วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ย. 2024, 20:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2012, 15:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กันตสีโล)

พระอริยสงฆ์ ๕ แผ่นดิน ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี
เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาลของประเทศและเป็นผู้รัตตัญญูรู้ราตรีนาน
สิริอายุรวมได้ ๑๑๗ ปี พรรษา ๙๗


วัดสีลสุภาราม
ถ.เจ้าฟ้าตะวันตก ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต


มีผู้กล่าวว่า กว่าจะมีพระอรหันต์ปรากฏในโลกย่อมนานแสนนาน ทั้งเมื่อพระอรหันต์ปรากฏแล้วก็จะมีเพียงผู้คนไม่กี่ร้อยกี่พันคนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าใจในความเป็นพระอรหันต์ และได้รับการโปรดด้วยธรรมะอันลุ่มลึก และพิสดารจนสามารถเข้าถึงแก่นแท้แห่งชีวิตและความเป็นอนิจจัง ด้วยว่าพระอรหันต์ย่อมแสดงกิริยาอาการหรือสื่อความเป็นพระอรหันต์มิได้แต่เพียงน้อยนิด ด้วยองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรับโทษสูงถึงอาบัติปาราชิก แม้จะมีภูมิธรรมอันเป็นพระอรหันต์ก็ตามที ดังนั้น แม้จะไม่อาจพบพระอรหันต์ได้ในชีวิตนี้ ก็ยังมีพระสุปฏิปันโนอันเป็นเนื้อนาบุญของสัตว์โลก ให้ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนได้บูชาสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนเองและบุคคลอันเป็นที่รัก สมเด็จพระญาณไตรโลกนาถบรมศาสดาทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า พระสุปฏิปันโนเปรียบเสมือนนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอินทรีย์สาร อันมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ให้รวงข้าวอันเต่งทุกเม็ด ให้ผลแก่ร่างกายมนุษย์และสัตว์เมื่อบริโภค ข้าวเปลือกเปรียบเสมือนทานบารมีที่่พุทธศาสนิกชนได้หว่านลงในเนื้อนาบุญของสัตว์โลก คือ พระสุปฏิปันโน ย่อมให้ต้นข้าวและรวงข้าวอันมีโภคผลในการหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้ล่วงลับดับไปจากโลกนี้แล้ว และให้ความอยู่ดีมีสุขแก่ผู้ที่ยังต้องดำรงชีวิตอยู่ในโลก อันเต็มไปด้วยกิเลสและตัณหาอันเชี่ยวกราก เสมือนเรืออันแข็งแรงพาผู้โดยสารข้ามวังวนแห่งกิเลสไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ตามกำลังแห่งศรัทธาปสาทะและความตั้งใจอันบริสุทธิ์ของแต่ละบุคคล

ดังนั้น ขอนำทุกท่านร่วมกันศึกษาประวัติและปฏิปทาหลวงปู่สุภา กันตสีโล พระอริยสงฆ์ ๕ แผ่นดิน ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี สิริอายุรวมได้ ๑๑๗ ปี พรรษา ๙๗ พระสุปฏิปันโนผู้เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาลของโลกอีกองค์หนึ่ง ซึ่งชีวิตท่านอุทิศแล้วแก่พระพุทธศาสนา แก่การโปรดสัตว์ผู้ยากให้พ้นวังวนของกิเลสและตัณหา แผ่เมตตาธรรมโดยถ้วนหน้าแก่ทุกชีวิตที่เข้ามาพึ่งใบบุญ สงเคราะห์แก่ทุกผู้ทุกนามโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ สายตาของท่านมองดูสัตว์โลกด้วยความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ประเสริฐ มองลึกเข้าไปจากเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องประดับและยศถาบรรดาศักดิ์จอมปลอม ทุกคนจึงได้รับการปฏิบัติจากหลวงปู่สุภาโดยเท่าเทียมทุกวันวาร

๏ ปฐมบทของหลวงปู่สุภา กันตสีโล

ครอบครัวของท่านขุนภักดี หรือผู้ใหญ่บ้านพล วงศ์ภาคำ และนางสอ วงศ์ภาคำ เป็นที่เคารพของชาวบ้านคำบ่อ ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ทั้งนี้เพราะท่านผู้ใหญ่พลสร้างแต่ความดี มีน้ำใจ และบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรในปกครองอย่างเสมอหน้า ว่ากล่าวตักเตือนด้วยความเมตตา เมื่อพบผู้กระทำผิดอันพอจะอภัยได้ และกระทำการจับกุมอย่างเด็ดขาดในกรณีที่กฎหมายไม่อาจจะละเว้นหรือตักเตือนได้ ทุกคนจึงพร้อมที่จะร่วมมือกับท่านผู้ใหญ่พลในทุกๆ ด้าน บ้านคำบ่อจึงอยู่กันอย่างสงบสุขตลอดมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๓๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก คุณแม่สอก็ให้กำเนิดบุตรชายคนที่ ๖ ในสกุลวงศ์ภาคำ เป็นเด็กที่มีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ ผิวขาว หน่วยก้านบอกว่าต่อไปจะเป็นคนดีของบ้านเมือง และคนดีศรีวงศ์ตระกูล ท่านผู้ใหญ่พลจึงให้นามบุตรชายคนนี้ว่า “สุภา” อันประกอบด้วย “สุ” แปลว่า “ดี” และ “ภา” มาจากส่วนหนึ่งของสกุลว่า “วงศ์ภาคำ” ซึ่งมีความหมายว่า คนดีของตระกูลวงศ์ภาคำ นั่นเอง

หลวงปู่สุภามีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๘ คน คือ

๑. นางสี วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. นายเสน วงศ์ภาคำ (บวชเป็นพระภิกษุ-มรณภาพแล้ว)
๓. นางผม วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. นางเกตุ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. นายจันทร์เพ็ง วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๖. พระมงคลวิสุทธิ์ หรือหลวงปู่สุภา กันตสีโล (มรณภาพแล้ว)
๗. นางมาลีจันทร์ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๘. นางกา วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรมแล้ว)

หลวงปู่สุภารำลึกความหลังให้กับสานุศิษย์ได้รับรู้ว่า เมื่อท่านยังเป็นเด็กที่มีรูปร่างอ้วนท้วน เจ้าเนื้อ ผิวขาว ซุกซนตามประสาเด็กทั่วไป แต่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่ในครอบครัว และผู้ที่่อยู่ใกล้ชิด เมื่อวัยของท่านเจริญเติบโตเพียงพอจะเล่าเรียนได้แล้ว ผู้เป็นบิดาของท่านได้พาไปฝากไว้ในวัด ให้ได้เล่าเรียนเขียนอ่านตามสมควรแก่วัย และหลวงปู่ก็เป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย มักชอบเล่าเรียนเขียนอ่านมากกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน

หลวงปู่สุภายังจำได้แม่นยำเหมือนเพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ถึงสิ่งที่ท่านได้ประสบกับสิ่งที่เรียกว่า “การพยากรณ์” จากปากของพระธุดงค์ที่่มาปักกลดใต้ต้นตะแบกใหญ่ท้ายหมู่บ้านคำบ่อ เด็กน้อยชื่อสุภา วัยเพียง ๗ ขวบ คลานเข้าไปกราบแทบตักพระธุดงค์ มือของพระธุดงค์ลูบศีรษะของเด็กน้อยด้วยความเอ็นดู บอกให้ลุกขึ้นนั่ง ทอดสายตามองดูรูปร่างของเด็กน้อยที่นั่งอยู่ตรงหน้าเป็นครู่ใหญ่ จึงกล่าวกับเด็กน้อยเมื่อตอนอายุได้ ๗ ขวบว่า “เด็กน้อยเอ๊ย ต่อไปเจ้าจักได้บวชเรียน ถวายตัวในพระพุทธศาสนา บวชเมื่อใดแล้วจงอย่างลืมไปเสาะหาหลวงพ่อให้จงได้ อย่าลืมนะ พบกันในวาระที่เจ้าได้ครองผ้าเหลืองเหมือนหลวงพ่อนี้แหละ”

หลวงปู่สุภาเมื่อยังเป็นเด็ก ไม่เข้าใจว่านั่นคือคำพยากรณ์ จึงไม่ใส่ใจ แต่ได้จ้องดูหน้าของพระธุดงค์จนจดจำองคาพยพไว้ได้ทั้งหมด ก่อนจะกราบลาออกไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กซุกซนตามปกติ

วันเวลาเคลื่อนคล้อยไปอีก ๒ ปีเต็ม ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ หลวงปู่สุภามีอายุได้ ๙ ขวบ จึงกราบขออนุญาตท่านผู้ใหญ่พล วงศ์ภาคำ ผู้เป็นบิดา เพื่อออกบรรพชาเป็นสามเณร ท่านผู้ใหญ่พลไม่ขัดข้อง เพราะเห็นแล้วว่าหลวงปู่สุภาเป็นผู้เอาใจใส่ในการเล่าเรียน แม้จะไม่ได้เรียนทางโลก หากแต่เรียนทางธรรมย่อมมีความเจริญก้าวหน้าดุจเดียวกัน จึงนำไปให้ พระอาจารย์สวน ทำการบรรพชาเป็นสามเณร และสั่งสอนอบรมอยู่ ๑ ปีเต็ม วันหนึ่งพระอาจารย์สวนได้บอกกับหลวงปู่สุภาว่า “อย่างเณรมันต้องก้าวหน้ากว่านี้ ฉันจะพาเข้าเมืองอุบลฯ ไปเล่าเรียนต่อให้แตกฉาน อยู่กับฉันมันก็แค่นี้แหละเณร”

รูปภาพ
พระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ)
วัดพระธาตุท่าอุเทน ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม



๏ พบพระผู้ให้การพยากรณ์ :
พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์แรก


ปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ หลวงปู่สุภาได้รับการนำตัวลงมาจากบ้านคำบ่อ มาฝากไว้ในสำนักเรียนของ พระมหาหล้า แห่งวัดไพรใหญ่ จ.อุบลราชธานี โดยพระมหาหล้าได้ทดสอบความรู้เบื้องต้น พบว่าหลวงปู่สุภาเมื่อเป็นสามเณรมีความรู้เบื้องต้นดีมาก เรียนต่อก็ไม่ลำบากยากแก่การอบรม จึงร่วมกับ อาจารย์ลุย ผู้เป็นฆราวาสเปรียญธรรม อบรมสั่งสอนให้เล่าเรียน “มูลกัจจายน์” ๕ เล่ม อยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย หลวงปู่เล่าเรียนด้วยความเพียรพยายาม จนจบมูลกัจจายน์ในขณะอายุได้ ๑๖ ปีพอดี หลวงปู่สุภาได้กราบเรียนถามพระมหาหล้าผู้เป็นอาจารย์สอนมูลกัจจายน์ว่า หากจะเล่าเรียนต่อไป จะไปทางไหนดี คำตอบของพระมหาหล้าคือ

“มีอยู่สองทางคือ ไปเรียนบาลี เป็นมหาเปรียญ หรือไปเรียนวิปัสสนากรรมฐาน เป็นพระวิปัสสนาจารย์ เธอใคร่ครวญให้รอบคอบแล้วจึงตัดสินใจ”

ระหว่างสองทางเลือกนี้ สามเณรสุภาต้องตัดสินใจระหว่างลาภ ยศ สรรเสริญ ทางเป็นมหาเปรียญ กับการเป็นวิปัสสนาจารย์ผู้คร่ำเคร่งกับการปฏิบัติทางจิตและการแสวงหาความวิเวก ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรอันรกเรื้อ ห่างไกลจากความเจริญ ไม่มีพัดเปรียญธรรม ไม่อาจจะสละทางสงฆ์ เทียบวุฒิเข้าทำงานแบบฆราวาสได้เหมือนมหาเปรียญ มโนนึกต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายที่สุด ฝ่ายวิปัสสนาจารย์ก็ได้รับชัยชนะ

ในระหว่างที่หลวงปู่สุภาจะก้าวออกนอกวัดไพรใหญ่ เพื่อเข้าสู่เส้นทางของวิปัสสนาจารย์ ก็ให้บังเอิญมีญาติโยมจากท่าอุเทนมาที่วัดไพรใหญ่ ได้มาทำบุญเบี้ยพระที่วัด และได้รู้จักกับสามเณรสุภา ได้เล่าความให้สามเณรฟังถึงพระภิกษุผู้เป็นพระสายวิปัสสนากรรมฐาน ที่ขณะนี้กำลังสร้าง “พระธาตุท่าอุเทน” อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ว่า เป็นพระผู้มีเมตตาธรรมและมีบารมีธรรมอันน่าเคารพนับถือเป็นครูบาอาจารย์ นั่นคือสิ่งที่กระตุ้นให้สามเณรสุภา กราบลาพระมหาหล้า ออกเดินทางสู่ท่าอุเทนในทันที เพื่อไปนมัสการพระวิปัสสนาจารย์ ที่ได้รับการบอกเล่าจากญาติโยมชาวท่าอุเทน เมื่อไปถึงท่าอุเทนแล้ว ได้สอบถามเส้นทางไปยังพระธาตุท่าอุเทน

ขณะเมื่อไปถึงวัดพระธาตุท่าอุเทน เป็นเวลาที่พระวิปัสสนาจารย์กำลังเทศนาและสอนกรรมฐานแก่ญาติโยมพุทธศาสนิกชน จึงหยุดรออยู่นอกสถานที่สอนกรรมฐาน ครั้นเมื่อผู้คนแยกย้ายกันกลับไปหมด จึงเดินเข้าไปกราบนมัสการตรงหน้าพระวิปัสสนาจารย์ สายตาของพระวิปัสสนาจารย์ประสานกับสายตาของสามเณรน้อยผู้มาใหม่ แล้วเกิดกระแสแห่งความคุ้นเคย เสียงของพระวิปัสสนาจารย์พูดกับสามเณรน้อยขึ้นว่า

“บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะได้พบกัน เด็กน้อยจำเราได้หรือไม่ เราไม่เคยลืมแววตาคู่นี้เลย”

ภาพเด็กตัวเล็กๆ คลานเข้าไปกราบพระธุดงค์ที่ปักกลดอยู่ใต้ต้นตะแบกใหญ่ กลับมาปรากฏชัดในมโนภาพของสามเณรน้อย แม้องคาพยพของใบหน้าพระผู้ที่นั่งอยู่ตรงหน้า จะผิดไปจากใบหน้าของพระธุดงค์ด้วยความชรา แต่น้ำเสียงและแววตามิเคยเปลี่ยนไปเลย สามเณรน้องจึงเปล่งเสียงออกมาด้วยความดีใจเป็นล้นพ้นว่า

“ท่านอาจารย์นั่นเอง ที่ใต้ต้นตะแบก จริงๆ ด้วยขอรับ เป็นท่านอาจารย์จริงๆ”

เมื่อหลวงปู่ได้พบกับพระธุดงค์ที่มาปักกลดใต้ต้นตะแบกท้ายหมู่บ้านอีกครั้งตามพยากรณ์แล้ว หลวงปู่เกิดความปีติและยอมรับว่า พระธุดงค์ที่พบตอนอายุ ๗ ขวบนั้น ช่างเป็นพระผู้พยากรณ์เหตุการณ์ได้แม่นยำ หลวงปู่ได้ก้มลงกราบอีกครั้ง ท่านพระวิปัสสนาจารย์จึงกล่าวว่า

“เราชื่อ สีทัตถ์ เณรมีนามใดกัน มาจากที่ใด ต้องการอะไรจากเราก็ขอให้บอกมาเถิด”

หลวงปู่สุภาได้กล่าวตอบด้วยความปีติเป็นล้นพ้นว่า “กระผมดั้นด้นมานมัสการพระคุณอาจารย์ก็ด้วยความปรารถนาจะได้รับการอบรมด้านวิปัสสนากรรมฐานจากพระคุณอาจารย์ ตามแบบที่พระคุณอาจารย์ได้รับการถ่ายทอดมา กระผมเรียนมูลกัจจายน์ ๕ เล่มสำเร็จแล้วครับ”

“เณรน้อยเรียนมูลกัจจายน์มาแล้ว ใยไม่เรียนพระปริยัติธรรมต่อไป ไม่รู้หรือว่าการเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม คือ เป็นมหาเปรียญ นักเทศน์ เป็นครูสอนพระปริยัติ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ก้าวหน้าในตำแหน่งการปกครอง ส่วนประโยชน์ทางโลก คือ เมื่อสึกออกไปแล้ว เทียบวุฒิการทำงาน หรือรับราชการได้ตำแหน่งดี เณรน้อยเอาดีทางธรรม ทางปฏิบัติอย่างเดียวไม่เสียดายเวลาที่หมดไปหรือ ถ้าสึกออกไปเป็นฆราวาส ก็ไม่ต้องมาอยู่ในกฎระเบียบ ๒๒๗ ข้อนี้อีกต่อไป คิดให้ดีนะเณร”

พระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ) หยั่งเชิงสามเณรน้อยเพื่อค้นหาความตั้งใจ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าดูคนไม่ผิด แต่สามเณรน้อยก็ตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “กระผมต้องการเพียงทางเดียว คือปฏิบัติทางจิตหรือวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์มีความหมายมากขึ้น หากกระผมต้องการเป็นมหาเปรียญละก็ ไม่ลงทุนมาเสาะแสวงหาพระคุณอาจารย์ถึงท่าอุเทนนี่หรอกขอรับ ขออย่างเดียว รับกระผมเป็นศิษย์ กระผมจะอยู่ในโอวาทของพระคุณอาจารย์ทุกประการ”

พระอาจารย์สีทัตถ์ทดสอบความอดทนของสามเณร ตั้งแต่การขบฉัน การทำงานหนักในการก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทน และการทดสอบด้านจิตใจ จนแน่ใจว่าจะทนรับการสอนที่หนักหนาสาหัสในการที่จะเรียนวิปัสสนากรรมาน จึงอบรมกรรมฐานให้แก่สามเณรสุภา เริ่มโดยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ภาวนาว่า “พุทโธ” ตั้งแต่แรกจนไม่ต้องภาวนา จากสมาธิเพียงชั่วแล่นก็ค่อยๆ กลายเป็นสมาธิที่ยาวนานและสามารถดำรงสติได้อย่างมั่นคง จึงให้ขึ้นธุดงควัตร ๑๓ ประการจนคล่อง จึงบอกกับสามเณรสุภาว่า

“ต่อจากนี้ไปเป็นการปฏิบัติจริงในป่าเขาลำเนาไพร อันอุดมไปด้วยสิงสาราสัตว์และภูตพรายทั้งปวง อมนุษย์และพวกหมอผี นักล่าชีวิตมนุษย์ด้วยคุณไสย มนต์ดำ สิ่งที่เรากล่าวมา อบรมมา พึงนำมาใช้ให้ยิ่งยวด เพราะเธอจะต้องพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งเราในการเดินทาง”

ข้ามฝั่งแม่โขงจากนครพนม ไปสู่พระราชอาณาจักรลาว ผ่านป่าเขาลำเนาไพร ผจญความยากลำบากมากมาย ทั้งสัตว์ร้าย งูพิษ ต้นไม้พิษ ตลอดจนหมอผีและภูตพรายต่างๆ หลายหนที่ต้องฉันใบไม้อ่อน เพราะไม่มีสัปปายะจะให้บิณฑบาต แต่ก็ผ่านมาได้ จนพระอาจารย์สีทัตถ์ยอมรับในความอดทนของสามเณรน้อยสุภา

กระทั่งถึงจุดที่พระอาจารย์สีทัตถ์นำพามาฝึก คือ “ถ้ำภูควาย” แห่งพระราชอาณาจักรลาว อันเป็นถ้ำเร้นลับ ตั้งอยู่บนภูเขาที่มีลักษณะปลายยอดสองข้างโค้งเข้าหากัน มองคล้ายกับเขาควาย มีพระภิกษุมาจากสถานที่ต่างๆ มาชุมนุมกันเพื่อเล่าเรียนวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์สีทัตถ์หลายรูปด้วยกัน

พระอาจารย์สีทัตถ์ท่านเป็นพระป่ามีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน และทรงวิทยาคมทางด้านคาถาอาคมไสยเวท ซึ่งท่านได้ศึกษาวิชาอาคมด้านต่างๆ มาจากหลวงปู่สมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ พระราชอาณาจักรลาว สมเด็จลุนท่านเป็นสุดยอดปรมาจารย์ของพระราชอาณาจักรลาว พระเถราจารย์ทางภาคอีสานแถบลุ่มแม่น้ำโขงที่มีชื่อเสียงโด่งดังล้วนฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งสิ้น สมเด็จลุนท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย ท่านสามารถเดินข้ามแม่น้ำโขงด้วยเท้าเปล่า และบางครั้งท่านจะไปนั่งสรงน้ำกลางแม่น้ำโขง นี่คืออิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน และในบรรดาลูกศิษย์ของสมเด็จลุน พระอาจารย์สีทัตถ์ถือเป็นศิษย์เอกที่ได้รับการถ่ายทอดตำราวิทยาคมจนหมดสิ้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าลูกไม้จะหล่นไกลต้น

พระอาจารย์สีทัตถ์นับเป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์แรกของสามเณรสุภา

รูปภาพ
หลวงปู่สมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ พระราชอาณาจักรลาว

รูปภาพ
รูปหล่อพระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ)
ณ วัดพระธาตุท่าอุเทน ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม


รูปภาพ
รูปภาพพระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร)
ณ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท


รูปภาพ
เสด็จในกรมฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ย


๏ เข้าสู่การเป็นพระภิกษุ

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ สามเณรสุภามีอายุครบอุปสมบท พระอาจารย์สีทัตถ์จึงได้จัดเตรียมเครื่องบริขารให้สามเณรสุภา พระอาจารย์สีทัตถ์ได้อธิษฐานให้ถ้ำภูควายเป็นวิสุงคามสีมา พร้อมด้วยพระวิปัสสนาจารย์ ทำการอุปสมบทสามเณรสุภาในถ้ำแห่งนั้น โดยมี พระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระวิปัสสนาจารย์ร่วมเป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ ศิษย์ในพระวิปัสสนาจารย์ติดตามมาเป็นพระอันดับ ท่านได้รับนามฉายาว่า “กนฺตสีโล” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีศีลเป็นที่น่ายินดี” นับแต่นั้นมา

พระอาจารย์สีทัตถ์ได้สั่งสอนอบรมข้อวัตรปฏิบัติทั้งในทางธุดงค์ ไปจนถึงคาถาอาคมป้องกันตัวจากสัตว์ร้าย อสรพิษ ภูตพรายทั้งปวง แล้วนำหลวงปู่สุภาเดินทางกลับมายังท่าอุเทนเพื่อเข้าพรรษากาล ซึ่งนับเป็นปีแรกพรรษาแรกแห่งการเป็นสมมติสงฆ์ การออกเดินธุดงค์ภายใต้การดูแลของพระอาจารย์สีทัตถ์ จึงทำให้หลวงปู่สุภามีความก้าวหน้าในการกำหนดอารมณ์และสติในการเผชิญภัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ในการเดินธุดงค์ผจญความยากลำบากและภัยต่างๆ หลวงปู่สุภาทำได้เป็นอย่างดี พระอาจารย์สีทัตถ์ผู้เป็นอาจารย์รู้สึกนิยมในความก้าวหน้าของศิษย์เอกผู้นี้เป็นอย่างมาก ๔ พรรษาเต็มแห่งการออกธุดงค์ ครั้นเมื่อเข้าพรรษากาล พระอาจารย์สีทัตถ์ก็ให้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยคัมภีร์ปริยัติ ๕ หมวด และเร่งทดสอบอารมณ์กรรมฐานอย่างละเอียด พอขึ้น พรรษาที่ ๕ พระอาจารย์สีทัตถ์จึงบอกกับหลวงปู่สุภาว่า

“สมควรแก่เวลาที่เณรน้อยจะต้องออกธุดงค์ด้วยตนเองแล้ว แต่สำหรับก้าวแรกในการธุดงค์ลำพังนี้ เราจะให้พระสองรูป เณรหนึ่งรูป ธุดงค์ไปกับเณรน้อย เณรน้อยจงคุ้มครองป้องกันภัยให้เขา คอยอบรมให้อยู่ในธุดงควัตร เหมือนที่เราเคยได้ทำกับเณรน้อยเมื่อสี่ปีมาแล้ว”

หลวงปู่สุภาได้ทำหน้าที่ควบคุมพระและเณร ธุดงค์ไปจนถึงภูควายและกลับมาท่าอุเทนอย่างปลอดภัย เป็นการสอบผ่านธุดงควัตรอย่างแท้จริง รวมเวลาที่หลวงปู่สุภาได้อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์สีทัตถ์ เป็นเวลานานถึง ๘ ปี หลวงปู่สุภาเล่าต่อไปว่า “พระอาจารย์สีทัตถ์มิได้เป็นพระวิปัสสนาจารย์อย่างเดียว แต่ท่านมีวิชาอาคมหลายแขนง สามารถถอดกายทิพย์ท่องไปในภูมิต่างๆ ได้ ภาษานกและภาษาสัตว์ในป่าท่านก็ฟังออก และเคยแสดงให้หลวงปู่สุภาดู อีกทั้งยังได้สอนให้ทำจนถึงแก่นอีกด้วย เรียกว่าสอนแบบไม่ปิดบัง แต่สำหรับภาษาสัตว์หลวงปู่สุภาท่านไม่ขอเรียน”


๏ คำสั่งพระอาจารย์สีทัตถ์

ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๓ หลวงปู่สุภาได้ตัดสินใจธุดงค์เดี่ยว จึงมากราบลาพระอาจารย์สีทัตถ์เพื่อออกธุดงค์ พระอาจารย์สีทัตถ์ได้สั่งสอนให้โอวาทว่า “ไปให้ดีเถอะเณรน้อย เดินให้สม่ำเสมอ จิตรู้อารมณ์ อย่าเร็วนัก อย่าช้านัก ให้ค่อยไป ให้ค่อยมา ให้อยู่ในกลางๆ โบราณาจารย์ได้สั่งสอนศิษย์เป็นคติสอนใจว่า อยากถึงเร็วให้คลาน อยากถึงนานให้วิ่ง รู้ไหม หมายความว่าอย่างไร อยากถึงเร็วให้คลาน คือไปแบบไม่รีบร้อนด่วนได้ จะถึงจุดหมายแบบปลอดภัย ถ้าลุกลี้ลุกลนเกินไป ก็จะเหมือนคนวิ่งไปด้วยความคะนอง สะดุดล้มแข้งขาหัก เดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องช้าไปอีกนานทีเดียว”

เมื่อหลวงปู่สุภาพร้อมที่จะเดินทาง พระอาจารย์สีทัตถ์ได้กล่าวคล้ายคำสั่งเสียด้วยความห่วงใยว่า

“เณรน้อยจงไปภูเขาควาย ออกจากภูควายแล้วให้ไปท่าเดื่อ จากท่าเดื่อไปหนองคาย ที่นั่นเธอจงสละธุดงควัตร แล้วเร่งเดินทางไปทางเหนือ ที่นั่นเธอจะได้พบพระอาจารย์องค์หนึ่ง มีความเชี่ยวชาญด้านกสิณและวิชชาแปดประการ มีอภิญญาสูงมาก เธอจะได้รับความรู้จากท่านเป็นอันมาก ที่ต้องให้สละธุดงควัตรเพราะท่านเหลือเวลาไม่มากแล้วในการสั่งสอนเณรน้อย หากเดินธุดงค์แบบธรรมดาน่าจะสายเกินไป”

จากภูควายหลวงปู่สุภาข้ามมาท่าเดื่อ แล้วอธิษฐานจิตออกจากธุดงควัตรที่ตัวจังหวัดหนองคาย ฝากบริขารธุดงค์ไว้กับพระที่คุ้นเคยในระหว่างธุดงค์ภูควาย และจับรถไฟเข้ามากรุงเทพฯ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการไปสู่ภาคเหนือเพื่อแสวงหาพระอาจารย์ตามคำสั่งของพระอาจารย์สีทัตถ์ เหมือนโชคชะตาเป็นใจให้หลวงปู่สุภา เพราะในขณะที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านก็ได้ข่าวพระอาจารย์ที่เก่งมากองค์หนึ่ง ที่แถววังนางเลิ้ง เขาบอกกันว่า

“ท่านพระครูวิมลคุณากร หรือหลวงปู่ศุข เกสโร แห่งวัดอู่ทอง หรือวัดปากคลองมะขามเฒ่า ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ซึ่งเสด็จในกรมฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ย ทรงเลื่อมใสศรัทธาถวายตัวเป็นศิษย์ถึงที่วัดทีเดียว”

หลวงปู่สุภาจึงเดินทางไปยังวัดอู่ทอง หรือวัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ด้วยการเดินทางในสมัยนั้นยังยากลำบากและทำให้เหน็ดเหนื่อย แต่ครั้นพอเดินทางเข้ามาถึงในเขตวัดแล้ว หลวงปู่ก็รู้สึกว่าเยือกเย็น และมีอะไรบางอย่างที่่บอกว่า ที่นี่แหละคือที่ๆ พระอาจารย์สีทัตถ์กำหนดให้มา

รูปภาพ
บันทึกภาพเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๖

(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2012, 16:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ เบื้องหน้าผู้สำเร็จวิชชา ๘ ประการ :
พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์ที่ ๒


เมื่อหลวงปู่สุภาเดินทางมาถึงวัดอู่ทอง หรือวัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท จึงเดินทางไปกุฏิ พอเห็นกุฏิหลวงปู่ศุขก็จะขึ้นไปกราบนมัสการ ขณะล้างเท้า เสียงของหลวงปู่ศุขก็ดังมาจากชั้นบนของกุฏิ

“มาถึงแล้วหรือพ่อเณรน้อย กำลังรออยู่พอดี ล้างเท้าแล้วขึ้นมาเห็นหน้าเห็นตากันหน่อย”

มีแต่เสียงทักทาย แต่ไม่ปรากฏหลวงปู่ศุขที่นอกชาน เมื่อมองขึ้นไปไม่เห็นใคร จึงได้คิดในใจว่า...นี่คือพลังปราณของผู้ที่สำเร็จ สามารถออกเสียงให้ดัง ค่อย หรือไกล ใกล้แค่ไหนก็ได้ ขึ้นไปชั้นบนของกุฏิแล้ว ก็เห็นพระภิกษุรูปร่างสันทัด ผอมเกร็ง แต่ผิวพรรณวรรณะผุดผ่อง คล้ายกับทาด้วยขมิ้น ทว่าเมื่อคลานเข้าไปกราบต่อหน้าท่านและลุกขึ้นนั่งพนมมือ ได้สังเกตใกล้ๆ พบว่าไม่ใช่ขมิ้น แต่เป็นแสงอะไรบางอย่างที่เรื่อเรืองอยู่บนผิวพรรณของหลวงปู่ศุข ที่ทำให้เกิดความสง่าคล้ายทาขมิ้น หลวงปู่ศุขได้มองมาที่หลวงปู่สุภาและเอ่ยขึ้นว่า

“นี่เอง เณรที่ท่านสีทัตถ์ได้บอกไว้ในฌาน เป็นคุณนี่เอง เณรน้อยต้องการอะไร จะเรียนอะไรก็บอกมาได้ไม่ขัดข้อง ท่านสีทัตถ์ฝากมาแล้วนี่”

คำว่า “ฌาน” คำว่า “ฝากมาแล้วนี่” ทำให้หลวงปู่สุภาประจักษ์ว่า อภิญญาจิต การถอดกายทิพย์ การใช้โทรจิต มีจริง ก่อนที่ท่านจะมากราบนมัสการหลวงปู่ศุข ทางพระอาจารย์สีทัตถ์ได้ถอดกายทิพย์มาฝากฝังหลวงปู่สุภากับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ไว้เรียบร้อยแล้วนั่นเอง หลวงปู่สุภาจึงไม่กล้าที่จะเอ่ยว่าจะมาเรียนอะไร นอกจากจะกล่าวว่า “กระผมขอให้เป็นเรื่องที่ท่านอาจารย์จะเมตตาอบรมสั่งสอนก็แล้วกันขอรับ เห็นว่าอะไรเหมาะ อะไรควร ก็สั่งสอนให้กระผมก็แล้วกัน”

เมื่อหลวงปู่ศุขได้ยินดังนั้น ก็หัวเราะ หึ หึ ด้วยความพอใจ แล้วกล่าวกับหลวงปู่สุภาว่า

“สมแล้วที่เป็นศิษย์ท่านสีทัตถ์ มีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวใช้ได้ หลายรูปมาถึงไม่ดูวาสนาบารมีตนเองว่าจะสามารถรองรับได้หรือไม่ จะเรียนโน่น จะเรียนนี่ สุดท้ายก็กลับไปมือเปล่า เพราะขาดวาสนาบารมี เพราะเมื่อขาดวาสนาบารมีและการเจียมตัวแล้ว อะไรก็ไม่สำเร็จ เอาละ ไปพักผ่อนก่อน ถึงเวลาจะเรียกมาสอบฐานความรู้และประสิทธิประสาทวิชาต่อไป”

เมื่อถึงเวลา หลวงปู่ศุขก็ได้สอบอารมณ์กรรมฐาน และดูพื้นฐานการศึกษาวิชาอาคมของหลวงปู่สุภา ที่ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์สีทัตถ์ เมื่อทดสอบแล้วเห็นว่าบกพร่องตรงไหน ก็ช่วยแก้ไขให้ถูกต้อง ปรับระดับการเข้าฌาน การทำกสิณและการเพ่งด้วยกสิณเป็นประการต่างๆ หลวงปู่ศุขสอนว่า

“มีวิชาหลายอย่างที่ปู่สำเร็จ แต่บารมีเณรน้อยนั้นเรียนไม่ได้ โดยเฉพาะวิชชาแปดประการที่เณรน้อยต้องการจะเรียน วาสนาบารมีของเณรน้อยไปไม่ได้ จะให้วิชาสำคัญ คือ การลงนะหน้าทอง และการเสกให้ทองเข้าไปแทรกในอณูภายในร่างกาย เขาเรียกว่า เป่าทองเข้าตัว”

ถึงแม้หลวงปู่สุภาจะได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุมานานถึง ๔ พรรษาแล้วก็ตาม แต่หลวงปู่ศุขก็ยังเรียกท่านซึ่งเป็นลูกศิษย์สุดท้อง ว่า “เณรน้อย” เช่นเดียวกับพระอาจารย์สีทัตถ์เคยเรียก

รูปภาพ
พระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ)
พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์แรกของหลวงปู่สุภา


รูปภาพ
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า
พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์ที่ ๒ ของหลวงปู่สุภา



๏ วิชาเป่าทองเข้าตัว-อภิญญาจิตตัวสำคัญ

หลวงปู่ศุขได้เมตตาอธิบายให้เข้าใจถึงหลักของ การเป่าทองเข้าตัว อย่างละเอียด ซึ่งหลวงปู่สุภาได้บันทึกไว้ว่า “วิชาเป่าทองเข้าตัว มิใช่เพื่อมหานิยม แต่ยังสามารถป้องกันอันตรายต่างๆ ทั้งจากคมหอก คมดาบ และปืนไฟ ไปจนถึงมีมหาอำนาจแล้วแต่จะประสิทธิ์ประสาทในด้านใด ต้องพิจารณาบุคคล แต่ละบุคคลที่จะลงแผ่นทองหรือเป่าทองให้ว่าเป็นอย่างไร บารมีพอที่จะรับทองได้กี่แผ่น แต่ละคนล้วนมีข้อปลีกย่อยผิดแผกออกไปแล้วแต่กรณี ต้องดูว่าจะลงให้ทางไหน ตามที่กำหนดไว้ในตำรับของครูบาอาจารย์เท่านั้น จะนอกเหนือหรือขาดตกบกพร่องไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว

การที่ทองจะแทรกเข้าไปในสู่ทุกอณูไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ต้องมีหัวใจสองอย่าง คือ น้ำมันว่าน และเกสร ๑๐๘ ชนิด เคี่่ยวผสมด้วยพระเวทย์อาคมที่ต้องแก่กล้าด้วยพลังอภิญญาเท่านั้น หากทำไม่ถูกต้อง จะไม่สามารถเปิดรูขุมขนของผู้ที่จะเป่าทองเข้าตัวได้ การเป่าก็จะไม่ได้ผลทั้งสิ้น ไม่เกิดพลังใดๆ เป็นสูญเท่านั้น การจุดเหล็กจารที่จุ่มน้ำมันว่านและเกสร ๑๐๘ ชนิด และการเป่าภาวนาเพื่อดันทองเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่จะลง และให้กำหนดให้ผู้รับการลงหรือเป่าทองกำหนดจิตอธิษฐานเอาเอง การเรียนการสอนทำได้เฉพาะตอนกลางคืนที่่เป็นเวลาสงัด เพราะตอนกลางวันไม่สามารถจะเรียนได้ ด้วยมีคนมากราบนมัสการหลวงปู่ศุข ขอโน่นขอนี่ จนท่านไม่มีเวลาจำวัด เรียกว่า หัวบันไดไม่แห้ง แต่หลวงปู่ศุขก็ไม่เคยท้อถอย หรือแสดงอาการไม่พอใจแต่อย่างใด”


๏ หมากหินยอดของขลัง

หลวงปู่สุภามีหน้าที่คอยอุปัฏฐากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ด้วยการตำหมากถวาย ที่หลวงปู่ศุขเคี้ยวหมากติดต่อกัน ไม่ใช่ว่าท่านเคี้ยวหมากจนติด แต่ที่ท่านต้องเคี้ยวติดต่อกันก็เพราะญาติโยมที่มานั้นจะจ้องขอชานหมากของหลวงปู่ศุขที่เคี้ยวแล้ว เพื่อติดตัวนำไปป้องกันอันตราย เมื่อหลวงปู่ศุขพูดคุยกับญาติโยมไป ท่านก็เคี้ยวหมากไปเรื่อยๆ พอเขาจะลากลับ ก็จะขอชานหมากของท่าน ท่านก็จะคายชานหมากออกมาที่ฝ่ามือ จัดให้เป็นก้อนกลมๆ ด้วยการปั้น ชานหมากที่ปั้นแล้วท่านจะเอามาไว้ในฝ่ามือที่พนม หลับตาภาวนาคาถาของท่านครู่ใหญ่ จึงเป่าลมปราณลงไปในฝ่ามือที่แบออกดัง “เพี้ยง” จากนั้นก็ยื่นให้กับญาติโยมที่ขอคนละเม็ด ตอนแรกหลวงปู่สุภาก็คิดว่าเป็นชานหมากเสกธรรมดา แต่มีหลายคนที่่รับมาแล้ว ไม่ได้ระวัง เลยหลุดจากมือ ตกลงกระทบพื้นเสียงดัง “แป๊ก” คล้ายกับลูกหิน หรือลูกกระสุนยิงนกที่่ปั้นด้วยดินเหนียวตากแห้งตกกระทบพื้น ก็ชานหมากธรรมดาน่ะ นุ่ม แม้ตากแห้งก็ร่วนกรอบ แต่นี่่หลวงปู่ศุขเสกแล้วหล่นลงพื้นดังแป๊ก จึงรู้สึกแปลกใจ เมื่อมีเวลาเลยแอบขอญาติโยมดูด้วย แล้วพิจารณา หลวงปู่สุภาท่านบอกว่า

“ลูกอมชานหมากที่หลวงปู่ศุขปั้นแล้วเสกเพี้ยง แทนที่จะมีสภาพเป็นชานหมากนุ่มๆ กลับเปลี่ยนสภาพเป็นชานหมากที่แข็งมาก บีบดูเหมือนบีบลูกหิน หากไม่ได้ลูบ ก็ต้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปแล้ว หลวงปู่ศุขเปลี่ยนสภาพจากชานหมากนุ่มๆ ให้เป็นชานหมากหินไปได้ในเวลาเพียงหนึ่งอึดใจเท่านั้น”

เมื่ออยู่กันสองต่อสองเวลาเรียน หลวงปู่ศุขก็พูดกับหลวงปู่สุภาว่า เณรน้อยสนใจไม่ใช่หรือหมากหินน่ะ เห็นไปแอบขอญาติโยมดู พลังจิตของเณรสามารถทำได้นะ แต่ต้องได้รับคำแนะนำอีกเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำได้แล้ว หลักไม่มีอะไรมากหรอก เป็นการใช้อำนาจปฐวีกสิณ เปลี่ยนชานหมากที่เป็นของเหลวหยุ่น ธาตุน้ำ ให้แข็งเป็นหินเป็นดิน เขาเรียกว่า “เคลื่อนย้ายถ่ายเปลี่ยนธาตุ” โดยหลวงปู่สุภาก็ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่ศุขจนสามารถเสกชานหมากได้ในที่่สุด โดยการเจริญสมาธิ เข้าฌาน และเข้ากสิณ จนถึงการภาวนา และเปลี่่ยนจนชานหมากแปรสภาพไปในที่สุด จนเสกให้หยุ่นเหมือนกับลูกยางก่อน แล้วจึงเร่งพลังขึ้นไปจนถึงที่่สุด

หลวงปู่สุภาเล่าตอนนี้ว่า “เสกได้จริง แต่ไม่เหมือนกับหลวงปู่เสก คือของหลวงปู่ศุขเป็นหินจริงๆ แต่ของท่านเสกให้แข็งได้แต่ภายนอก แต่ภายในยังไม่แข็ง เรียกว่า บีบแรงๆ กระแทกๆ ก็จะแตกเห็นเป็นชานหมากธรรมดาที่แห้ง ไม่แข็งเป็นหินทั้งหมด ด้วยบารมีท่านไม่อาจสู้หลวงปู่ศุขได้ เหมือนคำโบราณ ศิษย์ไม่อาจคิดสู้ครูได้”

หลวงปู่สุภาทำหน้าที่คอยอุปัฏฐากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จนได้เวลาอันสมควร หลวงปู่ศุขจึงได้เรียกให้หลวงปู่สุภามาพบ และได้บอกว่าเณรน้อยได้เรียนมาพอสมควรแล้ว วิชาที่เรียนไปก็พอจะช่วยเหลือคนได้ เณรน้อยทิ้งธุดงควัตรมานานแล้ว เณรเหมาะกับธุดงค์ เณรชอบของเณรอย่างนั้น ปู่เองก็เคยเป็นนักธุดงค์ แต่เมื่อโยมแม่ขอให้อยู่ใกล้ชิดก็เลยแขวนกลดแต่นั้นมา เณรน้อยเตรียมตัวให้พร้อม ปู่จะสอนวิชาที่ไม่เคยมีผู้ใดได้เล่าเรียนมาก่อน และวาสนาบารมีของเณรน้อยก็สามารถเรียนวิชานี้ได้

รูปภาพ
คณะสงฆ์มากราบนมัสการเยี่ยมหลวงปู่สุภา พระดีศรีอันดามัน


๏ สุดยอดเคล็ดวิชาสำนักวัดปากคลองมะขามเฒ่า

หลังจากที่หลวงปู่ศุขปรารภให้หลวงปู่สุภากลับสู่เส้นทางธุดงค์ โดยได้กำหนดวันเดินทางไว้แล้ว แต่ก่อนการเดินทางเพียงสองวัน หลวงปู่ศุขได้ให้หลวงปู่สุภาเตรียมตัวเรียนวิชาที่เป็นสุดยอดเคล็ดวิชาที่ท่านบอกว่า หลวงปู่สุภาจะเป็นคนแรกและคนสุดท้าย ด้วยหาผู้มีวาสนาบารมีจะเรียนได้ยากเต็มที ดอกไม้ธูปเทียน หมากพลูบุหรี่ ถูกลูกศิษย์หลวงปู่ศุขเตรียมไว้ให้หลวงปู่สุภาเรียบร้อย เพื่อเป็นเครื่องบูชาครูกับหลวงปู่ศุข ท่านได้นำไปไว้บนที่บูชาพระ และบอกกับหลวงปู่สุภาให้รอเวลาตอนสงัดคน จะสอนเคล็ดวิชาให้จนหมด พร้อมกับมอบตำราให้ไปติดตัว วิชานี้เรียกว่า “แมงมุมมหาลาภ” ต่อไปเณรน้อยจะต้องสงเคราะห์ผู้คนอีกมาก ความจน ความขัดข้อง การทำมาหากินฝืดเคือง เป็นทุกข์อย่างยิ่งสำหรับฆราวาส นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ทางโลก

ทำไมจึงต้องเป็นแมงมุม มีเรื่องราวที่เณรน้อยควรจะรู้ไว้เป็นเครื่องประเทืองปัญญา เณรน้อยเคยเห็นแมงมุมตัวไหนอดอยากปากแห้ง ตายคาใยที่มันขึงไว้ดักอาหารหรือไม่ แมงมุมเป็นสัตว์ขยันและสะอาด แมงมุมไม่ออกล่าเหยื่อในที่ต่างๆ เหมือนสัตว์ทั่วไป แต่แมงมุมจะชักใยสร้างเป็นอาณาเขตเอาไว้เพื่อดักแมลง ใยแมงมุมของแมงมุมกว่าจะได้ต้องมีความเพียรพยายามอย่างยิ่ง ที่ว่าแมงมุมเป็นสัตว์สะอาดก็คือ มันจะไม่ออกไล่ล่าเหยื่อนอกเขตใยของมัน มันจะไม่ไล่แมลงให้ตกใจบินหรือคลานมาติดที่ใยของมัน แต่มันจะรออยู่กับที่ รอให้เหยื่อเข้ามาติดใยของมัน มันจึงออกมาพันซ้ำด้วยใยและจับกิน พูดให้ฟังง่ายๆ ก็คือ แมงมุมจะกินสัตว์ที่่ถึงฆาต หรือถึงแก่วาระหมดชีวิต ถือว่าหลงเข้ามาในใยที่ดักไว้ คือแมลงที่หมดเวลาอยู่บนโลกนี้ ถือว่าหมดเวลา ถึงที่่ตายแล้วจึงมาติดใย ไม่ต้องออกล่าเหยื่อ ก็มีแมลงหลงเข้ามาให้กิน จนเจ้าแมงมุมหมดบุญคือตายจากโลกตามเวลาสมควร

การเปิดร้านค้าขาย เปิดบริษัทขายสินค้าเช่นกัน เหมือนกับแมงมุม คือดักใยล่อเอาไว้ หากไม่มีลูกค้า หรือแมลงมาติด ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ คือกิจการต้องล้มไปในที่สุด การทำแมงมุมชักใยคือการใช้คาถาอาคมสร้างแมงมุมและใยอาคม เพื่อให้บริษัทห้างร้านที่มีแมงมุมชักใยอาคมนี้มีลูกค้ามาติดต่อ มาซื้อ มาขาย มาเปลี่ยนอย่างคึกคัก มีกำรี้กำไรสมดังที่คิดไว้ นี่แหละคือหัวใจสำคัญของแมงมุมอาคมที่จะสอนเจ้าให้เอาไว้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ให้ร่ำรวยมีฐานะดีต่อไปในภายภาคหน้า ปู่มอบให้เณรน้อยเป็นวิชาสุดท้ายก่อนจากกัน และเป็นศิษย์คนแรกและคนสุดท้าย ด้วยว่าชีวิตของฉันไม่ยืนยาวพอที่จะหาศิษย์มาสืบทอดวิชาแมงมุมนี้ได้อีก

หัวใจสำคัญของวิชาแมงมุมนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอนของการสร้าง

๑. ตัวแมงมุม ต้องสร้างให้มีลักษณะคล้ายกับแมงมุม ทั้งสัดส่วน ลำตัว และส่วนที่เป็นขา ใส่นัยน์ตาและเขี้ยวให้พร้อม เรียกว่า ต้องให้ดูออกว่าเหมือนแมงมุมจริงๆ เรียกธาตุทั้ง ๔ ลงอักขระปลุกเสกจนแมงมุมขยับตัวในอุคหนิมิต ถึงจะสำเร็จตามที่่ต้องการ

๒. ส่วนที่เป็นใย ต้องเอาสายสิญจน์หรือด้ายที่เตรียมไว้มาเสกให้ได้ที่เสียก่อน จึงเริ่มชักใยแมงมุม สำหรับนำแมงมุมไปเกาะไว้บนใย

๓. ลงอักขระเรียกสูตร เรียกนามจนครบตามตำรับที่ฉันสอนให้ทุกอย่าง เมื่อประกอบเรียบร้อยแล้ว ปลุกเสกให้เห็นแมงมุมเคลื่อนไหวไปมาบนใยในอุคหนิมิต จึงเป็นเสร็จตามขั้นตอน เอาไปติดไว้ในร้านที่ผู้คนมองเห็นได้ถนัด นั่นแหละคือมนต์เรียกคนเข้าร้าน จะว่าเป็นมนต์จินดามณีก็คงจะได้กระมัง

หลวงปู่สุภาได้พำนักอยู่กับหลวงปู่ศุขเป็นเวลา ๓ ปี โดยได้รับการถ่ายทอดประสิทธิ์ประสาทความรู้ในทางธรรมและวิทยาคมต่างๆ มากมาย ถือได้ว่าเป็น ๓ ปีที่มีค่าที่สุดในชีวิต เมื่อหลวงปู่ศุขท่านนั่งกรรมฐาน หลวงปู่สุภาก็นั่งด้วย หากติดขัดปัญหาธรรมก็ไปกราบเรียนถาม ท่านก็เมตตาแนะนำให้ทุกครั้ง ท่านจะปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้ลูกศิษย์ศึกษาทำความเข้าใจ หลวงปู่สุภาค่อยๆ ศึกษาดูว่าหลวงปู่ศุขท่านทำอย่างไร ? ในเวลาที่ท่านปลุกเสกวัตถุมงคลก็ไปคอยสังเกต พระคาถาต่างๆ หลวงปู่ศุขท่านก็สอนให้บ้าง จดจำเองบ้าง และไปขอท่านบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีลูกศิษย์คนใดจะปฏิบัติจนบรรลุได้เหมือนหลวงปู่ศุข บางครั้งเวลาลงยันต์ทำตะกรุดท่านต้องลงไปทำในใต้น้ำไม่มีใครเห็น จะเห็นก็ต่อเมื่อตอนท่านขึ้นจากน้ำแล้ว

หลวงปู่สุภาได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆ จากการอ่านตำราที่หลวงปู่ศุขท่านจดเขียนไว้บ้าง ดูจากกรรมวิธีที่หลวงปู่ศุขท่านทำให้ดูบ้าง เรียนถามท่านบ้าง ท่านก็แนะนำให้พอสมควร ใครสนใจมากก็ได้มาก ใครไม่สนใจก็ไม่ได้เลย แต่ส่วนใหญ่หลวงปู่ศุขท่านจะเน้นเรื่อง “การรักษาศีลและการปฏิบัติ” มากกว่า เพราะท่านสอนว่า “ถ้าศีลบริสุทธิ์ คุณวิเศษจะมีมาเอง” ในครั้งนั้นมีพระภิกษุไปปฏิบัติธรรมและศึกษาวิทยาคมต่างๆ อยู่กับหลวงปู่ศุขด้วยกันหลายสิบรูป ซึ่งปัจจุบันมรณภาพกันไปหมดแล้ว เท่าที่ทราบในเวลานี้มีเพียงหลวงปู่สุภาเพียงรูปเดียวในบรรดาศิษย์รุ่นเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่สุภามีความเคารพนับถือและรักใคร่หลวงปู่ศุขอย่างยิ่ง หลวงปู่ศุขเองท่านก็ได้ให้ความรัก ความเมตตาต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมากเช่นกัน หลวงปู่ศุขท่านย้ำเสมอว่า หลวงปู่สุภาคือเณรน้อย ลูกศิษย์สุดท้องของท่าน เนื่องจากในขณะที่หลวงปู่สุภาเริ่มเข้าไปกราบหลวงปู่ศุขนั้น ท่านอายุมากแล้ว แต่ยังขยันปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ ทุกวัน อีกทั้งยังเป็นพระที่มีชื่อเสียงมาก

หลวงปู่ศุข เกสโร นับเป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์ที่ ๒ ของหลวงปู่สุภา ต่อจากพระอาจารย์สีทัตถ์

ครั้นเมื่อถึงเวลาอันสมควรที่จะออกเดินท่องธุดงควัตรอีกครั้ง หลวงปู่สุภาก็มากราบนมัสการลาหลวงปู่ศุข ซึ่งท่านก็อวยชัยให้พรและประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วหลวงปู่ศุขได้กล่าวว่า

“ไม่ไปส่งเณรน้อยละนะ ไปตามทางที่เณรน้อยมา ต่อไปเราจะไม่ได้พบกันอีก นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้พบกับเณรน้อย อายุของปู่ใกล้จะแตกดับแล้ว รู้สึกยินดีที่ได้รับเณรน้อยไว้เป็นศิษย์ ในภายภาคหน้า เณรน้อยคือผู้สืบทอดตำราของปู่ในด้านแมงมุมคนแรกและคนเดียว หากเณรน้อยไม่ประสิทธิ์ประสาทต่อไปก็จะสิ้นสุดลงในมือของเณรน้อยนั่นเอง”


เมื่อถึงตอนนี้ หลวงปูสุภาต้องหยุดเล่าเรื่อง เหมือนกับว่าท่านจะระลึกถึงหลวงปู่ศุข พระอาจารย์ของท่าน แล้วรู้สึกตื้นตันใจ จนต้องหยุดรำลึกถึงด้วยความปีติ ท่านได้เล่าต่อไปว่า

“เกือบลืมไป ยังมีวิชาอีกอย่างหนึ่งที่ใช้คู่กับแมงมุม คือ การลงอักขระบนผืนผ้า ท่านเรียกว่า ยันต์รับทรัพย์ ผ้ายันต์รับทรัพย์ที่ลงอักขระแล้วปลุกเสก จะเหมือนการปูผ้าไว้รอรับเงินที่จะมีผู้มากองให้ บูชาติดตัวเป็นมหานิยม อยู่ในร้านค้าก็เรียกลูกค้า ใช้ติดกับคันธง ปักไว้ให้ชายปลิวไปตามลม ปลายธงสะบัดไปทางไหน ก็มีผู้คนแห่ไปทางนั้น ทำมาค้าขายก็รับทรัพย์เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี”

การที่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้พูดว่าจะพบกันเป็นครั้งสุดท้าย ก็เป็นจริง เพราะหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้ถึงแก่มรณภาพลงในปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่สุภาอยู่ในระหว่างการออกธุดงค์ และมารู้ข่าวก็เมื่อมีการพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่ศุขไปแล้ว


๏ เส้นทางสู่โลกที่ ๓

เมื่อกลับมาจากเรียนวิชากับหลวงปู่ศุข หลวงปู่สุภาได้กลับเข้าสู่การออกธุดงค์อีกครั้ง โดยรับบริขารธุดงค์ที่เคยฝากไว้ เพื่อกลับสู่เส้นทางของการแสวงหาความวิเวก ท่านได้เดินทางไปทางภาคเหนือและข้ามชายแดนสู่ประเทศพม่า ว่าจะไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองและพระธาตุมุเตาในเมืองหงสาวดี แต่ท่านก็มิได้ไป ท่านตัดทางเข้าสู่ป่าทึบ และได้พบกับพระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่าที่ปลีกวิเวกไปแสวงหาความสงบบนถ้ำเทือกเขาลึก

หลวงปู่สุภาดั้นด้นเดินทางไปจนพบที่จำศีลภาวนาของพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระชาวพม่า ได้พบว่าเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่การบูชาสักการะ ทว่าการสอนวิปัสสนาผิดแผกแตกต่างไปจากของทางฝั่งไทย ซึ่งสอนเป็นแบบที่เรียกว่า กำหนดหนอ คือจิตอยู่อิริยาบถ ๔ หรือที่ไทยเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ คือ นั่ง ยืน เดิน นอน ซ้ายหนอ ขวาหนอ เข้าหนอ ออกหนอ ซึ่งเมื่อหลวงปู่สุภา เข้าเรียนตามแบบที่พระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่าสอนก็รู้สึกได้ว่า “ไม่ถูกกับอัธยาศัย” เรียกว่าไม่สามารถเล่าเรียนได้ เพราะขัดกับรากฐานทางกรรมฐานที่ได้เล่าเรียนมาจากพระวิปัสสนาจารย์ทางฝั่งไทย จึงได้กราบนมัสการลาพระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่า แล้วออกแสวงหาความวิเวกไปตามลำพังตามป่าเขาลำเนาไพรในพม่า ได้ผจญภัยนานัปการ จนท่านพูดได้ว่าเป็นการออกธุดงค์ที่ตื่นเต้นและเสี่ยงที่สุดตั้งแต่เดินทางธุดงค์เดี่ยวมาเป็นเวลาพอสมควร

ระหว่างที่ธุดงค์อยู่ในประเทศพม่า หลวงปู่สุภาได้พบกับพระธุดงค์ไทยหลายรูป บางรูปบอกกับท่านว่าจะธุดงค์ออกจากพม่าไปอินเดีย เพื่อไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จึงจะกลับ ท่านจึงครุ่นคิดว่าการธุดงค์มาประเทศพม่า ถือเป็นประเทศที่ ๒ หากเดินทางต่อไปยังประเทศอินเดียก็เป็นโลกที่ ๓ และเป็นดินแดนแห่งบวรพระพุทธศาสนาเสียด้วย อย่ากระนั้นเลย หาวัดจำพรรษาเสียก่อน พอออกพรรษาแล้วค่อยแบกกลดธุดงค์สู่โลกที่ ๓ ต่อไป เพราะท่านชอบการเดินธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ จนกล่าวได้ว่าเข้าไปในสายเลือดเลยทีเดียว เส้นทางสู่โลกที่่ ๓ ยังยาวไกล จะสิ้นสุดตรงไหนก็แล้วแต่ว่าหลวงปู่สุภาจะหยุดลงด้วยตัวของท่านเอง

ออกพรรษา เวลาแห่งการจาริกสู่โลกที่ ๓ เริ่มขึ้นแล้ว ณ บัดนี้


๏ ท่องไปในโลกกว้าง

ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สุภาได้ตระเตรียมเครื่องบริขารธุดงค์ออกจากป่าเพื่อมายังเมืองท่าในพม่า ซื้อตั๋วเรือเดินทะเลเพื่อออกจากพม่าไปยังดินแดนพุทธภูมิ ดินแดนอันเป็นถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนาคือ ประเทศอินเดีย ท่านต้องรอนแรมอยู่ในทะเล ผจญคลื่นทะเลอยู่ ๑ เดือน ๒๕ วันเรือจึงจอดเทียบท่าที่อินเดีย เมื่อลงจากเรือก็ธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ ผจญความยากลำบากแสนเข็ญ เพราะคนอินเดียส่วนใหญ่เป็นฮินดู ที่เป็นพุทธมีอยู่น้อย ก็ต้องแสวงหาสัปปายะด้วยความยากลำบาก ได้ฉันบ้าง อดบ้างไปตามแกน แต่ดีที่หลวงปู่สุภาท่านไม่เจ็บป่วยถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ จึงทำให้ท่านสามารถผ่านเส้นทางอันทุรกันดารไปได้จนตลอดรอดฝั่งในที่สุด

จากดินแดนอันแผดเผาด้วยเปลวแดด สู่ดินแดนอันเหน็บหนาว เย็นยะเยือกของหิมพานต์ ที่ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นที่สถิตของจอมเทพผู้มีพระนามว่า “องค์ศิวะมหาเทพ” ซึ่งในประเทศไทยเรียกว่า “พระอิศวร” นับเป็น ๑ ใน ๓ ของมหาเทพของชาวฮินดู ภูเขาหิมาลัยสูงเสียดฟ้า ยอดปกคลุมด้วยหิมะตลอดปีตลอดชาติ เป็นแหล่งรวมของฤๅษีจากทั่วสารทิศ โดยจะมาชุมนุมกัน ณ ที่นี้ เรียกกันว่า “เมืองฤๅษีเกษ” ตั้งอยู่ชานภูเขาหิมาลัย เมืองนี้เป็นเมืองของฤๅษีที่ล้วนมีฤทธิ์อย่างถึงที่สุดของอำนาจต่างๆ เป็นนานาประการ ความหนาวเหน็บ เย็นยะเยือกทำให้หลวงปู่สุภาได้รับทุกขเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ต้องอาศัยเตโชกสิณ (กสิณไฟ) ในการช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย เวลาออกบิณฑบาตก็ต้องเดินทางระยะไกล กว่าจะเจอบ้านที่มีอัธยาศัยในการทำทาน ก็ต้องเดินกันกว่า ๘ กิโลเมตร ฝ่าความหนาวเหน็บไปออกบิณฑบาตเพียง ๓ วันครั้ง บางครั้งถึง ๗ วัน แต่ท่านก็อดทน

๓ ปีในดินแดนพุทธภูมิ หลวงปู่สุภาได้แวะนมัสการสังเวชนียสถาน จนกระทั่งพบกับ พระอาจารย์วงศ์ ได้พูดคุยกันในเรื่องธรรมะและวิชาอาคม ในที่สุดพระอาจารย์วงศ์ก็บอกว่า ท่านอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน (ตอนนั้นยังไม่มีสงครามกลางเมือง) อยู่กับพวกศาสนิกชนที่นั่น ให้ตามไปแลกเปลี่ยนความรู้กันที่นั่น หลวงปู่สุภาจึงเดินทางผ่านช่องแคบไคเบอร์เข้าสู่อัฟกานิสถาน จนพบพระอาจารย์วงศ์ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กันพอสมควร จึงเดินทางผ่านช่องแคบไคเบอร์กลับอินเดีย และเดินทางต่อไปที่ประเทศจีน ตามเส้นทางสำคัญจากอินเดียด้วย หลวงปู่สุภาได้รู้จากพุทธศาสนิกชนชาวจีนท่านหนึ่งที่มีรกรากเดิมอยู่ปักกิ่ง เขาบอกกับท่านว่า

“ที่ซิมซัวเป็นภูเขาสูง เป็นที่อยู่ของอาจารย์ตัน ฮกเหลียง พระอาจารย์รูปนี้เชี่ยวชาญในการเดินลมปราณรักษาโรค เพื่อกำหนดจิตใจ การเข้าฌานชั้นสูง หากต้องการศึกษาต้องไปที่นั่น”

เหมือนถูกท้าทาย หลวงปู่สุภาจึงได้ธุดงค์ข้ามจีนไปจนถึงปักกิ่ง ได้ค้นหาซิมซัวจนพบ และขึ้นไปหาอาจารย์ตัน ฮกเหลียง เพื่อขอเรียนวิชาลมปราณ ท่านอาจารย์ตัน ฮกเหลียง ได้เมตตาสอนให้ทั้งที่สังขารของท่านไม่สมบูรณ์นัก พอจบหลักสูตรท่านอาจารย์ตัน ฮกเหลียงก็ถึงแก่กรรม รวมเวลาการเรียนได้ ๓ เดือนเต็ม จากปักกิ่งหลวงปู่สุภาท่านได้เดินทางรอนแรมไปจนถึงยุโรป ได้ไปอยู่ที่มหานครปารีสระยะหนึ่ง และเดินทางข้ามไปฝั่งยุโรปตะวันออกหลายประเทศ เป็นการหาประสบการณ์ในโลกใบใหม่ที่สมณะอย่างท่านต้องการจะเรียนรู้

ท่านย้ำว่า “ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ธุดงควัตรของท่านไม่เคยบกพร่อง บิณฑบาตทานสัปปายะจนได้ ไม่เคยละเว้นแม้แต่ครั้งเดียว เพราะถือว่านั่นคือกฎระเบียบและหัวใจของพระธุดงค์”

จากยุโรปตะวันออก หลวงปู่สุภาได้เดินทางกลับเส้นทางเดิม ผ่านจีน ผ่านอินเดีย ผ่านพม่า เข้าไทยทางภาคเหนือ แล้วตัดเข้าสู่อีสาน โดยข้ามจากเขตพระราชอาณาจักรลาวเข้าสู่ดินแดนไทยทางด้านบ้านพุนบก ต.ยอดซอง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ได้พบกับพระภิกษุชราอายุยืนยาวถึง ๑๐๐ กว่าปี คือ หลวงปู่มั่น ทัตโต (คนละองค์กับ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” พระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน) ซึ่งมีวิชาอาคมแขนงต่างๆ และมีความเชี่ยวชาญในด้านกสิณและฌานสมาบัติต่างๆ ท่านได้สั่งสอนวิชาการให้กับหลวงปู่สุภาเป็นเวลา ๓ ปีเต็ม จึงสำเร็จตามหลักสูตรที่ท่านได้วางไว้ให้ (หลวงปู่มั่น ทัตโต ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖)

ต่อมาท่านได้ยินว่า ในประเทศเวียดนามมีหมอผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรของเอเชีย เป็นหมอยาที่มีชื่อเสียงมาก หลวงปู่สุภาจึงกราบลาหลวงปู่มั่น ทัตโต ธุดงค์เข้าไปเวียดนาม ไปเล่าเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจนสำเร็จ

รูปภาพ
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)
วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์


รูปภาพ
พระครูสิทธิสารคุณ (หลวงพ่อจาด คังคสโร)
วัดบางกระเบา ต.บางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี


รูปภาพ
พระครูวิชิตพัชราจารย์ (หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ)
วัดพระพุทธบาทชนแดน ต.ชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์


รูปภาพ
หลวงพ่อจง พุทฺธสโร วัดหน้าต่างนอก
ต.หน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา



๏ พบพระอาจารย์ชื่อดังยุคอินโดจีน

หลวงปู่สุภาท่านเป็นผู้ชอบเล่าเรียนศึกษา ได้ยินว่าที่ใดมีพระอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมและวัตรปฏิบัติดี ท่านก็มักจะไปขอเล่าเรียนวิชาการ รายนามพระอาจารย์เท่าที่หลวงปู่สุภาจำได้ก็มี

หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา
หลวงพ่อทบ วัดชนแดน
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
และอีกหลายรูป

หลวงปู่สุภาได้วิชาของแต่ละสำนักมาเพิ่มเติมจนมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก เป็นศิษย์ที่มีครูบาอาจารย์และมีวิชาอาคมสาขาต่างๆ เป็นอันมาก แม้แต่ยังเคยดั้นด้นจะไปขอเรียนวิชาปรอทสำเร็จจาก หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค แต่มีเหตุให้ไม่ได้เรียน โดยหลวงพ่อปานได้เดินทางออกจากที่นัดหมาย และเขียนบอกไว้ว่าอย่าตามไปเพราะกันดาร และวาสนาบารมีที่จะเรียนนั้นไม่มี แม้แต่ หลวงพ่อโอภาสี (พระมหาชวน มะลิพันธ์) หลวงปู่สุภาก็เคยพบปะสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนวิชาความรู้มาแล้วอย่างโชกโชน

ไม่ว่าจะเดินธุดงค์ไปที่ใดในประเทศไทย หลวงปู่สุภาจะสร้างความเจริญไว้เสมอ อาทิเช่น สร้างวัด สร้างศาลาการเปรียญ สร้างสำนักสงฆ์ สร้างเสนาสนะต่างๆ ในถิ่นทุรกันดาร ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสาธุชนโดยทั่วไป หลายครั้งหลายหนที่มีผู้คนศรัทธาเหนี่ยวรั้งให้ท่านหยุดธุดงค์มาปักหลักเป็นเจ้าอาวาสวัด ให้พวกเขาเป็นที่พึ่งทางใจ แต่หลวงปู่สุภาเปรียบเสมือนโคถึกที่เคยเที่ยวอยู่ในเถื่อนถ้ำเขาลำเนาไพร ย่อมไม่ยินดีในการที่จะถูกกักขังไว้ในล้อมคอกอันคับแคบและอึดอัด ท่านแบกกลดธุดงค์จากมาท่ามกลางน้ำตาอาลัย ชีวิตของท่านคุ้นเคยกับเปลวแดด การจำวัดกลางดิน ฉันกลางทราย แสวงหาความสงบวิเวกในป่า เจริญภาวนาหลีกเร้นจากผู้คน การที่จะต้องมานั่งจำเจ มาคลุกคลีกับผู้คน ย่อมไม่ถูกกับอัธยาศัยของท่าน จึงไม่มีผู้ใดสามารถทัดทานให้ท่านได้หยุดการออกธุดงค์แล้วแขวนกลด ท่านเคยบอกว่า หากว่าสังขารของท่านยังอำนวยให้การเดินธุดงค์แล้ว ท่านจะไม่หยุดธุดงค์เป็นเด็ดขาด

นับว่าหลวงปู่สุภาท่านเป็นทั้งพระนักปฏิบัติและเป็นพระเกจิในเวลาเดียวกัน

รูปภาพ
พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน โสนันโท)
วัดบางนมโค ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา


รูปภาพ
หลวงพ่อโอภาสี (พระมหาชวน มะลิพันธ์)


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2012, 18:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ หลวงปู่สุภา...พระอริยสงฆ์ ๕ แผ่นดิน

หลวงปู่สุภาเมื่อเป็นพระป่านั้น ท่านวิเวกรอนแรมอยู่ในป่าดงดิบดำอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตของท่านต้องการจะแสวงหาความสงบวิเวก ไม่ต้องการข้องแวะกับโลกภายนอก วันเวลาล่วงเลยไปท่านไม่ได้ยึดติดหรือต้องการจะรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลก พูดง่ายๆ ก็คือเป็นผู้ล้าสมัย หรือถอยหลังกลับไปจากความเจริญ แต่ในด้านการไปสู่มรรคผลนิพพานแล้วหลวงปู่ก้าวหน้าไปอย่างยิ่ง ซึ่งหากท่านได้ติดตามประวัติของหลวงปู่สุภาตั้งแต่ต้น จะพบว่าท่านอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างมอบกายถวายวิญญาณกันเลยทีเดียว


๏ ชีปะขาวผู้ให้นิมิต

มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่สุภาออกจากป่าเพื่อแสวงหาที่จำพรรษาในปุริมพรรษาที่กำลังจะมาถึง พอธุดงค์มาถึง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ผ่านมาด้านหลังวัดเกาะสีคิ้ว คำว่าวัดเกาะ คือ มีน้ำกั้นเอาไว้จากโลกภายนอก การคมนาคมหากไม่ใช้เรือ ก็ต้องข้ามโดยสะพานไม้ชั่วคราว ที่ชาวบ้านนำเอาเสาไม้มาปักไว้เป็นโครงพาดด้วยไม้กระดานพออาศัยข้าม การเดินทางเข้าวัดจึงลำบากมาก เมื่อชาวบ้านรอบวัดเกาะสีคิ้วได้พบกับหลวงปู่สุภา จึงได้นำภัตตาหารมาถวาย และมรรคนายกวัดเกาะสีคิ้วจึงปรารภถึงความยากลำบากในการเข้าสู่วัด หลวงปู่ฟังแล้วเกิดความเมตตา จึงตามให้มรรคนายกนำไปดูสถานที่ ก็เห็นว่าไม่เกินกำลังที่ทำได้ ตลอดจนหากจะทำสะพานถาวรแล้ว จะทำให้ชาวบ้านกุดฉนวนที่อยู่ด้านหลังวัดออกไปได้ ใช้อาศัยนำสินค้าออกมาขายคนภายนอกได้ ซึ่งนอกจากจะได้เกื้อกูลพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้เกื้อกูลชาวบ้านให้ทำมาหากินได้สะดวก หลวงปู่สุภาจึงรับปาก

ปูนแต่ละถุง ทรายแต่ละคิว หลวงปู่สุภาแลกมาด้วยความยากลำบาก เพราะต้องหาของอันเป็นมงคลมาเป็นของขวัญแก่ญาติโยม ทั้งวัตถุมงคล น้ำมนต์ ฯลฯ รวมทั้งการสงเคราะห์ผู้เจ็บป่วย หลวงปู่สุภาเป็นขวัญและกำลังใจของญาติโยมคนที่อยู่ใกล้เคียงและจังหวัดใกล้เคียง ทุกวันนี้หากไปถามญาติโยมแถววัดเกาะสีคิ้ว จ.นครราชสีมา แล้ว ทุกคนยังรอให้ท่านกลับมาเยี่ยมเยียนพวกเขาบ้าง หลังจากการสร้างสะพานเสร็จ ต่อมาภายหลังหลวงปู่สุภาได้ทำการฉลองสะพาน และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาวบ้านแถบนั้นได้พบหลวงปู่สุภาตราบจนทุกวันนี้

คืนหนึ่งขณะที่หลวงปู่สุภาจำวัดอยู่ที่ที่ท่านได้ทำการก่อสร้างสะพาน บริเวณใกล้กับวัดเกาะสีคิ้ว ท่านก็ได้เกิดนิมิตประหลาด ท่านนิมิตไปว่า มีชีปะขาว หน้าตามีบุญ มีแสงสว่างออกจากตัวคล้ายมีแสงไฟกระจายอยู่ด้านหลัง ชีปะขาวมาหยุดยืนอยู่เบื้องหน้าหลวงปู่สุภา แล้วกล่าวกับท่านว่า “เมื่อสะพานเสร็จแล้ว ท่านพึงจะละทิ้งเอาไว้ระยะหนึ่งก่อน ออกธุดงค์ไปยังโคราชก่อน แล้วตัดทางออกไปอุบลราชธานี อย่าพึงรีบร้อนและลังเล เมื่อพักผ่อนอิริยาบถพอสมควรแล้ว ท่านก็ข้ามไปฝั่งลาวเลย...”

เส้นทางที่ชีปะขาวบอก คือข้ามจากอุบลราชธานีทางช่องเม็ก สู่แขวงจำปาศักดิ์ พระราชอาณาจักรลาว เดินตามเส้นทางป่าที่เชื่อมจำปาศักดิ์กับเมืองปากเซ ด้วยเป็นเส้นทางที่วิเวกและสามารถหลีกพ้นการรบกวนของผู้คนที่อาจจะทำให้หลวงปู่ต้องพักช่วยชาวบ้านเป็นระยะๆ หมดโอกาสจะไปยังสถานที่ที่ต้องการจะไปได้

หลวงปู่สุภาเดินทางพร้อมเครื่องบริขารธุดงค์ ตรงไปยังปากเซ สอบถามเส้นทางไปยังเมืองเซโปน ซึ่งได้ใช้เส้นทางป่าเหมือนที่มาจากนครจำปาศักดิ์ ผจญความยากลำบากและเภทภัยต่างๆ ตลอดเส้นทาง เพราะในตอนนั้นป่าแถบนั้นชุกชุมไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บและภูตผีปีศาจจากเซโปน สอบถามเส้นทางไปยังเมืองวัง เส้นทางช่วงนี้วิบากยิ่ง แต่หลวงปู่สุภาก็ไม่ย่อท้อเพราะมีชีปะขาวมานิมิตของเหตุอยู่เสมอตลอดทาง

ชีปะขาวมาปรากฏในนิมิตอยู่เสมอว่า “ถ้ำจุงจิง” คือสถานที่ที่ท่านจะต้องเดินทางไปให้ถึงไปให้ตลอด ที่นั่นคือจุดหมายปลายทาง หลวงปู่สุภาจึงมีพลังใจและรุดหน้าเดินทางไปยังเมืองวัง และเดินทางต่อไปยังเมืองอ่างคำ อันป่าแถบนั้นยากที่จะมีผู้ใดบุกเข้าไปได้ ชาวบ้านบอกชัดเจนว่า พระธุดงค์หลายต่อหลายรูปถามหาทางแล้วไม่เคยกลับออกมาอีกเลย และหลายคนห้ามหลวงปู่สุภาด้วยคำชาวบ้านง่ายๆ ว่า

“อย่าเอาร่างกายไปเป็นเหยื่อสัตว์ร้ายและไข้ป่า ตลอดจนภูตผีปีศาจเลย แม้พรานที่ว่าแก่วิชา ก็ยังต้องตามไปเอาศพกลับมาเผาเพื่อส่งวิญญาณ เมื่อไปพบสภาพศพดูทุเรศเป็นที่สุด”

จากเมืองวังไปยังเมืองอ่างคำ หลวงปู่สุภาต้องผจญกับอาถรรพ์ต่างๆ นานาประการ หากแต่ได้วิชาที่เล่าเรียนมาแต่ต้น หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และธุดงควัตรอันบริสุทธิ์ของท่าน แก้ไขสถานการณ์จนรอดออกมาจากป่า บรรลุถึงเมืองอัตปือแสนปาง ที่นั่นหลวงปู่สุภามิอาจหาเส้นทางที่เข้าไปยังจุดที่จะถึงถ้ำจุงจิงได้ ที่สุดชีปะขาวต้องมานิมิตบอกท่านว่า มีคนพวกเดียวเท่านั้นที่จะพาหลวงปู่สุภาไปได้ คือ “พวกข่า”

พวก “ข่า” เป็นพวกพรานป่าที่ชำนาญไพร และชำนาญด้านเส้นทางที่จะไปยังถ้ำจุงจิง หลวงปู่สุภาเดินทางมาจนถึงบ้านหนองไก่โห่ อันเป็นชุมชนของชาวข่าที่น้อยคนนักจะมาถึงได้ พวกข่าพบหลวงปู่สุภาแล้วรู้สึกแปลกใจ ถามว่ารอดชีวิตจากป่าดงดิบ ดงดิบดำได้อย่างไร หลวงปู่สุภาจึงบอกวัตถุประสงค์ที่จะไปถ้ำจุงจิงแก่ชาวข่า เมื่อได้ยินดังนั้นชาวข่าก็บอกกับท่านว่า “ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำอาถรรพ์ ไม่มีใครอยู่ได้ แม้แต่เฉียดเข้าไปก็ถูกอาถรรพ์เล่นงานเอาจนตาย หรือเฉียดตาย แต่หากว่าท่านจะไป ก็จะนำทางให้ จะนำทางเพียงขึ้นไปที่่ปากถ้ำเท่านั้น หลังจากนั้นให้หลวงปู่ให้ค่าจ้างเขาด้วยหน่อทองคำ”

หลวงปู่สุภาจึงบอกกับพวกข่า “เราเป็นพระธุดงค์ ไม่มีทองคำหรือหน่อทองคำแต่ประการใดที่จะให้เป็นค่าแรง บอกทางด้วยปากเปล่าก็ได้ จะเดินไปเอง”

พวกข่าจึงบอกกับหลวงปู่สุภาว่า “สะพานที่ทอดข้ามจากหนองไก่โห่ ไปยังเส้นทางเขาจุงจิง มีต้นไม้สีทองอุไรขึ้นอยู่มากมาย หากมีวิชาอาคมเด็ดยอดให้ขาดลงมา ทันทีที่ขาดใส่มือ ก็จะกลายสภาพเป็นหน่อทองคำทันที ขอหน่อนั้นให้พวกกระผม จะได้รอจนท่านกลับมา”

หลวงปู่สุภาจึงรับปาก

เขาจุงจิงนั้นเป็นเขตแดนติดต่อกันระหว่างพระราชอาณาจักรลาวกับดินแดนของเวียดนาม ท่านได้ข้ามสะพานไปอีกฟากหนึ่ง แล้วพบต้นไม้ที่ชาวข่าบอกให้ฟัง ความจริงนั้นหลวงปู่สุภาเล่าว่า “ไม่ใช่ต้นไม้ต้นไร่อะไรหรอก เป็นหน่องอกจากดิน สูงคืบหนึ่งบ้าง หนึ่งศอกบ้าง สองศอกบ้าง มีสีเหลืองเหมือนทอง เวลาต้องแสงแดดก็จะเปล่งประกายงดงามจับตายิ่งนัก พวกข่าต้องการมากทีเดียว”

เมื่อเดินผ่านเข้าไป ท่านได้ระลึกอยู่ ๒ อย่าง คือ

- ประการแรก ได้รับปากกับชาวข่าไว้แล้วเรื่องให้หน่อทองคำเป็นรางวัล

- ประการที่สอง การจะหักหน่อทองคำเป็นอาบัติ ธุดงควัตรจะขาดและจะเกิดอันตราย จะต้องรักษา ๒ อย่างนี้ไว้ในเวลาเดียวกัน


หลวงปู่เล่าว่า “เพ่งมองดูด้วยจิตอันเป็นอุเบกขา ไม่มีความโลภอยากได้ เมื่อจิตเป็นเอกคตาแล้ว จึงนึกอธิษฐานจิตอย่างแน่วแน่ว่า ขอเทพยดาอารักษ์ที่รักษาสถานที่นี้อยู่ ด้วยอาตมาเดินทางมาด้วยนิมิตจิต ต้องการเพียงเล่าเรียนศึกษาแสวงหาทางนิพพาน แต่ได้รับปากชาวบ้านว่าจะให้หน่อทองคำ หากมิมีของให้พวกเขา ธุดงควัตรของอาตมาก็จะบกพร่องและเกิดอันตราย ขอเทพยดาได้เมตตาให้หน่อทองคำแก่อาตมาด้วยเถิด”

ทันใดนั้นก็มีเสียงซู่ซ่า ต้นไม้ทองคำก็สั่นไหวไปมา และหลายต้นโน้มยอดเข้ามาทางที่ท่านเดินไป และหักกระเด็นออกมาเรี่ยรายอยู่กับพื้นเป็นจำนวนมาก โดยที่หลวงปู่สุภาท่านไม่ต้องออกแรงเด็ดหรือทำการอย่างใดให้ต้องอาบัติ และเมื่อยอดตกหักถึงพื้น ก็กลายเป็นหน่อทองคำจริงๆ เหมือนที่พวกข่าเล่าให้ฟัง เมื่อเห็นว่าได้หน่อทองคำพอสมควรแล้ว หลวงปู่สุภาจึงบอกกับชาวข่าว่า บัดนี้เราได้หน่อทองคำแล้ว ขอให้พากันไปเก็บ แต่ต้องนำท่านไปส่งที่ถ้ำจุงจิงก่อน หาไม่แล้วอาจไม่ได้หน่อทองคำ เพราะเป็นจิตอธิษฐานของท่านเอง พวกข่าจึงตามท่านไปเก็บหน่อทองคำ แล้วช่วยกันนำหลวงปู่สุภาไปส่งยังถ้ำจุงจิง และลากลับไปหมู่บ้านของเขา หลวงปู่สุภาปักกลดอยู่ทางขึ้นถ้ำ ชีปะขาวก็มานิมิตอีก คราวนี้มาบอกชัดเจนเลยว่า

“บนถ้ำจุงจิง มีพระอรหันต์หลายรูป แต่ละรูปเจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ดำรงสังขารมานับเป็นพันปี และจะดำรงต่อไปจนกว่าจะพบพระศรีอาริยเมตตรัยมาตรัสรู้ และเมื่อได้รับฟังพระธรรมจากพระศรีอาริยเมตตรัยแล้วจึงจะละสังขารไป ท่านจะได้พบด้วยตัวของท่านเองนั่นแหละ”


๏ พบพระอรหันต์ด้วยตัวเอง

หลวงปู่สุภาได้ขึ้นไปจำวัดอยู่บนถ้ำจุงจิงเป็นคืนแรก การขึ้นสู่ถ้ำจุงจิงนั้นยากลำบาก ต้องป่ายปีนไปตามซอกหิน จนได้ขึ้นไปสู่ปากถ้ำ ซึ่งมีแต่หมอกควันปกคลุมอยู่ แสงสว่างจากภายในไม่มี จากภายนอกก็เข้าไปไม่ได้ ต้องอาศัยเทียนนำทาง เมื่อเข้าไปแล้ว เหมือนตนเองอยู่ในเมืองลับแล คือไม่รู้ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน

เข้าวันใหม่ หลวงปู่สุภาจึงออกมานอกถ้ำ ที่หน้าถ้ำหมอกได้สลายไปหมดแล้ว เห็นภูมิทัศน์ได้ถนัดตา มองขึ้นไปด้านบนจะเห็นมียอดเขาและถ้ำอีกมากมาย แต่ไร้เส้นทางขึ้น เป็นหน้าผาล้วนๆ ไม่มีก้อนหินและทางขึ้นไปได้ จึงได้แต่คิดว่าเราจะได้พบพระอาจารย์หรือพระอรหันต์ได้อย่างไร พอคิดแวบขึ้นมา มองขึ้นไปข้างบนก็เห็นสีเหลืองคล้ายจีวรเลื่อนลงมาจากปากถ้ำด้านบน รวดเร็วมากจนมองแทบไม่ทัน มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อสีเหลืองๆ นั้น มายืนอยู่ตรงหน้า เป็นพระภิกษุที่มีผิวพรรณวรรณะผิดกับคนธรรมดาทั่วไป ครองผ้าแปลกไปกว่าที่หลวงปู่สุภาครองอยู่ แต่มีลักษณะคล้ายพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ให้สังเกตได้หลายประการ แล้วพระสงฆ์รูปนั้นก็กล่าวขึ้นว่า

“ไม่ต้องแปลกใจหรอก การลงมาเมื่อกี้นี้เป็นเพียงการอธิษฐานจิตเท่านั้นแหละ เอาเป็นว่า มาได้อย่างไร และทำไมจึงต้องมาที่นี่ บอกมาให้ละเอียด”

หลวงปู่สุภาเล่าให้ศิษย์ฟังว่า พระอรหันต์จริงๆ จะไม่กล่าวพาดพิงถึงการสำแดงปาฏิหาริย์ หรือปรากฏการณ์มหัศจรรย์ แต่จะพูดเลี่ยงไปมา ด้วยพระอรหันต์นั้นหากแม้แสดงตัวหรืออะไรก็ตามที่ให้บุคคลที่สองรู้ว่าตนเป็นอรหันต์ ต้องปาราชิกฐานอวดอุตริมนุสธรรม แม้จะมีภูมิธรรมก็ตามที


หลวงปู่สุภาจึงได้ตอบไปว่า

“กระผมมาตามนิมิตที่ได้จากชีปะขาว จึงเดินทางมาจนถึงที่นี่ด้วยต้องการจะเล่าเรียนทางด้านวิปัสสนากรรมฐานที่สูงขึ้นกว่าที่ได้เรียนมา หากท่านมีเมตตาแล้ว ก็ช่วยสอนให้กับกระผมด้วยเถิด”

พระภิกษุรูปนั้นจึงกล่าวว่าไม่ยากหรอก แต่ต้องเริ่มกันที่การกำจัดสิ่งปฏิกูลออกจากตัวท่านก่อน อย่าลืมว่าท่านฉันภัตตาหารที่มีเนื้อสัตว์ปะปนอยู่ สิ่งเหล่านั้นปะปนอยู่ในตัวท่านมากมาย ต้องนอนลงบนใบตอง ทำจิตให้มั่นคง และต่อไปเราจะสวดเพื่อขับไล่สิ่งที่เป็นคาวออกจากตัวท่านให้หมด เมื่อน้ำคาวออกหมดแล้วจึงจะสวมจีวรได้อีกครั้ง ระหว่างที่สวดจะต้องสวมแต่สบงเท่านั้น จีวรและอังสะต้องแยกออกไป ชำระล้างตัวแล้วจึงไปเรียนกับชีปะขาวหรือฤๅษีที่ไปนิมิตบอกท่านนั่นแหละ เรียนกับเขาด้านสมถะและด้านญาณโลกียะ ซึ่งสามารถแสดงฤทธิ์อภิญญา แต่นั่นไม่ใช่ทางหลุดพ้น แต่จะสามารถแสดงฤทธิ์ขึ้นไปข้างบนที่เห็นอยู่ได้เพื่อพบพวกเรา พวกเราอยู่กันบนนั้นมีอายุวัฒนะด้วยอิทธิบาท ๔ ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสำแดงว่าจะสามารถดำรงขันธ์อยู่ได้นานตามที่ต้องการ เราจะอยู่จนพระศรีอาริยเมตตรัยลงมาตรัสรู้ และได้ฟังธรรมะจากท่านแล้วจึงจะละสังขารไปสู่นิพพานอันเป็นบรมสุข แต่เอ๊ะ ! “คุณยังมีภาระอยู่นี่ ยังทำอะไรไม่ได้หรอก ต้องกลับไปทำให้สำเร็จก่อนจะมาศึกษาเล่าเรียนได้ มันเป็นห่วงที่คอยขัดขวางการเล่าเรียนของคุณ กลับไปทำให้เรียบร้อยก่อน”

หลวงปู่สุภาจึงบอกกับพระภิกษุรูปนั้นว่า สะพานผมก็สร้างสำเร็จแล้ว ศาลาการเปรียญก็สำเร็จแล้ว ผมยังมีอะไรเป็นห่วงอีก พระภิกษุรูปนั้นจึงได้กล่าวตอบว่า “สำเร็จแล้ว แต่คุณยังค้างชาวบ้านเขา ก็คุณบอกว่า จะทำการฉลองไง แล้วคุณไม่กลับไปฉลอง ก็เท่ากับคุณไม่ทำตามปากพูด เป็นมุสาวาท คุณกลับไปทำให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยกลับมาใหม่ก็แล้วกัน”

พอสิ้นคำพูดนั้น ร่างของพระภิกษุรูปนั้นก็เลื่อนขึ้นสู่เบื้องบนเหมือนตอนที่ลงมาไม่มีผิด หลวงปู่สุภาท่านจึงต้องเดินทางย้อนกลับมาทางเดิม มาทำพิธีฉลองสะพานและสิ่งก่อสร้างในวัดเกาะสีคิ้ว จ.นครราชสีมา ครั้นเตรียมตัวกลับไปถ้ำจุงจิงใหม่ ก็ไม่อาจทำได้ เพราะมีพระมหาสมาน อยู่คณะ ๕ วัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพฯ นิมนต์ให้ไปช่วยเป็นประธานปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิและเสนาสนะในคณะ ๕ กว่าจะเสร็จเป็นที่เรียบร้อยก็กินเวลานาน และชีปะขาวก็มิได้มานิมิตอีกเลย เป็นอันว่าท่านไม่ได้กลับไปถ้ำจุงจิงอีกเลย ท่านเล่ามาถึงตอนนี้ก็บอกกับศิษย์ว่า

“จำไว้เลยว่า ทุกอย่างจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่วาสนาบารมีแต่ละคน สำหรับท่านไม่มีวาสนาบารมีจะได้เล่าเรียนกับพระอาจารย์ที่ถ้ำจุงจิงเป็นแน่ จึงไม่ได้กลับไป”


๏ กลับบ้านเกิดโปรดญาติโยม

หลวงปู่สุภาจากบ้านเกิดไปตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ จนถึงเวลาที่ท่านดำริที่จะกลับบ้านเกิดนั้นเวลาได้ผ่านไป ๖๒ ปีเต็มแล้ว (พ.ศ. ๒๕๑๑) ท่านเป็นพุทธบุตรที่เดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรมาตลอด เมื่อมีโอกาสจึงระลึกถึงบ้านเกิดที่บ้านคำบ่อ ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร โดยปรารภว่าบัดนี้ญาติพี่น้องของเราทั้งฝ่ายโยมบิดา-มารดาไม่เคยได้พบเห็นเราในสภาพของพระภิกษุ เพราะตั้งแต่บวชแล้วก็ออกธุดงค์มาโดยตลอด หากไม่กลับไปโปรดญาติโยมและเคารพอัฐิของโยมบิดา-มารดาแล้ว ก็จะผิดวิสัยบุตรอันมีความกตัญญูกตเวที ท่านจึงยุติการธุดงค์ลงชั่วคราวโดยแบกกลดกลับบ้านเกิด ญาติพี่น้องรุ่นเก่าจำท่านได้อย่างแม่นยำ แต่ลูกหลานที่เกิดมาทีหลังจำท่านไม่ได้ ต้องลำดับญาติพี่น้องจนกระทั่งจำกันได้ ทุกคนยินดีปรีดาที่ท่านกลับมาบ้านเกิดในฐานะนักบวชผู้มีภูมิธรรมอันควรแก่การบูชา และทุกคนมีความเห็นตรงกันที่จะให้ท่านแขวนกลดและจำพรรษาที่บ้านเกิด

หลวงปู่สุภาจึงได้หาหนทางที่จะทำให้ลูกหลานไม่รั้งท่านไว้นานนัก โดยท่านก็รำลึกได้ว่าห่างบ้านเกิดไป ๙ กิโลเมตร มีถ้ำเก่าแก่เรียกว่า “ถ้ำพระทอง” สถานที่นี้เหมาะที่จะสร้างเป็นวัด จึงได้บอกกับลูกหลานว่า “หากช่วยกันทำบันไดไปจนถึงถ้ำพระทอง และนำพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานไว้แล้ว หลวงปู่จะมาจำพรรษาที่นั่น”

ลูกหลานต้องจำนนเพราะการสร้างถาวรวัตถุไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต่อมาหลวงปู่สุภาได้ทำการบวชโยมพี่ชายของท่านเป็นพระภิกษุ อบรมวิปัสสนากรรมฐานให้ พร้อมกับการอบรมสั่งสอนญาติโยมชาวบ้าน ได้แม่ชีและชีปะขาวอีกหลายสิบคนเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ในการสืบต่อการเล่าเรียนพระกรรมฐานต่อไป

หลวงปู่สุภาจึงได้ล่ำลาชาวบ้านและญาติพี่น้อง แบกกลดธุดงค์ออกจากบ้านเกิดไปยังภูเก็ตและทางภาคใต้ จนกลับมาทางนครปฐม พบกับพลเอกประกอบ (ไม่ทราบนามสกุล) ท่านรับนิมนต์ให้พัฒนาวัดพระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม และจำพรรษาอยู่ที่นั่นนานพอสมควร จนได้รับการติดต่อจากบ้านเกิดว่า บัดนี้ได้สร้างบันไดไปถึงถ้ำพระทอง แล้วนำองค์พระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานไว้แล้ว ขอให้ท่านกลับไปจำพรรษาตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ หลวงปู่สุภาจึงให้พระครูคัมภีร์ ไปดูแลถ้ำพระทองก่อน เพราะท่านยังมีภารกิจที่วัดพระประโทน

พระครูคัมภีร์ไปอยู่ถ้ำพระทองได้ไม่นาน ก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่สุภาจึงต้องลงไปดูแลถ้ำพระทองถึง ๓ พรรษาเต็ม และบอกญาติโยมว่า ท่านจะหาผู้ปกครองดูแลถ้ำพระทองมาใหม่ ท่านมีภารกิจที่จะต้องธุดงค์ออกไปสร้างความเจริญแก่ท้องถิ่นต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในการธุดงค์

จากนั้นหลวงปู่สุภาก็ได้นิมนต์พระอาจารย์ทองจันทร์ ศิษย์ในสายหลวงพ่อชา สุภัทโท ซึ่งเป็นสหายธรรมของท่าน มาปกครองดูแลถ้ำพระทองสืบมา ถ้ำพระทองปัจจุบันมีชื่อว่า วัดพระพุทธไสยาสน์ อยู่ ต.บ้านคอเขียว อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร หลวงปู่สุภาได้ทำการอุปถัมภ์ในด้านต่างๆ ตามกำลังของท่านจวบจนกระทั่งละสังขาร

รูปภาพ
“พระพุทธรูปปางประทานพร” องค์ใหญ่
ณ วัดเขารังสามัคคีธรรม ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ ballphuket


รูปภาพ
พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กันตสีโล) กับ พระวินัยธรชาตรี กันตสีโล
เจ้าอาวาสวัดเขารังสามัคคีธรรม ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ณ กุฏิหลวงปู่สุภา วัดคอนสวรรค์ ต.ค้อเขียว อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร


๏ ทักษิณถิ่นแดนธรรม

หลวงปู่สุภาหันมาธุดงค์ทางใต้หลังจากปลดภาระจากบ้านเกิดแล้ว และสถานที่ที่หลวงปู่สุภาไปก็คือภาคใต้เลยเข้าไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และแถบหมู่บ้านในแหลมมลายู ท่านนิยมชมชอบสถานที่ในภูเก็ต ก็เมื่อท่านมาปักกลดอยู่ที่ เขารัง ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต และเมื่อมีญาติโยมมาอุปัฏฐากท่าน หลวงปู่สุภาก็ได้เกริ่นที่จะสร้างวัดที่เขารัง ญาติโยมก็มีจิตศรัทธาจึงได้ติดต่อเจ้าของที่เพื่อจะขอซื้อ แต่เจ้าของที่ดินปฏิเสธ หลวงปู่สุภาจึงตกลงใจถอนกลดธุดงค์เพื่อเดินทางต่อไป ในราตรีก่อนที่จะถอนกลดนั้นท่านก็ได้นิมิตประหลาด มีพระภิกษุชราภาพมากรูปหนึ่งมาปรากฏร่างที่ข้างกลดธุดงค์ของท่าน เมื่อท่านออกมาพบ พระภิกษุชรารูปนั้นก็ได้บอกหลวงปู่สุภาว่า

“อย่าได้เสียใจเลย ยังมีสถานที่ที่เขาต้องการให้ท่านไปสร้างวัด ชาวบ้านเขารอกันเป็นเวลานาน แต่ไม่มีใครไปสร้างให้ จงข้ามทะเลไปยังเกาะสิเหร่ ที่นั่นคือที่ที่ท่านจะสมปรารถนา”

จากนั้นหลวงปู่สุภาได้ลงเรือที่ทางญาติโยมจัดให้ เพื่อเดินทางไปเกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต แล้วหลวงปู่สุภาก็มาปักกลดธุดงค์ แสวงหาความสงบวิเวกบนเกาะสิเหร่ และมาพบที่ดินที่ถูกใจแปลงหนึ่ง จึงสอบถามหาเจ้าของที่ดิน ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินคือแป๊ะหลี ซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่สุภา จึงปวารณาตัวอุทิศที่ดินเพื่อให้สร้างเป็นวัดขึ้น โดยเป็นวัดแห่งแรกของเกาะ เรียกว่า “วัดเกาะสิเหร่”

เนื่องจากภาระในการสร้างวัดเกาะสิเหร่ เป็นภาระที่ค่อนข้างหนักมาก และต้องหาทุนทรัพย์จากภายนอกมาเกื้อหนุน หลวงปู่สุภาจึงต้องเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับเกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต บ่อยมาก ต่อมาท่านได้เดินทางไปพบกับฆราวาสจอมอาคมไสยเวทย์ จากสำนักเขาอ้อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง คือ อาจารย์ชุม ไชยคีรี และอาจารย์อุทัย ดุจศรีวัชร์ เพื่อร่วมกันสร้างวัตถุมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “พระเสด็จกลับ”

หลังจากที่สร้างวัดเกาะสิเหร่แล้ว หลวงปู่สุภาได้นิมิตถึง “พระพุทธไสยาสน์” ท่านจึงนำมาสร้างเป็นพระพุทธไสยาสน์ประจำวัดเกาะสิเหร่ รวมเวลาการสร้างวัดเกาะสิเหร่และพระพุทธไสยาสน์เป็นเวลา ๖ ปีเต็ม โดยถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแววพระเนตรมาประดิษฐานไว้ที่พระเนตรของพระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ได้ก่ออภินิหารมากมาย และที่เล่าลือในหมู่ชาวเกาะสิเหร่ก็คือ เรื่องราวของการที่ขโมยได้ลอบเข้ามาจะสกัดเอาแววพระเนตรของพระพุทธไสยาสน์ในตอนกลางคืน ได้ของมาแล้วก็จะนำออกไปจากวัด ปรากฏว่าเดินวนอยู่ในวัด หาทางออกไม่ถูก จนชาวบ้านมาพบและพระเห็นเข้า จึงเรียกตำรวจมาจับพร้อมของกลาง โดยขโมยรับสารภาพว่าทำไปเพื่อจะนำแววพระเนตรไปขาย แต่ก็หาทางออกไม่ได้ เดินวนไปมาจนถูกจับ

เมื่อหลวงปู่สุภาตั้งใจสร้างวัดบนเกาะสิเหร่นั้น ชาวบ้านก็วิตกกังวลว่าท่านจะหาทุนมาจากไหน เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้การขนส่งวัสดุก่อสร้างนั้นเสียเวลานาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายก็สูงอีกด้วย แต่ก็ปรากฏว่าหลวงปู่สุภาได้แรงศรัทธาจากทั้งคนบนเกาะสิเหร่และคนที่ภูเก็ต ตลอดจนญาติโยมจากนครปฐม และทุกแห่งที่ท่านเคยไปสร้างความเจริญมาร่วมช่วยกันอย่างเต็มที่และเต็มแรงกายแรงใจ วัดที่หลวงปู่สุภาเคยไปสร้างความเจริญไว้รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๓๓ วัด ซึ่งแต่ละวัดล้วนมีความเลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติของท่าน

เมื่อวัดเกาะสิเหร่ได้ทำการสร้างสำเร็จแล้ว ท่านก็แบกกลดขึ้นไปทางเหนืออีกครั้งเพื่อแสวงหาความสงบวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ค่ายทหารที่เขาค้อ อันเป็นค่ายที่ต้องประจันหน้ากับพวกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ที่มียุทธวิธีการรบแบบกองโจร ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากกับกำลังทหาร หลวงปู่สุภาได้เข้าไปพักในค่ายทหาร คอยเป็นขวัญกำลังใจ ตลอดจนสร้างพระเครื่อง-เครื่องรางของขลังแจกทหารในค่ายที่ออกไปลาดตระเวนทำลายที่ตั้งของค่ายพักฝ่าย ผกค. ปรากฏว่าทหารที่มีพระเครื่อง-เครื่องรางของท่านล้วนแคล้วคลาดทุกคน

ออกจากเขาค้อ ท่านกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง คราวนี้อาพาธหนักด้วยไข้ป่า เพราะท่านไปอยู่บนเขาค้อจนได้รับเชื้อมาลาเรียอย่างรุนแรง แต่ด้วยอำนาจแห่งศีล สมาธิ ปัญญา และเมตตาบารมีธรรม ทำให้หลวงปู่สุภาเพียงอาพาธหนัก ต้องรักษาตัวอยู่นาน ซึ่งลูกหลานต่างก็ยินดีที่หลวงปู่มาพักอยู่ด้วยอย่างเนิ่นนาน

หลวงปู่สุภาออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ จนลืมไปว่าท่านเคยมาพักอยู่ที่ภูเก็ต เมื่อท่านระลึกได้จึงเดินทางกลับมายังเขารัง จ.ภูเก็ต ซึ่งท่านเคยปักกลดธุดงค์และขอซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัด แต่เจ้าของที่ดินปฏิเสธ ครั้นมาในคราวนี้ปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ กาลเวลาเปลี่ยนไป หลวงปู่สุภาในวัย ๘๔ ปีรู้สึกว่าเขารังที่เคยเป็นดินแดนสงบ ถูกความเจริญรุกไล่จนกลายเป็นสวนสาธารณะไปแล้ว ทางเหนือได้กลายเป็นโรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลประจำเกาะภูเก็ต ด้านหลังของโรงพยาบาลที่ติดกับเขารังทางด้านทิศเหนือได้ทำเป็นสถานที่เก็บศพ เล่าลือว่าผีดุ หลวงปู่สุภาจึงไปปักกลดที่นั่น มีลูกศิษย์ลูกหาที่เคยรู้จักท่านพบเข้าจึงเล่าลือกันปากต่อปาก มีศรัทธาสาธุชนเพิ่มมากขึ้น และทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าท่านอายุ ๘๔ แล้ว สังขารมีแต่ชราภาพและอาพาธบ่อยๆ เกรงว่าหากแบกกลดธุดงค์ตะลอนไปเรื่อยๆ ก็คงมรณภาพกลางทางเข้าสักวัน จึงกราบนิมนต์ให้หลวงปู่พำนักอยู่กับที่ โดยได้ขอซื้อที่ดินจากเจ้าของที่จะขายให้เพียง ๑ ไร่เศษเท่านั้น นอกจากนั้นเจ้าของไม่ยินดีให้ความร่วมมือ จึงทำการสร้างวัดไม่ได้ เพราะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เกี่ยวกับที่ดินที่จะใช้สร้างวัด ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะขออนุญาตสร้างวัดได้ วัดต้องตั้งอยู่ในที่ดินที่มีเนื้อที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันไม่น้อยกว่า ๖ ไร่ (ไม่มีข้อยกเว้น) หลวงปู่สุภาท่านจึงต้องสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นแทน และตั้งชื่อตามนามของท่านเจ้าของที่ดินดั้งเดิมส่วนหนึ่ง คือ “สำนักสงฆ์เทพขจรจิตรอุทิศสามัคคีธรรม” โดยได้มาจากส่วนหนึ่งของบรรดาศักดิ์ท่านเจ้าของ คือ “หมื่นขจรจิตรพงษ์ประดิษฐ์”

หลวงปู่สุภาเล็งเห็นว่า หากต้องการสร้างความสงบให้แก่เขารังและแก่จังหวัดภูเก็ต ต้องสร้าง “พระพุทธรูปปางประทานพร” องค์ใหญ่ไว้บนยอดเขารัง โดยออกแบบให้มีส่วนฐานขององค์พระขึ้นไปจากหลังคาสำนักสงฆ์ โดยช่างรับเหมาระบุราคาไว้ทั้งสิ้น ๒๐ ล้านบาท แต่ด้วยท่านอาศัยบารมีธรรม เมตตาธรรม และการสงเคราะห์จากลูกศิษย์ลูกหา จนในที่สุดจึงสร้างพระพุทธรูปนั่งที่ใหญ่ที่สุดในเกาะภูเก็ต มองเห็นได้แต่ไกลได้สำเร็จ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ สำนักสงฆ์เทพขจรจิตรอุทิศสามัคคีธรรม ได้รับประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ ชื่อว่า “วัดเขารังสามัคคีธรรม” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๒ โดยมี พระวินัยธรชาตรี กันตสีโล (พระครูบรรพตสารธรรม) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของหลวงปู่สุภาที่ท่านไว้วางใจมากที่สุด เป็นเจ้าอาวาส

บ่อยครั้งเมื่อหลวงปู่สุภาอาพาธต้องเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระ ท่านเห็นว่าเนื่องจากไม่มีตึกสงฆ์อาพาธ ทำให้พระภิกษุสงฆ์ต้องพักรักษาตัวโดยอยู่รวมกับผู้ป่วยทั่วไป หลวงปู่สุภาจึงดำริที่จะสร้างตึกสงฆ์อาพาธ แล้วเข้าพบผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระ ออกปากขอที่ดินพร้อมทั้งแบบก่อสร้างเพื่อเป็นแนวทางในการหาทุนมาจัดสร้าง นับเป็นผลงานสงเคราะห์โลกในขณะที่ท่านมีอายุเข้าถึงหนึ่งศตวรรษ หรือ ๑๐๐ ปี แต่หลวงปู่สุภาก็ไม่เคยย่อท้อในชีวิต ตลอดชีวิตของท่านมีแต่คำว่าให้และสร้างทุกอย่างได้สำเร็จด้วยเมตตาบารมีธรรมของท่าน

กระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ หลวงปู่สุภาได้มาสร้างวัดใหม่เพื่อให้เป็นสถานปฏิบัติธรรมอีกแห่งหนึ่ง ณ ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต บนเนื้อที่ ๓๘ ไร่ โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า “วัดสีลสุภาราม” วัดแห่งนี้เป็นวัดลำดับที่ ๓๘ ที่หลวงปู่สุภาได้สร้างขึ้น และท่านยอมรับเป็นเจ้าอาวาสเป็นวัดแรกในชีวิต

วัดสีลสุภาราม มีความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน โดยหลวงปู่สุภายังคงทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติโยมที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าทางจิตใจ หรือแม้ผู้ที่ถูกคุณไสย ที่สำคัญที่สุดท่านยังเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาในการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ซึ่งมีอยู่มากมาย

ต่อมา หลวงปู่สุภาได้สร้างสำนักสงฆ์พรหมเสนาสุภาราม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านส่องดาว ต.ส่องดาว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร อันเป็นวัดในจังหวัดบ้านเกิดของท่านอีกวัดหนึ่ง โดยเป็นวัดลำดับที่ ๓๙ ที่ท่านได้สร้างขึ้นไว้ในบวรพระพุทธศาสนา และถือเป็นวัดสุดท้ายที่ท่านได้สร้างขึ้นก่อนละสังขาร บนเนื้อที่ ๓๙ ไร่ เท่ากับจำนวนวัดที่ท่านได้สร้าง วัดแห่งนี้หลวงปู่สุภาบอกว่าจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกศิษย์ที่ศรัทธาในองค์ท่าน


ถึงแม้ปัจจุบันท่านจะไม่ได้แบกกลดออกท่องธุดงค์เพื่อแสวงหาความสงบวิเวกตามเขาลำเนาไพรอีกแล้ว ด้วยความจำกัดแห่งสังขาร แต่ท่านก็ทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติโยมที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะทางจิตใจ หรือแม้แต่ผู้ถูกคุณไสย ทั้งยังทำหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์คอยแนะนำข้อปฏิบัติ และให้โอวาททุกวัน หลังจากพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ไหว้พระสวดมนต์เย็นเสร็จแล้ว เท่าที่ผ่านมาหลวงปู่มีศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศไปมาหาสู่ท่านมิได้ขาด โดยเฉพาะชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วยแล้วมากันเป็นคันรถ เพราะท่านเคยไปธุดงค์ช่วยเขาในอดีต ซึ่งทั้งศิษย์เก่าและใหม่ที่พากันมากราบนมัสการท่าน ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า

“ได้รับเมตตา ได้เห็นรอยยิ้มท่าน ได้รับพร และได้รับวัตถุมงคล ทำให้มีขวัญและกำลังใจเพิ่มพูนขึ้น และทำมาค้าขายคล่อง มีรายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ พ้นจากทุกข์ได้ก็ด้วยบารมีของหลวงปู่สุภาเป็นที่พึ่ง”


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2012, 18:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“วัดสีลสุภาราม” ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต

รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่สุภา กันตสีโล ณ วัดสีลสุภาราม
ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : abhakara.com


รูปภาพ

รูปภาพ
มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน แด่พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กันตสีโล)


๏ ลำดับสมณศักดิ์

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๗ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ พระเดชพระคุณหลวงปู่สุภา กันตสีโล เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ พระมงคลวิสุทธิ์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


๏ ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้จัดพิธีถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน แด่พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กันตสีโล) เจ้าอาวาสวัดสีลสุภาราม ในการนี้ มีนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวคำสดุดีอนุโมทนาและถวายเครื่องสักการะ พร้อมด้วย ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อัญเชิญปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และ ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อัญเชิญครุยวิทยฐานะ ตาลปัตร ย่าม ถวายแด่พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กันตสีโล) หลังเสร็จสิ้นพิธีการถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้วนั้น ได้ร่วมกันสรงน้ำหลวงปู่สุภา กันตสีโล เนื่องในวาระโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย (วันสงกรานต์) พร้อมกันนี้มีคณะคณาจารย์ นักศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ บุคคลสำคัญของจังหวัดภูเก็ต พุทธศาสนิกชน และประชาชนทั่วไป มาเข้าร่วมงานในพิธีเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ ณ วัดสีลสุภาราม จ.ภูเก็ต

ผศ.ดร.ประภา กล่าวว่า “ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ถวายแด่หลวงปู่สุภานั้น เป็นปริญญากิตติมศักดิ์ระดับสูงสุดที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยจะพิจารณามอบให้เป็นเกียรติยศแก่บุคคล ที่มีคุณสมบัติของดุษฎีบัณฑิตครบถ้วน ที่ได้สั่งสมความรู้ และประสบการณ์จากความวิริยะ อุตสาหะ และพากเพียร ทำการค้นคว้าศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งได้ใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมมนุษย์และท้องถิ่นเป็นที่ประจักษ์ในเวลาที่ผ่านมาด้วย ดังกล่าวนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้พิจารณาโดยถ่องแท้แล้วเห็นว่า พระอริยสงฆ์สำคัญของจังหวัดภูเก็ตที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้จักกันในนามหลวงปู่สุภา มีคุณสมบัติแห่งดุษฎีบัณฑิตเพียบพร้อมสมบูรณ์ ทั้งยังได้ใช้เวลาและองค์ความรู้ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นติดต่อกันมามิได้ขาด นับเป็นปูชนียบุคคลที่สมควรได้รับการย่องย่องเป็นอย่างยิ่ง”

รูปภาพ
พระอาจารย์ฟิลลิป ญาณธัมโม วัดป่ารัตนวัน จ.นครราชสีมา


๏ พระอาจารย์ญาณธัมโม เล่าถึงประวัติหลวงปู่สุภา

พระอาจารย์ฟิลลิป ญาณธัมโม วัดป่ารัตนวัน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ท่านเล่าถึงประวัติหลวงปู่สุภาให้ฟังว่า “หลวงปู่สุภา เมื่อครั้งสมัยยังเป็นพระหนุ่มๆ อยู่ ท่านนั่งสมาธิอยู่บนกุฏิในป่า พอดีมีงูเหลือมขนาดใหญ่เลื้อยขึ้นมาบนกุฏิ แล้วพยายามกลืนท่านไปจากทางเท้า หลวงปู่สุภาท่านบอกกับงูว่า เจ้างูเจ้าจะกินเรา เราไม่ว่า เราปฏิบัติธรรมนี้หวังเพื่อความหลุดพ้น ถ้าเจ้ากินเราแล้วพาเราไปสวรรค์ไปนิพพานได้ เจ้าก็กินเราเลย หลวงปู่สุภาท่านว่างูใหญ่มันพยายามกลืนท่านไปจนเกือบถึงเอว ก็กลืนไม่ไหว จึงค่อยๆ ขย่อนออกมาแล้วเลื้อยหายเข้าไปในป่า หลวงปู่สุภามีอาการเจ็บข้อเท้ามาก คงเพราะน้ำหนักกำลังแรงของงูที่พยายามบีบกระดูกท่านให้แตก ทันใดนั้นท่านก็ได้ยินเสียงผู้หญิงพูดดังลั่นป่าว่า “ไอ้งูนี่เลวมาก ฆ่าพระมาแล้วหลายรูป อย่าอยู่เลยมึง” หลังจากนั้น ท่านก็ได้ยินเสียงต้นไม้ใหญ่หักโค่นดังสะนั่นป่า แต่ท่านเองหมดแรง ไม่สามารถขยับร่างกายได้ จึงหลับไป พอรุ่งเช้า หลวงปู่สุภาค่อยๆ พยุงร่างกายลุกขึ้นเพื่อออกไปบิณฑบาต ท่านว่าผ้าสบงท่านเต็มไปด้วยน้ำลายงูที่ไว้ใช้ย่อยเหยื่อ พอออกไปนอกกุฏิ ท่านก็เห็นต้นไม้ใหญ่หักโค่นทับร่างงูนั้นจนตาย”

พระอาจารย์ฟิลลิป ญาณธัมโม เล่าต่อว่า หลวงปู่สุภาเป็นพระสงฆ์ที่มีเมตตามาก และท่านก็เคารพศรัทธาหลวงปู่สุภาเป็นครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ หลวงปู่สุภาได้เมตตาเดินทางมาเป็นประธานสงฆ์ในงานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วิหารพระธาตุพุทธบูชา วัดป่ารัตนวัน หลวงปู่สุภาท่านกล่าวว่า “ครูบาอาจารย์รูปอื่นต่างเป็นหลวงปู่หลวงตากันหมดแล้ว แต่พระอาจารย์ญาณะ นี่ยังดูหนุ่มอยู่เสมอนะ แถมเป็นพระฝรั่งด้วย แต่ทำไมพูดไทยเก่งจัง เทศน์ก็เก่งด้วยน๊ะ”


๏ คติธรรมของหลวงปู่สุภา กันตสีโล

• การบวช ก็คือการแสวงหาสัจจธรรม มีเป้าหมายอยู่ที่ความหลุดพ้นหรือที่เรียกว่า วิมุตฺติ

• การแสวงหาสัจจธรรม ก็คือการแสวงหาความจริง ที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ต้องดับ และสิ่งใดดับ สิ่งนั้นก็ย่อมเกิดอีก มันวนเวียนๆ อยู่อย่างนี้ หลักสัจจธรรมมันมีอยู่แค่นี้ แต่ตัวเราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น จะทำอย่างไรให้รู้จริง ให้เห็นจริง และให้เข้าใจจริงๆ

• เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นอะไร เกิดมาอย่างไร และมีที่ไปอย่างไร มันก็ไปเข้าหลักสัจจธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องดับ

• การออกบวชของหลวงปู่ ก็เพื่อต้องการศึกษาค้นคว้าถึงบ่อเกิดของการเกิดต่างๆ เพื่อที่จะหาทางปฏิบัติให้หลุดพ้นจากหลักข้อนี้ คือไปสู่วิมุตติ ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องดับอีกแล้ว

• อยู่ในป่า นั่งวิปัสสนา ทำสมาธิ แผ่เมตตาไปเรื่อยๆ นั่งสมาธิไปเรื่อย ลืมตาแล้วก็เพ่งๆ แล้วก็เกิดตาเนื้อ ตาในก็ต้องหลับ ตาเนื้อก็ต้องลืม ตาหนังก็มองไม่เห็น

• การเดินทางธุดงค์ ถ้าจิตเราว่อกแว่ก เรากลัวเกินไป “ตาย” ถ้ายังตัดความกลัวไม่ขาด

• ขอบิณฑบาตเถอะ อาตมาเองจะไปในทางที่ดี อยากสำเร็จมรรคสำเร็จผล อยากขึ้นสู่สวรรค์และนิพพาน

• ฉันสละหมดแล้ว ชีวิต ร่างกาย อะไรต่ออะไรไม่มีแล้ว ฉันปรารถนาทุกวันนี้ “นิพพาน”

• ก็เราตั้งสัจจะอธิษฐานมาแล้ว จากวัดของเราที่พูดกันมา ถึงยาก ถึงง่าย มันก็ต้องพยายาม เราต้องอดทน ต้องขยัน มีขันติ

• เข้าให้ถึงสัจจธรรมเพื่อข้ามพ้นกองทุกข์ต่างๆ นานาที่มีอยู่รอบตัวเรา จะต้องปฏิบัติธรรม ทำสมาธิให้จิตได้ดวงธรรม ดวงธรรมคือความสว่าง ความสว่างคือความสว่างในทางปัญญา ที่ทำให้เราสามารถรู้ และมองเห็นสัจจธรรมได้ลึกซึ้งลงไป รู้จริงแม้กระทั่งทางในจิตใจเราเอง

• การปฏิบัติธรรม ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสิ่งนั้น การปฏิบัติเพื่อให้เห็นสิ่งนั้น และปฏิบัติเพื่อให้รู้สิ่งนั้น การปฏิบัติจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนนี้เราจึงต้องมาหัดนั่งสมาธิ มาทำกรรมฐานกันเพื่อฝึกจิตใจให้เป็นสมาธิไม่ว่อกแว่ก หยั่งจิตให้ลึกในธรรม ให้เข้าถึงสัจจธรรมนั้น

• เรียนนี่ไม่ใช่อะไร อยากรู้ อยากศึกษาว่าอะไรมันจะเหนือกว่ากันหรือพิเศษกว่ากัน หรือจะสำเร็จในตัวของเรา ในบุรพชาติของเราแต่ชาติก่อน

• ตั้งสัจจะไว้ให้ดี ตั้งจิตให้มั่น อย่าไปกระดุกกระดิก นั่งเพ่งแผ่เมตตาจิตตลอดเวลา

• แม้ว่าเราจะมีศีล แม้ว่าเราจะมีธรรม เราควรเคารพเจ้าป่าเจ้าเขา ผ้าจีวรก็ดี ผ้าสบงก็ดี อย่าตากทับพุ่มไม้กอไม้

• การที่จะไปวิมุตติได้นั้น มันต้องผ่านการศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติ หลวงปู่จึงต้องเดินทางไปศึกษาค้นคว้ากับผู้รู้ต่างๆ และปฏิบัติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง

• ถ้าศีลบริสุทธิ์ คุณวิเศษต่างๆ ก็จะมีมาเอง

• ให้ถือสัตย์ ศีลห้าอย่าให้ขาดจะตลอดรอดมาได้ อย่าไปโลภ อย่าไปหลง

ถ้าเสียสัตย์ ก็เสียศีล เสียศีลแล้ว ธรรมก็ไม่บังเกิด

ฆ่าจิตของเราให้มันตาย อย่าให้มีโกรธ อย่าให้มีโลภ อย่าให้มีหลง

“ไปให้ดีนะลูก จิตรู้อารมณ์ อย่าเร็วนัก อย่าช้านัก ให้ค่อยไป ให้ค่อยมา ให้อยู่ในกลางๆ โบราณเขาว่าอยากถึงเร็วให้คลาน อยากถึงนานให้วิ่ง” (พระอาจารย์สีทัตถ์ให้โอวาทก่อนลาจากไปออกธุดงค์)

“อยากให้ของมันเกิด อยากให้ของมันดับ อะไรเกิดอันนั้นก็ต้องดับ อะไรดับอันนั้นก็ต้องเกิด” (โอวาทจากหลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า)

รูปภาพ

๏ หลวงปู่สุภา กันตสีโล ละสังขารแล้ว
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=46239

พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กันตสีโล) เป็นตัวอย่างของพระมหาเถระผู้ปฏิบัติธรรมด้วยความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ และความมุ่งมั่นไม่เคยย่อท้อ ตลอดชีวิตของท่านมีแต่คำว่าให้และสร้างทุกอย่างสำเร็จด้วยเมตตาบารมีธรรม เมื่อต้นเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ ด้วยวัยที่ชราภาพมากขึ้น ประกอบกับสุขภาพร่างกายของหลวงปู่สุภาเริ่มที่จะไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเดิม ท่านจึงประสงค์ที่จะกลับมาพักจำพรรษาอยู่ ณ วัดคอนสวรรค์ ต.ค้อเขียว อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน โดยได้ให้ พระอาจารย์ดา และแม่ชีเปีย ผู้เป็นหลานแท้ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่หลวงปู่สุภาไว้วางใจให้ดูแลปรนนิบัติรับใช้อย่างใกล้ชิดมายาวนานโดยตลอด เป็นผู้นำพาเดินทางจาก วัดสีลสุภาราม จ.ภูเก็ต ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น ไปยัง วัดคอนสวรรค์ จ.สกลนคร

วัดสีลสุภาราม เป็นวัดลำดับที่ ๓๘ ที่หลวงปู่สุภาได้สร้างขึ้น และท่านได้พักจำพรรษาอยู่ ณ วัดแห่งนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งได้ย้ายมาพักจำพรรษาอยู่ ณ วัดคอนสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน วัดคอนสวรรค์แห่งนี้เป็นวัดหนึ่งในจำนวนทั้งหมด ๓๙ วัดที่หลวงปู่สุภาได้สร้างขึ้นไว้ตลอดระยะเวลายาวนานในการครองเพศบรรพชิตกระทั่งมีอายุเกินร้อยปี สำหรับวัดลำดับที่ ๓๙ ที่หลวงปู่สุภาได้สร้างขึ้นไว้และถือเป็นวัดสุดท้ายที่ท่านได้สร้างขึ้นก่อนละสังขารนั้น คือ สำนักสงฆ์พรหมเสนาสุภาราม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านส่องดาว ต.ส่องดาว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร นับเป็นวัดบ้านเกิดของท่านอีกวัดหนึ่ง บนเนื้อที่ ๓๙ ไร่

ในช่วงก่อนเข้าพรรษากาล ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ นี้ หลวงปู่สุภาได้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสกลนคร ล่าสุดแพทย์ตรวจพบลิ้นหัวใจรั่ว น้ำท่วมปอด ท่านต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานกว่า ๓ เดือน ก่อนแพทย์อนุญาตให้กลับวัดตามความประสงค์ของหลวงปู่ กระทั่งในที่สุดท่านได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ตรงกับวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็ง ซึ่งเป็นเดือนเกิดของท่านพอดี ณ กุฏิภายในวัดคอนสวรรค์ จ.สกลนคร หลังอาพาธด้วยโรคชรามานานร่วม ๒ ปี ท่ามกลางความเศร้าสลดอาลัยของบรรดาคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และสาธุชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก สิริอายุของหลวงปู่รวมได้ ๑๑๖ ปี ๑๑ เดือน ๑๕ วัน ท่านอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์นับตั้งแต่เป็นสามเณรจวบจนถึงมรณกาล รวมสิริพรรษาได้ ๑๐๘ พรรษา หากนับเฉพาะพรรษาที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุ รวมสิริพรรษาได้ ๙๗ พรรษา ซึ่งนับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะมีพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนายุคใดยุคหนึ่งที่่จะมีอายุวัฒนมงคลยั่งยืนมาได้ยาวนานเหมือนหลวงปู่สุภาองค์นี้

พระครูปริยัติสกลการ (พระมหานิพล แก้วคำสอน) เจ้าอาวาสวัดคอนสวรรค์ จ.สกลนคร กล่าวว่า มีกำหนดการเคลื่อนย้ายสรีระสังขารหลวงปู่สุภาออกจากกุฏิของท่านมาตั้งไว้ที่ ศาลากลางน้ำ ของวัดคอนสวรรค์ ในวันอังคารที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ เพื่อประกอบพิธีรดน้ำหลวงสรงศพพระราชทาน และพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมเป็นวันแรก


.............................................................

:b8: :b8: :b8: เรียบเรียงและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
หนังสือ ๑๐๐ ปี หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล
จัดทำโดยคณะศิษยานุศิษย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘
เว็บไซต์หลวงปู่สุภา
http://www.luangpusupa.com
https://www.facebook.com/luangpusupa


:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่สุภา กันตสีโล” วัดสีลสุภาราม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48002

:b44: หลวงปู่สุภา กันตสีโล พบพระอรหันต์ ณ ถ้ำจุงจิง ประเทศลาว
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=44255

:b44: หลวงปู่สุภา กันตสีโล พระอริยสงฆ์ ๕ แผ่นดิน ละสังขารแล้ว
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=46239

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2012, 16:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www





สื่อต่างประเทศตีข่าว หลวงปู่สุภาอายุ ๑๑๕ ปี ทุบสถิติมากสุดในโลก

เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๒ หนังสือพิมพ์ “เดลี่เมล์” ของประเทศอังกฤษ รายงานว่า พระมงคลวิสุทธิ์ หรือหลวงปู่สุภา กันตสีโล พระภิกษุไทย ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าท่านมีอายุ ๑๑๕ ปี โดยเพิ่งจะฉลองอายุครบรอบดังกล่าวไป เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กันยายนที่ผ่านมานั้น ท่านเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดในโลก เหนือกว่านายวอลเตอร์ บรุนนิ่ง ชาวอเมริกัน วัย ๑๑๓ ปี เจ้าของสถิติคนสูงอายุที่สุดในโลก ซึ่งถูกบันทึกโดยกินเนสส์ เวิล์ด เรคคอร์ด (กินเนสส์บุ๊ค : Guinness Book of World Records)

เดลี่เมล์ รายงานด้วยว่า ใบสูติบัตรของหลวงปู่สุภาได้รับการบันทึกหลังจากที่หลวงปู่เกิดได้ ๒ ปี โดยระบุไว้ชัดเจนว่าเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๓๙ ซึ่งหากเป็นความจริง จะทำให้หลวงปูสุภามีอายุมากกว่านายวอลเตอร์ บรุนนิ่ง เจ้าของตำแหน่งคนที่มีอายุมากที่สุดในโลกของกินเนสส์ เวิล์ด เรคคอร์ด

ในใบสูติบัตรระบุไว้ว่า “สุภา วงศ์ภาคำ” เป็นนามกำเนิดและสกุลเดิมของหลวงปู่สุภา โดยหลวงปู่เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๓๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก ณ บ้านคำบ่อ ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.อุบลราชธานี บิดาชื่อ ขุนภักดี หรือผู้ใหญ่บ้านพล มารดาชื่อ นางสอ

เดลี่เมล์ ยังรายงานด้วยว่า หลวงปู่สุภาเผยเคล็ดลับที่ทำให้อายุยืนว่า ฉันภัตตาหารแต่น้อย โดยฉันเพียงมื้อละ ๙ ช้อน หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดและเกลือ และท่านบอกอีกว่าชอบฉันข้าวเหนียวแก้ว และผู้แทนของหลวงปู่สุภากำลังเตรียมติดต่อเจ้าหน้าที่ของกินเนสส์ เวิล์ด เรคคอร์ด ให้มาตรวจสอบว่าหลวงปู่สุภาเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดในโลก เพื่อจะได้นำไปบันทึกเป็นสถิติโลกใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า นายวอลเตอร์ บรุนนิ่ง ชาวอเมริกัน อ้างว่าเป็นเจ้าของตำแหน่งคนที่มีอายุมากที่สุดในโลก ด้วยวัย ๑๑๓ ปี ภายหลังการเสียชีวิตของเฮนรี อัลลิ่งแฮม อดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชาวอังกฤษ ที่เสียชีวิตด้วยวัย ๑๑๓ ปี เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายนที่ผ่านมา นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เป็นประธานในงานพิธีมุทิตาสักการะ และพิธีอัญเชิญรางวัลพระราชทานเสมาทองคำถวายแด่หลวงปู่สุภา กันตสีโล ในโอกาสครบรอบ ๑๑๔ ปี โดยมีพระเถรานุเถระ คณะศิษยานุศิษย์เข้าร่วมอย่างคับคั่ง ที่วัดสีลสุภาราม ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นอกจากนี้ นายวิชัย ไพรสงบ ยังได้เป็นตัวแทนอ่านสารถวายมุทิตาสักการะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเนื้อความสรรเสริญ พระมงคลวิสุทธิ์ หรือหลวงปู่สุภา กันตสีโล ซึ่งเป็นพระภิกษุที่เปี่ยมด้วยจริยาวัตรและบุญฤทธิ์ จนเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก

สำหรับประวัติของหลวงปู่สุภานั้น ถือว่าเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และถวายตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่สีทัตถ์ วัดพระธาตุท่าอุเทน จ.นครพนม และหลังจากที่ได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆ กับหลวงปู่สีทัตถ์แล้ว ก็ยังได้เป็นศิษย์ของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ด้วยเช่นกัน ก่อนจะจาริกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จัดสร้างศาสนสถานมาแล้วนับสิบวัด กระทั่งได้มาสร้างวัดสีลสุภาราม จ.ภูเก็ต และจำพรรษามาถึงปัจจุบันพรรษาครบ ๑๑๔ ปี จนได้รับการยกย่องว่า “พระอริยสงฆ์ห้าแผ่นดิน ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี”


:b8: ที่มา :: หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์


Is 115-year-old Buddhist monk Luang Phu Supha the world's oldest man?

He was born when Queen Victoria was on the British throne. But whether Luang Phu Supha is really the world's oldest man remains open to debate. The Buddhist monk claims to be celebrating his 115th birthday today at a temple in Phuket, Thailand.

He is certainly likely to provide some hot competition for American Walter Bruening, 113, who has also laid claim to the coveted title.

รูปภาพ
World's oldest man? Buddhist monk Luang Phu Supha
celebrated his 115th birthday today,
although his claim has not yet been verified


รูปภาพ
Revered : The abbot has many followers
who believe his advanced age makes him particularly wise


:b8: ที่มา :: http://www.dailymail.co.uk/news/article ... z0RYJ8MjIA

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ส.ค. 2015, 03:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มิ.ย. 2011, 14:07
โพสต์: 278


 ข้อมูลส่วนตัว


น้อมกราบคุณธรรมขององค์หลวงปู่
ขออนุโมทนา สาธุๆๆค่ะ
:b8: Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร