วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ค. 2016, 17:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
(ขอบคุณภาพจาก http://www.thaikasetsart.com)


ต้นตะเคียน หรือ "ขทิระ"

ชื่อสามัญ Iron Wood, Malabar Iron Wood,
Takian, Thingan, Sace, Takian ตะเคียนทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb.
วงศ์ DIPTEROCARPACEAE (เดียวกับเคี่ยม จันทน์กะพ้อ และพะยอม)


ต้นตะเคียน เป็นไม้ยืนต้น มีแก่นแข็ง กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนใต้และทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียในแถบประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย โดยเป็นไม้ในป่าดงดิบที่มักขึ้นเป็นหมู่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบ หรือในที่ค่อนข้างราบใกล้ฝั่งแม่น้ำตามป่าดิบใกล้ลำธารที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐๐-๘๐๐ เมตร

ลักษณะของต้นตะเคียน ต้นตะเคียนทองจัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดใหญ่ ลำต้นเปล่าตรง มีความสูงของต้นประมาณ ๒๐-๔๐ เมตร วัดรอบได้ถึงหรือกว่า ๓๐๐ เซนติเมตร ลักษณะของเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ กลม หรือเป็นรูปเจดีย์แบบต่ำๆ เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กะพี้เป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นไม้ตะเคียนเป็นสีน้ำตาลแดง ลักษณะของไม้ตะเคียน เนื้อไม้เป็นสีเหลืองหม่นหรือสีน้ำตาลอมสีเหลือง มักมีเส้นสีขาวหรือเทาขาวผ่านเสมอ ซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยาง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลาง หนามไม้แข็งและเหนียว


:b44:

ในอดีตกาล ชื่อของต้นตะเคียนหรือ "ขทิระ" ก็มีปรากฏในพระพุทธประวัติสมัยเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบุญเพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เช่นในเรื่องที่จะยกมา ดังนี้

๑.) "กันทคลกชาดก" ว่าด้วย นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุเลียนเอาอย่างพระสุคต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อมฺโภ โกนามยํ ลุทฺโท ดังนี้

เรื่องย่อมีอยู่ว่า ในครั้งนั้นพระศาสดาทรงสดับว่า พระเทวทัตได้เลียนเอาอย่างพระสุคต จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตเลียนอย่างเรา ถึงความพินาศ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เทวทัตก็ได้ถึงความพินาศมาแล้ว ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกหัวขวานในหิมวันตประเทศ เที่ยวหาอาหารในป่าไม้ตะเคียน นกหัวขวานนั้นมีชื่อว่า "ขทิรวนิยะ" (ขทิระ - ไม้ตะเคียน, วนิยะ - ผู้อยู่ป่า, ขทิรวนิยะ - ผู้อยู่ป่าไม้ตะเคียน)

มีนกสหายตัวหนึ่งชื่อ "กันทคลกะ" นกกันทคลกะเที่ยวหากินอยู่ในป่าไม้ทองหลาง วันหนึ่ง นกกันทคลกะได้ไปหานกขทิรวนิยะ นกขทิรวนิยะดีใจว่าสหายของเรามาแล้ว จึงพานกกันทคลกะเข้าไปยังป่าไม้ตะเคียน ใช้จะงอยปากเคาะลำต้นตะเคียน ได้ตัวสัตว์ออกจากต้นไม้นั้นมาให้ นกกันทคลกะจิกกินสัตว์ที่สหายให้แล้วๆ เล่าๆ ดุจขนมอร่อย เมื่อนกกันทคลกะจิกกินอยู่นั้น จึงเกิดมานะขึ้นว่า นกขทิรวนิยะแม้นี้ก็เกิดในกำเนิดนกหัวขวาน แม้เราก็เกิดในกำเนิดเดียวกัน ทำไมเราจะต้องอาศัยเหยื่อที่เขาให้เล่า เราจักหาเหยื่อในป่าตะเคียนเอง

นกกันทคลกะกล่าวกะนกขทิรวนิยะว่า สหายท่าน อย่าลำบากเลย เรานี่แหละจักหากินในป่าตะเคียนเอง ลำดับนั้น นกขทิรวนิยะจึงกล่าวว่า ดูก่อนสหายท่าน ด้วยการหากินในป่าไม้ไม่มีแก่น เช่นไม้งิ้วและไม้ทองหลางเป็นต้น ส่วนไม้ตะเคียนเป็นไม้แก่นแข็ง จะทำอย่างนั้นรู้สึกไม่พอใจเราเลย นกกันทคลกะกล่าวว่า เรามิได้เกิดในกำเนิดนกหัวขวานดอกหรือ ไม่เชื่อคำของนกขทิรวนิยะ ผลุนผลันไป เอาจะงอยเคาะต้นตะเคียน ทันใดนั้นเอง จะงอยปากของนกกันทคลกะหักทันที ตาทะเล้น หัวแตกไม่อาจจับอยู่บนยอดไม้นั้นได้ ตกลงพื้นดิน กล่าวคาถาแรกว่า

ดูก่อนผู้เจริญ ต้นไม้ที่มีใบละเอียด มีหนามนี้เป็นต้นไม้อะไร เราเจาะเพียงครั้งเดียว ทำให้สมองศีรษะแตกได้

นกกันทคลกะ เมื่อเจาะหมู่ไม้อยู่ในป่า ได้เคยเที่ยวเจาะแต่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น ภายหลังมาพบเอาต้นตะเคียนซึ่งมีกำเนิดเป็นไม้แก่นอัน เป็นที่ทำลายสมองศีรษะ

นกขทิรวนิยะพูดกะนกกันทคลกะนั้นว่า ดูก่อนกันทคลกะผู้เจริญ ต้นตะเคียนนี้เป็นไม้แก่นที่ทำลายสมองศีรษะ นกกันทคลกะได้ถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก

กันทคลกะในครั้งนั้น ได้เป็น เทวทัต ในครั้งนี้
ส่วนนกขทิรวนิยะ คือ เราตถาคต นี้แล



ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/atita100/ ... p?i=270269

:b44:

๒.) "ขทิรังคารชาดก" ว่าด้วย มีจิตมั่นคง

(ขทิระ - ไม้ตะเคียน, อังคาระ - ถ่านที่ติดไฟแดงและรวมถึงแม้ยังไม่ติดไฟ, ขทิรังคาร - ถ่านไม้ตะเคียนที่ติดไฟแดงอยู่ ในที่นี้หมายถึง หลุมที่มีถ่านไม้ตะเคียนติดแดงอยู่ และด้วยเหตุที่อังคารแปลว่า ถ่านติดไฟแดงนี้ จึงได้นำมาเรียกดาวเคราะห์ที่มีแสงดุจถ่านติดไฟแดงว่า ดาวอังคาร)

ความโดยย่อก่อนที่พระบรมศาสดาจะทรงตรัสเล่าอดีตนิทานนี้คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีในขณะนั้นได้ยากจนทรัพย์ลงมาก การถวายทานทำได้เพียงทานอันไม่ประณีตอย่างที่เคย มีอาหารอย่างหยาบ แต่กำลังใจในการให้ทานของท่านเศรษฐีไม่ได้ลดลงเลย

ในครั้งนั้นเทวดาซุ้มประตูที่เรือนของท่านมาปรากฏตัวและพูดจาห้ามปรามการให้ทานของท่านเศรษฐี อย่าให้ทำทานในพระศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกต่อไป แล้วให้หันมาประกอบการค้าทำการงานเพื่อความมั่งคั่งดังเดิม แต่ท่านเศรษฐีผู้มีดวงตาเห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ก็ไม่หวั่นไหวไปตามคำของเทวดา ทั้งได้ตำหนิพร้อมขับไล่เทวดาไปจากเรือนของตน

ภายหลังพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงตรัสเล่านิทานในอดีตมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้


ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐีในนครพาราณสี อันญาติทั้งหลายให้เจริญ พร้อมด้วยเครื่องอุปกรณ์ทั้งปวงมีประการต่างๆ ดุจเทพกุมาร ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาโดยลำดับ ในเวลามีอายุ ๑๖ ปีเท่านั้น ก็ถึงความสำเร็จในศิลปะทั้งปวง เมื่อบิดาล่วงไป พระโพธิสัตว์นั้นดำรงอยู่ในตำแหน่งเศรษฐี ให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู ๔ โรงทาน ท่ามกลางพระนคร ๑ โรงทาน ที่ประตูนิเวศน์ของตน ๑ โรงทาน แล้วให้มหาทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถกรรม

อยู่มาวันหนึ่ง ในเวลาอาหารเช้า เมื่อคนใช้นำเอาโภชนะ อันเป็นที่ชอบใจมีรสเลิศต่างๆ เข้าไปให้พระโพธิสัตว์ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เมื่อล่วงไป ๗ วัน ได้ออกจากนิโรธสมาบัติ กำหนดเวลาภิกขาจารแล้ว คิดว่า วันนี้ เราไปยังประตูเรือนของพาราณสีเศรษฐี จึงควร จึงเคี้ยวไม้ชำระฟันชื่อนี้นาคลดา [นาคลตาทนฺตกฏฺฐํ] ล้างหน้าที่สระอโนดาต ยืนที่พื้นมโนศิลา นุ่งแล้วผูกรัดประคด ห่มจีวร ถือบาตรดินอันสำเร็จด้วยฤทธิ์มาทางอากาศ

พอคนใช้นำภัตเข้าไปให้พระโพธิสัตว์ ก็ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือน พระโพธิสัตว์พอเห็นดังนั้น ก็ลุกจากอาสนะ แสดงอาการนอบน้อม แล้วแลดูบุรุษผู้ทำการงาน เมื่อบุรุษผู้ทำการงาน กล่าวว่า กระผมจะทำอะไร ขอรับนาย จึงกล่าวว่า ท่านจงนำบาตรของพระผู้เป็นเจ้ามา

ทันใดนั้น มารผู้มีบาปสั่นสะท้านลุกขึ้นแล้ว คิดว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ไม่ได้อาหารมา ๗ วันแล้วจากวันนี้ไป วันนี้เมื่อไม่ได้จักฉิบหาย เราจักทำพระปักเจกพุทธเจ้านี้ให้พินาศและจักทำอันตรายแก่ทานของเศรษฐีจึงมาในขณะนั้นทันที แล้วเนรมิตหลุมถ่านเพลิงไม้ตะเคียน ๘๐ ศอก ในระหว่างวัตถุสถานที่ตั้งหลุมถ่านเพลิงนั้นเต็มด้วยถ่านเพลิงไม้ตะเคียน ไฟลุกโพลงมีแสงโชติช่วง ปรากฏเหมือนอเวจีมหานรก

ก็ครั้นเนรมิตหลุมถ่านเพลิงนั้นแล้ว ตนเองได้ยืนอยู่ในอากาศ บุรุษผู้มาเพื่อจะรับบาตรเห็นดังนั้น ได้รับความกลัวอย่างใหญ่หลวง จึงกลับไป

พระโพธิสัตว์ถามว่า พ่อ เธอกลับมาแล้วหรือ?

บุรุษนั้นกล่าวว่า นาย หลุมถ่านเพลิงใหญ่นี้ไฟติดโพลง มีแสงโชติช่วง มีอยู่ในระหว่างสถานที่ตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นคนอื่นๆ ไปบ้าง รวมความว่า คนผู้มาแล้วๆ แม้ทั้งหมดก็ถึงซึ่งความกลัว รีบหนีไปโดยเร็ว

พระโพธิสัตว์คิดว่า วันนี้ วสวัตดีมารผู้ประสงค์จะทำอันตรายแก่ทานของเรา จักเป็นผู้ประกอบขึ้น แต่วสวัตดีมารนั้นย่อมไม่รู้ว่า เราเป็นผู้อันร้อยมาร พันมาร แม้แสนมารให้หวั่นไหวไม่ได้ วันนี้ เราจักรู้ว่า เราหรือมาร มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก ครั้นคิดแล้ว ตนเองจึงถือเอาถาดภัตตามที่เขาตระเตรียมไว้นั้นนั่นแหละ ออกไปจากเรือน ยืนอยู่ฝั่งของหลุมถ่านเพลิง แล้วแลดูอากาศเห็นมาร จึงกล่าวว่า

ท่านเป็นใคร
มารกล่าวว่า เราเป็นมาร
พระโพธิสัตว์ถามว่า หลุมถ่านเพลิงนี้ ท่านเนรมิตไว้หรือ?
มารกล่าวว่า เออ เราเนรมิต
พระโพธิสัตว์ถามว่า เพื่อต้องการอะไร?
มารกล่าวว่า เพื่อต้องการทำอันตรายแก่ทานของท่าน และเพื่อต้องการให้ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าพินาศ


พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เราจักไม่ให้ท่านทำอันตรายทานของตน และจักไม่ให้ท่านทำอันตรายแก่ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า วันนี้ เราจักรู้ว่า เราหรือท่าน มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก จึงยืนที่ฝั่งหลุมถ่านเพลิง แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้า แม้จะมีหัวลง ตกไปในหลุมถ่านเพลิงแม้นี้ ก็จักไม่หวนกลับหลัง ขอท่านจงรับโภชนะที่ข้าพเจ้าถวายอย่างเดียว แล้วกล่าวคาถานี้ว่า

ข้าพเจ้าจะตกนรก มีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่างก็ตาม ข้าพเจ้าจักไม่ทำกรรมอันไม่ประเสริฐ ขอนิมนต์ท่านรับก้อนข้าวเถิด ท่านผู้เจริญ ถ้าข้าพเจ้า เมื่อจะถวายบิณฑบาตแก่ท่าน จะเป็นผู้มีศีรษะลงเบื้องล่าง มีเท้าขึ้นเบื้องบน ตกลงไปยังนรกนี้โดยแน่แท้ แม้ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักไม่กระทำการไม่ให้ทาน และการไม่รักษาศีลซึ่งเรียกว่า อนริยะ ไม่ประเสริฐ เพราะท่านผู้ประเสริฐไม่กระทำ แต่ผู้ไม่ประเสริฐกระทำนั้น ขอนิมนต์ท่านรับก้อนข้าวที่ข้าพเจ้าถวายอยู่นี้เถิด

พระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มีการสมาทานอย่างมั่นคง ถือถาดภัตแล่นไปทางเบื้องบนหลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้นเอง มหาปทุมดอกหนึ่งบานเต็มที่เกิดขึ้นเป็นชั้นๆ จากพื้นหลุมถ่านเพลิงอันลึก ๘๐ ศอก ผุดขึ้นรับเท้าทั้งสองของพระโพธิสัตว์ แต่นั้น เกสรมีขนาดเท่าทะนานใหญ่ ผุดขึ้นตั้งอยู่เหนือศีรษะของพระมหาสัตว์ แล้วร่วงลงมาได้กระทำร่างกายทั้งสิ้นให้เป็นเสมือน โปรยด้วยละอองทอง

พระโพธิสัตว์นั้นยืนอยู่ที่ฝักดอกปทุม ยังโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ให้ประดิษฐานลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นรับโภชนะนั้น แล้วกระทำอนุโมทนา โยนบาตรขึ้นในอากาศ เมื่อมหาชนเห็นอยู่นั่นแล แม้ตนเองก็เหาะขึ้นสู่เวหาส ตรงไปป่าหิมพานต์ เหมือนเหยียบยํ่ากลีบเมฆฝน มีประการต่างๆ ไปฉะนั้น

ฝ่ายมารแพ้แล้ว ก็ถึงความโทมนัสไปยังสถานที่อยู่ของตนนั่นเอง

ส่วนพระโพธิสัตว์ยืนอยู่บนฝักดอกปทุม แสดงธรรมแก่มหาชน โดยพรรณนาถึงทานและศีล อันมหาชนแวดล้อมเข้าไปยังนิเวศน์ของตน กระทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ตลอดชีวิตแล้ว ไปตามยถากรรม.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ข้อที่ท่านผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะอย่างนี้ อันเทวดาให้หวั่นไหวไม่ได้ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ สิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายได้กระทำไว้ แม้ในกาลก่อนเท่านั้น น่าอัศจรรย์

ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า

พระปัจเจกพุทธเจ้าในกาลนั้นได้ปรินิพพานแล้วแล้ว ณ ที่นั้นเอง
ส่วนพาราณสีเศรษฐีผู้ทำมารให้พ่ายแพ้ ยืนอยู่บนฝักดอกปทุมแล้วถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ เราเอง แล



ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/atita100/ ... 0.php?s=40

:b44:

๓.) "มโหสถชาดก" ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี


เรื่องท่อนไม้ วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชทรงดำริจะทดลองมโหสถบัณฑิต จึงให้นำท่อนไม้ตะเคียนมา ให้ตัดเอาเพียง ๑ คืบ ให้ช่างกลึงกลึงให้ดีแล้ว ให้ส่งไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาอาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงแจ้งว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ข้างนี้ปลายข้างนี้โคน ถ้าไม่มีใครรู้ จะปรับพันกหาปณะ ชาวบ้านประชุมกัน เมื่อไม่อาจจะรู้ได้ จึงบอกแก่ท่านสิริวัฒกเศรษฐีว่า บางทีมโหสถบัณฑิตจะรู้ ขอให้เรียกเขามาถาม

ท่านมหาเศรษฐีให้เรียก มโหสถบัณฑิตมาแต่สนามเล่น บอกเนื้อความนั้นแล้วถามว่า พวกเราไม่อาจจะรู้ปัญหานี้ พ่ออาจจะรู้บ้างไหม พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า พระราชาจะต้องพระประสงค์ ด้วยปลายหรือโคนของไม้ตะเคียนท่อนนี้ ก็หาไม่ ประทานไม้ตะเคียนท่อนนี้มาเพื่อจะทดลองเรา จึงกล่าวว่า นำมาเถิดพ่อ ข้าพเจ้าจักรู้เรื่องนั้น

ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีให้นำท่อนไม้ตะเคียน มาให้แก่มโหสถบัณฑิต พระโพธิสัตว์รับท่อนไม้ตะเคียนนั้นด้วยมือเท่านั้นก็รู้ได้ว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน แม้รู้อยู่ก็ให้นำภาชนะน้ำมา เพื่อกำหนดใจของมหาชน แล้วเอาด้ายผูกตรงกลางของท่อนไม้ตะเคียน ถือปลายด้ายไว้ วางท่อนไม้ตะเคียนบนน้ำ พอวางเท่านั้น โคนก็จมลงก่อนเพราะหนัก

แต่นั้น พระโพธิสัตว์จึงถามมหาชนว่า ธรรมดาต้นไม้โคนหนัก หรือปลายหนัก เมื่อมหาชนตอบว่า โคนหนัก จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ส่วนของไม้ตะเคียนท่อนนี้จมลงก่อน จึงเป็นโคน แล้วบอกปลายและโคนด้วยสัญญานี้ ชาวบ้านส่งข่าวทูลพระราชาว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน



ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/attha/att ... &i=600&p=2

:b44:

๔.) "พระเรวตขทิรวนิยเถระ" พระเอตทัคคะผู้เป็นเลิศในทางอยู่ป่าเป็นวัตร

ในสมัยพุทธกาล พระสาวกผู้เอตทัคคะองค์หนึ่ง นามว่า "พระเรวตะ" ผู้เป็นเลิศในทางการอยู่ป่าเป็นวัตร ท่านก็มีนามต่อท้ายว่า "ขทิรวนิยเถระ" ด้วยเหตุที่ท่านอาศัยอยู่ป่าไม้ตะเคียน ดังเรื่องย่อที่จะนำมาแสดงพอเป็นตัวอย่างดังนี้

ครั้งนั้นพระสารีบุตร เมื่อได้ทราบข่าวการบวชของท่านเรวัตตะซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของท่าน จึงได้กราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า พระเรวตะผู้เป็นน้องชายของข้าพระองค์บวชแล้ว ข้าพระองค์จักไปเยี่ยมเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าพระเรวตะเพิ่งจะเริ่มทำความเพียรเจริญวิปัสสนา จึงทรงห้ามพระสารีบุตรถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ เมื่อพระสารีบุตรทูลอ้อนวอนอีก ทรงทราบว่า พระเรวตะได้บรรลุพระอรหัตแล้วจึงตรัสว่า สารีบุตร แม้เราเองก็จักไป เธอจงบอกให้พวกภิกษุได้ทราบด้วย

พระเถระสั่งให้ภิกษุทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว แจ้งให้ภิกษุทั้งหมดได้ทราบด้วยคำว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดา ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปสู่ที่จาริก พวกท่านผู้มีความประสงค์จะตามเสด็จด้วย ก็จงมาเถิด ในกาลที่พระทศพลจะเสด็จไปสู่ที่จากริก ชื่อว่าพวกภิกษุผู้ที่ไม่ประสงค์จะติดตามไปมีจำนวนน้อย พวกภิกษุโดยมากมีความประสงค์จะตามเสด็จด้วย เพราะตั้งใจกันว่า พวกเราจักได้เห็นพระสรีระอันมีวรรณะดุจทองคำของพระศาสดา หรือว่าพวกเราจักได้ฟังพระธรรมกถาอันไพเราะ เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงเสด็จออกไปด้วยพระประสงค์ว่า จักเยี่ยมพระเรวตะ โดยมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร

ฝ่ายพระเรวตเถระ ทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงนิรมิตพระคันธกุฎีเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตวิหาร ที่จงกรม และที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันจำนวนเพียงพอแก่ภิกษุสงฆ์ ณ ที่อยู่ของตนนั่นแหละ (ในป่าไม้ตะเคียน) แล้วออกไปทำการต้อนรับพระตถาคตเจ้า

พระศาสดาเสด็จเข้าไปยังพระวิหารตามหนทางที่ประดับตกแต่งแล้ว ครั้นเมื่อพระตถาคต เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎีแล้ว พวกภิกษุจึงค่อยเข้าไปยังเสนาสนะที่ถึงแล้วตามลำดับพรรษา ทรงพักอยู่ที่นั่นพอประมาณก็ทรงประสงค์ที่จะเสด็จกลับ

โดยเหตุที่มีพระภิกษุ ๒ รูป เกิดสงสัยและตำหนิพระเรวตเถระด้วยคิดว่า พระเถระสร้างกุฏิวิหารยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้จะมีเวลาเจริญภาวนาได้อย่างไร เมื่อเดินทางกลับ พระบรมศาสดาจึงอธิษฐานพระทัยให้พระภิกษุนี้ลืมบริขารไว้เมื่อออกเดินทาง พระภิกษุ ๒ รูปเมื่อเดินทางไปแล้วจึงต้องย้อนกลับมาเก็บของที่ตนลืมไว้ แต่กลับมาที่เดิม จากกุฏิวิหารอันสง่างาม กลับกลายสภาพเป็นป่าไม้ตะเคียน สิ่งของที่ลืมไว้ก็ปรากฏว่าอยู่บนกิ่งไม้ตะเคียนบ้าง บนตอบ้าง หาใช่กุฏิอย่างทีแรกไม่ พระภิกษุทั้งสองจึงประจักษ์ว่า ที่แท้เสนาสนะอันสวยงามนั้นพระเถระนิรมิตไว้ด้วยฤทธิ์ หาใช่ปลูกสร้างจริงๆ อย่างตนคิดแต่แรก



:b47: :b47: อ่านประวัติของ "พระเรวตขทิรวนิยเถระ"
เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7512

ขอบคุณที่มาของข้อมูล
https://jirayutsa.wordpress.com

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร