วันเวลาปัจจุบัน 06 ต.ค. 2024, 15:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 29 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

รูปภาพ
หลวงปู่คำดี ปภาโส


ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕
พรรษาที่ ๘
จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง
ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี


ร่วมสร้างวัดป่าหนองแซง

ขณะที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ กับหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้พำนักอยู่ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ระยะหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเลื่อมใสในการปฏิบัติของพระคณะกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างมาก ปรารถนาจะสร้างวัดกรรมฐานที่บ้านหนองแซง จังหวัดอุดรธานี จึงได้มานิมนต์หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ และหลวงปู่ศรี มหาวีโร ให้ไปอยู่จำพรรษา

เมื่อท่านทั้งสองรับนิมนต์แล้ว จึงพาคณะเดินธุดงค์จาริกจากวัดป่าศรีไพวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ผ่านดงมูล เดินตามทางรอยช้าง ฝ่าป่าดงหนาทึบอันน่าสะพรึงกลัว มีเสือชุกชุม เกือบจะถูกเสือตะปบเอาไปกินก็หลายครั้ง ผ่านมาทางท่าคันโฑ ทะลุถึงเมืองลิง กุมภวาปี เข้าสู่ตัวจังหวัดอุดรธานี เข้ากราบท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์แล้วจึงเดินทางไปยังป่าบ้านหนองแซง

อันว่าวัดป่าหนองแซงนี้ เดิมเป็นที่ที่ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์มาจับจองไว้เพื่อสร้างเป็นวัดกรรมฐาน มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ ห่างไกลจากบ้านผู้คน ท่านดำริว่ามีวัดมันก็ต้องมีบ้าน ท่านจึงแบ่งที่ดินเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนของวัด ๓๐๐ ไร่ ให้ชาวบ้านช่วยรักษาและได้อาศัยทำไร่ ทำนา ๒๐๐ ไร่ ในขณะนั้นมีชาวบ้านอยู่ ๓ หลังคาเรือน (ภายหลังทางวัดเอาที่คืนไม่ได้ และที่วัดถูกชาวบ้านรุกเหลือเพียง ๑๐๐ ไร่ แต่ปัจจุบันทางวัดได้ซื้อคืนจากชาวบ้านมาจนครบ ๕๐๐ ไร่เหมือนเดิม)

ส่วนทางสำหรับภิกขาจารบิณฑบาต ถ้าเป็นฤดูฝนต้องบุกลุยผ่านขี้โคลนขี้ตม ผ่านไร่ผ่านนาถึง ๕ กิโลเมตร เพื่อไปบิณฑบาตที่ตำบลหนองบัวบาน

เดิมป่าแห่งนี้เป็นป่าโคก มีต้นไม้เก้า ไม้ติ้ว ตูมกา เต็ง เป็นจำนวนมาก สัตว์ป่ายังชุกชุมมากโดยเฉพาะ เก้ง กวาง ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เช้าสายบ่ายเย็นมีเสียงสัตว์ร้องสนั่นไพร

สถานที่แห่งนี้เป็นที่เที่ยวผ่านไปมาของพระกรรมฐานเสมอ

พระกรรมฐานที่เคยมาพัก คือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร หลวงปู่คำดี ปภาโส


อดีตชาติหลวงปู่บัว

ในบันทึกประวัติหลวงปู่ศรียังได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า...

“สำหรับพระกรรมฐานแล้ว มีข้าวปั้น (ก้อน) หนึ่งก็อยู่ได้แล้ว พระกรรมฐานไม่วุ่นวาย กับการกิน การอยู่ การหลับ การนอน พระกรรมฐานมีชีวิตอยู่เพื่อชำระสะสางกิเลส ส่วนเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ป่วยไข้ไม่สบาย หรือหากว่าจักต้องตายไปด้วยวิธีใดก็ตาม ท่านก็ไม่ได้สนใจมากเท่าอรรถธรรมภายในใจ”

“หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ท่านระลึกชาติด้วยอตีตังสญาณว่า ท่านเคยเกิดเคยตายอยู่ที่บริเวณป่าหนองแซงนี้ เป็นเวลานานถึง ๔ ชาติ และชาตินี้เป็นชาติที่ ๕ ที่จักต้องมาตาย ณ ที่แห่งนี้ ชาติที่ ๕ นี้เป็นชาติสุดท้ายของท่าน

ในอดีตชาติของหลวงปู่บัว ท่านเคยเกิดเป็นหมู่ป่า และชาติต่อมาก็เป็นควายป่า ถูกนายพรานผู้มีใจบาปยิงตาย ก่อนจะตายได้รับทุกข์ทรมานเป็นที่ยิ่ง นายพรานผู้มีใจบาปนี้เที่ยวล่าและฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมาก ไม่เคยก่อสร้างบุญุกุศล เมื่อเขาตายไปได้เป็นผีหาภพใหม่ไม่ได้ ได้เสวยกรรมอันเผ็ดร้อนอยู่บริเวณป่าหนองแซงแห่งนี้

ที่หลวงปู่บัวท่านรับนิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เพื่อมาสร้างวัดแห่งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อมาโปรดผีนายพรานตนนี้ให้พ้นจากทุกข์ด้วย

ในขณะที่อยู่วัดป่าหนองแซง ถ้าหากพระเณรองค์ใดขี้เกียจขี้คร้านในการทำความเพียรภาวนา หลวงปู่บัวท่านจะบอกให้ผีนายพรานนี้ไปจัดการพระขี้เกียจด้วยการดึงขาบ้าง หลอกหลอนในยามนอนบ้าง เพื่อเป็นการตักเตือนไม่ให้พระเณรตั้งอยู่ในความประมาทในการดำรงชีวิตในสมณเพศ จึงเป็นที่หวาดกลัวของพระเณรทั้งวัด ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ท่านจะสั่งให้ผีทำตามคำสั่งของท่านได้เสมอ”

หลวงปู่บัวกล่าวว่า “สำหรับท่านศรีแล้วสั่งให้ผีไปหลอกไม่ได้ เพียงแค่ผีได้ยินชื่อว่าท่านศรี ผีก็กลัวแล้ว ถ้าผีตรงไหนแข็งๆ (เฮี้ยนๆ) ต้องให้ท่านศรีไปปราบ องค์อื่นไปปราบไม่ได้หรอก เพราะท่านศรีมีบุญบารมี เป็นคนที่ทำอะไรทำจริง ทำอะไรเด็ดเดี่ยว สู้ไม่มีถอย การดูว่าบุคคลใด มีบุญวาสนา จะเห็นกระแสลำแสงแห่งจิตได้ชัด”


และหลวงปู่บัวได้ทำนายไว้ว่า “...ท่านศรีหนีจากร้อยเอ็ดบ่ได้ดอก ต้องอยู่ที่ร้อยเอ็ดจนตาย”

ในขณะที่อยู่ที่เสนาสนะป่าหนองแซงนี้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์และท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านจะมาเยี่ยมเยียนเสมอ ในบางคราวมีเรื่องน่าขบขัน แต่ก็เป็นเรื่องจริงถึงกับได้พูดกันว่า ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์

คราวหนึ่งท่านเจ้าคุณฯ รับกิจนิมนต์ของโยมในเมืองซึ่งเป็นผู้มีฐานะ ต้องการนิมนต์พระกรรมฐาน ไปนอนค้างคืนที่บ้านสักคืน เพื่อเป็นสิริมงคลในการขึ้นบ้านใหม่ ท่านเจ้าคุณฯ นิมนต์พระที่เสนาสนะป่าหนองแซงโดยบอกว่า “เขานิมนต์ไปขึ้นบ้านใหม่ ไปขี้ใส่บ้านเขาหน่อย”

เมื่อพระเณรเดินทางไปค้างคืนที่บ้านนั้น ปรากฏว่าท้องเสีย ขี้กันทั้งคืน จนกระทั่งสว่างโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงพูดกันแบบติดตลกว่า “ท่านเจ้าคุณฯ วาจาศักดิ์สิทธิ์มากเน๊าะ”

สมัยก่อนจะเป็นกุฏิเล็กๆ ห้องเดียวเท่านั้นมีพระเณรอยู่ประมาณ ๔-๕ รูป มีหลวงปู่บัวเป็นหัวหน้า หลวงปู่ศรี มหาวีโร หลวงปู่พุทธา หลวงปู่แสง สามเณรสมร

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖-๒๔๙๘
พรรษาที่ ๙-๑๑
จำพรรษาที่ วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุงเก่า)
บ้านป่ากุง ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด


ปฐมเหตุแห่งวัดป่ากุง

ประวัติย่อวัดประชาคมวนารามได้บันทึกไว้ว่า

...ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านพระอาจารย์ศรี มหาวีโร ผู้เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และคณะประกอบด้วย พระอาจารย์ป่อง พระอาจารย์ทองใบ พระอาจารย์คูณ ได้เดินธุดงค์มาจากจังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดไปอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

เจตนาท่านพระอาจารย์ศรีอย่างหนึ่งในการธุดงค์ผ่านมาทางแผ่นดินเกิด ก็เพื่อเยี่ยมเยียนสนทนาธรรมกับพระหลวงพ่ออ่อนสี กิจฺจญาโณ ซึ่งเป็นบิดาผู้บังเกิดเกล้า ณ วัดป่าบ้านขามป้อม ท่านพระอาจารย์ศรีและคณะจึงได้ปักกลดพักอยู่ที่วัดป่าบ้านขามป้อม กับพระหลวงพ่ออ่อนสีผู้เป็นบิดา

ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่นั่น มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาท่านเป็นอย่างมาก พระบางกลุ่มเสื่อมจากลาภสักการะและความนับถือ สาเหตุเพราะกลัวท่านจะมาสร้างวัดและในยุคสมัยนั้นคนและพระแบบนั้นยังไม่เข้าใจเรื่องพระกรรมฐาน จึงต่อต้านท่านอย่างหนัก

เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจึงดำริเดินธุดงค์กลับร้อยเอ็ด มุกดาหาร นครพนม เพื่อกราบคารวะพระธาตุพนมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเส้นทางธุดงค์เส้นนี้ท่านจะใช้เป็นเส้นทางเดินประจำในฤดูแล้ง

ในขณะที่ท่านเที่ยววิเวกภาวนาผ่านมาทางบ้านหนองแดงในเวลาตะวันบ่ายคล้อย จึงปักกลดพักในบริเวณป่า มีครูคนหนึ่งเป็นครูสอนนักเรียนอยู่ที่นั่น ชื่อคุณครูไคล มองไปเห็นว่ามีพระตั้งกลดอยู่ ก็คิดว่าเป็นพระกรรมฐาน จึงกราบนิมนต์ให้เข้าไปฉันน้ำปานะที่บ้านหนองแดง เมื่อสนทนากันจึงทราบว่าเป็นหลวงปู่ศรี อดีตครูศรีที่สละโลกีย์ออกบวช เมื่อชาวบ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงทราบข่าวก็หลั่งไหลกันมากราบคารวะจนกระทั่งมืดค่ำ

ตัวแทนชาวบ้านประกอบด้วยพ่อใหญ่ขุนจง บ้านหัวหนองน้อย พ่อใหญ่จูม พ่อใหญ่ใบ บ้านหนองแดง พ่อใหญ่คำบุ บ้านบาก เรียนถามท่านว่า “ท่านอาจารย์จะไปไหน”

“เราจะไปข้างหน้า” ท่านตอบสั้นๆ

“ถ้าอย่างนั้น นิมนต์ท่านอาจารย์และคณะพักที่วัดป่ากุงฮ้าง (ร้าง) อันเป็นวัดเก่าแก่ที่ร้างมานานนี้เสียก่อน เป็นที่สงบไม่มีใครกล้าเข้าไป จะมีก็แต่พวกโจรผู้ร้ายมีวิชาอาคมแก่กล้า เมื่อเขาไปขโมยวัวควายได้มาแล้ว ก็นำมาซุกซ่อนที่นี่ และที่นี่ยังมีซากโบสถ์เก่าๆ ผุพัง เครือไม้ระโยงระยาง แม้แต่คนเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย กลางวันแสกๆ ยังไม่มีใครกล้าเดินผ่านเลยครับ”

หัวหน้าชาวบ้านกราบเรียนด้วยกิริยาอันนอบน้อมว่า...

“วัดป่ากุงฮ้างนี้มีเนื้อที่ ๔-๕ ไร่ เป็นป่าดงพงทึบมีต้นไม้หนาแน่น โดยเฉพาะไม้กุง มีสัตว์ร้ายชุกชุม เช่น งู เป็นต้น เป็นที่เกรงขามของคนในถิ่นแถบนี้เป็นอย่างมาก ได้รับทราบจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่าเป็นวัดร้างมาก่อนประมาณ ๒๐๐ ปี (สร้างประมาณปี ๒๓๑๓) และหมดสภาพความเป็นวัดแล้ว มีสภาพรกร้างว่างเปล่ามานาน แต่ไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปเอาจับจองเป็นเจ้าของ เพราะว่ามีคนเคยเห็นผีเปรตที่เป็นพระอดีตญาคู สูงเท่าต้นตาล เวลาเดินมีรอยเท้ากลับเข้าด้านใน เที่ยวเร่ร่อนหลอกหลอนขอส่วนบุญจากผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาให้เข็ดหลาบกันไปทั่ว ถ้าท่านอาจารย์ไม่กลัวผีเปรตและพวกโจรผู้ร้าย ก็นิมนต์อยู่โปรดพวกผมเถิดครับ”

เมื่อมีเหล่าชนผู้เลื่อมใส ต้องการจะให้พักอยู่ที่เสนาสนะป่ากุงฮ้าง (ร้าง) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๘๐ หมู่ที่ ๑๑ บ้านป่ากุง ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ห่างจากตัวจังหวัด ๑๙ กิโลเมตร และห่างจากเขตจังหวัดมหาสารคาม ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ท่านพระอาจารย์ศรี มหาวีโร จึงรับนิมนต์ของญาติโยมชาวบ้านหนองแดงจะพักให้ชั่วคราวก่อน

ด้วยความดีใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างคนต่างก็นำเสื่อหมอนมาถวายท่านได้พักจำวัด

เช้าวันต่อมาก็พากันมาทำกระต๊อบมุงหญ้าหลังเล็กๆ ให้ท่านและคณะอยู่

แม้ชาวบ้านจะยากจน ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการก่อสร้าง ด้วยความที่อยากให้ท่านเห็นใจแล้วอยู่โปรดต่อไป ใครมีเรี่ยวแรงก็ใช้เรี่ยวแรง ใครมีมีดก็ใช้มีด ใครมีขวานก็ใช้ขวาน ทั้งถากทั้งฟัน เพียงวันเดียวทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย

ในวันที่ ๓ ที่พัก ณ วัดป่ากุงฮ้างนี้ ท่านได้แสดงธรรมโปรดอุบาสกอุบาสิกาในถิ่นนั้น จนเกิดจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาอย่างแรงกล้า

ในวันที่ ๔ ท่านได้ลาญาติโยมเพื่อท่องเที่ยวกรรมฐานต่อไปตามสมณวิสัย ชาวบ้านโดยส่วนมากแสดงความอาลัยอาวรณ์เป็นอย่างยิ่ง บางคนร้องไห้ บางคนเว้าวอนให้อยู่ต่อ เขาบอกว่านานมาแล้วยังไม่เคยเห็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและแสดงธรรมเข้าถึงใจอย่างนี้

เมื่อชาวบ้านรบเร้าขัดขวาง บางคนมีน้ำตานองหน้า แสดงอาการอาลัยอาวรณ์อยู่อย่างเห็นได้ชัด ท่านจึงสงสารและพิจารณาว่า “ป่านี้เป็นสถานที่วิเวก สัปปายะ ญาติโยมมีศรัทธาพร้อมพรั่ง ควรที่เราจะสงเคราะห์เขาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ใหญ่ในพระศาสนา”

เมื่อท่านพิจารณาอย่างนั้นแล้ว จึงอยู่จำพรรษาและปฏิบัติภาวนาต่อไป

ในพรรษานั้นปรากฏว่า ได้รับความสนใจและความอุปถัมภ์จากประชาชนชาวพุทธทั้งในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดอื่นๆ ทั้งใกล้และไกลเป็นจำนวนมาก ต่างก็พากันหลั่งไหลมาเพื่อทำบุญสุนทาน และรับการอบรมเทศนาสั่งสอนจากท่านเป็นเนืองนิจมิได้ขาด จนเกิดศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านเป็นอย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่น พ่อใหญ่ชาลี มงคลสีลา คนบ้านป่ากุง ได้ถวายที่ดินสร้างวัดเพิ่มเติมจำนวน ๑๐๐ ไร่ และบางคนถึงกับได้สละทางโลกออกบวชก็มีไม่น้อย

และเหตุที่น่าอัศจรรย์ยิ่งอย่างหนึ่งนั้นก็คือ ชนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบ้านใกล้หรือว่าบ้านไกล เมื่อได้รับฟังพระธรรมเทศนาของท่านแล้ว บางคนถึงกับสละครอบครัวเหย้าเรือนออกบวช บางครอบครัวได้ออกบวชทั้งพ่อแม่ลูก เพื่อมาศึกษาและปฏิบัติศีลธรรมให้ได้เต็มที่ แม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีผู้สละบ้านเรือนออกมาบวชอยู่โดยสม่ำเสมอ จนบางทีมีคนพูดติดตลกว่า “พระวัดป่ากุงคือชมรมคนหนีเมียมาบวช”

ไม่เฉพาะแต่ฆราวาสญาติโยมเท่านั้น แม้พระที่ติดตามท่านมาเวลาป่วยไข้ท่านจะสอนให้เอาธรรมโอสถสู้ เรื่องหยูกยาไว้ทีหลัง อย่างเช่น พระอาจารย์ทองใบ เป็นโรคบิด จนผอมเหลือง ฉันข้าวไม่ได้ มีแต่ถ่ายท้องอย่างเดียว

ท่านเรียกให้ไปหาและถามว่า “ท่านใบได้ข่าวว่าไม่สบาย หายหรือยัง”

“โอ้ย!...ยังไม่หายล่ะครับ ถ่ายท้องมากเหลือเกิน จนไม่มีเวลาพักผ่อนเลย มีแต่เข้าท้องน้ำ”

ท่านจึงสอนว่า “ยิ่งกินมันยิ่งขี้นะ อย่ากินมาก”

จากนั้นอาจารย์ทองใบไม่ลงฉันข้าว ๗ วัน โรคนั้นหายขาดเลย นี่มันเป็นธรรมโอสถอย่างหนึ่ง


กายทิพย์นำของมาฝาก

นอกจากท่านสั่งสอนพระเณร ประชาชนญาติโยมแล้ว ยังมีพวกกายทิพย์ ภูตผีที่ท่านเมตตาโปรดอีกมากมาย ท่านเล่าให้ฟังว่า บางวันเดินจงกรม จะมีพวกกายทิพย์นำของมาฝากเช่น ไหเงิน ไหทองเขาเดินลากมา ถ้าเป็นคนธรรมดาจะมองเห็นเหมือนไหมันลอยมาเองบนอากาศ แล้วเขาก็ถามท่านว่า “จะเอาของมาฝาก จะให้เอาไว้ตรงไหน”

ท่านก็บอกว่า “จะเอาไว้ไหนก็เอาไว้เถอะ” พอท่านพูดจบ “เขาก็เอามือกดไหเหล่านั้น กดครั้งเดียวจมลงดินมิดหมดเลย ไหก็ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่มาก สูงประมาณเอว แต่เขาไม่ได้ใช้อะไรขุดดินเลย ใช้มือกดทีเดียวจมลงมิดเลย เดินไปดูตามทางพื้นดินจะเป็นรอยลึกลงไปประมาณ ๔-๕ นิ้ว

เขาบอกว่า ถ้ามีที่เก็บอีกก็จะเอามาฝากเพิ่มอีกภายหลัง แต่บริเวณสระด้านบน เขาจะมาสร้างเจดีย์ให้ ภายหลังปรากฏว่าได้สร้างเจดีย์บริเวณนั้นจริงๆ”
(ปัจจุบันคือบริเวณที่สร้างเจดีย์หิน เพื่อบูชาคุณหลวงปู่ศรี ที่วัดป่ากุง)

และท่านยังเล่าให้ฟังอีกว่า มีทรัพย์สมบัติของโบราณเขาเอามาฝากไว้ในเจดีย์เต็มไปหมด พอเขารู้ว่าเราจะสร้าง เขาก็พากันเอามาฝากเต็มไปหมด ยิ่งถ้าสร้างเสร็จเขาก็ยิ่งจะเอามาเยอะ ของเหล่านี้คนธรรมดาจะดูไม่เห็น

รูปภาพ
ซ้าย : พระราชธรรมานุวัตร (เลื่อน สุกวโร) วัดเหนือ จ.ร้อยเอ็ด
ศิษย์ยุคแรกที่ร่วมสร้างวัดป่ากุง กับหลวงปู่ศรี มหาวีโร



กว่าจะเป็นวัดป่ากุง

ท่านเจ้าคุณราชธรรมานุวัตร (เลื่อน สุกวโร) วัดเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้เล่าสมัยเป็นเณรอยู่กับหลวงปู่ศรีว่า...

การสร้างวัดป่ากุง อาตมาว่าแม่ใหญ่หล้า มีส่วนสำคัญมากเหลือเกินในการสร้างวัดป่ากุง ท่านอาจารย์ศรีมาอยู่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พวกแม่ใหญ่หล้าบ้านก่อ ปู่แสง พ่อใหญ่บุญจัน ตอนเช้าก็หาบกล่องข้าว ข้ามโคก ข้ามป่า เดินลัดโคกป่าช้า ทางแคบๆ มาถวายจังหัน

ปี ๒๔๙๗ ตัดทางเล็กๆ ลัดข้ามป่าช้าบ้านโคกข่า บ้านเหล่าล้อ บ้านก่อ บ้านสองห้อง พวกคนเฒ่าคนแก่หาบกล่องข้าวข้ามป่าข้ามดงมาตอนเช้า ตอนเย็นก็ค่ำเสียก่อนค่อยกลับ เวลาพระฉันข้าวก็พากันไปสับหญ้าดายหญ้า พวกผู้ชายก็ได้มีดไปถางป่า จนพระฉันเสร็จค่อยขึ้นมา ใครมีธุระก็กลับก่อน แต่ว่าผู้เฒ่าพวกนี้ ไม่ค่อยกลับ ผู้เฒ่าผู้ชาย ปู่แสง ปู่บุญจัน แม่ใหญ่หล้า อย่างนี้ส่วนมากอยู่จนค่ำมืดถึงกลับ วันศีลก็มาจำศีล เมื่อดูวัดป่ากุงสมัยนั้นมันไม่น่าจะเป็นวัดเป็นวานะ น้อยๆ แคบๆ ออเจ๊าะ (เล็กมาก)

บางครั้งไปพบหมาจิ้งจอกตัวเล็กๆ นะ มันลงมาตามหุบห้วยแถวนี้ บางคนก็ทิ้งหาบกล่องข้าวไม่รู้สึกตัวแหละ หมาจิ้งจอกตัวใหญ่มันมักจะวิ่งข้ามหุบแถวนี้ แต่ก่อนหมาจิ้งจอกเยอะจริงๆ แถวโคกป่าช้า

วันไหนฝนตกหนักพระไปบิณฑบาตไม่ได้ ชาวบ้านเขาแกงผักขี้เหล็กเป็นหลัก อยู่วัดป่ากุงสมัยนั้น ฉันข้าวกับแกงผักขี้เหล็กเป็นหลัก แต่ต้องทำขมๆ นะโดยเฉพาะท่านอาจารย์ใหญ่ (ศรี) ท่านชอบ

บิณฑบาตไกล บิณฑบาตยาก ลำบากแค่ไหนก็ตาม อยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม ถ้าฤดูแล้งก็บุกดินทราย หน้าฝนก็บุกขี้โคลน

วันไหนว่างๆ ท่านอาจารย์ศรีท่านบอกให้ไปป่าช้า ไปหาเอาของที่เขาเผาอุทิศให้ผี ไปหาเสียมเหี้ยน จอบเหี้ยน มีด เคียวตามป่าช้า ไปหาเก็บมา ดีกว่าที่เขาจะเอาไปทิ้งไว้เฉยๆ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เอามาใส่ด้ามไว้เป็นประโยชน์

เคียวก็เอามาเกี่ยวหญ้า มีดก็เอามาเข้าด้ามได้ใช้กัน

เสียมจอบเอามาใส่ด้ามไว้ดายหญ้าได้

กุฏิก็กุฏิฝาแถบใบตองปลวกขึ้น

ศาลาก็เป็นกระต๊อบซอมซ่อน้อยๆ ศาลานี้ก็เอาไม้สารพัดไม้ ไม้ทุกอย่าง ไม้โลงศพคนตาย ไม้คานหาม นี่ทำเป็นฟากปูพื้นกุฏิได้

พวกผ้าเสื่อที่รองศพคนตายมา ผ้าห่อศพท่านไม่ให้ทิ้ง ท่านว่าทำให้มันเป็นประโยชน์ เอาไปฉีกนุ่นออก เสร็จแล้วก็ซักเป็นผ้าเช็ดเท้า

ไม้ฝาโลงก็เขียนลายต่างๆ ท่านก็ไม่ให้ลบออกหรอกเอาไว้อย่างนั้นแหละ ให้เห็นแต่ว่าแปลก ส่วนฟูกขาดมาแกะนุ่นออก แล้วในวัดมีลิง ท่านให้เอามาตัดเสื้อให้ลิงบักโดนุ่ง...มันน่าดูจริงๆ (ลิงชื่อว่า “บักโด”)

พวกคนเฒ่าเขาก็มานอนวัดนอนวา อยู่ที่ศาลากระต๊อบเล็กๆ นั่นแหละ อยู่กันบำเพ็ญปฏิบัติกันมา ไม่คิดว่ามันจะเป็นวัดนะ ยิ่งตอนที่ท่านไปอยู่นครพนมนี่ มีพระผู้เฒ่าอยู่ทีละองค์ ๒ องค์บ้าง ไม่มีบ้าง แต่ว่าพวกผู้เฒ่าเหล่านี้เขาไม่ทิ้งนะ แม้ท่านไม่อยู่ก็ตาม เขาก็มาอยู่อย่างนั้นหละ

เพราะฉะนั้นพวกเราเห็นวัดป่ากุงในปัจจุบันนี้ ให้หลับตานึกย้อนหลัง ถ้าผู้ใดเห็นภาพเก่าๆ เห็นการเริ่มต้นของวัดป่ากุงว่าขนาดไหน เริ่มต้นมาอย่างไร

ฉะนั้นอย่างแม่ใหญ่หล้า อาตมาว่าน่าจะถือเป็นบุคคลตัวอย่าง อดทนเหลือเกิน เอาจริงๆ เอาจัง ใครจะว่ายังไงก็ตาม แกก็มาอยู่อย่างนั้นหละ

เพราะฉะนั้น อาตมาว่าแกมีส่วนมากเหลือเกินในการสร้างวัดป่ากุงเป็นวัดเป็นวาขึ้นมา ให้พวกเราได้มาบำเพ็ญปฏิบัติอยู่อย่างนี้ แล้วบั้นปลายของชีวิตแกก็มาอยู่สำนักชี สำนักชีกว่าจะเกิดขึ้นได้ โอ้ย! มันยากจริงๆ

เพราะฉะนั้นช่วยกันรักษา ช่วยกันสรรสร้าง สำนักชีกว่าจะได้ขึ้นมา ทีแรก ๔ ไร่ พอเกิดขึ้นแล้วก็ดูซิ โยมฝ่ายผู้หญิงมีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม ได้พักได้ขยายกระจายกันออกไปหลายๆ วัดนี่เป็นต้น ของเหล่านี้ไม่ใช่ของง่ายๆ ยากลำบากกันทั้งนั้น


ระเบียบและข้อปฏิบัติของวัดป่ากุงเก่า พ.ศ. ๒๔๙๘

การอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ ถ้าขาดระเบียบข้อปฏิบัติแล้ว จะเป็นไปเพื่อความเรียบร้อยไม่ได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นควรมีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ ดังนี้

๑) พระเณรทุกรูป ต้องสมาทานธุดงควัตร อย่างน้อยองค์ละ ๕ ข้อ เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลสให้เบาบางตามกำลังศรัทธาความสามารถ และเป็นเหตุที่ทำให้ตนมีชีวิตประกอบไปด้วยสัจจะและข้อวัตรทุกเมื่อ

๒) ข้อวัตรสำหรับกลางวัน พอรุ่งสว่างเป็นวันใหม่ พระเณรทุกรูปนำบริขารของตนที่เกี่ยวกับการฉัน ลงรวมบนศาลาโรงฉัน จัดให้ได้ระเบียบและทำความสะอาดบนศาลา พอถึงเวลาที่เที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต ต่างองค์ก็เตรียมนุ่งสบง ทรงจีวร ซ้อนสังฆาฏิ ไปเที่ยวบิณฑบาตตามที่จัดไว้ เมื่อกลับมาพร้อมเพรียงกันแล้ว จัดอาหารเสร็จ ก็เริ่มลงมือฉัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว ทำข้อวัตรของตน และช่วยกันทำความสะอาดศาลาให้สะอาด เก็บเครื่องบริขารขึ้นกุฎี ต่อจากนั้นก็ลงสู่ทางจงกรม เดินจงกรมไปจนถึงบ่าย ๕ โมงเช้า พอได้ยินเสียงระฆังก็หยุด ทำข้อวัตรสำหรับตนไปจนถึงบ่าย ๓ โมง เมื่อได้ยินเสียงระฆัง ต่างองค์ก็เริ่มลงกวาดตาด ทำความสะอาดบริเวณวัด และจัดหาน้ำไว้ใช้ไว้ฉัน ตลอดจนน้ำสรงเรียบร้อย เมื่อได้ยินเสียงระฆัง เตรียมลงฟังเทศน์บนศาลาทุกรูป

๓) เมื่อฟังเทศน์จบแล้วก็พอดีย่ำค่ำ ต่อจากนั้นเริ่มทำวัตรสวดมนต์ตามตารางสวดที่จัดไว้แล้ว เมื่อสวดจบมีการอธิบายธรรมะพอสมควรก็เลิกประชุม ต่อจากนั้นไปให้เดินจงกรมจนถึง ๓ ทุ่ม พอได้ยินเสียงระฆังก็ขึ้นกุฎีนั่งสมาธิไปจนถึง ๕ ทุ่ม หรือมากกว่านั้น ก็แล้วแต่ศรัทธา แล้วก็พัก พอถึงตี ๓ ได้ยินเสียงระฆังเตรียมลงทำวัตรที่ศาลาโรงธรรม พอทำวัตรเสร็จ เดินจงกรมไปจนสว่างเป็นวันใหม่

หมายเหตุ ระเบียบข้อปฏิบัติที่จัดไว้ข้างบนนี้ทุกรูป ต้องกระทำด้วยความยินดี เว้นไว้แต่เหตุจำเป็น ถ้าหากมีศรัทธามากกว่านี้ จะกระทำให้ยิ่งกว่าที่กำหนดนี้ก็ไม่ห้าม ยิ่งขออนุโมทนาด้วย

ทั้งนี้ขอให้พระเณรทุกรูป จงเอาใจใส่ในการปฏิบัติตามระเบียบข้างบนนี้ เพื่อเป็นอุปนิสัย วาสนา บารมี สนับสนุนส่งต่อไปจนถึงที่สุด กล่าวคือ เอกันตบรมสุข สิ่งเป็นผลอันยิ่งในพระพุทธศาสนานี้

พระอาจารย์ศรี มหาวีโร
๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘


ธุดงค์โคราช

เมื่อออกพรรษาแล้ว ปลายปี ๒๔๙๘-๒๔๙๙ ตามปกตินิสัยของท่านหลวงปู่ศรี ท่านจะออกเที่ยววิเวก หาที่สงบสงัดตามภูผา ป่าเขา ถ้ำ เงื้อมผา ป่าช้า ป่ารกชัฏ ป่าดงทึบต่างๆ ในครั้งนี้ ท่านปรารภเที่ยวธุดงค์ไปที่ ภูเขามะค่า เขารางตะเข้ เขาจอมทอง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

พระลูกศิษย์ที่ติดตามท่านรูปหนึ่งได้เล่าว่า การเที่ยวธุดงค์ในครั้งนี้ลำบากมาก มีแต่เดินกับเดิน ตัวเบาหวิวเหมือนปลิวไป เพราะท่านเดินเร็วมาก น้ำกินก็ไม่ค่อยมี ปักกลดอยู่อีกด้านหนึ่ง แต่ไปเอาน้ำอีกด้านหนึ่งของภูเขา เดินข้ามภูเขาไปมีรอยเสือ รอยช้างสัตว์ป่าเยอะมาก ไปเอาน้ำมาถวายพ่อแม่ ๑ กระบอก (หมายถึงถวายหลวงปู่ศรี) ก่อนจะไปเอาน้ำ ให้เขาทำเครื่องหมายสัญลักษณ์เพื่อเดินทางไปเอาน้ำให้ น้ำไม่ค่อยสะอาดเพราะมีสัตว์ป่ามากินมาเล่นน้ำ เช่น หมูป่า ลิง ค่าง บ่าง ชะนี ชะมด

การปฏิบัติภาวนาในครั้งนั้น ท่านเร่งไม่ให้นอน บางทีฝนตก ๓ วัน ๓ คืน เปียกปอนไปหมดเสียทุกอย่าง บิณฑบาตที่บ้านมะค่าประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ลงไปบิณฑบาตก็ไปฉันอยู่ที่โรงเรียนก่อน ค่อยขึ้นมาบนภูเขาอีก

เวลาท่านสั่งให้อยู่ที่ตรงไหนก็ต้องอยู่ ท่านสั่งให้นอนตรงไหนก็ต้องนอน กลัวแสนกลัว ก็ต้องทนกล้า แต่กลัวหลวงปู่ (ศรี) ยิ่งกว่ากลัวช้างกลัวเสือเสียอีก

ต่อมาอีกไม่นานท่านก็เดินต่อไปยังเขาอีกลูกหนึ่ง ชื่อว่า “เขารางตะเข้”

ท่านมีนิสัยเด็ดเดี่ยวมาก บางทีอยู่ห่างกับท่านระหว่างเขาคนละลูก เดินหากันทีเหนื่อยแทบตาย จากนั้นต่อไปยังเขาจอมทอง ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น จนผ้าขาดวิ่นหมดเลย บางวันเดินวนอยู่แต่ในป่าในเขา อาหารก็ไม่ได้ฉัน

บางครั้งด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาก กางกลดให้ท่านเสร็จเรียบร้อยล้มตัวลงนอนหลับเหมือนตาย ท่านก็บอกว่า “พากันนอนมาก ไม่ใช่เขาเอาของไปแล้วหรือ?” พอมาตรวจดู ปรากฏว่าย่ามหายไปจริงๆ ในย่ามก็ไม่มีอะไรมาก ก็มีช้อนส้อมคู่หนึ่ง มีไฟฉาย ไม้ขีดไฟ ๑ กลัก ขโมยมันก็ยังเอาไป

การปฏิบัติอยู่ร่วมกับท่านถึงจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพียงใดก็ตาม แต่ภายในจิตใจยังกระหยิ่มยิ้มย่อง มีกำลังใจ ภาคภูมิใจในการปฏิบัติเสมอ ท่านเป็นแบบอย่างแห่งความอดทน เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตลอดทุกอิริยาบถ เป็นความเพียรเพื่อปราบปรามใจดวงพยศ

วันคืนผ่านไปที่ได้ร่วมปฏิบัติสมาธิภาวนากับท่าน ได้รับใช้ท่านนับว่าเป็นบุญวาสนา ไม่เสียชาติเกิดที่ได้บวชมาพบพระพุทธศาสนา และครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติดีเช่นหลวงปู่ศรีนี้

รูปภาพ

กรรมฐานตื่นตูม

...ก่อนที่หลวงปู่ศรีท่านจะขึ้นไปที่วัดเขาจอมทองกับสามเณรริน ท่านได้สั่งให้พระที่ติดตามมาไปประชุมที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร แทนท่าน

ถึงตรงนี้ก็มีเรื่องเล่าสำหรับพระกรรมฐานใหม่ที่พึ่งจะห่างจากครูบาอาจารย์ได้เพียงไม่กี่วัน เหมือนวัวตัวน้อยที่พึ่งจะพลัดหลงจากแม่ ย่อมโซซัดโซเซตื่นตระหนกตกใจอะไรง่ายๆ

เมื่อคณะศิษย์ของหลวงปู่ศรีออกเที่ยววิเวกด้วยลำแข้งแห่งตน เดินดุ่มมุ่งหน้าไป ค่ำที่ป่าเขาไหนก็นอนที่นั่น พอมาถึงอำเภอนางรอง ใกล้เข้าอำเภอลำปลายมาส จังหวัดนครราชสีมา ได้เห็นชาวบ้านเขากำลังจอแจโจษขานโกลาหลกันยกใหญ่ ต่างคนต่างสุมหัวคุยกันหน้าตาตื่นว่า

“ตอนนี้มีช้างสองพี่น้องมันแตกปลอก (ตกมัน) มาหาทำร้ายคนอยู่เรื่อยๆ ให้พากันระวังนะ ทราบข่าวด่วนว่า มันกำลังหันหน้าเดินมาทางหมู่บ้านเรา”

เมื่อคณะกรรมฐานน้อยๆ มาถึงชายบ้านห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑๐ เส้น มีโพน (จอมปลวก) ใหญ่ๆ มีต้นไม้ใหญ่ร่มใบดกหนา จึงปักกลดนอนกัน ณ ที่นั่น พอดีมีคนมาเห็น เขาร้องเรียกบอกกันว่า “พระรุกขมูล*มาแล้วๆ” เขาจึงเข้ามากราบไหว้สนทนาแล้วหาผ้ามาให้ปูนอน

ช่วงเวลานั้นเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเพิ่งจะแล้วเสร็จ ตอนดึกสงัด ลมหนาวพัดวอยๆ บรรยากาศวังเวง ข้างแรมมืดสนิท ได้กลิ่นเหม็นสาบโชยพัดเข้ามาแต่ไกล

เสียงสัตว์ใหญ่หายใจดังฮึดฮาดๆๆ ใกล้เข้ามา เมื่อมันได้กลิ่นคนอย่างพวกเรา มันก็เอาตีนขูดดินใส่ กรูดกราดๆๆ เป็นเชิงขู่ พระเณรที่อยู่ในกลดนอนกลัวอกสั่นขวัญหาย ความกลัวที่เคยหลับสนิทมานานแสนนาน ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยเสียงสัตว์ไพร เหงื่อแตกออกมาเหมือนน้ำ ต่างคนก็ต่างกลัว จะส่องไฟฉายดู ก็กลัวว่าช้างจะเดินมาเหยียบขย้ำหัว พระเณรและโยมต่างก็มานั่งรวมในที่เดียวกัน ต่างองค์ต่างคนก็ต่างปลุกปลอบใจตนเองว่า

“เอาละนะคราวนี้เป็นคราวสำคัญ ตายเป็นตาย เอ้า!...เอ้า!...เราจะนั่งภาวนาสู้ตาย มอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และครูบาอาจารย์”

จึงนั่งภาวนาสู้ตาย บางท่านจิตรวมจนถึงรุ่งเช้า

พอได้อรุณมองเห็นฟ้าพอลางๆ ต่างก็ภูมิอกภูมิใจว่า พวกเรานี้ได้ฝ่าอันตรายอย่างใหญ่หลวง ใช้ธรรมะปราบช้างตัวพยศให้หายหัวหนีไปได้ ประหนึ่งจะบอกโลกให้รู้ว่า “ข้านี้ก็ไม่ธรรมดา ช้างตกมัน ก็ได้ใช้คาถาธรรมและสมาธิภาวนา ปราบจนช้างวิ่งหางจุกตูดหนีไปไหนก็ไม่ทราบ”

พอตอนเช้าจึงออกไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านนั้นด้วยท่าทางองอาจกล้าหาญ ปรากฏว่าเห็นควายตู้ใหญ่ที่เขาตอกหลักผูกเอาไว้ด้านหลังโพน (จอมปลวกใหญ่ๆ) มองทะแม่งๆ เอะใจ จึงถามชาวบ้านว่า “ควายตัวนี้มันมาจากไหน?...โยม”

ท่านอาจารย์ครับ “ควายตู้ใหญ่ของผมตัวนี้ เมื่อคืนนี้มันหลุดหลักผูกออกมาจากทุ่งนา ผมเพิ่งจะมาตามเจอตอนก่อนรุ่งสาง แถวๆ ที่ท่านอาจารย์ปักกลดพักนั้นแหละ ครับ”

“โอ๊ย! โยมเอ้ย!...พวกอาตมาคิดว่าเป็นช้างตกมันมาขูดดินใส่ นอนไม่ได้เกือบขาดใจตายตั้งแต่เมื่อคืน เกือบไม่ได้มาบิณฑบาต ถ้าเมื่อคืนขาดใจช็อคตายไปก่อนด้วยความกลัวแบบกระต่ายตื่นตูม อาตมาคงทำเสียชื่อชายชาติพระกรรมฐาน พระรุกขมูล อย่างที่โยมเอิ้น (ร้อง) เรียกแท้ๆ หนอ”

พวกโยมและพระด้วยกันเมื่อได้สนทนากันอย่างนั้น ต่างก็หัวเราะขบขันจนท้องคัดท้องแข็ง ในความขี้ขลาดหวาดระแวงของพระกรรมฐาน ต่างก็พูดว่า “พระป่ากรรมฐาน รุกขมูล เสนาสนัง ก็กลัวตายเหมือนกันเน๊าะ”

“พระก็มาจากคนนั่นแหละโยม ถ้าอันไหนพอวิ่ง ก็วิ่งหางจุกตูดเหมือนกันแหละ”

พระรูปหนึ่งกล่าวติดตลกขึ้น ยิ่งทำให้เสียงหัวเราะดังขึ้นในสภากลางทุ่งนานั้นอีก

----------------------------------------------------------
* พระรุกขมูล หมายถึง พระที่อาศัยอยู่ตามร่มไม้ชายป่า, พระกรรมฐาน



ปลีกวิเวกที่เขาจอมทอง

ย้อนกล่าวถึงท่านพระอาจารย์ศรี มหาวีโร เมื่อท่านเดินทางไปถึงเชิงเขาจอมทองชาวบ้านต่างก็เตือนว่า ไม่อยากให้ท่านขึ้นไปอยู่ถ้ำที่บนเขาลูกนั้น เพราะว่ามีพระขึ้นไปตายมาหลายรูปแล้ว ถึงไม่ตายก็ไม่วายที่จะเป็นบ้ากลับลงมา

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเจ้าเมืองโคราชเวลาออกไปหาล่าสัตว์ ขากลับต้องขึ้นเขาจอมทองไปเอายาอายุวัฒนะที่อยู่ในนั้น

และหลวงปู่ศรีก็เล่าว่าที่เขาจอมทองนี้เคยมีพระอรหันต์มามรณภาพอยู่ทั้งหมด ๔ องค์ และอัฐิธาตุของพระอรหันต์ต่างๆ เหล่านั้นเคยแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เป็นแสงสว่างให้เรารู้ว่า สถานที่แห่งนี้จะเจริญในทางธรรม ใครมาอยู่ปฏิบัติที่นี่ถ้าตั้งใจดีมีโอกาสที่จะเห็นธรรม แต่ก่อนท่านเคยถามนายพรานว่า มาเขาลูกนี้มีน้ำหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่มี หลวงปู่ว่าน่าจะมีนะ ก็เลยพานายพรานขึ้นไป แล้วก็เห็นรอยหินมันแตก ท่านก็ให้นายพรานตัดไม้ไผ่ แล้วก็เจาะตรงปล้อง แล้วหย่อนลงไป พอเอาขึ้นมา ท่านก็บอกนายพรานว่า นี่ไงน้ำ นายพรานเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้นก็ศรัทธาท่านเป็นยิ่งนัก ในเวลานั้น ท่านจะลงไปบิณฑบาตครึ่งทางและนายพรานเขาจะเอาอาหารมาครึ่งทาง เพราะมันไกลมาก

สมัยก่อนเคยมีก้อนหินที่มันหมุนๆ (แต่ตอนนี้ไม่เห็นแล้ว หาไม่เจอแล้ว เพราะน้ำท่วมหมดแล้ว) แต่ก่อนมันเป็นลำธารเล็กๆ สัตว์ป่าก็เยอะ ทั้งช้างทั้งเสือก็มาเยอะ มีนายพรานคนหนึ่งเดินทางเข้าไปบริเวณที่มีหินหมุนนั้น แล้วหาทางออกไม่ได้ หาทางออกยังไงก็ออกไม่ได้ แล้วก็หลงเข้าไปในถ้ำเจอพระกัมมัฏฐาน แล้วพระองค์นั้นก็บอกว่าถ้าอยากออกไปข้างนอกให้หลับตา แล้วนายพรานก็หลับตา พอลืมตาขึ้นมาก็กลายเป็นทางออกไปแล้ว ไม่รู้สึกตัวว่าออกมายังไง วันหลังก็พาหมู่พาคณะเข้าไปหา แต่หายังไงก็ไม่เจอว่าอยู่ที่ไหน

ในถ้ำนั้นมีเจ้าที่เป็นงูใหญ่ ทุกๆ สามปี งูตัวนี้มันจะออกจากถ้ำทีหนึ่ง มาเล่นน้ำ เวลามันออกมา เสียงมันเหมือนเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ และตรงปากทางออกจะมันเลื่อม เงาวับๆ เหมือนกับเราเอาเทียนไขไปขัดไว้อย่างดี รอยที่มันออกเป็นทางยาวมากๆ แล้วเวลามันเล่นน้ำ มันจะเอาหางมันพันต้นไม้แล้วเอาหัวหย่อนลงไปในน้ำ

ท่านบอกว่า ตอนที่เขามาสร้างเขื่อน พญานาคมาเจาะเขื่อนไม่ยอมให้สร้าง ท่านจึงพยายามที่จะสร้างวัดที่นี่มาก เพื่อมาโปรดพญานาค และให้ทางการสร้างเขื่อนได้ แต่พระที่ไปอยู่เป็นเจ้าอาวาสหลายองค์ ก็อยู่ไม่ได้เพราะมันลำบากมาก หลวงปู่ท่านต้องการรักษาสถานที่ตรงนี้ไว้ให้เป็นสถานที่ภาวนา ทำความเพียร ท่านก็พาชาวโคราชไปจัดสถานที่ไว้ ไปเตรียมสถานที่ไว้ สร้างทำถนนหนทางไป เวลาท่านขึ้นยอดเขา ท่านก็จะมองดูควายที่เขาไปเลี้ยงกัน ควายมันเกลือกโคลนแล้วเห็นแต่ลูกตา มองไปเห็นควายตัวเล็กๆ ท่านจะมองดูด้วยความสุข และอิ่มเอิบด้วยความเมตตา หลังจากที่ท่านพักอยู่ที่เขาจอมทองเป็นเวลาพอสมควรสมความมุ่งหมาย ท่านจึงเดินธุดงค์กลับวัดป่ากุงฯ

รูปภาพ

สนองคุณบิดาด้วยอรรถและธรรม

ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ากุงนั้น ท่านก็เดินทางไปวัดป่าบ้านขามป้อม จังหวัดมหาสารคาม เพื่อสนทนาธรรมกับพระหลวงพ่ออ่อนสีซึ่งเป็นบิดาอยู่เนืองๆ ในเรื่องวัตรปฏิบัติและธรรมอันลึกซึ้งเพื่อสนองคุณบิดาผู้บังเกิดเกล้า แม้บิดาจะบวชมาก่อนก็จริง แต่ยังมีวัตรปฏิบัติแบบวัดบ้าน ไม่ได้เคร่งครัดในทางธรรมวินัยและเรื่องธรรมภายในใจก็ยังบกพร่องอยู่

ท่านได้ถามกับพระผู้เป็นบิดาเรื่องสมาธิว่าเป็นอย่างไร เล่าให้ฟังหน่อย

บิดาตอบว่า จิตขณะนี้เข้าพลญาณได้ เมื่อเข้าไปแล้วนั่งสนิทไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ไม่รู้สุขรู้ทุกข์ เข้าไปนิ่งสนิท

ถามบิดาต่อไปว่า “แล้วจะดำเนินทางจิตอย่างไรต่อไป”

บิดาตอบว่า “ถ้ามีวาสนาก็เดินทางญาณต่อไปได้”

ถามบิดาต่อไปว่า “การเดินจิตทางญาณ ญาณนั้นคือความรู้ซึมซาบละเอียด เมื่อจิตเข้าสมาธิเงียบสนิท มันจะเดินทางญาณได้อย่างไร เพราะญาณเป็นเรื่องของความรู้ ความรู้ประเภทนี้ไม่ต้องรอวาสนา ถ้ารอวาสนาก็ไปได้ไม่ถึงไหน ต้องอาศัยความเพียรกล้าในการพิจารณาและมีสติ ถ้าสมาธิเข้าไปแล้วเงียบสนิท มันเป็นโมหะสมาธิ"

หลวงปู่ศรีเล่าการเที่ยวภาวนา และยกตัวอย่างให้พระหลวงพ่ออ่อนสีพระผู้เป็นบิดาฟังว่า..

“หลวงพ่อ...ผมจะขอย้อนเล่าสมัยผมไปเที่ยวธุดงค์ และยกตัวอย่างจิตสมาธิให้ฟัง” พระอาจารย์ศรีกล่าวขึ้นพร้อมพนมมือด้วยความเคารพ “การที่ผมกล่าวนี้มิใช่เพื่อโอ้อวดนะ เล่าให้ฟังเพื่อเป็นคติจะได้คิดพิจารณา”

มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยผมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นก่อนเข้าพรรษาปี ๒๔๙๒ ประมาณเดือนพฤษภาคม ผมได้กราบลาท่านเพื่อไปธุดงค์ กับเพื่อนสหธรรมิกรูปหนึ่งชื่อพระคำพอง ได้ตกลงกันว่าจะไปหาถ้ำพักอยู่บนเขา

เดินผ่านป่าเขาจึงถามคนแถวนั้นว่า “บนเขาพอมีถ้ำไหม?”

โยมตอบว่า “แม่ครับ ถ้ำนี้ชื่อว่าถ้ำคำไฮ ท่านอาจารย์มหาบัวก็เคยมาพัก แต่ขณะนี้มีเสือตัวดุร้ายอยู่ที่นั่น มันอันตรายมาก ไม่มีใครกล้าเข้าไปแถวนั้น อย่าไปเลยนะท่าน มันอันตรายมาก”

ผมบอกเขาว่า “จะไป ไปฝ่าอันตราย”

และถามพระที่มาด้วยกันว่า “จะขึ้นไปด้วยกันมั้ย?”

พระตอบว่า “ไม่ไปหรอก กลัวเสือกัดตาย”

ผมจึงต่อว่าพระเพื่อนว่า “ถ้ากลัวตายแล้วจะมาทำไม เรามาแสวงหาธรรม ถ้ากลัวตายจะเห็นธรรมเหรอ”

ในที่สุดผมจึงขึ้นไปคนเดียว ชาวบ้านจึงขึ้นไปส่งและทำแคร่สูงๆ ป้องกันเสือ เสร็จแล้วเขาก็รีบกลับลงมา ปล่อยให้ผมนั่งภาวนาอยู่กลางป่าเขาคนเดียว ถ้ำนี้เป็นถ้ำต่ำๆ ถ้าเสือมันมามันก็เข้าไปเลย นอกจากเสือแล้วที่ตรงนี้ยังมีเทวาอารักษ์ที่เข้มแข็ง ถ้าผู้ไม่กล้าหาญก็อยู่ยาก”

“แล้วอาจารย์ไม่กลัวเสือกัดตายหรือ?” (หลวงพ่ออ่อนสีเรียกหลวงปู่ศรีว่าอาจารย์) พระหลวงพ่ออ่อนสีกล่าวขึ้นด้วยความอยากรู้อยากทราบเป็นอย่างยิ่ง

“หลวงพ่อครับ...พอตกกลางคืนเท่านั้นแหละ ทั้งเสียงช้างเสียงเสือคำรามอยู่รอบๆ ใจที่เคยห้าวหาญในตอนกลางวัน ตอนนี้ชักหวั่นไหวอาลัยชีวิต ความกลัวตายที่เคยหลับสนิทมาช้านานพลันฟื้นตื่นขึ้นมา ได้ยินเสียงเสือร้องยิ่งคิด จิตใจก็ยิ่งกลัว กลัวจนขาสั่น หวาดหวั่นพรั่นพรึง ทางเดินจงกรมมันอยู่นอกถ้ำไม่กล้าจะออกไปเดิน ถึงแม้นนั่งอยู่ในถ้ำที่มีฟากไม้ไผ่ก็ยังกลัวอยู่ ปิดประตูเอามุ้งกลดลงก็ยังกลัวอยู่ มีแต่กลัวๆๆๆ อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก”

“กลัวตายแล้วท่านอาจารย์ทำอย่างไร?”

“ผมได้พิจารณาสอนตัวเองว่า...เราลาท่านหลวงปู่ใหญ่หลวงปู่มั่นมาปราบกิเลสในใจดวงพยศ แล้วยังจะมาแสดงอาการกลัวตายขายขี้หน้า เราจะมาหลบซ่อนความตายอยู่ในกลดอย่างนี้ มันเป็นการสมควรแล้วหรือ? อยู่ในกลดในมุ้งนี้มันตายไม่เป็นหรือ ที่ๆ มนุษย์ไม่เคยตายไม่มีในโลก ถ้ามันจะตายอยู่ตรงไหนก็ตาย หลวงปู่ใหญ่หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าไม่ว่าพระหรือโยมในที่สุดก็ต้องตาย เราพิจารณาตายก่อนที่จะตาย หรือจะตายทิ้งไปเปล่า เราจะเป็นใบลานเปล่าอ่านแต่ตำรา ฟังแต่ครูบาอาจารย์เทศน์อบรมสั่งสอน แต่ถึงเวลาเข้าสู่สนามรบจริง กลับกลายเป็นนักหลบผู้ขี้ขลาด เป็นปราชญ์ปลอมจอมลวงโลก เราจะเป็นอย่างนั้นหรือ? เมื่อคิดอย่างนั้นก็ปลงใจในธรรมว่ายิ่งใหญ่ที่สุด เอ้า!...คราวนี้หล่ะ มันกลัวตรงไหนเราจะแก้มันตรงนั้น ต่อแต่นี้ไปเราจะเชื่อเฉพาะพระธรรม เราเชื่อเรามานานไม่เห็นได้เรื่องอะไร เราควรเอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหัวหน้า ต่อไปนี้หัวใจและแข้งขาต้องเดินตามธรรม เราต้องอยู่กับธรรมสละตายกับธรรม ไม่ใช่อยู่กับเสือแล้วก็ตายกับเสือ

พระพุทธเจ้าก็บอกแล้วมิใช่หรือว่า สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไิฉนใจเราจึงมาเห็นสัตว์ทั้งหลายที่ร้องระงมอยู่ที่นี่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันไปเสียได้”

ถึงผมคิดสอนตนบอกใจตัวเองอยู่อย่างนั้น แม้นเวลาผ่านไป ๒-๓ วัน ความกลัวก็ยังไม่จางหาย ในวันที่ ๔ ตัดสินใจเปิดประตูออก เก็บกลดเก็บมุ้้งไม่ต้องกาง ให้เสือมันมองเห็นจะได้ตะครุบเอาไปกินง่ายๆ นั่งสมาธิอยู่ในถ้ำเสือมันเอาไปกินยาก ไปนั่งในที่โล่งแจ้งหน้าถ้ำให้มันจับเอาไปกินง่ายๆ สมน้ำหน้าที่มันขี้กลัวนักกลัวหนา

คิดสละตายว่า นั่งอยู่ที่โล่งตรงนี้เสือมันก็เป็นยาก ออกไปเดินจงกรมให้มันเห็นชัดๆ ดีกว่า มันจะได้จับไปกินเร็วๆ จะได้ตายไวไว ดัดดวงใจที่กลัวตาย

จึงตัดสินใจออกไปเดินจงกรม เมื่อออกไปเดินจงกรม เสียงเสือมันร้องคำรามอยู่ในที่ไม่ไกล เกิดความกลัวอย่างแรงกล้า ก้าวขาไม่ออก จึงเอามือยกขาให้ก้าวออก กัดเขี้ยวกัดฟันสู้ สู้กับเสือภายใน คือใจของตนเอง หัวใจนี่เต้นตุ๊บตับๆ ยังกับว่าจะทะลุหล่นร่วงออกมากองอยู่ข้างนอก

บีบบังคับจิตไปมาอยู่อย่างนั้น จิตดวงที่เคยกลัวจนจะหาโลกสมมุติอยู่มิได้ ก็ค่อยอ่อนความกลัวลง เมื่อจิตถูกบีบบังคับไม่ให้มีทางไป ถูกเราบังคับให้สู้กับความกลัว เดินจงกรมกลับไปกลับมาพักหนึ่ง จิตจึงรวมลงในทางจงกรมเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

พอจิตถอนขึ้นมา ความกลัวไม่รู้ว่าหายหน้าไปไหน ใจมีแต่ความกล้าหาญ กล้าจนเกินตัว จนถ้าเสือเข้ามาจะเข้าไปลูบหลังมันเล่น เขกหัวมันเล่นได้อย่างสบายเลย” หลวงปู่ศรีเล่าการปราบใจดวงพยศด้วยการต่อสู้อย่างเข้มข้นและท้าทาย

“เวลาจิตนี้ฝึกได้ มันกล้าถึงขนาดนี้หรือ? เมื่อฝึกจิตได้อย่างนั้นท่านอาจารย์ทำอย่างไรต่อไป” พระหลวงพ่ออ่อนสีถามต่อไปด้วยความสนใจและอยากรู้ในการผจญมารและภัยของพระลูกชาย

“เมื่อผมได้รับชัยชนะเรื่องความกลัว จิตใจก็ชื่นบาน ดีใจเป็นล้นพ้น อัศจรรย์ในพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา จึงรีบเร่งบำเพ็ญสมาธิปัญญาด้วยการพากเพียรอย่างหนักหน่วง หลังจากบิณฑบาต ฉันเสร็จแล้ว ก็ออกเดินจงกรมตลอดทั้งวัน พอพลบค่ำนั่งสมาธิยันสว่าง เร่งจี้จิตตัวเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่ท้อถอยปล่อยวาง แม้เดือน ๕ ฤดูแล้ง กลางวันอากาศร้อนแดดแผดเผาเปรี้ยงๆๆ ก็เดินจงกรมตากแดดอยู่อย่างนั้นทั้งวัน จิตใจมันเพลิดเพลินในสมาธิธรรมดื่มด่ำจนลืมวันลืมคืน ลืมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว ลืมเจ็บลืมตาย เหมือนว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์น้อยๆ

คิดว่าการลาท่านหลวงปู่ใหญ่หลวงปู่มั่นมาในคราวนี้ เราได้ธรรมสมบัติอันล้ำค่ากลับไปอวดท่านเป็นแน่แท้ แต่ก็ให้เกิดความสงสัยยุบยับลึกลับอยู่ภายในใจ ถึงกับอุทานว่า “เอ้!...จิตดวงนี้มันเป็นจังได๋ (อย่างไร) แต่ก็ไม่สงสัยไปมากกว่านั้น เพราะเสวยสมาธิธรรม ดื่มด่ำจนลืมพินิจพิจารณาในธรรมข้ออื่นที่ยิ่งกว่า”

เมื่อครบกำหนดที่ลาท่านหลวงปู่ใหญ่ปู่มั่นมา ก็เตรียมตัวลงจากภูเขาเพื่อหวนกลับไปหาท่านที่สำนักวัดหนองผือ เหมือนนกคุ่มน้อยโผบินกลับสู่รวงรัง ย่อมผวาเข้าซุกชอนไชใต้เงาปีกพ่อแม่ของมันอย่างเพลิดเพลินรื่นเริงและเมามัน

“หลวงพ่อ (อ่อนสี) ครับ...ผมมีเรื่องแปลกที่จะเล่าให้ฟังในระหว่างทางที่เดินธุดงค์กลับ” หลวงปู่ศรี กล่าวเน้นด้วยความเคารพอีกครั้ง

“คือในตอนเช้าในวันที่ลงมาถ้ำคำไฮนั้น มีเหตุการณ์แปลกๆ คือ ในระหว่างที่เดินลงจากถ้ำนั้นมาหมู่บ้าน มีนกคุ่มน้อยตัวหนึ่งน่ารักมาก มันมากางปีกเดินเต๊าะแตะๆ ไปมาๆ ขวางทางที่จะเดินไปมาอยู่อย่างนั้น

ครั้นเมื่อผมจะไปทางซ้าย มันวิ่งเหยาะๆ มาขวางทางซ้ายไว้

ครั้นเมื่อผมจะไปทางขวา มันก็วิ่งเหยาะๆ มาขวางทางขวาไว้

ไม่ว่าผมจะไปทางใดๆ นกคุ่มตัวนั้น ก็พยายามกันไว้ จะไม่ให้ไปอยู่อย่างนั้น

ผมจึงพูดกับนกคุ่มนั้นว่า “นกคุ่มน้อยตัวน่ารักเอย...เราอยู่ที่นี่ก็พอสมควรแล้วขอเจ้าจงอย่าขวางทางเราเลย เจ้าจงหลีกไปเสีย เราจะรีบไปหาท่านหลวงปู่ใหญ่หลวงปู่มั่นที่วัดหนองผือ ขอเจ้าจงอนุโมทนา”

พอผมพูดจบเท่านั้นแหละ นกคุ่มตัวนั้นก็กระพือปีกสยายสลัดปีกพึบๆๆ แล้วก็โผบินจากไป เหมือนว่ามันฟังภาษามนุษย์อย่างเรารู้เรื่อง

“นี้ผมว่ามันเป็นเรื่องแปลกพิสดารจริงๆ ที่นกรู้ภาษาคน” หลวงปู่ศรีกล่าวกับหลวงพ่ออ่อนสีที่พยายามฟังอย่างตั้งใจ


หลวงปู่ใหญ่หลวงปู่มั่นเพิ่นว่า เป็นโมหะสมาธิ

หลวงปู่ศรีได้สนทนาธรรมกับพระหลวงพ่ออ่อนสีต่อไปอีกว่า...

เมื่อผมลงจากถ้ำฯ กลับไปวัดหนองผือไปเล่าเรื่องให้หลวงปู่มั่นฟัง ท่านจึงว่า

“จิตของเราเมื่อสงบแล้ว มันไม่อยากทำอย่างอื่น พอนั่งสมาธิ จิตวิ่งเข้าไปหลบอยู่ในความสงบทันที โลกนี้โลกหน้า โลกไหนจะเป็นอย่างไรมันไม่สนใจที่จะพิจารณา พอเข้าสมาธิมันก็วิ่งเข้าไปสู่ความสงบทันที จิตมันเป็นอย่างนี้จนเคยชิน มันเหมือนกับว่าควายน้อยที่เคยแอบไปกินกล้า ถ้าเคยกินแล้ววันหลังมันต้องแอบไปกินอีก”

และหลวงปู่มั่นได้กล่าวย้ำว่า “โอ้ย!...สมาธิแบบนี้มันเป็นโมหะสมาธิ สมาธิมืด จิตขั้นที่เป็นสมาธิมืด มันไม่ได้เรื่องดอก ปัญญามันออกเดินไม่ได้ ถ้าไม่แก้ตายแท้เด้ะ อย่าเข้าสมาธิแบบนี้อีก”

“หลวงพ่อครับเมื่อได้อธิบายอย่างนั้น จากที่เคยคิดว่าเป็นสวรรค์กลับกลายเป็นนรก ผมจึงมาเร่งสมาธิ เร่งสติ แม้ทำถึงขนาดนั้น มันก็ยังหาทางที่จะหลบเข้าสมาธิ จึงต้องเร่งพุทโธๆ เร็วๆ ไวๆ เข้าไว้ ตลอดวันคืนเว้นแต่หลับ เมื่อนึกถึงคำหลวงปู่มั่นก็มานึกถึงเหมือนในสมัยผมเป็นหนุ่มขี่เกวียนขึ้นม้า เมื่อถึงสถานที่ที่มีคนเซ็งแซ่ เสียงดังแซ่วๆ แล้ววัวหรือม้านั้นมันอยากแวะเข้าไปทันที ดึงไว้เท่าไหร่มันก็ไม่ฟัง

จิตที่มันเคยไหลลื่นไปตามอารมณ์ของจิตที่ปรารถนาก็อย่างนั้นก็เหมือนกัน ถ้าหวังจะแก้ความคิดความเห็นให้ถูกต้องเป็น ปัญญาสัมมาทิฏฐิจิต ต้องอาศัยสติคุมเชิงอยู่ตลอดเวลา จิตใจคนเราที่ว่าแน่ๆ ก็เหมือนอย่างเดียวกันนี่ละครับ”


หลวงปู่ศรีจึงสรุปตอนท้ายให้พระหลวงพ่ออ่อนสีผู้เป็นบิดาฟังว่า...

“ฉะนั้น ผมบอกได้เลยว่า จิตของพ่อเวลานี้เป็นโมหะสมาธิเหมือนที่ผมเคยเป็น การทรมานหรือการงดในสิ่งที่มันต้องการ ต้องสังเกตติดตามอยู่ตลอด เผลอสติเมื่อใด เดี๋ยวจิตจะหันเหไปทางอื่นทันที เราต้องนำฮอย (ตามรอย) สะกดรอยจิตติดตามไป คือตามรอยจิตเหมือนกับตามรอยโจรขโมยหรือผู้ร้าย เพื่อจับตัวมาเข้าคุก หรือคล้ายๆ กับพวกล่าสัตว์เขานำฮอย (ตามรอย) สัตว์ถ้าเผลอบ่ (ไม่) ได้ นี่เป็นการฝึกสติ เมื่อสติดีแล้ว ก็อย่าปล่อยใจออกไปหลบเข้าพักสมาธิอย่างนั้นอีก ให้พยายามพิจารณาทางด้านปัญญา ด้วยการคลี่คลายสกนธ์กาย ด้วยอนุโลมและปฏิโลม แจกแจงให้เห็นสภาพความเป็นจริง ด้วยอสุภะ อสุภัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”

เมื่อหลวงปู่ศรีท่านกล่าวจบลง พระหลวงพ่ออ่อนสีได้ปีติเกิดความซาบซึ้งซึมซาบในธรรมคำสอนอันเป็นหลักแห่งความจริง ท่านทั้งสองได้สนทนาธรรมกันเป็นเวลานานพอสมควร เป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่งนัก สมเป็นสมณศากยบุตรพุทธชิโนรส

แม้ผู้เป็นบิดาจะบวชก่อน แต่ท่านทั้งสองก็เคารพธรรมคือหลักความจริง จึงนับว่าหลวงปู่ศรีท่านเป็นผู้กตัญญูรู้คุณต่อบิดาอย่างแท้จริง

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ภาพถ่ายหลวงปู่ศรี เมื่อครั้งที่จำพรรษาอยู่วัดหนองใต้
เดิมเป็นขาวดำ แต่โยมไปแต่งเป็นภาพสีแล้วนำมาถวายท่าน



ปีพุทธศักราช ๒๔๙๙
พรรษาที่ ๑๒
จำพรรษาที่ วัดป่ามหาวีระอุทการาม (วัดหนองใต้)
ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม


จะสอนคนต้องปราบผี

เมื่อต้องเดินทางไปยังอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม บ่อยๆ เป็นการไม่สะดวกที่จะสั่งสอนบิดาด้วยธรรมอันลึกซึ้ง ท่านจึงแสวงหาที่เหมาะสมเพื่อพักจำพรรษา ทราบว่าที่บ้านหนองใต้มีป่าพอเป็นที่อาศัยปฏิบัติสมณธรรมและหลบหลีกจากผู้คนทางจังหวัดร้อยเอ็ดที่เริ่มมาเกี่ยวข้องมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากในขณะนั้นจิตก็ยังมีกิเลส ยังไม่หลุดพ้นจากวัฏฏะทุกข์ทั้งหลาย การก่อการสร้างอะไรๆ ที่ใหญ่โตที่จะทำใจเสื่อมถอยจากคุณธรรมอันยิ่งต้องพักไว้ก่อน เพราะท่านพระอาจารย์มั่นมักจะพร่ำสอนศิษย์ว่า

“สมเด็จพระพุทธองค์นั้น ท่านประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ทรงประทานปฐมเทศนาในป่า ป่ามีคุณแก่พระกรรมฐาน เป็นที่น่าเคารพบูชาของพระกรรมฐาน

ธรรมทั้งหลายที่พระธุดงค์จะได้มานั้น ทั้งหมดมาจากความสงัดวิเวกทั้งนั้น

ในป่านั้นอุดมไปด้วยเทพที่จะมาอนุโมทนาสาธุการกับพระที่ได้มาปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอย่างดี ทั้งชื่นใจ ทั้งอนุโมทนายินดีปรีดาด้วย

เมื่อพระได้บำเพ็ญเพียรแผ่เมตตาให้ไปโดยรอบไม่มีประมาณ ไม่แต่มนุษย์ เทพ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ แม้แต่สัตว์น้อยใหญ่ จตุบท ทวิบาทโดยรอบย่อมได้รับกระแสแห่งความเยือกเย็นของการแผ่เมตตาบารมีของพระตลอด

การจัดสร้างสิ่งใดที่หรูหรา มากมาย ถือว่าเป็นของรกรุงรัง”


หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้ก้าวเดินตามแบบอย่างท่านพระอาจารย์มั่น แต่เนื่องด้วยคนภาคอีสานในสมัยนั้นยังนับถือผีสางนางไม้กันอยู่เป็นส่วนมาก และผีก็แสดงอำนาจให้คนที่ไม่สนใจศีลธรรมหวาดกลัวกันอยู่เสมอ

หลวงปู่ท่านได้พิจารณาว่า “ถ้าจะสอนคน ต้องเอาธรรมปราบผีให้ชนะเสียก่อน ถ้าเอาชนะผีได้ คนเหล่านั้นก็จะเชื่อพระรัตนตรัยว่าเป็นสิ่งประเสริฐอย่างแท้จริง แล้วคนที่นับถือผีก็จะหันเหมาทางธรรมด้วย”

การทำความดีย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา กล่าวคือ

ที่วัดบ้านหนองใต้ ในช่วงพรรษานั้นมีผู้ต่อต้านท่านมากมาย เช่น ยาคู (พระ) โซน (แถบ) บ้านหนองถ่ม ซึ่งเป็นพระมหานิกายที่มีกำลังแข็งแกร่งมากที่มาต่อต้านท่าน ไม่ให้สร้างวัดเขตอำเภอวาปีปทุม เพราะสมัยนั้นมหานิกายได้ต่อต้านธรรมยุตมากเลย พอท่านไปอยู่จึงถูกต่อต้านชนิดที่เรียกว่าถึงไหนถึงกัน (ปัจจุบันเขาเสียใจที่สุดที่ต่อต้านท่าน)


บันทึกประวัติวัดหนองใต้

วัดนี้ตั้งขึ้นครั้งแรกประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๙ ตั้งอยู่บ้านหนองใต้ ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม อยู่ริมหนองขนาดใหญ่ พื้นที่หนึ่งประมาณ ๒๕๐ ไร่ โดยคณะศรัทธาและหลวงพ่อพระอาจารย์ศรี มหาวีโร เคยจำพรรษาที่วัดนี้ ๑ พรรษา จากนั้นท่านก็ให้ภิกษุองค์อื่นอยู่แทน และระยะหลังมีอุปสรรค เลยทำให้วัดขาดพระไปนาน จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ ชาวบ้านหนองใต้ พร้อมด้วยชาวตลาดวาปีปทุมและคณะศรัทธา ได้พร้อมใจกันเสียสละซื้อที่ดินเพิ่มเติม ตลอดทั้งยกที่ดินถวายพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระอาจารย์ศรี มหาวีโร เพื่อให้ได้รับเข้าไว้ในสาขา ขณะบูรณปฏิสังขรณ์ มีคณะศรัทธาช่วยกันหลายหมู่บ้าน ทั้งที่มาจากทางใกล้และทางไกล ทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ช่วยกัน ที่ดินของวัดเดิมมี ๕ ไร่ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๖ ได้มีผู้บริจาคที่ดินเพิ่มจนได้เนื้อที่ ๒๐ ไร่ และคณะศรัทธาก็กำลังขยายที่ดินวัดออกไปอีก

รูปภาพ

ได้รับฉายา “หลวงปู่ศรีผีย้าน”

หลวงปู่ศรีท่านเล่าว่า...

“ที่อำเภอวาปีปทุม ที่แห่งนั้นมีผีดุ ผีเข็ดขวาง (ใครลบหลู่จะต้องได้รับความหายนะ) ประเภทความดุของผีถ้าเทียบกันแล้ว ผีที่อยู่แถบภูเขาไม่ร้ายแรงเท่ากับผีที่อยู่ตามทุ่งนา เพราะเราเคยสัมผัสมาแล้ว และที่เจอหนักที่สุดที่ทุ่งนาบ้านหนองใต้ ต้องสู้กันอยู่ถึงสิบห้านาทีผีมันถึงยอม คำว่า ยอม คือ ยอมธรรมะของเรา ที่มีเมตตาธรรมอันอ่อนนิ่มภายในจิตใจของเราแผ่ไปให้เขา เป็นต้น

ยามเมื่อมีคนโดนผีเข้า ก็กำหนดไปที่คนนั้นว่า เจ็บอยู่ที่ไหน (เจ็บอยู่ที่ท้อง) ถามว่าเจ็บอยู่ที่ไหน (เจ็บอยู่ที่ขา) ก็จะกำหนดเพ่งเข้าๆ ตรงที่เจ็บ จนกระทั่งล้มลงนอนไม่รู้สึกตัว พอรู้สึกตัวขึ้นมาก็ให้น้ำมนต์

ตอนที่เราไปปราบผีที่ทุ่งนา ทุกสายตาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ป่าบอนหนาๆ หมุนติ้วเลย เป็นมหัศจรรย์ที่เหมือนกับพลัง เป็นที่ร่ำลือกันนักหนา

แต่ที่หนองใต้นี้แรงมาก เขาสร้างหอผีผัวเมียให้คนไปกราบไหว้บูชา ในบริเวณนั้นมีจอมปลวกใกล้ต้นมะขามใหญ่

บางทีผีมันเอาคนไปซ่อนไว้ ชาวบ้านก็ช่วยกันหาทั่วบ้านทั่วเมืองก็ไม่เจอ แล้วเราก็ชี้ให้ชาวบ้านดูว่านั่นไง อยู่จอมปลวกใต้ต้นมะขามนั้นไง ชาวบ้านก็ไปเห็นขาชี้อยู่ ชาวบ้านก็ไปช่วยดึงออกมา

ในบริเวณนั้น ใครเข้าไปเอาไม้แห่งมาทำฟืนหุงต้มก็ไม่ได้ มะขามสุกที่หล่นจะเก็บมากินก็ไม่ได้ ต้องโดนผีเข้าทันที

เราก็ไปเดินดูทั่วบริเวณ ๑๒ ไร่ บริเวณศาลอันเป็นหอผีผัวเมียนั้น มันมีสิ่วด้ามหนึ่งตกอยู่ เราเห็นว่าสิ่วนี้น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะขณะนี้กำลังสร้างศาลาพักหลังเล็กๆ (วัดหนองใต้) เราจึงหยิบแล้วเดินมา จึงพิจารณาค้นหาว่า “เอ!...ผีตัวนี้มันอยู่ไหน มันหนีไปอยู่ไหน”

ขณะที่เดินไปใกล้คลองน้ำ มันก็กระโดดเกาะพึบเลย จึงกำหนดจิตเดินจงกรม เดินจงกรมก็ไม่ออก เราก็เริ่มหายใจไม่ออก เข้าไปในกลดไปนั่งสมาธิเป็นชั่วโมง แล้วเขาก็กระเด็นออกไปเอง

พอตกกลางคืนผีที่เป็นนายอำเภอ (ยศตำแหน่งทางผี) เขาไปสั่งผู้ใหญ่บ้านที่เป็นเสี่ยว (เพื่อน) ของตนว่า เสี่ยว...เฮาจะไปแล้วนะ อยู่ไม่ได้แล้ว เจ้าของเขามาแล้ว ให้ดูแลวัดด้วยเด้อ แล้วเขาก็แห่ช้างแห่ควายพร้อมด้วยบริวารย้ายถิ่นฐานหนีไปเลย

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ไม่มีผีสางนางไม้ไปรบกวนคนอีกเลย ชนทั้งหลายจึงขนานนามหลวงปู่ศรีว่า “หลวงปู่ศรี ผีย้าน” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


ผีเล่นหวย

ผู้เขียนขอกล่าวถึงผีตัวเดิมที่กระโดดเกาะขาหลวงปู่ศรี ดังที่หลวงปู่ศรีท่านเมตตาเล่าด้วยความขบขันต่อไปว่า “อย่าว่าแต่คนเลย ผีก็เล่นหวยเหมือนกัน คือผีตัวเดิมนี้แหละ”

ผีที่เป็นกำนันนี้ มาบอกเลขเสี่ยวที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน งวดแรกกถูก งวดที่สองก็ถูก พองวดที่สาม ต่างก็พากันทุ่มเต็มที่ ผลปรากฏว่าผิดไปตัวเดียว ผู้ใหญ่บ้านหมดตัว ถึงกับโมโหไปเตะหอผี ใช้ค้อนทุบหอผี ด่าว่า ทำไมมึงมาหลอกกู บักห่า บักเสี่ยว ไอ้ผีหัวค-ย

ผีมันก็บอกว่า เขาก็ไม่รู้ เพราะเขาก็เสียช้างไป ๓ เชือกเหมือนกัน (ช้างผี)

ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นเพื่อนผีก็ถามว่า “ทำไมเสีย”

“ก็เสียสิเพราะกูก็แทงหวยผิดเหมือนกันกับมึงนั่นแหละ”

“แล้วพวกมึงเป็นผีไปได้หวยมาได้อย่างไร?”

ผีตอบว่า “ไปได้หวยมาจากผีที่ภูเขาควาย เวียงจันทร์ประเทศลาว ผีที่นั่นคุยนักคุยหนาว่าให้หวยแม่น เราก็ทุ่มหมดตัวเหมือนกัน นึกว่ามันจะแน่ ที่ไหนได้ผีห่วยแตก หลอกแม้กระทั่งผีด้วยกัน”

นี่ผีก็เล่นหวยเหมือนกัน ตอนที่เล่าให้ญาติโยมฟังหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง


ยักษ์ตีศีรษะพระสารีบุตร

เรื่องเกี่ยวกับภูตผี และยักษ์ประทุษร้ายพระอริยเจ้านี้แม้ในครั้งพุทธกาลก็มีปรากฏให้เห็นดังนี้ คือ

...พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้นครราชคฤห์...ในสมัยนั้นพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่กโปตกันทราหาร (การที่ชื่อเช่นนี้เพราะในอดีตสถานที่นั้นมีนกพิราบเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่) พระสารีบุตรปลงผมเสร็จใหม่ๆ นั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาธิอยู่กลางแจ้ง ในราตรีเดือนหงาย

ขณะนั้นมียักษ์ ๒ สหายออกเที่ยวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ได้เห็นท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ยักษ์ตนหนึ่งจึงกล่าวกับยักษ์ผู้เป็นสหายว่า “สหาย! เราจะตีศีรษะสมณะรูปนี้"

ยักษ์ผู้เป็นสหายได้ฟังดังนั้นก็กล่าวห้ามถึง ๓ ครั้งว่า “สหาย! อย่าเลย ท่านอย่าทำร้ายสมณะ สมณะนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”

แต่ยักษ์ผู้เป็นสหายไม่เชื่อ ได้ตีศีรษะท่านพระสารีบุตรอย่างรุนแรง น้ำหนักที่ตีสามารถทำให้ช้างสูงตั้ง ๗ ศอก หรือ ๘ ศอก จมลงดินได้ หรือทำลายยอดภูเขาได้ ปฐพีหนา ๒๔,๐๐๐ โยชน์ ไม่อาจรองรับรูปกายยักษ์ชั่วนั้นได้ เปลวไฟจากอเวจีมหานรกพลุ่งขึ้นมาเผาผลาญยักษ์ ยักษ์ตนนั้นร้องครวญครางว่า “เราร้อนๆๆๆ...” แล้วตกลง ไปสู่อเวจีมหานรกในที่นั้นเอง!...

พระมหาโมคคัลลานะได้เห็นเหตุการณ์นั้น ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ จึงเข้าไปหาพระสารีบุตรแล้วถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านยังอดทนได้หรือ ยังพอเป็นไปได้หรือ ไม่มีทุกข์อะไรหรือ?”

พระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ผมพอทนได้ ยังพอเป็นไปได้ แต่เจ็บที่ศีรษะหน่อยหนึ่ง”

พระโมคคัลลานะ กล่าวสรรเสริญพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีท่านพระสารีบุตรมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เกิดเหตุการณ์ถึงขนาดนี้ ท่านเพียงกล่าวว่าผมพอทนได้ ยังพอเป็นไปได้ แต่เจ็บที่ศีรษะหน่อยหนึ่ง”

พระสารีบุตรกล่าวตอบและสรรเสริญพระโมคคัลลานะว่า “ท่านโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ท่านมหาโมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากที่เห็นยักษ์ ส่วนผมขณะนี้ไม่เห็นแม้แต่ปีศาจเล่นฝุ่น”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับการเจรจาปราศรัยเช่นนี้ ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

“จิตของผู้ใด ตั้งมั่นดุจภูเขาหิน ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ผู้ใดอบรมจิตได้อย่างนี้ ทุกข์จะถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน”

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทานชุณหสูตร)


ปลุกเสกจิตให้มีพลัง

...การที่เราออกเที่ยวจาริกไปวิเวก ย่อมอาจพบจิตวิญญาณมากมายมีทั่วโลก ถ้าเรามีจิตวิญญาณอ่อนกว่าเขา เขาก็อาจมารบกวนให้เดือดร้อนวุ่นวายได้ เดี๋ยวก็ว่า “ผีตรงนั้นดุ ผีตรงนั้นร้าย เดี๋ยวก็ผีปอบอย่างนั้นอย่างนี้ ผีไร่ ผีนา ทำลายอย่างนั้นอย่างนี้”

เราจะเอาพลังจิตใจอะไรไปสู้กับเขา จะใช้เวทย์มนต์คาถาไม่ได้ทั้งนั้น บางทีเกิดขวางบ้านขวางเมือง เกิดเหตุอันนั้นอันนี้ร้อยอันพันประการ ถ้าเราบำรุงจิตใจให้มีพลังอย่างว่า แล้วไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ปลุกเสกจิตใจเรานี้แหละให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเลย ปลุกเสกจิตใจให้เป็นผู้รู้ขึ้นมาเลย ไม่ต้องอาศัยเครื่องรางของขลังภายนอก ไม่ต้องอาศัยพระเครื่อง ไม่ต้องอาศัยเวทย์มนต์คาถาผ้ายันต์ เอาจิตใจพลังจิตเรานี้แหละให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้ แล้วใช้ประโยชนได้หมด แม้แต่ฤๅษีชีีไพรเขายังทำได้ ว่าแต่ทำจิตเราให้มีพลังเสียก่อน

โลกเราทุกวันนี้ไม่ใคร่เชื่อพุทธศาสนาเท่าไร สังเกตคนที่นับถือศาสนาทั่วๆ ไป พอได้ยินข่าวว่าผู้มีบุญเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ เฮโลกันไปหาน้ำมนต์วิเศษ เสียเงินเท่าไรไม่ว่า เฮโลกันไปที่นั่นที่นี่บ่อยๆ ว่าแต่ได้ยินข่าวว่าอะไรศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนเฮโลกันไป

บางคนไม่มีค่ารถค่าเรือขายไก่ขายกาไปวุ่นวาย ว่าจะไปเอาของดีให้ได้ แสดงว่าจิตใจยังไม่แน่วแน่ต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยังวิ่งหาสิ่งอื่นอยู่ ได้ยินมงคลตื่นข่าวที่ไหนเฮโลไปเลย เรียกว่าไม่แน่นอน (ไม่มั่นใจ) ความไม่แน่นอน (โลเล) มักจะผิดพลาด การนับถือพุทธศาสนาก็ทำนองเดียวกัน

จะเล่าให้ฟัง เคยมีพระองค์หนึ่ง นึกว่าตัวได้เรียนธรรมได้เคยนั่งภาวนา คงเคยทำได้บ้างไม่ได้บ้างตามเรื่อง ญาติโยมจึงนิมนต์มาพักที่ทุ่งนาหนองใต้ พักอยู่ใกล้ๆ ต้นไม้แห่งหนึ่ง

ตกพลบค่ำ พอมองเห็นอะไรลางๆ จึงขึงด้ายสายสิญจน์แล้วทำพิธีสวดมนต์ไล่ผี (โยมก็นั่งอยู่บริเวณนั้น) พอสวดไปหน่อยปรากฏมีดุ้นฟืนติดไฟขว้างหวือมาเฉียดหูพระ พระเริ่มใจคอไม่สู้จะดีซะแล้ว อีกสักครู่หนึ่งดุ้นไฟก็ปลิวหวือมาอีก ไม่รู้ใครขว้างมาจากทางไหนหนักๆ เข้าเกิดความกลัว อยู่ไม่ไหวเลยลุกวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน นี่แหละถ้าไม่ได้ฝึกจิตจนมีพลังเหนือผี ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน

ของพรรค์นี้ทำไม่ได้ง่ายๆ ต้องมีพลังในด้านภายใน พลังจิตของเราต้องสูงกว่าเขา (ผี) ถ้าหากมีพลังมากกว่าเขา แม้แต่อยู่บ้านอยู่เรือนมันก็ร่มเย็นไปเลย มันไม่มีอำนาจมาทำอะไรเราได้ ถึงจะมาก็มาไม่ถึง หรือแม้คนจะเอาเวทย์มนต์กลคาถามาใส่มาลองเราเหมือนอย่างพวกเขมร ว่ามีวัวธนูอะไรต่ออะไร มาไม่ถึงทั้งนั้น หากเรามีพลังจิตดี อาศัยพลังจิตอย่างเดียว ปอบผีอะไร มาไม่ถึงตัวเราทั้งนั้น

นี่แหละอำนาจของสมาธินี่มากจริงๆ แต่มันเป็นของลึกลับ ต้องทำให้มันเกิดขึ้น ให้รู้ชัดในเรื่องของเรา เราต้องพึ่งตนเอง มาเกิดก็มาคนเดียว ตายก็จะตายคนเดียว อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน จะไปพึ่งอะไร พึ่งอย่างอื่น พึ่งไม่ได้หรอก ต้องพึ่งจิตใจที่มันมีพุทธะ คือมีความรู้จริงนี้แหละ ความรู้จริงมันเป็นธรรมะ การประพฤติปฏิบัติมา มาจนเกิดความรู้จริงนั่นแหละ เป็นพระสงฆ์ คือผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ผู้เดินตาม รวมแล้วพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมอยู่ในจิตใจของเราหมด

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แทรกอยู่ในจิตใจของเราตลอดเวลา เป็นวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ของจิต ต้องเอาแบบนั้นจึงใช้ได้ ไม่ใช่ไปเจอเหตุการณ์แล้วจึงนั่งสมาธิ ต้องเป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลา เป็นปกติจิตจึงใช้ได้ นี่แหละหลักการมันเป็นอย่างนี้ เราต้องทดสอบได้ทุกระยะ แม้กระทั่งเดินไปเฉยๆ ก็รู้ว่า ตรงไหนมันอ่อนมันแข็ง มีผีมีสางที่ไหนมันหึงมันหวงก็รู้จัก มันหวงมากหวงน้อยรู้จักทันที”

เมื่อจิตเรามีกำลังจะกำหนดเพ่ง ภูตผี ปีศาจ เพ่งให้ตายก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านห้ามทำลายพวกภูตผี ปีศาจ หรือเปรต ท่านปรับอาบัติ เป็นถุลลัจจัย ท่านไม่ให้ไปทำลายเขา อำนาจของจิตนี้มันแข็ง ถ้าเราฝึกหัดจริงๆ อย่างท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านเคยพูดให้ฟัง เวลาไปที่ใด ผีมันเข็ดมันขวาง เดินผ่านไปใจก็สัมผัสรู้ได้

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐-๒๕๐๔
พรรษาที่ ๑๓-๑๗
จำพรรษาที่ วัดป่าสามัคคีธรรม
บ้านขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม


ประวัติวัดป่าสามัคคีธรรมได้บันทึกไว้ว่า...

ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ กำนันพรหมา รังษี เป็นทายกผู้มีศรัทธาในพระกรรมฐานอย่างแรงกล้า ได้จับจองที่ป่าซึ่งอยู่ติดกับป่าช้าประมาณ ๑๐๐ ไร่ เพื่อสร้างเป็นวัด เป็นเขตติดต่อกัน ๒ หมู่บ้าน คือบ้านขามเฒ่า บ้านกุดข้าวมัน

ประกอบกับในช่วงเวลานั้นพระอาจารย์จรัส ซึ่งเดินเที่ยวธุดงค์กรรมฐานผ่านมาทางหมู่บ้านขามเฒ่า กำนันพรหมา รังษี จึงนิมนต์ท่านมาอยู่ที่เสนาสนะป่าซึ่งตนจับจองไว้สร้างเป็นวัด แต่ท่านพระอาจารย์จรัสบอกว่า “ท่านบารมีน้อย สร้างวัดไม่สำเร็จหรอก ต้องรอท่านผู้มีบุญบารมีมากมาโปรด”

ต่อในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ พระอาจารย์ศรี มหาวีโร ออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐานจากจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร นครพนม เข้ากราบพระธาตุพนม แล้วออกเที่ยววิเวกตามป่าช้า ป่าโคก ป่ารกร้าง ผ่านมาพักอยู่ที่บ้านนาโดน

เมื่อท่านพระอาจารย์จรัสทราบข่าว จึงบอกให้กำนันพรหมา รังษีรีบไปนิมนต์ท่านพระอาจารย์ศรีมาโปรดชาวบ้านขามเฒ่า เพราะท่านมีลูกศิษย์มาก มีบุญบารมีที่สั่งสมมามากพร้อม และเป็นผู้ทรงศีลธรรมที่หาได้ยาก

เมื่อกำนันพรหมา รังษี ได้พบท่านพระอาจารย์่ศรี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาเป็นอย่างยิ่ง ปวารณาเป็นอุบาสกอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ศรีตลอดชีวิต แม้ตายสมบัติทั้งหมดก็ยกถวายท่านพระอาจารย์ศรี (กำนันตายทิ้งสมบัติไว้ ถวายหลวงปู่ศรี ๑๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนสมบัติอื่นๆ ญาติพี่น้องกำนันไม่ยอมให้ เงินจำนวนขนาดนี้สมัยนั้นถือว่ามาก)

เมื่อพระอาจารย์ศรี มาอยู่ที่เสนาสนะป่าแห่งนี้ ผู้คนศรัทธาเลื่อมใสต่อท่านเป็นอย่างมาก แต่ยังมีคนและพระอีกจำพวกหนึ่งที่เสียผลประโยชน์เสื่อมลาภสักการะและความนับถือ เมื่อเห็นพระกรรมฐานมาอยู่ มีผู้คนมานับถือเลื่อมใสศรัทธา ก็อดที่จะอิจฉาตาร้อนมิได้ ได้แสดงอาการรังเกียจและกลั่นแกล้งพระอาจารย์ศรี ต่างๆ นานา อย่างเช่น ไปแจ้งความว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์ ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาค้นวัด แต่ก็ได้เจออะไร บางวันพระไปบิณฑบาตก็เอากบเป็นๆ ใส่ในบาตรของท่าน บางวันท่านไม่อยู่วัดก็พากันแบกจอบเสียมมาขุดเสากุฏิ ทำลายข้าวของภายในวัด บางวันก็มาตะโกนด่าขับไล่มิให้ท่านอยู่ก็มี

แต่สุดท้ายพวกที่ทำนั้นเสียชีวิตหมด บางคนเมาเหล้าตกตลิ่งตายก็มี บางคนขับมอเตอร์ไซค์ตกน้ำตายก็มี บางคนก็ขับรถสามล้อตกน้ำตายก็มี

เมื่อชนทั้งหลาย เห็นผู้ที่ประทุษร้ายต่อท่านพระอาจารย์ศรี คนแล้วคนเล่าต้องถึงความหายนะฉิบหาย ความร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาเลื่อมใสก็เข้ามาแทนที่

ท่านพระอาจารย์ศรี ได้ปราบคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิให้หันหน้าเข้ามานอบน้อมต่อพระรัตนตรัยเป็นจำนวนมาก

ท่านจึงสร้างศาลาใหญ่เป็นศาลาสำหรับปฏิบัติธรรมให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าไม้เพิ่มเติมและอนุรักษ์ป่าเดิมเอาไว้

ชาวบ้านที่นี่ทำบุญไม่รู้จักอิ่มด้วยบุญ แม้นตอนเช้าพร้อมใจกันตักบาตรแล้ว ยังพร้อมใจกันด้วยศรัทธาไปวัดเพื่อตักบาตรที่ศาลาหอฉันอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะหาดูจากที่อื่นได้ยากยิ่งนัก หลวงปู่ศรีท่านได้วางรากฐานแนวทางการปฏิบัติเอาไว้ ให้ลูกศิษย์รุ่นหลังได้อยู่อย่างสบายและชาวบ้านได้อยู่อย่างมีความสุข

เมื่อท่านสร้างวัดเป็นหลักเป็นฐานมั่นคงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ท่านลืมไม่ได้นั่นก็คือ นิมนต์ครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพเลื่อมใสมาเหยียบวัดเพื่อเป็นสิริมงคล และให้ชาวบ้านได้รู้จักพระกรรมฐานที่ทรงคุณธรรม เช่น เจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ฯลฯ


ล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสมาธิ

หลวงปู่ศรีท่านได้เล่าถึงการล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสมาธิภาวนา (เฉพาะศิษย์ผู้ใกล้ชิด ผู้เขียนขอนำมาลง) ว่า...

...สมัยอยู่บ้านขามเฒ่า จังหวัดนครพนม ท่านเจ้าคุณโพธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม (ตอนนี้ท่านมรณภาพไปแล้ว) ได้นำพระน้องชายมาฝากให้อยู่ปฏิบัติธรรมด้วย พระน้องชายท่านเจ้าคุณฯ นี้ เป็นคนพูดยาก สอนยาก หยาบหนาสักหน่อย

วันหนึ่ง เป็นวันที่ญาติโยมจากในเมืองมาถวายผ้าป่า พระรูปนี้ออกไปบิณฑบาตตอนเช้า เดินออกไปก่อนเพื่อน มองไปเห็นปากกาไพล๊อตด้ามหนึ่งตกอยู่ภายในเขตวัด จึงเก็บเอาไว้ แต่แล้วด้วยโลภเจตนา อยากได้เป็นของเจ้าของ จึงไม่ยอมบอกแจ้งแก่ผู้ใด

เวลาได้ล่วงเลยผ่านมาหลายวัน เราเกิดเจ็บตาโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงนั่งพิจารณาหาสาเหตุแห่งโรคนั้น แต่เมื่อนั่งพิจารณาธรรมอยู่นั้น ได้นิมิตเห็นผ่านทางสมาธิภาวนาว่า “ดูจะมีเรื่องใหญ่ที่ไม่ดีเกิดขึ้นภายในวัด” เมื่อพิจารณาต่อไปก็ได้ทราบว่าพระเก็บปากกาได้ไม่บอกใคร ซึ่งเป็นอาการของการขโมย

แต่ว่าเรื่องนี้จะเป็นใครทำนั้น ถึงรู้ตัวอยู่ก็พูดไม่ได้เพราะว่ายังไม่มีพยาน จึงนัดประชุมสงฆ์ภายในวัด ประชุมกันตั้งแต่หัวค่ำจนไปถึง ๖ ทุ่ม ถามว่า “มีพระรูปใดทำผิดวินัยสงฆ์หรือไม่?” ก็ไม่มีใครยอมรับว่าได้ทำผิดศีลธรรมอะไร ใครๆ ก็แสดงว่า ตนมีศีลธรรมบริสุทธิ์ไม่มีใครยอมเปิดเผย

เมื่อไม่มีใครยอมรับ ในที่สุดเราก็ชี้หน้าพระรูปนั้นในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ พระรูปนั้น จึงค่อยบอกๆ เราถามว่า “ได้มานานรึยัง”

“ได้เมื่อวาน”

แต่เมื่อถูกไล่ถามไปถามมา ได้คำตอบเพิ่มอีกว่า ได้มาหลายวัน ได้มาเป็นเดือนในที่สุดบอกว่า ได้มาเกินกว่าเดือน

ตามธรรมวินัยแล้วนี้แสดงว่า เจตนาไม่บริสุทธิ์จะเอาของๆ เขา ซึ่งเจ้าของเขาไม่ได้ให้ ถือว่าเป็นอาการแห่งขโมย ต้องอาบัติหนักคือปาราชิก

พอจับผู้ร้ายทางธรรมวินัยได้ ได้ปากกาแล้ว จึงส่งให้เจ้าของเขา มอบให้กำนันเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองให้คืนเจ้าของเขาไป เขายังไม่ได้ทอดอาลัย ถ้าหากเขาทอดอาลัยว่าหายไปแล้ว พระรูปใดเอาไป พระรูปนั้นต้องอาบัติปาราชิก แต่พระรูปนี้อยู่ในระหว่างยังไม่แน่นอน เราจึงไม่ให้อยู่ด้วย ส่งกลับพระอุปัชฌาย์ทันทีเลย ผลสุดท้ายอยู่ไม่ได้ ต้องไปบวชเป็นพระมหานิกายอีก นี่แสดงว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติของตน

รูปภาพ
พระธาตุพนม จ.นครพนม เป็นพระเจดีย์ที่หลวงปู่ศรี มหาวีโร
มักจะไปกราบเมื่อเดินธุดงค์ผ่าน จ.มหาสารคาม



เที่ยวธุดงค์ เดินจากนครพนม-วัดป่ากุง

ศิษย์ที่ติดตามธุดงค์กับหลวงปู่ศรี มหาวีโร เล่าว่า...

ในฤดูแล้งปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จากเสนาสนะป่าช้าบ้านขามเฒ่า จังหวัดนครพนมมายังวัดป่ากุง จังหวัดร้อยเอ็ด มีหลวงปู่เป็นหัวหน้า พระอาจารย์อินทร์ พระอาจารย์เสาร์ สามเณรอุดร ประจักโกศรี และผ้าขาวกอง เป็นคณะติดตาม

หลวงปู่ศรีฯ ท่านจะเล่าให้ฟังในระหว่างพักแรมข้างทางเสมอว่า

“โน้น!!...ภูเขาลูกโน้น ถ้ำโน้น และเงื้อมผาโน้น เราเคยพักบำเพ็ญมาแล้ว เป็นที่จับใจไร้กังวลกับเรื่องเกลื่อนกล่นวุ่นวาย ถ้าพวกท่านที่ติดตามผมมา ต้องการมุ่งต่อแดนพ้นทุกข์อย่างถึงใจ ก็ควรแสวงหาที่อยู่บำเพ็ญ และฝากเป็นฝากตายกับธรรมทั้งหลายในที่เช่นนั้น ซึ่งเป็นดังองค์ศาสดาเสด็จมาประทับอยู่ต่อหน้า”

หลังจากพักหายเหนื่อยแล้วก็เดินอย่างเดียว ประมาณ ๗ วัน ๗ คืน สามเณรสะพายบาตร ๒ บ่า จนบ่าเป็นรอยด้าน เดินค่ำๆ มืดๆ ดึกๆ ดื่นๆ จีวร ตอนนั้นเป็นผ้าฝ้ายใช้แก่นขนุนในการย้อม ต้มแก่นขนุน และมีในเหมือด ทำให้สีไม่ตก

ออกเดินทางต่อมาที่บ้านคำพอก ผ่านไปทางอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร มีแต่เข้าป่าดงพงลึก เงื้อมถ้ำ ชะง่อนหิน ซอกหิน เดินผ่านทางบ้านด่านสาวดอย เข้าวัดบ้านน้ำกล่ำ ธาตุพนม ซึ่งเป็นสถานที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เคยมาวิเวก ภาวนา

หลังจากนั้นก็เดินต่อเข้าไปป่าเขาเข้าพักในถ้ำ หลวงปู่ก็อยู่ในถ้ำ ท่านบอกว่า...

“การอยู่ในป่า ในภูเขา ในถ้ำ ในเงื้อมผา เป็นความสง่าของพระกรรมฐาน เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็นที่น่ากลัว ช่วยพยุงความเพียรให้สะดวกยิ่งขึ้น พวกสัตว์ร้ายๆ มีเสือ เป็นต้น ช่วยพยุงความเพียรทางจิตใจได้ดี เพราะขณะกลัว ใจจะระลึกถึงธรรมเป็นที่พึ่ง การระลึกถึงธรรมนานเพียงใด ใจกับธรรมก็จะประสานสติปัญญาและความเพียรให้ดีขึ้นได้เพียงนั้น”

พระเณรก็อยู่สถานที่ข้างนอก พอปักกลดได้ ใช้ผ้าปู น้ำก็พอหาฉันได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเณร ธรรมเนียมพระกรรมฐานจะต้มน้ำฉัน จะต้องไปหาหินมาตั้งก่อไฟต้มน้ำถวายครูบาอาจารย์

- กรองน้ำ ด้วยผ้าธรรมกรก จะได้น้ำสะอาด จะได้ไม่มีสัตว์ พวกลูกน้ำต่างๆ

- นำน้ำที่กรองไปต้มใช้สำหรับฉัน สำหรับสรง

ในการต้มจะใช้กาต้มน้ำ เพราะจะมีประจำ บางทีใช้ไม้ไผ่ใหญ่ในการต้ม สบู่ ยาสีฟันจะใช้เกลือแทน ไม้สีฟันใช้ไม้โกธา เวลาอยู่สถานที่อย่างนั้นต้องไหว้พระสวดมนต์ หลวงปู่บอกเป็นประจำ

การบิณฑบาต จะเดินตามหลวงปู่เป็นหลัก ท่านรู้ระยะทางเพราะมาบ่อย ถึงจะหลงทางท่านก็มีทางออก ผ่านป่า ผ่านหนาม ลงเหว ขึ้นเขา เวลาบิณฑบาตท่านจะสอนว่า

“ให้ครองผ้าด้วยดีและสำรวม ไม่ให้มองโน้นมองนี้ มีสติทุกย่างก้าวที่เดินไปและถอยกลับ ให้ตั้งจิตรำพึงถึงธรรมที่เคยบำเพ็ญมาเวลาฉันให้พิจารณาปฏิสังขาโย นิโสฯ โดยแยบคาย ขณะฉันให้มีสติเป็นความเพียร โดยสังเกตระหว่างจิตกับอาหารที่เข้าไปสู่ชิวหาประสาทและธาตุขันธ์ อย่าให้จิตกำเริบลำพองมัวเมา เมามัน ไปตามรสของอาหาร ให้พิจารณาเพียงสักแต่ว่า เป็นธาตุ ๔ เป็นของปฏิกูล อย่าปล่อยสติปัญญาที่สัมผัสกับใจ ถ้าเผลอปล่อยใจให้หลงใหลมัวเมาในรสชาติไปเช่นนั้น เราจะเป็นหุ่นเชิดของกิเลสไปโดยไม่รู้ตัว”

หลวงปู่ท่านเป็นคนจริงจังพูดเล่นจะไม่มี แต่จะเทศน์ขบขำบ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็นานๆ

ยามแล้งหาน้ำยาก ท่านจะบอกว่า “เณรน้อยไม่ต้องหาหรอกน้ำ เราจะเป็นคนหาเอง” พอท่านนั่งกำหนดภาวนาดูสักพัก ท่านจะเรียกบอกว่า “เณรน้อยๆ น้ำอยู่ทางโน้น”

หน้าแล้งหาน้ำยากมาก บางครั้งใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวแทนการอาบน้ำ พระกรรมฐานเหงื่อจะไม่มีกลิ่นเพราะจะฉันตามอัตภาพ

แต่ก่อนใช้กรดน้ำตาลซึ่งเป็นน้ำตาลหวาน (หัวน้ำตาล) เวลาฉันน้ำจะใช้ผสมน้ำ ๑ แก้วใส่กรดน้ำตาลไป ๑ เม็ดก็พอ หลังจากต้มน้ำร้อนเสร็จ จะใช้เกลือผสมกับกรดน้ำตาล

ฉันน้ำร้อนเสร็จธุระก็จะไปเอาผ้าอาบน้ำปูเป็นที่นอนถวายหลวงปูทันที

ส่วนเณรน้อยก็จะถอนหญ้ารอบๆ บริเวณ และหาดูต้นไม้ที่ใช้ห้อยกลดได้ พอตกค่ำคืนก็ต่างคนต่างปฏิบัติ

ตอนเช้าต้องตื่นให้ทันหลวงปู่ ยาสีฟันเป็นตลับ เราต้องเตรียมให้หลวงปู่ มีเกลือ แปรงสีฟัน คอยถวายน้ำล้างหน้าและมีดโกนหนวด ปกติจะตื่นประมาณตี ๐๒.๐๐ น.-๐๓.๐๐ น. เป็นประจำ

ช่วงนั้นเดือน ๓ เดือน ๔ ฝนจะไม่ตก เป็นหน้าแล้ง ต้นดวง ต้นเสือโคร่ง ต้นพญามือหลัก อ้อยช้าง อ้ายสามสวน ฯลฯ ใช้เป็นยา การเดินธุดงค์จะถือของกินไปด้วยไม่ได้เลย

ด้านอรรถด้านธรรม ก็ภาวนาพุทโธ เดินก็พุทโธ ไม่ให้พูดกัน หลวงปู่ไปก่อน ส่วนผ้าขาวจะตามหลังสุด ปกติต้องปักกลดอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๒๐-๒๕ เส้น มีหลงทางอยู่สัก ๒ คืน เพราะฟังผิด ฟังเสียงไก่ป่าเป็นเสียงไก่บ้าน ตื่นตี ๐๒.๐๐ น.-๐๓.๐๐ น. ต้องเดินแล้ว เพื่อฟังเสียงไก่ สำหรับอาหาร บางคนมีเกลือก็ใส่เกลือ มีพริกก็ใส่พริก มีข้าวใส่ข้าว

พอตะวันบ่ายคล้อยลงจากภูเขาหลังภูพาน มากาฬสินธุ์ ข้ามป่า ข้ามภูเขา ข้ามถ้ำมาถึงเขื่อนลำปาว เข้าพักบ้านผักกาดหย่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ในตอนเช้า จากนั้นก็ไปบ้านนาขาม ดงแม่เผด เข้าเขตอำเภอโพนทอง มาบ้านคำผอง ออกไปอำเภอกมลาไสย มาข้ามแม่น้ำชีที่กมลาไสย ไปเมยวดี พักอยู่ที่นั่น แล้วถึงมาวัดป่ากุง

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
เจดีย์บรรจุอัฐิหลวงปู่หวา จตฺตสลฺโล

รูปภาพ
ซุ้มประตูทางเข้าวัดป่าศรีสมพร หรือวัดหัวดง


ปีพุทธศักราช ๒๕๐๕-๒๕๐๖
พรรษาที่ ๑๘-๑๙
จำพรรษาที่ วัดป่าศรีสมพร (หัวดง)
บ้านน้อยหนองเค็ม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม


บันทึกวัดหัวดง กล่าวไว้ว่า...

...เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๕-๒๕๐๖ ท่านพระอาจารย์ศรี มหาวีโร ท่านมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย นิยมอาศัยปฏิบัติสมาธิภาวนาอยู่ตามป่าช้า เมื่อท่านทราบว่า ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นหลายรูป เคยเดินธุดงค์ผ่านมาพำนักป่าช้าบ้านน้อยหนองเค็ม สถานที่แห่งนี้จึงนับว่าเป็นสถานที่สำคัญควรแก่การรักษา ควรสร้างเป็นวัดป่าสำหรับปฏิบัติกรรมฐาน เพราะกาลเวลาผ่านไปจะได้เป็นเครื่องระลึกถึงความลำบากลำบนของพระกรรมฐาน อีกทั้งป่าเขาก็เหลือน้อยลงทุกที ถ้าไม่รีบจับจองรักษาไว้ป่าเขาก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา

ในขณะที่ท่านอยู่วัดหัวดงนี้ ท่านได้สร้างเสนาสนะไว้มากหลายอันเป็นมรดกในทางโลก ส่วนมรดกทางธรรมท่านได้อบรมสั่งสอนสานุศิษย์จนถึงขั้นเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มีอยู่หลายรูป เช่น หลวงปู่หวา จตฺตสลฺโล (มรณภาพแล้ว สร้างเจดีย์ไว้ที่วัดหัวดง)

ส่วนชาวจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น ได้ศรัทธาเลื่อมใสท่านเป็นยิ่งนัก วันพระวันศีลจะมีศรัทธาเข้ามาปฏิบัติธรรมอยู่มิได้ขาด นับว่าท่านได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชาวนครพนมอยู่มิใช่น้อย

รูปภาพ
ต้นบากภายในวัดหัวดง


กลัวผีต้องอยู่ในป่าช้า

ส่วนในทางพระภิกษุสามเณรนั้น ท่านจะแนะนำให้ไปอยู่ในสถานที่น่ากลัว เช่น ป่าช้า เป็นต้น เพราะการอยู่ในสถานที่เช่นนั้น จะทำให้มีสติตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

เพราะท่านกล่าวว่า ถ้าหากลูกศิษย์คนไหนเป็นคนขี้ขลาด กลัวผี ท่านจะไล่เข้าไปเยี่ยมป่าช้า คืนหนึ่งให้ไป ๓ หน คือกลางคืน ครั้งที่ ๑ สามทุ่ม ครั้งที่ ๒ ไปเที่ยงคืน ครั้งที่ ๓ ไปตีสาม

ยิ่งกลัวเท่าไหร่ยิ่งต้องเข้าไปป่าช้า โดยเฉพาะในเวลาเขาเผาผี เมื่อถึงแล้ว มีที่นั่งก็นั่ง ไม่มีที่นั่งก็ยืนกำหนดดู ฝืนจิตใจให้มันกล้าหาญ

หลวงปู่ศรีท่านสอนว่า “จะไปกลัวอะไรกับความตาย แม้นว่าอยู่ที่ไหนมันก็ตาย ทีจิ้งจก ตุ๊กแก เขาวิ่งอยู่ทั่วไปทำไมไม่เห็นเขากลัว ตัวนี้มันโง่กว่าจิ้งจกตุ๊กแกอีก กลัวว่าไม่ตายมันจะตายอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ ที่เขาไปทหารเขาไปสงคราม เป็นเป้าให้เขายิงตายอยู่เยอะแยะ ตัวพวกเราอยู่เฉยๆ มันจะตาย ก็ให้มันตายไปเลย”

ท่านย้ำว่า “ต้องหาวิธีการสอนมันอยู่อย่างนั้น หนักเข้าจากคนขี้ขลาดก็จะกลายเป็นคนกล้าหาญ นี่ถ้าพวกเราขี้ขลาดขี้กลัวกันอยู่อย่างนั้นแล้วปล่อยตามมัน ชั่วชีวิตก็แก้ความกลัวไม่หาย ต้องสู้นะสิ่งเหล่านี้ พระพุทธองค์ท่านยังสอนไว้ ให้ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ เอาความไม่โกรธเข้าสู้ ชนะความกลัวด้วยความกล้า ถ้าขันติธรรมไม่มีก็บำเพ็ญให้มีขันติธรรมก็คือสู้นั่นแหละ”


จิตเสื่อม/ออกเที่ยวธุดงค์

มื่อออกพรรษาปี ๒๕๐๖ แล้ว ท่านหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้ดำริว่า

“เราปรารถนาจะปลีกวิเวกตามสมณวิสัย เพื่อห่างไกลผู้คนและญาติโยม เนื่องจากได้สร้างวัดมาหลายวัดแล้วเป็นภาระหนักอกอยู่ไม่สร่าง จนกระทั่งจิตนี้เข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง เสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ใจที่เคยมีความสุขอันเลิศเลอ เคยกระหยิ่มยิ้มย่องด้วยธรรมอันเบ่งบานข้างใน มาบัดนี้ได้เกิดความเสื่อมถอย คุณภาพจิตได้รับความทุกข์อยู่เต็มหัวใจ เหมือนคนมีสมบัติเป็นร้อยล้านพันล้าน แล้วสมบัตินั้นก็พลันมาฉิบหายมลายไปต่อหน้าต่อตา กลายเป็นยาจกทุคตะเข็ญใจในทันใด บุคคลนั้นจะตั้งตัวรับและยืนหยัดได้อย่างไร? ยิ่งธรรมสมบัติคือ สมาธิที่เคยได้ลิ้มรสอันเลิศค่าด้วยแล้ว มาบัดนี้เสื่อมถอยไปต่อหน้าต่อตา เสื่อมเพราะความไม่ถนอมรักษา ตายใจว่านี้เป็นธรรมสมบัติอันจีรังมั่นคง จะสร้างความสุขให้เราได้ตลอดอนันตกาล แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะจิตในขั้นนี้ ยังมิใช่วิมุตติจิต

เร่งปฏิบัติสมาธิภาวนาสักเท่าใดเพื่อให้สมาธิธรรมนั้นกลับคืนมา ก็หาได้อย่างเดิมไม่ จิตที่เคยคล่องปราดเปรียวเหมือนพญาเสือโคร่งตัวฉลาด ที่ล่าเหยื่อคือกิเลสได้ทันท่วงที มาบัดนี้เหมือนแมวเชื่องตัวน้อยๆ

ได้แต่นึกถึงคำสอนสั่งของท่านพระอาจารย์มั่นผู้เป็นเจ้าชีวิตจิตใจ มากระตุ้นเตือนให้เกิดกำลังใจว่า

“...อย่าส่งออกไปข้างนอก อย่าส่งไปอดีต อย่าส่งไปอนาคต

...การสร้างบารมีต้องมีร้องไห้น้ำตานองหน้า เหมือนกับป่าช้าที่เยือกเย็น

...พระนิพพานมันอยู่เหนือตาย ต้องกัดเหล็กกัดขาง* ใจกล้าที่สุดจึงจะถึงมรรคถึงผล”


จึงย้อนนึกถึงสมัยพุทธกาลที่พระโคธิกะ ท่านจิตเสื่อมจากสมาธิและฌาน ถึงขนาดฆ่าตัวตายมาแล้วก็มี

นั่งคิดอยู่เพียงลำพังว่า “ถ้าหลวงปู่ใหญ่ปู่มั่นยังมีชีวิตอยู่ ท่านต้องช่วยแก้ปัญหาอันหนักอกนี้ให้แก่เราได้เป็นแน่ แต่นี่ท่านนิพพานผ่านไปแล้ว ใครหนอจะพอช่วยเราได้บ้าง ก็นึกได้แต่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง จังหวัดอุดรธานี” จึงตัดสินใจเที่ยววิเวกภาวนาผ่านป่าเขาและพักตามถ้ำ โดยจุดหมายคือวัดป่าหนองแซง อุดรธานี

----------------------------------------------------------
* ขาง คือ เหล็กชนิดหนึ่งมีความเบากว่าเหล็กทั่วไปและไม่ขึ้นสนิม


รูปภาพ
จากซ้าย : ป่าที่ถ้ำพระเวส, ศาลาทอดยาวไปตามเวิ้งถ้ำใต้แนวผา,
น้ำที่ไหลซึมจากหินใต้ผา ที่เล่ากันว่าถ้าพระมาอยู่ปฏิบัติไม่ดี น้ำจะไม่ไหล



ธุดงค์ถ้ำพระเวสครั้งที่ ๒

หลวงพ่อทองอินทร์ ผู้ติดตามหลวงปู่ศรีในครั้งนั้นได้เล่าว่า...

...ออกจากนครพนมแล้วหลวงปู่ศรีท่านนำสานุศิษย์เดินธุดงค์ก็มุ่งหน้าไปยังอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร พักที่ถ้ำตางด ถ้ำพระ ถ้ำพระเวส

เมื่อถึงถ้ำที่พักหลวงปู่ศรีท่านสอนว่า “ถ้ำพระเวสนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าพระที่มาอยู่ไม่ภาวนานิดเดียวน้ำก็ไม่ไหลแล้ว ไม่มีน้ำใช้ ให้พากันตั้งใจปฏิบัติสมาธิภาวนา ระวังนะถ้าไปกินไปนอนเฉยๆ ระวังจะไม่มีน้ำใช้นะ”

เวลาฉันอาหารท่านสอนให้พิจารณา ถ้ามองเห็นเนื้อเห็นอะไรต้องพิจารณาลงไป ให้เห็นตอนที่มันสดๆ ด้วย ให้เพ่งลงไป เพ่งลงไป จนบางทีมันก็กลืนไม่ลง เพราะพอพิจารณาก็จะค่อยๆ เห็นเป็นตัวขึ้นมา เกิดกลิ่นเหม็นคาวขึ้นมา พวกไก่ ปู ปลา พวกนี้ เราเอาเขาไปต้มกินน้ำกุย (เหม็นสาบ) น้ำคาวของเขา ถ้าไม่พิจารณามันก็อร่อย ท่านให้พิจารณาทวนกระแสตามหลักปฏิสังขาโย อย่าไปพิจารณาให้มันอร่อย เคี้ยวๆ กลืนๆ ผสมกับน้ำลาย ให้พอกลืนลง

บางทีพิจารณาข้าวจนกลายเป็นตัวหนอนขึ้นมาไต่ยึบๆ ยับๆ ฉันไม่ลงก็ถอยออกพิจารณาอะไรมันเป็นธรรมไปหมด สำหรับพระผู้มีสติ เดินไปก็จงกรม เดินมาก็จงกรม ถ้ำนี้ลิงอาศัยอยู่แถวนี้เยอะมาก คนก็ตกใจลิง ลิงก็ตกใจคนเหมือนกัน

เดินไปบิณฑบาตที่บ้านแจ้ง ๕-๖ กิโลเมตร เดินไปกลับเป็น ๑๐ กิโลเมตร กลับมาถึงที่นี่ประมาณ ๑๑ โมง ฉันบิณฑบาตกับหมากหัวแห่ ฉันเสร็จเอาน้ำมาเทใส่บาตรแล้วกวนน้ำเทลงพื้น ไว้ให้นกกามันมากิน ไปบิณฑบาตบางวันได้ไม่พอฉัน ต้องแบ่งกันกับเพื่อนพระ แล้วค่อยแยกทางกันขึ้นไปบนถ้ำเพื่อบำเพ็ญความเพียรของใครของมัน บางวันก็ได้มะขาม ๑-๒ ข้อ

บางวันก็ได้หมกเขียดตะปาด หมกทั้งไส้ทั้งขี้อะไรหมดเลย ไม่เอาอะไรออกเลย ขาเหยียดมาเลย เล็บมันก็กล้ายกับนิ้วมือคน ก็ได้โอกาสพิจารณาเกิดความสลดสังเวชไปในตัว เพราะมันฉันไม่ลง ได้พิจารณาอย่างละเอียด ก็ได้ธรรมะไปในตัว

หลวงปู่ศรีท่านบอกว่า “...เส้นทางขึ้นถ้ำนี้มีพระทองคำที่ภูมิเจ้าที่รักษาอยู่ แต่เราไม่เอาออก บางครั้งจะมีงูเหลือมนอนขวางปากทางเข้าถ้ำอยู่ เขาเฝ้าสมบัติของเขา ต้องเอามือตบด้านข้างเขาเบาๆ เพื่อขอทางเข้าไปดูสมบัติหน่อย เขาก็ขยับให้เข้าไปดู”

สมัยก่อนหลวงปู่พาลูกศิษย์ไปอยู่แต่ที่กันดาร อยู่ลึกในป่าในเขา คนไหนทนได้ก็อยู่ คนไหนทนไม่ได้ก็ถอย โดยอาศัยมติว่า “บารมีเกิดในที่กันดาร” “มารไม่มีบารมีไม่เกิด” พระสมัยก่อนต้องใช้ความอดทนมาก


หลวงปู่บัวแก้จิตเสื่อมให้

เดินจากอำเภอนาแก สกลนคร ถึงวัดป่าหนองแซง หนองวัวซอ อุดรธานี ใช้เวลาแรมเดือน เมื่อถึงที่หมายหลวงปู่ศรีจึงรีบเข้าไปกราบแทบเท้าหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ด้วยความเคารพยิ่ง ท่านทั้งสองเป็นเหมือนพ่อลูกที่จากกันไปนาน เมื่อพบกันย่อมถามถึงความสุขทุกข์ในเพศพรหมจรรย์ หลวงปู่บัวท่านบอกว่า “จิตของท่านเองได้ผ่านพ้นจากวัฏฏะทุกข์ไปแล้ว โดยอุบายธรรมอันแยบคายของท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน”

“แล้วจิตของท่านศรีล่ะเป็นอย่างไร? พอผ่านพ้นไปได้ในปัจจุบันชาติหรือไม่?” หลวงปู่บัวถาม

หลวงปู่ศรีก็เล่าความที่จิตเสื่อมถอยตั้งแต่ต้นจนจบให้ท่านหลวงปู่บัวฟ้ง ท่านทั้งสองนั่งสนทนาธรรมทางด้านจิตใจจนเช้ายันค่ำ พูดแต่ภาษาธรรมล้วนๆ ดังพระสาวกในครั้งพุทธกาล แม้จะมีแขกโยมที่ไหนมานมัสการก็งดพักเอาไว้ก่อน ด้วยว่าเวลานี้เป็นเวลาธรรมสากัจฉาหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการปฏิบัติเพื่อยกจิตขึ้นสู่ธรรมขั้นสูงนั้นเอง

เมื่อสนทนาจบหลวงปู่บัวท่านบังคับเคี่ยวเข็ญหลวงปู่ศรีว่า...

“จิตเสื่อมแก้ยากนะท่านศรี สติ สมาธิ และปัญญา มันก็เสื่อมไปด้วยกัน จิตวิ่งไปตามสัญญา ทีแรกก็เพียงสังขารปรุงไปต่างๆ ในที่สุดก็เป็นสัญญา ทำให้เพลิดเพลินเดี๋ยวไปเที่ยวนรกสวรรค์ ทำให้เจ้าของเสียสมาธิ เสียสติ เสียคุณธรรมในด้านภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็คิดว่า ตัวเองได้คุณธรรมชั้นสูง แล้วก็ตื่นเงาตัวเอง

คนที่จะแก้จิตเสื่อมได้ต้องมีความเพียรกล้าที่สุด จิตเสื่อมนั้นเอาคืนยาก ต้องคุมให้ดี รักษาให้ดี อย่าได้นอนใจ ต้องตั้งใจให้ดีถึงจะได้ ให้ไปเร่งบำเพ็ญภาวนา ไม่ไม่ได้ ต้องเร่งปฏิบัติ จิตเสื่อมนี้ต้องใช้เวลา และความตั้งใจอย่างจริงจัง ตัดความกังวลตัดหมู่ตัดคณะให้หมด แล้วพากเพียรรวมจิตให้เป็นเอกจิตให้ได้

จิตนี้เสื่อมรอบลงได้เพราะความเพลิดเพลินในการงาน ความเพลิดเพลินในการสนทนา ความเพลิดเพลินในการหลับ ความเพลิดเพลินในการคลุกคลี ความหลุดพ้นแห่งจิตมีอย่างไรไม่พิจารณาอย่างนั้น จิตเสื่อมเกิดได้ด้วยมูลเหตุข้างต้น ดังที่ผมเล่ามา

ยิ่งการเสื่อมครั้งนี้ของท่าน เป็นการเสื่อมจากธรรมที่เคยบรรลุ ยิ่งเป็นการยากลำบากเท่าทวีคูณ ไม่เพียงแต่สมัยนี้เท่านั้นแม้ในสมัยพุทธกาล ท่านพระโคธิกะเสื่อมจากฌานถึง ๖ ครั้ง ในครั้งที่ ๗ ท่านไม่ยอมให้เกิดขึ้น ยังทำอัตตวินิบาตปรินิพพาน พระศาสดายังชมเชยว่า

“ภิกษุชื่อโคธิกะ เป็นปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยปัญญาเครื่องทรงจำ มีฌาน ขึ้นดีแล้วในฌาน ในกาลทุกเมื่อ ประกอบความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ไยดีชีวิต ชนะเสนาแห่งมัจจุได้แล้ว ไม่มาสู่ภพอีก ถอนตัณหาพร้อมทั้งราก ปรินิพพานแล้ว”

ขอให้ท่านเด็ดเดี่ยว เอาอย่างพระพุทธสาวกในครั้งพุทธกาล เอาแบบฉบับของท่านพระอาจารย์มั่นมาสอนใจอยู่เสมอ ท่านจะแก้จิตที่กล่อมให้เจริญขึ้นได้อย่างแน่นอน”

จากนั้นท่านก็ให้อุบายธรรมต่างๆ อีกมากมาย หลวงปู่ศรีจึงนำไปปฏิบัติแบบไม่ไยดีในชีวิต ทุ่มกำลังสติปัญญาที่มีทั้งหมด

หลังจากนั้นบางวันก็ได้สนทนาธรรมกับท่านหลวงปู่บัวอีก คราวนี้ตั้งแต่เวลาหลังฉันจังหันเช้าจนถึงเวลาปัดกวาด ธรรมะที่สนทนาล้วนเป็นธรรมะสำคัญๆ เกี่ยวกับธรรมภายในอันเร้นลับ เรื่องจิตอวิชชา ตัวครองบัลลังก์คือใจมาช้านาน


หลงเสียงนาง

หลวงปู่ศรีท่านเล่าต่อไปอย่างน่าฟังเป็นคติว่า...

ในขณะที่ท่านเร่งปฏิบัติตามอุบายของหลวงปู่บัวอยู่นั้น ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง จนเกิดความกังวลกลายเป็นความกลัว ทำอะไรกลัวจะผิดจะพลาดไปเสียหมด

วันหนึ่งเดินจงกรมอยู่ริมป่าด้านติดกับทุ่งนา มีกลุ่มหญิงสาวชาวบ้านมาหาปู ปลา กบ เขียด เอาสวิงมาซอนกุ้ง เสียงคุยกันดังแวดๆ บ้าง ซอนกุ้งไปพลาง ขับเพลงไปพลาง บ้างหยอกเหย้ากันไปพลาง หัวเราะกันไปพลางอยู่ในกลางทุ่งนานั้นบ้าง เสียงนั้นได้เข้ามากระทบจิตชั้นละเอียดของท่านอย่างแรง เหมือนอย่างที่พระบรมศาสดาตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! เราไม่เห็นเสียงอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง
อันจะยึดจิตของบุรุษตั้งอยู่ได้เหมือนเสียงแห่งสตรี”


จริงอยู่เสียงอื่นไม่อาจแผ่ไปทั่วสรีระบุรุษได้เท่ากับเสียงสตรี ข้อนี้เป็นความจริง แต่สำหรับหลวงปู่ศรีฯ แล้วกายและจิตท่านไม่ได้หวั่นไหวไปตามอำนาจเสียงและกิเลสชั้นหยาบแบบชาวโลกนั้น แต่เสียงนั้นเข้ามากระทบจิตที่กำลังพิจารณาธรรมขั้นสูง เพราะในขณะภาวนานั้น จิตท่านประหวัดถือเอาเสียงนั้นเป็นนิมิต เสียงสัตว์นั้นเข้ามากระทบถึงจิตข้างใน ท่านจึงตกใจเกิดความกลัว จึงนำความนั้นไปปรึกษาหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ท่านจึงให้อธิบายธรรมว่า “ตอนนี้เสียงสตรีมันเข้าถึงจิตแล้ว ให้นั่งสมาธิแทน อย่าไปเดินจงกรม หยุดการเดินจงกรม นั่งสมาธิเพียงอย่างเดียว อย่ายุ่งเกี่ยวกับสิ่งใด ถ้าจะเดินจงกรม ก็เดินเพื่อพักผ่อนอิริยาบถก็เพียงพอ”


จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น

ท่านหลวงปู่ศรี เมื่อรับฟ้งโอวาทจากหลวงปู่บัวแล้ว ท่านจึงตั้งสัจจะว่า “ถ้าจิตยังไม่บรรลุธรรมที่พึงประสงค์จะไม่ยอมลุกไปจากที่ เราจะยอมตายถวายชีวิตด้วยสัจจะบารมี”

ปฏิบัติคล้ายที่เคยทำมา แต่หนักหน่วงกว่าเดิม โดยท่านนั่งสมาธิอยู่ตั้ง ๕ วัน ๖ คืนแต่ว่าเปลี่ยนอิริยาบถให้ครั้งเดียวเท่านั้น ตั้งแต่เช้ากลางวันไปถึงค่ำ เวลา ๑๒ ชั่วโมงเปลี่ยนครั้งหนึ่ง เปลี่ยนคือขยับขายกขึ้นแล้วก็เอาลงเท่านั้น ขาหนึ่งก็วางไว้อย่างเดิม แล้วนั่งต่อไปอีกจนรุ่งสาง จึงยกขาเปลี่ยน หมายความว่าใน ๒๔ ชั่วโมง ยกขาขึ้นเพียง๒ ครั้ง

จะเป็นจะตายอย่างไรก็ตามก็จะนั่งให้มันได้ ไม่ยอมหนี สู้อยู่อย่างนั้น เอาไปเอามา มันก็ยอมเราเท่านั้นแหละ

เอากาเล็กๆ ใส่น้ำเอาไว้จิบพอชุ่มคออยู่นั่น ร้อนก็อยู่นั่นหมด อะไรก็อยู่นั้นหมด สู้แล้วเรื่องกลางคืนกลางวันไม่ได้สนใจ เรื่องหลับนอนไม่ได้สนใจ

ทุกขเวทนาปรากฏปานประหนึ่งว่า “หมดทั้งแผ่นดิน ทุกขเวทนามารวมอยู่ที่ร่างกายเราคนเดียว ไม่มีทุกข์อะไรจะเทียบทุกขเวทนาในครั้งนี้ได้ ประหนึ่งว่านรกทั้ง ๘ ขุมมาเกิดมารวมพร้อมกันที่กายใจเรานี้ทั้งหมด ถึงขนาดที่ว่ามันดังสะเทือนไปทั่วสรรพางค์กาย มันร้อนรุ่ม เสียงดัง ตุ๊กๆ ตั๊กๆ ตุ๊กๆ ตั๊กๆ เหมือนกับเสียงโรงสีไฟโรงสีข้าวมันวิ่งพล่านเร่าร้อนไปหมด ปรากฏว่าน่องเท้าซ้ายทั้งที่มีเนื้อหนาๆ ซึ่งเอาขาขวาทับอยู่ข้างบน เกิดพุพองขึ้นโตเท่าหัวแม่มือ ร้อนคุกรุ่นเหมือนถูกไฟเผาลนอยู่อย่างนั้น ทุกข์ทรมานแสนสาหัสสุดเหลือที่จะกล่าวพรรณนาได้”

ถึงอย่างไรก็ดี เราก็จำต้องพินิจพิจารณาอยู่อย่างนั้นๆ เพราะอาศัยขันติคือความอดทน นั่งพินิจพิจารณาคลี่คลายสังขารส่วนต่างๆ จะตายก็ยอมตาย ไม่เสียดายอาลัยในชีวิตซึ่งเป็นสิ่งสมมุติ

พิจารณาอวิชชาซึ่งเป็นเชื้อของใจให้พาเกิดพาตาย วุ่นวายอยู่ไม่หยุดหย่อน พิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง ข้างบนข้างล่าง ตั้งแต่ต้นจนรอบจิต ด้วยอาศัยสติปัญญาอันแหลมคมปราดเปรียวว่องไวกระฉับกระเฉง คอยทะลุทะลวงกิเลสซึ่งเป็นเสี้ยนหนามคอยทิ่มแทงจิตไม่รู้จักจบสิ้น

พิจารณาตั้งแต่เช้ายันดึก ตั้งแต่ดึกยันค่ำ จะกี่วันกี่เวลา ไม่สนใจในข้าวปลาอาหาร มากกว่าการได้คว่ำกิเลสตัวหลอกลวง อันเป็นวัฏจักรวัฏจิต ซึ่งทำให้เจ็บแค้นฝังลึกบาดใจมาช้านานหาประมาณมิได้ กำลังกายและใจมีเท่าใด ความเพียรกล้ามีเท่าใดทุ่มลงไปจนหมด ตะลุมบอนกับข้าศึกสงครามภายในที่ยังมีเชื้อไฟคือ อวิชชา ถึงจะทุกข์ทรมานแสนสาหัสอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ลดละการพิจารณาระหว่างอวิชชากับใจ เพื่อให้ปรากฏความจริงคืออริยสัจจธรรม อันไม่มีธุลี คือกิเลสปลอมปน

ในที่สุดก็มายุติตรงที่ว่าอวิชชาดับ เกิดญาณหยั่งทราบแน่ชัดว่า จิตหมดการก่อกำเนิดภพต่างๆ อย่างประจักษ์ใจ โลกธาตุหวั่นไหว ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ต่างอันต่างเป็นอิสระ อินทรีย์ ๕ อายตนะ ๖ ทำงานตามหน้าที่ของตน ไม่กระทบเทือนให้เป็นทุกข์เหมือนดังแต่ก่อน ดับทุกข์ที่เผาลนจิตใจมาช้านานโดยประการทั้งปวง เหลือแต่จิตดวงบริสุทธิ์ล้วนๆ

สนามเต้นรำทำเพลงและเวทีของกิเลสไม่มีอีกแล้ว การทะเลาะบาดหมางลังเลสงสัยสับสนวุ่นวายในดีและชั่วจบลงแล้ว จิตว่างเปล่าจากกิเลสและการยึดติด เหลือแต่ธรรมธาตุรู้ล้วนๆ เพราะคำว่า “ทุกข์” ได้พ้นไปจากใจโดยสิ้นเชิง

อัศจรรย์พระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงสามารถรู้เห็นได้ก่อน อัศจรรย์พระอริยสาวกผู้สามารถตามเสด็จพระพุทธเจ้าได้ อัศจรรย์ธรรมที่ตนเองรู้เห็น ถึงความเป็นอัตตมโนภิกขุ คือ ภิกษุผู้มีใจเป็นของตน ไม่ต้องแสวงหาที่พึ่งพาอาศัยอะไรอีกต่อไป

รูปภาพ
หลวงปู่เสน ปญฺญาธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์จันทา ถาวโร


หายตัวได้เป็นที่น่าอัศจรรย์

หลวงปู่เสน ปญฺญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าหนองแซงปัจจุบัน ได้เล่าถึงหลวงปู่ศรีด้วยความอัศจรรย์ว่า...

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๗ มีพระอยู่ประมาณ ๗ รูป มีหลวงปู่บัว เป็นหัวหน้า อาจารย์กล่อมผิว หลวงพ่อพุทธา อาจารย์จันทา ถาวโร ฯลฯ และสามเณรเสน (ปัจจุบันเป็นพระอาจารย์เสน เจ้าอาวาสวัดป่าหนองแซง)

สมัยผมอยู่วัดป่าหนองแซง หลวงปู่ศรีท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ เถ้าแก่ฮกมากับลูกน้องสามสิบคน เดินมาหาท่านที่กุฏิ หลวงปู่ศรีท่านก็เดินจงกรมอยู่ตรงนั้น ผมก็อยู่ตรงนั้น เถ้าแก่ฮกและลูกน้องก็อยู่ตรงนั้น

หลวงปู่ก็พูดกับผมว่า “ถ้าเถ้าแก่ฮกมีธุระจำเป็นเราถึงจะคุยด้วย แต่ถ้าเขาไม่มีธุระอะไร ก็ให้เขากลับไปซะ”

ผมก็เลยถามเถ้าแก่ฮกว่า “มาหาหลวงปู่ทำไม มีธุระอะไรหรือเปล่า?”

เถ้าแก่ฮกตอบว่า “เปล่าไม่มีอะไรหรอก แค่อยากมาเยี่ยมท่านเฉยๆ”

ผมก็เลยบอกไปตามที่ท่านสั่งไว้ว่า “หลวงปู่ไม่ให้พบนะ”

เถ้าแก่ฮกก็บอกว่า “ถ้าท่านไม่ให้พบก็กลับกันเถอะเรา เสียดายนะมาวันนี้ ไม่ได้เห็นท่าน”

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า คนที่เดินมาสามสิบคน ไม่มีใครมองเห็นหลวงปู่เลย ตอนที่เขามา ท่านก็จะยืนนิ่งอยู่เฉยๆ ส่วนผมก็เห็นท่านอยู่ปกติ แล้วก็คุยกันด้วย ไม่น่าเชื่อผมอัศจรรย์ใจมาก สามสิบคนมองไม่เห็น ตาหกสิบตามองไม่เห็น และก็ไม่ได้ยินอะไรเลย แต่ผมมองเห็นหลวงปู่ศรี และก็ได้ยินเสียงท่านปกติ หลวงปู่ท่านหายตัวได้นะ ไม่ธรรมดา มิหนำซ้ำ พวกเขาก็พากันเดินผ่านท่านไปหาหลวงปู่บัวที่กุฏิ ผ่านไปหมดเลย โดยไม่มีใครเห็นท่านเลย ญาติโยมก็ไปคุยกับหลวงปู่บัว พอคุยเสร็จก็เดินกลับมาผ่านตรงที่ท่านเดินจงกรมอยู่อีก ก็ไม่มีใครเห็นท่านอีก ทุกวันนี้ผมก็ยังอัศจรรย์ใจยังไม่หายเลย

รูปภาพ
ทางเดินจงกรมที่หลวงปู่ศรีหายตัว


ธุดงค์ภูเก้า-ภูพานคำ

เมื่อหลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านประพฤติปฏิบัติสำเร็จถึงอุดมธรรมตามความประสงค์แล้ว ได้อริยธรรมชั้นยอด เป็นอภิมหาอุดมมงคลครองใจ เสวยวิมุติสุขแล้ว

ด้วยเมตตาจิตอันไม่มีประมาณต่อสัตว์โลกที่ยังได้รับทุกข์ นอนครวญครางเดือดร้อนวุ่นวายลำบากยากเข็ญที่มีอยู่ดาษดื่น เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยกิเลสเกลื่อนแผ่นดินแผ่นฟ้า ท่านจึงเมตตาอนุเคราะห์นำธรรมบรรณาการไปแจกแก่สัตว์โลกที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตายโดยเฉพาะธรรมนี้เป็นธรรมของจริง ธรรมที่ไม่มีวันบกพร่องขาดแคลน ธรรมที่สิ้นราคะตัณหา ธรรมที่เทวดาและมนุษย์ยอมรับกราบไหว้ ไปมอบให้แก่ชาวบ้านป่าบ้านเขา ซึ่งเคยมีคุณูปการต่อท่านในยามยากเมื่อคราวออกธุดงค์

ในคราวนี้ท่านและศิษย์ติดตามอีก ๒ รูป เดินดุ่มมุ่งตรงป่าดงใหญ่ ภูเขาลดเลี้ยวเคี้ยวคด มีเงื้อมถ้ำ เงื้อมผา สัตว์ป่าอาศัยอยู่มากและวิเวกวังเวง เป็นทางสัญจรที่บรมศาสดาทรงยกย่องว่าเหมาะสำหรับสมณศากยบุตรที่สละโลกไม่คลุกคลี จุดมุ่งหมายคือ “ยอด (สูงสุด) ของภูเก้า-ภูพานคำ” ในบริเวณภูเก้ามีสถานที่ให้ท่องเที่ยววิเวกมากมาย เหมือนตลาดใหญ่แห่งมรรคผลนิพพาน ที่สานุศิษย์ผู้ติดตามจะได้ลิ้มรสบ้าง เช่น ภูชัน ภูรวก ภูฮัง ภูเมย และมีถ้ำอยู่โดยรอบคือ ถ้ำเสือตก ถ้ำมดง่าม ถ้ำพลาญไฮ ถ้ำสามตา ถ้ำจันใด ถ้ำหามต่าง และถ้ำเล็กถ้ำน้อยอีกมากมายเป็นที่สนุกสนานเพลิดเพลินสำหรับพระผู้พิจารณาธรรม

ในระหว่างทางที่ท่านเดินธุดงค์นั้น ผ่านบ้านโสกก้านเหลือง บ้านเล้าข้าว เข้าป่าอุทยานตาดโตน เมื่อถึงบ้านดงบาก พระที่ติดตามรูปหนึ่งชื่อว่า หลวงพ่อพุทธา ขอลากลับเนื่องจากเดินไม่ไหว เพราะอากาศร้อนอบอ้าวในฤดูแล้ง เดือนมีนาคมถึงเมษายน

ท่านจึงไปกับพระติดตามเพียงรูปเดียว (หลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ) ผ่านบ้านดงบากซึ่งเป็นป่าเขา มีบ้านเพียง ๒-๓ หลัง อาศัยภิกขาจารบิณฑบาต พอยังอัตตภาพให้เป็นไป แล้วเดินต่อไปยังบ้านวังมนต์ ตำบลโคกม่วง อำเภอโนนสังข์ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่กลางดง มีประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน

ท่านและศิษย์ได้ยับยั้งและเข้าพักปฏิบัติที่ถ้ำจันใด และต่อไปยังถ้ำหามต่าง อันเป็นถ้ำที่ลือชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านแถบนั้นเป็นอย่างยิ่ง

รูปภาพ
แสงอาทิตย์ยามเช้าที่ทอดผ่านยอดไม้ ปรากฏเป็นแสงและเงาที่งดงามบนแผ่นหิน


ถ้ำหามต่างและเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัว

“ถ้ำหามต่าง” แห่งนี้ มีเรื่องราวมากมายที่หลวงปู่ศรีและหลวงพ่อทองอินทร์เล่าให้ฟ้ง แต่ผู้เขียนบันทึกลงเพียงส่วนเดียวเพื่อไม่ให้เนื้อความเฝือ

“สถานที่แห่งนี้อุดมด้วยธรรมชาติและเทวาอารักษ์ มีลานหินลาดสุดสายตา ต้นจำปา (ลีลาวดี) เก่าแก่หลายต้นแสดงถึงความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีบ่อน้ำตามหินลานลาดเป็นแอ่งๆ หอยทะเลกลายเป็นหินอายุนับล้านปีติดฝังอยู่ตามโขดหินทราย มีต้นสลักไดชูดอกแดงสลอน อีกทั้งต้นไม้ใหญ่เป็นทิวตามแนวเขา

และที่สำคัญคือ มีแห่งหินใหญ่อันเสมือนเสาอันมหึมา ๒ แท่ง หาม (รองรับ) แผ่นหินทรายใหญ่ที่วางอยู่ด้านบนดั่งเทพเนรมิตไว้ แผ่นหินที่วางอยู่ข้างบนนั้นมีน้ำหนักเป็นร้อยตัน ก็หักครึ่งลดระดับกันลงมาเล็กน้อย มองดูน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

ลักษณะที่แห่งหินทรายหามกันอยู่และมีระดับที่ต่างกันนี้เอง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ถ้ำหามต่าง”

ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และทัศนียภาพอันสุดวิเศษนี้เอง หลวงปู่ศรีจึงหยุดพักวิเวกอยู่ในที่แห่งนี้เป็นเวลานานกว่าที่อื่น ท่านพักอยู่สบายด้วยวิหารธรรม และดื่มด่ำอมฤตรสอันเป็นทิพย์ และโปรดปรานสัตว์จตุบท ทวิบาท ภูตผี ตลอดจนพวกกายทิพย์ที่มีอยู่มากมาย

ณ ถ้ำหามต่างนี้ มีเรื่องราวให้เล่ามากมาย ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงและเหตุการณ์จริง ที่ชาวบ้านป่าแห่งนี้ประสบพบเจอและเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี เมื่อก่อนชาวบ้านแถบนี้ ไม่มีที่พึ่งจึงนับถือภูตผี บูชาเทวดา ปฏิบัติตามบุรพชนคนรุ่นปู่ย่าพาทำ ส่วนคนผู้ไม่นับถือสิ่งเหล่านี้มีอันต้องเป็นไปต่างๆ นานา ผู้ไม่นับถือจึงหวาดผวาหันหน้าไปบูชาผี เพื่อความอยู่รอดของตนและครอบครัว โดยสรุปคือพวกเขานับถือผีมากกว่านับถือพระ

สาเหตุเพราะอะไร? เพราะว่าผีรู้ดีกว่าพระ พระดีหรือไม่ดีผีรู้หมด

ฉะนั้นพระกรรมฐานรูปแล้วรูปเล่าที่จิตและธรรมยังไม่แกร่งกล้า ต้องมาพบจุดจบอันน่าอดสู เช่นมาผูกคอตายบนต้นจำปา (ลีลาวดี) หน้าถ้ำบ้าง เป็นบ้าเสียสติไปบ้าง

พระกรรมฐานบางรูปบ้าจนถึงขั้นที่ว่า แก้ผ้าวิ่งไล่กอดญาติโยมจากถ้ำหามต่างเข้ามาถึงหมู่บ้าน จนชาวบ้านวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง

บางรูปมาบิณฑบาตบอกให้ญาติโยมชาวบ้านรีบพากันไปที่วัด ไปเก็บเอาทองคำธรรมชาติเหลืองอร่ามร่วงหล่นอยู่เต็มพื้นดินกองพะเนินเทินทึกเลย ผู้ใหญ่บ้านก็รีบพาญาติโยมชาวบ้านหน้าตาตื่นวิ่งขึ้นไป ขึ้นไปก็ไม่เจออะไร ช่วงหลังอาการบ้าของพระเริ่มหนัก บอกว่าตรงนี้ก็มีไหเงินตรงนั้นก็มีไหทอง เริ่มเลอะเลือนออกทะเลเป็นลิเกโชว์เดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดพระรูปนั้นก็ตาย

ไม่เฉพาะพระเท่านั้น แม้หมอผีหมอธรรมที่ว่าแน่ๆ เดินทางเพื่อมาพิสูจน์ มาชักชวนคนในหมู่บ้านชื่อพ่อใหญ่ใจ เพื่อไปขุดหาของดีที่อยู่ใต้หินด้านล่างถ้ำพากันขุดลึกมาก สุดท้ายตัวเองและลูกสาวก็เป็นบ้ารักษาไม่หายจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนหมอผีก็วิ่งหนีหางจุกตูด วิ่งไปแล้วเห็นแผ่นหินกลายเป็นแผ่นน้ำก็พยายามแหวกพยายามว่าย หัวหางกลางตัวถลอกปอกเปิกแทบดูไม่ได้ ภาษาอีสานเขาเรียกว่า “ลอยบก” คือ ลอยแบบไม่ต้องมีน้ำ พอลอยบกเสร็จแล้วยังวิ่งเข้าป่าเข้าพงดงลึกหายลับไปกับตา ในที่สุดเข้าป่าหายไปเลย ไม่มีใครรู้ว่าถึงตอนนี้หมอธรรมหมอผีคนนั้นหยุดวิ่งหรือยัง หรือว่ายังวิ่งอยู่ไม่หยุดจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่มีใครอาจทราบได้

และอีกเหตุการณ์หนึ่ง พ่อใหญ่ฮวบกับลูกสาวชื่อว่าดอกไม้ สองพ่อลูกนี้พากันไปต้มเหล้าอยู่ข้างถ้ำนั้น บริเวณนั้นจะมีบ่อน้ำซึ่งตั้งอยู่ด้านล่าง เวลาสองคนนี้ต้มเหล้า น้ำขี้เหล้าก็จะไหลลงไปทำความสกปรกให้กับบ่อน้ำนั้น ซึ่งพระกรรมฐานท่านก็ใช้ เมื่อพระฝากให้คนไปบอกให้หยุด สองพ่อลูกนั้นไม่ยอมเชื่อ วันหลังก็ไปต้มเหมือนเดิม สุดท้ายก็ตายทั้งสองคนพ่อลูก

พระเณรและผู้คนที่ขึ้นไปปฏิบัติธรรม ณ ที่นี้ เหมือนต้องมนต์ขลัง ผู้ปฏิบัติดีมีศีลธรรมอันงาม ก็จะอยู่ดีมีความสุขเจริญในธรรม ส่วนพระผู้มาปฏิบัติไม่ดีศีลธรรมด่างพร้อย ก็จะพานพบจุดจบอย่างน่าอนาถ ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น จนชาวบ้านขนานนามหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านวังมนต์”

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ


หลวงปู่ศรีเทศน์สอนผีปู่หลุบเจ้าแห่งผี

หลวงปู่ศรีท่านเมตตาเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า..

...แถบภูเก้า อำภอโนนสังข์ จังหวัดหนองบัวลำภู ผีปู่หลบซึ่งเป็นเจ้าแห่งผี (ผีปู่หลบคือ ผีตาโบ๋ ดวงตาเท่ากับดวงไฟรถยนต์และตานั้นก็โบ๋เข้าข้างใน) เขามีอาณาเขตปกครองผีทั้งหมดตั้งแต่ภูเก้าถึงภูพานคำ เมื่อมีพระกรรมฐานเที่ยวไปในแถบเทือกเขานี้ ผีปู่หลุบก็มักจะทดลองภูมิจิตภูมิธรรมทันที

ณ ถ้ำหามต่าง บ้านวังมนต์ พอพระเข้ามาอยู่ เขาก็มาทดลองทันที ถ้าจิตเราไม่ถึงเขาจะไล่หนีไม่ให้อยู่ มีหญิงคนหนึ่งชื่อว่า “ยายเลิง” เป็นนางเทียม (ร่างทรง) ของผีปู่หลุบ

ผีปู่หลุบเมื่อเข้าลงแล้ว นางเทียมพูดว่า

“เฮ้ย! พระมาอยู่นั่นไม่ใช่พระหรอก ผ้าเหลืองห่อตอเฉยๆ ไล่หนีซะ อย่าไปใส่บาตรให้มันกินนะ”

นางเทียมใช้วาจาเบียดเบียนพระอย่างนี้บ่อยๆ พระบางองค์ไม่ได้ฉันข้าว พระบางองค์ถูกไล่หนี เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ บางองค์ถูกยายเลิงที่ผีปู่หลุบเข้าลง ออกปากจะเตะจะต่อย เพราะพระเหล่านั้นมีความไม่ดี ผีเขารู้จะไปคุยโม้ว่า ตัวดีไม่ได้ ผีเขารู้จิตใจหมดแล้ว นี่ต้องเอาพลังจิตสู้

ถ้าเรามีพลังจิตจะมาแบบไหนไม่กลัว พอพระจะเทศน์เมื่อไร เขา (ผีปู่หลุบ) จะเทศน์ก่อนทันที พระเทศน์ภาษาบาลี เขาก็แปลไปได้เลย พระเทศน์สู้เขาไม่ได้สักที เลยมาอ้อนวอนเราว่า “ครูบาอาจารย์ครับ...ช่วยหน่อยเถอะ จะเทศน์ทีไรเขาเทศน์ก่อนทุกที” ตลอดพรรษาไม่ได้เทศน์สักที อีกองค์หนึ่งสิบเอ็ดพรรษาก็เทศน์ไม่ได้ เขาเทศน์ก่อนทุกที

เราก็เลยว่า “เออ!...แบบนี้อยากเจอเหมือนกัน”

พอถึงวันพระมีคนมามาก พอฉันจังหันแล้วเราก็เทศน์ทรมานหนักๆ เลย เมื่อเทศน์เสร็จเราจึงถามยายเลิง (ร่างทรงผีปู่หลุบ) ว่า

“องค์ที่นั่งอยู่ตรงนี้จิตใจเป็นยังไง?”
(หมายถึง องค์หลวงปู่เอง)

แกก็บอกว่า “องค์ที่นั่งอยู่นี่ดีมาก สมบูรณ์พูนผลไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง อยากได้อะไรก็ได้ อยากได้เงินได้ทอง ไหเงิน ไหทอง ทุกอย่างได้หมด ถ้าอยากได้ ฉันจะบอกวิธีให้”

เราก็บอกว่า “ทรัพย์ในดินสินในน้ำซึ่งเป็นสมบัตินอกกายเหล่านั้น เราไม่ปรารถนาหรอก เพราะเรามีทรัพย์ภายใน คืออริยทรัพย์ที่พระพุทธเจ้าทรงอบรมสั่งสอน ซึ่งเป็นของที่ดีกว่าเลิศกว่า ประเสริฐกว่า โจรมารที่ไหน ก็มาขโมยฉกลักเอาไปไม่ได้ ไม่ต้องเอามาขุดฝังซุกซ่อนหรือฝากธนาคาร เป็นเปรตผีบ้าเฝ้าขุมทรัพย์นั้นเลย คนที่มีหลักใจเป็นหลักทรัพย์รวยสมบัติ คือความดีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่จนตรอกไม่มีจนชวนคนที่ถือมั่นยึดมั่นบ้าสมบัติว่านั่นก็ของๆ เรา นั่นก็สมบัติข้าวของ เงินทอง ลูกเมีย วัวควาย ที่ดิน ไร่นา กาไก่ อะไรๆ ในโลกนี้ทั้งหมดทั้งที่เป็นของตนและทั้งที่มิใช่ของตน ก็ตู่เอาว่าเป็นของๆ เรา ใจมันร้องอยู่อย่างนั้นตลอด

โยมเอ๋ย อย่าว่าแต่สิ่งเหล่านี้มิใช่ของๆ เราเลย ร่างกายเราแท้ๆ มันยังไม่ใช่ของๆ เรา สุดท้ายก็จำต้องทิ้งเป็นเถ้าถ่านไปด้วยกันทั้งนั้น กุศลธรรมคือความดีต่างหาก ที่เป็นที่พึงที่ถาวรแก่เราได้ อย่างอื่นหลอกลวงต้มตุ๋นเราให้เปลืองตัวเสียเวลา นอนเพ้อฝันบ้าบออยู่ในหม้อนรกทั้งนั้นแหละ สำหรับพระแล้วจะเคลื่อนที่สมบัติเงินทองข้าวของที่เป็นสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ มันผิดพระธรรมวินัย ท่านปรับอาบัติ”


เมื่อยายเลิงได้ฟังธรรมเทศนาตั้งแต่สามโมงเช้าจนกระทั่งบ่ายนี้แล้ว ใจยอมสยบในธรรม แกลุกขึ้นนั่งท่าเทพพนมกราบแล้วกราบเล่า กราบไปมือข้างหนึ่งก็ปาดน้ำตาที่นองหน้าไปร้องไห้ซิกๆ แล้วก็เป็นผู้สงบเสงี่ยมนั่งนิ่ง เหมือนสัตว์ร้ายถูกทรมานให้หายพยศแถมยังถูกฝึกให้ใช้งานได้ตามปรารถนา มันจะดูและน่าสงสารสักปานใด

คนทั้งหลายเห็นแกนั่งนิ่งนานสองนานไม่กระดุกกระดิก เหมือนต้นไม้ที่ตายแล้ว ต่างพากันหามแกลงจากภูเขากลับบ้าน เพราะกลัวแกจะตาย

ตั้งแต่นั้นมายายเลิงมาศึกษากับเราทุกๆ วันพระ มาศึกษาเรื่องจิตเรื่องใจ แกจะคุยกับผีเจ้าที่ได้ และรู้เรื่องจิตใจของคนอื่นหมด พระองค์ไหนจิตใจเป็นอย่างไรแกรู้หมด

หลังจากนั้นคนละแวกนั้นจึงเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ รู้จักทำบุญตักบาตร ไหว้พระสวดมนต์ ซึ่งแต่ก่อนพระไปบิณฑบาตได้แต่ข้าวเปล่าๆ มาบัดนี้ บางวันก็ได้กล้วยลูกหนึ่งบ้าง ได้ปลาร้าห่อหมกบ้าง ได้ห่อหมกเขียดตะปาดบ้าง บางวันโชคดีหน่อย ก็ได้น้ำพริกแจ่วเข่อ ที่เรียกว่า “แจ่วเข่อ” คือเขาทำจากข่าแห้งหั่นโขลกคลุกใส่พริก บางวันก็ได้ถั่วลิสง ได้น้ำอ้อยหนึ่งก้อน ได้กล้วยดิบ เรานั่งพิจารณาฉันบนก้อนหิน ส่วนพระ (อาจารย์ทองอินทร์) นั่งข้างล่าง มีอะไรก็ฉันแค่นั้น อาหารการฉันเพียงแค่นี้ก็ถือว่าบริบูรณ์มากแล้วในสายตาของธรรม

แถบนี้ในสมัยนั้นยังเห็นช้างอยู่มาก ช้างมักจะมาเล่นน้ำ เวลาจะใช้น้ำก็ต้องรอจนน้ำใสบางทีฉันข้าวต้องปีนขึ้นไปฉันบนก้อนหิน เพราะช้างมันมาก่อกวน เราได้พักอยู่ที่ภูเก้านี้เป็นเวลา ๒ เดือนกว่า

รูปภาพ
พระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต

รูปภาพ
ทัศนียภาพบนภูเวียง


จากภูเก้า-ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

หลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ ซึ่งเป็นผู้ติดตามธุดงค์กับหลวงปู่ศรีได้เล่าการธุดงค์ในช่วงนี้ว่า..

“ย่างเข้าฤดูฝน ปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๖ ได้ลงจากภูเก้า มาอำเภอโนนสังข์ ผ่านอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เดินรอนแรมอาศัยชาวบ้านป่าภิกขาจารผ่านเรื่อยมาซึ่งถือว่าไกลมาก ผมก็ถือบาตรให้หลวงปู่ ท่านก็แบกกลด สะพายย่าม และกระติกน้ำเอง ท่านเดินเร็วมาก มีฝนตกเล็กน้อย สิงสาราสัตว์เริ่มจะชุกชุม ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็ทะลุถึงเทือกเขาภูเวียง เดินต่อไปยังวัดป่าภูเวียง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

จากนั้นเข้ากราบคารวะและพักอยู่กับท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต ศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต แนะนำว่า

“ให้พวกท่านขึ้นไปถ้ำกวาง ถ้ำพระ เป็นที่สงบสงัด สัปปายะ เพราะผมเคยไปอยู่วิเวกภาวนาจำพรรษามาแล้วในปี ๒๔๙๘ ทุกอย่างดีหมด เลยอย่างเดียวที่ ‘ผี’ ดุมาก”

เมื่อหลวงปู่ศรีได้ยินคำว่า “ผีดุ” เท่านั้น ก็ปรารถนาจะขึ้นไปถ้ำกว้างและถ้ำพระในทันที

หลังจากนั้นหลวงปู่ศรีจึงเดินทางต่อไปยังบ้านโนนสวรรค์ บ้านหินล่อง ขึ้นไปพักถ้ำพระถ้ำกวาง เชิงเขาภูเวียง เมื่อท่านมาถึงสถานที่แห่งนี้เกิดความพอใจในสัปปายะ เพราะเป็นสถานที่สงบห่างไกลจากหมู่บ้านพอสมควร และที่สำคัญจะมีผีเป็นเพื่อนคุยคลายเหงาในเวลาค่ำคืน

รูปภาพ
ภาพบน : กุฏิสงฆ์ที่ถ้ำกวาง จ.ขอนแก่น
ภาพล่าง : เพิงหินที่หลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ
พักในคราวอุปัฏฐากหลวงปู่ศรี ที่ถ้ำพระ จ.ขอนแก่น



ถ้ำกวางและถ้ำพระ

ขอเล่าเรื่องความเป็นมาของถ้ำกว้างและถ้ำพระ สถานที่แห่งนี้ห่างจากภูเวียง ๑๕ กิโลเมตร ห่างจากขอนแก่น ๘๓ กิโลเมตร

ถ้ำกวาง ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของภูเวียง มีสายน้ำจากเทือกเขาภูเวียงไหลผ่าน มีถ้ำ ชะง่อนผา ลานหินลาด โขดหิน มีป่าไม้และสัตว์นานาชนิด เช่น เก้ง กวาง หมี หมูป่า และเสือเป็นต้น

ถ้ำพระ มีลำธารไหลผ่าน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปโบราณ เหตุที่ชื่อว่า “ถ้ำพระ” เพราะในสมัยก่อนมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์หลายองค์ และพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้และหิน เป็นวัตถุโบราณที่ล้ำค่า นอกจากนี้ยังมีหนังสือใบลานเก่าแก่หลายฉบับ ถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของชาวภูเวียง ในฤดูกาลต่างๆ ชาวอำเภอภูเวียงนิยมมาทำบุญและสักการะมิได้ขาด

ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑-๒๔๘๖ สถานที่แห่งนี้หลวงปู่คำดี ปภาโส สมัยท่านเป็นพระหนุ่มเคยจาริกธุดงค์มาจำพรรษา ท่านได้อบรมญาติโยมแถบนั้นให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระศาสนาและมีความเข้าใจในวัตรปฏิบัติของพระป่าเป็นอย่างดี อุปนิสัยของท่าน ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีพรรษาไล่เลี่ยกับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านทั้งสามเคยไปฝึกวิปัสสนาธุระกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ที่จังหวัดขอนแก่น นิสัยหลวงปู่คำดีชอบเจริญสมณธรรมในถ้ำ ภูเขา ชอบปกครองพุทธบริษัท ฉะนั้น ท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหามาก นิสัยสุขุม พุทธบริษัทชอบท่านนัก แม้ท่านจะเคลื่อนไปสู่จังหวัดใด อำเภอไหนตำบลไหน ท่านทำอัตถประโยชน์และปรมัตถประโยชน์มาก บรรดาข้าราชการพ่อค้าพาณิชย์ตลอดชาวไร่ชาวนานิยมท่านมาก เพราะฉะนั้นการก่อสร้างของท่าน แม้มีจำนวนมากๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี


โปรดผีเปรต

เมื่อหลวงปู่ศรีท่านมาพักอยู่ที่ถ้ำพระนี้ ชาวบ้านทั้งหลายต่างก็ดีใจและวิงวอนว่า

“ท่านอาจารย์...โปรดช่วยเมตตาหน่อยโปรดกรุณาปราบเปรตตัวดุร้าย ที่มักไปหลอกหลอนและก่อกวนชาวบ้านอยู่เสมอ ห้อยโหนบนต้นไม้ให้ชาวบ้านเห็นบ้าง เดินลากเท้าไปตามถนนบ้าง ทำให้ชาวบ้านกลัวกันจนขี้หดตดหาย”

ในตอนเย็นวันนั้นเอง ท่านนั่งสมาธิพิจารณาธรรมบริเวณลานหินลาดใต้ต้นจำปา ไม่ห่างจากถ้ำพระมากนัก พิจารณาดูผีเปรตตัวนั้นว่า พอจะแผ่เมตตาโปรดได้บ้างไหม อีกไม่นานก็มีเสียงค่อยๆ ใกล้เข้ามาๆ กลายเป็นสายลมพัดวูบๆ ผ่านต้นไม้แบบนั้นเสียงดังครืนๆๆ

ในที่สุดเปรตนั้นก็แสดงตัวปรากฏในสมาธิธรรมของท่านอย่างประจักษ์ ประหนึ่งว่า “นั่งสนทนากันอย่างคนเราธรรมดา”

ท่านได้ถามว่า “เจ้าชื่อว่าอะไร? ที่ต้องมาเกิดเป็นเปรต เสียทุกขเวทนาอันร้ายกาจเห็นปานนี้ เพราะกรรมอันใด”

เปรตนั้นตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ‘บัก (นาย) พรหม’ เป็นนามตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุที่เท้าข้างหนึ่งของข้าพเจ้าถูกไม้ทับจึงเป (แบน) คนทั้งหลาย จึงเรียกชื่อข้าพเจ้าตามกิริยาที่เดินขาเกและเท้าที่เป (แบน) ว่า 'บักพรหมตีน เป'

ส่วนเหตุที่ข้าพเจ้าต้องมาเกิดเป็นเปรตนั้นเพราะว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ข้าพเจ้าและพวกประมาณ ๑๐ คน มาขโมยพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์อันเป็นพระประธานในถ้ำพระพวกข้าพเจ้าพยายามยกพระพุทธรูปจากที่ประดิษฐาน แม้จะพยายามช่วยกันยกช่วยกันหามพระพุทธรูปสักเท่าใด พระพุทธรูปก็หาขยับเขยื้อนไม่ จะช่วยกันใช้ไม้งัดก็หาเคลื่อนที่ไม่ ประหนึ่งว่าเป็นเสาศิลาแห่งทึบ พวกเราหมดปัญญาที่จะขโมยเอาไปได้ จึงได้แต่นั่งทอดถอนใจ

พวกเราจึงปรึกษากันว่า ควรที่เราจะนำธูปเทียนมาสักการะขอขมาท่านเสียก่อน แล้วอาราธนานิมนต์ท่านไปยังสถานที่อื่น เมื่อพวกเราได้ทำอย่างนั้นแล้ว พระพุทธรูปเคลื่อนที่ไปอย่างง่ายดาย

ถึงพระพุทธรูปจะศักดิ์สิทธิ์เพียงใด แต่ด้วยโลภเจตนาบังตาและกิเลสบังใจอย่างมืดมิด พวกเราก็หาศรัทธาเลื่อมใสและเกรงกลัวต่อบาปกรรมนั้นไม่

เมื่อพวกเราหามพระพุทธรูปออกไปนอกเขตเทือกเขาภูเวียง จึงได้หยุดอยู่ที่บริเวณป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ชนทั้งหลายเรียกว่า 'โคกฆ่าพระ' พวกเราก็แสดงสันดานบาปหยาบช้าออกมา ด้วยพากันทำลายองค์พระพุทธรูปด้วยมีดขวานและเลื่อย ด้วยหวังว่าจะนำทองจากองค์พระไปขายเพื่อนำเงินไปเลี้ยงชีพ ถึงแม้พวกเราจะฟันทุบและเลื่อยสักเท่าไหร่ พระพุทธรูปนั้นก็หาบุบสลายไปไม่

เมื่อพวกเราหมดปัญญาจะเอาทองจากองค์พระได้ จึงอธิษฐานจิตว่า

'ขอให้ข้าพเจ้าตัดเศียรพระและตัดองค์อวัยวะส่วนต่างๆ ของพระได้สำเร็จเถิด พวกข้าพเจ้าจะขอเกิดเป็นมนุษย์ชาตินี้เพียงชาติเดียวเท่านั้น'

เมื่อสำเร็จคำอธิษฐาน ในที่สุดก็สามารถทำลายพระพุทธรูปได้ตามใจหวัง ต่างคนก็ต่างตัดต่างเลื่อยด้วยความสะดวก จึงได้นำทองไปขายแบ่งกันเลี้ยงชีพ ต่อมาพวกเราทั้งหมดได้ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ ภายหลังเมื่อสิ้นชีพแล้ว ไปเกิดในอบายภูมิเป็นเปรตเสวยผลกรรมมาเฝ้าถ้ำแห่งนี้ และเที่ยวหลอกหลอนขอส่วนบุญชาวบ้านเป็นเนืองนิตย์

“ข้าแต่ท่านผู้ทรงพรต ข้าพเจ้าลืมกราบเรียนท่านอีกเรื่องหนึ่งว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าเป็นคนใจร้าย มักริษยาคนอื่น เห็นคนอื่ั้นมั่งมีเหนือตนก็ไม่พอใจ ครั้นเห็นคนยากไร้ก็กลับดูแคลน อยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น ทำเล่ห์กลหลอกลวงเอาทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตน ทั้งเป็นคนตระหนี่ ไม่ยินดีในการให้ทาน เห็นคนอื่นเขาให้ทานก็พลอยห้ามปราม ฉ้อโกงทรัพย์สินที่เป็นของสาธารณะหรือของสงฆ์เอามาเป็นของตน ด้วยโลภเจตนาอยู่เสมอ ด้วยกรรมเหล่านี้เป็นต้น ข้าพเจ้าจึงเกิดมาเป็น ‘วิวิธเปรต’ ”

“ตอนนี้เจ้าเสวยกรรมคือทุกขเวทนาอันแสนสาหัสอย่างไรบ้าง? เล่าให้อาตมาฟังด้วย”

หลวงปู่ศรีกล่าวถาม ด้วยความเมตตาอันหาที่สุดมิได้

เปรตนายพรหมตีนเปได้ตอบด้วยสรีระร่างอันน่าสงสารว่า

“ข้าพเจ้ามีรูปร่างชั่ว ศีรษะร่างกายผอมโซนักหนา เนื้อและเลือดมิได้มีเลย ทั้งร่างมีแต่กระดูกและหนังที่พอหุ้มกระดูกอยู่เท่านั้น เพราะไม่มีอาหารจะรับประทาน หน้าท้องเหี่ยวติดกระดูกสันหลัง ดวงตานั้นก็ลึกกลวง ดุจถูกเขาแกล้งควักออก ผ้าสักชิ้นหนึ่งที่จะปิดร่างกายก็มิได้มีเลย ผมก็แสนยาวรุ่มร่ามลงมาปกปากและหน้า เนื้อตัวเหม็นสาบเหม็นสางน่าเกลียดน่าขยะแขยง ต้องร้องไห้ครวญครางอย่างน่าเวทนา เพราะความหิวโหยอาหาร หมดเรี่ยวแรง จะไปไหนๆ ก็ไม่ได้ก็ได้แต่นอนหงายอิดโรยอยู่อย่างระเกะระกะ อย่างที่ท่านพระคุณเจ้าเห็น”

เมื่อเขากล่าวมาถึงตรงนี้ต้องหยุดเพราะความอ่อนล้าหมดเรี่ยวแรง และด้วยพลังกระแสเมตตาของหลวงปู่ศรีที่แผ่ให้ เขาจึงมีเรี่ยวแรงกล่าวต่อไปอีกว่า

“หูของข้าพเจ้าย่อมได้ยินเสียงประดุจคนมาร้องเรียกแผ่วๆ ดังแว่วมาแต่ไกลว่า “สูเจ้าทั้งหลายเอ๋ย! จงพากันมากินข้าวกินน้ำ” ฝูงเปรตทั้งหลายก็ได้ยินเสียงกรรมบันดาลเช่นนี้เหมือนกับข้าพเจ้า ก็เข้าใจว่ามีข้าวมีน้ำ ต่างก็ดีใจคิดจะลุกขึ้นแต่ลุกขึ้นไม่ได้ เพราะหมดเรี่ยวแรง แล้วก็พยายามลุกขึ้นอย่างแสนลำบาก ข้างต้นก็ล้มลงนอนหงายแผ่ แต่เสียงเรียกให้ไปกินข้าวกินน้ำก็ยังคงดังแผ่วมากระทบหูอยู่เรื่อยๆ พวกเราจึงอุตส่าห์พยายามเกาะกันล้มลุกล้มหงาย ในที่สุดก็ลุกขึ้นได้ ครั้นลุกขึ้นได้ก็เอามืออันเหี่ยวแห้งพาดขึ้นเหนือหัวชื่นชมยินดี ค่อยพยุงร่างกายไปสู่ทางทิศที่ได้ยินเสียงเรียก เร่งไปเร่งหาอยู่ช้านาน แต่จักได้พานพบข้าวและน้ำก็หามิได้เลย จึงเสียใจร้องไห้ครวญครางพลางล้มลงเกลือกด้วยความหิวอยู่ ณ ที่นั้นเอง

ในไม่ช้าก็ได้ยินเสียงเรียกมาเร้าใจให้พยายามอีก แต่จะได้เจออาหารสักนิดก็หามิได้ ได้แต่ยินเสียงร้องเรียกแต่อย่างเดียว “ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าต้องเป็นอย่างนี้หลายร้อยหลายพันปี จนกว่าจะสิ้นเวรกรรม”

เปรตนายพรหมตีนเปกกล่าวทั้งน้ำตาที่หลั่งไหลดั่งสายน้ำ

หลวงปู่ศรีได้กล่าวสอนด้วยเมตตาต่อไปอีกว่า

“ขอให้เจ้าตั้งใจรับส่วนบุญที่เราอุทิศให้ ลดทิฎฐิมานะและความดุร้ายลงเสีย อย่าไปเที่ยวก่อกวนชาวบ้านเขา มันจะเป็นบาปช้ำกรรม ซัดเข้าไปอีก เพียงแค่นี้ก็จะพอช่วยบรรเทาเวรกรรมหลายพันปีลงได้บ้าง”

หลังจากหลวงปู่ศรีท่านโปรดเปรตตนนี้แล้ว ชาวบ้านก็อยู่กันอย่างสงบสุขหายหวาดกลัวไปบ้าง บางคนอัศจรรย์ในคุณธรรมของท่านที่ปราบผีเปรตให้หายพยศ สมกับสมญานามของท่านที่ว่า “หลวงปู่ศรีผีย้าน”


นิมิตเห็นแม่ยายไม่สบาย

หลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ ได้เล่าเพิ่มเติมในการธุดงค์ครั้งนี้ว่า

“หลวงปู่ศรี ได้นำพาสานุศิษย์ปฏิบัติสมาธิธรรมอยู่ที่แห่งนี้เป็นเวลากว่าแรมเดือน ได้เกิดนิมิตเห็นว่าแม่ยาย*ไม่สบาย ท่านจึงปรารภกับพระติดตามว่า “อยากกลับบ้าน ทางบ้านคงมีปัญหา แต่พวกเราไม่มีปัจจัยค่ารถ (เงินค่ารถ) คงยังไปด่วนไม่ได้ ถ้าจะเดินไปก็คงนานไม่ทันกาลเวลา”

ต่อมาอีกสองสามวัน ก็มีเหตุดลบันดาล มีโยมคนหนึ่งมาใส่บาตรบอกว่า “ข้าวนึ่งแล้วเหลือง กลัวจะเกิดสิ่งที่อัปปรีย์ไม่ดีกับบ้านกับเรือน” จึงขอนิมนต์หลวงปู่ศรี และพระไปสวดมนต์จะทำบุญและถวายปัจจัย

ต่อจากนั้นอีกสองสามวัน ก็มีเหตุดลบันดาลอีก มีโยมอีกคนหนึ่งมาใส่บาตรบอกว่า “อยู่ดีๆ กลางวันแสกๆ มีเก้งวิ่งเข้ามาในบ้าน แล้วก็วิ่งหนีไป คงต้องมีสิ่งอาเพศจัญไรแก่บ้านเรือนเป็นแน่ ต้องทำบุญบ้าน” จึงนิมนต์หลวงปู่ศรีและพระไปสวดมนต์ทำบุญและถวายปัจจัย

อยู่ต่อมาอีกไม่กี่วัน ก็มีเหตุดลบันดาลอีกครั้ง มีโยมอีกคนหนึ่งมาใส่บาตรบอกว่า

“ไก่ป่าบินเข้ามาในบ้าน โบราณเขาถือเป็นอย่างยิ่ง ว่ามันอาจนำสิ่งที่เป็นอัปมงคลเข้ามาสู่บ้านสู่เรือน ต้องทำบุญ” จึงนิมนต์หลวงปู่ศรีและพระไปสวดมนต์ทำบุญและถวายปัจจัย

เป็นอันว่า ค่ารถที่จะรีบเดินทางกลับวัดป่ากุงมีพร้อมด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว ทั้งที่อยู่มาเป็นเวลานมนานไม่มีใครนิมนต์ไปทำบุญบ้านสักครั้งเดียว ด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่ศรีปรากฏให้ผู้ใกล้ชิดท่านประจักษ์ใจว่า เมื่อองค์ท่านพูดอะไรมักจะได้สิ่งนั้น มีวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เหมือนว่าเทวดาตามอารักขาช่วยเหลือท่านโดยตลอด

เมื่อกลับมาถึงวัดป่ากุง จังหวัดร้อยเอ็ด ทราบว่าแม่ยายของท่านป่วยหนัก ท่านรีบไปเยี่ยมเทศน์โปรด และอีกต่อมาไม่นานนักแม่ยายของท่านก็หายจากโรคร้ายนั้น

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗-๒๕๓๐
พรรษาที่ ๒๐-๔๓
จำพรรษาที่ วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง)
บ้านป่ากุง ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด


ดั่งตะวันโผล่เหนือขอบฟ้า

นับเป็นเวลาถึง ๘ ปี ที่หลวงปู่ศรี ท่านได้ไปเที่ยววิเวกภาวนาและจำพรรษาในถิ่นอื่น การย้อนกลับมาถิ่นเดิมของท่าน ช่างเป็นความจริงอย่างที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้บอกไว้ว่า “ท่านศรี ท่านจะหนีจากเมืองร้อยเอ็ดไปไหนไม่ได้ดอก” ก็เป็นความจริงจนถึงทุกวันนี้อย่างที่ใครๆ ไม่อาจปฏิเสธได้

การกลับมาของท่านในคราวนี้ ดั่งลำแสงแห่งตะวันโผล่ขึ้นมาเหนือขอบฟ้าของจังหวัดร้อยเอ็ด ส่องแสงสว่างจ้ามาแต่ไกล ย่อมยังความมืดมิดให้ปลาสนาการหายไป ยังความหลับใหลของบุคคลผู้หลงให้ตื่นจากความงมงาย กลายเป็นคนผู้รู้ตื่นเบิกบาน

ในเช้าวันนั้นเมื่อชาวบ้านเป็นท่านกลับมาเดินเที่ยวรับภิกขาจารบิณฑบาตอย่างเมื่อหลายปีก่อน ต่างคนก็ต่างดีอกดีใจวิ่งบอกข่าวแก่กันและกัน รอยยิ้มแววตาและจิตใจที่ชื่นบานแผ่ปกคลุมไปโดยทั่ว กระแสลำแสงแห่งธรรมภายในของหลวงปู่ศรี เจิดจ้ายิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ในยามเช้าวันนั้นเสียอีก เสี้ยนหนามคือกิเลสชั่วหยาบ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา อวิชชา อุปาทาน ที่มีอยู่ดาษดื่นเที่ยวทิ่มแทงดวงจิตของมนุษย์และสัตว์เป็นจำนวนมาก คราวนี้มีหวังถูกบ่งออกได้ด้วยธรรมของท่านผู้ทรงธรรมเป็นอริยสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่มีคนและพระใจบาปอีกจำนวนไม่น้อยในเขตอำเภอเมือง (ปัจจุบันอำเภอศรีสมเด็จ) ที่อิจฉาริษยาในการกลับมาของท่าน ถึงขนาดเที่ยวป่าวประกาศว่า “คอมมิวนิสต์กลับมาบ้านแล้ว” คนเหล่านี้เที่ยวขัดขวาง แสดงอำนาจบาตรใหญ่ ข่มขู่เบียดเบียนทุกวิถีทาง ไม่ให้ท่านสร้างวัดและสร้างความเจริญทางด้านศีลธรรมและวัตถุธรรม ดังข้อความตอนหนึ่งที่ท่านบันทึกไว้ในสมุดบันทึกของท่านว่า...

จดหมายจากที่ทำการเจ้าคณะตำบลขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด ส่งมาถึงพระอาจารย์ศรีเพื่อระงับการสร้างวัดว่า

“การตั้งวัดป่ากุง ผู้ใหญ่บ้านทายกทายิกาทั้งหลาย มีบ้านบาก บ้านหนองสองห้อง บ้านหนองแวง บ้านเหล่าล้อ บ้านก่อ ทางเจ้าคณะผู้ปกครองได้ทราบว่า ญาติโยมทั้งหลายมีวัดประจำหมู่บ้านดังกล่าวแล้ว จะคิดหรือปลูกสร้างสำนักขึ้นที่วัดร้างบ้านกุงเก่า เรื่องนี้หากจะสร้างจริง? ให้ญาติโยมเสนอรายงานไปยังเจ้าคณะปกครองเสียก่อนจึงสร้างได้ มิฉะนั้นผิดระเบียบ ให้งดเสียก่อนดีกว่ามันจะยุ่งไปใหญ่”

ลงชื่อ พระปลัดพรหม เจ้าคณะตำบลขอนแก่น

และอีกฉบับหนึ่งเพื่อระงับการขยายเขตวัด จดหมายจากที่ทำการกำนัน ตำบลขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด ส่งมาถึงพระอาจารย์ศรีว่า

“ที่ดินจะปลูกวัดนั้น ขอให้ท่านอาจารย์เอาแค่เขตเดิมของวัด (๔ ไร่) เก่า แต่ส่วนนอกนั้นผมจะให้ราษฎรครอบครองเป็นที่ทำมาหากิน เพราะแผ่นดินมันกำลังกันดารมาก และประชาชนก็มาก การตั้งวัดแล้ว ราษฎรก็เข้าครองประโยชน์อีกมิได้ เพราะทางการไม่พึงประสงค์จะอนุญาตให้ได้ ฉะนั้นท่านอาจารย์จงเอาแต่เขตวัดเดิม”

ลงชื่อ นายยาว ชุงชิต กำนันตำบลขอนแก่น


รูปภาพ
ชาวบ้านที่มาช่วยกันสร้างสระใหญ่ที่วัดป่ากุง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙

รูปภาพ
สัตว์ต่างๆ ภายในวัดป่ากุง


วัดประชาคมวนาราม

แต่ไม่มีใครอาจรู้ได้ว่า การกลับมาของท่านในคราวนี้ ท่านได้ครองวิมุตติสุข เหล่าเทวดาอารักษ์มาแสดงความยินดีอนุโมทนาในธรรมวิเศษและต้อนรับท่านอย่างดาษดื่น นัยว่าจะเป็นการกลับมาเพื่อเสริมสร้างสิ่งมหัศจรรย์อันเป็นคุณประโยชน์ใหญ่ให้แก่ประเทศชาติพระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างที่สุดจะคิดและคาดเดาได้

เมื่อท่านอยู่ได้ไม่นานนักทายกทายิกาประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าจะบูรณะปรับปรุงวัดป่ากุงแห่งนี้ ให้เป็นวัดวาอารามสมบูรณ์ถาวรมั่นคงสืบไป จึงได้ดำเนินการขออนุญาตจากทางราชการจัดตั้งเป็นวัดขึ้น โดยให้ชื่อตามความหมายที่ประชนร่วมกันสร้างว่า “วัดประชาคมวนาราม” (ป่ากุง) ในสังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยมีท่าน (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) เป็นเจ้าอาวาสปกครองและบูรณปฏิสังขรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา

ณ วัดประชาคมวนารามแห่งนี้ ท่านได้ก่อสร้างเสนาสนะไว้มากหลายสุดที่จะกล่าวได้หมด ได้ขยายอาณาเขตจากเดิมเริ่มแรก ๔ ไร่ เป็น ๒๙ ไร่ และเพิ่มเป็น ๓๑๔ ไร่ ๒ งาน


เมตตาสรรพสัตว์

การขยายอาณาเขตวัดของท่านเป็นไปด้วยความเมตตาต่อสรรพสัตว์หาประมาณมิได้ วัดป่ากุงนอกจากจะมีเขตพุทธาวาส สังฆาวาส เขตอุบาสิกาและแม่ชีแล้ว เขตแห่งหนึ่งซึ่งวัดอื่นนั้นไม่ค่อยมี นั้นก็คือ เขตที่อยู่ของสัตว์ธรรมชาตินานาชนิด ม้า เก้ง กวาง นกยูง กบเขียด อึ่งอ่าง ปูนา ตะกวด เป็นต้น การขยายอาณาเขตวัดนั้น ท่านดำริว่า...

“ที่อยู่ของคนมันก็มีมากแล้ว แต่ที่อยู่ของสัตว์ที่เป็นอาหารเลี้ยงผู้คนจนจะล้นโลกล้นแผ่นดิน ล้นประเทศ ล้นเมือง แทบจะไม่ค่อยมี ทุ่งนาอันเวิ้งว้างข้างบริเวณวัดนี้ ฤดูฝนกบเขียดอึ่งอ่างมันร้องระงมอย่างน่าสงสาร มีผู้คนมาจับไปกินไปขายได้คนละหลายกระสอบ บริเวณข้างวัดป่ากุงนี้อุดมไปด้วยสัตว์ตามธรรมชาติ ถ้าไม่รักษาเอาไว้ สัตว์เหล่านี้ก็จะสูญหายสูญพันธุ์ไปกับปากท้องมนุษย์ที่ไม่มีวันอิ่มเสียหมด”

และท่านย้ำเป็นธรรมะตบท้ายอย่างน่าฟังว่า

“ปูไม่มีหัวก็ยังเดินได้ งูไม่มีตีนก็ยังเลื้อยได้ แม่ไก่ไม่มีนมก็ยังเลี้ยงลูกได้
ฉะนั้นมนุษย์จึงไม่ควรดูหมิ่นสัตว์ ผู้มีปัญญาควรช่วยเหลือผู้ที่ต่ำต้อยกว่า
ร่างกายของมนุษย์และสัตว์จะมีประโยชน์เพราะรู้จักช่วยเหลือกัน
สัตว์ได้ช่วยเหลือมนุษย์ไม่ให้ตาย เพราะมนุษย์ได้เอาร่างกายชีวิตสัตว์มาเป็นอาหาร
มนุษย์เมื่อมีกำลังก็ควรช่วยเหลือสัตว์ที่ตนเองเคยบริโภค”


เมื่อท่านดำริเช่นนั้น คณะศิษยานุศิษย์ต่างพากันสละจตุปัจจัย ซื้อทุ่งนารอบๆ บริเวณวัด จนกลายเป็นวัดป่ากุงที่กว้างใหญ่ ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ สัตว์ไพร คุ้งน้ำ เป็นรมณียสถานอันสงบสำหรับพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา พ่อค้าประชาชน ชาวบ้าน ผู้แสวงบุญมุ่งตรงต่อมรรค ผล พระนิพพาน และยังเป็นที่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ต่างๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยร่มใบบุญของท่านนั้นเอง

ไม่เพียงแต่ในอาณาบริเวณเขตวัดป่ากุงเท่านั้นที่เมตตาท่านแผ่ไป สายลมเย็นฉ่ำแห่งเมตตาของท่านยังแผ่ปกคลุมไปโรงพยาบาล โรงเรียน สถานสงเคราะห์ ฯลฯ ทั่วประเทศ ส่วนมูลค่าสาธารณกุศลสงเคราะห์ที่ผ่านจิตเมตตาของท่าน ไม่สามารถนำมาแจกแจงได้หมด ถ้าหากนำมาบันทึกหรือเขียนลงในหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่มก็สาธยายได้ไม่หมด ผู้เขียนจึงขอยกไว้ จักขอกล่าวแต่เรื่องเกี่ยวกับจิตใจเป็นหลักใหญ่ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ขององค์ท่านเองอย่างแท้จริง

สำหรับพระธรรมเทศนาของท่าน เมื่อร่างกายท่านยังแข็งแรงดี ท่านจะแสดงธรรมโปรดญาติโยมทุกวัน ธรรมะของทานแสดงเป็นภาษาอีสานเข้าใจง่ายเป็นกันเอง บุคคลทั่วไปไม่ว่าเพศวัยใดก็ตาม เข้าหาท่านได้ง่าย ท่านไม่ถือองค์ว่ามีชื่อเสียงโด่งดัง

รูปภาพ
พระภิกษุสามเณรฉันจังหัน, เดินจงกรม, กวาดลานวัด ที่วัดป่ากุง

รูปภาพ
ภาพบน : หลวงปู่ศรีปฏิบัติศาสนกิจด้วยการรับนิมนต์ไปแสดงธรรมในที่ต่างๆ
ภาพล่าง : หลวงปู่ศรีสนทนาธรรมกับญาติโยม



ข้อวัตรปฏิบัติ

พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาศึกษายังสำนักวัดป่ากุงฯ หรือวัดสาขา ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ท่านตั้งไว้อย่างเคร่งครัด คือ (นำมาลงเพียงบางส่วน)

เวลา ๐๓.๐๐ น.-๐๕.๐๐ น. ตื่นนอนเตรียมทำวัตรเช้า ฟังอบรมกัมมัฏฐาน นั่งสมาธิภาวนา ทำความสะอาดศาลาและบริเวณวัดที่ได้รับมอบหมาย

เวลา ๐๘.๓๐ น.-๑๑.๐๐ น. เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ห้ามกินแล้วนอน

เวลา ๑๕.๐๐ น.-๐๖.๐๐ น. ทำความสะอาดลานวัด ลานศาลา อุโบสถ และพระเจดีย์

เวลา ๑๗.๐๐ น.-๒๑.๐๐ น. ทำวัตรเย็น ฟังธรรมภาคปฏิบัติ ทำสมาธิภาวนา

การร่วมสังฆสามัคคีในนามศิษย์หลวงปู่ศรี ที่วัดป่ากุงฯ และวัดสาขา ต้องถือเป็นข้อปฏิบัติประจำปี ปีละ ๕ ครั้ง คือ

๑. วันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ศรี ตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคม ของทุกปี
๒. วันอุปสมบทหมู่เข้าพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี
๓. วันปวารณาออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี
๔. วันกฐินสามัคคี ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี
๕. วันมาฆบูชา ของทุกปี เป็นวันประชุมใหญ่มูลนิธิฯ และปัญหาวัดสาขา ที่ดินวัด ฯลฯ

รูปภาพ
หลวงปู่ศรี มหาวีโร กำลังถวายปัจจัยสี่แด่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
ในภาพ : ยังมี “พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)”
และพระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) นั่งอยู่ด้วย



เรื่องการเงิน-การบัญชีของทางวัดป่ากุง (ปัจจุบัน)

หลวงปู่ศรี มหาวีโร จัดให้มีคณะกรรมการบริหารงานประจำคือ ๒๕ รูป/คน โดยมีพระสงฆ์เป็นหลัก บริหารในรูปแบบของการจัดตั้งมูลนิธิ คือ

๑. มูลนิธิพระอาจารย์ศรี มหาวีโร (Pra Archarn Sri Maha Veero Foundation)

เริ่มต้นจากศรัทธาวัดสาขาของท่านประมาณ ๑๔๕ วัด ตั้งเป้าไว้ให้หาทุนเข้าช่วยกัน วัดละ ๑ ล้านนาท และศรัทธาทำบุญกับหลวงปู่ศรีในแต่ละวันก็รวมเข้าในมูลนิธิพระอาจารย์ศรี มหาวีโร ปัจจุบันมีเงินอยู่ ๒๖๕,๐๐๐,๐๐๐ (สองร้อยหกสินห้าล้านบาท)

วัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิ

- เพื่อเป็นสมณบริขาร พระเณร ชี อุบาสก อุบาสิกา ที่มาปฏิบัติธรรม และช่วยเหลือภิกษุผู้อาพาธ หรือค่ายานพาหนะในการธุดงควัตร หรือในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน

- ช่วยเหลือเด็กนักเรียน นักศึกษาที่ประพฤติดี แต่ยากจน

- ช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมหรืออุบัติเหตุ ในการปฏิบัติหน้าที่ทางพลเมืองดีหรือทางสังคมสงเคราะห์หรือสาธารณะประโยชน์ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

- เพื่อช่วยเหลือกิจการศาสนา ทำนุบำรุง ส่งเสริมซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล/พระเจดีย์หิน และกิจการสาธารณะประโยชน์ บูรณะสถานพยาบาลสาธารณะ หรือช่วยเหลือกิจการสภากาชาดไทย

- เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ยากไร้ ในการประกอบสัมมาชีพที่คณะกรรมการเห็นสมควร หรือส่งเสริมผู้ประกอบสัมมาชีพดีเด่น

- เพื่อร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้โดยวัตถุประสงค์ทั้งหมดไม่เกี่ยวกับการเมือง

- เพื่อช่วยเหลือกิจการป้องกัน หรือบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ

ฯลฯ

๒. มูลนิธิอนุสรณ์พระกฐินต้น

เริ่มทุนมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานทุนทรัพย์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อขยายที่ดิน ปัจจุบันมีเงินอยู่ ๑๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท

นอกจากนี้วัดป่ากุงฯ ยังได้เป็นที่ตั้งศูนย์อบรมศีลธรรมของคณะกรรมการส่งเสริมพระพุทธศาสนาประจำหมู่บ้าน (ก.ส.ศ.ป)

หลวงปู่ศรีฯ ท่านได้รับแต่งตั้งจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เจ้าคณะภาค ๘-๙-๑๐-๑๑ (ธ) เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๕ (พิเศษ) และหน่วยสงเคราะห์ พุทธมามกะผู้เยาว์ (น.พ.ก.) เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสจังหวัดร้อยเอ็ด

ส่วนการศึกษาอบรม ท่านหลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านได้อบรมหนักไปในทางปฏิบัติวิปัสสนาธุระกัมมัฏฐานเป็นส่วนมาก เน้นหนักไปในทาง ศีล สมาธิ และปัญญา ที่ได้ศึกษามาเป็นอย่างดีจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นหลักปฏิบัติ

วัดนี้มีพระเจ้าพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ไม่น้อยกว่าปีละ ๒๕-๓๐ รูป มีทายกทายิกาและชาวพุทธทั้งปวงมารักษาศีลฟังเทศน์และรับการอบรมศีลธรรมในวันธรรมสวนะไม่น้อยกว่าวันละ ๑๐๐ คน โดยมิได้เลือกว่ากาลในพรรษาหรือนอกพรรษา ถ้าหากเป็นวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาและวันทอดกฐินสามัคคี เป็นต้น ชาวพุทธย่อมมาประชุมกัน ณ “ศาลามหาวีรธรรมสภา” มากเป็นพิเศษ แม้ศาลาจะกว้างใหญ่ไพศาลเห็นปานนี้ก็ตาม แต่ก็ดูเป็นแคบไปถนัดทีเดียว

และสิ่งที่น่ายินดีและปลาบปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งนั้นก็คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จมาทอดพระกฐินส่วนพระองค์ที่วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุงเก่า) ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ชาวจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอย่างยิ่ง


ธรรมยาตรา

ด้วยอุปนิสัยที่ชอบธุดงค์ธรรม เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านจะพาสานุศิษย์ออกเที่ยวธุดงค์ธรรมยาตราไปตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่างๆ ที่มีป่า มีโคก มีดอน ที่ๆ ชาวบ้านนิยมนับถือผีปู่ตา ผีป่า ผีแถน ผีฟ้า ฯลฯ ท่านมักจะไปในที่ที่ผีดุๆ โดยเอาธรรมของจริงจาริกไปโปรดคนและผี โปรดให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากการนับถือผีมานับถือพระพุทธเจ้าแทน โปรดผีมิจฉาทิฏฐิ เที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านเป็นงานสนุก ให้เป็นผีที่มีความเห็นชอบ ประกอบกรรมดี

ธรรมะหลักใหญ่ที่ท่านเน้นสอนชาวบ้านนั้นก็ค่อยให้เขาละเว้นสิ่งที่เป็นอบายมุข โทษของการเล่นการพนันสลากกินรวบ รู้จักเคารพในสิ่งที่ควรเคารพ บูชาในสิ่งที่ควรบูชา มีความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

ท่านปรารภว่า “ประชาชนชาวบ้านผู้มีอุปนิสัยในทางธรรม เมื่อได้สนทนาธรรม ได้ฟังธรรมจากท่านซึ่งเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงแม้เพียงครั้งเดียว ก็จะได้รับประโยชน์และความสุขอันมีพระนิพพานเป็นที่สุดได้เช่นกัน”

สายทางธรรมที่ท่านเที่ยวจาริกกรรมฐานโปรดชาวบ้านในยุคนั้น เริ่มแรก (ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วน ที่หลวงปู่ศรีฯ บันทึกไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคม-๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘) ท่านไปทางอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด

ที่ตำบลชุมพระ มีประชาชนที่ศรัทธาเลื่อมใส เลิกนับถือผีหันหน้าเข้าหาพระรัตนตรัยจำนวน ๗,๓๕๓ คน

ตำบลบึงงาม อำเภอโพนทอง มีผู้เลิกนับถือผี ๔,๕๘๐ คน ที่บ้านโพนสว่าง มีศรัทธาถวายที่ดิน ๑๖ ไร่ เพื่อสร้างเป็นวัดป่ากรรมฐาน

ตำบลขามเบี้ยมีประชาชนมาฟังพระธรรมเทศนาและเลิกนับถือผี ๕,๔๓๘ คน

ตำบลอุ่มเม้า มีผู้มารับฟังพระธรรมเทศนาและเลิกนับถือผี ๑,๕๙๒ คน และมีศรัทธาถวายที่ ๔ ไร่ ๑ งาน เพื่อสร้างเป็นวัดป่ากรรมฐาน

ตำบลกกโพธิ์ มีผู้มารับฟังพระธรรมเทศนาและเลิกนับถือผี ๖,๐๘๘ คน และมีศรัทธาถวายที่ ๕๔ ไร่ เพื่อสร้างเป็นวัดป่ากรรมฐาน

ตำบลสว่าง มีผู้มารับฟังพระธรรมเทศนาและเลิกนับถือผี ๖,๗๘๖ คน และมีศรัทธาถวายที่ ๖ ไร่ ๑ งาน เพื่อสร้างเป็นวัดป่ากรรมฐาน

ตำบลโนนไชยศรี มีผู้มารับฟังพระธรรมเทศนาและเลิกนับถือผี ๓,๖๔๐ คน

ตำบลสะอาด มีผู้มารับฟังพระธรรมเทศนาและเลิกนับถือผี ๒,๔๒๓ คน

ตำบลเชียงใหม่ มีผู้มารับฟังพระธรรมเทศนาและเลิกนับถือผี ๔,๓๗๐ คน

ตำบลหนองใหญ่ มีผู้มารับฟังพระธรรมเทศนาและเลิกนับถือผี ๑,๗๒๖ คน

ธรรมของท่านจึงแผ่ไปทั่วทุกทิศ ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใส จากดงดอนศาลผีปู่ผีตาที่ท่านเดินธุดงค์ผ่านมาพัก ภายหลังได้กลายเป็นวัดวาอารามกรรมฐานเต็มทั่วไปหมด

ในเรื่องเผยแผ่ธรรม ปราบผี สร้างวัดกรรมฐาน สอนคนชั่วให้กลับมาเป็นคนดี บารมีธรรมของท่านจึงแผ่ขยายกว้างไกล จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป


เรื่องพระสุธนกับนางมโนราห์

หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านออกเที่ยวสั่งสอนประชาชนในที่ต่างๆ มีวรรณกรรมอีสานเรื่องหนึ่งที่ท่านมักจะยกเปรียบเทียบเสมอคือเรื่องพระสุธนกับนางมโนราห์ ท่านแสดงไว้ว่า

“เดี๋ยวนี้โลกของเราติดกันอยู่มุมนี้แหละ (มุมเงิน) พระสุธน มโนราห์เป็นนิยายอันหนึ่ง เป็นบุคลาธิษฐาน จะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ แต่เมื่อเป็นบุคลาธิษฐานแล้ว เราน้อมมาเป็นธรรมาธิษฐานได้ ชื่อท่านก็บอกไว้แล้ว พระสุธน มโนราห์ แต่เรื่องย่อๆ ง่ายๆ ของนิทานนี้ใครๆ ก็พอจะรู้จัก

มโนราห์ ผู้แปลว่า จิตใจ จิตใจนี้สามารถเหาะไปถึงไหนถึงไหนก็ได้

พระสุธน อันนี้ก็หมายถึง กายของเรานี้แหละ คือ ความอดทนก็ได้ ความอดทนนี้เป็นคู่ของจิต ถ้าจิตไม่มีความอดทนก็อยู่ไม่ได้

ตามเรื่องท่านว่ามโนราห์มีปีกก็เลยเหาะหนี จะไปเมืองภูเงินโน่น แต่พอถึงป่าดงไปพบฤๅษีเลยเอาแหวนธำมะรงค์ฝากไว้กับฤๅษี แล้วสั่งฤๅษีว่า หากผัวข้ามาให้เอาแหวนธำมรงค์ให้เขาด้วย แล้วนางมโนราห์ก็บินไปถึงเมืองภูเงิน กำหนดวันจะแต่งงานกับพระยาภูเงิน

พระสุธนก็อดทนเดิน เดินไปอยู่อย่างนั้น ทนทุกข์ทรมาน เดินฝ่าป่าดง ป่าหวายหลึมคึมหวายหนา ก็อดทนฝ่าไป ไปพบฤๅษีๆ ให้เรียนมนต์คาถาเสกใส่มะนาว ถ้ามันฝ่าไปที่ไหนไม่ได้ ก็ให้เอามะนาวขว้างไป มันจะเจาะทางเดินไปได้ และได้มอบแหวนธำมะรงค์ให้

พอไปถึงแม่น้ำกัดเหล็กกัดทอง ทิ้งมะนาวลงไปปรากฏว่าจมน้ำไปเลย เลยข้ามน้ำไปไม่ได้ นั่งกอดเข่าร้องไห้อยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งใกล้ฝั่งแม่น้ำ ลูกนกอินทรีย์ ๓ ตัว เห็นสีทนนั่งร้องไห้อยู่ก็ลงมาถามว่า “ทำไมมาร้องไห้อยู่ที่นี่”

พระสุธนก็เล่าให้ฟังว่า เมียหนีไปอยู่เมืองภูเงิน จะไปตามก็ข้ามน้ำไม่ได้

ลูกนกอินทรีย์กิเลยแนะนำว่า “พรุ่งนี้พ่อแม่มันจะบินไปหากินอาหารที่เมืองภูเงิน เพราะเมืองภูเงินกำลังจัดงานแต่งงานนางมโนราห์กับพระยาภูเงิน ฉันก็จะไปด้วยขอให้ท่านแทรกเข้าไปอยู่ในขนปีกพ่อแม่ฉันก็แล้วกัน”

วันรุ่งขึ้นพระสุธนจึงปีนต้นไม้ขึ้นไปแทรกอยู่ในขนปีกนกอินทรีย์

พ่อแม่นกอินทรีย์ก็พาบินไปเมืองภูเงิน พอไปถึงนกบินลงต่ำๆ ส่วนก็กระโดดลง แล้วไปพบสาวใช้ในวังออกมาตักน้ำอาบ จึงฝากแหวนธำมรงค์ไปให้นางมโนราห์ พอนางมโนราห์เห็นแหวนธำมรงค์ ก็พูดขึ้นว่า ผัวฉันมาถึงแล้วฉันไม่แต่งงานหรอก

นี่เป็นเรื่องย่อๆ ทีนี้ถ้าเราจะย้อนมาเป็นธรรมาธิษฐาน

มโนราห์หมายถึงมโนหรือจิตใจของเรา พระสุธนหมายถึงอดทนหรือขันติ

มโน (จิต) กับสีทน (ขันติ) ถ้าหนีจากกันแล้วใช้ไม่ได้ (หมายความว่า การฝึกจิตต้องอดทน)

แหวนธำมรงค์หมายถึงธรรมะ ที่ว่าเสกมนต์ใส่มะนาว หมายถึงฤๅษีท่านมีศีล หรือสติ พอจะต่อสู้กับทุกขเวทนาต่างๆ นานาได้

การนั่งกรรมฐานมักมีเสมือนขวากหนามอยู่มากๆ คือฝั่งไปหน่อยมักจะเจ็บนั่น ปวดนี่วุ่นวาย นี่แหละคือ ฝ่าดงหนา ป่าหวายหลึมคึมหวายหนา (เดินไม่สะดวก) ต้องฝ่าให้ได้

แต่แล้วเราต้องอาศัยขันติคือ ความอดทน พระสุธนต้องสู้ดึงดันเข้าไป

พอได้แหวนธำมรงค์แล้วเหมือนได้สติ เลยไม่กลัวในการสู้กับทุกขเวทนา ดันเข้าไปเลยแต่ว่าขั้นนี้ดันเข้าไปถึงแม่น้ำกัดเหล็กกัดทองแล้วไปไม่รอด (ข้ามน้ำไม่ได้)

จะข้ามได้ก็ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ (นกอินทรีย์ ๕ ตัว) คืออินทรีย์ ๕ อันได้แก่ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

อินทรีย์ทั้ง ๕ เป็นพลังที่จะข้ามไปเมืองภูเงิน จึงจะได้เมียคืนมา ถ้าไม่เช่นนั้นเมีย (ใจ) ก็จะอยู่เมืองภูเงิน (ใจติดเงิน) เป็นอย่างนั้นใช่ไหม เห็นใครๆ ก็ยุ่งกับเงินกันทั้งนั้น เรียกว่าไปอยู่เมืองภูเงินกันหมด เจ้าตัววิ่งตามไม่ทัน มีมากใช้มาก เป็นหนี้มาก ยุ่งกันอยู่อย่างนั้นแหละ

นี่แหละมโนราห์มันไปอยู่เมืองภูเงิน มันไปแต่งงานแล้วก็ไม่รู้ จะบินคืนมาอยู่กับตัวของตัว ก็มาไม่ได้ จิตใจมันไปยึดอยู่กับทรัพย์ภายนอก

เมื่อพิจารณาเป็นธรรมาธิษฐานแล้วมันจะต้องเป็นอย่างนั้น คนเราชอบไปอยู่เมืองภูเงินหมด ส่วนธรรมะไม่อยากมาหาเลย พระสุธนก็เดือดร้อนวุ่นวาย เพราะเมีย (ใจ) ไม่อยู่ด้วย

ฉะนั้น คนจึงได้ทุกข์ได้ยาก ฆ่ากัน ทำลายกัน ยิงกัน คืนวานนี้ก็ได้ยินว่าแทงกันตาย หวงกันท่านั้นท่านี้ร้อยอันพันอย่าง มัน (ใจ) ไปติดอยู่ที่เงินกันทั้งนั้น อยู่แต่ร่างเปล่าๆ เลยไม่มีความอดทน โลกอันนี้ก็เลยเดือดร้อน นี่เทียบกันง่ายๆ


มัชฌิมวัย

ในบางคราวแม้ท่านจะอยู่ในมัชฌิมวัยย่างปัจฉิมวัยแล้ว ท่านยังนำคณะสานุศิษย์ของท่านเที่ยวกรรมฐานเหมือนกับวัยหนุ่มๆ ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เที่ยวอบรมสั่งสอนคนที่หลงงมงาย นับถือสิ่งที่ไร้แก่นสาร หันมานับถือพระรัตนตรัย ปรากฏว่ารายทางที่ท่านผ่านไปกลิ่นธูปควันเทียน เครื่องสังเวยภูตผี ได้กลับกลายมาเป็นเครื่องบูชาสักการะพระรัตนตรัยแม้ หนทางที่ท่านก้าวเดินจะเหน็ดเหนื่อย แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อในการสงเคราะห์โลก

เพราะท่านถือว่า “ร่างกายกับคุณความดีแตกต่างกันไกลลิบลับ เพราะร่างกายสลายไปทุกขณะ ๗วนคุณความดีดำรงอยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์”

อย่างเช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๔ ท่านพาคณะศิษย์ไปทางอำเภอโพนทอง เพราะที่นั้นมีคนนับถือ “ผีฟ้า และผีปอบ” มาก เมื่อไปถึงท่านจะเทศนาสั่งสอนขัดเกลาจิตใจคนที่นับถือผีเสียก่อน ว่า “การนับถือผีไม่มีประโยชน์ ส่วนเข้านับถือพระพุทธเจ้าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ ผู้ที่นับถือพระพุทธเจ้าแล้ว ผีไม่อาจเข้ามาทำอันตรายได้”

พอตกตอนค่ำท่านและคณะก็จะนอนตรงที่ว่า “ผีดุๆ” เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาไม่เห็นผีกล้าสามารถทำอันตรายท่านแต่อย่างใด ผู้คนเพิ่มความศรัทธาในท่านเป็นอย่างมาก

แล้วท่านก็จะแสดงธรรมย้ำว่า “ชีวิตมนุษย์ไม่ควรมีผีเป็นสรณะ เพราะผีไม่ใช่ที่พึ่งที่แน่นอน ให้หันมานับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่พึ่งที่แน่นอนถาวรมั่นคง ใครที่มัวนับถือผีเป็นที่พึ่ง ถือว่าเกิดมาเสียชาติเกิด”

ชนทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านแสดงแล้ว ถึงกับนั่งร้องไห้เกือบทั้งหมู่บ้าน หันมาขึ้นต่อไตรสรณคมณ์ ท่านก็จะรดน้ำมนต์ให้ ในขณะที่ท่านรดน้ำมนต์ให้นั้นเสียงกรีดร้องโหยหวนของผีที่ลงอยู่ในร่างคนทั้งหลาย พยายามต่อสู้ กรีดร้องดังไปไกลหลายช่วงป่า และไม่นานคงเหลือแต่เสียงสะอึกสะอื้น และในที่สุดก็จะสงบลง เมื่อกลับไปบ้านก็จะปลดหิ้งบูชาผีที่ตนบูชาอยู่ในบ้านทิ้ง อย่างไม่อาลัยเสียดายและเกรงกลัวอีกต่อไป

ในบางครั้งหลวงปู่ศรี ท่านก็เมตตาเล่าเรื่องผีที่ท่านสัมผัสได้ให้เฉพาะศิษย์ใกล้ชิดฟัง ท่านบอกว่า

“พวกภูตผีก็เหมือนมนุษย์เรานี้แหละ มีทั้งดีและชั่วเหมือนคนเรามีทั้งชั่วทั้งดี ผีไม่ดีก็ถูกจับไปกักไว้ในคุกเหมือนโลกมนุษย์เรา บ้านเมืองผีก็ใหญ่โตเหมือนบ้านเมืองในโลกมนุษย์เรา มีหัวหน้าปกครองเหมือนกันทุกอย่าง แต่ที่แตกต่างคืออำนาจของบุญ ผีทั้งหลายจะเกรงกลัวผู้มีบุญวาสนาที่สั่งสมมาดีแล้ว และผีที่มีนิสัยทางบุญก็จะสนใจในบุญเหมือนกัน แต่ที่เป็นผีเพราะต้องมาชดใช้กรรมตามวาระเท่านั้น”

หลวงปู่ศรี ท่านเล่าเรื่องผีไว้พิสดารมาก แต่ผู้เขียนได้นำมาลงเพียงเล็กน้อย เพราะเกินนิสัยมนุษย์ทั่วไปที่รับรู้เห็นอย่างท่านได้ บางคนไม่เข้าใจเรื่องบาปบุญนรกสวรรค์อาจคิดไปได้ว่าเป็นเรื่องโอ้อวดกุเรื่องขึ้นมา จึงขอพักไว้ก่อน

ในการเที่ยวอบรมสั่งสอนออกธรรมยาตราของท่าน ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ในบางครั้งมีผู้พยายามต่อต้านด้วยวิธีการต่าง ณ บางคนนับถือผีมาตั้งแต่โคตรเหง้า หรือโคตรของโคตรเหง้า ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา จนจิตใจกลายเป็นเปรตผีไปเสียทั้งหมด เที่ยวพยายามต่อต้านท่าน เห็นว่าท่านจะผ่านไปยังหมู่บ้านใดก็ไปเที่ยวโพนทะนาป่าวประกาศล่วงหน้าว่า “คอมมิวนิสต์มาแล้ว พวกมารมาแล้ว มาในคราบของพระภิกษุเป็นผู้นำ ให้ชาวบ้านพากันระวังอย่าหลงเชื่อ”

เมื่อท่านเดินทางไปถึงพวกมารเหล่านี้ก็จะคอยก่อกวนด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้ลูกศิษย์เดือดร้อนใจจึงเข้าไปกราบเรียน ท่านก็บอกว่า “ก็ช่างเขาเถอะ อย่าไปสนใจพวกมันเลย”

และท่านก็สอนศิษย์ว่า “คนฉลาดถึงมีตาดี ก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงหูดี ก็ทำเหมือนคนหูหนวก ถึงมีปัญญาก็ทำเหมือนคนใบ้ ถึงมีกำลังก็ทำเหมือนคนไม่มีกำลัง เมื่อมีความจำเป็นขึ้นมา ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์ใหญ่ได้”

ภายหลังเมื่อพวกนั้นก่อเรื่องราวมากเข้า ถือค้อนถือมีดหวังเข้ามาทำร้ายท่าน ท่านอดไม่ได้เลยพูดว่า “มีอะไร เฮ้ย!! เดี๋ยวแผ่นดินจะสูบนะ” ท่านพูดสั้นๆ เพียงเท่านั้น พวกมันเห็นอำนาจอะไรของท่านก็ไม่ทราบ พากันวิ่งๆๆๆ แตกหนี ราวกะผึ้งแตกรังกระเจิดกระเจิง ทิ้งค้อน ทิ้งมีด ทิ้งขวาน วิ่งหนีเตลิดเปิดเปิง แบบไม่คิดชีวิต นี่คืออำนาจจิตของท่าน เป็นเรื่องสุดวิสัยที่เราๆ ท่านๆ จะอาจสามารถรู้ได้


อำนาจจิตของหลวงปู่ศรี

เมื่อกล่าวถึงอำนาจจิตของท่าน มีพระอดีตผู้ใหญ่บ้านที่สละบ้านเรือนออกบวชติดตามหลวงปู่ศรี ได้เล่าด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ในอำนาจจิตของท่านไว้ว่า...

...ตอนที่ผมยังไม่ได้บวชและยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมเข้ามาวัดป่ากุงใหม่ๆ ท่านเทศนาว่า “เรามาประพฤติปฏิบัติ ให้ตั้งอกตั้งใจ”

ผมก็พูดสวนท่านว่า “หมามันเห่าทางบ้าน ผมห่วงว่า จะมีโจรขโมยควาย”

ท่านจึงบอกว่า “จะเอาของดีให้ ทำไมมาพูดแย้ง ไม่ใช่วิธีนะ”

ผมก็ยังพูดแย้งขึ้นอีกว่า “ผู้ใหญ่บ้านเขาเปิดบ่อนการพนัน คนเล่นคนกินคนเที่ยวมันเยอะ ไม่รู้ว่าควายที่บ้านเป็นยังไง หมาตัวอยู่บ้านมันเห่า”

ท่านเลยด่าเอาว่า “มาประพฤติปฏิบัติในศีลธรรมจะไปกลัวทำไมกับของแบบนั้น ถ้าหากเราประพฤติดีแล้ว ไม่มีใครมาทำอะไรเราได้หรอก ปืนก็ยิงไม่ออก ไฟไม่ไหม้ ตกน้ำไม่ตาย ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าไม่ตรัสไว้หรอก สวากขาตธรรม คนไหนประพฤติธรรม คนนั้นไม่มีอันตราย”

ผมฟังท่านแล้วผมไม่เชื่อ ผมไม่เคยเห็นว่าธรรมจะรักษาวัวควายที่บ้านผมได้ ผมก็เลยขอลาท่านกลับไปบ้าน แยกไปคนเดียว สัญญากับเพื่อนไว้หากมีเรื่องจะฉายไฟเรียก กลับไปถึงบ้านเห็นคอกควายโดนขโมยเปิดไว้หมด แต่ควายไม่ออกจากคอก ปรากฏว่า พวกขโมยมันเอาสนตะพายควายตัวผู้ ดึงควายตัวผู้ออกหนีจากหมู่พวก แต่มันไม่ยอมไป ควาย ๗ ตัวไม่ออกจากคอกซักตัว พ่อก็แก่ แม่ก็เฒ่า นัยตาก็ฝ้าฟาง มีเพียงหลานกำพร้าลูกของน้องสาว ผมจึงถามพ่อว่า “พ่อนอนต่างไหม?” (หมายถึงนอนแล้วรู้สึกมีอะไรแปลกๆ หรือผิดปกติ หรือเปล่า)

พ่อบอกว่า “ลูกเอ้ย! ควายมันหลุดวิ่งไล่ขวิดกันอยู่ ไปผูกหน่อย”

ผมก็โมโห บอกพ่อว่า “เขาจะขโมยควายเรา แต่ควายเราไม่ไป” ผมเลยฉายไฟเรียกเพื่อน เพื่อน ๑๒ คนจึงมาดูด้วยกัน ต่างคนก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน อัศจรรย์จริงอย่างท่านหลวงปู่ศรีฯ ว่า “ผู้ใดประพฤติธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

ผมหัวเข่าทรุดลงกับพื้นดินตรงปากคอกควายหันหน้าไปทางพ่อแม่ครูอาจารย์ (ศรี) กราบขอเป็นลูกศิษย์ท่าน นี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นกับผมจริงๆ หลังจากนั้นมาผมได้มากราบฟังธรรมท่านเสมอ และมีเรื่องอัศจรรย์ในคุณธรรมของท่านเสมอ จึงเกิดศรัทธาแก่กล้าสละบ้านเรือนออกมาบวชประพฤติศีลธรรม


ภูมิเจ้าที่วัดป่ากุง

หลวงปู่เล่าถึงภูมิเจ้าที่วัดป่ากุงตนหนึ่ง หลวงปู่เรียกว่า “อีสิ้นเหี่ยน” แปลงร่างได้ ๒ รูปแบบ ๑. เป็นงูใหญ่หางด้วน ตัวเท่าลำต้นตาล ๒. เป็นผู้หญิงแต่งชุดเปลือกไม้ปกปิดกาย อีกตนหนึ่ง เรียกว่า “บักดำใหญ่หรือบักคอลาย” ท่านทรมานสมัยอยู่ที่ วัดป่าหนองใต้ จนยอมตัว ขออยู่รับใช้ติดตามมาอยู่วัดป่ากุงกับหลวงปู่ มาเฝ้าวัดเฝ้าสระใหญ่ ใครไปจับต้อง ลักเล็กขโมยน้อยในวัด เอาของโดยไม่บอกกล่าวก่อน ต้องมีอันเจ็บไข้ได้ป่วยมีอันเป็นไปต่างๆ ถ้าอยากจะหายก็ต้องแต่งขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ มาขอขมาหลวงปู่ จึงหายจากอาการที่เป็น หลวงปู่บอกว่าด้วยอานิสงส์แห่งการรับใช้พระภูมิเจ้าที่ทั้งสองได้ไปเกิดในภพภูมิที่สูงแล้ว

ต่อมาท่านก็เป็นผู้นำชาวบ้าน ปลูกป่าไม่ว่าจะเป็นส้ม มะนาว กล้วย กอไผ่ ฯลฯ ปลูกในบริเวณวัด ท่านปลูกกล้วยล้อมโบสถ์ ไม่ให้ใครแตะต้อง พอพวกโจรขโมยผ่านมาเห็นกล้วยสุกคาเครือน่ากิน ก็ชวนกันเข้าไปขโมย ไปกัน ๔ คน เอากระสอบข้าวสารไปใส่ ตัดใส่ถุงละเครือ หามกระสอบกล้วยเดินวกวนไปมาอยู่ในบริเวณวัด หาทางออกไม่ได้จนกระทั่งสว่าง นั่งเหนื่อยล้าอ่อนเพลียทอดอาลัยอยู่ที่ใต้ร่มไม้

พอตอนเช้าท่านออกไปบิณฑบาต จึงบอกพระเณรว่า “ไปเรียกพวกขโมยบ้าหามกระสอบกล้วยเดินรอบวัดทั้งคืนมานี่ซิ” เมื่อถามพวกขโมยนั้นมาท่านก็ถามว่า “เป็นไงบ้างเหนื่อยไหม? ถ้าอยากกินทำไมไม่ขอ คราวหลังก็ขอสิ เอ้า เอาไปกินซะ”

เมื่อท่านอนุญาตให้ เขาก็กราบท่าน แล้วกราบเรียนท่านด้วยความตื่นเต้นตื่นกลัวว่า “เข็ดแล้วครับท่านอาจารย์ เข็ดไปจนวันตาย วัดนี้ผีเยอะเหลือเกิน พวกผมจะเดินหนีไปทางไหนก็มีผีขัดขวาง ไม่เจอผีก็เจอป่าทึบ หาทางมุดออกไม่ได้ เดี๋ยวก็เจอเสือ เดี๋ยวก็เจองูใหญ่ วิ่งหนีตายกันแทบทั้งคืน แทบจะเอาชีวิตไม่รอด เสื้อผ้าขาดวิ่นหมด”

“ทีหลังอย่าพากันไปหาลักขโมย มันเป็นบาป อยากได้อะไรก็ขอเอาตรงๆ” หลวงปู่ศรีท่านกล่าวสอน

อีกอันหนึ่ง ก็เป็นเรึ่องแปลกประหลาดเช่นกัน คือมีคนหนึ่งมารับจ้างขุดสระน้ำที่บ้านโสร่งแดง ห่างจากวัดป่ากุงนี่ไปก็ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร เลยบ้านก่อไป แกเอาแทรกเตอร์ขุดตรงนั้น แทรกเตอร์ดับไม่ติดเลย ทำยังไงก็ไม่ติด มีคนแนะนำแกว่า ให้แต่งเครื่องเซ่นสังเวยผีปู่ตาสิ เดี๋ยวรถก็จะสตาร์ทติด แกทำพิธีอย่างที่แนะนำ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ มีอีกคนบอกว่า ลองไปขอน้ำมนต์จากหลวงปู่ศรี วัดป่ากุงสิ แกจึงมากราบหลวงปู่เล่าความเป็นไปให้ท่านฟัง ท่านจึงทำน้ำมนต์ให้ แกก็เอาไปรดพรมรถแทรกเตอร์ พรมน้ำมนต์เสร็จ รถสตาร์ทติดทันทีเลย แกก็ก้มลงกราบหลวงปู่ตรงนั้นเลย พอเสร็จงานก็เลยมาหาหลวงปู่ บอกหลวงปู่ว่า ผมอัศจรรย์ในบุญบารมีครูบาอาจารย์จริงๆ ตั้งแต่นั้นมาทางวัดป่ากุงมีกิจการงานอะไรเกี่ยวกับเรื่องขุดสระ แกมาทำถวายหมด นี้เป็นเพียงเกร็ดเล็กน้อยในอีกหลายเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ให้รู้ถึงอำนาจจิตและบุญญาภินิหารของหลวงปู่ศรี มหาวีโร

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระพุทธรูปประจำทิศ “พระมหาเจดีย์ชัยมงคล”
ณ วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม (วัดผาน้ำย้อย)
บ้านโคกกลาง ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด



พระอรหันต์แสดงธรรมให้ฟังที่เขาผาน้ำย้อย

ในฤดูแล้งอากาศร้อนอบอ้าวของทุกปี ท่านมักจะนำคณะศิษย์ออกเที่ยววิเวกเจริญสมณธรรมตามป่าตามภูเขาลึกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ “ภูเขาเขียว” หรือ “เขาผาน้ำย้อย” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ดงมะอี่” มีพื้นที่ติดต่อ ๓ จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ มุกดาหารและร้อยเอ็ด สถานที่แห่งนี้ถูกอัธยาศัยท่านเป็นพิเศษตั้งแต่ท่านอุปสมบทใหม่ๆ จนกระทั่งเข้าสู่วัยชรา เมื่อมีโอกาสท่านจะออกมาเที่ยวเจริญสมณธรรมบริเวณเขาเทือกนี้เสมอ ท่านเล่าว่า

“การมาเจริญสมณธรรมตามสมณวิสัย ที่เทือกเขาผาน้ำย้อย มักได้อุบายแปลกประหลาดและอัศจรรย์เสมอ ตั้งแต่คราวยังหนุ่ม ร่างกายท่านยังแข็งแรง ท่านมักมาเที่ยววิเวกเพียงองค์เดียวอยู่ในป่าลึกๆ สนุกในการเจริญวิปัสสนา การพิจารณาธรรมต่างๆ คล่องตัวไม่เป็นที่ติดขัด อากาศก็เบาสบาย สัตว์เสือช้างก็ยังมีให้เห็นดาษดื่นอยู่ สงัดกายสงัดจิตจากอุปธิสรรพกิเลสที่มาก่อกวนรุมเร้าจิตใจ บางครั้งบางคืนปรากฏว่า มีพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังตามอริยประเพณี โดยปรากฏทางสมาธินิมิต ใจความย่อสรุปได้ว่า

“สมณะไปที่ใด อยู่ที่ใด ไม่ควรติดข้องอยู่กับกาลสถานที่ เวล่ำเวลา ควรตั้งจิตบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้นทุกลมหายใจเข้าออก ชีวิตที่กำลังก้าวผ่านไปในปัจจุบัน คือความไม่แน่นอน ที่ผลกรรมปรุงจิตแต่งขึ้นตั้งแต่อดีต ถ้าหากกรรมในปัจจุบันไม่แน่นอน ก็จะส่งผลร้ายในอนาคต

การมีชีวิตอยู่กับการตายไม่มีความต่างกันในทางธรรม เพราะเป็นหลักธรรมดาที่มนุษย์ และสัตว์โลกต้องพานพบเป็นประจำนิสัย การบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อความหลุดพ้นในวันนี้ หรือวันพรุ่งนี้ต่างหาก เป็นกิจที่สมณะพึงกระทำบำเพ็ญให้เกิดขึ้น

สมณะที่มีความมุ่งหวังว่าจะสิ้นกิเลสได้ในวันนี้หรือพรุ่งนี้เป็นสมณะที่ไม่นิ่งนอนใจ ต้องเป็นผู้มีความเพียรแผดเผากิเลสแก่กล้า สมณะเช่นนี้แล เป็นสมณะสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ”

เมื่อสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังแล้ว ก็อันตรธานจากไป ท่านก็น้อมเอาธรรมนั้นมาพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองให้เกิดสติปัญญา ท่านเล่าว่า

“เพลิดเพลินดื่มด่ำในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนท่องเที่ยวอยู่ในแดนอมตมหานฤพานข้ามความโศกเศร้าร้าวราน ลืมวันลืมคืน จิตใจจดจ่ออยู่กับการพิจารณาธรรมทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง จิตออกรู้เห็นทั้งแดนนรก แดนสวรรค์ พรหมโลก ออกรู้เห็นความระทมทุกข์ของสัตว์โลก เห็นความบันเทิงสุขของเหล่าเทพในสรวงสวรรค์ เห็นความยาวนานของชีวิตในพรหมโลก เมื่อย้อนจิตกลับเข้ามาข้างในพิจารณาธาตุขันธ์ที่ถูกกรรมปั้นแต่งขึ้นมาเหมือนดินที่ถูกช่างปั้น ปั้นเป็นรูปสัตว์บุคคลต่างๆ ที่ถึงเวลาก็แตกสลาย แล้วก็ปั้นขึ้นมาใหม่โดยอาศัยดินเดิม เปลี่ยนรูปลักษณะไปต่างๆ นานา จนช่างปั้นคือจิต ไม่อาจจำผลงานคือภพชาติที่หมักหมมมานานแสนนานได้”

บางครั้งถึงกับน้ำตาร่วงเมื่อพิจารณาถึงชีวิตธาตุขันธ์และภพชาติที่เวียนว่ายตายเกิดผ่านมามีแต่เรื่องแบกกองทุกข์นานัปการ หาประมาณและหาที่ยุติแทบไม่ได้ ทำให้เกิดสลดสังเวชสุดประมาณ เห็นทุกข์และเห็นโทษของทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์คือกิเลสตัณหา เห็นทางดับทุกข์คือมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ เมื่อจิตพิจารณายับยั้งอยู่เป็นเวลานานจึงถอนออกจากสมาธิ

ท่านเล่าว่า พระอรหันต์มาแสดงธรรมให้ฟังนั้น มีทั้งพระสาวกอรทันต์ในสมัยพุทธกาลและพระอรหันต์ในสมัยปัจจุบันที่นิพพานในเมืองไทย เมื่อพระอรหันต์จะนิพพานท่านก็แสดงนิมิตให้เห็นว่า เป็นผู้หมดความกังวลห่วงใย เมื่อถึงเวลาธาตุขันธ์ท่านจะแตกสลายตายลงไป ท่านก็ไม่มีความสะทกสะท้านหวั่นไหว เป็นผู้มีความคงที่สมบูรณ์ด้วยจิตวิมุตติ เหนือโลกสมมุติทั้งหลาย


เทพขอฟังธรรม

ท่านเล่าว่าทุกครั้งที่มาเจริญวิปัสสนาที่เขาผาน้ำย้อยยังมีพวกกายทิพย์ เทพ พรหมอันเป็นภพภูมิเบื้องบนมาปรากฏให้เห็นเสมอ บางท่านมาขอฟังธรรม บางท่านมาแสดงฤทธิ์ให้เห็นประจักษ์ถึงบุญญาภิสมภาร และบางท่านแสดงการจุติคือการอุบัติเกิดและวิบัติแห่งเทพยดา เป็นจุตินิมิต ให้ทราบล่วงหน้า เท่านั้นถึงคราวจะวิบัติ ย่อมมีเหตุอาเพศวิปริตเป็นนิมิตเตือนล่วงหน้า คือ ย่อมเห็นดอกไม้ทิพย์เครื่องประดับสำหรับองค์อันอยู่ในวิมานของตนเหี่ยวแห้งและไม่หอม ผ้าทิพย์ก็เศร้าหมอง ไม่รุ่งเรืองสดใส เมื่อถึงกาลวิบัติเทพที่เคยสุขรื่นเริงบันเทิงใจด้วยการเสวยทิพยสมบัติ แต่เมื่อถึงคราวจะพลัดพราก ก็หาความสุขทิพยสมบัติมิได้ อาสนะที่แท่นบรรทมอันแสนสุขก็ร้อนลุกเป็นไฟ ภายในกายของเทพนั้น ย่อมเที่ยวแห้งเศร้าหมองลง หารัศมีดังก่อนมิได้ ให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยเนื้อตัวตีนมือ มีความกระวนกระวายใจ

เมื่อนิมิตปรากฏเตือน เทพที่หมดบุญที่จะเสวยดังนี้แล้ว เทพยดาทั้งหลายที่รักใคร่กัน เทพนารีที่เป็นบาทบริจาริกาสุดที่รักดังดวงใจทั้งใกล้ทั้งไกล ย่อมไปมาหาสู่ตลอดทั้ง ๗ วันให้เกิดความโศกศัลย์ทุกข์โทมนัสนักหนา ต่างร้องไห้ต่อหน้าแล้วสะอึกสะอื้นด้วยคำว่า “เมื่อท่านจุติไปแล้ว ขอจงได้กลับมาเกิดในวิมานอันแสนสำราญนี้เถิด” เมื่อเทพนั้นตายจากเทวโลกไป แม้แต่เกศาสักเส้นหนึ่งก็ไม่เหลือปรากฏ หายวับไปหมดสิ้น และจักไปอุบัติบังเกิดในถิ่นใดนั้น ก็สุดแต่บุญบาปกรรมของเทพยดานั้นจักชักนำไป นี้แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนว่าแม้ในสรวงสวรรค์วิมานชั้นฟ้าที่ผู้คนปรารถนากันนักหนานั้น ก็ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน

บางครั้งภพภูมิเบื้องต่ำมีภูตผี สัตว์นรก ชั้นนิรยภูมิเปรต อสุรกาย เป็นต้น ก็มาปรากฏให้เห็น ด้วยการแสดงผลแห่งกรรมชั่วอันเผ็ดร้อนให้ปรากฏ เสวยทุกขเวทนาอันร้ายกาจ ผ่านปีเดือนอันยาวนาน เห็นแล้วทำให้เข็ดหลาบในการทำความชั่ว อยากขยันหมั่นสร้างความดี เพราะมนุษย์มัวเมาบันเทิงสุขในโลกมนุษย์เพียงเล็กน้อย เผลอใจไปหำความชั่วนิดหน่อยเมื่อกายแตกดับ กลับไปตกนรกหมกไหม้นานแสนนาน


รับนิมนต์สร้างผาน้ำย้อย

บันทึกประวัติวัดผาน้ำย้อย...

...ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ ทรัพยากรป่าไม้บนเทือกเขาเขียว กำลังถูกทำลายเป็นอย่างมาก บางกลุ่มก็เข้าไปทำไม้แปรรูปขาย และบางกลุ่มก็เข้าไปทำลายป่า เพื่อใช้พื้นที่ปลูกพืชไร่ เดิมพื้นที่แห่งนี้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้าอาศัยอยู่ปฏิบัติเพื่ออุดมการณ์ เป็นเหตุให้ทางราชการได้พยายามหาวิธีการปราบปรามด้วยวิธีต่างๆ ต่อมาได้พิจารณาเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตรวมใจของประชาชนชาวไทยได้

โดยเฉพาะแถบจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง พระมหาเถระที่ทรงคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์แจ้งในหมู่คนดีและคนชั่ว คือ หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านท่องเที่ยวเดินป่าเหยียบผาเขาแถบนี้ แทบที่จะเรียกได้ว่าหลับตาเดินไปได้ก็ไม่น่าจะผิด ท่านท่องเที่ยวภาวนาตามป่าเขาเทือกนี้เหนือจรดใต้ ตะวันตกจรดตะวันออก

ด้วยเหตุนี้ น.อ.ประสิทธิ์ ทองใบใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดสมัยนั้น จึงได้ไปกราบนิมนต์หลวงปู่ศรี มหาวีโร เพื่อขอให้ท่านได้พิจารณาตั้งวัดเป็นถาวรขึ้นบริเวณเขาผาน้ำย้อย เพื่อจะได้ใช้สถานที่ปฏิบัติธรรม และอบรมสั่งสอนศีลธรรมให้กับประชาชน

หลวงปู่ศรี มหาวีโร เมื่อท่านพิจารณาถึงเหตุผลต่างๆ แล้วเห็นว่า สมควรเป็นอย่างยิ่งที่สถานที่อันเป็นมหามงคลสำหรับชีวิตรอนแรมธุดงค์ของท่านแห่งนี้ จะได้จัดตั้งเป็นวัดโดยถาวร ท่านจึงจัดสร้างวัดบริเวณเชิงเขาก่อนชื่อว่า “วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม” (ผาน้ำย้อย) ตั้งอยู่บ้านโคกกลาง ตำบลโคกสว่าง อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ถนนสายหนองพอก-เลิงนกทา ห่างจากอำเภอหนองพอก ๑๓ กิโลเมตร

ท่านได้ส่งพระมาจำพรรษา ๕ รูป โดยมีหลวงปู่บุญศรี ญาณธมฺโม เป็นหัวหน้า เริ่มแรกเนื้อที่ของวัดมีประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ (ภายหลังเพิ่มเป็น ๑๓๐,๐๐๐ ไร่) ได้ปลูกต้นไม้ขึ้นเสริมอีกบนยอดเขา ๓๐๐,๐๐๐ ต้น

สมัยนั้นการขึ้นลงต้องไต่ไปตามซอกหิน ไม่มีบันได ป่าไม้อุดมสมบูรณ์มาก การเดินจากตีนเขาถึงผาน้ำย้อยใช้เวลาประมาณ ๓๐-๔๐ นาที การบิณฑบาต จะไปที่บ้านโคกกลาง ระยะทางไปกลับประมาณ ๖ กิโลเมตร

หลวงปู่ศรี ท่านชอบมาพักอยู่ตามถ้ำบริเวณผาน้ำน้อยนี้ พระเณรก็พักอยู่ตามบริเวณเทือกผาตลอดแนวเขา อาศัยซอกหินเงื้อมหินเป็นที่พักภาวนา

ในคราวนั้นท่านป่วยเป็นไข้มาเลเรียอย่างหนัก ท่านไม่ยอมทานยาหรือไปหาหมอ อาหารท่านก็ไม่ฉัน ใช้ธรรมโอสถรักษา คณะศิษย์ทั้งหลายต้องพยายามอ้อนวอนท่านไปรักษา เนื่องจากชราภาพอายุมากแล้ว ท่านยึกยื้ออยู่นาน ทนต่อการวิงวอนของคณะศิษย์ไม่ได้ ถึงจะยอมไป แม้อายุย่างเข้าสู่วัยชราแต่ความเพียรความเด็ดเดี่ยวไม่เคยย่อหย่อนลงเลย และท่านก็สอนพระเป็นธรรมกถาเตือนใจเสมอว่า

“การที่คนเราจะมีบุญวาสนาได้นั้น ต้องเป็นผู้ลงมือทำดีเอง การที่เราจะหมดบุญวาสนานั้น เพราะลงมือทำชั่วเอง ความมีบุญวาสนาหรือความไม่มีบุญวาสนา ใครทำให้ใครไม่ได้ เหมือนดอกและผลของต้นไม้ ย่อมเจริญเพราะอาศัยดินดี บุญกุศลคุณงามความดี ย่อมเจริญงอกงามได้ก็เพราะคบหาคนดีและสร้างความดี ฉะนั้น ป่าเปลี่ยวเป็นที่ไปของฝูงเนื้อ กลางหาวเป็นที่ไปของฝูงนก การสิ้นความกำหนัดเป็นเป้าหมายของธรรมะ พระนิพพานเป็นที่ไปของพระอรหันต์”

ท่านเป็นแบบอย่างแก่สานุศิษย์ไม่เคยท้อ ไม่เคยหวั่นในการสร้างความดีและคุณประโยชน์ทุกประเภท แม้พระพุทธรูปหินทรายมีน้ำหนักหลายตัน ที่มีศรัทธาสร้างถวาย ท่านเองนำพาญาติโยมจำนวนมากช่วยกันชักลากจากบริเวณเชิงเขา ขึ้นไปประดิษฐานบนหน้าผาน้ำน้อยอันสูงชันได้อย่างน่าอัศจรรย์

ในสมัยนั้นการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ มีศาลาเป็นต้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก น้ำก็แห้งแล้ง ท่านสร้างสระน้ำใหญ่ ศาลานั้นใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ ๑ ปี โดยท่านเน้นหนักเรื่องหลังกว้างใหญ่ เพื่อรองรับน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ แม้นว่าท่านจะไม่เคยอยู่จำพรรษา ณ สำนักแห่งนี้ แต่ท่านก็ให้ความสำคัญสำนักแห่งนี้ไม่ด้อยไปกว่าสำนักใหญ่วัดป่ากุง

สถานที่สำคัญมีดังนี้คือ
๑. ผาน้ำย้อย ซึ่งมีน้ำไหลหยดย้อยตลอดปี
๒. พระประธานที่ศาลาใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐๑ นิ้ว
๓. ถ้ำผาน้ำย้อย
๔. น้ำตกเช่น คำช้างจก คำจ๊าก คำยู้ส้าว
๕. หน้าผาบนผาน้ำย้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล

รูปภาพ
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต)


ถูกวางระเบิด/วาจาศักดิ์สิทธิ์

การสอนประชาชนญาติโยม ท่านเน้นหนักเรื่องศีล ๕ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะประเพณีทางภาคอีสานเมื่อมีงานเทศกาลสำคัญ มักดื่มของมึนเมาเข้ามาในวัดโดยไม่เกรงกลัวต่อบาป ในกรณีนี้ท่านจะห้ามเป็นพิเศษ ท่านบอกว่าวัดนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรดื่มเหล้าเมายาเข้ามาในวัด เล่ากันว่า...มีชายคนหนึ่งไม่เชื่อฟัง ดื่มเหล้าเข้ามา แล้วก็พูดจาท้าทายท่านและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏว่าวันนั้นอากาศแห้งแล้งแดดร้อนเปรี้ยงๆ ไม่มีเค้าฟ้าเมฆฝน ฟ้าได้ผ่าเปรี้ยง เปรี้ยง เปรี้ยง! ลงมากลางกระหม่อมของเขา เขาล้มพับดิ้นตายลงไปต่อหน้าคนทั้งหลาย ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครกล้าดึ่มเหล้าเข้าไปในผาน้ำย้อยอันศักดิ์สิทธิ์นั้นอีกเลย

ปี พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ ท่านได้เป็นประธานอำนวยการจัดสถานที่รับรองการประชุมพระสังฆาธิการ ภาค ๘-๙-๑๐ (ธรรมยุต) และท่านได้เริ่มโครงการ เทิดพระเกียรติ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะปลูกต้นไม้ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ไม้เกี่ยวกับวรรณคดีไทยและไม้สมุนไพร ปลูกบนหลังเขาเขียว (ผาน้ำย้อย) รวมเป็น ๙๐๐ ไร่ เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อมีคนดีก็ต้องมีคนร้าย เมื่อเป็นพระก็ต้องมีมารผจญ วันนั้นอากาศร้อนอบอ้าว ใบไม้ไร้สายลมโบกสะบัด ต่อมาอีกไม่นานนัก สายฝนก็ค่อยโปรยลงมา และโปรยลงมาอย่างหนักแทบลืมหูลืมตาไม่ขึ้น พวกพระเณร แม่ชีตลอดจนชาวบ้านเป็นจำนวนมากที่มาร่วมกันปลูกป่า ต่างวิ่งเข้าหาที่พักกำบังกันพัลวัน ในเย็นวันนั้นหลวงปู่ศรี ท่านสั่งกำชับทุกคนว่า “ให้ภาวนา อย่าพากันนอน”

พระรูปหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ เห็นท่านสั่งกำชับเชิงเป็นห่วงเป็นใยมากกว่าวันก่อนๆ เกิดลางสังหรณ์ว่า “จะเกิดอันตราย” กราบเรียนท่านว่า “เกรงว่าจะเกิดอันตราย ขอให้ท่านเรียกตำรวจมาอารักขาด้วย เพราะว่าเรามาปลูกป่าขัดผลประโยชน์กับพวกทำลายป่า และคนพวกนี้เดิมก็เป็นคอมมิวนิสต์ มีจิตใจโหดร้ายและมีอาวุธสงคราม”

ท่านก็ตอบว่า “ฮึ้อ...มันไม่เป็นอะไรหรอก” แล้วท่านก็เดินทางกลับวัดป่ากุง

คืนนั้นเวลาสามทุ่ม ก็เกิดระเบิดขึ้น เสียงดังตูม! ตูม! เสียงดังลั่นสนั่นป่า ทุกคนต่างตกใจ จอบเสียม เครื่องใช้ไม้สอย ต้นไม้ทะลุไปหมด หลังคาที่พักปรุพรุนไปทั่ว แต่ไม่มีใครเป็นอะไรเลย เหมือนที่ท่านบอกไว้ไม่มีผิด “ไม่เป็นอะไรหรอก”

พวกเจ้าหน้าที่ที่ไปถามท่านว่า “หลวงปู่ จะให้จับไหม”

ท่านบอกว่า “ไม่ต้องไปจับเขาหรอก กรรมใครกรรมมัน”

เขาเรียนถามท่านว่า “จะทำยังไงดี เขาจะมาระเบิดเรา”

ท่านบอกว่า “เอ้า! เขาอยากระเบิดก็ปล่อยให้เขาระเบิดไปซี ถ้ามันจะระเบิดมันก็ระเบิดเอง แต่ถ้ามันจะไม่ระเบิดมันก็ไม่ระเบิดเอง เป็นเรื่องของมัน ตอนที่มันระเบิดก็มี ตอนที่มันด้านก็มี จะไปกลัวตายทำไม ไม่ถึงคราวตายมันไม่ตายหรอกคนเรา ไม่ถึงคราวแตก มันก็ไม่แตกเหมือนกันระเบิด” พวกเจ้าหน้าที่ฟังแล้วก็หัวเราะกันใหญ่

เรื่องราวตอนที่มีคนไปขว้างระเบิดที่ผาน้ำย้อย ท่านเมตตาเล่าให้พระใกล้ชิดฟังตอนหลังว่า “จริงๆ แล้วจะทำไม่ให้มันระเบิดก็ได้ แต่ถ้าทำไม่ให้มันระเบิด เขาจะหาว่าระเบิดด้าน เดี๋ยวเขาจะเอามาเขวี้ยงใหม่ ก็เลยปล่อยให้มันระเบิด” นี้เป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่งสำหรับญาติโยมหรือพระเณรที่อยู่ในเหตุการณ์ ทุกคนต่างชื่นชมยกมือสาธุในบุญบารมีของท่านที่คุ้มครอง

ในเรื่องวาจาสิทธิ์นี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพฯ ท่านมักกล่าวยกย่องหลวงปู่ศรีว่า “ศรีปากเข็ด” คือมีวาจาสิทธิ์ พูดอะไร ทำอะไร สำเร็จทุกอย่าง


วัดพระมหาเจดีย์ชัยมงคล

บันทึกประวัติวัดผาน้ำย้อย ได้กล่าวไว้ว่า...

“หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้ก่อสร้างวัดผาน้ำย้อยสำเร็จตามความมุ่งหมายทุกประการ เป็นประโยชน์ใหญ่แก่คณะสงฆ์ทางภาคอีสาน ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ

...เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีิฉลู ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นวันรวมกฐินสามัคคีที่วัดป่ากุง พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (ศรี มหาวีโร) ได้ปรารภกับที่ประชุมคณะศิษยานุศิษย์ว่า

“ได้รับพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกาเป็นกรณีพิเศษ และมาพิจารณาเห็นว่า ครูบาอาจารย์สายอีสาน ผู้มีความรู้ระดับนักปราชญ์และปฏิบัติชอบระดับสัมมาปฏิบัติ ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและพระศาสนาเป็นจำนวนมาก สมควรสร้างถาวรวัตถุสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฏฐิธาตุ รูปเหมือนของครูบาอาจารย์เหล่านั้น เพื่อเป็นศูนย์กลางแก่ผู้มาศึกษาและสักการบูชา และเห็นว่าควรสร้างที่วัดผาน้ำย้อย”

หลวงปู่ศรีท่านได้ปรารภการสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคลไว้อีกตอนหนึ่งว่า...

“การสร้างเจดีย์ที่ผาน้ำย้อย ประชุมร่วมกันว่า จะมีการก่อสร้างเจดีย์ขึ้น ก็เนื่องจากหมู่คณะทั้งหมดในภาคอีสาน ๔ ภาค เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค และเจ้าอาวาสทุกวัดจะได้ไม่ไปใช้แห่งอื่น ซึ่งมีความเห็นพร้อมให้เอาวัดผาน้ำย้อยเป็นศูนย์กลางใึนภาคอีสานพระธาตุพนมนั้นก็อยู่ใกล้เข้าไปทางฝั่งลาวนู้น ก็เลยมาเห็นดีที่ผาน้ำย้อย แต่แรกก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของหมู่คณะสงฆ์ใ้นภาคอีสาน คนเขาคงไม่เข้าใจกัน คงนึกว่าทางวัดสร้างเอง แต่เรานั้นสร้างในนามของหมู่คณะนะ ไม่ทำเฉพาะวัดเราวัดเดียว ทำแล้วมันก็เป็นส่วนรวม โดยเฉพาะในด้านพระพุทธศาสนาก็ทั่วกันไปหมด ใครได้สร้างประโยชน์ส่วนใหญ่ส่วนรวม จะเป็นบันไดหรือหนทางนำไปสู่ความสุขความเจริญ ผลของการกระทำทั้งหลายนี้ มันจะกลับมาสู่ตัวเราทั้งนั้น ไม่ได้หนีไปทางอื่น ทำให้คนอื่นจริงอยู่ แต่มันจะกลับมาหาเรา การกระทำทุกอย่างก็เป็นผลประโยชน์แก่ตัวของเราเองนั่นแหละ ท่านไปอยู่ให้เกิดบุญกุศลเฉยๆ ฉะนั้นการกระทำเหล่านั้นจะเป็นบันไดที่จะเดินไปสู่ความสุขชั้นสูง”

ในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ท่านได้ประชุมคณะกรรมการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคล โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานฝ่ายบรรพชิตและพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานกรรมการก่อสร้างเจดีย์


ศิลปะร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ความกว้าง-ความยาว ๑๐๑ เมตร ความสูง ๑๐๙ เมตร สร้างอยู่บนเขาเขียว มีเนื้อที่ ๑๐๑ ไร่ แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม บนหลังเขามีสภาพเป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ รอบภูเขามีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันคล้ายกำแพงธรรมชาติโอบล้อมไว้ จึงเสริมให้องค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคลสูงโดดเด่นสวยสง่างาม สามารถมองเห็นได้แต่ไกลหลายกิโลเมตร สร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้พบเห็นสักการะ เกิดความซาบซึ้ง ทึ่งในความสวยงามยิ่งนัก

องค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล เป็นศิลปะร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน เป็นศิลปะกลมกลืนระหว่างพระมหาปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม เป็นแนวศิลปะกลมกลืน ยืนบนลวดลายสีสันหลากหลายสวยงามตามแบบสมัยใหม่ครบถ้วน องค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคลเป็นเจดีย์องค์ใหญ่สูงตระหง่านภูมิฐาน รายล้อมด้วยเจดีย์บริวารทั้ง ๘ ทิศ เรียงรายด้วยวิหารคตรอบองค์พระมหาเจดีย์ไว้อีกชั้นหนึ่ง ความยาว ๓,๕๐๐ เมตร คลุมพื้นที่ ๑๐๑ ไร่ รูปทรงพระมหาเจดีย์ชัยมงคลเป็นรูป ๘ เหลี่ยมใหญ่โตมากแบ่งเป็น ๗ ชั้นตามลำดับ เพื่อจุดมุ่งหมายต่างๆ ดังนี้

ชั้นที่ ๑ เป็นห้องโถง กว้างใหญ่ โอ่อ่า สำหรับการประชุมต่างๆ รอบฝาผนังด้านใน จารึกนามผู้บริจาคสมทบทุนก่อสร้าง เสา กรอบมุมประตู หน้าต่าง เพดานวิจิตรด้วยลวดลายหลากสีสวยงาม

ชั้นที่ ๒ จัดเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่สำหรับประชุมปฏิบัติธรรมพระสังฆาธิการ หรือการสัมมนาทั่วไป ฝาผนังทุกด้านติดตั้งรูปพุทธประวัติ ทศชาติศิลปวิจิตรกรรม ออกแบบลวดลายไทยทรงอีสาน กรอบขอบริม คาน เพดาน ดาดฟ้า เต็มไปด้วยความงามวิจิตรตระการตา ประดับตกแต่งด้วยสีทองทั้งทองแท้ทรงบรอนซ์ สลับสีธรรมชาติเกือบทุกสี มีสีฟ้า สีเขียว สีชมพู เหลือง กาบบัวหงายบัวคว่ำ ลายไทย รองรับโยงใยเต็มทุกซอกทุกมุม ตกแต่งอย่างงดงามทั้งสิ้น มีรูปเทวดาต่างๆ ชูตาลปัตรทรงดอกไม้ เรียงรายตามแนวต่ำจากเพดานตลอดแนว มองโดยรอบแล้วเหมือนอยู่ในวิมานแดนสวรรค์

ชั้นที่ ๓ เป็นที่ประดิษฐานพระคณาจารย์ ปราชญ์อีสานในอดีต เป็นรูปเหมือน สลักด้วยหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโนทั้งหมดให้ครบ ๑๐๑ องค์ วิจิตรกรรมทุกแง่ทุกมุม จากดาดฟ้าถึงพื้นล้วนแต่สวยงามทั้งสิ้น

ชั้นที่ ๔ จัดไว้เป็นพิพิธภัณฑ์สถาน แสดงวัดวาอาราม ตลอดจนสถานปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานที่หลวงปู่ศรี มหาวีโร เคยบำเพ็ญมาตลอดหลายพรรษาพร้อมผลงานต่างๆ ของท่านโดยเฉพาะ เพื่อประกาศให้โลกรู้ซึ้งถึงบุญญาบารมีของหลวงปู่ศรี มหาวีโร บนกรอบระดับหน้าต่างใหญ่ๆ ทั้ง ๔ ด้าน จัดเป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้าสี่ปรางค์ พระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์ สูง ๕ เมตรครึ่ง

ชั้นที่ ๕ อยู่เหนือสุดบันได ๑๑๙ ขั้น เป็นห้องโถงรูประฆังทองคำ ๘ เหลี่ยม ๘ ทิศ แต่ละมุมเหลี่ยมวางรูปลายไทยแนวตั้ง มองคล้ายด้ามกริชหรือทรงโคมไฟ ดอกบัวตูมตรงกลางเพดานเป็นศูนย์กลีบบัวคว่ำ ประดับด้วยทองคำแท้ลวดลายระยิบระยับเพื่อรองรับโคมไฟทองคำ ตรงกลางห้องเป็นเจดีย์เล็กที่มีลวดลายวิจิตรพิสดาร เพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ องค์มิ่งมหามงคลของพระมหาเจดีย์ องค์เจดีย์เป็นรูประฆังทองหรือบัลลังก์ทอง บนฐาน (ชุกชี) ช่องลมแต่ละด้านของห้องโถง มีรูปดอกบัวตูมใหญ่มีลายไทยครอบทุกกรอบทอง ซึ่งความงดงามนี้เกินจะบรรยายเป็นอักษรศิลป์ได้ โดยเฉพาะช่วงลานผนัง ๘ ทิศ ภายในกรอบลายไทยทองคำนั้นระบายด้วยสีอ่อนๆ ทั้งสีฟ้า สีขาว เจือสีเทาจาง หากต้องด้วยแสงไฟสลัวหรือแสงแดดอ่อนๆ ตอนรุ่งอรุณ จะมองดูคล้ายท้องฟ้าโปร่งในราตรีอันมืดมิด

เบื้องบนของโดมชั้น ๕ แบ่งเป็นชั้นที่ ๖-๗ แต่ไม่มีทางขึ้น เพราะป้องกันคนคิดผิดประทุษร้ายต่อทรัพย์สินอันล้ำค่า จึงสร้างเป็นเพียงองค์เจดีย์อันแข็งแรงปริมณฑล เพื่อเป็นฐานรองรับยอดเศวตฉัตรทองคำแท้หนัก ๔,๗๕๐ บาท หรือประมาณ ๗๒ กิโลกรัม มูลค่ากว่า ๒๓,๗๕๐,๐๐๐ บาท (มูลค่าในขณะนั้น) ด้วยบุญญาบารมีอันเหลือล้นของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ทำให้การดำเนินงานทุกอย่างสำเร็จไปด้วยดี โดยมีโยมอุปถัมภ์ คือ คุณยายจินตนา ไชยกุล คุณวาสนา ธารวานิช คุณชัช ธารวานิช และคุณวรยุกต์ เจียรพันธุ์ เป็นกำลังศรัทธาใหญ่ พร้อมทั้งศรัทธาชาวพุทธทุกหมู่เหล่า

ทุนการก่อสร้างทั้งหมดจะให้เสร็จสมบูรณ์จริงคงต้องใช้งบประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ พันล้านบาท ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ยังมิได้ปลูกฝังบารมีของตนไว้ ขอเชิญร่วมทำบุญได้ตลอดเวลา หากมีโอกาสขอเชิญไปสักการบูชาพุทธปูชนียสถานแห่งใหม่ พระมหาเจดีย์ชัยมงคลที่วัดผาน้ำทิพย์ (ผาน้ำย้อย) ด้วยตัวเอง

โดยสรุปแล้ว พระมหาเจดีย์ชัยมงคลแห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจ สร้างศรัทธาในพระพุทธศาสนาของประชาชนทุกหมู่เหล่า เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมสมถวิปัสสนากรรมฐาน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับชาติ เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา ธำรงวัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้งเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมของธรรมชาติ เพื่อสาธุชนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจในมรดกอันล้ำค่ายิ่งนี้ตราบชั่วนิรันดร์

รูปภาพ

รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์ชัยมงคล” ณ วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม
(วัดผาน้ำย้อย) บ้านโคกกลาง ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด


:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต)-หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป-หลวงปู่ศรี มหาวีโร

รูปภาพ
ภาพถ่ายในคราวหลวงปู่ศรีไปรับกฐินหลวง (วัดไทยที่อินโดฯ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑
ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยหลวงปู่ศรีได้ไปพักที่บ้านของคุณยูริ ยันติ
เจ้าของไร่ชา ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาพุทธ มีบ้านพักบนเขา
และได้ถวายกุฏิบนต้นไม้หลายคนโอบ ให้หลวงปู่ศรีท่านจำพรรษาอยู่ที่นั่น



ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑
พรรษาที่ ๔๔
จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบนหลังเขา
เมืองปุณจัก ประเทศอินโดนีเซีย


พักผ่อนธาตุขันธ์

นับเป็นเวลา ๒๒ ปีที่ท่านสงเคราะห์โลกอย่างเต็มที่โดยออกอบรมสั่งสอนประชาชนญาติโยม ตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดต่างๆ และได้ก่อสร้างถาวรวัตถุและวัดวาอารามต่างๆ ไว้มากมาย ขยายวัดสาขาไปทั่วประเทศ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ท่านจึงปรารภว่า

“อยากจะหาที่เหมาะสมไปพักผ่อน เนื่องจากเหน็ดเหนื่อย ทรมานกายตั้งแต่ออกสงเคราะห์โลก อยากจะชำระธาตุขันธ์ที่หมักหมมด้วยการงานมาหลายปี”

ประกอบกับในขณะนั้นมีคณะศิษย์ที่อยู่ต่างประเทศ นิมนต์ท่านไว้หลายแห่ง

ท่านจึงถามศิษย์ใกล้ชิดว่า “จะไปที่อเมริกา หรือจะไปที่ไหนดี หาที่สงัดจากแขกคนที่เกี่ยวข้องพักผ่อนภาวนา”

เมื่อท่านปรารภอย่างนั้นคณะศิษย์จึงปรึกษากันและกราบนิมนต์ท่านไปที่ไร่ชาเมืองปุณจะ ประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่พักอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ญาติโยมคณะศรัทธาจากประเทศออสเตรเลียนิมนต์ท่านไปร่วมงานกฐินของรัฐบาลไทยที่วัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ ร่วมกับพระเถระผู้ใหญ่ เช่น พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) พระธรรมบัณฑิต (จันทร์ศรี จนฺททีโป) ท่านไปพักอยู่ได้ ๑ เดือน ก็สั่งลูกศิษย์ให้โทรไปที่อเมริกา เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านเคยเดินทางไปเผยแผ่ธรรมะและมีคนที่ต้องการถวายที่ดิน เมื่อติดต่อไปทางอเมริกาตอบว่า ตอนนี้หนาวมาก แต่ถ้าหลวงปู่จะไปอยู่นั่น เขาจะยกบ้านที่อเมริกาให้อยู่จำพรรษา

ท่านจึงว่า “ไปอยู่บ้านโยมน่ะ ไม่ไปดอก อยากไปอยู่ป่า”

ท่านจึงบอกให้อาจารย์มานะติดต่อกลับที่อินโดนีเซีย เจ้าของไร่ชาคือคุณยูริ ยันติ (Mrs. Yanti Widjajs) เมืองปุณจัก ที่ประเทศอินโดนีเซีย

เมื่อคุณยูริทราบข่าวว่าท่านจะมาพักจำพรรษาจึงตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างยิ่ง จัดที่พักบนหลังเขา ทำทางเดินจงกรมถวายท่าน สร้างกุฏิบนต้นไม้ใหญ่ขนาดหลายคนโอบ ภายในเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่ อากาศสัปปายะ ยังมีป่าอุดมสมบูรณ์

ท่านได้ปฏิบัติสมณธรรมตามสมณวิสัย เดินจงกรม นั่งสมาธิมิได้ขาด ท่านทำความเพียรเหมือนคนหนุ่มๆ บางวันท่านก็อดอาหาร ภาวนา แผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ บางวันมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวอินโดฯ มาฟังธรรมที่ท่านแสดง บางวันท่านก็รับนิมนต์ไปโปรดไปเทศน์ตามสถานที่ต่างๆ ที่พอจะสงเคราะห์ได้ บางวันท่านได้ไปเยี่ยมศาสนสถานในที่ต่างๆ ฟังเขาอธิบายว่า ประเทศอินโดฯ แต่ก่อนเป็นเมืองพระพุทธศาสนา ประชาชนนับถือศาสนาพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เดี๋ยวนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เกิดสงครามศาสนา ศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาถูกเผาทำลาย คงเหลือแต่พระเจดีย์บูโรพุทโธ ที่สร้างด้วยหินทรายขนาดใหญ่ ใช้ระเบิดทำลายก็ไม่พังไปได้หมด และมีความศักดิ์สิทธิ์มาก

ท่านจึงปรารภว่า “ถ้ามีโอกาส จะสร้างพระเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้บ้าง เพราะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความถาวรมั่นของพระพุทธศาสนา ใครพังทำลายไม่ได้ง่ายๆ สร้างเล็กๆ น้อยๆ เดี๋ยวคนเขาก็ทำลายได้ง่ายๆ ดูอย่างพระเจดีย์บูโรพุทโธ ยังคงงามสง่าประกาศศักดาของความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวอินโดฯ เป็นประวัติศาสตร์ของโลก”

ออกพรรษาแล้วขันธ์ที่เคยหมักหมมเมื่อยล้ามานานของท่านกลับกระปรี้กระเปร่าผ่องใสงดงาม ท่านจึงปรารภว่า “เอาล่ะ สบายแล้วคราวนี้ จะไปไหนก็ไป” หลังจากนั้นท่านและคณะศิษย์ที่ติดตามจึงเดินทางกลับประเทศไทย


กล่าวชมพระอินโดนีเซียภาวนาดี

ท่านได้เล่าเรื่องมีพระภิกษุประเทศอินโดนีเซีย ภาวนาดีให้ฟังว่า...

...พระอินโดรูปหนึ่งเดี๋ยวนี้แกไปอยู่เมืองเลาะซีส อินโดนีเซีย เทศน์เก่งนะ คนใจใหญ่นะ ใจใหญ่ใจกว้าง นี่เคยพูดให้ฟังหลายครั้งแล้ว คือ แต่ก่อนท่านเป็นนักค้นคว้าศาสนาคริสต์ อิสลาม เอาจริง เอาจัง แต่แล้วก็ไม่หายสงสัย มาค้นคว้าตำราพุทธ ก็เลยยินดีพุทธแต่ยังไม่ไปหาครูบาอาจารย์ ฝึกหัดนั่งสมาธิไปตามตำรา ประเทศอินโดนีเซีย มีป่าดงใหญ่ แกไปอยู่กับคนป่าโน่น เตรียมเสบียงอาหารไปอยู่ผู้เดียวในป่า ๒-๓ เดือน ไม่รู้จักว่าจะทำอย่างไร จะบริกรรมภาวนาอะไรอย่างไรก็ไม่รู้จัก จึงพยายามทำจิตใจให้อยู่ในจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้นเอง เอาความรู้อยู่กับใจ ดูอยู่อย่างนั้นแหละ อยากกินก็กิน ไม่อยากกินก็ทำอยู่อย่างนั้นแหละ บทเวลามันจะเป็นคือ จิตใจ ไม่ได้ส่งไปตามอารมณ์ ไม่ได้คลุกคลีอยู่กับอารมณ์ทางนอก ไม่ส่งหน้าส่งหลัง มันก็เลยเป็นการตั้งสติไปในตัว อยู่กับความรู้ หนักเข้าความรู้นั้นก็ค่อยแก่กล้าขึ้นๆ จิตใจมันก็ลงสมาธิได้ สว่างโร่ทันที ใหม่ๆ สว่างหมดทั้งป่าทั้งดง นั่งอยู่คนเดียวหลับตาเหลียวมองเห็นหมด ต้นไม้น้อยใหญ่อยู่มุมไหน จอมปลวกอยู่มุมไหนในดงนั้น อุทาน เอ้...เกิดอัศจรรย์ใจ มันเป็นอย่างไรมันถึงรู้จัก หลับตาอยู่เท่าไหร่ก็มองเห็นหมด

วันหนึ่งว่างๆ ตอนกลางวันก็อยากเดินไปดูตามความรู้ที่เห็น ไปดู ถูกต้องหมดอย่างที่เห็นในนิมิต “เอ้...มันเป็นความจริงนี่” แกอุทานในใจ กำหนดดิ่งลงไปที่เก่านั่นแหละ อีกหลายวันนะนี่ไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง ลงพึ๊บอย่างใหญ่เลย สว่างโร่เลย ปรากฏเป็นเหมือนท้าวมหาพรหมนั่งอยู่บนธรรมมาสน์ นั่งเทศน์ให้ฟังเลยหรือเปล่า พระพุทธเจ้าก็ไม่รู้ แกว่าไม่รู้จัก บอกว่า เอ้อ เรื่องของพระพุทธศาสนามันดีอย่างนี้แหละ หากต้องการอยากที่จะประพฤติปฏิบัติ ก็เร่งเข้ามันจะเห็นมากยิ่งกว่านี้ แกก็เอาอย่างหนัก ลาออกจากศาสนาอื่นมาถือพุทธเลย มาถือพุทธ ก็เลยเดินทางมาเมืองไทย มาบวชอยู่วัดบวรนิเวศน์

ความรู้ภายในแกมาก จิตออกรู้ข้างนอกมาก พอนั่งสมาธิพุ๊บลงไป บางครั้งขึ้นไปบนฟ้าไปไม่รู้กี่ชั้น บางครั้งก็ลงไปข้างล่างไปไม่รู้สักกี่ชั้น จิตไม่ยอมอยู่ในร่างกาย แกถามปัญหาพวกพระสมเด็จฯ บางองค์แก้ปัญหาไม่ถูกจุด จึงคลายศรัทธาไปบ้าง เกิดการถือทิฎฐิมานะว่าตัวเองเก่ง สมเด็จพระญาณสังวรฯ ก็เลยส่งมาหาเรา ก็มาอบรมในนามพระสังฆาธิการ

เราจึงแนะนำให้ว่า “ความรู้ ความเห็น ทางนั้นมันดีอยู่หรอก แต่ว่ามีความรู้เหล่านี้มันไม่ได้ส่งเสริมจิตใจของเราให้สูงขึ้น หนักเข้าถ้าหากใครไม่ระวังก็เลยจะสำคัญตัวเองว่ามีอะไรต่อมิอะไร ต้องพิจารณาร่างกายเป็นหลัก ต้องอบรมกระทำให้มากในกายคตาสติ

สตินั้นต้องสังวรอยู่เสมอในตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสสิ่งที่ถูกต้อง ใจรู้ธรรมารมณ์ อย่าปล่อยให้จิตสยบในอารมณ์ที่ชอบ ไม่เคียดแค้นในอารมณ์ที่ไม่ชอบ ตั้งสติและจิตไว้ในวงกาย พิจารณาค้นหาความจริงด้วยสติและปัญญาดับบาปอกุศลที่จะเกิดทางทวารทั้ง ๖ ดังที่กล่าวแล้ว

เปรียบเหมือนเราจับสัตว์ ๖ ชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกันคือ จับงู จับจระเข้ จับนก จับสุนัขบ้าน จับสุนัขจิ้งจอก และจับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ แล้วจึงนำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน สัตว์เหล่านั้นมีที่อาศัยและที่เที่ยวหากินต่างกัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปตามที่ตนปรารถนา งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินไปในอากาศ สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า และลิงก็จะไปป่า

เมื่อสัตว์เหล่านั้นยื้อแย่งกันสุดฤทธิ์สุดเดช มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว พวกมันทั้งหลายหมดเรี่ยวแรงต่อสู้ ก็จะพึงยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อน นั้นเอง

ท่านเอย...เสาเขื่อนที่มั่นคงนั้นแหละคือกายคตาสติ ส่วนจิตที่ส่งไปตาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ และธรรมารมณ์ ก็เปรียบเหมือนสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเราพิจารณากาย อบรมจิต กระทำให้มากๆ เพียรพินิจพิจารณาโดยรอบคอบ ทำโดยสม่ำเสมอ ความรู้แจ้งแทงตลอดกายนี้ก็จะปรากฏ ส่วนความรู้ความเห็นอื่นๆ อันเป็นเรื่องของนิมิต ดูจะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะเราค้นพบความจริงแล้ว”

เมื่อพระอินโดฟังธรรมที่เราแนะแนวให้ เธอก็เร่งกำหนดเข้ามาตามที่เราสอน เดี๋ยวนี้ก็ไปตั้งวัดอยู่ภูเขาเมืองลาซัมอยู่ในอินโดนีเซีย สร้างอยู่บนหลังเขาทำเสียใหญ่โต อยู่คนเดียว ในกลุ่มนั้นมีแต่อิสลามหมด

ตอนนั้นเราไปหา เห็นเราร้องไห้โฮขึ้นเลย ไม่รู้เป็นอย่างไรมันอยู่ไม่ได้ สั่นไปหมด แกดีใจมาก เกิดปีติขึ้นมา แต่ว่าไม่ค่อยถูกกันกับหมู่เพื่อน ความเห็นมันดิ่งหมอนี่ หมู่พระอยู่แถวนั้นไม่ค่อยถูกกัน แกพูดถามความจริงไปเลย ตกลงต้องอยู่คนเดียว ความรู้ความเห็นจำพวกนี้ มันรู้เห็นได้อยู่นะ ไม่ต้องหาครูบาอาจารย์ ถ้ามีการกระทำเต็มที่จะต้องมีส่วนได้พิเศษ

จากนั้นเลยเทศน์ไม่มีอั้น เทศน์หมดวันหมดคืนก็ได้ พวกที่เรียนนักธรรม ตรี โท เอก นี่พูดไม่ทันแกหรอก นี่ความเป็นเองมันต่างกัน ถ้าจะเอาคุณธรรมให้เกิดกับจิตใจจริงๆ อันนั้นมันเป็นที่พึ่งแก่เจ้าของที่แท้จริง ธรรมะเข้าถึงใจ ใจเข้าถึงธรรมะ นั่นแหละเป็นธรรมะของเราที่แท้จริง แต่ธรรมะที่ได้ยินจากคนนั้นคนนี้ในตำรับตำรามันเป็นธรรมะของคนอื่นท่านหรอก เรายืมมาใช้เฉยๆ ยืมมาพูดเฉยๆ ธรรมะของเราจักเกิดขึ้นแค่ไหนขนาดไหนเท่านั้นแหละ ถ้าหากเป็นธรรมะที่เกิดขึ้นกับจิตโดยเฉพาะแล้ว โอ้ย มันกว้างขวางใหญ่โตมันลืมไม่ลงหรอก เพราะใจเป็นผู้รู้เอง เห็นเอง แต่ว่าจะผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าในตำราก็ไม่ใช่ บางอย่างมันไม่เหมือนกัน

รูปภาพ

รูปภาพ
พลังแห่งศรัทธามหากุศลสู่กำแพงที่ยิ่งใหญ่


ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒-๒๕๕๔
พรรษาที่ ๔๕-๖๖
จำพรรษาที่ วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง)
บ้านป่ากุง ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด


สร้างกำแพงแห่งศรัทธา

ในวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ การก่อสร้างกำแพงล้อมรอบองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคลได้เริ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อบูชาคุณหลวงปู่ศรีในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ซึ่งตรงกับวันครบรอบอายุ ๘๖ ปี ให้เป็นกำแพงแห่งศรัทธาที่ศิษยานุศิษย์มีต่อองค์ท่าน ภายในกำแพงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรมของผู้แสวงบุญ เป็นสถานที่พักนอน เป็นที่เดินตากอากาศ เดินชมวิวทิวทัศน์รอบๆ องค์พระมหาเจดีย์ และภายในกำแพง มีห้องน้ำ-ห้องสุขา นอกจากนี้ยังใช้เป็นโรงทาน และโรงครัวในบางโอกาสที่มีกิจกรรม ตัวกำแพงมีความสูง ๕ เมตร กว้าง ๔ เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อด้วยอิฐหินลูกรังผสมซีเมนต์ ยาว ๓,๕๐๐ เมตร เป็นกำแพงขนาดใหญ่มั่นคง แข็งแรง เหมือนกำแพงเมืองจีน แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมายดังกล่าว

ทั้งนี้เพื่อเป็นกำแพงแห่งศรัทธา บูชาคุณพระคุณท่านเจ้าคุณเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ผู้มากล้นด้วยบุญบารมี ซึ่งเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ผู้มีความเมตตากรุณาต่อคณะศิษยานุศิษย์ และชาวพุทธทุกหมู่เหล่าโดยไม่มีประมาณ

หลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ ประธานอำนวยการก่อสร้างกำแพงล้อมรอบองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ได้นำคณะศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ได้รวมพลังสามัคคีก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุกๆ คนได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา กำลังทุนทรัพย์อย่างเติมกำลังความสามารถทำงานโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ทำงานเพื่อเป็นอาจาริยบูชา ในการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากคณะศิษยานุศิษย์ของพระครูอดุลธรรมาจารย์ (พระอาจารย์มานะ อตุโล) วัดพุทธธรรมาราม จากเกาะฮ่องกง เป็นเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาทได้รับเงินสนับสนุนจากวัดสาขาทั่วประเทศจำนวน ๑๕๐ วัด ได้ช่วยต่อยอดเงินทำบุญกฐินสามัคคี เพื่อนำไปช่วยก่อสร้างกำแพงในปี พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๕ เป็นเงิน ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท และได้รับเงินสนับสนุนจากวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์ เป็นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เงินจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และบางส่วนจากผู้แสวงบุญที่มาสักการบูชาองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ได้นำมาช่วยก่อสร้างกำแพงอีกทางหนึ่ง

การทำงานก่อสร้างกำแพงฯ ของทุกๆ ปีจะลงมือทำงานหลังจากเทศกาลออกพรรษา และหมดเขตการทำบุญกฐินของวัดสาขาต่างๆ เรียบร้อยแล้ว พระภิกษุสงฆ์ อุบาสก-อุบาสิกาและประชาชนชาวพุทธทั้งหลายจากวัดสาขาต่างๆ ที่มีศรัทธาอันแรงกล้าต่างก็ได้มุ่งหน้ามายังพระมหาเจดีย์ชัยมงคล เพื่อรวมพลังสามัคคีสร้างกำแพงล้อมรอบองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคลให้เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ ถือได้ว่ากำแพงล้อมรอบองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

เป็นกำแพงแห่งศรัทธามหากุศล ที่คณะศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ตลอดจนชาวพุทธทุกหมู่เหล่า ได้รวมพลังสามัคคี ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอาจาริยบูชาอย่างแท้จริง

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระเจดีย์หินวัดป่ากุง

พระเจดีย์หินวัดป่ากุง สร้างขึ้นเพื่อถวายพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่ศรี มหาวีโร ณ วัดประชาคมวนาราม โดยจำลองมาจากเจดีย์บูโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย

หลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ วัดสาขาวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) ตลอดจนคณะศิษยานุศิษย์ ได้พร้อมใจร่วมกันสร้างพระเจดีย์หินวัดป่ากุงขึ้นมา เพื่อเป็นการบูชาคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่ศรี มหาวีโร โดยใช้หินทรายธรรมชาติก่อสร้างแกะสลักเรื่องราวพระพุทธเจ้าและลวดลายทั้งภายนอกและภายในของพระเจดีย์ฯ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ งบประมาณในการก่อสร้าง ๑๐๐ ล้านบาท


รายละเอียด

พระเจดีย์หินวัดป่ากุงตั้งอยู่ในบริเวณวัดประชาคมวนารามด้านทิศตะวันตกสูง ๑๙ เมตร กว้าง ๔๙ เมตร มีทั้งหมด ๓ ชั้น ภายในชั้นที่ ๑ ใช้เป็นที่ประกอบพิธีสังฆกรรมและที่ประชุมสงฆ์ ภายในชั้นที่ ๒ เป็นพิพิธภัณฑ์และประวัติตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ภายในชั้นที่ ๓ บรรจุพระพุทธรูปพระผง ของศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ภายนอกชั้นเรือนยอดพระเจดีย์หินทำเป็นเศวตฉัตรทองคำแท้ น้ำหนัก ๑๐๑ บาท ภายนอกชั้นที่ ๑ กำหนดให้เป็นภาพแกะสลักหินธรรมชาติในเรื่องพระเวสสันดรชาดก ภายนอกขั้นที่ ๒ กำหนดให้เป็นภาพแกะสลักหินธรรมชาติเรื่องพุทธประวัติ ภายนอกชั้นที่ ๓ กำหนดให้เป็นภาพแกะสลักหินธรรมชาติเรื่องพระพุทธชัยมงคล (พระคาถาพาหุง)

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระเจดีย์หินวัดป่ากุง

รูปภาพ

รูปภาพ
กุฏิกลางน้ำ วัดป่ากุง เป็นกุฏิที่หลวงปู่ศรี มหาวีโร เคยพำนัก

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 17:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล-หลวงปู่สาม อกิญฺจโน-หลวงปู่ศรี มหาวีโร

รูปภาพ
จากด้านหน้า : หลวงปู่ศรี มหาวีโร, หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ,
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และพระอาจารย์ไชยา สิริธมฺโม
ในงานพิธีพระราชทานสถาปนา เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง


รูปภาพ
หลวงปู่ศรี มหาวีโร รดน้ำศพ “หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต”
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ)
บ้านแวง ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร



ปัจฉิมวัย

พระเทพวิสุทธิมงคล หรือหลวงปู่ศรี มหาวีโร
ปฏิปทาของท่านปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็วในยุคสมัยที่กิเลสหนาขึ้นโดยลำดับ

การปฏิบัติของท่านในวัยหนุ่ม ยังมีร่างกายแข็งแรง ยินดีในที่นั่งที่นอนอันเป็นป่าช้าและป่าชัฏอันสงัด ใช้ผ้าบังสุกุล ไม่เริดร้างจากการบิณฑบาต ไม่ต้องการนอนนั่งในที่อันสบาย ใช้ท่อนไม้เป็นหมอนหนุน เป็นอยู่อย่างไม่ประมาท แม้จะทุกข์กายทุกข์ใจเจียนตายถึงน้ำตานองหน้า ร้องไห้อยู่กลางป่าเขาเพียงลำพัง ก็ยังสู้อุตส่าห์ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จนได้

ท่านได้ปฏิบัติถึงที่สุดแห่งกรรมแล้ว จึงออกเผยแผ่พระธรรมคำสอนจาริกพเนจรไปในที่ต่างๆ ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว และท่านยังได้สร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาและวัดสาขาไว้มากมาย ได้สร้างมหาเจดีย์ชัยมงคล ซึ่งยากที่จะหาบุคคลใดมีบุญญาบารมีทำเช่นนี้ได้

นอกจากนี้คณะศิษยานุศิษย์นำโดยหลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ ยังได้จัดสร้าง “พระเจดีย์หิน หลวงปู่ศรี มหาวีโร” จำลองมาจากเจดีย์บูโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ที่ท่านชื่นชอบ เพื่อถวายบูชาคุณเป็น “อาจาริยบูชา” เนื่องวาระฉลองอายุครบ ๙๐ ปี ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ด้วย

แม้ในปัจฉิมวัย ร่างกายท่านระงมไปด้วยอาพาธ ท่านก็ยังเที่ยวไปโปรดศิษยานุศิษย์ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมิได้ขาด

ธรรมของหลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นธรรมะที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย แสดงเรื่องจิต กิเลส กรรม ล้วนๆ แม้ท่านจะไม่ใช่พระประเภทนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เพราะท่านพูดน้อย แต่คำพูดของท่านก็เป็นประเภท “พูดน้อยแต่ต่อยหนัก” มีสาระล้วนๆ

ในวัยชราส่วนมากท่านจะนั่งนิ่งๆ เมื่อคนมากราบไหว้ สนทนาเล็กน้อย ท่านก็จะให้พรเพียงเท่านั้น

ข้อวัตรปฏิบัติของท่านในวัยชรา ตอนเช้าท่านยังออกรับบิณฑบาตตามธาตุขันธ์ที่อำนวย หลังจังหันเสร็จท่านเข้าพักเล็กน้อย บางทีท่านก็ออกมาเดินจงกรม ทำสมาธิภาวนา ตรวจบริเวณวัด ตรวจดูเก้ง กวาง นกยูง และสัตว์ต่างๆ ภายในวัด ให้อาหารปลาที่สระใหญ่ บางวันก็ออกไปโปรดศิษย์ตามวัดสาขา ส่วนกิจนิมนต์ท่านจะไม่ค่อยรับเพราะธาตุขันธ์ไม่ค่อยอำนวย

แม้ธาตุขันธ์อยู่ในวัยชรา แต่กิริยาท่าทางของท่านคงองอาจสง่างาม ครองจีวรเป็นปริมณฑล สวยงามเสมอ ก้าวย่างเดินอย่างมีสติประดุจราชสีห์ ประชาชนพระเณรล้วนหวั่นเกรงในเมตตาบารมีธรรมของท่านเป็นอย่างมาก

ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ เมื่อพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ประกาศตั้งโครงการทอดผ้าป่าช่วยชาติ ในยามที่ประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นหนี้สินต่างชาติ หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านก็เอาธุระของครูบาอาจารย์อย่างเต็มที่ ทั้งที่ธาตุขันธ์ไม่สู้จะอำนวย ท่านก็ยังป่าวประกาศให้ลูกศิษย์ทั้งหลายมาร่วมโครงการช่วยชาติกับหลวงตา ส่วนองค์ท่านเองได้กราบนิมนต์หลวงตามารับทองคำ ดอลล่าร์ จัดผ้าป่าช่วยชาติที่วัดป่ากุงเป็นประจำทุกปี

ด้วยความเคารพในองค์หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ปรมาจารย์กรรมฐานในยุคปัจจุบัน ทุกปีท่านจะนำคณะศิษยานุศิษย์ วัดสาขาทั่วประเทศ มาคารวะหลวงตาบ้าง มาทอดผ้าป่าถวายหลวงตาบ้าง ท่านถือปฏิบัติอย่างนี้เป็นประจำทุกปี

เมื่อหลวงปู่ศรีเข้ามากราบหลวงตา ถ้าอาสนะมีขนาดเท่าเทียมกันหรือวางเสมอกันท่านจะไม่ยอมนั่ง ท่านจะนั่งอาสนะบางๆ หรือนั่งพื้นเลย นี่คือกิริยาของพระมหาเถระ ที่แสดงความเคารพต่อกันตามแบบอริยตันติประเพณี

ภาพที่ท่านทั้งสองสนทนากัน เป็นภาพที่น่าเคารพรักอย่างยิ่ง พูดพลางยิ้มพลาง กระแสเสียงที่ท่านสนทนากันช่างนิ่มนวลระรื่นหู ประกอบไปด้วยความเอ็นดูและเมตตา หลวงปู่ศรีจะพนมมือสนทนาเหมือนสามเณรองค์น้อยๆ เป็นผู้นั่งนิ่งเสมอจนกว่าหลวงตาจะเอ่ยถาม

ทำให้ผู้คนบางคนที่นั่งดูรู้เห็นถึงกับน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว บ้างก็ปลื้มใจที่มีบุญวาสนาได้เห็นความงามแห่งพระอริยสงฆ์ ถึงกับอุทานว่า

“ต่อแต่นี้ไป ภาพแห่งพระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ จะมีปรากฏให้เห็นอย่างนี้อีกหรือไม่หนอ? เรามีบุญแท้เทียวจึงมีโอกาสได้เห็นพระผู้ทรงคุณเช่นนี้ ชาตินี้เกิดมาไม่เสียชาติแท้ๆ ผ่านจากยุคของพระมหาเถระทั้งสองนี้แล้ว พระผู้มีบุญญาธิการเช่นนี้จะปรากฏอุบัติขึ้นในโลกโดยธรรมได้อีกหรือไม่?”

หลวงปู่ศรี ท่านมีนิสัยละเอียดอ่อน สุขุม เป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยความที่ท่านเคยเป็นครูมาก่อน จะคิดจะทำอะไรต้องวางแผนงานให้เรียบร้อย ทุกสิ่งทุกอย่างที่สำเร็จได้ล้วนเกิดขึ้นด้วยบุญญาบารมีของท่านเอง

นี้คือ “บุญญาภินิหาร” ที่ท่านกระทำบำเพ็ญมาแต่บุพเพชาติ ลาภสักการะ ชื่อเสียงปรากฏขึ้นเหมือนของทิพย์ที่หลั่งไหลมาจากสรวงสวรรค์ ท่านจะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม นี้คือ อานิสงส์แห่งบุญที่ท่านทำไว้แต่ซาติปางก่อนและปัจจุบันชาติซึ่งตั้งตนไว้ชอบจนถึงที่สุดแห่งทุกข์

เมื่อเป็นชาติสุดท้ายของท่าน บุญบารมีทั้งหลายที่ท่านกระทำบำเพ็ญไว้ จึงหลั่งไหลหลอมรวมลงมาดังฝนห่าใหญ่ ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข ที่มาถึงท่านจึงเต็มตื้นเกลื่อนแผ่นดินแผ่นฟ้า คิดอะไร หวังสิ่งไหน ย่อมถึงความสำเร็จทุกประการ จนคนทั้งหลายแทบไม่เชื่อสายตาว่า “พระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กบ้านนอกคอกนา เกิดถิ่นอีสานกันดารแล้ง จะสร้างคุณประโยชน์ให้ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ได้ถึงปานนี้” นี้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากบุญญานุภาพ บุญญานุภาพ ช่างน่าอัศจรรย์อะไรเช่นนั้น

กว่าจะเป็น “หลวงปู่ศรี มหาวีโร พระผู้มากล้นด้วยบุญบารมี”...ท่านมีเบื้องหลังคือปฏิปทาอันแกร่งกล้าน่าอัศจรรย์ สู้ตายเพื่อธรรม กรำศกในธุดงควัตร หาผู้เปรียบได้ยาก และเป็นทายาทธรรมรุ่นสุดท้าย ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

ด้วยวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาอันนำมาซึ่งความเลื่อมใส สาธุชนจึงพาหลั่งไหลกันมากราบมากขึ้นโดยลำดับ มีพระภิกษุสามเณรและสานุศิษย์มากมายทั่วประเทศ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ณ วัดป่ากุง แห่งนี้ รอยเท้าแห่งอริยคณาอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ได้ก้าวย่างจงกรมผ่านเข้ามา เพื่อเยี่ยมเยือนหลวงปู่ศรีอยู่เสมอ เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส), สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร), สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน), พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล), หลวงปู่ดูลย์ อตุโล, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี, หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ, หลวงปู่สาม อกิญฺจโน, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร, หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฎฺโฐ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น

ชื่อเสียงของท่านจึงโด่งดังไปทั่วทุกทิศ เป็นที่ศรัทธาของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้นำประเทศ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป

นอกจากนั้นทางสำนักพระราชวังยังได้กราบอาราธนานิมนต์ท่าน เนื่องในงานพระราชพิธีสำคัญๆ เป็นประจำทุกปี ด้วยเกียรติคุณและคุณงามความดีอันเกริกก้อง ท่านยังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้คือ

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร”

วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชสังวรอุดม”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ “พระเทพวิสุทธิมงคล”

นอกจากนั้นท่านยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ เป็นผู้นำมาประทานมอบให้

นอกจากการอบรมสั่งสอนประชาชนในเมืองไทยแล้ว ท่านยังได้เดินทางไปเผยแผ่ธรรมยังต่างแดนเช่น อินเดีย จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา

ท่านได้ก่อสร้างถาวรวัตถุที่วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) วัดพระมหาเจดีย์ชัยมงคลวัดผาน้ำทิพย์ฯ และวัดสาขา ๑๔๕ สาขา ทั่วประเทศไว้มากมาย ประมาณค่ามิได้แล้วและที่สำคัญยิ่งนั้นก็คือ การสร้างปูชนียสถาน บรรจุพระบรมธาตุและอัฎฐิธาตุของถูปารหบุคคล เพื่อเป็นที่สักการบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บนยอดเขาผาน้ำย้อย อันงามสง่าเทียมฟ้า นามว่า “พระมหาเจดีย์ชัยมงคล” นั้น ย่อมเป็นเครื่องประกาศว่า

“อริยสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารูปหนึ่ง
นามว่า “พระเทพวิสุทธิมงคล” (ศรี มหาวีโร)
ศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
เป็นพยานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระอริยสงฆ์สาวก
และได้ก้าวเดินตามรอยบาทพระศาสดา
นี้คือศาสนาที่ทรงมรรคผล นำสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง”

ท่านจึงเป็นผู้มีจิตศรัทธามั่นคงหยั่งรากฝังลึกลงในธรรมพระตถาคตเจ้าแล้ว เป็นผู้ถึงซึ่งการนับได้ว่า “สมณศากยปุตติยะโดยแท้” คือ ผู้เป็นบุตร เป็นโอรส อันเกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดโดยธรรม เนรมิตโดยธรรม เป็นทายาทโดยธรรม

ท่านเป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่

เป็นผู้ไม่เกิดความยินดียินร้าย มีจิตมัธยัสถ์ เป็นกลาง มีความระลึกได้ และรู้สึกตัวเป็นประจำ เป็นผู้ไม่เหลวไหล ไม่เหลวแหลก ตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นสาระ

เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล คือ สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจรมีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้ที่ถือกันว่าโทษเล็กน้อย

เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง คือปรารภความเพียร เป็นผู้มีกำลังแข็งขัน ทำความเพียร ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความไวแห่งปัญญา คือรู้ชัดตามความเป็นจริง แตกฉานในอริยสัจจ์ว่าความไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นเช่นนี้ๆ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ เป็นเช่นนี้ๆๆ

เพราะเหตุฉะนี้แล พระเทพวิสุทธิมงคลหรือหลวงปู่ศรี มหาวีโร วัย ๙๐ ปี พรรษา ๖๑ ท่านจึงเป็นผู้ควรแก่การสักการบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรแก่การนบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้แลฯ

มหาวีรตฺเถรวตฺถุ นิฏฺฐิตํ.

:b39:

:b44: ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43001

รูปภาพ
หลวงปู่ศรี มหาวีโร เมตตาให้คณะทำงานถ่ายภาพ
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘


รูปภาพ
หลวงพ่อทองอินทร์ กตปุญฺโญ
เจ้าอาวาสวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) รูปปัจจุบัน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44107

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 18:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: หมายเหตุ :

(๑) พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ได้ละสังขารแล้วด้วยโรคชราอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๔ น. ตรงกับวันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๓๗๓ ภายในกุฏิกลางน้ำที่ท่านพำนักอยู่ ณ วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) บ้านป่ากุง ต.ศรีสมเด็จ อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน พรรษา ๖๕

(๒) มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ หลวงปู่ศรี มหาวีโร พระผู้มากล้นด้วยบุญบารมี โดยใช้ข้อมูลปัจจุบันล่าสุดจากหนังสือ มหาวีรธัมมานุสรณ์ ซึ่งรวบรวมชีวประวัติและพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) หนังสือตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ - น้องพลอย


:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 เม.ย. 2018, 07:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2019, 10:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 29 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร