ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

อาจารย์เสถียร โพธินันทะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44485
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Hanako [ 02 ก.พ. 2013, 13:21 ]
หัวข้อกระทู้:  อาจารย์เสถียร โพธินันทะ

รูปภาพ

ประวัติและผลงาน
อาจารย์เสถียร โพธินันทะ

ผู้ได้รับฉายานาม “ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่”



ในบรรดาบุคคลผู้เป็นฆราวาส ที่ได้รับยกย่องว่า
เป็นนักปราชญ์แห่งวงการศาสนา นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้
หากนับที่คุณสมบัติก็คงไม่มีผู้ใดเป็นเลิศเกินกว่า “อาจารย์เสถียร โพธินันทะ”
ด้วยท่านผู้นี้เป็นอุดมบุรุษที่น่าอัศจรรย์ในหลายๆ ด้าน
สมบูรณ์พร้อมทั้งความสามารถและสติปัญญา
จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็น “ปราชญ์ในวงการศาสนา”
และ “ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่” เมื่อมีอายุเพียง ๑๙ ปีเท่านั้น
อีกทั้งยังมีความรู้แตกฉานในสรรพวิทยาการหลายหลาก
สามารถอ่านและพูดได้ถึง ๗ ภาษา
เป็นคนหนุ่มที่มีปัญญาลึกล้ำดั่งมหาสมุทรจนเป็นที่ยกย่องของบุคคลทั่วไป
นอกจากนี้ยังเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมอย่างผู้ที่บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น
แม้ว่าท่านจะได้ถึงแก่กรรมไปนานกว่าสี่สิบปีเศษแล้ว
แต่เกียรติคุณและผลงานยังคงอยู่เป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงอยู่เสมอ



ประวัติทั่วไป

เกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒
ที่บ้านในตรอกอิศรานุภาพ บริเวณตลาดเก่าเยาวราช ใกล้ ๆ กับวัดกันมาตุยาราม

บิดาเป็นชาวจีนชื่อ นายตั้งเป็งท้ง มารดาชื่อนางมาลัย กมลมาลย์
มีพี่สาวสองคน ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อมารดาตั้งครรภ์อาจารย์เสถียร
บิดาก็มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางกลับไปประเทศจีนและได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา

ในวัยเด็ก เด็กชายเสถียรใช้นามสกุลว่า “กมลมาลย์” ตามมารดา
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๑ เมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี
จึงได้เปลี่ยนนามสกุลตนเองเป็น “โพธินันทะ” อันหมายถึง
ผู้ยินดีในความรู้แจ้ง ด้วยประสงค์จะให้ใกล้ชิดกับพระศาสนา
และได้ใช้นามสกุลนี้ตลอดมาจนถึงแก่กรรม



ด้านการศึกษา
ใฝ่ใจทางพระพุทธศาสนาและมีปฏิภาณเป็นเลิศ

เมื่อมีอายุพอจะรับการศึกษาได้ มารดาจึงได้นำไปฝากให้เรียน
ในโรงเรียนราษฎรเจริญของครูชม เปาโรหิตย์
ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับวัดจักรวรรดิราชาวาส
หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข
จนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๕ จึงได้ลาออก

ภายหลังจบชั้นมัธยมปีที่ห้าแล้ว จึงได้เข้าศึกษาภาษาจีนที่โรงเรียนเผยอิง
ชั่วเวลาเพียงสองปีก็มีความรู้ภาษาจีนแตกฉาน
สามารถใช้ศัพท์สูงๆ ยากๆ ในภาษาจีนกลางได้ดี
สามารถอ่านพระไตรปิฎกจีนซึ่งอุดมไปด้วยสำนวนโวหารโบราณที่ลึกซึ้งได้อย่างเข้าใจ
ทักษะทางด้านภาษาจีนนี้ถือเป็นอัจฉริยภาพอีกประการหนึ่ง
ของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ซึ่ง นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง ได้เล่าว่า

“เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
คุณเสถียรได้ทำหน้าที่ล่ามให้ถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกคุณเสถียรมีอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น
แต่ก็สามารถถ่ายทอดคำปาฐกถาจากภาษาจีนสู่พากย์ไทยได้อย่างดียิ่ง
สามารถแปลได้ถูกต้องและครบถ้วนตามเจตจำนงของข้าพเจ้าทุกกระบวนความ
คุณเสถียรได้แสดงความเป็นปราชญ์ให้เป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายแต่เยาว์วัยทีเดียว
และได้แสดงปาฐกถาด้วยตนเองครั้งแรกที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยเมื่ออายุ ๑๘ ปี”


การลาออกทั้งที่มีโอกาสและทุนทรัพย์พอที่จะศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปได้นั้น
เป็นความประสงค์ของอาจารย์เสถียรเองที่ต้องการความเป็นอิสระ
และปรารถนาจะมีเวลาทำการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ที่ต้องการด้วยตนเอง
โดยเฉพาะความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่

ประวัติชีวิตในช่วงนี้ นายแพทย์ตันม่อเซี้ยงได้เล่าว่า

“คุณเสถียรเริ่มรู้จักกับข้าพเจ้าเมื่ออายุ ๑๕ ปี ครั้งนั้นคุณเสถียรกำลังศึกษาอยู่
ในโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เป็นเด็กฉลาดเฉียบแหลม มีปฏิภาณดีมาก
และมีความจำยอดเยี่ยมด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่คุณเสถียรได้รู้จักคุ้นเคย
กับอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แต่ครั้งยังอุปสมบทอยู่ที่วัดกันมาตุยาราม
ซึ่งคุณเสถียรได้ศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทจากอาจารย์ท่านนี้
เพียงระยะเวลาไม่นานก็มีความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ได้จากอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเป็นเยี่ยมท่านหนึ่ง
ประกอบกับสติปัญญาอันเฉียบแหลมของคุณเสถียรเองด้วย”


จากคำบอกเล่าของนายแพทย์ตันม่อเซี้ยง
ทำให้เราได้ทราบว่าอาจารย์เสถียร โพธินันทะ
มีความใฝ่ใจในทางพระศาสนามาแต่เยาว์วัย นอกจากนี้
ยังมีเกร็ดประวัติโดยคุณบุญยง ว่องวานิช อีกว่า

“ข้าพเจ้าเคยถามคุณแม่ (คุณมาลัย) ของคุณเสถียรว่า
เพราะเหตุไรคุณเสถียรจึงสนใจในพระพุทธศาสนาและเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไร ?
คุณแม่ตอบว่า สาเหตุนั้นไม่ทราบ แต่สนใจมาแต่เล็กแต่น้อย
เมื่ออายุประมาณ ๓ ขวบ ก็เริ่มนำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้พระแล้ว และสนใจศึกษาเรื่อยมา”


ในสมัยเด็ก เมื่ออยู่ในที่แวดล้อมเป็นคนจีนเด็กชายเสถียรก็ชอบเล่นแต่งกายเป็นพระจีน
การวาดเขียนที่ชอบมากคือเขียนรูปพระพุทธเจ้าและรูปบุคคลประกอบเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
เมื่ออายุได้ ๑๓-๑๔ ปี ก็ชอบท่องเที่ยวไปตามวัดต่างๆ ทั้งวัดจีน วัดญวน และวัดไทย

วัดไทยที่ชอบไปคือวัดจักรวรรดิราชาวาส เพื่อไปสนทนา
ไต่ถามเรื่องราวต่างๆ ทางศาสนากับพระสงฆ์ โดยเฉพาะวัดจีนและวัดญวนนั้น
ชอบไปดูพิธีทิ้งกระจาด การทำกงเต๊ก และการสวดมนต์
ส่วนในด้านความรู้นั้นก็ได้ศึกษาความรู้เรื่องพระพุทธศาสนามหายานจากหนังสือลัทธิของเพื่อน
ของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป แต่ก็รู้จักใช้ถ้อยคำสำนวนได้ถูกต้องตามหลักวิชา
ประกอบกับมีความจำเป็นเลิศจึงจดจำเรื่องราวที่อ่านไว้ได้มาก
สามารถอธิบายรูปปฏิมาต่างๆ ในวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ได้ถูกต้องและถี่ถ้วน
ยิ่งกว่านั้นการซักถามพระจีนพระญวนที่มีความรู้โดยละเอียดก็เป็นเหตุหนึ่ง
ที่ทำให้มีความรู้ในเรื่องของจีนและญวนแตกฉานขึ้น


ด้านการทำงาน
บุคลิกและลักษณะการสอนที่น่าอัศจรรย์

เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้ริเริ่มก่อตั้ง คณะยุวพุทธิกะ
โดยการรวมตัวของเยาวชนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งจากสถานที่ต่างๆ กัน
ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัย พ่อค้า ข้าราชการ ที่มีความเห็นตรงกันคือสนใจในพระพุทธศาสนา
และต่อมาจึงได้จัดตั้งเป็นยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนาที่มีบทบาทสำคัญมาจนทุกวันนี้

เกียรติคุณด้านความรอบรู้ในทางวิชาการพระพุทธศาสนาของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ
ได้แผ่ขยายออกไปสู่สังคม เมื่ออายุได้ ๒๓ ปีจึงได้รับเชิญจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
ให้ไปเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และวิชาพุทธศาสนามหายาน
เป็นอาจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาการศึกษาฯ แต่ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง

ในระหว่างที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้
อาจารย์เสถียรได้เขียนบทความและหนังสือไว้เป็นอันมาก
ซึ่งผลงานเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อวงการศึกษาพุทธศาสนา
ที่ใช้เป็นตำราประกอบการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงมาจนทุกวันนี้

หนังสือเล่มสำคัญๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,
พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย, ปรัชญามหายาน,
พุทธศาสนาในอาเซียกลาง และบทความทั้งสั้นและยาวรวมเล่มอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังสือเมธีตะวันออกของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ
ก็ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจาก
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
และมีการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
และผลงานสำคัญที่สุดที่ถือได้ว่าเป็นผลงานอมตะ
คืองานแปลพระสูตรฝ่ายมหายานจากภาษาจีน คือ
วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร และวิมลเกียรตินิทเทศสูตร


ซึ่งพระสูตรนี้เป็นพระสูตรสำคัญของมหายานที่ถูกกล่าวว่า

“คุณเสถียรได้แปลขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะ...
แต่ก็สามารถถ่ายทอดออกสู่พากย์ไทยเป็นประหนึ่ง
แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตฉะนั้น
นับว่าเป็นความสามารถอย่างยอดเยี่ยมในตัวคุณเสถียร
ซึ่งจะหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก...”

ใครก็ตามที่ได้อ่านย่อมเห็นพ้องต้องกันว่ามีสำนวนโวหารที่ไพเราะ
ยังความซาบซึ้งในอรรถรสแห่งภาษาแก่ผู้อ่านได้อย่างดียิ่ง

นอกจากหน้าที่ในการเป็นอาจารย์แล้ว อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ยังเป็นนักปาฐกถาอีกด้วย
งานสำคัญที่ปฏิบัติตลอดมาคือการแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา ปรัชญา
และประวัติศาสตร์ และก็เป็นนักปาฐกถาชั้นเยี่ยมที่มีคนนิยมมาก เพราะเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง
มีความจำดี ชอบค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งยังชอบขบคิดหรือค้นคว้าเรื่องยากๆ
เรื่องอะไรที่เห็นว่าสำคัญพอจะท่องจำไว้ได้ก็ท่องจำไว้ทีเดียว
และด้วยมีความรู้หลายภาษาจึงสามารถศึกษาได้กว้างขวางลุ่มลึกกว่าผู้อื่น
เป็นที่ถูกอกถูกใจแก่บรรดาปัญญาชนผู้ใฝ่หาความรู้
เมื่อมีประกาศทางหนังสือพิมพ์ว่าอาจารย์เสถียรจะไปพูด ณ ที่ใด
ก็จะมีคนติดตามไปฟังแน่นขนัดเสมอจนถึงกับต้องเสริมเก้าอี้หรือไม่ก็ยืนตามระเบียงห้องประชุม

งานแสดงปาฐกถานี้เป็นงานที่กระทำต่อเนื่องกว่าสิบปี
ทั้งที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย และที่พุทธสมาคมอื่นๆ หลายแห่ง
รวมถึงตามมหาวิทยาลัย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้รับเชิญเป็นครั้งคราว
นอกจากนี้ท่านยังได้เป็นผู้บรรยายตามโรงเรียนต่างๆ
ซึ่งปรากฏว่าเด็กและเยาวชนให้ความสนใจกันมาก
เนื่องจากท่านรู้จักใช้วิธีการพูดให้เหมาะสมกับวัยวุฒิและคุณวุฒิของผู้ฟัง
จึงปรากฏว่าสามารถสื่อสารเข้าถึงกลุ่มคนทุกระดับได้ด้วยดี

ความสามารถทางด้านการพูดนี้ต้องถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ
ที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน แม้เรื่องที่พูดจะเป็นเรื่องที่ยากและลึกซึ้งอย่างที่สุด
แต่ท่านก็สามารถอธิบายขยายความออกมาให้คนทั่วไปได้เข้าใจได้โดยง่าย
ในข้อนี้พระนิสิตในชั้นเรียนดูเหมือนจะใกล้ชิดและซาบซึ้งมากที่สุด
ดังปรากฏในข้อเขียนไว้อาลัยของพระนิสิตว่า

“ทุกๆ วันเสาร์ของสัปดาห์ เราได้สดับวาทะที่น่าฟังของท่านที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล
อลังการไปด้วยปรัชญาเล็กๆ น้อยๆ ในวันเสาร์หนึ่งเราถามท่านว่า
“ทำไมอาจารย์จึงเปรื่องปราดนัก อ่านได้ทั้งภาษาอังกฤษ จีน บาลี ญี่ปุ่น และสันสกฤต”
ต่อข้อถามของเรา ทำให้อาจารย์ “พระไตรปิฎกเคลื่อนที่” ยิ้มละไม
พร้อมกับพูดออกมาโดยไม่ต้องคิดว่า “ฉันทะตัวเดียวแหละครับ”

ถูกล่ะฉันทะตัวเดียว แต่ว่าเมื่อคิดดูแล้ว
มันเป็นอิทธิบาทที่ทำให้ท่านผู้นี้กลายเป็นปรัชญาเมธีไปเสียแล้ว

พวกเราอยากเรียกท่านว่า “เอนไซโคลปิเดียเคลื่อนที่” มากกว่า
เพราะท่านผู้นี้ไม่ใช่รู้เฉพาะเรื่องราวทางศาสนา หากแต่รู้ภูมิศาสตร์
ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ปรัชญา ฯลฯ ด้วย ใครจะโต้มาในเหลี่ยมไหน มุมไหน
เป็นต้องจำนนต่อเหตุผลและได้ความกระจ่างกลับไป
เข้าในหลักที่ว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดนั่นเอง”
อีกเรื่องหนึ่งที่เล่าขานกันในหมู่พระนิสิต คือในการสอนแต่ละครั้งของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ
ไม่ปรากฏว่าจะมีเลยสักครั้งเดียวที่ท่านจะนำตำราหรือเอกสารประกอบการสอนเข้าห้องบรรยาย
“เมื่อท่านเข้าห้องบรรยาย เรามักจะได้ยินท่านบอกว่า “กลางกระดาษครับ” หรือ “จดต่อ”
ทั้งๆ ที่สอนหลายชั้นแต่ก็ไม่เคยฟั่นเฝือ แม้ว่าบางครั้งระยะห่างของการบรรยาย
จะห่างกันเป็นสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ แต่ก็สอนต่อได้ทันที
ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่ท่านจะพกตำราเข้าไปในห้องบรรยาย
หากแต่ออกมาจาก “ตู้คือหทัย” ทั้งสิ้น


ลักษณะโดดเด่นโดยสรุป
ของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ


อาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นคนดีที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม
จากชีวประวัติของท่านมีสิ่งที่น่าศึกษาและควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
ในการดำเนินชีวิตหลายประการ พอจะสรุปได้ดังนี้

๑) เป็นคนใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ
ตั้งแต่วัยเยาว์ท่านเป็นคนรักการอ่าน สนใจสิ่งที่เป็นความรู้
ได้ศึกษาจนมีความแตกฉานหลายภาษา รู้จักคิดและเขียน
โดยมีบทความตีพิมพ์ลงนิตยสารธรรมจักษุในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๑๗ ปี ด้วยความที่เป็นคนรักการอ่าน
และชอบซักถามในเรื่องราวที่เป็นสาระความรู้
ทำให้ท่านมีความรู้กว้างขวางและลุ่มลึก จนมีผู้ยกย่องให้เป็นปราชญ์ตั้งแต่อายุยังน้อย

๒) เป็นคนมีความกตัญญู
แม้ว่าอาจารย์เสถียร โพธินันทะ จะมิได้ช่วยมารดาในกิจการร้านค้าเลย
คงสนใจแต่เรื่องของศาสนา แต่เมื่อมีรายได้พอสมควรแก่อัตภาพ
ก็ได้นำไปมอบให้มารดาเป็นประจำ มารดาของท่านเล่าว่า
เมื่อมารดาไม่พอใจหรือว่ากล่าวก็จะไม่โต้เถียงเลย
และจะถือโอกาสขอโทษมารดาที่ทำให้ไม่พอใจ
ทั้งนี้เป็นผลจากการปฏิบัติตนตามหลักพุทธศาสนา
ซึ่งทำให้มารดามีความอาลัยรักมากเมื่อถึงแก่กรรม

๓) มีจิตใจเมตตากรุณา
โดยปกติแล้ว อาจารย์เสถียรจะบริจาคทรัพย์ปล่อยปลาเป็นประจำทุกเดือน
ตั้งแต่เล็กมาก็เป็นคนไม่ชอบทำร้ายหรือทารุณสัตว์
ถ้ามีโอกาสก็จะถือศีลกินมังสวิรัตสม่ำเสมอ
ในคำสั่งเสียเรื่องงานศพของท่านยังได้สั่งให้ปล่อยนกปล่อยปลาทุกวันจนกว่าจะถึงวันเผา
และภัตตาหารที่จะถวายพระให้เป็นภัตตาหารเจ อย่าให้มีของสดคาว
ทั้งนี้ก็ด้วยประสงค์จะไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นให้ตกล่วงไปเพราะมรณะกรรมของตน

๔) อารมณ์แจ่มใสเบิกบานอยู่เสมอ
พระนิสิตที่ได้เรียนกับท่านกล่าวว่า “ใบหน้าของท่านผู้นี้อิ่มเอิบผ่องใส
เราไม่เคยเห็นรอยบึ้งสักครั้งเดียว คราวใดที่ถูกต้อนด้วยคำถามหนักๆ
ท่านกลับหัวเราะและตอบออกมาได้อย่างสบายใจ
แสดงออกถึงการปล่อยวาง ไม่แปรปรวนไปตามกระแสโลก
อันวนเวียนอยู่กับความสุขและความทุกข์
ใครเห็นก็อยากจะมาผูกมิตรด้วยเพราะทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้รู้สึกสบายใจ

๕) มีปัญญาอันยอดเยี่ยม
สามารถอ่านหนังสือเพียงครั้งเดียวแล้วจดจำสาระสำคัญไว้ได้ทั้งหมด
จนเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่คนทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า
ครั้งหนึ่งคุณบุญยง ว่องวานิช ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง
ให้เขียนบทความเกี่ยวกับปราสาทหินพิมาย
คุณบุญยงเขียนไปได้ไม่เท่าไรก็ติดขัด เนื่องจากไม่ทราบประวัติดีนัก
ครั้นไปค้นตามห้องสมุดก็ไม่พบ
เมื่อจนปัญญาจึงได้โทรศัพท์ไปหาอาจารย์เสถียร
ท่านก็บอกว่าให้รีบหากระดาษมาจด แล้วก็เล่าประวัติทั้งปี พ.ศ.
ตลอดจนชื่อกษัตริย์ผู้สร้างได้ถูกต้องทั้งหมด
เหตุการณ์เช่นนี้คนใกล้ชิดท่านมักจะได้ประสบอยู่เสมอๆ ซึ่งคุณบุญยงกล่าวว่า
“ความสามารถอันยอดเยี่ยมเช่นนี้ ข้าพเจ้ายังไม่เคยพบที่ไหนอีกเลย”

ในข้อนี้ท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
ก็ได้กล่าวรับรองไว้เช่นเดียวกันว่า “คุณเสถียร โพธินันทะ
เป็นบุคคลผู้มีคุณลักษณะพิเศษอย่างยิ่งคนหนึ่งที่ผมได้พบเห็นและรู้จัก
คำบรรยายเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ท่านได้กล่าวออกมาแก่เรา
มีลักษณะเหมือนภาพถ่ายพระธรรมคัมภีร์ที่ท่านได้อ่านทราบมา
ความรู้ที่ท่านได้รับจากพระธรรมคัมภีร์เหล่านั้น
ดูเหมือนท่านจะได้ถ่ายภาพประกับเข้ากับจิตใจของท่าน
แล้วท่านก็ส่องภาพนั้นๆ ออกมาให้เราเห็นชัดเจนแจ่มใส
ลักษณะอย่างนี้ฝรั่งเขาเรียกว่า
PHOTOGRAPHIC MIND อันเป็นคุณลักษณะที่หาได้ยากมาก...”


๖) ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายสมถะ
ท่านดำรงตนดังเช่น “ฆราวาสมุนี” คือเป็นฆราวาสผู้บำเพ็ญธรรม
มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่หรูหราฟุ้งเฟ้อ
ไม่เคยเห็นผูกนาฬิกาข้อมือ แต่งกายเรียบๆ ปอนๆ แต่สะอาดสะอ้าน
เคยมีผู้ถามท่านว่าทำไมไม่แต่งกายให้หรูหราหรือภูมิฐานกว่านี้
ท่านก็ยิ้มน้อยๆ และตอบว่า

“ไม่ไหวละครับ ผมไม่ต้องการประชันสังคม
เขามีอะไรก็มีไปเถอะ สิ่งใดไม่จำเป็นจริงๆ ผมจะสลัดออกให้หมด
แม้ว่าผมจะไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ผมก็ไปชุดนี้
...ผมเป็นคนประพฤติธรรม เป็นฆราวาสมุนี
ขอใช้ชีวิตโดดเดี่ยว และให้วิทยาเป็นทานเรื่อยไป”


๗) เป็นคนเห็นความสำคัญของเวลาในการทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นการปาฐกถาหรือบรรยายในมหาวิทยาลัยสงฆ์
ท่านจะเป็นคนรักษาเวลาดีมาก จะเข้าบรรยายตรงเวลา
และออกเมื่อหมดเวลา ไม่เคยมาสายให้ใครๆ ต้องรอ
ถ้ามีเวลาว่างก็ไม่ปล่อยให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
แต่จะใช้ศึกษาหาความรู้ หรือไม่ก็เรียบเรียงตำรับตำราที่มีคุณค่าได้เป็นจำนวนมาก
เวลาแต่ละวันของท่านอุทิศเพื่อทำประโยชน์แก่สังคมและพระศาสนา
จะหาเวลาเพื่อความสุขสำราญส่วนตนนั้นน้อยนัก ท่านไม่มีครอบครัว
ไม่เที่ยวเตร่ดื่มกินดังเช่นที่คนวัยหนุ่มนิยมกัน จึงมีเวลาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้มาก

๘) เป็นผู้ปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนา
นับว่าอาจารย์เสถียร โพธินันทะ
เป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของชาติไทย
ที่ริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบใหม่
ทำให้เยาวชนหันมาสนใจพระศาสนาอย่างได้ผล
สามารถสถาปนาองค์กรฆราวาสที่เข้มแข็งขึ้นมา
เพื่อช่วยทำนุบำรุงพระศาสนาได้อีกทางหนึ่ง
ซึ่งท่านมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะผลักดันให้ความสำเร็จบังเกิดขึ้นได้

คุณปรก อัมระนันท์ อดีตนายกยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยได้เล่าว่า

คุณเสถียรเกิดมาในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของชาติ
ในระยะที่วิวัฒนาการทางวัตถุเจริญรวดเร็วขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในระยะอันความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิวัติทางการสอนพุทธศาสนารุนแรงขึ้น
อย่างไม่เคยมีมาก่อน ในระยะที่ความเลื่อมใสทางศาสนาในหมู่เยาวชนกำลังเสื่อมลง
แต่คุณเสถียรสามารถเปลี่ยนทัศนะของคนสมัยใหม่
ที่ได้รับการศึกษาตั้งแต่ชั้นต่ำสุดถึงสูงสุด
ให้เข้ามาเป็นพุทธบุตรได้เป็นจำนวนนับไม่ถ้วน
ผลสะท้อนนี้สะเทือนไปทั่วประเทศและแสดงออกในลักษณะต่างๆ กัน
เช่น เกิดยุวพุทธิกสมาคมฯ ขึ้นทั่วราชอาณาจักร
เกิดการปฏิรูปทางการสอนศาสนา เช่นแบบโรงเรียนวันอาทิตย์ขึ้น
เกิดกลุ่มศึกษาพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ขึ้น เป็นต้น
แน่นอนคุณเสถียรมิใช่ผู้เดียวที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้น แต่ก็ยากที่เราจะปฏิเสธได้ว่า
ถ้าไม่มีคุณเสถียร สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้เท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน



มรณกรรม

วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙
อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้กลับมาบ้านในเวลา ๒๑.๐๐ น.
แล้วอาบน้ำชำระร่างกาย จากนั้นเมื่อเลยเที่ยงคืนไปแล้วจึงได้เข้านอน
ถึงวันรุ่งขึ้นในเวลาเช้า เด็กรับใช้ขึ้นไปเรียกเห็นเงียบ ก็ลงมาบอก
มารดาเข้าใจว่ายังหลับอยู่จึงออกไปซื้อของนอกบ้าน จนสายราว ๐๘.๐๐ น.
กลับมาเห็นยังไม่ตื่นจึงได้ขึ้นไปดูเห็นอาการนอนนิ่ง
เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ก็ตกใจ จึงให้หลานชายไปตามแพทย์มาตรวจ
แพทย์สันนิษฐานว่าสิ้นลมมาราว ๖-๗ ชั่วโมงแล้ว

ลักษณะการถึงแก่กรรมของท่านเหมือนคนนอนหลับธรรมดา
หน้าตาเปล่งปลั่งมีรอยยิ้มน้อยๆ ไม่มีร่องรอยว่ามีทุกขเวทนาใดๆ

แม้เมื่อนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจักรวรรดิราชาวาสแล้ว
และยังมิได้ปิดฝาในหัวค่ำวันที่ ๑๐ ธันวาคมนั้น ใครๆ ไปเยี่ยมศพก็จะเห็นว่าร่างท่านสมบูรณ์
ยังมีหน้าตาเปล่งปลั่งมีเลือดฝาดเหมือนกับคนนอนหลับ นับได้ว่าจากไปด้วยอาการอันสงบ
ต่อมาได้มีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพขึ้น ณ วัดเทพศิรินทราวาส รวมสิริอายุได้ ๓๘ ปี
ตลอดมาได้ดำรงตนเป็นฆราวาสมุนี ถือพรหมจรรย์ และประพฤติธรรมตราบจนสิ้นอายุขัย.

:b44: :b44:


ที่มาของข้อมูลและเอกสารอ้างอิง
๑) ปองพล อิทธิปรัชาบุ. ๒๕๔๖.
อาจารย์เสถียร โพธินันทะ บุคคลของพระพุทธศาสนา.
http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ub ... sok-07.htm
๒) http://th.wikipedia.org/wiki/เสถียร_โพธินันทะ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/