาดจากสันดานในครู่เดียวขณะเดียวได้
อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องให้เข้าใจ
ก็เราจึงต้องเพียรพยายาม เพียรพยายามไปเรื่อยๆ แหละ
เมื่อเราจับต้นทางได้แล้วนะ เหมือนอย่างบุคคลเดินทาง
เมื่อเราจับต้นทางที่ถูกต้องตามเป้าหมายที่เราจะต้องไปได้แล้ว
ก็พยายามเดินไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีการพักผ่อนบ้าง
ก็ได้ตั้งใจอยู่เสมอว่า เราจะพักผ่อนเพียงชั่วคราวเท่านั้น
เมื่อมีแรงแล้วก็จะเดินทางต่อไป จนถึงจุดหมายปลายทาง
นี่ตั้งใจไว้อย่างนั้่นแล้ว เมื่อพักผ่อนไปมีแรงแล้วก็เดินทางต่อไป

นี่สำหรับผู้เดินทางไกลมันก็ต้องอย่างนั้นแหละ
มันก็จึงถึงจุดหมายปลายทางได้ ข้ออุปมาฉันใดก็อย่างนั้นแหละ
ก็เมื่อบุคคลมาบำเพ็ญทางจิตใจไป
พยายามเพ่งจิตอย่างที่แสดงมาแล้วนั้นแหละ
ข่มจิตอดกลั้นทนทานต่อความคิดความนึกต่างๆ
ที่มันเคยคิด เคยฟุ้งซ่านมาแต่ก่อน
พยายามอดกลั้นทนทานไป พากเพียรเพ่งพินิจเข้าไป
ไอ้อย่างนี้มันก็เหนื่อยใจพอได้เหมือนกัน
หมายความว่าอย่างนั้นแหละ เหมือนอย่างบุคคลเดินทางนั่นแหละ
เดินๆ ไป ทั้งร้อนทั้งเหนื่อยเหมือนกัน
แต่ว่าอดไปทนไป ถ้าไม่เหลือวิสัยจริงๆ อันนี้ก็เหมือนกัน
การฝึกจิตใจนี่ ถ้าไม่เหลือวิสัยจริงๆ ก็อดทนเพ่งพินิจอยู่ภายในนั่นน่ะ
ถ้าไม่อดไม่ทนไม่ได้นา เพราะว่ากิเลสมันมีพิษมันร้อน
เมื่อกิเลสมันกำเริบขึ้นมา มันก็ทำให้จิตนี้ร้อนผ่าวไปอย่างนั้น
เมื่อจิตนี้ร้อนแล้ว มันก็สงบนิ่งอยู่ไม่ได้
มันชอบอยากจะคิดส่งส่ายไปทั่วเลย มันเป็นอย่างนั้นเรื่องมัน

แต่แล้วบัดนี้เราก็ต้องรู้ความจริงของกิเลสซะก่อน
ความจริงของกิเลสนี่ มันก็เป็นของไม่เที่ยง
ไม่ใช่มันเกิดขึ้นแล้วมันดับไม่ได้เลย มันเที่ยงไปเลย มันไม่ใช่
มันเป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน
เพราะมันเป็นความคิดนี้นา ความคิดของจิตเนี่ย ก็ลองสังเกตดูสิ
ความคิดของจิตมันเที่ยงมาแต่ไหนล่ะ พอคิดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไป
คิดเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว เรื่องนี้ดับไปแล้ว มันก็ไปขึ้นเรื่องใหม่ขึ้นมา แล้วก็ดับไปอีก
แล้วก็คิดเรื่องใหม่ขึ้นมาอยู่อย่างนั้น นี่ความคิดเหล่านี้นะ
ความคิดเป็นบุญก็ดี ความคิดเป็นบาปก็ดี
มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่อย่างนั้น
แต่ความรู้นั่นสิ มันปรากฏอยู่คงที่ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว
ไม่ส่งเสริมความคิดที่เป็นบาปอกุศล เราส่งเสริมความคิดที่เป็นบุญกุศลเรื่อยไป
อย่างเช่นท่านแนะนำให้บริกรรมพุทโธ อย่างนี้นะ
เมื่อจิตมันชอบอยากคิดหลาย ก็เอ้า ให้มันคิด พุทโธ
ยึดเอาคุณพระพุทธเจ้านั่นเป็นอารมณ์ เครื่องคิดนึก
เพราะว่าพุทโธคุณนี่เป็นของเย็น ไม่เป็นของร้อน
เป็นฝ่ายกุศล ไม่ได้เป็นฝ่ายอกุศล
ดังนั้นเมื่อผู้ดำริผู้ใดคิดนึกไปเท่าใด บริกรรมไปเท่าใด
จิตใจนี้ก็เยือกเย็นไปเท่านั้น จิตใจนี้ก็เบิกบานไปเท่านั้น

ให้เข้าใจเนี่ย ที่ท่านสอนให้บริกรรมพุทโธ มันมีความหมายอย่างนี้
แล้วอกุศลที่มันเกิดขึ้นในใจนั่นมันก็ระงับไป ที่มาทำให้ใจร้อนวู่วามต่างๆ นานา
เมื่อพุทโธคุณบังเกิดขึ้นในจิตแล้ว
อกุศลวิตกเหล่านั้นมันก็ดับไป ใจก็เย็นลง เราทำดูก็ได้นะ
เช่นอย่างว่าคนบางคน มันห้ามความโกรธในใจไม่ได้
บางคราวมีอารมณ์ไม่ดีมากระทบแล้วมันโกรธขึ้นมา ใจก็ร้อนผ่าวขึ้นมา
เอ้า พอรู้สึกตัวได้ นึกพุทโธขึ้นมาเลยบัดนี้
นึกพุทโธขึ้นในใจ แล้วก็นึกถึงพระพุทธเจ้าโน่น
โอ้ พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่โกรธหนอ พระองค์ละความโกรธได้แล้วหนอ
นี่พอนึกได้อย่างนี้แล้ว ไอ้ความโกรธอันรุนแรง มันก็เบาลงๆ
แต่ว่าต้องประคับประคองจิตให้นึกพุทโธ ให้ติดต่อกันไปนะอย่างนี้แหละ
นี่เมื่อพุทโธคุณบังเกิดขึ้นในจิตแล้ว
อารมณ์ที่ก่อให้เกิดความโกรธฉุนเฉียวต่างๆ หมู่นั้น
ก็ค่อยเบาลงๆ จิตก็เย็นลงโดยลำดับ ในที่สุดมันก็ระงับลงไปได้
อารมณ์ที่ก่อให้เกิดความโกรธนั่นน่ะ ความเย็นใจก็เกิดขึ้นมาแทน เป็นอย่างงั้น

แต่เราต้องทำความเชื่อในใจจริงๆ ลงไป
ถ้าหากว่าไม่เชื่อมั่นต่อพุทโธคุณนี้จริงๆ แล้ว
มันก็จะสู้อำนาจของกิเลสไม่ได้ เรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนั้น
เนื่องจากว่ากิเลสนี้ มันก็มีอิทธิพลไม่ใช่น้อยเหมือนกัน
ดังนั้นเราจึงต้องสร้างอิทธิพลฝ่ายกุศล ฝ่ายดีนี้ให้มากขึ้นกว่าอิทธิพลของกิเลสนั้น
ซ้ำเป็นไรมันจึงจะทำกิเลสให้อ่อนกำลังลงได้
ถ้าหากว่าเท่ากันอย่างนี้ มันก็ทำให้กิเลสนี้อ่อนกำลังลงไม่ได้
เหมือนอย่างนักมวยเนี่ย ถ้ามีกำลังเสมอกันแล้วก็เอาชนะกันไม่ได้ ต้องเสมอกัน
มันเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ
เมื่อผู้ใดรู้อย่างนั้นแล้ว ก็จึงต้องทำความเพียรพยายามสั่งสมบุญ
ให้มากขึ้นไปโดยลำดับ ไม่ถอยหลัง เป็นอย่างนั้น
เช่นอย่างว่าเราสร้างความนึกความคิดอันประกอบไปด้วยเมตตากรุณาอย่างนี้นะ
ก็พยายามสร้างให้มากๆ เลย มองเห็นสร้างขึ้นมา
จนมองเห็นศัตรูนั่นกลายเป็นมิตรไปโน่นแน่ะ
เออ คนนี้ผู้นี้แต่ก่อนเป็นศัตรู เรารู้สึกอย่างนั้น
แต่บัดนี้เรารู้สึกว่าคนนี้ผู้นี้นะเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งนั้นแหละ
นี่เขาไม่ได้เป็นศัตรูอะไรเราดอก เพราะเราไม่ต้องการเป็นศัตรูกับเขา
เจริญเมตตาพิจารณาลงไปอย่างนี้

เท่านี้ก็ยังไม่พอ เพ่งลงไปให้เห็นลงไปว่า
ธาตุสี่ขันธ์ห้า ทั้งที่ตนอาศัยอยู่นี้ก็ดี ทั้งที่คนอื่นอาศัยอยู่ก็ดี
มันก็ล้วนเป็นแต่ของไม่เที่ยง มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน
เมื่อเหตุปัจจัยมันยังมีอยู่ไปได้
ถ้าเมื่อเหตุปัจจัยนี้มันหมดลงไป ธาตุสี่ขันธ์ห้ามันก็แตกดับทำลายลง
ก็จึงไม่จำเป็นต้องไปทุบไปตี ไปทำลายธาตุสี่ขันธ์ห้าของใครต่อของใครดอก
ถึงเวลาของมันแล้วมันแตกทำลายมันไปเอง ไม่ใช่อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ใด
แม้แต่ธาตุสี่ขันธ์ห้าที่ตนอาศัยอยู่ก็ตามเหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย
นี่ เพ่งพิจารณาลงไปอย่างนี้ มันก็ยิ่งเป็นการถอนรากเหง้า
ของความโกรธ ความพยาบาทต่างๆ นี้ออกไปเรื่อยๆ ทีเดียว
ถึงไม่หมดก็เรียกว่าเบาไปมาก
ที่ท่านเรียกว่าเจริญทั้งสมถะทั้งวิปัสสนาควบคู่กันไปเลย ให้พากันเข้า

ดังนั้นแหละ หลักสำคัญจึงอยู่ที่สมาธิ
ถ้าหากว่าสมาธิไม่แข็งแรง ปัญญาก็อ่อนแอเหมือนกัน เป็นอย่างนั้น
อย่างว่าปัญญาอาศัยสมาธิ หลักนี้ต้องจำไว้ให้มั่นเลยทีเดียว
ดังนั้นเวลาใดรู้สึกว่าใจมันไม่สงบ มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอย
อย่าพึ่งไปคิดธรรมะ อย่าพึ่งไปพิจารณาอะไรก่อน
ต้องพยายามระงับความคิดอันนั้นด้วยสติ ด้วยสมถวิธีอย่างที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ
ผู้ใดเคยทำใจให้สงบด้วยกรรมวิธีอะไร จำเอาไว้ให้ได้
แล้วเวลาเผลอๆ จิตมันฟุ้งซ่านไป ก็นึกถึงกรรมวิธีอันนั้นให้ได้
แล้วก็เพ่งกรรมฐานอันนั้นให้ปรากฏขึ้นในจิต
ต่อไปเมื่อกรรมฐานอย่างนั้นปรากฏขึ้นในจิตแล้ว
จิตจะสงบลงได้ ยกตัวอย่างเช่นผู้เพ่งลมหายใจเข้าออกอย่างนี้นะ
ถ้าเมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏอยู่ในความรู้สึกอันนั้นติดต่อกันไปแล้ว
อย่างนี้ใจย่อมสงบลงได้จริงๆ นะ หรือว่าผู้ชอบบริกรรมพุทโธอย่างนี้นะ
ถ้าหากว่าพุทโธปรากฏอยู่ในความรู้สึกอันนั้นเสมอๆ ไปแล้ว
แน่นอนละ จิตย่อมรวมลงได้จริงๆ หมายความว่า จิตนั้นไม่รู้อะไรอันอื่นนะ รู้แต่พุทโธ
อยู่แต่ปัจจุบันเท่านั้น อย่างนี้นะ รู้แต่พุทโธ ก็ระงับกลายเป็นความรู้
บัดนี้นะ นี่เหลือความรู้กับสติตั้งลงในปัจจุบันนี่ ไม่ต้องได้ข่มแล้วบัดนี้นะ
มันๆ เป็นเองนะ บัดนี้นะ มันตั้งอยู่โดยลำพังตัวเอง เพราะว่าพุทโธน่ะเป็นตัวสติ
ทีนี้เมื่อตัวสติคือพุทโธนี่ซึมซาบเข้าสู่จิตได้แล้ว
จิตคือความรู้สึกอันนี้นะ มันก็ตั้งอยู่ได้โดยลำพัง โดยมีสตินั้นกำกับอยู่
จิตไม่ได้อยู่ด้วยอารมณ์อย่างอื่น
มันเป็นอย่างนั้นเรื่องมัน มันก็ประคองกันได้อยู่นั้น ฝึกเข้าไปบ่อยๆ เข้าไป
ปรากฏว่าจิตนี้ก็เป็นสมาธิอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
เรียกว่าตั้งมั่นอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน หมายความว่าอย่างนั้น

ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเจริญวิปัสสนาให้ติดต่อกันไปไม่ได้เลย
มันก็ขาดเป็นวรรคเป็นตอนไป
เดี๋ยวก็หลงเสียใจ เดี๋ยวก็หลงดีใจ เศร้าโศกไป คับแค้นใจไปเป็นระยะๆ
เมื่อสมาธิมันถอนออกไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้น เรื่องมัน
การที่บุคคลประคองจิตตัวเองอยู่ได้ เรื่องชั่วเรื่องไม่ดีอะไรกระทบกระทั่งมา
ก็ไม่เสียใจ ไม่เศร้าโศก ไม่โกรธ ไม่เกลียดอย่างนี้ได้
นั่นแสดงว่าสมาธิของผู้นั้นไม่ถอน ไม่เสื่อม
สมาธิมีอยู่กับจิตสมาธิของผู้นั้น ตั้งมั่นอยู่สม่ำเสมอไป เป็นอย่างนี้ ให้สันนิษฐานดู
ผู้ปฏิบัติธรรมผู้เจริญภาวนาทั้งหลายน่ะ ก็ต้องสันนิษฐานตัวเองไปอย่างนี้แหละ
ถ้ารู้ว่าจิตดวงนี้นะ ยังพลิกแพลงไปอยู่เป็นครั้งเป็นคราว
อย่างนี้ก็แสดงว่าสมาธินี่ยังไม่ตั้งมั่นอยู่สม่ำเสมอไปได้
เอ้า เราก็พยายามกระชับสติให้เข้มแข็งเข้าไปเรื่อยๆ
พยายามน้อมสติเข้าไป ควบคุมจิตให้ติดต่อกันเรื่อยไป
หมายความว่าพยายามทำความรู้สึกกับดวงจิตอันนี้น่ะให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพราะตามธรรมดาคนเรานี่มันลืมจิตตัวเองนี่แหละเป็นระยะไป
บางทีเผลอไปเรื่องไม่ดี แล้วเมื่อเรื่องไม่ดีมากระทบจิตให้ร้อนวูบ จึงรู้สึกตัวได้ก็มี
โอ้ เรานี้เผลอไปแล้วนี่ อย่างนี้แหละให้สันนิษฐานตัวเองให้มันได้
แต่คนส่วนมากนะ มันไม่รู้สึกตัวอย่างนี้
ไอ้คนเผลอตน เสียใจตน สะดุ้งตกใจอะไรอยู่อย่างนี้
ก็ไม่ถือว่าเป็นความบกพร่องของตัวเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้มันก็ทำให้จิตนั้นตั้งมั่นสม่ำเสมอไปไม่ได้น่ะเรื่องของมัน

ถ้าผู้ใดตามจิตตัวเอง ตามรู้จิตใจตัวเองไปเสมออย่างนี้แล้ว
เวลามันเผลอไป กิริยาอาการของจิตมันผิดปกติไปขณะไหนก็รู้ได้ขณะนั้นอย่างนี้นั่นละ
มันจึงมีทางที่จะรักษาสมาธิให้สม่ำเสมอไปได้ ก็ให้พากันพึงเข้าใจอย่างนี้
อุบายวิธีฝึกจิตนะ มันสำคัญแท้ๆ เรื่องการรักษาสมาธิจิตไว้ให้ได้นี่นะ
เมื่อรักษาสมาธิจิตไว้ได้แล้ว ปัญญานั้นมันก็มีอยู่ประจำอยู่กับจิตเสมอไป
อุปมาเหมือนอย่างคนขุดดินลงไป หวังจะให้ได้น้ำอยู่ใต้ดินมาใช้นั่นน่ะ
พยายามขุดลงไปๆ ทีแรกมันก็ไปถึงน้ำซึมเสียก่อน
เพียงเท่านั้นยังไม่พอใช้ เพียงแค่น้ำซึมเนี่ย
เอ้า ก็พยายามขุดลงไปอีก เอาลงไปจนถึงสายน้ำใหญ่โน่น
เมื่อถึงสายน้ำใหญ่แล้ว มันก็ออกมาไม่หยุดยั้งเลยบัดนี้
ตักออกไปเท่าใดมันก็ออกมาอยู่เท่าเก่านั่นแหละอย่างนี้นะ

อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ การฝึกสมาธินี่
เมื่อเราฝึกไปๆ ใจมันก็หนักแน่นเข้าไป
ใจมันก็ตั้งมั่นเข้าไปยิ่งเข้าไปเรื่อยๆ
เมื่อใจตั้งมั่นเข้าไปเพียงพอแล้วอย่างนี้ มันก็ไม่ค่อยลืมตัว บัดนี้นั่นแหละ
ไม่ค่อยเผลอตัวเสียใจดีใจอะไรต่ออะไรไป
เช่นนี้แล้วเวลามีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งมา มันก็รู้เท่าทันได้
รู้ความเกิดความดับของเรื่องต่างๆ ในโลกอันนี้นะ มันก็ไม่มีอะไรหรอก
ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดีก็ดี ชั่วก็ดี ไม่ดีไม่ชั่วก็ดี
มันก็แค่เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวน ดับไปๆ เท่านั้นเอง
เมื่อจิตตั้งมั่นลงไปแล้ว ปัญญามันก็เกิดขึ้น
อย่างนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า ไตรลักษณญาณ
นี่ไตรลักษณญาณนี่มันต้องประจำอยู่กับความรู้สึกอันนี้เสมอทีเดียว
เมื่อมันประจำอย่างนี้แล้ว ท่านอุปมาแบบหนึ่ง
เรื่องญาณนี่เหมือนอย่างกองไฟใหญ่ที่มันลุกโพลงอยู่
เมื่ออะไรปลิวเข้ามาใส่แล้วมันไหม้หมดเลย มันไม่มีเหลือ
อันนี้ญาณความรู้ ไตรลักษณญาณ นี่ก็เป็นเช่นนั้นแหละ
เรื่องดีเรื่องชั่วอะไรกระทบเข้ามานี่ มันก็ดับไป ดับไปอยู่อย่างนั้น
เพราะจิตไม่ยึดถือเอามันเรื่องมัน หมายถึงเรื่องดีเรื่องชั่วภายนอกนะ
เช่นอย่างว่าคนผู้นี้เป็นคนดีนะ คนผู้นี้เป็นคนสวยนะอย่างนี้นะ
คนผู้นี้เป็นคนมีปัญญามาก มีทรัพย์มากอะไรอย่างนี้นะ
นี่เขาเรียกโลกกันว่า สมมติกันว่าดี เป็นคนดีอย่างนี้นะ ว่าของสิ่งนี้ดีนะอย่างนี้
มีดพร้าเล่มนี้ดีนะ เหนียวดีไม่บิ่นไม่บานอย่างนี้ เป็นต้น

บุคคลผู้เจริญปัญญาวิปัสสนาแล้ว มันจะเห็นตรงกันข้ามกับสมมติของโลก
แต่ก็ยอมรับสัจจะสมมติสัจจะของโลกที่เขาว่าดีก็ยอมรับ
แต่ถ้าว่าในปรมัตถธรรมแล้ว หากรู้ว่ามันเป็นของไม่ดีไม่ชั่ว เกิดแล้วดับไป
ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ดีก็ไม่ใช่ ชั่วก็ไม่ใช่
เพราะว่ามันเป็นของเกิดดับอยู่ตามหน้าที่ของมันแล้ว
จิตใจก็ไม่ได้สร้างความยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านั้น
เหตุปัจจัยที่จะให้จิตใจไปเกาะไปข้องอยู่กับสิ่งเหล่านั้นไม่มี มันก็ขาดตอนกัน

นี่แหละเรื่องของไตรลักษณญาณนะ
เมื่อบุคคลมาบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นในใจของผู้ใดแล้ว
มันก็เผาผลาญกิเลสต่างๆ ให้ดับไปๆ อยู่อย่างนั้น
หรือว่าเผาเหตุแห่งทุกข์ที่จิตใจมันจะยึดจะถือเอาไว้นั้นให้ดับไปๆ อยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นพระอริยบุคคลทั้งหลาย ท่านจึงมีจิตสม่ำเสมอ
จิตใจของท่านจึงไม่พลิกแผลงไป
เช่นอย่างว่า เดี๋ยวก็เป็นทุกข์ เดี๋ยวก็เป็นสุขขึ้นมาอย่างนี้นะ
นั่นเรียกว่าจิตใจพลิกแผลง
ของพระอริยบุคคลทั้งหลายท่านไม่เปลี่ยนแปลงอย่างนั้น
ท่านมีความรู้สึกเฉยต่ออารมณ์ต่างๆ ในโลกนี้
ทั้งที่เป็นส่วนดีหรือส่วนชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่วก็ตาม
ท่านเห็นก็สักว่าแต่เห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน
ได้ทราบหรือว่าได้รู้สึกก็สักแต่ว่าได้รู้สึกเท่านั้น
ไม่มีความหมายอะไรในทางจิตใจ
ไม่มีความหมายที่จะให้เกิดความยินดียินร้าย
เสียใจเศร้าโศกอะไรอย่างนี้นะ ไม่มีก็เป็นสักแต่ว่า
อันนี้แหละข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนามันก็ลึกเข้าไปโดยลำดับ อย่างนี้แหละ


ที่มา : หนังสือ ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
เรื่อง เพียรสอดส่องมองย้อน หน้า ๒๗-๔๓
:b8: :b8: :b8:

:b45: รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b49: :b50: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2022, 10:10 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2022, 08:37 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: :b39: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร