วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2010, 04:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ด้วยรักและความทรงจำนิรันดร์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ เรื่องโดย กิตานันท์,ภัทรนันท์

วานิช จรุงกิจอนันต์ หรือพี่วาณิช เจ้าของรางวัลซีไรต์คนที่ 3 จากรวมเรื่องสั้นชุด “ซอยเดียวกัน” เมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นนักเขียนที่คุ้นเคยของแพรวท่านหนึ่ง ที่เคยแวะเวียนมาพบผู้อ่านในรูปแบบของบทความและบทสัมภาษณ์อยู่เป็นระยะ ในวาระที่ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แพรวได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากบุคคลในครอบครัวของท่าน บอกเล่าถึงเกร็ดเรื่องราวบางมุมของชีวิต จนกระทั่งวาระสุดท้าย รวมถึงบางเรื่องราวจากความทรงจำของชาวแพรว ที่เคยพบกับพี่วานิช ซึ่งขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้เพื่อร่วมระลึกถึงพี่วานิชไว้ในความทรงจำตราบนิรันดร์

ทอรุ้ง จรุงกิจอนันต์-ภรรยา

ค่ำวันหนึ่งของปลายปีที่แล้ว คุณวานิชมีอาการช็อกเฉียบพลัน พอมาถึงห้องฉุกเฉิน ดิฉันได้ยินเสียงหมอ-พยาบาลลอยมาให้ได้ยิน ว่าไม่มีสัญญาณชีพแล้ว ดิฉันตามลูกๆ มานั่งรอที่ห้องไอซียู ผ่านไปเกือบหกชั่วโมง พยาบาลเดินออกมา ดิฉันคิดว่าคงตามพวกเราเข้าไปดูใจ แต่กลับบอกว่าคุณวานิชอยากกินเกี๊ยวกุ้ง ดิฉันจึงรู้ว่าเขาพ้นขีดอันตรายแล้ว

อาการป่วยครั้งนั้นทำให้ทราบว่า เกิดจากเกล็ดเลือดต่ำมาก พอเจาะไขสันหลังจึงรู้ว่าเขาเป็นโรค MDS หรือไมอีโลดิสพลาสติกซินโดรม ( Myelodysplastic Syndrome ) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก คนทั่วไปเรียกว่า พรีลิวคีเมีย ( Preleukemia ) เป็นโรคที่คาดว่าจะรักษาหายได้ ทำให้คุณวานิชมีกำลังใจมาก แล้วเราก็ได้หมอที่เก่งมาก อย่าง นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แล้วยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาเป็นยาดีที่สุดในตอนนั้น มีทั้งหมด 6 คอร์ส ต้องฉีด 6 เดือนติดต่อกัน ฉีดได้ 3 คอร์ส ดูจากผลเลือดแล้วดีขึ้น แต่เรารู้ว่าโรคนี้มีความเสี่ยงสูง ต้องระวังอย่าติดเชื้อเด็ดขาด แต่คุณวานิชเป็นคนสบายๆ ตลอดเวลาที่รักษาด้วยเคมีบำบัด เขาสามารถขับรถไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต คือใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่มีอาการของคนป่วยด้วยมะเร็งเลย

จนวันหนึ่งเขามีอาการติดเชื้อ ผลตรวจออกมาจำนวนเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้น ดิฉันรู้ทันทีว่าเป็นสัญญาณร้าย แต่เลือกที่จะไม่บอกความจริงกับเขา เพราะตอนนั้นจิตใจเขาเหมือนลูกโป่งที่กำลังพองลม เราไม่อยากเอาเข็มไปเจาะให้แตก

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน เขามีอาการช็อคแบบเดิมอีกครั้ง คุณหมอบอกว่า คนไข้ผู้ใหญ่ที่เป็น MDS แล้วข้ามมาเป็นลิวคีเมียจะอยู่ได้นานแค่เป็นเดือนเท่านั้น ดิฉันกลับมาบอกลูกๆ แล้วตั้งแต่วันนั้นดิฉันเคยดูแล คอยพูดสิ่งดีๆกับเขา เขาชอบฟังเรื่องอะไรก็พูดเรื่องนั้น โดยเฉพาะช่วงชีวิตที่ดีของเขา จากเด็กสุพรรณฯ เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ มีวัดเป็นที่พักพิง จนมาวันหนึ่งมีลูกที่ดี 3 คน เขามักพูดเสมอว่า มีความสุขมาก ที่ลูกๆคอยดูแลและพยาบาลทุกคน ซึ่งตลอดเวลาเขาคิดว่าตัวเองจะหายตลอด

จนถึงวันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม เขามีอาการปวดม้ามอย่างรุนแรง คุณหมอต้องให้มอร์ฟีนตลอด 48 ชั่วโมง คุณหมอบอกดิฉันว่า ไม่ไหวแล้วนะ เดิมเราตั้งใจจะจัดงานเดือนธันวาคมปีนี้ แต่คุณหมอบอกว่าไม่ได้หรอก ดิฉันถามกลับไปว่าอีกสักเดือนได้ไหม คุณหมอตอบกลับมาว่า ไม่ทัน

ดิฉันรู้ทันที รีบหาฤกษ์แต่งงาน เป็นวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม เรียกลูกมาบอก เขาก็เต็มใจ พอพี่นิวัติ (นิวัติ กองเพียร) รู้เรื่อง ก็บอกว่าเดี๋ยวผมจัดการให้เอง แล้วเราก็ลุ้นให้คุณวาณิชอยู่ถึงวันศุกร์ วันจันทร์เขาอาการดีขึ้น คุณหมอจึงหยุดให้มอร์ฟีน และกลับบ้านได้ในวันพุธ

คุณวาณิชไม่ชอบการอยู่โรงพยาบาลที่สุดในโลก พอกลับถึงบ้าน แม่บ้านจัดข้าวมาวาง เขายกจานข้าวขึ้นดมแล้วพูดว่า หอมจังเลย เขามีความสุขกับการกลับมากินข้าวที่บ้านมากขนาดนั้น แล้วขึ้นไปอาบน้ำสระผมเอง

ระหว่างเตรียมงานแต่งที่บ้าน คุณวาณิชเดินดูไปทั่ว พูดกับพี่นิวัติว่าเขามีความสุขมาก บ้านตกต่างด้วยดอกไม้สวยเหลือเกิน ด้วยความที่เขาแอ๊คทีฟมาก คืนวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม จึงมีไข้ขึ้นตั้งแต่ตีหนึ่งถึงตีห้า ต้องคอยเช็ดตัวตลอด ยังคิดว่าเขาคงไม่ไหวแล้ว พอนาฬิกาบอกเวลาเจ็ดโมงเช้าของวันศุกร์ที่ 14 เขาตื่นขึ้นมาบอกว่า เจ็ดโมงแล้วพระกำลังจะมา และรีบลุกขึ้นแต่งตัว อาการดีขึ้น ไข้ลดลง

ขณะทำพิธีหลั่งน้ำสังข์ บอกให้เขาอวยพร เขาบอกว่า ไม่ต้องอวยพรหรอก เขาทั้งสองมีความสุขมากอยู่แล้ว “เพ แฮ็ปปี้นะลูก อ้วนแฮ็ปปี้นะลูก” เขาพูดแค่นี้ ดิฉันคิดว่าเขาคงกลัวตัวเองร้องไห้

ตอนที่บอกเพื่อนๆ ถึงงานแต่งของลูกสาว ดิฉันว่า ใครอยากให้คุณวาณิชเจอใคร ช่วยตามกันมาเองนะ ทีแรกคิดว่าคงมีแขกสัก 100 คน ปรากฏว่ามาเกือบ 300 คน เขามีความสุขมาก เพราะได้เจอคนที่รักและนับถืออย่าง คุณอานันท์ ปันยารชุน มานั่งทานข้าวที่บ้าน คุณวาณิชอยู่ร่วมงานจนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่เขาเหนื่อยมาก พี่นิวัติก็พาขึ้นไปนอนชั้นบน เขายืนเกาะเตียงมองลอดไปทางหน้าต่างเหมือนเด็กๆ คอยชะเง้อมองแขกในงานแต่งงานของลูก ด้วยรอยยิ้มและแววตาแห่งความสุข

จนกระทั่งพี่นิวัติขึ้นไปถามว่า อยากลงมาคุยกับเพื่อนๆ ไหม คุณอานันท์ ปันยารชุน พี่แอ๋ว-คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ก็ยังอยู่ เขาบอกว่าอยากไปมากเลย พวกเราเข็นพาไปที่ห้องนั้น แล้วตามลูกๆ มาถ่ายรูป เขายังบอกว่า

“เอาสายออกซิเจนออก เดี๋ยวไม่หล่อๆ แต่งงานลูกเร็วไปหน่อย ทำไมไม่เลื่อนไปอีกอาทิตย์หนึ่ง จะได้หล่อๆ ตอนนี้ยังเหนื่อยๆอยู่”

จากนั้นเขาบอกว่าอยากกินหอยทอดเจ้าหนึ่ง ชอบเหลือเกิน แต่ไม่เอาน้ำจิ้มหอยทอดนะ ขอเป็นน้ำจิ้มศรีราชา พี่วัติก็สั่งไปให้ เขาดีใจมาก ปกติไม่ให้กินผักดิบ แต่วันนั้นตามใจให้กินหมดเลย แล้วเขานอนพักตั้งแต่บ่ายจนเย็น สังเกตเห็นเขามีเลือดออกเต็มปาก ดิฉันตกใจมาก โทรศัพท์บอกคุณหมอยุทธพงษ์ หาญวงศ์ ที่คุณวาณิชบอกว่าเป็นผู้ที่ต่อท่อชีวิตให้เขามาตลอด คุณหมอบอก ไม่เป็นไร คุณวาณิชกัดลิ้นตัวเอง จึงปล่อยให้เขานอนพัก

กระทั่งรุ่งขึ้น สิบเอ็ดโมงเช้า ดิฉันตกใจว่าทำไมนอนนิ่งไม่ไหวติง จึงรีบพาไปส่งที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร คุณหมอบอกว่า ปอดติดเชื้อและมะเร็งกินไปหมดทั้งปอดแล้ว เหลือเวลาอีกไม่เกิน 48 ชั่วโมง ดิฉันจึงตามลูกๆ มา สั่งห้ามทุกคนร้องไห้ เพราะคุณวาณิชไม่รู้

คุณหมอจัดการเรื่องความเจ็บได้ดีมากๆ ตลอดเวลาเขาไม่เจ็บไม่ปวดเลย จนตอนกลางคืน ทุกคนกลับบ้าน เหลือดิฉันกับเขา แล้วเริ่มมีสัญญาณไม่ดี คือมีเลือดออกทางปากกับจมูก จึงรีบโทรศัพท์ตามลูกๆ และลูกเขย-หมออ้วน ที่ช่วยใช้เครื่องดูดเสมหะมาดูดให้ทั้งคืน ถ้าเป็นคนไข้ปกติ มีก้อนเลือดมาอุด แล้วหายใจไม่ออก ทำให้ทุรนทุรายมาก แต่เขาหายใจโล่งทั้งคืน

คืนนั้นดิฉันอยู่ข้างเขาโดยมีลูกๆล้อมรอบ ดิฉันคุยกับเขาทั้งคืน เล่าเรื่องตั้งแต่วันแรกที่เราพบกัน งานแต่งงานของเราเป็นอย่างไร ถ้าช่วงไหนอาการเขาเริ่มไม่ดี ก็จะคุยถึงเรื่องไปทำบุญด้วยกัน ไหว้พระองค์นั้นองค์นี้ แล้วให้เขาสวดพุทโธไว้ กระทั่งหกโมงเช้า พยาบาลบอกว่าอาการไม่ดี ดิฉันจึงพูดกับเขาว่า ตอนนี้เราไปไหว้พระแก้วมรกตกันดีกว่า คุณวาณิชเคยบอกว่า เป็นพระหยกใช่ไหม บอกให้เขาไหว้พระ ตั้งนะโม จนลูกสาวส่งสัญญาณว่า พ่อไปแล้ว

เขาไม่ทันได้สั่งเสีย เพราะไม่รู้ว่ากำลังจะตาย ดิฉันเคยถามเขาว่ายังอยากทำอะไรบ้างไหม เขาบอกว่า ไม่อยากทำอะไรแล้ว แค่อยากเป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกเมียเท่านั้น ตอนนี้เขามีความสุขมากแล้ว ดิฉันบอกว่า รักเขามาก เขาตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษสั้นๆ ว่า

“ I love you…I really love you. ”

เพกา จรุงกิจอนันต์ ลูกสาวคนโต

พ่อของเพเป็นคนสบายๆ นิ่งๆ เรื่อยๆ ไม่มีอารมณ์ศิลปินจัด เพราะฉะนั้นในเรื่องที่คนอื่นยินดีใหญ่โต เขาจะเฉยๆ นิ่งๆ ขำๆ เรื่องที่คนอื่นว่าเจอเข้าต้องแย่ เสียใจ บ้านเราจะไม่เป็นอย่างนั้น แค่คุยกันว่า มันแย่นะ แต่ไม่มีอะไรมากินข้าวกันดีกว่า นี่คือสิ่งที่คุณพ่อทำให้ดู จึงทำให้เราเป็นคนนิ่งๆ พยายามมองอะไรในแง่บวกไว้ก่อน

เพเคยบอกพ่อว่า พ่อดูสิ ก๋งวาดรูปได้ เก๋งเขียนหนังสือได้ แต่เพสิ ไม่ได้พ่อมาสักอย่างพ่อจะบอกว่า เพได้สมองพ่อไปไง เรียนเก่ง แล้วเราก็หัวเราะกัน

พ่อชอบให้เพเรียนหนังสือ พอเรียนดีแล้วอยากได้อะไร แค่กระซิบบอก พ่อก็ให้ อย่างตอนเรียนจบทันตแพทย์ได้เกียรตินิยม เพได้ยินพ่อคุยอวดเพื่อนๆ จึงรู้ว่าพ่อชอบ พ่อจะไม่ชมตรงๆ ว่าลูกเก่งจังเลย แต่ไปคุยกับเพื่อนๆ ว่า ลูกๆสอบเรียนต่อได้แล้วนะ วันรับปริญญาของลูกทุกคน พ่อจะแต่งตัวหล่อ ใส่สูทไปร่วมงานทุกครั้ง

ไม่แน่ใจ ว่าทำไมพ่ออยากเห็นเพแต่งงาน แต่รู้สึกได้ว่าพ่อถูกใจแฟนเพคนนี้มาก เพราะคบกันมา 9 ปี จะคอยถามถึง ชอบบอกให้เอาขนมไปฝาก เวลาไปคุยกับคนอื่น พ่อจะพูดประมาณว่า ลูกสาวมีแฟนแล้วนะ ตอนแรกคุยกับแฟนว่าน่าจะแต่งงานปีนี้หรือต้นปีหน้า พอพ่อเริ่มไม่สบายมาก แม่บอกว่าต้องภายในปีนี้เท่านั้น จึงวางแผนให้เป็นภายในเดือนธันวาคม แต่วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม ขณะที่เพขับรถไปทำงาน แม่โทรศัพท์มาบอกว่าให้แต่งวันศุกร์หน้า เพราะหมอบอกว่าอาการพ่อไม่ดีแล้ว เพไม่ต้องทำอะไรเลยนะ แค่หาชุดให้ตัวเองก็พอ

ตอนเย็น แฟนพาคุณพ่อคุณแม่ของเขาไปหาพ่อ เพื่อสู่ขอลูกสาวที่โรงพยาบาล พ่อลุกขึ้นมานั่งอย่างดี พ่อพยายามบอกว่า ผมอยากให้จัดเล็กๆก่อน ถ้าสองคนนี้เขาอยากไปฉลองใหญ่ๆ กับเพื่อน ค่อยทำทีหลัง คราวนี้แต่งตามฤกษ์ก่อน

วันแต่งงาน เพไม่ได้คุยกับพ่อนัก เพราะยุ่งมาก ได้ยินจากแม่ว่าพ่อมีความสุขมาก เพราะมีแต่เพื่อนสนิท เป็นคนที่พ่อรักและอยากพบมาทักทายกัน ในวันที่พ่อมีความสุข พ่อลงมาหลั่งน้ำสังข์ให้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ รับขวัญลูกเขยด้วยการมอบพระผงสุพรรณ เพราะเป็นคนสุพรรณฯ ส่วนลูกสาวไม่ได้ให้ เพราะให้มาเยอะทั้งชีวิตแล้ว

ตอนแรกที่รู้ว่าคุณพ่อป่วยเป็นอะไร เพไม่ได้อ่านเว็บไซต์ที่เขาทำให้คนทั่วไป แต่เพโหลด Medical Journal มาเลยว่า เขามีรายงานวิธีรักษาอย่างไร รวมทั้งโอกาสหายและโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก จึงรู้ว่าส่วนใหญ่รักษาไม่หาย มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่สูง ซึ่งจะเร็วและรุนแรงกว่าเดิมมาก ข้อมูลพวกนี้เพรู้อยู่แก่ใจ ไม่ได้บอกแม่หรือใครอื่นเลย

คืนก่อนที่พ่อจะเสีย พ่อไม่ค่อยรู้สึกตัว มีอาการเหม่อ บางทีผุดลุกขึ้นมานั่ง ไม่ยอมนอน แม่บอกว่า เพไปกอดข้างหลังพ่อสิ พยุงไว้ พ่อมีอาการเกร็ง เพกระซิบบอกว่า “นี่เพค่ะ นี่เพค่ะ” เพรู้สึกได้เลยว่าพ่อรู้สึกผ่อนคลายๆ ค่อยๆ โน้มตัวลงไปนอนนานเป็นชั่วโมง แล้วลุกขึ้นมาอีก เพก็บอกว่า “เพค่ะ นอนสบาย ๆ นะคะ” พ่อก็ล้มตัวลงนอน

ช่วงที่พ่อป่วย จากที่บ้านเราเคยต่างคนต่างกิน พอแม่ชวนให้มากินข้าวด้วยกันในทุกวันจันทร์ พอกินข้าวเสร็จก็มานั่งดูทีวีด้วยกัน พ่อชอบรายการเรียลิตี้เกี่ยวกับการเต้น นั่งลุ้นไปกับลูกๆ

เป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆ และจะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป



กงพัด จรุงกิจอนันต์ (ก๋ง)

ตอนเรียน ม.ปลาย อายุ 17 ปี ผมชอบวาดรูป พ่อเห็นก็ชมว่า “ชอบวาดรูปหรือ ดีๆ” ผมหยุดวาดไปช่วงหนึ่ง ตอนสอบเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ พอเรียนปี 3 รู้สึกอยากกลับมาวาดใหม่และเริ่มวาดจริงจัง พ่อจึงพาไปเรียนกับเพื่อน คือ ลุงเทพ-เทพศิริ สุขโสภา ลุงเปี๊ยก-พิศาล ทิพารัตน์ จนฝีมือค่อยๆพัฒนา พ่อเห็นผลงานตอนแรก ชมว่าดี แต่สักพักท้วงว่า ทำไมไม่เขียนอะไรให้ “เทพๆ” สักที หมายถึงเขียนให้ดีกว่าเดิม พอช่วงหลังที่พ่อเริ่มป่วย ผมเริ่มเข้าใจขึ้น ทำให้วาดได้ดีขึ้นมาก รู้สึกว่าพ่อชอบใจ เคยวาดรูปพ่อ แต่ยังไม่เสร็จ เพราะพ่อค่อนข้างขี้เกียจเป็นแบบ พ่อไม่ชอบนั่งเฉยๆ

ทุกครั้งเวลาวาดรูปเสร็จ ต้องให้พ่อดูก่อน ถึงพ่อจะชอบบ่นก็ตามที รูปไหนไม่ค่อยสวย พ่อจะทำเสียงเข้ม ตรงนี้ยังไม่ดี ทำไมไม่ดูให้ดี ผมจะรีบกลับไปวาดใหม่ให้ดีๆ

ผมเคยไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้เรื่องสงครามโลก พ่อไม่กล้าไปเชียร์ ให้แม่คอยโทรศัพท์บอกว่าถึงไหนแล้ว ขนาดเวลาดูการแข่งขันบาสเกตบอล ถึงช่วงสำคัญทีไร พ่อจะแอบไปหลบข้างเสา กลัว ไม่อยากลุ้น พอผมชนะแฟนพันธุ์แท้ รู้สึกได้เลยว่าพ่อดีใจมากกว่าผมเสียอีก

คำสอนของพ่อช่วงท้าย พ่อพูดเปรยๆว่า เวลาเขียนหนังสืออย่าเขียนให้ถูกต้องนักหรือเหมือนจริงเกินไปนัก ผมจึงนำมาประยุกต์กับการวาดรูป ถ้าวาดไปสักพักจะเริ่มรู้หลัก ฉะนั้นเราต้องทิ้งหลักการที่เรารู้มา แล้วลงมือวาด พูดง่ายๆ คือ ทิ้งความถูกต้อง จดจ่อกับรูปที่เขียน ไม่ต้องสนใจว่าจะถูกหรือผิด แค่ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดี สมมุติว่าถ้าจะทำเรื่องงานเขียนนิยายให้ขายดี พระเอกต้องหล่อ เวลาเขียนเรื่องจริงๆ เราต้องลืมเรื่องหลักการพวกนี้ให้หมด พระเอกจะเป็นอย่างไร ก็ให้เข้ากับเรื่องที่พูดตรงหน้าเท่านั้นพอ

พ่อไม่เคยบังคับว่าจะต้องเป็นอะไร หรือกำหนดให้เราเป็นอะไร ตอนนี้ผมกำลังเรียนปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรม สาขาวิชาวิจิตรศิลป์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพราะผมอยากเป็นศิลปิน เพื่อทำตามคำสัญญาสุดท้าย ที่ให้กับพ่อว่า

“ผมจะเป็นสุดยอดนักวาดรูป”



สงฟาง จรุงกิจอนันต์ (เก๋ง)

เคยมีคนถามว่า โตขึ้นอยากเป็นนักเขียนเหมือนพ่อหรือเปล่า ผมตอบไปตามประสาเด็กว่า ไม่อยากเป็น ไม่เอา ดูน่าเบื่อจะตาย ตอนนั้นคิดว่า เดินตามพ่อไม่เห็นสนุกเลย แต่ชีวิตการเขียนหนังสือของผมเริ่มจากการอ่านการ์ตูน พัฒนาเป็นนิยายเด็ก พออ่านไปเรื่อยๆ จึงลองเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ สุพันธ์ แปลว่า พันธุ์ดี พ่อบอกว่าแต่งเรื่องมาแบบนี้ดีมากเลยนะ มีจุดดีอย่างนั้นอย่างนี้

พอผมโต ขึ้นแล้วกลับไปอ่านใหม่ ผมจึงรู้ว่าพ่อรู้ว่าเรื่องไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่คงเห็นแวว ถ้าขุนเราไปเรื่อยๆ คงสามารถทำให้ดีกว่านั้นได้ เรื่อง “สุพันธุ์” ทำให้ผมได้รับรางวัลชมเชยจากไบโออิติก หรือชีวจริยธรรม แม้พ่อไม่พูด แต่ผมรู้ว่าพ่อดีใจมาก

เรื่องการเขียน พ่อไม่มาก้าวก่ายเลย เวลาวิจารณ์ก็พูดแบบกลางๆ ไม่บอกว่า อันนี้ถูก อันนี้ผิด คงกลัวว่าจะทำให้เราเสียความมั่นใจ อย่างพี่ก๋งเขียนรูป พ่อไม่ได้ทำงานตรงนั้นจึงสอนได้เต็มที่ แต่สำหรับผมพ่อเป็นนักเขียน ถ้ามาช่วยมากๆ คงต้องมีคนพูดว่า พ่อช่วย ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีกับการปล่อยให้เขียนอย่างอิสระ เพราะพ่อเข้าใจดีว่า นักเขียนแต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องที่พ่อชอบอ่านเสมอไป

ครอบครัวเราไม่เคยสอนกันตรงๆ แต่ลูกๆ จะคอยดูว่า พ่อแม่ใช้ชีวิตอย่างไร แล้วทำอย่างเขา พ่อเป็นคนไม่กลัวอะไร ใจนักเลง พ่อรู้ว่าสิ่งที่ทำ ได้ไตร่ตรองไว้แล้ว จึงไม่กลัวที่จะทำสิ่งสิ่งนั้น พอมีใครมาวิจารณ์งานเขียน พ่อตอบกลับทันทีว่าเป็นอย่างนี้ดีแล้ว มันดีตรงนี้ คุณอย่ามาเถียงผมเรื่องนี้นะ คนที่เข้าใจงานของพ่อ จะรู้ว่าพ่อคิดอะไร เพราะพ่อสื่อความคิดออกมาในงานตัวเองได้ดีมาก

ผมรู้ว่าการเขียนหนังสือทีดีเป็นอย่างไรจากผลงานของพ่อ ที่เน้นเรื่องการสะกดคำและการเว้นวรรค-ย่อหน้า พ่อมักจะพูดรวมๆ ว่า คนสมัยนี้ชอบสะกดไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เอามาใช้ผิดๆ จนทำให้คำที่สะกดผิดกลายเป็นถูกไป

ผมกับพ่อสนิทกัน ชอบคุยกันเรื่องหนังสือ พ่อสอนโดยยกตัวอย่างนักเขียนอย่างเฮมิงเวย์ว่าการเป็นนักเขียน ควรมี 2 ใน 3 ข้อนี้ คือ ประสบการณ์ สังเกตการณ์ และจินตนาการ

วันที่พ่อเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย ผมไปทำธุระที่เขาใหญ่ ระหว่างกลับ เพื่อนคุณแม่โทรมาบอกว่า ให้รีบกลับมานะ แม่มีธุระจะพูดด้วย ตอนนั้นผมรู้อยู่แล้วว่าพ่อเข้าโรงพยาบาลอีกรอบหนึ่ง พอจะเดาได้ว่า ธุระนั้นคงให้รีบกลับมาดูใจพ่อ แต่มีเหตุม็อบเสื้อแดง ทำให้ตำรวจตั้งด่านตรวจ การจราจรติดขัดมาก ผมกระวนกระวายว่าจะมาทันหรือเปล่า ถึงโรงพยาบาลประมาณสองทุ่ม ก่อนจะเข้าไปในห้อง แม่บอกเหมือนรู้ใจผมว่า “ไม่เป็นไรลูก เก๋งมาทัน” ผมโล่งใจไปเปลาะหนึ่ง แม่บอกว่า พ่อจะอยู่ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ผมเข้าไปคุยกับพ่อ เล่าให้ฟังว่า

“พ่อครับเก๋งจะกำลังเขียนนิยายนะ เขียนไปได้นิดหนึ่งแล้ว เสร็จเมื่อไหร่จะให้พ่ออ่าน”

ตอนนั้นพ่อพูดโต้ตอบไม่ไหวแล้ว ได้แต่พยักหน้ารับ

วันนี้ถ้าใครถามผมว่า อยากเป็นนักเขียนเหมือนพ่อไหม คำตอบของผมคงเปลี่ยนไป ผมจะตอบเขาว่า

“ผมอยากเป็นนักเขียน อยากเดินตามรอยพ่อครับ”



วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5คน บิดาทำงานโรงสีข้าว มารดาทำขนมขาย

เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนบางปลาม้า “สูงสุมารผดุงวิทย์” การช่างจากโรงเรียนช่างศิลป์ กรุงเทพฯ และปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทที่คณะศิลปะ มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

วาณิช มีผลงานการประพันธ์มากมายมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ ชุด “จดหมายถึงเพื่อน” ซึ่งเขียนเล่าเรื่องระหว่างไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยเสนอในรูปแบบจดหมายที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน แล้วส่งจากสหรัฐอเมริกามาลงในนิตยสาร “ลลนา” ตั้งแต่ปี 2518 เมื่อกลับจากสหรัฐอเมริกาจึงยึดการประพันธ์เป็นอาชีพ มีผลงานหลายรูปแบบทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย ร้อยกรอง บทความ สารคดี บทละครโทรทัศน์ บทภาพยนตร์ และงานเขียนเบ็ดเตล็ดที่โดดเด่นในการใช้สำนวนกวนอารมณ์ขันอีกมาก นอกจากจะปรากฏอยู่ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับแล้ว ยังมีผลงานรวมพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่อยู่เสมอ หลายเรื่องได้รับรางวัลจากองค์กรต่างๆ และที่สร้างชื่อที่สุดคือ ได้รับรางวัลซีไรต์ หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประเภทรวมเรื่องสั้น ปี 2527 จาก “ซอยเดียวกัน” และนวนิยายหลายเรื่องเช่น แม่เบี้ย ตุ๊กตา และเคหาสน์ดาว มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2010, 22:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว




16433.jpg
16433.jpg [ 14.83 KiB | เปิดดู 3115 ครั้ง ]
:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับท่านธรรมบุตร smiley smiley smiley


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2010, 10:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ขอบคุณเรื่องเล่าดีดี อ่านแล้วทำให้สดชื่น ได้แง่คิดดีดี
คำว่ารัก มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ มีค่า ถ้ารู้จักดูแล รักษา เข้าใจกัน
จงเติมความรักให้กันทุกวัน...เพราะไม่รู้วันไหนจะเป็นวันสุดท้ายของเรา

สาธุ สาธุ สาธุนะคะ...พี่ธรรมบุตร

เมื่อวานวันพระแวะไปทำบุญที่วัดประทุมวนารามมาค่ะ ฝันถึงแม่ด้วยนะคะ

:b48: ธรรมรักษาค่ะ :b48:


รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2016, 09:47 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


rolleyes


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร