วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 15:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2010, 14:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ลูกที่เลี้ยงง่าย คือมีน้ำใจต่อพ่อแม่

ศีล ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะศีล ๕ ที่ว่าไม่เบียดเบียนละเมิดกันอย่างเห็น ๆ เท่านั้น ศีลเบื้องต้นที่อธิบายมานี่แหละสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติต่อปัจจัย ๔

เป็นอันว่า จะต้องพิจารณาเวลาฉัน เวลาใช้ของทุกอย่าง แต่ที่เน้นมากก็คือเรื่องอาหาร เพราะเป็นจุดสำคัญที่เด่นในชีวิตประจำวันของคน ถ้าในเวลาที่ฉันนั้นไม่ได้พิจารณาก็เอาไปพิจารณาย้อนหลัง

บทย้อนหลังก็เปลี่ยนเป็น อัชชะ มะยา อปัจจะเวกขิตวา แปลว่า ในวันนี้ ส่วนอดีตที่ผ่านมา ที่ข้าพเจ้าฉันโดยไม่ได้พิจารณานั้น ขอทบทวนไว้ พรุ่งนี้ก็หันกลับมามีสติพิจารณาใหม่ ใช้กับปัจจัยทั้ง ๔ อย่าง มีปัจจัย ๔ ก็มีบทปฏิสังขาโย ๔ บท แล้วก็มีบทอัชชะ มะยา ๔ บท

บทสวดเหล่านี้ เมื่อเราอยู่กันมากขึ้นกลายเป็นเรื่องของหมู่คณะ ก็อาจจะต้องมีรูปแบบมาช่วย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ และเป็นสื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงจัง เช่น ตกลงเป็นกติกาว่า ก่อนฉัน เราสวดปฏิสังขาโยพร้อมกันนะ อย่างนี้เป็นต้น

ของฝรั่งเขาก็มีการสวดก่อนรับประทานอาหารเหมือนกัน แต่เขาสวดขอบคุณพระเจ้าว่า ที่เขาได้อาหารมารับประทานนี่ ก็ด้วยพระผู้เป็นเจ้ามอบให้

แต่ในพระพุทธศาสนา การที่สวดก็คือให้พิจารณาฉันอาหารด้วยปัญญา โดยเข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงของการรับประทานอาหาร

ถ้าจะขอบคุณ ก็ขอบคุณบิดามารดาเป็นต้น และอนุโมทนาญาติโยมที่ได้มีศรัทธามาบำรุงให้มีฉัน มีปัจจัยที่จะเกื้อหนุนพรหมจริยะ สามารถบำเพ็ญกิจหน้าที่ได้ โดยไม่ต้องเป็นห่วงกังวลด้านความเป็นอยู่

ตอนนี้ได้พูดเน้นเฉพาะในแง่ของการฉันภัตตาหาร เพราะว่าพระสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัยไว้ให้มีความเป็นอยู่โดยไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง หมายความว่าไม่ประกอบการอาชีพหาเงินทองอย่างชาวบ้าน แต่ให้ทำหน้าที่บำเพ็ญกิจกรณีย์ของตนเอง

การทำหน้าที่ของตนเองนั่นแหละเป็นการทำอาชีพอยู่ในตัว

ไม่ใช่ว่าพระไม่มีอาชีพ พระก็มีอาชีพ คือการดำรงชีวิตของตัวเองให้ถูกต้องตามบทบาทด้านธรรมวินัย ซึ่งเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์

ประชาชนเขามีศรัทธา เขาต้องการให้ธรรมดำรงอยู่ในโลก เขาต้องการให้คนดีมีอยู่ในโลก เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของสังคม เขาก็ต้องมาทำนุบำรุง ญาติโยมจึงมาถวายภัตตาหารด้วยศรัทธา และด้วยจิตที่มุ่งหมายว่าจะช่วยศึกษาธรรม โดยมาอุดหนุนท่านผู้ดำรงธรรม ประพฤติธรรม เผยแผ่ธรรม ให้มีชีวิตอยู่และทำกิจหน้าที่ได้สะดวก

พระอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ ท่านให้พิจารณาระลึกไว้ตลอดเวลาว่า ปรปฎิพัทธา เม ชีวิกา แปลว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเรานี้เนื่องด้วยผู้อื่น เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำตัวให้เลี้ยงง่าย

การเป็นผู้ที่เลี้ยงง่ายนั้น ก็คือไม่เป็นคนที่เอาแต่ใจ ไม่เป็นนักเรียกร้อง ไม่มุ่งแต่จะหาลาภ ที่คอยจะให้เขาบำรุงบำเรอตัว แต่กินอยู่พอดี แล้วตั้งใจทำหน้าที่ของตน ขวนขวายในการศึกษา นำความดีงามมาให้แก่สังคม

ผู้ที่เลี้ยงง่ายนี้ ภาษาพระเรียกว่า สุภโร เป็นภาวนามว่า สุภรตา แปลว่าความเป็นผู้เลี้ยงง่าย แสดงว่าเป็นผู้มีน้ำใจต่อประชาชน

ความเป็นผู้เลี้ยงง่ายนี้ถือเป็นหลักสำคัญ ไม่เฉพาะพระเณรเท่านั้น เด็ก ๆ หรือลูก ๆ ที่บ้าน อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องนึกคิดอย่างนี้

เรายังไม่มีความพร้อมที่จะหากินด้วยตนเอง คุณพ่อคุณแม่หาเงินทอง ตั้งใจเลี้ยงดูเราให้เจริญเติบโต ให้มีการศึกษา ท่านต้องเหน็ดเหนื่อย หนักทั้งกายและใจ เราจึงไม่ควรรบกวนคุณพ่อคุณแม่ให้มากนัก

ถ้าเข้าใจวัตถุประสงค์นี้แล้วใช้ปัญญาในการบริโภค ก็จะมีชีวิตที่พัฒนาจริง พร้อมทั้งเป็นผู้เลี้ยงง่าย และได้ชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำใจต่อคุณพ่อคุณแม่ รักคุณพ่อคุณแม่จริง จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ซาบซึ้งใจและมีความสุขขึ้นเยอะเลย

สันโดษแท้ คือสันโดษเพื่อทำ

เนื่องจากพระต้องทำตัวให้ประชาชนเลี้ยงง่าย จึงมีหลักอีกอย่างหนึ่งมาสนับสนุน ที่ท่านเรียกว่าสันโดษ

สันโดษ หมายถึงความพอใจในปัจจัย ๔ คือ อาหาร บิณฑบาต จีวร เสนาสนะ อะไรพวกนี้ ตามมีตามได้ หมายความว่า เมื่อญาติโยมถวายมาอย่างไรก็ไม่ไปเที่ยวเรียกร้อง ไม่รบกวนชาวบ้าน เอาแค่พอที่จะทำให้มีกำลังเรี่ยวแรงพร้อมที่จะไปทำกิจหน้าที่ได้

ความสันโดษนี้จะมาช่วยเรา ทั้งในแง่ที่ไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดความทุรนทุรายเพราะเรื่องสิ่งเสพบริโภค และในแง่ที่จะมุ่งหน้าอุทิศตัว อุทิศความคิด อุทิศเวลาให้แก่งานในหน้าที่ของตน โดยไม่พะวักพะวง

ถ้าคนใดไม่สันโดษ เขาไม่พอใจในวัตถุที่มี อยากได้สิ่งบำรุงบำเรอ ปรนเปรอความสุขของตน จิตใจก็มุ่งไปทะยานหาสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยที่ไม่มี ต้องใช้เวลา แรงงาน และความคิดสิ้นเปลืองไปกับการที่จะแสวงหาสิ่งเหล่านั้น เวลาก็หมดไป เรี่ยวแรงก็หมดไป ความคิดก็ครุ่นข้องอยู่ว่า พรุ่งนี้จะฉันอะไรให้อร่อย

เรื่องนี้สำหรับพระสงฆ์ยิ่งสำคัญมาก ถ้าพระไม่สันโดษเสียแล้ว ก็เป็นอันว่ากิจหน้าที่เสียหมด แต่พอสันโดษแล้ว เราก็ออมแรงงาน สงวนเวลาและความคิดไว้ได้หมด

สันโดษทำให้เราสุขง่ายด้วยวัตถุเพียงเล็กน้อย เมื่อเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อยแล้ว เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดเท่าที่เรามีไปทุ่มเทอุทิศให้กับการปฏิบัติกิจหน้าที่ของตน

ถ้าเป็นพระก็บำเพ็ญไตรสิกขา ถ้าเป็นญาติโยมก็ไปทำงานทำการตามบทบาทของตน ถ้าเป็นเด็กก็มุ่งมั่นในการศึกษา ฝึกฝน พัฒนาชีวิต การงาน กิจการต่าง ๆ ก็ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี การพัฒนาประเทศชาติก็ประสบความสำเร็จ สันโดษจึงมาอุดหนุนการพัฒนา

คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าสันโดษแล้วจะขัดขวางการพัฒนา เพราะเขาไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของสันโดษ ความจริงนั้นตรงข้ามกับที่เขาเข้าใจผิด คือ ถ้าไม่สันโดษ ก็พัฒนาไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราปฏิบัติสันโดษผิด ก็จะขัดขวางการพัฒนาได้เหมือนกัน คือ เมื่อสันโดษพอใจในวัตถุตามมีตามได้ ก็มีความสุข ก็เลยนอนสบาย อย่างนี้ก็กลายเป็นสันโดษที่มีความสุขเป็นจุดหมาย หรือสันโดษเลื่อนลอย เป็นสันโดษขี้เกียจ ใช้ไม่ได้

สันโดษแท้ต้องเป็นสันโดษเพื่อทำ คือเพื่อออมเวลาแรงงาน และความคิดไว้ทำกิจหน้าที่

หมายความว่า สันโดษเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะระดมเวลา - แรงงาน - ความคิด ไปอุทิศให้แก่การเพียรพยายามก้าวไปในการเล่าเรียนศึกษา ทำหน้าที่ และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า ให้สันโดษในวัตถุเสพ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม หลักการนี้สำคัญ

ขอย้ำว่า การให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมคือความดีงาม เป็นคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า พระองค์ที่ตรัสรู้ได้ก็เพราะไม่สันโดษ คือพระพุทธเจ้าทรงไม่อิ่มไม่พอในกุศลธรรม สิ่งที่ดีงามต้องบำเพ็ญให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยไป จนกว่าจะบรรลุจุดหมาย

ถ้าพระไม่สันโดษในวัตถุเสพ เดี๋ยวก็ยุ่ง เพราะต้องหาทางหาลาภให้มาก ดีไม่ดีก็ไปเที่ยวรบกวนญาติโยม ถ้ารบกวนโดยตรงไม่ได้ก็ไปหลอกลวง เช่น ใช้วิธีประจบประแจงหรือเอาลาภต่อลาภ วิธีหาลาภมีมาก วิธีการเหล่านี้ท่านเรียกว่า อเนสนา แปลว่า การแสวงหาในทางที่ผิด ถือว่าเป็นมิจฉาชีพของพระ

พระนั้น แม้แต่จะไปขออาหารชาวบ้านก็ไม่ได้ มีวินัยบัญญัติไว้เลยว่า ภิกษุไม่เจ็บไข้ไปออกปากขออาหารกับผู้ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ผู้ที่ปวารณาเพื่อตนฉัน เป็นอาบัติปาจิตตีย์ มีความผิด

พระต้องเดินไปโดยสงบ ไม่มีสิทธิ์ไปขอเขา เมื่อเดินไป เขารู้ความต้องการ และถ้าเขามีศรัทธา เขามาถวายจึงจะรับได้ จะไปออกปากขอไม่ได้ ถ้าจะออกปากขอ ต้องขอกับคนที่เป็นญาติ และญาติก็มีกำหนดว่าต้องอยู่ใน ๗ ชั้น ระดับตัวเอง ๑ ระดับสูงขึ้นไป ๓ และลงไป ๓ เท่านั้น ส่วนผู้ปวารณาก็คือผู้ที่เขาบอกให้โอกาสไว้ว่า ท่านต้องการอะไรก็บอกฉันนะ

พระสงฆ์ เมื่อดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคม จะต้องถือคติอย่างเดียวกับแมลงผึ้ง คือไม่ทำให้เขาชอกช้ำ ไม่ว่าจะเป็นศรัทธาหรือทรัพย์สินเงินทอง ทรัพย์สินเงินทองของเขาเราก็ไม่ทำให้ชอกช้ำ ศรัทธาในจิตใจก็ไม่ทำให้ชอกช้ำ พระจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ นี่คติของพระพุทธเจ้าตรัสไว้เตือนพระสงฆ์

ยิ่งกว่านั้น แมลงผึ้งนั้นนอกจากไม่ทำให้ดอกไม้ กลิ่นและสีชอกช้ำแล้ว ยังทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น โดยแพร่พันธุ์ให้อีกด้วย เหมือนกับพระสงฆ์นี้ ถ้าประพฤติตัวถูกต้องแล้วก็เป็นที่เชิดชูจิตใจของหมู่ประชาชน แผ่เอาความร่มเย็นเป็นสุขไปให้ ทำให้ประชาชนงอกงามในธรรม ในความดีงามและความร่มเย็นเป็นสุข เหมือนต้นไม้ที่มีหมู่ภมรแมลงผึ้งไปเที่ยวคลุกเคล้าเกษร ก็เจริญแพร่พันธุ์งอกงามขยายออกไป นี่แหละคือคติชีวิตของพระ

สรุป

เป็นอันว่าข้อปฏิบัติในการฝึกเบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าทรงเน้น คือ

• อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ คือรู้จักใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็น เช่น ดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น

• โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักกินพอดี โดยกินด้วยปัญญา

พอได้ ๒ ข้อนี้แล้ว ก็มีฐานที่พร้อมจะมาเชื่อมเข้ากับการปฏิบัติต่อไป ที่เรียกว่า

• ชาคริยานุโยค แปลว่า การหมั่นประกอบการตื่น โบราณแปลมาว่า การประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ หมายความว่า ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เมื่อเราตื่น มีสติ เราก็มาคำนึงระลึกว่า อะไรที่เราควรจะทำ อะไรเป็นกิจในไตรสิกขา เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ แล้วเราก็ทำกิจหน้าที่นั้น ๆ ด้วยสติที่มีความตื่นตัวอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้น เมื่อพระมีอินทรียสังวร และโภชเนมัตตัญญุตาเป็นฐานแล้ว การดำเนินชีวิตทั่วไปก็จะอยู่ในขอบเขตที่งามและพอดี เกื้อหนุนต่อการที่จะบำเพ็ญกิจสูงขึ้นไป

ก็มาต่อด้วยชาคริยานุโยค แปลว่าเป็นคนที่ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการทำกิจหน้าที่ของตน แล้วก็บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา พัฒนาตนด้วยชีวิตแห่งการเรียนรู้ ฝึกหัดให้เจริญก้าวหน้าทำประโยชน์สุขให้สำเร็จทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม

ความตื่นเองก็เป็นสติอยู่ในตัวแล้ว สตินั้นเป็นเรื่องของจิต เป็นองค์ประกอบสำคัญในการฝึกจิต จัดอยู่ในฝ่ายสมาธิ เมื่อมีสติแล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาความจริงในสิ่งในเรื่องต่าง ๆ จึงต่อเข้ากับปัญญา

รวมความว่า อินทรีย์สังวร และโภชเนมัตตัญญุตา เป็นศีล มาต่อกับสมาธิและปัญญาตรงชาคริยานุโยค แม้แต่ตัวโภชเนมัตตัญุตาเองก็ต่อจากศีลไปสมาธิปัญญาอยู่แล้ว

อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เวลาจะกิน พฤติกรรมในการกินจะพอดีก็ต้องมีปัญญา ที่ฝึกโดยพิจารณาให้รู้ เข้าใจความมุ่งหมายของการกิน

จากนั้นก็ต้องควบคุมจิตของตัวเองได้ ให้ตั้งจิตตั้งใจปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้องตามที่ปัญญาบอกให้นั้น เพื่อให้เกิดความพอดี ตอนนี้ก็เป็นการฝึกด้านจิตแน่วแน่ เข้มแข็ง มั่นคงในความถูกต้อง ซึ่งอยู่ในฝ่ายสมาธิ

แล้วยังเกิดความพอใจที่เราทำกิจแล้วได้คุณภาพชีวิต ทำให้เกิดความสุข ความอิ่มใจ ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านจิตเพิ่มขึ้นอีก

คนพวกหนึ่งนั้นมีความสุขจากการกิน เพราะได้สนองความต้องการในการเสพ ดังนั้น พออร่อยก็สุข คฤหัสถ์โดยมากเขากินเพื่อสนองความต้องการในการเสพ ส่วนของพระนี่ฉันอาหารเพื่อสนองความต้องการในการทำให้เกิดคุณภาพชีวิต วัตถุประสงค์ต่างกัน เป็นเศรษฐกิจคนละระบบ

ตามหลักของพระศาสนา เมื่อเรากินโดยได้สนองความต้องการในการทำให้เกิดคุณภาพชีวิต เราก็จะมีความสุขขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความสุขทางปัญญา ก็เปลี่ยนจากตัณหามาเป็นฉันทะ อยากกินเพื่อเสพ เรียกว่าตัณหา อยากกินเพื่อคุณภาพชีวิต เรียกว่าฉันทะ แยกกันไปคนละทิศ

ส่วนเรื่องของอินทรียสังวร คือ การใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น ไม่เฉพาะพระเท่านั้นที่จะต้องฝึก ญาติโยมประชาชนก็ต้องฝึก

โดยเฉพาะเด็ก ๆ ถ้าปฏิบัติตามหลักการนี้ก็จะมีความภูมิใจและมั่นใจในตนเอง เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกิดจากปัญญา คนที่มีปัญญาทำด้วยความรู้ เมื่อทำอะไรด้วยความรู้ก็จะมีความมั่นใจในตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ใช่มั่นใจตามเสียงเขาว่า

เราพูดว่ามัชฌิมาปฏิปทาต้องใช้ในกิจกรรมทุกอย่าง แต่เราจะไม่เห็นชัดว่าอย่างไรเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ต่อเมื่อได้เข้าใจและปฏิบัติอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็จะอธิบายได้ว่า อ๋อ..มัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างนี้เอง เช่น เมื่อกินด้วยปัญญา ความพอดีในการกินเกิดขึ้นแล้ว นี่แหละเป็น มัชฌิมาปฏิปทาเสร็จในตัว

ทางสายกลาง คือทางแห่งความพอดี หรือทางแห่งดุลยภาพ เป็นข้อปฏิบัติที่บูรณาการ ที่ศีล สมาธิ ปัญญา มากันครบ มีทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาที่ถูกต้อง ซึ่งต้องมาด้วยกัน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่บูรณาการ

เมื่อบูรณาการกันก็เป็นองค์รวม ซึ่งสัมพันธ์กันเป็นระบบ ระบบนี้คืออะไร ก็คือระบบแห่งการดำเนินชีวิตของเรา ที่เป็นอยู่อย่างถูกต้องดีงาม ทั้งได้ประโยชน์และมีความสุขนั่นเอง

พอกินอยู่ดูฟังเป็นอย่างที่ว่านี้ ก็คือเริ่มดำเนินชีวิตเป็นแล้ว พูดได้เต็มปากว่าการศึกษาเริ่มต้นแล้ว จากนี้ก็ก้าวไปในชีวิตที่ดีงามและเจริญงอกงาม มีความสุขยิ่งขึ้นไป

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ค. 2019, 12:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


rolleyes tongue


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร