วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:20  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2014, 13:43 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ต.ค. 2014, 14:21
โพสต์: 7

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เพียร วิริโย”
วัดป่าหนองกอง ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
พระอริยเจ้าผู้มีความเพียรเป็นเลิศ


วิริยเถราภิวาท
โย พุทฺธสาวโก สฺงโฆ
วิริโยติ สุวิสุทฺโธ
เถโร สุปฏิปนฺโน จ
สุจิณฺโณ ธมฺมธารโก
เมตฺตาทิคุณสํ ยุตฺโต
สิสฺสานญฺจ หิตกฺกโร
อเนกคุณสมฺปนฺนํ
สิรสา ตํ นมามิหํ


พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้ารูปใด ผู้มีนามว่า “วิริโย (เพียร)” ผู้ (บริสุทธิ์) หมดจดวิเศษดีแล้ว เป็นพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรม เป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมทั้งหลายมีเมตตาเป็นต้น และเป็นผู้ทำประโยชน์เกื้อกูลแก่มวลศิษย์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการซึ่งพระเถระผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอันเอนกรูปนั้นด้วยเศียรเกล้า

หลวงปู่เพียร วิริโย
วัดป่าหนองกอง อำเภอบ้านผือ



หลวงปู่เพียร วิริโย เป็นพระฝ่ายปฏิบัติอรัญวาสีและอันเตวาสิกก้นกุฏิในองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นพระเถระผู้มีปกติในการปรารภความเพียรอยู่เสมอ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ หนักแน่นในธุดงควัตรเสมอต้นเสมอปลาย

หลวงปู่เพียร วิริโย ท่านถือกำเนิดในครอบครัวชาวนา สกุล “จันใด” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ณ หมู่บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอลุมพุก (ภายหลังคือ อำเภอคำเขื่อนแก้ว) จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันหมู่บ้านศรีฐานได้ขี้นกับตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร)

เป็นบุตรของคุณพ่อพา จันใด และคุณแม่วัน จันใด (สกุลเดิม ไชยเสนา) มีพี่น้องร่วมมารดา ๒ คน หนึ่งคือพี่สาว และอีกหนึ่งคือตัวท่านเอง และยังมีพี่น้องต่างมารดาอีก ๓ คน ปัจจุบันพี่น้องทั้งหมดได้เสียชีวิตแล้ว

อนึ่ง โยมแม่ของหลวงปู่ยังเป็นพี่สาวของโยมพ่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ท่านทั้งสองจึงเป็นญาติกัน คือเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน

สำหรับท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าแก้วชุมพล องค์ปัจจุบันนั้น ก็เป็นญาติกับท่านด้วย กล่าวคือ ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้านั้นเป็นญาติกับพระอาจารย์สิงห์ทอง ทั้งฝ่ายพ่อและแม่ และเป็นญาติกับหลวงปู่เพียรทางฝ่ายแม่

ประวัติบ้านศรีฐาน

ก่อนจะกล่าวถึงประวัติขององค์หลวงปู่ต่อไป ขอนำประวัติบ้านศรีฐานอันเป็นสถานที่ที่ท่านถือกำเนิดมาแสดงไว้โดยสังเขป

ครั้งเมื่อเวียงจันทน์ได้เกิดสงครามภายในขึ้น มีการสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน สงครามได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวางและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้รักความสงบโดยรอบ ประชาชนผู้ประสบภัยสงครามจึงได้พากันอพยพข้ามฝั่งมาเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าประชาชนกลุ่มนี้ อาจเป็นกลุ่มที่นำโดยเจ้าพระวอ เจ้าพระตา โดยได้ทำการต่อสู้กับกองทัพทหารบ้าง ถอยบ้าง จนมาถึงบริเวณหนองพลับและได้เห็นพ้องกันว่าเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย อีกทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้สร้างหลักฐานจนกลายเป็นชุมชนขึ้นมา พร้อมกันนี้ก็ได้สร้างวัดดงศิลาเลขขึ้นมา (ปัจจุบันได้ร้างไปแล้ว) เพื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชน ในขณะนั้นมีชาวบ้านที่อพยพมาในครั้งนั้น ชื่อ “ขุนศรี” ซึ่งมีฝืมือในการล่าสัตว์ โดยจะออกล่าสัตว์ตามสถานที่ต่างๆ เช่น หนองแสง หนองสะพัง หนองนา โดยเฉพาะที่หนองนานั้น มีสัตว์อยู่ชุกชุมเพราะเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มากกว่าที่อื่น ขุนศรีจึงได้สร้างที่พักใกล้บริเวณหนองนาเพื่อสะดวกในการล่าสัตว์ ต่อมาก็มีผู้คนได้อพยพตามขุนศรีมาเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นหมู่บ้านใหม่ขึ้นมาชื่อ “บ้านศรีฐาน” โดยมีคำว่า “ศรี” มาจากชื่อของขุนศรี และคำว่า “ฐาน” มาจากถิ่นฐานที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงกลายเป็นหมู่บ้านศรีฐานในปัจจุบัน

ปฐมวัย ชีวิตฆราวาส

ในวัยเด็ก ท่านได้รับการศึกษาจากโรงเรียนประชาบาล แต่ก็ศึกษาไม่จบหลักสูตร คือท่านเรียนเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที ๒ เท่านั้น ซึ่งตามชนบทสมัยนั้นมีการเปิดการเรียนการสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เป็นชั้นสูงสุด เหตุเพราะท่านต้องช่วยครอบครัวทำงาน จึงไม่ค่อยได้ไปเรียน เลยทำให้ท่านอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ท่านเล่าว่านานๆ ครั้ง ท่านจึงได้ไปเรียนสักครั้งหนึ่ง ในบางครั้งก็หยุดเรียนเป็นเดือนจึงค่อยกลับมาเรียนใหม่อีกครั้งก็มี เลยเป็นเหตุให้ท่านเรียนไม่มันเพื่อนร่วมชั้น สุดท้ายก็เลยไม่ไปเรียนหนังสือเสียเลย เมื่อไม่ได้เรียนแล้วท่านก็ช่วยครอบครัวทำงานโดยการทำนาและรับจ้างทั่วไป เป็นต้น ต่อมาครอบครัวของท่านได้อพยพมายังหมู่บ้านท่าลาด อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

มีนิสัยใจร้อน

เป็นที่ทราบกันดีว่าหลวงปู่มีนิสัยใจร้อน ซึ่งเป็นนิสัยที่มีมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กแล้ว เหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าท่านมีนิสัยใจร้อนคือ ครั้งหนึ่งพี่สาวของท่านได้วานให้ท่านช่วยเป็นธุระให้ ซึ่งขณะนั้นท่านพักอยู่ที่บ้านลาด และหมู่บ้านที่จะไปทำธุระนั้นอยู่ที่บ้านศรีฐาน เมื่อท่านรับคำของพี่สาวแล้วก็ออกเดินทางทันที โดยได้หยิบห่ออาหารติดมือมาด้วยเพราะได้เวลาพอดี ท่านก็ทั้งเคี้ยวอาหาร ทั้งเดินทั้งวิ่ง เพราะกลัวจะเสียเวลาในการหยุดพักท่านอาหาร และปรากฎว่าท่านได้ใช้เวลาในการเดินทางด้วยเวลาอันสั้นมาก เมือธุระเสร็จแล้วท่านก็เดินทางกลับโดยทันทีเช่นกัน

พออายุได้ ๑๖ ปี ท่านก็สามารถเป็นหลักให้กับครอบครัว โดยได้รับภาระทำนาทั้งผืนแต่เพียงลำพังคนเดียว ได้ข้าวหลายถังหลายเกวียนจนสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ด้วยดี ในบางโอกาสบางปีท่านก็ออกไปรับจ้างในที่ต่างถิ่นบ้าง เช่น รับจ้างที่โรงสีข้าวในเขตจังหวัดอุบลราชธานี

บุพพนิมิตปรากฏในวัยเด็ก

ครั้งหนึ่งท่านเล่าให้พระฟังว่า ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กนั้น ท่านมักจะฝันว่าตัวเองนั้นได้ออกบวชเป็นพระอยู่เนืองๆ และเมื่อตื่นขึ้นมาท่านก็จะดีใจและมีความสุขใจเป็นอย่างมาก เมื่อระลึกถึงความฝันของตน ท่านยังพูดอีกว่า คราใดที่เห็นผ้าจีวรของพระภิกษุสามเณร ท่านก็จะมีความยินดีและเป็นสุขใจเช่นกัน (บันทึก ๑๕-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕) และ “อยากสิบวชตั้งแต่อายุ ๕ ขวบพุ่นเพราะบ่อยากเฮ็ดนา” (บันทึก ๑๙ มกราคม ๒๕๕๒)

เรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า หลวงปู่คงได้สร้างสมอุปนิสัยเรื่องเนกขัมบารมีในพระพุทธศาสนามาแล้วหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้ท่านได้เลื่อมใสในพระศาสนามาตั้งแต่เด็ก สำหรับโยมพ่อโยมแม่ของท่านนั้น ท่านว่าคงจะมีนิสัยในทางทำทานมากกว่าทางอื่น

อุปสมบท

“เมื่อพ่อเสียชีวิตแล้ว ให้ลูกบวชให้พ่อด้วยเน้อ” เป็นคำพูดที่โยมพ่อได้สั่งท่านเอาไว้ในขณะที่โยมพ่อนอนป่วยใกล้ที่จะเสียชีวิต ซึ่งท่านก็ได้รับปากด้วยความเต็มใจ เพราะมีความประสงค์ที่จะออกบวชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พออายุย่างเข้า ๒๒ ปี โยมแม่ก็ได้นำท่านไปมอบถวายต่อท่านพระอาจารย์บุญช่วย ธมฺมวโร เพื่อจะได้เข้าถือนาคเป็นผ้าขาวที่วัดป่าศรีฐานใน พร้อมยังจะได้รับการฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติเบื้องต้นเสียก่อน (บันทึก ๑๕-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕)

ด้วยเหตุที่ว่าตัวท่านอ่านเขียนหนังสือไม่ได้เลยนั้น จึงทำให้การท่องคำขานนาคเป็นไปด้วยความยากลำบาก ท่านจึงต้องท่องเป็นต่อคำไปเรื่อยๆ จนจบบท และต้องท่องให้คล่องปากและถูกต้อง ด้วยอักขระและพยัญชนะเป็นภาษาบาลี จึงต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก ในการท่องขานนาคครั้งนั้น ปรากฏว่าท่านได้ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ ๓ เดือนจึงสามารถท่องจำได้ทั้งหมด

พอท่านพระอาจารย์บุญช่วยเห็นว่าหลวงปู่ได้ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติเบื้องต้นได้พอสมควรแล้ว จึงอนุญาตให้ท่านเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ ท่านจึงได้เข้าอุปสมบท ณ วัดป่าศรีฐานใน เมื่อวันที ๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๐ โดยมี พระครูพิศาลศีลคุณ (โฮม วิสารโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาแสง อนาวิโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาเป็นมคธภาษาว่า “วิริโย” แปลว่า “ผู้มีความพากเพียร”

พระครูพิศาลศีลคุณ (โฮม วิสารโท) รูปนี้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ผู้ให้การอุปสมบทกับหลวงปู่บุญมี ปริปุณฺโณ วัดป่านาคูณ เป็นนาคแรกด้วย ซึ่งหลวงปู่บุญมีท่านได้ออกบวชตั้งแต่หลังวันปวารณาออกพรรษาปี พ.ศ.๒๔๘๙ แต่นับพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๐ หลวงปู่เพียรกับหลวงปู่บุญมีจึงมีอายุพรรษาเท่ากัน

เมื่อท่านอุปสมบทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ได้เข้าสังกัดสำนัก “วัดป่าศรีฐาน” ตามสำเนาหนังสือสุทธิของท่าน ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นวัดกรรมฐานมาตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งมีประวัติความเป็นมาโดยสสังเขปดังนี้

ประวัติวัดป่าศรีฐานใน

วัดที่ชาวบ้านได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวบ้านนั้น เดิมมีชื่อว่า “วัดศรีษะเกษ” ซึ่งด้านทิศเหนือของวัดเป็นป่าไม้แดงขึ้นหนาแน่น เป็นที่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เช่น ฝูงลิว กระรอก กระแต เป็นต้น ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “ดอนปู่ตา”

ราวปี พ.ศ.๒๔๖๙ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พร้อมด้วยคณะพระกรรมฐานได้ออกเที่ยวจาริกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมและเผยแผ่พระศาสนา กระทั่งได้มาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ท่านทั้งสองเกิดความพอใจบริเวณดอนปู่ตา เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมต่อการภาวนา พร้อมทั้งยังได้เทศนาสั่งสอนชาวบ้านให้เลิกนับถือผีแล้วหันมาพึ่งคุณของพระรัตนตรัยแทน และให้เข้าใจวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐาน ภายหลังประชาชนจึงเกิดความเลื่อมใสขึ้น ทั้งยังได้พร้อมใจกันถวายดอนปู่ตาให้สร้างเป็นวัดขึ้นมา และได้เรียกกันว่า “วัดป่า”

ในขณะนั้นวัดศรีษะเกษซึ่งเป็นวัดเดิม ไม่มีพระจำพรรษาอยู่ ชาวบ้านจึงเห็นควรว่าให้รวมวัดเดิมกับวัดป่าให้เป็นวัดเดียวกัน เพราะมีเขตติดต่อกันเพื่อสะดวกต่อครูบาอาจารย์ ซึ่งวัดที่เกิดใหม่นี้ ชาวบ้านได้เรียกกันว่า “วัดป่าศรีฐานใน” จนมาถึงปัจจุบันนี้ (ข้อมูลจากหนังสือประวัติวัดป่าศรีฐานใน)

นับตั้งแต่คณะพระกรรมฐานซึ่งนำโดยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้ให้การอบรมธรรมะแก่ชาวบ้านในครั้งนั้นเป็นต้นมา จากนั้นได้มีลูกหลานชาวบ้านศรีฐานออกบวชประพฤติปฏิบัติภาวนาสืบๆ กันมาเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ชาวศรีฐานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก็มี เช่น

ท่านพระอาจารย์สมุห์บุญสิงห์ สีหนาโท (เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม
และเป็นพระอาจารย์รูปแรกของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร)
ท่านพระอาจารย์บุญช่วย ธมฺมวโร วัดป่าศรีฐานใน จังหวัดยโสธร
ท่านพระอาจารย์สอ สุมงฺคโล (มรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองผือ อยู่กับหลวงปู่มั่น)
ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จังหวัดสกลนคร
หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง จังหวัดอุดรธานี
หลวงตาพวง สุขินฺทริโย (พระเทพสังวรญาณ) วัดศรีธรรมาราม จังหวัดยโสธร
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู
หลวงปู่บุญมา สุชีโว วัดป่าสุขเกษม อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
หลวงปู่สรวง สิริปุญฺโญ วัดป่าศรีฐานใน จังหวัดยโสธร
ท่านพระอาจารย์น้อย ปญฺญาวุโธ วัดป่านานาชาติ สหรัฐอเมริกา
ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม วัดป่าแก้วชุมพล จังหวัดสกลนคร
หลวงปู่ทองสี กตปุญฺโญ วัดป่าสุทธิมงคล จังหวัดยโสธร ฯลฯ


พรรษาที่ ๑-๒ (พ.ศ.๒๔๙๐-๒๔๙๑)
วัดนิคมวนาราม อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร


ศึกษาพระปริยัติธรรม

หลังจากได้รับการอุปสมบทแล้ว ท่านได้เข้าจำพรรษาที่สำนักแห่งนี้ ขณะนั้นมีท่านพระอาจารย์เพ็งเป็นเจ้าสำนัก เพื่อศึกษาด้านพระปริยัติธรรม โดยมีพระมหาแสง อนาวิโล พระกรรมวาจาจารย์ของท่านเป็นอาจารย์สอน ท่านเคยเล่าให้พระฟังถือเรื่องอันตรายของท่านอันเนื่องมาจากการไม่รู้พระวินัย อีกทั้งสมัยที่บวชใหม่ๆ ยังอยู่สถานที่ห่างไกลครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติ จึงไม่มีผู้ที่จะคอยให้คำแนะนำ

“บวชใหม่ๆ เรียนปริยัติเรียนก็บ่ทันเขา เพราะบ่รู้หนังสือ”

“นิสัยก็บ่ได้ขอ จักสิได้ประพฤติปฏิบัติจั่งใด๋ บ่มีผู้พาเฮ็ดพาทำ พระวินัยก็บ่อมีคนแนะนำ สมมติว่าถ้าเกิดได้ล่วงอาบัติหนักข้อใดก็คงจะตายเฉยๆ (ขาดจากความเป็นพระ) เพราะบ่รู้ แต่โชคดีอยู่ที่ผ่านมาได้เพราะบ่ได้ล่วงเกินข้อใด” และ “บางครั้งก็ไปขุดมันป่าเอามาเผากินกัน เพราะบ่รู้พระวินัย” (บันทึก ๑๔ กันยายน ๒๕๔๖)

คู่กัลยาณมิตร

หลังจากพรรษาที่ ๒ ผ่านไป ท่านก็ได้พบกัลยาณมิตรองค์สำคัญที่เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายอาศัยช่วยเหลือกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือ หลวงปู่บุญมี ปริปุณฺโณ วัดป่านาคูณ นั่นเอง นอกจากเป็นสหธรรมิกในองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์รูปเดียวกันแล้ว หลวงปู่ทั้งสองยังเป็นสัทธิวิหาริกในพระอุปัชฌาย์รูปเดียวกัน และยังเป็นสหชาติกันอีกด้วย กล่าวคือท่านทั้งสองได้ถือกำเนิดในปีเดียวกัน และในจังหวัดเดียวกันอีกต่างหาก หลวงปู่บุญมีได้เมตตาเล่าให้ฟัง “อาจารย์เพียรเกิดก่อนผม ๕๖ มื้อ (วัน)” กล่าวคือ หลวงปู่บุญมีท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๙ ซึ่งในเรื่องนี้หลวงปู่เพียรได้เคยเล่าให้พระฟังตอนหนึ่งความว่า “(ตัวท่าน) กับท่านอาจารย์บุญมีนั้นได้เป็นหมู่กันเป็นเพื่อนกัน ได้สร้างบารมีมาด้วยกันหลายภพหลายชาติแล้ว” (บันทึก ๑๙ มกราคม ๒๕๕๒)

ในสมัยนั้นหลวงปู่บุญมีซึ่งเป็นพระนวกะเหมือนกันได้เดินทางมาสอบนักธรรมชั้นเอกที่สำนักเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอป่าติ้ว ตอนนั้นหลวงปู่บุญมีเป็นทั้งนักเรียนและเป็นครูสอนในขณะเดียวกัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าครูสอนนักธรรมในสมัยนั้นมีจำนวนน้อย ถ้ารูปใดได้นักธรรมชั้นโทแล้วก็กลับมาช่วยสอนนักเรียนธรรมชั้นตรี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของครูบาอาจารย์ไปในตัว ปรากฏว่าในปีนั้นหลวงปู่บุญมีทำข้อสอบนักธรรมชั้นเอกไม่ผ่าน ส่วนหลวงปู่เองนั้นไม่ได้นักธรรมชั้นใด (บันทึกสัมภาษณ์หลวงปู่บุญมี เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑)

หลังจากเสร็จสิ้นการสอบนักธรรมสนามหลวงแล้ว ท่านทั้งสองต่างก็มีความประสงค์ที่จะเดินทางไกราบนมัสการฟังธรรมจากองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งขณะนั้นองค์ท่านได้พักพำนักให้การอบรมธรรมะแก่พระเณร ณ วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม แต่ตั้งใจว่าจะพากันเดินทางไปกราบพระธาตุพนมเสียก่อน แล้วจึงค่อยเดินทางไปจังหวัดสกลนครต่อ การเดินทางครั้งนั้นหลวงปู่บุญมี มีสามเณรสอนติดตามไปด้วย ส่วนตัวท่านเองมีสามเณรจันทร์ติดตามไปด้วยเช่นกัน

ออกแสวงหาครูบาอาจารย์

การเดินทางนั้นก็มุ่งตรงไปกราบพระธาตุพนมเสียก่อน โดยใช้เส้นทางผ่านบ้านกำแมด เข้าพักที่วัดกุดแห่ เขตอำเภอเลิงนกทา ซึ่งเป็นวัดของท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ท่านทั้งสองได้ปรึกษากันว่าจะหยุดพัก และขอโอกาสเปลี่ยนบริขารกันใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามธรรมวินัย จึงได้พากันตัดเย็บจีวรและบริขารอื่นๆ ตามเห็นสมควร เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก้ได้กราบลาท่านพระอาจารย์ดี เดินทางกันต่อโดยใช้เส้นทางบ้านต่อเขตบ้านม่วงไข่ ดงบังอี่ (เขตจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น) ซึ่งได้เดินทางผ่านหมู่บ้านต่างๆ มาเป็นลำดับ และเมื่อเห็นว่าที่ใดเหมาะที่จะพักภาวนาก็ได้พากันพักมาเป็นระยะๆ บางหมู่บ้านก็มีผู้คนตักน้ำถวายเพื่อาบสรงและฉัน บางหมู่บ้านก็ไม่มีเลย (บันทึก ๑๔ กันยายน ๒๕๔๖)

คู่ทุกข์คู่ยาก

พอมาถึงบ้านม่วงไข่นี้ หลวงปู่บุญมีและหลวงปู่เพียรต่างก็ได้พากันล้มป่วยด้วยโรคท้องร่วง พร้อมยังอาเจียนอย่างหนักด้วย โดยหลวงปู่เพียรได้อาพาธลงก่อน พอท่านหายพอมีกำลังขึ้นมาเล็กน้อยแล้ว หลวงปู่บุญมีก็กลับอาพาธลงอีกด้วยโรคลักษณะเดียวกัน ซึ่งต่างองค์ก็ได้ดูแลรักษาอาพาธซึ่งกันและกันตามมีตามได้เป็นอย่างดี ต่างก็ได้ผลัดเปลี่ยนกันออกรับบิณฑบาตรนำมาถวายซึ่งกันและกันตลอด จนกระทั่งอาการอาพาธหายเป็นปกติแล้วจึงค่อยเดินทางกันต่อ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้หลวงปู่บุญมีได้มีเมตตาเล่าให้ฟังว่า

“ผมกับอาจารย์เพียรได้พากันป่วยอยู่บ้านม่วงไข่ ตอนเดินทางมากราบพระธาตุพนม ตอนนั้นได้ผลัดกันดูแลกัน รักษากัน ตามมีตามได้จนหาย แล้วค่อยเดินทางกันต่อ”

“ผมกับอาจารย์เพียรนั้นว่ากันตามนิสัยแล้วไม่ตรงกัน ไม่เข้ากัน แต่ก็ไม่ถือกัน หนักเบาต่างองค์ต่างไม่ถือกันเพราะรู้จักนิสัยกันแล้ว”

“ผมกับอาจารย์เพียรนั้นพูดได้ว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกัน พึ่งเป็นพึ่งตายกัน” (บันทึกสัมภาษณ์หลวงปู่บุญมี เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๑)

ช่วงนั้นทางราชการกำลังก่อสร้างถนนเส้นทางระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดนครพนม พอดีคนขับรถบดถนนได้นิมนต์ท่านทั้งสองให้นั่งรถกับพวกเขาแล้วไปลงที่พระธาตุพนม ท่านทั้งสองต่างก็เห็นดีด้วย จึงได้อาศัยนั่งรถคันนั้นมาจนถึงพระธาตุพนม พอเข้ากราบนมัสการองค์พระธาตุพนมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้พากันมาพักที่บ้านน้ำก่ำ ที่นี่เองที่หลวงปู่บุญมีได้เจอเปรต ท่านเล่าว่า “ตอนพักอยู่ที่บ้านน้ำก่ำนั้น ได้เจอกับเปรตหัวโล้นๆ เหมือนพระ มีผิวด่างๆ ตัวสูงใหญ่”

หลังจากพักที่บ้านน้ำก่ำสมควรแล้ว ก็ได้เดินทางมาทางอำเภอนาแก เข้าพักที่บ้านแก้ง ณ สถานที่นี้ หลวงปู่บญมีท่านฟังภาษาเขาไม่รู้เรื่องเพราะเป็นหมู่บ้านชาวภูไท ออกจากนั้นก็เดินทางเข้าพักที่วัดป่าบ้านนามน (ปัจจุบันคือวัดป่านาคนิมิตต์) เขตอำเภอโคกศรีสุพรรณ ซึ๋งวัดนี้เป็นสถานนที่ที่องค์หลวงปู่มั่นเคยพำนักจำพรรษา จากนั้นก็เข้าเมืองสกลนคร ได้เข้าพักที่วัดป่าสุทธาวาส รุ่งเช้าฉันเสร็จออกเดินทางถึงบ้านม่วงไข่ เขตอำเภอพรรณานิคม ในเวลานั้นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กำลังสร้างวัดป่าบ้านม่วงไข่ขึ้นที่บริเวณป่าช้า (ปัจจุบันคือวัดป่าภูไทสามัคคี) ท่านทั้งสองรูปต่างก็ดีใจที่ได้พบกับครูบาอาจารย์ จึงได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่อ่อน ประจวบกับเป็นเวลาจวนเข้าพรรษาในปีนั้น จึงได้กราบเรียนขออนุญาตร่วมจำพรรษากับหลวงปู่อ่อน แต่หลวงปู่อ่อนได้พูดกับท่านทั้งสองว่า “ให้พากันไปจำพรรษาที่วัดหนองโดกนะ ผมเคยอยู่ที่นั่น เพราะที่นี่มีกฏิเพียงสิบหลังและตอนนี้ก็มีพระเต็มหมดแล้ว”


พรรษาที่ ๓-๔ (พ.ศ.๒๔๙๒-๒๔๙๓)
วัดป่าหนอนโดก (วัดป่าโสตถิผล)
อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร


รูปภาพ

ใต้ร่มรัศมีธรรมพ่อแม่ครูบาอาจารย์

เมื่อท่านทั้งสองได้กราบเรียนหลวงปู่อ่อน และท่านก็ได้เมตตาสั่งให้มาจำพรรษาที่วัดป่าหนองโดก ดังนั้นแล้วหลวงปู่บุญมีและหลวงปู่ก็ได้จำพรราตามคำสั่งของท่าน

เมื่อมีโอกาสอยู่ใกล้รัศมีธรรมของครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติองค์สำคัญ มีองค์หลวงปู่มั่น หลวงปู่อ่อน เป็นต้น ท่านทั้งสองต่างก็เห็นว่าเป็นโอกาสอันดีของชีวิต จงได้พากันปรารภความเพียรด้วยการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เสริมด้วยการอดนอนผ่อนอาหาร เพื่อฝึกหัดดัดตนในทางภาคปฏิบัติตลอดพรรษา

โยมแม่เสียชีวิต

ในระยะกลางพรรณาปีนั้นเอง หลวงปู่ท่านได้นิมิตเห็นถึงการเสียชีวิตของโยมแม่ ท่านเล่าว่า “ปีนั้นนิมิตเห็นโยมแม่เสีย เห็นกองฟอนใหญ่แล้วก้มีคนหาม (ศพ) โยมแม่ เวียนไปรอบๆ กองฟอน ๓ รอบ จากนั้นก็ได้พากันจุดไฟเผาศพโยมแม่บนกองฟอนนั้น” ซึ่งท่านก็ได้กำหนดรู้ตามนิมิตที่ปรากฏว่าโยมแม่ของท่านสิ้นเสียแล้ว ภายหลังท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้าน แล้วได้พูดคุยสอบถามโยมพี่สาวของท่าน ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ก็ตรงกนกับนิมิตในครั้งนั้นทุกประการ (บันทึก ๑๕-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕)

สมุห์เพียร

มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวกับนิมิตภาวนาของท่านในพรรษานี้ คือแต่เดิมหลวงปู่ท่านอ่านเขียนหนังสือไม่ได้เลย ด้วยผลการบำเพ็ญภาวนาของท่านได้มีตัวหนังสือมาปรากฏในสมาธิภาวนา ท่านจึงกำหนดเรียนหัดอ่าน เขียนหนังสือในสมาธิภาวนานั้น เหตุการณ์นี้มาปรากฏอยู่หลายวันติดต่อกัน เริ่มแรกในสมาธินิมิตนั้นท่านได้ยินแต่เสียงพูดคุยกัน และมองเห็นกระดานดำชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับมีตัวหนังสือปรากฏอยู่บนกระดานดำนั้น ท่านว่าเป็นตัวหนังสือที่ใหญ่มาก ครั้งต่อมาก็มีคนมาปรากฏในนิมิตคอยเขียนและอ่านให้ท่านดู ท่านจึงได้เขียนและอ่านตามคล้ายกับครูสอนหนังสือหน้าชั้นเรียน หลวงปู่จึงได้หัดอ่านหัดเขียนหนังสือนับแต่นั้นเป็ฯต้นมา จนกระทั้งท่านสามารถที่จะอ่าน เขียนหนังสือได้ดี นิมิตนั้นจึงได้หายไป หลังจากนั้นเมื่อมีเวลาว่างท่านจะหัดอ่านเขียนหนังสือเป็นประจำ ท่านเล่าว่า “บางทีเขียนได้เป็นเล่มๆ พอหมดเล่มแล้วก็นำเอาไปเผาไฟทิ้งเสีย” และในบางครั้งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็เคยสอนให้หลวงปู่ฝึกอ่าน เขียนหนังสือเหมือนกัน ซึ่งในภายหลังเรื่องนี้เองเป็นเหตุให้องค์หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ซึ่งเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของท่านได้เมตตาเรียกหลวงปู่สมัยที่อยู่ห้วยทรายว่า “สมุห์เพียรๆ” (บันทึก ๑๔ กันยายน ๒๕๔๖)

กราบนมัสการหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก

ขอย้อนกลับไปสมัยที่หลวงปู่บุญมีและหลวงปู่เดินทางถึงวัดป่าหนองโดกได้ ๔ วันพอดี ท่านพระอาจารย์ปัญญาได้เดินทางมาแวะพักที่วัดป่าหนองโดก เพื่อจะเดินทางเข้าไปกราบนมัสการองค์หลวงปู่มั่น ณ สำนักวัดป่าบ้านหนองผือ หลวงปู่เพียรเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ท่านจะได้เข้ากราบนมัสการองค์พระบูรพาจารย์ใหญ่องค์สำคัญแห่งยุค จึงได้ขอร่วมเดินทางไปพร้อมกับคณะของพระอาจารย์ปัญญาด้วย การเดินทางครั้งนั้นต้องพักค้างคืนกลางทางคืนหนึ่ง เช้าพอฉันเสร็จก็เดินทางกันต่อ ถึงวัดป่าบ้านหนองผือ แล้วรอโอกาสเพื่อขึ้นกราบองค์ท่าน ได้โอกาสแล้วก้พากันขึ้นไปกราบองค์หลวงปู่มั่นบนกุฎิที่พักขององค์ท่าน องค์ท่านเมตตาถามว่า “ท่านองค์ใดที่มาจากบ้านท่านสิงห์ทอง” หลวงปู่ยกมือพนมขึ้นพร้อมกราบเรียนองค์ท่านว่า “เกล้ากระผม” หลังจากนั้นองค์หลวงปู่มั่นจึงได้ปรารภธรรมะขึ้นแสดงเพื่อเป็นการต้อนรับ หลวงปู่เล่าว่า “ฟังธรรมะขององค์หลวงปู่ใหญ่มั่น ครั้งแรกบ่รู้เรื่องเลย เหมือนควายตัวหนึ่งบ่รู้จักหยัง เพราะบ่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน” ในครั้งนี้ท่านได้ร่วมลงอุโบสถที่วัดป่าบ้านหนองผือด้วย

และอีกครั้งที่หลวงปู่ได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการฟังธรรมจากองค์หลวงปู่มั่นนั้น ท่านได้เดินทางเข้าไปพร้อมกับหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล แห่งวัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี นับเป็นครั้งที่สองของท่านและเป็นครั้งแรกของหลวงปู่บุญจันทร์ ในครั้งนั้นเองได้ทำให้หลวงปู่เริ่มรู้จักองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ของท่าน คือองค์หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ซึ่งขณะนั้นองค์ท่านได้ศึกษาอยู่กับองค์หลวงปู่มั่นที่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือนั่นเอง

โอวาทธรรมของหลวงปู่มั่น

ผู้ถือว่าไม่มีบาป ไม่มีบุญก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตายก็นับวันมากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใดๆ ก็นับวันประชันขันแข่งกันมากขึ้น พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนาจะไม่วิเวกวังเวง ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ดังไฟที่กำลังไหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาในวัฏสงสาร ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คือ อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆ และแยบคายด้วย จะเป็นสัมมาวิมุตติและสัมมาญาณอันถ่องแท้ไม่ต้องสงสัยดอก พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ทรงอยู่ในปัจจุบันจิตในปัจจุบันธรรม ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติหน้าปัญญาอยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวกันแหละ

(ปัจฉิมโอวาทของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต บันทึกโดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต)

พบเปรตที่บ้านกุดเรือคำ

ถึงฤดูแล้งช่วงนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจำพรรษาที่วัดป่าโคกมะนาว โดยมีหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นประธาน ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้พาหลวงปู่ออกเที่ยววิเวกตามสถานที่ต่างๆ จนถึงบ้านกุดเรือคำ เขตอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่นี่เองท่านพระอาจารย์สิงห์ทองและท่านได้พบเปรต ดังปรากฏในชีวประวัติของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง เรียบเรียบโดยท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ดังนี้

“ท่านได้ออกวิเวกในช่วงหน้าแล้ง เมื่อไปถึงวัดกุดเรือคำเป็นเวลาจวนมีด เมื่อเข้าไปในวัด พระเณรก็ให้การต้อนรับโดยจัดสถานที่ให้เข้าพักในศาลาปริยัติธรรม ท่านเล่าว่ากุฏิมีอยู่หลายหลัง แต่สังเกตุดูแล้วพระเณรอยู่รวมกันกุฏิละหลายองค์ ทั้งๆ ที่มีกุฏิว่าง เมื่อท่านสรงน้ำเสร็จก็ให้ท่านพระอาจารย์เพียรอยู่เฝ้าบริขาร ส่วนทางครองผ้าไปกราบท่านเจ้าอาวาสชื่อ พระอุปัชฌาย์เถื่อน (อุชุกโร) แล้วก็พูดคุยกันถึงเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม ท่านจึงกลับมาพักที่ศาลาปริยัติธรรม แล้วก็ทำวัตรไหว้พระสวดมนต์ ยังไม่ถึงไหน ท่านก็ได้ยินเสียงข้างนอกดังก๊อกๆ แก๊กๆ นึกว่าหมาจะมาคาบรองเท้าหนีเพราะเป็นรองเท้าหนัง ท่านจึงหยุดออกไปเก็บรองเท้าเข้ามาไว้ข้างใน แล้วไหว้พระต่อ เสียงนั้นก็ยังดังอยู่ ดังเข้ามาใกล้ๆ ห้องนี้ เมื่อไหว้พระเสร็จ ท่านก็ส่องไฟฉายไปดูรอบๆ เห็นท่านพระอาจารย์เพียรนั่งภาวนาอยู่ จึงถามไปว่า “เสียงอะไร” ท่านพระอาจารย์เพียรตอบ่า “มันดังอยู่นานแล้ว” บางทีก็เข้าใจว่าตู้ประไตรปิฎกล้ม ครั้งเมื่อดับไฟฉายเสียงก็จะดังขึ้น แต่ถ้าส่องไฟไปเสียงก็จะเงียบ ก็เลยพากันแอบดู พอมีเสียงดังขึ้นต่างองค์ต่างก็ส่องไฟฉายไปดู ก้ไม่เห็นพบอะไร เมื่ออยู่ชั้นล่างเสียงก็จะไปดังอยู่ชั้นบน เพราะเป็นศาลา ๒ ชั้น เมื่อตามขึ้นไปดูชั้นบนก็จะมาดังอยู่ที่ชั้นล่างอีก จนท่านทั้งสององค์แน่ใจว่านี่คงจะเป็นเปรตแน่นอน แล้วท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็เลยพูดว่า “ถ้าเป็นเปรตจริงๆ ก็อย่ามารบกวน เพราะเดินทางมาเหนื่อย จะเป็นบาปเป็นกรรมหนักยิ่งกว่าเก่านะ ให้ได้พักบ้าง” จากนั้นเสียงก็ได้เงียบไปตลอดคืน ไม่มีเสียงรบกวนอีก

คนที่เป็นเปรตนั้นเคยเป็นทายกเก็บปัจจัย (เงิน) ของวัดแล้วนำไปซื้อเลขซื้อหวย ยังไม่ทันได้ใช้คืน และไม่ได้สั่งบอกให้ลูกเมียรู้เอาไว้ เมื่อตายไปแล้วจึงได้ไปเป็นเปรต ชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นใครกันแน่ แต่ว่าสงสัย พอคนคนนี้ตายไปจึงมีเปรต ลูกเมียก็ได้ทำบุญอุทิศให้แต่ยังไม่หาย ครั้นต่อมามีคนเห็นทายกคนนั้นนั่งห้อยเท้าไกวขาอยู่ทีแห่งใดแห่งหนึ่งในวัด จึงได้แน่ใจว่าเป็นคนคนนี้แน่ๆ แล้วลูกเมียก็ตกใจพยายามค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวกับเงินของสงฆ์ที่แกเก็บรักษาเอาไว้ แล้วได้นำมาแทนมามอบคืนสงฆ์ เปรตนั้นจึงได้หายไป


พรรษาที่ ๕-๖ (พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๕)
วัดป่าศรีดอนเงิน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี


อยู่ด้วยหลวงปู่อ่อน

หลังจากออกพรรษาที่ ๔ แล้ว หลวงปู่อ่อนได้ปรารภว่า จะกลับไปทำบุญอุทิศให้พี่สาวของท่านที่บ้านดอนเงิน เขตอำเภอกุมภวาปี หลวงปู่บุญมีได้พูดกับหลวงปู่ว่า “อยากจะร่วมจำพรรษากับหลวงปุ่อ่อนเพื่อรับการศึกษาอบรมภาวนากับท่านสักพรรษา” ต่างก็เห็นดีด้วย จึงได้พากันออกเดินทางจากวัดป่าหนอกโดกมายังบ้านดอนเงินก่อน หลวงปู่อ่อนพร้อมด้วยสามเณรบุญหนา (ภายหลังคือหลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินฺโน วัดป่าโสตถิผล อำเภอพรรณานิคม) โดยได้พากันเดินมาทางบ้านปลาโหล เขตอำเภอวาริชภูมิ บ้านหนองหลัก เขตอำเภอหนองหาน (ปัจจุบันเป็นอำเภอไชยวาน) พักที่บ้านหนองหลักนี้เป็นเวลานาน บ้านเหล่าใหญ่ เขตอำเภอกุมภวาปี ทะลุถึงบ้านดอนเงิน ทั้งนี้ได้พากันพักค้างแรมตารมหมู่บ้านนั้นๆ ถึงบ้านดอนเงินแล้วได้พากันพักรอหลวงปู่อ่อน จากนั้นไม่กี่วันหลวงปู่อ่อนก็ได้ตามมาและได้พาญาติทำบุญอุทิศให้โยมพี่สาวของท่าน

ครั้งนั้นญาติโยมได้กราบเรียนขอโอกาสต่อหลวงปู่อ่อนว่า ขอให้หลวงปู่ได้พักจำพรรษาที่บ้านเกิดเพื่ออยู่สงเคราะห์ญาติสักครั้ง หลวงปู่อ่อนก็เลยพูดว่า “ถ้าญาติโยมจัดทำเสนาสนะให้ก็จะอยู่ให้” พอได้ยินดังนั้นญาติโยมต่างก็ดีใจ จึงได้พากันจัดทำเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้จำพรรษาอย่างรวดเร็ว ภายในวันเดียวได้กุฏิ ๖ หลัง พร้อมศาลาอีก ๑ หลัง กุฏิสำหรับหลวงปู่อ่อนนั้นทำด้วยไม้อย่างดี ส่วนที่เหลือปูด้วยฟากไม้ไผ่ มุงด้วยใบตาล ตกลงในปีนั้น ท่านทั้งสองได้ร่วมจำพรรษาอบรมภาวนากับหลวงปู่อ่อน สมดังปรารถนาที่ตั้งเอาไว้ ออกพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๔ หลวงปู่บุญมีท่านได้ขอโอกาสออกเที่ยววิเวก และได้เข้าถวายตัวรับการศึกาอบรมจากองค์หลวงตามหาบัว ซึ่งขณะนั้นองค์ท่านได้พักอยู่ที่บ้านห้วยทราย และได้จำพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๕ ที่บ้านห้วยทรายนั้นเอง (ปี พ.ศ.๒๔๙๖ หลวงปู่บุญมีได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองแสง จังหวัดยโสธร) ส่วนตัวหลวงปู่เพียรเองปี พ.ศ.๒๔๙๕ นั้นท่านได้จำพรรษากับหลวงปู่อ่อนต่ออีกหนึ่งพรรษา พอตกถึงฤดูแล้งหลวงปู่อ่อนได้พาหลวงปู่เพียรและสามเณรบุญหนาไปเที่ยวภาวนาตามท้องถ้ำแถบบ้านท่าลี่ สีออ ในเขตอำเภอเดียวกันนั้น ท่านว่าบางครั้งก็เคยได้ติดตามหลวงปู่อ่อนข้ามไปพักประกอบความเพียรยังฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงด้วย ท่านเคยเล่าสู่พระเณรฟังว่า ที่บริเวณหนองหาน เขตอำเภอกุมภวาปี สมัยนั้นมีจระเข้มาก ในเวลาเย็นๆ หลวงปู่อ่อนท่านมักจะพาพระเณรไปภาวนาตามเกาะตามดอนต่างๆ รอบๆ บริเวณหนองหาน แล้วให้แยกย้ายกันประกอบความเพียรอยู่เป็นประจำ ท่านเล่าว่าในสมัยนั้นท่านยังเย็บผ้าไม่เก่ง หลวงปู่อ่อนขึ้นชื่อในเรื่องเป็นผู้เย็บผ้าได้รวดเร็วและมีฝีมือละเอียดประณีตมาก

ครั้งหนึ่งมีดของหลวงปู่หายหาไม่เจอ ท่านพยายามหาอยู่หลายวันก็ยังไม่เจอและไม่ได้บอกต่อใครๆ เลย ต่อมาวันหลัง หลวงปู่อ่อนได้พูดกับท่านว่า “มีดไม่ได้หายไปไหนหรอก...นั่นน่ะ วางอยู่ตรงนั้น” ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้กับหลวงปู่เป็นอย่างมาก

สมัยที่หลวงปู่ได้พักอบรมศึกษาอยู่กับหลวงปู่อ่อนที่วัดป่าศรีดอนเงินนั้น ท่านว่าจิตของท่านได้รวมลงสู่ฐานของสมาธิเป็นครั้งแรก

ออกพรรษาปีนั้นหลวงปู่ต้องการจะกลับไปเยี่ยมบ้านเพื่อทำบุญอุทิศให้กับโยมแม่ของท่าน พอดีท่านได้รับจดหมายจากท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ซึ่งขณะนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ทองศึกษาอบรมอยู่ที่บ้านห้วยทราย ใจความของจดหมายว่า “ให้หลวงปู่เข้าถวายตัวเป็นศิษย์ต่อองค์หลวงตามหาบัว”

หลวงปู่จึงได้กราบลาหลวงปู่อ่อน และได้เดินทางไปยังหมู่บ้านท่าลาดเพื่อทำบุญอุทิศให้โยมแม่ของท่าน และท่านยังได้สอบถามโยมพี่สาวของท่านเกี่ยวกับเรื่องที่โยมแม่ท่านเสียชีวิต พร้อมกับเหตุการณ์ในวันประกอบพิธีศพ ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ที่โยมพี่สาวเล่าให้ท่านฟังก็ตรงกับนิมิตที่มาปรากฏในสมาธิภาวนาของท่านเมื่อครั้งพักจำพรรษาที่ ๓ ที่วัดป่าหนองโดก (วัดป่าโสตถิผล) จ.สกลนคร นั่นเอง

คำของคุณแม่ชีแก้ว

เมื่อเสร็จจากการทำบุญอุทิศให้กับโยมแม่แล้ว ท่านจึงได้เดินทางมายังสำนักวัดห้วยทราย เขตอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร (สมัยนั้นขึ้นกับจังหวัดนครพนม) วันนั้นท่านได้เดินแวะเข้าไปที่สำนักชี ซึ่งมีคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เป็นเจ้าสำนัก ในเช้าของวันนั้นก่อนที่หลวงปู่จะไปถึง คุณแม่ชีแก้วได้พูดกับบรรดาแม่ชีในสำนักว่า “...วันนี้ลูกชายของเราจะมา...” พอตกถึงบ่ายวันนั้น หลวงปู่ก็ได้เดินทางเข้าไปสำนักชีแต่เพียงรูปเดียว ในเรื่องนี้หลวงปู่ได้เล่าให้พระฟังถึงเรื่องที่คุณแม่ชีแก้วได้บอกกับหลวงปู่เพียรสมัยที่ศึกษาอบรมอยู่ที่บ้านห้วยทรายว่า “ท่าน (หลวงปู่เพียร) เคยเกิดเป็นลูกชายในอดีตชาติของคุณแม่ชีแก้ว โดยมีองค์หลวงตาเป็นพ่อ และมีท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นพี่ชายในชาตินั้น” (บันทึก ๑๙ มกราคม ๒๕๕๒)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2014, 14:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ต.ค. 2014, 14:21
โพสต์: 7

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พรรษาที่ ๗-๘ (พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๗)
วัดป่าบ้านห้วยทราย (วัดป่าวิเวกวัฒนาราม)
อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร


ยุคห้วยทราย

สมัยอยู่กับองค์หลวงตามหาบัวซึ่งเป็นองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ของท่านนั้น ในยุคแรกของห้วยทรายท่านเล่าว่าปฏิปทาที่องค์หลวงตาพาดำเนินนั้น เป็นปฏิปทาที่เหมือนกับยุคหนองผือที่องค์หลวงปู่มั่นพาคณะดำเนินมาก องค์หลวงตาท่านจะทำอะไรด้วยองค์ท่านเองตลอด เช่น ในช่วงเย็น พระที่มีหน้าที่ปฏิบัติจะนำกาน้ำร้อนไปวางไว้หน้าห้องสรง องค์ท่านจะสรงน้ำเอง กุฏิขององค์หลวงตานั้นเป็นกุฏิเล็กๆ มุงด้วยแฝกเตี้ยๆ เวลาไปรับกระโถนตอนเช้า องค์ท่านจะส่งออกมาทางหน้าต่างซึ่งเป็นฝาขัดแตะ

ในพรรษาปี ๒๔๙๖ นี้ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ได้กลับขึ้นมาจากภาคใต้และได้มาร่วมจำพรรษาด้วย ซึ่งในปีนั้นมีพระทั้งหมด ๑๑ รูป สามเณร ๔ รูป ดังนี้ มีองค์หลวงตาเป็นหัวหน้า ท่านพระอาจารย์สม โกกนุทฺโท (วัดเวียงสวรรค์ จังหวัดลำปาง) ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร (วัดป่าแก้วชุมพล จังหวัดสกลนคร) หลวงพ่อนิล ญาณวีโร (วัดป่าประดู่ จังหวัดปราจีนบุรี ท่านเป็นพ่อของสามเณรบุญยัง) หลวงปู่เพียร วิริโย (วัดป่าหนองกอง จังหวัดอุดรธานี) ท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม (วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี จังหวัดสกลนคร) หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต (วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู) ท่านพระอาจารย์สีหา (ภายหลังได้ลาสิกขาบท) หลวงปู่ลี กุสลธโร (วัดภูผาแดง จังหวัดอุดรธานี) ท่านพระอาจารย์สวาท (ภายหลังได้ลาสิกขาบท) สามเณรน้อย (ภายหลังคือท่านพระอาจารย์น้อย ปญฺญาวุโธ วัดป่านานาชาติ สหรัฐอเมริกา) สามเณรน้อย สามเณรโส สามเณรบุญยัง (ต่อมาก็คือท่านพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อำเภอศีไศล จังหวัดศรีษะเกษ)

ท่านเล่าว่าองค์หลวงตาไม่ได้ประชุมอบรมภาวนาทุกวัน แต่จะประชุมเป็นครั้งคราวไป ถ้าวันใดจะมีประชุม องค์ท่านก็จะบอกล่วงหน้าก่อน สำหรับตัวท่านเองนั้นเล่าติดขัดในการปฏิบัติภาวนาก็ไม่เคยได้กราบเรียนถามองค์ท่านสักครั้ง แต่องค์ท่านจะทราบได้ ถึงเวลาองค์ท่านลงมาเทศน์อบรม องค์ท่านจะเทศน์อธิบายตรงที่ตัวท่านกำลังติดข้องโดยไม่ต้องกราบเรียน บางครั้งองค์หลวงตาท่านจะเมตตามาชี้แนะตัวท่านถึงกุฏิที่พักก็เคยมี

ท่านว่าได้นำเอาอุบายที่องค์หลวงตาเมตตาสอนนำมาพิจารณาเพราะเป็นธรรมแท้ ในการพิจารณาครั้งแรกๆ แม้จะเป็นการด้นเดา แต่ก็เป็นการพิจารณาอบรมโดยน้อมนำเข้ามาสู่ตน โดยได้ถือหลัก ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เป็นพื้นฐานเพื่อให้เกิดความชำนาญ เพื่อให้เกิดปัญญา

ในส่วนของสมาธิ ท่านสอนว่าแม้ความสงบจะมีไม่มาก ก็สามารถทำให้เกิดปัญญาได้ แต่จะเป็นปัญญาอย่างหยาบและเมื่ออบรมให้จิตมีความสงบมากขึ้น มีกำลังสมาธิมากขึ้น การพิจารณาจะทำให้เกิดอุบายที่แยบคายและเกิดปัญญาอย่างกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับ เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆนั้น นักภาวนาจะต้องนำมาพิจารณาด้วยอุบายแห่งสติปัญญาเสมอ

ท่านว่าอุบายวิธีสั่งสอนของครูบาอาจารย์นั้นมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางอ้อมนั้นก็เพื่อให้เราได้ใช้ปัญญาค้นคิด ถ้าบอกหมดก็จะกลายเป็นสัญญาความจำไป ไม่ใช่ปัญญา จำเป็นอย่างยิ่งที่นักภาวนาจะต้องคิดค้นด้วยอุบายต่างๆ เอง เพื่อให้เกิดสติปัญญาเป็นสมบัติของตน (บันทึก ๑๕-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕)

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทดสอบสติปัญญา

ท่านว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่องค์หลวงตาได้เดินผ่านหน้าท่านไป พอดีผ้าเช็ดหน้าในมือขององค์หลวงตา ได้ตกลงพื้นข้างหน้าของท่าน ท่านคิดว่าองค์หลวงตาคงจะทดสอบสติปัญญาท่านดู ท่านก็เลยยกมือพนมขึ้นแล้วค่อยหยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาพิจารณาดู เห็นว่าผ้าเช็ดหน้านั้นดำ ท่านจึงนำไปซักก่อน จากนั้นแล้วจึงค่อยนำไปถวายคืนองค์ท่าน องค์ท่านก็ไม่ได้พูดว่าอย่างไร เรื่องนี้ท่านว่าองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์คงจะทดสอบสติปัญญาของท่านดู (บันทึก ๑๕-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕)

สงเคราะห์โยมแม่

ในระหว่างพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๖ โยมแม่ของท่านได้มาปรากฏในสมาธิภาวนาของท่านอีกครั้ง ท่านว่า “...เห็นโยมแม่มา...ผ้านุ่งก็ขาดๆ เก่าๆ ในนิมิตก็เลยได้หยิบเอาปัจจัยให้ ๒๐ (บาท) เงินสมัยนั้นมีค่าหลาย โยมแม่ก็บอยากรับเอา จังได้บังคับโยมแม่ให้รับเอาปัจจัยไป มาพิจารณาเบิ่ง โยมแม่คงจะตกภพภูมิที่ลำบากกระมัง” ท่านว่าพอดีตัวท่านมีผ้าขาวที่ชาวบ้านนำมาถวายไว้อยู่ไม้หนึ่ง ท่านก็เลยนำผ้าขาวไม้นั้นไปถวายหลวงปู่หล้า ให้หลวงปู่หล้าชักบังสกุลเพื่ออุทิศผลบุญกุศลให้กับโยมแม่ จากนั้นภายหลังโยมแม่ของท่านมีผิวพรรณวรรณะดีสวยงาม ท่านว่าโยมแม่คงจะได้รับบุญกุศลที่อุทิศถึงแล้ว เลยมาปรากฏให้เห็นอีก

ก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๗ นั้น องค์หลวงตาได้มอบหมายให้ท่านและพระพานาคไปบวชที่ตัวเมืองมุกดาหาร ซึ่งนาคนั้นต่อมาภายหลังก็คือหลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม (วัดป่าศรีสำราญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย) ก่อนหน้านั้นหลวงปู่คำตันเป็นผ้าขาวได้มาภาวนาอยู่ที่ห้วยทราย ภายหลังได้กราบเรียนเรื่องการภาวนาของตนถวายองค์หลวงตาฟัง องค์ท่านจึงเมตตาจัดเตรียมบริขารให้แล้วให้พระพาไปบวช การเดินทางสมัยนั้นต้องเดินทางด้วยเท้าเท่านั้น ต้องนอนค้างคืนกลางทางหนึ่งคืน คืนที่สองนอนที่ตัวเมืองมุกดาหาร เช้าฉันจังหันเสร็จก็บรรพชาอุปสมบท เสร็จเรียบร้อยจึงค่อยออกเดินทางมานอนค้างคืนกลางคืนระหว่างทางอีกหนึ่งคืน บิณฑบาตฉันจังหันเช้าเสร็จจึงค่อยออกเดินทางต่อจนถึงวัดป่าบ้านห้วยทราย

ออกพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๗ แล้ว องค์หลวงตาท่านได้ปรารภกับหมู่ว่า “เห็นทีจะต้องได้เกี่ยวข้องกับโยมแม่เสียแล้ว” คือองค์ท่านตั้งใจจะเอาโยมมารดาบวชเป็นชีเพื่อจะได้สนองคุณโยมมารดาในทางธรรม ดังนั้นเมื่อผ่านงานกฐินแล้ว องค์ท่านจึงได้เดินทางกลับมายังบ้านตาดเพื่อบวชโยมมารดาเป็นชี และได้พาเอาโยมมารดาเที่ยวลงมาทางจังหวัดจันทบุรี ครั้งนี้คุณแม่ชีแก้วก็เดินทางมาด้วย องค์ท่านมีอุบายว่าผู้หญิงกับผู้หญิงคุยกันได้สะดวก และต้องการให้คุณแม่ชีแก้ว เป้นเพื่อนโยมมารดาขององค์ท่านด้วย


พรรษาที่ ๙ (พ.ศ.๒๔๙๘)
วัดใกล้สถานีทดลองการเกษตร
สี่แยกน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี


สู่เมืองจันทบุรี

วัดนี้เป็นวัดที่โยมพี่สาวของหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท เป็นผู้ถวายที่ดินสร้างวัด หลวงปู่เจี๊ยะเห็นว่าองค์หลวงตายังไม่มีที่พักที่สะดวก โดยระยะนั้นองค์ท่านพักอยู่ที่วัดยางระหงษ์ กับท่านพระอาจารย์ถวิล จิณณธมโม หลวงปู่เจี๊ยะจึงได้นิมนต์องค์ท่านมาที่วัดนี้ สำหรับพระที่ศึกษาอยู่กับองค์ท่านที่ห้วยทราย ก็ได้ทยอยเดินทางติดตามลงมารับการศึกษาอบรมภาวนาอีกหลายรูปด้วยกัน มีท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง หลวงปู่เพียร หลวงปู่บุญเพ็ง หลวงปู่ลี ท่านพระอาจารย์สวาท สามเณรน้อย (ปญฺญาวุโธ) เป็นต้น

มาตุคาม

ขณะที่ท่านศึกษาอบรมอยู่ที่เมืองจันทบุรีนั้น ได้มีลูกสาวเจ้าของสวนผลไม้ชาวจันทบุรีเกิดมาชอบพอในตัวท่าน แต่ไม่ใช่เฉพาะเท่านั้น ผู้เป็นพ่อของหญิงคนนั้นก็ยังมีความพอใจในตัวท่านด้วย คือแกอยากจะได้ตัวท่านเป็นลูกเขย แกเลยออกอุบายโดยมานิมนต์เจาะจงเฉพาะตัวท่านให้ไปรับบิณฑบาตที่บ้านเพียงรูปเดียว หนักเข้าก็นิมนต์ท่านให้ฉันอาหารที่บ้านเลยเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกสาวของตนได้พบกับท่าน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนกระทั้งหลวงปู่ได้พิจารณาดูเห็นว่าไม่ค่อยเหมาะสมแล้ว ภายหลังท่านจึงได้นำเรื่องนี้กราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้ทราบ องค์ท่านได้สั่งกำชับว่าต่อไปนี้ไม่ต้องไปรับบิณฑบาตและฉันที่บ้านของเขาอีก เมื่อพ่อของหญิงเห็นว่าหลวงปู่ไม่เล่นด้วยแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ จึงผ่านไปได้ด้วยดี

สมัยอยู่ที่เมืองจันทร์นั้น ท่านมีความชอบในรสชาติของทุเรียนเมืองจันท์เป็นอย่างมาก บางครั้งก็ฉันทุเรียนแข่งกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็มี ท่านว่าบางครั้งฉันทุเรียนได้ถึง ๒๔ เม็ดก็เคยมี

ช่วงที่จำพรรษาอยู่ที่จันทบุณีนั้น โยมมารดาขององค์หวงตาสท่านไม่ค่อยสบายนัก ทั้งไม่คุ้นเคยกับอากาศ ทั้งยังคิดถึงลูกหลานที่อยู่ทางบ้านตาดด้วย ความทราบถึงองค์หลวงตา เมื่อออกพรรษาแล้ว องค์ท่านจึงดำริจะพาโยมมารดากลับภาคอีสาน โดยได้มาพักที่วัดเขาน้อยสามผาน (วัดพิชัยพัฒนาราม) ก่อนระยะหนึ่ง แล้วจึงค่อยเดินทางกลับอุดรธานี

ความตอนนี้ปรากฏในประวัติของคุณแม่แก้ว เกี่ยวกับหลวงปู่ที่เมืองจันทบุรี

เมื่อท่านอาจารย์มหาบัวอยู่ห้วยทรายได้หลายปีก็นึกถึงโยมมารดา จะพาโยมมารดาออกบวช ขอให้คุณแม่ (แก้ว) ไปอุดรด้วย เมื่อบวชโยมมารดาแล้วก้พากันไปสร้างวัดที่สถานีทดลอง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นที่ที่พี่น้องของท่านอาจารย์เจี๊ยะถวาย ต้องลำบากมากเพราะไม่มีปลาร้าจึงต้องปรุงอาหารด้วยน้ำปลา ไปหาเห็ดตามป่ายางงูก็ชุม โยมมารดาว่า “เห็ดดอกน้อย ตาข้อยบ่เห็นหู่ง” ที่จันทบุรีนี้ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็บรรลุธรรม

ท่าน (คุณแม่แก้ว) ว่า ท่านอาจารย์สิงห์ทองเป็นคนฉลาด เดินบิณฑบาตชาวบ้านใส่บาตรด้วยทุเรียนทั้งลูก เพราะสมัยนั้นทุเรียนเมืองจันท์ยังไม่พัฒนา บางพูเนื้อยังไม่หุ้มเม็ดซ้ำ ท่านอาจารย์สิงห์ทองก็หิ้วมา บ้านต่อมาถวายทุเรียนอีก ท่านก็วางลูกเดิมให้เขาหิ้วไปส่งที่วัดหิ้วลูกใหม่แทน ท่านสามารถถ่ายทุเรียนได้ตลอดทาง เมื่อถึงวัดมีติดมือมาแค่ลูกเดียว แต่มีชาวบ้านหิวทุเรียนมาเป็นแถว ต่างกับท่านอาจารย์เพียร ที่หิ้วมะรุมมะตุ้มไม่ยอมวางตลอดทาง


พรรษาที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๔๙๙)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี


รุ่นบุกเบิกสร้างวัดป่าบ้านตาด

กลับจากจันทบุรีองค์หลวงตาได้พาโยมมารดามาพักที่บ้านตาดเพื่อรักษาตัว เนื่องด้วยระยะนั้นโยมมารดาขององค์ท่านไม่ค่อยสบายนัก ทั้งอายุก็มากแล้วจะเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เหมือนก่อนไม่สะดวก จึงเป็นเหตุให้องค์ท่านได้สร้างวัดป่าบ้านตาดขึ้นมา

ในยุคแรกลูกศิษย์ที่ติดตามขึ้นมาจากจันทบุรีก็มี ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ตัวท่าน (หลวงปู่เพียร) หลวงปู่บุญเพ็ง คุณแม่ชีแก้ว สามเณรน้อย ต่อมาหลวงปู่ลีก็ตามมา ความตอนหนึ่งจากเทศนาขององค์หลวงตาเกี่ยวกับการสร้างวัดป่าบ้านตาดเริ่มแรกว่า

“...ตั้งวัดทีแรก แถวนี้ยังเป็นป่าเป็นดงกระท้อนเต็มไปหมด แต่ก่อนเป็นป่าทั้งนั้นจนถึงสามแยก เป็นป่าเป็นดง จนกระทั่งเข้าถึงหมู่บ้าน (ทิศ) ตะวันออกก็ดงทั้งหมด เดี๋ยวนี้ไม่มีเหลือเลย ป่าเปลี่ยนไปหมดแล้ว...”

เสนาสนะยุคแรกนั้นส่วนมากจะปูด้วยฟากไม้ไผ่มุงด้วยฟางข้าวหรือหญ้าคา ท่านว่า กุฏิองค์หลวงตาสมัยนั้นเป็นกุฏิหลังเตี้ยๆ มุงด้วยหญ้าคา ปูด้วยฟากไม้ไผ่ ส่วนหน้าต่างนั้นเป็นฝาขัดแตะ ต้องใช้ไม้ยันไว้เวลาเปิดหน้าต่าง ท่านว่าองค์หลวงตานั้นไพรหญ้าคา (นำหญ้าคามาถักเป็นแผ่นเพื่อใช้มุงเป็นหลังคา) ตั้งแต่ฉันเสร็จจนถึงเวลาปัดกวาดได้ ๑๓ แผ่น ส่วนตัวท่านนั้น หลังจากทำข้อวัตรตอนเช้าเสร็จไพรหญ้าได้ ๑๘ แผ่น ท่านว่าบ้านตาดยุคแรกขององค์หลวงตาเข้มงวดกวดขันกับพระเณรในเรื่องการภาวนาเป็นหลักเหมือนยุคห้วยทราย จันทบุรี ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าองค์ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมกับแขกประชาชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดก็ยังมีน้อย

ออกพรรษาปีนั้นพอดีท่านพระอาจารย์บุญช่วย ธมฺมวโร ได้มรณภาพลงที่วัดศรีฐานใน จังหวัดยโสธร องค์หลวงตาได้สั่งให้ไปช่วยงาน ตัวท่านเองก็คิดจะออกเที่ยววิเวกเปลี่ยนสถานที่อยู่พอดี ท่านจึงได้ออกจากวัดป่าบ้านตาด ในเรื่องนี้ท่านได้เล่าว่า “พ่อแม่ครูจารย์เพิ่นให้โอกาสดอก เพิ่นจัดให้ไปช่วยงาน (ศพ) อาจารย์ช่วย...เพิ่นว่า “ไปก็ดีเด้อ...เพียร กลับมาก็ดี หากว่าไปพบกับครูบาอาจารย์ที่เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ เป็นแบบอย่างได้ หากอยากอยู่ศึกษากับท่านก็ให้อยู่” พอดีก็เลยไปพบหลวงปู่ขาว (อนาลโย) เข้า ก็เลยอยู่ (ศึกษา) กับเพิ่น” “พ่อแม่ครูจารย์เพิ่นก็เป็นห่วงอยู่ บางครั้งก็ไปเยี่ยมอยู่ เพิ่นก็เป็นห่วงว่าสิไปคลุกคลีตีโมงกับญาติกับโยมผู้คน คลุกคลีกับการกับงาน กลัวจะเสียไป” (บันทึก ๑๔ กันยายน ๒๕๔๖)


พรรรษที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๐๐)
วัดป่าแก้วชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร


อยู่ด้วยหลวงปู่ขาว

เมื่องานศพท่านพระอาจารย์ช่วยเสร็จเรียบร้อย หลวงปู่ก็ได้เดินทางมุ่งหน้าสู่วัดป่าแก้วชุมพลทันที เพื่อกราบถวายตัวศึกษาอบรมอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ในปีนั้นก่อนเข้าพรรษาเพียงเล็กน้อยได้มีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่องค์หนึ่งซื่งท่านเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ในองค์หลวงปู่มั่น และยังเป็นคู่นาคกับหลวงปู่ขาว คือหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ได้เดินทางพักจำพรรษาด้วยเพื่อบำเพ็ญภาวนา ในครั้งนั้นหลวงปู่หลุยท่านได้บันทึกเกี่ยวกับวัดป่าแก้วชุมพลไว้ดังนี้ว่า

“สถานที่แห่งนี้ ออกเป็นที่ซึ่ง “ลวงตา” อยู่ กล่าวคือเดิมที่คิดว่าคงจะไม่มีอะไรเลยแค่พอใจที่จะได้อยู่กับกัลยาณมิตร ได้มีเวลาธรรมสากัจฉากันบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นปุคคลสัปปายะก็เพียงพอแล้ว แต่ยังได้พบอีกว่าสถานที่ก็เป็นสัปปายะ อากาศก็เป็นสัปปายะด้วย”

ในเรื่องสถานที่เป็นสัปปายะนี้ ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า “กุฏิ (แต่ก่อนเป็นร้าน) ที่หลวงปู่บัว สิริปุณโณ มาพักในคราวกราบเรียนปรึกษาปัญหาในธรรมชั้นสูงต่อองค์หลวงตานั้น ครูบาอาจารย์หลายท่านได้กล่าวชมว่า บริเวณนั้นรู้สึกว่าจะภาวนาดีมาก

ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่จะได้สร้างวัดขึ้นนั้น ทีแรกก็เนื่องจากความดำริของหลวงปู่ขาว เดิมหลวงปู่ขาวไม่ได้พักที่นี่ ท่านพักที่ดงป่าแห่งอื่นก่อน (ดงขี้ยาง) เพราะที่นั่นเป็นป่าเป็นดงกว่าที่นี่ แต่ภูมิเจ้าที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในตัวท่าน หลวงปู่ขาวก็เลยย้ายมาอยู่ตรงนี้ (วัดป่าแก้วชุมพล) ที่นี่เทพเขาเป็นสัมมาทิฏฐิ

ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าเล่าว่า มีเณรอยู่รูปหนึ่งชอบพูดคุยแต่ไม่ชอบทำความเพียรดังคำพูดของตน วันหนึ่งในเวลากลางคืนสามเณรรูปนั้นเห็นเงามืดๆ ลักษณะเป็นผู้ชายมีรูปร่างสูงใหญ่ มีผ้าแดงคาดไว้ตรงศรีษะ มายืนชี้หน้าพร้อมกับได้พูดขึ้นมาว่า “ฟังแล้วบ่สมกับคำพูด สวดมนต์ไหว้พระก็บ่เห็นทำ ไม่เห็นว่าปฏิบัติตรงไหนเหมือนกับคำพูดของตนเลย” พอสามเณรเห็นและได้ยินดังนั้นก็เกิดความกลัวสุดขีด จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนนิสัยของตนเสียใหม่ ภายหลังได้ตั้งหน้าตั้งตาประกอบความพากเพียร ขยันไหว้พระสวดมนต์จนเป็นนิสัย ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าสรุปว่า “เทพเขามาช่วยเตือนเท่านั้นแหละ”

สู้กามราคะด้วยความเพียร

ระหว่างกลางพรรษานั้น กามราคะอย่างแรงได้เกิดขึ้นกับท่าน (หลวงปู่) ท่านว่า “โลกมันบ่น่าอยู่ มันร้อนมันรน มันอุ่งมันอั่งอยู่ภายใน แต่การประกอบความพากเพียรก็บ่ถอย สู้มันอยู่อย่างนั้น บ่ยอมอ่อนให้กับมัน เฮ็ดความเพียรอยู่หมดมื้อ” และ “เดินจงกรมทำความเพียรอยู่หมดมื้อหมดคืน เอามันอยู่อย่างนั้น” ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความทุกข์ให้กับท่านมากพอสมควร แต่ด้วยความที่ท่านไม่ลดละในการประกอบความเพียร ผลสุดท้ายกามราคะได้สงบตัวลง เคยมีผู้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า “หลวงปู่เคยมักผู้สาวบ่” ท่านเมตตาตอบว่า “เคยอยู่”

ออกพรรษาหลวงปู่ขาวท่านดำริว่า จะพาพระเณรออกเที่ยววิเวกเปลี่ยนสถานที่ ซึ่งหลวงปู่ขาวมักจะปฏิบัติเสมอ ปีนั้น ท่านได้พราพระเณรออกจากวัดป่าแก้วชุมพลมุ่งหน้ามายังเขตจังหวัดอุดรธานี และได้พักภาวนาเป็นระยะๆ จนกระทั่งมาถึงบริเวณถ้ำกลองเพล เขตอำเภอหนองบัวลำภู (ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู) ท่านได้เกิดความพอใจในสถานที่และพักพำนักอยู่ทีถ้ำกลองเพลนี้เรื่อยมาจวบจนถึงวาระสุดท้ายของท่าน ซึ่งหลวงปู่ก็ได้ติดตามมากับคณะในครั้งนี้ด้วย ท่านว่า “ถ้ำกลองเพล แต่ก่อนยุงบ่มี คนก็บ่มี ภาวนาดีหลาย”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2014, 14:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ต.ค. 2014, 14:21
โพสต์: 7

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ แห่งวัดป่าหนองแซง

รูปภาพ
หลวงปู่จันทา ถาวโร แห่งวัดป่าเขาน้อย

รูปภาพ
หลวงปู่แนน สุภทฺโท แห่งวัดซำขามถ้ำยาว

รูปภาพ
หลวงปู่บุญพิณ กตปุญฺโญ แห่งวัดผาเทพนิมิต


พรรษที่ ๑๒-๑๓ (พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๐๒)
วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี


อยู่ด้วยหลวงปู่บัว

หลวงปู่ท่านได้ภาวนาอยู่ที่ถ้ำกลองเพลกับหลวงปู่ขาวจนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา ท่านจึงได้กราบลาหลวงปู่ขาวเพื่อมาจำพรรษาศึกษาอบรมภาวนากับหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ที่วัดป่าหนองแซง ซึ่งหลวงปู่บัวองค์นี้เป็นลูกศิษย์ขององค์หลวงปู่มั่นรูปหนึ่งที่มีปฏิปทาเด็ดเดี่ยวน่าเลื่อมใสเป็นอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับของครูบาอาจารย์ต่างๆ ด้วย ท่านว่าที่วัดป่าหนองแซงนี้เป็นที่แวะพักของครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่จะเดินทางผ่านระหว่างจังหวัดอุดรธานีกับจังหวัดเลยจะต้องมาแวะพักที่วัดนี้เสมอ ท่านว่าครูบาอาจารย์ต่างๆ ในสมัยนั้นออกจากถ้ำกลองเพลแล้ว ส่วนมากก็จะมาอบรมที่นี่

นิมิตเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์ประเทือง

ในระหว่างหน้าล้างบางปีหลวงปู่ก็ออกเที่ยววิเวก มีครั้งหนึ่งที่ท่านเที่ยวรุกขมูลมาทางถ้ำยาว (วัดซำขามถ้ำยาว ในปัจจุบัน) พร้อมกับท่านพระอาจารย์ประเทือง ฐานุตฺตโร (เป็นที่รู้กันดีว่า ท่านพระอาจารย์รูปนี้ท่านปรารถนาบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิ) หลวงปู่จันทา ถาวโร และท่านพระอาจารย์เต็ม ขนฺติโก ซึ่งสถานที่แห่งนี้อยู่ในเขตอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนก่น ครั้งนั้นหลวงปู่ได้นิมิตเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์ประเทืองว่า “เห็นท่านประเทืองเป็นควายป่ามานอนโคลนอยู่ที่บริเวณวัดแห่งนี้” หลวงปู่จึงมาพิจารณาดู ทราบว่าสถานที่แห่งนี้ท่านพระอาจารย์ประเทืองคงจะเคยเกิเคยตายมาในภพชาติก่อนๆ เป็นแน่ ท่านจึงได้พูดกับท่านพระอาจารย์ประเทืองเป็นเชิงสอบถามว่า “ท่านประเทืองคงจะได้อยู่ที่นี่” พอท่านพระอาจารย์ประเทืองได้ยินก็ยอมรับว่า ตัวท่านเองพอใจในสถานที่แห่งนี้และคิดว่าจะพักภาวนาอยู่ที่นี่ต่อไปสักระยะ ต่อมาท่านพระอาจารย์ประเทืองได้สร้างวัดป่าอุดมรัตนารามขึ้น (ภายหลังได้มีท่านพระอาจารย์ถวิล สุจิณฺโณ และท่านพระอาจารย์สว่าง โอภาโส (มรณภาพแล้ว) มาประจำอยู่สืบต่อจากท่านพระอาจารย์ประเทือง) ที่บ้นนาทม นางาม อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ส่วนที่ถ้ำยาวนั้นต่อมาภายหลังได้มีหลวงปู่แนน สุภทฺโท (มรณภาพแล้ว) มาประจำอยู่และได้พัฒนาให้เป็นวัดขึ้นมา

ร่วมสร้างวัดป่าสัมมานุสรณ์

ออกพรรษา พ.ศ.๒๕๐๒ แล้ว หลวงปู่ได้กลับไปยังวัดถ้ำกลองเพลอีก พอดีระยะนั้นท่านพระอาจารย์จันทา กนฺตธมฺโม (ปัจจุบันคือพระครูกันตธรรมคุณ วัดป่าโนนสะอาด อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร) ท่านได้แวะเข้าไปพักที่ถ้ำกลองเพล ท่านมีความประสงค์จะเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่อำเภอสะพุง จังหวัดเลย จึงได้ชวนหลวงปู่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ขณะนั้นหลวงปู่ชอบท่านพักอยู่ที่ถ้ำไห ซึ่งไม่ไกลจากบ้านโคกมนมากนัก โดยมีหลวงปู่บุญพิณ กตปุญฺโญ (วัดผาเทพนิมิต อำเภอน้ำอูน จังหวัดสกลนคร) เป็นพระติดตาม ระยะที่หลวงปู่ไปถึงนั้น พอดีชาวบ้านโคกมน นำโดยผู้ใหญ่ถัน ได้กราบถวายที่ดินบริเวณป่าช้าบ้านโคกมนเพื่อที่จะสร้างวัดต่อหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบก็เมตตารับไว้ เมื่อชาวบ้านทราบว่าหลวงปู่รับแล้วต่างก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยได้พากันไปรื้อเอาไม้ศาลาและกุฎิเก่าที่ถ้ำไห เพื่อจะนำมาปลูกเสนาสนะที่วัดป่าสัมมานุสรณ์โดยได้ไม้ทั้งหมดเป็นจำนวน ๙ ลำเกวียน ท่านว่าหลวงปู่ชอบได้ใช้ให้ท่านรื้อกระต๊อบผีปู่ตา ได้นำเอาไม้มาสร้างห้องน้ำที่วัด

ท่านเล่าว่าครั้งแรกชาวบ้านโคกมนแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งยังนับถือผีปู่ตาและไม่เห็นด้วยกับการสร้างวัดครั้งนี้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่นำโดยผู้ใหญ่ถันนั้นเห็นด้วยกับการสร้างวัด ดังนั้นหลวงปู่ชอบ จึงให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ชาวบ้านมารับพระไตรสรณคมน์ ถ้าใครไม่มารับจะเป็นอันตราย ชาวบ้านเกิดความกลัวจึงยอม และหันกลับมาเลื่อมในในพุทธศาสนาทั้งหมดหมู่บ้าน ในครั้งนั้นหลวงปู่ชอบมาจำพรรษาที่บ้านโคกมน เพื่อจะสงเคราะห์ญาติและชาวบ้านโคกมนโดยแท้ วันหนึ่งหลวงปู่ชอบท่านได้พูดกับพระเณรว่า “เมื่อคืนเทพจากชั้นต่างๆ เขามาร่วมอนุโมทนายินดีในกุศลบุญกับท่านในการที่ได้สร้างวัดป่าสัมมานุสรณ์ขึ้นมาในครั้งนี้ด้วย” (บันทึกสัมภาษณ์หลวงปู่บุญพิณ เมื่อ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑)

รูปภาพ
หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม (พระครูสันติวรญาณ) แห่งวัดสันติวรญาณ


พรรษที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๐๓)
เสนาสนะป่าบ้านท่าควาย
อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม


หลวงปู่เพียรได้กราบหลวงปู่ชอบเพื่อกลับมายังวัดถ้ำกลองเพลอีก พอดีหลวงปู่ขาวจึงสั่งให้ท่านพร้อมกับหลวงปู่จันทา ถาวโร (วัดป่าเขาน้อย อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร) และหลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม (พระครูสันติวรญาณ วัดสันติวรญาณ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์) ให้ไปจำพรรษที่จังหวัดนครพนม ในปีนั้นหลวงปู่ได้แยกไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านท่าควาย ส่วนหลวงปู่จันทาและหลวงปู่อ่ำนั้น ท่านทั้งสองรูปได้ไปจำพรรษาที่ป่าช้าบ้านหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

พ่อแม่ครูบาอาจารย์เมตตา

ถึงกลางพรรษา ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์พร้อมกับองค์หลวงตามหาบัว ได้เดินทางไปทำธุระที่จังหวัดนครพนม ท่านทั้งสองได้เมตตาไปเยี่ยมและพักค้างคืนกับหลวงปู่ ในครั้งนั้นองค์หลวงตาได้เมตตาแสดงธรรมให้ฟังเป็นการเฉพาะด้วย ตกกลางคืนหลวงปู่ได้ขอโอกาสจับเส้นถวายองค์หลวงตาตั้งแต่หัวค่ำจนถึงราวเที่ยงคืนองค์ท่านจึงสั่งให้หยุด หลวงปู่จึงกลับมาที่พักของตน ท่านคิดว่าวันนี้จะไม่นอนพักแต่จะทำความเพียรตลอดทั้งคืน จึงได้เข้าที่พักซึ่งเป็นร้านเล็กๆ จากนั้นท่านก็ได้นั่งเข้าที่ภาวนา ปรากฏว่าไม่น่านนัก ท่านว่า “นั่งภาวนาบ่นาน จิตก็รวม ปรากฏว่าตัวเราของเรากับกุฎิได้ทลายยุบลงไปในดินเสมอกับพื้นดินเลย”

ออกพรรษาแล้วหลวงปู่ได้เที่ยวประกอบความเพียรในแถบจังหวัดนครพนมอีกระยะหนึ่ง แล้วจึงได้ย้อนกลับไปยังจังหวัดอุดรธานีอีก

ขึ้นเชียงใหม่

หลวงปู่ได้ย้อนกลับไปยังวัดถ้ำกลองเพลอีก ระยะนั้นท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ก็พักอยู่ด้วย (ปีนั้นท่านพระอาจารย์จวนจำพรรษาที่ถ้ำจันทร์ จังหวัดหนองคาย ท่านกลับมากราบเยี่ยมหลวงปู่ขาว) ต่อมาท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ซึ่งปีนั้นจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาดก็ได้เข้ามาที่วัดถ้ำกลองเพลเหมือนกัน ท่านจังได้ชักชวนกันไปจังหวัดเชียงใหม่ ตกลงจะไปกันหลายรูป มีท่านพระอาจารย์จวน ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ตัวท่าน (หลวงปู่เพียร) หลวงพ่อไท และสามเณรคำสี ทีแรกท่านครูบาอุ่น (ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า) ก็จะไปด้วย แต่ท่านเห็นว่าไปกันหลายรูปแล้ว เห็นจะไม่ค่อยสะดวกก็เลยไม่ได้ไปด้วย ท่านว่าที่เชียงใหม่นานแจ้ง (สว่างช้า) ไปบิณฑบาตก็ต้องไปยืนรอเขาที่หน้าบ้านกว่าจะผ่านไปแต่ละหลังก็ใช้เวลานาน ซึ่งไม่ตรงกับอัธยาศัยของท่าน ในครั้งนี้คณะของท่านได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ที่วัดอรัญวิเวก บ้านปง อำเภอแม่แตง ระหว่างพักภาวนาอยู่ที่บ้านปงนั้นได้พบกับหลวงปู่บุญหนา ซึ่งท่านได้ขึ้นมาภาวนาที่จังหวัดเชียงใหม่ได้หลายปีแล้ว จึงได้ชวนกลับภาคอีสานพร้อมกัน (หลวงปู่บุญหนา เล่าว่าท่านพระอาจารย์สิงห์ทองพอขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่แล้วเกิดโรคแพ้อากาศหนาว มีอาการผื่นขึ้นตามลำตัว และมีน้ำเหลืองไหลออกมา) หลังจากที่ได้พักวิเวกในเขตเชียงใหม่ได้นานพอสมควรแล้ว จึงได้พากันกลับภาคอีสานโดยทางรถไฟ จากนั้นได้พากันเข้าพักที่วัดป่าบ้านตาดกันทั้งหมด และได้พบกับหลวงปู่บุญมีที่นั่นด้วย พักได้ระยะหนึ่งเห็นพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ได้ติดตามท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเพื่อไปจำพรรษาที่ห้วยทราย (บันทึกสัมภาษณ์หลวงปู่บุญหนา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)


พรรษาที่ ๑๕ (พ.ศ.๒๕๐๔)
วัดป่าบ้านห้วยทราย (วัดป่าวิเวกวัฒนาราม)
อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร


กลับจากภาคเหนือแล้ว หลวงปู่ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ทองไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทรายอีกครั้ง ออกพรรษาได้พอสมควร ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้พาท่านเดินทางมายังจังหวัดอุดรธานีอีก โดยได้เข้าพักที่วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ เพื่อกราบนมัสการหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ครั้งนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้พาท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าไปเที่ยววิเวกทางถ้ำจันทร์ จังหวัดหนองคาย ส่วนตัวท่านไม่ได้เดินทางติดตามไปด้วย เพราะต้องการศึกษาอบรมอยู่ที่วัดป่าหนองแซง กับหลวงปู่บัวต่อ


พรรษาที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๐๕)
วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี


พรรษานี้หลวงปู่ได้ศึกษาอบรมกับหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ณ วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ในพรรษานี้ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าก็ได้ร่วมจำพรรษาด้วย

โอวาทธรรมของหลวงปู่บัว

เรื่องศีลนี่ เป็นของสำคัญที่ควรปฏิบัติให้มาก ถ้าแม้นผู้ใดมีศีล รักษาศีลเพียงอย่างเดียวให้มั่นคงแล้ว จะศึกษาเล่าเรียนไม่ว่าวิชาคุณไสยศาสตร์หรือบำเพ็ญภาวนากรรมฐานอันเป็นทางวิมุตติแล้ว ต้องมีศีลมีสัตย์เป็นเบื้องต้น อย่าไปทำลายศีล ถ้าไปทำลายศีลแล้ว ชีวิตมันจะไม่เป็นเรื่องสักอย่างเดียว
ขอให้มีสติตัวเดียวเท่านี้ มันจะแจ้งหมดโลก ถ้าเรารักการพ้นทุกข์ รักการปฏิบัติ ต้องเอาให้ได้ ทำให้ชำนาญเรื่องสตินี่


บางครั้งในสมัยที่พักอยู่ที่วัดป่าหนองแซงนี้ หลวงปู่ก็ได้ขอโอกาสเดินทางไปกราบนมัสการฟังธรรมตามกาลกับหลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย พร้อมกันได้ออกเที่ยวภาวนาตามสถานที่ต่างๆ ในเขตจังหวัดเลย เห็นสมควรแล้วท่านจึงได้ย้อนกลับมายังจังหวัดอุดรธานีอีก


พรรษาที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๖)
วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู


วัดถ้ำกลองเพลสมัยนั้น ท่านว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนามาก มีสภาพเป็นป่าดง มีลานหินกว้างขวาง บรรยากาศมองไปทางไหนก็เหมาะแก่การวิเวกน่าภาวนา มีสัตว์ป่ามาก เสือก็มี ท่านว่ามีช้างอยู่เชือกหนึ่งดุร้ายมาก เคยฆ่าคนมาแล้ว คือเคยฆ่าผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เด็กที่เป็นลูกของผู้หญิงคนนั้นรอด

ท่านพูดว่า “ถ้ำกลองเพลสมัยนั้น ยุงก็บ่มี คนก็บ่มี ภาวนาดี” และ “สมัยนั้นทางรถก็บ่มี รถก็บ่มี ไปไหนมาไหนต้องเดินเอา ตอนเช้าบ่มีคนมาจังหัน มีแม่ชีแม่ขาวทำอาหารถวาย ส่วนมากมีแกงผักฟวาน แก่งหน่อไม้ แกงเห็ด แกงขี้เหล็ก แกงผักหวานมีหลายจนเบื่อ เบื่อผักหวานจนถึงทุกมื้อนี้..บ่อยาก”
และ “สมัยก่อนนั้นอดหยากหลาย.. แต่ก็เป็นเหตุให้ภาวนาดี”

ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าเมตตาเล่าสูฟังว่า “สมัยอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพลนั้น หลังจากพากันสรงน้ำถวายหลวงปู่ขาวเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ครูจารย์เพียรได้ชวนไปภาวนาตามดานหินต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม บางวันก็ไม่ได้เอาผ้าครองไป จะกลับมารักษาผ้าครองก่อนได้อรุณ แล้วเตรียมตัวออกบิณฑบาตเลย”

เทพนิมนต์

หลวงปู่ได้เมตตาเล่าให้ฟังถึงพวกกายทิพย์ที่วัดถ้ำกลองเพล มานิมนต์ให้ท่านอยู่ที่ถ้ำกลองเพลด้วยกันดังนี้ “เทพภูมิต่างๆ ที่วัดถ้ำกลองเพลนี้มีหลาย มื้อหนึ่งจิตสงบแล้วเห็นพวกกายทิพย์ได้มานิมนต์ให้อยู่ด้วยกัน...บ่ต้องไปไส...พวกเขาจะคอยรักษาเอง หลังจากนั้นก็ได้พากันทำประทักษิณเวียนรอบที่พัก” และมีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับนิมิตภาวนาของหลวงปู่ ท่านว่า “วันหนึ่งเห็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหาะลอยมาทางอากาศ...เจ้าของ (หลวงปู่เพียร) ก็เลยก้มลงกราบอย่างอ่อนน้อม...กราบงามหลาย...แต่พอจิตถอนออกมา ตัวเจ้าของก็นั่งเหมือนเดิม บ่ได้กราบ” ท่านว่าปีนั้นจำพรรษาร่วมกันหลายองค์ด้วยกัน ที่จำได้ก็มี หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร (วัดถ้ำผาบึ้ง อำเภอสะพุง จังหวัดเลย) หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต ท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ หลวงพ่อปรีดา (ทุย) ฉนฺทกโร (วัดป่าดานวิเวก อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ)

จิตเจริญแล้วเสื่อม

หลวงปู่ได้เมตตาพูดถึงเรื่องการภาวนาของท่านสมัยจำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพลปีนั้นให้พระฟังว่า “อยู่ถ้ำกลองเพลปีนั้น (จิต) มีแต่เสื่อมกับเจริญตลอดพรรษา...๔-๕ มื้อเจริญขึ้นมา มื้อต่อมาก็เสื่อมลงอีก เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดพรรษา แต่ว่าบ่ได้กราบเรียนถามครูบาอาจารย์ว่าสิแก้อย่างไร เคยได้ยินพ่อแม่ครูจารย์บ้านตาดพูดว่า เจริญแล้วเสื่อม...เจริญแล้วเสื่อม บัดนี้มันมาโดนเจ้าของเข้าแล้ว”


พรรษาที่ ๑๘-๑๙ (พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๐๘)
วัดป่าแก้วชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร


ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้พักอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพลอีกระยะหนึ่ง จากนั้นท่านได้กราบลาหลวงปู่ขาวออกเที่ยววิเวกมาทางจังหวัดสกลนคร เห็นว่าที่ใดเหมาะสมต่อการบำเพ็ญภาวนา ท่านก็พักภาวนาในที่นั้นๆ พอจวนจะเข้าพรรษาปี พ.ศ.๒๕๐๗ ท่านจึงได้เดินทางเข้าพักที่วัดป่าแก้วชุมพลเพื่อจำพรรษา

ออกพรรษาในปีนั้น หลวงปู่ขาวได้นำพระเพณออกเที่ยวรุกขมูลมาทางจังหวัดสกลนคร หลวงปู่ขาวมีความประสงค์จะเดินทางไปยังวัดถ้ำขาม ในขณะนั้นวัดถ้ำขามมีหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้พำนักจำพรรษาในปีที่ผ่านมา ท่านเพิ่งกลับมาจากการเผยแพร่พระศาสนาทางภาคใต้เป็นเวลานาน ๑๕ ปี จึงเป็นเหตุให้หลวงปู่เทสก์และหลวงปู่ขาวได้พบกัน ต่อมาพอดีกับหลวงปู่เทสก์ท่านมีความต้องการที่จะไปเที่ยวทางอำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ท่านจึงได้ลาลงไปพร้อมด้วยคณะของท่าน ต่อมาภายหลังหลวงปู่เทสก์ก็ได้สร้างวัดหินหมากเป้งที่อำเภอศรีเชียงใหม่ขึ้นมา

พอหลวงปู่เพียรทราบว่าหลวงปู่ขาวมาพักที่ถ้ำขาม ท่านจึงได้เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาว พร้อมทั้งได้พักภาวนาอยู่ที่นั่นตลอดหน้าแล้ง หลังจากนั้นหลวงปู่ขาวจึงได้พาคณะกลับวัดถ้ำกลองเพล ส่วนหลวงปู่เพียรได้ขอแยกกับคณะ กลับมายังวัดป่าแก้วชุมพลอีก

ตกถึงเดือนเมษายน ปี พ.ศ.๒๕๐๘ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองพร้อมกับท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ก็ได้เดินทางมายังวัดป่าแก้วชุมพล เนื่องด้วยเหตุว่าชาวบ้านชุมพลได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองมาจากวัดป่าหนองแซง เพื่อจะให้ท่านดูแลปกครองวัดตามคำแนะนำของหลวงปู่ขาว เพราะช่วงนั้นไม่มีพระอยู่ประจำ หลวงปู่เพียรก็เลยต้องจำพรรษาที่วัดป่าแก้วชุมพลอีกเป็นปีที่ ๒ ติดต่อกัน ออกพรรษาหลวงปู่ก็พาท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าออกเที่ยวเวกไปทางถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม ทราบว่าสมัยที่ท่านเที่ยววิเวกทางจังหวัดสกลนครนั้น ท่นได้ไปหลายแห่งด้วยกัน เท่าที่ทราบก็มีวัดดอยธรรมเจดีย์ อำภอโคกศรีสุพรรณ ท่านก็ไป วัดประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดินก็ไป แถบภูเหล็กถ้ำพวก อำเภอส่องดาว วัดของท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ถ้ำเป็ดอยู่บริเวณตีนเขาท่านก็ไป จนกระทั่งในเขตจังหวัดหนองคาย แถบอำเภอบึงกาฬ ภูวัว อำเภอเซกา ที่ท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร พักอยู่ก็ไป (ท่านพระอาจารย์อุทัยเมตตาเล่าว่า ราวๆ พ.ศ.๒๕๒๐ กว่าๆ หลวงปู่บุญมีและหลวงปู่ได้ไปพักที่ภูวัวด้วย สมัยนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างยิ่ง พวกนั้นขึ้นไปหาหลวงปู่พร้อมได้อธิบายนโยบายต่างๆ ของพวกเขาให้หลวงปู่ฟัง แต่เหตุการณ์ก็ไม่มีอะไรหรอก เพราะพวกคอมมิวนิสต์ก็คือคนไทยดีๆ นี่เอง ยังมีความเคารพในตัวพระเจ้าพระสงฆ์เหมือนกับประชาชนทั่วๆไป) ภูทอก อำเภอศรีวิไล วัดของท่านพระอาจารย์จวนก็ไป ถ้ำจันทร์ก็ไป ดงสีชมพู อำเภอปากคาดท่านก็ไปเหมือนกัน บางครั้งก็ไปถึงเขตจังหวัดนครพนม เช่น ภูลังกาก็ยังเคยไปบ่อยๆ บ้านปากคง บ้านหัวดง บ้านขามเฒ่า อำเภอเมือง ท่านก็ไปพักภาวนาประกอบความเพียรอยู่บ่อย สมัยเที่ยวประกอบความเพียรอยู่ในเขตจังหวัดนครพนมนั้น ท่านได้พบกับพระอาจารย์แบน ธนากโร (พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร วัดดอยธรรมเจดีย์) และท่านพระอาจารย์อ้ม สุขกาโม (วัดภูผาผึ้ง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร) ที่วัดป่าไตรรัตน์อีกด้วย ซึ่งท่านทั้งสองต่างก็ออกเที่ยววิเวกเหมือนกัน ส่วนในเขตของจังหวัดอุดรธานีนั้นก็มีเช่น ภูค้อ เขตอำเภอวังสามหมอที่หลวงปู่ขาวเคยพักจำพรรษา ท่านก็เคยไปพักกับผ้าขาว ในเขตอำเภอบ้านผือก็มีที่แถบภูย่าอู่ ถ้ำพระบ้านกลางใหญ่ ที่ถ้ำพระนี้ท่านว่าภาวนาดี บางครั้งท่านก็เห็นเปรตด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีที่เขตจังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ แถบอำเภอหล่มสัก จังหวัดนครราชสีมาท่านก็เคยเที่ยวภาวนาเหมือนกัน

ภาวนาที่ถ้ำขาม

หลวงปู่ได้พูดถึงการภาวนาของท่านสมัยพักอยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดถ้ำขามความว่า “พักอยู่กับหลวงปู่ฝั้น ภาวนาดีอยู่หากบ่ได้จำพรรษากับเพิ่น สมัยนั้นเพิ่นพาพระเณรนั่งภาวนารวมกัน หากบ่พาทำ (ความเพียร) พระเณรก็บ่ทำ รอย (อยู่) ทางจงกรมก็มี เพิ่นก็เลยพาทำ...เพิ่นเมตตาหมู่ สงสารหมู่”

“อยู่กับหลวงปู่ฝั้น จิตรวมอยู่ ๓ ครั้ง...ครั้งแรกพอจิตถอนออกมา นิมิตเห็นเป็นใบไม้แห้ง วาระที่สองจิตก็รวมเข้าไปอีก ถอนออกมาอีก นิมิตเห็นข้าวสารตกลงมาเป็นสาย หล่นลงมาใส่หน้า พอวาระที่สามนี่เงียบเลยบ่มีหยัง บ่มีตัวมีตน กายก็บ่มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็บ่มี ดับหมด...โต (หมายถึงตัวท่าน) ป่านนี้ผีบ้า...คือผีบ้านี้แหละ...”

เมื่อท่านย้อนนำนิมิตทั้งสามพิจารณาดู ท่านก็ทราบว่าตัวท่านเปรียบเสมือนใบไม้แห้งที่จะไม่มีวันเกิดใหม่ได้...วาระที่สองเปรียบเสมือนเมล็ดข้าวสารที่จะไม่มีทางงอกขึ้นมาได้อีก...จนวาระที่สามทุกอย่างดับหมด...เชื้อแห่งการเกิดได้ดับลงไปอย่างสิ้นเชิง

ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ
ก็แลปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
อกุปฺปา เม วิมุตฺติ
ว่าความพ้นพิเศษของเราไม่กลับกำเริบแล้ว
อยมนฺติมา ชาติ
ชาตินี้เป็นที่สุด
นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ
ชาติต่อไปของเราจักไม่มีอีกแล้ว


ในระยะต่อมา ท่านได้นิมิตว่าท่านได้ลอยว่ายน้ำไปในแม่น้ำ เมื่อมองขึ้นไปยังฝั่งทั้งสองก็ปรากฏว่าเห็นกองกระดูกมีสีต่างๆ เต็มไปหมด ท่านตัดสินใจกระโดดขึ้นบนฝั่ง แล้ววิ่งออกไปประมาณ ๕ วา และเมื่อท่านได้หันหลังกลับมาดู ก็ปรากฏว่า น้ำได้ซัดกองกระดูกหายไปหมด...ท่านว่ากองกระดูกนั้นเปรียบเหมือนการเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติต่างๆ ที่ผ่านมาของท่านจนนับไม่ถ้วน แต่เมื่อท่านขึ้นฝั่งได้แล้ว และหันกลับไปไม่เห็นกองกระดูกอีก ก็เท่ากับว่าท่านได้พ้นจากการเวียนว่ายต่ายเกิดแล้ว นับแต่นี้ไปจะไม่กลับมาเกิดมาตายกองกันอีก ตลอดอนันตกาล

นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
วิราคา วิมุจฺจติ
เพราะคลายความติด จิตก็พ้น
วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมีติ ญาณํ โหติ
เมื่อจิตพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่า พ้นแล้ว ดังนี้
ขีณา ชาติ
อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ
พรหมจรรย์เราได้อยู่จบแล้ว
กตํ กรณียํ
กิจที่ควรทำเราได้ทำเสร็จแล้ว
นาปรํ อิตฺถตฺตยาติ ปชานาตีติ
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกแล้ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2014, 14:51 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ต.ค. 2014, 14:21
โพสต์: 7

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พรรษาที่ ๒๐ (พ.ศ.๒๕๐๙)
วัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี


หลวงปู่กลับมาจำพรรษากับหลวงปู่อ่อนอีกครั้ง และเป็นปีสุดท้ายที่ท่านได้อยู่กับหลวงปู่อ่อนอีกด้วย เป็นเหตุให้ท่านได้รู้จักคุ้นเคยกับท่านพระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร (วัดถ้ำสหาย อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี) ภายหลังท่านพระอาจารย์จันทร์เรียนได้ถวายตัวเป็นศิษย์ติดตามหลวงปู่ชอบ นับว่าท่านเป็นศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่ชอบองค์หนึ่ง สำหรับท่านพระอาจารย์จันทร์เรียนนั้นมีความเคารพ และมีความคุ้นเคยสนิทสนมพร้อมกับเป็นห่วงสุขภาพหลวงปู่เพียรเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการที่ท่านได้เดินทางมากราบเยี่ยมหลวงปู่ทีวัดป่าหนองกองอยู่เป็นประจำ

พรรษานั้นมีพระที่ร่วมจำพรรษาทีวัดป่านิโครธารามเท่าที่ท่านจำได้มี หลวงปู่อ่อนเป็นปราน ตัวท่าน (หลวงปู่เพียร) หลวงปู่ลี หลวงปู่บุญพิน หลวงปู่อว้าน เขมโก (วัดป่านาคนิมิตต์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) ท่านพระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร (วัดป่าหมู่ใหม่ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่)

ออกพรราแล้วหลวงปู่อ่อน ได้สั่งให้หลวงปู่และหลวงปู่บุญพิน ให้พาสามเณรชาวจังหวัดนครพนมกลับไปขึ้นทะเบียนทหารที่บ้าน เมื่อถึงจังหวัดนครพนมแล้ว หลวงปู่พาคณะเข้าพักที่วัดป่าบ้านหัวดง ซึ่งในที่นั้นมีหลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นประธานในขณะนั้น หลวงปู่มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับหลวงปู่ศรี เมื่อครั้งยุคห้วยทรายเป็นต้นมา เมื่อทำธุระเรียบร้อยแล้วก็ได้พาคณะกราบลาหลวงปู่ศรี แล้วได้มาพักภาวนาที่ภูลังกา ก่อนที่จะขึ้นไปภูลังกานั้น หลวงปู่บุญพินได้สั่งให้ญาติของท่านจัดเตรียมเสบียงให้ เพราะที่ภูลังกานั้นห่างไกลจากที่โคจรบิณฑบาตมาก ญาติของหลวงปู่บุญพินจึงได้จัดเตรียมอาหารให้ได้ครบหนึ่งอาทิตย์พอดี พร้อมกับขนขึ้นไปส่งข้างบนด้วย หลวงปู่บุญพินได้พูดถึงหลวงปู่เพียรว่า “ตอนอยู่ภูลังกาด้วยกันนั้น ท่าน (หลวงปู่เพียร) ได้แยกกับคณะออกไปภาวนาอยู่รูปเดียวไกลๆ ตอนใกล้สว่างแล้ว ท่านค่อยกลับมารักษาครองผ้า และเตรียมรับบิณฑบาตอาหารที่สามเณรได้จัดเตรียมเอาไว้”

พอเสบียงหมดลง จึงได้พากันลงมาจากภูลังกาจะกลับบ้านหนองบัวบาน ระหว่างทางได้อาศัยรถของคนรู้จักมาส่งที่อำเภอพังโคน จึงได้แวะพักกับหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต วัดศรีจำปาชนบท จากนั้นก็ได้เดินทางต่อจนถึงจังหวัดอุดรธานี


พรรษาที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๕๑๐)
วัดธาตุฝุ่น อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร


พรรษานี้หลวงปู่เพียรจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์เต็ม ขนฺติโก ที่วัดธาตุฝุ่น (ต่อมาภายหลังท่านพระอาจารย์เต็มได้ย้ายมาอยู่ที่วัดท่าวารีศรีสาคร อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งวัดนี้หลวงปู่ขาวก็เคยจำพรรษาอยู่ที่นี่ หลังปีที่องค์หลวงปู่มั่นเข้าสู่นิพพาน ภายหลังมีหลวงปู่สิงห์ สหธมฺโม ได้มาประจำอยู่) หลวงปู่ได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการฟังธรรมจากหลวงปู่พร สุมโน วัดป่าประชานิยม บ้านหนองหลวง ซึ่งก็ไม่ห่างไกลกันมากนัก หลวงปู่พรรูปนี้ท่านเป็นพี่ชายของหลวงปู่บุญ ชินวํโส วัดป่าศรีสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน และท่านยังเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่พรได้ถือนิสัยติดตามหลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นเป็นเวลานานถึง ๙ ปี


พรรษาที่ ๒๒-๒๓ (พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๑๒)
วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี


หลวงปู่เพียรได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่ขาวได้อาพาธลง ซึ่งอาการเป็นที่น่าวิตกเป็นอย่างมาก ตั้งแต่กลางพรรษาปี ๒๕๑๐ ครั้นพอออกพรรษาแล้ว ท่านจึงได้เดินทางมาจังหวัดอุดรธานีอีกเพื่อเข้าปฏิบัติดูแลอาพาธของหลวงปู่ขาว ร่วมกับครูบาอาจารย์อีกหลายรูป เช่น ท่านพระอาจารย์วัน ท่านพระอาจารย์จวน ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง หลวงปู่บุญเพ็ง ท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ หลวงปู่ปรีดา (ทุย) เป็นต้น โดยมีนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ จากโรงพยาบาลศิริราชเป็นเจ้าของไข้ ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติเมื่อทราบข่าวว่าหลวงปู่ขาวได้อาพาธอย่างหนัก ต่างจึงได้ทยอยเข้ามาพักที่วัดถ้ำกลองเพลเพื่อเยี่ยมเยียนอาการอาพาธของหลวงปู่ขาวมิได้ขาด มีหลวงปู่อ่อน หลวงปู่ฝั้น องค์หลวงตามหาบัว หลวงปู่บุญจันทร์ เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้วัดถ้ำกลองเพลเต็มไปด้วยพระเณรตลอดเวลา

หลวงปู่อว้านเมตตาเล่าให้ฟัง “ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ไปกันมาก เพราะต่างก็เป็นห่วงสุขภาพของหลวงปู่ขาว คราวองค์หลวงตามหาบัวท่านไปนั้น หลวงปู่เพียรได้ชวน (หลวงปู่อว้าน) ไปจับเส้นถวายองค์หลวงตาด้วยกัน จับเส้นถึงองค์หลวงตาท่านหลับไป หลวงปู่เพียรจึงได้เอามุ้งกลดลงแล้วจึงได้พากันออกมา
เมื่อจำนวนพระเณรมากขึ้นเช่นนี้ หลวงปู่จึงได้ออกมาพักที่วัดป่าหนองแซง ซึ่งก็ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดถ้ำกลองเพลมากนัก เพื่อจะได้เข้าออกได้สะดวก และบางครั้งก็รอฟังข่าวอาพาธของหลวงปู่ขาวที่นี่เลย โดยได้อาศัยบารมีธรรมของหลวงปู่บัว สิริปุณโณ ท่านจึงได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง ซึ่งท่านได้อยู่ที่นี่เป็นเวลาสองพรรษาติดต่อกัน


พรรษาที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๑๓)
วัดถ้ำผาด้วง อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู


เมื่ออาการอาพาธของหลวงปู่ขาวดีขึ้นเป็นำดับ ประกอบกับพระเณรทีวัดถ้ำกลองเพลนั้นมีเป็นจำนวนมาก หลวงปู่เพียรจึงได้กราบลาหลวงปู่บัวเพื่อออกเที่ยววิเวกไปภาวนาตามป่าตามเขา ซึ่งอัธยาศัยของท่านนั้นมีความชอบป่าชอบถ้ำเงื้อมผาเป็นอย่างมาก ท่านจึงมักที่จะหลบหลีกปลีกตัวออกมาจากหมู่คณะเพื่อประกอบสมาธิภาวนาอยู่เสมอ ท่านได้เดินทางมาแสวงหาที่วิเวกในเขตอำเภอสุวรรณคูหา แต่เดิมขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี ซึ่งใขเขตอำเภอสุวรรณคูหานี้มีภูเขามีถ้ำที่พระกรรมฐานมักจะมาพักภาวนาอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านได้เดินทางมาพักที่วัดถ้ำผาด้วง และมีความพอใจเป็นอย่างมาก เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะต่อการบำเพ็ญภาวนา จึงได้ตกลงใจจำพรรษาที่นี่ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๒๔ ของท่าน ท่านว่า “ปีอยู่ถ้ำผาด้วงหมู่จำพรรษานำกันมา มีพระ ๓ เณร ๕ องค์พุ่น”


พรรษาที่ ๒๕-๖๑ (พ.ศ.๒๕๑๔-๒๕๕๒)
วัดป่าหนองกอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี


ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงปู่เพียรได้เที่ยววิเวกมาทางหมู่บ้านหนองกอง ท่านได้ไปพบวัดป่าหนองกอง ซึ่งขณะนั้นมีกุฏิและศาลาๆ เล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง ศาลาหลังนี้มีพระชาวภูไทมาสร้างไว้ก่อนที่หลวงปู่จะมาราว ๑ ปี ต่อมาพระองค์นี้ก็สึกออกไป ก็เลยไม่มีพระอยู่ประจำมีแต่พระอาคันตุกะเทียวไปเทียวมา หลวงปู่ได้มาพักที่นี่ระยะหนึ่งแล้วได้จาริกเที่ยวไปอีก สุดท้ายได้กลับไปยังวัดถ้ำกลองเพลอีก ก่อนเข้าพรรษาปีนั้น ชาวบ้านหนองกองได้พากันเดินทางไปยังวัดถ้ำกลองเพล เพื่อกราบขอโอกาสต่อหลวงปู่ขาว ให้ท่านเมตตาจัดส่งพระมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองกอง หลวงปู่ขาวจึงได้พูดกับท่านว่า “จะไปได้ไหม” หลวงปู่ทราบความประสงค์ของหลวงปู่ขาวแล้ว จึงได้ให้ญาติโยมนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนขออนุญาตจากองค์หลวงตาอีกทีหนึ่ง เมื่อองค์หลวงตาท่านทราบและอนุญาตแล้ว หลวงปู่จึงได้กราบลาหลวงปู่ขาวเดินทางมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองกองนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งในปีนั้นมีพระเณรจำพรรษาร่วมกัน ๕ รูป ท่านว่า “ปีมาอยู่ทีแรก มีพระเณรรวมกัน ๕ องค์” มีตัวหลวงปู่เป็นประธาน ท่านพระอาจารย์น้อย ปญฺญาวุโธ ท่านพระอาจารย์พรหม พระอีกรูปหนึ่ง (จำไม่ได้) และสามเณรจ่อย

ต่อมาๆ จึงได้มีลูกหลานชาวบ้านหนองกองได้มีศรัทธาออกบวชอยู่กับหลวงปู่เป็นจำนวนมาก หลวงปู่จึงได้จำพรรษาที่วัดป่าหนองกองนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงมรณภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2014, 15:14 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ต.ค. 2014, 14:21
โพสต์: 7

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความเป็นมาของวัดหนองกอง

วัดป่าหนองกอง เดิมเป็นป่าที่ไม่มีใครจับจอง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านหนองกอง ตำบลบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านผือไปทางทิศเหนือประมาณ ๘ กิโลเมตร ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๖๖-๒๔๖๗ (จากประวัติหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ) หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต องค์ท่านได้พำนักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าดงมะไฟ บ้านค้อ (วัดป่าสาระวารี ในปัจจุบัน) ซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้านหนองกองมากนัก ถึงฤดูแล้งท่านได้ออกรุกขมูลเที่ยววิเวกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อประกอบสมณธรรม จนมาถึงบริเวณเสนาสนะป่าแห่งนี้ ท่านจึงได้เข้าพักบริเวณต้นกระบก (ปัจจุบันยังมีอยู่) เพื่อพักบำเพ็ญเพียรภาวนา ครั้นต่อมาท่านจึงได้จาริกสู่ที่แห่งอื่นต่อไป ภายหลังได้มีครูบาอาจารย์พระกรรมฐานลูกศิษย์ขององค์ท่านได้จาริกมาพักเพื่อบำเพ็ญภาวนา ณ เสนาสนะป่าแห่งนี้เป็นประจำมิได้ขาด ดังเช่นหลวงปู่หล้า ขนฺติโก (วัดป่าบ้านนาเก้น อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร (วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร) เป็นต้น จึงนับเป็นสถานที่มงคลแห่งหนึ่ง ชาวบ้านหนองกองจึงได้พร้อมใจกันพัฒนาให้กลายเป็นวัดขึ้นมา แต่ก็ไม่มีพระอยู่เป็นประจำ

ในราวพุทธศักราช ๒๕๑๔ ทายกทายิกาชาวบ้านหนองกองได้เดินทางไปกราบเรียนเรื่องนี้ต่อองค์หลวงปู่ขาว เพื่อให้ท่านทราบและเมตตา โดยหลวงปู่ขาวได้เมตตาชาวบ้านพร้อมได้สั่งให้หลวงปู่เพียร วิริโย ซึ่งขณะนั้นได้พักอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพลมาจำพรรษาที่วัดป่าแห่งนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาจึงได้ทำการขยายพื้นที่ของวัดให้กว้างขวางมากขึ้นตามความดำริและเมตตาขององค์หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พร้อมกับได้ก่อกำแพงล้อมรอบเนื้อที่แห่งนี้เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อที่ของวัด ปัจจุบันวัดป่าหนองกองมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑๓๐ ไร่

วัดป่าหนองกอง ในยุคปัจจุบัน

ณ ผืนป่าอันร่มรื่นแหงนี้ ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๐ ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีตอย่างดี เป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์น้อยใหญ่ชนิดต่างๆ เช่น เม่น กระจง ตะกวด กระรอก กระแต กระต่าย เต่า ปลา เป็นต้น อีกทั้งยังมีสระน้ำที่กักเก็บน้ำได้ตลอดปีอีกหลายแห่ง สถานที่จึงให้ความรู้สึกเย็นสบาย เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา ทั้งยังตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านผู้คนพอประมาณ วัดป่าหนองกองจึงเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการฝึกอบรมด้านจิตภาวนาสำหรับบุคคลผู้สนใจทั้งพระและฆราวาสได้เป็นอย่างดี

เสนาสนะ

ภายในสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ณ จุดศูนย์กลางพื้นที่ของวัดมีศาลาการเปรียญไม่ยกพื้นหนึ่งหลังตั้งอยู่ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระประธานของวัด พร้อมทั้งรูปเหมือนรูปภาพของครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ ทำสังฆกรรมต่างๆ ร่วมกันของพระภิกษุภายในวัด เช่น ลงอุโบสถ อธิษฐานเข้าพรรษา ปวารณาออกพรรษา และกรานกฐิน เป็นต้นตลอดจนใช้เป็นที่ฉันจังหันตอนเช้า และใช้เป็นที่ต้อนรับญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด เป็นต้น

ที่พักของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูปนั้น เป็นกุฏิแบบเรียบง่ายพอแก่การบังแดดบังฝน มีขนาดเพียงพอสำหรับอาศัยอยู่เพียงรูปเดียว ไว้เป็นที่พักเก็บอัฐบริขาร มีบาตร จีวร และบริขาร ที่จำเป็นจริงๆ ของแต่ละรูป นอกจากนั้นกุฏิแต่ละหลังจะต้องมีทางเดินจงกรมอย่างน้อย ๑ เส้น ไว้เป็นที่เปลี่ยนอิริยาบทในการภาวนา และนอกจากนี้กุฏิแต่ละหลังยังอยู่ห่างกันพอประมาณ เพื่อให้สะดวกต่อการประกอบความพากเพียร พร้อมทั้งยังมีที่พักของแม่ชี ญาติโยมผู้สนใจในการภาวนาซึ่งได้แบ่งเขตออกอย่างเป็นระเบียบ

กิจวัตรและข้อวัตรของพระภิกษุสามเณร

กิจวัตรหลักของพระภิกษุสามเณรในวัดนี้คือการบำเพ็ญจิตตภาวนา มีการนั่งสมาธิเดินจงกรมเป็นสำคัญ นอกจากนั้นแล้วก็ศึกษาพระธรรมวินัยตามกาล เป็นการปฏิบัติบูชาสืบทอดพระพุทธศาสนาไปในตัวด้วย

ในยามเช้าของแต่ละวัน พระภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่ตามวาระของตน จะจัดอาสนะตามลำดับพรรษา พร้อมทั้งตั้งกระโถน ถาดสำหรับถ่ายบาตร เป็นต้น พร้อมทำความสะอาดบริเวณรอบๆ ศาลา พอได้อรุณ พระเณรต่างก็มาพร้อมกัน แล้วช่วยกันทำความสะอาดบริเวณรอบๆ ศาลาอีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนถนนหน้าวัด จากนั้นในวันที่ท้องผ้าปลอดโปร่งเป็นปกติ พระจะครองจีวรซ้อนสังฆาฏิ แล้วออกเดินเท้าเข้าสู่หมู่บ้านพร้อมกัน แล้วตั้งต้นรับบาตรในหมู่บ้าน ในระหว่างพรรษาท่านจะแวะรับบาตรจากญาติโยมที่บริเวณหน้าวัดอีกครั้งหนึ่ง

กลับจากบิณฑบาตแล้ว พระเณรจะจัดอาหารหวานคาว รวมลงในบาตรของท่น เมื่อเสร็จเรียบร้อย หลวงปู่จะให้พรญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด จากนั้นท่านจะพิจารณาอาหารในบาตร แล้วค่อยลงมือฉันตามลำดับลงมาด้วยอาการสำรวม

เมื่อเสร็จจากฉันจังหันแล้ว พระเณรจะล้างบาตรและดูบริขารของตนให้เรียบร้อย จากนั้นจึงค่อยกลับที่พักของตนแล้วตากบาตรบ้าง นั่งภาวนาหรือศึกษาพระธรรมวินัยบ้าง เห็นสมควรแล้ว บางองค์ก็อาจจะมีการพักผ่อนกลางวัดบ้างตามแต่อัธยาศัย

ในเวลาบ่าย พระภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมน้ำปานะไว้รอพระซึ่งท่านจะมาฉันน้ำร้อนน้ำปานะร่วามกันในเวลาประมาณบ่ายสองโมง เสร็จแล้วต่างองค์ค่างก็กลับที่พักที่อยู่ของตน แล้วทำการปัดกวาดที่อยู่ ทางเดินของตน มุ่งหน้ามารวมกันที่ศาลาแล้วก็จะช่วยกันปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดศาลา โรงฉันน้ำปานะ และตักน้ำบรรจุใส่ตามที่ล้างบาตรล้างเท้าพร้อมกัน

จากนั้นพระท่านจะรวมกันที่กุฏิหลวงปู่เพื่อที่จะสรงน้ำถวายหลวงปู่ เสร็จแล้วท่านจะแยกย้ายกลับที่พักของตน เพื่อสรงน้ำแล้วค่อยบำเพ็ญภาวนาต่อไป

ถ้าเป็นวันพระตอนเย็น ท่านจะร่วมกันไหว้พระสวดมนต์เย็นและนั่งภาวนาที่ศาลาด้วยกัน สมัยที่หลวงปู่ยังแข็งแรง ท่านจะลงมากำกับเรื่องนี้เอง บางครั้งท่านก็เปิดเทปธรรมะขององค์หลวงตาให้ฟัง ในบางคราวท่านก็จะเทศนาอธิบายธรรมะให้พระฟังเองแต่ก็มีน้อยครั้ง เพราะโดยจริตนิสัยของหลวงปู่ท่นพูดน้อยเทศน์น้อยอยู่แล้ว และสมัยนั้นก็ไม่บันทึกเสียงเอาไว้ จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เห็นเวลาสมควรแล้ว ท่านจึงค่อยเลิกและแยกย้ายกันกลับกุฏิทำความเพียรต่อ

ปฏิปทาหลวงปู่พาดำเนิน

ด้านข้อวัตรปฏิบัติ

ปฏิปทาด้านข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่นั้น ท่านจะยึดปฏิปทาขององค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ของท่านเป็นแบบฉบับในการดำเนินอย่างเคร่งครัด มีการถือธุดงค์ข้อต่างๆ เช่น ข้อถือผ้าสามผืน (เฉพาะไตรจีวร) เป็นวัตร ข้อถือบิณฑบาตเป็นวัตร ข้อถือบิณฑบาตตามแถวเป็นวัตร ข้อถือฉันในบาตรเป็นวัตร ข้อถือฉันอาหารมื้อเดียวเป็นวัตร ข้อถือการอยู่ในเสนาสนะที่ท่านจัดให้เป็นวัตร ข้อถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นต้น ในบางคราวก็ถือเนสัชิกังเป็นวัตร ในช่วงเข้าพรรษา หลวงปู่จะพาพระเณรถือธุดงค์ข้อไม่รับอาหารตามส่งเป็นวัตรอีกข้อหนึ่ง ซึ่งธุดงค์ในแต่ละข้อล้วนแต่ส่งเสริมให้ผู้ภาวนาก้าวหน้าในทางปฏิบัติทั้งสิ้นไม่ว่ากาลใดๆ ซึ่งหลวงปู่ก็เป็นครูบาอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่เคร่งครัดในธุดงควัตร

ด้านความเพียร สมัยที่ธาตุขันธ์แข็งแรง ท่านจะปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่างเสมอ เช่น ด้านการประกอบความพากเพียร ท่านจะปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ดูด้วยการเดินจงกรมเป็นต้น บางทีท่านก็จะขนาบพระลูกศิษย์อย่างแรก เพื่อให้ตั้งอกตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติภาวนา ท่านจะเน้นเสมอว่า “ให้พากันทำความพากเพียร อย่าพากันคุยกัน มันบ่เกิดประโยชน์มีแต่สิเฮ็ดเราให้เสื่อมลง” เป็นต้น

สมัยที่ท่านแข็งแรง ท่านจะคอยเดินตรวจดูการประพฤติปฏิบัติในการประกอบความเพียรของลูกศิษย์อยู่เสมอ ท่นมักจะห้ามการจับกลุ่มพูดคุยกันตามกุฏิ บางทีท่านก็จะเดินตรวจดูตามทางเดินจงกรมตามที่พักของพระเณร กุฏิไหนมีรอยเท้าบนเส้นจงกรมท่านก็จะไม่ว่า ถ้ากุฏิไหนไม่มีรอยเท้าเลย ตอนเช้าของวันต่อมาท่านจะขนาบพระองค์นั้นอย่างแรงบนศาลานั่นเอง บางทีถึงกับไล่หนีให้ออกจากวัดไปก็มี เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นเมตตาของหลวงปู่ที่มีต่อลูกศิษย์ลูกหานั่นเอง เพราะท่านไม่ต้องการให้พระลูกศิษย์อยู่ด้วยความประมาท

ด้านปัจจัยสี่

ปัจจัยสี่ที่ได้มาโดยธรรม ท่านจะบริหารโดยธรรมโดยเหตุโดยผลที่ท่านพิจารณาแล้ว ส่วนหนึ่งก็จัดเก็บไว้สำหรับพระเณรและญาติโยมผู้มาปฏิบัติภาวนาที่วัด สิ่งของบางอย่างถ้ามีเป็นจำนวนมาก ท่านก็จะบริจาคสงเคราะห์ให้กับญาติโยมผู้ที่ขัดสนตามเหตุและผลของรายนั้นๆ ไป

การใช้บริขารต่างๆ นั้น ท่านจะใช้สอยอย่างประหยัดมัธยัสถ์เสมอ เช่นบริขารที่เป็นผ้า มีผ้าจีวรเป็นต้น ท่านจะใช้อย่างทะนุถนอม เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนานที่สุด ท่านไม่ชอบความสุรุ่ยสุร่าย ถ้าท่านเห็นพระรูปใดทำไม่พูกต้อง ท่านจะติเตียนการกระทำเช่นนั้นเสมอ

ด้านการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด ท่านจะทำตามความจำเป็น จะไม่ทำเพื่อความสวยงามเพื่ออวดร่ำรวยแต่อย่างใด ท่านจะไม่ส่งเสริมการก่อสร้างใดๆ เลย หากมีความจำเป็นที่จะต้องบูรณะเสนาสนะภายในวัด ท่านจะกำชับให้รีบทำให้เสร็จเพื่อจะได้มีเวลาประกอบความพากเพียรต่อไป การก่อสร้างเป็นเหตุให้เสียเวลา ท่านจึงมักตำหนิเสมอ

ด้านธรรมะปฏิสันถาร

หลวงปู่มีนิสัยพูดน้อย ญาติโยมที่เดินทางมากราบนมัสการท่าน ถ้าไม่รู้อัธยาศัยของท่านแล้ว มักจะกลัวท่านเพราะท่านไม่ค่อยพูดค่อยถามอะไรเท่าไหร่ ท่านมักจะพูดคุยสองสามประโยคแล้วบอกให้กลับก็ยังมี ครั้งหนึ่งมีคณะพระภิกษุเดินทางมากราบนมัสการฟังธรรมจากหลวงปู่ หลวงปู่ก็สอบถามพูดคุยกันอย่างเป็นกันเองด้วยความเมตตา ได้เวลาพอสมควรพระก็ลากลับ พอเดินถึงบันไดกุฏิ หลวงปู่ก็พูดตามหลังด้วยความเมตตาว่า “ครูบาๆ...พากันตั้งใจทำความเพียรเดือ ให้เอาความเพียรเป็นเครื่องอยู่เน้อ”

สำหรับผู้ที่เดินทางมาปฏิบัติภาวนาในวัด ท่านมักจะเมตตาเป็นพิเศษ ทั้งด้านที่พัก ด้านอาหารการกิน ท่านจะสอบถามอยู่เสมอ และจะสั่งให้คนจัดให้ตามความจำเป็นนั้นๆ ไป

ด้านปรารภธรรมะ ท่านจะพูดคุยเป็นใจความสั้นๆ เพื่อเป็นคติในด้านภาวนา ท่านจะไม่แสดงอย่างพิศดาร ทั้งนี้เพราะหลวงปู่ท่านอยากจะให้ผู้ที่มาสอบถามท่านตั้งใจประกอบความเพียรมากกว่าที่จะมาถวามเอาความรู้ เพราะธรรมะที่แท้จริงนั้นจริงๆ แล้วเกิดจากการประพฤติปฏิบัติภาวนาของตนจึงจะเป็นสมบัติของตน แต่การสอบถามธรรมะนั้นโดยส่วนมากมักจะกลายเป็นสัญญาความจำไป จึงไม่ค่อยจะเกิดประโยชน์เท่าที่ควร

หลวงปู่กับโครงการช่วยชาติ

เมื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของท่าน คือองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้ดำริและดำเนินการโครงการช่วยชาติขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติในยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเงินบาทอ่อนลงอย่างรวดเร็วเป็นหนี้สินต่างประเทศ คนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้คนไทยขาดที่พึ่ง ความทุกข์เข้าครอบงำจิตใจก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วทั้งประเทศ

องค์หลวงตาท่านได้พิจารณาเห็นว่าหนทางที่คนไทยจะรอดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ จะต้องอาศัยธรรมค้ำแผ่นดินเท่านั้น องค์ท่านจึงได้เมตตานำธรรมออกมาประคับประคองค้ำจุนหนุนแผ่นดินไทย เพื่อให้ความอบอุ่นร่มเย็นแก่คนไทยทั้งชาติ จึงได้เกิดโครงการผ้าป่าช่วยชาติโดยหลวงตาพระมหาบัว ขึ้นมา หลวงปู่เพียรซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงตารูปหนึ่งจึงได้ช่วยเหลือโครงการอย่างเต็มกำลังความสามารถของท่าน ทั้งน้เพื่อเป็นการสนองคุณต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ของท่านด้วย เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติด้วย หลวงปู่จะนำทองคำและเงินตราสุกลต่างๆ ที่ลูกศิษย์ได้นำมาถวายท่าน นำไปมอบถวายองค์หลวงตาที่วัดป่าบ้านตาดด้วยตัวท่านเองเสมอ จนในที่สุดโครงการช่วยชาติขององค์หลวงตาประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวังขององค์ท่าน ทั้งนี้ก็ด้วยบารมีขององค์หลวงตาเองด้วย ด้วยแรงกำลังศรัทธาจากคณะลูกศิษย์ลูกหาทั้งพระและฆราวาสจากทั่วสารทิศด้วย

องค์หลวงตากับหลวงปู่

เนื่องด้วยหลวงปู่เพียรได้ติดตามองค์หลวงตาพระมหาบัวมาตั้งแต่ต้น และองค์หลวงตาก็มีความเมตตาในตัวหลวงปู่เสมอมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระหนุ่มจนถึงปัจจุบัน เมื่อหลวงปู่ได้มาประจำอยู่ที่วัดป่าหนองกอง องค์หลวงตาก็เมตตาเยี่ยมเยียนสำนักแห่งนี้เป็นประจำทุกเดือนมิได้ขาด ครั้นหลวงปู่อาพาธลง องค์หลวงตาได้ถามไถ่ถึงอาการอาพาธด้วยความเป็นห่วงเสมอ

สมัยที่หลวงปู่มีสุขภาพแข็งแรง องค์หลวงตามักจะให้ท่านติดตามไปในที่นิมนต์ต่างๆ เป็นประจำ เช่น ที่สวนแสงธรรม กรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดต่างๆ ที่ลูกศิษย์ลูกหานิมนต์มาเป็นต้น จึงมักจะปรากฏเห็นภาพของหลวงปู่บิณฑบาตเดินตามหลังองค์หลวงตาเป็นประจำ

ส่วนหลวงปู่นั้นท่านมีความเคารพในองค์หลวงตาเป็นอย่างยิ่ง มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเคารพที่หลวงปู่มีต่อองค์หลวงตาคือ ครั้งนั้นหลวงปู่อาพาธหนักต้องได้รับการผ่าตัดที่บริเวณนิ้วนางของเท้าข้างขวาที่โรงพยาบาลเอกอุดร แต่ด้วยยังไม่ได้กราบเรียนให้องค์หลวงตาทราบว่าจะต้องมีการผ่าตัด หลวงปู่จึงไม่ยอมให้คณะแพทย์ทำการผ่าตัด จวบจนได้มีผู้กราบเรียนให้องค์หลวงตาทราบ และอนุญาตให้หลวงปู่ผ่าตัดได้ หลวงปู่จึงยอมให้คณะแพทย์ทำการผ่าตัดได้ นี่เป็นตัวอย่างอันดีงามที่หลวงปู่ได้แสดงให้เห็นถึงความเคารพในองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ของท่าน

เทศนากัณฑ์ใหญ่

ปกติหลวงปู่ท่านจะเดินทางไปวัดป่าบ้านตาดในวันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี โดยระยะหลังท่านจะนำเองทองคำและปัจจัยไปน้อมถวายต่อองค์หลวงตาเป็นประจำ เพื่อเป็นการบูชาคุณองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ของท่าน และเมื่อคืนวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ท่านก็สั่งให้พระเตรียมพร้อมเพราะจะต้องเดินทางแต่เช้ามืด คืนวันนั้นหลวงปู่เข้าพักเพียงไม่กี่ชั่วดมงแล้วก็ลุกขึ้นมา พร้อมกับบอกให้พระพยุงตัวท่านออกมานั่งนอกห้องหน้ากุฏิ พอนั่งลงแล้วหลวงปู่ก็พูดขึ้นวา “นานแจ้งแท้...อยู่เชียงใหม่ก็นานแจ้งคือกัน” พร้อมกับมองมายังพระที่นั่งเฝ้าอยู่ด้วยความเมตตา แล้วสักครู่ท่านก็พูดขึ้นอีกว่า “มื้อนี่...สิเทศน์ให้หมู่ฟังก่อนน๊า” พร้อมกับยิ้มอย่างเมตตาแล้วคู้ขาขึ้นนั่งขัดสมาธิแล้วก็หลับตานิ่งอยู่อย่างนั้น พระท่านก็นึกดีใจว่าจะได้ฟังโอวาทของหลวงปู่ แต่ก็ไม่เห็นว่าหลวงปู่ จะพูดว่าอย่างไร สักพักพระท่านก็เข้าใจ เพราะเทศนาที่หลวงปู่กล่าวแสดงถึงก็ถือ การปรารภความเพียร นั่นเอง

อาพาธ

หลวงปู่อาพาธด้วยโรคปอด (ถุงลมโป่งพอง) และโรคหัวใจทำงานหนัก โดยเฉพาะโรคปอดนั้น มีอาการหนักอยู่มาก ท่านเริ่มสุขภาพไม่ดีปรากฏอย่างชัดเจนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม คณะครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่มีหลวงปู่บุญมี ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ท่านพระอาจารย์จันทร์เรียน ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก (วัดป่านาคำน้อย) ท่านพระอาจารย์คูณ สุเมโธ (วัดป่าภูทอง) เป็นต้น ต่างองค์ก็มีความเป็นห่วงและเป็นธุระช่วยเหลือในการดูแลรักษาสุขภาพของหลวงปู่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังคอยให้คำแนะนำพระเณรให้ปฏิบัติต่อหลวงปู่ได้อย่างถูกต้องด้วย ทั้งบรรดาพระลูกศิษย์ของท่านตั้งแต่รูปที่มีพรรษามากๆ ซึ่งได้ศึกษาอยู่กับหลวงปู่มาแต่ต้น ทั้งพระลูกศิษย์ที่มีอายุพรรษาไล่เรียงลงมาเป็นลำดับ จนถึงบรรดาพระเณรที่ถือนิสัยในองค์หลวงปู่ภายในวัดป่าหนองกอง ต่างก็ได้ช่วยกันอุปัฏฐากดูแลอาการอาพาธหลวงปู่อย่างเต็มกำลังด้วยกันทุกรูปทุกนาม ทั้งคณะศิษย์ฆราวาสจากกรุงเทพมหานคร อุดรธานีและจากจังหวัดต่างๆ รวมถึงคณะหมอจากโรงพยาบลศูนย์อุดรธานี และโรงพยาบาลสมเด็จพยุพราช อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ต่างก็มีความเป็นห่วงอาการอาพาธของหลวงปู่ และต่างก็ร่วมกันอำนวยความสะดวกในการดูแลอาการอาพาธขององค์หลวงปู่เป็นอย่างดีทุกๆ ฝ่าย เมื่อหลวงปู่อาพาธ ประกอบกับด้วยวัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทางคณะศิษย์ต่างก็มีความต้องการที่จะให้หลวงปู่มีความสบายทางธาตุขันธ์มากขึ้น จึงได้กราบเรียนขออนุญาตจากองค์ท่านเพื่อจะทำการปรับปรุงกุฏิของหลวงปู่ให้มีความกว้างขวาง เพื่อที่จะสะดวกในเวลาถวายการรักษา ซึ่งหลวงปู่ก็เมตตาอนุญาตให้ทำการปรับปรุงได้ ซึ่งเมื่อก่อนกุฏิของท่านมีขนาดเล็กและไม่สะดวกในการถวายการรักษาเพราะคับแคบอยู่มาก ปัจจุบันกุฏิของหลวงปู่ได้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมด้วยความร่วมมือจากคณะศิษย์ทั้งพระและฆราวาสจนแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

มรณกาล

ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ หลังจากที่หลวงปู่ได้สรงน้ำ และเข้าพักผ่อนตามปกติในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. พระอุปัฏฐากได้ถวายน้ำปานะและยารอบเย็น โดยตลอดทั้งวันองค์หลวงปู่ก็ยังมีอาการปกติ แต่จะดูเหนื่อยอ่อนอยู่บ้าง เนื่องจากเมื่อช่วงกลางวันมีคณะบุคคลเข้ากราบนมัสการ และเวลา ๑๘.๓๐ น. พระได้ขึ้นมาถวายการจับเส้น (นวดเฟ้น) ถวายหลวงปู่ รวมทั้งพระเวรอุปัฏฐากในตอนกลางคืน ซึ่งตลอดเวลาในการนวดเส้นถวายท่าน องค์หลวงปู่ก็ยังดูปกติ ซึ่งสังเกตุได้จากการที่มีพระมากราบเรียนเรื่องต่างๆ เช่น มากราบขออนุญาตนำไม้ไปซ่อมแซมกุฏิ ท่านก็ยั้งพิจารณาอนุญาต แต่ก็ยังดูมีอาการเหนื่อยอ่อนอยู่บ้าง (แต่ก็เป็นปกติ) ซึ่งท่านได้พักจำวัดและตื่นเป็นระยะๆ สลับกัน หากไม่มีใครไปกราบเรียนเรื่องใด ท่านก็จะหลับตาพักผ่อนอยู่ตลอดเวลา

ในเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. หลวงปู่พยายามจะแกะเทปกาวและสายยางสำหรับถวายอาหารออกจากปาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติหากท่านเกิดระคายระเคือง หรือรำคาญ แต่หากพระอุปัฏฐากขอโอกาสท่านเมตตาโดยห้ามไว้ ท่านก็จะไม่ดึงออกบ้างตามโอกาส แต่ในวันนี้หลังจากที่พระอุปัฏฐากขอโอกาสท่านเมตตาไม่ดึงสายยางออกและกราบเรียนว่า ใกล้ถึงเวลาถวายน้ำปานะและยา เวลา ๒๓.๐๐ น. แล้ว องค์หลวงปู่มิได้ดุ แต่กลับบอกว่า “บ่เป็นหยัง บ่ฉันดอก”แล้วองค์หลวงปู่ก็ได้ดึงสายยางถวายอาหารออก แล้วท่านก็ได้พักผ่อนจำวัด สลับการตื่นอยู่เป็นระยะๆ จนในช่วงเช้ามืดซึ่งเป็นวันลงอุโบสถ พระอุปัฏฐากบางส่วนจึงได้ไปลงอุโบสถ และได้มีการสอดสายยางเพื่อถวายอาหารให้ท่านใหม่ในช่วงเช้าและได้ถวายยามื้อเช้าตามปกติ จากนั้นได้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่าจะนั่งรถเข็นไปเปลี่ยนอิริยาบทหรือไม่ ท่านตอบว่า “ไป” พระอุปัฏฐากจึงได้จัดรถเข็นถวายท่านเหมือนเช่นเคยทุกครั้ง เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันเกิดขึ้น ช่วงที่กำลังจะอุ้มท่านขึ้นนั่งบนรถเข็น หลังจากที่ต้องถอดสายออกซิเจนออกก่อน องค์หลวงปู่มีอาการตาค้าง ตาลอย ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใดๆ พระอุปัฏฐากจึงได้รีบนำสายออกซิเจนโดยเปลี่ยนจากที่ใช้เครื่องไฟฟ้า มาใช้ถังออกซิเจนขนาดใหญ่แทน และใช้เครื่องตรวจวัดชีพจรหัวใจ พบว่าชีพจรต่ำลงอย่างผิดปกติมาก จึงได้รีบออกไปตามหมู่คณะมาช่วย พร้อมกับได้ตามหมอให้รีบมารับหลวงปู่ไปส่งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี โดยในช่วงนี้เป็นช่วงที่โกลาหลกันอยู่มากทั้งพระทั้งโยม วิ่งหน้าวิ่งหลังกันฉุกละหุก และเมื่อรถของอนามัยบ้านผือมาถึงก่อน ก็รีบนำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี โดยไปเปลี่ยนรถที่มาจากโรงพยาบาลบ้านผือระหว่างทาง เมื่อถึงโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีปรากฏว่า หัวใจของหลวงปู่ได้หยุดเต้น ทางแพทย์จึงได้ทำการปั๊มหัวใจช่วยไว้ได้ทัน แต่หลังจากพิจารณาแล้วทางคณะแพทย์เห็นควรว่าต้องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีเครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับโรคหัวใจที่ทันสมัย จึงได้เคลื่อนย้ายทันที เมื่อไปถึงโรงพยาบาลศรีนครินทร์แล้วแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกาย พบว่าองค์หลวงปู่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ๓ เส้น โดยเส้นที่หนึ่งมีความผิดปกติ ๘๐% เส้นที่สองผิดปกติ ๙๐% และอีกเส้นผิดปกติ ๑๐๐% ซึ่งหมายความว่าเลือดไม่สามารถส่งไปเลี้ยงหัวใจได้เลย คณะแพทย์จึงลงความเห็นว่าต้องทำการขยายหลอดเลือดโดยการทำบอลลูนเส้นที่ผิดปกติ ๑๐๐% ทันที ซึ่งเมื่อเข้าห้องผ่าตัดดำเนินการเรียบร้อยแล้วก็นำหลวงปู่มาที่ห้องฉุกเฉิน (ICU) เพื่อรอดูอาการ ในตอนแรกก็มีอาการทรงตัวอยู่ แต่หลังจากนั้นในช่วงหนึ่งเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นแต่ได้ทำการปั๊มหัวใจไว้ได้ทัน แล้วก็เกิดอาการไตวาย จึงทำให้ต้องทำการฟอกไตด้วย

จนกระทั่งคณะครูบาอาจารยืที่มาเฝ้าดูอาการพิจารณาเห็นสมควรที่จะให้คณะแพทย์ยุติการรักษาและนิมนต์องค์หลวงปู่ให้กลับวัดป่าหนองกอง แต่ทางคณะแพทย์ได้ขอทำการรักษาต่อไปจนสุดความสามารถเสียก่อน หลังจากนั้นอาการของหลวงปู่ก็ได้ทรุดลงตามลำดับจนกระทั่งสุดความสามารถของทางคณะแพทย์ หลวงปู่ได้มรณภาพลงอย่างสงบในเวลา ๐๑.๒๘ น. ของวันอังคารที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ ตามความเห็นของแพทย์โดยดูจากจอแสดงผลเครื่องวัดสัญญาณชีพ

อนึ่ง ในเวลา ๐๑.๓๐ น. พระที่อยู่เฝ้าหลวงปู่ในห้องฉุกเฉิน (ICU) ได้เล่าว่า ช่วงเวลาที่หลวงปู่กำลังจะสิ้นลม ท่านลืมตาขึ้นมามองดูรอบๆ ๑ ครั้ง หลังจากนั้นท่านได้หายใจยาวๆ ๓ ครั้ง แล้วท่านจึงละสังขารไปอย่างสงบ สิริรวมอายุ ๘๒ ปี ๘ เดือน ๑๕ วัน ๖๑ พรรษา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2014, 15:19 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ต.ค. 2014, 14:21
โพสต์: 7

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมาธิบาย โดยหลวงปู่เพียร วิริโย
เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖

(ลักษณะเป็นการถาม-ตอบ ปัญหาธรรมะ ระหว่างหลวงปู่กับลูกศิษย์)

อวิชชา” คือความหลง หลงรูป หลงเสียง หลงกลิ่น หลงรส หลงตน หลงตัว หลงเจ้าของ สำคัญมั่นหมายว่าเจ้าของเป็นเรา เป็นตัวเป็นตน เป็นของสวยของงาม เนื้อก็เป็นเรา หนังก็เป็นเรา นี่แหละ “ความหลง” หลงก็หลงเจ้าของก่อนค่อยไปหลงผู้อื่น ยึดเจ้าของแล้วค่อยไปยึดผู้อื่น ยึดเจ้าของว่า เจ้าของเป็นอย่างนั้นๆ แล้วก้ไปยึดผู้อื่นไปติดผู้อื่น พูดง่ายๆ ว่าเจ้าของคือผู้ชาย ถ้าติดก็จะไปติดผู้หญิง รักก็รักผู้หญิงบ่ได้รักผู้ชายดิ

คำว่ารูปก็รูปผู้หญิง เสียงก็เสียงผู้หญิง กลิ่นก็กลิ่นผู้หญิง รสก็รสผู้หญิง โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็เป็นผู้หญิงหมด เป็นอย่างนั้นแหละคำว่า “หลง” นี่ หลงเจ้าของก่อนแล้วจึงค่อยไปหลงผู้อื่น สมมติว่าเราหลงเรานี่แหละ ว่าเราเป็นอย่างนั้นๆ แล้ว ค่อยไปหลงคนอื่น หลงก็หลงผู้หญิงนี่แหละ บ่ได้หลงผู้ชาย รักก็รักผู้หญิง ท่านจึงว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เกี่ยวกับผู้หญิงหมด นี่แหละ “อวิชชา

อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชาเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสังขาร ทำให้เกิดวิญญาณ ทำให้เกิดเป็นภพ เป็นชาติ มีทั้งหมดแหละในอวิชชา

แก้ยากที่สุดอวิชชานี่ - (เป็นคำถามแทรกขึ้นมาในระหว่าง)

ฮ่วย...มันก็ยากนั้นแล้ว ก็เพราะความบ่เห็นตนนี่แหละ ถ้าเห็นตนว่าเป็นของบ่สวยบ่งาม เป็นของอสุภะ เป็นสิ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เอ้อ...อย่างนี้แก้ง่าย ถ้าบ่ยึดว่าเป็นตัวเป็นตนแล้วมันก็เบา ถ้าบ่ยึดก็เรียกว่าบ่แม่นอวิชชา ถ้ายังยึดติดอยู่ก็เป็นอวิชชาอยู่คือหลงอยู่ หลงว่าตัวว่าตนนี่แหละ หลงว่าเขาว่าเราอยู่ ให้เห็นเป็นอนิจจังจริงๆ ซะ เป็นของบ่เที่ยงแน่นอนซะ การยึดถือก็บ่มีความหมาย

มันก็ยากอยู่แล้วเป็นธรรมดา ยากเพราะหลงตน หลงเจ้าของเอง สำคัญเจ้าของเอง แล้วจะให้ไปเห็นคนอื่น มันบ่เห็น ถ้าบ่เห็นตนเสียก่อนก็บ่เห็นคนอื่น ..(ช่วงนี้ฟังไม่ชัด)...ต้องแก้เจ้าของเสียก่อน แก้อย่างนี้แหละ ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอสุภะอสุภัง ถ้าเห็นอสุภะอสุภังชัดในตนทั้งหมดแล้ว คนอื่นเราก็บ่ติด เพราะเป็นเหมือนกับเรา เป็นของสกปรกเหมือนกัน มีเนื้อมีหนัง มีเอ็นมีกระดูก มีน้ำเน่าน้ำเหม็นเหมือนกัน (ร่างกาย) นี่มันก็เป็นของเน่าหมดแหละถ้าจะพูดนะ แต่มันบ่เห็น สัญญามันเห็นอย่างนั้นอยู่...สัญญาน่ะ แต่ปัญญามันบ่เห็นนะสิ...(ช่วงนี้ฟังไม่ชัด) ปัญญายังบ่เกิด

ถ้าจิตมันคิด (ปรุงด้านความสวยงาม) เอาความคิดตัวนี้ (อสุภะกรรมฐาน)ทับมันไว้ มันก็บ่คิด แต่มันบ่แม่นปัญญา เป็นสัญญาความจำเฉยๆ ถ้าพูดถึงว่าเป็นของอสุภะร่ะ (ร่างกาย) มันแม่นทั้งหมด ดินกองหนึ่ง น้ำกองหนึ่ง พร้อมกับกองลมกองไฟ ประกอบเป็นรูปเป็นร่างเป็นตัวเป็นตน (ช่วงนี้ฟังไม่ชัด) อย่างอื่นบ่ได้กล่าวถึง...กล่าวถึงแค่ดินและน้ำ (ในบทสวดอาการ ๓๒ ไม่ได้กล่าวถึงลมและไฟ) อย่างที่เราใช้สวดกันก็กล่าวแค่ดินและน้ำ

อยํ โข เม กาโย...กายของเรานี้แล (บางคน) ว่าถ้า (ร่างกาย) บ่แม่นของเราแล้ว มันจะเป็นของใคร (หัวเราะ)...

ปิตฺตํ = น้ำดี เสมฺหํ = น้ำเสลด
ปุพฺโพ = น้ำเหลือง โลหิตํ = น้ำเลือด
เสโท = น้ำเหงื่อ เมโท = น้ำมันข้น
อสฺสุ = น้ำตา วสา = น้ำมันเหลว
เขโฬ = น้ำลาย สิงฺฆาณิกา = น้ำมูก
ลสิกา = น้ำไขข้อ มุตฺตํ = น้ำมูตร

เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นน้ำ นอกจากนั้น (ที่ปรากฏในบทสวดอาการ ๓๒) ก็เป็นดิน (ก็เพราะว่าจิต) ของเรามันติดอยู่ในน้ำและดินนี่ บ่ได้ติดอยู่กับไฟกับลม ลมมันบ่มีตัวมีตน พัดมาก็ว่าลม ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก (ช่วงนี้ฟังไม่ชัด) ลมดับนี่ถ้าลมดับในการภาวนาดับในขณะจิตสงบนี่บ่ตาย มัยอยู่ภายในโน่นแต่ก็เป็นบ่นาน สักพักมันก็ถอนมา เหมือนอย่างที่ท่านจันทาเล่าให้ฟัง คราวไปภาวนาที่จักราช กายนี่ดับหมด เลยคิดขึ้นมาว่า เราจักบ่ตายหรือ จิตก็เลยถอนออกมาเลย (หัวเราะ)...(ตอนนี้ฟังไม่ชัด)
ยากก็บ่ถอย...บ่ได้อย่างหนึ่งก็ให้เอาอย่างหนึ่งมาพิจารณา เอาอย่างหนึ่งมาเฮ็ด เหมือนอย่างกับเราทำการค้าขาย ขายอันนี้บ่ดี เอ้า...ก็ให้เอาอย่างอื่นมาขาย (แทน) เหมือนอย่างกับรถเรานี่แหละ รถคันนี้มันบ่ดี...ทิ้ง เอาใหม่มา...เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนี้แหละ

บริกรรมยังบ่ลง เอ้า.. พิจารณา อย่างหนึ่งสำคัญ “สติ” นี่แหละ มันบ่ค่อยอยู่มันบ่ค่อยติดต่อกัน ถ้าสติดีติดต่อกันอยู่อย่างนั้น นั่งภาวนานานมันก็บ่เจ็บบ่ปวดหรอก แต้ถ้า (จิต) มันออกไปตามสัญญาอารมณ์ วับๆ แว๊บๆ ก้เลยไป ไปกันใหญ่ เล็กๆ น้อยๆ ก็ออกไป ไปคิดไปปรุงเป็นอย่างนั้นแหละ มันจึงบ่รวม มันจึงบ่สงบ...

“ให้เบิ่งเจ้าของ...ข้างในมันมีหยังแหน่...
จักว่าตับ จักว่าปอด จักว่าพุง ให้มันรู้จัก
ไส้อันใหม่ หรือไส้อันเก่า...เบิ่งดู พิจารณาดู”
“ให้เบิ่งเจ้าของ หากว่าเห็นเจ้าของแล้ว ก็สบายดอก”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2014, 15:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ต.ค. 2014, 14:21
โพสต์: 7

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๒


จิตใจเวลาจะตายสำคัญ

(กราบเรียน หลวงปู่เพียรมรณภาพแล้วที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อคืนนี้เวลาประมาณตี ๑ ๒๘ นาที เนื่องจากท่านมีอาการของโรคหัวใจ เส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ๓ เส้น แพทย์ได้ทำบอลลูนขยายเส้นเลือดจนอาการอยู่ในขั้นปลอดภัยระยะหนึ่ง หลังจากนั้น ๔ ชั่วโมง มีโรคปอดแทรกซ้อน ช็อคหัวใจหยุดเต้น แพทย์ได้ปั๊มหัวใจขึ้น และอาการทรุดหนักตามลำดับ คณะสงฆ์ที่ไปเฝ้าท่าน มีความเห็นว่าจะนำท่านกลับวัดป่าหนองกอง แต่ท่านอาการหนักมากและสิ้นที่โรงพยาบาลเวลาตี ๑ ๒๘ นาที ตอนนี้ศพท่านอยู่ที่วัดป่าหนองกอง จะรดน้ำศพและบรรจุศพ แต่ให้กราบเรียนหลวงตาเพื่อรอรับฟังคำสั่งจากหลวงตาครับผม)

วันนี้เราไปหนองกอง เสร็จนี้แล้วไป ท่านเสียเมื่อคืนนี้ ท่านเพียรเรา ที่นั่นที่นี่ตายหดเข้ามาละ หดเข้ามาหาเราทุกคน ไม่เว้น ตายหมด ผู้พูดว้อๆ อยู่นี่ก็ตาย ไม่เว้น ตายด้วยกัน สำคัญที่จิตใจนะตาย จิตใจเวลาจะตายสำคัญตรงนั้นละ เราจะได้ไปวัดหนองกองนะวันนี้ ให้พระจัดการของไปบังสกุลถวายพระ พระวงกรรมญฐานจะมาที่นั่น ท่านเพียรสงบเรียบร้อยมาดั้งเดิม เป็นโรคอะไร (โรคหัวใจ มีโรคปอดแทรกครับ) ตกลงเราก็ได้ไปหนองกอง

ท่านเพียรเป็นลูกศิษย์มานานนะ ท่านเพียร ท่านบุญมี อยู่กับเรามาร่วม ๓๐ ปี เราละไล่ออกไป นี่จะเป็นพ่อตาแม่ยายได้แล้วนะนี่ จะมาเป็นลูกเขยใหม่อยู่ทำไม ไป ไล่ไป ให้ท่านเพียรไปนั้น ท่านใหญ่ก็ไปด้วยกัน เลยไปอยู่ที่นั่นละ ท่านใหญ่คือท่านบุญมี วันนี้จะไปหนองกอง ให้ท่านจัดของอะไร ให้พรแล้วไปนะ ท่านเพียร ท่านบุญมีอยู่กับเรามาร่วม ๓๐ ปี ไล่ออกจากนี้ก็ให้ไปอยู่ที่นั่น ไปเสียที่นั่น เป็นลูกศิษย์มาอยู่กับเรานานนะ ท่านเพียรเสียแล้วนะ แล้วเอาศพมาแล้วนะ (เอาศพมาไว้ที่วัดหนองกองแล้วครับ) ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ตกลงเราไปวัดหนองกอง

เป็นโรคอะไร (โรคหัวใจ โรคปอด) เรื่องความตายนี เราได้ติดตามดูถนัดชัดเจน ปี พ.ศ. เท่าไร เราจำพรรษาหนองผือ ถ่ายท้อง ๒๕ ครั้ง อาเจียน ๒ ครั้ง ได้ติดตามดูจิตกับร่างมันจะจากกัน เราไม่มีอะไรกับมัน ไม่วิตกวิจารณ์อะไร ถ่าย ๒๕ ครั้ง แล้วอาเจียน ๒ ครั้ง เศษอาหารพุ่งไปติดฝาส้วม แรงขนาดนั้นละ อาเจียน ๒ หนพุ่งติด พออาเจียน ๒ หนหยุดลง ทีนี้อ่อนเข้าไป อ่อนเข้าไป อ่อนเข้าไปจนถึงที่สุด ยังอีกเปอร์เซ็นต์เดียวจะไป ติดตามดูจะเป็นอย่างไร

เวลามันจะไปจริงๆ ทุกขเวทนาแสนสาหัสดับหมดนะ ยังเหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ร่างกายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ไม่เกิดเวทนาอะไรเลย ถึงเวลาจะไปจริงๆ ดับนะ ความทุกข์ทั้งหลายในร่างกาย อ่อนเพลียทั้งหมดดับเลย ยังเหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ร่างกายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ทุกขเวทนาหมดเลย เพราะจิตมันไม่เผลอ ดูมันตลอด พอไปถึงที่สุดแล้วทุกขเวทนาก็ดับ ในร่างกายทุกส่วนดับหมดเลย ยังเหลือแต่ความรู้ ดูความรู้

วิตกว่านี่จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ เอาถ้าจะไปจริงๆ ก็ไป ว่าอย่างนั้นนะ พูดกับเจ้าของนั่นละ พอไปถึงนั้นคือมันปล่อยหมดนะ ทุกขเวทนาทั้งหมดปล่อยหมดเลย ร่างกายเป็นท่อนไม้ ท่อนฟืน ยังเหลือแต่ความรู้อยู่ ดู พอไปถึงจุดนั้นมนปล่อยหมดจริงๆ เอารอตั้งแต่มันจะดีดออก พอไปถึงนั้นหยุดกึ๊ก ไม่เคลื่อนไม่ไหว เราก็ดูอยู่ สักเดี๋ยวก็มียิบแย็บเคลื่อนไหวออกมา แล้วค่อยฟื้นขี้นมา ฟื้นขั้นมา ว่าจะไปแล้วก็หยุดตรงนั้นแล้วฟื้นกลับคื นี่เป็นอยู่ที่ไหนนะ ถ่ายท้อง ๒๕ หน อาเจียน ๒ หน อยู่หนองผือ

ถ้าหากว่าจิตใจหวั่นไปละ ไปเลยในคราวนั่น แต่นี้จิตใจไม่หวั่นคือดูความจริงทุกอย่าง พอถึงจุดของมันแล้วก็มาหยุดที่นั่นแล้วค่อยๆ ถอยออกมา ถอยออกมาก็เริ่มมีเวทนาขึ้นมาอีก เหอ ไม่ไปเหรอ ก็เลยหยุดละ ถ่าย ๒๕ หน อาเจียน ๒ หน อาเจียนนี่รุนแรงมากนะ เศษอาหารพุ่งถึงฝา รุนแรงขนาดนั้น นั่นละคือ มันอ่อนมากนะ จะไปจริงๆ แต่จิตมันไม่ได้หวั่นไหว ถ้าหากว่าเป็นธรรมดาแล้วตาย คือจิตจะเสริมเข้าไป ความเสียใจ ความดีดความดิ้นไม่อยากตายจะสุมเข้าไปจะเกิดเรื่อง หนักเข้าก็ตายเลย อันนี้ไม่เป็นอะไร มันเป็นอย่างไรก็ดูตลอดเลย สุดท้ายก็หยุด ไม่ไป

เราได้ดูเรื่องของเราบ่ะมันชัดเจนมาก คือไม่มีอะไรกับสิ่งเหล่านี้ ไม่มีหวั่นมีไหว ไม่มีเรื่องมีราวอะไรความเป็นความตาย วิตกวิจารณ์กลัวจะเป็นจะตายไม่มี มีแต่ดูความจริงมัน สุดท้ายไปถึงจุดของมันแล้วก็หยุด ต่อจากนั้นก็ค่อยคลี่คลายออกมา ก็เลยหาย ถ่าย ๒๕ หน อาเจียน ๒ หน เกือบไปละ ไปหนองกองวันนี้ เลิกได้แล้ว


เทศน์เนื่องในโอกาสไปเยี่ยมศพหลวงปู่เพียร วิริโย
ณ วัดป่าหนองกอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๒


ท่านเพียรปฏิบัติเรียบมาก

ท่านเพียรอายุ ๘๒ เหรอ ท่านเพียร ท่านบุญมีที่ติดสอยห้อยตามเรามาแต่ต้นเลย เราละเป็นคนไล่ออกมานี่ มันควรจะเป็นพ่อตาแม่ยายได้แล้วเราว่าอย่างนั้น แล้วเป็นลูกเขยใหม่อยู่อย่างไร ไปเลย ไล่มา ท่านเพียรมาทางนี้ ท่านบุญมีก็มาด้วยกัน อยู่กับเราร่วม ๓๐ ปี ท่านเพียร ท่านบุญมีเรียบร้อยเหมือนกันหมด ไม่มีด่างพร้อย เรียบร้อยการปฏิบัติของท่าน ท่านเพียรกับท่านบุญมีท่านปฏิบัติเอาจริงเอาจังเหมือนกัน

ที่อยู่กับเรานานคือท่านสิงห์ทอง พอดีท่านตายเสีย ท่านสิงห์ทองก็อยู่นานแต่ตายก่อน ท่านเพียรกับท่านบุญมีนี้นานนะ เราจึงให้ออกมา ท่านสิงห์ทองเป็นพระชอบตลก นิสัยชอบเล่น ชอบตลกนะท่านสิงห์ทอง แต่อันนี้เรียบๆ ท่านเพียร ท่านบุญมี เรียบๆ แต่ท่านสิงห์ทองเป็นนิสัยชอบตลก ชอบตลก นิสัยเป็นมาดั้งเดิม ที่เป็นลูกศิษย์มานาน คือท่านสิงห์ทอง ท่านเพียร ท่านบุญมี สามองค์ ท่านเพ็งก็แยกไปอยู่กับหลวงปู่ขาว

ท่านสิงห์ทองเป็นคนขี้เล่นนะ ชอบเล่น ชอบตลก ไปหาปลาอยู่ด้วยกันกับน้า น้าคือน้องแม่ ท่านสิงห์ทองก็ไป ไปหาปลามาด้วยกัน พอมาจะถึงบ้านมาพบกัน ไหนละหมานไหม รวยไหม หมานไหมละ เป็นอย่างไรหมานไหม จับงูแต่งูไม่ใช่งูพิษ งูสิงห์งูธรรมดา พอทางนั้นหันหลังให้ ทางนี้เปิดฝาเอางูสิงห์ใส่ เป็นอย่างไรละท่านสิงห์ทอง บ้านเขาอยู่หลังนั้น ทางนี้ก็อยู่หลังนี้ มองเห็นกัน พอไปถึงบ้านฟังเสียงแอ้ๆ บักห่านี่ เอางูใส่ข้องเขา เปิดในข้อง...หมานไหม ท่านสิงห์ทองเอางูใส่ต่อหน้าหลานสาว พอไปถึงบ้านเปิดออกแตกฮือเลย นิสียตลก พูดเล่นพูดตลก

ท่านสิงห์ทองอัฐิกลายเป็นพระธาตุ ถ้าลงอัฐิกลายเป็นพระธาตุแล้วก็ตีตราเลยว่านี้คือพระอรหันต์ ถ้าอัฐิไม่บริสุทธิ์ไม่เป็นอรหันต์ อัฐินี้เผาลงไปแล้วจะไม่เป็นพระธาตุ อันนี้ของท่านสิงห์ทองเป็นพระธาตุ ของท่านจวนก็เป็นพระธาตุ มันประกาศอยู่ในตัว ความบริสุทธิ์ของใจมันฟอกธาตุฟอกขันธ์ คือความบริสุทธิ์ของใจมันครองร่าง ยิ่งครองร่างอยู่เท่าไหร่ก็ซักฟอกขันธ์ให้เป็นธาตุที่ละเอียดไปตามส่วนของธาตุ พอมรณภาพแล้วอัฐิก็กลายเป็นพระธาตุ ท่านสิงห์ทองก็เป็น ท่านจวนก็เป็น

วันนี้คนมากนะ อย่างพระที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมีเด่นๆ อยู่หลายองค์นะ ท่านสิงห์ทอง ท่านจวน ท่านอะไรบ้าง มีแต่พวกอัฐิกลายเป็นพระธาตุแล้ว ถ้าอัฐิกลายเป็นพระธาตุแล้ว แสดงชัดเจนเลยว่านี้บริสุทธิ์แล้ว เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วปิดไม่อยู่ อัฐิกลายเป็นพระธาตุ แต่องค์ใดก็ตามที่อัฐิจะกลายเป็นพระธาตุ บรรดาลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้ชิดท่านรู้นานแล้วนะ รู้แต่ท่านยังมีชีวิตอยู่แล้ว อันนี้ประกาศทีหลังเวลาท่านล่วงไปเท่านั้นเอง นอกนั้นธรรมดาลูกศิษย์ทั้งหลายรู้แล้ว ตั้งแต่ท่านยังไม่ตาย เพราะอรรถธรรมแนะนำสั่งสอนอยู่ตลอดเวลา ถอดออกมาจากหัวใจมาสอน สอนแล้วผลก็เป็นอย่างนั้น

ที่เราได้เปิดเผยปิดกันไม่อยู่ก็คืออัฐิกลายเป็นพระธาตุ นี่คือพระอรหันต์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย สำหรับเชื่อ เชื่อกันภายใน เชื่อแน่นอน ท่านเชื่อมั่นแน่นอนอย่างไร พอท่านองค์นั้นตายแล้ว ก็มาเป็นพระธาตุคนอื่นเชื่อทีหลังนะ ลูกศิษย์ลูกหาเชื่อก่อนแล้ว เชื่อก่อน นั่นละการปฏิบัติธรรม ใครปฏิบัติอยู่ที่ไหนเมื่อไรเป็นอกาลิโก ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลา ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติดีเป็นดี ปฏิบัติชั่วเป็นชั่ว

ท่านเพียรก็ได้เสียไปเสียแล้ว อายุ ๘๒ นะ ท่านเพียรปฏิบัติเรียบมาก ท่านบุญมีเป็นลูกศิษย์ของเราตั้งแต่ต้นมา ปฏิบัติเรียบร้อยตลอดมาคือท่านบุญมี ท่านเพียร ท่านสิงห์ทอง ที่อยู่ใกล้ชิดติดพันกับเราตลอดมา นอกนั้นองค์ไหนบ้างลืมๆ แต่สามองค์นี่จำได้ชัด เดินจงกรมจนเป็นเหวนะท่านสิงห์ทอง มาเล่าให้เราฟัง คือไม่รู้เวลาที่กิเสลสิ้นไปกลายเป็นใจดที่บริสุทธิ์ขึ้นมา คือมันละเอียดลงไปๆ ละเอียดจนกระทั่งหมดกิเลส มาเล่าให้เราฟัง เราก็ฟังท่าน ท่านเล่าให้เราฟัง

เราบอกว่าเรายอมรับ การปฏิบัติของท่านก็ยอมรับ แล้วความบริสุทธิ์ของท่าน ตามธรรมดาท่านว่ามีขณะ คือองค์นั้นสำเร็จอยู่ที่นั้นๆ อิริยาบถยืนเดินนั่งนอนในป่าในเขาจะบอกขณะๆ แต่พระอรหันต์มีอยู่ ๔ ประเภท ประเภท ๑ สุกขวิปัสสโก รู้อย่างสงบเงียบ บริสุทธิ์ไปอย่างสงบเงียบ เรียกว่า สุกขวิปัสสโก เจ้าของเองก็ไม่รูว่าหมดไปเมื่อไร หากหมดไป จนกระทั่งไม่มีกิเสลส ที่จะแก้กิเลสตัวใดไม่มีนี่ประเภท สุกขวิปัสสโก แล้วก็ เตวิชโช อฬภิญโญ จตุปฏิสัมภิทัปปัตโต

อรหันต์มี ๔ ประเภท ประเภทสุกขวิปัสสโก แม้เจ้าของก็ไม่ค่อยทราบ คือไม่บอกขณะ สำเร็จขณะไหนเจ้าของไม่รู้ นอกจากนั้นรู้ เตวิชโช ฉฬภิญโญ จตุปฏิสัมภิทัปปัตโต นี้บอกขณะ ขณะสิ้นกิเลสแต่สุกขวิปัสสโกนี้รู้อย่างสงบเงียบไปเลย มี ๔ ประเภท มาเล่าให้เราฟัง หาที่จะแก้มันก็ไม่มี แต่ไม่สนใจจะหา ท่านพูดมีหลักนะ ละเอียดมากๆ ละเอียดจนสุดเลย เวลานี้ไม่สนใจว่าจะแก้กิเลสตัวใด ท่านว่ามันหมดไปเลยจริงๆ ท่านว่าอย่างนั้นละ แต่ไม่บอกขณะ เอาล่ะไม่บอกก็ช่างเถอะ ความบริสุทธิ์ในประเภทอรหันต์ก็มีอยู่ ๔ ประเภท สุกขวิปัสสโก รู้อย่างเงียบไปเลย เตวิชโช อฬภิญโญ จตุปฏิสัมภิทัปปัตโต

พระอรหันต์มี ๔ ประเภทด้วยกัน สำหรับท่านสิงห์ทองเป็นประเภทสุกขวิปัสสโก คือรู้เงียบๆ ไปจนหมดเลย นอกจากนั้นมีขณะ ขณะกิเลสกับธรรมกับจิตขาดจากกัน ขาดจากกันเป็นขณะ รู้ขณะ เช่น องค์นั้นบรรลุธรรมอยู่ในที่นั้น บรรลุธรรมอยู่ในอิริยาบทยืน อิริยาบทเดิน อิริยาบทนอน ให้มีขณะบอก แต่สุกขวิปัสสโกนี่ไม่บอก คือบริสุทธิ์ไป หมดๆ ไปเลย ท่านสิงห์ทองมาเล่าให้เราฟัง เล่าถึงเรื่องการปฏิบัติมา การปฏิบัติคือละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ไม่ทราบจะแก้กิเลสตัวใด แล้วไม่สนใจจะแก้ ท่านว่าอย่างนั้นนะ น่ะเป็นอย่างนี้ ไม่บอกขณะหรืออะไร เอาล่ะเอา สนทิฎฐิโก รู้ด้วยตัวเองก็พอว่าเวลานิ้สิ้นแล้วกิเลส ไม่มีในใจแล้วก็สิ้นเท่านั้นแหละ เราก็ว่า เวลาท่านล่วงไปแล้ว อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ นั่นออกละ ทีนี้ออกกระจายทั่วประชาชน รู้กันทั่วไปหมด

มาสมัยนี้ทุกวันคนมักกิเลสหนาปัญญามันหยาบที่สุด ไม่ว่าพระว่าฆราวาส จะไม่เชื่อคำสอนของท่านผู้วิเศษ ผู้สิ้นกิเลสแล้วนำมาสอนโลก ผู้ฟังเป็นคลังกิเลส เป็นส้วมเป็นฐาน ไม่ยอมรับธรรมของท่านผู้แนะนำสั่งสอน มรรคผลนิพพานไม่มี ทำบุญไม่ได้ทำบุญ ทำบาปไม่ได้ทำบาป หูหนวกตาบอด เวลานี้เป็นข้าศึกต่อตัวเองและข้าศึกต่อศาสนา จนศาสนาจะไม่มีเพราะข้าศึกอันนี้ละ แต่ผู้ปฏิบัติท่านปฏิบัติอยู่ ท่านก็รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนั้น อย่างพระท่านอยู่ในป่าท่านจะไปตีระฆังปึ้งๆ ข้าเป็นพระอรหันต์แล้วนะ มันได้อย่างไร รู้ทั้งรู้ ถ้าในวงเดียวกับท่านรู้หมด ไปมาอย่างไร ภาวนาอย่างไร ท่านจะเข้าจุดนั้น เป็นอย่างไร ท่านก็เล่าสูกันฟัง สู่กันฟัง ถ้ายังมีขัดข้องตรงไหนท่านก็แนะกันๆ แล้วผ่านได้ๆ จึงว่าสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้ว แล้วอกาลิโกไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลาในการประกอบความพากเพียร ได้ผลไปตลอด นั่นเป็นอย่างนั้นนะ ผู้ปฏิบัติมีอยู่มรรถผลนิพพานรอรับสำหรับผู้ปฏิบัติ ถ้าผู้ไม่ปฏิบัติก็มีแต่เสื่อกับหมอนรองรับละ เอาหมอนติดคอไว้ เอาเสื่อมัดติดหลังไป พวกนี้แต่เสื่อกับหมอนติดคอ ไปไหนมีแต่เสื่อกับหมอน มรรคผลนิพพานไม่มีพวกนี้ พวกเรานี่ พวกเสื่อกับหมอนมัดติดคอเลย มรรคผลนิพพานไม่มี ปัดออกหมดไม่มี ให้มีแต่เสื่อกับหมอนติดตัวอยู่ทั้งนั้นละ พากันฟังหรือยังพวกนี้

คือใจมันหนาเข้า มันไม่ยอมรับธรรม ใจที่หนาเข้าๆ มันปิดประตูที่จะปฏิบัติธรรม รู้เห็นธรรม มันเปิดโล่งเรื่อยกิเลสตัณหา เปิดโล่งเรื่อย เพราะฉะนั้นจึงสั่งสมแต่กิเลสตัณหา ตายแล้วก็จมลงนรก ผู้ว่านรกไม่มีละผู้ไปจม พระพุทธเจ้าเองก็เป็นผู้ตรัสรู้เรียบร้อยแล้ว รู้ทั้งโลกทั้งธรรม ทางโลกทางผีมนุษย์มนารู้หมด นรกอเวจีทำไมท่านไม่รู้ ท่านก็บอกไว้หมด แต่มันไม่ยอมเชื่อ มันก็ไปลงที่ตัวไม่เชื่อนั่นแหละ ใครที่ว่านรกมี บาปมี บุญมี คนนั้นมีขยะแขยงต่อการทำบาป การทำบุญมีความพอใจ การทำบาปไม่มีขยะแขยง ไม่กลัวทำบาป คนไม่มีนิสัย คนหนา การทำบาปไม่กลัว แต่การทำบุญกลัว ขี้เกียจขี้คร้านหาเวล่ำเวลามาลบล้างจนได้นั่นแหละ เป็นอย่างนั้น มันหนาเข้าๆ มันหนาที่หัวใจของสัตว์โลกนะ คือหนาเป็นพื้นมาเลยพวกนี้ หนาไปตลอดก็มี

อย่างที่ท่านสอนไว้ว่า ตโม ตมปรายโน มันมืดบอดตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งวันตาย หาศีลหาธรรมเข้าติดตัวไม่มีเลย ตโม โชติปรายโน ทีแรกก็มืดไม่รู้จักศีลจักธรรม ไม่รู้จักเข้าวัดเข้าวา ฟังธรรมจำศีล ครั้นเวลาธรรมเฉียดเข้าไปหูหลายครั้งหลายหน หูก็เลยเป็นหูศีลหูธรรมขึ้นมา ใจก็เป็นใจศีลใจธรรมขึ้นมา ทีนี้ก็เสาะแหละ เสาะหาธรรม ธรรมก็เปิดอ้าอยู่แล้วรอที่จะเข้าสู่จิตใจ ทีนี้ก็รู้ไป เห็นไป รู้ไปเห็นไป ต่อจากนั้นก็พ้นได้ เป็นอย่างนั้นแหละ ถ้าเสาะแสวงหา ถ้าไม่แสวงหาตั้งแต่วันเกิดถึงวันตายไม่มีอะไรดีกว่ากัน เลวเท่ากันหมด ตั้งแต่เกิดมาสร้างแต่ความเลวทราม จนกระทั่งถึงวันตาย มีแต่ความเลวทรามติดตัวไป แล้วจมลงในนรกไม่มีวันขั้นเลย

ถ้าคนสร้างความดีรู้ตัวแล้วก็สร้างความดี แสวงหาศีลหาธรรม จิตก็ค่อยเปิดรับธรรม ๆ จิตใจมีความรักใคร่ใกล้ชิดต่ออรรถต่อธรรม ผู้นั้นตายแล้ว ตโม โชติปรายโน ถึงในเบื้องต้นจะมืดบอดก็ตาม แต่ต่อไปแล้วสว่างไสวในกาลต่อไป โชติ โชติ ปรายโน เป็นผู้มีอุปนิสัยปัจจับตั้งแต่เริ่มแรกเกิดมา รักศีลรักธรรม เรื่อยๆ มาจนกระทั่งทะลุถึงวันตาย รักศีลรักธรรมตลอดไป คนนี้เรียกว่าเป็นอันดับหนึ่ง นี่ ตโม ตมปรายโน มันมืดบอดตั้งแต่วันเกิดมา ไม่สนใจกับศีลธรรม สร้างแต่ความชั่วช้าลามก ตายไปแล้วก็มืดบอดไปเลย

เราจะเอาอะไรให้พากันคัดเลือกเอานะ เทศน์นี่เลือกเฟ้นตามธรรมพระพุทธเจ้าที่สอนไว้แล้วมาสอน แล้วก็สุกเอาเผากิน สุกเอาเผากิน สุกเอาเผากิน ตายแล้วจมนะ อย่าเข้าใจว่าใครจะไปช่วย ติดคุก ติดตะรางก็ยังไม่มีคนช่วยได้ ยิ่งลงนรกแล้วนะไม่มีใครช่วยได้เลย ให้ช่วยตัวเอง ละชั่วทำดีเสียแต่บัดนี้ ต่อไปแล้วจะดีไปเรื่อยๆ พี่น้องทั้งหลายให้จำเอาเสียนะ

นี่เราก็เริ่มบวชมาตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี กับ ๙ เดือน เป็นชีวิตฆราวาส ความคลุกเคล้าของฆราวาสเป็นทุกเป็นแบบที่ชั่วช้าลามก พลิกเข้ามาบวช ตั้งแต่วันบวชแล้วไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัยตลอดมา จนกระทั่งทุกวันนี้ไม่ฝ่าฝืน แล้วก็เย็นใจมาๆ เรื่อย จนกระทั่งเห็นผลแห่งความเย็นใจสุดยอดกระจ่างขึ้นภายในใจ ไม่ถามกัน มรรคผลนิพพานไม่ถาม ถามหาอะไร พระพุทธเจ้าไม่รู้มรรคผลนิพพานมาสอนเราได้หรือ สอนเราให้รู้เมื่อเรารู้ตามแล้วจะถามใครละ นั่น มันประกาศในตัวเองนะ ความดีความชั่วอยู่ในหัวใจนะ นรกไม่เคยเห็นก็เห็น ถ้าสร้างความชั่วมาก สวรรค์ไม่เคยได้ไปบุญพาไปจนกระทั่งถึงนิพพาน บุญพาไปเอง ให้พากันช่วยตัวเองในทางที่ถูกที่ดี

เป็นอย่างไรละ พากันเข้าใจไหม พูดนี้ดังทั่วไปเลยนะ อย่าถือเราเป็นใหญ่กว่าบุญกว่ากรรมนะ บุญกรรมเป็นใหญ่มากทีเดียว นตถิ กมมสม พล ไม่มีอำนาจใดที่จะเหนือการกระทำบุญและบาป เหนือกรรมคือกรรมดีกรรมชั่ว อันนี้มีอำนาจมากท่านว่า ท่านจึงบอกว่า นตถิ กมมสม พล ไม่มีกรรมใดที่จะหนักมากยิ่งกว่าการสร้างกรรมดีกรรมชั่ว กรรมดีมีอำนาจไปทางดี กรรมชั่วมีอำนาจไปทางชั่ว ถ้าละชั่วทำดีกรรมดีก็ยิ่งเพิ่มอำนาจเข้าไป ให้พากันจำเอานะ เอาละเท่านั้นละวันนี้

“ท่านเพียรเพชรน้ำหนึ่ง
ถ้าในครั้งพุทธกาลท่านเรียกว่าเป็นพระอรหันต์”
“พูดชัดเจนเลยว่าเป็นผู้สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง...ท่านเพียร”
“ท่านเพียร...ศิษย์ก้นกุฏิของรา”


ท่านเพียรเป็นพระที่สมควรแก่อนุสรณ์ทุกอย่าง จะก่อเจดีย์ก็ได้ อะไรก็ได้ พูดชัดเจนเลยว่าเป็นผู้สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง...ท่านเพียร ทุกอย่างรอบตัวบอกหมดเลย มันก็แปลกอยู่นะ เครื่องบริขงบริขารอยู่ในนั้นเลยกลายเป็นพระธาตุไปหมด แปลกอยู่นะ เจ้าของเป็นคนเดียว ของนอกตัวเองออกไปกลายเป็นพระธาตุอะไร...ท่านเพียร อนุญาตแล้วนะ พระผู้ควรแก่การเคารพสักการบูชาก็คือพระพุทธเจ้าหนึ่ง พระปัจเจกพระพุทธเจ้าหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิหนึ่ง พระอรหันต์หนึ่ง ท่านบอกไว้ชัดเจน ท่านเพียรสมควรก่อเจดีย์ได้แล้ว ไม่ใช่จะก่อนสุ่มสี่สุ่มห้า หมาตายในวัดก็ไปก่อเจดีย์ พิลึกนะ อย่างนั้นไม่เอา ทำไม่มีหลักเกณฑ์ อันนี้สมควรจะก่อนเจดีย์ไว้กราบไหว้บูชาได้แล้ว ตามที่ท่านอธิบายไว้ในตำรับตำราเป็นประเพณีดีงาม องค์นี้ก็ควร


:b8: หนังสือ ชีวประวัติหลวงปู่เพียร วิริโย
วัดป่าหนองกอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี


:b50: ประมวลภาพ “หลวงปู่เพียร วิริโย” วัดป่าหนองกอง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=23315

:b50: พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เกี่ยวกับ “หลวงปู่เพียร วิริโย” แห่งวัดป่าหนองกอง

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=48894


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ม.ค. 2015, 08:38 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:
:b8:
:b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2016, 05:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b20: :b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2019, 21:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร