วันเวลาปัจจุบัน 08 ก.ย. 2024, 17:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2011, 20:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: ธรรมกิริยา

หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นคนทำอะไร
ถ้าตามประสาโลกก็คงจะหาว่าท่านไม่ใคร่เรียบร้อยนัก
พูดจาโผงผาง ตรงเผงจนคนรับไม่ได้
การสอนของท่านก็ตรงทะลุ ซ้ำยังสอนไปดุไปแรงๆ ซ้ำด้วย

ยกตัวอย่างในการสอนให้พิจารณาของหลวงปู่เจี๊ยะ

:b48: (๑) เมื่อพระเณรลูกศิษย์ท่านพิจารณามากๆ เข้า
ท่านก็แสดงอาการพอใจที่ได้อบรมสั่งสอนมา
ท่านถามให้พระตอบท่าน ท่านอยากฟังเรื่องราวที่พระรูปใดปฏิบัติ
ก็ต้องเล่าถวาย ท่านจึงจะชี้แจงข้อถูกผิด

ท่านบอกว่า ไม่พอ การพิจารณาเท่านี้ยังไม่พอ
การพิจารณาอะไรเป็นอสุภะ คือความไม่งามได้
ทีนี้มาลองพิจารณาให้เป็นสุภะ คือความสวยงามหน่อยซิ

ท่านก็เล่าการพิจารณาขั้นสุดท้าย สำหรับการพิจารณาให้ฟังว่า

“อะไรๆ ทั้งหมดรวมลงมาอยู่ที่การพิจารณากาม
สุดยอดกรรมฐานคือกาม ผู้ชายเราสงสัยข้องใจอะไรมากก็เป็นเพศของผู้หญิง
เมื่อพิจารณา หน้า ตา เนื้อ หนัง อะไรๆ อื่น ก็เหมือนกันหมด
มันเหมือนกันหมดทั้งชายและหญิงตลอดจนสัตว์อื่น
แต่เมื่อพิจารณาอย่างนี้พิจารณาได้ยาก แต่จะแก้กาม ต้องพิจารณาแก้ที่ตรงนี้”


ท่านสอนเด็ดขาดและแปลกกว่าใครๆ ที่เคยสอนกันมา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ ก็หลงอย่างนี้ทั้งนั้น บางคนถึงกับนั่งฟังไม่ได้


ท่านสอนผู้หญิงให้กำหนดตัดอวัยวะเพศชาย
สอนพระผู้ชายให้กำหนดตัดอวัยวะเพศหญิง
ท่านสอนพูดออกมาเป็นคำที่โลกรังเกียจ แต่พากันหวงแหนนั่นแหละ
ท่านบอกว่าการพิจารณาอย่างนี้เอาให้หนัก
ของอย่างนี้สำหรับผู้ต้องการแก้กิเลสเอามันไว้ไม่ได้

พระอาจารย์เจี๊ยะบอกว่า “เมื่อพิจารณาอวัยวะเพศของหญิง
จิตยังสะดุ้งสะเทือนแสดงว่ายังใช้การไม่ได้
อ่านตำรายังไม่จบ ให้ไปเรียนคัมภีร์มาใหม่”


พระทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังเช่นนั้นก็กลัว
ไม่กล้าพิจารณาบางองค์สั่นทั้งตัว ไม่กล้าทำ ทำไม่ได้ ท่านก็ดุเอาสิว่า
“ไอ้ฉิบหาย!! กลัวอะไร ประสา...เอาเลย...พิจารณาเลย”

:b48: (๒) และครั้งหนึ่งหลวงปู่เจี๊ยะท่านสนทนา
กับ ท่านอาจารย์เฟื่อง โชติโก ผู้เป็นสหธรรมิก

อาจารย์เฟื่อง :
“เจี๊ยะ! ไปสอนเขาแบบนี้ เขาก็หนีหมดซิ
ผู้หญิงฯ สอนให้พิจารณาแต่ของเน่าของเหม็น”

อาจารย์เจี๊ยะ :
“ไอ้ฉิบหาย! กูไม่เชื่อเลย ไอ้พวกนั่งจับลมๆ แม่งมึงก็หลับซิ
พระพุทธเจ้าไปอยู่กับอาฬารดาบส และอุททกดาบส
จนสำเร็จฌานแปด รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ถึงมาเจริญอานาปานสติในตอนหลัง
นี่ยังไม่ได้อะไรเลย จะมาจับลม เข้าพุท โธออก ไม่ทันหรอก
อยู่กับหลวงปู่มั่น ๓ ปี ๔ แล้ง ไม่เคยสอนซักที
จับลมนี่ มีแต่ให้พุทโธเร็วๆ บริกรรมพุทโธเร็วๆ เฟื่อง! สอนอย่างไรวะ”

อาจารย์เฟื่อง :
“ไอ้ฉิบหาย! สอนเขาอย่างนี้ให้เหม็นเน่า
ตัดคอตัดแขน ตัดขา แลบลิ้นออกมาตัด คอขาด แขนขาด
เน่าเฟะ เรี่ยราดอยู่กลางศาลา แค่ฟังเขาก็กลัวแล้ว
แล้วใครเขาจะมาฟังเทศน์เล่า
ใครเขาจะเข้ามาใกล้ มีเพลงเดียว กัณฑ์เดียว ๑๐ ปี ก็เอาอย่างเก่า
ปรับปรุงสำนวนให้มันนุ่มนวลหน่อยไม่ได้หรือ?
บางทีคนเหล่านี้เขาเข้ามาฟังพอสบายใจ
ก็กลับบ้านไปอยู่กับลูกกับเมียเขา
ธรรมะรุนแรงเอาไปทำเองเอามาออกสังคมไม่ได้”


อาจารย์เจี๊ยะ :
“ที่เทศน์ที่แสดงอยู่นี่ เพราะพริ้งที่สุดในโลกแล้ว
หาฟังที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว มันไม่น่าฟังก็ชั่งแม่งมัน
ก็ธรรมะเป็นอกาลิโกไม่จำกัดกาล เทศน์ที่ไหนก็ซัดมันซะจนเต็มเหนี่ยว”


:b48: (๓) พระอาจารย์เจี๊ยะ กิริยาของท่านทำอะไรไม่ติดข้องทางโลกเลย
เช่น ปวดท้องฉี่ ท่านจะฉี่ตรงนั้นเลย คนเยอะไม่ต้องอาย ฉี่ตรงนั้นเลย
ทีนี้ท่านก็ถูกตำหนิว่าเป็นพระผู้ใหญ่ทำไมถึงไม่ละอาย

แต่เมื่อเรามาพินิจพิเคราะห์ด้วยดี การกระทำแบบท่านนี้ทำยากนะ
อย่างเช่นท่านนั่งเกากลางศาลาคนเยอะๆ นี่ คนธรรมดาทำได้เมื่อไร
ชนทั้งหลายเขาก็ว่าพระองค์นี้ ไม่มีระเบียบเรียบร้อยเลย
นึกไปนึกมาท่านก็รู้ๆ อยู่ แต่ท่านแกล้งทำเพราะรำคาญคน
อยากให้มันหนีไปๆ จะได้อยู่สงบสงัด
ท่านชอบอยู่เงียบๆ ทำอะไรๆ ของท่านไป
ไม่มีใครรู้เรื่องท่านหรอก

ศิษย์พระอาจารย์มหาบัวที่เป็นฆราวาส ที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงๆ
พระอาจารย์มหาบัวก็แนะนำให้มากราบอาจารย์เจี๊ยะนะ
นี่แหละ “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”


:b48: (๔) พระอาจารย์เจี๊ยะไม่ว่าจะอยู่ที่ใดท่านละเอียดมาก
ผ้าสบงเย็บชุนเป็นระเบียบมาก การใช้จ่ายรัดกุมมาก
ใครก็ตามที่ไม่เคยฝึกมาก็จะคิดว่า “ทำไมท่านทำอย่างนี้นะ”

ถ้ามองเผินๆ ก็อาจจะดูหยาบ
ถ้าเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นประโยชน์ทุกอย่างที่ท่านทำ

เช่นอย่างเดินไปนี่ เห็นตะปู ท่านจะให้ถอนออก
แล้วเคาะๆ ๆ เก็บไว้มีประโยชน์ไม่ต้องซื้อหา
เวลาเดินไปเจอถังพลาสติกแตกๆ
ท่านก็เอามาเคาะๆ เอามาป่นใช้แทนครั่ง ทำด้ามสิ่วด้ามขวาน

เจอหมอนแตกท่านให้พระที่ติดตามลงไปงมมาจากในน้ำ
ชาวบ้านมองกันหมด เมื่อได้หมอนมา เอามาตากแดดให้แห้ง แล้วก็นำมาเย็บให้ดี
บางทีพระรูปที่ติดตามต้องสะพายบาตรเดินตามหลังอยู่แล้ว
ยังต้องมาสะพายหมอนขาดอีก ใครๆ เขาเห็นเขาก็ว่า “บ้า”
แม้แต่ผู้ที่ติดตามยังคิดว่า “ทำยังงี้เหมือนบ้า”
แล้วคนอื่นที่มองมันจะคิดมากขนาดไหน ดูๆ แล้วเหมือนผีบ้าเดินตามกัน
คนจะมองเหมือนคนบ้ากับคนบ้าอยู่ด้วยกัน

ท่านห้าวหาญมากไม่กลัวใคร
แม้พระที่นับถือท่านหรือไม่นับถือท่านก็ไม่กลัวเลย

ยกตัวอย่างเช่น พระเดินตามกัน ๒ รูปไม่ได้เลย
ถ้าท่านรูปใดทำ เป็นได้เรื่อง ท่านจะด่าเลย
ท่านจะให้เร่งความเพียร การเดินตามก้นกันเหมือนฆราวาส ท่านไม่ให้ทำ

พระบางรูปข้อวัตรปฏิบัติดีเยี่ยม เป็นเพียงกิริยา
แต่พอเสร็จจากการทำตามตาราง ก็คุยกันจุกๆ จิกๆ
ท่านพูดเมื่อเห็นพระกระทำเช่นนั้นว่า
“กูไปนั่งเยี่ยวอยู่นี่ เท่ากับพวกท่านพิจารณากันทั้งคืนมั้ง”

พระอาจารย์เจี๊ยะดุพระเณรมาก
จนบางครั้งพระอาจารย์เฟื่องต้องเตือนพระเณรว่า
“อาจารย์เจี๊ยะท่านเป็นอย่างนี้แหละ
อยู่กับหลวงปู่มั่น แหย่หลวงปู่มั่นให้ดุได้ทุกวัน
พวกท่านอยู่กับท่านอาจารย์เจี๊ยะอย่าถือสาท่านนะ”


:b48: (๕) เวลาอบรมลูกศิษย์ท่านจะดุมาก
เพราะนิสัยท่านชอบฟังธรรมะที่เผ็ดร้อน

เวลาอบรมพระเหมือนว่าท่านจะปั้นหน้า หันหน้าเข้าฝา
ทั้งๆที่คุยกันอยู่ ทั้งๆที่ยิ้มๆกันอยู่ดีๆ
พอท่านหันหน้ากลับออกมาพูดเรื่องธรรมะนี่ หน้าท่านดุเลย

วันไหนถ้าท่านได้ยินเสียงพระคุยกัน ไม่ประกอบความเพียร
ท่านลงทุนทุบร่ม กระแป๋ง ขว้างลงมาโครมครามๆ ท่าจะพูดบ่นๆ ว่า
“โน่น!...มันพากันหนีไปทางโน่นแล้ว พวกนี้ต้องสอนแบบนี้ ไม่งั้นไม่กลัว”
พูดเสร็จแล้วท่านก็หัวเราะ...เสียงดัง ฮ่า ฮ่า...

เมื่อใดใครก็ตามได้เข้าไปสัมผัสจริง
จะรู้ว่าพระอาจารย์เจี๊ยะ เป็นที่อบอุ่นมีเมตตาอารี
ท่านมีนิสัยล่อหลอกทดสอบคนใกล้ชิดท่านอยู่เสมอ ไม่ให้ตายใจ
เหมือนว่าเวลาเราจะเดินหน้า ท่านจะถอยหลัง
เราถอยหลัง ท่านเดินหน้า เราไป ท่านจะเหยียบเบรค
เราต้องจับเอาธรรมะท่านไม่ซ้ำซาก พูดตรงๆ

แต่เฉพาะการพิจารณากายนี้ ๑๐๐ ครั้ง ก็พูดอย่างเก่า
เทศน์อย่างเก่าไม่เปลี่ยนแปลง เฉพาะการพิจารณากายอย่างเดียว
อย่างอื่นอาจมีแหลมคมตามแง่เหตุผล


สำหรับการสอนพระ สอนให้ “พุทโธ”
ถ้าพุทโธไม่อยู่ ให้กลั้นหายใจพุทโธไป ๒๐ ครั้ง
แล้วออกอีก ๒๐ ครั้งในลมหายใจเดียว
ให้รัวเหมือนเอ็ม ๑๖ ท่านว่าอย่างนั้น

“พุทโธๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ” ให้อย่างนั้นเลย มันถึงจะอยู่ ต้องไว
ท่านสอนต่อไปว่า
“ถ้าพิจารณากายไม่ไหวนี่ เอาระเบิดใส่ในตัวเรา เอ็ม ๑๖ จ่อขมองเลย
ถ้าตัดลิ้นตัดคอยังเสียวอยู่ เอาระเบิดให้แม่มันคอขาดไป”

พระอาจารย์เจี๊ยะท่านออกเที่ยวแสวงหาถิ่น
ที่วิเวกทางกายและจิตพอสมควรแก่กาลแล้ว
ท่านก็จะเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดอโศการามในฤดูฝน
เพื่ออบรมสั่งสอนพระเณรเท่าที่ความสามารถที่พึงจะกระทำได้

แต่เมื่อท่านกลับเข้ามาอยู่วัดอโศการาม เป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง
พระเณรก็ไม่ค่อยจะเชื่อฟังท่านมากนัก
มักมองท่านด้วยสายตาว่าเป็นพระแก่เลอะเลือนไม่มีความหมาย
พระบางรูปถึงขนาดดูหมิ่นว่า “ท่านเป็นพระบ้า”


พระอาจารย์เจี๊ยะท่านกล่าวว่า
“พระทุกวันนี้มักติดรูปแบบในการปฏิบัติ
มากกว่าวิธีปฏิบัติจริงเพื่อถึงความพ้นทุกข์
ดังคำที่ว่า “โลกชอบ แต่ธรรมชัง หรือธรรมชอบ แต่โลกชัง”


สาเหตุเพราะว่าทุกๆ คนชอบมองแต่กิริยาภายนอกอันเป็นไปแบบสบายๆ
เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะเห็นเหตุการณ์อย่างนั้น ท่านจึงสลดใจ

:b42: วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม บ้านคลองสระ
ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ภายในขอบเขตแห่งขัณฑสีมา อารามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔
โดยคณะศรัทธาได้ถวายที่ดินแก่ พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน
พระอาจารย์บัวได้นิมนต์พระอาจารย์เจี๊ยะมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส


จากท้องทุ่งป่าสนใบดกหนาสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้
รายรอบด้วยทุ่งนาเขียวขจี ได้กลายเป็นอารามป่ากรรมฐานใกล้เมืองกรุงฯ
ที่ร่มรื่นอบอวลไปด้วยกลิ่นศีลธรรมของสมณศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น
และกลิ่นแมกไม้นานาพันธุ์น้อยใหญ่ที่ปลูกขึ้นรายรอบ
ทั่วบริเวณเนื้อที่ ๑๔๖ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา

วัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามแห่งนี้ คือ สถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นประดุจมรดกที่พระอาจารย์เจี๊ยะทิ้งไว้ให้แก่ศาสนิกชนคนรุ่นหลัง

ณ สถานที่แห่งนี้ พระอาจารย์เจี๊ยะได้สร้างอนุสรณ์สถาน
ถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์กรรมฐาน
คือ “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต”
ผู้ซึ่งมีบุญคุณล้นเกล้าและเป็นที่เคารพรักอย่างยอดยิ่ง
ด้วยการสร้างภูริทัตตเจดีย์ บรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น


ที่ศาลาวัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน
ภาพบูชาของพระบูรพาจารย์ ได้แก่ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ขาว อนาลโย ท่านพ่อลี ธัมมธโร


ด้านข้างศาลามีโรงไฟ สำหรับซักย้อมจีวร ฉันน้ำปานะ ฯลฯ
ถัดจากนั้นไปทางด้านทิศใต้เป็นที่อยู่ของพระภิกษุ
ทางด้านทิศตะวันออกเป็นโรงครัวและเขตอุบาสิกาที่เข้ามาพักปฏิบัติธรรม

ด้านหน้าศาลาเป็นที่ตั้งของภูริทัตตเจดีย์ เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน
ภายในปูด้วยหินแกรนิต ยอดทำด้วยทองคำ
อันงามสง่าควรค่าแก่การบูชาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
มีหินแกะสลักรูปพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
และของพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท ที่ลูกศิษย์สร้างถวาย

ตามเอกสารที่ใช้อ้างอิง ในขณะนั้นมีพระสงฆ์มาจำพรรษาอยู่กว่า ๓๐ รูป
ต่างผลัดเวรกันมาดูแลทำความสะอาด
พระรูปใดที่ไม่มีหน้าที่ หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้วจะไปปฏิบัติธรรม
อยู่ในกุฏิที่ปลูกอย่างเรียบง่ายในป่า ห่างกันพอประมาณ

กุฏิสงฆ์ภายในวัดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท

๑. กุฏิแบบถาวร
เพื่อต้อนรับพระเถระที่ชราภาพ และสำหรับพักฟื้นพระอาพาธ
ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมารับการรักษาที่กรุงเทพฯ

๒. กุฏิแบบเรียบงาย
พอแกการบังแดด ลม ฝน
ขนาดกว้างยาวเพียงพอแก่การอยู่เพียงรูปเดียว
ฝาผนังใช้ผ้าจีวรเก่ากางกั้น น่าศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

ทุกกุฏิจะมีทางจงกรม อย่างน้อย ๑ เส้น ยาวประมาณ ๒๕ ก้าว
อยู่ใต้ร่มไม้สนดูร่มเย็นเป็นลานทางปราบกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้าน

อานิสงส์ของการเดินจงกรม คือ
(๑) ทนต่อการเดินทางไกล
(๒) ทนต่อการบำเพ็ญเพียร
(๓) มีอาพาธน้อย
(๔) ย่อยอาหารได้ดี
(๕) ทำสมาธิได้นาน


กุฏิแต่ละหลังห่างกันพอประมาณ มีคูน้ำกางกั้น
เพื่อให้สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม...เพื่อพบอริยธรรม

กิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ที่นี่ คือ
ยามเช้าก่อนออกบิณฑบาต พระภิกษุสามเณรขัดถูปัดกวาดศาลาและบริเวณรอบๆ
ส่วนพระคิลานุปัฏฐากประมาณ ๘ รูป
ก็ผลัดเปลี่ยนกันดูแลพระอาจารย์เจี๊ยะในยามอาพาธ มิให้ขาดตกบกพร่อง

ในเวลาบ่ายโมง พระเณรทั้งหมดมารวมฉันน้ำปานะ
บ่ายสามโมงเย็น ทำข้อวัตรปัดกวาดเสนาสนะ ขัดถูกุฏิศาลา บริเวณวัด หน้าวัด
ทำความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมอย่างพร้อมเพรียงกัน

และกิจวัตรประจำวันที่สำคัญยิ่ง คือการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม
สร้างสติปัญญามีความเพียรกล้า
หาทางแผดเผากิเลสด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่พระอาจารย์เจี๊ยะสั่งสอน
เพื่อดับไฟคือความรุ่มร้อนกระวนกระวายภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป

พระอาจารย์เจี๊ยะท่านจะสอนพระเณรอยู่เสมอว่า
“...พระหัวโล้นๆ ถ้าสั่งสมจีวรสังฆาฏิ ข้าว น้ำ อาหาร ฯลฯ ไว้มากๆ
เท่ากับพยายามสั่งสมข้าศึกให้กับตัวเอง
ชีวิตพระควรอยู่อย่างบางเบา ไม่ควรมีอะไรเป็นเครื่องกังวล
การภาวนาฆ่ากิเลสให้ตายไปจากใจสำคัญที่สุด”


เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะ หรือพระครูสุทธิธรรมรังษี
ได้ปฏิบัติพัฒนาวัดจนเป็นที่เจริญรุ่งเรือง
ท่านจึงได้รับเลื่อนเป็นพระครูชั้นเอก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕
ท่านอยู่จำพรรษาที่นี่ตั้งแต่พรรษาที่ ๔๘-๖๘ พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๔๗ จวบจนมรณภาพ

รูปภาพ
พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท ที่แคร่ต้นสน
ซึ่งท่านใช้เป็นหอฉันสมัยบุกเบิกสร้างวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 23 ก.ค. 2011, 16:02, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 22:36 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12232


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 04:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
พระอาจารย์นพดล นันทโน


:b42: พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ชมเชยคุณธรรม

พระอาจารย์บัวได้เล่าเรื่องสร้างวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม
และชมเชยในคุณธรรมพระอาจารย์เจี๊ยะไว้ว่า...

เริ่มแรกทีเดียว พี่ชายของท่านนพดล (พระอาจารย์นพดล นันทโน)
ได้ถวายที่ให้เราสร้างวัด
มองหาใครที่จะมารับภาระให้เป็นที่แนใจตายใจ
ก็มองเห็นแต่ท่านอาจารย์เจี๊ยะเท่านั้น จึงไปนิมนต์ท่าน

พูดเหตุผลให้ท่านอาจารย์เจี๊ยะฟังว่า
“เพราะวัดนี้ต่อไปจะเป็นวัดที่แน่นหนามั่นคง
จึงควรมีครูบาอาจารย์ที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์มาอยู่
ก็มองเห็นแต่ท่านอาจารย์เท่านั้นล่ะ จะพอสงเคราะห์กันได้มั้ย?
ญาติโยมแถวนี้ ย่านนี้ เป็นย่านที่พอเหมาะพอดี”

เมื่อเรานิมนต์ ท่านก็รับด้วยดีนะ

ท่านอาจารย์เจี๊ยะทางด้านจิตใจท่านดี ดีมาตั้งแต่บวชทีแรก
พูดถึงธรรมภายในท่าน ท่านดีไม่ใช่ธรรมดา

แต่กิริยาภายนอกท่านก็อย่างนั้นแหละ
เราจึงบอกเฉพาะในวงศ์ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด ที่ไว้ใจได้
เพราะภายนอกกับภายในไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนเราไม่เหมือนกัน

แล้วพระอาจารย์บัวจึงได้กล่าวเตือนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า
อย่าไปมองท่านผิดนะ เพราะเรากับท่านอยู่ด้วยกันมานาน
รู้กันทุกสิ่งทุกอย่างกับอาจารย์เจี๊ยะ
แต่กิริยาภายนอกท่านก็เป็นของท่านอย่างนั้น
อย่าดูท่านแบบผิวเผิน อย่าคิดตำหนิ
ว่าทำไมพระถึงเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเป็นอกุศลกับตัวเองนะ


อาจารย์เจี๊ยะ สิ่งภายนอกนี้ทำให้คนรู้สึกไปในทางลบได้
กิริยาท่านภายนอก ท่านว่าอะไรตรงไปตรงมา
ก็ท่านเป็นคนจีน เข้าใจมั้ย?...(หัวเราะ) บ๊งเบ๊งๆ อย่างนั้นนะ
แต่เวลาเอาภายใน ไม่มีใครเอาละเอียดเท่าท่านนะ
เรื่องความละเอียดภายในไม่มีใครสู้ท่าน

:b42: ผู้รักษาบริขารพระอาจารย์มั่นได้อย่างเยี่ยมยอด

พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ได้เมตตาเล่า
เรื่องการดูแลรักษาบริขารของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ซึ่งพระอาจารย์เจี๊ยะนี่เองเป็นผู้รับผิดชอบดูแล

ท่านเล่าว่า บริขารของพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นเรียบร้อย
ใครไปแตะไม่ได้นะ ใครไปแตะท่านรู้ทันที ผิดนิดหนึ่งท่านรู้
“ใครๆ มาทำนี้วะ” ขึ้นเลย คือไปผิดของท่าน
ท่านทำไว้เรียบร้อยทุกอย่างนะ

เราเองยังไม่กล้าเข้าไปแตะอะไรที่ท่านอาจารย์เจี๊ยะไปทำไว้แล้ว
เราไม่เข้าไปแตะเลยนะ เพราะเราสู้ท่านไม่ได้ว่างั้นเถอะ
ไม่เห็นพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นได้ตำหนิตรงไหน


เพราะฉะนั้นอาจารย์เจี๊ยะจึงเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูอาจารย์
พูดให้ตรงๆ ไปเลยว่า เป็น ลูกศิษย์ก้นกุฏิหลวงปู่มั่นก็คืออาจารย์เจี๊ยะนี่องค์หนึ่ง
โอ...ท่านเมตตามากนะ เวลาท่านปฏิบัติต่อท่านอาจารย์เจี๊ยะนี่ก็แบบเดียวกัน
กับอาจารย์เจี๊ยะนี่ท่านจะไม่พูดธรรมดาละ บ๊งเบ๊งใส่กันเลยแต่เมตตามากนะ

จากนั้นอาจารย์เจี๊ยะก็มาจำพรรษากับเราในฐานะเป็นเพื่อน
ไม่ใช่ฐานะครูฐานะอาจารย์ด้วยกัน ที่วัดป่าบ้านตาด ฐานะเป็นเพื่อนฝูง
จำพรรษาด้วยกันที่วัดป่าบ้านตาด เพราะฉะนั้นจึงรู้นิสัยท่านได้ดีทุกอย่าง
นิสัยท่านภายนอกไม่น่าดู แต่ภายในละเอียดลออมากนะ

เพราะนิสัยวาสนาไม่มีใครละได้ นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น
พระองค์ทรงละขาด ไม่นำกิริยาของโลกมาใช้เลย

ส่วนนอกนั้นใครจริตนิสัยเป็นอย่างไร จริตนิสัยนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง
จะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะภายในจิตใจเท่านั้น
คือ มีกิเลสอยู่ภายในเท่าใดก็ชำระสะสางกันไป
จนถึงขั้นบริสุทธิ์ บริสุทธิ์แล้วกิริยานี้ก็เหมือนเดิม


รูปภาพ
กุฏิพระอาจารย์เจี๊ยะที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม


:b42: ปฏิปทาเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

แรกเริ่มทีเดียวมีกระต๊อบหลังเล็กๆ มุงด้วยหญ้าคา
มีจีวรผืนเก่ากั้นเป็นห้อง เป็นที่หลบแดด หลบฝน เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน
มีเตียงทำด้วยไม้ไผ่ทำเป็นที่ฉันและที่นอนใต้ร่มไม้สน
ด้านหลังมีคลองน้ำเป็นเขตแดน
ท่านอาจารย์เจี๊ยะอยู่แต่เพียงเดียวดายไม่ค่อยมีลูกศิษย์
แม้แต่คนถิ่นแถวนั้นก็ไม่ค่อยรู้จักท่าน

การก่อสร้างวัดของท่าน เมื่อเห็นสิ่งของ
เช่น เศษไม้ เศษสังกะสีเก่าๆ เป็นต้น ที่คนเขาทิ้ง
ท่านก็จะขอบิณฑบาตมาสร้างกุฏิที่พัก
ท่านมัธยัสถ์มากเห็นคุณค่าแห่งของทุกสิ่ง เก็บหอมรอมริบสม่ำเสมอ
ทำงานทั้งวัน ตีเหล็กตีขวาน ทุบหิน

จนบางครั้งพระลูกศิษย์บางรูปไม่เข้าใจต้องเข้ามากราบเรียนถามท่านว่า
หลวงปู่ ผมไม่เข้าใจหลวงปู่เลย
ทำไมหลวงปู่ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำขนาดนี้ ต้องเป็นอย่างนี้


“เฮ้ย!..มันเข้าใจง่ายๆ ซะที่ไหน
ผมอยู่กับปู่มั่น บางทีผมก็ยังไม่เข้าใจเลย
ต้องพยายามเข้าใจ เดี๋ยวจะเข้าใจเอง


ท่านตอบห้วนๆ แล้วจึงตีขวานต่อเสียงดังเพ้ง! เพ้ง! เพ้ง!...

...และสอนลูกศิษย์ต่อว่า
“ในสมัยที่ผมอยู่กับหลวงปู่มั่น ผมต้องอดทนมาก
ผมเป็นคนกินยาก แสลงเรื่องอาหาร
ผมอยู่กับท่านสามปี สี่แล้ง กินแต่ข้าวเหนียวกับกล้วย
อาหารอย่างอื่นมี แต่ผมกินไม่ได้
ถ้าไม่มีกล้วยผมต้องกินแต่ข้าวเปล่าๆ ทำให้ท้องอืด ไม่ถ่าย
อากาศก็หนาวเหน็บถึงกระดูก ตามแขนตามขาผิวแห้งไปหมด
ไปขอยากับหลวงปู่มั่นก็ไม่มี เมื่อไม่มียาท้องอืดจะตาย
ผมใช้นิ้วล้วงลงไปในลำคอลึก ๆ เพื่อให้อาเจียนออกมา จะได้สบายท้อง
นิ้วมือนี้แหละเป็นยา ผมยังไม่เคยบ่น
เรื่องนี้มีแต่ท่านอาจารย์มหาบัวรู้ คนอื่นไม่รู้ ผมยังไม่เห็นตายเลย”


พระลูกศิษย์ที่ติดตามท่านมานานๆ
บางองค์ก็น้อยใจในวาสนาอาจารย์ของตนว่า
“อาจารย์ของเรานี่ เป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น
แต่เวลาเดินทางไปไหนก็ไปสิบล้อ โบกสิบล้อไป
หลวงปู่สิม หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สาม หรือพระกรรมฐานรุ่นหลังๆ
ไปไหนมีรถเก๋งมารับ ถูกนิมนต์ให้ไปเจิมแอร์สยาม รถเบนซ์ รถไฟ ฯลฯ
มีคุณหญิงคุณนายนับหน้าถือตา
อาจารย์ของเราช่างด้อยวาสนาเสียจริงๆ โบกขึ้นแต่รถสิบล้อ
อาจารย์องค์อื่นถูกนิมนต์ไปฉันบ้านนายพล บ้านคุณนาย
อาจารย์ของเราพาฉันแต่น้ำพริกกุ้งแห้ง แถมยังยกเว้นกะปิอีก
(ท่านแพ้กะปิ) น้ำพริกปลาทูก็ไม่ให้ใส่กะปิ

บางทีเพื่อนพระที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์อื่นๆ เขาก็ล้อว่า
‘พวกท่านมีอาจารย์กับเขาทั้งที มักไม่เหมือนคนอื่นเขาน้อ!’

ก็ได้แต่ทำไว้ในใจว่า
‘เอาละวะ ถึงท่านจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรา (ลูกศิษย์) ก็มั่นใจในคุณธรรมของท่าน
แม้หลวงตาบัวยังชมท่านไม่ขาดปากว่า เป็นผ้าขี้ริ้วท่อทอง’ ”


หลวงปู่เจี๊ยะเมื่อเห็นศิษย์คิดอย่างนั้น
ท่านก็สอนเป็นธรรมะไพเราะเคาะสนิมใจให้ศิษย์รื่นเริงในธรรมบ้างว่า

“ท่าน...ธรรมดาว่าชาวนาไม่มีข้าวกิน ย่อมไม่มี...
คนดีย่อมไม่มีสิ่งชั่ว...
คนใบ้ ย่อมไม่ไปทะเลาะกับคนอื่น...
คนตื่น ย่อมไม่มีภัย...
คนที่ใจฝึกมาดีย่อมไม่มีไหวหวั่น อยู่ได้ทุกที่ ขี้ได้ทุกทาง”


:b42: เกร็ดธรรม

:b48: แต่ก่อนมีค่าเป็นร้อยเป็นชั่ง

ในปัจฉิมวัย ไม่ว่าในคราใดท่านประสบอาพาธหนัก
นอนเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง
ท่านไม่แสดงความหวั่นไหว บ่งบอกความแข็งแกร่งนิสัยอาชาไนย
อีกทั้งยังแสดงธรรมสอนลูกศิษย์ที่ไปเยี่ยม
ด้วยการเอาร่างกายของท่านเป็นเครื่องเปรียบเสมอว่า

“ตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว มีค่าเป็นร้อยเป็นชั่ง
พอเดี๋ยวนี้ ๕๐ สตางค์ก็ไม่มีใครเอา”


:b48: กรรมที่เคยฆ่าหมา

ท่านเล่าถึงสาเหตุที่ต้องได้ทำการผ่าตัด
หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท
นอนแกร่วเป็นอัมพาตนี้ว่า
“ตอนเป็นหนุ่ม เราเลี้ยงหมูไว้แยะ ต้มข้าวเอาไปวางให้หมู
หมามันมากินหมด โมโหจัดจึงเอาไม้คานเจ็กตีหมาโป้งเดียวจอดสลบ
ด้วยความที่โกรธจัด แม้หมาตัวนั้นจะนอนแน่นิ่งเหมือนตายแล้ว
ก็คงเอาไม้คานตีกระหน่ำอยู่อย่างนั้น
ตีจนกระทั่งมันฟื้นขึ้นมาอีก ฟื้นขึ้นมาอีกตีซ้ำลงอีกแบบทารุณไร้เมตตาธรรม
คราวนี้หมามันชักตาย...เสร็จเลย
กรรมอันนี้แหละ เป็นกรรมในปัจจุบันชาติที่เราต้องชดใช้”

:b48: กรรมรีดลูกปลา

“และที่เรามีอาการชาและแบบที่ผิวหนังรอบทวารหนัก
ไม่สามารถนั่งตัวตรงเป็นเวลานานๆ ได้นั้น
ก็เป็นกรรมในปัจจุบันซาติเช่นเดียวกัน
คือ ตอนหนุ่มๆ เราชอบเลี้ยงปลาเข็ม ปลาหัวเงิน
ตามประสาเด็กรุ่นๆ ทำสนุกสนาน

เวลาปลาหัวเงินปลาเข็มมันท้องแก่
แต่ยังไม่ถึงเวลาคลอดลูก เราชอบรีดท้อง
รีดเอาลูกมันออกมาก่อนเวลา เอามาเลี้ยง มันทันใจดี
เมื่อรีดเอาลูกมันออก แม่มันก็ตาย
ด้วยผลกรรมคือรีดลูกจากท้องปลาที่เผ็ดร้อนทารุณนี้
จึงเป็นกรรมที่ทำให้เราก้นชาและแสบทวารอยู่ไม่หาย”

:b48: ไม่เป็นไร ตายแล้วต่างคนต่างไป

ในบางวันมีผู้คนมากราบมากจนอลหม่าน
อย่างเช่นวันคล้ายวันเกิด จะมีทั้งพระและฆราวาสมาจากทุกสารทิศ
ผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดจำเป็นต้องห้ามต้องกันผู้คน
ทั้งที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยไม่ให้เข้ากราบ ปิดประตูห้อง
บางคนก็บ่นหาว่ากีดกันไปต่างๆ นานา
ผู้ที่เฝ้าอย่างใกล้ชิดก็รู้สึกกดดัน เครียดอยู่ไม่น้อย

เมื่อกราบเรียนถามท่าน ท่านก็ตอบสั้นว่า
“ไม่เป็นไร ตายแล้วต่างคนต่างไป”

:b48: คาถาหลวงปู่เจี๊ยะ

วันไหนท่านปวดที่ขา ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวหรือเจ็บปวดในที่อื่นใดก็ตาม
ท่านก็จะให้ผู้ที่ดูแลท่องคาถาเป่าให้ท่าน
ท่านบอกว่าเป็นคาถาดี โดยให้ท่องว่า

“นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา”
“ขอความนอบน้อมจงมีแก่ท่านผู้หลุดพ้นทั้งหลาย
ความนอบน้อมจงมีแก่ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นทั้งทลาย”


:b48: หัวล้านจริงๆ

บางวันท่านพูดตลกขำขันจนผู้คนที่มาเข้ากราบเฮตึงๆ
วันนั้นร่างกายท่านสดใสแข็งแรงขึ้นบ้างตามสภาพ
มีคนขอให้ท่านจับหัวให้เป็นศิริมงคล

คนแรกผู้ชายผมยาวๆ ท่านก็เคาะๆ
คนที่สองผมเกรียนๆ ท่านก็เคาะๆ
คนที่สามเป็นคนหัวล้าน หัวล้านเอามากๆ
ท่านเคาะๆ แล้วลูบๆ คลำๆ ที่ศีรษะ
แล้วพูดขึ้นด้วยเสียงดังๆ ทั้งๆ ที่ป่วยนอนอยู่บนเตียง
ให้พรโยมหัวล้านคนนั้นว่า
“หัวล้านหัวเหลือง หัวละเฟื้องสองไพ หัวล้านจริงๆ ผู้หญิงชอบใจ”

คนที่นั่งอยู่เต็มบริเวณหัวเราะกันเฮๆ
ด้วยว่าในวันนั้นอากาศมันร้อนอบอ้าว
คนที่มากราบ เหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆ กัน
ภายในจิตในใจของแต่ละคนคงบ่นๆ ถึงดินฟ้าอากาศ
ท่านจึงพูดขึ้นอีกว่า
“มนุษย์ขี้เหม็น เคี่ยวเข็ญเทวดา ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า”

:b48: พูดตรงๆ

หลวงปู่ท่านเป็นพระที่พูดตรงๆ ตรงจนบางครั้งตลกขำกลิ้งไปเลยก็มี
อย่างเช่นเวลาเข้าห้องน้ำปวดท้องอึ ท่านจะอึออกยากมาก
ต้องเบ่งเป็นเวลานานๆ เวลาท่านอึที่ห้องน้ำ พระจะช่วยให้ท่านขับถ่ายง่ายขึ้น
พระจะพยามยามพูดว่า
“เบ่ง อืดดดดๆ ๆ ๆ ออกๆ” ตามจังหวะกลั้นลมหายใจยาวๆ
เมื่อพระพูดมากเข้า ท่านจึงพูดสวนขึ้นทันที

“มึงเบ่งทำไมวะ มึงไม่ได้ขี้ กูเป็นคนขี้
เดี๋ยวกูเบ่งเอง กูขี้เอง มึงเบ่งแล้วกูจะขี้ออกหรือ?”

พระทั้งหลายที่อยู่ในห้องน้ำสุดที่จะกลั้นหัวเราะไว้ได้

:b48: รักสัตว์

หลวงปู่เจี๊ยะชอบเลี้ยงหมาไทยหลังอาน
สมัยก่อนที่ท่านจะอาพาธ ทานชอบเลี้ยงแมวกับหมา
ท่านพูดกับแมวกับหมาเหมือนพูดกับคน
บางทีท่านฉันข้าวไปด้วยป้อนข้าวแมวไปด้วย
ท่านมีเมตตาเป็นสาธารณะจริงๆ

“มึงไปเที่ยวสาวไกลๆ ระวังเถอะจะตาย”
ท่านพูดกับหมาหลังอานของท่าน
แล้วท่านก็พูดสั่งสอนตักเตือนต่างๆ เหมือนพูดกับคน

วันหนึ่งท่านสั่งให้พระจับหมาขังกรงไว้
ไม่ปล่อยให้มันไปเที่ยวไหนๆ พระสงสารเห็นหมามันร้องเอ๋งๆ ก็ปล่อยออกไป
พอปล่อยออกไปมันก็ไปเที่ยวหาตัวเมีย เขาก็เอามีดฟันคอมันตาย
พวกพระจึงถึงบางอ้อว่า ที่ท่านขังไว้ไม่ปล่อยไป
เพราะท่านรู้ว่าถ้าปล่อยไป เขาจะฆ่ามันตาย

:b48: ย้ำให้ว่าพุทโธเร็วๆ

แม้ในขณะที่นอนป่วยอยู่บนเตียง
เมื่อมีคนมาถามเรื่องภาวนาท่านจะเมตตาตอบเพียงสั้นๆ ว่า
“ให้พุทโธ เร็วๆ ๆ เหมือนรั้วบ้านเราถี่ๆ อะไรล่ะจะเข้ามาได้”

แล้วท่านก็พูดเรื่อง กิเลส กรรม วิบาก ว่า
พวกเราทุกคนอยู่กับร่างกายนี้มาหลายภพชาติแล้ว
แต่อวิชชามันปิดบังจึงจำไม่ได้
ให้พากันปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา นะ
เพราะว่า ศีลเป็นเหตุ สมาธิเป็นผล
สมาธิเป็นเหตุ ปัญญาเป็นผล ปัญญาเป็นเหตุ วิมุตติเป็นผล ฯ


รูปภาพ
พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 04:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b42: ก่อนละสังขารและปัจฉิมทัศนาการ
...การเห็นกันครั้งสุดท้าย


ในบั้นปลายชีวิตของท่านอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท นั้น
ท่านมีร่างกายที่งอมระงมด้วยอาพาธ
จวบจนเมื่อใกล้ถึงระยะสุดท้ายที่ท่านจะลาสังสารนี้ไป
วันที่หลวงปู่เจี๊ยะจะเข้าโรงพยาบาลศิริราชเป็นครั้งสุดท้ายนั้น
หลวงตามหาบัวท่านได้เดินทางไปเยี่ยมดูอาการป่วยของท่าน
ที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ในวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

ท่านได้เข้าไปดูภายในภูริทัตตเจดีย์
ได้เทศนาถึงความรักความเมตตาที่ท่านพระอาจารย์มั่นมีต่อหลวงปู่เจี๊ยะ
และกล่าวชมสรรเสริญภูมิจิตภูมิธรรมของหลวงปู่เจี๊ยะเป็นอเนกปริยาย

หลังจากท่านเข้าชมภูริทัตตเจดีย์แล้ว
ท่านจึงเดินทางมาที่กุฏิที่หลวงปู่เจี๊ยะพักอาพาธอยู่
ได้ทักทายพร้อมกับลูบที่มือกล่าวว่า

“หลวงตาบัวมาเยี่ยม”
“เราไม่พูดอะไรมากแหละ เพราะจะเป็นการรบกวนท่าน”


แล้วท่านอาจารย์บัวจึงนั่งลงบนเก้าอี้ข้างเตียงและได้เทศนาธรรม
ให้ประชาชนญาติโยมที่ติดตามมาเป็นจำนวนมาก
ในหัวข้อเรื่องว่า “พระอรหันต์ละสังขาร”
ประหนึ่งจะเป็นเครื่องหมายเตือนสานุศิษย์ให้ได้ทราบล่วงหน้าว่า
คราวนี้เป็นคราวสุดท้ายของหลวงปู่เจี๊ยะแล้ว
สังขารที่แบกหามมานานถึงกาลที่จะต้องทิ้งกันไปแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหลวงตาจะมา
หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะมีอาการไอไม่หยุด
เมื่อหลวงตามาถึงเท่านั้นแหละอาการไอที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงนั้น
ประหนึ่งว่าไม่เคยไอเลย หลวงปู่ท่านนอนนิ่งแสดงคารวะธรรมที่หลวงตามาเยี่ยม
เป็นกิริยาแสดงความเคารพยิ่งแม้ในขณะที่ป่วย
แม้หลวงตาจะเทศน์นานเท่าใด ท่านก็ไม่ไอเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ธรรมเทศนาที่พระอาจารย์บัวแสดง มีเรื่องพระสารีบุตรปรินิพพาน
และท่านสรุปด้วยเรื่องพระอรหันต์ละสังขาร ใจความโดยย่อว่า

พระอรหันต์ท่านหมดกิเลสทุกอย่างแล้ว
ก็มีแต่ความรับผิดชอบในธาตุขันธ์
ไม่ได้เป็นในหัวใจท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว
เรียกว่าท่านรับผิดชอบตั้งแต่ท่านบรรลุธรรมตรัสรู้ธรรมแล้ว
จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของลมหายใจขาด ท่านก็ปล่อยเลย

พระอรหันต์กับธาตุขันธ์มีความรับผิดชอบเสมอกันกับโลกทั่วๆ ไป
เป็นแต่เพียงท่านไม่ยึด
เช่นเดินไปกำลังจะเหยียบรากไม้แต่คิดว่านั่นเป็นงู
ท่านก็ต้องมีการกระโดดข้ามหรือหลบเป็นธรรมดา
หรือท่านจะลื่นหกล้ม ท่านก็พยายามช่วยตัวเองไม่ให้ล้ม
ต่างกันกับคนทั่วๆ ไปตรงที่ว่า คนทั่วไปจิตใจร้อนวูบๆ เพราะอุปาทานยึดมั่น
ส่วนจิตพระอรหันต์ท่านเพียงแต่แย็บเท่านั้น ต่างกันตรงนั้น


เมื่อท่านอาจารย์บัวเทศนาธรรมจบเวลา ๑๔.๐๐ น.
ท่านจึงลุกขึ้นมองหลวงปูเจี๊ยะอย่างเพ่งพินิจสุขุม
กล่าวคำบอกลาว่า “ผมกลับก่อนนะ”
คำนี้เป็นคำสั่งลากันครั้งสุดท้ายของพระมหาเถระทั้งสอง

หลังจากหลวงตากลับไป ๒ ชั่วโมง
อาการป่วยของหลวงปู่เจี๊ยะก็กำเริบทรุดหนัก มีไข้สูง หอบเหนื่อย
พระคิลานุปัฏฐากได้ติดต่อพระอาจารย์เขียวเพื่อคิดต่อรถพยาบาลโดยด่วน

เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. แพทย์ผู้ดูแล
ได้แก่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวิน ระงับภัย
และรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงพิมพ์ประไพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา
ได้จัดรถพยาบาลรับท่านไปที่โรงพยาบาลศิริราช

ระหว่างทางท่านมีอาการเขียว ออกซิเจนในเลือดต่ำ
จึงได้นำท่านไปยังโรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส
เพื่อรักษาเบื้องต้นจนปลอดภัย และเดินทางไปยังโรงพยาบาลศิริราชต่อไป
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุชาย สุนทราภา
และรองศาสตราจารย์นายแพทย์สถาพร มานัสสถิตย์
ได้ช่วยกันดำเนินการรับหลวงปู่ไว้ในหอผู้ป่วยวิกฤต

ผลเอ็กซ์เรย์ปอดพบมีสารน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดข้างขวา
แพทย์ที่หอผู้ป่วยวิกฤตระบบทางเดินหายใจ
ได้ทำการใส่ท่อช่วยระบายเลือดออกจากช่องเยื่อหุ้มปอดข้างขวา
ได้น้ำปนเลือดประมาณ ๑,๔๐๐ ซีซี
และได้ตรวจพบเซลล์มะเร็งในน้ำปนเลือดจากช่องเยื่อหุ้มปอด

คณะแพทย์ผู้รักษาได้ตัดสินใจไม่ถวายยาต้านมะเร็งเนื่องจากประเมินแล้วว่า
สภาพร่างกายของท่านคงรับกับภาวะแทรกซ้อนของยาไม่ได้
จึงถวายการรักษาตามอาการเพื่อให้ท่านมีทุกขเวทนาทางกายน้อยที่สุด

ในอดีตแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงเข้าสู่มหาปรินิพพาน
สังขารอันเหมือนเกวียนเก่าชำรุดที่ต้องใช้ไม้กระหนาบค้ำไว้
เพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้นั้น บัดนี้ถึงวาระต้องปล่อยไป
ทุกอย่างมีเกิดขึ้นย่อมมีสิ้นสุดลง
พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ได้มาเยี่ยมพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท
เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายในร่างสมมติของดอกบัวคู่งามแห่งวงศ์กรรมฐาน


:b42: ลาสังสาร

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ก่อนมรณภาพเพียง ๓ วัน
เกิดเหตุอัศจรรย์ที่ควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างมาก
หลวงปู่เจี๊ยะ มีฉวีวรรณผ่องใส แสดงท่าทางอาจหาญ
พูดจาเสียงดังฟังชัดเป็นประหนึ่งว่า ไม่เคยป่วยเป็นเวลามานานปี

วันนั้นท่านเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต
ตั้งแต่เริ่มต้นจนวาระสุดท้าย แม้เรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กน้อย
เช่น เรื่องแฟนสาวที่เคยรักสมัยเป็นหนุ่ม เรื่องญาติพี่น้อง บิดามารดา ฯลฯ
สรุปท้ายสุด ท่านพูดสั้นๆ แต่ตะโกนด้วยเสียงดังลั่นว่า
“พระเจี๊ยะตายแล้วๆ ๆ”
ตายจากสมมุติบัญญัติ เป็นประหนึ่งวาจาศักดิ์สิทธิ์
ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวลาโลก
ซึ่งระงมปนเปื้อนเต็มไปด้วยความทุกข์เดือดร้อนนานาประการ
พูดอย่างเป็นภาษาธรรมะก็คือ ปลงอายุสังขาร ที่แบกหามทุกข์ทรมานมานานปี
บัดนี้ อีก ๓ วันข้างหน้า ภาระทั้งปวงจะต้องถูกทอดทิ้งแล้ว
เหลือแต่ธรรมะที่เลิศเลอภายในใจเพียงเท่านั้น

วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
หลวงปู่เจี๊ยะเริ่มมีอาการเหนื่อยมากและออกซิเจนในเลือดลดลง
ได้ทำการเอ็กซ์เรย์ปอดพบว่า มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจำนวนมากทั้งสองข้าง
แพทย์ได้ทำการเจาะช่องเยื่อหุ้มปอด
และดูดน้ำปนเลือดออกมาข้างละประมาณ ๘๐๐ ซีซี
หลังจากนั้นอาการเหนื่อยของท่านลดลง

ต่อมาเวลาประมาณ ๒๒.๕๕ น.
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ก็ได้ละขันธ์
เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยความสงบและอาจหาญในธรรม
สิริอายุรวมได้ ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๗ วัน ๖๘ พรรษา





.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 24 ก.ค. 2011, 19:34, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 04:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: เหลือไว้แต่ธรรม

ท่านอาจารย์เจี๊ยะมัธยัสถ์ นิยมแต่ผ้าเก่าๆ จีวร สบง อังสะ ปะๆ ชุนๆ
บาตรใบเดียว กลดหลังเดียว ผ้ากลดผืนเดียว กล่องเข็มกล่องเดียว
ใช้ตั้งแต่วันบวชจนกระทั่งวันตาย ยินดีเพียงบริขารที่มี ไม่เสาะแสวงหา
ผู้เป็นตำนานผ้าขี้ริ้วห่อทอง สาวกของพระศาสดา
ศิษย์ก้นกุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อันเตวาสิกท่านพ่อลี ธัมมธโร
พระสหายของสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน)
สหธรรมิกหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ผลงานที่ท่านภูมิใจเป็นที่สุด คือ ภูริทัตตเจดีย์
สำหรับบรรจุทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เป็นบูรพาจารย์
เพราะนั่นคือ “อาจาริยบูชา”

ประวัติ ปฏิปทา คติธรรม ของหลวงปู่เจี๊ยะ
อาจจะแตกต่างจากพระกรรมฐานรูปอื่นในแง่ปลีกย่อย
แต่หลักใหญ่แล้วเป็นเอกเทศ
ท่านไม่กว้างขวางเรื่องปริยัติธรรมภายนอก
รอบรู้เฉพาะเรื่องจิตตภาวนา อันเป็นธรรมภายใน
คำสอนของท่านก็เป็นประเภทปัจเจกะเฉพาะตน
เพราะท่านมุ่งเน้นทางด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่

ประกอบกับท่านมีบารมีธรรมที่บ่มบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อน
เป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนอยู่อย่างลึกลับ
การปฏิบัติของท่านจึงนับว่า รู้เร็วในยุคปัจจุบันสมัย
ที่มนุษย์มีกิเลสหนาขึ้นโดยลำดับ
ท่านจึงเป็นแบบอย่างทางสงบแก่โลก

ท่านสอนให้พวกเรามองอะไร ไม่ควรมองแต่ด้านเดียว
การมองอะไรไม่เพียงใช้สายตาเป็นเครื่องตัดสินเท่านั้น
แต่ต้องใช้แววตา คือ ปัญญาเป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจ
ในการมองโลกและธรรม
เพราะผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรมองข้ามปมคำสอนเพียงเพราะสายตาเท่านั้น
ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างแก่โลก
ย่อมไม่ละเลยทั้งกอไผ่และภูเขา
เพราะไม่มีใครเลย ที่จะมีความดีความชั่วเพียงอย่างเดียว
แม้ดอกบัวที่มีกลีบงามละมุนก็ยังมีก้านที่ขรุขระ
ดุจแผ่นดิน ไม่มีใครอาจทำให้เรียบเสมอกันได้หมดฉันใด
มนุษย์ทั้งหลายจะทำให้เหมือนกันหมดทุกคนก็ไม่ได้ ฉันนั้น


ปฏิปทาของท่านอาจารย์เจี๊ยะ เป็นสิ่งที่ไม่พึงใช้การตัดสินด้วยทางโลกได้
ตามธรรมดาของโลกนั้นคนหมู่มากย่อมนิยมสิ่งที่ถูกกับจริตของตน
ตัดสินเอาจากภายนอก ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป
แต่ในทางธรรมเอาความถูกต้องภายในเป็นหลัก

ดังพระพุทธวจนะที่ว่า
ทุทฺทนํ ททมานานํทุกฺกรํ กมฺมกุพฺพตํ
อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติสตํ ธมฺโม ทุรนฺวโย.

สัตบุรุษให้ในสิ่งที่บุคคลอื่นให้ได้ยาก
กระทำในสิ่งที่บุคคลอื่นกระทำตามได้ยาก
คนที่ไม่ดีจริง ไม่แกร่งจริง ย่อมทำตามท่านไม่ได้
เพราะกรรมของสัตบรุษ ยากที่คนไม่ดีจะประพฤติตามได้


สนฺตกาโย สนฺตวาโจสนฺตมโน สุสฺมาหิโต
วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุอุปสนฺโตติ วุจฺจตีติ ฯ

ภิกษุผู้มีกาย วาจาสงบ ยังไม่นับว่าเป็นผู้สงบแท้
แต่ผู้ที่มีกาย วาจา และใจสงบนั้นแล
เราตถาคตจึงเรียกภิกษุนั้นว่า เป็นผู้สงบอย่างแท้จริง
และเป็นผู้คลายจากความลุ่มหลงในโลกทั้งปวง ฯ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
รูปหล่อพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท และพระอรหันตธาตุ
เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ภายในพระธุตังคเจดีย์
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

ชมประมวลภาพงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท
http://www.watpa.com/board_detail.asp?board_id=389

อ่านประวัติและปฏิปทาของพระอาจารย์เจี๊ยะฉบับสมบูรณ์
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... ist-00.htm

รับฟังเสียงอ่านประวัติและเสียงเทศนาจริงของท่าน
http://www.fungdham.com/sound/jie.html

ชมวิดีโอคลิปประวัติย่อของพระอาจารย์เจี๊ยะ



.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ธ.ค. 2016, 05:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b20:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร