ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ป่าหิมพานต์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=18930
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ฌาณ [ 04 พ.ย. 2008, 14:51 ]
หัวข้อกระทู้:  ป่าหิมพานต์

ป่าหิมพานต์
-----------------------------------------------------------------

รูปภาพ

ตำนานป่าหิมพานต์ ตามตำนานกล่าวไว้ว่าป่าหิมพานต์ตั้งอยู่บนเขาหิมพานต์ หรือหิมาลายา (หิมาลัย) คำว่า “หิมาลายา” นั้นเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่าสถานที่ๆ ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ภูเขาหิมพานต์ประดิษฐานอยู่ในชมพูทวีป มีเนื้อที่ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์ เท่ากับ ๑๐ ไมล์ หรือ ๑๖ กิโลเมตร) วัดโดยรอบได้ ๙,๐๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด มีสระใหญ่ ๗ สระคือ ๑ สระอโนดาต ๒ สระกัณณมุณฑะ ๓ สระรถการะ ๔ สระฉัททันตะ ๕ สระกุณาละ ๖ สระมัณฑากิณี ๗ สระสีหัปปาตะ บรรดาสระใหญ่ทั้ง ๗ นั้น สระอโนดาตแวดล้อมไปด้วยภูเขาทั้ง ๕ ที่จัดเป็นยอดเขาหิมพานต์ ยอดเขาทุกยอดมีส่วนสูงและสัณฐาน ๒๐๐ โยชน์ กว้างและยาวได้ ๕๐ โยชน์

ในป่านี้เต็มไปด้วย สัตว์นานาชนิด ซึ่งล้วนแต่แปลกประหลาด ต่างจากสัตว์ที่เราๆ รู้จัก บ้างก็ว่า สัตว์เหล่านี้เกิดจากจินตนาการของจิตรกรที่ได้สรรค์สร้างภาพต่างๆ จากเอกสารเก่าต่างๆ

รูปภาพ

ตามตำนานกล่าวไว้ว่าป่าหิมพานต์ตั้งอยู่บนเขาหิมาลายาหรือหิมาลัย คำว่า “หิมาลายา” นั้นเป็นคำที่รากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่าสถานที่ๆ ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ทางด้านภูมิศาสตร์หิมาลัยเป็นเทือกเขาในทวีปเอเชีย ประกอบไปด้วยเขาแนวขนานหลายๆ ลูก และเป็นเทือกเขาที่มียอดเขาสูงชันกว่า ๓๐ ยอดเขามีความสูงเกิน ๗,๖๒๐ เมตร (๒๕,๐๐๐ ฟุต) โดยมียอดเขาเอเวอเรสต์ซึ่งสูงถึง ๘,๕๓๕ เมตร (๒๙,๐๒๙ ฟุต) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

ความกว้างโดยเฉลี่ยของเทือกเขาหิมาลัยอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร เทือกเขาพาดเป็นแนวจากทิศ ตะวันออกไป ทิศตะวันตกถึงตอนกลางของประเทศเนปาล และเป็นแนวจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุม อาณาบริเวณหลายประเทศจากอาฟกานิสถาน ปากีสถาน จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาณ บังคลาเทศ และสหภาพพม่า

ภูมิอากาศของเทือกเขาหิมาลัยนั้นค่อนข้างจะคาดคะเนลำบาก แต่โดยรวมแล้วขึ้นอยู่กับระดับความสูง อุณหภูมิจะอยู่ในระดับต่ำ ในเขตภูเขาสูงและในเขตเนินเขาจะมีความชื้นสูง

รูปภาพ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม เป็นพระศาสดาของศาสนาพุทธ ทรงเจริญในศากยสกุล จึงมีอีกพระนามหนึ่งว่า “พระศากยะมุนี” ทรงประสูติเมื่อ ๕๖๓ ปีก่อนคริสต์กาล ที่สวนลุมพินีในพระนครกบิลพัสดุ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตของประเทศเนปาล)

พระองค์ทรงตรัสรู้ใต้ร่มต้นโพธิ์ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา และได้ชื่อว่า “โคดมพุทธ” หรือ “พระพุทธเจ้า” หรือ “พระผู้ตรัสรู้”

ในศาสนาพุทธมีด้วยกันหลาย แขนงนิกาย แต่นิกายหลักๆ ที่ถือปฎิบัติกันอย่างแพร่หลายมีด้วยกัน ๓ นิกายคือ นิกายมหายาน (เป็นนิกายที่มี เรื่องราวพิสดารรวมอยู่ในพระคัมภีร์) นิกายหีนยานหรือเถรวาท (เป็นนิกายที่เคร่งในทางปฏิบัติ) และนิกายวัชรยาน (นิกายที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงในประเทศทิเบต)

สัตว์หิมพานต์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธโดยตรงคือพญานาค อันจะเห็นได้จากรูปปั้นพระพุทธเจ้าปางนาคปรกซึ่งมีให้พบเห็นอยู่ทั่ว ไปตามวัดวาอารามของพระภิกษุของชาวพุทธ


(มีต่อ)

เจ้าของ:  ฌาณ [ 04 พ.ย. 2008, 15:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ป่าหิมพานต์

สัตว์ในป่าหิมพานต์

รูปภาพ

กินรีและกินนร

เป็นสัตว์ในป่าหิมพาน ร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์
ท่อนล่างเป็นนก มีปีกบินได้ อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เชิงเขาไกรลาศ
ในศาสนาพุทธ กินรี ได้ปรากฎอยู่ในทศชาติชาดก
คือสุวรรณสามชาดก กล่าวคือ เมื่อพระโพธิสัตว์ได้กำเนิดมาเป็นสุวรรณสาม
ยามที่นางปาริกาฤษิณีมารดา และทุกูลฤษีบิดาต้องออกไปหาผลไม้ในป่า
ก็ต้องปล่อยให้สุวรรณสามนอนอยู่บนศาลา

เมื่อบิดา-มารดา ลับตาไป เหล่ากินรีที่ซ่อนตัวอยู่ตามพุ่มไม้บนเขาสูง
(คงเป็นเขาไกรลาศอย่างในตำนาน : อันนี้ยายอ้วนสัณนิษฐานเอาเอง)
ก็อุ้มเอาสุวรรณสามขึ้นไปที่อาศรมของตน แล้วดูแลเลี้ยงดูเป็นอย่างดี
ทั้งให้นม ป้อนอาหาร อาบน้ำด้วยน้ำที่ใสสะอาด ประดับดอกไม้ประแป้งให้
ก่อนจะนำมาคืนไว้ที่ศาลาดังเดิมก่อนที่บิดา-มารดาจะกลับจากหาผลไม้

นอกจากนี้ กินรี ยังปรากฎเป็นตัวเอกในวรรณคดีไทยเรื่อง “พระสุธน-มโนราห์”
เรื่องราวความรักต่างสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์ “พระสุธน” และนางกินรี “มโนราห์”
ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะได้ครองรักกันอย่างมีความสุข


(มีต่อ)

เจ้าของ:  ฌาณ [ 04 พ.ย. 2008, 15:09 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ป่าหิมพานต์

สัตว์หิมพานต์ นั้นจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้มี แต่บ้านเราหลายๆ ประเทศก็มีเช่น อินเดีย แถมยังมีตัวประหลาดๆ กว่าเราอีก แต่ของเรานั้นอาจจะเรียกได้ว่าสวยที่สุดด้วยว่าเราเอาลายไทยมาใส่ในตัวสัตว์ทำให้มีความอ่อนช้อยงดงามตามอย่างไทย ถ้าจะว่าไปในอดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะรู้จักสัตว์หิมพานต์จากวัด ก็เห็นจากภาพที่วาดตามผนังโบสถ์ วิหาร ซึ่งเป็นภาพเขียนชาดก อันมีภาพป่าหิมพานต์ และสัตว์หิมพานต์ใส่ไว้ด้วยนั่นเอง แต่ถึงกระนั้นภาพสัตว์หินพานต์ก็ยังมีจำนวนน้อยหรือมีเท่าที่กล่าวไว้ในวรรณคดีเท่านั้น

ครั้นต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ความคิดเรื่องสัตว์หินพานต์จึงได้ขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เกิดจากความจำเป็นที่จักต้องหาสัตว์แปลกประหลาดมาใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพให้มากขึ้น กล่าวคือ แต่เดิมนั้นทำแต่พอจำนวนเจ้านายที่อุ้มผ้าไตรในกระบวนแห่ ครั้นภายหลังเปลี่ยนเป็นทำบุษบกวางไตรบนหลังรูปสัตว์นั้นๆ แทน ทำให้ต้องเพิ่มรูปสัตว์ขึ้น

ซึ่งการที่เพิ่มนั้นจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม แต่ต่างก็เป็นเหตุให้นายช่างสมัยนั้นต้องคิดรูปสัตว์ให้แปลกใหม่ขึ้นไปอีก จึงได้จับเอาโน่นมาผสมนี่ รูปสัตว์แปลกๆ จึงได้มีมากขึ้น แลอาลักษณ์ก็ต้องคิดชื่อสัตว์นั้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว บรรดาสัตว์ที่เรียกว่า “สัตว์หิมพานต์” นั้นอาจจะแยกออกได้เป็น 4 จำพวกคือ

1. เป็นสัตว์ตรงๆ
2. ลอกอย่างเขามา
3. คิดขึ้นมาจากคำ
4. ผสมเอาเองตามใจชอบ


รูปภาพ

กิเลนไทย
ลักษณะคล้ายสิงห์ เป็นกีบคู่ มีเขา 1 คู่ ไม่มีกิ่ง
ตามลำตัวเป็นเกล็ด พื้นสีน้ำเงิน เกล็ดสีม่วง


(มีต่อ)

เจ้าของ:  ฌาณ [ 04 พ.ย. 2008, 15:21 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ป่าหิมพานต์

รูปภาพ

ตัวต่อมา กิเลนจีน พื้นสีเขียวคราม เท้าเป็นกีบเดี่ยว เขามีกิ่งเหมือนกวาง ตัวเป็นเกล็ด

รูปภาพ

กิเลนปีก เจ้าตัวนี้ดูแปลกตากว่ากิเลนก่อนนห้า คือ ไม่มีเขา มีปีกคล้ายนก เท้าเป็นกรงเล็บ
ซึ่งต่างจากสองชนิดก่อนหน้าที่เท้าเป็นกีบขอรับ

กิหมี เจ้าตัวนี้ว่ากันว่าพื้นตัวสีเหลือง รูปร่างน่าจะเป็นสุนัข แต่มีเคราแลขนคอเป็นพวง
(อันนี้ไม่มีรูปประกอบขอรับ หนังสือที่มีอีกเล่มก็มีคนยืมไป ไว้หาภาพได้จักนำมาให้ชมกันขอรับ ขอผลัดไปก่อน)

รูปภาพ

กบิลปักษา เป็นสัตว์ผมระหว่างลิง (กบิล) ห้ามพิมพ์ผิดเป็นสระ อึ นะขอรับ และนก
โดยมีหัวและตัวเป็นลิง มีปีก และหางนก พื้นตัวดำ

รูปภาพ

กรินทร์ปักษา สัตว์ผสมระหว่างช้างกับนก ตัวเป็นช้าง ปีกและหางเป็นนก

รูปภาพ

กาฬสีหะ ลางแห่งก็เรียก กาละสีหะ เป็นสิงห์หรือราชสีห์ชนิดหนึ่ง ตัวสีดำ
น่าจะเรียกชื่อตามสีตัว เพราะ กาฬะ แปลว่า สีดำ

รูปภาพ

ตัวต่อมา กุมภีนิมิต เป็นครึ่งเทพครึ่งจระเข้ พื้นตัวสีขาว เท้าและหางสีม่วงแก่ ท่อนบนเป็นเทพท่อนล่าง
และหางเป็นจระเข้ ไม่แน่ใจว่าจะ classify อยู่ใน class ใดดี ต้องรอผู้รู้มาบอกขอรับ

รูปภาพ

ตามด้วย เกสรสิงหะ หรือกาสรสิงหะ เป็นสัตว์ผสมระหว่างราชสีห์ กับสัตว์ประเภทวัวควาย กาสรสิงหะมีผิวกายสีนกเขา (สีเทา) ร่างเป็นแบบสิงห์ แต่มีเท้าเป็นกีบเหมือนเท้าควาย ไม่ได้เป็นเล็บต่างจากไกสรราชสีห์

รูปภาพ

ไกสรนาคา เป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับนาค
พื้นสีน้ำเงินอ่อน ตัวเป็นสิงห์ หัวและหางเป็นนาค มีเกล็ดทั้งตัว

รูปภาพ

ไกรสรปักษา เป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับนก กายสีเขียวอ่อน (สีตองอ่อน)
หัวเป็นเหมือนพญาอินทรี ตัวเป็นดั่งราชสีห์ แต่มีเกล็ดคลุม และปีกเหมือนนกอีกด้วย
สรุปง่ายๆ ว่า ตัวเป็นสิงห์ แต่มีเกล็ด หัว และปีกเป็นนกขอรับ

รูปภาพ

ไกรสรจำแลง พื้นสีม่วงอ่อน มีหัวแบบมังกร และมีร่างเป็นราชสีห์ (สิงโต)
จิตรกรบางท่านเรียกไกรสรจำแลงว่า “ไกรสรมังกร”
ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่ามังกรสิงห์ ตรงตามตัวเลยขอรับ

รูปภาพ

ไกสรคาวี เป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับวัว โดยมีช่วงหัวเป็นวัว มีร่างกายเป็นสิงห์
แต่ก็มีจิตกรบางท่านวาดให้มีม้ามาผสมเพิ่ม กล่าวคือ หัวเป็นวัวมีเขา ตัวเป็นสิงห์ และมีหางเป็นม้า
อืม... ผสมข้าม 3 species เจียว อย่าได้ดูเบา

รูปภาพ

ราชสีห์ หรือสิงห์ ซึ่งในป่าหิมพานต์นั้นมี 4 ชนิด ได้แก่ ไกสรสีหะ ติณสีหรือติณราชสีห์ กาฬสีหะ
และบัณฑุสีหะหรือบัณฑุสุรมฤคินทร์ มาดูทีละตัวกันดีกว่าขอรับ
ไกสรสีหะ มีริมฝีปาก หาง และเท้าเป็นสีแดง ตั้งแต่ศีรษะลงไปตลอดถึงหลัง มีลายสีแดงพาด 3 แถว
และวนรอบๆ ตะโพก 3 รอบ ที่ต้นคอมีขนคลุมลงมาตั้ง แต่บ่ามีสีเหลืองเหมือนผ้ากำพล
ส่วนร่างกายที่เหลือนอกจากนี้เป็นสีขาวทั้งหมด กินเนื้อเป็นอาหาร

รูปภาพ

ตัวต่อมา ติณสีหะ หรือติณราชสีห์ ร่างกายมีสีแดงเหมือนดั่งขานกพิราบ และมีขนาดเท่ากับวัวหนุ่ม
กินหญ้าเป็นอาหาร ลักษณะเด่นอีกประการของสิงห์ชนิดนี้ คือมีเท้าเป็นกีบแบบกีบม้า

รูปภาพ

บัณฑุสีหะ หรือบัณฑุราชสีห์ หรือบัณฑุสุรมฤคินทร์
มีผิวกายสีเหลือง และเป็นสัตว์กินเนื้อ และใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม

ส่วน กาฬสีหะ เคยนำมาให้ยลแล้วคงมิกล่าวซ้ำ อ้อ ลืมบอกไปขอรับ 4 สิงห์นี้จัดว่าเป็นสิงห์แท้
ส่วนสิงห์อื่นที่นำเสนอก่อนหน้าเป็นพวกสิงห์ผสมขอรับ

รูปภาพ

ปิดท้ายวันนี้ด้วย คชปักษา พื้นสีขาว และหางเป็นนกคล้ายหงส์ ลำตัวท่อนอก
และแขนคล้ายครุฑ หัวมีงวง และงาแบบช้าง

เท่าที่ค้นหาข้อมูลได้ มีคัมภีร์และตำรามากมายได้กล่าวถึงเขาไกรลาศ ชมพูทวีป และป่าหิมพานต์
ที่สำคัญๆ มีดังนี้ (เพื่อเป็นแนวทางศึกษาเพิ่มเติมต่อไป)

ปหาราทสูตร
อรรถกถาฉัททันตชาดก
อรรถกถากุณาลชาดก
อรรถกถาเวสันดรชาดก
อรรถกถาโปตลิยสูตร
คัมภีร์โลกบัญญัติ
คัมภีร์โลกุปปัตติ
อรุณวดีสูตร
คัมภีร์สารัตถสังคหะ

ไตรภูมิพระร่วง หรือนามเดิมว่า “เตภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิกถา” ก็เป็นตำราอันสำคัญยิ่ง
Study of Sources of Tribhum Praruang by Dr.Niyada Lausoonthorn



คัดลอกมาจาก
http://www.himmapan.com/

เจ้าของ:  สุนันท์ [ 05 พ.ย. 2008, 19:55 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ป่าหิมพานต์

:b35: :b35: :b35: รูปสวยๆๆๆๆ
เจ้าคะ ขอบคุณที่เอามาให้ดู ได้รู้จัก นะเจ้าคะ
:b32:

เจ้าของ:  กำลังเพียร [ 07 พ.ย. 2008, 18:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ป่าหิมพานต์

ว๊าว :b19: :b19: :b19: rolleyes rolleyes rolleyes

เจ้าของ:  ทักทาย [ 07 ธ.ค. 2009, 04:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ป่าหิมพานต์

ชอบมากค่ะ
สัตว์ในป่าหิมพานต์
สัตว์ในจินตนาการ
และสัตว์ในเทพนิยาย
จะมีต่ออีกหรือปล่าค่ะ? :b10:

อนุโมทนาค่ะ :b8:

เจ้าของ:  Rosarin [ 08 ก.ค. 2016, 11:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ป่าหิมพานต์

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/