วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 38 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2020, 17:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• พาศิษย์ธุดงค์ภูวัว

ออกพรรษาในปีนั้น หลวงปู่สมชายได้นำพาพระเณรไปบำเพ็ญภาวนาที่ภูวัว ในครั้งนี้ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ก็ได้ขอติดตามเดินธุดงค์หาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรด้วยอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตของท่าน หลวงปู่ได้พาหมู่คณะพระเณรเดินผ่านไปทางปากกระดิ่ง บุ่งคล้า และได้พักอยู่ที่ปากกระดิ่ง ๑ คืน พอรุ่งเช้าก็ข้ามมาทางบุ่งคล้าแล้วออกเดินทางต่อไปภูวัว กะว่าจะไปขึ้นทางด้านทิศเหนือ แต่วันนี้ขึ้นยังไม่ถึงภูวัวก็มืดอยู่ตรงเนินเขาพอดี แต่หลวงปู่ก็ไม่ได้หยุดการเดินทางแต่อย่างไร ได้เดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ ไกลพอสมควร เห็นว่าดึกมากแล้วท่านจึงได้สั่งให้หยุดการเดินทางในกลางป่านั้นและได้จัดการกางกลดเข้าพักผ่อนเอาแรงเพราะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางมาตลอดวันข้าพเจ้าได้ดูนาฬิกาเป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี

รุ่งเช้าวันใหม่หลวงปู่ได้พาออกเดินทางต่อ เวลาประมาณ ๘ โมงเช้าก็เดินทางมาถึงถ้ำแกลบ ถ้ำแกว ถ้ำฝุ่น และได้ออกบิณฑบาตที่หมู่บ้านทุ่งทรายจก ได้ข้าวเหนียวองค์ละปั้น กับข้าวได้งากับปลาร้าอย่างละ ๑ ห่อ ได้กลับมาฉันจังหันที่ถ้ำฝุ่น หลวงปู่เห็นว่าข้าวและกับที่บิณฑบาตในวันนี้ได้น้อยเนื่องจากญาติโยมเขาไม่รู้ว่าจะมีพระมาจึงไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ท่านเกรงว่าพระเณรจะฉันไม่อิ่มจึงได้เอาข้าวในบาตรของท่านออกมาแบ่งเฉลี่ยถวายพระเณรเพิ่มเติมจนหมด เมื่อแบ่งข้าวถวายพระเณรเสร็จแล้วท่านก็ได้ให้พระเณรฉันกันไปเรื่อยๆ สำหรับหลวงปู่ไม่ได้ฉันจังหันในเช้าวันนั้นเลยท่านไปนั่งภาวนารอเวลาพระเณรฉันจนเสร็จจึงได้ออกหาสถานที่บำเพ็ญกันต่อไป...นิสัยเอื้อเฟื้อ เสียสละ แบ่งปันกับหมู่คณะนั้นท่านมักแสดงให้เห็นอยู่เสมอๆ จนบางครั้งพระเณรเกรงใจ ละอายใจต่อครูบาอาจารย์จนทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน

ในครั้งนี้พากันบำเพ็ญทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำแกลบ ถ้ำฝุ่นได้นานพอสมควร จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายเปลี่ยนสถานที่บำเพ็ญไปที่ถ้ำพระ เพราะเห็นว่าสถานที่สงบวิเวกดี อากาศดี น้ำก็สะดวกอุดมสมบูรณ์สถานที่หลบภาวนาก็มีมาก การมาอยู่บำเพ็ญในครั้งนี้ก็เหมือนกับเมื่อครั้งก่อนๆ คือ พระเณรไม่ต้องออกบิณฑบาต เป็นเพราะหมู่บ้านอยู่ห่างไกลมาก ที่ใกล้ที่สุดคือบ้านต้อง และบ้านดอนเสียด ก็ต้องเดินถึง ๗-๘ กิโลเมตรทีเดียว ญาติโยมชาวบ้านจึงทำบุญโดยการเอาข้าวสารบ้าง ปลาร้า ถั่วงา ของแห้งต่างๆ มาฝากไว้ให้สามเณรเป็นผู้หุงหาจัดเตรียมอาหารถวายพระ เหมือนกับสมัยที่ขึ้นมาครั้งแรกๆ นั้น วิธีหุงข้าวถวายพระของเหล่าสามเณรก็คือใช้ปี๊บต้มข้าวแล้วใส่ผักหนาม หรือข่าป่า หรือหวายอ่อนจำนวนมาก เพราะผักป่าเหล่านี้จะหาได้ง่ายตามลำธารบนภูวัว แต่ข้าวสารนั้นต้องประหยัดเนื่องจากต้องคอยชาวบ้านนำมาส่งให้เท่านั้น “...แต่ละมื้อจึงใช้ข้าวสารเพียง ๑ แก้ว ต่อพระเณร ๑๐ กว่ารูป พอได้ฉันให้มีชีวิตอยู่เพื่อการบำเพ็ญภาวนาไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น เมื่อจัดเตรียมหุงหาอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้วสามเณรก็จะให้สัญญาณเคาะเหล็กหรือจอบเก่าๆ ซึ่งมีไว้ใช้แทนระฆัง เคาะเรียกพระที่ท่านทำความเพียรอยู่ตามโขดหิน เงื้อมถ้ำ หรือที่ต่างๆ นั้นให้มารวมกันฉันภัตตาหาร เมื่อท่านมาพร้อมกันแล้วก็ตักข้าวที่คล้ายๆ ข้าวเลี้ยงหมูนั้นใส่บาตรกันแค่เพียงพอฉัน เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันหาที่ทำความเพียรต่อไป ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างนี้ตลอดมา...” ทุกท่านทุกรูปต่างมุ่งมั่นจริงจังต่อการฝึกจิตใจอย่างยิ่ง เทพเจ้าสิ่งเร้นลับที่ไม่สามารถทราบได้ว่าท่านอยู่ชั้นใด ก็มักจะมาอนุโมทนาในวันพระ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ โดยเวลาหลังเที่ยงคืนไปแล้ว ทั้งพระและเณรทุกรูปมักจะได้กลิ่นหอมชนิดที่ไม่เคยมีที่ใด สังเกตได้ว่าจะแสดงปรากฏด้วยกลิ่นในเวลาเดียวกันทุกคืน กลิ่นละมุนละไมไม่ทราบจะเอากลิ่นอะไรในเมืองมนุษย์เราเปรียบได้ หอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ แต่พอเลยสองยามไปแล้วก็กลับปกติไม่มีกลิ่นอะไรหลงเหลืออีกเลย ตอนกลางวันก็พยายามเดินสังเกตดูว่าบริเวณนี้มีต้นไม้ดอกชนิดใดบ้างก็ไม่ปรากฏว่ามี สรุปว่าไม่ใช่กลิ่นดอกไม้ในเมืองมนุษย์เรา ด้วยกลิ่นร่ำ กลิ่นพิเศษที่ไม่มีในเมืองมนุษย์เราที่ได้รับกันอยู่เสมอเป็นประจำทุกคืนนี้จึงเกิดความอยากรู้ เพื่อจะได้หายสงสัยจึงได้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า กลิ่นพิเศษเหล่านี้ คือกลิ่นอะไร และทำไมจึงมีเฉพาะบางเวลา โดยในวันศีลจะได้รับกลิ่นนี้ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง หลวงปู่ตอบว่า

“เทพเจ้าเหล่าเทพา ท่านจะไปที่ไหนมาที่ไหน หรืออยู่ที่ไหน ก็มักปรากฏให้ทราบได้โดยทางกลิ่น ท่านมาอนุโมทนากับการทำความเพียรของพวกเรา โดยเฉพาะพวกเราเป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ และทำความเพียรทางจิตนั่นเอง สมัยที่ผมอยู่กับหลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน เวลาเที่ยงคืนเทวดาจะลงมาฟังธรรมจากหลวงปู่มั่น บริเวณวัดทั้งวัดจะหอมตลบอบอวลทั่วไปหมด แต่ถ้านอกเขตวัดไปแล้วจะไม่มีใครได้กลิ่นใดๆ เลย บางครั้งนอกจากกลิ่นละมุนละไมแล้วก็ยังมีเป็นแสงขาวนวลส่องแสงสว่างไสวก็เคยปรากฏมาแล้ว ในสมัยพุทธกาลก็อย่างนี้ มีอยู่กิจหนึ่งที่พระบรมศาสดาทรงเปิดโอกาสให้แก่เทวดาได้ลงมาฟังธรรม อันเป็นหนึ่งในห้าของพุทธกิจของพระผู้มีพระภาคเจ้า องค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ ๕ ประการดังนี้...

๑. ปุพฺพญฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์โลก

๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม (อบรมพุทธบริษัท)

๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ

๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺ หนํ เวลาเที่ยงคืนทรงตอบปัญหาแก่เหล่าเทวดา

๕. ปจฺจุสฺเสว คเตกาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ เวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูสัตว์โลกที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรที่จะเสด็จไปโปรดหรือไม่ ด้วยข่ายพระญาณ”


วันนี้หลวงปู่ได้เทศนาเรื่องเทวดาให้พวกเราได้ฟังหลายอย่าง แต่หลวงปู่ไม่ได้ชี้ชัดว่าหลวงปู่ได้เทศนาให้เทวดาฟังเป็นประจำทุกคืนแต่อย่างไร แต่พวกเราก็สามารถรู้ได้ว่ากลิ่นหอมละมุนละไมที่มีมาทุกๆ คืนนั้น ก็คือเทวดาท่านลงมาฟังเทศน์จากหลวงปู่นั่นเอง การมาทำความเพียรที่ภูวัวแต่ละครั้งก็จะได้กลิ่นหอมพิเศษค่อนข้างบ่อยมากเป็นประจำจนพวกเราเกิดปีติจนขนลุก ซึ่งเป็นอยู่อย่างนี้ตลอด ๔-๕ เดือน เมื่อการบำเพ็ญภาวนาอยู่บนภูวัวครั้งนี้เป็นเวลานานเหมาะแก่กาลแล้ว ก่อนใกล้ถึงฤดูกาลพรรษาหลวงปู่จึงได้นำหมู่คณะพระเณรลงจากภูวัว เดินวิเวกไปเรื่อยๆ ไม่รีบไม่ร้อน โดยตั้งใจว่าจะเดินทางไปจำพรรษาที่ถ้ำเป็ด อ.ส่องดาว จ.สกลนคร


รูปภาพ

• พ.ศ. ๒๕๐๒ จำพรรษาที่ถ้ำเป็ด ภูเหล็ก
บ้านหนองม่วง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร


ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ภายหลังที่ได้เดินทางลงมาจากภูวัวแล้ว หลวงปู่สมชายก็ได้นำพาหมู่คณะพระเณรทั้งหมดออกเดินหาสถานที่วิเวกเพื่อปฏิบัติภาวนาตลอดเส้นทางที่ผ่าน ซึ่งมุ่งไปทาง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ถึงป่าไหน ภูเขาลูกไหน ที่เห็นว่าพอทำความเพียรได้ก็แวะพักตามรายทางไปเรื่อย เพราะสมัยนั้นป่าไม้ธรรมชาติมีอยู่ทั่วไป ต้นไม้แต่ละต้นมีแต่ใหญ่ๆ ขนาดเท่าตู้รถไฟทีเดียว แวะกราบรับอุบายธรรมจากครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆ ไปด้วย ผ่านบ้านเล็กบ้านน้อยก็แวะอบรมสั่งสอนโปรดญาติโยมไปด้วย แต่มีจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะไปจำพรรษาที่ถ้ำเป็ด ภูเหล็ก ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมของท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม

ถ้ำเป็ด นับว่าเป็นสถานที่ที่สงบสงัดวิเวกเหมาะแก่การทำความเพียรอีกแห่งหนึ่ง บรรดาครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานหลายรูปจึงมักแวะเวียนไปพักบำเพ็ญเพียรหาความสงบกันเป็นประจำ ไม่ค่อยขาดระยะ หลวงปู่ได้นำพาพระเณรเดินทางมาถึงถ้ำเป็ดในราวเดือนเจ็ด จึงพอมีเวลาในการจัดเตรียมสถานที่เสนาสนะที่จะอยู่จำพรรษาได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากชาวบ้านขึ้นมาช่วยถากถางทำความสะอาดกันหลายคนน่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ในระหว่างพรรษานี้ก็ได้ตั้งใจปฏิบัติกันเต็มที่ด้วยกันทุกรูป ส่วนหลวงปู่นั้นท่านต้องมีภาระในการอบรมสั่งสอนประชาชนในวันธรรมสวนะเหมือนกับทุกที่ ที่ท่านเคยไปอยู่ ญาติโยมชาวบ้านใกล้ๆ นั้นก็ได้มาให้การอุปถัมภ์อุปัฏฐากอย่างดี มีบ้านหนองม่วง บ้านหนองบัว และบ้านหนองแวง เป็นต้น ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในเขตนี้ก็มี กำนันทอน ผู้ใหญ่อาจารย์ดี พ่อออกคล้าย พ่อออกคิ้ว แม่ออกเขียน และคุณไสว ศิริบุศย์ เป็นต้น ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเคารพนับถือหลวงปู่มาก ในระหว่างพรรษาปีนี้ก็ได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์สีลา เทวมิตฺโต แห่งวัดโชติการาม บ้านหนองบัว ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำเป็ดประมาณ ๖-๗ กิโลเมตร ท่านได้อาพาธ หลวงปู่ก็ได้นำพาพระเณรไปเยี่ยมไข้หลายครั้ง บางครั้งก็ได้ปฏิบัติดูแลท่านอย่างใกล้ชิด เพราะว่าท่านพระอาจารย์สีลานั้นท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย มีชื่อเสียงโด่งดังในเขตนั้นอีกรูปหนึ่ง ลูกศิษย์ลูกหาทุกฝ่ายก็พยายามช่วยกันรักษาพยาบาลเพื่อต้องการให้ท่านมีชีวิตเป็นที่พึ่งของชาวบ้านสืบต่อไปอีก หลายครั้งหลวงปู่ต้องเดินทางไปเอายาจากกรุงเทพฯ มารักษา ถึงแม้ว่าจะพยายามกันขนาดไหนก็แล้วแต่ อาการของท่านพระอาจารย์สีลามีแต่ทรุดลงทุกวัน และที่สุดท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพในระหว่างพรรษาปีนั้น เป็นที่อาลัยเศร้าโศกเสียใจของบรรดาผู้ที่เคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง เมื่อหลวงปู่สมชายทราบข่าวการมรณภาพของท่านพระอาจารย์สีลาแล้ว ก็ได้ปรึกษาหารือว่าจะต้องนำพาพระเณรและญาติโยมชาวบ้านไปช่วยปฏิบัติศพ มีการจัดงานบำเพ็ญกุศลตามประเพณีอย่างสมเกียรติของครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะเรื่องโรงเลี้ยงโรงทานต้องให้มีตลอดงาน ตั้งใจว่าจะไปร่วมงานศพของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ แต่การไปร่วมงานครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ระดับนี้นั้นจะไปแต่ตัวหรือไปแบบมือเปล่าๆ นั้น ก็ออกจะดูไม่เป็นการอันสมควรด้วยประการทั้งปวง จึงได้เรียกญาติโยมมาปรึกษาหารือเรื่องการจะไปงานศพครูบาอาจารย์ในครั้งนี้ ถ้าได้หน่อไม้ไปร่วมในงานนี้บ้างก็จะเป็นการดี จะได้ประกอบอาหารถวายพระและเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน จึงขอให้ญาติโยมพากันขึ้นไปบนภูเขาหาเก็บหน่อไม้สัก ๒-๓ กระสอบเพื่อจะได้นำไปร่วมงานครั้งนี้

บรรดาญาติโยมทั้งหมดเมื่อทราบจุดประสงค์ของหลวงปู่แล้ว ก็จัดหามีด เสียมและกระสอบ รีบออกเดินทางขึ้นไปบนภูเขาเพื่อหาหน่อไม้ทันที ญาติโยมทั้งหมดได้เดินทางไปหาหน่อไม้ตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ตะวันบ่ายคล้อยแล้วก็ยังไม่ปรากฏว่าจะได้หน่อไม้แต่อย่างไร เนื่องจากในช่วงนั้นใกล้ออกพรรษาแล้ว หน่อไม้จึงถูกชาวบ้านขึ้นมาหาไปประกอบอาหารกันทุกวัน ที่พอจะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็เป็นลำต้นสูงๆ ไปหมดแล้ว และบ้างก็เพิ่งจะปริ่มดินขึ้นมาอยู่ในกลางกอ สรุปแล้วก็คือจะหาหน่อไม้ไปร่วมในงานจำนวนมากๆ เช่นนี้คงไม่มีทาง คณะชาวบ้านที่ได้ขึ้นไปหาหน่อไม้เดินวนเวียนกันจนอ่อนล้าไปตามๆ กัน จึงได้พากันกลับลงมาจากภูเขาเข้าไปกราบเรียนหลวงปู่ว่า “พวกกระผมได้พากันขึ้นไปหาหน่อไม้ตั้งแต่เช้าจนบ่ายป่านนี้แล้ว ยังไม่ได้หน่อไม้เลยแม้แต่หน่อเดียวเพราะว่าหน่อไม้บนภูเขานั้นพวกกระผมก็ได้ขึ้นไปหามาทำอาหารกินกันทุกวัน แต่กว่าจะได้แต่ละหม้อนั้นก็ยากลำบาก บางหน่อก็ติดปลายลำเป็นต้นไปหมดแล้วก็มี ยิ่งต้องการจำนวนมากๆ อย่างนี้ด้วยแล้ว เห็นจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยครับ...”

เมื่อหลวงปู่สมชายได้รับแจ้งจากญาติโยมดังนั้นแล้ว จึงนั่งพิจารณาว่า “เอ...! จะทำอย่างไรดี ถ้าไม่ได้สิ่งของไปร่วมงานครูบาอาจารย์ในครั้งนี้เราก็ไม่ควรไป...! เพราะนิสัยของเรานั้นจะไปงานไหนก็แล้วแต่ จะไม่ไปเอาประโยชน์ ณ ที่แห่งนั้น มีแต่จะเอาประโยชน์ไปให้เท่านั้น ยิ่งครั้งนี้ด้วยแล้ว เป็นงานของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ขนาดนี้ ถ้าเราไปมือเปล่าโดยที่ไม่มีอะไรติดมือไปร่วมงานเลยนั้นเราก็ไม่ควรไป และควรจะรีบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้ไปเสียให้ไกล เพื่อหมู่คณะจะได้รู้ว่าเราไม่อยู่ ถ้าเราขืนอยู่แล้วไม่ไปร่วมงานก็เห็นจะหน้าเกลียด...”

ท่านได้นั่งพิจารณาอยู่ครู่ใหญ่แล้วจึงได้ปรารภกับญาติโยมว่า “อาตมาเห็นจะไปร่วมในงานครูบาอาจารย์ครั้งนี้ไม่ได้แน่แล้ว และก็เห็นว่าจะอยู่ที่นี้ต่อไปไม่ได้อีกด้วย...” เมื่อบรรดาญาติโยมได้ยินได้ฟังดังนั้นแล้วต่างคนต่างก็ตกอกตกใจไม่รู้ว่าจะทำประการใดดี จึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า...มีวิธีไหนที่ครูบาอาจารย์จะไปร่วมในงานครั้งนี้ได้ขอให้บอกพวกกระผมเถิดครับ ? แต่ขออย่างเดียวขอให้ท่านอาจารย์อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้พวกกระผมที่นี่ต่อไป อย่าได้หนีจากพวกกระผมก็แล้วกัน...

รูปภาพ
ชาวบ้านญาติโยมที่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ “ฝูงลิงหาหน่อไม้” ในครั้งนั้น
บันทึกภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับองค์ “หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย”

ในคราวที่องค์หลวงปู่มาจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเป็ด ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร


รูปภาพ
เทวมิตฺโตเจดีย์ พระอาจารย์สีลา เทวมิตฺโต (พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๐๒)
วัดโชติการาม บ้านหนองบัว ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร

• เทวดาจำแลง

หลวงปู่จึงปรารภขึ้นว่า “เอาอย่างนี้ อาตมาขอให้พวกเราทุกคนนี่ ทดลองขึ้นไปหาหน่อไม้บนเขาอีกสักครั้งหนึ่ง ถ้าได้หน่อไม้ไปร่วมงานครูบาอาจารย์ อาตมาก็จะขออยู่กับญาติโยม ณ ที่นี้ต่อไป แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ อาตมาก็เห็นจะอยู่ที่นี้ต่อไปไม่ได้แน่...” การขึ้นไปหาหน่อไม้ก็พึ่งจะลงมายังไม่ทันจะหายเหนื่อยเลย แต่ทุกคนก็ขันอาสาขอขึ้นไปหาหน่อไม้ลองดูอีกสักครั้งตามที่หลวงปู่ต้องการ ว่าแล้วต่างคนต่างก็หยิบฉวยมีดบ้างกระสอบบ้าง เสียมบ้างคนละอย่างสองอย่าง เดินขึ้นภูเขาไปตามเส้นทางเก่าเพื่อค้นหาหน่อไม้เป็นรอบที่สอง ต่างคนต่างก็เดินไปคิดไปว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะได้หน่อไม้ตามที่หลวงปู่ต้องการได้ เพราะว่าป่านี้ทั้งป่าก็แทบจะไม่มีหน่อไม้ลัดออกมาอยู่แล้ว เพราะลัดออกมาก็ไม่ทันคนกิน ในขณะที่ทุกคนกำลังเดินคิดถึงเรื่องการหาหน่อไม้อยู่นั้น สายตาทุกคู่จ้องจับอยู่ที่แห่งเดียวกัน ทุกคนแทบไม่เชื่อสายตาของตัวเอง ถึงความมหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาทุกคน อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน

“...ฝูงลิงตัวโตๆ ไม่ทราบว่าออกมาจากที่ไหนมากมายเต็มป่าไปหมด ลิงทุกตัวเหมือนรู้หน้าที่ต่างก็ปีนขึ้นไปหักหน่อไม้แล้วก็โยนออกมากองระเนระนาดเต็มทางเดินไปหมด บ้างก็หักแล้วเอาเหน็บไว้ที่กอไผ่ กะสูงขนาดศีรษะ พอเอามือยื่นไปหยิบถึง บ้างก็เอามือขุดล้วงเข้าไปในกอ พอชักมือออกมาก็มีหน่อไม้ติดมือออกมาด้วยทุกครั้งไป...” นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากทีเดียว

ไม่ว่าชาวบ้านจะเดินทางไปทางไหน พวกลิงเหล่านั้นก็จะออกเดินนำหน้าแล้วหักหน่อไม้ออกมากองตามทางตลอดไป ผิดกับที่ขึ้นมาครั้งแรกจะหาหักเองยังหาไม่ได้เลย แต่ครั้งนี้เพียงแต่เก็บใส่กระสอบอย่างเดียวก็แทบจะเก็บไม่ทัน จึงทั้งงุนงง ทั้งสงสัย ทั้งตื่นเต้น บางคนตื้นตันจนน้ำตาไหล ความงวยงงสงสัยจึงมีเกิดขึ้นกับทุกคนว่า “...ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา บางคนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็กๆ จนอายุถึง ๖๐-๗๐ ปี ยังไม่เคยเห็นลิงป่าประเภทนี้เลย สมัยก่อนนั้นก็เคยมีอยู่บ้าง แต่เป็นลิงอีกประเภทหนึ่ง...” และต่อมาก็ได้พากันหนีไปจากป่านี้ เข้าไปในป่าลึกกันจนหมดสิ้นเพราะกลัวภัยจากพวกมนุษย์


วันนี้จึงนับว่าเป็นวันแห่งความมหัศจรรย์แห่งชีวิตของบรรดาญาติโยม บางคนถึงกับอุทานออกมาว่า “...ตั้งแต่ข้าเกิดมาก็เพิ่งมีบุญได้พบเห็นสิ่งมหัศจรรย์ ก็ครั้งนี้เอง...” เมื่อพากันเก็บหน่อไม้ใส่กระสอบได้มากพอสมควรแล้ว จึงได้พากันลำเลียงลงจากภูเขา บรรดาฝูงลิงทั้งหลายเมื่อหมดหน้าที่แล้วก็ได้พากันวิ่งเข้าป่าหายไป บรรดาญาติโยมจึงได้พากันลำเลียงหน่อไม้ลงมาถึงถ้ำเป็ดอย่างทุลักทุเล แล้วทุกคนก็พากันไปกราบเรียนหลวงปู่ถึงเหตุการณ์ที่ได้ประสบมาสดๆ ร้อนๆ นั้นให้ทราบอย่างตื่นเต้น และปลื้มปีติ

จึงเป็นอันว่าการที่จะเดินทางไปร่วมงานศพท่านพระอาจารย์สีลา เทวมิตฺโต ก็ได้เป็นไปตามเจตนาของหลวงปู่ทุกประการ และได้นำหน่อไม้ไปร่วมงานเพื่อปรุงอาหารถวายพระภิกษุสามเณร และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานครั้งนั้นอย่างอุดมสมบูรณ์

หลวงปู่สมชายได้นำคณะพระเณรมาช่วยจัดงานเตรียมงานตั้งแต่เริ่มงานจนกระทั่งถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์สีลา เทวมิตฺโต จนเสร็จเรียบร้อยก็ได้พาคณะกลับไปบำเพ็ญที่ถ้ำเป็ดต่อมาอีกระยะหนึ่ง พอดีในช่วงนั้นสามเณรประไพ รูปเหลี่ยม อายุครบที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้แล้ว หลวงปู่จึงได้พาสามเณรประไพเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาบ้านเกิดเพื่อทำพิธีการญัตติกรรมสามเณรประไพ ในครั้งนั้นจึงได้เดินทางกลับมา จ.มุกดาหาร ได้ไปพักอยู่ที่ภูเก้าเพื่อแจ้งข่าวงานบุญให้หมู่ญาติพี่น้องของสามเณรประไพได้อนุโมทนา ต่อจากนั้นท่านก็ได้นำสามเณรประไพไปทำพิธีญัตติที่วัดศรีมงคลเหนือ จ.มุกดาหาร เสร็จแล้วก็ได้กลับมาพักที่ภูเก้าอีกระยะหนึ่ง จึงได้พากันลงมาจากภูเก้าเดินทางไป อ.เมืองอำนาจเจริญ พักอยู่ที่วัดอ่า ประมาณ ๓ เดือน แล้วก็เคลื่อนลงมาทาง จ.อุบลราชธานี จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ พอเข้าเขตจังหวัดสุรินทร์ฝนตกหนักมากทั้งวันทั้งคืน แต่ก็ไม่ได้หยุดพัก เปียกกันทุกรูป มีแต่ผ้าครอง และผ้าที่ใส่อยู่ในบาตรเท่านั้นที่ไม่เปียก เดินทางต่อไปเรื่อยๆ จนมาถึงบ้านบุ เห็นมีวัดประจำหมู่บ้าน ชื่อวัดตะเคียน จึงได้เข้าไปขอพักหลบฝน ทั้งเปียกทั้งหนาวสั่นกันทุกรูป กะว่าจะพักพอตากให้ผ้าแห้ง หายเหนื่อยหายหนาวแล้วก็จะออกเดินทางต่อ แต่พอดีชาวบ้านคนหนึ่งที่นั่นได้เข้ามาต้อนรับ สอบถามทราบว่า ชื่ออาจารย์ประยูร เคยบวชได้นักธรรมเอก เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้เข้ามาพูดคุยสอบถามต้อนรับเป็นเจ้าบ้านที่ดี เมื่อทราบว่าหลวงปู่และคณะมุ่งหาความสงบวิเวก หาสถานที่ทำความเพียร อาจารย์ประยูรเมื่อทราบความประสงค์แล้วจึงกราบเรียนแนะนำว่า บนปรางค์ปราสาทนั้นมีที่พักสงฆ์สมัยหลวงปู่ดูลย์ เคยมาทำความเพียรซึ่งขณะนี้มีหลวงตาศิษย์หลวงปู่ดูลย์อยู่ ๒ รูป จึงขอกราบนิมนต์หลวงปู่และคณะไปพักบำเพ็ญที่ปราสาทเขาพนมรุ้งเห็นจะเหมาะแก่การทำความเพียรดี ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตรงนี้ไปประมาณ ๑ กิโลเมตร หลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรจึงเดินขึ้นไปดู เมื่อไปเห็นแล้วก็รู้สึกว่าแปลกดี สวยงามมาก เป็นลักษณะปรางค์ปราสาทเก่าแก่มีซากปรักหักพังจำนวนมาก สมัยนั้นยังไม่ได้มีการบูรณะฟื้นฟู มีลวดลายวิจิตรพิสดาร ศิลปะยุคขอมเก่าแก่จริงๆ ดูรกร้างและปกคลุมไปด้วยไม้เลื้อยและเครือเขาเถาวัลย์เต็มไปหมด ก็มองดูครึ้มๆ น่ากลัว แต่มีความสงบสงัดวิเวกมาก หลวงปู่จึงได้ตกลงที่จะจำพรรษาที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2020, 17:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• พ.ศ. ๒๕๐๓ จำพรรษาที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง
ตำบลตาเป๊ก อำเภอประโคนชัย
(ปัจจุบันเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติ) จังหวัดบุรีรัมย์


ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้พากันจำพรรษาอยู่ที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง อ.ประโคนชัย (ปัจจุบันเป็น อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเดิมเป็นที่บำเพ็ญเก่าของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ปัจจุบันนี้มีหลวงตาพวง และหลวงตาเถาะ กับ สามเณรอ้วน ซึ่งทั้งหมดเป็นศิษย์หลวงปู่ดูลย์ ได้อยู่ดูแลรักษาสถานที่ของครูบาอาจารย์เอาไว้ ในพรรษานี้มีพระจำพรรษาด้วยกัน คือ

๑. หลวงปู่สมชาย ๒. พระประไพ ๓. พระทองม้วน ๔. พระฮุม และสามเณรอีก ๕ รูป รวมทั้งเจ้าของถิ่นซึ่งมี ๓ รูป คือหลวงตาพวง หลวงตาเถาะ และสามเณรอ้วน รวมกันแล้วจึงจำพรรษากันทั้งหมด ๑๒ รูปด้วยกัน แต่ชาวบ้านแถบนี้ส่วนมากจะเป็นชาวส่วย และชาวเขมรกันทั้งหมด ซึ่งก็มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และมีความศรัทธาต่อพระสายปฏิบัติเป็นอย่างดีจึงสะดวกและง่ายต่อการอบรมสั่งสอน ตลอดพรรษาหลวงปู่ก็ได้เทศนานำพาปฏิบัติและให้รักษา ศีล ๕ ศีล ๘ ให้รู้จักการภาวนาตามแบบฉบับที่หลวงปู่ดูลย์เคยอบรมสั่งสอนไว้ นอกจากนั้นท่านก็ยังได้นำพาชาวบ้านพัฒนาบูรณะตกแต่งปรางค์ปราสาทให้สะอาดสะอ้าน สวยงาม ร่มรื่น ให้เป็นสถานที่น่าบำเพ็ญภาวนา น่าอยู่อาศัย ไม่น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน ในพรรษานี้หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสศึกษาภาษาท้องถิ่นจากชาวบ้านไปด้วย หลวงปู่จึงสามารถพูดได้ทั้งภาษาส่วยและภาษาเขมรได้เป็นอย่างดี ได้ไปบิณฑบาตสามทางด้วยกัน มีสายบ้านบุ สายบ้านยายแย้ม สายบ้านโคกหัวเสือ ชาวบ้านใส่บาตรกันดีมาก ส่วนการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรในพรรษาปีนี้ ต่างก็ได้รับความสงบเป็นไปได้ดีกันทุกรูป เร่งดูจิตใจของตนเองกันเป็นหลัก แต่ก็อยู่ได้เพียงพรรษาเดียวเท่านั้น พอออกพรรษาแล้วชาวบ้านได้จัดให้มีการทอดกฐินตามธรรมเนียมประเพณีของชาวพุทธ และก็ได้ล่ำลาหลวงตาทั้งสองรูป ลาชาวบ้านทุกคนในวันทอดกฐินนั่นเองว่าจะออกเดินทางไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาสถานที่อันสงบสงัดแห่งใหม่ต่อไป ชาวบ้านก็พากันมาอาราธนาให้อยู่โปรดพวกเขาต่อไปอีก แต่ก็ไม่ได้รับปากอะไร เมื่อเสร็จธุระต่างๆ แล้ว หลวงปู่ก็ได้พาหมู่คณะออกเดินทางจากปราสาทเขาพนมรุ้ง ตั้งใจว่าจะลงไปทางภาคใต้


รูปภาพ
พระอาจารย์ก้าน ฐิตธมฺโม

รูปภาพ
วัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด)
ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์


รูปภาพ
วัดบุษยะบรรพต (วัดเขาต้นงิ้ว)
ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

• ศรัทธา ๘๐ บาทของชาวบ้านยายแย้ม

ร่ำลาญาติโยมเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็พากันออกเดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟจังหวัดบุรีรัมย์ มีชาวบ้านติดตามไปส่งกันเป็นจำนวนมาก ในครั้งนี้ชาวบ้านยายแย้มได้รวบรวมปัจจัยหมดทุกครัวเรือนทั้งหมู่บ้านได้จำนวน ๘๐ บาท ถวายเป็นค่าโดยสารแก่หลวงปู่และคณะ ในสมัยนั้นก็ถือว่ามากและใช้เป็นค่าโดยสารรถไฟเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หมดพอดี จากเหตุการณ์ครั้งนั้นหลวงปู่เมื่อไปถึงไหนก็แล้วแต่มักจะพูดถึงเรื่องเงินค่าโดยสาร ๘๐ บาท ที่ชาวบ้านยายแย้มรวบรวมถวายในครั้งนั้นอย่างไม่เคยลืมบุญคุณเลย หลวงปู่และคณะได้นั่งรถไฟไปลงที่หัวลำโพง ต่อจากนั้นก็นั่งรถยนต์ต่อไปลงที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดินทางไปถึง อ.หัวหิน แล้วก็ได้เข้าไปพักที่วัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด) ซึ่งมีท่านพระอาจารย์ก้าน ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส โดยแยกเป็นวัดล่าง (วัดบุษยะบรรพต หรือวัดเขาต้นงิ้ว) และวัดบนภูเขา ได้พากันขึ้นไปอยู่ที่วัดบนหลังเขา ซึ่งมีอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่บนนั้น (วัดราชายตนบรรพต หรือวัดเขาต้นเกด) มีความสงบสงัดดีมาก ได้พักอยู่ประมาณ ๒-๓ เดือน แล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์ก้านเพื่อจาริกหาสถานที่ทำความเพียร โดยเข้าไปในป่าละอู ซึ่งเป็นดงดิบพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศพม่า

• บำเพ็ญธรรมในแดนกะเหรี่ยง

หลวงปู่ได้นำพาหมู่คณะเข้าไปหาสถานที่วิเวกลึกเข้าไปในป่าที่ห่างไกลจากวัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด) เข้าไปในป่าดงใหญ่ซึ่งมีต้นไม้หนาแน่นและเป็นดงดิบจริงๆ หลวงปู่ปรารภให้ฟัง เมื่อคราวที่เดินทางเข้าไปเยี่ยมญาติโยมที่เคยมีอุปการคุณว่า “สมัยก่อนนั้น สัตว์ป่าชุกชุมมาก ยามสายๆ หน่อยเมื่อพระอาทิตย์ทอแสงขึ้น เสียงชะนีจะกู่ร้องโหยหวนกังวานไปทั่วพื้นป่าทีเดียว จำพวกควายป่าหรือกระทิงก็ชุกชุมมาก ป่าไม้สมัยนั้นน่าอยู่มากยัง ไม่ถูกทำลาย ธรรมชาติจึงสมบูรณ์ ลำห้วยลำธารและสายน้ำมีอยู่ทั่วไป จะเดินไปทางไหนก็ร่มเย็นแทบจะไม่ได้เห็นดวงอาทิตย์เลย เพราะเป็นดงดิบจริงๆ ทุกวันนี้ป่าไม้ใหญ่ๆ ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ถูกมนุษย์ทำลายเพื่อเอาพื้นที่ปลูกสับปะรดกันหมดนับเป็นแสนๆ ไร่ ลำห้วยลำธารเมื่อก่อนเดินไปตรงไหนจะเห็นน้ำใสๆ เห็นก้อนกรวดก้อนหินใต้ผิวน้ำทีเดียว ทุกวันนี้ ดูซิ ! แห้งขอด แม้สัตว์จะหาน้ำกินก็ยังไม่มี บางแห่งนอกจากในพรรษาเท่านั้นที่มีน้ำ นอกพรรษามีแต่ร่องเขาอย่างที่เห็น...” (หลวงปู่ปรารภเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งพาลูกศิษย์ไปเยี่ยมลีเซอร์ จงเจริญ) หลวงปู่ได้เดินบุกป่าฝ่าดงเข้าไปถึงข้างในดงดิบซึ่งยิ่งลึกเท่าไรก็ยิ่งเป็นป่าดงดิบมากเท่านั้น ต้นไม้สักทองแต่ละต้น ๔-๕ คนจับมือโอบยังไม่รอบ ซึ่งมีอย่างหนาแน่น เขาเรียกว่าทุ่งกะสัง และเลยเข้าไปอีกเรียกว่าไร่สุดใจ บ้านไทรเอน บ้านห้วยสัตว์น้อย บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ พอเดินไปถึงห้วยสัตว์ใหญ่ก็ได้พบกับค่าย ตชด. มีเจ้าหน้าที่ประมาณ ๕ นาย ซึ่งมาคอยดูแลรักษาป่าอยู่ที่นี่ เรียกว่าค่าย ตชด. ห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งเป็นตะเข็บชายแดนระหว่างกะเหรี่ยง-มอญ-พม่า-ไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง และเผ่ากะหร่าง ปะปนกันอยู่ หลวงปู่มีความตั้งใจว่าจะเดินทางเข้าไปข้างในดงต่อไปอีกเรื่อยๆ โดยมีความประสงค์ที่จะไปกราบเจดีย์ชเวดากอง ในเมืองย่างกุ้งของประเทศพม่า แล้วก็จะเลยไปกราบเมืองแห่งเจดีย์สี่พันองค์ หรือที่เรียกกันว่าเมืองพุกามนั่นเอง โดยจะใช้วิธีเดินเป็นพุทธบูชาไปเรื่อยๆ อย่างนี้ แต่เจ้าหน้าที่ ตชด. เขาขอร้องไม่ให้เข้าไปเพราะว่าเป็นเขตตะเข็บรอยต่อชายแดนของพม่าเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยอาจจะเป็นอันตรายได้ พวกเจ้าหน้าที่ ตชด. เขาเห็นหลวงปู่พาพระเณรเข้าไปบำเพ็ญภาวนาในป่าเช่นนั้นพวกเขาพากันดีใจเป็นการใหญ่ เพราะจะได้มีเพื่อนที่อบอุ่นทางด้านจิตใจ พวก ตชด. ก็ได้พากันช่วยจัดหาสถานที่ให้พัก ช่วยทำทางเดินจงกรมและที่บำเพ็ญให้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากค่าย พวก ตชด. เขาได้หุงข้าวมาถวายวันละ ๑ จาน จะถวายมากกว่านั้นก็ไม่ได้เพราะเสบียงของเขามีจำกัด แต่ก็ได้ไปบิณฑบาตกับพวกกะเหรี่ยงซึ่งในระยะแรกๆ นั้นไม่ได้อะไรเลยเพราะว่าพวกชาวเผ่านี้ยังไม่เคยรู้จักพระ ยังไม่เคยรู้จักการใส่บาตรว่าคืออะไร ? จะใส่ทำไม ?...ใส่แล้วจะได้อะไร ?...เขาจึงได้ยืนมองพระเดินผ่านไปผ่านมาอย่างเดียว บรรดาสามเณรที่ติดตามไปด้วยจึงต้องช่วยกันหาอาหารประเภทผักป่าและยอดไม้มาเสริมเพิ่มจากอาหารของ ตชด. ซึ่งมีเพียงข้าวเปล่า ๑ จานเท่านั้นเป็นประจำทุกวัน สิ่งที่หาได้ง่ายและมีอย่างอุดมสมบูรณ์ คือ ผักกูดมูเซอ มะละกอป่า บางวันก็เอาหยวกกล้วยป่ามาต้มให้สุก ถวายพระฉันพอมีชีวิตอยู่ปฏิบัติธรรมไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ทุกรูปก็อยู่กันอย่างสบาย ร่างกายเบา ภาวนาดี อยู่กันได้ถึง ๒ เดือนเศษ ต่อจากนั้นหลวงปู่จึงได้ให้พระเณรกลับออกมาพักคอยท่านที่หัวหิน ให้หาสถานที่วิเวกกันตามลำพังโดยมีกำหนดนัดหมายพบรวมกันที่วัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด) ในวันเพ็ญเดือนเจ็ด

• ได้พบสหชาติในดงใหญ่

เมื่อหลวงปู่ได้ให้หมู่คณะเดินทางออกมาพักรอท่านที่หัวหินแล้ว หลวงปู่ก็เดินทางไปลำพังเพียงรูปเดียวเดินทางต่อเข้าไปในป่าลึก เข้าไปจนเลยเขต อ.ปราณบุรี ต่อเข้าไปจนถึงเมืองมะริด หรือเมืองทะวาย ตะเข็บชายแดนประเทศพม่า แถบนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงและชาวกะหร่างอาศัยอยู่ หลวงปู่จึงได้พักบำเพ็ญอยู่กับพวกกะเหรี่ยงที่บ้านป่าแดง บ้านป่าดี และบ้านป่าละอู ขณะที่ทำความเพียรอยู่นั้นในเช้าวันหนึ่งได้มีชายกะหร่างเข้ามาสังเกตการณ์ เขาคงแปลกใจว่าดินแดนที่พวกเขาอยู่นี่นับว่าห่างไกลจากเผ่าอื่นรุกรานมากพอแล้ว แต่บัดนี้เกิดมีเผ่าใหม่ซึ่งไม่เหมือนพวกเขาเข้ามา แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ? จะเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อชาวเผ่าของเขา หรือไม่อย่างไร พวกกะเหรี่ยงได้เฝ้าสังเกตหลวงปู่อยู่นาน เห็นว่าไม่เป็นพิษภัย ต่อเผ่าของเขาแน่นอน เพราะวันหนึ่งๆ เอาแต่เดินกลับไปกลับมา หรือก็นั่งหลับตานิ่งๆ เขาชักชวนกันมาเฝ้าดูหลวงปู่เหมือนการได้ดูของแปลกที่สุดในชีวิตของเขา ไม่ว่าหลวงปู่ จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม พวกกะหร่างเขาก็นั่งดูทั้งสองฝั่งทางจงกรม เวลาหลวงปู่นั่งสมาธิ ไม่ว่าจะนานเท่าไร เขาก็นั่งมองอยู่นานเท่านั้นเหมือนกัน...เขาไม่เห็นหลวงปู่กินอะไรเลย ทุกวันๆ เขาคงอยากถามว่าไม่หิวหรือทำนองนั้น ส่วนหลวงปู่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดกับพวกเขาอย่างไรจึงจะรู้เรื่อง จึงต้องต่างคนต่างนิ่งเป็นดีที่สุด เขาเห็นว่าหลวงปู่ไม่ได้กินข้าวมาหลายวันแล้วยังไม่ตาย ยังอยู่ได้สบาย เขาก็ยิ่งศรัทธามากขึ้น...แต่การศรัทธาของพวกเขาก็เพียงแค่มาเฝ้านั่งมอง และมองอยู่ได้เป็นวันๆ เท่านั้นเอง เข้าใจว่าพวกเขาคงไปรายงานให้หัวหน้าทราบ เพราะในวันต่อมานอกจากชาวบ้านที่เคยมาปกติแล้วในบรรดานั้นจะมีคนพิเศษมาด้วย สังเกตจากที่มีบริวารห้อมล้อม มีสาวกคอยดูแล ไว้หนวดเครายาว ผมยาว แขวนลูกปัดเต็มคอ คล้ายกับหมอผีนั่นเอง หลวงปู่พอได้สบตากับหัวหน้ากะหร่างก็เกิดมีความรักใคร่ในจิตบ่งบอกถึงความเป็นมิตรในทันที ส่วนหัวหน้ากะหร่างก็เช่นกันในครั้งแรกก็กะว่าจะมาดูว่าเป็นใครมาจากไหน ?...ถึงบังอาจบุกรุกถิ่นฐานโดยที่ไม่ไปยอมเป็นลูกน้องเสียก่อนถ้าไม่ได้เรื่องอย่างไรก็ว่าจะขับไล่ไปให้พ้นเขตการปกครองของพวกตน...” แต่พอมาเห็นหน้ากันปุ๊บ ก็เกิดความรู้สึกที่บ่งบอกเช่นเดียวกับหลวงปู่เหมือนกัน จึงสื่อความหมายกันด้วยภาษาจิตว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นมิตรซึ่งกันและกันด้วยสีหน้าและรอยยิ้มกริ่มนั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น หัวหน้ากะหร่างยังได้หมอบคลานเข้าไป แล้วจับมือของหลวงปู่เอามาวางไว้บนหัวของเขา ซึ่งแสดงถึงความรักและนับถือนั่นเอง ซึ่งตามปกติแล้วชาวกะหร่างจะไม่ยอมให้ใครแตะต้องบนศรีษะได้เลย นอกจากบุคคลที่เคารพนับถือเท่านั้น...” ทำให้บรรดาสาวกกะหร่างต่างงุนงงตามๆ กันว่า หัวหน้าของเขากับหลวงปู่นั้นรู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ครั้งไหน เมื่อไร ?...ในเบื้องแรกเขาถามด้วยภาษาใบ้ด้วยกิริยาทำมือประกอบ...เขาถามต่ออีกว่า สาวกเขารายงานว่าไม่กินข้าวมาเจ็ดวันแล้วไม่ตายหรือ ? ด้วยการยกมือทำท่า “หยิบของใส่ปาก เอามือลูบท้อง...” หลวงปู่ส่งภาษาใบ้ตอบไป...“ด้วยการยกมือขึ้นลูบศีรษะว่าโกนผมเป็นนักบวช แล้วหลวงปู่เอามือวางบนตักนั่งหลับตาทำความเพียร ทำมือและกิริยาว่าไปหุงข้าวกินเองไม่ได้ !” และชี้ไปที่พวกกะหร่างว่าต้องขอจากพวกคุณ ทำนองนั้น โดยพวกคุณเอาข้าวมาใส่บาตร หลวงปู่ชี้ไปที่บาตรโดยทำกิริยาบอกใบ้ แล้วยกมือขึ้นมากุมที่หัวใจยิ้ม สบาย...หัวหน้ากะหร่างเป็นคนฉลาด สื่อกันด้วยภาษาใบ้เพียงแค่นี้ก็รู้ความหมาย หัวหน้าเขาหันมาส่งภาษาบอกลูกน้องให้กลับบ้านไปเอาข้าวมาใส่บาตร...ครู่ใหญ่ต่อมาพวกเขาก็นำข้าวและเผือก มัน ของกินบางอย่างมา หลวงปู่ยกบาตรมาเปิดพร้อมกับชี้มือให้เขาเอาใส่บาตร เสร็จแล้วก็นั่งพิจารณาฉันข้าวให้กะหร่างดูเดี๋ยวนั้นเลย หลังจากวันนั้นแล้วหลวงปู่ก็ได้ฉันข้าวจากกะหร่างทุกวันข้าวเม็ดใหญ่หอมดีมาก แต่กับข้าวจะเป็นกับข้าวคนป่าค่อนข้างหยาบๆ และไม่สู้จะสะอาดนักแต่ก็พอฉันเพื่อประทังชีวิตอยู่ได้ ส่วนมากก็จะเลือกฉันประเภทผักหรือยอดไม้ และพักบำเพ็ญเพียรโปรดพวกกะเหรี่ยงและพวกกะหร่างต่อมาอีกเป็นระยะเวลานานพอสมควร...

เนื่องจากว่าชาวกะเหรี่ยงและชาวกะหร่างเขานับถือภูตผีปีศาจสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในเมื่อหลวงปู่พักอยู่เป็นระยะเวลานานหลวงปู่ก็พอจะรู้ภาษาของพวกเขาบ้างเล็กน้อย หลวงปู่จึงสอนภาษาไทยให้พวกเขาบ้าง แลกเปลี่ยนกันไปมาบ่อยเข้าก็พอสื่อความหมายกันได้บ้าง สำหรับคนที่เป็นหัวหน้าจะมาดูแลเป็นประจำทุกวันในระยะแรกๆ ก็สนทนากันด้วยภาษาใบ้ด้วยการยกไม้ยกมือ นานเข้าๆ ก็เริ่มพูดได้ที่ละคำสองคำทั้งหัวหน้ากะหร่างและตัวของหลวงปู่ต่างมีความรู้สึกภายในใจว่าเหมือนเป็นญาติกันมาตั้งแต่อดีตชาติเก่าก่อนที่ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ทั้งๆ ที่ภาษาก็ยังฟังกันรู้บ้างไม่รู้บ้าง ถิ่นกำเนิดก็อยู่กันคนละภาคอีกต่างหาก แต่ดวงจิตกับมีความผูกพันกันอย่างแปลกประหลาดตั้งแต่ได้พบหน้ากันครั้งแรก...วันหนึ่งหลวงปู่จึงลองถามว่า “...ปีนี้อายุเท่าไร ?...พร้อมกับนับนิ้วให้ดูด้วย ?...๓๕ ปี...ลีเชอร์ ตอบ...เกิดวันที่ ๗ เพ็ญเดือน ๕...หลวงปู่พูดคุยด้วยภาษาพูดประกอบภาษามือ จึงทราบได้ทันทีว่า ลีเซอร์ เกิดในวันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว และเวลาเดียวกันกับหลวงปู่นั่นเอง เกิดวันที่ ๗ เดือนห้า (เดือนเมษายน) พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลาเที่ยงวัน ด้วยความบังเอิญนี้เองจึงทำให้มีความผูกพันเหมือนพี่น้องร่วมสายโลหิตนับตั้งแต่เห็นหน้ากันครั้งแรก ผู้ที่เกิดพร้อมกันเช่นนี้ จึงเรียกว่า “สหชาติ”

การเข้ามาบำเพ็ญในแดนกะเหรี่ยงคราวนี้กว่าจะทำความเข้าใจกับชาวกะเหรี่ยงและชาวกะหร่างได้ ก็เล่นเอาสังขารร่างกายทรุดโทรมลงไปพอสมควร ต่อเมื่อพูดกันรู้เรื่องบ้างแล้วหลวงปู่ก็เริ่มสอนภาษไทยให้ สอนสวดมนต์บทสั้นๆ ให้ สอนให้รู้จักเดินจงกรม และนั่งสมาธิ แนะนำให้พวกเขาหันมานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐ แทนการนับถือภูตผีปีศาจ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• วิธีเลี่ยงจากเนื้อตะกวด

สมัยก่อนที่หลวงปู่จะเข้ามา เมื่อมีสิ่งของอะไรดีๆ พวกกะเหรี่ยง กะหร่างเขาก็ต้องเอาไปไหว้ผีประจำหมู่บ้านก่อน แล้วจึงจะเอามาแบ่งกันกิน แต่บัดนี้พวกเขาได้อะไรที่ดีๆ ก็จะต้องเอามาไหว้ หรือเอามาให้หลวงปู่ได้ฉันก่อน เขาจึงจะเอาไปแบ่งกันกิน เช่น ครั้งหนึ่งลูกบ้านเข้าป่าหาสัตว์ซึ่งเป็นอาชีพประจำวันตามปกตินั่นเอง วันนี้เขาล่าได้ตะกวดตัวขนาดใหญ่ยาวเกือบเมตร ซึ่งเป็นของโปรดชั้นดีเยี่ยมประจำเผ่าของพวกเขาทีเดียว เขาจึงย่างไฟแล้วใส่เปล จัดขบวนหามตะกวดย่างมาทั้งหมู่บ้าน เพื่อเอามาถวายให้คนที่เขานับถือได้กินเป็นคนแรก หลวงปู่เมื่อทราบเจตนาของเขาแล้ว ก็ต้องหาวิธีออกตัวว่าจะทำอย่างไรจึงจะเอาตัวรอดในครั้งนี้ได้ โดยไม่ต้องไปนั่งฉีกเนื้อตะกวดตัวที่วางอยู่ข้างหน้า และโดยที่ไม่ให้กะเหรี่ยง กะหร่าง เสียใจหรือเข้าใจว่าเรารังเกียจของเขา หลวงปู่เล่าว่า แค่เห็นอย่างเดียวคอก็ตีบแล้ว แถมยังจะพาลให้ของเก่าในท้องออกมาอีกด้วยใครจะฉันได้ลงคอ เล่นหามกันมาทั้งหางทั้งหัวและตีนยังอยู่ครบบริบูรณ์เช่นนั้น แล้วยังนำขี้เถ้า ปะแป้งขาวโพลนมาทั้ง ตัวเช่นนั้น หลวงปู่จึงบอกพวกเขาว่า “...วันนี้เป็นวันที่เราตั้งใจจะหาของขวัญมอบให้หัวหน้าเผ่าอยู่แล้ว เมื่อพวกท่านนำของดีๆ เช่นนี้มาให้เราเราขอรับไว้ด้วยความเต็มใจ และขอมอบคืนเป็นของขวัญแก่ท่านหัวหน้าเผ่าซึ่งเป็นเพื่อนรักของเราต่อไป...” แล้วหลวงปู่ก็เดินตรงไปจับบนศีรษะของหัวหน้ากะหร่างแสดงถึงความรักมาก และส่งภาษาที่พอรู้กันบ้างแล้วว่า “เรารักเพื่อนมาก เมื่อเพื่อนให้ของรักแก่เรา เราจะลงอาคมเวทย์มนต์แล้วยกให้ท่านไปแจกแบ่งกันกิน” ว่าแล้วหลวงปู่ ก็ทำปากขมุบขมิบอยู่พักหนึ่งแล้วก็เป่า...พรู๊ด...ๆ...ๆ...ไปที่ตะกวด บังเอิญธรรมชาติเป็นเหตุช่วยอีกต่างหาก เกิดมีลมพัดมาจากไหนอย่างรุนแรง กิ่งไม้ใบไม้ร่วงพรูลงมาโดยบังเอิญ..พวกกะหร่างพากันก้มลงกราบแล้วกราบอีกอยู่อย่างนั้น เสร็จแล้วหลวงปู่บอกว่าทำพิธีเสร็จแล้วให้พากันหามไปให้หัวหน้ากินก่อนแล้วแจกกินกันทุกคนจะโชคดี...พวกเขาดีใจมากที่หลวงปู่ทำพิธีให้เขาในครั้งนี้...หลวงปู่จึงเอาตัวรอดมาได้อีกครั้งด้วยกุสโลบายเล็กๆ น้อยๆ นั่นเอง เมื่อทำความเข้าใจกันได้บ้างแล้วหัวหน้ากะหร่างเขาก็เป็นผู้นำลูกบ้านของพวกเขามาให้การอุปถัมภ์บำรุงอย่างดีรู้จักทำบุญให้ทาน รู้จักหาอาหารมาใส่บาตรถวายหลวงปู่ทุกวัน ซึ่งขณะนั้นก็ยังฟังภาษากันรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง บางครั้งบอกอย่างหนึ่งเขาก็ไปทำอีกอย่างหนึ่งอยู่ดี...

• ขออย่างได้อีกอย่าง

หลวงปู่ยังเคยเล่าเรื่องตลกที่ท่านได้ประสบมาในสมัยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง มีอยู่วันหนึ่งภายหลังจากพวกกะหร่างได้นำอาหารมาถวาย หลวงปู่ฉันจังหันเสร็จแล้ว หลวงปู่จึงบอกว่า “พวกญาติโยมทั้งหลาย วันพรุ่งนี้ถ้าจะมาให้เอาจอบ เอาเสียม เอามีด มาด้วยคนละอัน มาช่วยกันทำทางเดินจงกรมให้อาตมาหน่อยนะ...พวกกะหร่างพอได้ยินหลวงปู่พูดจบลงแล้ว จึงได้พากันเดินทางกลับบ้านกันโดยไม่รอช้า ครู่ใหญ่ต่อมาพวกกะหร่างทั้งหมดนั้นก็เดินทางกลับมาพร้อมข้าวปลาอาหารและของติดมือมาด้วยโดย หลวงปู่มองเห็นแต่ไกล ก็นึกดีใจว่า “เออ...พวกกะหร่างนี้ดีจริง บอกให้มาทำวันพรุ่งนี้ กลับมาทำให้ในวันนี้ ถ้าอย่างนั้นวันนี้เราคงได้เดินทางเดินจงกรมใหม่แน่แล้ว” ครั้นพวกเขาเข้ามาแล้ว เขาก็พากันเอาอาหารที่ถือมานั้นวางไว้ตรงหน้าหลวงปู่มีข้าว ปลา อาหาร เผือก มัน มากมายก่ายกองเต็มไปหมด แล้วเขาก็นั่งรอให้หลวงปู่ฉันของเขาอีก

หลวงปู่เห็นการกระทำของพวกกะหร่างดังนั้นก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรดี เพราะว่าบอกเขาอย่างหนึ่ง เขาไปทำ อย่างหนึ่งที่ไม่ได้บอก ซึ่งเขาก็ทำด้วยความจริงใจและทำด้วยความซื่อนั่นเอง หลวงปู่จึงต้องนำวิชาเก่ามาใช้อีกครั้งด้วยการจับๆ เป่าๆ แล้วจึงได้บอกให้พวกกะหร่างเหล่านั้นนั่งกินกันเองจนหมดเรียบร้อย สำหรับหลวงปู่ก็ได้แต่นั่งยิ้มถึงความซื่อของพวกกะหร่างอยู่องค์เดียว

หลวงปู่พักบำเพ็ญอยู่กับชาวกะเหรี่ยงและชาวกะหร่างในครั้งแรกที่มีหมู่คณะพระเณรอยู่ด้วยประมาณ ๒ เดือนและหลังจากให้หมู่คณะกลับออกไปคอยอยู่ที่หัวหิน หลวงปู่บำเพ็ญอยู่กับกะหร่างตามลำพังรูปเดียวอีก ๔ เดือน รวมเป็นระยะเวลาถึง ๖ เดือนเศษ ก็นับว่าได้ประสบการณ์และได้รับความสงบทางด้านจิตใจมากเพียงพอ เพราะพวกเขาไม่ได้มาสนใจอะไรกับพระมากเหมือนผู้คนในบ้านในเมือง จึงเป็นโอกาสในการดูจิต เพ่งจิตได้มาก อีกอย่างหนึ่งก็ได้พบสหชาติ (ผู้ที่เกิดพร้อมกัน ในเวลาที่ตรงกัน) ก่อนที่จะอำลาจากแดนกะเหรี่ยงหรือแดนกะหร่าง ผู้เป็นหัวหน้ากะหร่างสหชาติของหลวงปู่ คือ ลีเซอร์ จงเจริญ ไม่มีสิ่งใดที่จะให้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวความผูกพันระหว่างเพื่อนต่อเพื่อนสหชาติอันเป็นที่รักไว้ได้ เขาจึงได้ยกถวายเด็กหญิงตัวน้อยๆ ที่เป็นบุตรของตนอายุยังไม่ถึงขวบ ให้เป็นบุตรบุญธรรมของเพื่อน หลวงปู่ได้รับด้วยความเมตตา ต่อมาเด็กน้อยคนนั้นโตจนรู้ความแล้วลีเซอร์ จึงนำมาให้บวชเป็นชีอยู่กับหลวงปู่ที่วัดเขาสุกิม มาจนถึงปัจจุบัน

การเข้ามาหาสถานที่วิเวกในแดนกะหร่างเห็นว่าพอสมควรแล้วเพราะระยะเวลาก็ย่างใกล้ฤดูฝนเข้ามาทุกขณะ ฝนในแดนกะหร่างเริ่มตกชุกขึ้นแล้ว หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับออกมาหาหมู่คณะพระเณร ที่ได้เดินทางแยกออกมารออยู่ที่หัวหิน ตรงเวลาที่ได้นัดหมายกันไว้ เมื่อได้ออกมารวมกันครบหมดแล้ว จึงได้ปรึกษากันว่าจะเดินทางล่องใต้ไปเรื่อยๆ ตามรอยครูบาอาจารย์ที่จาริกลงไปก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว เช่น อย่างหลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี เป็นต้น หรือว่าจะเดินทางกลับเมืองอีสานดี ในที่ปรึกษานั้นก็ได้รับคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ว่า...ท่านอาจารย์น่าจะลองไปทางภาคตะวันออกแถบ จ.จันทบุรี ดูบ้าง ซึ่งมีสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ที่สงบวิเวกหลายแห่ง และชาวจันทบุรีก็มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีความเข้าใจต่อระเบียบข้อปฏิบัติของพระกรรมฐานเป็นอย่างดี เนื่องจากพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลายรูปเคยได้ผ่านมาเผยแพร่หลักธรรมไว้ก่อนแล้ว เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพ่อลี ธมฺมธโร (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล) เป็นต้น”


• มุ่งประกาศธรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก

เมื่อได้รับคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์ทิวาดังนั้นแล้ว ก็ได้ตกลงใจเดินทางมา จ.จันทบุรี พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรจำนวน ๑๐ รูป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และได้มุ่งตรงไปที่วัดเขาน้อยสามผาน ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี (วัดพิชัยพัฒนาราม) เพราะว่าเป็นสำนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง สถานที่พร้อมไปด้วยสับปายะสี่บริบูรณ์มีความร่มรื่น สวยงามตามธรรมชาติ อีกทั้งความสงบ วิเวกก็ดีมาก จึงเหมาะแก่การเจริญสมณธรรมเป็นยิ่งนัก หมู่บ้านโคจรบิณฑบาตก็อยู่ไม่ไกล พอไปมาได้สะดวก นับว่าเป็นสถานที่สับปายะอีกแห่งหนึ่งซึ่งควรแก่การบำเพ็ญกรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง

แต่พอได้ติดต่อสอบถามครูบาอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าสำนักแล้วปรากฏว่า กุฏิที่พักมีจำกัด พระภิกษุสามเณรได้เข้าอยู่ครบตามจำนวนหมดแล้ว และจะรับได้อีกไม่เกิน ๕ รูปเท่านั้น ถ้ามากกว่า ๕ รูปแล้ว ก็จะไม่สะดวกต่อการบำเพ็ญเท่าที่ควร คณะของหลวงปู่มีด้วยกันทั้งหมด ๑๐ รูป และไม่ประสงค์ที่จะแยกกันจำพรรษาอีกด้วย จึงต้องพิจารณาหาที่จำพรรษาแห่งใหม่ต่อไป ท่านจึงดำริในใจว่า ภายใน จ.จันทบุรี นี้ ถ้าเราจะไปเสาะแสวงหาสำนักต่างๆ เพื่อจำพรรษา ก็ยังไม่ทราบว่าจะพอมีสำนักใดที่จะจำพรรษารวมกันทั้งหมดนี้ได้ เนื่องจากไม่เคยมา จึงไม่รู้จักมักคุ้นกับใครเลย ถ้าจะเดินทางกลับเมืองอีสาน หรือเวลาก็เหลือน้อยเต็มที เกรงว่าจะไปไม่ทันเข้าพรรษา ประกอบกับทั้งค่าโดยสารในการเดินทางก็หมดลงพอดี

• มูลเหตุและการเกิดขึ้นของวัดเนินดินแดง

ก่อนที่จะดำเนินเรื่องราวของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นลำดับต่อไป ถ้าจะข้ามเรื่องราวในส่วนนี้ไปแล้วชีวประวัติของหลวงปู่คงจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ทางคณะผู้รวบรวมชีวประวัติ จึงได้สอบถามเรื่องราวจากท่านผู้รู้และเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการก่อสร้างวัดเนินดินแดง และนับว่าติดตามสอบถามได้ทันการ เนื่องจากหลังจากได้สอบถามท่านเพียงปีเดียว ท่านก็ถึงแก่กรรม ท่านนั้น คือ คุณครูจวด สวิงคูณ หรืออดีตพระภิกษุจวด ซึ่งเคยบวชติดตามรับใช้ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ได้กรุณาเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า...

“...สมัยที่ผม (อดีตพระภิกษุจวด สวิงคูณ) บวชอยู่กับท่านพ่อลี ธมฺมธโร วันหนึ่งท่านพ่อลีปรารภขึ้นมากับผมว่า...ท่านจวด ผมมีบุญอยู่กับชาวจันท์ได้ไม่นานหรอกนะ ! ผมจะต้องจากเมืองจันทบุรีไปอยู่ที่เก่าที่ผมเคยเกิดเคยตาย คนเมืองจันทบุรีเป็นคนมีบุญ จะได้ทำบุญกับพระสายปฏิบัติไม่ขาด ได้ทำบุญกับพระดีๆ อยู่เสมอ เมื่อหมดบุญผมแล้วจะมีพระรูปหนึ่งที่มีบุญบารมีเสมอผม จะเดินทางเข้ามาสู่เมืองจันทบุรี แต่ท่านไม่ได้มาอยู่ที่นี่แทนผมหรอก ท่านไม่ได้มาอยู่ในเมืองอย่างนี้หรอกนะ โน่น ! ท่านจะไปอยู่ในป่าที่หัวเขาอีกิม (ท่านพ่อลีชี้มือไปด้านทิศเหนือ) ถ้าท่านจวดอยากได้บุญให้ไปสร้างวัดรอไว้ได้เลย...ท่านพ่อลีปรารภต่อไปอีกว่า...แล้วจำไว้นะท่านจวด...

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• คำทำนายของท่านพ่อลี

พ.ศ. ๒๕๐๔ จะมีพระดีผู้มีบุญเสมอด้วยเรา จะเข้ามาสู่เมืองจันท์

พ.ศ. ๒๕๐๗ หัวเขาอีกิมจะสว่างไสวไปด้วยแสงเทียน แสงธรรม

พ.ศ. ๒๕๑๑ หัวเขาอีกิมจะสว่างรุ่งเรือง คนเมืองจันทบุรีจะต้องรู้จัก

พ.ศ. ๒๕๑๒ หัวเขาอีกิมจะสว่างขาวผ่องใส คนทั่วประเทศจะต้องรู้จัก

พ.ศ. ๒๕๑๕ หัวเขาอีกิมจะเป็นศูนย์รวมของตัวแทนศาสนาต่างๆ

พ.ศ. ๒๕๒๐ หัวเขาอีกิมจะสว่างไสวถึงที่สุด คนทั่วโลกจะรู้จัก


ด้วยความศรัทธาเชื่อมั่นในบุญบารมีของท่านพ่อลี เท่าที่ครูจวดเคยประจักษ์มาแล้วทุกครั้งไม่ว่าท่านพ่อลีจะปรารภเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตามไม่เคยพลาด จะต้องตรงตามที่ท่านพ่อพูดทุกอย่างไม่ช้าก็เร็ว เพราะเชื่อมั่นว่าท่านพ่อลีมีญาณหยั่งรู้เหตุการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำให้เห็นกับตามาแล้วหลายครั้ง หลังจากที่ท่านพ่อลีปรารภได้ไม่นาน ผม (ครูจวด สวิงคูณ) ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสืบเสาะถามทางไปเขาอีกิมด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างวัดรอการเข้ามาของพระรูปที่ท่านพ่อลีปรารภถึง ! สมัยก่อนนั้นบริเวณตั้งแต่อำเภอท่าใหม่เข้ามาถึงที่นี่ (เขาสุกิม) ยังเป็นดงดิบที่หนาทึบเต็มไปด้วยป่าไม้ เป็นสถานที่สัมปทานไม้ซุงของเสี่ยละออ พูลสวัสดิ์ สัตว์ร้ายเสือช้าง ยังชุกชุมมาก ลิงค่าง บ่าง ชะนี จะกู่ร้องกันลั่นป่าไปทีเดียว ผมเดินทางผ่านมาก็ถามไปเรื่อยว่าเขาอีกิมอยู่ตรงไหน ชาวบ้านก็ชี้มือไปข้างหน้าเรื่อยไป และที่สุดก็มาถึงเขาลูกนี้แหละคือเขาอีกิม แต่ปัญญาของผมมีน้อยเกินกว่าสิ่งใด ไม่ได้เฉลียวใจกราบเรียนถามท่านพ่อลีไว้แต่แรกเลยว่า...หัวเขาอีกิมนั้นหมายถึงบนภูเขา หรือหมายถึงสถานที่ด้านทิศเหนือของภูเขา อย่างเช่นบางหมู่บ้านที่มีชื่อว่า “บ้านหัวเขาหรือบ้านท้ายเขา แต่บ้านที่มีชื่อนั้นก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนภูเขา แต่กับตั้งอยู่ทิศเหนือของภูเขา แต่ผู้คนก็เรียกกันว่าบ้านหัวเขา อย่างนี้เป็นต้น...”

ผม (อดีตพระภิกษุจวด สวิงคูณ) ก็คิดไปเองว่า คงไม่ใช่บนยอดเขาแน่ มีใครที่ไหนจะขึ้นไปอยู่บนภูเขาที่หนาแน่นไปด้วยป่าดงดิบและลาดชันอย่างนั้น ด้วยสติปัญญาอันน้อยของผมพิจารณาดูแล้วว่าที่ท่านพ่อลีปรารภไว้นั้นไม่ใช่บนภูเขาที่ลาดชันอย่างนั้นแน่ๆ คงต้องเป็นสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่สงบ สงัด วิเวก และมีสับปายะที่ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือที่ภาษาทั่วไปมักเรียกด้านนั้นว่าหัวเขา...ด้านนี้เป็นหางเขาหรือท้ายเขา ผมคิดไปเอง ผมจึงเดินต่อไปอีก ไปพบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นลูกเนิน ไม่สูง มีความกลมกลืนลาบเลียบ ขึ้นไปยืนมองทำเลทิวทัศน์ต่างๆ แล้วสอบถามทราบว่าเป็นที่ดินของคุณครูสงวน จิรวัฒน์ ซึ่งก็มีความประสงค์ที่จะสร้างวัดอยู่พอดี...ผมจึงเข้าใจว่า คงเป็นสถานที่นี้แน่นอนจึงประจวบเหมาะกันเช่นนี้ ได้เล่าเรื่องต่างๆ ให้คุณครูสงวนฟัง ว่าผมกำลังสืบเสาะแสวงหาสถานที่สร้างวัดเช่นกัน เพราะว่าได้รับคำทำนายจากท่านพ่อลีว่า ในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๔ นี้ จะมีพระผู้มีบุญญาบารมีเสมอเหมือนท่านพ่อลี เดินทางมาปักหลักประกาศพระศาสนาในเมืองจันทบุรีบ้านเรา โดยจะมาอยู่ที่หัวเขาอีกิม ผมจึงมาหาสถานที่เพื่อสร้างวัดรอท่าน...เมื่อพูดคุยกับครูสงวนเป็นที่ตกลงแล้ว ผมก็ดำเนินการก่อสร้างวัดเนินดินแดงขึ้นเมื่อ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยคุณครูสงวน จิรวัฒน์ มีศรัทธามอบที่ดินให้จำนวน ๓๒ ไร่ ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้มีศรัทธาอีกหลายท่าน เช่น นายเต่ง สวิงคูณ, นายเต๋า ชนะสิทธิ์, นายเจน สายพานิช, นายเฉลิม ทวีธรรม, นายอู๋ โรจน์จันทร์แสง, นายอัว โรจน์จันทร์แสง, นายบุญชู วงศ์สวาท, นายสุวรรณ, นายยุ้น, นายกิง, นายเอียน, นายอ๊อด, นายหอม และนางเทียม เป็นต้น พอเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็จำเป็นจะต้องหาพระเพื่อนิมนต์มาอยู่รอไว้ก่อน

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้นิมนต์พระมาอยู่ ๑ รูป สามเณร ๑ รูป พ.ศ. ๒๕๐๓ ก็ได้นิมนต์พระมาอยู่จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาผ่านมาถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ ก่อนเข้าพรรษาในปีนี้ คณะญาติโยมชาวบ้านเนินดินแดง ก็ได้ให้ตัวแทนชาวบ้านไปหาพระเพื่อนิมนต์มาอีกครั้งหนึ่ง มี นายจอม แพทย์ปทุม กับนายเฉลิม ทวีธรรม เดินทางไปนิมนต์พระที่วัดเขาแก้ว วัดจันทนาราม วัดป่าคลองกุ้ง ทั้งสามวัดไม่มีพระภิกษุสามเณรรูปใดรับนิมนต์ไปจำพรรษาในป่าแม้แต่รูปเดียว แต่ก็ยังมีความหวังที่ได้รับคำแนะนำจากวัดจันทนารามว่า “ที่วัดเขาน้อยสามผาน ขณะนี้มีพระธุดงค์เดินทางมาจากภาคอีสานกำลังแสวงหาสถานที่จำพรรษา ให้ลองเดินทางไปกราบนิมนต์ท่านดูเผื่อท่านเมตตารับมาจำพรรษาให้...” นายจอม แพทย์ปทุม และนายเฉลิม ทวีธรรม จึงออกเดินทางด้วยความหวังว่าจะได้พระธุดงค์คณะดังกล่าวไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ต้องนิมนต์เอาไว้ก่อน


• รับนิมนต์ไปวัดเนินดินแดง

ส่วนหลวงปู่สมชายและคณะนั้น ก็กำลังวิตกกังวลเรื่องหาสถานที่จำพรรษากันอยู่พอดี เห็นอุบาสก ๒ คน เดินเข้ามาในที่พักอุบาสกทั้งสองกราบพระด้วยเบญจางคประดิษฐ์เสร็จแล้ว หลวงปู่ก็ได้เริ่มเรื่องสนทนาสอบถามว่า “อุบาสกทั้งสองเดินทางมานี่มีธุระอะไรบ้าง ?...” นายจอมกราบเรียนว่า “กระผมทั้งสองเป็นตัวแทนชาวบ้านเนินดินแดง และบ้านบึงบอน ตั้งใจจะมานิมนต์พระคุณเจ้าให้ไปจำพรรษา ณ วัดเนินดินแดง” หลวงปู่ถามว่า “วัดของพวกโยมอยู่ที่ไหน” อุบาสกตอบว่า “วัดของพวกกระผมอยู่ในเขต ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นหมู่บ้านที่เข้าไปบุกเบิกกันใหม่ วัดก็ได้สร้างขึ้นใหม่ซึ่งอยู่ในดงลึกมาก จึงหาพระที่จะเข้าไปจำพรรษาลำบาก เพราะพระคุณเจ้าบางรูปท่านก็มีความประสงค์ที่จะอยู่ในเมืองเพื่อศึกษาเล่าเรียนทางด้านคันถธุระ พวกกระผมก็รู้สึกเห็นใจท่าน แต่กระผมก็ได้รับคำแนะนำจากพระคุณเจ้าที่วัดจันทนารามว่า มีพระสายป่าเป็นพระธุดงค์มาจากภาคอีสานกำลังหาสถานที่จำพรรษา จึงมีความประสงค์ที่จะมากราบอาราธนานิมนต์พระคุณท่าน คิดว่าสถานที่คงถูกอัธยาศัย เนื่องจากวัดที่ว่านี้ห่างไกลจากบ้านเมือง ความเงียบสงบนั้นคงหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นดงดิบ...” หลวงปู่จึงถามต่อไปว่า...“แล้วอุบาสกทั้งสองมีความต้องการพระจำนวนกี่รูป ?” “อย่างน้อย ๔-๕ รูปก็ยังดีครับผม ?” “คณะของอาตมามีด้วยกัน ๑๐ รูป ทั้งพระและเณร และก็มีความประสงค์ที่จะอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องการแยกกันอยู่ ถ้าอุบาสกต้องการจำนวนจำกัด อาตมาก็คงไปฉลองศรัทธาญาติโยมไม่ได้...” เมื่ออุบาสกจอมและอุบาสกเฉลิมได้ฟังดังนั้นจึงเกิดความลังเลว่า จะเอาอย่างไรดี ครั้นจะนิมนต์ไปทั้งหมด ๑๐ รูป ก็ยังไม่ทราบว่าหมู่คณะชาวบ้านจะเห็นด้วยหรือไม่ เกรงว่าชาวบ้านซึ่งเข้าไปอยู่กันใหม่ๆ จะให้ความอุปถัมภ์บำรุงได้ไม่ดีเท่าที่ควร ก็จะถูกครูบาอาจารย์ตำหนิเอาทีหลังได้ อุบาสกทั้งสองจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า พวกกระผมขอเดินทางกลับไปปรึกษากับชาวบ้านก่อน เสร็จแล้วจะมากราบเรียนให้ทราบในวันพรุ่งนี้...

อุบาสกจอมและอุบาสกเฉลิม เมื่อเดินทางกลับมาถึงบ้านแล้วก็รีบปรึกษาหารือชาวบ้านทันที และก็ได้ความเห็นพร้องต้องกันว่าไม่มีผู้ใดขัดข้อง มีความยินดีให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของพระคุณเจ้าที่จะมาอยู่ทุกอย่าง...เช้าวันใหม่ชาวบ้านจึงได้จัดหารถยนต์เพื่อที่จะเดินทางไปรับหลวงปู่สมชายพร้อมด้วยคณะพระภิกษุสามเณรที่รออยู่ที่วัดเขาน้อยสามผาน...วันนั้นหลวงปู่สมชายท่านเดินทางไปทำธุระที่ปากน้ำแขมหนู เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจึงได้รับพระชุดแรกเดินทางล่วงหน้ามายังวัดเนินดินแดงก่อน เพื่อจะได้จัดเตรียมสถานที่ บรรดาพระภิกษุสามเณรเมื่อทราบจุดประสงค์ดังนั้นแล้วก็ได้จัดเตรียมอัฐบริขารลงจากเขาใส่รถจิ๊บวิลลี่ (จิ๊บกลาง) ของนายหริผู้ที่มีศรัทธานำรถไปรับพระ ซึ่งนับว่าเป็นรถยนต์ชั้นดีที่สุดของหมู่บ้านเนินดินแดงในสมัยนั้น เสร็จเรียบร้อยแล้วคณะกองทัพธรรมชุดแรกก็เดินทางล่วงหน้าทันทีมาตามทางอันแสนทุรกันดาร รถวิ่งโขยก เขย่า เหวี่ยงซ้าย เหวี่ยงขวามาตามเส้นทางของรถลากซุง ซึ่งมีแต่โคลนตมจมมิดล้อ ต้องค่อยๆ คลานเพื่อผ่านหลุมโคลน ตั้งแต่ปากทางห้วยสะท้อน จนถึงปากทางนิคมฯ แล้วก็ถึงบ้านเนินดินแดง โดยทุรักทุเร สมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนอย่างทุกวันนี้ จากวัดเขาน้อยสามผานกว่าจะมาถึงวัดเนินดินแดงก็เสียเวลาไปเกือบวัน กว่ารถจิ๊บวิลลี่ของนายหริจะพาพระภิกษุสามเณรมาถึงเสนาสนะบ้านเนินดินแดงเป็นที่เรียบร้อย เวลาก็ใกล้ค่ำแล้ว จึงจัดหาที่พักอาศัยกันเป็นการชั่วคราวไปก่อน


วันรุ่งขึ้นมีญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวายที่วัด ส่วนญาติโยมอีกคณะหนึ่งก็เตรียมตัวเดินทางไปรับหลวงปู่สมชายที่วัดเขาน้อยสามผาน อันประกอบด้วย นายจอม แพทย์ปทุม, นายเยื้อน รุ่งเรืองศรี, นายบุญชู วงศ์สวาท และนายแสวง คณะศาสตร์ ซึ่งวันนี้ได้รับศรัทธาจากนายบุญชู วงศ์สวาท เจ้าของรถเป็นผู้นำรถยนต์เดินทางไปรับหลวงปู่สมชายที่วัดเขาน้อยสามผาน ซึ่งนับว่าเป็นรอบที่สาม จึงได้พระภิกษุสามเณรมาครบตามจำนวนทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย...ในวันรุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เป็นการเข้าพรรษาที่กระชั้นชิดแทบไม่ทันตั้งหลักใดๆ บรรดาญาติโยมจึงไม่สามารถจัดหาสถานที่พักให้เพียงพอกับจำนวนของพระภิกษุสามเณรที่มีถึง ๑๐ รูป พระภิกษุสามเณรจึงต้องพักรวมกันกุฏิหลังละ ๒-๓ รูปบ้าง ในระหว่างพรรษาจึงต้องช่วยกันปลูกสร้างกุฏิชั่วคราวขึ้นอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้พระคุณเจ้าท่านทำความเพียรได้สะดวกขึ้น ปัจจุบันนี้กุฏิหลังอื่นๆ ก็ได้หมดสภาพผุพังไปตามกาลเวลา ยังคงเหลือเพียงกุฏิของหลวงปู่สมชายเพียงหลังเดียวที่ทางวัดได้อนุรักษ์ไว้เป็นปฐมอนุสรณ์สถานเพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้ระลึกถึง...

(ฐานข้อมูลจากคุณครูจวด สวิงคูณ และคุณโยมจอม แพทย์ปทุม)

• พ.ศ. ๒๕๐๔ จำพรรษาที่วัดเนินดินแดง บ้านเนินดินแดง
ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (พรรษาแรก)


ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเนินดินแดง ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี วัดเนินดินแดง ตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆ มีดินสีแดง มีลักษณะเป็นป่าไม้ธรรมชาติ มีต้นไม้เรียงรายอยู่ทั่วบริเวณวัด ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมให้ความร่มรื่น เย็นสบายตลอดเวลา ฝนตกชุกมาก ตกทุกวัน บางครั้งตกข้ามวันข้ามคืน ในฤดูพรรษาอากาศจึงชื้นมาก ไม่มีแดดที่จะตากผ้าจีวร ต้องเอาฟืนมาก่อไฟกองโตๆ แล้วเอาจีวรพึ่งใกล้ๆ จึงจะแห้ง พระเณรที่มาจากภาคอีสานจึงไม่คุ้นเคยกับอากาศของเมืองจันท์เท่าไรนักจึงเจ็บป่วยกันไม่ขาดระยะ ไข้ป่าไข้มาลาเรียก็ชุกชุม

ตั้งแต่หลวงปู่สมชาย มาพักอยู่ที่วัดเนินดินแดง ท่านก็ได้เริ่มพัฒนาทั้งภายในและภายนอก ภายในได้แก่การนำพาพระภิกษุสามเณรเดินจงกรมนั่งสมาธิเจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด เทศนาอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ จนชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธา มีความซาบซึ้งในธรรม และมีความเลื่อมใสในพระศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ ชาวบ้านในเขตนี้ส่วนมากก็เพิ่งมาจับจองที่ดินทำกินส่วนมากก็เป็นคนมาจากใน อ.ท่าใหม่ และมาจาก จ.จันทบุรี เข้ามาปลูกทุเรียน ปลูกเงาะ มังคุด รางสาด ลองกอง สละ ระกำ ผลไม้เกือบทุกชนิดมีอยู่รอบวัดไปหมด ที่ห่างจากวัดออกไปด้านทิศใต้ ก็จะเป็นชาวบ้านคนไข้โรคเรื้อนที่ทางรัฐบาลส่งมาอยู่ แล้วจัดสถานที่ทำกินให้ เรียกว่านิคมพักฟื้นบ้านแพร่งขาหยั่ง นิคมพักฟื้นบ้านป่าตะแบก ส่วนพวกนี้จะมาจากหลายจังหวัด แต่เป็นคนป่วยที่หายแล้ว ชาวบ้านอีกประเภทหนึ่งก็ได้แก่ ผู้ที่เคยเป็นนักโทษของทางราชการ อยู่ห่างจากวัดเนินดินแดงไปทิศตะวันออกประมาณ ๕ กิโลเมตร จะมีทัณฑสถานเปิดทุ่งเบญจา จะเป็นนักโทษระดับเบาบาง มาจากหลายจังหวัดเช่นกัน พอพ้นโทษแล้วก็ตั้งหลักปักฐานทำมาหากินกันที่นี่ต่อไปเลย เนื่องจากพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำดี ฝนตกชุก จึงทำให้หลวงปู่ได้อยู่โปรดคนหลายประเภทด้วยกัน หลายคนเลิกละจากอบายมุข เครื่องมัวเมาต่างๆ บางคนเลิกจากการเป็นนายพราน หันหน้าเข้าวัดช่วยพระภิกษุสามเณรพัฒนาวัด เป็นลูกศิษย์พระ ประกอบคุณงามความดีกันก็เป็นจำนวนมาก

นอกจากจะอบรมสั่งสอนประชาชนชาวบ้านแล้ว หลวงปู่ก็ได้นำพาชาวบ้านพัฒนาก่อสร้างเสนาสนะมี กุฏิ และศาลาการเปรียญ ที่ชาวบ้านเตรียมไว้แต่ยังไม่เรียบร้อย เพียงเอาไม้กระดานวางไว้ใช้ชั่วคราวประมาณสิบกว่าแผ่น พอให้พระเณรได้นั่งฉันจังหันได้เท่านั้น หลวงปู่จึงได้พาชาวบ้านจัดทำจนเป็นที่เรียบร้อย ต่อจากนั้นก็ได้จัดสร้างกุฏิที่พักขึ้นอีกเป็นลำดับ จนเพียงพอกับจำนวนพระภิกษุและสามเณร พรรษา ๒๕๐๔ จึงมีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน ๒ รูป สามเณร ๘ รูป คือ

๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. พระประไพ รูปเหลี่ยม (ผู้บันทึกเรื่องราวต่างๆ) ๓. สามเณรทองสา มันทะรา ๔. สามเณรเอก ๕. สามเณรเสาร์ ๖. สามเณรบัวยันห์ ๗. สามเณรศรี สืบเหล่างิ้ว ๘. สามเณรถาวร ๙. สามเณรโรจน์ ๑๐. สามเณร - (จำชื่อไม่ได้)

ตอนกลางคืนหลวงปู่ก็จะให้จุดตะเกียงเจ้าพายุแล้วก็นำพาสวดมนต์ทำวัตร อบรมพระภิกษุสามเณรและญาติโยม โดยเฉพาะเรื่องการสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน สวดอาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร และสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตลอดทั้งการสวดรับเทศน์ และศาสนพิธีอื่นๆ หลวงปู่จะเป็นผู้ฝึกสอนเองทุกวัน เสร็จแล้วก็นำเดินจงกรม และปฏิบัติธรรมกันตลอดคืน ส่วนด้านการพัฒนาวัดนั้นก็ทำได้ไม่เต็มที่เนื่องจากฝนตกชุกมาก วันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่จะทำความเพียรอยู่ในกุฏิเท่านั้น กุฏิที่สร้างจึงต้องออกแบบเป็นพิเศษที่มีระเบียงสำหรับใช้เป็นทางเดินจงกรมกันฝนได้ ถ้าไม่อออกแบบอย่างนี้แล้วในพรรษาแทบจะไม่ต้องออกจากกุฏิไปเดินจงกรมกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างหรือการอุปถัมภ์ด้านอื่นๆ ก็ได้รับการช่วยเหลือทุนทรัพย์จากตระกูลญาติพี่น้องของคุณครูสงวน จิรวัฒน์ (สมัครพันธ์) และชาวบ้านชาวสวนในละแวกใกล้เคียงเป็นอย่างดี

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• โปรดชาวสมาชิกนิคมฯ

ภายหลังจากพรรษาแรกผ่านพ้นไปแล้ว พระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ก็อยากกลับภาคอีสานเพราะไม่คุ้นเคยกับอากาศที่ชื้นมากเช่นนี้ เนื่องจากฝนตกข้ามวันข้ามคืนอย่างนี้ ที่ภาคอีสานไม่เคยมี แต่สำหรับหลวงปู่นั้นท่านก็ยังมีเมตตาที่จะอยู่ต่อ เพราะความดีของชาวบ้านชาวสวนที่ปฏิบัติดูแลพระเป็นอย่างดี อีกด้านหนึ่งก็เพราะมีความผูกพันกับญาติโยมที่ท่านเห็นว่าสมควรที่จะอยู่เพื่อสงเคราะห์ ถ้าไม่อยู่สงเคราะห์ในคราวนี้แล้ว จะไม่มีโอกาสได้สงเคราะห์อีกเลย นั่นคือพี่น้องชาวสมาชิกนิคม ซึ่งต่างก็พลัดถิ่นฐานบ้านช่องมาจากสถานที่ต่างๆ หลวงปู่ทราบดีว่าต่างคนต่างก็ว้าเหว่ขาดที่พึ่งขาดกำลังใจ หลวงปู่จึงมีความสงสารและเห็นใจมาก จึงอยู่เพื่ออบรมสั่งสอนพวกเขาไปด้วย เป็นเพื่อนช่วยคลายทุกข์ไปด้วย

กล่าวคือ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับวัดเนินดินแดงไปทางด้านทิศใต้และทิศเหนือ จะเป็นพื้นที่ที่ทางรัฐบาลได้นำผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วกลุ่มหนึ่งมาจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ ซึ่งป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่ทางรัฐบาลต้องควบคุมให้อยู่กันเป็นกลุ่มๆ เป็นผู้ป่วยของรัฐบาล ที่เรียกว่าโรคกุฏฐังหรือโรคเรื้อน ซึ่งสมัยนั้นเป็นโรคที่สังคมทั่วไปรังเกียจ เมื่อรักษาหายแล้วก็จำเป็นต้องจัดหาสถานที่ให้รวมอยู่เป็นกลุ่ม เป็นสัดส่วนไม่ไปปะปนกับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีเป็นจำนวนมากรัฐบาลจึงจัดตั้งเป็นนิคมพักฟื้น ให้มีที่ทำกิน มีเบี้ยเลี้ยงให้ ดูแลรักษาฟรี อยู่ติดกับวัดเนินดินแดง ซึ่งมีนิคมพักฟื้นบ้านแพร่งขาหยั่ง และนิคมพักฟื้นบ้านป่าตะแบก

หลวงปู่เล่าว่า บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่น่าสงสาร น่าสงเคราะห์ให้เขาได้ทำบุญเป็นการแก้ตัว เพราะไม่ใช่โรคติดต่ออย่างที่บุคคลทั่วไปเข้าใจ แต่เป็นโรคกรรม ถ้าเขาได้ทำบุญหรือได้สร้างกรรมดีเอาไว้มากๆ ชาติต่อไปเขาก็มีโอกาสพ้นจากวิบากกรรมเหล่านี้ไปได้ เป็นบุคคลปกติด้วยอาการสามสิบสอง จึงอยากอยู่เพื่อนำพาพวกเขาสร้างกรรมดีให้มากขึ้น วัดใกล้ๆ นี้พระสงฆ์บางวัดก็รังเกียจไม่ต้อนรับ จึงไม่สะดวกที่พวกเขาจะไปทำบุญที่วัดอื่นๆ ได้ แต่สำหรับที่นี่ (วัดเนินดินแดง) เปิดโอกาสให้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ต้องการทำความดี ต้องการทำบุญใส่บาตรมาทำได้ตลอดเวลา ไม่มีรังเกียจ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ชาวสมาชิกนิคมได้อุทิศแรงงานเป็นการกุศล ช่วยการก่อสร้างวัดตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน คณะชาวสมาชิกนิคมฯ จึงมีความเคารพรักนับถือหลวงปู่เสมือนพ่อหรือเทพเจ้าประจำชีวิตประจำครอบครัวของพวกเขาทีเดียว หลวงปู่ไม่เคยมีจิตใจที่จะรังเกียจโรคที่ติดตัวพวกเขานั้นเลย หลวงปู่จะรับบิณฑบาตไปโปรดไปฉันภัตตาหารที่บ้านพวกเขาด้วยความเมตตา ท่านถือว่าได้โปรดได้สงเคราะห์ให้พวกเขามีโอกาสทำบุญเป็นการแก้ตัวได้ทำประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ชาวโลก ได้บำเพ็ญโลกัตถประโยชน์ อันยิ่งใหญ่ เพราะเขาเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ทั้งร่างกายที่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ทุกข์ทางใจเพราะต้องพลัดถิ่นฐานบ้านช่องมาจากดินแดนอันแสนไกล ห่างญาติพี่น้องซึ่งล้วนแล้วแต่เรื่องทุกข์ทั้งสิ้น และยังต้องทุกข์เพราะสายตาบุคคลบางคนที่มองพวกเขาอย่างรังเกียจ เป็นต้น หลวงปู่จึงเป็นองค์ประสานระหว่างชาวสวนและชาวสมาชิกนิคม ตลอดทั้งชาวบ้านทั่วๆ ไปไม่ให้รังเกียจซึ่งกัน ให้มีเมตตาสงสารระหว่างผู้ด้อยโอกาสในสังคมกับผู้ที่มีโอกาสในสังคม เพราะอย่างไรแล้วถึงแม้ว่าร่างกายจะเป็นโรคซึ่งที่หายแล้ว แต่ภายในจิตใจนั้นงดงามและเด็ดเดี่ยวยอมตายแทนครูบาอาจารย์ได้ทุกคน

ตกถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ฝนเริ่มขาดช่วง แล้งลงบ้าง จึงสามารถทำการก่อสร้างเสนาสนะต่างได้ จึงมีการเลื่อยไม้ทำพื้นศาลาเพิ่มต่อเติมจากที่พระภิกษุจวดทำเอาไว้ตั้งแต่แรก และก่อสร้างกุฏิเพิ่มขึ้น ตัดถนนทางซอยภายในวัดให้สวยงามในช่วงนี้ก็ได้รับการอุปถัมภ์จากคุณโยมลออ คุณโยมจิ้มลิ้ม พูลสวัสดิ์ คหบดีเจ้าของโรงเลื่อยในอำเภอท่าใหม่ สมัยนั้นเป็นเจ้าของสัมปทานป่าไม้ในบริเวณนี้ทั้งหมด เป็นผู้ใจบุญมากทางวัดขาดอะไรต้องการอะไร คุณโยมลออ และคุณโยมจิ้มลิ้ม ก็ปวารณาจัดหามาถวาย สมัยนั้นที่จำเป็นมากก็คือน้ำมันก๊าดสำหรับจุดตะเกียงเจ้าพายุ และเทียนไขสำหรับเดินจงกรม เหล่านี้เป็นต้น

ส่วนเรื่องอาหารนั้นก็อาศัยบิณฑบาตจากชาวบ้านชาวสวนรอบๆ วัดซึ่งเป็นผู้มีศรัทธา เรื่องอาหารจึงอุดมสมบูรณ์ โดยไปบิณฑบาตสายบ้านบึงบอน สายบ้านคลองเฆ้ สายนิคม เป็นต้น ซึ่งบ้านชาวสวนจะแตกต่างจากหมู่บ้านชาวนาอย่างภาคอีสาน โดยจะอยู่เป็นสวนใครก็บ้านเขา เช่นใครมีสวนร้อยไร่ก็ปลูกบ้านหลังหนึ่ง แล้วก็ต้องเดินพ้นร้อยไร่ จึงไปเจอบ้านอื่นที่มีห้าสิบไร่ที่มีบ้านอีกหลังหนึ่ง แต่ก็บิณฑบาตพร้อมกับเดินจงกรมภาวนาไปด้วย


• ดับกลิ่นเหล้าด้วยสับปะรด

สำหรับชาวบ้านก็มีบางคนที่ทั้งเลื่อมใสและในขณะเดียวกันก็มีที่อยากลองดี ซึ่งประเภทหลังมักมีอยู่ทุกที่ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีทรมานด้วยวิชชาทางพระพุทธศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อพวกเขาจะได้ไม่ประมาทไม่เป็นบาป การมาอยู่ที่วัดเนินดินแดงนี้ก็เช่นกัน ก็มีบุคคลประเภทดังกล่าวอยากลองดีอยู่บ้าง เช่น ประเภทรับปากพระว่าไม่ดื่มเหล้าแต่ทำไม่ได้ ทำอย่างนี้ก็มี โดยปกติหลวงปู่จะเดินไปบิณฑบาตสายบ้านบึงบอน ซึ่งเป็นสายที่ลำบากและไกลกว่าทุกสาย ส่วนสายใกล้ๆ หลวงปู่ก็จะให้พระรูปอื่นไป สายบึงบอนนี้จะต้องเดินผ่านบ้านนายเจน สายพานิช ทุกวัน บ้านหลังสุดท้าย คือบ้านนายนาคิน และเหมือนจะเป็นกิจวัตรประจำวันที่นายเจนปฏิบัติ คือหลังจากใส่บาตรแล้วก็จะเดินไปพูดคุยเรื่องราวสารพัดกับนายนาคิน ตามประสาเพื่อนรักเพื่อนเกลอ วันหนึ่งนายเจนก็เดินไปพูดคุยสัพเพเหระกับนาคินเช่นเคย เสร็จแล้วก็วกเข้ามาเรื่องภายในวัด นายเจนกล่าวว่า “วัดเราอะไรๆ ก็ดี พระลูกวัดก็ดีเห็นมาบิณฑบาตทุกวัน แต่ตัวอาจารย์ไม่เคยเห็นมาบิณฑบาตเลย ให้แต่ลูกวัดมาทุกวัน” นายนาคินจึงตอบว่า...“ฉันเห็นท่านอาจารย์นำมาเองทุกวัน แกมัวแต่เมาอยู่ละซี ! จึงมองไม่เห็นท่าน ฉันได้ใส่บาตรทุกวันไม่เคยขาด เมื่อกี้ท่านยังถามฉันเลยว่าแกสบายดีหรือ ?” วันรุ่งขึ้นนายเจน ก็ดักจับตามองอย่างเต็มที่ว่าหลวงปู่จะมาบิณฑบาตเหมือนอย่างที่นายนาคินพูดหรือเปล่า ?...เหตุการณ์ก็เป็นเช่นเดิม หลังจากนายเจนใส่บาตรเสร็จแล้วก็มองไม่เห็นหลวงปู่อย่างที่นายนาคินว่า จึงเดินไปด้วยตะโกนถามไปด้วยเสียงอันดังว่า...“นาคิน ไหนแกว่าอาจารย์มาบิณฑบาตทุกวันไงล่ะ ?” นายนาคินตอบพร้อมกับชี้มือให้เพื่อนดูว่า “ก็องค์เดินหน้านั่นไงอาจารย์ องค์ที่สองก็ครูบาองค์ที่สามก็เณร มองไม่เห็นรึ !” คราวนี้นายเจนมองตามมือที่เพื่อนชี้ให้ดูจึงเห็นว่า รูปที่เดินนำหน้านั่นคือหลวงปู่สมชายจริงๆ นายเจนถึงกับเข่าอ่อน อ้าว...!...แล้วเมื่อกี้เราใส่บาตรแค่สองรูปเท่านั้นนี่ และก็ไม่เคยเห็นท่านสักวัน...“เราไม่เคยได้ใส่บาตรท่านจริงๆ เพราะอะไรนาคินรู้ไหม ?” “ท่านคงเหม็นกลิ่นเหล้านายมั๊ง !...” นายนาคินตอบเพื่อน อาจารย์ท่านมาโปรดพวกเราแล้ว ไปปวารณาเลิกเหล้ากับท่านจะดีกว่าเพราะพวกเราก็ดื่มกันมานานแล้ว...ว่าแล้วนายนาคินและนายเจนก็พากันเดินไปวัดแต่เช้า พบหลวงปู่นั่งรออยู่พอดีจึงกราบพร้อมกับปวารณาขอเลิกดื่มเหล้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก่อนที่จะลากลับหลวงปู่ยังสับทับเพิ่มอีกว่า...ที่โยมมาปวารณาเลิกเหล้านี้อาตมาไม่ได้ไปบังคับอะไรโยมให้มานะ ! แต่ในเมื่อโยมมีความตั้งใจจะเลิกอาตมาก็ขออนุโมทนา ถ้าโยมเลิกได้จริงตามที่โยมตั้งใจโยมก็จะรวยเพราะว่า พระสาธุให้แล้ว การดื่มเหล้านั้นมีแต่จะทำให้จนลงๆ เสียทั้งทรัพย์เสียทั้งสุขภาพร่างกาย...แต่หากว่าทำผิดคำพูดเมื่อไรระวังหมีควายจะตามไปขบหัวเอานะ...! (สมัยก่อนนั้นหมีควายตัวโตๆ ยังชุกชุมมาก) หลังจากนายนาคินและนายเจนกราบลากลับบ้านแล้วเช้าวันใหม่นายเจนก็เตรียมขันข้าวรอใส่บาตรตามปกติ นายเจนก็ได้ใส่บาตรได้พูดคุยกับหลวงปู่ทุกวันตลอดมา นับว่านายเจนได้เป็นคนที่มีสัจจะดีมาก คนในครอบครัวเอ่ยปากชมเชยกันทุกคน นับเป็นแรมปีจนต่างคนต่างลืมๆ กันไปแล้ว...

วันหนึ่งนายเจนไปงานเลี้ยงของเพื่อนบ้าน เจ้าภาพซึ่งเป็นเพื่อนรักกันก็นำเครื่องดื่มของกินจำนวนมากมาเลี้ยงดูอย่างเต็มที่ ด้วยความที่ไม่ได้พบกันมานานเจ้าภาพก็ขยั้นขยอนายเจนให้ดื่มเป็นเพื่อน..นายเจนก็ตอบเพื่อนรักไปว่า...ไม่ได้ๆ เราได้ปวารณากับอาจารย์ไว้ว่าจะไม่ดื่มเหล้าตลอดชีวิต เดี๋ยวเสียสัจจะที่ให้ไว้กับอาจารย์ จะโดนอาจารย์เล่นงานเอา...อาจารย์ท่านจะรู้ได้อย่างไรท่านอยู่ที่วัดโน่น..ตอนเช้าท่านมาบิณฑบาต.ก่อนใส่บาตรแกก็กินสับปะรดดับกลิ่นเหล้าสักชิ้นสองชิ้นก็ไม่มีกลิ่นแล้ว สับปะรดบ้านเรามีถมไป เอาท่อนกลาง หวานๆ ฉ่ำๆ ใส่บาต ท่อนหัวท่อนปลายเปรี้ยวๆ ก็เอามาเคี้ยวดับกลิ่นเหล้าเท่านี้ก็สิ้นเรื่อง ?... นายเจนเมื่อถูกเพื่อนรักยกแม่น้ำทั้งห้ามาหว่านล้อมเช่นนั้น แถมมีวิธีดับกลิ่นเหล้าให้อีกต่างหาก จึงเริ่มเอนเอียงไปทางเพื่อนจนลืมสัจจะที่ให้ไว้กับครูบาอาจารย์ทันที...เพื่อนส่งแก้วเหล้ามาให้เท่าไรนายเจนกระดกกรึ๊บเดียวหมดๆ จนคืนนั้นทั้งคืน สว่างคาตา เหล้าไม่หมดไม่เลิก...


• เห็นพระเป็นหมีเพราะผิดสัจจะ

รุ่งเช้าหลังจากล้างหน้าล้างตา นายเจนก็ทำตามที่เพื่อนแนะนำ คือ กับข้าวใส่บาตรพระในเช้าวันนี้เป็นสับปะรดที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้านหวานฉ่ำหนึ่งถุงใหญ่...นายเจนเห็นพระเดินมาเป็นแถว ก็ถือขันข้าวพร้อมสับปะรดหนึ่งถุงออกไปนั่งรอที่หน้าบ้าน นั่งยองๆ จบขันข้าวหลับหูหลับตา ทำปากขมุบขมิบไปตามเรื่อง ตักบาตรเสร็จก็นั่งทำปากขมุบขมิบอย่างเดิมเสร็จแล้วก็เงยหน้าขึ้น เท่านั้นเองนายเจนถึงกับทิ้งขันข้าว กระโดดโหยงสุดแรงเกิด...ภาพพระสงฆ์ที่แกใส่บาตรเพิ่งเสร็จ กลับกลายเป็นหมีควาย อกด่าง แถมยังกางมือทำท่าจะขย้ำลงมาบนศีรษะของนายเจน นายเจนวิ่งสุดกำลังไปยังบ้านนายนาคินร้องไปด้วยวิ่งไปด้วย “...ช่วยด้วย...หมี...ๆ...นาคินช่วยด้วย...โว้ย !...”

เมื่อนายเจนวิ่งมาถึงบ้านนายนาคินเหตุการณ์ต่างๆ ก็ปกติ หมีเหมอที่ไหนกัน อาจารย์เดินมาบิณฑบาตอยู่โน่น...แกนี่กินเหล้าจนตาลายมองเห็นอาจารย์เป็นหมีไปแล้ว ?...หลวงปู่รับบาตรจากนายนาคินแล้ว ก็มองเห็นนายเจนนั่งตัวสั่นอยู่ข้างๆ นายนาคิน หลวงปู่จึงเทศน์สอนขึ้นว่า...โยมเจน ! สับปะรดที่ใส่บาตรมานี่มีแต่ตรงกลาง ท่อนหัวกับท่อนปลายเอาไปเคี้ยวดับกลิ่นเหล้าตั้งแต่เช้าเลยใช่ไหม ?...ใช่ครับ นี่แหละอาตมาบอกแต่ทีแรกแล้วว่าถ้าโยมผิดสัจจะเมื่อไรให้ระวังหมีควายมันจะขยุ้มหัวเอา เมื่อคืนไปกินเหล้าใช่ไหม ?...ใช่ครับ ! เพื่อนบอกให้กินสับปะรดดับกลิ่นเหล้าใช่ไหม ?...ใช่ครับ ! นายเจนตอบพร้อมกับยกมือกราบขอขมาลาโทษเดี๋ยวนั้นทันที ว่าต่อไปจะไม่ทำอีกแล้วหลวงปู่ให้พรแล้วก็ลากลับวัด...ต่อมานายเจนก็เลิกเหล้าเข้าวัดอย่างถาวร ทั้งนายเจนและนายนาคินวันไหนว่างจากงานที่สวนก็มาช่วยเป็นกำลังในการพัฒนาวัดอย่างสม่ำเสมอ...ทั้งครอบครัวของนายเจน และนายนาคินก็มีอันจะกินมาจนถึงปัจจุบัน

วัดเนินดินแดง ก็มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา การบำเพ็ญภาวนาก็เป็นที่พอใจของหลวงปู่หมู่คณะพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างยิ่ง อุบาสกอุบาสิกาทั้งในจังหวัดจันทบุรีและละแวกใกล้เคียงก็มาฟังธรรมมาปฏิบัติธรรมกันมากเพิ่มขึ้น หลวงปู่จึงอยู่ติดต่อมาอีก ๑ ปี จนฤดูกาลพรรษาใกล้เข้ามาถึงอีกแล้ว

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• พ.ศ. ๒๕๐๕ จำพรรษาที่วัดเนินดินแดง บ้านเนินดินแดง
ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (พรรษาที่สอง)


พ.ศ. ๒๕๐๕ หลวงปู่ได้อธิษฐานจำพรรษา ณ วัดเนินดินแดงอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นพรรษาปีที่ ๒ ในพรรษานี้มีพระภิกษุจำพรรษา ๗ รูป สามเณร ๓ รูป คือ

๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. หลวงปู่ทองใบ ญาณปทีโป ๓. หลวงปู่มุล ธมฺมวีโร ๔. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ ๕. พระประมวล โอภาโส ๖. พระทองสา ๗. พระสำราญ ๘. สามเณรเสาร์ ๙. สามเณรโรจน์ ๑๐. สามเณรนิวัฒน์


ข้อวัตรปฏิบัติในการอบรมพระภิกษุสามเณรและญาติโยมในระหว่างพรรษาปีนี้หลวงปู่ก็นำพาและอบรมเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน เพราะไม่ต้องรีบเร่งทำภาระในการก่อสร้างเสนาสนะอย่างในปีแรก ปีนี้จึงมีการทำความเพียรแผดเผากิเลสกันเป็นส่วนใหญ่ ภาคกลางวันหลวงปู่ก็อบรมพระภิกษุสามเณรด้วยบุพพสิขาวรรณนา และศาสนพิธีอื่นๆ ตกค่ำก็จะมีการจุดตะเกียงเจ้าพายุ ทำวัตรสวดมนต์เย็น นั่งสมาธิภาวนา แล้วหลวงปู่ก็เทศน์อบรมญาติโยมจนดึกทุกคืน เพราะมีญาติโยมเดินทางมาจากในตัวอำเภอและตัวจังหวัดเข้ามาฟังธรรมกันมาก เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ถนนหนทางเข้าออกก็ลำบากมาก เพราะเป็นทางของรถลากซุง มีหลุมบ่อขนาดลึก เต็มไปด้วยเปลือกตรมตลอดเส้นทาง ผู้ที่มีศรัทธาจริงๆ จึงเดินทางมากันได้ ส่วนด้านศรัทธาญาติโยมผู้อุปถัมภ์ก็มีมากเพิ่มขึ้นและที่เอาใจใส่เป็นพิเศษก็ได้แก่ คุณหมอติ้น จิรวัฒน์ คุณครูสงวน จิรวัฒน์ (สมัครพันธ์) ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน หลวงปู่จึงตั้งชื่อว่า “สำนักสงฆ์จิรวัฒนาราม” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์สกุลจิรวัฒน์ ภายหลังเมื่อได้อนุญาตให้ตั้งเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับชื่อตามชื่อหมู่บ้านว่า “วัดเนินดินแดง” อีกท่านหนึ่ง คือ นายอู๋ โรจน์จันทร์แสง มีศรัทธาบริจาคที่ดินให้ขุดสระเพื่อสูบน้ำมาใช้ที่วัด นายอู๋นอกจากจะมีศรัทธาเข้าวัดฟังธรรมและช่วยงานวัดแล้ว กลับถึงบ้านแกก็เข้าป่าล่าสัตว์ด้วยปืนลูกซองคู่ชีพเป็นประจำทุกวัน เรียกว่า บุญก็ทำ กรรมก็ไม่เลิกนั่นเอง สมัยนั้นสัตว์ป่าประเภทเก้ง กวาง หมูป่า ไก่ป่า สัตว์ป่าทุกชนิดชุกชุมมากซึ่งพวกสัตว์ก็จะหลบจากสวนของชาวบ้านเข้ามาอยู่ในเขตวัดซึ่งเป็นป่าที่สมบูรณ์ แต่ก็ยังต้องลงไปกินน้ำที่สระในสวนของนายอู๋อยู่ดี

• โปรดโยมอู๋

วันหนึ่งเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำ ขณะที่นายอู๋ นั่งล้อมวงกินข้าวเย็นกับคนงานบนขนำ (กระต๊อบ ภาษาเมืองจันท์เรียกขนำ) กลางสวนอยู่นั้น นายอู๋เหลือบไปเห็นเก้งตัวหนึ่งกำลังก้มกินน้ำในสระของแกที่ติดเขตวัดนั้น...นายอู๋ก็บอกคนงานสวนที่นั่งกินข้าวอยู่ด้วยกันว่า...นั่นอะไร ?...คนสวนก็รู้ความหมายของเจ้านายได้ดีว่า ต้องการปืนลูกซองที่พิงอยู่กับเสาเรือนซึ่งอยู่ด้านหลังของคนงานนั่นเอง...ส่วนนายอู๋ก็นั่งมองทางไว้ว่าเก้งจะเดินทางไปด้านไหน พร้อมกับร้องบอกคนงานไปว่า...ส่งปืนมาซีวะๆ !...นายอู๋บอกว่า เจ้าคนงานเหมือนถูกสะกด มือไขว่คว้าอยู่ที่ต้นเสาอยู่พักใหญ่ ก็ไม่ได้ปืนมาซักที หยิบเท่าไรก็ถูกแต่เสาขนำไม่ถูกปืน เท่านั้นไม่พอ เก้งตัวนั้นหลังจากกินน้ำอิ่มแล้ว แทนที่จะเดินเข้าป่าหรือเข้าสวนทุเรียนไปทางอื่นกับเดินตรงมาทางผม แล้วก็มาหยุดยืนมองหน้าผมเข้าอีกอย่างไม่เกรงกลัวอันตรายใดๆ ไม่ เท่านั้นมันยังเดินเข้ามานอนเคี้ยวเอื้องเล่นใต้ขนำที่ผมและคนงานนั่งกินข้าวกันอยู่เสียอีก ผมก็จับตามองตามมาตลอด เวลาผ่านไปพักใหญ่คนงานจึงส่งปืนลูกซองมาให้ผม ผมก็ถือปืนเดินลงขนำตรงไปที่เก้งทันที เก้งสาวลุกขึ้นยืนมองหน้าผมโดยไม่หวั่นกลัวภัยใดๆ เกินวิสัยของสัตว์ทั้งๆ ที่ห่างกันเพียงวาเดียว ซึ่งโดยสัญชาติญาณไม่ว่าคนว่าสัตว์ย่อมรู้ว่าภัยจะมาถึงตัว ก็ต้องวิ่งเอาตัวรอดไว้ก่อน แต่นี่ตรงกันข้าม...ผมรู้สึกว่าใจสลดหดหู่อย่างบอกไม่ถูก ขนหัวลุกซู่ไม่กล้าแม้แต่จะยกปืนขึ้น ปกติผมจะเป็นคนใจแข็งยิงสัตว์เป็นว่าเล่น ยิงทิ้งเล่นๆ สนุกๆ ยังทำได้ แต่คราวนี้ผมเหมือนถูกสะกด แถมยังคิดถึงตอนที่จะกลับออกมาจากวัด ท่านพ่อ (หลวงปู่สมชาย) ได้พูดทีเล่นทีจริงกับผมว่า...อู๋ !...ตอนกินข้าวเย็นวันนี้อาจารย์จะไปหาที่บ้านนะ !...ผมได้สติเดินขึ้นขนำเอาปืนทุบใส่กับเสาขนำแตกเป็นเสี่ยงๆ...แล้วเลิกฆ่าสัตว์ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้แหละครับ

(ฐานข้อมูลโดย นายอู๋ โรจน์จันทร์แสง ยังมีชีวิตอยู่)

• พ.ศ. ๒๕๐๖ จำพรรษาที่วัดเนินดินแดง บ้านเนินดินแดง
ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (พรรษาที่สาม)


พ.ศ. ๒๕๐๖ จากการที่หลวงปู่ได้จำพรรษาโปรดชาวจังหวัดจันทบุรีติดต่อกันถึง ๒ ปี ผ่านไป ก็มีความผูกพันต่อชาวบ้าน ชาวสวน และพี่น้องชาวสมาชิกนิคม ซึ่งเหมือนกับหลวงปู่จะต้องนำพาให้พวกเขาเหล่านี้ได้สร้างความดีสร้างบารมีเป็นการแก้ตัวตลอดไป ด้วยความเมตตาสงสาร ที่ได้พบเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่สะดวกในการที่จะไปทำบุญกุศลยังวัดอื่นๆ เพราะพวกเขานั้นมีโรคประจำตัวอันสังคมรังเกียจ แม้แต่พระสงฆ์บางวัดบางแห่งก็ไม่ประสงค์ให้พวกเขาเหล่านี้ไปที่วัด สำหรับหลวงปู่แล้วกับตรงกันข้าม หลวงปู่พูดอยู่เสมอว่า “บุคคลที่มีอวัยวะสมบูรณ์ครบ ๓๒ ประการนั้น จะไปทำบุญที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครรังเกียจ แต่ชาวสมาชิกนิคมนั้นเขาไปไม่ได้ ไม่มีใครต้อนรับ อาตมาเปิดโอกาสทุกชั่วโมงให้มา ทำบุญ ทำความดี ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมารักษาศีล ทำบุญตักบาตร หรือช่วยทำงานทำการอื่นๆ ของวัด ซึ่งล้วนแต่เป็นการทำบุญทั้งสิ้น...” จึงมีความผูกพันที่ต้องสงเคราะห์ต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งฤดูกาลพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มาถึง จึงได้นำพาพระภิกษุสามเณรอธิษฐานจำพรรษา ณ วัดเนินดินแดง ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นพรรษาปีที่ ๓ ซึ่งในพรรษานี้ก็มีพระภิกษุจำพรรษามากถึง ๑๖ รูป สามเณรอีก ๙ รูป รวมเป็น ๒๕ รูป คือ

๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. พระอาจารย์สำราญ ๓. หลวงปู่ทองใบ ญาณปทีโป ๔. หลวงปู่มุล ธมฺมวีโร ๕. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ ๖. หลวงพ่อลิด (มาจากประเทศลาว) ๗. พระบาล ๘. พระประมวล โอภาโส ๙. พระคำพันธ์ คมฺภีรญาโณ (อดีตประธานสงฆ์วัดคลองแจง ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ๑๐. พระเรืองฤทธิ์ ๑๑. พระคำพู ๑๒. พระเสาร์ ๑๓. พระคำปุ่น วณฺณวโร (คุณคำปุ่น กุดกุง (ผู้ให้ข้อมูลประวัติหลวงปู่เพิ่มเติมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จนถึงวัดเขาสุกิมบางส่วน) ๑๔. พระเจริญ ๑๕. พระวิรัตน์ ๑๖. พระบรรหาญ ๑๗. สามเณรเสาร์ ๑๘. สามเณรไพโรจน์ ๑๙. สามเณรบุญช่วย ๒๐. สามเณรเลียบ ๒๑. สามเณรฉัตร ๒๒. สามเณรเล็ก ๒๓. สามเณรลน ๒๔. สามเณรเจียม ๒๕. สามเณร - (จำชื่อไม่ได้)

เมื่อมีพระภิกษุสามเณรเพิ่มมากขึ้น ศรัทธาชาวบ้านก็มากขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน ญาติโยมมาช่วยกันปลูกสร้างกุฏิเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่เสร็จสมบูรณ์อย่างสวยงาม สร้างกุฏิหลังใหญ่ ๒ หลัง ให้หลวงปู่มุลและหลวงปู่ทองใบ และสร้างกุฏิหลังเล็กขนาดอยู่รูปเดียว จำนวน ๒๕ หลัง เท่าจำนวนพระภิกษุสามเณร ส่วนหลวงปู่ได้อยู่กุฏิหลังเล็กๆ เหมือนอย่างพระลูกวัดทั่วไป (ปัจจุบันได้อนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์สถาน) ให้ศิษย์รุ่นสุดท้ายได้เห็นว่า ครูบาอาจารย์นั้นท่านไม่ได้ยึดติดในวัตถุใดๆ กุฏิหลังใหญ่หลังประณีตนั้นท่านจะให้พระลูกศิษย์อยู่ ส่วนตัวของหลวงปู่เองนั้นท่านจะอยู่กุฏิหลังเล็กๆ ธรรมดาไม่ยึดติดในลาภสักการะ แม้แต่สิ่งของอันประณีตอื่นๆ ก็เช่นกัน ท่านไม่สะสมปัจจัยสี่ใดๆ ใครถวายอะไรมาหลวงปู่ก็จะมอบให้คณะสงฆ์นำเข้าคลังสงฆ์ทั้งหมด ไม่ยึดติดแม้แต่วัตถุที่มีค่ามหาศาล ยกตัวอย่างเช่นเรื่องนี้เป็นต้น


• ผีให้พลอย

คุณคำปุ่นเล่าว่า...ในปีเดียวกันนั้นกำลังจะเดินทางไปงานศพคุณหมอติ้น จิรวัฒน์ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐาก เป็นเจ้าของที่ดินสร้างวัดเนินดินแดง ได้เสียชีวิตและตั้งศพที่วัดเขาพลอยแหวน อยู่ที่อำเภอท่าใหม่ ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิด ก่อนออกเดินทางจากวัดเนินดินแดง หลวงปู่เรียกผมเข้าไปพบบอกว่า “ปุ่น...เมื่อคืนเจ้าแม่เขาพลอยแหวนมาในนิมิตบอกว่า จะขอถวายพลอยก้อนหนึ่ง ให้ไปเอา แล้วให้ลูกศิษย์เอาไปขายเอาเงินมาสร้างโบสถ์ เขาจะทำเครื่องหมายเอาขอนไม้ปิดทับไว้ ลองไปดูกันดีไหม ?...ผมกราบเรียนว่าสุดแท้แต่ครูบาอาจารย์ครับผม...เมื่อเดินทางไปถึงวัดเขาพลอยแหวน ขณะที่รอเวลาเผาศพอยู่นั้น รอบๆ วัดเขาพลอยแหวนจะมีแต่ผู้คนกำลังสาละวนในการประกอบอาชีพอันท้าทาย ทุกคนต่างก็มีความหวังอยู่ที่สมบัติใต้ดินซึ่งยังมองไม่เห็น แต่ละคนเหงื่อไหลไคลย้อย ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าใต้พื้นดินที่พวกเขากำลังขุดนั้นจะได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนกับกำลังที่เขาหมดไปวันหนึ่งๆ ไม่มีใครรู้เลยว่าวันพรุ่งนี้เงินซื้อกับข้าวให้ครอบครัวจะมีหรือเปล่า ทั้งขุดด้วยจอบ ด้วยชะแลง บ้างก็ร่อนด้วยตะแกง ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง แต่จะได้เห็นสีหน้าของบุคคลเหล่านี้อีกครั้งก็ตอนเลิกงาน ซึ่งบางคนก็สมปรารถนายิ้มแย้มแจ่มใสหายเหนื่อย เพราะได้ในสิ่งที่ตนค้นหามาตลอดวัน น้ำดี สีสวย ราคาก็จะงามตามตัว บางคนได้วันละหลายแสนหลายล้านบาท แต่อีกบางคนวันแล้ววันเล่าก็ไม่ได้แม้แต่เศษพลอยไม่ได้เห็นเสียด้วยซ้ำว่าหน้าตาของพลอยที่สามารถเปลี่ยนให้คนจนเป็นเศรษฐีได้ในฉับพลับนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ทุนที่นำมาลงก็หมดไปๆ เป็นมุมมองหนึ่งที่เป็นสัจธรรมว่าไม่เที่ยงแท้แน่นอนเสมอไป...หลวงปู่ยืนมองพิจารณาหมู่คนผู้มาแสวงโชคอย่างสุจริตนั้นอยู่ครู่หนึ่ง หลวงปู่ก็ปรารภขึ้นว่า “ปุ่น...ที่ผีมาบอกเมื่อคืนลองเดินไปดูกันเล่นๆ ดีไหม ? ว่าแล้วหลวงปู่ก็เดินนำหน้า ผมเดินตามลัดเลาะไปตามชายเขาซึ่งห่างจากผู้คนที่กำลังขุดพลอยอยู่นั้นไม่มากนัก “ตรงนี้แหละปุ่น !...เขาวางไว้ใต้ขอนไม้นี้แหละ !...ผมก้มลงพลิกขอนไม้ผุๆ หงายขึ้นก็พบพลอยสตาร์ก้อนขนาดใหญ่เท่ากำปั้นมือ ผมเป็นคนหยิบขึ้นมาถวายท่าน แล้วก็เดินกลับวัดเพื่อรอเวลาเผาศพ เดินไปดูไป ปรารภเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปด้วย หลวงปู่บอกกว่า “...เรื่องแบบนี้ไม่น่าเชื่อนะ !...ว่าผีจะมาบอกให้พลอย ถ้าไม่มาลองดูก็ยังนึกอยู่ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ? อยู่ดีๆ ผีมาบอกให้พลอย เพราะว่าเป็นเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติทางวิญญาณ ชาวบ้านเขาขุดหากันแสนจะเหน็ดเหนื่อยตลอดวันยังไม่ได้เลย นี่อยู่ดีๆ ผีก็มาบอกให้...” เดินมาได้สักครู่ก็มีโยมชาวบ้านสองสามีภรรยาเขาคงสังเกตว่าที่หลวงปู่ถืออยู่ในมือนั้นต้องเป็นพลอย เขาวิ่งมากราบเท้ากราบตีนหลวงปู่แล้วบอกว่า..ผมจนเหลือเกินดิ้นรนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทุนรอนที่ติดตัวมาก็หมดหลายวันแล้ว ยังไม่ได้พลอยสักเม็ด ยังไม่รู้ว่าวันนี้จะเอาเงินที่ไหนซื้อข้าวสารหุงกินเลย ถ้าได้ทุนสักก้อนพอค่ารถก็จะเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว ทางบ้านก็ยากจนตั้งแต่มานี่ก็ยังไม่ได้อะไรเลยมีแต่หมดลงไปทุกวันๆ ได้โปรดเมตตาผมด้วยเถิดครับท่านอาจารย์...?...หลวงปู่หันมามองหน้าผม “ว่าอย่างไรปุ่น ? ให้เขาไปเถอะ...” ว่าแล้วหลวงปู่ก็ยื่นพลอยเม็ดงามน้ำเอกก้อนที่เพิ่งได้มานั้นให้กับชาวบ้านคนนั้นไปอย่างไม่อาลัยใยดีในคุณค่าราคาของพลอยเม็ดนั้นเลย...เสร็จแล้วก็เดินมายังวัดเขาพลอยแหวนร่วมพิธีงานศพเสร็จก็เดินทางกลับวัดเนินดินแดงตามปกติเหมือนไม่มีอะไรพิเศษใดๆ เกิดขึ้น และไม่พูดถึงเรื่องพลอยอีกด้วย.หลวงปู่ท่านจะปล่อยวาง ไม่เก็บมาคิดให้เป็นกังวลทั้งสิ้น...

รุ่งขึ้นเช้าวันใหม่ หลวงปู่ปรารภกับผมว่า “ปุ่น เอ๋ย ! เมื่อคืนเจ้าแม่เขาพลอยแหวนมาต่อว่าที่เราให้พลอยชาวบ้านไป เขามาบอกให้ไปเอาใหม่ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามให้ใครอีก เขาให้เอามาสร้างโบสถ์ เขาเอาใบไม้ปิดไว้ อยู่ไม่ไกลกับที่เมื่อวานนั่นเอง...สุดแท้แต่ท่านอาจารย์ครับกระผม...ผมกราบเรียน...ท่านพิจารณาอยู่ครู่หนึ่งแล้วท่านก็ปรารภขึ้นมาว่า...ฝากเขาไว้ที่นั่นก่อนดีกว่า...ก้อนหลังนี้จึงไม่ได้ไปเอาจนลืมไปเลยไม่รู้ว่าผีเจ้าของพลอยเขาไปบอกให้ใครที่อื่นอีกหรือเปล่า ที่พูดนี้อยากให้เปรียบเทียบว่าหลวงปู่ท่านไม่ยึดติดในวัตถุภายนอกใดๆ เลย แม้แต่พลอยซึ่งมีราคานับแสนนับล้านก้อนเดียวขายแล้วสามารถสร้างโบสถ์เสร็จทั้งหลัง จะเห็นได้ว่าสมบัติต่างๆ ของท่านนั้นจะมีทั้งผีให้ และคนให้ ที่ผีมาบอกให้แล้วยังไม่ได้ไปเอายังมีอยู่อีกไม่ใช่น้อย ไม่ว่าใครจะเอาอะไรมาถวายท่านก็รับ รับผ่านมือแล้ว ถ้ามีใครมาขอก็ยกให้ไปเลย ถ้าไม่มีใครขอก็ยกเข้ากองกลางสงฆ์ทั้งหมด ตัวท่านมีเพียงบริขารแปดตามพระวินัยเท่านั้น...ผมติดตามรับใช้หลวงปู่ เป็นพระอุปัฏฐากรุ่นแรกได้รู้ได้เห็น ได้ฟังสิ่งต่างๆ จากหลวงปู่มามาก ชาตินี้ทั้งชาติผมขอมีอาจารย์องค์เดียวก็พอ...”


(ฐานข้อมูลโดย คุณคำปุ่น กุดกุง)

การเจริญสมณธรรม ณ วัดเนินดินแดง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ตั้งแต่พรรษาแรก พ.ศ. ๒๕๐๔ จนล่วงเลยมาถึง พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นพรรษาที่สามแล้ว หลวงปู่ได้นำความเจริญมาสู่วัดเนินดินแดงด้านศาสนวัตถุภายนอกมากมาย ส่วนศาสนบุคคลนั้นก็ได้อบรมสั่งสอนให้ทุกๆ คนตั้งมั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา รู้จักประกอบอาชีพโดยสุจริต โดยเฉพาะพี่น้องชาวสมาชิกนิคมฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจดังกล่าวแล้ว หลวงปู่ยิ่งเมตตาเป็นพิเศษเนื่องจากมีความเห็นอกเห็นใจมีความเมตตาสงสาร ต้องการให้เขาเหล่านั้นได้เกิดความอบอุ่น ไม่ว้าเหว่ ได้สร้างบุญบารมี ได้มีที่พึ่งพิงทางด้านจิตใจ นับตั้งแต่เบื้องแรกที่หลวงปู่เข้ามาอยู่จนถึงปัจจุบัน

วัดเนินดินแดง จึงนับได้ว่าเป็นสถานที่ปฐมเริ่มแรกแห่งการประกาศพระพุทธศาสนาลงบนแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งด้านศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล ตลอดทั้งศาสนธรรมคำสอน ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักพระสายป่า หรือสายหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เพิ่มขึ้น วัดเนินดินแดงได้มีความมั่นคงเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่ แต่จะใช่สถานที่ที่ท่านพ่อลีปรารภให้กับอดีตพระภิกษุจวด สวิงคูณ หรือไม่...โปรดติดตามต่อไป

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ปฐมฤกษ์ครั้งแรกบนเขาสุกิม
ปรากฏการณ์ตามคำพยากรณ์ของท่านพ่อลี ธมฺมธโร

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• พ.ศ. ๒๕๐๗ จำพรรษาที่บนเขาสุกิม (พรรษาแรก)
จนถึงพรรษาสุดท้าย พ.ศ. ๒๕๔๗




• ปักธงธรรมแบบถาวรบนยอดเขาสุกิม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• หัวเขาอีกิม จะสว่างรุ่งเรือง



• หัวเขาอีกิม จะสว่างไสว คนทั่วประเทศจะต้องรู้จัก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• หัวเขาอีกิม จะเป็นศูนย์รวมของตัวแทนศาสนาต่างๆ





• หัวเขาอีกิม จะสว่างถึงที่สุด คนทั่วโลกจะรู้จัก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ดั่งสายธารทิพย์จากสรวงสวรรค์

ในขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นอยู่นั้น ก็เหมือนดั่งมีกระแสน้ำทิพย์จากสรวงสวรรค์หลั่งลงมาให้ชุ่มเย็นดับความร้อนแรงลงไปฉับพลัน กล่าวคือ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทุกหน่วยเข้าเคลียร์พื้นที่วัดเขาสุกิมชุดแล้วชุดเล่า เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี” ซึ่งมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททองหล่อพระประธาน พระอัครสาวกทั้งสอง และพระอานนท์ ณ อุโบสถวัดเขาสุกิม ในวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ทรงสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรี และพระราชทานธงแก่ลูกเสือชาวบ้าน

ด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่สมชายนั่นเอง จึงทำให้ชาวจังหวัดจันทบุรีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสามพระองค์อย่างใกล้ชิด พสกนิกรทั่วทั้งจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียงต่างมาเฝ้าชมพระบารมีของล้นเกล้าทั้งสามพระองค์อย่างมืดฟ้ามัวดิน ตั้งแต่เช้าจรดเย็นไม่มีใครย่อท้อต่อการรอคอยการเสด็จในครั้งประวัติศาสตร์นี้เลย และนับเป็นครั้งที่สองที่พระองค์ทรงเสด็จ จ.จันทบุรี เมื่อเสร็จพระราชภารกิจแล้วได้ทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่สมชาย ซึ่งทรงมีพระราชปุจฉาอันลึกซึ้ง ดังนี้

• จอมคนของแผ่นดินทรงมีพระราชปุจฉา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาว่า...พระคุณเจ้าโยมขอถามปัญหาธรรมบางประการ ?

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วิสัชนาว่า...ขอถวายพระพร พระมหาบพิตรราชสมภารเจ้า สิ่งใดที่ไม่เหลือสติ...

ปัญญาของอาตมาภาพแล้ว ขอพระองค์ทรงพระราชปุจฉาได้

ขอถวายพระพร...

ในหลวง ผู้คนเขามาวัดทำไมกัน ?...

หลวงปู่ฯ ผู้มาวัด มาด้วยเหตุต่างๆ กัน บางคนเป็นคนดีอยู่แล้ว มาวัดด้วยการมุ่งทำความดีให้มากขึ้น

ด้วยการมาถือศีลภาวนา บางคนมาด้วยความอยากรู้ อยากเห็นว่าทางวัดเขาทำอะไรกันบ้าง

บางคนก็มาด้วยความตั้งใจจริงๆ ที่จะมาช่วยงานวัด เพราะเห็นว่าอยู่บ้านไม่มีธุระที่จะทำ

บางคนก็มาด้วยเหตุที่เห็นว่าอยู่บ้านมีแต่ปัญหา ล้วนแต่น่าเบื่อหน่าย สู้มาวัดหาความสงบ

ดีกว่า อย่างนี้ก็มี เรียกว่ามาวัดทำให้สบายใจ ขอถวายพระพร....

ในหลวง ที่พระคุณเจ้าว่าชาวบ้านเขาเบื่อหน่ายนั้น เขาเบื่ออะไรกัน ?...

หลวงปู่ฯ การเบื่อหน่ายของชาวบ้านมีด้วยกันสองอย่าง บางคนเบื่อหน่ายต่อการงานที่ต้องทำอย่าง

จำเจ ก็หาเวลามาวัดเพื่อพักผ่อนเป็นการเบื่ออย่างไม่จริงจัง บางคนมีความเบื่อจริงๆ โดย

เห็นว่าการเป็นอยู่ทางโลกนั้น ถึงจะมั่งมีสามารถหาความสุขได้ทุกอย่างก็จริง ล้วนแต่

เป็นความสุขชั่วคราว ไม่เป็นความสุขที่แท้จริงเหมือนอย่างความสุขทางธรรม บางคนเห็น

ไปว่าเกิดมาแล้วก็หนีความตายไม่พ้น ก่อนจะตายก็ควรจะได้ทำอะไรๆ ให้เป็นเหตุให้ตายดี

มีความสุข อย่างนี้ก็มี ขอถวายพระพร...

ในหลวง การที่พระคุณเจ้าสอนคนให้นึกถึงความตายนั้น ถ้าหากสอนไม่ดีแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้คนเกิดความเกียจคร้านในการแสวงหาเลี้ยงชีพ ทำให้เป็นคนจนเป็นภาระของสังคมก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นต้องระวังในการสอน อย่าให้เกิดผลร้าย ?...

หลวงปู่ฯ โดยปกติพระจะสอนให้เห็นโทษของความมัวเมา ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดความเห็นผิดเป็นชอบ มักจะสอนให้คิด ให้รู้เห็น ในทางถูกก่อน เช่น

ก. อย่ามัวเมาในวัย ว่ายังเป็นหนุ่ม เป็นสาวอยู่

ข. อย่ามัวเมาในความไม่มีโรคมาเบียดเบียน

ค. อย่ามัวเมาในชีวิตว่าเวลาของเรายังมีอยู่ ด้วยเหตุดังถวายพระพรมาแล้ว ทางพระจึงสอนให้ทุกคนนึกถึงความตาย ถ้าไม่สอนให้เขาเข้าใจในทางถูกก่อนแล้ว กลับจะเป็นผลร้ายดังพระราชปุจฉาโดยแท้ การเจริญมรณสตินั้น ชั้นต้นเพื่อให้รู้ว่า ทุกคนหนีความตายไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นคนมี คนจน มีความตายเหมือนกัน เท่ากันทั้งนั้น สำหรับผู้ทำการภาวนา การเจริญกรรมฐาน เพื่อให้นิวรณ์สงบ ก็จำเป็นต้องพิจารณากำหนดเป็นอย่างๆ ไป ความตาย คือนายเพชฌฆาต ความตาย คือ ต้องพลัดพรากจากสมบัติทุกอย่าง เขาตาย-เราก็ต้องตายเหมือนเขา ชีวิตเป็นของที่กำหนดเอาเองไม่ได้หรือจะกำหนดเอาว่าอายุเท่านั้นเท่านี้จะตาย ก็กำหนดไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า ชีวิตเป็นของน้อย จะตายเมื่อไรไม่มีใครรู้ได้ ขอถวายพระพร

ในหลวง โยมขอถามพระคุณเจ้าอีกสักข้อว่า “ปุถุชนคนธรรมดาบางคน ที่มีลักษณะเหมือนพระ

อรหันต์บางอย่าง นั้นในโลกนี้จะมีบ้างไหม?...” โยมอยากเทียบเพื่อวิเคราะห์ถึงคุณสมบัติของ

พระอรหันต์ที่แท้จริง ?

หลวงปู่ฯ ตามที่มหาบพิตรอยากทราบว่าปุถุชนคนธรรมดาที่ลักษณะคล้ายพระอรหันต์บางอย่าง ในโลก

นี้มีแน่นอน แต่ในด้านคุณธรรมนั้นจะไม่เหมือนกัน ปุถุชนคนธรรมดายังละสังโยชน์ไม่ได้ สังโยชน์คือเครื่องผูกมัดใจสัตว์ พระอริยบุคคลชั้นต้นคือ พระโสดาบันบุคคล ชั้นกลางคือ พระสกทาคามีบุคคล และพระอนาคามีบุคคล ชั้นสูงคือ พระอรหันตบุคคล พระอริยบุคคลระดับพระโสดาบันบุคคลอย่างน้อยก็ต้องละสังโยชน์ ๓ ได้ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นั่นเอง ขอถวายพระพร...

ในหลวง ในด้านคุณธรรมนั้นทราบแล้วย่อมแตกต่างไม่เหมือนกันแน่ ขอทราบลักษณะอาการ
บางอย่างที่ว่าเหมือนกันนั้นจะมีบ้างไหม ?

หลวงปู่ฯ พอมีอยู่บ้าง ขอถวายพระพร...

ในหลวง ที่พระคุณเจ้าว่าพอมีนั้นปุถุชนคนนั้นคือใคร ? ลักษณะที่เหมือนนั้นเหมือนอย่างไร ?

หลวงปู่ฯ ปุถุชนคนนั้น คือ นักโทษที่รอการประหารชีวิต ลักษณะที่เหมือนนั้นคือ จะนึกถึงความตายตลอดเวลา ขอถวายพระพร

ในหลวง มีตัวอย่างบ้างไหม ?

หลวงปู่ฯ ขอถวายพระพร อาตมาภาพขอยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ถูกพิพากษาความว่าอีก ๗ วันข้างหน้า

นี้ นาย ก.จะถูกประหารชีวิต ขณะนั้นนาย ก. ย่อมมีความรู้สึกบางอย่างเหมือนพระอริยบุคคล

คือ รู้สึกว่าตัวเองจะต้องตายแน่ ภายใน ๗ วัน ขอถวายพระพร...

ในหลวง เหมือนอย่างไร ? ขอพระคุณเจ้าอธิบายด้วย ?

หลวงปู่ฯ ขอถวายพระพร คืออย่างนี้ นาย ก. เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องตายภายในอีก ๗ วันข้างหน้า นาย ก.

จะมีความตายขึ้นสมอง คือ จะนึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา จะทำอะไรก็สักแต่ว่าทำไปอย่าง

นั้น เดี๋ยวก็จะต้องตายแล้วอย่างนี้ เป็นต้น ใครจะเอาวัตถุสิ่งของ เงินทองหรือของมีค่าใดๆ

มาให้ก็แล้วแต่ นาย ก. จะมีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายจากในอีก ๗ วัน คำว่า “ตาย” จะมาตัด

บทภายในดวงจิตของนาย ก. ทันที กิเลสตัวนี้จะไม่มี ความยินดีในข้าวของเงินทองสิ่งต่างๆ ที่

คนนำมาให้นั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร อีก ๗ วันก็จะตายอยู่แล้ว พระ

อริยเจ้าท่านก็นึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา ใครจะเอาปัจจัยสี่อย่างดีแค่ไหนมาถวายท่านก็สัก

แต่ว่าเป็นของนั้นของนี้ ไม่ใยดี ปล่อยวาง เดี๋ยวก็จะต้องตายจากวัตถุเหล่านี้ไปแล้ว

ขอถวายพระพร

อีกตัวอย่างหนึ่ง อาตมาภาพในเวลานี้เช่นกัน อาตมาภาพเคยสลบไปถึงสิบห้าชั่วโมง

พอฟื้นขึ้นมาแล้ว ก็ยังนึกถึงอยู่เสมอว่าเทพเจ้าชาวโลกทิพย์ที่เขาอนุญาตให้อาตมาภาพ

กลับมายังโลกมนุษย์ได้เพียงชั่วคราวนั้น เมื่อไร เวลาไหนเขาจะมาเอาอาตมาภาพกลับไปอีก

เขาไม่ได้บอกอาตมาภาพเลยว่า อีก ๗ วัน หรือ ๗ เดือน หรือ ๗ ปี ท่านจะต้องตาย ไม่บอกเลย

นักโทษเสียยังดีกว่าเพราะรู้แน่ๆ ว่าจะต้องตายภายในวันนั้น วันนี้ เขารู้ว่าชีวิตของเขาเหลือ

น้อยแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้แค่ ๗ วัน เท่านั้น จะทำอะไรให้รีบทำเสีย ! ส่วนของอาตมาภาพนี้ไม่มี

กำหนดอะไรเลย แต่อาตมาภาพก็ไม่ประมาท พยายามนึกถึงความตายอยู่เสมอ รีบทำความดี

ตลอดเวลา กลัวว่าความตายจะมาถึงเดี๋ยวนี้ นับตั้งแต่อาตมาภาพฟื้นขึ้นมาแล้ว ใครจะเอาอะไร

มาถวาย ไม่ว่าจะดีประณีตสักแค่ไหน ไม่ว่าปัจจัยสี่ชนิดใดก็แล้วแต่อาตมาภาพรับแล้วก็ทำให้

นึกถึงว่า “เราจะต้องตายจากปัจจัยสี่เหล่านี้” นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตก็เช่นกัน มหาบพิตร ลองให้ใครไปถามดูก็ได้ว่า “คุณกินอาหารมื้อนี้อร่อยไหม ? เขาจะตอบทันทีว่า”... อร่อย แต่ไม่ใยดีเลย เพราะพรุ่งนี้ก็จะต้องตายแล้ว !...พระอริยบุคคลก็เช่นกัน จะนำของบริโภคชั้นดี

ขนาดไหนมาให้ ท่านก็สักแต่ว่า เดี๋ยวก็จะต้องตายจาก คำว่า...ตาย...ตาย...จะมีอยู่ทุกลมหายใจเข้า-

ออกของพระอริยบุคคล...ท่านจะไม่มีความใยดีต่อสมบัติของชาวโลกที่สมมุติกันว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี ทั้งสิ้น ! ท่านมีแต่ สักว่าสิ่งนั้น สักว่าสิ่งนี้ แล้วก็จะต้องตายจาก...

ยังมีชาดกอยู่เรื่องหนึ่ง ขอเล่าถวายมหาบพิตร เพื่อเปรียบเทียบว่าลักษณะของปุถุชนกับ

พระอริยบุคคลที่มีอะไรเหมือนกัน...สมัยพุทธกาลนั้น ยังมีพระราชาเมืองหนึ่ง องค์พี่เป็นพระราชา องค์น้องเป็นมหาอุปราช วันหนึ่งพระราชาเสด็จประพาสนอกเมือง มหาอุปราชผู้น้องอยู่ในพระนคร นึกขึ้นมาว่าเสด็จพี่ของเราเป็นพระราชามีความสุขอย่างไรหนอ ? กว่าเราจะได้เป็นพระราชาก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร ?...อยากลองสวมชุดของพระราชาดูสักหน่อยว่าจะมีความสุขขนาดไหน ? ว่าแล้วก็แอบเข้าไปในห้องทรงของเสด็จพี่ ถือวิสาสะเอาชุดกษัตริย์ของเสด็จพี่มาลองสวมดู เอาพระขันธ์มากำไว้ในมือ แต่งองค์เสร็จแล้วก็ลองออกมาประทับบนพระแท่นที่ว่าราชการของกษัตริย์ เหล่าเสนาอำมาตย์มาพบเข้าก็พากันจับกุมส่งพระราชา ตั้งข้อหาว่าอุปราชก่อการกบฏแอบเอาเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์มาใส่ พระราชาเสด็จกลับจากประพาสนอกเมืองจึงสอบถามอุปราชผู้น้อง...อุปราชผู้น้องรับสารภาพว่า มิได้คิดคดกบฏต่อเสด็จพี่แต่อย่างไร เพียงแค่อยากลองทรงเครื่องของกษัตริย์ดูแค่นั้นว่า มีความสุขอย่างไร ?...แต่กฎมณเฑียรบาล ถือว่ามีความผิดต้องโทษถึงประหารชีวิตทันที...แต่ด้วยมีความสงสารน้องชายจึงยืดเวลาให้น้องอยู่ต่อไปอีก ๗ วัน ก่อนประหารชีวิต ก็ต้องการให้น้องได้มีความสุขจึงสละราชสมบัติให้น้องได้สำเร็จราชการแทน ๗ วัน น้องจะทำอะไร ต้องการอะไร อย่างพระราชาให้ทำได้ทั้งหมดเพื่อความสุขของน้องก่อนตาย วันเวลาผ่านไป แต่และวันพระราชาตัวจริงก็ถามน้องชายอยู่ทุกวันว่า น้องเป็นอย่างไรบ้าง ที่เป็นพระราชาอยู่นี้มีความสุขบ้างไหม ? เสวยอย่างพระราชา บรรทมอย่างพระราชา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นพระราชาทุกอย่างมีความสุขบ้างไหม ?...น้องชายตอบทันทีว่า “หาความสุขมิได้เลย เพราะวันหนึ่งๆ ก็นึกเพียงว่าเหลือเวลาอีก ๓ วันก็จะตาย เหลือเวลาอีก ๒ วัน เหลือเวลาเพียงพรุ่งนี้ก็ต้องตาย นึกแต่เพียงว่าความตายใกล้เข้ามาทุกขณะ ใกล้เข้ามาทุกวัน จนเหลือเพียงพระอาทิตย์ขึ้นพรุ่งนี้ก็จะต้องตายแล้ว..เครื่องทรงและสิ่งทั้งหลายที่เสด็จพี่ประทานมาให้นั้นก็เพียงสักแต่ทรง เท่านั้นไม่ได้คิดเลยว่านี่คือเครื่องทรงของพระราชา...สักแต่ว่าปกปิดอวัยวะไม่ให้ละอายเท่านั้น...พระกระยาหารรสเลิศของเมืองนี้ที่เสด็จพี่ประทานให้เสวยแต่ละวัน ก็เพียงแค่กินรอวันตายเท่านั้น ไม่ได้ยินดีว่าอันนี้รสเลิศอร่อย ไม่มีโปรดอะไรเลย เพราะพรุ่งนี้ก็จะต้องตายอยู่แล้ว...จะนึกอยู่อย่างเดียวว่า ตาย...ตาย...ตาย ตลอดเวลา...

มหาบพิตร พระอริยบุคคลก็เช่นกันย่อมมีลักษณะที่เหมือนกับปุถุชนก็คืออย่างนี้ คือจะมีมรณานุสสติขึ้นสมองทุกขณะจิต สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่หน” พระอานนท์กราบทูลว่า “๑๐๐ หนพระเจ้าข้า” พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า “เธอทำไมประมาทนักเล่า ! อานนท์” “เราตถาคต ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” มหาบพิตร ลักษณะของปุถุชน คนสามัญธรรมดา ส่วนที่เหมือนพระอริยบุคคลนั้นก็คือ นักโทษที่รู้ว่าจะต้องถูกประหารชีวิตในวันนั้นๆ คนๆ นั้นเมื่อรู้ว่าจะต้องตายในวันนั้นๆ จะต้องพลัดพรากจากพ่อ แม่ ลูก เมีย อันเป็นที่รักของตน ย่อมไม่มีความยินดีในเครื่องนุ่งห่มดีๆ อาหารดีๆ แม้แต่แก้วแหวนเงินทอง ใครจะเอาอะไรมาสวมใส่ให้แม้แต่เครื่องทรงของพระราชาก็ตาม เขาจะไม่มีความยินดีในสิ่งนั้นๆ เลย เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่า จะต้องตาย ความตายจะขึ้นสมอง หรือมีมรณสติทุกลมหายใจเข้า-ออกนั่นเอง...

ปุถุชนกับพระอริยบุคคลย่อมไม่เหมือนกันเพราะพระอริยบุคคลท่านมีมหาสติอยู่ตลอดเวลา มีอาการสำรวมอินทรีย์อยู่ตลอดเวลา ส่วนปุถุชนคนธรรมดาเป็นผู้ขาดสติ ขาดการสำรวมอินทรีย์ จึงทำให้ลักษณะของปุถุชนกับพระอริยบุคคลแตกต่างไม่เหมือนกัน แต่บางอย่างที่คล้ายกันนั้นก็คือพระอริยบุคคลท่านจะมีมรณสติอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก ปุถุชนทั่วไปที่จะนึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลานั้นน้อยนัก ตลอดทั้งปีบางคนถามได้เลยว่า เคยนึกถึงความตายบ้างไหม ? ไม่มีใครนึกถึงเลย จึงถือว่าประมาท แต่ยังมีปุถุชนอีกประเภทหนึ่ง “...ได้แก่นักโทษประหารชีวิตที่รู้ว่าตนเองจะต้องตายในวันนั้นๆ นั่นเอง ถึงแม้ว่าจะนึกถึงความตายไม่ได้ทุกลมหายใจเข้า-ออก แต่ก็บ่อยครั้งมากกว่าคนธรรมดา นักโทษนั้นเขาจะนึกถึงความตายอยู่บ่อยๆ ว่า...ตาย...ๆ...ๆ ...เราจะต้องตาย เราจะต้องพลัดพรากจากบุตรภรรยา ทรัพย์สมบัติพัสถาน เราจะต้องตายในอีกเท่านั้นวัน เท่านี้วัน คำว่าตายจะมีอยู่เกือบทุกลมหายใจทีเดียว”...นี่แหละที่มหาบพิตรอยากทราบว่าปุถุชนมีส่วนที่เหมือนกับพระอริยบุคลนั้นมีส่วนไหนบ้าง อาตมาภาพเห็นว่าระดับจิตของบุคคลทั้งสองย่อมแตกต่างในด้านคุณธรรม สูงต่ำต่างกันในด้านคุณธรรม จึงเหมือนกันไม่ได้เลย แต่ลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันนั้นก็คือการคิดถึงหรือนึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา ปุถุชนคนธรรมดาที่จะนึกถึงความตายได้ขนาดนั้นก็เห็นมีแต่นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตเท่านั้นที่รู้ว่าตัวเองจะต้องตายภายในวันนั้นๆ ก็จะคิดถึงหรือนึกถึงความตายของตัวเองอยู่เสมอๆ ลักษณะตรงนี้จึงเรียกว่าคล้ายกันกับพระอริยบุคคล เพราะว่าพระอริยบุคคลท่านจะมีมรณสติอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก...” ขอถวายพระพร...

ภายหลังจากล้นเกล้าฯ ทั้งสามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินวัดเขาสุกิมได้ ๕ เดือน หมายกำหนดการจากสำนักพระราชวังก็ตามมาอีก ๑ ฉบับ ความว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดจะเสด็จวัดเขาสุกิม พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา ในวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อทรงทอดผ้าป่า จึงทำให้เหตุการณ์การเมืองต่างๆ เพลาลงไปได้มาก แต่ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ยังมีข่าวโคมลอยสร้างกระแสทำลายชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งคราว ในสมัยนั้นสถานการณ์ด้านชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านด้าน จ.จันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี จะมีภัยสงครามล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น ทำให้ข้าราชการทหารตำรวจตามชายแดนต้องทำหน้าที่ปกป้องผืนปฐพีของไทยเอาไว้สุดกำลังทั้งสามจังหวัด ต้องอาศัยกำลังใจจากแนวหลัง ทุกวันธรรมสวนะหลวงปู่ก็จะนำประชาชนชาวบ้านจัดหาข้าวสารอาหารแห้ง และวัตถุมงคล ออกเยี่ยมบำรุงขวัญเป็นประจำมิได้ขาด ผู้ไม่ประสงค์ดีก็ออกข่าวโจมตีว่าเป็น “...ไส้ศึก ชักนำภัยสงครามเข้าประเทศไทยบ้าง...ว่านำอาวุธสงครามไปส่งให้กับฝ่ายตรงข้ามบ้าง...” สารพัดที่จะกล่าวโจมตี แต่หลวงปู่ไม่เคยที่จะหยุดเฉยแต่อย่างใด ยังคงทำความดีเรื่อยไป ไม่ย่อท้อต่อเสียงกล่าวร้ายโจมตีที่มีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ หลวงปู่นิ่งเฉยไม่สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มุ่งหน้าบำเพ็ญสาธารณประโยชน์สงเคราะห์เพื่อนร่วมโลกต่อไป

ดังเช่นสมัยหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ด้านชายแดนจังหวัดตราดได้มีประชากรชาวเขมรทะลักหนีตายจากแผ่นดินเกิดของเขาเองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางด้านเขาล้าน จ.ตราด จำนวนนับแสนคน หลวงปู่ได้ชักชวนศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดหาอาหารแห้งจำนวนมากแล้วรีบเดินทางไปจังหวัดตราดทันที โดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นคนไทยหรือเขมรแต่อย่างไร หลวงปู่บอกว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน หลวงปู่ได้เดินทางไปพบเห็นภาพอันน่าเวทนาของเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน ที่อดยากหิวโหยผอมโซ บางคนบาดเจ็บเพราะถูกอาวุธระหว่างทาง บ้างก็ติดไข้ป่าต้องหามกันลงมาจากภูเขาอย่างทุลักทุเล สมัยนั้นหลวงปู่จะนำสิ่งของไปช่วยเหลือชาวเขมรวันเว้นวัน สวดมนต์ได้เท่าไร ใครถวายจตุปัจจัยมาเท่าไร หลวงปู่ให้ซื้อข้าวสารอาหารแห้งทั้งหมด เพื่อนำไปช่วยเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ต่อมาสภากาชาดไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาทำหน้าที่เปิดศูนย์สงเคราะห์ผู้อพยพขึ้นที่บ้านเขาล้าน จ.ตราด ในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมศูนย์ผู้อพยพ พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระราชดำริว่า “ชาวเขมรอพยพเหล่านี้ล้วนแต่นับถือศาสนาพุทธ น่าจะมีพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการบูชาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ” เมื่อหลวงปู่ทราบดังนั้นจึงรับสนองพระราชดำริ จัดสร้างพระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัย น้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงพระราชทานให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ศูนย์ฯ เขมร โปรดให้หันหน้าไปด้านชายแดนไทย-กัมพูชา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อพยพทุกคนทำพิธีสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย โดยมีแม่ชีซึ่งช่วยดูแลเด็กกำพร้าในศูนย์ เป็นผู้นำสวดมนต์ประจำทุกวัน พระพุทธรูปดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า “หลวงพ่อแดง” วันเวลาผ่านไปศาลาประดิษฐานหลวงพ่อแดงก็ชำรุดไปตามกาลเวลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ สภากาชาดไทยได้จัดการบูรณะเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” อุปนายิกาสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๔๐ พรรษา หลวงปู่พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์จึงร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างศาลาประดิษฐานหลวงพ่อแดงหลังใหม่ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

เห็นได้ว่าหลวงปู่มีเมตตาโดยไม่เลือกชนชาติใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ใดตกทุกข์ได้ยากหลวงปู่จะช่วยเหลือทันทีโดยมองว่าเป็นเพื่อนมนุษยชาติคนหนึ่ง โดยไม่เกรงกลัวภัย

หรือข้อครหาใดๆ จึงนับว่าเป็นพระสงฆ์รูปเดียวในยุคสมัยนั้นที่กล้าออกเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่เหล่าทหารๆ แนวหน้า ในสมัยนั้นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างก็เกรงกลัวคำกล่าวหาต่างๆ นานา หรือกลัวผิดวินัย อะไรทำนองนั้น จึงไม่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์รูปใดออกสงเคราะห์ในลักษณะนี้เลย ต่อมาในระยะหลังๆ เมื่อบ้านเมืองสงบลงแล้วจึงได้พบเห็นสังคมของพระสงฆ์ออกสงเคราะห์ชาวบ้าน ในด้านสาธารณะหรือสังคมสงเคราะห์กันบ้าง หลวงปู่ปรารภอยู่เสมอว่า พระสงฆ์เรานี้ควรที่จะเสียสละให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านบ้าง ไม่ใช่เทศน์สอนให้ชาวบ้านเสียสละ สอนให้ชาวบ้านทำบุญ แต่ตัวของพระเองกับสะสมเต็มไปด้วยกองกิเลสที่ยึดติด เมื่อชาวบ้านเขาให้มาแล้วก็รู้จักทำบุญต่อ ไม่ใช่มีแต่รับของชาวบ้านอย่างเดียว...” ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๒๔ หลวงปู่จะบำเพ็ญศาสนูประการอย่างมาก ทั้งภายในวัดนอกวัด หลวงปู่ปรารภอยู่เสมอๆ ว่า “ธรรมและวัตถุ” ต้องควบคู่กันไปจึงจะเจริญ ในระหว่างเหตุการณ์ในวัดก็ยุ่งๆ แต่หลวงปู่ก็ไม่สนใจใยดี อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด หลวงปู่ก็ดำเนินภารกิจหน้าที่ที่ดีของสงฆ์ไม่ได้หยุดยั้งแต่อย่างใด เหตุการณ์บ้านเมืองก็วุ่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่างก็มี ผ.ก.ค. ชายแดนปราจีนบุรี-จันทบุรี และตราด ก็มีภัยจากเพื่อนบ้านสู้รบกัน ระหว่างเขมรแดงและเขมรเสรี ทหารตำรวจ และชาวบ้านตามชายแดนเดือดร้อนกันไปทั่ว หลวงปู่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ชักชวนประชาชนนำสิ่งของออกเยี่ยมบำรุงขวัญทุกวันธรรมสวนะ ศิษย์รุ่นเก่าๆ คงทราบกันเป็นอย่างดี

นอกจากนี้หลวงปู่ก็ยังได้นำคณะศิษย์ ก่อสร้างโรงเรียนหลายแห่งด้วยกัน เช่น โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา ที่ ต.คลองปูน อ.แกลง จ.ระยอง โรงเรียนมัธยมวัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี โรงพยาบาลวัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี และโรงเรียนจังหารฐิตวิริยาประชาสรรค์ จ.ร้อยเอ็ด อีกทั้งยังซื้อที่ดินหน้าวัดเพื่อขุดสระเก็บน้ำ ไว้ช่วยเหลือชาวบ้านชาวสวน ในช่วงดำเนินการขุดสระน้ำนั้น หลวงปู่จะลงมานั่งควบคุมงานด้วยตัวเองตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้าย หลวงปู่ลงมานั่งให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยงานทุกวันทุกคืน เมื่อเวลาว่างจากกิจสงฆ์แล้ว การนั่งคุมงานของหลวงปู่ก็หาได้นั่งเฉยๆ ไม่หลวงปู่จะภาวนาไปด้วยตลอด เมื่อมีโอกาสหรือมีเหตุอะไร หลวงปู่ก็จะนำเหตุนั้นๆ มาเทศนาอบรมพระภิกษุสามเณรที่นั่งอยู่ใกล้ๆ นั้นทันที พระเณรที่นั่งใกล้หลวงปู่จึงได้กำไรจากการได้ยินได้ฟังมากกว่าคนอื่น ทุกวันจะมีเรื่องใหม่ๆ แปลกๆ แล้วแต่ใครจะมีปัญญารับเอาดังเช่นเรื่องนี้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• การเดินจงกรมได้สิ้นสุดลง

ในระหว่างนี้เมื่อมีญาติโยมเดินทางมาเยี่ยม หลวงปู่ซึ่งเคยพูดคุยเป็นกันเองกับลูกศิษย์ได้เป็นหลายๆ ชั่วโมง แต่ในช่วงนี้หลวงปู่พูดคุยทักทายได้ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ก็จะเหนื่อยหมดเรี่ยวแรง เวลาส่วนใหญ่ของหลวงปู่ในระหว่างนี้ จึงจะพบเห็นหลวงปู่เจริญสมาธิภาวนาในอิริยาบถสีหไสยาสน์ และเปลี่ยนอิริยาบถ มานั่งสมาธิเป็นส่วนมาก อิริยาบถการเดินจงกรมของหลวงปู่ก็ลดลงไปเรื่อยๆ จากที่หลวงปู่เคยเดินจงกรมเป็นชั่วโมง ก็ลดลงเหลือครึ่งชั่วโมง ยี่สิบนาที สิบนาที ห้านาที และเหลือเพียงเดินไปหนึ่งครั้ง เดินกลับหนึ่งครั้ง จนที่สุดหลวงปู่ก็ไม่สามารถเดินจงกรมได้อีกเลย...อาการของหลวงปู่ระหว่างนี้มีขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน แต่หลวงปู่ยังจำลูกศิษย์ทุกคนที่เดินทางไปเยี่ยมไข้หลวงปู่ได้แม่นยำ จดจำเรื่องราวและวันสำคัญๆ ที่หลวงปู่เคยทำประจำปี เช่น เรื่องการนำพาลูกศิษย์สร้างบารมีแจกทานยังสถานที่ต่างๆ ในวันสำคัญๆ หลวงปู่จะปรารภถามจากพระอุปัฏฐากอยู่เสมอๆ เช่น “ถึงวันนั้นหรือยัง...ให้ใครไปทำหรือยัง...งานที่โน้นอย่างลืมนะ...” อะไรเหล่านี้เป็นต้น ดังเช่นในปีนี้ (๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒) หลวงปู่ก็ถามว่า ? วันแม่ปีนี้จะถึงแล้วไม่ใช่หรือ มีใครเตรียมข้าวสารอาหารแห้งไปแจกเด็กหรือยัง ?...พระอุปัฏฐากกราบเรียนว่า...ขอโอกาสครับกระผม ปีนี้หลวงปู่ยังป่วยอยู่ สุขภาพยังไม่ดี ขอกราบนิมนต์หยุดพักสักหนึ่งปี...หลวงปู่ตอบทันทีว่า “นั่นสิ !...ยิ่งสุขภาพไม่ดี ยิ่งต้องรีบทำ เรื่องการสร้างบารมี สร้างความดี ถ้ายังทำไหวทำต่อไป อย่าหยุด อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง ว่าปีนี้สุขภาพไม่ดีพักไว้ก่อน ปีหน้าสุขภาพดีแล้วจึงค่อยทำ อย่างนั้นถือว่าประมาท ให้รีบทำความความดีเสียแต่วันนี้ ไม่ต้องรอ...” หลวงปู่สั่งต่อไปว่า ให้รีบแจ้งข่าวถึงลูกศิษย์ทุกคนให้ไปรวมตัวกันที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๒ อรัญประเทศ และที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ จันทบุรี ให้เตรียมข้าวสารไว้สี่ร้อยกระสอบ เงินสดสองแสนบาท เพื่อมอบให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนนำไปมอบให้แก่เด็กนักเรียนในความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดน...

เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ หลวงปู่ขออนุญาตแพทย์ เดินทางนำลูกศิษย์ไปมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั้งสองแห่ง ตามที่หลวงปู่เคยได้ให้ความช่วยเหลือมาเป็นประจำทุกปี เสร็จแล้วหลวงปู่ก็เดินทางกลับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างเดิม หลวงปู่ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นระยะเวลานาน ๓ เดือน ซึ่งมีประวัติการรักษาโรคประจำตัวหลวงปู่ คือ โรคเบาหวาน-ไตวายจากเบาหวาน-หลอดเลือดหัวใจตีบ และหัวใจวาย ในระหว่างนี้อาการของหลวงปู่ก็ทรงอยู่ วันหนึ่งที่โรงพยาบาลศิริราชหลวงปู่ได้ปรารภกับพระอุปัฏฐากขึ้นมาว่า “ถ้ายังอยู่โรงพยาบาลอย่างนี้ ผมคงเดินไม่ได้แน่ !” แต่แล้วหลวงปู่ก็ยังต้องอยู่โรงพยาบาล ๖ วัน และเดินทางกลับวัด ๗ วัน เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดพรรษา ได้ขออนุญาตแพทย์เดินทางกลับวัดเพื่อรับกฐิน เสร็จจากพิธีทอดกฐินสามัคคีของวัดเขาสุกิม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ คณะศิษย์ได้ขอโอกาสกราบนิมนต์ให้หลวงปู่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ


• ถ้ามีหมอผู้หญิงมาถูกตัวให้ตายเสียดีกว่า

หลวงปู่นิ่งพิจารณาอยู่ครู่ใหญ่แล้วจึงปรารภขึ้นมาเบาๆ กับพระอุปัฏฐากว่า “ที่ไหนก็ได้แต่ขออย่างเดียวอย่าให้มีหมอผู้หญิงมาถูกตัวก็แล้วกัน พรหมจรรย์ของผมได้รักษาบริสุทธิ์มาโดยตลอดถึง ๓ ชาติ ชาตินี้ก็เกือบ ๖๐ ปี แล้ว อยู่มาถึงป่านนี้ ! ถ้าจะมีผู้หญิงมาถูกตัว ปล่อยให้ผมตายเสียดีกว่า...” พระอุปัฏฐากขอโอกาสกราบเรียนหลวงปู่ว่า “กระผมทุกรูปจะขอถวายการดูแลหลวงปู่อย่างดีที่สุดเท่าชีวิตจะหาไม่ ครับกระผม !...” หลวงปู่ตอบตกลงรับนิมนต์ตามที่คณะศิษย์ทุกคนปรารถนาดี

วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ คณะศิษย์ได้กราบนิมนต์หลวงปู่เดินทางเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ คณะแพทย์โรงพยาบาลวิชัยยุทธได้ตรวจโรคต่างๆ ของหลวงปู่อย่างละเอียดอีกครั้ง และพบโรคต่างๆ ดังนี้

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)

รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร)

รูปภาพ
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร)

รูปภาพ
พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์


รูปภาพ
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

• ประวัติการอาพาธ

๑. เส้นเลือดสมองตีบและอัมพฤกษ์ซีกขวา (Multiple cerebral infarction with right hemiparesis)

๒. โรคเบาหวานและไตเรื้อรัง (Diabetic nephropathy with chronic renal failure)

๓. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหัวใจวาย (Severe CAD with CHF)

๔. กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic pyelonephritis) จากเชื้อ Klebsiella

๕. กระดูกเข่าเสื่อม (Osteoarthritis Knees)

๖. เส้นเลือดนิ้วเท้าขาดเลือด (Dry gangrene of right small toe)

๗. เส้นเลือดแข็งทั้งตัว (Generalized atherosclerosis)

๘. ลูกหมากโต (Benign prostatic hypertrophy)

๙. นิ่วถุงน้ำดี (Gall stones)

แพทย์ได้ทำการรักษาอาการทางไตและสมอง ซึ่งมีอาการติดเชื้อทางไตเป็นพักๆ ฉันภัตตาหารได้น้อย และสำลักน้ำบ่อยครั้งจากอาการทางสมอง ตลอดทั้งมีอาการซึมไม่อยากพูด รักษาทางไตแบบประคับประคอง BUN ลดลงเหลือ ๔๓ mg% และ creatinine ๓.๗ mg% แต่อาการแกงกรีน(เป็นแผลแบบปัจจุบันทันด่วน) ของนิ้วเท้าเป็นมากขึ้นแพทย์ได้แนะนำให้ตัดออก แต่ยังไม่ทันได้ตัด แผลที่นิ้วเท้าก็ค่อยๆ หายไปเองเป็นปกติโดยไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น แพทย์ได้ทำการส่องกล้องกระเพาะอาหารเพื่อต่อสายยางออกมาข้างนอก หลวงปู่ได้ขอกลับวัดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓


เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ แพทย์ได้ทำการเจาะท้องทางกล้องเพื่อถวายอาหารเหลว (โดยนายแพทย์กำธร เผ่าสวัสดิ์) ได้กราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่ หลวงปู่อนุญาตให้แพทย์รักษาตามที่แพทย์ได้วินิจฉัยดีแล้วนั้น โดยหลวงปู่ไม่มีอุปาทานยึดมั่นในสังขารแต่อย่างใด อาการไตวายของหลวงปู่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงปู่เริ่มมีอาการทางระบบการหายใจมีอาการหอบเหนื่อยเนื่องจากหัวใจขาดเลือด แพทย์ต้องนำเข้าห้องไอซียูบ่อยครั้ง คณะแพทย์ลงความเห็นว่าจำเป็นต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมเพื่อช่วยการหายใจ คณะแพทย์ได้ประชุมปรึกษาศัลยแพทย์ทางหัวใจ (นายแพทย์ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี) พิจารณาแล้วเห็นว่าพอทำได้แต่อัตราเสี่ยงสูงมาก

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงปู่มีอาการปอดบวมจากเชื้อ Stenotrophomonas maltrophilia เพิ่มเข้ามาอีก คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาลงความเห็นว่าจำเป็นต้องเจาะลำคอเพื่อช่วยการหายใจทางท่อ (โดยนายแพทย์ประพจน์ คล่องสู้ศึก) ได้กราบเรียนหลวงปู่ หลวงปู่อนุญาตตามที่คณะแพทย์กราบเรียน ในระหว่างนี้หลวงปู่ไม่รู้สึกตัวเลย และอาการทางสมองของหลวงปู่ก็เริ่มมีปัญหา คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสมอง (โดยนายแพทย์คณินท์ ชะนะกุล) จึงถวายการรักษาทางสมองอีกทางหนึ่งด้วย คณะแพทย์ได้นิมนต์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ ๕ รูป จากวัดเขาสุกิมร่วมประชุมรับฟังคำอธิบายและรับทราบผลที่คณะแพทย์ได้ทำการรักษามาตั้งแต่ต้น และที่จะทำการรักษาต่อไป คณะแพทย์ได้แจ้งให้คณะสงฆ์รับทราบว่า “อาการของหลวงปู่ขณะนี้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาสุดความสามารถล้วนแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศทุกท่าน แต่ผลของการรักษาจะออกมาอย่างไรนั้น ขอให้คณะสงฆ์โปรดทำใจไว้ด้วยว่า โอกาสที่หลวงปู่จะหายเป็นปกตินั้นมีน้อยมาก ในทางกลับกันก็จะมีอาการทรุดลงไปเรื่อยๆ จนที่สุดสมองก็จะเริ่มตายลงเอง...”


ในช่วงนี้อาการทางไตต่ำลง แพทย์จำเป็นต้องถวายการล้างไตด้วยเครื่อง (Hemodialysis)สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง (โดยนายแพทย์สุทธชาติ พืชผล) อาการของหลวงปู่ไม่ดีขึ้น และวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จึงใส่ (Perm Cath) สำหรับล้างไตถาวร (โดยนายแพทย์ธำรงโรจน์ เต็มอุดม) ในช่วงนี้หลวงปู่ได้พักอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลายาว เนื่องจากมีอาการน่าวิตก หลวงปู่ไม่รู้สึกตัวต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา

วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ คณะสงฆ์ และคณะศิษยานุศิษย์ ผู้ที่มีความเคารพนับถือในหลวงปู่ ได้จัดให้มีการทำบุญมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ถวายแด่ครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงสุดด้วยการ ไถ่ชีวิตสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำจำนวนหลายพันชีวิต พร้อมทั้งได้จัดให้มีการบรรพชาสามเณร และอุปสมบทหมู่ครั้งยิ่งใหญ่จำนวน ๑๐๙ รูป เพื่อถวายบุญกุศลแด่หลวงปู่ พร้อมทั้งมีลูกศิษย์ฝ่ายหญิงอธิษฐานบวชชีอีกจำนวนหนึ่ง เสร็จแล้วได้จัดให้มีการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุกฤษฏ์ ณ ลานเจดีย์ เป็นเวลา ๑๕ วัน ด้วยเดชเดชะบุญบารมีจากพลังของเหล่าศิษยานุศิษย์ในครั้งนี้ ได้ปรากฏเป็นอานิสงส์แผ่ไพศาลถึงทวยเทพเทวดาได้รับรู้รับทราบว่าพวกเราเหล่าศิษย์ต้องการให้หลวงปู่มีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ อาการของหลวงปู่เริ่มฟื้นและได้สติรับทราบ รู้สึกตัวขึ้นมาอย่างปาฏิหาริย์ แพทย์ได้ถอดเครื่องช่วยหายใจออก หลวงปู่หายใจตามปรกติแบบธรรมชาติได้เอง คณะแพทย์ได้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในระหว่างนี้หลวงปู่อยู่ในห้องไอซียูตลอด มีลูกศิษย์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งพระเถรานุเถระ ครูบาอาจารย์ได้เมตตาเดินทางมาเยี่ยมอาการหลวงปู่เป็นจำนวนมากทุกวัน เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศ์ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) วัดเทพศิรินทราวาส พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) วัดโสมนัสวิหาร (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระมหามุนีวงศ์) ตลอดทั้งครูบาอาจารย์สายป่าอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะหลวงปู่ท่อน ญาณธโร จะมาพูดคุยอยู่เสมอ

ต่อมาแพทย์ได้นิมนต์หลวงปู่กลับเข้ามาอยู่ที่ห้องคนไข้ปกติ ชั้นที่ ๑๓ ห้องที่ ๑๓ อาการของหลวงปู่ค่อยดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ หลวงปู่จึงขออนุญาตเดินทางกลับวัดเขาสุกิม

วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงปู่มีกำหนดเดินทางกลับวัดเขาสุกิม บรรดาศิษยานุศิษย์ต่างทราบข่าวว่าหลวงปู่จะเดินทางกลับวัดก็เดินทางมาเฝ้ารอการกลับมาของหลวงปู่กันแน่นขนัดเต็มศาลาชั้นหนึ่งของตึก ๖๐ ปี เมื่อหลวงปู่เดินทางมาถึงวัดได้พบเห็นหน้าลูกศิษย์ที่มารอรับจำนวนมากมาย พระอุปัฏฐากได้หยุดรถเข็นให้ลูกศิษย์ทุกคนได้ก้มกราบเป็นเวลาอันพอสมควร แล้วจึงได้เข็นหลวงปู่กลับขึ้นสู้ที่พัก ทุกเช้าหลวงปู่ก็เมตตาให้ลูกศิษย์เข้าเยี่ยมบนกุฏิได้บ้าง ในระหว่างนี้หลวงปู่พูดได้น้อยเนื่องจากที่คอหลวงปู่แพทย์ได้เจาะใส่สายดูดเสลดแบบถาวร ถ้าไม่มีความจำเป็นแล้วก็จะไม่รบกวนธาตุขันธ์ของหลวงปู่ แต่ถ้ามีความจำเป็นพระอุปัฏฐากก็จะกราบเรียนแล้วปิดสายยางให้หลวงปู่ได้พูดเป็นครั้งคราว ความจำของหลวงปู่ยังแม่นยำ สมาธิของหลวงปู่ยังยอดเยี่ยม

วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงปู่ต้องเดินทางกลับเข้าโรงพยาบาลวิชัยยุทธอีกครั้ง และอยู่ยาวนานจนถึงวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ระหว่างนี้หลวงปู่ต้องเดินทางไป-กลับวัดและโรงพยาบาล เพราะต้องล้างไตสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เนื่องจากในช่องปอดมีน้ำ จำเป็นต้องเจาะออกเวลามีอาการเหนื่อยมาก ผลการตรวจน้ำจากปอดไม่พบมะเร็งหรือเชื้อ

หลวงปู่มีอาการเหนื่อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาการทางหัวใจเลวลงเรื่อยๆ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถี่ขึ้น คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า “ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจที่ตีบ ๓ เส้น และต้องเย็บเส้นเลือดหัวใจที่เคยขยายไว้ ซึ่งปัจจุบันมีรอยรั่ว” คณะแพทย์ได้กราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่ หลวงปู่ได้เซ็นชื่ออนุญาตด้วยลายมือของหลวงปู่เอง ก่อนทำการผ่าตัดทางโรงพยาบาลได้นิมนต์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ของวัดเขาสุกิมรวม ๕ รูป เข้ารับทราบร่วมกับคณะแพทย์ และยินยอมให้แพทย์ทำการผ่าตัดได้

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ นายแพทย์ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี และคณะผู้เชี่ยวชาญอีก ๖ ท่าน ได้ทำการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจทั้ง ๓ เส้น และเย็บเส้นเลือดหัวใจที่มีรอยรั่ว ผลการผ่าตัดเรียบร้อยดี และได้รับการรักษาทางหัวใจ (โดยนายแพทย์ชาญณรงค์ นาคสวัสดิ์) ในระหว่างนี้อาการของหลวงปู่ดีขึ้นเป็นลำดับจนสามารถเดินทางกลับมาพักที่วัดเขาสุกิมได้ แต่ต้องเดินทางกลับเข้าไปล้างไตที่โรงพยาบาลทุกสัปดาห์ ถือว่าอาการของหลวงปู่ในช่วงนี้จัดอยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจของคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา และเป็นที่พอใจของคณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งหลวงปู่สามารถพบปะพูดคุยกับลูกศิษย์ที่เดินทางมากราบเยี่ยมได้เป็นเวลานานๆ ประจำทุกวันอย่างสดชื่น หลวงปู่มีผิวพรรณผ่องใส หน้าตาสดชื่น พระอุปัฏฐากจะรับสนองงานตามที่หลวงปู่ประสงค์แทบไม่ว่างเว้น หลวงปู่จะหาสิ่งของไปแจกชาวบ้านที่อำเภอจังหารบ้าง ไปแจกของชาวบ้านยากจนตามสถานที่ต่างๆ ไปแจกสิ่งของแก่เด็กนักเรียน ไปทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ ไปเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ และไปยังสถานที่เก่าก่อนหนหลังสมัยที่หลวงปู่เคยบำเพ็ญภาวนาอีกหลายแห่ง เช่น ไปภูวัว ไปวัดป่าบ้านหนองผือ ไปวัดดอนธาตุ เป็นต้น เหมือนหลวงปู่ให้ปริศนาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ลูกศิษย์ พระอุปัฏฐากก็มีความวิตกกังวลเกรงว่าอาการของหลวงปู่จะทรุดจะเป็นอันตรายเพราะการเดินทางอาจจะทำให้กระทบกระเทือนระบบหัวใจและอื่นๆ ที่อ่อนแออยู่แล้วนั้น หลวงปู่ปรารภว่า “ให้รีบประกอบคุณงามความดี ให้มีมรณสติทุกลมหายใจ เกรงว่าความตายจะมาถึงก่อนความดี”

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่มีอาการทรงอยู่และดีอยู่ระดับหนึ่ง เมื่อหลวงปู่พักอยู่ที่วัดเขาสุกิม หลวงปู่ได้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างสดชื่นทุกวัน แทบไม่เห็นริ้วรอยการอาพาธให้ลูกศิษย์ได้เห็นเลย จะมีก็แต่น้ำหนักตัวของหลวงปู่ที่ลดฮวบลงอย่างผิดตา จากที่หลวงปู่เคยอ้วนน้ำหนักมากถึง ๘๐ กิโลกรัม ปัจจุบันคงเหลือไม่เกิน ๕๐ กิโลกรัม


• กิจวัตรประจำวันระหว่างอาพาธ

หลวงปู่จะลงปฏิบัติกิจวัตรประจำวันดังนี้

เวลา ๐๕.๐๐ น. พระอุปัฏฐากถวายน้ำล้างหน้า ยาสีฟัน เช็ดตัวถวายหลวงปู่ เสร็จแล้วหลวงปู่ก็จะนั่งสมาธิภาวนาร่วมกับพระอุปัฏฐากจนถึง ๐๘.๐๐ น.

เวลา ๐๘.๓๐ น. พระอุปัฏฐากทำกายบำบัดถวายหลวงปู่เป็นเวลา ๓๐ นาที


เวลา ๐๙.๐๐ น. พระอุปัฏฐากจะเข็นหลวงปู่ลงมาที่ตึก ๖๐ ปี ชั้น ๒ เพื่อต้อนรับญาติโยม ที่มารอคอยพบหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะเมตตาให้ทุกคนเข้าพบได้ในช่วงนี้ทุกคน หลวงปู่เมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลให้กับลูกศิษย์ทุกคนด้วยความเมตตา เสร็จแล้วหลวงปู่ก็จะขึ้นไปชั้นที่ ๓ เพื่อจุดธูปและถวายพวงมาลัยเครื่องสักการบูชาพระพุทธรูปและพระบรมสารีริกธาตุ กลับขึ้นกุฏิเพื่อพักผ่อน และปฏิบัติสมาธิภาวนา

เวลา ๑๗.๐๐ น. หลวงปู่จะลงไปที่สระน้ำหน้าวัด เพื่อให้อาหารปลา เต่า ตะพาบ เสร็จแล้วก็กลับกุฏิเพื่อสรงน้ำ เช็ดตัว พักผ่อน และทำสมาธิภาวนา พระอุปัฏฐากถวายเภสัช-พักผ่อน

อาการอาพาธของหลวงปู่จะทรงอยู่ในระดับนี้มาเป็นเวลานาน ไม่มีอาการว่าจะทรุดลงแต่อย่างไร นับ
ว่าเป็นที่น่าพอใจแก่คณะแพทย์ และแก่คณะศิษยานุศิษย์ทุกๆ คนเป็นอย่างมาก

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ อาการอาพาธของหลวงปู่เริ่มมีอาการทรุดลงเล็กน้อย แพทย์ได้ทำการล้างไตเพิ่มเป็น ๓ ครั้ง/สัปดาห์ แต่หลวงปู่ก็ยังคงเดินทางไป-กลับ จันทบุรี-กรุงเทพฯ ได้อย่างปรกติจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๗


วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หลวงปู่ได้มีฝีที่ขาหนีบข้างขวา ได้รับการผ่าตัด (โดยนายแพทย์ ณรงค์ รอดวรรณะ)

วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับการทำ (Perm Cath) แก้ไข

กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๗ หลวงปู่ต้องเข้าห้อง ไอซียู บ่อยขึ้นเนื่องจากระบบทางเดินปัสสาวะไม่ปรกติ ปัสสาวะน้อยลง และมีน้ำคั่งอยู่ในปอดเสมอ ต้องเจาะออกบ่อยขึ้น แต่หลวงปู่ยังรู้สึกตัวดี มีสติรับรู้รับทราบทุกอย่างปรกติ

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้แก้ไขการทำ Perm Cath (โดยนายแพทย์ธำรงโรจน์ เต็มอุดม) หลวงปู่มีอาการตีบตันของเส้นเลือดดำใหญ่ที่หัวใจ (Superior Vena Cava) ทั้ง ๒ ข้าง ทำให้มีน้ำคั่งในปอดเสมอ ต้องใส่ท่อระบายน้ำออก มีความดันในหลอดเลือดที่ปอดบ่อยขึ้น (Pulmonary Hypertension)

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันที่หลวงปู่ไม่สามารถเดินเวียนเทียนร่วมกับลูกศิษย์ได้อีกแล้ว จากที่ปีก่อนๆ หลวงปู่จะต้องเดินเวียนเทียนสักการะองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ารอบวิหารมาโดยตลอด นับถอยหลังไปอีกหนึ่งปีหลวงปู่ก็ยังร่วมเวียนเทียนโดยการนั่งบนรถเข็นให้ลูกศิษย์เข็นไปรอบๆ บัดนี้หลวงปู่ไม่สามารถร่วมเวียนเทียนกับลูกศิษย์ได้อีกแล้ว หลวงปู่นั่งมองลูกศิษย์ประกอบพิธีกันด้วยความปลื้มปีติอยู่บนด้านหน้ากุฏิ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• พ.ศ. ๒๕๔๗ จำพรรษาที่วัดเขาสุกิม ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้าย

วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันอธิษฐานเข้าพรรษา หลวงปู่ได้ร่วมประกอบพิธีอธิษฐานเข้าพรรษาท่ามกลางบรรดาสานุศิษย์พร้อมพรั่งด้วยบริษัททั้งสี่ประกอบด้วยพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา เหมือนดั่งทุกปีที่ผ่านมา แต่เป็นพรรษาสุดท้ายสำหรับหลวงปู่ ภายหลังจากประกอบพิธีเสร็จหลวงปู่มีอาการซึมมากขึ้น ต้องสัตตาหกรณีกิจ เดินทางกลับเข้าโรงพยาบาลวิชัยยุทธโดยทันที พร้อมด้วยพระอุปัฏฐากเพื่อติดตามเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด เดินทางถึงโรงพยาบาลแล้วคณะแพทย์ได้ทำการตรวจเช็คอาการของหลวงปู่อย่างละเอียด พบว่าหลวงปู่มีอาการตีบตันของเส้นโลหิตดำใหญ่ที่หัวใจทั้งสองข้าง ทำให้มีน้ำคั่งในปอด ต้องใส่ท่อระบายน้ำออกจากช่องเยื่อหุ้มปอด

แพทย์ได้ถวายการรักษาประคับประคองธาตุขันธ์ของหลวงปู่ ได้แค่ทรงตัวมาโดยตลอดไม่ถึงกับต่ำลงแต่ก็ไม่ดีขึ้นไปกว่านี้ ลูกศิษย์จากสถานที่ต่างๆ ก็แวะเวียนเข้าไปกราบเยี่ยมไข้หลวงปู่มิได้ขาดในแต่ละวัน หลวงปู่รับทราบทุกครั้งและทุกคน แต่ไม่สามารถพูดคุยทักทายได้ เพียงใช้สายตาอันแฝงไว้ด้วยเมตตาธรรมของหลวงปู่เท่านั้นที่มองดูลูกศิษย์เมื่อเข้าไปกราบถวายปัจจัยสี่เล็กๆ น้อยเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลหลวงปู่ เรื่องค่ารักษาพยาบาลนั้นลูกศิษย์ทุกคนต่างขอร่วมบุญแย่งกันเป็นเจ้าภาพในส่วนที่ดีที่สุด แพงที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากนัก ที่ศิษย์ทุกคนแสดงความกตัญญูกตเวทีตอบแทนที่หลวงปู่เคยให้แก่ลูกศิษย์มาโดยตลอด หวังให้หลวงปู่ได้หายจากโรคาพาธ ทุกคนกราบถวายแล้วก็รีบกราบลาไม่อยากให้เป็นภาระต่อธาตุขันธ์ของหลวงปู่ที่ต้องให้พรพวกเราทางแววตาเป็นเวลานานๆ

• ปัจฉิมโอวาท วันปวารณาออกพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่

วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันปวารณาออกพรรษา หลวงปู่ได้เดินทางกลับจากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ เพื่อมาทำพิธีปวารณาออกพรรษาที่วัดเขาสุกิม และเป็นการปวารณาออกพรรษาครั้งสุดท้ายของหลวงปู่...หลวงปู่ได้ทำเป็นตัวอย่างที่ดีงามไว้ให้ลูกศิษย์ทุกคนได้จดจำเอาไว้ว่า...หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ผู้เป็นอาจารย์ของเหล่าบรรดาสานุศิษย์องค์นี้ได้ยึดถือตามระเบียบข้อวัตรอันดีงามของพระสายป่า และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของสงฆ์ทุกข้ออย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่วันบวชจนถึงวันและวินาทีสุดท้าย...

พิธีปวารณาออกพรรษาในวันนี้ คณะสงฆ์ คณะแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา คณะศิษยานุศิษย์ฝ่ายฆราวาสญาติโยม ได้มีโอกาสถวายเครื่องสักการะแด่หลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย...วันนี้ลูกศิษย์ทั้งหมดต่างก็ได้เห็นอาการที่อ่อนลงของหลวงปู่อย่างน่าวิตก แต่ได้เห็นจิตใจอันเข้มแข็งของหลวงปู่ที่แข็งใจกล่าวคำให้โอวาทประจำปีในวันออกพรรษาที่หลวงปู่เคยปฏิบัติมาด้วยความเมตตาทุกปี พรและโอวาทที่หลวงปู่ได้เมตตาให้ เมื่อพระอุปัฏฐากปิดสายยางที่เจาะอยู่บริเวณลำคอแล้ว หลวงปู่ได้ค่อยๆ พูดออกมาอย่างช้าๆ แฝงด้วยความระทดระทวยเพราะลำบากต่อธาตุขันธ์ที่อ่อนลง จับใจความได้ว่า “ขอให้ลูกศิษย์ทุกคน รักกัน นับถือกัน สามัคคีกัน” เป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายของหลวงปู่ ได้กินลึกถึงหัวใจของลูกศิษย์ สั่นสะเทือนหัวใจของลูกศิษย์อีกครั้ง แล้วนับจากวันนั้นก็ไม่ได้ยินเสียงหลวงปู่อีกเลย...ที่จริงหลวงปู่อยากพูดมากกว่านี้แต่เป็นเพราะธาตุขันธ์ไม่อำนวยหลวงปู่พูดได้เพียงแค่นี้ก็เหนื่อย พระอุปัฏฐากจึงกราบอาราธนาหลวงปู่ขึ้นกุฏิพักผ่อน

วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หลวงปู่มีอาการซึม และไม่ค่อยมีแรง จึงต้องเดินทางไปโรงพยาบาลวิชัยยุทธอีกครั้งหนึ่ง และเป็นครั้งสุดท้ายของหลวงปู่

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นวันขึ้นปีใหม่ แพทย์ยังไม่อนุญาตให้หลวงปู่กลับวัด แต่หลวงปู่มีอาการสดชื่นขึ้นบ้างเล็กน้อย วันนี้ได้มีบรรดาศิษยานุศิษย์เดินทางไปกราบเยี่ยมเพื่อขอพรจากหลวงปู่กันมากจนล้นห้องของโรงพยาบาล ต้องหมุนเวียนเข้าออกเพื่อรับพรจากหลวงปู่ หลวงปู่ได้เมตตาอธิษฐานจิตทำน้ำพระพุทธมนต์...และได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่ศิษยานุศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย...ในส่วนของลูกศิษย์ทุกคนต่างก็ได้รวมพลังอธิษฐานจิตถวายพรแด่หลวงปู่เช่นกัน ขอให้หลวงปู่แข็งแรงหายจากโรคาพยาธิ อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ลูกศิษย์ตลอดไปชั่วกาลนาน

ภายหลังจากวันขึ้นปีใหม่แล้ว อาการของหลวงปู่มีแต่ทรงอยู่ ไม่ดีขึ้น แพทย์ต้องถวายการช่วยหายใจตลอดเวลา และต้องนิมนต์หลวงปู่เข้าห้อง ไอซียู บ่อยครั้งขึ้นอีกด้วย อาการของหลวงปู่ทรุดลงอย่างน่าวิตกอีกครั้งหนึ่ง ข่าวอาการทรุดของหลวงปู่เริ่มรู้กันในระหว่างครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือและศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิด ทุกคนทราบข่าวแล้วก็เริ่มทยอยมากราบเยี่ยม หลวงปู่มองหน้าลูกศิษย์แววตาบ่งบอกถึงการจดจำได้ทุกคน


• ทุกวินาทีดูประหนึ่งว่าโลกจะหยุดนิ่ง

วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันทำบุญแสดงมุฑิตาสักการะถวายหลวงปู่ที่วัดเขาสุกิมเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้หลวงปู่ไม่สามารถเดินทางกลับไปวัดเพื่อรับมุฑิตาสักการะจากคณะศิษยานุศิษย์ได้อีกแล้ว คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษามีความเห็นว่าไม่ควรเคลื่อนย้ายหลวงปู่ เนื่องจากอาการไตวายของหลวงปู่มีมากขึ้น ไม่ปัสสาวะ และความดันเลือดต่ำมาก จนถึงเวลานี้แพทย์ไม่สามารถที่จะทำการล้างไตได้อีกแล้ว ในช่วงนี้หลวงปู่จะนอนภาวนาทำสมาธิอยู่ตลอดเวลา แพทย์และพระอุปัฏฐากตลอดทั้งศิษยานุศิษย์ต่างทราบกันดีว่า หลวงปู่กำลังประคับประคองจิตของท่าน กำลังระงับเวทนาอันกล้าที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง พระอุปัฏฐากที่เฝ้าไข้อยู่ข้างเตียงต่างนั่งสมาธิสงบ ! นิ่งเงียบ ! ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ไม่มีใครบังอาจไปแตะต้องตัวหลวงปู่ นานๆ แพทย์ก็จะกราบดูอาการ พระอุปัฏฐากก็จะกราบเรียนขอโอกาสเบาๆ ที่ใกล้ๆ หู หลวงปู่ก็จะลืมตาสักครั้งหนึ่ง และพยักหน้ารับทราบ หรืออนุญาตให้แพทย์ปฏิบัติโดยความสบายใจของแพทย์...

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ คณะแพทย์ได้นิมนต์หลวงปู่เข้าห้อง ไอซียู อีกครั้งเพราะความดันต่ำมากอย่างน่าวิตก แพทย์ประกาศขอร้องลูกศิษย์งดเยี่ยมอย่างเด็ดขาด อนุโลมให้เยี่ยมนอกห้องลูกศิษย์ทุกคนมองผ่านกระจกเห็นหลวงปู่นอนทอดร่างอันไม่จีรังด้วยความระทดระทวยต่อธาตุขันธ์มาก นานๆ หลวงปู่ก็ลืมตามองมาทางลูกศิษย์ที่อยู่นอกห้องกระจกสักครั้งหนึ่งด้วยสายตาที่บอกว่านี่แหละสังขารซึ่งเป็นตัวก่อทุกข์ เป็นเรือนรังของโรคนานาชนิด หลวงปู่มองมาทางพวกเราแต่ละครั้งทำเอาพวกเราสั่นเทาไปทั้งตัว กระปลกกระเปลี้ยอย่างบอกไม่ถูก หลวงปู่มองดูลูกศิษย์อย่างเต็มตาอีกครั้งก่อนที่จะค่อยๆ หลับตาเข้าสมาธิภาวนา เสร็จแล้วพระอุปัฏฐากก็เดินออกมาปิดผ้าม่านเพื่อให้หลวงปู่ได้พักได้ประคองจิตของหลวงปู่ตามลำพังต่อไป ระหว่างนี้ธาตุขันธ์ของหลวงปู่เปรียบดังตะเกียงที่อ่อนแสง น้ำมันใกล้จะหมดลงเต็มทีแล้ว

แต่บรรดาลูกศิษย์ก็ไม่มีใครขยับเขยื้อนไปไหน เดินเข้าเดินออกอยู่บริเวณนั้น ทุกคนอยากอยู่เป็นเพื่อนให้หลวงปู่อบอุ่นว่าพวกลูกศิษย์รักเคารพหลวงปู่ด้วยหัวใจกันทุกคน นานๆ ที แพทย์ก็จะมาดูอาการหลวงปู่ พวกลูกศิษย์ก็อาศัยมองผ่านบานประตูที่แพทย์เปิดเดินเข้านั้นเพื่อมองดูหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย กาลเวลาค่อยๆ ผ่านไป ทุกวินาทีดูประหนึ่งว่าโลกจะหยุดนิ่ง ทุกคนกระสับกระส่ายแต่เงียบกริบ มือไม้สั่นเทากระปลกกระเปลี้ยไปตามๆ กัน

วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ อาการของโรคต่างๆ มากขึ้น ไตวายมากขึ้น หัวใจวายตลอด ความดันเลือดต่ำจนล้างไตไม่ได้ และเกิดมีก้อนเลือดในช่องหัวใจด้านขวา แพทย์ไม่มีทางแก้ไขอย่างใดนอกจากรักษาประคับประคองตามอาการ หลวงปู่ช็อกและหัวใจหยุดหลายครั้ง ต้องปั๊มหัวใจถึง ๒ ครั้ง จนในที่สุดถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ คณะแพทย์ที่คัดเลือกแล้วว่าเก่งที่สุดของประเทศก็ไม่สามารถหน่วงเหนี่ยวธาตุขันธ์ของหลวงปู่ไว้ได้ ทุกคนต่างทราบกันดีว่าหลวงปู่จะต้องละจากธาตุขันธ์ในอีกไม่ช้านี้ ตลอดทั้งคืนหลวงปู่หลับตาภาวนาด้วยอาการสงบ สังเกตจากริมฝีปากของหลวงปู่เปิด-ปิดนั้นจะบริกรรมว่า พุท-โธๆ ๆ ๆ พร้อมกับลมหายใจที่ค่อยๆ แผ่วลงเรื่อยๆ บางครั้งสังเกตเห็นว่าหลวงปู่พยายามจะตะแคงขวาให้อยู่ในท่าสีหไสยาสน์ แต่ทว่าธาตุขันธ์ของหลวงปู่หมดเรี่ยวแรงเสียแล้ว พระอุปัฏฐากก็ไม่มีรูปใดล่วงเกินแตะต้องตัวหลวงปู่เกรงว่าจะทำให้เสียสมาธิของหลวงปู่ นานๆ หลวงปู่ก็จะลืมตามองดูหน้าพระอุปัฏฐากสักครั้งเหมือนจะสงสารพวกเรา หรือคงอยากเอ่ยวาจาขอบใจที่พระทุกรูปได้ถวายการปรนนิบัติวัตรฐากนับตั้งแต่หลวงปู่เริ่มอาพาธในวันแรก จนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิตของหลวงปู่ นับเป็นเวลายาวถึง ๕ ปีเศษ แต่พระอุปัฏฐากทุกรูปไม่มีใครคิดที่จะขอรับสิ่งเหล่านั้นจากครูบาอาจารย์ทั้งสิ้น หวังเพียงได้ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่ผู้เป็นครูบาอาจารย์เพื่อเป็นบุญบารมีของเหล่าศิษย์เท่านั้นก็นับว่าเป็นบุญกุศลอย่างสูงสุดแล้วในชาตินี้ โดยเฉพาะในยามที่หลวงปู่อาพาธอยากตอบแทนพระคุณอันหาประมาณมิได้ที่หลวงปู่ได้มอบให้แก่เหล่าศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่าโดยไม่เลือกชนชั้นตั้งแต่เบื้องต้นจนชีวิตใกล้อวสานในอีกไม่ช้านี้ คณะศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์นั้นเล่าก็ได้เฝ้ารับใช้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้แย่งกันถวายค่ารักษาพยาบาลแย่งกันปวารณา ในส่วนที่ดีที่สุด แพงที่สุดคนนี้จองอย่างหนึ่ง คนโน้นจองอย่างหนึ่งตั้งแต่ต้นจนอวสานกาลของหลวงปู่


พวกเราเสียอีกที่เกรงว่าการถวายปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์จะขาดตกบกพร่องจะเป็นเวรเป็นกรรมเอาเสียด้วยซ้ำไป พระอุปัฏฐากทุกรูปเห็นว่าเวลาที่เหลืออีกไม่มากนี้หลวงปู่คงละขันธ์เป็นแน่แท้ “จึงได้ตั้งจิตกราบลงบนอกตรงหัวใจของหลวงปู่...” กราบขอขมาลาโทษก่อนที่ดวงประทีปแก้วจะลาลับ...ขอให้หลวงปู่อโหสิกรรมให้ด้วยถ้าหากว่าพระอุปัฏฐากทุกรูป ผู้ทำหน้าที่แทนคณะศิษย์ทั้งปวงได้ปฏิบัติวัตรฐากต่อหลวงปู่ขาดตกบกพร่อง หรือบางสิ่งบางประการอาจเป็นการล่วงเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์แม้เพียงเท่าเศษธุลี ทำให้ครูบาอาจารย์ระคายเคืองอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ที่ระลึกได้ก็ดี ที่ระลึกไม่ได้ก็ดี กราบขอให้หลวงปู่อดโทษอโหสิกรรมให้ด้วย...แล้วหลังจากนั้นต่างองค์ต่างก็ปล่อยให้ความเงียบเข้าปกคลุม ทุกรูปนั่งภาวนาข้างเตียงหลวงปู่ต่อไปจนถึงรุ่งอรุณเช้าของวันใหม่...

• ประทีปธรรมแห่งภาคตะวันออกดับแล้ว

วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๐.๔๖ น. พระอุปัฏฐากได้ออกมาแจ้งให้พวกลูกศิษย์ที่เฝ้าอยู่หน้าห้องไอซียู ทราบว่า “หลวงปู่ได้ละขันธ์แล้ว” เหล่าบรรดาลูกศิษย์ทุกคนเหมือนถูกสะกด ตัวเย็นชาไปตามๆ กัน เสียงสะอึกสะอื้นแผ่วๆ จากลูกศิษย์บางคนที่ยังปลงธรรมสังเวชไม่ได้ร้องไห้เบาๆ อยู่ในลำคอ ช่างเป็นวินาทีที่วิกฤติเสียยิ่ง ดูเหมือนว่า...โลกนี้ได้หยุดแน่นิ่งลง ทุกคนเงียบกริบ เหมือนประสาทหูดับไปชั่วขณะที่ได้ยินพระอุปัฏฐากบอกว่า “ดวงประทีปดับแล้ว” พอตั้งสติได้ก็มีเสียงเบาๆ จากคนด้านหลังเอ่ยขึ้นว่า “นั่งลงกราบนมัสการส่งหลวงปู่กันเถิด” เมื่อสิ้นเสียง “บรรดาลูกศิษย์ทุกคนที่นั่งอยู่หน้าห้องไอซียู ก็พร้อมกันก้มกราบลงด้วยความนอบน้อมส่งหลวงปู่สู่โลกุตตรภูมิ ด้วยสิบนิ้วและอีกหนึ่งหัวใจพร้อมด้วยหยดน้ำตาใสๆ ที่หลั่งไหลออกมาด้วยความตื้นตัน”

หลวงปู่ได้ทนทุกข์แบกหามก้อนธาตุก้อนขันธ์อันหนักมานานถึง ๘๐ ปี บัดนี้หลวงปู่ได้วางก้อนธาตุก้อนขันธ์ไว้บนโลกโดยไม่มีเยื่อใย...ปล่อยวางภาระพระศาสนาที่หลวงปู่ได้ทำหน้าที่ศาสนทายาทประกาศสัจธรรมมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๖๐ พรรษา สร้างมรดกทางวัตถุธรรมอย่างมากมายไว้ ณ แทบชายฝั่งทะเลตะวันออกดินแดนแห่งอัญมณีทับทิมสยาม อันมีมงคลนามว่า “วัดเขาสุกิม” หลวงปู่จากไปแต่ดวงจิตอันบริสุทธิ์หมดจด ดวงจิตอันสดใสถึงซึ่งวิมุตติ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งห้าอันมี...ตทังควิมุตติเป็นเบื้องต้น โลกุตตรวิมุตติเป็นที่สุด...เหลือแต่คุณงามความดีให้โลกได้จารึกไว้อย่างมากมายล้นเหลือสุดที่จะพรรณนา...

หลวงปู่ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ เมื่อเวลา ๑๐.๔๖ น. ของวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว ศิษยานุศิษย์จากสารทิศต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างทยอยเดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่กันตลอดเวลา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ภาคผนวก

• ปฏิปทาของหลวงปู่

ปฏิปทาของหลวงปู่นั้นไม่มีสะสม ชาวบ้านทำบุญมาเท่าไรไม่เก็บไว้เป็นส่วนตัวแม้แต่น้อยเดียว สร้างถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนาทั้งหมด เมื่อถึงคราวบ้านเมืองมีภัยก็หยุดทางด้านศาสนาหันไปช่วยบ้านเมืองให้รอดก่อน หลวงปู่เคยปรารภว่า “ถ้าชาติอยู่ไม่ได้แล้วพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ได้ คอมมิวนิสต์เข้าประเทศไหนประเทศนั้นจะไร้พุทธศาสนาทันที ให้ดูเพื่อนบ้านเป็นตัวอย่าง” ในเมื่อบ้านเมืองปรกติสุขดีแล้วก็หันกับมาสร้างสรรค์จรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไป หลวงปู่จะไม่รับลาภ ยศ สรรเสริญใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ตำแหน่งเจ้าอาวาส นับตั้งแต่หลวงปู่หยุดเดินธุดงค์แล้ว ปักหลักประกาศศาสนาอยู่กับที่สร้างวัดวาอารามวัดแรก คือ วัดเนินดินแดง ต่อมาคือวัดเขาสุกิม “หลวงปู่ไม่เคยเป็นเจ้าอาวาส ได้ให้ลูกศิษย์เป็นเจ้าอาวาสมาโดยตลอด” “หลวงปู่ไม่เคยรับกฐินตลอดอายุขัยของหลวงปู่...” องค์รับกฐินทุกปีหลวงปู่ได้มอบให้ลูกศิษย์องค์ที่เป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้รับเป็นผู้ครองกฐิน จตุปัจจัยที่ศิษยานุศิษย์น้อมถวายท่านทุกบาททุกสตางค์เข้ากองกลางหมด ไม่เคยมีปัจจัยส่วนตัวแม้แต่บาทเดียว นี่คือปฏิปทาของหลวงปู่

หลวงปู่จะถือธุดงควัตรมาโดยตลอด เช่น ฉันในบาตรเป็นวัตร ฉันหนเดียวเป็นวัตร (ไม่มีแม้แต่นม โอวัลติน รองท้องใดๆ ทั้งสิ้น) งดเว้นสิ่งเสพติด เช่น หมาก บุหรี่ ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร สมัยต้นๆ ที่มาอยู่วัดเขาสุกิมใหม่ๆ หลวงปู่ก็ยังได้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ต่อมาจึงได้อนุโลมรับกิจนิมนต์ไปฉันตามบ้านลูกศิษย์ จนอายุมากขึ้นช่วงบั้นปลายอายุ หลวงปู่อาพาธแล้วจึงงดรับ หลวงปู่จะลงทำวัตรสวดมนต์เย็นทุกวันส่วนมากจะลงมานั่งสมาธิก่อนพระเณรรูปอื่นเสมอ เรื่องการลงอุโบสถอีกเรื่องหนึ่งที่หลวงปู่จะไม่เคยขาดเลยเว้นแต่อาพาธมากจริงๆ ถ้าอาพาธขนาดพอมาได้แล้วหลวงปู่จะลงทุกปักข์ และส่วนใหญ่ก็จะลงมานั่งคอยพระเณรอีกเช่นกันเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ เรื่องอาบัติแม้เล็กน้อยหลวงปู่ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก หลวงปู่จะสอนพระเณรอยู่เสมอๆ ว่า “อาบัติเล็กน้อยเปรียบเหมือนเมล็ดงาเม็ดเล็กๆ อย่าเห็นว่าไม่สำคัญ เม็ดเล็กๆ นั้นถ้าจำนวนมากเป็นกระสอบแล้วก็สามารถทับคนตายได้เหมือนกัน ขอนไม้ยางท่อนโตๆ เข้าตาคนยาก แต่ขี้ฝุ่นขี้ผงเล็กๆ เข้าตาคนได้ง่าย ถ้าบ่อยๆ เข้าก็ทำให้ตาคนเสียได้...” หลวงปู่จึงสอนให้พระเณรเห็นความสำคัญของการชำระศีลให้บริสุทธิ์ หากศีลไม่บริสุทธิ์แล้วการทำสมาธิก็ไม่เจริญงอกงาม เศร้าหมองไม่ผ่องใส ศีลเหมือนผืนนา สมาธิเหมือนต้นกล้า หากผืนนาไม่ดี ข้าวกล้าก็ปลูกไม่ขึ้น “หลวงปู่ไม่ยอมประพฤติล่วงพระบัญญัติใดๆ ที่แม้ในสิ่งที่ผู้อื่นมองเห็นว่าเล็กน้อย...”


ปฏิปทาการปฏิบัตินั้น หลวงปู่ได้นำปฏิปทาของหลวงปู่มั่นและของครูบาอาจารย์สายป่ามาปฏิบัติ และอบรมสั่งสอนศิษย์ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ตั้งแต่ยังเดินธุดงค์ จนกระทั่งหยุดปักหลักภาวนาประกาศพระพุทธศาสนาอยู่บนเขาสุกิมนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จนถึงกาลอวสานแห่งสังขารของหลวงปู่ ซึ่งหลวงปู่ได้วางรากฐานการประพฤติปฏิบัติไว้อย่างดีงาม ดังเช่นที่ลูกศิษย์ทุกท่านได้เคยพบเห็นมานั่นเอง ในโอกาสนี้ขอทบทวนความทรงจำให้ทุกท่านได้เกิดศรัทธาเกิดความภาคภูมิใจว่า ที่ครูบาอาจารย์ได้นำพาประพฤติปฏิบัติมานั้นถูกต้อง ดีงาม หรือสมกับคำที่หลวงปู่เคยย้ำกับลูกศิษย์อยู่เสมอๆ หรือไม่ ? ว่า “ถ้าการอบรมสั่งสอนของผมไม่ถูกทาง หรือออกนอกลู่นอกทางไปจากครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หรือผิดเพี้ยนนอกศาสนธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว วันข้างหน้าพวกเราที่เป็นศิษย์ของผมคนใดก็แล้วแต่ หากพิสูจน์แล้วไม่ตรงตามสายทางของพระอริยเจ้าแล้ว ให้เผาตำราของผมทิ้งลบชื่อผมออกจากครูบาอาจารย์ได้เลย” เป็นคำพูดที่จริงจัง จริงใจของหลวงปู่ เมื่อทราบว่าลูกศิษย์ฮือฮาไปตามกระแสกับพระที่โด่งดังแบบติดปีกมาแล้วก็ติดปีกดับ คือดังเร็วดับเร็วนั่นเอง หลวงปู่มักเตือนสติไม่ให้หลงงมงายทั้งลูกศิษย์โยมและลูกศิษย์พระแบบง่ายๆ แต่กินลึกถึงหัวใจดังกล่าวแล้วนั้น

ในส่วนกิจวัตรประจำวันเท่าที่ได้สัมผัสมาเป็นระยะเวลาไม่มากนัก และได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากอดีตพระอุปัฏฐาก ๖ รูป/คน คือ

๑. คุณประไพ รูปเหลี่ยม อุปัฏฐากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๕๐๕ รวม ๙ ปี
๒. คุณคำปุ่น กุดกุง อุปัฏฐากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๑๐ รวม ๕ ปี
๓. คุณบุญเตือน อุปัฏฐากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๙ รวม ๙ ปี
๔. พระครูวิริยธรรมคุณ (พระอาจารย์บุญโฮม ธมฺมจนฺโท)
อุปัฏฐากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๓๐ รวม ๑๑ ปี
๕. พระอาจารย์สุจิตต์ ถิรจิตฺโต และพระอาจารย์ไพศาล อภิวิสาโล
อุปัฏฐากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จนถึงวันมรณภาพ รวม ๒๓ ปี

หลวงปู่เป็นครูบาอาจารย์ที่เสียสละเพื่อลูกศิษย์ก่อนตัวท่านเอง หลวงปู่ไม่นิยมสะสมลาภสักการะไม่ว่าใครจะนำสิ่งใดมาถวายหลวงปู่จะรับประเคนฉลองศรัทธา เสร็จแล้วก็มอบให้พระเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลคลังสงฆ์นำไปเก็บไว้เป็นส่วนกลางให้เจ้าหน้าที่พิจารณาแจกแบ่งพระภิกษุสามเณร แม่ขาวแม่ชี หมดทั้งวัดให้เบิกใช้ได้ตามความเหมาะสมเท่าที่จำเป็น หลวงปู่เคยบอกว่า ถ้าใครอยากถวายแต่ครูบาอาจารย์กันหมดแล้วพระเล็กเณรน้อยจะเอาอะไรใช้ อาหารก็เช่นกันถ้าถวายแต่ครูบาอาจารย์แล้วพระเล็กเณรน้อยจะฉันอะไร ? ที่กุฏิหลวงปู่จะไม่มีเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของมีค่าใดๆ นอกจาก ห่อผ้าครอง บาตร กาน้ำ กระโถน ไม้เท้า ไม้กวาด และสิ่งของวัตถุมงคลที่ลูกศิษย์นำมาฝากให้หลวงปู่แผ่เมตตาเมื่อหลวงปู่นั่งภาวนาในกุฏิ บางครั้งเมื่อลูกศิษย์นำกลับไปหมด ภายในกุฏิก็จะโล่งว่างเปล่า

กุฏิถาวรหลังแรกของหลวงปู่อยู่บนภูเขาสูงมาก ชื่อ “กุฏิสว่างเนตร” ซึ่งหลวงปู่ใช้พักภาวนาเมื่อยังหนุ่มแน่นแข็งแรง หลวงปู่จะเดินขึ้นเดินลงเป็นประจำทุกวัน หลวงปู่ชอบกุฏินี้มากเพราะว่าอากาศถ่ายเทดีไม่ชื้นมาก โปร่งโล่ง สบาย มองเห็นภูมิประเทศได้ไกลสุดลูกหูลูกตา ภาวนาดี หลวงปู่อยู่กุฏินี้เป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี เมื่อหลวงปู่อายุเข้า ๕๐ ปี การเดินขึ้นภูเขาสูงๆ ก็ทำให้หลวงปู่เหนื่อย ลูกศิษย์จึงนิมนต์หลวงปู่ลงมาอยู่กุฏิหลังต่ำลงมาเพื่อจะไม่ต้องฝืนธาตุขันธ์หลวงปู่มากเกินไป คือที่ “กุฏิศรีจรรยาพานิช” ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางวงล้อมของหมู่กุฏิพระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นกุฏิที่เรียบง่ายดังที่ทราบกันเป็นอย่างดีนั่นเอง กาลเวลาผ่านไปหลวงปู่ก็อายุมากเพิ่มขึ้นเข้าสู่วัยชรา คณะศิษย์เห็นว่าหลวงปู่ไม่สะดวกต่อการที่เดินขึ้นภูเขาสูงๆ จึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า พวกลูกศิษย์ต้องการสร้างกุฏิหลังใหม่ที่ไม่ต้องลำบากธาตุขันธ์ในการเดินขึ้นเดินลง หลวงปู่ตอบแบ่งรับแบ่งสู้เพราะไม่ต้องการให้ลูกศิษย์สิ้นเปลืองทุนทรัพย์ แต่ก็ไม่ต้องการให้เสียศรัทธาของลูกศิษย์ด้วย หลวงปู่จึงตอบลูกศิษย์ว่า “ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก ถ้าจะทำจริงๆ ด้านปลีกระเบียงตึก ๖๐ ปี ซึ่งมีเนื้อที่ว่างพอที่ต่อเติมเป็นกุฏิได้สักหลังหนึ่ง” เมื่อได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่แล้วจึงได้ร่วมกันจัดสร้างกุฏิหลังเล็กๆ ซึ่งต่อเติมจากส่วนปลีกของตึก ๖๐ ปี เฉลิมพระเกียรติตามความประสงค์ของหลวงปู่ เสร็จแล้วได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ลงมาพักภาวนา ณ กุฏิหลังนี้ และเป็นกุฏิหลังสุดท้ายของหลวงปู่


ไม่ว่าหลวงปู่จะอยู่กุฏิหลังไหนภายในกุฏิก็จะเต็มไปด้วยวัตถุมงคลต่างๆ ที่ลูกศิษย์นำมาฝากแผ่เมตตาอีกเหมือนเดิม เช่น พระบูชา พระเครื่อง ธูปหอม และอื่นๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อนำมาไว้ในห้องหลวงปู่แล้วนำกับไปบูชาที่บ้านจะเป็นสิริมงคล จึงมักนิยมนำมาขอบารมีหลวงปู่กันตลอด บางครั้งจะเห็นได้ว่ามากจนล้นแทบจะไม่มีที่ให้พระอุปัฏฐากนั่งปฏิบัติหน้าที่ แต่บางวันก็โล่งเมื่อเจ้าของมาขอนำกลับ หลวงปู่ก็ไม่ว่าอะไรใครจะเอามาก็เอามา ใครจะเอากลับก็เอากลับ หมุนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งปี นี่คือในส่วนกุฏิที่พักของหลวงปู่

• กิจส่วนตัวของหลวงปู่

หลวงปู่ตื่นเช้ามาก แล้วสวดมนต์นั่งสมาธิ อยู่ภายในกุฏิเป็นการส่วนตัว แล้วจึงออกมาเดินจงกรมที่ระเบียงกุฏิ หลวงปู่จะเดินจงกรมนานมากอย่างน้อย ๓-๕ ชั่วโมงจึงเปลี่ยนอิริยาบถครั้งหนึ่ง แม้แต่กลับมาจากภารกิจนอกวัดจะดึกดื่นเที่ยงคืนอย่างไรหลวงปู่จะต้องเดินจงกรมก่อนพักผ่อนเป็นกิจประจำอย่างน้อย ๑-๒ ชั่วโมงจึงเข้ากุฏิพักผ่อน

ภาคเช้าเมื่อหลวงปู่เสร็จจากการภาวนาแล้วก็จะกระแอม บรรดาพระเณรที่รออยู่ใต้กุฏิก็จะขึ้นไปปฏิบัติอาจริยวัตรประจำวันถวายน้ำล้างหน้า ยาสีฟัน เป็นต้น สมัยนั้นการรอคอยครูบาอาจารย์ของพระเณรก็ใช่ว่าจะนั่งรอเปล่าๆ แต่เป็นการภาวนารอ เดินจงกรมบ้างนั่งสมาธิบ้าง อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นนั่นเอง เมื่อได้ยินเสียงหลวงปู่กระแอม ก็พากันยกน้ำร้อนขึ้นไปผสมให้อุ่นพอดีๆ พระเณรก็จะช่วยกันถวายแปรงสีฟันก่อนอย่างอื่น หลวงปู่จะแปรงฟันสลับมือซ้ายทีมือขวาทีสลับไปสลับมา ไม่แปรงอย่างคนทั่วไปที่จับแปรงมือไหนก็มือนั้น เสร็จแล้วพระเณรก็ ช่วยกันตักน้ำสรงหลวงปู่ ๑ ขัน สรงถวายท่านตั้งแต่ต้นคอและด้านหลัง ส่วนบนศีรษะ หลวงปู่จะตักสรงเอง พระผู้น้อยรวมทั้งสามเณรก็จะช่วยกันถูเนื้อตัวด้วยฟองน้ำที่ใส่สบู่ไว้แล้ว สามเณรตัวน้อยๆ ก็ช่วยถูตามฝ่าเท้า หลังเท้า พระก็ถูตามตัว แขน และด้านหลังหลวงปู่ด้วยความเคารพ เสร็จเรียบร้อยพระผู้ใหญ่ก็จะนำผ้าเช็ดตัวเข้ามาเช็ดตัวส่วนต้นคอและด้านหลัง ด้านหน้าและบนศีรษะหลวงปู่จะเช็ดเอง เสร็จแล้วพระผู้น้อยก็จะถวายผ้าสำหรับผัดสบงตัวเปียกออกก่อน เมื่อหลวงปู่นุ่งผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนเสร็จพระก็จะต้องดึงสบงออกจากด้านล่างแล้วนำไปใส่ถังไว้ซัก ต่อจากนั้นก็นำผ้าสบงผืนใหม่เข้าไปถวาย ตามด้วยสายรัดประคด และผ้าอังสะ พระเณรก็จะร่วมมือกันแบ่งบุญจากหลวงปู่กันคนละอย่าง บางครั้งเคยมีพระส่งผ้าสบง หรือผ้าอังสะ เก้อๆ เงอะงะ ทำให้ท่านจับไม่สะดวก หลวงปู่ก็จะบอกว่าสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่นทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องไปฝึกเสียก่อน จึงค่อยมาปฏิบัติใหม่ บางองค์ต้องดูเพื่อนเป็นปีๆ จึงจะเข้ามาปฏิบัติได้ เสร็จเรียบร้อยแล้วหลวงปู่ก็จะนั่งพักผ่อน พระอุปัฏฐากถวายเภสัชและน้ำปานะแล้ว หลวงปู่ก็จะครองจีวรเพื่อเตรียมลงศาลาหรือไปกิจนิมนต์ต่อไป

การสรงน้ำถ้าเป็นวันโกน คือวันขึ้น ๑๔ ค่ำ พระเณรก็จะคอยรอเก็บเกศาหลวงปู่ที่ปลงออกนั้นนำไปบูชา ผู้ที่ทำหน้าที่ปลงผมหรือเกศาถวายหลวงปู่ส่วนมากก็จะเป็นพระอุปัฏฐากใกล้ชิด รูปอื่นๆ ก็จะนั่งรอเกศาที่หล่นหรือเล็ดรอดลงมาก็จะเก็บไปไว้บูชา ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยหล่น เพราะพระอุปัฏฐากต้องการเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ไว้ให้ลูกศิษย์ได้กราบไหว้บูชา เกศาของหลวงปู่นั้นก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งที่เหลือเชื่อ จากเกศาหรือเส้นผมที่เป็นเส้นๆ โกนออกมาจากศีรษะแล้วมีความต่างไปจากผมคนธรรมดาทั่วไป คือ เมื่อเก็บใส่ผอบ (พะอบ) หรือตลับไว้นานๆ แล้วนำมาเปิดดูก็จะกลายเป็นสองลักษณะด้วยกันคือลักษณะแรกจะรวมกันเป็นก้อนกลมๆ ลักษณะที่สองจะยาวคล้ายเส้นผมสตรี จึงนับว่าเป็นเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่ง...

การสรงน้ำถวายหลวงปู่ในภาคบ่ายของวันธรรมดานั้น เวลาก็ขึ้นอยู่ที่ภารกิจของหลวงปู่ว่าท่านจะเดินทางกลับมาถึงวัดช้าหรือเร็ว พระภิกษุสามเณรก็รอ บางวันรอถึงสองยาม บางวันค่อนรุ่งของวันใหม่ อย่างนี้เป็นต้น ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะกลับมาดึกดื่นแค่ไหนหลวงปู่ไม่เคยบ่นว่า “เหนื่อยหรือง่วง” ให้พระเณรลูกศิษย์ได้ยินเลย ไม่ว่าจะดึกขนาดไหนเมื่อสรงน้ำเสร็จพระเณรลงจากกุฏิหมด หลวงปู่ก็จะออกมาเดินจงกรมภาวนาอย่างน้อย ๑-๒ ชั่วโมงจึงเข้าพักผ่อน เป็นอยู่อย่างนี้ประจำทุกครั้ง สำหรับวันที่หลวงปู่ไม่มีกิจนอกวัด เวลาสรงน้ำถวายหลวงปู่ก็จะเป็นเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา บ่ายห้าโมงเย็นเป็นหลัก ถ้าเป็นช่วงบ่ายหลวงปู่ก็จะมีเวลาเทศนาอบรมพระเณรภายหลังจากสรงน้ำเสร็จแล้ว ซึ่งช่วงนี้หลวงปู่จะให้ความเป็นกันเองกับพระเณรมากที่สุด จะเป็นเวลาของพระเณรจริงๆ ใครมีธุระอะไรก็กราบเรียนถามได้ในตอนนี้ ถ้าไม่มีปัญหาก็จะได้ฟังเทศน์แบบถึงพริกถึงขิงแบบพ่อสอนลูก หรือพ่อตีลูก ลงโทษลูกก็ตอนนี้อีกเหมือนกัน แต่การตีหรือลงโทษนั้น ตีด้วยคำเทศน์คำสอนที่รุนแรง และหนักหน่วง หมายถึงพระรูปที่ดื้อมากๆ เท่านั้น หลวงปู่ก็จะเทศน์แบบไม่เลี้ยงอยากดีก็อยู่ต่อ ไม่อยากดีก็สึกให้พ้นไปจากพระศาสนา หลวงปู่บอกว่าไม่เสียดายบุคคล เสียดายพระศาสนามากกว่า สมัยนั้นหลวงปู่ฝึกลูกศิษย์แบบเข้มข้นจริงๆ แต่ถึงคราวเมตตาแล้วหลวงปู่จะเมตตามากจะอบรมบ่มสอนอย่างพ่ออย่างลูก และอย่างศิษย์อย่างอาจารย์ไปพร้อมๆ กันเพราะอยากให้ลูกศิษย์ได้ดี บางครั้งหลวงปู่ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดขับไล่ออกไปให้พ้นจากสำนักก็มี บางรูปต้องนำดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาเพราะสำนึกได้ถึงกับน้ำตาล่วงกันเป็นประจำเพราะคำสอนที่กินใจลึกซึ้ง

บางโอกาสหลวงปู่ก็นำนิทานสนุกๆ มาเล่าเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดให้พระเณรได้หัวเราะได้ฮากันก็มี เช่น

• หลวงปู่เล่านิทาน

เรื่องอาแป๊ะบวชลูกชาย...หลวงปู่ยกแก้วน้ำปานะขึ้นฉัน แล้วเล่าต่อว่า

มีอาแป๊ะคนหนึ่งแกพาลูกชายไปบวช ขณะที่พระอุปัชฌาย์ให้กล่าวคำขออุปสมบท บทว่า “อุลลุมปะตุโน ภันเต” ลูกชายอาแป๊ะซึ่งพูดไทยไม่ค่อยชัดอยู่แล้วจึงว่าเป็น “อุงลุง ปะตุโน ภันเต” กี่ครั้งๆ ก็ยังว่า “อุงลุง ปะตุโน ภันเต” อยู่เหมือนเดิม อุปัชฌาย์ก็ให้ว่าซ้ำใหม่ ๒ รอบ ๓ รอบ ลูกชายอาแป๊ะก็ยังว่าไม่ได้ อาแป๊ะถึงกับเหงื่อตกเพราะอายแขกที่มาร่วมงานบวชลูกชาย อาแป๊ะยกมือขึ้นปาดเหงื่อที่ไหลออกมาเต็มหน้า เสร็จแล้วอาแป๊ะแกก็ตะโกนออกไปในโบสถ์ด้วยเสียงอันดังเพราะความโมโหลูกชายที่สวดมนต์ไม่ได้ ว่า “อาตี๋อ้า ลื้อนี่มัน ช้ายม่ายล่าย...แค่ของง่ายๆ อองลองๆ แค่นี้ทำไมลื้อจึงว่าม่ายล่าย” อั๊วยังว่าล่ายเลย !...พระเณรก็หัวเราะ ฮา !...สรุปแล้ว อาแป๊ะยิ่งพูดไม่ชัดหนักกว่าลูกชายหลายเท่านั่นเอง

นิทานที่หลวงปู่นำมาเล่าผ่อนคลายสมองพระเณรอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องตายายยากจนสองคู่อยู่ในกลางดง เรื่องมีอยู่ว่า

ตายาย คู่หนึ่งชื่อตาสี อีกคู่หนึ่งชื่อตาสา คู่ตาสีนั้นทั้งสองว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน ส่วนคู่ของตาสาจะขัดแย้งมีปากมีเสียงกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งสองคู่ยากจน ทำมาหากินด้วยการจับปลาไปวันหนึ่งๆ วันหนึ่งตาสีสองคนตายายออกหาจับปลาในลำคลอง สุ่มไปได้ปลาช่อน เมียบอกว่าอย่าเพิ่งเอาตาสีก็เชื่อ สุ่มไปอีกได้ปลาหมอ เมียก็บอกว่าอย่าเพิ่งเอา ตาสีก็เชื่อ จนกระทั่งเย็นไม่ได้อะไรเลย ทั้งสองก็ไปนั่งปรับทุกข์กันที่ข้างจอมปลวกว่า ทำไมเราจึงเกิดมาทุกข์ยากแท้ พอดีเทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่จอมปลวกได้ยินก็สงสาร จึงจำแลงกายออกมา มอบแก้วสารพัดนึกให้ตาและยาย บอกว่ากลับไปถึงบ้านให้นึกในสิ่งที่ต้องการได้สามอย่าง เมื่อถึงบ้านสองคนตายายก็มาปรึกษากันว่าจะนึกเอาอะไรดี ทั้งสองเมื่อตกลงกันแล้วจึงนึกเอาบ้านหลังสวยๆ ใหญ่ๆ...บ้านหลังงามก็ปรากฏขึ้นทันที ข้อที่สองนึกขอให้มีเครื่องอยู่ของกินอย่างอุดมสมบูรณ์ในบ้าน ข้อที่สามขอให้มีเงินมีทองเต็มบ้าน ทำบุญให้ทานไม่มีหมด และก็สมปรารถนาของสองคนตายาย ทำบุญแจกทานทุกวันก็ไม่มีหมด ตาสาจึงมาถามเพื่อนว่าทำอย่างไรจึงจะได้แก้วสารพัดนึกอย่างเพื่อนบ้าง ตาสีก็บอกให้ไปทำอย่างที่ตนทำมาแล้ว วันต่อมาตาสาสองคนตายายก็พากันไปสุ่มปลาที่ลำคลอง สุ่มแรกก็ได้ปลาช่อนตัวโต เมียก็บอกว่าเอาไว้ก่อนๆ ตาสาก็บอกว่า “ไม่ได้ เดี๋ยวผิดธรรมเนียมต้องปล่อยไปก่อน...” ฝ่ายเมียก็ด่าว่าบ่นตาสาเรื่อยไปๆ สุ่มลงไปอีกทีนี้ได้ปลาหมอ ตาสาก็ไม่เอาอีก เมียก็บ่นต่อไปอีกจนเหนื่อย จึงมานั่งพักที่จอมปลวกแล้วก็อธิษฐานขอแก้วสารพัดนึกจากเทวดาจอมปลวก เทวดาจอมปลวกก็นำแก้ววิเศษมาให้ แล้วบอกว่าให้กลับไปถึงบ้านแล้วนึกเอาอะไรก็ได้สามอย่าง ฝ่ายเมียก็บอกว่าไม่ต้องไปถึงบ้าน “นึกเอาที่นี่แหละ...” ตาสาก็ไม่ยอม เถียงกันไปเถียงกันมา ฝ่ายเมียก็นึกเอาว่า...“ข้านี่เกลียดแกเหลือเกินตาสาเอ๊ย...ข้าอยากนึกให้ตัวแกสูงถึงท้องฟ้า...” นึกเสร็จตัวตาสาก็สูงขึ้นๆ จนหัวชนท้องฟ้า...“ตาสาจึงร้องบอกเมียว่าเอาข้าลงๆ...” เมียจึงนึกใหม่ว่า “ขอให้ตาสาต่ำลงมาจนติดดิน...” เท่านั้นเองตาสาก็หดลงต่ำลงๆ จนติดดิน ตาสาก็ร้องบอกเมียอีกว่าเอาข้าเท่าเก่าเหมือนเดิม “เมียก็นึกให้ตาสาตัวเท่าเก่าอย่างเดิม...” เป็นอันว่าครบสามอย่างที่เทวดาให้ สรุปแล้วตาสาและภรรยาไม่ได้อะไรเลยเพราะความขัดแย้งไม่ลงรอยกันนั่นเอง...นี่คือนิทานอีกเรื่องของหลวงปู่ที่นำมาเล่าเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ เพื่อเป็นคติสอนใจถึง “การอยู่ร่วมกันระหว่างครอบครัวที่ขัดแย้งกัน...” และ “ครอบครัวว่าอะไรก็ว่าตามกัน...”


(นิทานหลวงปู่ยังมีอีกหลายเรื่อง แต่ขอยกมาเป็นอุทาหรณ์เพียงสองเรื่อง)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2022, 20:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)

รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร)

• นิมนต์สรีระหลวงปู่จาก ร.พ.วิชัยยุทธ มาวัดเทพศิรินทราวาส

วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ไปตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดเทพศิรินทราวาส คณะศิษยานุศิษย์ได้มาร่วมส่งหลวงปู่อย่างล้นหลามด้วยหัวใจอันโศกสลด เหงาหงอย วังเวง ท้องฟ้าครึ้มทั่วทิศานุทิศ ขบวนออกเดินทางถึงวัดเทพศิรินทราวาส ก็พบว่ามีคณะศิษยานุศิษย์อีกนับจำนวนหลายพันเฝ้ารอรับหลวงปู่ ท้องฟ้ายังครึ้มทั่วกรุงเทพมหานคร คณะศิษย์ได้นิมนต์หลวงปู่เข้าสู่แท่นพิธีสรงน้ำ ณ ศาลากลางน้ำ ท้องฟ้าเริ่มสว่างแจ่มใสขึ้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พร้อมด้วยเครื่องเกียรติยศประกอบศพ พระราชทานหีบทองทึบประกอบศพ และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ๓ วัน ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ๓ คืน

เวลา ๑๕.๓๐ น. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เสด็จสรงน้ำหลวงสรงศพ พร้อมด้วย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศ์ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม พระราชาคณะ พระเถรานุเถระ กรรมการมหาเถรสมาคม ตลอดทั้งครูบาอาจารย์สายอรัญญวาสีอีกจำนวนมาก และศิษยานุศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์อย่างล้นหลาม เนืองแน่นไปทั้งศาลากลางน้ำ ล้นและยาวเหยียดออกมาถึงประตูทางเข้าวัด

วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๙.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เชิญพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี วางหน้าหีบศพ

วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๙.๐๐ น. สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดให้กรมวัง เชิญพวงมาลาวางหน้าหีบศพ

วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๘.๔๕ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร โปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเกษม อยู่สุข เชิญพวงมาลาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วางหน้าหีบศพ

เวลา ๑๙.๐๐ น. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระกรุณาโปรดให้ คุณเพ็ญศรี เขียวมีส่วน เชิญพวงมาลาวางหน้าหีบศพ

วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๗.๐๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โปรดให้ คุณหญิงเพ็ญศรี ไชยยงค์ เชิญพวงมาลาวางหน้าหีบศพ

วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๗.๐๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โปรดให้ คุณหญิงเพ็ญศรี ไชยยงค์ เชิญพวงมาลาวางหน้าหีบศพ

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๙.๐๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จในการพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม

วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน เวลา ๑๐.๐๐ น. พระสงฆ์ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้วมีพระธรรมเทศนา ๑ แล้วพระสงฆ์ทั้งนั้นถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน และบังสุกุล เวลา ๑๙.๐๐ น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม


• นิมนต์สรีระหลวงปู่จากวัดเทพศิรินทราวาสกลับวัดเขาสุกิม

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๒.๐๐ น. คณะศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันกราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่เดินทางกลับวัดเขาสุกิม

คลื่นศรัทธาของมหาชน ศิษยานุศิษย์ ผู้ที่มีความเคารพนับถือในหลวงปู่จากทั่วสารทิศของประเทศ และบางส่วนจากต่างประเทศได้ร่วมขบวนแห่ส่งหลวงปู่ด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้ง จากกรุงเทพฯ ถึงจันทบุรี ด้วยขบวนรถยนต์กว่า ๒๐๐ คัน เมื่อขบวนเดินทางเข้าสู่พื้นที่เขตเมืองจันทบุรีแล้ว ก็ยังมีคลื่นของพุทธบริษัททั้งพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา จากวัดต่างๆ ใน จ.จันทบุรี ยืนเรียงแถวรอรับการเดินทางกลับมาของหลวงปู่อย่างมืดฟ้ามัวดิน จิตใจของทุกคนมีจุดมุ่งหมาย ณ ที่แห่งเดียวกัน ทุกคนเฝ้ารอการกลับมาของหลวงปู่ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งบ่าย ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่จะบ่นว่าเหนื่อยหรือบ่นว่าร้อน ต่างคนต่างเฝ้ารอด้วยอาการสงบเงียบ บ้างก็ภาวนาปลงธรรมสังเวช เมื่อขบวนศพหลวงปู่ค่อยๆ เคลื่อนมาถึงเขตบริเวณหน้าประตูวัด เห็นกองเกียรติยศของเหล่าทหารเรือได้ยกหีบที่บรรจุสรีระของหลวงปู่ไว้เหนือบ่า เหล่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เดินติดตามเป็นขบวนที่สงบ นับเป็นจำนวนหมื่นคน หีบทองพระราชทานที่แวดล้อมด้วยคลื่นมหาชนนั้น ค่อยๆ เคลื่อนขึ้นสู่วัดเขาสุกิมอย่างช้าๆ หลายคนก็ปลงธรรมสังเวช ส่วนอีกหลายคนก็กลั้นความอาลัยไว้มิได้ ปล่อยให้น้ำตาหลั่งไหลมาออกมาเป็นเครื่องบูชาสรีระหลวงปู่ ด้วยความตื้นตันในหัวใจอย่างสุดซึ้ง

นับจากนี้ต่อไปลูกศิษย์คงไม่ได้ยินเสียงให้พรของหลวงปู่ที่ก้องกังวานได้ยินกันจนชินและเป็นมงคลแก่โสตประสาทที่หลวงปู่ได้เมตตาให้ต่อลูกศิษย์ว่า “โชคดีๆ ขอให้ลูกศิษย์โชคดี” “เหลือกินเหลือใช้ ได้สร้างบารมีเต็มอิ่มนะ” คงไม่ได้ยินเสียงหัวเราะอันก้องกังวานบนเขาสุกิม คงไม่ได้เห็นชายจีวรสีกรักที่ปลิวเอื่อยๆ ทุกยามเย็นริมขอบสระน้ำ เมื่อหลวงปู่เดินให้อาหารปลา คงไม่ได้เห็นอิริยาบถแห่งความเมตตาที่หลวงปู่มีต่อเด็กน้อย หลวงปู่ชอบอุ้มเด็กน้อยขึ้นมาลูบคลำศีรษะแล้วสุดท้ายหลวงปู่ก็จะเปล่าลงไปบนกระหม่อม ว่า “...พ รู ด...พรู๊ด !...เลี้ยงง่ายๆ โตวัน โตคืน เป็นเจ้าคน เป็นนายคน เว้ย” คงไม่ได้เห็นพานที่ใส่วัตถุมงคล สายสร้อยคอ แหวน กำไล กระเป๋าสตางค์ และธูปหอมเป็นมัดๆ กองรวมกันจนสูงท่วมหัว แผ่นป้ายทะเบียนรถ และอื่นๆ ที่ลูกศิษย์นำมากองให้หลวงปู่ได้แผ่เมตตา เสร็จแล้วหลวงปู่ก็จะ “เอาล่ะ ดีแล้ว แคล้วคลาด ปลอดภัย ไปถึงไหนโชคดีถึงนั่น เหลือกินเหลือใช้กันทุกท่านทุกคน” อีกอย่างหนึ่งที่ได้ยินคือบทสวด...สุณา ตุ เม ภันเต สังโฆ โรคานามัง สังฆัสสะ นะถอด โมถอน พุทธาเคลื่อนออกทลายะสูญหายะ ฯลฯ เสียงสวดถอดสวดถอน ที่หลวงปู่สวดให้กำลังใจลูกศิษย์วันละหลายรอบ ซึ่งเคยได้ยินกันเป็นประจำจนขึ้นใจ บัดนี้คงไม่ได้ยินอีกแล้ว อีกหลายสิ่งหลายอย่างที่หลวงปู่ได้มอบให้ลูกศิษย์ทุกคนอย่างเสมอภาคกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ทุกคนต่างสำนึกในพระคุณที่หลวงปู่ให้แก่ลูกศิษย์นับตั้งเบื้องแรกจนอวสานไม่มีใครที่ลืมลงได้

เส้นทางชีวิตอันยาวนาน ๘๐ ปี ๗๒ วันของหลวงปู่ หลวงปู่ใช้ชีวิตคฤหัสถ์อันบริสุทธิ์เพียง ๑๙ ปี โดยที่ไม่ได้แตะต้องสตรีเพศให้แปดเปื้อนเลย หลังจากนั้นได้ถือเพศบรรพชิตภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์เป็นเวลายาวนานถึง ๖๑ ปี

“สองพรรษาในเพศของสามเณรหนุ่มรูปงาม และ ๕๙ พรรษา ในเพศของพระภิกษุผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย” ตลอดเวลาบนสายธารธรรม ที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ทั้งด้าน ศีล สมาธิ ปัญญา และข้อวัตรปฏิบัติที่งดงาม ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เพียบพร้อมไปด้วยข้อวัตรที่เคร่งครัด สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ละเอียดอ่อนลึกซึ้งประกอบพร้อมไปด้วยพรหมวิหารธรรม และขันติธรรม อีกด้วยธุดงค์วัตรอันน่าเลื่อมใสศรัทธา พระผู้ไม่ยอมประพฤติล่วงพระบัญญัติ อันแม้ในสิ่งที่ผู้อื่นเห็นว่าเล็กน้อย พระผู้ประพฤติ อปจายนธรรม คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน

บนเส้นทางสายธารธรรมอันยาวนาน ที่หลวงปู่เดินจาริกประกาศศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวร สัมมาสัมพุทธเจ้า และ ๔๑ ปี บนเขาสุกิม นานเพียงพอต่อการผูกพันในระหว่างศิษย์กับอาจารย์ เสมือนพ่อลูก จนพวกเรานั้นเรียกขานนามของหลวงปู่ว่า “ท่านพ่อ” ประทับไว้ในหัวใจ ไม่อาจที่ลืมลงได้ ด้วยระยะเวลาที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่มายาวนานนี้ จึงทำให้ไม่สามารถลืมเหตุการณ์ต่างๆ ลงได้ และย่อมก่อเกิดความรู้สึกที่สะเทือนใจเป็นธรรมดา

สัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา”


• ธรรมที่ไม่ต้องเทศน์

เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นวันแรกที่ข้าพเจ้าได้มาวัดเขาสุกิม เผอิญตรงกับวันที่สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรมาประชุมกัน ณ วัดเขาสุกิม

ผู้คนเนืองแน่นไปหมดทั้งวัด เรามาแบบคนนอกและคนหน้าใหม่ของวัด ไม่รู้จักใครเลยแม้แต่คนเดียว จนตกเย็นเห็นคนวัดมีแม่ชีและแม่ดำยกอาหารต่างๆ เดินขนผ่านไปเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาประชุม มีกุ้งแม่น้ำเผาตัวโตกลิ่นหอมหวน ทั้งกับข้าวคาวหวานน่าชิมอีกสารพัด ทำให้หิวข้าวเป็นกำลัง

ท่านผู้ใหญ่ชำนาญวัด ทราบภายหลังว่าเป็นกำนันอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านชื่อ กำนันสอย ท่านคงจะเห็นคณะของเราท่าทางเก้ๆ กังๆ...ไม่รู้เหนือไม่รู้ใต้ จึงเมตตาพาไปกินข้าวเย็นที่โรงครัว เป็นโรงครัวไม้เก่าๆ เดินทางลาดๆ ลงไปอยู่ชายเขา ที่ตั้งตึก ๖๐ ปีในปัจจุบัน คณะของเรามีข้าพเจ้า (จักรพันธ์ โปษยกฤต) ต๋อง (วัลลภิศร์ สดประเสริฐ) และหมู (ร้อยตรีสุรพล อิภะวัต) ได้ทานอาหารมื้อแรกที่โรงครัววัดเขาสุกิม มีแกงหมูชะมวงกับข้าวสวยร้อนๆ เป็นอาหารมื้อที่อร่อยที่สุดในโลก ตามความรู้สึกที่จำได้ไม่ลืมจนบัดนี้

ตกค่ำไปไหว้พระสวดมนต์ที่ศาลาไม้หลังเก่า ก่อนสวดมนต์ท่านอาจารย์เทศน์เรื่องวิธีทำสมาธิ ท่านให้นั่งสมาธิพร้อมกันประมาณ ๓๐ นาที ก่อนสวดมนต์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมถือปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้ สมัยนั้นท่านอาจารย์ทำทุกอย่างเองหมด นำนั่งสมาธิ นำสวดมนต์ ทั้งอ่านใบอนุโมทนาบัตร และแจกใบอนุโมทนาบัตรเอง พรมน้ำมนต์ เป่ากระหม่อม บังสุกุลเป็น ฯลฯ ท่านพรมน้ำมนต์แรงและไกลไปทั่วศาลา คำให้พรของท่านที่ให้แก่ลูกศิษย์ทุกคน คือ

“...เอาละ โชคดี โชคดี เหลือกินเหลือใช้ ไปที่ไหนปลอดภัยที่นั่น...”

ลุงกำนันพาเราไปหาเสื่อ หมอน ผ้าห่ม ที่กองสุมๆ อยู่มุมหนึ่งของศาลา แล้วขึ้นเขาสายตรงไปนอนที่กุฏิหลังสีฟ้า สร้างอยู่บนชะง่อนหินใหญ่สูงมิใช่เล่น ชื่อ...กุฏิสว่างเนตร...กุฏิหลังนี้เป็นกุฏิดั้งเดิมของท่านอาจารย์ ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลังหนึ่ง ตอนที่เราไปพักยังไม่มีต้นยางอินเดียรกเรื้อ อากาศเย็น โปร่ง สบาย ไม่มียุง มองลอดช่องระเบียงด้านทิศตะวันออกไปได้ไกลลิบๆ เห็นทิวทัศน์เรือกสวนป่าเขาเบื้องล่างงดงามจำเริญตา เวลาเช้าตรู่ละอองหมอกลอยผ่านช่องฝาไหลเข้ามาถึงที่นอน มานึกย้อนยังแปลกใจว่า ข้าพเจ้าไปอยู่ ณ วัดเขาสุกิมได้อย่างไร มิใช่แค่คืนเดียว ในเมื่อข้าพเจ้าเป็นคนยาก กินยาก อยู่ยาก นอนยาก เข้าห้องน้ำก็ยาก ข้อสำคัญคือ ไม่คุ้นกับคนแปลกหน้าโดยง่าย หากมาที่วัดเขาสุกิมตอนนั้น ทุกคนเป็นคนแปลกหน้าหมด แม้กระทั่งท่านอาจารย์เอง เคยได้ยินก็แต่ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของท่านทั้งที่ยังไม่รู้จัก แต่ครั้นได้มาเป็นอาคันตุกะของวัดเขาสุกิม สมัยที่ใช้ชื่อว่า วัดราษฎร์บูรณะคุณาราม อยู่ๆ ได้มาสัมผัสความมีแก่ใจของพระสงฆ์ แม่ชี แม่ดำ และญาติโยมคนวัด ความมีระเบียบวินัย สะอาดสะอ้านของผู้คน และอาณาบริเวณ โดยเฉพาะที่เป็นฝ่ายสังฆาวาส แม้กระทั่งผ้าห่มขนหนูสีเหลืองๆ หมอนที่นอน ที่กองๆ ไว้เป็นสาธารณะให้ผู้มาอาศัยเลือกหยิบไปใช้ ก็ได้รับการดูแลซักตากมิให้หมักหมม สกปรก หรือห้องน้ำเล็กๆ หลังคามุงสังกะสี พื้นซีเมนต์ตามกุฏิพระที่เราได้ไปพักพิง ก็แห้งผากสะอาดหมดจดทุกซอกทุกมุม ด้วยได้รับการชำระล้างขัดถูขะมักเขม้นทุกวี่วัน ไม่ดูดายปล่อยให้เกรอะกรัง เครื่องบริขารสงฆ์ เช่น สบง จีวร ที่ซักตากผึ่งไว้ใต้ถุนกุฏิขึงตึงเป็นระเบียบ พับเก็บตามเวลาไม่ปล่อยทิ้งไว้เลเพเลพาด

ข้าพเจ้าและคณะได้มาวัดเขาสุกิมอีกหลายครั้งหลายหนจนนับไม่ถ้วนว่ากี่ครั้ง จากคนแปลกหน้า มาเป็นคนคุ้นหน้า แล้วจากคนกรุงมาเป็นลูกศิษย์วัด กินข้าววัด กินข้าวก้นบาตร ข้าวเหลือสำรับจากท่านอาจารย์ยกให้ ท่านเรียกข้าพเจ้าว่า...อาจารย์...ตามอย่างเด็กๆ ในคณะของเราที่ไปวัดด้วยกัน พวกเราได้ติดตามท่านอาจารย์ไปร่วมกุศลทางภาคอีสานทุกครั้งที่ท่านออกปากชวน การไปมิได้สะดวก แต่ก็ไม่ลำบากยากเข็ญ ท่านพยายามอำนวยความสะดวกทุกอย่างไม่ว่าที่พักหลับนอน อาหารการกิน...ฯลฯ

โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เป็นคุณลักษณะประจำสำนักหรืออย่างไร ที่ไม่ว่าจะไปถิ่นทุรกันดารแห้งแล้งขนาดไหน แต่กับข้าวจากคณะแม่ชี แม่ดำ อุบาสิกาของวัดเราช่างละเมียดละไมเหมือนของทิพย์ ซึ่งก็เป็นของทิพย์จริงๆ เพราะเกิดจากกำลังบุญและความศรัทธาร่วมแรงร่วมใจของลูกศิษย์ลูกหา ที่จะทำเพื่อผู้อื่นด้วยความปรารถนาดีและตั้งอกตั้งใจ ตามปฏิปทาของครูบาอาจารย์ ข้าพเจ้าได้เห็นท่านอาจารย์มุ่งสร้างเสนาสนะ ที่พักดีๆ ห้องน้ำดีๆ ความสะดวกสบายเท่าที่วัดป่าจะอำนวยให้ญาติโยม และพระอาคันตุกะโดยไม่เลือกนิกายฝ่ายข้าง ก็ค่อยๆ ประจักษ์ จากที่เคยคิดเคยนึกว่าทำไปทำไม ท่านทำเพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ในหัวใจของทุกคน ทุกหมู่เหล่า ทุกชั้นวรรณะ ตั้งแต่เศรษฐี จนกระทั่งยาจกเข็ญใจก็สามารถเข้ามาอาศัยเพื่อได้รู้พระธรรม และได้สร้างบารมี ได้ทำบุญ ได้ปฏิบัติ เป็นปัจจัยไปสู่สุคติ อันมีพระนิพพานเป็นที่สุด ท่านอาจารย์เป็นพระที่เทศน์น้อย เทศน์น้อยจนบางคนสงสัยว่า ทำไมเป็นพระแล้วไม่เทศน์ ถ้าเทียบโดยวิชาชีพ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจท่านอาจารย์ได้มากกว่าคนอื่นๆ ทั่วไปว่า “...ท่านเป็นพระนักปฏิบัติจริงๆ ท่านมิใช่พระนักพูด แต่เป็นพระนักทำ...” เช่นเดียวกับข้าพเจ้า ที่เป็นช่างเขียน มิใช่ช่างพูด แสดงสรรพคุณทางศิลปะด้วยวาจา ความจริงแล้ว ท่านแสดงธรรมอยู่ตลอดเวลา ด้วยการกระทำ ฝึกฝนปลูกฝังกุศลนิสัยให้แก่พุทธศาสนิกชนที่เข้ามากราบไหว้ วัตรปฏิบัติของท่านทุกอย่างจำลองมาเป็นแบบฉบับได้หมด ไม่ว่าขันติ เมตตา จาคะ ความไม่ตระหนี่เหนียวแน่น ความเสียสละ อดทนต่อทุกขเวทนาทั้งหลาย อย่างหาผู้ใดเทียบไมได้ ไม่เคยเหนื่อยหน่ายรำคาญผู้ใด สิ่งใด ทั้งหมดล้วนเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ที่ล่วงการกล่าวด้วยวาจา หรือเทศนาใดๆ นี่คือเบื้องต้นที่เราลูกศิษย์ได้เห็นกันเป็นปกติธรรมดา สุดแท้แต่ใครจะจดจำเอาไปประพฤติปฏิบัติตามรอยครูบาอาจารย์กันได้แค่ไหน หากเบื้องลึกของท่าน เรามิอาจหยั่งรู้ท่านได้ ข้าพเจ้าได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปของวัดเขาสุกิม เมื่อแรกมาจนบัดนี้ ตั้งแต่สภาพแวดล้อมและตัวบุคคล ทั้งพระสงฆ์ แม่ชี คนวัดเก่าก่อน ที่ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป ได้เคยเห็นท่านอาจารย์ในสมัยที่ท่านยังกระฉับกระเฉงว่องไว ได้เห็นท่านจูงมือประคับประคองโยมบิดาของท่านตามทางเดินขรุขระสูงๆ ต่ำๆ ของวัดเขาสุกิม ได้เห็นท่านเดินจงกรม ได้เห็นท่านเดินมาที่ประตูหลังศาลาไม้หลังเก่า เพื่อเข้ามาสวดมนต์ พระเณรล้างเท้าและเช็ดเท้าให้ท่าน เป็นกิจวัตรก่อนท่านจะเดินเข้านั่งประจำที่ นำกราบพระพุทธรูปอย่างงดงาม ๓ หน ก่อนจะนำนั่งสมาธิ จากท่านอาจารย์ที่แข็งแรง สง่าผ่าเผย อยู่ในความนุ่มนวล สุภาพ ท่านค่อยๆ ช้าลง พูดจาปฏิสันถารน้อยลง จนกระทั่งท่านไม่พูด และไม่เดิน ต้องนั่งรถเข็น จากท่านอาจารย์ มาเป็นหลวงพ่อ แล้วก็มาเป็นหลวงปู่ จากที่เคยทักทายให้ศีลให้พรด้วยวาจา มาเป็นแค่ให้ศีลให้พรด้วยสายตา ซึ่งก็เป็นเมตตาล้นเหลือแล้วสำหรับพวกเรา จากที่ข้าพเจ้าได้มาวัดเขาสุกิมครั้งแรก เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ท่านอาจารย์อายุ ๕๐ ปี กระทั่งท่านอายุ ๘๐ ปี อันเป็นอายุสุดท้ายที่ได้เห็นท่าน ท่านอาจารย์เป็นบทพิสูจน์ของทุกตัวอักษรตามคัมภีร์ในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ภาวนา อภิญญา สมาบัติ และอานิสงส์ผลใดๆ ในความเลื่อมใสเคารพซึ่งพระรัตนตรัยเป็นสูงสุด ข้าพเจ้าคิดว่า ลูกศิษย์ลูกหาท่านอาจารย์ทุกท่าน คงจะรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้า คือ นอกเหนือไปจากความทุกข์โทมนัสในการพลัดพรากจากบุคคลที่เคารพรัก ยังมีความปลื้มปีติอิ่มใจ ในชาติหนึ่งที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้เคยเห็น เคยนั่งใกล้ เคยกราบ เคยรับใช้ใกล้ชิด ได้ร่วมสร้างกุศลบารมีกับท่านผู้เป็นนาบุญของโลก ทั้งเคยได้รับความห่วงใยเมตตาอาทรจากท่านเสมอมา โดยเฉพาะข้าพเจ้าเอง ความปีติและมุ่งมั่นของข้าพเจ้า คือ...ทำงานจิตรกรรมฝาผนังวัดเขาสุกิม...ให้สำเร็จลุล่วงด้วยความประณีตงดงามตามสติกำลังอย่างเต็มความสามารถ ดังคำปรารภของท่านอาจารย์ที่ได้ให้โอกาสอันเป็นมหาบุญลาภแก่ข้าพเจ้า แม้จะเนิ่นนานมาแล้วแต่ข้าพเจ้ายังรำลึกได้ถึงน้ำเสียง ถึงสายตาของท่านอาจารย์ได้ดี เมื่อท่านยิ้มแล้วเอ่ยกับข้าพเจ้าว่า “...อาจารย์ โบสถ์หลังนี้ ยกให้อาจารย์แล้ว...”

อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 38 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร