วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 05:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ส.ค. 2010, 16:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เกิดมาทำไม

เรื่องโดย พระ อาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ


รูปภาพ

เมื่อยังไม่รู้ธรรมะ ผู้เขียนถามตนเองอยู่บ่อยครั้งว่า เกิดมาทำไม ทำไมต้องเกิด และจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

คำตอบที่ให้ตนเองนั้นดูจะไม่ชัดเจนและไม่มั่นใจว่าจะถูกต้อง หรือไม่ ต่อเมื่อมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมและได้บวชแล้ว จึงมีความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาทำไมและจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ผู้เขียนเห็นว่า ความเข้าใจในเรื่องนี้มีความสำคัญต่อชีวิต เพราะหากเข้าใจผิดก็จะดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิด ความเข้าใจถูกจะนำพาชีวิตไปในทางที่ถูก ไม่เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นของยากยิ่ง

เหตุที่เรายังต้องเกิดมาหรืออยู่ในกระแสของการเวียนว่ายตาย เกิด (วัฏสงสาร) นั้น เพราะเราไม่รู้ความเป็นจริงหรือ อวิชชา คือไม่รู้ในหลักของ อริยสัจสี่ ว่าชีวิตตั้งอยู่บนพื้นฐานของความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ก็คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากหรือความยินดีพอใจ (กามตัณหา ภวตัณหา) กับความไม่ยินดีพอใจ (วิภวตัณหา) โดยมีความยึดหรืออุปาทาน ต่อตัณหาดังกล่าว นี่เป็นเหตุที่นำเรามาเกิดหรือสายเกิด

ส่วนการที่จะตัดกระแสของการเกิดหรือนิโรธ นั้นมีอยู่ นั่นคือถอดถอนตัณหาออกจากจิตโดยสิ้นเชิง วิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อถอดถอนตัณหาได้ก็คือ มรรคมีองค์แปด หากปฏิบัติตามมรรคทั้งแปดองค์ได้สมบูรณ์แล้ว ก็ถึงอรหัตผล ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก นี่เป็นสายดับ

เรื่องนี้ดูจะเข้าใจยากสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่าง ลึกซึ้ง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะนำมากล่าวถึง เรื่องที่จะนำเสนอในที่นี้ซึ่งก็คือ เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีชีวิตอยู่เพื่อทำหน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องทำมีอยู่สองประเภท ประเภทแรกหน้าที่ต่อผู้อื่นและสิ่งอื่น ประเภทที่สอง หน้าที่ต่อตนเอง

หน้าที่ต่อผู้อื่น ได้แก่ หน้าที่ต่อบุคคลที่เราสัมพันธ์ด้วย นับตั้งแต่บุคคลใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์กันแนบแน่นในครอบครัว เช่นมารดา บิดา สามี ภรรยา บุตร ญาติพี่น้อง ห่างออกไปก็มีมิตรสหาย บุคคลในองค์กรที่เราร่วมงานด้วย ตลอดจนผู้คนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่สัตว์เลี้ยง ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวตามขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม กฎระเบียบข้อบังคับ และพันธกรณีที่มีต่อกัน การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข จึงต้องยึดหลักของการทำเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อยู่อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักข่มใจต่อสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย มีความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากลำบากทั้งทางใจและทางกาย รู้จักเสียสละแบ่งปัน รู้จักให้อภัยผู้อื่น นอกจากนี้ควรให้หลักพรหมวิหารธรรม อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มาเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ธรรมดังกล่าวเป็นหลักธรรมกว้างๆ แต่ก็ใช้ได้ผลดี

การทำหน้าที่ต่อผู้อื่นต้องมีความเข้าใจว่า คนเรามีความแตกต่างกันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พฤติกรรมจึงต่างกันเป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ จะให้คนที่เรา สัมพันธ์ด้วยมีพฤติกรรมอย่างที่เราต้องการในทุกกรณีนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าใจในความแตกต่าง ยอมรับความแตกต่างโดยไม่แตกแยก

ส่วนหน้าที่ต่อสิ่งอื่น หมายถึงต่อสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ เช่น ของใช้ เพื่อการยังชีพและประกอบธุรกิจการงาน เราก็ต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งาน หรือชะลอความเสื่อม อย่างไรก็ตาม วัตถุสิ่งของทั้งหลายมีธรรมชาติที่จะต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา ต่อให้ดูแลรักษาดีเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้มันคงอยู่ในสภาพเดิมได้

หน้าที่ต่อตนเอง ประการแรก หน้าที่ในการเลี้ยงดูกาย คนส่วนใหญ่จะเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูกายอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาหารการกิน จะเลือกกินแต่อาหารที่ตนชอบ แม้ว่าอาหารบางอยางจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ หากบริโภคเข้าไปมากๆ กลับเป็นผลเสียต่อสุขภาพด้วย โรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างจึงเข้าทางปากการดูแลรักษาร่างกายก็เพื่อให้มีอายุ ยืนยาว มีสุขภาพดี แต่ต่อให้ดูแลรักษาสุขภาพดีเพียงใดก็ตาม ร่างกายก็ต้องแก่ เจ็บ และตายเป็นธรรมดา ไม่ต่างไปจากการดูแลรักษาวัตถุสิ่งของเลย เราจึงต้องเตรียมใจที่จะยอมรับความแก่ ความเจ็บ และความตายซึ่งกำลังเดินทางเข้ามาด้วยใจที่กล้าหาญ ไม่หวั่นไหว เพราะเป็นความจริงที่ทุกคนจะต้องพบ

หน้าที่ต่อตนเองอีกประการหนึ่งก็คือ การดูแลรักษาและพัฒนาจิตใจ ซึ่งมีความสำคัญที่สุดสำหรับการเกิดมาเป็นมนุษย์จิตที่ได้รับการพัฒนาแล้วนำ สุขมาให้ นอกจากนี้จะทำการสิ่งใดก็ย่อมดี นำคุณประโยชน์มาสู่ตนเองและผู้อื่น คนเราจะดีจะชั่วจะสุขจะทุกข์ ก็ขึ้นอยู่กับจิตของตน ทุกคนต่างก็ปรารถนาความสุขแต่กลับสร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ร่ำไป เรารู้ว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นทุกข์เช่น ความโกรธ ความเครียด ความวิตกกังวล ความห่วงใย ความอิจฉาริษยา ความเหงาซึมเศร้า แต่เรากลับมาปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับตนเองทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่สามารถระงับยั้งหรือสลัดละวางออกจากจิต กลับสร้างความคุ้นเคย เป็นพฤติกรรมของจิต จนยากที่จะแก้ไขได้

การเลี้ยงดูกายนั้น หากอาหารใดที่บูดเน่าเป็นของเสียหรือมีรสไม่อร่อย เราจะไม่กิน แต่จิตใจนั้นเรากลับให้จิตเสพของเสียที่บูดเน่า คำพูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนบางคนเป็นเสมือนของเสียที่บูดเน่า เพราะแสดงออกมาจากใจที่เสีย เมื่อสิ่งนั้นมากระทบ เรากลับรับมาเสพเป็นอารมณ์ของจิต จิตจึงพลอยเสียไปด้วย แทนที่จะรีบเอาทิ้งเสีย กลับหวงแหนเก็บเอาไว้เสพหรือครุ่นคิดอยู่เนืองๆ โดยที่ไม่มีใครบังคับให้ทำเช่นนั้น ความรู้ต่างๆที่อุตส่าห์เล่าเรียนมาทางโลกกลับไม่ช่วยอะไรได้เลย เป็นพวกความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอดจากความทุกข์

ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกคนเกิดมามีกิเลสตัณหาติดมากับตัวด้วย หากหมดกิเลสตัณหาก็คงไม่ต้องเกิดอีก กิเลสตัณหาไม่เคยเกรงกลัวใครและไม่มีอำนาจใดๆที่จะเอาชนะมันได้ มีแต่ธรรมะเท่านั้นที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้ การดูแลรักษาและพัฒนาจิตจึงต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพราะลำพัง ความรู้ทางโลกมีแต่จะส่งเสริมให้กิเลสตัณหาและอุปาทานมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ไม่สามารถที่จะสร้างสันติสุขภายในให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

พระพุทธองค์ทรงให้แนวทางในการพัฒนาจิตไว้คือ สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน ทางปฏิบัติทั้งสองนี้จะช่วยให้จิตได้รับการพัฒนา จากจิตหยาบ ไร้คุณธรรม สู่จิตประณีต มีคุณธรรมจากจิตที่มากด้วยทุกข์ สู่จิตที่มีสันติสุข จากจิตที่มากด้วยตัณหาสู่จิตที่เปี่ยมด้วยปัญญาหรือวิชชา เปลี่ยนจากจิตปุถุชน เข้าสู่จิตอริยชนได้ในที่สุด

ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านใช้โอกาสของการได้เกิดมาเป็น มนุษย์ พัฒนาจิตของท่านตามแนวทางที่พระพุทธองค์ประทานไว้ อย่าให้เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เลย

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร