วันเวลาปัจจุบัน 13 ก.ย. 2024, 09:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 75 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2015, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๖.๒ เข้าไปเกาะภูเก็ตครั้งแรกและผจญภัยอย่างร้ายแรง

เกาะภูเก็ตสมัยนั้น ในมโนภาพของคนโดยมากเข้าใจว่าเป็นดินแดนอยู่โดดเดี่ยวและสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรเป็นอันมาก มีเศรษฐีเต็มไปหมดทั้งเกาะ อนึ่งคนในเกาะนี้นอกจากนักธุรกิจแล้ว อาจไม่ค่อยได้เห็นโลกภายนอกนัก ความจริงแล้วมีส่วนถูกต้องราว ๓๐% เพราะการคมนาคมก็ยังไม่สะดวก โดยมากข้ามไปเกาะภูเก็ตโดยทางเรือ

เรายังจำได้เราข้ามไปเกาะภูเก็ตครั้งแรกไปเครื่องบิน ขึ้นจากสงขลาไปลงภูเก็ต เที่ยวบินที่เราไปมีพวกเราพระสองรูปกับฆราวาสหนึ่งคนเท่านั้น เมื่อส่งเราแล้วขากลับจากภูเก็ตมาลงสงขลามีคนโดยสารคนเดียวแท้ๆ อนึ่งกรรมกรคนอีสานก็ยังมีไม่กี่คน

คนแถบนั้นพากันกลัวคนอีสาน เหมือนกับกลัวยักษ์กลัวเสืออย่างนั้นแหละ เพราะเขาได้ข่าวเล่าลือกันต่อๆ มาว่าคนอีสานใจดำอำมหิตโหดร้าย จับเด็กๆ ฆ่ากินเป็นอาหาร

หลังจากเราเข้าไปแล้วได้หนึ่งปี กรรมกรอีสานพากันแห่เข้าไปเป็นหมู่ แล้วก็เดินตามหลังกันตามถนนยาวเหยียดเลย คนในเมืองพากันมองดูตาตั้งเทียว ส่วนคนที่อยู่ริมเมืองตลอดบ้านนอกเห็นเข้าแล้ว พากันวิ่งเข้าบ้าน ถ้าอยู่ป่าก็วิ่งหัวซุกหัวซุนเข้าป่าเลย

นี่เราก็ไม่ได้เห็นด้วยตาตนเองดอก แต่คนเขามาเล่าสู่ฟัง ด้านความมีความจนคนไทยเราทุกภาคก็เห็นจะไม่เกินกันถึง ๕% กระมัง คนเรามีมากใช้มากมีน้อยใช้น้อยที่น่าสงสารคนภูเก็ตมากที่สุดก็คือ คนจนอยากจะทำตนให้เทียมคนมีคนรวยนี่ซี มันแย่หน่อย

เราเข้าไปอยู่เกาะภูเก็ตครั้งแรก นอกจากจะไม่มีความตื่นเต้นอะไรแล้ว ยังไปผจญกับภัยแม่ต่อแม่แตนอีกด้วย นั่นคือยังเหลืออีกราว ๑๐ กว่าวันจะเข้าพรรษา

ได้มีผู้คนพร้อมด้วยพระคณะหนึ่ง เขารวมหัวกันกีดกันไม่ยอมให้พวกเราอยู่ หาวิธีกีดกันด้วยประการต่างๆ ถึงกับเอาไฟไปเผาเสนาสนะบ้าง ใส่ยาเบื่อบ้าง เอาก้อนอิฐปาบ้าง ห้ามมิให้คนตักบาตรให้กินบ้าง บางทีพวกเราออกบิณฑบาตเดินตรงใส่จะชนเอาบ้าง

เราเป็นอาคันตุกะมาอยู่ในถิ่นเขา ต้องของ้องอนเขาได้เข้าไปหาหัวหน้าเขา ร้องขออยู่จำพรรษาในถิ่นนี้สักพรรษาบ้าง เพราะจวนจะเข้าพรรษาแล้ว ท่านไม่ยอมแลหาว่าเราเป็นพระจรจัดไปโน่นอีกด้วย เราได้ชี้แจงและอ้างเหตุผลอย่างไรๆ ให้ท่านฟังก็ยืนกรานไม่ให้อยู่ท่าเดียว สุดท้ายท่านบอกว่าผู้ใหญ่ท่านไม่ให้อยู่ (หมายถึงผู้ใหญ่ทางกรุงเทพฯ)

เราก็เลยบอกท่านตรงๆ เลยว่า เมื่อผู้ใหญ่ท่านมี ผู้ใหญ่ผมก็มีเหมือนกัน ภายหลังได้ทราบว่าท้าทายอย่างหนักเลย บอกว่า ถ้าพระคณะธรรมยุตอยู่จำพรรษาที่ภูเก็ต-พังงาได้ จะยอมนุ่งกางเกงเอาเสียเลย ฟังดูแล้วน่ากลัวจัง

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มี.ค. 2015, 19:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี นำพาครูบาอาจารย์ไปเผยแผ่ธรรมสายพระกรรมฐาน
เพื่อโปรดศรัทธาญาติโยมทางภาคใต้ในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ เมื่อปี ๒๔๙๓
หลังเสร็จงานประชุมเพลิงถวายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓ ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนครแล้ว

อธิบายภาพโดย หลวงปู่เนตร จิรปุญฺโญ แห่งวัดแหลมสัก จ.กระบี่



๒๗. พรรษา ๒๘ จำพรรษาที่โคกกลอย จังหวัดพังงา (พ.ศ. ๒๔๙๓)

ผลที่สุดพวกญาติโยมที่เคารพนับถือพวกเราก็จัดเสนาสนะให้พวกเราอยู่จำพรรษาจนได้ ในปีนี้พระเณรได้ติดตามเราไปด้วยราว ๑๕ รูป รวมทั้งอยู่ก่อนแล้วเป็น ๑๘ รูป แล้วก็แยกกันอยู่สามแห่งด้วยกันคือ ที่ตะกั่วทุ่ง ๑ แห่ง ท้ายเหมือง ๑ แห่ง และที่โคกกลอยที่เราอยู่ที่นี่อีก ๑ แห่ง ในพรรษานี้นอกจากคลื่นบนผิวน้ำจะกระทบอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังมีคลื่นใต้น้ำมากระทบกระหน่ำอีกด้วย

นั่นคือคณะธรรมยุตด้วยกันนี่เองเอะอะเอาว่า พวกเราไม่มีธรรมวินัยเป็นเครื่องดำเนินปฏิบัติ ผิดนอกแบบแผนตำราไม่ทำอุโบสถสังฆกรรมในโบสถ์ ใครอยากเป็นพระอรหันต์ไปหาอาจารย์เทสก์โน่น (อาจจะเป็นการประชดลูกศิษย์ที่หนีมาหาเราก็ได้ เพราะพระทางปักษ์ใต้ออกพรรษาแล้วหาผู้อยู่เฝ้าวัดยาก)

หากจะเป็นความเห็นเช่นนั้นจริงถ้าเป็นพระนวกะบวชใหม่ไร้การศึกษาก็ไม่เห็นแปลกอะไร แต่ถ้าเป็นพระที่มีพรรษาและมีการศึกษาพอควรแล้วน่าเห็นใจ เพราะท่านมีแต่ภาคศึกษาไม่ได้ปฏิบัติ ส่วนเราได้ปฏิบัติตามมาเป็นอาจิณตั้งแต่อุปสมบทพรรษาแรก

เรื่องที่เขาไม่ยอมให้พวกเราอยู่จำพรรษายังไม่ยุติ ทราบว่าเรื่องได้ขึ้นไปถึงกรรมการศาสนาในทำนองฟ้องว่า พวกเราเป็นพระจรจัดมาทำให้บ้านเมืองวุ่นวายแตกร้าวสามัคคี แล้วมีคำสั่งมาให้บันทึกหนังสือสุทธิพวกเราเพื่อจะสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ศึกษาธิการจังหวัดไม่กล้ามาด้วยตนเอง ได้ใช้ให้ศึกษาธิการอำเภอมาขอบันทึก

เมื่อเราถามหาหนังสือคำสั่งไม่มี เราจึงไม่ให้บันทึกแล้วได้ชี้แจงระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ให้เขาทราบโดยถ้วนถี่ เมื่อเขากลับไปแล้วไม่ทราบว่าเขาทำอย่างไรกันเราก็ไม่ทราบ ทราบภายหลังว่า เจ้าคณะภาคมีหนังสือมาเทศนาให้เจ้าคณะจังหวัดและผู้ว่าการจังหวัดฟังกัณฑ์เบ้อเร่อ

เรื่องที่เล่ามานี้เป็นเพียงเอกเทศของประสบการณ์ปีแรกที่เข้าไปอยู่ในเขตจังหวัดพังงา ถ้าจะเล่าทั้งหมดก็กลัวผู้อ่านจะเบื่อเรื่องขี้หมูขี้ราแห้ง คนเราเกิดมาในโลกนี้ ไม่ว่าใครจะทำอะไร ไม่ว่าดีหรือชั่ว จะเป็นไปเพื่อความเสื่อมหรือเจริญก็ตาม จำต้องมีอุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น ที่จะสำเร็จตามเป้าหมายได้ อยู่ที่ความรอบคอบอดทน หาเหตุผลมาแก้ไข ถ้าหาไม่แล้วก็จะไม่บรรลุได้เลย แล้วก็เป็นกำลังใจในอันที่จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บรรลุผลรวดเร็วเข้าอีกด้วย

โดยเฉพาะพระคณะธรรมยุตไม่ว่าจะเป็นอยู่ ณ ที่ไหน ทำอะไรล้วนแต่มีอุปสรรคทั้งนั้น แล้วก็สำเร็จตามเป้าหมายโดยมาก เราเลยอยากจะนำเอานิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอก กับลูกแกะมาสาธกไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า เฮ้ย มึงทำไมมาท่องน้ำของกูให้ขุ่นเล่า ลูกแกะ นาย ข้าไม่ได้ทำน้ำของนายให้ขุ่นดอก ข้าเดินอยู่ใต้น้ำต่างหาก สุนัขจิ้งจอก เถอะน่า ถึงเอ็งไม่ได้ทำน้ำของข้าให้ขุ่น พ่อของเอ็งก็ทำผิดไว้กับข้ามาแล้วหนักหนา ว่าแล้วก็ตะครุบเอาแกะไปกินเป็นอาหาร เอวัง

ออกพรรษาแล้วเราเริ่มสร้างกุฏิสมภารหนึ่งหลัง เป็นเรือนไม้แต่ยังไม่ทันเรียบร้อยดี

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2015, 18:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๘. พรรษา ๒๙-๔๑ จำพรรษาที่ภูเก็ต (พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๐๖)

พอดีวันตรุษจีนในแล้งนั้น คุณนายหลุยวุ้น ภรรยาหลวงอนุภาษภูเก็ตการ นายเหมืองเจ้าฟ้ามานิมนต์ให้เข้าไปภูเก็ต เราพร้อมด้วยพระมหาปิ่น และพระเณรอีกรวม ๔ รูปด้วยกัน พวกเราได้รอจังหวะและแสวงหาที่ตั้งสำนักอยู่จนกว่าจะสำเร็จ เราได้ย้อนมาโคกกลอยที่เราจำพรรษาอีก ให้พระมหาปิ่นดูแลการก่อสร้างจนเสร็จ เราจึงไปจำพรรษา

ปีนี้พวกเราอยู่จำพรรษารวมกันมีพระ ๔ รูป สามเณร ๑ รูป ได้ที่เชิงเขาโต๊ะแซะ ข้างศาลากลางจังหวัดเป็นที่จำพรรษา เบื้องต้นการก่อสร้างทำเป็นเรือนจากห้องเล็กๆ พอหมดกลดหมดมุ้ง เว้นแต่กุฏิสมภารค่อยใหญ่หน่อย เราได้ทำลงที่ป่าหญ้าคาอันหนาทึบ อยู่บนเชิงเขาโต๊ะแซะข้างหลังศาลยุติธรรมภูเก็ต ซึ่งคุณนายแขไปตกลงขอซื้อกับเจ้าของคือนายบวร พ่อค้าแร่ ๔ ไร่ เป็นราคา ๑,๐๐๐ บาท

เดิมที่นี้เป็นสวนมะพร้าวของเศรษฐีเก่าแต่ร้างไปนานแล้ว นายบวรรับซื้อไว้ทำเหมืองแร่ต่อ ผลที่สุดแร่ก็ไม่มีจึงขายให้คุณนายแข แต่คุณนายแขได้ซื้อไว้น้อยไป เราจึงได้ซื้อเพิ่มเติมอีก ๔ ไร่เป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท ที่นี้เดิมเป็นป่าหญ้าคาหนาทึบ มีสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น เสือโคร่ง เสือดำ กวาง เก้ง หมูป่า และลิง เราทำกุฏิเล็กๆ และบริเวณก็แคบพอปัดกวาดรอบได้ แล้วก็ทำทางพอเดินไปหากัน กลางคืนเราเปิดกุฏิออกมาจะเดินไปหากัน เสือกระโดดเข้าป่าโครม

บางทีพากันนั่งฉันน้ำร้อนตอนเย็นๆ เสียงร้องตะกุยๆ ออกมาจากป่าแทบจะเห็นตัวเลย กลางวันแสกๆ ยังตะครุบเอาสุนัขเอาแมวไปกินก็มี ดีว่าเสือเหล่านี้ไม่อาละวาด เสือก็อยู่ตามเรื่องของเสือ คนก็อยู่ตามเรื่องของคน เสียงเสือโคร่งร้องคนเมืองภูเก็ตนี้ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป เราเคยเที่ยวป่ามามากแล้ว เสือมันร้องจะทำเสียงเช่นไรเรารู้เรื่องของมันหมด พวกเราได้อยู่เกาะภูเก็ตตลอดเวลา ๑๕ ปี ไม่เคยได้กลับจำพรรษาในเขตพังงาอีกเลย


แต่พังงาตลอดถึงกระบี่ในสามจังหวัดนี้ อยู่ในคุ้มครองของเราทั้งหมด เปรียบเหมือนกับวัดเดียวกัน มีกติกาข้อวัตรแนวปฏิบัติระเบียบอันเดียวกันทั้งหมด พระเณรรูปไหนไม่ว่าอยู่ ณ สำนักใดก็ตาม หากขัดข้องต้องประสงค์สิ่งใดในสิ่งที่จำเป็น ใครมีอะไรก็เฉลี่ยแบ่งปันสงเคราะห์กันตามมีตามได้ มีงานในสำนักไหนก็พร้อมใจพร้อมแรงกันทำด้วยความสามัคคี หากจะมีปัจจัยลาภเกิดขึ้นก็พร้อมกันมอบถวายไว้เพื่อบำรุงในสำนักนั้นๆ ต่อไป

ปัจจัยเขาถวายเฉพาะส่วนตัวก็พากันเก็บไว้เป็นกองกลาง เราเป็นอุปัชฌาย์เขาถวายส่วนตัวเรามอบถวายไว้เป็นกองกลางยังถูกเขาต่อว่าเลย แต่พวกเราก็มิได้มีความเดือดร้อนเพราะไม่มีเงินในกระเป๋าเลย ญาติโยมเขาเอาใจใส่ดูแลปฏิบัติพวกเราอย่างดีเลิศ ขาดเกินอะไรแม้แต่ค่ารถไฟไปมาเขาก็พากันจัดการให้เรียบร้อยทั้งนั้น เรื่องเหล่านี้ไม่มีที่ไหนอีกแล้ว นับแต่เราบวชมาที่จะได้รับความสะดวกเหมือนครั้งนี้ พวกเราจึงขอขอบพระคุณชาวภูเก็ต-พังงาที่ได้อุปัฏฐากพวกเราไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ในช่วงระยะที่เราเข้ามาอยู่เกาะภูเก็ตนี้ เราพยายามสร้างแต่ความดีทั้งเพื่อตนแลส่วนรวม ได้ติดต่อกับเจ้าคณะท้องถิ่นทุกๆ รูป และท่านเหล่านั้นก็ให้ความเอื้อเฟื้อแก่พวกเราเป็นอย่างดียิ่ง มีธุรกิจการงานอะไรเกิดขึ้นก็เคยได้ร่วมกันปรึกษาหารือกันบ่อยๆ และเข้าใจกันดี เข้าพรรษาเราได้พากันปรึกษาหารือกันบ่อยๆ และเข้าใจกันดี

เข้าพรรษาเราได้พาคณะของเราไปถวายเครื่องสักการะแก่พระเถระทั่วทุกๆ รูป ทุกๆ ปีไม่เคยขาด ไม่เหมือนที่พังงา แม้ที่พังงาก็มีบางคนส่งข่าวมาบอกเราว่า เขาไม่พากันรังเกียจคณะของเราดอก เขาเกลียดเฉพาะพระมหาปิ่นรูปเดียวเท่านั้น เห็นจะเป็นเพราะพระมหาปิ่นเธอพูดโฮกฮากโปงปางโผงผางลืมตัว เมื่อมีคนยอเข้าก็ได้ใจ คนแบบนั้นถือไม่ได้ดอก เข้าตำราภาษาอีสานว่า ใครถือคนชนิดนั้นจะไม่มีช้อนซดน้ำแกง

ส่วนด้านญาติโยม พวกเราที่อุตส่าห์พยายามอบรมสั่งสอนให้รู้จักขนบธรรมเนียมในทางพุทธศาสนา แล้วก็ทำเป็นตัวอย่างให้ดู ตลอดถึงสอนให้รักษาอุโบสถ ไม่ใช่แต่ในพรรษา นอกพรรษาก็ให้รักษาด้วย สนับสนุนพระที่ท่านสอนเป็นทุนไว้ก่อนแล้วให้มั่นคงยิ่งๆ ขึ้น ซ้ำพวกเรายังได้ฝึกอบรมภาวนาทำสมาธิทุกๆ คืน จนทำให้เขาเหล่านั้นได้ผลเป็นที่ประจักษ์แก่ตนเองตามกำลังศรัทธาของตนๆ อีกด้วย

อนึ่งหมู่เพื่อนทางอีสานที่เป็นคณะเดียวกัน ก็ได้พากันทยอยติดตามเราลงไปมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนกุลบุตรในท้องถิ่นก็เกิดมีศรัทธาพากันมาอุปสมบทเรื่อยๆ คณะธรรมยุตทางปักษ์ใต้ผู้มีใจสมัครรักใคร่ในทางปฏิบัติก็พากันมาอบรมด้วยเป็นอันมาก แล้วก็ได้ขยายสำนักออกไปถึงจังหวัดกระบี่ รวมทั้งสามจังหวัดนี้มีสำนักที่พวกเราไปอยู่จำพรรษา ๑๑ สำนักด้วยกัน

ปีหนึ่งๆ ในพรรษามีพระเณรรวมทั้งหมดเฉลี่ยแล้วร้อยกว่ารูป มากกว่าพระเณรในเขตอำเภอเมืองภูเก็ตเมื่อปีเราไปอยู่ครั้งแรกอีกเท่าตัว เมื่อมีพรรคพวกมากขึ้น เราได้จัดให้มีการศึกษานักธรรมเปิดสอนประจำในสำนักของใครของมัน ถึงเวลาสอบแล้วจึงมารวมกันสอบ ปีแรกเราได้ให้ไปสอบที่สำนักวัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปีต่อมาเราได้ขออนุญาตเปิดสอบขึ้นที่วัดเจริญสมณกิจภูเก็ตเอง มีนักเรียนทั้งสามชั้นเข้าสอบรวมไม่น้อยกว่า ๖๐ รูปทุกๆ ปี แล้วก็สอบได้คะแนนดีเสียด้วย จนมหามกุฏราชวิทยาลัยยกฐานะให้เป็นชั้นโท เราเห็นคุณค่าในกิจการพระพุทธศาสนาที่มีทั้งปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป จึงได้ดำเนินตามแนวนั้นสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

พวกเราได้ต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการเป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี เพื่อบำเพ็ญศาสนกิจอันเป็นประโยชน์แก่ตนและประโยชน์ส่วนรวม เพื่อฉลองความต้องการของญาติโยมชาวภูเก็ต-พังงา อันมีพระคุณแก่พวกเราเป็นอันมาก อย่างน้อยเขาเหล่านั้นก็ได้ดูโฉมหน้าตาอันแท้จริงของพระคณะธรรมยุตและคณะศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

นัยว่าพระคณะธรรมยุตเคยมาเพื่อจะตั้งรกรากลงที่ภูเก็ตนี้ตั้งหลายครั้งแล้วแต่ไม่เป็นผล อนึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องชื่อนามของท่านอาจารย์มั่นละ แม้แต่ลูกศิษย์ของท่านก็ไม่เคยกล้ำกรายเข้ามาในภูเก็ตนี้เลย คณะของพวกเราเข้ามาตั้งสำนักจนก่อสร้างให้เป็นวัดถาวรลงได้นี้ นับว่าเป็นประวัติการณ์ของคณะธรรมยุตและของเกาะภูเก็ตทีเดียว

แล้วเราก็ภูมิใจว่า เราได้ทำการใช้หนี้สินชาวภูเก็ต-พังงา ผู้ไม่เรียกร้องเอาหนี้คืนแล้ว

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มี.ค. 2015, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๘.๑ ความวิตกกังวลของเรากลายมาเป็นความจริงขึ้น

ความวิตกของเราเรื่องบริหารหมู่คณะ ดังกล่าวมาแล้วในบท ๒๖.๑ กลายมาเป็นความจริงขึ้น กล่าวคือ ก่อนจะไปปักษ์ใต้เราได้ติดต่อพระผู้ใหญ่ทางกรุงเทพฯ ให้ท่านได้รู้จักไว้ แล้วเราก็ได้ลงไปทางปักษ์ใต้ทำความรู้จักกับเจ้าคณะทุกๆ องค์ จนได้เข้าไปอยู่เกาะภูเก็ต แท้จริงเกาะภูเก็ตนี้เป็นที่เลื่องลือโด่งดังมาแต่ก่อนนัก ใครไปอยู่แล้วจะต้องร่ำรวยมาก

เราไปอยู่ยังมีคนโจษจันกันว่าเรานั้นร่ำรวยอย่างมหาศาล ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เราอยู่เกาะภูเก็ต ๑๕ ปี ไม่มีอะไรเลย ปัจจัยลาภได้มาทุกสตางค์แลทุกๆ องค์ก็เก็บไว้กองกลางและก่อสร้างหมด เสนาสนะก็มีไม่กี่หลัง เรามาอยู่ทางอีสานไม่ถึง ๑๐ ปี เสนาสนะนับหลังไม่ถ้วน อุโบสถก็เรียบร้อย ศาลาการเปรียญสองชั้นก็เสร็จ

ทั้งนี้เรามิได้เหยียดหยามดูถูกชาวภูเก็ต พังงา เพื่อแก้ความกังขาที่ว่าเรารวยนั้นต่างหาก คนชาวภูเก็ต พังงา ปฏิบัติพวกเราดีเลิศดังกล่าวแล้ว ไม่มีที่ไหนจะปฏิบัติดีเท่าเลย ส่วนวัดเขาไม่นิยมสร้าง มันก็ดีเหมือนกันเพราะสร้างหรูหรามากไม่ดีเป็นกังวล ไปไหนมาไหนเป็นห่วง

เราหนีจากเกาะภูเก็ตไม่มีอะไรเป็นห่วง น่าสงสารแต่ชาวบ้านที่ได้เคยปฏิบัติพวกเราเท่านั้น เราหนีมาแล้วได้มอบเงินแสนกว่าบาทให้พระครูสถิตบุญญารักษ์ (บุญ) เธอได้ทำการก่อสร้างอุโบสถ อยู่ ๔-๕ ปี จึงสำเร็จเป็นประวัติการณ์อีกเหมือนกัน พระที่ภูเก็ต พังงา ที่จะมาสร้างอุโบสถบนไหล่เขาที่ต้องพังลงมาให้ราบ แล้วจึงทำเป็นอุโบสถได้เช่นนี้ และสร้างเพียง ๔-๕ ปี สำเร็จไม่มี

อนึ่ง คณะของเราเข้ามาอยู่เกาะภูเก็ตนี้ เป็นเหตุให้พระผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ตลอดจนสาธุชนทั่วไปสนใจในคณะของเรามากขึ้น แต่ส่วนตัวเราแล้วไม่มีอะไร เฉยๆ อุปสรรคต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วก็เป็นธรรมดา เราเคยผ่านมาแล้วนับไม่ถ้วน


ในขณะนั้น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ในกรุงเทพมหานครกำลังตั้งกัมมัฏฐานแบบพม่า ยุบหนอพองหนอ โฆษณาออกแบบแพร่กันมาก แต่มิได้ออกป่า อยู่ตามบ้านตามวัด มีคนได้ขั้นได้ชั้นกันก็มาก บางคนถึงกับตัวแข็งทื่อไม่รู้สึกเลยก็มี ในขณะเดียวกันนั้น วัดราชประดิษฐ์ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดอื่นๆ ก็ตั้งคณะของลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปฏิบัติมานานกว่า ๕๐ ปีแล้ว แต่ไม่เคยออกโฆษณาเลย เมื่อเสียงโฆษณาจากฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งไม่โฆษณา ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องดังไปตามกัน แต่ดังไม่มีเสียง จะได้ดังต่อไปนี้คือ

- เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ เจ้าคณะภาค (ธรรมยุต) ได้อาราธนาให้พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปอบรมกัมมัฏฐานแก่พุทธบริษัทชาวเมืองเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๕ ขอสมณศักดิ์พระครูญาณวิศิษฏ์ให้พระอาจารย์สิงห์ พร้อมกันนี้ก็ได้ขอให้เราอีกองค์ แต่เรานั้นได้ตกไปเพราะเรายังไม่มีสำนักเป็นที่อยู่ถูกต้องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

- เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ แต่งตั้งให้เราเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมกันนี้ก็ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอภูเก็ต-พังงา-กระบี่ (ธรรมยุต)

- เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูนิโรธรังสี

- เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ให้รักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด (ธรรมยุต) ในจังหวัดภูเก็ต-พังงา-กระบี่ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย พร้อมกันนี้ก็ให้เป็น ผู้อำนวยการศึกษาธรรมในสามจังหวัดนั้นด้วย

- เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ฝ่ายวิปัสสนา ที่พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ พร้อมกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ และพระอาจารย์ลี ธัมมธโร พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์

- เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดในสามจังหวัดนั้น

- เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้ขอลาออกจากเจ้าคณะทั้งสองตำแหน่งเป็นกิตติมศักดิ์สมณศักดิ์

อาจนับได้ว่าเป็นประวัติการณ์ พระฝ่ายวิปัสสนาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ รองจากเจ้าคุณวิปัสสนาโกศลเถระ วัดภาษีเจริญ แต่ก่อนมีแต่ชื่อ ตัวจริงไม่มี ดังเราจะเห็นได้จากชื่อพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีสมัญญาห้อยท้ายว่า ฝ่ายอรัญญวาสี เป็นต้น

ต่อจากนั้นมาคณะคณาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานที่เป็นลูกศิษย์สายของพระอาจารย์มั่น ก็มีผู้ได้รับสมณศักดิ์เรื่อยๆ มาหลายรูป เรื่องสมณศักดิ์ของพระคณะกัมมัฏฐานนี้เราไม่อยากให้มี เพราะมันไม่สมดุลกันโดยเฉพาะคณะลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

เราเคยได้มีหนังสือส่วนตัวคัดค้านพระผู้ใหญ่แล้วและต่อหน้าท่าน เราก็เคยคัดค้านโดยอ้างสิ่งที่ควรแลไม่ควร อุปมาเหมือนเอาเครื่องเพชรไปแขวนไว้ที่คอของลิง มันจะมีความรู้สึกอะไร แต่นี้ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของเราอีก แต่มันไม่แน่เหมือนกัน ลิงบางตัวเมื่อถูกแต่งด้วยเครื่องเพชรเข้ามันอาจเข้าใจว่าตัวเป็นมนุษย์ไปก็ได้ แต่ผลที่สุดท่านก็ขอร้องเพื่อประโยชน์แก่การบริหารคณะสงฆ์ส่วนรวมจนได้

เราเกิดมาในโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ย่อมมีสิทธิเสรีอยู่ได้โดยชอบ แต่ทุกๆ คนจะมีอยู่ในเพศภูมิและฐานะมีจนใดๆ ก็ตาม โลกธรรมย่อมครอบงำถึงด้วยกันทั้งนั้น เว้นแต่เราจะรับเอาโลกธรรมนั้นมาไว้เป็นเจ้าแห่งหัวใจของเราหรือไม่เท่านั้นเอง เราใช้โลกธรรมให้เป็นประโยชน์ก็ดีเหมือนกัน เมื่อก่อนหมู่เพื่อนและใครๆ เห็นเราแล้วดูเหมือนเราเป็นหลวงตาคนป่าคนหนึ่งอย่างนั้นแหละ แต่เราก็ชอบเป็นหลวงตาคนป่านั้นด้วย

แต่พอเราได้มีตำแหน่งและได้รับสมณศักดิ์แล้ว มาเดี๋ยวนี้ใครๆ เห็นเข้าแล้วเรียกออกชื่อทักทายเชื้อเชิญในที่ทุกสถาน แม้เราต้องการจะติดต่องานอะไรก็คล่องตัว ฉะนั้น สมณศักดิ์จึงเพิ่มภาระและเป็นเกียรติแก่เรามากขึ้น เราจึงไม่เห็นสมควรแก่พระผู้ต้องการความสงบอยู่ป่าเลย


เราเข้ามาอยู่เกาะภูเก็ต ๒-๓ ปีแรกก็ดีดอก สุขภาพก็พอเป็นไป แต่ปีต่อๆ มาโรคขอบเราไม่ค่อยถูกกับอากาศเสียเลย มันเป็นธรรมดาโรคนักเที่ยวของเรา อยู่ไหน สุขภาพจะดีปกติไม่เกิน ๓ ปี ต่อนั้นไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปเลย แล้วในใจของเราก็มิได้ตั้งใจจะอยู่ ณ ที่ภูเก็ตนี้ตลอดไป เราเคยได้บอกเรื่องนี้กับหมู่เพื่อนและญาติโยมไว้แต่ปีมาอยู่ทีแรกแล้ว แต่เราก็อยู่มาได้นานถึง ๑๕ ปี เพราะการขอร้องของพระผู้ใหญ่และญาติโยมแท้ๆ

มาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ เราได้ขออำลาชาวภูเก็ต-พังงา-กระบี่ ด้วยความสงสารในน้ำตาอันนองหน้าของเขาเหล่านั้น พร้อมด้วยสำนักต่างๆ ที่พวกเราได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ โดยได้ใช้พัสดุและทรัพย์ของชาวปักษ์ใต้ก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุทั้งปวง มอบให้เป็นมรดกแก่ชาวปักษ์ใต้ทั้งหมด พร้อมด้วยตำแหน่งอันมีเกียรติของเราด้วย พวกเราจึงขอให้ชาวปักษ์ใต้ที่ได้อุปถัมภ์ค้ำจุนพวกเราทุกๆ คน จงประสบแต่ความสุขความเจริญภิญโญยิ่งด้วยยศ ลาภ อายุ วรรณะ สุขะ สมบูรณ์ทุกๆ คนเถิด

อนึ่ง วัดและสำนักต่างๆ ขอจงจิรังถาวรเจริญรุ่งเรืองเพื่อปรโยชน์แก่คนส่วนรวมเถิด

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2015, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๙. พรรษาที่ ๔๒ จำพรรษาที่ถ้ำขาม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (พ.ศ. ๒๕๐๗)

เมื่อเราออกจากเกาะภูเก็ตเปลื้องปลดภาระอันนั้นแล้ว เราก็ตั้งใจแสวงหาที่วิเวก ความสงบตามวิสัยเดิมของตน เมื่อเที่ยวไปเยี่ยมท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่อำเภอพรรณานิคม ไปเห็นวัดถ้ำขามของท่านเข้า เรารู้สึกชอบใจ เราจึงขอจำพรรษา ณ ที่นั้นหนึ่งพรรษา ที่นี่ถึงแม้บริเวณวัดจะไม่กว้างขวางเท่าไรนักแลเขาก็ไม่สู้จะสูงแต่อากาศดีมาก

ท่านเป็นคนขยัน ออกพรรษาแล้วพาญาติโยมทำทางขึ้นเขาทุกปีจนเกือบถึงยอดเขา พวกญาติโยมก็ชอบใจเสียด้วย ถ้าอาจารย์ฝั้นเรียกทำงานแล้วการงานส่วนตัวจะมากสักเท่าไรก็ทอดทิ้ง ผู้ที่ขึ้นไปถึง แม้จะได้รับความเหน็ดเหนื่อยหายใจไม่ทั่วท้องก็ตาม พอขึ้นไปถึงวัดท่านแล้วพักอยู่ ๕ - ๖ นาที อากาศที่นี่เรียกเอากำลังมาเพิ่มให้คุ้มค่าเหนื่อยที่เสียไป

ตามสำนวนของผู้ติดถิ่นที่ว่า ไม่ต้องหาสถานที่และอากาศที่ไหน ๆ มันอยู่ที่ตัวของเรา เราทำตัวของเราให้วิเวกแล้ว มันก็วิเวกเท่านั้นเอง นั้นไม่จริง สัปปายะทั้งสี่เป็นกำลังของการปฏิบัติธรรมได้อย่างแท้จริง ถ้าเราไม่ทำตัวของเราให้เหมือนกับหมูบ้านแล้วการเปลี่ยนสถานที่ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนบรรยากาศและอารมณ์ด้วย หมูป่ากับหมูบ้านย่อมมีสภาพผิดแผกกันมาก แม้แต่อาหารและอากัปกิริยาย่อมส่อให้เห็นตรงกันข้ามเลย

ในพรรษานี้ เราได้บำเพ็ญความเพียรอย่างเต็มที่ เพราะญาติโยมและหมู่เพื่อนที่อยู่จำพรรษาด้วยก็ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ฝั้น ที่ท่านได้อบรมมาดีแล้วทั้งนั้น เราไม่ต้องเป็นภาระที่จะต้องอบรมเขาอีก เมื่อเราได้มีโอกาสประกอบความเพียรติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ความรู้และอุบายต่าง ๆ ที่เป็นของเฉพาะตัวย่อมเกิดมีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

เราไม่ต้องนั่งหลับตาภาวนาละ แม้จะนั่งอยู่ ณ สถานที่ใด เวลาไหน มันเป็นภาวนาไปในตัวตลอดกาล จะพิจารณาตนและคนอื่น ตลอดถึงทิวทัศน์มันให้เกิดอุบายเป็นธรรมไปทั้งนั้น อดีตารมณ์ไม่ว่าจะเป็นส่วนอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ก็ตาม สัญญาเก่ามันนำหยิบยกขึ้นมาให้ดูล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อธรรมสังเวชทั้งสิ้น


ออกพรรษาแล้วพระอาจารย์ขาวพาคณะลูกศิษย์ของท่านขึ้นไปเยี่ยมอยู่พักหนึ่ง ท่านก็ชอบใจเหมือนกัน ท่านยังได้ขอร้องให้เราไปอยู่ถ้ำกลองเพลแทนด้วย แล้วท่านจะมาอยู่ที่นี้ แต่เราปลดเปลื้องภาระแล้ว ไม่ต้องการความยุ่ง หลังจากนั้นมาไม่นานเขาได้นิมนต์ให้เรามาทำบุญงานศพที่อุดรฯ แล้วเราเลยไปเยี่ยมถ้ำกลองเพลครั้งแรก แต่เราไม่ค่อยชอบอากาศ (คือที่เดิมอยู่หลังถ้ำ)

พอเสร็จงานพิธีแล้วเราจึงได้ออกเดินทางจากอุดรฯ มาพักที่วัดป่าพระสถิตย์ อำเภอศรีเชียงใหม่ กับพระอาจารย์บัวพา ปัญญาภาโส

จากนั้นจึงได้ลงเรือไปพักวิเวก อยู่ที่หินหมากเป้งกับพระคำพัน

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2015, 19:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๐. พรรษา ๔๓-๕๐ จำพรรษาที่หินหมากเป้ง (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๕)

หินหมากเป้ง เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ชนแถบนี้ในความที่หนาวจัด ดังคำพังเพยที่ว่า "ไม่มีผ้าฟา (ผ้าห่ม) อย่าไปนอนหินหมากเป้ง" ในแถบนี้หินหมากเป้งหนาวกว่าเขาทั้งหมดในฤดูหนาว และมีผีดุ ทั้งเป็นที่อยู่ของสัตว์ร้ายต่างๆ มีเสือ หมี ผี เป็นต้น เมื่อก่อนราว ๔๐ ปีมาแล้ว คนมาทางเรือพอมาถึงบริเวณนี้แล้วจะพากันเงียบกริบไม่มีเสียงเลย แม้แต่จะเงยหน้าขึ้นดูตลิ่งก็ไม่อยากดู

ในนามเป็นที่วิเวกเพราะความกลัวของคนนั่นเอง จึงไม่ค่อยมีใครกล้าเข้ามา พระกัมมัฏฐานมักจะมาอยู่วิเวก เพื่อทดสอบความเป็นผู้ยอมเสียสละ พระกัมมัฏฐานรูปไหนมาอยู่ได้ก็เป็นที่เชื่อใจตนเองได้แล้วว่า เป็นผู้กล้าพึงตนเองได้และหมู่เพื่อนก็ยอมรับว่าเป็นผู้กล้าหาญยอมสละได้จริง และเป็นที่รู้จักกันดีของกองปราบทั้งหลาย คือเมื่อผู้คนหนาแน่นเข้าสัตว์ร้ายต่างๆ ก็ค่อยหายไป

ภายหลังกลับมาเป็นด่านขนของหนีภาษีและขโมยวัวความข้ามฟาก เมื่อวัวควายหายหรือได้ข่าวว่าจะมีคนขนของหนีภาษีแล้ว เจ้าหน้าที่หรือเจ้าของทรัพย์จะต้องมาพักซุ่มคอยจับเอาตรงนี้ แลที่สุดบ้านโคกซวกพระบาท ห้วยหัดซึ่งอยู่ติดกันนี้พลอยเหม็นโฉ่ไปด้วย

อนึ่งเมื่อผู้เฒ่าคนเก่านักประวัติศาสตร์สังสรรค์กันแล้ว มักจะพูดกันถึงเรื่องหินหมากเป้งข้างหน้าว่า กษัตริย์ทั้งสามพระนครจะพากันสร้างหินหมากเป้งให้เจริญ เพราะหินสามก้อนซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงนี้ (ความจริงมันติดเป็นพืดอันเดียวกันไป เมื่อดูมาแต่ไกลคล้ายกับเป็นสามก้อน) ก้อนเหนือ (คือเหนือน้ำ) เป็นของหลวงพระบาง ก้อนกลางเป็นของบางกอก ก้อนใต้ เป็นของเวียงจันทน์

เราฟังแล้วน่าขบขันมาก ใครจะมาสร้างเพื่อประโยชน์อะไร ป่าทึบรกจะตาย เป็นที่อยู่ของสัตว์ร้ายทั้งนั้น ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไปแล้ว ๔๐ กว่าปีก็ตาม เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เราเข้ามาสู่สถานที่นี้เป็นครั้งแรก เรายังได้ดูและฟังเสียงอีเก้งและนกกระทาขันอยู่เลย ลิงทโมนตัวเบิ้มยังอุตส่าห์ด้อมๆ ไต่กิ่งไม้มาให้เราชมเป็นขวัญตาในวาระสุดท้ายของมันอีกด้วย ทั้งอากาศและทิวทัศน์เช่นนี้ดูจะหาดูได้ยากเหมือนกัน เรามาเห็นเข้าแล้วนึกชอบใจ แล้วเราตั้งใจจะอยู่จำพรรษากับพระคำพันต่อไป ในใจเราคิดว่าจะหยุดการก่อสร้างและรับภาระใดๆ ทั้งหมดละ

แต่คนอื่นอาจเห็นไปว่าความคิดเช่นนี้อาจเป็นของเลอะเลือนไปก็ได้ แต่ในใจจริงของเราแล้วเห็นว่า การก่อสร้างและการบริหารหมู่คณะตลอดถึงการรับแขก เราได้ทำมามากแล้ว ควรจะหยุดเสียที แล้วรีบเร่งประกอบความเพียรเตรียมตายเสียดีกว่า เพราะอายุเราก็มากถึงขนาดนี้แล้วไม่ทราบว่ามันจะตายวันไหน จึงได้ปรารภกับพระคำพันว่า ผมจะมาขอพักผ่อนอยู่กับคุณ เรื่องการก่อสร้างและอื่นๆ ใด ขอให้เป็นภาระของคุณทั้งหมด หากต้องการจะศึกษาอบรมในด้านปฏิบัติแล้ว ผมยินดีแนะนำให้

เธอก็รับและยินดีด้วยเธอยังบอกว่า ผมไม่มีความสามารถในการหาทุนมาก่อสร้าง หากมีทุนผมจะรับภาระได้ แล้วเราก็ได้บอกเธอว่า บางทีอาจมีก็ไม่แน่ แต่ผมก็ไม่หาแล้ว มีผู้ให้ก็เอา ไม่มีผู้ให้ก็แล้วไป


ออกพรรษาแล้วได้มีนางติ๋ม (ร้านขายเครื่องอะไหล่รถยนต์) นครเวียงจันทน์ พ่อลี แม่เป่า (พา) บ้านโคกซวก กับ นายประสพ คุณนิติสาร และญาติ (อุดรธานี) ได้มีศรัทธาพากันมาสร้างกุฏิไม้ถวายคนละหลัง คิดเป็นมูลค่าหลังละประมาณ ๕,๐๐๐ บาท (กุฏิในวัดทั้งหมดทำเป็นแบบเรือนทรงไทยทั้งนั้น) นางนวยได้สร้างกุฏิอุทิศให้นางบัวแถว มาลัยกรอง หนึ่งหลังเป็นมูลค่า ๑๐,๐๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ญาติโยมทางกรุงเทพฯ ได้ลงเรือมาเยี่ยม เมื่อมาเห็นสถานที่และสภาพความเป็นอยู่ของวัดแล้ว พากันชอบใจเกิดศรัทธาหาเงินมาบูรณะและก่อสร้างศาลาการเปรียญเป็นเรือนไม้ทรงไทย รูปสองชั้น ข้างล่างมุมเป็นระเบียงรอบสามด้าน พื้นลาดซีเมนต์เสมอกัน ข้างบนยาว ๑๗ เมตร กว้าง ๑๑ เมตร ข้างล่างยาว ๑๙.๕๐ เมตร กว้าง ๑๖ เมตร เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๐ คิดเป็นมูลค่าประมาณแปดหมื่นบาทเศษ (๘๔,๗๖๓ บาท) แรงงานโดยส่วนมากพระเณรพากันทำเอง พระคำพันป่วยเจ็บตาได้หนีไปรักษาแล้วไม่กลับมาอีก

อนึ่ง ในศกเดียวกันนี้ทุนของญาติโยมทางกรุงเทพฯ อีกนั่นแหละ สร้างกุฏิถวายอีกสองหลัง และนายศักดิ์ชัยพร้อมด้วยญาติที่ตลาดพังโคน อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร หนึ่งหลังเป็นมูลค่าหลังละประมาณ ๗,๐๐๐ บาท พร้อมกันนี้ได้ทำส้วมอีก ๔ ห้อง โดยทุนของวัด

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้สร้างถังเก็บน้ำฝนคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังศาลาการเปรียญยาว ๑๑ เมตร กว้าง ๓ เมตร สูง ๑.๘๐ เมตร สิ้นเงินไป ๑๕,๐๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้สร้างกุฏิสองชั้นที่ริมฝั่งแม่โขง โดยทุนของ คุณนายทรัพย์ ศรีมุกติ (กรุงเทพฯ) ๑๕,๐๐๐ บาท นอนนั้นเป็นทุนของวัด เสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ้นเงินประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท แล้วก่ออิฐกั้นห้องใต้ดินอีก หมดราว ๒,๐๐๐ บาทโดยทุนของวัด

อนึ่ง เถ้าแก่กิมก่าย (นายธเนตร เอียสกุล) (หนองคาย) ได้มีศรัทธาสร้างกุฏิไม้ถวายอีกหนึ่งหลัง สิ้นเงินไปประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ปีนี้ได้มุงหลังคาวิหารพระใหญ่โดยทุนของแม่เหลี่ยน ศรีสุนทร (สกลนคร) และนายกิมเซ็ง (นครเวียงจันทน์) เป็นเงินราว ๓,๐๐๐ บาท พร้อมกันนี้ก็ได้ปลูกศาลาบ้านชีอีกหนึ่งหลังโดยทุนของวัด สิ้นไปประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ นายวิสิทธิ์ วงษ์สุวรรณ โรงสีวงษ์ทอง ได้มีศรัทธาสร้างกุฏิไม้ถวายหลังหนึ่งเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ปีนี้ได้เกิดพายุลมพัดแรง อันเป็นเหตุให้ต้นไม้หักทับระเบียงศาลาการเปรียญด้านตะวันตก ทำความเสียหายหมดไป ๒๐,๐๐๐ บาท โดยทางการกรุณาช่วยเหลือออกให้

ในปีเดียวกันนี้ได้สร้างถังเก็บน้ำฝนเทคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๒ เมตร ที่บ้านชี ๑ ถัง ที่กุฏิเถ้าแก่กิมก่าย ๑ ถัง โดยยาว ๕ เมตร กว้าง ๔ เมตร สูง ๑.๒๐ เมตร ทั้งสองถังสิ้นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท โดยทุนของวัดเอง พร้อมกันนี้ได้ก่ออิฐกั้นลานหน้าศาลาการเปรียญสิ้นเงินไป ๕,๓๓๖ บาท ปีนี้ออกพรรษาแล้วได้มีนักศึกษา พระสังฆาธิการ ๓๐ รูปจากนครราชสีมา พักอบรมกัมมัฏฐานอยู่ที่นี่ ๕ วัน

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ทางวัดได้สร้างกุฏิไม้อีกหนึ่งหลัง โดยทุนของวัดสิ้นไปราว ๒๐,๐๐๐ บาท และได้ทำห้องส้วมบ้านชีอีก ๔ ห้อง ไว้รับแขกอีกสองห้อง บ้านพักแขกอีก ๑ หลัง โดยทุนของวัดทั้งหมด ทำถังเก็บน้ำฝนหน้าอุโบสถ เทคอนกรีตเสริมเหล็กยาว ๑๐.๔๐ เมตร กว้าง ๕ เมตร สูง ๒ เมตร สิ้นเงินไปประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ โดยทุนของวัด

ราววันที่ ๕ กรกฎาคม ก่อนเข้าพรรษาเราได้เกิดอาพาธ ทีแรกเป็นไข้หวัดประสมกับหลอดลมอักเสบ ซึ่งเป็นอยู่ก่อนแล้ว ได้ให้แพทย์ประจำไร่ยาสูบบ้านหม้อมารักษา แต่อาการก็ไม่ทุเลาลง แพทย์หญิงทวินศรี สมรไกรสรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย กับคุณถวัล เศรษฐการจังหวัดได้เอารถมารับไปรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย หมอได้ให้การรักษาอยู่ ๕ วัน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น เมื่อฉายเอกซเรย์ดูก็ได้ทราบว่าน้ำท่วมปอด และที่ปอดมีพยาธิสภาพเล็กน้อย คุณตุ๊ โฆวินทะ จึงได้โทรเลขติดต่อศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ

นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ เมื่อได้ทราบดังนั้นจึงให้นิมนต์ไปกรุงเทพฯ และคุณหมอได้รอรับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชแล้ว อนึ่ง เนื่องจากหมอที่หนองคายนี้ที่เชี่ยวชาญโรคด้านนี้ไม่มี เครื่องมือก็ไม่พร้อม ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องไปกรุงเทพฯ เถ้าแก่กิมก่ายพร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย ได้นำเอาเราขึ้นเครื่องบินส่งที่โรงพยาบาลศิริราช

เราเป็นคนไข้ของคุณหมออุดม โปษะกฤษณะ โดยมีคุณหมอธีระ ลิ่มศิลา เป็นหมอดูแลประจำ หมอทุกคนได้ให้การรักษาเราเป็นอย่างดีเลิศ หมอได้ดูดเอาน้ำออกจากช่องปอดเป็นจำนวนมาก ในอาทิตย์แรกอาการของโรคดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ในอาทิตย์ที่สองเริ่มแพ้ยา กลับมีอาการอย่างอื่นเกิดแทรกแซงขึ้นอีก และจะเป็นเพราะเดิมปกติเราก็ไม่ค่อยถูกกับเรือนตึกอยู่แล้ว หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

เมื่อไปนอนอยู่โรงพยาบาลนาน ตอนหลังอาการจึงได้ทรุดลงๆ จนลมอ่อน พูดเสียงแผ่วเกือบจะไม่ได้ยิน หมอได้มาดูดเอาน้ำออกจากช่องปอดอีกเป็นจำนวนมาก อาการของร่างกายค่อยเบาขึ้นมานิดหน่อย แต่ความอ่อนเพลียยังไม่ดีขึ้น เราจึงได้ขอลาหมอออกจากโรงพยาบาล แต่หมอก็ได้ขอร้องให้เราอยู่ต่อไปอีก เราไม่สามารถจะอยู่ต่อไปได้ จึงลาออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๔

ตอนนี้ เราเห็นโทษเบื่อหน่ายในร่างกายมากเพราะกายก้อนนี้แท้ๆ จึงได้ทำให้เราเกิดโรคเป็นทุกข์แก่ตนเองแลผู้อื่นอีกด้วย อาหารที่เราฉันอยู่นี้วันละนิดเดียวมันจะมีประโยชน์อันใด คิดแล้วตัดสินใจว่าวันนี้อย่าฉันเลย ได้บอกกับคุณกัณฑรัตน์ ทรัพย์ยิ่ง ผู้ถวายอาหารประจำว่า วันนี้อย่าเอาอาหารมาเลยเราไม่ฉันละ คุณกัณฑรัตน์ร้องไห้ไปตามแพทย์หญิงชะวดี รัตพงศ์ แล้วแพทย์หญิงชะวดีได้ไปเชิญคุณหมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ มาเพราะคุณหมออุดมไปราชการต่างจังหวัด

เราได้เล่าอาการของโรคที่เป็นอยู่ และความที่เราไม่ค่อยถูกกับบ้านตึกให้หมอฟัง คุณหมอโรจน์จึงได้อนุญาตแลจัดรถส่งเราไปที่บ้านพักคุณกัณฑรัตน์ ๓ คืน ก่อนออกจากโรงพยาบาลคุณหมอบัญญัติ ปริชญานนท์ ได้มาตรวจอาการและให้คำแนะนำในการรักษา คุณหมอโรจน์และคุณหมอชะวดีได้ตามไปรักษาและถวายยาทุกวัน อาการค่อยดีขึ้น เราพิจารณาตัวเอง แล้วเห็นว่ายังไม่ตายก่อน แต่ในสายตาคนทั่วไปแล้วอาจเห็นตรงกันข้ามก็ได้

หมอดูบางคนยังทายว่าเราไม่เกิน ๕ วัน ต้องตายแน่ เมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ไปเยี่ยม เราขอความเห็นจากคุณหมออวยว่า อาตมา จะกลับวัด หมอเห็นว่าอย่างไร คุณหมออวยตอบว่า กลับได้เร็วเท่าไรยิ่งเป็นการดี เราแปลกใจและดีใจที่จะได้กลับวัด เพราะเราคิดว่าถึงตายก็ขอได้ไปตายที่วัดเราดีกว่า และสมแก่สมณสารูปโดยแท้

วันนั้นเถ้าแก่กิมก่ายได้เหมาเครื่องบินพิเศษส่งเรา มีพระและญาติโยมตามมาส่งเราเต็มเครื่องบิน ถึงสนามบินหนองคายเกือบเที่ยง พอดีแม่น้ำโขงกำลังนองเจิ่งล้นฝั่ง จึงต้องขอยืมเรือ น.ป.ข. จากบ้านกองนาง นำส่งถึงวัดหินหมากเป้ง ถึงวัดราว ๕ โมงเย็น หมอชะวดีก็ได้ตามมารักษาโดยตลอดจนถึงวัด และอยู่เฝ้าดูอาการไข้ถวายยาประจำราว ๕-๖ วัน เห็นว่าเรามีอาการดีขึ้นและปลอดภัยแล้ว หมอจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ

เราป่วยครั้งนี้เริ่มตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลหนองคาย จนกระทั่งถึงโรงพยาบาลศิริราช พระสงฆ์สามเณรตลอดถึงประชาชนทั้งที่เราเคยรู้จักและไม่เคยรู้จักต่างพากันสนใจให้ความเมตตาแก่เรามาก ดังจะเห็นได้เมื่อเราไปอยู่ที่โรงพยาบาลหนองคาย ได้มีทั้งพระเณร ตลอดถึงฆราวาสไปเยี่ยมเราแน่นขนัดทุกวัน โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลศิริราช พากันไปมากเป็นพิเศษจนหมอห้ามเยี่ยม

บางคนมาเยี่ยมไม่เห็นเราเพียงแต่ขอกราบอยู่ข้างนอกก็มี จึงเป็นที่แปลกใจมากทีเดียวว่า ไม่ค่อยรู้จักกับคนกรุงเทพฯ เท่าไรนัก เวลาเราป่วยทำไมจึงมีคนมาเยี่ยมเรามากมายเล่า บางคนพอเห็นเราเข้าแล้ว ทั้งๆ ที่เขาผู้นั้นยังไม่เคยเห็นหน้าเรามาแต่ก่อน ยังไม่ทันจะกราบก็ร้องไห้น้ำตาพรูออกมาก็มี

ฉะนั้น เราจึงขอจารึกน้ำใจเมตตาปรานีของท่านทั้งหลายเหล่านั้น อันมีแก่เราไว้ในความทรงจำตลอดสิ้นกาลนาน ผู้ที่น่าสงสารและขอขอบคุณมากที่สุดก็คือผู้ที่มาเยี่ยมและผู้ที่มาช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลเราที่วัดหินหมากเป้ง เมื่อกลับไปแล้วยังย้อนกลับมาอีกก็มี ในขณะนั้นการกลับไปกลับมาเป็นการลำบากมาก ต้องใช้เรือหางยาวเป็นพาหนะ เพราะเป็นเวลากำลังน้ำท่วมและถนนก็ขาด บางทีต้องนั่งเรือตั้ง ๓-๔ ชั่วโมงก็มี

จึงเป็นที่น่าเห็นใจมากที่สุด เมื่อเรามาถึงวัดแล้วอาการโรคทั่วไปค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ ผู้ที่เคารพนับถือต่างก็พากันมาเยี่ยม พรรษานี้เรายอมขาดพรรษาเพราะกลับวัดไม่ทัน

การที่เราอาพาธครั้งนี้ เป็นผลดีแก่การภาวนาของเรามาก พอเราไปถึงโรงพยาบาลหนองคาย อาการโรคของเราไม่ดีขึ้นเลยมีแต่จะทรุดลง เราจึงได้เตรียมตายทันที ยอมสละทุกๆ วิถีทางแล้วบอกกับตัวเราเองว่า ร่างกายและโรคภัยของเจ้า เจ้าจงมอบให้เป็นธุระของหมอเสีย เจ้าจงเตรียมตายสำรวมจิต ตั้งสติให้แข็งแกร่งแล้วพิจารณาชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดก็แล้วกัน


หลังจากนั้นมาจิตสงบสบาย ปราศจากความรำคาญใดๆ ทั้งหมด หมอมาถามอาการโรค เราก็ได้บอกแต่ว่าสบายๆ เถ้าแก่กิมก่ายมารับเอาเราขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯ เราก็ยอมแม้ไปถึงโรงพยาบาลศิริราช หมอมาถามอาการเราบอกว่า อาการไข้ของเราสบายอยู่เช่นเคย แต่คนภายนอกดูแล้วเห็นจะตรงกันข้าม

เมื่ออยู่โรงพยาบาลนานวันเป็นเหตุให้เกิดความรำคาญขึ้นมา เวลาวันคืนดูเหมือนเป็นของยาวนานเอาเสียเหลือเกิน เราจึงได้ย้อนระลึกถึงความยอมสละตายของเราแต่เบื้องต้นว่า เราได้ยอมสละตายแล้วมิใช่หรือทำไมจึงต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพรรค์นี้ เรื่องเหล่านั้นเขาก็ย่อมเป็นไปตามกาลเวลาหน้าที่ของเขาต่างหาก ความตายหาได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นไม่ ต่างก็หน้าที่ของตนๆ จนถึงที่สุดด้วยกันทั้งนั้น

ตอนนี้ความรู้สึกของเราที่ยอมสละเรื่องต่างๆ แล้วเข้ามาสงบอยู่ในปัจจุบันธรรม จนไม่มีความรู้สึกว่าเวลาไหนเป็นเวลากลางวัน เวลาไหนเป็นกลางคืน มีแต่ความสว่างจ้าของจิต แล้วสงบอยู่เฉพาะตนคนเดียว

ภายหลังเมื่อมาตรวจดูกายและจิตของตนเองแล้วเห็นว่าเรายังไม่แตกดับก่อน หากเราอยู่ ณ ที่นี้ อายตนะผัสสะของเรายังมีอยู่จำต้องกระทบกับอารมณ์ภายนอกอยู่เรื่อยไป เมื่อกระทบเข้าแล้วก็จะต้องใช้กำลังสมาธิและอุบายปัญญาต่างๆ ต่อสู้กันร่ำไป อย่าเลย เรากลับไปต่อสู้กันที่สนามชัยของเรา (คือที่วัด) ดีกว่า แล้วจึงได้กลับวัดดังได้กล่าวมาแล้ว

ในปี ๒๕๑๕ ได้เริ่มทำการก่อสร้างอุโบสถ ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวแยกเป็นบทหนึ่งต่างหากต่อไป พร้อมกับขณะที่ทำการก่อสร้างอุโบสถอยู่นี้ ก็ได้ปลูกศาลาบ้านชีอีกหนึ่งหลังทำเป็นเรือนไม้สองชั้น เสาคอนกรีตต่อไม้มุงกระเบื้องลอนเล็กกว้าง ๔ เมตร ยาว ๙ เมตร ข้างล่างทำระเบียงรอบ ข้างละ ๔ เมตร พื้นราดซีเมนต์เสมอกันกับพื้นข้างใน สิ้นเงินไปประมาณ ๗ หมื่นบาทเศษ โดยทุนของวัด

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2015, 19:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๑. พรรษา ๕๑-๕๒ จัดเสนาสนะ วังน้ำมอก (พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗)

ได้ช่วยย้ายโรงเรียนเก่า บ้านโคกซวกและบ้านพระบาท มาปลูกต่อหลังที่ปลูกใหม่เป็นอาคารไม้ ๔ ห้องเรียน เสาคอนกรีตต่อไม้ สิ้นเงินไป ๘๐,๐๐๐ บาท แต่ยังไม่เสร็จ เพราะหมดทุน มา พ.ศ. ๒๕๑๗ นี้ได้เริ่มทำต่อ โดยเชื่อมหลังใหม่กับหลังเก่าให้ติดกัน แล้วได้กั้นให้เป็นห้องทำงานครูใหญ่ ข้างล่างได้ทำเป็นถังเก็บน้ำฝน เทคอนกรีตเสริมเหล็กโดยยาว ๗ เมตร กว้าง ๖ เมตร สูง ๒ เมตร

ขณะที่กำลังย้ายโรงเรียนอยู่นี้ ได้ไปจัดเสนาสนะขึ้นที่ป่าวังน้ำมอก ซึ่งไกลจากที่วัดหินหมากเป้งไปทิศทางตะวันตกราว ๖ กิโลเมตรอีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่วิเวกของผู้ต้องการเจริญภาวนากัมมัฏฐาน เพราะสถานที่แห่งนั้นยังมีสภาพเป็นป่า มีถ้ำ เขาและแม่น้ำลำธารสมบูรณ์เป็นที่วิเวกดีอยู่ เพื่อรักษาสภาพของป่าธรรมชาติไว้

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มี.ค. 2015, 19:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๒. พรรษา ๕๓ สร้างวัดลุมพินี (พ.ศ. ๒๕๑๘)

มีโยมคนหนึ่งถวายที่ ที่ตำบลลุมพินี เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ แล้วมีคนอื่นซื้อเพิ่มเติมอีก ทั้งหมดเป็นที่ประมาณ ๑๑-๑๒ ไร่ จึงได้ตั้งเป็นสถานที่พักวิเวกอีกแห่งหนึ่ง วัดลุมพินีนี้ ไม่แพ้วังน้ำมอกที่ได้สร้างมาแล้ว เพราะมีอาณาเขตจดแม่น้ำทั้งสี่ทิศ สร้างไว้เพื่อผู้ต้องการวิเวกไปอยู่ เนื่องจากที่วัดหินหมากเป้งบางคราวไม่มีความสงบ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ มารู้สึกว่าคนทางภาคกลางสนใจมาสมาคมกับวัดต่างๆ ทางภาคอีสานมากขึ้นเป็นลำดับ วัดเราก็พลอยได้ต้อนรับชาวกรุงมากขึ้นด้วย

ในปี ๒๕๑๘ นี้ สมเด็จพระญาณสังวร ได้สนับสนุนพระภิกษุชาวต่างประเทศ ซึ่งได้อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศฯ ให้ออกไปศึกษาธรรมะที่วัดภาคต่างๆ ของเมืองไทยหลายแห่ง และได้ส่งมาจำพรรษาอยู่ที่นี่หลายรูป ท่านก็สนใจและตั้งใจปฏิบัติด้วยกันทุกองค์

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2015, 16:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๓. พรรษา ๕๔ ไปแสดงธรรมต่างประเทศ (พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๐)

การไปต่างประเทศของเราครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนและความอุปการะจากหลายฝ่าย โดยมีความมุ่งหมายจุดเดียวกัน คือเพื่อการอบรมศีลธรรมในต่างประเทศ นอกจากนั้นเราเองยังต้องการที่จะไปเยี่ยมและให้กำลังใจแก่เพื่อนๆ ทั้งพระไทยและพระต่างประเทศ ที่ได้ไปอบรมเผยแพร่พุทธศาสนาในประเทศเหล่านั้นอีกด้วย

มันเป็นสิ่งที่น่าขบขันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ รู้สึกตัวว่าแก่จวนจะตายอยู่แล้ว ยังอุตส่าห์ไปเมืองนอกกับเขา มิหนำซ้ำภาษาของเขาก็ยังไม่รู้เสียอีกด้วย ว่าที่จริงแล้วการเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้ยังไม่ถูกต้องตามอุดมคติของเราในเรื่องของการเดินทาง สามประการคือ

๑. การไปในภูมิภาคหรือถิ่นฐานใดๆ ก็ตาม ต้องรู้ภาษาคำพูดของเขา
๒. ต้องรู้จักเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของเขา
๓. ต้องรู้จักการอาชีพในภูมิภาค และถิ่นฐานนั้นๆ ของเขา


ทั้งนี้ เพื่อเราจะได้สมาคมกับเขาและพูดเรื่องราวของเขาได้ถูกต้อง แต่นี่เมื่อเราไม่รู้ภาษาของเขาเสียอย่างเดียวแล้วสองข้อข้างท้ายก็เลยเกือบไม่ต้องพูดถึง อย่างไรก็ดี เราก็ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้รู้มากหลายช่วยเป็นสื่อภาษา ให้ความรู้ความเข้าใจแก่เราเป็นอย่างดี ทำให้อุปสรรคด้านภาษาแทบจะหมดความหมายไร้ค่าไปทีเดียว

เรารู้ตัวดีว่า เราอายุมากแล้ว ล่วงเข้าวัยชรามากแล้วไม่อยากไปไหนมาไหน ไปมาก็มากแล้ว หาที่ตายได้ขนาดวัดหินหมากเป้งนี้ก็ดีโขแล้ว อยู่ๆ แม่ชีชวน (คนสิงคโปร์มีศรัทธาในพุทธศาสนาและได้มาบวชเป็นชี และมาจำพรรษาอยู่วัดหินหมากเป้ง) มานิมนต์ให้เราไปสิงคโปร์-ออสเตรเลีย-อินโดนีเซีย เพราะเธอเห็นว่าเราแก่แล้วอยู่วัดไม่มีเวลาพักผ่อน บางทีรับแขกตลอดวัน โดยมากมาเรื่องขอบัตรขอเบอร์กันทั้งนั้นไปทางโน้นคงมีเวลาพักผ่อนบ้าง

เราได้มาพิจารณาดูแล้วเห็นว่า การไปต่างประเทศเมื่อไม่รู้ภาษาของเขา ย่อมเป็นการลำบาก และเมื่อเขาเห็นเป็นคนแปลกหน้าเขาก็จะยิ่งแห่กันมาดู มันจะได้พักผ่อนอย่างไร ยิ่งกว่านั้นเรานั้นเป็นพระสาธารณะ แก่แล้วจะไปมา ณ ที่ใด ต้องพิจารณาให้รอบคอบ บางทีไปเกิดอันตราย เจ็บป่วยหรือตายลง อาจเป็นเหตุทำความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น โดยเฉพาะพระผู้นิมนต์ไปนั้นเอง เขาจะหาว่านิมนต์ไปแล้วไม่ได้ช่วยรักษา ถึงกระนั้นแล้วก็ตาม เธอก็ไม่สิ้นความพยายามจะนิมนต์ไปให้ได้ กอปรทั้งพี่ชายของเธอซึ่งเป็นหัวหน้ากองชุมชนชาวพุทธ ที่เมืองเพิร์ธในออสเตรเลียก็ได้จดหมายมานิมนต์ให้ไปโปรดชาวพุทธที่โน่นด้วย

เราได้พิจารณาแล้ว มีเหตุผลที่ควรแก่การรับนิมนต์ ๓ ประการว่า การไปครั้งนี้มีเหตุผลคุ้มค่าแน่

ประการแรก ประเทศอินโดนีเซียมีพลเมือง ๑๓๐ กว่าล้าน ยังนับถือพุทธศาสนาอยู่ ๑๐ กว่าล้าน ในท่ามกลางศาสนาอื่น คือ ฮินดู-อิสลาม-คริสต์ โดยมิได้มีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำเลยเราได้ฟังจากคนอื่นมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแล้วทำให้เกิดความสงสารชาวอินโดนีเซียมาก แล้วยังได้ทราบว่าเขาเหล่านั้นชอบในการทำภาวนานั่งสมาธิอีกด้วย (ทุกๆ ศาสนาที่เขาถือพระเจ้าเขาจะต้องนั่งสมาธิรวมใจให้สงบ ยึดเอาพระเจ้าของเขาเป็นอารมณ์) เรายิ่งชอบใจใหญ่

ประการที่สอง พระที่มาบวชที่วัดบวรนิเวศวิหารกับสมเด็จพระญาณสังวร (ปัจจุบัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ที่มาทางสายอินโดนีเซีย-ออสเตรเลีย ก็มีจำนวนมาก ก่อนเข้าพรรษาปีนี้พระดอน (Donald Riches) ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ก็ได้นำเอาเทปอัดธรรมเทศนาและรูปของเราไปเผยแพร่ทางออสเตรเลียก่อนแล้ว

เมื่อเขาได้ทราบว่าเราพร้อมด้วยคณะจะเดินทางไปออสเตรเลียก็พากันเตรียมรับรอง บางคนดีใจถึงกับนอนไม่หลับ ที่ออสเตรเลียนี้ มีพระไทยรูปหนึ่ง ชื่อบุญฤทธิ์ เธอบวชมานาน ได้ออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาอยู่ก่อนแล้ว ท่านรูปนี้ได้ทำประโยชน์แก่การเผยแพร่พุทธศาสนาในออสเตรเลียมาก มีหลายรูปที่ได้ไปอบรมกับท่านแล้วเข้ามาบวชในเมืองไทย

ประการที่สาม เรานึกอยู่เสมอว่าต่อไปพุทธศาสนาจะเผยแพร่ไปในนานาชาติมากขึ้น และอาจเผยแพร่แบบบาทหลวงของคริสต์ศาสนา ถ้าเป็นพระไทยออกเผยแพร่แล้วมักจะเอาเปลือกของพุทธศาสนาออกเผยแพร่ หากเป็นคนชาติของเขาเองเข้ามาบวชและอบรมให้เข้าถึงแก่นของพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้วเขาได้นำเอาแก่นแท้ของพุทธศาสนาไปเผยแพร่เองนั่นแหละจึงจะได้แก่น เมื่อพรรษาที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๑๙) ก็ได้มีพระสุธัมโมชาวอินโดนีเซีย ซึ่งบวชกับสมเด็จพระญาณสังวรที่วัดบวรนิเวศวิหาร มาจำพรรษาที่วัดหินหมากเป้ง เวลานี้เธอยังรอรับคณะของเราอยู่ที่อินโดนีเซียนั้นเอง ซึ่งเป็นพระสำคัญรูปหนึ่งที่จะนำเอาแก่นของพุทธศาสนาออกไปเผยแพร่

เมื่อพิจารณาดูถึงเหตุผลทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้ว จึงได้ตัดสินใจด้วยตนเองว่า ชีวิตของเราเท่าที่ยังเหลืออยู่จะขอยอมสละทำประโยชน์เพื่อพระศาสนาเท่าที่สามารถจะทำได้ เมื่อตกลงอย่างนั้นแล้วก็มองเห็นคุณค่าชีวิตของตนมากขึ้น อันเป็นเหตุให้เรายอมสละความสุขส่วนตัวเพื่อพระศาสนาอย่างเด็ดเดี่ยว

แท้จริงมีคนกรุงเทพฯ หลายคนหลายหมู่ได้เคยมานิมนต์ให้เราไปอินเดีย เพื่อนมัสการกราบไหว้ปูชนียสถานต่างๆ โดยรับบริการให้ความสะดวกทุกประการ แต่เราก็ยังไม่ยอมรับอยู่นั่นเอง ได้เคยวาดมโนภาพที่จะไปอินเดียดูมาหลายครั้งแล้ว เพื่อให้เกิดฉันทะในการที่จะไปอินเดีย แต่แล้วใจมันก็เฉยๆ

เมื่อมาพิจารณาดูเหตุผลว่า อินเดียเป็นที่อุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนาเมื่อเราเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า หรือสมัยที่พระพุทธศาสนายังรุ่งโรจน์อยู่ เมื่อปูชนียสถานยังคงเหลืออยู่ควรจะไปนมัสการเพื่อจะได้เกิดธรรมสังเวชหรือความเลื่อมใส แต่แล้วใจมันก็ตื้อเฉยๆ อยู่เช่นเคย หรือว่าเราอาจได้เกิดมาเป็นพระสงฆ์ ในสมัยยุคฮินดูปราบพระและปูชนียวัตถุให้ราบเรียบไป เราอาจเป็นคนหนึ่งในจำนวนพระที่ถูกฮินดูปราบนั้นก็ได้

เราเลยเข็ดฮินดูในอินเดียแต่ครั้งกระโน้นแล้ว เลยไม่อยากไปอีกในชาตินี้กระมัง ใครมีศรัทธามีโอกาสได้ไปกราบไหว้ปูชนียสถานทั้งสี่ ก็นับเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้แก่พระอานนท์ว่า "ปูชนียวัตถุทั้งสี่จะเป็นบ่อบุญแก่สาธุชนเป็นอันมากเมื่อเรานิพพานไปแล้ว" เราวาสนาน้อยมิได้ไปก็ขออนุโมทนาด้วยแล้วก็ขอเป็นหนี้บุญคุณประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่อุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนาไว้ในโอกาสนี้ด้วย

ก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้ได้มาพัก ณ ที่พักสงฆ์สวนของ พลอากาศโท โพยม เย็นสุดใจ ที่ดอนเมือง กลางคืนจะมีผู้มาฟังเทศน์อบรมสมาธิมากขึ้นทุกๆ คืน รู้สึกว่าคนกรุงเทพฯ สมัยนี้คงจะมีความรู้สึกตัวดีกว่าสมัยก่อนว่า เรามาเกิดในเมืองเทวดาตามสมัญญาสมมุติต่างหาก แต่ตัวของเราเองยังคงเป็นมนุษย์ดิ้นรนกระเสือกกระสนทำมาหาเลี้ยงชีพแย่งกันเหมือนๆ มนุษย์ทั่วไปนั่นเอง จึงอยากจะสร้างตนเองให้ได้เป็นเทวดาที่แท้จริงก็ได้

เพราะเคยได้ทราบมาว่าเทวดาที่ไปเกิดในสวรรค์นั้น ไม่มีโอกาสจะได้ทำบุญเหมือนเมืองมนุษย์เรา เมื่อเสวยผลบุญที่ตนได้กระทำไว้แต่ในเมืองมนุษย์นี้หมดแล้ว ก็กลับมาเกิดในเมืองมนุษย์นี้อีก บางทีไม่แน่นอนอาจไปเกิดในอบายก็ได้ ไม่เหมือนพระเสขะอริยบุคคลมีพระโสดาเป็นต้น ท่านเหล่านั้นตายแล้วไม่ไปเกิดในอบายอีกแน่

เราเป็นพระแก่เกิดในถิ่นด้อยการศึกษา บางทีเขานิมนต์ให้เราไปเทศน์อบรมศีลธรรมแก่ผู้ที่มีการศึกษาดี เบื้องต้นเรามีความรู้สึกเหนียมๆ ตัวเองเหมือนกัน แต่มันเข้ากับหลักพุทธศาสนาที่ไม่ให้ถือชั้นวรรณะ ให้ถือเอาความรู้ดีประพฤติดีเป็นประมาณ เพราะคนรู้ดีทำความชั่ว ย่อมทำความเดือดร้อนให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าคนไม่มีความรู้ คนไม่มีความรู้แต่เขาไม่ทำความชั่ว ดีกว่าคนที่มีความรู้มาก แต่นำความรู้นั้นๆ ไปใช้ในทางที่ชั่ว

คนรู้น้อย แต่เขาพยายามสร้างแต่ความดีย่อมนำความเจริญมาให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าคนไม่มีความรู้ คนไม่มีความรู้แต่เขาไม่ทำความชั่ว ดีกว่าคนที่มีความรู้มาก แต่นำความรู้นั้นๆ ไปใช้ในทางที่ชั่ว คนรู้น้อยแต่เขาพยายามสร้างแต่ความดีย่อมนำความเจริญมาให้แก่หมู่คณะ ตลอดถึงประเทศชาติได้ เมื่อได้มาพิจารณาถึงเหตุผลดังกล่าวแล้ว

เราก็สามารถพูดอบรมได้อย่างภาคภูมิใจ เพราะเทศน์อบรมศีลธรรมแก่ผู้ที่มีการศึกษาดีย่อมเข้าใจง่าย ศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น สอนให้รู้จักของธรรมชาติ จึงเข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ทันสมัยดีที่สุด นักศึกษาที่ดีทั้งหลายย่อมมุ่งแสวงหาแต่ความรู้ที่เป็นสาระอันจะนำเอามาประยุกต์ใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของคนเท่านั้น มิได้มุ่งบุคคลว่า จะอยู่ในฐานะและภูมิเช่นไรก็ตาม อย่างสมัยนี้ครูสอนศิษย์มีความรู้สูงๆ แล้วศิษย์กลับนำเอาความรู้นั้นๆ มาสอนครูอีกก็มี

ไม่เหมือนศิษย์ที่เลวๆ บางคนบางกลุ่ม เห็นครูอาจารย์ทำผิดอะไรนิดๆ หน่อยๆ หรือมีความคิดความเห็นไม่ตรงกับของตนแล้ว ถือว่าครูอาจารย์เป็นเรือจ้างรวมหัวกันรุมจิกขับไล่ ถือว่าได้หน้ามีเกียรติ อย่างนี้มันเป็นสมัยพัฒนาวิชาอุบาทว์ มีแต่จะนำมาซึ่งความเสื่อมถ่ายเดียว

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2015, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๓.๑ ถึงสิงคโปร์ประเทศแรก

คณะเราอันมี พระสตีเฟน พระชัยชาญ หมอชะวดี และแม่ชีชวน ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ ถึงสิงคโปร์ในวันเดียวกัน คณะศรัทธามารับและพาไปชมเมืองจนทั่ว

สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ อยู่กลางทะเล มีเนื้อที่เพียง ๓๐ x ๒๕ กิโลเมตรเท่านั้น มีผู้คนอยู่หนาแน่น มีพลเมืองร่วมทั้งเกาะเล็กเกาะน้อยรอบๆ ๓ ล้านเศษ เพราะเนื้อที่น้อย ฉะนั้นเขาจึงปลูกแฟลตสูงๆ สิบชั้นยี่สิบชั้นขึ้นไป เพื่อมิให้เปลืองเนื้อที่ คนไปเห็นแฟลตสูงๆ แล้วเข้าใจว่าคนสิงคโปร์มีแต่คนรวยๆ กันทั้งนั้น แท้จริงแล้วก็เหมือนๆ กับประเทศอื่นๆ ทั่วไปในโลกนี้แหละ บ้านธรรมดาๆ มุงกระเบื้องสังกะสีแม้แต่มุงจากอย่างบ้านเราก็ยังมีเหมือนกัน

เมื่อมนุษย์เรายังมีกิเลสอยู่ตราบใดแล้วจะมีทุกสิ่งทุกอย่างเสมอภาคกันเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลของทุกประเทศก็พากันพยายามต้องการอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่แล้วก็ไม่เห็นเป็นไปตามประสงค์สักประเทศเดียว แม้แต่ประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ ก็โฆษณานักหนาว่าประชาชนพลเมืองของเขาอุดมสมบูรณ์ไม่เดือดร้อน มีสิทธิเสมอภาคกันทั่วหมด

แล้วทำไมพลเมืองเหล่านั้นจึงพากันดิ้นรนเล็ดรอดหนีตายจากเมืองพระศรีอาริย์มาเล่า อันนั้นเพราะอะไร ก็เพราะกิเลสของคนเรามันแก่ตัวเกินไปน่ะซี เรื่องนี้พระพุทธองค์สอนนักสอนหนาว่าให้เห็นอกเขาอกเรา จงมีเมตตาปรารถนาหวังดีต่อกันและกัน ทุกๆ คนก็ปรารถนาเช่นนั้นเหมือนกัน แต่บทเมื่อมาถึงตัวเองเข้า กิเลสปิดบังห่อหุ้มเลยลืมหมด ลงของเก่า

เราเคยสงสัยว่า เหตุใดสิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ จึงแยกออกมาจากมาเลเซียเป็นเอกราชต่างหาก ทำไมจึงไม่รวมกันกับมาเลเซียเพื่อจะได้เป็นประเทศใหญ่ๆ ให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา เมื่อไปเห็นความจริงแล้ว การแยกออกจากมาเลเซียไปเป็นเอกราชต่างหาก นั้นมันเหมาะสมแล้ว เพราะเรื่องวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมและศาสนา ตลอดจนนิสัยของคนสิงคโปร์อาจแปลกต่างไปจากมาเลเซียก็ได้

อนึ่ง สิงคโปร์เป็นเกาะเล็ก มีพลเมืองหนาแน่น อาจมีรายได้ดีกว่ามาเลเซีย แล้วผู้คนก็อาจปกครองง่ายกว่ามาเลเซีย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ก็ยังต้องอาศัยวัตถุดิบ เช่น ไม้ เป็นต้น จากมาเลเซียอยู่นั่นเอง น้ำเป็นปัจจัยสำคัญประจำชีวิตของมนุษย์อย่างยิ่ง สิงคโปร์มีพื้นที่น้อยไม่พอจะทำการกสิกรรมและเกษตรกรรมแม้แต่น้ำบริโภคและน้ำใช้ ก็ต้องอาศัยต่อท่อไปจากมาเลเซียทั้งนั้น

ฉะนั้น มาเลเซียกับสิงคโปร์ถึงแม้จะแยกกันไปคนละประเทศแล้วก็ตาม แต่สัมพันธไมตรีด้านอื่นๆ ยังแน่นแฟ้น อยู่ตามเดิม หากจะตัดก็ต้องตัดสายน้ำนี้แหละ จึงจะขาด

ด้านการจราจรนั้น ถนนหนทางเขากว้างและมีมากพอแก่รถราจะวิ่ง ไม่คับคั่งทั้งคนขับก็ช่วยกันรักษาการจราจร ไม่เห็นแก่ตัวตามสี่แยกต่างๆ จะหาตำรวจจราจรมาทำยาสักนายเดียวก็ไม่มี มีแต่ไฟแดง-ไฟเขียวทำหน้าที่โดยอัตโนมัติอย่างน่าสงสาร ถนนหนทางเขารักษาความสะอาดได้ดี ไม่ค่อยจะมีคนเดินพลุกพล่าน ตามหน้าร้านมีบานกระจกปิดกันฝุ่นเรียบร้อย นอกจากแฟลตที่สูงๆ แล้ว บ้านช่องเขาปลูกมีระเบียบเรียบร้อยน่าดู

ริมถนนและระหว่างบ้านต่อบ้านเขาปลูกต้นไม้ร่มเย็นน่าชมน่าเที่ยว ที่ใดบ้านห่างๆ ไม่ว่าตามในเมืองหรือชานเมืองก็ตามเขาทำเป็นสวนสาธารณะเล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วทำที่พักนั่งเล่นตามโคนต้นไม้ไว้ให้คนไปนั่งพักผ่อนสบาย ตามชายทะเลที่ไม่มีต้นไม้ เขาก็ปลูกต้นไม้ลงแล้วทำลานจอดรถไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยแทบทุกแห่ง ไม่ว่าบ้านริมถนนหรือกำแพงบ้าน ตลอดจนสวนสาธารณะ เขาชอบปลูกดอกไม้พรรณต่างๆ สวยงามมาก ดินของเขาก็ดีอากาศและฝนก็อำนวยตกบ่อยจึงทำให้ดอกไม้ของเขาเขียวชอุ่มอยู่ตลอดกาล

สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กพลเมืองหนาแน่น อย่าพึงเข้าใจว่าจะไม่มีป่าเลย แม้แต่ในเมืองก็ยังมีป่าดงดิบอยู่ ทั้งนี้เพราะเขามีป่าน้อย เขาจึงรักป่าและพันธุ์ไม้แล้วสงวนไว้ดังกล่าวแล้ว สิงคโปร์เป็นเกาะอยู่บนกลางทะเลสูงกว่าระดับน้ำ ฉะนั้นถึงน้ำจะดี ฝนตกเสมอ แต่น้ำก็ไม่ขังชื้นแฉะจึงทำความสะอาดได้ง่ายกว่ากรุงเทพฯ ของเรา ประจวบกับพลเมืองก็เอาใจใส่ช่วยกันรักษากฎหมายบ้านเมืองเป็นอย่างดี

ถึงอย่างไรก็ดี อย่าได้ลืมตัว เพราะคนเราเกิดมาก็เกิดที่สกปรกแล้วก็คลุกคลีอยู่ด้วยของสกปรกทั้งภายนอกและภายในตลอดกาล ชำระสะสางอาบล้างแล้วเดี๋ยวก็สกปรกอีก ผลที่สุดเมื่อตายแล้วก็เปื่อยเน่าสกปรกอีก เมื่อมันเป็นอยู่เช่นนั้นแล้ว คนเราไปอยู่ที่ไหนมันจะสะอาดได้อย่างไรเล่า นอกจากทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกันเข้าใจความจริงนั้นแล้ว แต่ก็ช่วยกันรักษาความสะอาดตามหน้าที่ของตนๆ รักษาความสะอาดภายในตัวของเราอย่างไร ก็ให้รักษาความสะอาดภายนอกเช่นนั้นก็แล้วกัน

บ้านเมืองใดก็ตามที่จะเจริญสมบูรณ์ต้องพร้อมด้วยเหตุ ๔ ประการดังนี้ คือ

๑. ภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิเหมาะสมแก่ผู้คนที่ไปอยู่อาศัย
๒. หัวหน้าผู้บริหารวางระเบียบกฎหมายเป็นยุติธรรม ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยและหย่อนยานเกินไป
๓. พลเมืองช่วยกันรักษาระเบียบกฎหมาย เคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง
๔. ผู้บริหารตั้งอยู่ในยุติธรรม


ถ้าพร้อมด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แล้ว บ้านเมืองนั้นก็จะอุดมสมบูรณ์ ถ้าขาดอันใดข้อหนึ่ง ถึงแม้จะอุดมสมบูรณ์แต่ก็จะไม่สมบูรณ์ กรุงเทพฯ เราจะทำให้สะอาดสมบูรณ์เหมือนสิงคโปร์ไม่ได้เด็ดขาด เพราะสถานที่ไม่อำนวย อยู่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลใครก็ตามเถิด อย่ามาคุยโอ่เลยว่า จะทำกรุงเทพฯให้สะอาดอย่างนั้นอย่างนี้พอเป็นขี้ปากหนังสือพิมพ์เปล่าๆ ทางที่ดีควรมาช่วยกันรักษาความสะอาดตามหน้าที่ของตนๆ ขออย่าได้พากันมักง่ายเห็นแก่ตัวจะดีกว่า เห็นอะไรผิดนิดก็ด่า หน่อยก็โจมตีกันอย่างสาดเสียไร้มารยาท ขาดวัฒนธรรมอันดีงามเหมือนคนไม่มีการศึกษา

ช่วงระยะที่คณะของเราได้อยู่ที่สิงคโปร์นี้เป็นเวลาสิบคืน เราได้อบรมศีลธรรมฝึกกรรมฐานให้ชาวสิงคโปร์ทุกๆ คืนๆ ละไม่เกิน ๓ ชั่วโมง มีคนมารับการอบรมคืนละ ๒๐-๓๐ คน แท้จริงการอบรมศีลธรรมก็คือการชี้ให้เห็นโทษของโลกตามเป็นจริงนั้นเอง ผู้ใดเห็นโทษของโลกนั้นได้ก็ได้ชื่อว่ามองเห็นธรรมแล้วเพราะโลกกับธรรมอาศัยซึ่งกันและกันอยู่


ฉะนั้นเมื่อเราแสดงถึงธรรม ปัญหาของโลกจึงพากันหลั่งไหลเข้ามารอบด้าน ปัญหาทั้งหมดก็เหมือนๆ กับที่มีอยู่ในโลกทั่วๆ ไปนั้นเอง เมื่อสรุปแล้วก็คงอยู่ในวงขอบเขต ๓ ประการ ดังนี้คือ

๑. ปัญหาในครอบครัวและการครองชีพ
๒. ปัญหาที่พึ่งทางใจ
๓. ปัญหาเรื่องต้องการเปลื้องทุกข์ให้หลุดพ้น


ข้อแรก ก็ไม่เห็นแปลกแตกต่างอะไร เมื่อมีโลกก็ต้องมีปัญหาโลกแตกเป็นธรรมดา เมื่อเราผูกเองก็ต้องแก้เป็นละซีคนอื่นใครจะแก้ให้ได้ นอกจากจะบอกวิธีแก้ให้เท่านั้นเอง ปลาติดเบ็ดนายพรานเพราะเหยื่อของนายพรานหุ้มพรางไว้ ปลาเห็นเข้าโฉบเอาด้วยความหิว เมื่อเบ็ดเกี่ยวปากเหยื่อก็ไม่ได้กินยังเหลือแต่ความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างเดียว ความหิวทำให้เกิดทุกข์อย่างนี้ เราให้ความเห็นว่าจงอดเอาเถิด เมื่อเราหลงเหยื่อจนเบ็ดเกี่ยวปากแล้ว ยิ่งดิ้นก็จะมีแต่ความเจ็บปวดทวีคูณ ปลงอนิจจังสังเวชตนเองว่าเป็นทุกข์เช่นนี้ ก็เพราะความหลงผิดแท้ๆ นิ่งๆ เอาไว้ให้นายพรานมาปลดเอาไปต้มยำเป็นอาหารเย็นก็จะเป็นโชคดีของแก

ข้อสอง คนเราเมื่อยังมีหวังอยู่ก็จะต้องดิ้นรนไปจนสุดเหวี่ยงจนหาที่หยุดสุดสิ้นไม่ได้ ตามใจที่ยังไม่ได้อบรมเหมือนกับสัตว์ป่าที่จับมาใหม่ๆ จะฮึกเท่าไรดิ้นเท่าไรเมื่อเชือกยังเหนียวไม่ขาดสัตว์ป่าก็จะเหนื่อยรู้กำลังตนเองแล้วนิ่งยอมจำนน คนเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อไม่สมหวังในสิ่งนั้นๆ ที่เข้าใจว่าจะนำความสุขมาให้ แล้วใจก็จะสงบสุข นั่นแหละจึงจะเห็นที่พึ่งของใจว่า ที่เราแสวงหาความสุขในที่นั่นๆ ด้วยวัตถุภายนอกนั้นที่แท้จริงไม่ใช่แสวงหาความสุขอันแท้จริง เป็นแต่สุขปลอมๆ เปลือกๆ สุขที่แท้จริงได้แก่สุขที่จิตนิ่งไม่ดิ้นรนต่างหาก ผู้มาจับจุดความสุขที่แท้จริงได้อย่างนี้แล้ว แม้ผู้นั้นจะอยู่ในอิริยาบถใด ประกอบภารกิจงานใดๆ อยู่ก็ตาม เขาจะมีใจเป็นสุขอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ แต่เมื่อผู้ที่ยังไม่ถึงและไม่เห็นเช่นนั้นแล้วก็เหมือนเป่าปี่ให้ควายฟัง

ข้อสาม เราได้สอนให้เขาทวนทบย้อนไปพิจารณาถึงข้อ ๑-๒ จนให้เห็นว่านอกจากความสุขอันเกิดจากความสงบแล้ว นอกนี้เป็นความสุขเพียงเพื่ออาศัยและสุขปลอมๆ เท่านั้น แล้วสอนให้เขาเหล่านั้นหมั่นบำเพ็ญเจริญ พิจารณาอยู่อย่างนั้นตลอดไปจนชำนาญ เมื่อชำนาญแล้วจะอยู่ด้วยอาการอย่างไรก็อยู่ได้ตามใจปรารถนา เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วใครจะอยู่ด้วยความสุขก็อยู่ไป ใครจะอยู่ด้วยความทุกข์อย่างไรก็อยู่ไปโดยอิสระเสรี

เท่าที่ได้อบรมมาแล้วและได้ฟังความคิดความเห็นของชาวสิงคโปร์ นับว่าพวกเขามีโชคดีที่มีความคิดความเห็นเป็นธรรมเห็นโทษทุกข์ในความมาเกิดในโลกนี้ เห็นว่าชีวิตของคนเราไม่มีสาระ เป็นเพียงมายาเท่านั้น อนึ่ง เราเองก็ไม่ได้นึกได้ฝันเลยว่าคนสิงคโปร์จะมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถึงอย่างนี้

เมื่อก่อนคนชาวสิงคโปร์โดยมากถือฮินดูบ้าง คริสต์บ้างและลัทธิมหายานบ้าง แต่เมื่อพากันมาได้อบรมศึกษาในหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่ถูกต้องแล้ว ความเชื่อถือในลัทธิและศาสนาเหล่านั้นไม่ทราบจมหายไปไหน คงยังเหลือแต่แก่นแท้ของสัจธรรม เป็นที่น่าชื่นชมที่เขาได้พากันแสดงออกมา ซึ่งความเชื่อมั่นความกล้าหาญความร่าเริงในการที่เขาได้เข้าใจในสัจธรรมที่เป็นสาระอย่างจริงจัง

เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บางคนมีศีลห้าโดยอัตโนมัติ หัดภาวนาทำสมาธิแน่วแน่จนทำให้เกิดญาณรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องของตนและของคนอื่นอีกด้วย

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มี.ค. 2015, 18:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๓.๒ ไปออสเตรเลีย

จากสิงคโปร์ เราได้บินไปออสเตรเลียในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน และลงพักที่เพิร์ธเป็นเมืองด่านแรก แล้วก็ไปเมลเบอร์น ซิดนีย์ แคนเบอร์ร่า ตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้สนใจพุทธศาสนา หรือพุทธสมาคมนิมนต์ให้ไปอบรมศีลธรรมทุกแห่ง ไม่ว่าไทย ลาว พม่า ศรีลังกา ฝรั่งมังค่า ต่างให้การต้อนรับ นับว่าดีเลิศ คณะเราขอขอบพระคุณท่านเหล่านั้นไว้ ณ โอกาสนี้ เป็นอย่างยิ่ง

คำสนทนากับหัวหน้าฮินดู

ระหว่างอยู่เพิร์ธ มีสวามีมาเยี่ยม สวามีหมายถึงนักบวชลัทธิฮินดูนุ่งห่มและสีผ้าคล้ายๆ กับพระธิเบต ตัวท่านเองก็บอกว่าท่านเป็นฮินดูลามะ ฮินดูมีหลายลัทธิ ถือพระเจ้าหลายพระองค์เหลือเกิน จะถือพระเจ้ากี่องค์ๆ ก็ไม่ว่า ขอให้ถือว่าพระเจ้าเหล่านั้นล้วนแยกออกมาจากพระเจ้าองค์เดียวกันก็ใช้ได้ (คือพระผู้เป็นเจ้าผู้สร้างโลกผู้ไม่มีตัว)

ท่านองค์นี้บวชมาได้ ๔๕ ปีแล้ว อายุก็ได้ ๗๖ ปีพอดี ท่านมานั่งรอเราอยู่ที่ห้องรับแขกก่อนแล้ว พอเห็นเราก็ยกมือไหว้เราก่อนด้วยความยินดี มีศีลธรรมอย่างน่ารักมาก เราได้ยกมือไหว้ตอบ สนทนาสัมโมทนียกถาพอเป็นเครื่องทำให้เกิดความอิ่มใจในกันและกันพอสมควรแล้ว เราเริ่มถามถึงลัทธิของท่านที่ท่านประพฤติอยู่ว่าท่านดำเนินไปในแนวไหนและหนักไปในทางใดด้วยความเป็นกันเอง

ท่านได้บอกว่าท่านเป็นสวามีลามะ หัวหน้าสอนศาสนาลัทธิฮินดู ตระกูลของท่านถือฮินดูและตัวท่านเองก็เคร่งในลัทธิฮินดู ได้บวชแต่ยังหนุ่มจนบัดนี้แล้วก็เคยเข้าไปหาพระในธิเบตลัทธิมหายาน

ยังสวามีอีกคนหนึ่ง แต่คนนี้เขาไม่บวชเหมือนคนก่อนเป็นฆารวาสเหมือนคนธรรมดาๆ เรานี้เอง อายุ ๘๑ ปีแล้ว แต่รูปร่างหน้าตาน่ารักมาก ผิวพรรณผุดผ่องยิ้มแย้มอยู่ตลอดเวลา ดูท่าทีแล้วเหมือนคนอายุราว ๖๑ ปีเท่านั้นเอง เขาได้มานั่งรอเราอยู่ที่ห้องรับแขกก่อนแล้ว พอเราออกจากห้องมาเขาเห็นเราเข้าแล้วก็ยกมือไหว้เราก่อนเหมือนสวามีคนก่อน

เขาบอกว่าพอเห็นเราแล้วเมตตามาก (ตามภาษาบ้านเราคือเคารพรักมากนั่นเอง) เมื่อทักทายและแสดงความดีใจซึ่งกันและกันพอสมควรแล้ว เราได้เริ่มซักถามถึงลัทธิที่เขาถือก่อนเช่นเดียวกับสวามีคนก่อน ก่อนจะถามเราได้ขอโทษเขา แต่เขาได้บอกว่าไม่ต้องขอโทษ เรามีธรรมเสมอกัน (คอยฟังมติของเขาต่อไป) เขาบอกว่าเขาไม่ถือศาสนาอะไรๆ ทั้งหมด "เพราะในโลกนี้มีพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น" ศาสดาของแต่ศาสนาล้วนแล้วแต่แยกออกมาจากพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน (คือพระพรหม)

เมื่อทำดีที่ถูกต้องแล้ว ก็เข้าถึงพระเจ้าองค์เดิมเหมือนกัน เขาบอกว่า เขาได้ไปศึกษาแบบโยคะกับอาจารย์ต่างๆ ในประเทศอินเดียถึง ๖ อาจารย์ อาจารย์ของเขาสอนหลายแบบ เป็นต้นว่า แบบฤาษีดัดกาย แบบอดอาหารและกลั้นลมหายใจเข้าออก เป็นต้น (แสดงว่าลัทธิเหล่านี้มีมาแต่ก่อนพุทธกาล คงยังเหลืออยู่จนบัดนี้) เขาเป็นผู้มีความรู้และความสามารถในลัทธิฮินดู และเป็นผู้ยอมสละทุกๆ อย่าง (ไม่มีครอบครัว) ฮินดูศาสนิกทั้งหลาย จึงได้ยกให้เขาเป็นสวามี

เมื่อเราทั้งสองสนทนากัน โดยมีพระสตีเฟนเป็นล่างคนกลางพอสมควร และเราทั้งสองฝ่ายต่างก็พอใจและยินดีในคำพูดของกันและกันแล้ว ก่อนเขาจะลากลับเขาขอกราบเท้าเราเพื่อเป็นสิริมงคล (เราเลยกลายเป็นพระผู้เป็นเจ้าไปเลย) เรารู้สึกละอายใจมาก เพราะเขาเป็นคนดีมีอายุมากและมีคุณธรรมน่าเลื่อมใส จึงบอกว่าไม่ต้องกราบดอก เรามีธรรมเสมอกันก็เป็นสิริมงคลดีอยู่แล้ว ก่อนจะลาไปเขาได้หันหน้ามาไหว้แล้วไหว้เล่าๆ แสดงว่าเขาเคารพด้วยความจริงใจ

สวามีทั้งสองนั้น ถึงคนหนึ่งบวชเป็นพระอีกคนหนึ่งไม่ได้บวชก็ตาม แต่ลัทธิวิธีเข้าถึงพระเป็นเจ้าอย่างเดียวกัน เพราะเป็นลัทธิฮินดูเหมือนกัน เราได้ขอร้องให้ทั้งสองอธิบายวิธีที่จะเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ทั้งสองได้อธิบายเหมือนกัน

คือ องค์แรกบอกว่าบริกรรม โอมะ ช้าๆ สัก ๒-๓ ครั้ง โดยระลึกเอาพระเจ้ามาไว้ที่ใจ เอาใจมาระลึกถึงพระเจ้า แล้วพระเจ้าก็จะมาปรากฏเป็นภาพต่างๆ ขึ้นที่ใจ พระเจ้าจะสอนให้รู้จักผิด รู้จักถูก..ให้ทำดีละชั่ว..บางทีก็ไม่ปรากฏภาพจะมีแต่เสียง (ในหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนาตอนนี้เรียกว่า รูปฌาน ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา..ธรรมเป็นศาสดาตามพร่ำสอนผู้ปฏิบัติดีแล้วไม่ให้ตกไปในทางผิด)

แล้วพระเจ้านั้นจะหายไปยังเหลือแต่ความว่างเปล่า เราเข้าถึงพระเจ้านิรันดรแล้ว (อรูปฌานซึ่งอาฬารดาบสและอุทกดาบสเจริญอยู่ พระสิทธัตถะกุมารไปศึกษาได้แล้วเห็นว่ายังยึดอยู่นั่นแหละไม่เป็นทางพ้นทุกข์ได้ ละทั้งดีและชั่วแล้วจึงจะพ้นทุกข์ จึงได้หนีไปทำทุกรกิริยา)

ส่วนสวามีคนที่สอง ไม่ได้บวชก็อธิบายเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้พูดถึงคำบริกรรม อาจเป็นเพราะเขาหวงเคล็ดลับในลัทธิของเขาก็ได้ แต่เข้าใจว่าคงบริกรรมเช่นเดียวกันเพราะลัทธิเดียวกัน แล้วก็พูดแต่เพียงว่า เมื่อเข้าถึงพระเจ้าแล้ว พระเจ้าจะแสดงภาพต่างๆ มาสอนหรือมีแต่เสียงมาสอน ไม่ได้พูดว่าเมื่อภาพและเสียงนั้นหายไปแล้วยังเหลือแต่ความว่าง แล้วเข้าถึงพระเจ้านิรันดร

สิ่งที่ควรจะเป็นสาระ

นักสนใจใจศาสนาทั้งหลายฟังแล้วสนุกไหม ได้ความว่าอย่างไร เราขอแสดงความเห็นดังต่อไปนี้ หากผิดถูกอย่างไร ขอนักสนใจในศาสนาทั้งหลายได้ให้อภัยด้วย เพราะเราไม่มีโอกาสได้ค้นคว้าตำราศาสนาอื่นๆ นอกจากพุทธศาสนา

เขาให้ทำความเชื่อมั่นแน่วแน่ว่า พระเจ้าเขามีแต่ไม่เห็นตัว พระเจ้าที่เขาเชื่อนั่นแหละ เมื่อทำความเชื่อมั่นแล้วน้อมเอาพระเจ้าหรือเอาใจของเราเข้าไปไว้ในพระเจ้าแล้ว พระเจ้าก็จะมาปรากฏให้เห็น ณ ที่นั้น แม้พุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ในทำนองเดียวกันนี้ ส่วนฝ่ายเถรวาทหรือหินยาน พระพุทธเจ้ามีตัวตนคือพระราชโอรส สิทธัตถะแห่งศากยราช เสด็จออกทรงผนวช ทรงบำเพ็ญเพียรชำระกิเลสในใจจนหมดจดบริสุทธิ์ ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเพราะคุณธรรมทั้งหลาย

แต่ไม่ให้ถือเอาเพียงกายของพระสิทธัตถะเท่านั้นมาเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อผู้มีความเชื่อและเลื่อมใสในพระคุณของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมเอาคุณความดีทั้งหลายเหล่านั้นมาไว้ที่ใจหรือน้อมเอาใจของตนไปตั้งไว้ที่ความดีเหล่านั้นก็ดี เมื่อใจตั้งมั่นอยู่ในความดีเหล่านั้นแน่วแน่เต็มที่แล้ว (เอกัคคตารมณ์) อาจเกิดภาพนิมิตต่างๆ หรือเสียงปรากฏ ณ ที่นั้น ลัทธิพระเจ้าไม่มีตัวตนนั้น เขาถือว่านั้นถึงพระเจ้าแล้วพระเจ้ามาสอนแล้ว

ส่วนพุทธศาสนาถือว่า นิมิตของภาวนาหากมีเสียงสอนบอกกล่าว ก็ถือว่าพระธรรมเป็นเครื่องพร่ำสอน ถ้ามีภาพปรากฏก็ถือว่าเป็นภาพนิมิต พระธรรมเป็นของไม่มีรูปร่าง ผู้เห็นผู้ฟังยังเป็นของมีรูปร่างอยู่ พระธรรมจึงแสดงภาพให้เข้ากับผู้เห็นผู้ฟัง

เมื่อสรุปแล้วทุกๆ ศาสนาและลัทธินิกายสอนให้ศาสนิกชนของตนๆ ละชั่วทำดี น้อมจิตเอาคุณความดีของพระเป็นเจ้าที่ใจของตน หรือเอาจิตของตนให้เข้าไปอยู่ในพระเป็นเจ้า เพื่อเราจะได้เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าเหมือนๆ กันทุกๆ ศาสนา ศาสนิกชนของศาสนานั้นๆ เมื่อไม่เข้าใจในหลักของจริงของศาสนาดังกล่าวมานี้แล้ว มักจะถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งนับถือปฏิบัติไม่เหมือนตนก็เหมาว่าผิด ตนเท่านั้นถูก

แล้วก็หาเรื่องโฆษณาโจมตีกันและกันเพื่อให้ฝ่ายของตนเด่น คนจะได้เข้ามานับถือฝ่ายตนให้มากขึ้น นอกจากมิใช่คำสอนของศาสดาที่ดีมีธรรมเป็นเครื่องอยู่แล้ว ยังจะเป็นที่เพ่งเล็งของปราชญ์ที่ดีทั้งหลายอีกด้วย การถือภาพนิมิตของภาวนากับการเข้าถึงพระเจ้าน่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ของนักปฏิบัติด้วยดี

ให้คติแก่ท่านมหาสมัย

ระหว่างเดินทางอยู่ในออสเตรเลียครั้งนี้ นอกจากจะได้อบรมศีลธรรมแก่ผู้ที่สนใจในหลักพุทธศาสนาแล้ว ยังได้และเปลี่ยนทัศนคติกับหมู่เพื่อนอีกด้วย โดยเฉพาะท่านมหาสมัย ซึ่งทางมหามกุฏราชวิทยาลัยส่งมาอยู่ประจำวัดพุทธรังษี เมืองซิดนีย์

พระมหาสมัยรูปนี้เดิมเป็นคนชาวจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ได้มาอยู่วัดสระปทุมแต่เล็ก จนได้บวชเป็นสามเณรแล้วบวชเป็นพระสอบ ป.ธ. ๕ สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี ๒๕๐๒ ไปช่วยสอนสามัญศึกษาที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี อยู่ ๑ ปี แล้วได้อาสามาเผยแพร่พุทธศาสนาในออสเตรเลียนี้ได้ ๒ ปีแล้ว เป็นรุ่นที่ ๒ ต่อจากเจ้าคุณปริยัติ แล้วก็เป็นรูปแรกที่ได้เข้ามาอยู่วัดนี้ เวลานี้ได้ ๑๓ พรรษา แล้วท่านเป็นพระสุภาพเรียบร้อยน่าเคารพเลื่อมใสมาก

ท่านได้ชื่อว่า เป็นตัวแทนพระสงฆ์ไทยไปเผยแพร่พุทธศาสนาในทวีปออสเตรเลีย เพราะเมื่อก่อนออสเตรเลียไม่เคยมีพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท เขาถือศาสนาคริสต์เป็นพื้น เพิ่งมีวัดและพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทครั้งนี้เอง คนเราสมัยนี้ทั้งโลกมีการศึกษาดีโดยเฉพาะด้านวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีหลักค้นคว้าหาเหตุผลข้อเท็จจริง ส่วนคำสอนของคริสต์ศาสนาสอนให้ใช้ความเชื่อห้ามวิพากษ์วิจารณ์คำสอนที่ตนนับถือ มันเลยขัดกับหลักวิชาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

สันตะปาปาเคยลงโทษใครคนหนึ่ง เมื่อเขาคิดคำนวณว่า โลกกลมมาแล้ว แต่ในที่สุดคนทั้งโลกรวมสันตะปาปารุ่นหลังๆ ก็ได้นำเอาหลักวิชาของตาคนนั้นมาใช้อยู่จนทุกวันนี้ ส่วนหลักคำสอนในพุทธศาสนาปล่อยให้มีสิทธิเสรีเต็มที่ในการคิดค้นใดๆ ก็ตาม แม้แต่ในหลักคำสอนของพุทธศาสนา เพราะหลักคำสอนในพุทธศาสนาสูงกว่าหลักวิชาวิทยาศาสตร์มาก พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้มิใช่แต่ด้านวัตถุอย่างเดียว แต่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ทั้งด้านนามธรรมอีกด้วย เมื่อพิสูจน์ได้ข้อเท็จจริงแล้ว ก็มิได้นำเอามาใช้ในทางที่ให้เกิดโทษ มีแต่จะนำมาใช้ในทางสันติให้เกิดคุณประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่นอีกด้วย บางท่านได้นำมาใช้ได้ผลจนโลกตามเกาะไม่ติด พ้นจากโลกไปเลยก็มี เช่น พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นต้น

จึงเป็นที่น่าเสียดายที่คนเราในสมัยนี้มีการศึกษาดีและสูงๆ แต่โดยมากเข้าใจว่าการศึกษาตำราได้สำเร็จปริญญาแล้วก็เป็นพอ บางคนอาจไม่คิดเลยก็ได้ว่า ตำราที่จะเขียนออกมาเป็นหลักสูตรนั้นเบื้องต้นออกมาจากมันสมองซึ่งนอกเหนือจากตำรา ความรู้ที่ได้มาจากตำรามิใช่ความรู้ที่เกิดขึ้นจากสมองของตนเอง ประสบการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้จากสมองนั้น แลจึงจะเป็นความรู้ของเราเองโดยแท้

ในทางพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า "ปัจจัตตัง" เห็นหรือรู้ชัดต้วยตนเอง อันเนื่องมาจากพลังของใจ ที่ได้อบรมให้เข้าถึงความสงบดีแล้วเกิดความรู้ชนิดนี้และจะปฏิบัติตนเองให้เปลี่ยนจากสภาพเดิมได้ โดยแท้จริง แล้วเข้าถึงสภาพของจริงตามหลักสัจธรรมในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น ผู้จะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมคำสอนของพุทธศาสนา จะต้องมีทั้งการศึกษาและการปฏิบัติควบคู่กันไป จะมีแต่อย่างเดียวอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้


ผู้จะเป็นนักเผยแพร่พุทธศาสนาในสมัยคนมีการศึกษาดีความรู้สูง จึงจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนให้พร้อมทั้งสองอย่างดังกล่าวแล้ว ถ้าหาไม่แล้วก็จะไม่เป็นผลดีแก่การเผยแพร่เท่าที่ควร

นอกจากนั้น เราได้แนะท่านว่า เราควรจะเผยแพร่ให้เต็มแบบฉบับ กล่าวคือ นอกจากเราจะรักษาศีลพระปาฏิโมกข์ให้สมบูรณ์แล้ว เมื่อคณะของเรายังมีน้อยไม่สามารถจะจัดการศึกษาได้ ก็จงรักษากิจวัตรอื่นๆ เช่น ธุดงควัตร มีการออกบิณฑบาต เป็นต้น ทั้งจะเป็นการแบ่งเบาเงินบำรุงโรงครัวอีกด้วย

การเผยแพร่พุทธศาสนาต้องมีการศึกษาพร้อมกับการลงมือปฏิบัติไปด้วยกัน พุทธศาสนาจึงจะมีรากตั้งมั่นอยู่ได้นาน หมู่เพื่อนพร้อมด้วยท่านมหาสมัยต่างก็เห็นดีด้วย แล้วก็รับว่าจะนำเอาไปปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินี้ต่อไป

เราได้ให้คติท่านมหาสมัยไว้ว่า อุปสรรคบนท้องถนนของการเผยแพร่พุทธศาสนาในต่างประเทศมีข้อใหญ่ๆ อยู่สามประการคือ

๑. พระเอาเปรียบชาวบ้านไม่ทำมาหากิน มีแต่ขอทานชาวบ้านเขาร่ำไป
๒. พระลัทธิเถรวาทใจแคบ ไม่ช่วยประชาชนที่ทุกข์ยากลำบาก ไม่เหมือนศาสนาอื่นและลัทธิอื่น
๓. พระเถรวาทห้ามเขาฆ่าสัตว์ แต่ตัวเองยังฉันเนื้อสัตว์อยู่


ผู้จะออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาในต่างประเทศจะต้องประสบอุปสรรคเหล่านี้แน่ ฉะนั้นผู้เขียนจึงได้แนะท่านมหาสมัยให้เตรียมเครื่องมือไว้สำหรับแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ หากท่านไม่ลืมเมื่อเกิดมีอุปสรรคดังว่านั้นขึ้นมา คงจะจับมาใช้ได้ทันที

อนึ่ง อันตรายที่ร้ายกาจยิ่งกว่านั้นของพระผู้จะออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาในต่างประเทศ คือขนบธรรมเนียมประเพณีของเขาซึ่งเรายังไม่เคยชิน อาจเป็นเครื่องกีดขวางและบาดหูบาดตา ในเวลาที่ได้ไปประสบเข้า แล้วทำให้ท้อแท้ระอาเบื่อหน่ายแก่ใจก็ได้ หรือมิฉะนั้นก็อาจทำให้ลืมตัวลืมใจหลงระเริงไปตามเขาก็ได้

ข้อควรคิดที่ได้จากออสเตรเลีย

ตามประวัติ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้นว่า ออสเตรเลียเดิมเป็นเมืองป่า ผู้คนยังไม่ทันเจริญ เผ่าไหนที่เจริญแล้วก็หาล่าเผ่าที่ยังไม่ทันเจริญ เล่นอย่างนายพรานล่าสัตว์กินอย่างนั้นแหละ ชาวอังกฤษเกลียดนักโทษอันธพาลจึงได้ขนใส่เรือมาเทไว้ที่เกาะนี้ เพื่อให้สมน้ำหน้า ดีไม่ดีจะได้ถูกเขาล่าเล่นเป็นสัตว์ไปในที่สุดก็ได้ นักโทษเหล่านั้นคงจะรู้สำนึกตนได้ เพราะเป็นธรรมดาของคนผู้ไม่มีที่พึ่งแล้วต้องพึ่งตนเอง จึงพากันตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินในด้านเกษตรกรรมด้วยความอุตสาหะวิริยะ

จนตั้งตัวเป็นหลักเป็นแหล่งได้ พอดีเหมาะสมกับโลกเขาเจริญด้วยเครื่องจักรยนต์กลไกซึ่งเขาต้องการวัตถุดิบเอามาป้อนโรงงานให้มากๆ พร้อมกับออสเตรเลียสมบูรณ์ ด้วยน้ำด้วยดินอยู่แล้ว เมื่อประชากรมีที่จำหน่ายผลผลิตจากเกษตรกรรมก็ยิ่งทำกันเป็นการใหญ่ รายได้จึงเพิ่มทวีขึ้นเป็นลำดับเลยกลายมาเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์อย่างที่ปรากฏเห็นอยู่แล้ว ชาวอังกฤษซึ่งสมัยโน้นพากันดูถูกเหยียดหยามออสเตรเลีย มาเวลานี้ชักจะอายๆ ออสเตรเลียไปเสียแล้ว

ออสเตรเลียยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก พื้นที่ยังกว้างขวางมาก แต่พลเมืองเพียง ๑๓ ล้านเท่านั้น ทรัพยากรเป็นปัจจัยทำให้ประเทศชาติเจริญอยู่ได้นานๆ ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่มีทรัพยากรมากที่สุด โลหะต่างๆ เกือบจะมีครบถ้วน ในขณะที่บางประเทศหาทรัพยากรบนพื้นแผ่นดิน ในน้ำมาใช้บริโภคจนหมดสิ้น แล้วก็ขุดหรือดำลงไปเอาใต้น้ำใต้ดินมาใช้กำลังจวนจะหมดอยู่แล้วก็มี

บางประเทศก็หาคุ้ยขุดออกมาโชว์เพื่ออวดความรวยความมีของตนก็มี แต่ออสเตรเลียไม่ได้อวดใครเพราะทรัพยากรบนผิวดินบนน้ำยังมีอยู่เหลืออยู่หลาย พลเมืองของประเทศจะเอามาใช้บริโภคก็ยังไม่หมด ต่อไปในอนาคตหากไฟบรรลัยโลกยังไม่อุบัติขึ้น ออสเตรเลียอาจเป็นพี่เลี้ยงสำคัญของโลกประเทศหนึ่งก็ได้

แม้ว่าขณะนี้โลกจะให้สมัญญาสมมุติว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าเมื่อพัฒนาแล้วออสเตรเลียมิได้ทำอะไรอีก นั่งกินนอนกินอยู่เป็นสุขสบายเลย แต่แท้จริงเขาได้พยายามทะนุถนอมรักษาสิ่งที่เขาได้พัฒนานั้น และยังพยายามหาทางพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปอีก

จงหันมาดูเมืองเทวดาของไทยเราซิ เข้าไปในเมืองแล้ว เทวดาสักองค์เดียวก็ไม่เห็น เห็นมีแต่จิ๊กโก๋จิ๊กกี๋ฮิปปี้เต็มไปหมดในท้องถนน คนไม่เคยพัฒนาและไม่รู้จักความหมายในคำว่าพัฒนาก็เข้าใจว่าทำสิ่งใดลงไปเสร็จแล้ว สิ่งนั้นจะไม่ต้องทำอีกต่อไป เข้าใจเช่นนั้นผิด เด็กเมื่อเจริญมาถึงขั้นเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ชอบใจ

เมื่อมาถึงขั้นแก่แล้วจึงจะรู้ตัวว่า หนุ่มๆ สาวๆ นั้น คือแก่ยังมาไม่ถึงต่างหาก มิใช่หนุ่มสาวดอก บ้านเมืองถนนหนทางที่ทำให้มีระเบียบเรียบร้อยสวยงามนั้น ที่แท้คือไปเอาวัตถุอันนั้น มาจากที่อื่นซึ่งเขาสูญสิ้นไปมาประกอบขึ้น ณ ที่นั่นต่างหาก อันแสดงถึงการเก็บหอบเอาของจาก ณ ที่นี้ไปปรับปรุง ณ ที่โน้นให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้นเอง

คนเราเจริญเติบโตอยู่ได้เพราะอาหาร แต่ต้องสิ้นเปลืองเลือดเนื้อของสัตว์อื่น และพืชพันธุ์อื่นเป็นอันมาก คนเราเดินทางมุ่งแต่จะให้ถึงจุดหมายปลายทาง แต่ลืมว่าเราได้ละต้นทางไกลออกไปทุกทีๆ คนเราจงอย่าได้มองแต่ข้างหน้าถ่ายเดียว ตามสายตาซึ่งมันมีอยู่ข้างหน้า

จงใช้ปัญญาย้อนมาดูข้างหลังบ้างจึงจะเห็นของจริง แล้วจึงจะทำให้เราหายเมาหลงลืมตัว เข้าถึงหลักสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2015, 18:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๓.๓ เยี่ยมอินโดนีเซีย

จากออสเตรเลีย เรากลับมาพักที่สิงคโปร์ แล้วจึงเดินทางต่อไปอินโดนีเซียเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ มีบรรดาพวกเพื่อนของเราที่อยู่ในอินโดนีเซียเกือบทั้งหมดคือ ท่านเจ้าคุณสุวีรญาณ พระครูธรรมธรสมบัติ พระสุธัมโม พระอัคคปาโล และพระเขมิโย ต่างมาคอยรอรับที่สนามบินจาการ์ตาด้วย รวมชาวพุทธสมาคมที่นั่นด้วย

นอกจากนครจาการ์ตาแล้ว เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเมืองอื่นๆ อีก เช่น บันดุง ยอร์คจาการ์ตา เมนดุด สะมารัง สุราบายา และบาหลี เป็นต้น ได้ไปเยี่ยมพุทธสมาคมและวัดทางพุทธศาสนาที่คณะธรรมทูตได้เป็นหัวหน้าจัดสร้างไว้ดังเช่น วัดมัชฌิมศาสนวงศ์ที่อยู่ติดเจดีย์เมนดุด หรือวัดธรรมทีปารามที่บาตู มาลัง สุราบายา แต่ละแห่งเราได้เห็นด้วยความปลื้มใจ ทุกเย็นจะมีพุทธบริษัททั้งหญิงชายและหนุ่มแก่ มารวมไหว้พระสวดมนต์มิได้ขาด หลังจากนั้นพระท่านก็จะเทศนาอบรมและพาให้ทำสมาธิกันเป็นประจำ

ทัศนคติของเรา

เราเข้ามาในอินโดนีเซียได้เห็นปูชนียวัตถุอันมีลักษณะเป็นศาสนาประสมกันแล้ว อดที่จะเกิดความสลดสังเวชไม่ได้ พร้อมทั้งหวนระลึกถึงเมืองไทยของเรา เราปฏิเสธอนุสาวรีย์ และปูชนียสถานไม่ได้ว่า เป็นของไม่มีค่ามหาศาล ดูแต่ชาวอินโดนีเซียซิพระสงฆ์และคัมภีร์พุทธศาสนาก็ไม่ทราบว่า หายสาบสูญไปจากอินโดนีเซียแต่เมื่อไร ไม่มีใครทราบเลย ฮินดูยิ่งแล้วใหญ่ไม่มีพระเลยมีแต่ปูชนียวัตถุและคัมภีร์เท่านั้น ด้วยความยึดมั่นในศาสนวัตถุปูชนียสถานแท้ๆ ที่ยังมีชาวอินโดนีเซียเหลือนับถือพุทธศาสนาอยู่ ๑๐ กว่าล้านคนในจำนวนพลเมือง ๑๑๓ ล้านคน

แล้วทำไมนะ คนเราจะต่างคนต่างอยู่ไม่ได้เทียวหรือ ทำไมจึงต้องอิจฉาทำลายล้างผลาญซึ่งกันและกัน อันมิใช่หน้าที่ของตน ทำไมมนุษย์เราจึงหน้ามืดด้วยกิเลสตัณหา ไม่เห็นใจคนอื่นประเทศอื่นเขาบ้างเลย การเสียเอกราชของชาติย่อมหมายถึงเสียสิทธิเสรีและอธิปไตยทั้งหมด อินโดนีเซียไม่ทราบว่าได้เสียเอกราชให้แก่ชาวมุสลิมแต่เมื่อไร ไม่เคยมีประวัติกล่าวไว้ด้วย เพราะหนังสือประวัติต่างๆ เขาเผาทิ้งหมด มาทราบเอาบ้างก็ตอนฮอลันดามาปกครองอยู่ ๓๐๐ กว่าปีนี่เอง

ถึงกระนั้นก็ตามหนังสือและคัมภีร์ต่างๆ ที่เกี่ยวถึงประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียนั้น ฮอลันดาก็เก็บเอาไปหมด ชาวอินโดนีเซียจึงไม่ผิดอะไรกับเขาจับไก่มาถอนขนแล้วปล่อย มิหนำซ้ำปูชนียสถานต่างๆ ซึ่งสร้างมาด้วยศรัทธา (ตามประวัติว่าสร้างอยู่ ๙๐ ปี) ตามที่ดูก้อนหินต่างๆ แล้วแสดงว่ายังไม่เรียบร้อยดีเลย ซึ่งคนในอีกล้านปีข้างหน้าหากจะสร้างด้วยเงินก็ไม่มีวันจะทำได้สำเร็จ หินล้วนๆ แท้ๆ ไม่มีจิตใจจะไปโกรธแค้นใคร ยังไม่พ้นน้ำมือของอสุรกายไปทำลายจนได้แล้วทำเช่นนั้นมันจะได้อะไรแก่ผู้ทำเล่า นอกจากชาวโลกรุ่นหลังๆ อีกกี่ร้อยกี่พันปีมาเห็นเข้าแล้ว ทั้งๆ ที่มิใช่ประเทศของเขาและเขาก็ไม่เห็นหน้าและทราบชื่อผู้กระทำนั้นต่างก็พากันสาปแช่ง ไม่ให้มาผุดมาเกิดเห็นโลกนี้อีกต่อไป โลกนี้จึงเป็นของที่น่าเบื่อหน่ายหนักหนา

เมื่อหวนระลึกถึงเมืองไทยประเทศไทยแล้ว ปูชนียวัตถุในพุทธศาสนายิ่งมีค่ามากกว่าที่อินโดนีเซียเสียอีก ถึงอินโดนีเซียจะมีปูชนียวัตถุเป็นของใหญ่โตน่ามหัศจรรย์สักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นทัศนียสถานเหมือนโบสถ์วิหารในเมืองไทยเรา ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่จะมีปูชนียสถานอันน่าเลื่อมใสยิ่งไปกว่าเมืองไทยเรา เราเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยว่า ถ้าหากคนไทยศึกษาให้เข้าใจ ในความหมายของพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้วยอมปฏิบัติตามให้ถูกต้อง ลัทธิและการเมืองใดเล่าในโลกนี้จะมาทำลายพุทธศาสนาให้สูญสิ้นไปจากเมืองไทยได้ย่อมไม่มี

ขณะที่เราไปตระเวนอยู่ในอินโดนีเซีย เจ้าคุณสุรีวรญาณ และพระครูธรรมธรสมบัติ พระสุธัมโมเป็นผู้รับรองทั้งเป็นมัคคุเทศก์ด้วยโดยตลอด เจ้าคุณวิธูรธรรมาภรณ์ไม่อยู่ ไปกรุงเทพฯ ยังไม่กลับ เมื่อไปเห็นร่องรอยและความเลื่อมใสอันฝังลึกเข้าถึงจิตใจของชาวอินโดนีเซียในตัวของเจ้าคุณวิธูรฯ แล้ว ทำให้เราเกิดความเลื่อมใสและเห็นความสามารถของท่านมากๆ เด็กๆ ตัวเล็กๆ

เมื่อเอ่ยชื่อถึงท่านเจ้าคุณวิธูรฯ แล้วจะรู้จักกันทั้งนั้น ท่านเป็นพระที่ยอมเสียสละและอดทนอย่างยอมพลีชีพ เพื่อบูชาพระศาสนาจริงๆ นับว่าเป็นกำลังใหญ่สำคัญแก่สมเด็จพระญาณสังวร และพระสงฆ์ไทยในการไปเผยแพร่พุทธศาสนาในอินโดนีเซียมาก หลายศตวรรษมาแล้วนับแต่พระสงฆ์ไทยได้ออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาในต่างประเทศ

หลังจากเจ้าคุณพระอุบาลีสมัยกรุงศรีอยุธยาได้นำคณะสงฆ์ไทย ๑๕ รูป ออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาในศรีลังกาแล้ว ก็เห็นจะมีครั้งนี้กระมังที่เอากันจริงจัง แล้วก็ปรากฏเห็นผลเป็นที่น่าพอใจมาก แต่เป็นที่น่าเสียดาย รู้สึกว่า หาพระผู้จะเป็นเช่นอย่างเจ้าคุณวิธูรฯ นี้มีน้อย ถ้าหาได้มากๆ รูปหน่อยก็จะเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนา และแก่นานาชาติซึ่งเขากำลังต้องการอยู่มากในเวลานี้ ผู้ให้เมื่อมีของต้องการอยู่ก็ควรให้เขา ในเมื่อเขาอยากได้มิใช่หรือ หรือพระสงฆ์ไทยเรามีจำนวนเป็นแสนๆ พากันเป็นพระจนไม่มีอะไรจะเอาไปแจกจ่ายเขาแล้วอย่างนั้นหรือ ?

เวลานี้ชาวอินโดนีเซียพากันตื่นตัวขะมักเขม้นฟื้นฟูพุทธศาสนากันอย่างเอาเป็นเอาตายกันทีเดียว ดังจะเห็นได้จากเมื่อมีบุคคลบางกลุ่มกีดกันไม่ให้เจ้าคุณวิธูรฯ กลับไปอินโดนีเซียอีก ชาวพุทธเขาพร้อมกันต่อต้านเอาหัวชนเสาเลย ทุกระแหงแม้ตามชนบทบ้านนอก ถึงแม้จะไม่มีพระเป็นผู้นำเขา เขาก็นำกันเอง โดยมีหัวหน้าซึ่งเขาตั้งกันขึ้นเองเรียกว่า บัณฑิตตะ แนะนำชักชวนให้เข้ามาเป็นพุทธมามกะเป็นกลุ่มๆ แล้วตั้งชื่อให้ว่า พุทธสมาคม แล้วชาวอินโดนีเซียยังเชื่อมั่นฝังอยู่ในใจของทุกๆ คนว่า พ.ศ. ๒๕๒๐ นี้ พุทธศาสนาในอินโดนีเซียจะฟื้นฟูกลับคืนมาอีกวาระหนึ่ง

มีเรื่องเล่าไว้ว่า อินโดนีเซียรุ่งโรจน์ด้วยพุทธศาสนา มีเอกราชอธิปไตยของตนเองมานานแสนนาน จะด้วยเหตุผลอันใดก็ไม่ทราบได้ เจ้าผู้เป็นใหญ่ในเมืองโมโจเคอร์โต ซึ่งเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์มิชะปาหะโต ที่กลับใจไปนับถืออิสลามแล้วก็ประกาศให้ชาวเมืองนับถือด้วย

มีแต่พระราชบุตรองค์เดียวที่ใจแข็ง ยอมสละชีวิตไม่ยอมนับถือศาสนาอิสลามหนีเข้าป่าเลยก่อนจะหนีเข้าป่ายังได้ประกาศออกมาอย่างเด็ดเดี่ยวว่าอีก ๕๐๐ ปีข้างหน้าจะกลับคืนมาฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินโดนีเซียให้รุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็นับมาจากนั้นมาถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ ครบถ้วน ๕๐๐ ปีพอดี ฉะนั้น ชาวอินโดนีเซียจึงเชื่อมั่นตามคำพยากรณ์ของพระราชบุตรองค์นั้นว่า พุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ นี้แน่นอน

เราอยากขออ้อนวอนเจ้ากูผู้มีเมตตา ได้แผ่ความเมตตาไปในทิศอินโดนีเซียบ้างเถิด เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธศาสนาสนองพระมหากรุณาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2015, 18:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๔. พรรษา ๕๕-๕๖ สังขารนี้เป็นวัฏจักร (พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๑)

สังขารร่างกายเป็นวัฏจักรมีการหมุนไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้จิตใจของผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมก็ต้องเป็นวัฏจักรด้วย ผู้ที่ฝึกฝนแล้วจึงจะเห็นเป็นของเบื่อหน่าย อย่างตัวของเรา เมื่อออกจากหมู่ที่ภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๐๗ อยู่เฉยๆ เสียงก็แหบแห้งจนจะพูดไม่ออกมาคราวนี้ก็อีกเหมือนกัน หลังจากพวกพระนวกะ (นักศึกษาแพทย์ศิริราช) ที่มาอบรมศึกษาธรรมะเพิ่งกลับไป

เราอาพาธเล็กๆ น้อยๆ แต่เสียงก็แหบแห้งไปเฉยๆ จนกระทั่งบัดนี้เสียงก็ยังไม่กลับเหมือนเดิม คุณหมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้นิมนต์ให้ไปตรวจสุขภาพทั่วไปที่ รพ.ศิริราช เมื่อตรวจแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีโรคอันใด นอกจากโรคชราเท่านั้น

วัฎจักรย่อมเป็นไปอย่างนี้ ทุกรูปทุกนามก็จะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด จะต่างกันก็แต่อาการเท่านั้น

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มี.ค. 2015, 18:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๕. พรรษา ๕๗-พรรษา ๗๐
๒๘ ปีที่วัดหินหมากเป้ง (พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๓๕)


จำเดิมแต่เรามาอยู่วัดหินหมากเป้งได้ ๒๘ ปีเข้านี่แล้วนับว่านานโข ถ้าเป็นฆราวาสก็พอสร้างฐานะได้ พอมีอันอยู่อันกินได้พอสมควร เป็นพระแก่ก็อยู่เฝ้าวัดเป็นธรรมดาๆ อย่างพระแก่ทั่วไป ไปไหนก็ไม่ได้อย่างเมื่อก่อน ถึงไปก็ไม่มีป่าเที่ยวรุกขมูลอย่างพระธุดงค์เหมือนแต่ก่อน เขาโค่นป่าทิ้งหมดแล้วและลูกหลานก็มากเข้าทุกวันๆ ไปไหนก็มีลูกเกิดจากโอษฐ์ มิได้เกิดจากอุทรแห่ตามกันเป็นพรวน

ดังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล นิมนต์ไปวิเวกที่ออบหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีผู้ตามเป็นพรวนไปเลย แทนที่จะอดอาหารทรมานกาย ทำความเพียรภาวนา มันตรงกันข้าม อาหารการกินก็รุ่มรวยมาก มีเบาะมีเตียงชั้นดีให้นอน เรื่องปัจจัยธาตุสี่นี้ถ้ามันฟุ่มเฟือยมากก็เป็นอุปสรรคแก่การภาวนาของผู้ที่ยังไม่เป็นอย่างสำคัญ

วัดใดสำนักใดที่ปัจจัยลาภมากมักทะเลาะกัน และการศึกษาธรรมะก็ไม่เจริญเท่าที่ควร ถึงทางโลกๆ ที่เป็นพื้นฐานนี้ก็เช่นเดียวกัน ลาภสักการะเกิดมีขึ้น ณ ที่ใด ที่นั้นย่อมเป็นภัยอันตรายแก่คนหมู่มาก เป็นเจ้านายฉ้อราษฎร์บังหลวง โกงกินกันแหลกลาญไปหมด ทะเลาะกันเพราะผลประโยชน์ไม่เท่ากัน พ่อค้าประชาชน ผู้มีอิทธิพลขัดผลประโยชน์กัน ฆ่ากันตายนับไม่ถ้วน พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า "กาโร กาปุริสัง หนติ" สักการะย่อมฆ่าบุรุษผู้ที่มีปัญญาทราม ดังนี้

อยู่ที่เก่านานเกินไปชอนฝังรากลึกลงไปทุกที ญาติโยมไปเห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในบริเวณวัด ก็มีศรัทธาก่อสร้างขึ้นจนเป็นถาวรวัตถุสวยๆ งามๆ มีก่อสร้างสวยงามขึ้นมาแล้วก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องรักษา เมื่อไม่รักษาก็เป็นโทษตามวินัยของพระผู้รักษาก็ใครล่ะ ก็พระแก่นั่นแหละ อบรม สั่งสอน การนั่ง นอน อยู่กิน บิณฑบาต และกิจวัตรทั้งปวง ตลอดถึงการศึกษาของพระภิกษุและสามเณรทั้งหมดที่อยู่ในวัดมาเป็นภาระของพระแก่คนเดียว เขาให้ชื่อว่า สมภาร สมจริงดังเขาว่า เรื่องนี้หลีกเลี่ยงก็ไม่ได้ จำเป็นต้องสู้ไปจนกว่าจะสิ้นชีพ

บุญคุณของพุทธศาสนา

เมื่อมาคิดถึงครูบาอาจารย์และพระผู้ใหญ่แต่ปางก่อน มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านนำพระศาสนาก็ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ก็มีใจกล้าหาญขึ้นมาว่า เราคนหนึ่งก็ได้นำพระศาสนามาได้โดยลำดับ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นคนแล้วยังบวชในพระพุทธศาสนายังได้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ เมื่อเขาทำอัญชลีกรรมกราบไหว้หรือทำทานวัตถุต่างๆ ก็นึกถึงตนเสมอว่า เขากราบไหว้อะไร เขากับเราก็เช่นเดียวกัน คือ เป็นก้อน ดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกัน

แท้จริงอย่างน้อย เขาก็เห็นแก่ผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์แล้วจึงกราบไหว้ พระศาสนาอยู่ได้ด้วยความเชื่อถืออย่างนี้ ถึงแม้จะไม่เห็นจริงจังด้วยใจของตน แต่เชื่อด้วยความเห็นที่สืบๆ กันมา

เราคิดถึงบุญคุณของพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง แต่บวชมาก็นานแล้ว ศาสนาได้ปรนปรือตัวของเราให้เป็นคนดีตลอดเวลา ศาสนามิได้แนะนำสอนให้เราทำความชั่วแม้แต่น้อย แต่ถึงขนาดนั้นพวกเราก็ยังฝ่าฝืนคิดจะทำชั่วอยู่ร่ำไป ที่อยู่ ที่นอน เสื่อ หมอน มุ้งม่านและอาหารการกินทุกอย่าง ที่เราบริโภคใช้สอยอยู่ทุกวันนี้ล้วนแต่เป็นของพุทธศาสนาทั้งนั้น

ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บก็เป็นของผู้มีศรัทธาในพระศาสนาสละมาทำทานทั้งนั้น เราบวชมาเป็นพระครั้งแรกก็ต้องอาศัยผ้ากาสาวพัตร์ อันเป็นเครื่องหมายของท่านผู้วิเศษที่อุปัชฌาย์อาจารย์ให้แก่เราแล้วทั้งนั้น (อุปัชฌาย์อาจารย์ ก็เป็นเพียงตัวแทนพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่ยึดเอาพระรัตนตรัยมาเป็นหลักด้วยกันทั้งนั้น) เมื่อได้เครื่องทรงอันวิเศษนี้แล้ว เขาก็กราบไหว้ทำบุญสุนทานจนเหลือหลาย เราไม่ตายอยู่มาได้จนตราบเท่าทุกวันนี้ก็เพราะศาสนา พุทธศาสนามีคุณอเนกอนันต์เหลือที่จะพรรณนานับแก่ตัวของเราพร้อมทั้งโลกทั้งหมดด้วยกัน

เมื่อเราได้มาอยู่ที่นี่หรือที่ไหนๆ ก็ตาม เมื่อกำลังทางกายมีอยู่เราก็ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุทางพุทธศาสนา ไว้เป็นหลักฐานตามสมควรแก่อัตภาพของตน เมื่อเราแก่แล้วเราไม่มีกำลังกายพอจะก่อสร้างได้ ญาติโยมเขามีศรัทธาบริจาคทรัพย์ เราก็เอาทรัพย์นั้นมาก่อสร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนาแทนตัวต่อไป

ถ้าหากมีเหลือพอเฉลี่ยให้แก่วัดอื่นๆ ได้เราก็เฉลี่ยไป แต่ไม่ยอมเป็นทาสของอิฐ ปูน หรือไม้ แต่ไหนแต่ไรมา เพราะเราเห็นว่าของเหล่านั้นเป็นภายนอก ของเหล่านั้นจะสร้างให้สวยสดงดงามสักปานใด จะหมดเงินกี่ร้อยล้านก็ตาม หากตัวของเราไม่ดีประพฤติเหลวไหลแล้ว ของเหล่านั้นไม่มีความหมายเลย แก่นพุทธศาสนาแท้มิใช่อยู่ที่วัตถุ แต่หากอยู่ที่ตัวผู้ประพฤติต่างหาก อันนี้เป็นหลักใจของเรา

การบวชที่ได้นามว่า เนกขัมมะเพื่อละกามทั้งหลาย ตั้งใจปฏิบัติตามสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น จึงไม่ควรที่จะนำเอาตัวของตนไปฝังไว้ในกองอิฐกองปูนโดยแท้

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2015, 18:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓๕.๑ อุโบสถวัดหินหมากเป้ง

ในราว พ.ศ. ๒๕๐๙ นายกอง ผิวศิริ อยู่บ้านโคกซวก ตำบลพระพุทธบาทนี้ มีจิตศรัทธาสร้างพระประดิษฐานบนก้อนหินใหญ่ หันหน้าไปทางแม่น้ำโขง ทำด้วยหินปูน และทราย ไม่ได้ผูกเหล็ก โดยใช้หินก้อนใหญ่ที่หาเอาในบริเวณวัดนี้ผสมกับปูนและทรายก่อขึ้นเป็นองค์พระ แกหาทุนทรัพย์และดำเนินการหาช่างมาก่อสร้างด้วยลำพังตนเอง เราไม่เกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างไร ทราบว่าสิ้นเงินไปราว ๑,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท) ได้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้างราว ๔ เมตรเศษ สูงตั้งแต่ฐานจรดยอดพระเกศราว ๕ เมตรเศษ

แต่รูปร่างลักษณะก็มิได้งดงามอย่างนี้ เพราะช่างที่ว่าจ้างมานั้นเป็นช่างพื้นบ้านธรรมดาๆ ไม่มีความสามารถและชำนาญในการปั้นพระมากนัก ต่อมาเราได้หาช่างที่มีความสามารถมาตกแต่งแก้ไข โดยเฉพาะพระพักตร์ตกแต่งแก้ไขอีกสองสามครั้งจึงสำเร็จเรียบร้อยสวยงามดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เสร็จแล้วเราได้สร้างศาลาครอบองค์พระไว้ โดยทุนของวัดและพระเณรช่วยกันทำเอง

ต่อมาทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เราจึงพิจารณาเห็นว่าวัดหินหมากเป้งแห่งนี้ นับว่าเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ สมควรที่จะมีอุโบสถไว้เพื่อประกอบสังฆกรรมตามธรรมวินัย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาสืบไป และเห็นว่าบริเวณที่ประดิษฐานพระองค์ใหญ่นั้น หากจะสร้างอุโบสถครอบไว้แล้วคงจะเหมาะสมดีนัก เมื่อเสร็จแล้วจะได้ทั้งพระอุโบสถและพระประธานพร้อมกันทีเดียว

จึงได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พลอากาศโท ชู สุทธิโชติ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

อุโบสถหลังนี้ทำเป็นหลังคาสองชั้น กว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สูงจากพื้นถึงเพดาน ๙ เมตร มุงกระเบื้องดินเผากาบกล้วย โดยคุณไขศรี ตันศิริ กรมอนามัย เป็นผู้ออกแบบ อาจารย์เลื่อน พุกะพงษ์ แห่งกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบลวดลายต่างๆ ตลอดจนแนะนำการก่อสร้าง นายไพบูลย์ จันทด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เฉพาะค่าแรงงานราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) น.ท.พูนศักดิ์ รัตติธรรม เป็นผู้หาเครื่องอุปกรณ์ที่มีอยู่ทางกรุงเทพฯ นายแสงเพ็ชร จันทด เป็นเหรัญญิก และหาอุปกรณ์ตลอดจนควบคุมการก่อสร้างโดยใกล้ชิด

ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดแสนบาท) ได้จากท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งสิ้น ได้จัดให้มีการฉลองอุโบสถ ยอช่อฟ้า ผูกพัทธสีมาตัดลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๕-๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพลอากาศโทชู สุทธิโชติ เป็นประธานฝ่ายฆราวาสอีกเช่นกัน

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ทำการซ่อมแซมเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องซีแพคโมเนีย ทำช่อฟ้าใบระกาคันทวยหางหงส์ ทำลวดลายปูนปั้นซุ้มประตู หน้าต่าง บัวหัวเสา กำแพงแก้วรอบอุโบสถ ทาสีทั้งภายในและภายนอก สิ้นทุนทรัพย์ ๔๕๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน)


ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ทำการปิดทองพระประธานองค์ใหญ่สิ้นทุนทรัพย์อีก ๒๙๙,๕๐๐.๐๐ บาท (สองแสนเก้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาทถ้วน)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 75 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร