วันเวลาปัจจุบัน 09 ก.ย. 2024, 02:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ย. 2014, 11:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำสุข ญาณสุโข

วัดป่าซับคำกอง (วัดป่าสระแก้ว)
บ้านสระแก้ว ต.เพชรละคร อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์


:b44: ประวัติโดยสังเขป

หลวงปู่ท่านเกิดที่บ้านโคกยาว ต.หนองทับม้า
อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็น จ.อำนาจเจริญ)
เกิดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๖๘ มีพี่น้องทั้งหมด ๘ คน
หลวงปู่ท่านละสังขารเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔


:b44: การอุปสมบท

หลวงปู่บวชที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์
บวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พอหลวงปู่บวชได้พรรษาที่ ๒
ได้เห็นชีวประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้อ่านกลับไปกลับมา
พออ่านแล้วก็เข้าใจว่า ท่านบวชมาเพื่อต้องการอะไร จะเอาอะไร
และสามารถจับจุดในการปฏิบัติได้และยึดข้อวัตรปฏิบัติ
ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นหลักปฏิบัติเป็นต้นมา

หลังจากนั้นหลวงปู่ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรม
ไปตามสถานที่ต่างๆ ทางภาคอีสานกลาง เหนือ
และตั้ง "วัดป่าซับคำกอง" ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕
ที่ต.เพชรละคร อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

สาเหตุที่มาตั้งวัดที่นี่ หลวงปู่อธิบายว่า
ท่านเคยเกิดตายที่แห่งนี้มาหลายภพชาติ จึงรู้สึกผูกพันมาก
แต่หลังจากตั้งวัดหลวงปู่ออกปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์
เช่น ประมาณพรรษาที่ ๑๖ หลวงปู่มาอยู่ปฏิบัติกับ "หลวงปู่ขาว อนาลโย"
พระรุ่นเดียวที่วัดถ้ำกองเพล มี หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต, หลวงปู่จันทา ถาวโร,
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

และหลวงปู่กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าซับคำกอง
ในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จนกระทั่งละสังขารที่วัดนั้นเอง

"วัดป่าซับคำกอง" เป็นวัดที่มีกฎระเบียบ
ที่หลวงปู่รักษาข้อวัตรปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่นอย่างเคร่งครัด

มีการแบ่งแยกเขตแม่ชีและพระอย่างชัดเจน ไม่ปะปนกัน
หลวงปู่มักจะอบรมสั่งสอนผู้มาปฏิบัติธรรมและพระลูกวัดอยู่เสมอ
แม้วัยสังขารจะชราภาพมากแล้วก็ตาม

วัดป่าซับคำกองสถานที่สงบ
ห่างไกลจากแสงสีของโลกภายนอก
แม้กระนั้นก็ยังมีผู้มีใจบุญจิตศรัทธาจากแดนไกล
มาเยียนฟังธรรมะของหลวงปู่อยู่เสมอ
แม้ว่าชื่อของหลวงปู่คำสุขจะไม่โด่งดังโดดเด่นกับโลกภายมากนัก
ด้วยนิสัยที่เรียบง่ายสันโดษ เพราะไม่ใช่พระนักพัฒนา ไม่ใช่พระนักเทศน์
แต่เป็นพระนักปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อลูกศิษย์ให้ปฏิบัติตาม
เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมดั่งเดิมของสายพระป่ากรรมฐานไว้

น่าเสียดายที่ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
หลวงปู่มีอาการป่วย หลังจากเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
หมอวินิจฉัยว่าหลวงปู่เป็นมะเร็งที่กรวยไตข้างหนึ่ง
ต้องทำการผ่าตัดไม่อย่างนั้นมะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น
บรรดาลูกศิษย์พยายามอ้อนวอนให้หลวงปู่ผ่าตัด
แต่หลวงปู่ท่านไม่ยอมรับการผ่าตัด
อาจจะเป็นเพราะท่านทราบดีแล้วว่านี่เป็นวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน
และต้องการแสดงธรรมบทอันเป็นตัวท่านเองเป็นผู้แสดง
สิ่งทั้งหลายทั้งมวลย่อมมีความเกิดขึ้นและจากไปเป็นธรรมดา
ร่างกายนี้เองไม่ใช่ของเรา มันประกอบไปด้วยโรคพยาธิเบียดเบียน

ท่านพยายามบอกกับลูกศิษย์
ไม่ให้ห่วงหลวงปู่ให้ห่วงตัวเองหมั่นเจริญภาวนา
และอีกไม่กี่เดือนถัดมาหลวงปู่ท่านก็ละสังขารด้วยอาการสงบ
อันเป็นอาการสุดท้ายของพระอริยเจ้า
ผู้ฝ่าสมรภูมิแห่งกิเลสตัณหาเป็นผลสำเร็จ
หลวงปู่จากไปแล้วทิ้งไว้เพียงธรรมบทไว้เบื้องหลัง



:b8: ที่มา : http://watpasubkhamgong.webiz.co.th/

:b47: ประมวลภาพ “หลวงปู่คำสุข ญาณสุโข”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48741

:b47: รวมคำสอน “หลวงปู่คำสุข ญาณสุโข”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50466

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2014, 11:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ชีวประวัติ คติธรรม ปฏิปทา พระธรรมเทศนา
ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร (กรณีพิเศษ)
“หลวงปู่คำสุข ญาณสุโข” เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ณ เมรุชั่วคราว วัดป่าซับคำกอง (วัดป่าสระแก้ว)
บ้านสระแก้ว ตำบลเพชรละคร อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์

รวบรวมและเรียบเรียงโดย “พระมหาคมสันต์ มหายโส”

คลิกเพื่อฟังเสียงอ่านอัตชีวประวัติหลวงปู่

:b46: ปฐมวัย

หลวงปู่เกิดที่บ้านโคกยาว ต.หนองทับม้า อ.อำนาจเจริญ
จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็น จ.อำนาจเจริญ)

เกิดในตระกูลบัวภาเรือง มีชื่อเดิมว่า "หาญ บัวภาเรือง"
บิดาชื่อ นายสัว บัวภาเรือง มารดาชื่อ นางมนต์ บัวภาเรือง
เกิดเมื่อวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑ ปีฉลู ตรงกับวันอังคารที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘
มีพี่น้องร่วมมารดาทั้งหมด ๘ คน โดยท่านเป็นคนที่ ๒ มีชื่อตามลำดับดังนี้

๑. นายฝน บัวภาเรือง
๒. หลวงปู่คำสุข ญาณสุโข
๓. หลวงปู่สำราญ ขันติโก
๔. นายอาน บัวภาเรือง
๕. นายถ่าย บัวภาเรือง
๖. นางเถื่อน บัวภาเรือง

พ่อแม่มีอาชีพทำนา ฐานะปานกลาง

หลวงปู่เล่าถึงชีวิตวัยเด็กและการศึกษาในเบื้องต้นว่า
พอมีอายุ ๖-๗ ปี พอรู้เรื่องรู้ราว ช่วยเหลือตัวเองได้
พ่อก็พาตัวไปฝากเป็นเด็กวัดกับ พระครูพุทธิศักดิ์สมณกิจ (หลวงพ่อลุย)
ซึ่งเป็นญาติฝ่ายพ่อ ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ เจ้าคณะอำเภออำนาจเจริญ ฝ่ายมหานิกาย
เพื่อเรียนหนังสือ พอเป็นเด็กวัดก็เอาวัดเป็นบ้าน เอาครูอาจารย์แทนพ่อแม่
หมู่เพื่อนต่างหมู่บ้านมารวมกัน หลวงพ่อก็รับไว้
ด้วยความเมตตาเพื่อสอนหนังสือให้ เรียนกับท่านเอง (หลวงพ่อลุย) เป็นปีๆ
อุปกรณ์การเรียนมีเพียงดินสอกับกระดานหินแตกเท่าฝ่ามือ
พออ่านออกเขียนได้จึงได้ย้ายไปเข้าโรงเรียนสันติบาลบ้านหนองแซง
เพื่อศึกษาต่อในระดับชั้น ป.๑

ตอนเช้ากินอาหารก่อนไปโรงเรียน กลับมาตอนเย็น
บางวันพระเณรก็เก็บอาหารไว้ให้ บางวันก็ทำให้กิน
สมัยนั้นไปโรงเรียนไม่ได้ใช้เงิน
สมัยนั้นเงินมีราคามากต่างจากปัจจุบันสิ้นเชิง

เรียน ป.๑ พอขึ้นชั้น ป.๒ ก็เริ่มได้ใช้กระดาษดินสอ
เรียน ป.๒ ได้ ๕ วันทำข้อสอบได้ ครูให้เลื่อนชั้นขึ้นไปอยู่ ป.๓
ครูให้เราขึ้นชั้น ป.๓ แบบงงๆ เรียน ป.๓ ค้างฟ้าเลย
เพราะภูมิความรู้ไม่พอ จบ ป.๔ พอ..ไม่เรียนต่อ
เป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือ เรื่องเรียนขี้เกียจมาก ไม่อยากพูดถึง



:b46: การศึกษาชั้นต้น

เรียนจบ ป.๔ เรียบร้อย หลวงพ่อบอกให้บวชเป็นสามเณร
เพื่อที่จะให้สอบนักธรรม เราก็ตอบรับแบบขัดขืนไม่ได้
เป็นเณร ๒-๓ เดือน สอบนักธรรมเสร็จ อยากสึกขึ้นมา
ก็เลยไปขอท่านสึก ท่านไม่สึกให้ หนำซ้ำยังดุอีกต่างหาก
วันต่อมาห่มผ้าไปกุฏิท่าน เดินด้อมๆ มองๆ ก้มๆ เงยๆ
ท่านเหมือนรู้ นั่งรอ แต่ในมือมีไม้ขัดประตูศาลายาวเท่าวา
"บักเหยิบ มึงสิมาหยังล่ะ" ท่านว่างั้น พอเห็นอย่างนั้นเราก็วิ่งเผ่นเลย

การเข้าไปขอลาสิกขาตัวต่อตัวไม่สำเร็จ
จึงรอโอกาสวันพระ ญาติโยมมารักษาศีลเยอะๆ
จึงไปนั่งหลบในกลุ่มผ้าขาว กล่าวคำลาสิกขาตามเพื่อน
ได้สึกสมใจ จากนั้นก็ขอลาท่านกลับบ้าน
ไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ไถนาตามประสาอาชีพลูกอีสาน

นิสัยดั้งเดิมเป็นคนเงียบขรึม ไม่ค่อยพูด เป็นคนจริงจัง
ทำอะไรก็ตาม..เด็ดขาด หนักเอาเบาสู้ ถ้าได้ทำแล้ว..ต้องเสร็จ
ด้วยวัยรุ่นเต็มไปด้วยกำลังวังชาและกิริยาที่ดุดันขึงขัง
อาหารที่ชอบ คือ เนื้อวัว กินทีเป็นกิโลๆ

มีครั้งหนึ่งออกไปหาปลา ใช้แหเป็นอาวุธ
พอถึงหนองน้ำก็ทอดแหลงไป จากนั้นคนค่อยตามลงไป
เพื่อที่จะตรวจสอบในแหตาข่ายมีปลาติดหรือเปล่า
แต่ไม่เดินลงไปธรรมดาอย่างชาวบ้านเขา
เดินก้าวถอยหลังแล้ววิ่งไปข้างหน้า กระโดดด้วยความเร็วสูง
พุ่งจากฝั่งลงน้ำ..อนิจจา..มีตอไม้ในน้ำใครจะไปรู้ได้
หน้าอกกระแทกเข้าอย่างจัง นอนร้องโอ๊ยๆ ด้วยความเจ็บปวด
ถึงอย่างนั้นยังคิดหงุดหงิด
เมื่อไรจะหายจากอาการเจ็บปวดซะทีจะได้หาปลาต่อ



:b46: ชีวิตวัยหนุ่มและชีวิตครอบครัว

หลวงปู่เล่าถึงการแต่งงานครั้งแรกว่า
สมัยเป็นหนุ่มนั้นชอบสนุก ไปเรียนเป่าแคน ฝึกเป่าแคน พอเป่าเป็นฟังได้
สมัยนั้นใช้เสียงแคนเป็นอาวุธในการจีบสาว
แต่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง เราตั้งใจไว้เลยนะว่า ถ้าหมู่บ้านไหนไม่มีวัด
จะไม่จีบ แม้สาวๆ หมู่บ้านนั้นจะสวยขนาดไหนก็ตามที

เราเองก็ชอบพอกับสาวรุ่นเดียวกัน ชื่อ บัวหัน
อายุ ๑๖ ปี หน้าตาดี มีเสน่ห์ ไปเป่าแคนจีบ
มีคู่แข่งชื่อ ครูทอง ประลองกลยุทธทั้งพูดจีบทั้งเป่าแคนจีบ
ทำคะแนนกันเต็มที่ สุดท้ายเราใช้วิธีใส่เสน่ห์เล่นของ
พ่อเป็นคนสอน เอาต้นหนวดราชสีห์เป่ามนต์คาถา
ไปเหน็บที่เชิงชายผ้าสาวบัวหัน

พอตกกลางคืนสาวบัวหันนั้นนอนหลับก็ฝันเห็น
ทั้งรักทั้งหลงบ่นเพ้อหาอยู่ตลอด
พ่อแม่ต้องได้มานอนเฝ้าหน้าห้องเลยทีเดียว
สุดท้ายผู้ใหญ่ก็ตกลงปลงใจแต่งงานให้
สินสอด ๑๒ บาท อยู่กินกัน ๓ ปี มีลูกด้วยกัน ๑ คน

ต่อมาด้วยบุญกรรมอันใดก็ไม่รู้ อยู่ๆ แม่ของเราไม่ชอบลูกสะใภ้
ให้เอาไปคืน ลูกยังเล็ก ๒ เดือน แม่บอกอย่างนั้นเราผู้เป็นลูกก็ทำตาม
แม่บอกว่าคนนี้แม่ไม่ชอบ เดี๋ยวแม่จะหาให้ใหม่หรอกลูกเอ้ย
คนหนึ่งก็เมีย อีกคนหนึ่งก็แม่ผู้ให้กำเนิดเกิดกับท่าน ก็ตัดสินใจแต่ไม่พูดอะไรสักคำ

ตอนพาไปส่งบ้าน พ่อแม่เขาก็ไม่รู้ตัว โกหกเมียว่าจะไปเอากางเกงก่อนนะ
พอเดินพ้นหมู่บ้านก็จ้ำอ้าวเลย ส่วนเมียได้ยินชาวบ้านบอกว่า
ผัวมึงหนีกลับไปแล้ว เท่านั้นแหละวางลูกไว้บนเตียง
นั่งลงกับพื้น ร้องไห้ลั่นหมู่บ้าน ตากับยายวิ่งเข้ามาโถมกอดลูกสาว
ด้วยความเป็นห่วงสงสาร ลูกก็ยังเล็กไม่รู้เรื่องราว พ่อก็ทิ้งแบบไม่สั่งลาสักคำ

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า เราก็ใช่ว่าจะทิ้งลูกทิ้งเมียไปด้วยความร่าเริงอะไร
มองขึ้นท้องฟ้าเหมือนมันจะพลิกคว่ำ เหมือนกับมีอะไรมาดึงรัดมัดขา
ก้าวขาก็จะไม่ออก ใจยังอาลัยอาวรณ์แต่ต้องจากไปก่อนทั้งที่เสียดาย
นี่แหละที่ท่านเรียกว่า รักลูกเหมือนเชือกผูกคอ รักเมียเหมือนปอผูกศอก



:b46: ได้ยินข่าว "พระอรหันต์"

ครั้งหนึ่งที่วัดมีงานสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านก็ไปร่วมกันทำบุญ
หนุ่มสาวบ่าวแก่ไปหมด ตามธรรมเนียมประเพณีก็จุดธูปเทียน
เพื่อบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นเราก็อธิษฐานว่า
"เกิดชาติหน้าขอให้เจอพระพุทธเจ้าด้วยเถิด สาธุ"
อธิษฐานแบบคนหูหนวกตาบอด
เรายังไม่รู้จักศาสนาพุทธอย่างแท้จริงในตอนนั้น

วันเดียวกันนั้นนั่นเอง
หูข้างหนึ่งบังเอิญไปได้ยินเสียงชาวบ้านเขาคุยกันว่า
มีพระอรหันต์แถบสกลนคร อุดรธานีโน่น
เราฟังก็สะดุดใจ..อ้าว พระอรหันต์ยังมีอยู่ในโลกอีกหรือ
เคยได้อ่านได้ฟังแต่ในตำราว่าพระอรหันต์
..พระอรหันต์..ฟังแค่นั้นก็ติดใจไม่รู้หาย

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2014, 16:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: พบสามเณรปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


จากนั้นไม่นานมีสามเณรองค์หนึ่งมาเยี่ยมแม่ในหมู่บ้าน
ท่านนุ่งห่มเป็นปริมณฑล สีผ้าย้อมด้วยสีแก่นขนุน
กิริยาอาการสำรวม สังวร เรียบร้อย ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง พูด ช่างน่าดู
เย็นตานอกไปถึงตาใน อบอุ่นใจไม่รู้จบ เพียงพบเท่านั้นก็ซักถามได้ความว่า
เป็นสามเณรปฏิบัติสายพระป่ากรรมฐาน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต



:b46: หนีไปอยู่ภาคใต้

อยู่เป็นหนุ่มโสดได้ไม่นาน
แม่ก็ติดต่อสาวและให้แต่งงานเป็นคนที่ ๒ ครั้งที่ ๒
อยู่กินด้วยกันนาน ๕ ปี มีลูก ๓ คน
หลวงปู่เล่าว่า ตอนนั้นด้วยนิสัยชอบสนุกสนาน
ทำอะไรตามใจตัวเอง ติดการพนันไก่ชน
ชอบตีไก่ เงินไม่มีก็ขโมยข้าวของเมียไปขาย
เพื่อจะเอาเงินมาเล่นการพนัน เล่นโบกเล่นไพ่
ท้ายที่สุดไปเป็นเจ้ามือรับแทงหวย
ความซวยก็มาถึงแบบไม่ทันตั้งตัว
เขาถูกหวยจะมารับเงิน เราไม่มีจ่าย
มีเงินทุนแค่ ๕๐๐ บาท ติดตัว..หนีเลย

ลูกสาวหลวงปู่เล่าให้ฟังว่า
พอหลวงพ่อหนีไปภาคใต้ ทิ้งแม่ไว้กับลูกสามคน
ท่านไปติดหนี้ไว้ที่ไหนกับใครบ้าง
เจ้าหนี้เขาก็ตามมาทวง ข่มขู่ลูกเมีย
ไม่มีจ่ายเขาก็เอาหมูในคอกไป
เอาข้าวในยุ้งในฉางไป เป็ดไก่มีอะไรเอาไปได้ก็เอาไปหมด
แม่ก็เสียใจแต่ไม่เคยคิดที่จะตามหา ไปไม่กลับยิ่งดี

พอท่านหนีออกจากบ้านไปทำงานภาคใต้ จ.ยะลา ปัตตานี
ทำงานที่เหมืองแร่ เงินเดือนๆ ละ ๓๕๐ บาท
แต่ใช้ความสามารถเดิมในการตัดผม รับจ้างตัดผมคนงานด้วยกันไปด้วย
พอเงินเดือนออก ลูกจ้างก็รับเงินเดือนกันยิ้มแย้มแจ่มใส



:b46: สลดใจในกามคุณ

มีครั้งหนึ่ง หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า
ออกไปเที่ยวกลางคืนในเมืองกับเพื่อนๆ หลายคน
หาความสนุกสุขสำราญใส่ตนบ้าง
เหนื่อยกับงานในเหมืองแรมเดือน
สาวๆ สตรีค้าประเวณีเมื่อเห็นหนุ่มๆ มาเที่ยวเช่นนั้น
ก็เข้าต้อนรับ จับไม้จับมือ พูดจาซักถามด้วยความตอแหล
อีกทั้งสายตาที่ยั่วอารมณ์ บางคนโผเข้ากอดเหมือนรู้จัก
คิดถึงกันมานาน เรียกได้ว่า ยากนักที่ผู้ชายอย่างเราๆ ท่านๆ
จะอดทนต่อสภาวะเช่นนั้นได้

แต่ท่านไม่ให้ผู้หญิงเหล่านั้นเข้าสัมผัสจับเนื้อต้องตัวท่านเลย
ด้วยความเบื่อหน่ายในมารยาสาไถของผู้หญิง
และความตั้งใจที่จะออกบวชเพื่อความหลุดพ้นเป็นทุนเดิม
กลับสลดสังเวชต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยซ้ำ



:b46: การอุปสมบท

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)


ทำงานที่เหมืองแร่ ๒ ปีจึงกลับอีสาน
เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์และวัดที่จะบวช
โดยได้สืบทราบและตั้งเอาไว้ในใจเลยว่า
ต้องเป็นพระป่ากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นเท่านั้น


ฝากตัวเป็นผ้าขาวกับพระอาจารย์สวด วัดบ้านทุ่งตาลเลียน
(วัดป่าถ้ำพระเทพนิมิต ต.ตาลเลียน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี)
ท่านก็เป็นองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงขึ้นมาบ้างในตอนนั้น
เคียงคู่กับพระอาจารย์มหาบัว (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
เตรียมตัวบวชนั้นรักษาศีลแปด เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติ
ที่จะกระทำต่อวัดวาอารามและรับใช้ครูบาอาจารย์
จนท่านเห็นอุปนิสัยสมควรแล้วจึงจะบวชให้

ธรรมเนียมวัดป่ากรรมฐาน ท่านจะเคร่งครัดมาก
ไม่ใช่อยากบวชก็บวชได้เลย ต้องได้รับอบรมฝึกฝนเสียก่อน
รับใช้ครูบาอาจารย์ พระเณรหลายเดือน
ในขณะนั้นต้องหัดขานนาค ออกเสียงอักขระฐานกรณ์
ที่เป็นภาษามคธให้ถูกต้อง หัดกราบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
เรียนกรรมฐาน ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น จนกระทั่งได้บวชต่อมา

อุปสมบท ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ เวลา ๑๔ นาฬิกา ๒๘ นาที
โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์
และพระครูสมุห์สวัสดิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า "ญาณสุโข" แปลว่า ผู้มีความสุขในญาณคือความรู้



:b46: พบหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ


พอบวชมาได้ไม่นาน เจอหลวงปู่อ่อน (หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ)
ลูกศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ท่านบอกให้เรียนนักธรรม เอาชั้นโทก็พอ
เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส
ตั้งใจว่าจะเรียนเอาประโยคเก้าก่อนค่อยออกปฏิบัติ
คิดไปคิดมา ก็เลยเปลี่ยนใจ

ขอโอกาสหลวงปู่อ่อน กราบเรียนท่านว่า
ข้าน้อยมาบวชตอนแก่ ขอตั้งใจปฏิบัติอย่างเดียวเลยดีกว่า
มัวแต่มาเรียนอยู่ ถ้าตายก่อนคงเสียดายภายหลังแน่
เล่าเรื่องก่อนที่จะมาบวช ความเป็นไปเป็นมาว่า
ทิ้งลูกทิ้งเมียมาบวช ท่านร้องโฮเลย ชื่นชมว่าใจเด็ดแท้ ใจเด็ดแท้



:b46: พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๙๗
จำพรรษาที่วัดบ้านนาหัวทุ่ง อ.สว่างแดนดิน
(บ้านเจริญศิลป์ อ.เจริญศิลป์ ในปัจจุบัน) จ.สกลนคร


หลวงปู่เล่าว่า ไปเห็นพระครูศรีภูมานุรักษ์ (พระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริ)
รูปนี้ท่านสำรวม สงบกาย เรียบร้อย เกิดศรัทธาเลื่อมใสขึ้นมาทันที
คงเคยเป็นครูบาอาจารย์กันมาก่อน อยากจำพรรษาด้วย
จึงไปขอจำพรรษาแรกกับท่านที่วัดบ้านนาหัวทุ่ง

ในพรรษานั้นตั้งใจท่องบ่นสวดมนต์ ทำวัตรเช้าเย็น สวดมนต์ทำบุญบ้าน
สวดเจ็ดตำนาน มาติกา บังสุกุลพอได้ใช้
เวลาออกไปตามกิจนิมนต์จะได้ไม่ต้องอายญาติโยม
นิสัยดั้งเดิมขี้อาย อีกทั้งฝึกข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ต้องให้เรียบร้อยถูกต้อง

สมัยนั้นวัดป่ากรรมฐานมีข้อวัตรปฏิบัติอันเดียวกัน
คือ "ข้อวัตรหลวงปู่มั่น" ไม่ได้ว่าวัดนั่นวัดนี่



:b46: พระครูศรีภูมานุรักษ์

"พระครูศรีภูมานุรักษ์ (พระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริ)"
หลวงปู่ท่านยกย่องว่าเป็น "พ่อแม่ครูบาอาจารย์"
เป็น "ปรมาจารย์" ของท่านเองโดยแท้
ถึงแม้ท่านทั้งหลายอาจไม่ค่อยได้ยินชื่อเสียง
เรียงนามปรากฏในหนังสือก็ตามที
ท่านเป็น "พระสุปฏิปันโน" เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
เป็นครูบาจารย์ที่สำคัญ มีชื่อเสียงในยุคนั้นเช่นกัน
อุบายในการปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส
ท่านอาศัย "สัจจอธิษฐาน" เป็นหลักใหญ่
หรือภาษาหนึ่งท่านเรียกว่า "สาบาน"

โดยหลวงปู่คำสุขนำแนวทางนี้
มาเป็นแบบฉบับในการปฏิบัติเช่นกัน
โดยครั้งแรกท่านนำไปใช้ในการเลิกบุหรี่
มีคำตั้งสัจจอธิษฐานที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงนำมาลงไว้

"ตั้งนโม ๓ จบก่อน ตามด้วยบทสัจจกิริยาคาถา

นัตถิ เม สรณัง อัญญัง พุทโธ เม สรณัง วรัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหนตุ สัพพะทา

นัตถิ เม สรณัง อัญญัง ธัมโม เม สรณัง วรัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหนตุ สัพพะทา

นัตถิ เม สรณัง อัญญัง สังโฆ เม สรณัง วรัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหนตุ สัพพะทา

ตามด้วยคำอธิษฐานว่า
ข้าพเจ้า พระคำสุข ขอเลิกสูบบุหรี่ตลอดชีวิต
ถ้าข้าพเจ้าสูบ ขอให้ปากฉีกถึงหู
แต่ถ้าข้าพเจ้าทำได้ ขอให้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์"


แล้วหลวงปู่ก็ทำได้จนถึงปัจจุบันนี้
เป็นระยะเวลาเกือบ ๖๐ ปี


รูปภาพ
แถวหน้า จากซ้าย : หลวงปู่ขาว อนาลโย, พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล),
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

แถวหลัง จากซ้าย : หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต, พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต),
พระครูศรีภูมานุรักษ์ (พระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริ), หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน,
หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ


:b47: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50119

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2015, 21:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: พรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษาที่ถ้ำม่วง
บ้านหนองแวง ต.ข้าวสาร อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี


หลวงปู่เล่าถึงการปฏิบัติอย่างเข้มข้น
และการภาวนาที่สำคัญยิ่งในชีวิตนักบวชของท่านไว้ว่า

เข้าพรรษาที่ ๒ มา คิดว่าทำยังไงถึงจะไม่สึก
มีแต่ความตั้งใจเดิมว่า ถ้าได้โกนหัวแล้วจะไม่สึก
แต่ไม่มีการตั้งสัจจะเป็นกิจจลักษณะ
ก็เลยตั้งสัจจอธิษฐาน ตั้งนโม ๓ จบ
ตามด้วยบทสัจจกิริยาคาถา
พร้อมกับคำตั้งสัจจอธิษฐานสาบานว่า

ข้าพเจ้า พระคำสุข ญาณสุโข ขอมอบกายถวายชีวิต
แด่พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาตลอดสิ้นชีวิต
ถ้าข้าพเจ้าสึก ขอให้ตายภายใน ๓ วัน ๗ วัน
ตายแล้วต้องตกนรกอเวจี ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด
แต่ถ้าข้าพเจ้าทำได้ ขอให้พ้นทุกข์ไปในชาตินี้
และเป็นอีกองค์หนึ่งที่ได้เชิดชูพระพุทธศาสนา
สิบประเทศ..ห้าสิบประเทศ..บันลือด้วยเทอญ


หลวงปู่ท่านเน้นย้ำอยู่เสมอว่า

เมื่อบวชแล้วมันต้องมีสัจจะ
บวชแน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ถึงจะเป็นพระแท้ ทำความเพียรก็ก้าวหน้า
ภาวนาได้เร็วเป็นเร็ว
ถ้าอยากพ้นทุกข์ได้จริง ต้องมีสัจจะ
ตั้งสัจจะแบบนี้ บวชแล้วทำแบบลอยๆ ไม่ได้
การบวชแล้วต้องตั้งสัจจะสาบานบวชตลอดชีวิต
ไม่ใช่อยากสึกค่อยสึก อยู่ตามอารมณ์ กินข้าวต้ม กินขนมไปวันๆ

ต้องปฏิบัติเหมือนอย่างเช่นพระพุทธเจ้า
อธิษฐานมอบกายถวายชีวิตใต้ควงต้นโพธิ์ในวันที่พระองค์ตรัสรู้
ถ้าไม่ได้บรรลุอมตธรรมจะไม่ลุกหนีจากบัลลังก์แห่งนี้

หลวงปู่นำมาสั่งสอนเน้นย้ำให้ลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุ
ทำตามในรุ่นต่อๆ มา พระภิกษุ สามเณร ชี ในวัดป่าซับคำกอง
โดยส่วนมากก็ตั้งสัจจะตามที่หลวงปู่พาทำ
บวชแล้วสึกไม่ได้ ต้องตายภายในสามวันเจ็ดวัน
แม้กระทั่งผู้เขียนเอง (ผู้เรียบเรียงประวัติหลวงปู่)



:b46: จำพรรษาที่ถ้ำม่วง พระกรรมฐานมาให้กำลังใจในนิมิต

รูปภาพ
พระอาจารย์พวง สุวีโร


หลวงปู่เล่าว่า ตอนที่อยู่ถ้ำม่วง พรรษาที่ ๒
พระอาจารย์พวง สุวีโร นำหนังสือมุตโตทัย
ของท่านพระอาจารย์มั่นมาให้อ่าน จึงได้รู้จักและรู้วิธีจับจุด
ปีนั้น ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ไม่ได้นอน
ตอนกลางวันนั่งเฉพาะเวลาฉันจังหัน ฉันเสร็จเดินจงกรมถึงเที่ยง
จะมีเจ็บไข้บ้างเล็กๆ น้อยๆ โยมก็พาไปหาหมอฉีดยาให้

เป็นไข้เพราะสถานที่มันเป็นป่า
ฉันปรมัตถ์ ปานะ ไม่มีอะไร มีแต่สมอกับเกลือ
ภาวนามันไม่เป็น มันไม่ไป

เดือน ๙ แรม ๑ ค่ำ ตัดสินใจไหว้พระ ทำวัตรเสร็จแล้วก็อธิษฐานจิต
ถ้าปฏิบัติไม่ได้ ไม่ต้องฉันข้าวฉันน้ำ จะไม่ลุกเปลี่ยนอิริยาบถ
ถ้ามีบุญวาสนาบารมี ขออำนาจกุศลจงคุ้มครองข้าพเจ้าให้มั่นคง
จิตใจแน่แน่วในคุณงามความดี อย่าได้มีสิ่งใดมาทำอันตรายได้

จากนั้นก็นอนภาวนา พอนอนภาวนายิ่งร้าย
มันเจ็บปวดทั้งตัว ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ได้บริกรรมพุทโธ
แต่รู้อยู่เฉพาะลมหายใจเข้า-ออกเท่านั้น ไม่ขยับกระดุกกระดิกตัว
ทรมานด้วยความเจ็บปวดเหมือนไฟเผาทั้งร่างกาย
ถ้ามันจะตายก็ขอให้ตาย ความทุกข์เหมือนฟ้าผ่า
มีสติรู้อดทนอย่างเดียว เสียงเหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงเลย
แล..ลมยังไม่ขาด ครั้งที่ ๑ ธาตุขันธ์มันสงบฟุบลงไปเลย
ลมหายใจล่อกแล่กๆ อยู่ตรงคอ เราก็ถามตัวเองว่า
"กลัวตายไหม?" ถ้ากลัวตายก็ไม่เป็นไปอีก
ร่างกายนี้มันจะเป็นยังไงช่างแม่มันเถิด
เราจะไม่เป็นไปตามมัน เราจะไม่ลุกหนี สู้อย่างเดียว

พอครั้งที่ ๒ ไม่อาลัยอาวรณ์ในร่างกายแล้ว
ค้างคาวบินผ่านหน้า พึ่บๆๆ สะดุ้งตกใจ จิตสงบรวมลง
ลมหายใจขาดปุบ เหมือนกับเรานั่งอยู่ในถ้ำสว่างจ้า
เห็นพระกรรมฐานสองรูป นั่งอยู่..ท่านบอกว่า

"เอ้า..กำหนดแสงเข้ามาเป็นกระจกเงาอยู่ข้างหน้า"

เห็นเหมือนเรากำลังส่องกระจกเงา
เพราะเห็นตัวเองอยู่ในนั้น พระกรรมฐานก็พูดว่า

"นี่แหละ อดทนเอาจนถึงขนาดนี้จิตมันจึงรวม"

พอบอกเท่านั้นก็หายไป ร่างกายของเราก็ปลิวจากที่นั่น
ลอยสูงขึ้นไปเห็นซากศพคน เน่าเปื่อย เหม็นไปทั่ว
เราก็พยายามจะหนีจากตรงนั้นเพราะมันเหม็นมาก จิตก็เลยถอนขึ้นมา
มีอาการมึนๆ เหมือนคนจะตาย เย็นชาไปทั่วทั้งตัวไม่รู้ว่ากี่ชั่วโมงแล้ว
พอเลือดลมมันวิ่งเป็นปกติแล้วจึงรู้สึกตัว ขยับเขยื้อนร่างกายได้
อ้าปากพะงาบๆ ก็คิดได้ว่า เวลาคนจะตายมันเป็นอย่างนี้เอง

ร่างกายนี้เปรียบเสมือนท่อนไม้ท่องฟืน คนเราไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย
เกิดมาหลงติดสุขในร่างกาย แต่ถ้าใครมีบารมี
พอใจจริงๆ ยินดีในการปฏิบัติ มันก็เป็นไปได้

ต่อมาเจ็ดวันแปดวันเก้าวันมันลงมันรวมครั้งหนึ่ง
มันเป็นของมันเอง เราไม่ได้กำหนดว่า มันเป็นแล้วมันต้องเป็น
มันไม่ใช่ มันเป็นของมันเอง อุปมาเหมือนการปลูกต้นไม้
เรามีหน้าที่ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน ผลลูกมันจะออกก็เป็นเรื่องของผลแล้ว
เรื่องสมาธิก็เช่นกัน เริ่มจากการรักษาศีล ข้อวัตรปฏิบัติ
สะอาดสะอ้านเรียบร้อยทุกๆ อย่างตามพระธรรมวินัย
สะสมบารมีอบรมไปเรื่อย เรียกว่า "มรรค" ทางดำเนิน
ส่วนผลก็เกิดขึ้นตามกำลังมรรคที่ได้อุตสาหะนั้น

หลวงปู่เล่าถึงนิมิตที่เป็นกำลังใจอย่างยิ่งสำหรับท่านในพรรษานี้
ว่ามีนิมิตเห็นพระกรรมฐานสองรูปมายืนอยู่ข้างหน้า
เขียนกระดานสักพักแล้วก็มองหน้าพูดว่า

"ผมนี่..สำเร็จแล้ว ส่วนท่านยังอีก ๙ ปี ๑๐ ปีข้างหน้าก็จะสำเร็จ"


เท่านั้นก็ออกจากนิมิตมา บวชมาเพิ่งจะได้ยินว่า
เราจะสำเร็จ..ได้กำลังใจเป็นอย่างดี


หลวงปู่เล่าถึงความเป็นอยู่อย่างสันโดษของพระกรรมฐานในสมัยนั้นว่า
ไปบิณฑบาตกลับมาฉันอาหาร อาหารก็ไม่มีมันๆ ทอดๆ เหมือนสมัยนี้
ล้างบาตร เอาหลังเท้ารอง ใช้หญ้าขัดๆ เก็บที่ฉัน กลับกุฏิ
จัดวางบาตรให้เรียบร้อย กวาดรอบบริเวณกุฏิ ทางเดินจงกรม

เดินจงกรมจนเท้าพองเท้าทะลุ เคยได้อ่านในอนุพุทธประวัติ
พระโสณโกฬิวิสะ เดินจงกรมจนเท้าแตก นึกว่าท่านเดินเตะตอไม้
มาเข้าใจภาษาบ้านเราเรียกว่า ตีนซอดทางจงกรมจนเป็นโสกเป็นเหว
เดินกระเหย่งเท้า มันเจ็บทั้งสองข้างเลย..ขนาดนั้นนะทำความเพียร


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร

รูปภาพ
หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ

รูปภาพ
หลวงปู่เพียร วิริโย

รูปภาพ
หลวงปู่สุพัฒน์ สุขกาโม

รูปภาพ
ศาลาใหญ่ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
ในช่วงระหว่างงานทอดผ้าป่าสมทบทุนมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน
อาจาริยบูชาคุณหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๔



ออกพรรษา ไปทำวัตรกราบสักการะ "หลวงตามหาบัว"
ปีนั้นท่านเพิ่งกลับมาจากจันทบุรี จะมาสร้างวัดป่าบ้านตาด
อาจารย์สิงห์ทอง (หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร)
อาจารย์บุญมี (หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ) อาจารย์เพียร (หลวงปู่เพียร วิริโย)
อาจารย์สุพัฒน์ (หลวงปู่สุพัฒน์ สุขกาโม)
ติดตามท่านมาประมาณ ๗-๘ รูป

เราเข้าไปหาท่าน ท่านก็เล่านั้นเล่านี่ให้ฟัง
"ไปจันทบุรีก็ไม่น่าอยู่ ไม่น่าภาวนาเหมือนภาคอีสานเราหรอก
ถ้าไปเที่ยวไปหากิน..ใช่อยู่"


ข้อวัตรกิจวัตรของท่านเคร่งครัดมาก
ถอดจากหลวงปู่มั่นผู้เป็นอาจารย์ทุกกระเบียดนิ้ว
เป็นที่ยอมรับในหมู่สงฆ์วงการพระ
ไปสรงน้ำให้ท่าน พระตักน้ำใส่ถังตากแดดเอาไว้
เอามือจับสบู่ปุ่บ วางปั่บ แล้วก็พูดว่า

"อาบพอไม่ให้มันเหม็นมันกุยก็พอ"

ท่านเคารพพระธรรมวินัยตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติ
ตามอรรถทุกอย่าง อย่างเอาจริงเอาจัง

อีกทั้งยังเด็ดเดี่ยว อาจหาญในการทำความเพียร
ท่านชวนให้อยู่วัดป่าบ้านตาดกับท่าน
เพราะรู้ว่าเราภาวนาจิตลงแล้ว มันรวมแล้ว มันเป็นไปแล้ว

ท่านอาจารย์เพียรภาวนามา ๘-๙ ปี ก็ยังไม่เป็นเหมือนเรา
เราก็ให้กำลังใจท่านปฏิบัติต่อไป

พระที่อยู่วัดป่าบ้านตาดฉันปรมัตถ์ มีสมอ มะขามป้อม
หลวงตาให้ฉันแค่ ๓ คำพอเป็นยา ไม่ได้กินจนอิ่ม
พอจะกลับไปกราบลาท่าน ท่านก็บอกว่า

ตอนนี้เป็นครูบาอาจารย์มีอายุพรรษาแล้ว
ต้องเกี่ยวข้องกับการดูแลทั้งวัดและพระเณร
ไม่เหมือนพระหนุ่มเณรน้อย ผู้บวชใหม่
มีเวลาเป็นของตัวเองในการภาวนา
แต่เราก็ไม่อยู่กับท่าน ปลีกตัวออกไป


รูปภาพ
หลวงปู่คำดี ปภาโส

รูปภาพ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร


ฤดูร้อนก่อนเข้าพรรษา เราตั้งใจปีนี้จะเข้าจำพรรษากับ
หลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านก็เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์รูปหนึ่งในยุคนั้น
พอเข้าไปกราบท่าน ท่านก็ถามที่มาที่ไป
จากนั้นก็ให้โอวาทปฏิสันถารต้อนรับ
และบอกพระเณรจัดเสนาสนะรับอาคันตุกะตามธรรมเนียม

๓ วันผ่านไป เย็นวันหนึ่งหลังจากทำวัตรสวดมนต์เย็น
หลวงปู่คำดีก็แสดงธรรมเป็นยากษัยแก่ลูกศิษย์ผู้อยู่ในอาวาส
พอท่านเทศน์เสร็จก็พูดขึ้นว่า

"มันร้อนช่วงนี้ ถ้าได้อยู่ถ้ำคงจะดี ใครจะไปดูถ้ำผาบึ้งให้"

พระเณรเงียบกันทั้งศาลา หลวงปู่พูดต่อว่า

"ท่านพร ไปดูถ้ำผาบึ้งให้หน่อยนะ"
พระพรน้อมรับคำสั่งด้วยความยินดี

"เอาเพื่อนไปองค์หนึ่งสิ" หลวงปู่คำดีพูดต่อ
ด้วยคิดว่าถ้ามีอะไรจะได้ช่วยเหลือกัน
พระพรมองซ้ายแลขวาหาเพื่อน
พนมมือพูดกับหลวงปู่คำดีเสียงดังฟังชัดว่า

"ครูบาคำสุขครับ" เอ้า..ชื่อเรานี่หว่า แต่เราก็ไม่พูดอะไร
ตามนิสัยไม่ค่อยพูด เงียบขรึม ไปก็ไป

ก่อนจะไปได้ไปกราบลานมัสการหลวงปู่คำดี และบอกท่านว่า
"ถ้าสถานที่ดีและภาวนาดี ผมอาจไม่กลับมานะขอรับ"
และก็ไม่ได้กลับมาจริงๆ


ขณะที่บำเพ็ญเพียรอยู่ที่ถ้ำผาบึ้งนั้น "พระอาจารย์ลี ธัมมธโร"
หรือที่เราเรียกท่านว่า "ท่านพ่อลี วัดอโศการาม" ก็มาพักภาวนาด้วย
จัดเตรียมที่พักให้ พอได้โอกาสจึงเข้าไปหาศึกษาธรรมะ
ปรึกษาเรื่องจิตตภาวนา เราก็เล่าความเป็นไปให้ท่านฟัง
ตั้งแต่ต้นจนจบว่า ภาวนายังไง ไปถึงไหน แล้วจะทำต่อยังไง

ท่านพ่อลีฟังเราพูดจบ ท่านก็พูดว่า "เออๆ ท่านคำสุขภาวนาถึงตาย"
ท่านก็พูดแค่นั้น ครูบาอาจารย์ท่านไม่พูดมากหรอกนะ
ทิ้งไว้ให้เราคิดบ้างมันจึงจะเกิด "ปัญญา" ถ้าท่านบอกหมดมันจะเป็น "สัญญา"
ความหมายของท่านคือ ภาวนาไปถึงตายแล้วเอาอะไรล่ะที่ไม่ตาย

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 เม.ย. 2015, 21:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๙ จำพรรษาที่วัดป่าห้วยชัน
บ้านห้วยชัน ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์


รูปภาพ
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

รูปภาพ
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

รูปภาพ
หลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน

รูปภาพ
หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร


จำพรรษาที่ห้วยชัน ๑ ปี หลวงพ่อตุ่น คนโคราชเป็นหัวหน้า
อายุพรรษาท่านประมาณ ๑๙ พรรษา อาจารย์บุญทัน คน จ.ศรีสะเกษ
อาจารย์จันทร์เรียน (หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร)
อยู่ด้วยกันประมาณ ๗-๘ องค์ เราเองก็ตั้งใจภาวนา
โดยส่วนมากอยู่องค์เดียว ไม่ค่อยเข้าไปคลุกคลีกับหมู่คณะ
ทางจงกรมอยู่ใต้เงื้อมผา วันหนึ่งขณะเดินจงกรมมองขึ้นไปบนก้อนหิน
เห็นหลวงพ่อตุ่นนั่งแอบมองอยู่ ท่านได้ยินแต่หมู่เพื่อนพูดว่า
ท่านคำสุขภาวนาเก่ง จึงมาแอบดู
ช่วงท้ายพรรษาท่านเข้ามาคุยด้วยบ่อยครั้ง
บอกว่า ผมบวชมานานเฉยๆ ภาวนาไม่เป็นเลย

พอออกพรรษาก็ธุดงค์ข้ามภูหอภูหงส์มา
หลังเขา-ตีนเขามีน้ำหลาก มากัน ๕ องค์ เอาผ้ากอดบริขาร
พาดไหล่ทั้งสอง เดินผ่าน้ำหลากตามทุ่งนา
ชาวบ้านแถบนี้ขุดหาปูแล้วไม่ถมรู พอน้ำท่วมก็ไม่รู้ว่ารูอยู่ตรงไหนบ้าง
หลุมอยู่ตรงบ้าง มีน้ำประมาณครึ่งแข้ง พระอาจารย์บุญทันหน้าคว่ำ
หัวคะมำลงน้ำ ขาข้างหนึ่งจมหายไปในหลุมลึก
หมู่เพื่อนรีบวิ่งเข้ามาช่วยถอดบริขาร ถือบาตรถือกลด แล้วค่อยๆ พยุงขึ้นมา
พาไปรักษาตัวกับชาวบ้านแถบนั้น อีกหลายวันจึงเดินทางต่อ

มาทางบ่อไท แถวนี้บ้านนาเสา มีบ้านแค่ ๘ หลังคาเรือน
ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ ที่ดินแถวนี้เป็นดินดี เหมาะแก่การเพาะปลูก
และที่สำคัญไม่มีเจ้าของ มองไปที่ไหนก็อุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำภูเขา
ถ้าเราไม่ได้ตั้งสัจจะมอบกายถวายชีวิตกับพระพุทธศาสนาแล้วคงสึก
ใจมันยังอยากได้อยากมีอยู่

เราสึกมาเป็นเจ้าของที่ดินแถวนี้ไม่ได้ ก็เกิดคิดถึงญาติพี่น้องขึ้นมา
เดินทางไปตามเอาน้องชายมา เขาก็ไม่ค่อยอยากมา
เราก็ไปเฝ้าขอให้เขามาจนได้ พอญาติพี่น้องมาก็จับจองที่ดินกัน
เราเองก็คลุกคลีกับทรัพย์สมบัติ ที่ดิน ญาติโยม
ช่วยเขาถางไร่ถางป่าจนลืมข้อวัตรปฏิบัติ สมณสารูป และการภาวนา

ปีนั้นจำพรรษาองค์เดียวที่ท้ายบ้านท่าเสา เดินจงกรมจนดินเป็นเหว
จิตที่เคยรวมสงบ หาความสุขที่เคยได้รับจากสมาธิ..ไม่มีเลย
เปรียบเทียบเหมือนกับทำถุงเงิน กระเป๋าเงินหาย
จิตที่เคยเป็นมันเสื่อม ทุกข์ทรมาน หงุดหงิดไม่เป็นอันกินอันนอนเลย
เหมือนกับเศรษฐีล้มละลายกลายเป็นยาจก รับสภาพตัวเองไม่ได้ยังไงยังงั้น

พอออกพรรษาได้ ดิ่งไปทางชนแดน พิษณุโลก พักตามวัดบ้าง โรงเรียนบ้าน
เดินดุ่มๆ ตามทางรถไฟ ไปถึง จ.เชียงใหม่
พักที่วัดสันติธรรมกับ "หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร" ๙ วัน แล้วก็เดินทางต่อ
ท่านอาจารย์บุญหนา (หลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน)
อาจารย์จันทร์เรียน (หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร)
แยกไปอยู่แม่นัด กับหลวงปู่จาม (หลวงปู่จาม มหาปุญโญ)
ส่วนเราปลีกตัวไปที่วัดป่าสะลวง (บ้านสะลวงนอก ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)



:b46: พรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๐๐ จำพรรษาที่วัดป่าบ้านท่าเสา
(วัดจันทราราม) บ้านท่าเสา ต.เพชรละคร อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์



:b46: พรรษาที่ ๕-๖ พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๒ จำพรรษาที่วัดป่าสะลวง
บ้านสะลวงนอก ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่


จำพรรษาที่วัดป่าสะลวง เริ่มต้นฝึกสมาธิ รักษาสิกขาบท
ตลอดจนข้อวัตรภายนอก รักษาจิต เร่งสติถี่ยิบ
ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องภายนอกอันเป็นเสี้ยนหนามของสมาธิเลย
ผู้ใดรักษาการประพฤติปฏิบัติข้อวัตรทั้งหลายก็รักษาจิตได้
โดยส่วนมากจิตเสื่อมก็เพราะข้อวัตรไม่ดี ใจมันไม่มีตัวไม่มีตนจะปฏิบัติยังไง
ต้องอาศัยร่างกายเป็นตัวปฏิบัติเร่งความเพียรเข้าอย่างหนัก
จนจิตเจริญขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับจนกลับมาสงบเหมือนเดิม

เมื่อจิตมันเป็นสมาธิ กำหนดมันรวมลงแล้วจนถึงฐานของจิตเดิม
อยากไปดูนรก สวรรค์ กำหนดจิตลอยไปดูเลย พูดมากก็จะหาว่าโม้
ตอนที่เราลงไป ไฟนรกมอดดับหมดด้วยอำนาจคุณศีลคุณธรรม
และอานิสงส์ของการปฏิบัติ จิตมันลอยเหาะไป มองลงข้างล่างเห็นแต่หัวผู้คน
ลอยน้ำแออัดยัดเยียดกัน เสียงร้องครวญครางเหมือนหมู่อึ่งอ่างไม่เว้นระยะ
ส่วนแม่น้ำนั้นเหมือนทะเล สุดลูกหูลูกตา เคยได้ยินว่าเป็นกระทะทองแดง
แต่ที่เห็นมันเป็นทะเลมหาสมุทรเลย มองไม่เห็นขอบกระทะ
ออกจากขุมนี้ ไปเห็นอีกสัตว์นรกจำพวกหนึ่ง เกิดมามีไม้เท้าอันหนึ่ง
ค่อยๆ เดินแล้วจะถูกผู้คุมใช้เท้าถีบตกลงไปในหุบในเหวหน้าผาข้างล่าง
พอตกลงไปก็มีก้อนดิน ก้อนหิน ตกลงไปทับจนตัวบอบช้ำ
ร้องดิ้นด้วยความเจ็บปวดจนตายแล้วก็เกิดอีก อยู่อย่างนั้น
จนกว่าจะหมดกรรมหมดเวร เป็นกรรมจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

อีกพวกหนึ่งเกิดมามีขาติดอยู่กับก้น เต้นไปเต้นมาเหมือนนกเหมือนกา
จะนั่งก็ไม่ได้ จะนอนก็ไม่ได้ จะยืนก็ไม่ได้ เต้นไปเต้นมาเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น
ไปนรกก็ไป ไปสวรรค์ก็ไป พรหมโลกไปถึงชั้น ๒
พระพรหมก็อยู่แบบพระนี่แหละ ท่านเรียกว่า พรหมโลก


แต่ไม่เคยรู้เรื่องอดีตชาติจะทำยังไงดี เลยตั้งจิตใหม่ ตั้งไว้ในพรหมวิหาร ๔
ทำจิตอ่อนๆ ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมื่อจิตรวมลงแล้ว บอกเรื่องอดีตชาติเลย มันไม่ใช่จะมานั่งคิดนอนคิดเอานะ
จิตพุ่งลอยไปเหมือนจรวด ไปดูภพเหมือนฉายหนัง มันแจ้งสว่างขึ้นมา
ปรากฏเห็นเขาเอาศพไป ทำไว้อย่างไร เอาไปฝังไว้ยังไง
ชาตินั้นๆ มีหลักฐานประกอบครบหมด ชาติที่แล้วชื่อ นายจินดา อายุ ๗๓ ปี
ประมาณปีพุทธศักราชสองพันสามร้อยกว่าๆ
ลูกสาวเอากระดูกไปไว้ในธาตุกลางทุ่งนา เขารักพ่อมาก

อีกชาติหนึ่งนั้นจะเล่าเป็นคติตัวอย่างให้ฟัง เมียเขามาชอบเรา เราก็เล่นด้วย
ด้วยความหลงใหลในกามอันเป็นเหตุผิดศีลข้อที่ ๓ พอตายไปได้ไปเกิดในหม้อนรก
ทุกข์ร้อนทรมาน หมดเวรหมดกรรมจากนรกแล้วก็มาเกิดเป็นเปรต
รับโทษวนเวียนในอบายภูมิ น่าสลดสังเวชจริงๆ
อย่าถือว่าเป็นเรื่องเล่นๆ นะ เพราะเวลารับโทษแล้วมันทรมาน

อีกชาติหนึ่งนั้นเราเองอดสงสัยไม่ได้ว่า พ่อเราในชาตินี้ทำไมมีแต่ทำร้ายดุด่า
บางทีจับมัดแล้วเฆี่ยน เราทั้งเจ็บทั้งปวด ร้องขออ่อนยอมทั้งโดยทั้งขะน่อย
ก็เลยกำหนดจิตดู จึงเข้าใจหายสงสัยว่า เราเกิดมาใช้กรรม
ชาติก่อนนั้นเคยเป็นเพื่อนกัน ปล้นสะดมร่วมกันสามคน
แบ่งเงินกันไม่ลงตัวไม่เท่ากัน จึงวางแผนลอบฆ่าแก
เรากับเพื่อนคนหนึ่งตกลงจะฆ่าให้ตาย คนหนึ่งถือเชือก คนหนึ่งถือไม้
พอได้โอกาสจึงลงมือใช้เชือกมัดคอแล้วเอาท่อนไม้ทุบ ดิ้นตายอย่างน่าอนาถ
จากนั้นก็นำศพไปทิ้งไว้ใกล้ๆ ป่าช้า ด้วยผลกรรมที่ทำไว้
แกจึงมีจิตอาฆาตแค้นพยาบาท เกิดมาเป็นพ่อในปัจจุบัน
ลอยไปดูภพชาตินั้น ออกจากภพชาตินั้นไปชาตินี้ จากบ้านนั้นก็ไปบ้านนี้
จนขี้เกียจดู เกิดเท่าไรก็ตายเท่านั้น นี่แหละเรื่องภพชาติ


รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ


ขณะหลวงปู่อยู่ จ.เชียงใหม่ มีโอกาสได้ศึกษาธรรมกับ "หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม"
ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้เล่าถึงหลวงปู่ตื้อว่า

ช่วงนั้นท่านได้ทำความเพียรอยู่ในกระท่อมเล็กๆ สันเขาอากาศเย็นพอดี
ท่านตั้งสัจจอธิษฐานว่า จะอยู่กระท่อมนี้เจ็ดวัน ห้ามคนอื่นเข้ามายุ่ง
ท่านเองก็จะไม่ออกไป อดอาหาร ฉันแต่น้ำเปล่า ฝนจะตก ฟ้าจะผ่า ไฟจะไหม้
น้ำจะท่วม โลกจะแตก ก็จะอยู่ในบริเวณนี้เท่านั้น มีการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม

หลวงปู่ตื้อท่านเป็นพระปฏิบัติโดยแท้ เข้มข้นในธุดงควัตร
เด็ดขาดในการทำความเพียร ไม่ติดอามิสวัตถุใดๆ กิริยาภายนอกโลดโผน
เสียงดัง ไม่เกรงใจพระโยมหน้าไหนหรอก ตรงไปตรงมา

ท่านขึ้นธรรมมาสน์เทศน์บนศาลา ก็เทศน์แบบเผ็ดร้อนถึงพริกถึงขิง
บางทีผสมตลก มุขขำๆ ก็ทำเอาคนฟังร้องก๊ากทั้งศาลา
จำได้ตอนหนึ่งท่านเทศน์ว่า บุญก็อยู่กับก้น สวรรค์ก็อยู่กับก้น
ก้น ก็คือ ก้นหม้อก้นหวดนึ่งข้าวทำอาหารมาจังหัน ถวายพระสงฆ์องค์เจ้านั่นเอง

เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า หลวงปู่แหวนกับพระอาจารย์ตื้อ องค์ไหนหลุดพ้นแล้ว
นอนภาวนาหลับไป เกิดนิมิตขึ้นมา หลวงปู่ตื้อตีลังกาหมุนติ้วๆ หลายตลบ
แล้วไปหยุดยืนอยู่ที่หัวทางจงกรม เสียงดังพึ่บเลย นั่นแหล่ะท่านมาแสดงปาฏิหาริย์ให้ดู
ภายนอกอย่างหนึ่ง ภายในอีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้หลุดพ้นไปแล้วเท่านั้น
อย่าไปสงสัยครูบาอาจารย์เลย มันจะไม่เจริญ พระธรรมมาเตือน

อยู่เชียงใหม่สองปีเพื่อแก้ภาวนาจิตเสื่อม แล้วจึงเดินทางกลับ จ.เพชรบูรณ์
กลับมาทางรถไฟ เอาปัจจัยใส่กาน้ำ ส่วนค่าเดินทางเขาต้องการเท่าไรก็ให้หยิบเอา
มาถึงหนองไผ่ โยมบอกว่า เป็นกิ่งอำเภอหนองไผ่แล้ว

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2015, 20:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๐๓
จำพรรษาที่วัดป่าสวนกล้วย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จันทสาโร


หลวงปู่เล่าว่า ปีนี้จำพรรษาองค์เดียว ครูกรุงศรีเป็นผ้าขาวสอบบรรจุครูได้ผลัด ๒
ไปตามมาบวชเป็นผ้าขาว วัดป่าสวนกล้วยเป็นวัดเก่าหลวงปู่หลุย
(หลวงปู่หลุย จันทสาโร) ท่านไม่อยู่เราจึงมาอยู่แทน

มาวันแรกทำความสะอาดเก็บกวาดวัด กุฏิที่ท่านพักอยู่
ภายในห้องเต็มไปด้วยกลดที่ทำเสร็จแล้วและยังไม่เสร็จเต็มไปหมด
หลวงปู่หลุยท่านชอบทำบริขารโดยเฉพาะกลด
เป็นผู้มีความชำนาญในการทำกลด ใช้งานได้ทนและสวยด้วย
ท่านตั้งใจทำอย่างปราณีตทุกๆ อัน ไม่ได้ทำไว้ใช้เอง
โดยส่วนมากท่านทำไว้แจกพระองค์ไหนที่ท่านเห็นมีความตั้งใจ
สนใจการในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ ท่านก็จะมอบให้เป็นกำลังใจ



:b46: พรรษาที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๐๔ จำพรรษาที่วัดป่าสีทน
บ้านหนองตูม ต.บ้านจั่น อ.เมือง จ.อุดรธานี


รูปภาพ
หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร


หลวงปู่เล่าว่า ท่านอาจารย์อ่อนสา (หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร)
เป็นหัวหน้าตอนนั้น ท่านยังแข็งแรงอยู่ อยู่ด้วยกันประมาณ ๙ องค์
ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เคยจำพรรษากับหลวงปู่มั่น
ท่านอาจารย์อ่อนสาท่านไม่ค่อยพูด เทศน์ก็ไม่เป็น สุขุม เรียบร้อย
หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด พูดชี้นิ้วเลยว่า
"นี่แหละพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พระอรหันต์องค์หนึ่ง"

ก่อนเข้าพรรษา วันมาฆบูชาพอดีญาติโยมมารักษาศีลที่วัด
หลังจากทำวัตรรวมกันเสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็กลับกุฏิ เดินจงกรม
วันนี้ลมมันแรงผิดปกติ สงสัยพายุเข้า ได้ห้าทุ่มแล้วล้างเท้า ขึ้นกุฏิแล้วก็นอนภาวนา
เสียงลมพัดต้นไม้ข้างนอกกุฏิฟังชัดหูว่าลมแรงมาก สักพักต้นไม้พังลงมาเลย
กุฏิพังทั้งหลัง เหลือแต่เสา เรารู้สึกตัวอีกทีไปนอนอยู่ใต้แผ่นไม้
เสียงเณรร้องตะโกนเรียกชาวบ้านว่า ช่วยด้วยๆๆ ช่วยครูบาคำสุขด้วย
อาจารย์สรวงรีบวิ่งมาแล้วก็พูดว่า อาจารย์คำสุขตายแล้ว อาจารย์คำสุขตายแล้ว
เราขยับตัวดู..เออๆ เรายังไม่ตาย จึงส่งเสียงกระแอมออกมา
ให้หมู่เพื่อนข้างนอนรู้ว่าเรายังไม่ตาย

พระโยมช่วยกันขนไม้ ใช้เลื่อยบ้างมือบ้างอย่างสับสนอลหม่าน
กลัวว่าเราจะตายก่อน กว่าจะเอาออกมาได้เกือบสว่างเพราะต้นกระบากมันใหญ่มาก
ขนาด ๑๒ คนโอบเลยทีเดียว กลดที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ กำลังนอนชื่นชมอยู่ทุกวันพังยับ
บาตรกับฝาบูดเบี้ยว ทั้งเคาะทั้งทุบจึงคืนมาใช้ได้

ด้วยเหตุจากประสบการณ์นี้กระมัง ที่วัดป่าซับคำกอง หลวงปู่สร้างกุฏิ
ท่านจะไม่ให้ปลูกต้นไม้ไว้ใกล้ๆ ต้องห่างจากกุฏิ ๔-๕ เมตรเลยทีเดียว



:b46: พรรษาที่ ๙-๑๑ พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๗
จำพรรษาที่วัดป่าซับคำกอง (วัดป่าสระแก้ว)
บ้านสระแก้ว ต.เพชรละคร อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์


ในพรรษาที่ ๙ ท่านได้เริ่มสร้างวัดป่าซับคำกอง หลวงปู่เล่าว่า
เดินธุดงค์มาด้วยกัน ๓ องค์ อาจารย์ปิ่น ฉินทิโย, ครูกรุงศรี เป็นพระใหม่
มาที่นี่เกิดชอบใจมาก เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เงียบสงบร่มรื่น จึงปักกลดห่างกัน
องค์หนึ่งอยู่ข้างบน ส่วนองค์หนึ่งอยู่ข้างล่าง สมัยนั้นยังเป็นป่ารกชัฏ
ตอนเช้าๆ เสียงฝูงกระทิง ควายป่า หมูป่า มากินน้ำ
มีห้างอยู่บนต้นไม้ของนายพรานทำไว้สำหรับดักยิงสัตว์ป่า
มีน้ำซับไหลซึมอยู่ตลอดปี ตั้งแต่ไปอยู่ที่ไหนๆ มา ที่นี่มันเป็นอะไรถูกใจนัก

ภาวนาดู เมื่อจิตมันรวมจึงแจ้งกระจ่างหายสงสัยว่า
ที่แห่งนี้เราเกิดเคยตายหลายภพหลายชาติ
ชาติหนึ่งนั้นเป็นนายฮ้อยช้าง อยู่ในเขตโขงคีรีนี้
ส่วนที่เผาที่ฝังกระดูก ตรงปลูกต้นโพธิ์เอาไว้นั่นแหละ
จึงได้ก่อสร้างตั้งเป็น "สำนักสงฆ์วัดป่าซับคำกอง" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


หลวงปู่เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า บวชมาได้ ๙ พรรษาถึงมีนาฬิกาใช้ ต่างจากสมัยนี้มาก



:b46: โปรดมารดาเป็นอสุรกาย

หลวงปู่เล่าว่า นึกถึงบุญคุณแม่ผู้ให้กำเนิด ท่านเสียชีวิตไปก่อนจะมาบวช
เมื่อจิตสงบลง ตามกำหนดดูว่า ตายแล้วไปเกิดจุติในภพภูมิไหน
จึงได้รู้ว่าแม่ไปเกิดเป็นอสุรกาย ลักษณะใบหน้าเหมือนค้างคาว
แต่ตัวเป็นคน เปลือยกาย ไม่มีเสื้อผ้าใส่ นอนอยู่ในกระท่อมมุงหญ้าคาเก่าๆ
บนบ้านมีกับข้าวอาหารหวานคาวอุดมสมบูรณ์ นอนอยู่ ๕-๖ คน
เป็นสาวแก่อายุประมาณ ๓๐-๓๕ ปี พอเราลงไป แกก็รู้ว่า ลูกชายมา
จึงนิรมิตกาย หายตัวแว๊บไป เขาหายตัวได้แต่ยังใช้กรรมอยู่

มาคิดทบทวนพิจารณาดูก็สงสัย ตอนแกมีชีวิตอยู่
ก็ไปวัดทำบุญไปจังหัน เป็นเจ้าภาพกองบวชก็เคย
ทำไมจึงได้เกิดเป็นอสุรกาย เป็นอยู่ในสภาพที่ขัดสนลำบากเช่นนี้
มาเข้าใจว่า แกทำบุญตามประเพณีเท่านั้น
พระก็ไม่ใช่พระปฏิบัติ อานิสงส์ก็ไม่เกิดเพราะเป็นพระทุศีล
ส่วนโยมก็ได้แต่อานิสงส์ทำทาน อาหารการกินอุดมสมบูรณ์
แต่ไม่เคยรักษาศีลอุโบสถ ศีล ๘ แม้กระทั่งศีล ๕ ก็ด่างพร้อย
จึงไปเกิดเป็นอสุรกาย มีใบหน้าเป็นค้างคาวเช่นนั้น
เราก็อุทิศบุญให้เรื่อยๆ ตอนนี้พ้นจากกรรมนั้นไปแล้ว



:b46: พรรษาที่ ๑๒-๑๓ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙ จำพรรษาที่วัดป่าไร่
บ้านน้ำดุก ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์


พญามารมานิมนต์ ก่อนเข้าพรรษาเดินทางมาที่วัดถ้ำกลองเพล
ปีนั้นหลวงปู่ขาวป่วย พระป่ากรรมฐานเริ่มมารวมกัน
ตั้งแต่หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่อ่อน อาจารย์ตื้อ อาจารย์มหาบัว
รุ่นใหญ่ไปจนถึงรุ่นเล็ก พระเณรร้อยกว่าองค์สมัยนั้นถือว่ามากมายแล้ว
เสนาสนะที่พักจัดทำแบบเรียบง่าย มีเพียงตั่งเตียง สายระเดียง*สำหรับผูกกลดเท่านั้น

วันหนึ่งขณะภาวนา จิตสงบรวมลงไปสักพักมีภูตตนหนึ่งเหาะลงมาจากฟ้า
หน้าตาคล้ายหนุมาน ในมือถือพานขันธ์ ๕ ดอกไม้
เจตนาเขาจะมานิมนต์ให้ละธาตุขันธ์เถิด ถ้าอยู่ต่อไปท่านจะช่วยเชิดชูศาสนา
ผู้คนที่ยังข้องในวัฏสงสารจะได้พ้นจากทุกข์ภัย แต่เรากลับปฏิเสธไม่รับนิมนต์
พวกพญามารมันมานิมนต์ กีดทาง กีดกั้นความเจริญของศาสนา
แต่ถึงยังไงพระอรหันตเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย พญามารทำร้ายได้แค่เพียงร่างกายเท่านั้น
ส่วน "จิต" บริสุทธิ์หลุดพ้นไป ทองคำก็ยังเป็นทองคำที่มีค่ามีราคาอยู่ดี


หมายเหตุ : *สายระเดียง คือ ราวผ้าหรือราวตากผ้าของพระภิกษุ สามเณร
สมัยก่อนใช้หวายและเชือกปอทำ ต่อมาแม้ใช้ลวดหรือเชือกไนล่อนขึงให้ตึง
ใช้เป็นราวผ้าก็เรียกว่าสายระเดียงเช่นกัน "สายระเดียง" เป็นคำที่ใช้มาเก่า
ปัจจุบันไม่นิยมเรียก โดยเรียกว่าราวผ้าเหมือนชาวบ้าน



:b46: พรรษาที่ ๑๔-๑๕ พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๑
จำพรรษาที่วัดป่าซับคำกอง (วัดป่าสระแก้ว) บ้านสระแก้ว
ต.เพชรละคร อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ : ปราบทิฏฐิมานะบิดา


รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม


โยมพ่อสัวเป็นพ่อของเรา ย้ายมาจากบ้านมาอยู่ที่นี่ในหมู่บ้าน
พอมาแล้วก็ไม่เข้ามาวัดสักที ไปบิณฑบาตเจอกัน เราก็บอกว่า

"เข้าไปวัดบ้างสิ มีอะไรจะพูดด้วย"

พอกลับมาวัด โยมพ่อก็ให้หลานฝากมาบอกว่า

"ถ้าอยากพูดด้วยก็ให้เข้ามาในหมู่บ้านสิ แม้พระพุทธเจ้าก็ยังออกจากป่า
มาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นบิดา กระนี่อะไรจะให้เราเข้าไปหา"


พ่อของเราเคยบวชเป็นกรรมฐานเก่า ลูกศิษย์อาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
บวชได้ห้าพรรษาแล้วก็สึกออกไปมีครอบครัว ต่อมาไม่นานพ่อก็ไปขายที่นาที่อำนาจเจริญ
ได้เงินจะเอาไปซื้อรถ เรารู้ข่าวก็คัดค้านเต็มที่ พ่อถามว่า ทำไม ซื้อรถมันไม่ดียังไง
เราก็ตอบเข้าว่า "รถน่ะมันดี แต่ระวังอย่างเดียวมันจะพาลงถนนข้างทาง"

พ่อก็ไม่สนใจคำที่เราพูด เอาเงินไปซื้อรถจนหมด
ซื้อมาได้ไม่นานก็ขนข้าวเอาไปขายในโรงสีใหญ่ในกรุงเทพฯ
ในระหว่างทางรถยางแตก ตะแคงลงข้างถนน ข้าวหลังรถเทกระจัดกระจาย
ส่วนคนรอดตายหวุดหวิด ตั้งแต่นั้นมาพ่อก็ถึงลงใจเรา
เชื่อเราว่า เราน่ะ..ของแท้ พูดอย่างกับตาเห็น


แต่ก่อนเรียก "ครูบาๆ" หลังจากเหตุการณ์นั้นมาก็เรียกเราว่า "อาจารย์" มาตลอด
นี่แหละที่ท่านเรียกว่า ปราบทิฏฐิมานะด้วยอิทธิฤทธิ์

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2015, 20:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: หลวงปู่ตาบอด

หลวงปู่ท่านตาบอดข้างซ้ายตั้งแต่พรรษาที่ ๑๕
ช่วงนั้นชาวบ้านเข้ามาช่วยงานก่อสร้างปลูกกุฏิ ทำสะพานข้ามลำน้ำ
ในขณะที่ไปยืนคุมงานอยู่นั้นช่างกำลังใช้ค้อนตีตะปู ตะปูกระเด็นพุ่งมาใส่ตา
แต่ท่านหลับตาทัน ตะปูเฉี่ยวทำให้ตาบวมอักเสบจนติดเชื้อ อาการไม่ดีขึ้น
ท่านจึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ หมอบอกว่า ไม่ทันแล้ว
ตาข้างซ้ายของพระอาจารย์บอดสนิทแล้ว

ท่านบอกกับผู้เขียนว่า "มันเป็นกรรมเก่า"
แต่ไม่เคยเล่ารายละเอียดให้ฟังว่ากรรมเก่าอะไร



:b46: พรรษาที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๕๑๒ จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล
ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู : พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ขาว


รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์

รูปภาพ
หลวงปู่จันทา ถาวโร วัดป่าเขาน้อย

รูปภาพ
หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม วัดป่าสีห์พนมประชาคม

รูปภาพ
หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม วัดสามัคคีอุปถัมภ์

รูปภาพ
หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ วัดผาเทพนิมิต


พระป่าพระธุดงคกรรมฐานจะปฏิบัติต่อครูอาจารย์
ที่เรียกท่านด้วยความเคารพอย่างสูงสุดว่า "พ่อแม่ครูอาจารย์"
ด้วยความเคารพนับถือดุจบิดรมารดาและครูอาจารย์ผู้เป็นพ่อแม่
ครูอาจารย์ก็จะปกครอง อบรม ดูแลลูกศิษย์
ด้วยความเมตตา ดุจพ่อแม่และครูอาจารย์เช่นกัน

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ขาว..พระอริยเจ้า "หลวงปู่ขาว อนาลโย"
แห่งสำนักวัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ได้ชื่อว่าเป็น "เพชรน้ำเอก"
และเป็นศิษย์ต้นสายพระกรรมฐานของ "พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต"

ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานที่มีจิตใจแข็งแกร่ง
เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น มีเมตตาธรรมเป็นเลิศ มีปัญญาธรรมที่เฉียบคม
และเป็นพระอริยเจ้าที่ทรงคุณธรรมอันบริสุทธิ์

ดุจดั่งเพชรเม็ดงามประดับไว้ในพระพุทธศาสนา ที่หาจุดตำหนิหรือรอยมัวหมองไม่มี

นับตั้งแต่ท่านสละเพศฆราวาสออกบวชตราบจนวาระสุดท้ายในชีวิต
ซึ่งละสังขารทิ้งไปในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เมื่ออายุได้ ๙๖ ปี

"หลวงปู่มั่น" เคยเปิดเผยกับศิษย์ใกล้ชิดว่า "หลวงปู่ขาว"
เป็นศิษย์ ๑ ในจำนวน ๒ องค์ที่บรรลุเป็น "พระอรหันต์" หมดสิ้นกิเลส
เข้าสู่สอุปาทิเสสนิพพาน
(ดับกิเลส แต่ยังมีขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์อยู่)
ที่เสนาสนะป่ากลางทุ่งนา บ้านโหล่งขอด ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ในช่วงหลวงปู่มั่นยังดำรงธาตุขันธ์อยู่

ก่อนเดินทางกลับไปโปรดลูกศิษย์ในภาคอีสาน ใช้ชีวิตพระธุดงค์อยู่ตามป่าเขา
แสวงหาความวิเวก โปรดญาติโยมในภาคอีสานตอนบน แถบ จ.สกลนคร
หนองคาย อุดรธานี และฝั่งประเทศลาวอยู่หลายปี

หลวงปู่ขาวธุดงค์อยู่ตามสันเขาภูพานมาถึงถ้ำกลองเพล
อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี ในสมัยนั้น (อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ในปัจจุบัน)
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ก่อตั้งวัดถ้ำกลองเพลขึ้นพัฒนามาจนเป็นวัดกรรมฐานที่สำคัญ
และท่านก็ได้พักประจำที่วัดแห่งนี้จนสิ้นอายุขัย


หลวงปู่คำสุขเล่าถึงการไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ขาวในครั้งนั้นว่า

การเข้าไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ขาว เริ่มเข้าๆ ออกๆ วัดถ้ำกลองเพล
ตั้งแต่พรรษา ๙ แต่ไม่ค่อยได้ไปจำพรรษากับท่าน
หลวงปู่มั่นท่านบอกเอาไว้ว่า "หมดท่านแล้วให้มาพึ่งท่านขาว"

(เจอท่านครั้งแรกที่ดงหม้อทอง ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
นิมนต์มาพักผ่อนที่นั่น ตอนนั้นเราเพิ่งได้สองพรรษา เป็นพระใหม่)

ตื่นขึ้นมาจัดที่ฉันบนศาลา มองลงไปตรงถนนกลางวัด (วัดถ้ำกลองเพล)
เห็นพระองค์หนึ่งผอมๆ ร่างเล็ก คลุมผ้าจีวรเพราะอากาศหนาว
เดินจงกรมริดๆ เหมือนหนูวิ่ง เราก็มองดูแล้วมองดูอีก นึกว่าพระมาจากไหน
เข้าไปดูใกล้ๆ "อ้าว..พ่อแม่ครูอาจารย์ขาวนี่" มีโอกาสก็เข้าไปเรื่อยๆ
หมู่พระที่สนิทกันในตอนนั้นก็มี ท่านอาจารย์จันทา (หลวงปู่จันทา ถาวโร)
ท่านอาจารย์บุญมา (หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม)
อาจารย์ทองพูล (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม)
อาจารย์บุญพิน (หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ) อาจารย์สุวรรณ

ที่อยู่คอยเฝ้าเวรเฝ้าป่วยหลวงปู่ขาวด้วยกัน ถามปัญหาธรรมหลวงปู่ขาว

วันนั้นประมาณบ่ายสามโมง พระเณรกำลังได้เวลากวาดลานวัดกันอย่างขมักเขม้น
ตามบริเวณกุฏิ ตามด้วยพื้นที่ส่วนรวม บริเวณที่รับผิดชอบ
ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่หลวงปู่ขาวจะได้พักผ่อนธาตุขันธ์สบายๆ
สงัดจากหมู่คณะพระเณรช่วงนี้จึงได้โอกาสเหมาะสม
ที่เราจะเข้าไปสนทนาธรรมกราบเรียนถามปรึกษาเรื่องจิตตภาวนาที่ยังข้องใจ

ขึ้นไปบนกุฏิ ท่านกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่จึงส่งเสียงกระแอม
ให้ท่านรู้ว่า มีพระมาตามธรรมเนียมพระป่า ท่านก็กระแอมตอบ
เราจึงค่อยเข้าไป กราบเรียบร้อย นั่งตัวตรง พนมมือถามท่านว่า

"พ่อแม่ครูอาจารย์..กระผมภาวนาจิตรวมสงบได้แล้ว เป็นแล้วจะทำยังไงต่อ"

ท่านนิ่งสักพัก มองหน้า แล้วพูดด้วยน้ำเสียงเบาๆ ว่า

"เอ้า ดีแล้ว หมั่นเข้าหมั่นออก"

ท่านพูดแค่นั้นก็ก้มหน้าอ่านหนังสือต่อ

..ตายแล้วทีนี้ ตายแล้วทีนี้..เราจะทำยังไงครูบาอาจารย์ท่านก็พูดแค่นั้น

"หมั่นเข้าหมั่นออก" เราก็มาวิตกวิจารณ์
การภาวนาสงบครึ่งหนึ่ง ออกพิจารณาครึ่งหนึ่ง
..ไม่ช้าไม่เร็ว..การพักจิตในสมาธิจนเคยตัว โน้มไปเพื่อความสงบ
ไม่ออกพิจารณาแยกแยะธาตุขันธ์ ขี้เกียจ..ไม่ถูกต้อง


การพิจารณาจนเพลินเกินตัวไม่มีการพัก
ก็หลงสังขาร ฟุ้งซ่าน สมุทัยเข้าแทรก

หลวงปู่ขาวท่านรวบยอดสั้นๆ ให้แค่ "หมั่นเข้าหมั่นออก" เท่านั้น


รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย เดินจงกรมตอนเช้า
ที่ระเบียงกุฏิ วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู



หลังสรงน้ำเสร็จ หลวงปู่ขาวท่านจะเดินจงกรมที่ระเบียงกุฏิ
ท่านเดินจงกรมโดยตลอด ช่วงท้ายๆ ได้จับระเบียงเดิน
จาก ๓ รอบลดลงมาเหลือรอบเดียวตามกำลังธาตุขันธ์ที่อ่อนลงจนเดินไม่ได้
ก่อนจะพักหัวค่ำ ท่านก็จะสวดมนต์ทำวัตรเป็นประจำ
ในช่วงที่ท่านได้แต่นอนก็จะเอาสองมือมาแนบไว้ข้างหู
นั่นแหละ..ท่านสวดมนต์ทำวัตร ห้ามพระเข้าไปใกล้


หลวงปู่บุญมาเข้าเวรด้วยกัน ท่านเคารพพ่อแม่ครูอาจารย์มากหรือกลัวก็ไม่รู้นะ
ไปด้วยกันเอามือผลักหลังให้เราเข้าไปนั่งหน้าตลอด ท่านพรรษาเยอะกว่าเรานะ
หลวงปู่ขาวท่านไม่มีฟัน จึงต้องใช้ข้าวต้มอ่อนๆ

เวลาตอนเย็นท่านมักจะให้พระไปตามอาจารย์จันทามาเทศน์ให้ฟัง
ท่านอาจารย์จันทาท่านเทศน์เก่งนะ



:b46: นิมิตปริศนาธรรม

ที่วัดถ้ำกลองเพล เรานอนพักใต้กุฏิตอนกลางวัน พอเคลิ้มหลับไป
เห็นคนเดินขบวนกันเป็นกลุ่มๆ สิบคนบ้าง ยี่สิบคนบ้าง
กลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ตามรายทาง ทราบได้ว่า เขากำลังจะไปไหว้พระธาตุ
การไปของแต่ละคนแต่ละกลุ่มนั้นแตกต่างกันไป


บางกลุ่มเล่นการพนัน เล่นโบกเล่นไพ่ไฮโล บางคนมีข้าวปลาอาหาร เหล้าสุรายาปิ้ง
บางคนมีแคนพิณเป่าปี่ เป่าขลุ่ย สนุกสนาน ส่ายสะโพกโยกเต้นตามเพลง
แต่ไปไม่ค่อยจะถึงกัน ไปใกล้ๆ จะถึงแล้วก็จำต้องวกกลับมาเพราะอาหารเสบียงหมด
ส่วนผู้ไปถึงพระธาตุนั้นน้อยที่สุด เมื่อไปถึงพระธาตุก็เจอแต่ขี้หมาในกะปี๊บเท่านั้น
กลับมาไม่มีอะไรจะพูด ไม่รู้จะอธิบายยังไงให้คนอื่นเขาพอเข้าใจได้บ้าง


ความหมายแห่งนิมิตนั้นก็คือ กลุ่มคนหมู่มนุษย์ผู้รู้จักพระพุทธศาสนาแล้ว
จะดำเนินปฏิบัติจนเข้าถึง "พระนิพพาน" นั้นไม่ค่อยมี

โดยส่วนมากหลงทางติดอบายมุข หมดอาหาร หมดบุญก็ตายก่อน

"ผู้เข้าถึง" หมายถึง ครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ พระอริยเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย
เข้าสู่ความเป็นผู้บริสุทธิ์ พุทธะแท้ เห็นอริยสัจสี่แล้วไม่ค่อยอยากพูด
แต่เรานี้พูดอยู่เพราะอยากให้คนอื่นรู้ตามบ้าง
มีแต่นักปฏิบัติศีลธรรมเท่านั้นที่รู้ พวกอื่นหลงงมงาย


:b44:

• อนุสรณ์สถานบรรลุธรรมหลวงปู่ขาว
เสนาสนะป่ากลางทุ่งนา บ้านโหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=48393

• บ้านดงหม้อทอง จ.สกลนคร : สถานที่ภาวนาของครูอาจารย์ในอดีต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=48698

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ต.ค. 2015, 17:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: พรรษาที่ ๑๗-๑๙ พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๕ จำพรรษาที่วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า
บ้านทิดไท ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


ออกจากถ้ำกลองเพลมาเที่ยวภาวนาแถบ จ.สกลนคร
มาพักกับท่านอาจารย์ฝั้น (หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)
ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นใหญ่ อยู่ได้ไม่นานท่านอาจารย์ชาลี มาบอกว่า
"ผมเพิ่งมาจากวัดถ้ำเจ้าผู้ข้า* สถานที่เงียบสงบร่มเย็นเหมาะแก่การภาวนา
ตอนนี้ไม่มีใครอยู่ ถ้าอาจารย์จะไปก็นิมนต์เลย ผมจะได้ไม่ห่วง"

เราก็ตระเตรียมบริขาร แบกกลดสะพายบาตรดิ่งไปเลย

มาอยู่ที่นี่ "วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า" เขาก็เรียก "วัดธาตุเจ้าผู้ข้า" เขาก็เรียก ร่มเย็นดี
"หลวงปู่มั่น" (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) ท่านทำนายเอาไว้ว่า
"ต่อไปจะมีพระองค์หนึ่งมาสร้างปาฏิหาริย์ คอยดูนะ"

เราไปอยู่ที่นั่นไม่นานก็มีหมู่พระตามไปอยู่ด้วย ๘-๙ องค์
อยากได้ศาลา พวกภูมิเจ้าที่เทวดาก็สนับสนุน เขาให้บอกหวยมาทางนิมิตบ้างทางฝันบ้าง
แถวนั้นโด่งดังไปหมด ใครมากลับไปซื้อหวยถูกหมด งวดนั้นเลขมันออก ๕๑
ไม่ถูกแต่คนไม่ซื้อกับหมาเพราะหมามันซื้อหวยไม่เป็น เจ้ามือต้องหนีเข้าประเทศลาว
เพราะไม่มีเงินจ่าย ญาติโยมมาทำบุญ เอาเงินมาถวายกวาดเอาเหมือนใบตอง
ได้เงินมาจ้างช่างไปสร้างศาลา ใช้เวลาเพียงเดือนเดียวก็แล้วเสร็จ
หมดงบประมาณไปประมาณ ๘๐,๐๐๐ บาท กับกุฏิอีก ๕ หลัง
สร้างศาลาเสร็จจัดงานเฉลิมฉลอง ญาติโยมประชาชนมากันล้นหลาม
วัดไม่มีที่จะอยู่ พวกสันติบาลก็มาสำรวจนึกว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์

งานฉลองศาลาอากาศหนาว ในตอนกลางคืนได้นิมนต์ครูบาอาจารย์มาแสดงธรรม
องค์แรก "หลวงปู่ฝั้น" องค์ที่สอง "ท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม"
องค์ที่สาม "ท่านเจ้าคุณพิศาลเถร" เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร
องค์ที่สี่ "หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ" องค์สุดท้ายเกือบไม่ได้เทศน์มันจะสว่างก่อน

"หลวงปู่หลุย" (หลวงปู่หลุย จันทสาโร) ก็มา
พอเห็นเราท่านก็ดึงแขนลงจากศาลาไปในห้องหลังโรงครัว ถามว่า
"คำสุข ทำยังไงศาลาถึงเสร็จเร็วขนาดนี้"

เราก็ตอบท่านว่า "ผมก็หาเอานอกๆ นี่ล่ะครับ กับหอยบ้าง
กับกุ้งบ้าง กับปลาบ้าง พวกภูมิเจ้าที่เขาช่วย"


วันหนึ่งขณะนอนหลับกำลังเคลิ้มๆ ฝันว่า
"อาจารย์มหาบัว" (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด
เดินดุ่มๆ ในมือถือเทียนที่จุดแล้วเล่มใหญ่พอดีกำ เอามาจี้ที่นิ้วเท้าเรา
พร้อมกับพูดว่า "พระองค์นี้ทำไมขี้ดื้อจัง ไปหาบอกหวย"

เราก็สะดุ้งตื่นตกใจ เหงื่อไหลท่วมตัว

ส่วนถนนทางเข้าวัดสร้างด้วยทางดินลูกรัง ระยะทาง ๖ กิโลเมตร
"ท่านอาจารย์ฝั้น" เอารถแทรคเตอร์มาช่วยและคุมงานเองสองสามวัน
เดินสั่งงานเอง เอาผ้าอาบน้ำปกหัว ตอนนั้นท่านดังแล้ว ในหลวงก็เสด็จมาทอดกฐินถวาย
ส่วนน้องหมออวย เกตุสิงห์ ก็มาทอดกฐินที่วัดเรา วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า
ก่อนที่ท่านอาจารย์ฝั้นจะมรณภาพ เราฝันว่า ท่านมาหา มายืนมองแล้วก็เอานิ้วชี้ไปที่ท้อง
ไม่พูดจาอะไร หลังจากนั้นอีกไม่นานท่านก็มรณภาพด้วยโรคที่เกี่ยวท้องกับไส้จริงๆ


รูปภาพ
วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปัจจุบัน


*เพิ่มเติม :: ตามบันทึกประวัติวัดถ้ำเจ้าผู้ข้า จ.สกลนคร
จากเอกสารเผยแพร่ของวัดถ้ำเจ้าผู้ข้า มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า

"ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พระอาจารย์ชาลี พร้อมด้วยพระ ๑ รูป และสามเณร ๒ รูปมาจำพรรษา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พระอธิการคำสุข ญาณสุโข ซึ่งมาจากถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี
ได้มาจำพรรษาติดกัน ๓ ปี ในระยะนี้ได้มีการบูรณะพัฒนา เป็นต้นว่า วางผังวัดใหม่
ขยายอาณาเขต และสร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง ทำด้วยไม้ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร
สิ้นค่าก่อสร้าง ๙๐,๐๐๐ บาท (เก้าหมื่นบาทถ้วน)
กุฏิ ๖ หลัง สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔๘,๐๐๐ บาท (สี่หมื่นแปดพันบาทถ้วน)
สร้างกุฏิ (ส้วม-ห้องน้ำ) จำนวน ๕ หลัง
สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๑๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
บ้านพักแม่ชี ๑ หลัง สิ้นค่าก่อสร้าง ๗,๐๐๐ บาท (เจ็ดพันบาทถ้วน)
แท้งค์น้ำสี่เหลี่ยมจำนวน ๑๑ ลูก ราคาประมาณ ๑,๑๐๐ บาท (หนึ่งพันหนึ่งร้อยบาทถ้วน)
พระประธานหน้าตักกว้าง ๗๕ เซนติเมตร สูง ๑ เมตร ราคา ๘,๐๐๐ บาท (แปดพันบาทถ้วน)
โต๊ะหมู่บูชา หมู่ ๗ จำนวน ๑ ชุด ราคา ๑,๕๐๐ บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน)
ธรรมาสน์ ๒ ชั้น ราคา ๒,๕๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยบาทถ้วน)
จักรเย็บผ้า ๑ หลัง ราคา ๒,๕๐๐ บาท (สองห้าร้อยบาทถ้วน)
ระฆังเหล็ก ๑ อัน ราคา ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
ตู้เก็บสิ่งของ ๓ หลัง ราคา ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
นาฬิกา ๑ เรือน ราคา ๒๐๐ บาท (สองร้อยบาทถ้วน)
นอกจากนี้ยังมีเครื่องใช้สอยในเสนาสนะ มีเสื่อหมอน เป็นต้น
จำนวนมากพอสมควรที่จะขึ้นทะเบียนเป็นสำนักสงฆ์ เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ได้แล้ว
จึงได้ลงชื่อของผู้ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ไว้เป็นหลักฐาน
ประชุมเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ณ ศาลาการเปรียญ วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า"



:b46: พรรษาที่ ๒๐-๒๔ พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๒๐
จำพรรษาที่วัดป่าซับคำกอง (วัดป่าสระแก้ว)
บ้านสระแก้ว ต.เพชรละคร อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์


:b46: พรรษาที่ ๒๕ พ.ศ. ๒๕๒๑ จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล
ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู


:b46: พรรษาที่ ๒๖ พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษาที่วัดพระธาตุฝุ่น
ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร : เริ่มต้นของโรควิงเวียน


ออกจากวัดถ้ำกลองเพล ติดตามพระอาจารย์จันทาออกมา
กับพระอีกหลายองค์ ท่านพามาพักที่ "วัดพระธาตุฝุ่น" บ้านหนองกะเหล่า บ้านคำเจริญ
ใกล้กับวัดป่าแก้วชุมพล (บ้านชุมพล ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร)
อาจารย์สิงห์ทอง (หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร) ยังไม่มาอยู่ตอนนั้น
ระหว่างในพรรษา พระให้ช่วยกันทำข้อวัตร หิ้วน้ำ ดึงน้ำ ลากน้ำ
ช่วยกันทุกๆ องค์ พอได้ใช้เฉยๆ เราทำข้อวัตร อันไหนมันเบาเราไม่จับ
ไปถึงที่ตักน้ำจับแต่คันขอ ไม่เคยจับผ้ากรองเลย
วันหนึ่งขณะกำลังตักน้ำ หน้ามืดเหมือนโลกมันหมุน แล้วก็ล้มลงหมดสติไป
หมู่เพื่อนรีบพากันช่วยพยุงขึ้นพาไปบนศาลา
นั่นแหละเป็นอาการเริ่มต้นของโรควิงเวียน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เป็นอีกเป็นระยะๆ



:b46: พรรษาที่ ๒๗ พ.ศ. ๒๕๒๓ จำพรรษาที่วัดป่าสีห์พนมประชาคม
บ้านหนองกุง ต.บงใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร : อานิสงส์กฐิน


อาจารย์บุญมา (หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม) ท่านไปหาเที่ยวภาวนา
บอกให้เราเฝ้าวัดแทน ปีนั้นจำพรรษาด้วยกันสามองค์ที่หนองกุง (วัดป่าสีห์พนมประชาคม)
โยมเขาเกิดมาเห็นการเป็นอยู่ที่สันโดษ เรียบร้อย เกิดเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก
จึงขอปรึกษาว่า ใกล้จะออกพรรษาแล้วที่สำนักนี้มีเจ้าภาพกฐิน
และกำหนดการอย่างไร มีพระจำพรรษาสามองค์จัดกฐินไม่ได้หรอก
แต่ถ้าจะทำบุญก็ทำบุญปกติ ถวายทานธรรมดา รับรองได้อานิสงส์บุญแน่ๆ

แต่ก่อนนั้นภาวนาจิตมันรวมลงเป็นสมาธิ นรก สวรรค์ ถ้าสงสัยพระธรรมจะแก้ไขให้
เกิดสงสัยในอานิสงส์ของกฐินขึ้นมา กำหนดจิตให้มันรวมลง
กำหนดพุทโธ ลมหายใจเข้าออก มีสติจดจ่ออยู่อย่างนั้น ไม่ออกพิจารณาธาตุขันธ์
ลมมันอ่อนลงๆ อุปมาเหมือนเครื่องบินพอมันถึงเขตมันก็จะลงเอง
จิตมันรวมแล้วแสดงออก นึกอยากเห็น "อานิสงส์กฐิน"

พอนึกเท่านั้นวาระจิตมันยวบ อึดใจเดียว ความเร็วและอำนาจกำลังของกระแสจิต
ไปยืนอยู่สนามลานกว้าง สุดลูกหูลูกตา ไม่มีขอบเขต
มองไปทางทิศตะวันออก เห็นกงจักรมีใบพัดหมุนอยู่ขนาดใหญ่เท่าตึกสองชั้น
มีคนคอยยืนเฝ้า ลักษณะคล้ายยามหรือทหารผู้คอยรักษาดูแลประจำหน้าที่เฝ้าอยู่
เขากำลังจะเข้ามาถามเรา แต่เราถามเขาก่อนว่า
"นี่เมืองอะไร? ใบพัดกงจักรนั่นหมายความว่าอย่างไร?"

เขาตอบอธิบายให้เข้าใจ ได้ความว่า

"ที่นี่ เมืองนี้ คืออานิสงส์ของกฐิน กงจักรนั้นเป็นกงจักรทิพย์
เสวยด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์บุญกุศลเทวดา อยากให้ร้อนก็ร้อน อยากให้เย็นก็เย็น
นี่แหละ อานิสงส์กฐินหมดทั้งแผ่นดินนี้เลย"


พอเข้าใจแล้วจิตถอนขึ้นมา พิจารณาใคร่ครวญดูอีก มันเหมือนสนามหลวงเมืองกรุงเทพฯ
ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ได้ปราสาทกี่โยชน์ๆ มีบริวารเป็นหมื่นๆ พันๆ ก็คงเป็นแบบนี้แหละ
มาเกิดเหมือนในหลวง เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สมบัติในประเทศไทยเป็นของพระองค์หมด
แต่บุญกุศลจะส่งไปกี่ภพกี่ชาตินั้นก็ขึ้นอยู่กับการประกอบกระทำขึ้น
คือ บริสุทธิ์ทั้งผู้รับ ผู้ถวาย และของที่นำมาถวาย

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2016, 17:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b46: พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ. ๒๕๒๔ จำพรรษาที่วัดป่ากลางโนนภู่
บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


เมื่อพูดถึงการสวดเป็นภาษามคธบาลี "การสวดปาติโมกข์"
ก็ถือว่าหินอย่างที่สุดแล้วในบรรดาการสวดทั้งหลาย
ต้องเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์และความพยายามอย่างมากในการสวด
ใช้เสียงให้ถูกอักขระฐานกรณ์แห่งภาษาบาลี
อันเป็นต้นแบบต้นฉบับที่พระกรรมฐานสายป่าถือเคร่ง จะมักง่ายไม่ได้
ต้องฝึกให้ชำนาญ คือ ต้องเป็นผู้ทรงจำ ช่ำชองและคล่องปาก
ทั้ง ๓ ประการนี้ไปด้วยกัน จึงจะนับว่าเป็น "ผู้ชำนาญในการสวด" แท้

"หลวงปู่คำสุข" เองก็เป็นอีกรูปหนึ่งที่สามารถสวดปาติโมกข์ได้
แต่ด้วยอายุมากแล้ว "สัญญา" ความจำก็เป็นหนึ่งในขันธ์ห้าที่ต้องเสื่อมตามกาลเวลา
หลวงปู่ได้เล่าถึงเทคนิคและความพยายามในการท่องปาติโมกข์ให้เป็นคติว่า

"ท่องปาติโมกข์ที่วัดป่ากลางโนนภู่ เริ่มต้นท่องที่นั่นพรรษาที่ ๒๘ จำไม่ลืม
ท่องอยู่สองปีจึงจะจบ เพราะว่าท่องๆ หยุดๆ ก็เลยไม่จบสักที
ใจมันบอกกับตัวเองว่า ปาติโมกข์ก็อยู่กับเรา จะไปท่องทำไม แท้จริงแล้วมันขี้เกียจ
มันหลอกตัวเอง ต้องอาศัยสัจจะจึงจะท่องจบ ตั้งเอาไว้ท่องวันละสามชั่วโมงสี่ชั่วโมง
วันละวรรควันละคำก็ยังดี ตอนเช้าตีสามตีสี่ตื่นขึ้นมาทวนของเก่าที่ท่องได้แล้ว
นอนท่องมันจำได้ง่ายแต่ลืมเร็ว เดินจงกรมท่องมันจำได้ยากแต่ลืมช้า ติดใจ
ฝึกท่องใหม่ๆ ให้ว่าช้าๆ เมื่อท่องได้แล้วมันจะเร็วเอง"


หลังจากที่ท่องจบแล้วขึ้นสวดตลอดพรรษา ปีนั้นพระหนุ่มแทบไม่ได้สวดเลย



:b46: พรรษาที่ ๓๔ จำพรรษาที่ถ้ำภูค้อ
บ้านดงกลาง ต.ผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี


หลวงปู่เล่าถึงพญานาคที่ถ้ำภูค้อ บ้านดงกลาง ต.ผาสุก
อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ซึ่งท่านไปจำพรรษาที่นั่น พรรษาที่ ๓๔ ไว้ว่า

"พวกพญานาคอยู่ได้ทุกที่ ไม่เลือกที่อยู่ ก็เหมือนเทวดาทั่วไป
แต่ "ภูค้อ" จะมีน้ำซับอยู่ข้างในปรากฏอยู่ให้เห็นพญานาคที่ถ้ำภูค้อนี้
แต่ตัวไม่ใหญ่เท่าที่ห้วยน้ำริน จ.เชียงใหม่
ตัวที่อยู่ห้วยน้ำริน จ.เชียงใหม่ ตัวใหญ่เป็นเส้นๆ* เลย
เคลิ้มจะหลับแกมกับนิมิตแกมกับภาวนาก็เห็นเลยล่ะทีนี้ เสียงดังฮึ่มๆ มา
เรานึกว่าเสียงอะไร ทีแรกนึกว่าเสียงลม แต่ที่ไหนได้งูใหญ่มา
หัวก็ยก หางก็ยก เลื้อยมาเลย"


ตามที่ได้ยินหลวงปู่ท่านเล่าถึงพญานาคก็มีเรื่องที่ภูค้อแห่งนี้
และอีกเรื่องหนึ่งท่านพูดให้ฟัง แต่ไม่รู้เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน

เมื่อครั้งพุทธกาลก่อนโน้นมีสามเณรองค์หนึ่งในอารามนั้น
กับมีพระภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูปล้วนแล้วแต่เป็น "พระอรหันต์ขีณาสพ" ทั้งสิ้น
สามเณรองค์นั้นเป็น "อนุปสัมบัน" องค์เดียว (อนุปสัมบัน คือ ผู้ที่มิใช่ภิกษุ)
รับใช้ทุกๆ อย่างตั้งแต่ประเคนของขบฉัน ไปจนถึงตัดหญ้า ถูศาลา
ความเหนื่อยล้าท้อแท้ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
เพราะหาเวลาพักผ่อนสบายๆ ส่วนตัวยากนักเหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร

วันหนึ่งเธอจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า
"ถ้าตายไปแล้วขอให้ได้นอนสบายๆ พักผ่อนข้ามภพข้ามชาติด้วยเถิด"
ด้วยคำอธิษฐานนั้น หลังจากที่สามเณรได้ตายไปแล้ว
ก็ได้ไปเกิดเป็นพญานาคตนหนึ่ง ที่มีชื่อว่า "กาฬนาค (กาลนาค)"
ได้นอนสมใจ เมื่อมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกจึงจะตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า
"เมื่อจิตเป็นสมาธิรวมลงแล้ว จึงไปตามดูกาฬนาคว่ามีจริงรึเปล่า
ครั้นตามลงไปเมืองบาดาล บ้านเมืองของเหล่าพญานาค ไม่เห็นเณร
แต่เห็นพระแขกนอนอยู่องค์หนึ่ง พระแขกหมายถึง พระหน้าตาเหมือนคนอินเดีย
เมื่อเราลงไป เธอก็ตื่นขึ้นมาพร้อมกับมองหน้าด้วยความสงสัย
พูดขึ้นว่า 'ยังมีอยู่อีกหรือ นึกว่าหมดแล้ว'
พระแขกพูดกับเราแค่นั้นก็ออกสำรวจดูบ้านเมืองภพภูมิของเขา
ตามบ้านมีกลองยาวของพวกพญานาค เอาไว้ทำเสียงฟ้าร้องเวลาฝนตก
เมื่อได้เวลาพอสมควร หายสงสัยแล้ว จึงถอนจิตออกจากสมาธิ"


หมายเหตุ : *เส้น หน่วยวัดความยาวของไทย
โดย "พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖"
กำหนดให้ ๑ เส้น ยาวเท่ากับ ๔๐ เมตร หรือเท่ากับ ๒๐ วา



:b46: พรรษาที่ ๓๕ จำพรรษาที่วัดศรีจำปาชนบท
ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร


หลวงปู่เล่าว่า แวะพักที่วัดศรีจำปาฯ (วัดศรีจำปาชนบท)
เรากำลังจะเดินทางไปจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ พักที่นี่ซักสามสี่คืน
แต่บังเอิญทายกวัดมาขอยืมเงิน เราก็ใจดีให้ยืมด้วยความไว้วางใจ
ว่าเป็นทายกวัดก็เลยให้ยืม ยืมไปหลายวันก็ไม่คืนให้เรา
เราก็รอจนใกล้เข้าพรรษาก็ยังไม่เอามาคืน จึงได้ตัดสินใจจำพรรษาที่นี่ซะเลย
ชาวบ้านตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านมีความเห็นพ้องต้องกัน อยากให้เราอยู่เป็นเจ้าอาวาส
แต่ทายกวัดและชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะมันกลัวเราเป็นเจ้าอาวาสแล้ว
มันจะไม่ได้เข้ามายุ่งเรื่องเงิน เราจะดูแลเองทั้งหมด
พระมันต้องเก่งกว่าโยม ไม่ใช่ให้โยมมาใหญ่คุมพระ คุมวัด
จึงต้องลงคะแนนเสียงอย่างกับเลือกผู้แทน

ฝ่ายที่เลือกเราชนะขาดลอย เจ้าคณะจังหวัดสกลนครก็เหมือนกัน
อยากให้เราอยู่เป็นเจ้าอาวาส จะเป็นได้ยังไง..นักธรรมตรีก็ไม่ได้
ท่านก็เลยบอกว่า เดี๋ยวผมจะออกใบปลอมให้เอง ทำใบประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นโทให้
พร้อมใบตราตั้งเจ้าอาวาส เราก็รับด้วยความจำใจ

พอออกพรรษาปวารณาแล้ว ตระเตรียมบริขารหนีไปถ้ำผาปู่
ไม่ได้สั่งลาใคร บวชมาเพื่อพ้นทุกข์ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่ได้คิดว่า จะมาบวชเอาอันนั่นเอาอันนี่ เป็นนั่นเป็นนี่

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2016, 05:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: พรรษาที่ ๓๘ จำพรรษาที่วัดพระธาตุภูผาชัยสวรรค์
บ้านภูผักไซ่ ต.หินฮาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์


รูปภาพ
วัดพระธาตุภูผาชัยสวรรค์ จ.เพชรบูรณ์


หลวงปู่เล่าว่า มาอยู่ที่นี่ก็ได้สร้างกุฏิไว้สี่ห้าหลัง ภูผักไซ่เขาก็เรียก
พักหลังเขาเรียกชื่อใหม่ให้มันเพราะว่า "ภูผาชัยสวรรค์" มีนิมิตแปลกๆ ที่นี่
เห็นคนผู้หญิงประมาณสามสิบคน ไม่มีแก่ไม่มีเด็ก อายุประมาณยี่สิบกว่าๆ ยืนอยู่ในที่โล่ง
อากาศบรรยากาศพอดีๆ ไม่มีร้อนไม่มีหนาว ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืน เพ่งจิตเข้าไปดูใกล้ๆ
ปรากฎว่า หนึ่งในหมู่นั้นเคยเป็นแม่ขาวแก่คนหนึ่งที่ชื่อ "แม่ขาวต๋อ" ที่วัดถ้ำกลองเพล
เรากับ "ท่านอาจารย์จันทา" (หลวงปู่จันทา ถาวโร)
เคยไปเยี่ยมแกที่บ้านพักแม่ขาว พอไปถึงแกก็ตะโกนต้อนรับเลยว่า
"โอ๊ย ครูบาอาจารย์ เมื่อไหร่มันจะตายซักที ทำไมมันตายยากนักร่างกายนี่"

จากนั้นก็ไม่ได้ข่าวคราวของแกเลย มาปรากฏอีกทีก็มีนิมิตที่ภูผักไซ่นี่แหละ
แสดงว่าแกไม่ใช่แม่ชีแก่ๆ ธรรมดาซะแล้ว
ต้องรู้จักการภาวนาเจริญวิปัสสนาเข้าออกสมาธิแน่นอน



:b46: พรรษาที่ ๔๑-๔๒ จำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่
บ้านนาอ้อ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย


รูปภาพ
พระอาจารย์สีทน สีลธโน วัดถ้ำผาปู่


หลวงปู่เล่าว่า ถ้ำผาปู่นี้ สมัยที่หลวงปู่คำดี (หลวงปู่คำดี ปภาโส) อยู่
ก็เข้าๆ ออกๆ เป็นประจำ สิบวันบ้าง ยี่สิบวันบ้าง
แต่ไม่เคยจำพรรษาร่วมกับท่านสักที ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์องค์หนึ่งที่คุ้นเคย
พอหมดท่านแล้ว "อาจารย์สีทน" (พระอาจารย์สีทน สีลธโน) เป็นเจ้าอาวาส
ท่านเป็นคนเรียบร้อย สุขุม น่าเคารพนับถือ
จำพรรษากับท่านสองพรรษาแล้วก็มาอยู่ที่วัดป่าเขาน้อย



:b46: พรรษาที่ ๔๓ จำพรรษาที่วัดป่าเขาน้อย
บ้านเนินหัวโล้ ต.วังทรายพูน อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร
: จำพรรษากับหลวงปู่จันทา ถาวโร


รูปภาพ
หลวงปู่อุทัย สิริธโร วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์


หลวงปู่เล่าว่า ถ้าพูดถึงข้อวัตร ถอดแบบ "หลวงปู่ฝั้น อาจาโร"
ต้อง "อาจารย์อุทัย เขาใหญ่"
(หลวงปู่อุทัย สิริธโร วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน)


ถ้าพูดถึง "หลวงปู่ชอบ" (หลวงปู่ชอบ ฐานสโม)
ก็ต้อง "ท่านอาจารย์จันทร์เรียน ถ้ำสหายฯ"
(หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร วัดถ้ำสหายธรรมจันทร์นิมิต)


ถ้าพูดถึง "หลวงปู่ขาว" (หลวงปู่ขาว อนาลโย)
ต้อง "อาจารย์จันทา" (หลวงปู่จันทา ถาวโร วัดป่าเขาน้อย)

ปีนี้มาจำพรรษากับท่าน มีพระประมาณ ๖๐ รูป
อาจารย์จันทาเป็นหัวหน้า เราเป็นองค์ที่สอง
ตอนเช้าทำวัตรรวม บิณฑบาตฉันข้าวเสร็จก็เดินจงกรม
บ่ายสองมารวมกันฉันน้ำปานะ
จากนั้นก็ช่วยกันเข็นน้ำใส่ตุ่มเตรียมไว้ล้างบาตรตอนเช้า

ในพรรษาท่านอาจารย์จันทาจะพาทำวัตรสวดมนต์
จากนั้นก็จะแสดงธรรม พระวินัย ๒๒๗ ข้อ ท่านเทศน์วันละข้อสองข้อ
พอออกพรรษารับกฐิน ปีนั้นได้เงินสี่แสน
ท่านแบ่งให้สองแสน ได้เงินมาสร้างศาลาหลังแดงนี่แหละ
คุ้นเคยกับท่านมากตั้งแต่สมัยอยู่ถ้ำกลองเพล



:b46: พรรษาที่ ๔๔ จนถึงพรรษาที่ ๕๘
จำพรรษาที่วัดป่าซับคำกอง (วัดป่าสระแก้ว) บ้านสระแก้ว
ต.เพชรละคร อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ รวม ๑๔ พรรษา


หลวงปู่เล่าว่า ออกจากเขาน้อยก็มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จะมีออกไปบ้างก็ไปเที่ยวภาวนา
แล้วก็กลับมาจำพรรษาที่นี่ตลอด อาจารย์จันทาแบ่งเงินให้สองแสนบาท
สร้างศาลานี้จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยส่วนมากชอบอยู่องค์เดียว
หมู่เพื่อนเขามาอาคันตุกะเขาก็อยู่ด้วยไม่ได้
ก็ใช่สิ..มันเข้ามา แทนที่จะมาเอาข้อวัตรฝึกหัดปฏิบัติ แต่นี่โดยส่วนมาก
มันเข้ามาแล้วเอาข้อวัตรตัวเองมาสอนเรา ญาติโยมชาวบ้านลูกหลานเขาก็ไม่เข้ามาวัด
มาทีไรก็โดนแต่เราดุเราด่า มันทำไม่ถูกนั่นแหละมันจึงถูกด่า
พวกเขาไม่รู้นึกว่าเป็นเราเป็นหลวงปู่หลวงตาธรรมดา
หลวงปู่คำสุขท่านเป็นพระภาวนา ไม่ใช่พระพัฒนา ท่านเป็นพระสันโดษไม่ใช่พระสังคม
การเป็นอยู่ที่เรียบง่ายในป่าในเขา เป็นพระกรรมฐานโดยแท้ เสมอต้นเสมอปลาย
แม้เป็นผู้มีอายุพรรษาแล้วก็ยังปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ เคร่งครัด เข้มข้นในข้อวัตร
ไม่อนุโลมให้โอกาสต่อกิเลสตัณหาค่านิยมของโลกเลย แม้กระทั่งพรรษาที่สี่สิบกว่าแล้ว
แทนที่จะอยู่เป็นครูบาอาจารย์ มีพระเณรคอยรับใช้อุปัฏฐากสบายๆ
แต่ท่านยังทรมานร่างกาย เร่งความเพียรไม่เว้นว่าง

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า พรรษาที่ ๔๔ ถึง ๔๖ ปฏิบัติไม่ผิดสามอย่างคือ

๑. อินทรียสังวร สำรวมอายตนะ
๒. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค
๓. ชาคริยานุโยค ตามประกอบความเพียรอยู่เนืองๆ ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน

และกถาวัตถุ ๑๐ อันเป็นถ้อยคำที่ควร เรื่องที่ควรนำมาสนทนากันในหมู่ภิกษุ
ซึ่งประกอบไปด้วย

๑. อัปปิจฉกถา - ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย
๒. สันตุฏฐิกถา - ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
๓. ปวิเวกกถา - ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความสงัดกายสงัดใจ
๔. อสังสัคคกถา - ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕. วิริยารัมภกถา - ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร
๖. สีลกถา - ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล ศีล คือ ความปกติกายปกติใจ
ใจเป็นปกติ ใจกับกายอยู่ด้วยกันในการปฏิบัตินี่แหละเป็นศีลของพระอริยเจ้า
ไม่ต้องไปหาศีลภายนอก ปฏิบัติตรงนี้มันเกิดอยู่นี่ หลงอยู่นี่ เจ็บอยู่นี่ ตายอยู่นี่
อย่าหนีไปไหน นี่แหละอันไหนที่ตายก็ให้มันตายไป
๗. สมาธิกถา - ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจสงบ
๘. ปัญญากถา - ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำให้เกิดปัญญาพิจารณาร่างกายเพื่อให้รู้แจ้งรู้จริง
๙. วิมุตติกถา - ถ้อยคำที่ชักนำทำให้ใจพ้นจากกิเลสและความทุกข์
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา - ถ้อยคำที่ชักนำให้สนใจและเข้าใจ
เรื่องความรู้ความเห็นในวิมุตติ ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2017, 19:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: ศึกษาธรรมกับ "หลวงปู่ลี ผาแดง"

รูปภาพ
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดเกษรศิลคุณธรรมเจดีย์ (วัดภูผาแดง)

รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส ต.หนองสูง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาอนันต์ ฐิตเมธี เจ้าอาวาสวัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส
กับ หลวงปู่ประสาร สุมโน พระอุปัชฌาย์ของท่านในคราวบวชเป็นสามเณร
ในงานทอดผ้าป่า เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๐
ณ วัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส ต.หนองสูง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร



ในช่วงนี้นอกพรรษา ท่านไปอยู่ที่ผาแดง
เพื่อศึกษาธรรมกับ "หลวงปู่ลี กุสลธโร"
ซึ่งมีความคุ้นเคยกันมาก่อนที่วัดถ้ำกลองเพล มีผ้าขาวติดตามหนึ่งคน
"พระอาจารย์มหาอนันต์ ฐิตเมธี" เจ้าอาวาสวัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส
(ต.หนองสูง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร) สมัยนั้นยังเป็นพระใหม่
เห็นหลวงปู่คำสุขในครั้งนั้น เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

"ท่านมาผาแดงกับผ้าขาวหนึ่งคน ผมก็แปลกใจ ไม่รู้จักท่าน
ท่านเป็นครูบาอาจารย์ มีอายุพรรษาแล้วแต่ก็ยังปฏิบัติตัวเป็นกันเอง
ไม่ถือเนื้อถือตัว พักภาวนาวัดนั้นบ้าง วัดนี่บ้าง หลวงปู่ลีก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
เพราะท่านรู้จักกันมาก่อนแล้วที่งานศพท่านหลวงปู่ขาว ถ้ำกลองเพล

หลวงปู่คำสุขท่านเดินจงกรมเก่งมาก
ตอนเช้าหลวงปู่ลีไม่ให้ท่านไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
แต่ให้รับบาตรในวัดที่โรงครัวกับท่านสององค์เท่านั้น
หลวงปู่ลีสั่งให้พระตัดผ้าไตรให้ใหม่เพราะเห็นว่าผ้าที่ท่านใช้มันเก่ามากแล้ว
โดยส่วนมากท่านไม่ค่อยฉันข้าว ตักเอาไว้อยู่แต่ไม่ฉันจนหมู่พระชำเลืองมอง

วันหนึ่งขณะลงปาติโมกข์ หลวงปู่ลีไม่อยู่
พระสวดปาติโมกข์ สวดติดๆ ขัดๆ ด้วยความตื่นเต้นและไม่ชำนาญ
พระอาจารย์รูปหนึ่งจึงดุตวาดขึ้นในขณะนั้นว่ามันไม่ได้เรื่อง
มันขี้เกียจทวนหนังสือต่างๆ นานา

ท่านอาจารย์คำสุขจึงพูดเบรคท่านอาจารย์ท่านนั้นไว้ว่า
ไม่เป็นไรหรอก อย่าไปดุด่าท่านมาก ในนิมิตผมเมื่อคืนนี้ก็พอจะรู้อยู่ว่า
นั่งประชุมกันอยู่ตอนนี้ก็มีพุทธภูมิหลายองค์อยู่ เอ้า ค่อยๆ ว่าต่อไป ว่าช้าๆ ก็ได้


พอสวดปาติโมกข์เสร็จ พระอาจารย์รูปนั้นก็ยังไม่จบ
ยังพูดต่ออีกว่า จะมาพุทธภูมิอะไร มันขี้เกียจทวนหนังสือ
หลวงปู่คำสุขก็ไม่ใส่ใจ ถือผ้าครองเดินกลับกุฏิไป
ท่านเมตตาและให้กำลังใจพระผู้สวด


ผู้เขียนถามถึงที่มาของคำว่า "พุทธภูมิ" ในวันนั้น ท่านก็เล่าให้ฟังว่า

คืนนั้นที่ผาแดง ก่อนจะลงปาติโมกข์ จิตเป็นสมาธิเห็นพวกสัตว์
มีไก่ มีนกยูง มีกระรอก กระแต นกหนูปูปีกเต็มไปหมด ก็เลยรู้ว่า
พระที่อยู่ด้วยกันมันปรารถนาพุทธภูมิกันหลายองค์ มันไม่ใช่พระแท้
มันเป็นครึ่งพระครึ่งสัตว์ เรียกว่า "โพธิสัตว์" พวกนี้ได้ช้า



:b46: กับ "หลวงปู่จันทร์เรียน วัดถ้ำสหายจันทร์นิมิต"

รูปภาพ
หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม วัดป่าสีห์พนมประชาคม จ.สกลนคร

รูปภาพ
หลวงปู่อุทัย สิริธโร วัดเขาใหญ่เจริญธรรม
(วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน) จ.นครราชสีมา


รูปภาพ
พระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร
วัดถ้ำสหายจันทร์นิมิต (วัดป่าทับกุง) จ.อุดรธานี



ครั้งหนึ่งมีกิจนิมนต์ในงานประจำปีของ อ.หนองวัวซอ
หลวงปู่ลี (หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดภูผาแดง) ให้ไปฉันเช้าแทน
พระที่เป็นพระครูเป็นเจ้าคุณก็นั่งเฉยอยู่ไม่รู้จักท่าน
"หลวงปู่จันทร์เรียน" วัดถ้ำสหายจันทร์นิมิต
เห็นท่านมาก็รีบกุลีกุจอให้การต้อนรับปฏิสันถาร
เพราะรู้จักกันมาก่อนและเคยจำพรรษาด้วยกันที่วัดป่าห้วยชัน

(บ้านห้วยชัน ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์)
พูดบอกพระแถวต้นๆ ว่า "ถอยลงมา ถอยลงมา ให้ครูอาจารย์ท่านนั่งก่อน"
พระก็พากันมองว่าองค์นี้เป็นใครมาจากไหน

"หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม" วัดป่าสีห์พนมประชาคม
"หลวงปู่อุทัย สิริธโร" วัดเขาใหญ่เจริญธรรม
(วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน)
"หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร" วัดถ้ำสหายจันทร์นิมิต
องค์หลวงปู่คำสุขพูดถึงเสมอว่า "เป็นพระองค์สำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน"


เมื่อครั้งหลวงปู่คำสุขเคยไปแวะเยี่ยมเยียนหลวงปู่จันทร์เรียน ท่านพาเยี่ยมชมดูบริเวณวัด
ชี้ไปที่ก้อนหินหลังถ้ำแล้วบอกว่า ผมเคยภาวนาตายตรงก้อนหินก้อนนี้หลังถ้ำ

หลวงปู่จันทร์เรียนท่านเคยนิมนต์หลวงปู่ไปจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหลวงปู่ชอบ
หลวงปู่ตอบปฏิเสธและพูดว่า ท่านก็ไปอยู่เองสิ หลวงปู่จันทร์เรียนตอบว่า

"ถ้าผมไปอยู่โน่น ใครจะเฝ้าถ้ำสหายฯ งั้นครูจารย์มาอยู่แทนผมนะ ผมจะไป
ผมก็อยากได้ครูบาอาจารย์นั่นแหละ"


หลวงปู่ตอบอีกว่า "ไม่ๆ ของแบบนี้มันชอบใครชอบมัน"


รูปภาพ
หลวงพ่อบุญทัน ฐิตสีโล วัดเขาเจริญธรรม จ.เพชรบูรณ์


วัดป่าซับคำกองยุคแรกๆ "หลวงพ่อบุญทัน ฐิตสีโล"
วัดเขาเจริญธรรม ต.หนองแจง อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์
จะส่งพระมาคอยรับใช้อุปัฏฐากและอยู่ฝึกหัดในเรื่องจิตตภาวนา
คราละ ๕ รูปบ้าง ๖ รูปบ้าง แต่ก็อยู่กับท่านไม่ค่อยได้
ท่านสอนอย่างเอาจริงเอาจัง ขนาบอยู่ตลอด
ไม่ให้สนิทใกล้ชิดหยอกล้อกับท่านเลย

เมื่อตอนธาตุขันธ์องค์ท่านแข็งแรงท่านจะเดินจงกรมวันละ ๔-๕ ชั่วโมง
นำทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นไม่ขาด
วันดีคืนดีท่านจะขึ้นไปดูกุฏิของพระ ดูความสะอาด การเก็บของวางของ
ถ้าไม่สะอาดหรือวางของไม่เป็นระเบียบล่ะก็
จะได้ฟังเทศน์กันฑ์ใหญ่หรือโดนไล่ออกจากวัด


:b44:

• อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “วัดถ้ำสหายจันทร์นิมิต” ได้ที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=48736

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=48722

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่อุทัย สิริธโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44078

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=46493

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ส.ค. 2017, 04:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: หลวงปู่ไปอินเดีย

รูปภาพ

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ คณะโยมโครงการเส้นทางธรรม
ได้นิมนต์หลวงปู่ไปประเทศอินเดีย แดนพุทธภูมิเพื่อกราบสักการะ "สังเวชนียสถาน"
ท่านบอกปฏิเสธว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ที่ใจ เราจะไปทำไมประเทศอินเดีย
คนที่โน่นมีกี่ขามีกี่แขน มันไม่เหมือนกับคนประเทศไทยหรือ
ญาติโยมนิมนต์หลวงปู่อยู่หลายครั้งท่านจึงยอมรับนิมนต์ไป
โดยไปสถานที่ต่างๆ สังเวชนียสถาน เช่น วัดเชตวัน บ้านนางวิสาขา แม่น้ำคงคา
สถานที่ปลงพระศพของพระพุทธเจ้า มหาวิทยาลัยนาลันทา และอื่นๆ อีกมากมาย

ท่านเล่าให้ฟังว่า พระถ้าจะไปต่างประเทศต้องไปประเทศอินเดีย
ตอนเราไปอินเดีย นั่งอยุ่บนรถเฉยๆ พิจารณาอันนั้นอันนี้ไปเรื่อยๆ
มองเห็นบ้านเมืองของคนอินเดียเกิดสลดสังเวชใจขึ้นมา นึกถึงกรรมของตัวเอง
เพราะความประมาทของเราเกิดสะอึกสะอื้นขึ้นมา จะร้องไห้ ใจนี้มันเป็นบ้าหรือไง

คงอายญาติโยมเขา เห็นคนแก่ร้องไห้ ก็เลยตั้งใจใหม่ นั่งรถไปเรื่อย
เห็นหมากับลิงวิ่งไล่กัดกันก็เลยรู้ว่า พวกนี้มันเคยเป็นมิจฉาทิฎฐิ
เดียรถีย์เมื่อครั้งพุทธกาล สบประมาทพระพุทธเจ้าเอาไว้ พระอริยเจ้าทั้งหลาย
ย่ำยีศีล ๕ ศีล ๘ จึงเกิดมาเป็นหมากับลิงวิ่งไล่กัดกันเช่นนี้


ภาพประกอบจากกระทู้เรื่อง พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
: สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39377


:b46: วัดป่าซับคำกอง

รูปภาพ
พิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำสุข ญาณสุโข ณ วัดป่าซับคำกอง (วัดป่าสระแก้ว)


ภายในวัดป่าซับคำกองซึ่งเป็นวัดป่ากรรมฐานสาย "พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต"
มีบรรยากาศที่เงียบสงบแสดงถึงความที่สมณะและผู้อยู่อาศัยเป็นผู้สะอาดทั้งกาย วาจา ใจ
ภาพแห่งพระภิกษุผู้อยู่ในวัยชรารูปหนึ่ง สง่างาม องอาจ มีรอยยิ้มแห่งเมตตา
ยืนถือไม้เท้า ใส่แว่น แสดงถึงความเป็นนักรบธรรมกรำศึกในธุดงควัตร
ฝ่าอันตรายดงหนามแห่งชีวิตพิชิตจุดหมายคือ การทำลายภพชาติที่เกลื่อนกล่นถูกวาดขึ้น

พระมหาเถระผู้เฒ่าพูดจาภาษาอีสาน ขวานผ่าซาก
เสียงดังฟังชัดจ้อยๆ ออกกิริยาท่าทางไร้มารยาในแววตามีแววมุ่งมั่นดุดันรูปหนึ่ง
ซึ่งทุกคนเรียกติดปากว่า "หลวงปู่คำสุข"
นั่งสนทนาธรรมกับสานุศิษย์บนศาลาหลังใหญ่ นี่คือ "สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง"
การเห็นสมณะพระอริยเจ้า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้สงบ นี่แหละเป็นมงคลอย่างสูงสุด

ทุกชีวิตในวัดป่าซับคำกองหมั่นบำเพ็ญเพียรตามโอวาทธรรมของหลวงปู่
ผู้ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาเลื่อมใส มอบกายใจมาเป็นศิษย์ใต้ร่มธรรม
อารามแห่งนี้อบอวลไปด้วยกลิ่นศีลธรรมแห่งผู้อยู่อาศัย
กุฏิแต่ละหลังถูกออกแบบสร้างขึ้นพร้อมทางจงกรม
อันเป็นลานทางเพื่อชำระสะสางกิเลสตัวนำพาเวียนว่ายในวัฏวน

ภาพแห่งขุนเขาแมกไม้ ชั้นบรรยากาศ เสนาสนะ สัตว์จตุบททวิบาท
เขียวชอุ่มชุ่มเย็น ถ้อยทีถ้อยอาศัย เรียบง่ายสงบสงัดหลีกเร้นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
เสียงสัตว์ไพรร้องก้องแว่วมาเป็นระยะๆ ใบไม้ไหวระริก สายลมก็แผ่วเบา
มองออกไปไกลโพ้นเห็นขอบทิวเขาอยู่ไรๆ ไม่มีกลุ่มแห่งเสียงสีแสงย้อมจิตใจให้คิดมัวเมา
ม่านมายาแห่งกิเลสถูกปิดฉากลง พร้อมกันนั้นม่านแห่งสัจธรรมถูกเปิดฉากขึ้นย่ำธรรมเภรี
ประกาศหลักแห่งความจริงเพื่อบอกทางแก่คนหลงทาง

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2020, 15:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: โลกแห่งพระธรรม

"พระภิกษุ" ย้อมผ้าด้วยน้ำฝาดครองเป็นปริมณฑล มีท่วงท่าสง่างามสังวรณ์
สตรีผู้มีมีใจเด็ดเดี่ยว ปลงผมออกบวชเป็น "แม่ชี" มีลีลาสำรวมระวังตั้งสติ
ทุกชีวิตงามตามวัยและศีลธรรมที่บ่มบำเพ็ญ
บ่งบอกถึงการอยู่ในโลกของความเป็นจริง โลกแห่งพระธรรม

พระ แม่ชี คนวัดบางท่านสวดมนต์ บางท่านเดินจงกรม
บางท่านทำกิจวัตรที่หลวงปู่มอบหมายให้
การเดิน ยืน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด จิตประกอบไปด้วยสติ น่าทัศนายิ่งนัก

สมณชีพราหมณ์ที่อยู่อาศัยมีแววตาแห่งความหวังในบรมธรรม
และอาจหาญร่าเริงในธรรมคำสอนที่เฝ้ากระตุ้นเตือนใจ
ผู้อยู่อาศัยใต้ร่มใบบุญ ไม่ให้ประมาทนอนใจนอนจม
ที่หลวงปู่คำสุขมักกล่าวแผดเสียงฉุดกระชากลากจิตวิญญาณ
ไม่ให้พระ เณร แม่ชีหรือคนวัดหลับใหลไปด้วยกิเลสนิทรา
ให้เป็นผู้รู้ ตื่น เบิกบานเสมอ เมื่อท่านดุเด็ดด้วยธรรมะรสเผ็ดแล้ว
ท่านเป็นผู้ฉลาดในธรรมก็ปลอบด้วยมธุรสวาจา
เหมือนดั่งบิดามารดาลูบคลำศีรษะบุตรสุดที่รัก
ด้วยความปรานีแล้วกล่าวสอนด้วยความเมตตาสงสารยิ่ง


ทุกคนปฏิบัติตามคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ คือ หลวงปู่คำสุข
ด้วยความเพียรพยายามแหวกว่ายหาทางพ้นทุกข์เฉกเช่นองค์ท่าน



:b46: ไม่ให้ติดต่อคลุกคลี

วัดป่าซับคำกอง หรือที่คนรู้จักกันจะเรียกสั้นๆ ว่า
คำกอง เป็นสถานปฏิบัติธรรมอันสงบสงัด
เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ฝักใฝ่พ้นทุกข์โดยแท้
ถนนลูกรังเข้าวัดทะลุอุโมงค์ไม้ดั่งเจออีกพื้นพิภพแห่งเมืองผู้ใฝ่ออกจากกาม

ต้นไม้นานาพันธุ์น้อยใหญ่ถูกปลูกเรียงรายตามสันเขาราวป่า ให้ร่มเงาได้พักได้ตามชายคา
สระน้ำธรรมชาติซึมซับตลอดปี ขอบสระเทปูนซีเมนต์เป็นทางเดินจงกรมอาศรมธรรมชาติ
ศาลาหลังใหญ่เป็นศาลาประชุมกันในเวลาทำภัตกิจและสวดมนต์เท่านั้น

ฝ่ายพระสงฆ์และผ้าขาวอยู่ในเขตบริเวณศาลาและสันเขาข้างบน
แม่ชี พราหมณี อยู่เขตข้างหน้าวัด
บริเวณสระน้ำ โรงครัว ถูกแบ่งแยกออกเป็นสัดเป็นส่วน
เพื่อให้เหมาะสมแก่ธรรม ไม่ให้ติดต่อคลุกคลีโดยเด็ดขาด

ผู้เข้าปฏิบัติธรรมก็ต้องการพักกายพักใจด้วยการปฏิบัติธรรมเข้าออกจนเป็นที่คุ้นตา
ส่วนอานิสงส์ที่ผู้ปฏิบัติได้รับนั้นก็สุดแท้แต่ศรัทธาในการขวนขวายภาวนาของแต่ละบุคคล



:b46: ประพฤติปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่าง

หลวงปู่คำสุข ท่านจะเน้นให้ความสำคัญอย่างมาก
ในเรื่องของการปฏิบัติภาวนา
เพื่อความพ้นทุกข์และให้เห็นภัยในวัฏสงสาร

ท่านเป็นผู้ที่มีอุบายธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง
โดยที่ท่านจะพิจารณาตามความเหมาะสมของสติปัญญาของแต่ละบุคคลไป
เมื่อบุคคลนั้นนำเอาอุบายธรรมคำสอนท่านไปประพฤติปฏิบัติ
ย่อมทำให้จิตใจของตนได้รับความสุขสงบความเจริญแห่งการปฏิบัติของตนสืบไป
สำหรับพระภิกษุ สามเณรและแม่ชีแล้วท่านจะเน้นมาก
ในเรื่องของการปฏิบัติกิจวัตร ข้อวัตรและพระธรรมวินัย
ไม่ให้ประพฤติปฏิบัตินอกลู่นอกทาง

ท่านจะมีอุบายธรรม ทั้งปลุกทั้งปลอบ
อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและแม่ชีอยู่เสมอๆ
อีกทั้งยังประพฤติปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่างอีกด้วย
ซึ่งตัวของหลวงปู่เองนั้นท่านจะเป็นผู้มักน้อย สันโดษ
ละเอียด รอบคอบ ไม่รบกวนใครในเรื่องปัจจัยสี่ แล้วแต่จะเกิดขึ้นเอง
โดยท่านตั้งอยู่ในหลักสองประการคือ "สันตุฏฐีคุณ"
มีอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น แล้วแต่เขาจะศรัทธา
ไม่มีการเรียกร้องหรือตำหนิในสิ่งที่เขานำมาถวาย
"อภิชาตคุณ" คือความประหยัด มีมาก ใช้แต่น้อย ใช้แต่เท่าที่จำเป็น

ในส่วนที่เหลือก็นำไปช่วยเหลือแก่วัดวาอารามต่างๆ
ที่ขาดแคลนรวมถึงบุคคลที่มีความจำเป็นต่อไป

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2020, 18:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: ท่านเป็นผู้ที่มีความอดทนสูง

ท่านเป็นผู้ที่มีความอดทนสูง
เป็นคุณธรรมอีกประการที่โดดเด่นมากของหลวงปู่
ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะมีสุขภาพไม่แข็งแรงนัก
แต่ท่านเองก็ไม่เคยแสดงทุกขเวทนาเหล่านั้น
ให้แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ได้รับทราบหรือเป็นห่วงแต่อย่างใด
ท่านยังคงประกอบกิจของสมณะอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ

ยังมีคุณธรรมอีกมากมายหลายประการที่ไม่สามารถจะกล่าวได้ในที่นี้
ซึ่งคุณธรรมเหล่านั้นก็เป็นที่รู้กันในหมู่ภิกษุผู้ใกล้ชิด
ซึ่งล้วนแต่เป็นแบบอย่างที่ท่านได้ดำเนินมาตลอดชีวิตสมณเพศของท่าน
เพื่อเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติให้กับพระภิกษุโดยทั่วไป

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร