วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2014, 05:47 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ม.ค. 2012, 14:24
โพสต์: 11


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติโดยสังเขป
พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตฺโต)


วัดโนนสว่าง
ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี



พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตฺโต) มีนามเดิมว่า เจริญ สารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่บ้านหนองวัวซอ ตำบลหมากหญ้า (ปัจจุบันคือตำบลหนองวัวซอ) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี โยมบิดาชื่อ นายสงวน สารักษ์ พื้นเพต้นตระกูลเป็นคนบ้านหนองไข่นก จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาโยมบิดาได้ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ที่อำเภอหนองวัวซอ โดยมีคุณปู่คือ พ่อใหญ่สารวัตรนา สารักษ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในบ้านหนองวัวซอ และมีคุณย่าคือ แม่ใหญ่บัวมี อัควงษ์ ซึ่งพื้นเพมีเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองในสมัยเก่าของจังหวัดหนองบัวลำภู ส่วนโยมมารดาชื่อ นางฮวด สารักษ์ (นามสกุลเดิม โคตรรวิช) พื้นเพต้นตระกูลเป็นคนบ้านเชียงหวาง อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ต่อมาโยมมารดาได้ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ที่บ้านโนนทัน จังหวัดหนองบัวลำภู และแต่งงานกับโยมบิดาที่บ้านหนองวัวซอ ได้ประกอบสัมมาอาชีพ ทำไร่ทำนา ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๐ คน เป็นชาย ๘ คน หญิง ๒ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖ มีรายชื่อตามลำดับดังนี้

๑. นายทองม้วน สารักษ์
๒. นายบุญชุ่ม สารักษ์
๓. นายบุญคุ้ม สารักษ์
๔. นางหนูเล็ก สารักษ์
๕. นายบุญเชิญ สารักษ์
๖. พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตฺโต)
๗. นางหนูเกียรติ สารักษ์
๘. นายสมยศ สารักษ์
๙. นายสมศักดิ์ สารักษ์
๑๐. นายสมควร สารักษ์ (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์)

ทั้งนี้ เชื้อสายทางโยมบิดาของท่านซึ่งเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีโดยกำเนิดนั้น เกี่ยวพันเป็นลูกหลานของ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร และ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน จังหวัดหนองบัวลำภู

บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบุญญานุสรณ์ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระครูประสิทธิ์คณานุการ (คำดี ธมฺมธโร) อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองวัวซอ ฝ่ายธรรมยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะเป็นสามเณรท่านได้สนใจศึกษาหัดอ่านเขียนคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน กับพ่อใหญ่มั่น ผู้เฒ่าที่ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งสามารถอ่านเขียนและจารอักษรธรรมอีสานได้ และท่านผู้เฒ่าผู้นี้เป็นฆราวาสที่มีอาคมด้วย จึงได้เรียนอักษรธรรมและอาคมบ้างพอประมาณ ต่อมาจึงสามารถอ่านเขียนอักษรธรรมล้านนาและอักษรไทยน้อยได้จนแตกฉาน และสามารถจารหนังสือใบลานได้ตั้งแต่บรรพชาไม่ถึง ๒ พรรษา ความที่ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านจึงนับถือภูตผีปีศาจ จึงศึกษาถึงที่มาที่ไป จนผ่านไปหลายปีจึงทราบได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงให้เลิกนับถือสิ่งเหล่านั้นและให้นับถือพระรัตนตรัยแทน ท่านจึงเริ่มสนใจในวิชาพุทธาคมและเริ่มศึกษาควบคู่ไปกับการศึกษาข้อความในคัมภีร์ ซึ่งต่อมาทำให้เป็นผู้มีความรอบรู้ในเรื่องพระคัมภีร์อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระสูตร เรื่องราวในทางธรรมะต่าง ๆ ตำรายาแผนไทยโบราณ ตำราดวงชะตา ตำราลงอักขระปลุกเสกต่าง ๆ ซึ่งก็ได้ศึกษาพอประมาณ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

ต่อมา ท่านได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของ พระอาจารย์สมพงษ์ (พระธรรมสังวร) วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เรียนวิชาลงตะกรุดโทนและวิชารักษาคนผู้ถูกมนต์ทำร้าย ฯลฯ และพำนักอยู่กับ พระครูสถิตธรรมรัตน์ (หลวงปู่โถน) วัดเรียบทายราม (วัดโสกแจ) อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ได้เรียนวิชาลงตะกรุดหกกษัตริย์ กบตายคารู ลงนะหน้าทอง และอีกหลายอย่าง รวมทั้งยังมีโอกาสเป็นสามเณรอุปัฏฐากอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดสามัคคีอุปถัมภ์ (ภูกระแต) อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยมี พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสิริธรรมวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวินัยกิตติโสภณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูสุนทรนวกิจ วัดอรุณรังษี จังหวัดหนองคาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า “ฐานยุตฺโต” ซึ่งแปลว่า บุคคลอันอยู่ในฐานะอันควรแล้ว ชอบแล้ว

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาอยู่กับ พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่เมตตาหลวง) วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หลวงปู่ให้เรียนเอาวิชาเมตตาหลวง ตำราเลขยันต์ คาถาลงตะกรุดโทน แคล้วคลาด ยันต์ตรีนิสิงเห และสอนให้บริกรรมธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ นะ มะ พะ ทะหลายปีต่อมาขณะจำพรรษาอยู่วัดป่าพรรณนานิคม ได้พบ หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก จังหวัดสุรินทร์

ครั้นเมื่อ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ถึงแก่มรณภาพลง ท่านได้เดินทางมาร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่บุญมา และได้รับนิมนต์ให้อยู่ต่อ ต่อมา พระครูพุทธศาสโนวาท (ชาลี ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง (ชื่อวัดในขณะนั้น) ได้ถึงแก่มรณภาพลง ท่านจึงได้อยู่ช่วยงานศพต่อจนแล้วเสร็จ ชาวบ้านอำเภอหนองวัวซอจึงพร้อมใจกันอาราธนาให้ พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตฺโต) อยู่จำพรรษาที่วัดนั้น และขอให้ช่วยพัฒนาวัดด้วยเพราะเป็นวัดในอำเภอบ้านเกิด จนกระทั่งท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จากนั้นต่อมา วัดศรีสว่างได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดโนนสว่าง ซึ่งท่านก็ได้อยู่จำพรรษาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่มาช่วยพัฒนาอารามแห่งนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ โดยท่านได้ใช้สรรพวิชาพุทธาคมที่ได้เล่าเรียนมาตั้งแต่เป็นสามเณรช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไปตามกำลังที่มี

ส่วนการสร้างวัตถุมงคลและปลุกเสกวัตถุมงคลนั้นได้ทำตามตำหรับวิชาผึ้งพันน้ำมันหมื่น จนทำให้วัตถุมงคลเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การนำไปบูชาสักการะ ผู้สืบสานตำหรับวิชาพุทธาคมอีสานโบราณผึ้งพัน น้ำมันหมื่น ในการปลุกเสกวัตถุมงคลของพระครูพิพัฒน์วิทยาคม (หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตฺโต) ในขณะปลุกเสกนั้น จะต้องนั่งบนอาสนะที่หล่อด้วยขี้ผึ้งแท้หนัก ๔๐,๐๐๐ หรือ ๔๘ กิโลกรัม และบริกรรมธาตุและพระคาถาด้วยลูกประคำงาช้างจำนวน ๒๑๖ ลูก และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้คือ ครุภัณฑ์ ซึ่งก็คือเครื่องบูชาพระรัตนตรัยชุดใหญ่ อันประกอบด้วยเครื่องบูชาตามตำหรับโบราณหลายชนิดเช่น เครื่องพัน หมายถึงจำนวนละพันชิ้น และน้ำมันหมื่น อันได้แก่น้ำมันหลายชนิดเช่นน้ำมันงา หรือน้ำมันยางแบบโบราณแท้ซึ่งทั้งหมดทั้งนั้นก็ คือเครื่องบูชาพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งแต่สมัยโบราณ กล่าวกันสืบๆมาว่า ครูบาอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมสายอีสานโบราณจนถึงผู้ทรงวิทยาคมทางฝั่งลาวหากจะเรียนสรรพวิทยาคมต่างๆ หรือจะลงประจุคาถาอาคมลงในวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นนั้น ต้องแต่งเครื่องบูชาด้วยเครื่องบูชาที่เรียกว่า ผึ้งพัน น้ำมันหมื่นเท่านั้น เมื่อแต่งเครื่องบูชาแล้วจึงเริ่มทำพิธีมหาพุทธาภิเษก และลงประจุอาคม ที่สำคัญต้องกระทำการในวันบุญมหาชาติเท่านั้น จึงจะได้วัตถุมงคลที่ศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังมีอานุภาพเต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพและสังฆานุภาพ

ผึ้งพัน ประกอบด้วยเทียนขี้ผึ้งแท้ หนึ่งพันเล่ม ธูปพันดอก เมี่ยงหมากพันชุด บุหรี่พันมวน ดอกไม้ประกอบด้วย ดอกผักตบ ดอกบัวหลวง ดอกอัญชัน ดอกปีบ (ดอกก้านของ) ดอกโสน (ใช้ลำโสนมาแต่งเป็นดอกไม้)ดอกคัดเค้า ขันบายศรี ข้าวเหนียวปั้นพันก้อนกรวยกระทงใบฝรั่งพันกรวย เงินพันบาท ธงช่อ ธงหาง ข้าวคั่วตอกแตก จัดให้ได้อย่างละพัน พอสังเขปเท่านี้ และมีอีกหลายชนิดที่ไม่ขอกล่าวถึง น้ำมันหมื่น โบราณใช้น้ำมันยาง หรือน้ำมันงาหนักหนึ่งหมื่น ใส่กระปุกหรือขวดแก้ว ทุกอย่างที่กล่าวใส่ลงในภาชนะพานโตก หรือภาชนะจักสานขนาดใหญ่ ส่วนเทียนขี้ผึ้งห่อรวมกันไว้ด้วยผ้าขาวแล้วพันด้วยด้ายฝ้ายดิบสีขาว ทุกอย่างรวมเรียกว่า ครุภัณฑ์ เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า นี่คือที่มาของคำว่าผึ้งพัน น้ำมันหมื่นที่พระครูพิพัฒน์วิทยาคมใช้เป็นเครื่องบูชาพระธรรมในการพิธีพุทธาภิเษกของวัดโนนสว่างตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

พิธีพุทธาภิเษกของวัดโนนสว่างนั้น จะมีตำราสวดพุทธาภิเษกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระครูพิพัฒน์วิทยา เป็นสมุดไทย ๑ ชุดมีจำนวน ๔ เล่มใหญ่ มีชุดที่เป็นอักษรธรรมเขียนด้วยลายมือท่านเอง และชุดที่พิมพ์ด้วยอักษรไทย ซึ่งเนื้อหาจะประกอบด้วยพระคาถามากมายเป็นเอกลักษณะเฉพาจึงสรุปได้ว่า พิธีพุทธาภิเษกจะต้องดำเนินไปด้วยความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ และถูกต้องตามระเบียบแบบแผนตามแนวทางของผู้ทรงวิทยาคมอีสานโบราณ

“เส็งกลองกิ่ง” เป็นประเพณีปฏิบัติโบราณอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานนิยมละเล่นและแข่งขันกันในงานบุญ

“เส็ง” หมายถึงการแข่งขัน

“กลองกิ่ง” เป็นกลองที่จัดทำขึ้นมาเพื่อตีประโคมให้เกิดเสียงดัง ต่อมาได้มีการนำมาประชันหาความเด่นว่ากลองคู่ใดจะมีเสียงดังกว่ากลองอื่นๆ จนเกิดเป็นการแข่งขันเอาแพ้เอาชนะเอาชื่อเสียงให้กับวัดหรือหมู่บ้าน

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ไม่ค่อยเข้าวัดทำให้ประเพณีดังกล่าวได้ถูกลืมเลือนจนเกือบจะสูญพันธ์ โชคดีที่หลวงพ่อเจริญท่านได้เข้ามาช้อนอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าที่ไม่เห็นคุณค่าได้ชม ได้ศึกษากัน

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ

รูปภาพ
พระครูสถิตธรรมรัตน์ (หลวงปู่โถน) วัดเรียบทายราม จังหวัดอุดรธานี

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู

รูปภาพ
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม)
วัดสามัคคีอุปถัมภ์ (ภูกระแต) จังหวัดบึงกาฬ


รูปภาพ
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่เมตตาหลวง)
วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม จังหวัดนครราชสีมา


รูปภาพ
หลวงปู่สาม อกิญจโณ วัดป่าไตรวิเวก จังหวัดสุรินทร์

รูปภาพ
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน จังหวัดหนองบัวลำภู


:b44: สมณศักดิ์และหน้าที่การงานทางคณะสงฆ์

- วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโนนสว่าง

- วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร
เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูพิพัฒน์วิทยาคม

- วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2542 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลหมากหญ้า ธรรมยุต

- วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร
เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ เจ้าคณะตำบลชั้นโท ในพระราชทินนามเดิม

- วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง


:b44: ผลงานที่ปรากฏแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป

1. จัดให้มีการฝึกอบรมการปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิแก่เยาวชนและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

2. จัดให้มีการบวชชีพราหมณ์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และมีผู้เข้าร่วมการบวชชีพราหมณ์เพื่อรักษาศีลและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก

3. จัดให้มีการเทศน์อบรมธรรมในวันธรรมสวนะแก่พระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดถึงเยาวชนเพื่อให้ทราบข้อธรรมในการที่จะปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ

4. จัดให้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน โดยให้มีการดำรงและอนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานตามหลักฮีต 12 ครอง 14 เช่น ประเพณีบุญพระเวสสันดรตามหลักโบราณของอีสาน เป็นต้น

5. จัดให้มีการโน้มน้าวให้เยาวชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัด เช่น จัดให้มีคณะตีกลองยาวไปแสดงในเทศกาลบุญต่าง ๆ อันเป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีในกลุ่มเยาวชนและเสริมสร้างรายได้พิเศษให้แก่เยาวชนเหล่านั้น

6. จัดให้มีการส่งเสริมการขับร้องสรภัญญะ และการแข่งขันตีกลองกริ่ง ซึ่งเป็นประเพณีโบราณของชาวอีสานโดยจัดให้มีการประกวดการขับร้องสรภัญญะ และการแข่งขันตีกลองกริ่งในวันออกพรรษาทุก ๆ ปี มีโล่เกียรติยศพร้อมเงินสดและใบประกาศนียบัตร

7. จัดให้มีการส่งเสริมให้เลิกดื่มสุราและงดยาเสพติด โดยการสาบานตนต่อหน้าพระประธาน และดื่มน้ำพุทธมนต์

8. จัดให้มีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการทอดกฐินแบบจุลกฐิน ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในปัจจุบัน โดยงานประเพณีนี้ได้มีการจัดขบวนแห่เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับของงานจุลกฐิน

9. สำหรับงานบุญประเพณีตามเทศบาลต่าง ๆ ที่ทางวัดได้จัดขึ้น ได้เป็นศูนย์รวมใจและก่อให้เกิดความสามัคคีของประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปและชาวต่างชาติ

10. จัดให้มีการฟื้นฟูการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ โดยเฉพาะอักษรโบราณ เช่น อักษรไทยน้อย อักษรธรรมอีสาน อักษรธรรมล้านนา และอักษรขอม เป็นต้น ซึ่งท่านเป็นผู้มีความสามารถในการอ่านเขียนอักษรเหล่านั้นอย่างดี และฝึกสอนให้พระภิกษุสามเณร ตลอดถึงศาสนิกชนที่สนใจให้ได้เรียนจนชำนาญเป็นจำนวนมาก สามารถอ่าน เขียน และจดจารลงในแผ่นใบลานได้ อันเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง

11. จัดให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยยึดหลักตามศาสนาธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ให้นับถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ให้ละเว้นประเพณีถือภูตผีบูชายัญนอกศาสนา สอนให้เข้าใจหลักแห่งพุทธศาสนาที่แท้จริง ชักชวนเข้ามาเป็นพุทธมามกะเป็นจำนวนมาก

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นของดีรักษาตัวเราทุกคน
“พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ”

หมั่นทำบุญรักษาศีล เพื่อหนทางไปสวรรค์

พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตโต) วัดโนนสว่าง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี.

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ


เฟซบุ๊ค เพจ ศิษย์วัดโนนสว่าง
https://www.facebook.com/643794349035925

เฟซบุ๊ค กลุ่ม ศิษย์วัดโนนสว่าง
https://www.facebook.com/groups/542771909168564/

เว็บไซต์วัดโนนสว่าง
http://www.watnon.com
http://luangporcharoen.blogspot.com


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร