วันเวลาปัจจุบัน 11 ก.ย. 2024, 12:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 75 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2010, 08:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


ศุภนิมิตและความรู้ที่เป็นธรรม
เกิดขึ้นในสมัยเป็นเด็ก


เนื่องจากในระยะนี้ จะเพราะชีวิตของเรากำลังจะก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ โยมพ่อของเราจึงสนใจในตัวเรามากเป็นพิเศษ ตอนรับประทานอาหารเย็น (ราว ๑ ทุ่ม) เสร็จแล้วท่านมักจะหาเรื่องแลชักอุทาหรณ์ไม่ว่าด้านทางโลกแลทางธรรมมาสอนเราอยู่เสมอ บางทีก็ถามปัญหาหยั่งความคิดเห็นของเราบ้าง เช่น ท่านถามว่า "มึงชอบผู้หญิงและเมื่อจะแต่งงาน จะแต่งงานกับผู้หญิงชนิดไหน"

ดังนี้เป็นต้น คำตอบเรายังจำได้ไม่ลืมว่า "ชอบผู้หญิงผิวขาวเหลือง เนื้อกลมเกลี้ยงและสุภาพเรียบร้อย พร้อมทั้งกายแลวาจาใจ ส่วนสกุลไม่ค่อยมีปัญหา หากมีสกุลด้วยยิ่งดี"

วันหนึ่งเรานอนหลับกลางคืนได้เกิดสุบินนิมิตว่า เรากับเพื่อนหลายคนด้วยกันออกจากบ้านไปเที่ยวตามท้องทุ่งนาตามประสาของ เด็กสมัยนั้น ขณะนั้นได้มีพระกัมมัฏฐานสองรูปสะพายบาตรแบกกลดเดินมา เห็นเราเข้าแล้วหนึ่งในสองนั้นวิ่งปรี่เข้าหาเราเลย เรากลัว วิ่งหนีไม่คิดชีวิตชีวาเอาทีเดียว เพื่อนๆ เขาก็เฉยๆ ดูเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเลยอย่างนั้นแหละ

เมื่อเป็นเช่นนั้น โน่นแน่ะ ที่พึ่งขั้นสุดท้าย ของเราก็คือบ้านแลพ่อแม่ แต่ที่ไหนได้เมื่อวิ่งขึ้นไปบนบ้าน เรียกร้องขอให้พ่อแม่ท่านช่วยบ้าง ท่านกลับเฉย ดูเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเหมือนกัน ส่วนพระกัมมัฏฐานรูปนั้นท่านก็วิ่งติดตามมามิได้หยุดจนกระชั้นชิด เราวิ่งเข้าในห้องนอนมุดเข้ามุ้งเลย ท่านก็บุกเข้าไปจนได้ เลิกมุ้งขึ้นแล้วใช้แส้หวดเราลงไปอย่างเต็มแรง

เราตกใจสะดุ้งเฮือกตื่นขึ้นมา ได้สติตัวสั่นเหงื่อเปียกโชกไปหมดทั้งตัว หัวใจยังสั่นริกๆ อยู่เลยที่ถูกแส้ท่านฟาดก็ดูยังปรากฏแสบๆ อยู่ เราเข้าใจว่าเป็นความจริงเอามือลูบๆ ดูก็ยังเข้าใจว่าเป็นจริงอย่างนั้นอีกด้วย เมื่อเรามาตั้งสติกำหนดทวนเหตุการณ์ไปมาโดยรอบคอบจนกระทั้งจิตสงบหายกลัวแล้ว

เรื่องทั้งหลายแหล่จึงค่อยสงบลง เรื่องนี้เราได้ลืมไปแล้วเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเราได้ออกเดินรุกขมูลกัมมัฏฐานกับท่านอาจารย์ของเรา เหตุการณ์ชี้อนาคตในชีวิตของเราถูกต้องสมเป็นจริงทุกประการ

อีกเรื่องหนึ่งในระยะเดียวกันนี้ คือวันหนึ่ง แต่มิใช่นิมิตความฝัน เป็นแต่นอนไม่หลับจนดึก เพราะมาระลึกถึงพระคุณของบิดา มารดามาก คิดไป พิจารณาไปว่าบิดามารดาของเราเลี้ยงเราด้วยความทุกข์ยากกรากรำตั้ง ๑๐ ชีวิตจนเติบโตขึ้นมา ต่อไปไม่นานลูกๆ เหล่านั้นเมื่อเขาแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกไปอยู่เป็นของใครของมัน

พอคิดมาถึงตอนนี้ทำให้ระลึกถึงบิดามารดาว่า เอ๊ะ บิดามารดาของเราล่ะใครจะเลี้ยงดูท่าน โดยที่มิได้คิดถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรตามวิสัยของเด็กแล้วทำให้เกิดเศร้าสลดใจในความอนาถาของบิดามารดาเป็นอย่างยิ่ง จนสะอื้นน้ำตาร่วงหมอนเปียกไปหมด อาการเช่นนี้เป็นอยู่นานครันทีเดียว ยิ่งคิดจิตก็ยิ่งละห้อยถึงท่านทั้งสองเป็นกำลัง

ภายหลังมาตัดสินใจด้วยตนเองว่า เราล่ะ โตมาเราจะไม่แต่งงานอย่างเขา เมื่อเขาแยกย้ายกันออกจากบ้านไปแล้ว เราจะรับเลี้ยงบิดามารดาของเราแต่ผู้เดียวให้เต็มที่ เมื่อเราตกลงตัดสินใจของเราคนเดียวอย่างนั้น แล้วก็เกิดความเต็มตื้นอิ่มใจ เวลานั้นก็ดึกครันจึงได้นอนหลับไป

การตัดสินใจของเราครั้งนั้น เพราะความกตัญญูระลึกถึงพระคุณของผู้มีพระคุณอย่างยิ่ง

ธรรมทั้งหลายมีอยู่ที่ตัวเราทุกคน ผู้รู้ธรรมคือใจ ที่จะรู้มากรู้น้อย หยาบ ละเอียด ก็แล้วแต่ความสามารถ บุญบารมีหรือการอบรมของแต่ละบุคคล

อีกคืนหนึ่งก็เหมือนกัน เราได้นอนคิดหวนลำดับถึงกิจการงานอาชีพความเป็นอยู่ของชาวบ้านเหล่านั้น ว่าเริ่มต้นระหว่างเดือน มีนา-เมษา จะต้องถางป่า ทำไร่แห้งแล้วจุดไฟเผา ขุดรากไม้หัวตอทำรั้วกั้น ฝนตกลงมาจะต้องนำพืชพันธุ์ต่างๆ ไปปลูกตามต้องการ พร้อมกันนั้นถ้าครอบครัวไหนคนไม่มากพอจะต้องแบ่งเวลาไปไถนาแลหว่านกล้าด้วย

ทำอย่างนั้นเรื่อยไปจนกล้าจะแก่พอปักดำได้ แล้วก็ลงมือปักดำไปเลย นี่พูดเฉพาะปีที่ฟ้าฝนตกดีเป็นปกติ ถ้าปีไหนแล้งก็จะต้องเสียเวลาและเสียหายมากไปอีกด้วยอีกส่วนหนึ่ง โดยมากแม่บ้านจะต้องเตรียมเสบียงไว้ให้เพียงพอ เป็นต้นว่า ข้าวสาร พริก เกลือ ปลาร้า ยาเส้น เมื่อลงมือทำนาแล้วจะไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องการแสวงหาเสบียง การทำนานี้ปกติถ้าฝนฟ้าดี มักจะไปเสร็จเอาเดือนสิงหาคม หรือต่อเดือนกันยายน เมื่อเสร็จจากการปักดำแล้วต่างก็พากันหาเสบียงกรังไว้เมื่อยามเก็บเกี่ยวอีก

นอกจากนี้ก็เตรียมเครื่องมือไว้จับปลาในหน้าแล้งต่อไป พอพระออกพรรษาก็เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนา บางทีก่อนเก็บเกี่ยวข้าวนา ต้องไปเก็บเกี่ยวข้าวไร่ไว้ก่อนด้วย ในขณะเดียวกันนี้ยังมีการเก็บพืชผลของไร่เป็นต้นว่า พริก ฝ้าย และถั่วอีกด้วย สมัยเมื่อข้าวนายังดีอยู่ การเก็บเกี่ยวมักจะไปเสร็จเอาโน่น สิ้นเดือนมกราคมโน่น แล้วขนขึ้นยุ้งตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่เก็บเกี่ยวอยู่นี้ ตอนกลางคืนจะต้องจักตอกสำหรับผูกฟ่อนข้าวไว้อีกด้วย เมื่อเสร็จจากการทำนาแล้ว ต่อนั้นก็ต้องหาฟืนต้มน้ำอ้อย

การต้มน้ำอ้อย ตอนบ่ายของทุกวันจะต้องเข้าสวนอ้อยตัดให้พอแก่การที่จะต้มในวันรุ่งขึ้น เมื่อตัดแล้วก็ต้องแบกขน ผู้มีเกวียนก็ใช้เกวียนเป็นพาหนะขนมาไว้ในโรงต้มน้ำอ้อย ตื่นเช้ามืดต้องออกไปหีบอ้อยจนกว่าจะแล้วเสร็จก็สายครันทีเดียว ถ้าคนไม่พอสายมากก็ต้องแบ่งกันมาทำอาหารไว้ท่า เสร็จจากหีบอ้อยแล้วก็รวมกันรับประทานอาหาร แล้วต่างก็แยกกันไปทำงานตามหน้าที่ของตนคงยังเหลือแต่คนเฝ้าหม้อน้ำอ้อยเท่านั้น บางเจ้ามีน้ำอ้อยมาก กว่าจะเสร็จก็ถึงเวลาเข้าป่าถางไร่อีกแล้ว

แหม คืนวันนั้นทำไมเราจึงมาทบทวนคิดลำดับการงานที่ผู้ใหญ่เขาทำอยู่ได้ละเอียดถูกต้องถี่ถ้วนนี่กระไร แล้วทำให้ใจเราหดหู่ สงสารในชีวิตของคนเราที่เกิดมา มันช่างไม่มีโอกาสและเวลาว่างเอาเสียจริงๆ เมื่อเกิดมาแล้วมีแต่การกระทำกับกระทำเท่านั้น จะต่างกันก็แต่หน้าที่และฐานะของแต่ละบุคคลเท่านั้น หากยังไม่นอนหลับหรือตายเสียแล้ว ก็จะต้องพากันทำอยู่อย่างนี้ร่ำไป

ซึ่งมันตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของเราที่กำลังเมาอยู่ในวัยเด็ก โดยคิดว่า แหม โลกนี้มันช่างสนุกเสียนี่กระไร เพราะเด็กในสมัยนั้นไม่มีการศึกษา และไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งหมด รับประทานแล้วก็มีแต่เที่ยวเล่นสนุกๆ ตามเพื่อน หากจะมีการเลี้ยงโคกระบืออยู่บ้างก็เป็นการสนุกของเขาไปเสียเลย

คืนวันนั้นเราเห็นความทุกข์ของมนุษย์ชาวโลกที่เกิดมาชัดด้วยใจของตัวเองอย่างไม่เคยคิดและเห็นมาก่อนเลย แต่การเห็นความทุกข์ในครั้งนั้นเห็นแต่ว่ามนุษย์คนเราเกิดมาเป็นทุกข์ เพราะการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่มีเวลาว่างเว้นแต่ละวัน แต่หาได้รู้ไม่ว่า จะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ จึงไม่ได้จัดเข้าในทุกขอริยสัจจ์ เป็นแต่ทุกขสัจจ์เฉยๆ

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 08:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑. ความกดดันของกลียุคทำให้ใจหันเหไปได้เหมือนกัน

ในระยะนี้ บ้านเมืองแถบนี้เกิดโจรขโมยลักโค กระบือ มีอันธพาลเต็มไปหมดทั่วบ้านทั่วเมือง แม้แต่เด็กขนาดอายุราว ๑๐ ขวบ และผู้หญิงก็หัดเป็นขโมยกัน เจ้าหน้าที่อ่อนแอ ชาวบ้านต้องพึ่งตัวเอง แต่ละบ้านต้องเลี้ยงสุนัขเป็นฝูง กลางคืนต้องผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวร เมื่อโคกระบือถูกขโมยไป เจ้าของตามไปไถ่ถอน มันจะต้องเรียกค่าไถ่เอาอย่างมันมีเอกสิทธิ์ที่เดียว ถ้าใครใจเด็ดตามล่าเอาอย่างล่าสัตว์ในป่าแล้ว คนนั้นจะค่อยมีความสุขหน่อย

การทำแบบนั้นเจ้าหน้าที่ก็ดูเหมือนจะชอบใจและสนับสนุนเสียด้วยซ้ำไป เราตัวนิดเดียวก็อยากดังกับเขาบ้าง แต่มิใช่อยากดังเป็นนักเลงทางขี้ขโมย มันอยากดังด้านปราบขี้ขโมย ในใจมันคิดคำนึงอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรหนอเราจึงจะเหนียวจนคนฆ่าด้วยอาวุธไม่ตาย แล้วจะมาปราบอ้ายเจ้าพวกเหล่านี้ให้ราบคาบไปจนสิ้นซากเสียที ในขณะนั้นมีพระขี้คุยรูปหนึ่ง (ขอโทษ พูดให้สมเกียรติท่าน) ซึ่งเรากำลังอุปัฏฐากอยู่นั้น ภูมิลำเนาเดิมท่านอยู่บ้านม่วงไข่ เขตอำเภอวานรนิวาส ติดต่อกับอำเภอบึงกาฬ

ท่านคงแทงใจเราถูกทีเดียว จึงพูดว่า "ออกพรรษาแล้ว มาไปกับฉัน ที่บ้านฉันมีสารพัดทุกอย่าง ต้องการตะกรุดเอย ว่านเอย หรือสรรพเครื่องคงกระพัน ทุกอย่างฉันมีพร้อม" เราดีใจพร้อมด้วยชายหนุ่มใหญ่สามคน คือ พี่ชายของเราคนหนึ่งกับเพื่อนๆ เขาอีกสองคน สี่ทั้งตัวเราซึ่งเป็นเด็กกว่าเขา ออกพรรษาแล้วได้ติดตามท่านไปจนถึงบ้านเดิมของท่าน

พอไปถึงแล้ว ตาย ที่ไหนได้กลายเป็นพระที่เท็จหลอกให้พวกเราไปส่งท่าน ชาวบ้านแถบนั้นไม่มีใครนับถือเลย ท่านบวชแล้วสึก บวชแล้วสึกตั้งหลายครั้ง ตอนหลังสุดได้ทราบข่าวว่า สึกออกไปมีเมียแล้วสูบฝิ่นด้วยทั้งผัวทั้งเมีย สองหนุ่มใหญ่ที่ไปด้วย เขาพยายามอ้อนวอนขอเรียนแลขอของดีต่าง ๆ ท่านก็พูดกลบเกลื่อนไปๆ มาๆ อ้างโน่นอ้างนี่ แก้ตัวพอพ้นๆ ไป เมื่อถามพระที่อยู่วัดนั้นจึงได้ความจริงว่า ท่านไม่มีของวิเศษวิโสอะไรดอก แต่ท่านเป็นคนช่างพูด

พวกเราอยู่ด้วยท่านราว ๑๐ วัน จึงได้พากันลาท่านกลับด้วยความผิดหวัง ในขณะที่อยู่ด้วยท่านนั้น ท่านจะรบเร้าให้พวกเราหาปลาไหลมาให้ฉันทุกวัน ปลาไหลท่านชอบนัก ปลาอื่นท่านก็ไม่ชอบ พวกเราเดินทางกลับ สามคืนจึงถึงบ้าน โดยเฉพาะตัวเราแล้ว รู้สึกละอายแก่ใจมาก เพราะที่ตั้งเจตนาไว้ว่าออกจากบ้านไปครั้งนี้ จะไปแสวงหาเรียนวิชาคงกระพันเอาให้เชื่อมั่นได้ในใจว่า เราจะไม่ยอมตายด้วยศาสตราวุธของคนอื่น แล้วจึงจะกลับบ้าน

เมื่อกลับมาถึงบ้าน เพื่อนๆ เขาพากันพูดสัพยอกต่างๆ นานา ยิ่งละอายเขามาก ก็ดีเหมือนกัน มันเป็นเหตุให้เราหายจากความเชื่องมงายในเรื่องเครื่องรางของขลังตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งบัดนี้ ใครจะมาพูดว่าดีอย่างไรๆ ในใจมันเฉยเอาเสียเลย สมัยเมื่อเป็นสามเณร เพื่อนๆ เขามาชวนให้ไปเรียน ขนาดเขาจะออกค่ายกครูให้และรับรองให้ทดลองเอาเลย ใจมันก็ไม่ยอม

นับว่าเป็นโชคดีของเราอย่างหนึ่งเราเกิดมาในสกุลที่มีศีลธรรมและได้อบรมอยู่ในวัดกับพระที่นับได้ว่าเป็นพระ เมื่อสิ่งแวดล้อมมันบีบบังคับ จึงทำให้ใจของเราหันเหไปในทางที่เลว แต่สิ่งเลวที่เราต้องการนั้นก็ไม่สมประสงค์ หากสิ่งนั้นเป็นไปตามปรารถนาแล้ว ป่านนี้ตัวของเราก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร เรียกว่า บุญกรรมนำส่ง หรือบุญวาสนาช่วยรักษาไว้ก็ว่าได้

การออกจากบ้านไปทางไกลในชีวิตของเราครั้งนี้เป็นครั้งแรก ขณะที่เราพากันอยู่บ้านม่วงไข่นั้น กำลังเริ่มข่าวสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะระเบิด ใครมาวัดก็พากันเล่าแต่เรื่องสงคราม เราคิดถึงบ้านน้ำตาร่วงทุกวัน บางวันนอนดึกกว่าจะหลับคิดถึงพ่อแม่มาก เมื่อเรากลับมาถึงบ้านแล้วก็ปฏิบัติพระในวัดเช่นเคย เว้นแต่เราไม่นอนจำวัดประจำ ตอนนี้เราทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกรติดต่อพระกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดีมาก

ชาวบ้านทุกคนก็ดูเหมือนจะชอบใจเรามากขึ้น เพราะใช้เราคล่อง ประกอบด้วยขณะนั้นเรากำลังแตกเนื้อหนุ่ม เขาทั้งใช้ทั้งสัพยอกไปในตัวด้วย เราเข้าวัดสนิทติดต่อกับพระเณรมาเป็นเวลายาวนานประมาณหกปี แต่ไม่เคยมีพระองค์ไหนจะสอนให้เรารักษาศีลห้า ศีลแปด ที่จริงก็น่าเห็นใจเหมือนกัน เพราะพระสงฆ์ในสมัยนั้นขาดการศึกษาเอามากๆ ทีเดียว

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 14:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒. พบพระอาจารย์สิงห์

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กับ พระอาจารย์คำ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ได้เดินรุกขมูลไปถึงบ้านนาสีดาเป็นองค์แรก ทั้งๆ ที่พระในวัดนั้นก็มีอยู่ แต่ท่านไปขอพักอยู่ด้วย คล้ายๆ กับว่าท่านมุ่งจะไปโปรดเราพร้อมด้วยบิดาเราก็ได้

เมื่อท่านทั้งสองไปถึง เรากับบิดาของเราก็ได้ปฏิบัติท่านด้วยความเคารพและเลื่อมใสเป็นอย่างดียิ่ง เพราะเห็นปฏิปทาของท่านผิดแผกจากพระกัมมัฏฐานคณะอื่น (เมื่อก่อนบิดาของเราเคยปฏิบัติอาจารย์สีทัด) โดยเฉพาะท่านสอนเราในข้อวัตรต่างๆ เช่น สอนให้รู้จักของที่ควรประเคนและไม่ควรประเคน ท่านสอนภาวนา บริกรรมพุทโธ เป็นอารมณ์ จิตของเรารวมได้เป็นสมาธิ จนไม่อยากพูดกับคนเลย เราได้รับรสชาติแห่งความสงบในกัมมัฏฐานภาวนาเริ่มแรกจากโน่นมาไม่ลืมเลย เมื่อไปเรียนหนังสือเป็นสามเณรอยู่กับหมู่มากๆ เวลากลางคืนอากาศเย็น สงบดี เราทำกัมมัฏฐานของเราอยู่คนเดียวหามีใครรู้ไม่

ท่านมาพักอยู่ด้วยเราราว ๒ เดือนเศษ ทีแรกท่านตั้งใจจะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น แต่เนื่องด้วยท่านมีเชื้อไข้ป่าอยู่แล้ว พอมาถึงที่นั้นเข้า ไข้ป่าของท่านยิ่งกำเริบขึ้น พอจวนเข้าพรรษาท่านจึงได้ออกไปจำพรรษา ณ ที่วัดร้างบ้านนาบง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ เราก็ได้ตามท่านไปด้วยในพรรษานั้น ท่านเป็นไข้ตลอดพรรษา ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในเวลาว่างท่านยังได้เมตตาสอนหนังสือและอบรมเราบ้างเป็นครั้งคราว

จวนออกพรรษาท่านจะมีความรู้สึกภายในของท่านขึ้นอย่างไรก็ไม่ทราบท่านบอกว่า ออกพรรษาแล้วจะต้องกลับบ้านเดิม แล้วท่านถามเราว่า เธอจะไปด้วยไหม ทางไกลและลำบากมากนะ เราตอบท่านทันทีว่า ผมไปด้วยนะครับ ยังอีกไม่กี่วันจะออกพรรษา เราขออนุญาตท่านกลับบ้านไปลาบิดามารดา ท่านทั้งสองมีความดีใจมากที่เราจะไปด้วยอาจารย์ รีบเตรียมดอกไม้ธูปเทียนให้เราเพื่อขอขมาบิดามารดา (ธรรมเนียมอันนี้ท่านสอนเราดีนัก เราหนีจากบ้านไปครั้งก่อน ท่านก็ให้เราทำเช่นนี้เหมือนกัน)

คืนวันนั้นเราขอขมาบิดามารดา แล้วไปขอขมาญาติผู้เฒ่าผู้แก่จนถึงทั่วหมด เมื่อเราไปหาใครทุกคนพากันร้องไห้เหมือนกับเราจะลาไปตายนั่นแหละ เราเองก็ใจอ่อนอดน้ำตาร่วงไม่ได้ รุ่งเช้ามารดาและป้าได้ตามมาส่งถึงอาจารย์ พากันนอนค้างคืนหนึ่ง วันนั้นเป็นวันปวารณาออกพรรษา รุ่งขึ้นฉันจังหันแล้วท่านอาจารย์พาเราออกเดินทางเลย ตอนนี้ป้าและชาวบ้านที่นั่นพากันมารุมร้องไห้อีก

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2010, 11:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๓. ออกจากบ้านครั้งที่สอง ตามพระอาจารย์สิงห์ไป

อาจเป็นประวัติการณ์ของเด็กคนแรกในจำพวกเด็กวัยเดียวกันในแถบนี้ ที่จากบ้านไปสู่ถิ่นทางไกล ทั้งไร้ญาติขาดมิตรอันเป็นที่อบอุ่นอีกด้วย แล้วก็ดูจะเป็นเด็กคนแรกอีกด้วยที่ออกเดินรุกขมูลติดตามพระกัมมัฏฐานไปอย่างไม่มีความห่วงใยอาลัยทั้งสิ้น

ออกเดินทางจากท่าบ่อลุยน้ำลุยโคลนบุกป่าฝ่าต้นข้าวตามทุ่งนาไปโดยลำดับ เวลาท่านจับไข้ก็ขึ้นนอนบนขนำนาหรือตามร่มไม้ที่ไม่มีน้ำชื้นแฉะ รุ่งเช้าท่านยังอุตส่าห์ออกไปบิณฑบาตมาเลี้ยงเราเลย เดินทางสามคืนจึงถึงอุดรแล้วพักอยู่วัดมัชฌิมาวาสสิบคืน จึงได้ออกเดินทางต่อไปทางจังหวัดขอนแก่น ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร การเดินทางครั้งนี้เราสองคนกับอาจารย์ใช้เวลาเดือนเศษ จึงถึงบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ อันเป็นบ้านโยมแม่ของท่าน ท่านพักอบรมโยมแม่ของท่าน ณ ที่นั้นราวสามเดือน

๔. บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนต่อ

ณ ที่นั้น ท่านให้เราไปบรรพชาที่พระอุปัชฌาย์ลุย บ้านเค็งใหญ่ เมื่ออายุย่างเข้า ๑๘ ปี ตอนนี้เราอ่านหนังสือคล่องขึ้นบ้าง เราได้อ่านหนังสือ ไตรโลกวิตถาร ตอนโลกเสื่อมจนเกิดสัตถันตรกัปป์ ทำให้สลดใจมาก น้ำตาไหลพรากอยู่เป็นเวลาหลายวัน เวลาฉันอาหารก็ไม่ค่อยจะรู้สึกรสชาติ ใจมันให้มัวมีแต่คิดถึงความเสื่อมวิบัติของมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย คล้ายๆ จะมีภาพให้เห็นปรากฏในวันสองวันข้างหน้าอย่างนั้นแหละ แล้วท่านก็พาเราเข้าไปพักอยู่ วัดสุทัศนาราม ในเมืองอุบลซึ่งเคยเป็นที่พักอยู่เดิมของท่าน แล้วเราก็ได้เข้าเรียนหนังสือไทยต่อที่ โรงเรียนวัดศรีทอง ออกพรรษาแล้วท่านปล่อยให้เราอยู่ ณ ที่นั้นเอง

ส่วนตัวท่านได้ออกเที่ยวรุกขมูลกลับมาทางจังหวัดสกลนครอีก เพราะในขณะนั้นคณะของท่านอาจารย์มั่นยังเที่ยวอยู่แถวนั้น คืนก่อนที่จะไปท่านได้ประชุมพระเณร บอกถึงการที่ท่านจะจากไป ขณะนั้นเรารู้สึกอาวรณ์ท่านมากถึงกับสะอื้นในที่ประชุมหมู่มากๆ นั้นเอง เรารู้ตัวละอายเพื่อนรีบหนีออกมาข้างนอก แล้วมาตั้งสติใหม่ มาระลึกได้ถึงเรื่องพระอานนท์ร้องไห้เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขาร จิตจึงค่อยคลายความโศกลงบ้าง แล้วจึงได้เข้าไปในที่ประชุมใหม่ ท่านได้ให้โอวาทด้วยประการต่างๆ เรารู้ตัวดีว่าเราอายุมากแล้วเรียนจะไม่ทันเขา ขณะที่เรียนหนังสือไทยอยู่นั้น เราได้แบ่งเวลาท่องสวดมนต์ ท่องหลักสูตรนักธรรม เรียนนักธรรมตรีไปด้วย แต่ก็ไม่ได้สอบ เพราะเจ้าคณะมณฑลท่านมีกำหนดว่า ผู้อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี ไม่ให้สอบนักธรรมตรี ปีที่ ๓ จึงได้สอบนักธรรมตรีและก็สอบได้ในปีนั้น แล้วเราท่องบาลีต่อพร้อมกันนี้ก็ท่องปาฏิโมกข์ไปด้วย เพราะเราชอบปาฏิโมกข์มาก

เราเรียนหนังสือไทยจบแค่ประถมบริบูรณ์ (เพราะโรงเรียนรัฐบาลมีแค่ประถม ๓ เท่านั้น) เมื่อเราออกจากโรงเรียนภาษาไทยแล้ว เราก็ตั้งหน้าเรียนบาลี แต่ในปีการศึกษานั้นบังเอิญพระมหาปิ่น ปัญญาพโล น้องชายของท่านอาจารย์สิงห์ กลับมาจากกรุงเทพฯ มาเปิดสอนนักธรรมโทเป็นปฐมฤกษ์ในมณฑลหัวเมืองภาคอีสาน เราจึงได้สมัครเข้าเรียนด้วย แต่ทั้งบาลีและนักธรรมโทเราเรียนไม่จบ เพราะในศกนั้นอาจารย์สิงห์ท่านได้กลับไปจำพรรษา ณ ที่วัดสุทัศนารามอีก ออกพรรษาแล้วท่านได้พาเราพร้อมด้วยมหาปิ่นออกเที่ยวรุกขมูลก่อนสอบไล่

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ธ.ค. 2010, 08:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๕. สามเณรได้เป็นเศรษฐีของรัฐบาล

นั่นคือสามเณรเทสก์ กล่าวคือสมัยนั้นรัฐบาลคิดจะสร้างให้มีเศรษฐีขึ้นในเมืองไทยปีละหนึ่งคน จึงได้ออกล็อตเตอรี่ปีละครั้ง ตั้งรางวัลที่หนึ่งให้เจ็ดแสนบาท พอแก่ฐานะของเศรษฐีเมืองไทยพอดี เพื่อจะได้ไม่อับอายขายหน้าแก่นานาประเทศเขาบ้าง บังเอิญคืนวันหนึ่งสามเณรเทสก์แกนอนไม่หลับ เพราะแกไปถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งเข้า แล้วแกก็ลงมือจัดแจงหาที่สร้างอาคารหลังใหญ่โตมโหฬารเป็นบ้านตึกสามชั้น ตกแต่งด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์อย่างดีทันสมัย ณ ท่ามกลางย่านการค้า ให้ลูกน้องขนสรรพสินค้ามาใส่เต็มไปหมด

ตัวแกมีความสุขกายสบายจิต ไม่คิดอะไรอีกแล้ว นอนเก้าอี้ยาวทำตาปริบๆ มองดูบรรดาสาวๆ สวยๆ ที่พากันเร่เข้ามาหาซื้อสินค้าต่างๆ ตามชอบใจ คนไหนชำเลืองตามาดูแกแล้วยิ้มๆ แกก็จะยิ้มตอบอย่างมีความสุข ในชีวิตของแกแต่เกิดมาได้ ๑๘-๑๙ ปีนี้แล้วไม่มีความสุขครั้งไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความสุขครั้งนี้เลย

แกได้ตำแหน่งเศรษฐีตามความประสงค์ของรัฐบาลแล้วในพริบตาเดียว ทั้งๆ ที่อะไรๆ ของแกก็ยังไม่มีเสียด้วย แต่อนิจจาเอ๋ยความเป็นเศรษฐีของแกมาพลันเสื่อมสูญไปจากจิตใจของแกอย่างน่าเสียดาย เพราะแกมาสำนึกรู้สึกตนเอาตอนดึกอันเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนเสียแล้วว่า เอ๊ะ นี่อะไรกันล็อตเตอรี่ก็ยังไม่ทันจะออก แล้วยังไม่ทันจะซื้อเสียอีกด้วย ทำจึงมาเป็นเศรษฐีกันเสียแล้วนี่ เรานี่ชักจะบ้าเสียแล้วกระมัง คืนวันนั้นแกเกิดความละอายแก่ใจตนเองอย่างพูดไม่ถูกเสียเลย นี่หากมีท่านผู้รู้มารู้เรื่องของเราเข้าจะว่าอย่างไรกันนี่ แล้วแกก็นอนหลับพักผ่อนไปจนสว่าง พอตื่นเช้ามาแกยังมีความรู้สึกละอายแก่ใจตนเองอยู่เลย โดยที่เรื่องนั้นแกก็มิได้เล่าให้ใครฟัง

เศรษฐีอย่างนี้ใครๆ ก็สามารถจะเป็นได้ มิใช่แต่สามเณรเทสก์คนเดียว แต่ที่ข้าพเจ้าเรียกแกว่าเป็นเศรษฐีนั้น เพียงแต่แกมโนภาพสมบัติอันเหลือหลายอย่างเดียว แต่รู้จักพอ ยังดีกว่าผู้ที่มีทั้งมโนภาพสมบัติและวัตถุสมบัติ แต่ไม่มีความพอแล้วเป็นทุกข์เดือดร้อน มันจะมีประโยชน์อันใดแก่เขาผู้นั้นเล่า ความมีหรือจนอยู่ที่มีความสุขนั้นต่างหาก หาใช่เพราะมีของมากเหลือหลายไม่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความพอใจของตนที่มีอยู่แล้วนั้นแลเป็นทรัพย์อันมีค่ามาก

เราเลื่อมใสในธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้มาบวชแล้วปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ เห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ลงไปที่ถุงทรัพย์ให้พระอานนท์ดูว่า นั่นอานนท์ ของมีพิษมิใช่จะเป็นพิษแต่แก่สมณะผู้เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้นก็หาไม่ ถึงแม้คฤหัสถ์ก็ทำให้เกิดพิษได้เหมือนกันถ้านำมาใช้ไม่ถูกต้องตามหน้าที่ของมัน แต่ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องมี เพราะภาวะความเป็นอยู่ผิดแผกแตกต่างจากสมณะ ยิ่งกว่านั้น หากผู้มีทรัพย์แล้วแต่ใช้ทรัพย์นั้นไม่เป็น ก็ไม่ผิดอะไรกับบุคคลผู้ถือดุ้นฟืนที่มีไฟติดข้างหนึ่ง ไฟจะต้องลามมาไหม้มือจนได้

เราบรรพชาได้ ๕ พรรษา จึงได้อุปสมบทเป็นพระ นับว่าได้เปรียบเขามากในด้านอยู่วัดนาน แก่วัด รู้จักเรื่องของวัดได้ดีพระที่บวชรุ่นเดียวกันแล้ว เราได้เปรียบด้านสวดมนต์และได้พระปาฏิโมกข์เป็นต้น

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2010, 11:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๖. อุปสมบท ณ วัดสุทัศนาราม

เมื่ออายุของเราย่างเข้า ๒๒ ปี เราได้ อุปสมบทที่พัทธสีมา ณ วัดสุทัศน์ นั่นเอง โดย พระมหารัฐ รัฏฐปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ตรงกับ ค่ำ เวลา ๑๑.๔๘ น.

ปีนี้ ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พระอาจารย์ของเราได้พาคณะรวม ๖ องค์ คือ พระ ๔ องค์ สามเณร ๒ องค์ มาจำพรรษาที่วัดสุทัศน์ นับว่าเป็นปฐมฤกษ์ที่พระกัมมัฏฐานจำพรรษาในเมืองอุบลครั้งแรก เหตุที่ท่านจะกลับมาจำพรรษาที่อุบลก็เนื่องได้ข่าวว่า พระมหาปิ่น (น้องชายท่าน) กลับจากกรุงเทพฯมาอยู่ ณ ที่นั่น

ท่านตั้งใจจะมาเอาน้องชายของท่านออกเที่ยวรุกขมูลด้วย เมื่อก่อนที่ท่านมหาปิ่นจะไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯท่านปฏิญาณกับท่านอาจารย์มั่นไว้ว่า ผมไปเรียนหนังสือเสียก่อน แล้วจะออกไปปฏิบัติตามหลัง ท่านอาจารย์สิงห์พอได้ทราบข่าวว่าน้องชายมาแล้วก็ดีใจจึงได้มาจำพรรษา ณ วัดสุทัศนาราม ออกพรรษาหมดเขตกฐินแล้ว

ท่านอาจารย์สิงห์ได้พาพวกเราเป็นคณะใหญ่ออกเดินธุดงค์ การออกเดินธุดงค์ครั้งนี้ผู้ที่ออกใหม่นอกจากพระมหาปิ่นกับเราแล้ว ยังมีพระคำพวย พระทอนและสามเณรอีก ๒ รูป รวมทั้งหมดแล้ว ๑๒ รูปด้วยกัน (พระมหาปิ่นปัญญาพโล ป.ธ.๕ นับว่าเป็นพระมหาองค์แรกในเมืองไทยที่ออกธุดงค์ในยุคนั้น ในหมู่พระเปรียญโดยมากเขาถือกันว่าการออกธุดงค์เป็นเรื่องขายขี้หน้า การออกธุดงค์ของเราครั้งนี้ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์สิงห์เป็นผู้นำแล้ว เราคงไม่ได้ออกธุดงค์ เมื่อเราหนีมาแล้วท่านพระอุปัชฌาย์ท่านต้องสวดปาฏิโมกข์เอง)

๗. เราพึ่งรู้จักรสชาติของความอาลัยครั้งแรก

เราได้ไปอยู่วัดสุทัศน์ อุบล เป็นเวลา ๖ ปีเต็ม โดยที่ปราศจากญาติมิตรและคนสนิทมาก่อน เมื่ออยู่ต่อมาได้มีคนเอาลูกหลานมาฝากให้เป็นศิษย์อยู่ด้วย รวม ๔ คนด้วยกัน คือ เป็นสามเณร ๒ เป็นเด็ก ๒ เขาเหล่านั้นได้อยู่ด้วยเรามาแต่เมื่อครั้งเรายังเป็นเณรอยู่ จนกระทั่งเราได้อุปสมบทเป็นพระทั้งเราและเขาถือกันอย่างพ่อกับลูก พอตอนเราจะจากเขาไปเขาพากันร้องไห้อาลัยเรา เราก็แทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่เหมือนกัน

แต่เราเป็นอาจารย์เราจะร้องไห้ก็ละอายเขา จึงกัดฟันอดกลั้นไม่แสดงความอาลัยออกมา แต่ถึงกระนั้นมันก็ทำให้เสียงเครือไปเหมือนกัน ตอนนี้ไม่สู้กระไรนัก พอออกเดินทางไปแล้วนั่นซี มันทำให้เราซึมเซ่อไปเป็นเวลานานทีเดียว จะเดิน ยืน นั่ง นอน แม้แต่พูดและฉันอยู่ก็ตาม ใจมันละห้อยอาลัยคิดถึงเขาว่าเขาจะอยู่อย่างไร กินอะไร อดอิ่มอย่างไร แล้วใครจะมาสั่งสอนเขา หรือจะมีใครมากดขี่ข่มเหงเบียดเบียนเขาอย่างไร ความกลุ้มใจอย่างนี้ยังไม่เคยมีมาเลยในชีวิตของเราครั้งนี้เป็นครั้งแรก

เราจึงได้ทบทวนคิดค้นไปมาว่า เขาเหล่านั้นก็มิใช่ลูกหลานว่านเครือของเรา เป็นแต่เขามาอยู่อาศัยเราเท่านั้น อนึ่งเราก็ได้อบรมเขาและคุ้มครองเขาเป็นอย่างดีที่สุดแล้ว เท่าที่เราสามารถจะทำได้ ทำไมจึงอาลัยอาวรณ์ถึงเขาหนักหนา มาตอนนี้มันให้ระลึกถึงผู้ที่มีบุตรมีภรรยาว่า โอ้โฮ หากเป็นบุตรที่เกิดโดยสายเลือดของเราแล้ว ความอาลัยมันจะหนักขนาดไหน เราเห็นโทษในความอาลัยในครั้งนี้ มันซาบซึ้งเข้าไปตรึงหัวใจของเราไม่มีวันหายเลย

มนุษย์เรานี้ไม่มีผิดอะไรกับลูกลิง ซึ่งปราศจากแม่แล้วอยู่ตามลำพังตัวเดียวไม่ได้ มันทำให้เรากลัวความอาลัยจนแทบพูดไม่ถูกเอาเสียเลย ความอาลัยเป็นทุกข์ทั้งที่มีอยู่และพลัดพรากจากกันไป ทำอย่างไรคนเราจึงจะทำให้เป็นอิสระในตัวของตนเองได้เล่า

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2011, 08:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๘. ออกจากอุบลเป็นคณะเที่ยวรุกขมูล

คณะของเราพระ ๘ สามเณร ๔ รวมเป็น ๑๒ รูป โดยพระอาจารย์สิงห์เป็นหัวหน้า ได้เดินทางออกจากเมืองอุบลในระหว่างเดือน ๑๒ ได้พักแรมมาโดยลำดับ จนถึงบ้านหัวตะพาน หยุดพักที่นั่นนานพอควร แล้วย้ายไปพักที่บ้านหัวงัว เตรียมเครื่องบริขารพร้อมแล้ว จึงได้ออกเดินรุกขมูลต่อไป

การออกเดินรุกขมูลครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้วิเวกเท่าที่ควร เพราะเดินด้วยกันเป็นคณะใหญ่ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูลพอน่าดูเหมือนกัน กล่าวคือ คืนวันหนึ่งพอจัดที่พักแขวนกลดกางกลดตกมุ้งไหว้พระสวดมนต์เรียบร้อยแล้ว ฝนตกเทลงมาพร้อมด้วยลมพายุอย่างแรงนอนไม่ได้ นั่งอยู่น้ำยังท่วมก้นเลย พากันหอบเครื่องบริขารหนี้เข้าไปอาศัยวัดบ้านเขา แถมยังหลงทางเข้าบ้านไม่ถูก เดินวกไปเวียนมาใกล้ๆ ริมบ้านนั้นตั้งหลายชั่วโมง พอดีถึงวัด

ณ ที่นั้นมีโยมเข้าไปนอนอยู่ก่อน คือโยมที่เขาเดินทางมาด้วย ๖ คน เขามีธุระการค้าของเขา แต่เขาเห็นก้อนเมฆในตอนเย็น เขาบอกว่าพวกผมไม่นอนละ จะเข้าไปพักในบ้านพอพวกเราไปถึงเข้า เขาจึงช่วยจัดหาที่นอนตามมีตามได้หมอนเสื่ออะไรก็ไม่มีทั้งนั้น แล้วจึงรีบกลับไปรับอาจารย์กับพวกเพื่อนอีก ๗ - ๘ รูป พอถึงเก็บบริขารเรียบร้อยแล้วก็นอนเฉยๆ ไปอย่างนั้น เพราะกุฏิก็เปียกไปหมดทั่วทั้งห้อง เสื่อหมอนก็ไม่มีเพราะเป็นวัดร้าง

แต่เมื่อความเหนื่อยเพลียมาถึงเข้าแล้วก็นอนหลับได้ชั่วครู่หนึ่งทั้งๆ ที่นอนเปียกๆ อยู่นั่นเอง แถมรุ่งเช้าบิณฑบาตก็ไม่ได้อาหาร ได้กล้วยน้ำว้ากับข้าวสุก ฉันข้าวกับกล้วยคนละใบ แล้วก็ออกเดินทางต่อ ท่านอาจารย์พาพวกเราบุกป่าฝ่าดงมาทางร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ผ่านดงลิงมาออกอำเภอสหัสขันธ์ เข้าเขตกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่ไม่ได้เข้าในเมือง เว้นไปพักอยู่บ้านเชียงพิณตะวันตกของอุดร เพื่อรอการมาจากกรุงเทพฯ ของเจ้าคณะมณฑล

การที่ท่านให้พวกเรามารออยู่ที่อุดรครั้งนี้ ท่านมีจุดประสงค์อยากให้พระมหาปิ่นมาประจำอยู่ที่อุดร เพราะที่อุดรยังไม่มีคณะธรรมยุต แต่ที่ไหนได้ เมื่อเจ้าคณะมณฑลมาจากกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พระยาราชนุกูล (ทีหลังเป็นพระยามุขมนตรี) ได้นิมนต์พระมหาจูม พันธุโล (ภายหลังเป็นพระธรรมเจดีย์) มาพร้อมเพื่อจะให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ที่อุดร

ฉะนั้นเมื่อเจ้าคณะมณฑลมาถึงแล้วพวกเราจึงไปกราบนมัสการท่าน ท่านจึงได้เปลี่ยนโปรแกรมใหม่ จะเอาพระมหาปิ่นไปไว้สกลนคร แล้วจะให้เราอยู่ด้วยพระมหาจูม เพราะทางนี้ก็ไม่มีใครและเธอก็คนทางเดียวกัน อนึ่งเธอก็ได้เรียนมาบ้างแล้วจงอยู่บริหารหมู่คน ช่วยดูแลกิจการคณะสงฆ์ด้วยกัน เราได้ถือโอกาสกราบเรียนท่านว่า กระผมขอออกปฏิบัติเพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เพราะผู้ปฏิบัติมีน้อยหายาก ส่วนพระปริยัติและผู้บริหารมีมากพอจะหาได้ไม่ยากนัก ท่านก็อนุญาตแล้วแนะให้เราอยู่ช่วยพระมหาปิ่น

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2011, 08:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๙. พบท่านอาจารย์มั่นครั้งแรก

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ได้พาพวกเราออกเดินทางไปนมัสการกราบ ท่านอาจารย์มั่น ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ขณะนั้นพระอาจารย์เสาร์ก็อยู่พร้อม เป็นอันว่าเราได้พบท่านอาจารย์ทั้งสองแลได้กราบนมัสการท่านเป็นครั้งแรกในชีวิต ตกกลางคืนท่านอาจารย์มั่นได้เทศนาอบรมพวกเราด้วยความเต็มอกเต็มใจในการที่ได้เห็นพวกเราเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะแล้วได้เห็นพระมหาปิ่นผู้ซึ่งได้เคยปฏิญาณตนไว้ก่อนจะไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เมื่อท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่านอาจารย์มั่นพร้อมกันกับพระอาจารย์สิงห์ที่เมืองอุบลว่า ผมไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ก่อน จึงจะออกปฏิบัติตามท่านอาจารย์มั่นภายหลัง ส่วนตัวของเรานั้น ท่านคงได้ทราบจากท่านอาจารย์สิงห์เล่าให้ฟัง นอกจากนี้แล้วท่านคงไม่ทราบ

คืนวันนั้นเสร็จจากการอบรมแล้วท่านก็สนทนาธรรมสากัจฉากันตามสมควร จบด้วยการพยากรณ์พระมหาปิ่นแลตัวของเราในด้านความสามารถต่างๆ นานา ตอนนี้ทำให้เรากระดากใจตนเองในท่ามกลางหมู่เพื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวของเราเองพึ่งบวชใหม่แลมองดูตัวเราแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรพอที่ท่านจะสนใจในตัวของเรา ความจริงตั้งแต่ตอนเย็น พอย่างเข้ามาในเขตวัดของท่าน มันทำให้เราขวยเขินอยู่แล้ว แต่คนอื่นเราไม่ทราบ เพราะเห็นสถานที่แลความเป็นอยู่ของพระเณรตลอดถึงโยมในวัด เขาช่างสุภาพเรียบร้อยนี่กระไร ต่างก็มีกิจวัตรและข้อวัตรประจำวันของตนๆ พอท่านพยากรณ์พระมหาปิ่นแล้วมาพยากรณ์เราเข้า ยิ่งทำให้เรากระดากใจยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ แต่พระมหาปิ่นคงไม่มีความรู้สึกอะไรนอกจากท่านจะตรวจดูความสามารถของท่านเทียบกับคำพยากรณ์เท่านั้น

รุ่งเช้าฉันจังหันแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ได้พาคณะของเราเดินทางต่อไปบ้านนาสีดาได้พาพักอยู่ ณ ที่นั่นสี่คืนแล้วย้อนกลับทางเดิม มาพักที่ท่านอาจารย์มั่นอีกหนึ่งคืน จึงเดินทางกลับอุดร แล้วได้เดินทางต่อไปสกลนครตามที่ได้ตกลงกันไว้กับเจ้าคณะมณฑล แต่กิจการนั้นไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของเจ้าคณะมณฑล เพราะพระมหาปิ่นอาพาธไม่สามารถจะไปรับหน้าที่ที่มอบหมายให้ได้

ฉะนั้นในพรรษานั้น ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้พาคณะเราไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองลาด เรื่องนี้ทำให้เจ้าคณะมณฑลไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงได้เอาพระบุญ นักธรรมเอกไปไว้ที่สกลนครต่อไป

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2011, 14:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๐. พรรษา ๒ จำพรรษาบ้านหนองลาด (พ.ศ. ๒๔๖๗)

ก่อนเข้าพรรษาเราได้พระกลมชาวจังหวัดเลยเป็นกัลยาณมิตรดีมาก ขึ้นไปทำความเพียรที่ถ้ำพวง บนภูเหล็กสองครั้ง ครั้งที่หนึ่งสี่คืน ครั้งที่สองหกคืน โดยมีผู้ใหญ่บ้านอ่อนสี (ภายหลังเป็นกำนันขุนประจักษ์ แล้วบวชพระ มรณภาพในเพศสมณะนั้นเอง) ได้ส่งคนให้ขึ้นไปจัดอาหารถวายเป็นประจำ เราได้จารึกพระคุณของแกไว้ในใจไม่รู้หายเลยจนกระทั่งบัดนี้ ผู้ใหญ่บ้านคนนี้ท่านอาจารย์มั่นทักว่าเป็นคนฉลาดแคล่วคล่องทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นด้านคำพูดปฏิภาณโต้ตอบและการงานตลอดถึงการสังคม ทันกับเหตุการณ์แลสมัยทุกอย่าง

โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับฝ่ายพระแล้วยกให้แกเลย ไม่ว่าจะต้องการอะไร ไม่ถึงกับพูดตรงๆ ดอก พอปรารภเท่านั้นแกจัดการให้เรียบร้อยเลย พวกเราได้สัปปายะครบทั้งสี่แล้วก็เริ่มประกอบความเพียรอย่างสุดเหวี่ยง ยิ่งทำความเพียรก็ยิ่งระลึกถึงคุณของผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านเป็นกำลัง อาหารพริกแห้งผงกับข้าวเหนียววันละหนึ่งก้อนเท่าผลมะตูม เราอยู่ได้พอทำความเพียรไม่ตาย เมื่อเราลดอาหารแต่มาเพิ่มความเพียร กายเราเบา สติเราดี สมาธิเราก็ไม่ยาก

เราปรารภความเพียรมาก สติของเราก็ดีขึ้นแลมั่นคงดี เราหัดสติอยู่ ณ ที่นั้นเอาให้สม่ำเสมอตลอดทั้งกลางวันกลางคืน มิให้เผลอส่งออกไปตามอารมณ์ภายนอกได้ ให้ตั้งมั่นอยู่ที่กายที่ใจแห่งเดียว แม้ก่อนนอนหลับตั้งไว้อย่างไรตื่นขึ้นมาก็ให้อยู่อย่างนั้น จะมีเผลออยู่บ้างก็ตอนฉันอาหาร เมื่อปรารภความเพียรมากเท่าไร การระลึกถึงคุณของชาวบ้านก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามมา

เรารู้ตัวดีว่าเราเป็นพระ ชีวิตของเราฝากไว้กับชาวบ้าน ฉะนั้นเราจะปรารภความเพียรเพื่อใช้หนี้บุญคุณของชาวบ้าน แล้วเราก็แน่ใจตนเองว่า เรามาทำความเพียรครั้งนี้ เราได้ทำหน้าที่ของลูกหนี้อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว จวนเข้าพรรษาจึงได้ไปจำพรรษาร่วมกับท่านอาจารย์สิงห์ ที่บ้านป่าหนองลาด ในพรรษานี้เราเป็นพระใหม่ไม่ต้องรับภาระอะไรนอกจากจะประกอบอาจริยวัตร แล้วก็ปรารภความเพียรเท่านั้น

ท่านอาจารย์เองก็อนุญาตให้พวกเราเป็นพิเศษ เราได้ประกอบความเพียรตามแนวนโยบายที่เราได้กระทำมาแต่บนภูเขาตลอดพรรษา แล้วยังได้ประกอบแบบโยคะเพื่อทดลองเพิ่มเติมอีกด้วย กล่าวคือฉันอาหารผ่อน ตั้งแต่ ๗๐ คำข้าวเหนียวลงมาจนถึง ๓ คำ แล้วเขยิบขึ้นไปถึง ๓๐ คำแล้วก็ผ่อนลงมาถึง ๕ คำ ไปๆ มาๆ อย่างนี้เป็นระยะๆ ๓-๔ วัน ทำอย่างนี้อยู่ตลอดพรรษา แต่ระยะที่ยาวนานกว่าเขาหน่อยคือ ๑๕ คำ แล้วก็ฉันแต่อาหารมังสวิรัติด้วย

ร่างกายของเราผอมอยู่แล้วก็ยิ่งซูบซีดลงไปอีก จนเป็นที่แปลกตาของชาวบ้าน ใครๆ เห็นก็ถามว่าเป็นอะไรไปหรือ แต่เราก็มีกำลังใจประกอบข้อวัตรและทำความเพียรได้เป็นปกติ พอออกพรรษาเราจึงเริ่มฉันอาหารเนื้อปลา แต่แหม ! มันคาวนี่กระไร มนุษย์คนเรานี้กินเนื้อเขา เอามาเป็นเนื้อของเรา เหมือนกับไปฉกขโมยของสกปรกเขามากินอย่างนั้นแหละ เทพยาดาทั้งหลายจึงเข้าใกล้มนุษย์ไม่ได้ มันเหม็นสาบ แต่มนุษย์ทั้งหลายก็ยังกอดชมซากศพกันอยู่ได้

ออกพรรษาแล้ว เราสองรูปกับท่านอาจารย์สิงห์ได้ขึ้นไปอีกคราวนี้อยู่ ๙ คืน ท่านอาจารย์สิงห์อาพาธได้ให้ไปตามพรรคพวกขึ้นมา เมื่อเห็นว่าที่นั้นมันไม่สะดวกแก่การพยาบาลกัน จึงได้อพยพกันลงมาพักรักษาตัวอยู่ ณ ป่าหนองบัว (บัดนี้เป็นบ้านแล้ว) พอดีท่านอาจารย์มั่นสั่งให้เราเดินทางไปพบท่านที่อำเภอท่าบ่อ เราจึงได้ลาท่านอาจารย์สิงห์ไปตามคำสั่งของท่าน พอดีมาพบท่านอาจารย์มั่นกับพระอาจารย์เสาร์ซึ่งได้รับนิมนต์จากวัดโพธิสมรณ์ อุดรฯ ขณะนั้นคุณยายน้อย (มารดาพระยาราชนุกูล) มาในงานผูกพัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ คุณยายน้อยได้พบและฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เกิดความเลื่อมใสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราได้อยู่ร่วมท่านอาจารย์มั่นเป็นเวลาหลายวันแล้วเดินทางกลับท่าบ่อพร้อมท่าน

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2015, 08:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๑. พรรษา ๓ จำพรรษาบ้านนาช้างน้ำ (พ.ศ. ๒๔๖๘)

พรรษานี้เราได้จำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำ ซึ่งไม่ไกลจากท่าบ่อที่ท่านอาจารย์มั่นอยู่ เรากับพระอาจารย์อุ่นได้หมั่นมาฟังท่านเทศน์เสมอ พรรษานี้เราก็ไม่มีภาระอะไรนอกจากจะปรารภความเพียรเฉพาะส่วนตัวเท่านั้น ภาระอื่นๆ มีการรับแขก เป็นต้น เราได้มอบท่านอาจารย์อุ่นทั้งหมด เพราะท่านเคยเป็นอาจารย์เขามาแล้ว ท่านเคยบวชมหานิกายมาได้ ๙ พรรษา เพิ่งมาญัตติฝ่ายคณะธรรมยุตนี่เอง

ในพรรษานี้มีสิ่งที่น่าสลดใจสังเวชอยู่เรื่องหนึ่ง คือ พระอาจารย์ทา ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่แล้วก็ดูเหมือนจะเป็นลูกศิษย์คนแรกของท่านอาจารย์มั่นเสียด้วย ถ้าจำไม่ผิดพรรษาราว ๑๖-๑๗ พรรษานี่แหละ เดิมท่านไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สำเร็จ พอท่านได้ทราบกิตติศัพท์ของท่านอาจารย์มั่น ซึ่งเจ้าคุณพระอุบาลีฯ (จันทร์ สิริจันโท) สรรเสริญจึงได้ออกติดตามท่านมา

ในพรรษานั้นท่านได้ไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย กับอาจารย์ขันธ์ ท่านเกิดสัญญาวิปลาสหนีมาหาท่านอาจารย์มั่นกลางพรรษา บอกว่า ท่านเองต้องอาบัติถึงที่สุดแล้วร้อนไปหมดทั้งตัว เห็นผ้าเหลืองเป็นฟืนเป็นไฟไปหมด เมื่อซักไซ้ไล่เลียงไปในสิ่งที่ว่าผิดนั้นก็ไม่มีมูลความจริงสักอย่าง เป็นแต่ตัวเองสงสัยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เดือดร้อนเองเท่านั้น สิ่งหนึ่งซึ่งท่านเดือดร้อนมากก็คือ เมื่อท่านไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านโพนสว่าง สมาธิมีกำลัง ทำให้สว่างไสวมาก จะคิดค้นพิจารณาธรรมหมวดใดก็ดูเหมือนหมดจดไปหมดแล้วลงสู่ที่ใจแห่งเดียว แล้วตัดสินใจตนเองว่า เราถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้ว จนปฏิญาณตนในท่ามกลางสงฆ์เอาเสียเลย

ต่อมาอาการนั้นเสื่อมไปเลยสงสัยตนว่า เราอวดอุตริมนุสสธรรม เป็นอาบัติถึงที่สุดแล้ว ถึงแม้จะมีผู้อธิบายให้ฟังว่า เราพูดด้วยความสำคัญผิด พระวินัยมิได้ปรับโทษดอก ท่านก็ไม่เชื่อ ความจริงความวิปฏิสารเดือดร้อนอันนี้ท่านมีหลายปีแล้ว แต่ก็พออดทนอยู่มาได้ พอมาถึงพรรษานี้จึงเหลือทน มีแต่จะสึกอย่างเดียว ท่านอาจารย์มั่นก็แก้ไม่ไหวจึงทิ้งไป ให้อยู่ด้วยท่านอาจารย์เสาร์ ปีต่อมาท่านอาจารย์เสาร์ก็เอาไม่อยู่ ผลที่สุดสึกจนได้ สึกแล้วก็หายเข้ากลีบเมฆกลีบฟ้าไปไหนก็ไม่รู้ไม่มีใครทราบจนบัดนี้


เราได้เห็นเข้าแล้วทำให้ใจหดหู่เกิดสลดสังเวชในใจว่า แม้ท่านเป็นผู้ใหญ่ปฏิบัติมานานถึงขนาดนี้ ยังเกิดวิปลาสไปได้ ตัวของเราเล่าจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากความวิปลาสนี้ไปได้ คิดแล้วก็นึกหวาดเกรงตนเอง แล้วได้นำเอาความวิตกนั้นไปกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ท่านบอกว่า นั่นซี ต้องระวังตนเองและอย่าห่างไกลท่านผู้รู้ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นรีบไปปรึกษาหารือกับท่าน ออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นพร้อมด้วยคณะได้ออกเดินทางลงไปทางสกลนคร

๑๑.๑ กลับไปสงเคราะห์โยมแม่ อาว์ พี่ชาย

ตัวเราคิดถึงโยมแม่ จึงได้กลับไปบ้านเพื่อสงเคราะห์ก็สมประสงค์ คือได้แนะนำให้ท่านนุ่งขาว รักษาศีล ๘ ครั้งนี้โยมป้า อาว์ผู้ชายแลพี่ชายก็เกิดศรัทธา ได้พากันนุ่งขาว รักษาศีล ๘ ด้วย โดยเฉพาะพี่ชายซึ่งได้มีครอบครัวแล้ว มีบุตรคนหนึ่งอายุไม่กี่เดือนก็ได้ออกบวชด้วย เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้สมาคมกับหมู่เพื่อนและอบรมกับครูบาอาจารย์หลายองค์ด้วย จึงให้ออกจากบ้านเดินทางตามครูบาอาจารย์ไป ส่วนเรากับพี่ชายและอาว์ผู้ชายได้ตามไปทีหลัง ได้ตามไปทันกันที่บ้านปลาโหล อำเภอพรรณานิคม

ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้นแล้วท่านได้พาพวกเราไปตั้งสำนักที่บ้านอากาศอำนวย อยู่ไม่นานท่านอาจารย์มั่นได้ตามไปถึง แล้วท่านให้เราตามท่านไปตั้งสำนักที่บ้านสามผง การอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ดีมาก มีสติระวังตัวอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งสามเณรผู้ที่ปฏิบัติท่านไม่อยู่ เราจึงได้ไปนอนที่ระเบียงกุฏิของท่านอาจารย์แทนสามเณร ปกติท่านอาจารย์มักตื่นนอนทำความเพียรเวลาตี ๓ ทุกคืน

เวลาท่านตื่นหยิบไม้ขีดไฟก๊อกแก๊ก เราต้องลุกก่อนท่านทุกทีเพื่อเข้าไปถวายการปฏิบัติท่าน เราไปนอนอยู่หลายคืนจนท่านแปลกใจถามเราว่า ท่านเทสก์ไม่นอนหรือ เราตอบว่า นอนอยู่ครับ ในที่นั้นโรคของเราไม่ถูกกับอากาศ ฉันได้แต่ไม่มีกำลังปวดเมื่อยระบบไปหมดทั้งตัวตลอดเวลา แต่ความเพียรของเราไม่ท้อถอย ฉันแล้วเข้าป่าหาที่วิเวกทำความสงบอยู่คนเดียวตลอด กลางวันกลางคืนเดินจงกรม แล้วขึ้นฟังเทศน์ตั้งแต่ ๒ ทุ่ม จนถึง ๔ ทุ่ม ถ้าวันไหนมีพระมากท่านก็เทศน์จนถึง ๖ ทุ่ม หรือ ตี ๒ จึงเลิก

ท่านอุตส่าห์เทศน์อบรมอยู่อย่างนี้เป็นนิจ บรรดาลูกศิษย์ก็มีกำลังใจกล้าหาญทำความเพียรอยู่เช่นเดียวกัน หลังจากท่านอาจารย์มั่นไปแล้ว ท่านอาจารย์เสาร์ไปอยู่แทน ๓ พรรษา ได้ข่าวว่าพระไปมรณภาพที่นั่นหลายองค์ พระอาจารย์ภูมีก็ไปตายคืน ณ ที่นั้นเหมือนกัน

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2015, 17:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๒. พรรษา ๔ จำพรรษาที่ป่าช้าทิศเหนือของอำเภออากาศอำนวย (พ.ศ. ๒๔๖๙)

จวนเข้าพรรษา เราได้ย้อนกลับมาจำพรรษาที่ป่าช้าทิศเหนือของอำเภออากาศอำนวย ท่านอาจารย์สิงห์จำพรรษาทางทิศใต้ของอำเภออากาศอำนวย ในพรรษานี้ผู้ที่จำพรรษาด้วยกันมี พี่ชาย อาผู้ชาย โยมแม่ โยมป้า และแม่ชีบ้านโพนสว่างอีกคนหนึ่ง พระคงมีแต่เราคนเดียวกับสามเณรชื่น บ้านท่าบ่อ พอจวนเข้าพรรษาโยมอามาเสียคนหนึ่ง คงยังเหลือเพียง ๖ คนด้วยกัน

ในพรรษานี้ชาวบ้านเกิดฝีดาษผู้คนแตกหนีไปอยู่ตามป่าตามทุ่งนาเกือบหมด แม้พระตามวัดในบ้านก็ตาม โยมไปด้วยแทบจะไม่มีคนตักบาตรให้ฉัน เพราะคนในเมืองอากาศนี้เขาไม่เคยเป็นฝีดาษกัน บ้านมีพันกว่าหลังคาเรือน คนเป็นฝีดาษ ๕ คนเท่านั้น ใครเกิดเป็นฝีดาษแล้วจะต้องปกปิดไม่ให้ใครรู้กว่าคนอื่นจะรู้มันลุกลามไปมากแล้วและเมื่อเกิดฝีดาษแล้วจะต้องเอาไปไว้ในป่า ปลูกกระต๊อบให้อยู่คนเดียว เพียงเอาอาหารไปส่งให้กิน

ดีหนักหนาที่ท่านอาจารย์สิงห์ท่านรู้จักยาสมุนไพรอยู่บ้าง ท่านจึงบอกไม่ให้เอาไปทิ้งไว้ในป่า ท่านหายามารักษากัน จึงมีตายเพียงไม่กี่คนเท่านั้น พอทางการรู้เข้าจึงมาฉีดวัคซีนป้องกันให้ เดชะบุญเขายังนับถือพระกัมมัฏฐานอยู่ ถึงแม้ไม่มีคนนอนเฝ้าบ้านเลยสักคนเดียว ขนาดนั้นแล้วตอนตี ๔-๕ ยังอุตส่าห์ด้อมๆ มาหุงข้าวไว้สำหรับตักบาตร พวกเราไปบิณฑบาตเขาจะออกมาตักบาตร แล้วรีบกลับเข้าป่าไป

ขอขอบบุญขอบคุณชาวเมืองอากาศไว้ ณ ที่นี้ เป็นพิเศษ บุญกุศลครั้งนี้เป็นของสูงเหนือชีวิตจิตใจ เป็นที่พึ่งของมนุษย์ผู้ได้รับทุกข์ทั้งที่มีชีวิตอยู่และละโลกนี้ไปแล้วได้อย่างแท้จริง คนเราเมื่อได้รับทุกข์หากไม่พึ่งบุญแล้วจะไปพึ่งอะไรเล่า คนเมืองอากาศกลัวฝีดาษยิ่งกว่ากลัวเสือ คนบ้านใกล้เรือนเคียงกันทั้งเป็นญาติกันด้วยก็ไม่พูดกัน เราถามเขาว่า เมื่อไรจะพูดด้วยกัน เขาบอกว่า โน่นละ ออกพรรษาแล้วเดือนสามจึงจะพูดกัน

ในพรรษานี้เราได้ไปฟังเทศน์ท่านอาจารย์สิงห์บ่อยๆ การไปจะต้องเดินผ่านเมืองอากาศนี้ไปไกลเป็นระยะทางเกือบ ๓ กิโล (ในบ้านไม่มีคน แม้แต่สุนัขตัวเดียวก็ไม่เห็น) ถูกท่านอาจารย์สิงห์เทศน์กระเทือนใจเราอย่างหนัก จะเป็นเพราะท่านแกล้งเพื่อให้กระเทือนใจเรา หรือท่านไม่รู้นิสัยของเราตามความเป็นจริงก็เหลือที่จะเดาถูก ท่านว่า นิสัยของเราเป็นคนกระด้าง หัวดื้อไม่ค่อยจะลงคน ขณะที่ท่านเทศน์อยู่นั้น เราได้กำหนดจิตตรวจดูภายในใจของเรา เราเองก็เคารพนับถือท่านอย่างสุดซึ้งคอยรับโอวาทของท่านอยู่เสมอ ทำไมท่านจึงว่าอย่างนั้น แต่ที่ท่านว่าไม่ค่อยจะลงคนนั้นเป็นความจริง เราเป็นคนเช่นนั้นแต่ไหนแต่ไรมา

สิ่งใดถ้าไม่สมเหตุสมผลแล้วไม่ค่อยเชื่อง่ายๆ เหมือนกัน แม้ความเห็นของตนเองหากไม่เทียบดูโน่นดูนี่แล้ว ถ้าไม่มีหลักฐานยืนยันแล้ว หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมเชื่อเอาเสียดื้อๆ อย่างนั้นแหละ (เรื่องนี้จะได้นำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังข้างหน้า) ในขณะที่นั่งฟังเทศน์ท่านอยู่นั้นพร้อมทั้งตรวจใจของตนไป มันยิ่งทำให้เกิดมานะกล้าขึ้นเหมือนกับเอาน้ำมันมารดดับไฟอย่างนั้นแหละ ขากลับมาเดินตัวปลิว จิตมันกำหนดเอาเรื่องนั้นมาเป็นอารมณ์ไม่หาย คืนวันนั้นเรายิ่งปรารภความเพียรเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณด้วยคิดว่า

เราได้ปรารภความเพียรมาถึงขนาดนี้แล้ว กิเลสซึ่งมีอยู่ในใจของเราแท้ๆ ทำไมเราจึงรู้ไม่ได้ แต่คนอื่นกลับมาล่วงรู้ของเราได้น่าขายขี้หน้า ท่านก็เป็นคนเกิดจากบิดามารดา เติบโตมาด้วยน้ำนมข้าวป้อนเหมือนๆ กับเรา ท่านยังสามารถรู้เรื่องกิเลสของเราได้ เราจะยอมตายกับการทำความเพียรของเรานี้แหละ เมื่อปรารภความเพียรอยู่นั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นแต่พิจารณาไปว่า ท่านเห็นอย่างนั้น ท่านก็เทศน์ไปอย่างนั้นตามสิทธิของท่าน เมื่อของเราไม่เป็นอย่างท่านว่าเราก็ปรารภชำระตนเอง ใครจะไปรู้ยิ่งไปกว่าเราแล้วไม่มี ใจก็สงบเย็นไปเฉยๆ เมื่อทำความเพียรมากเข้าธาตุก็ไม่ค่อยปกติ จึงได้เอนกายลงพักผ่อน แต่นอนไม่ค่อยจะหลับ

พอเคลิ้มก็ได้เรื่อง ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ผีอำ" เรื่องผีอำไม่ต้องอธิบาย ใครๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่ามันมีอาการอย่างไร แต่ข้อสำคัญมันเป็นผีอำจริงหรือไม่ คืนวันนั้นเราได้ทดสอบหาข้อเท็จจริงหลายอย่าง เบื้องต้นมันเป็นตัวคล้ายๆ กับตัวอะไรใหญ่โตดำทะมึนเข้ามานั่งทับอกเรา แล้วหายใจไม่ออก พยายามดิ้นกว่าจะรู้สึกตัวหายใจได้แทบใจขาดทีเดียว เขาว่าผีสัตว์ที่เราฆ่ามันอยู่ที่หัวโป้มือ เอามือทับหน้าอกมันจึงอำเอา ทีนี้เอามือออกจากหน้าอกแล้วมาวางเหยียดแนบลำตัว มันก็ตามมาอำอีก เอ นี่อะไรกัน เป็นเพราะเรานอนหงายกระมัง ลองนอนตะแคงดูมันก็ยังมาอำอีก เวลามันอำทำเอาจนหายใจจะขาดให้ได้

จึงได้มากำหนดดูว่าอาการของคนจะตายมันเป็นอย่างไร ครั้งแรกเรามีสติตามรู้ตัวจิตอยู่ว่าเวลาใจจะขาดนั้นเป็นอย่างไร สติตามรู้จิตจนวาระสุดท้าย ยังเหลือสติตามรู้จิตอยู่ นิดเดียวในความรู้สึกนั้นว่า ถ้าเราปล่อยสติที่ยังตามรู้จิตนิดเดียวนี่แหละเมื่อไร นั้นแหละคือความตาย บัดนี้เราจะปล่อยให้มันตายหรือไม่ปล่อยดี เวลานี้จิตของเราก็บริสุทธิ์ดีอยู่แล้ว หากจะปล่อยให้มันตายก็ไม่เสียที มันยังมีความรู้สึกนิดๆ หนึ่งว่า ถ้าเราไม่ปล่อยให้มันตาย มีชีวิตอยู่ ก็ยังสามารถทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นได้อีกต่อไป ถ้าตายเสียเวลานี้ก็จะได้แต่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น แล้วคนที่อยู่ภายหลังก็จะไม่รู้ต้นสายปลายเหตุแห่งความตายนี้อีกด้วย

ถ้าอย่างนั้นก็อย่าให้มันตายเลย แล้วพยายามกระดุกกระดิกมือเท้าให้มันเคลื่อนไหวจนรู้สึกตัวขึ้นมา ตอนที่สองไม่เห็นตัวดอก แต่มันเป็นก้อนดำทะมึนๆ เข้ามา ทีนี้เราทราบแน่แล้วว่าไม่ใช่ผี มันเป็นเรื่องของลมตีขึ้นข้างบนต่างหาก เราพยายามเคลื่อนไหวมือเท้าแล้วก็หายไป ตอนที่สามไม่ถึงขนาดนั้น เป็นแต่ซึมๆ เคลิ้มๆ แล้วเราพยายามลุกขึ้นเสีย ผู้อ่านทั้งหลายพึงสังเกตตัวเมื่อรู้สึกตัวขึ้นมา จะมีอาการมึนศรีษะและซึมเซ่อ ถ้าไม่พยายามรับประทานยาแก้ลมแล้วนอนไปอีกก็จะเป็นเช่นนั้นอีก เฉพาะตัวข้าพเจ้าแล้วแก้ได้เฉพาะดมพิมเสนอย่างเดียว

๑๒.๑ ตำรานอนหลับหรือไม่หลับ

ในระยะเดียวกันนี้ ได้พยายามจับอาการของคนนอนหลับว่าเป็นอย่างไร โดยมากเราไม่รู้ตัวขณะที่มันจะหลับจริงๆ ตื่นแล้วจึงรู้ว่าตนนอนหลับ คนเราก่อนหลับจะมีอาการเมื่อยอ่อนเพลียและง่วงซึมเซ่อทั้งกายและใจ ความนึกคิดสั้นเข้า ที่สุดปล่อยวางสติอารมณ์ทั้งหมดแล้วหลับผล็อยไปเรียกว่าหลับ เมื่อมาตั้งสติคอยจับอาการ ขณะที่มันปล่อยวางขั้นสุดท้ายนั้น สติจะยังเหลือน้อยมากแทบจะจับไม่ได้เลยทีเดียว อารมณ์ต่างๆ ไม่มีเหลือเลย จะยังเหลือสติตามเพ่งดูจิตซึ่งปรากฏในขณะนั้นนิดเดียว คล้ายๆ กับว่าจิตจะตกภวังค์

ตอนนี้ถ้าหากเราไม่ต้องการจะให้มันหลับ พยายามค้นหาอารมณ์อันใดอันหนึ่งให้มันเอามายึดแล้วคิดค้นและปรุงแต่งต่อไป จิตใจก็จะแช่มชื่นเบิกบานหายจากความง่วง ไม่หลับแล้วจะมีคุณค่าเท่ากับเรานอนหลับตั้ง ๔-๕ ชั่วโมง ถ้าเราประสงค์จะให้มันหลับเราก็ปล่อยสติที่ว่ายังเหลืออยู่นิดเดียวนั้นเสียแล้วจะหลับไปอย่างสบาย แต่ดีไม่เสียเวลา จะหลับน้อยหลับมากไม่เกิน ๕-๑๐ นาที หรือถ้าเราตั้งสติกำหนดได้ดังอธิบายมานี้จริงๆ แล้ว รับรองว่าไม่เกิน ๕ นาที

อนึ่ง ถ้าเราไม่ต้องการให้มันหลับละ แต่จะพักกายพักจิตใจเฉยๆ ก็ให้หาที่พักอันสงัดพอสมควร จะเป็นที่ลับตาหรือท่างกลางผู้คนก็ตาม แล้วเอนกายนอนทอดเหยียดให้สบาย อย่าให้เกร็งส่วนใดๆ ทั้งหมดของร่างกาย แล้วให้กำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียวในความปล่อยวาง ให้มันว่างอยู่เฉยๆ เฉพาะมันสักพักหนึ่ง แล้วเราลุกขึ้นมา อาการทั้งหมดก็จะเหมือนกับว่าเราได้นอนหลับไปแล้วตั้ง ๔-๕ ชั่วโมงก็เหมือนกัน


ความจริงคำที่ว่า "นอนหลับ" นั้นใจมิได้หลับ แต่กายพักผ่อนไม่ต้องเคลื่อนไหวทั้งหมดต่างหาก แม้ท่านที่เข้านิโรธสมาบัติ ก็มิใช่อาการของคนนอนหลับ เป็นอาการของท่านคุมสติให้จิตแน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วละอารมณ์นั้นๆ ละเอียดลงไปโดยลำดับพร้อมทั้งสติและจิตด้วย จนขาดจากความรู้สึกนึกคิดอะไรทั้งหมด ด้วยอำนาจการอบรมของท่าน ขณะนั้นสติไม่มีงานทำ สติจึงหมดไป แม้ลมในร่างกายจะเดินอยู่ แต่ก็เป็นของละเอียดที่สุดจนจะเรียกว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ คือมี แต่ไม่ปรากฏเดินทางจมูก ถ้าจะอุปมาก็เหมือนกับลมภายนอก ลมมีอยู่ไม่ถึงกับพัดเอาใบไม้หรือสิ่งใดๆ ให้หวั่นไหวปรากฏ

ลักษณะเช่นนั้นใครจะพูดว่าลมไม่มีไม่ได้ ถ้าลมไม่มีคืออากาศไม่มีนั่นเอง มนุษย์สัตว์ทั้งหลายที่อยู่อาศัยในโลกนี้ก็ต้องตาย ท่านเรียกว่า เข้านิโรธสมาบัติ ตอนนี้ประสาทในอายตนะทั้ง ๖ ไม่ยอมรับสัมผัสอะไรทั้งนั้น แต่มิใช่นอนหลับ การนอนหลับถ้ามีอะไรมากระทบอาจรู้สึกขึ้นมาได้ทันที ส่วนท่านผู้ที่เข้านิโรธสมาบัตินั้น เข้าด้วยอาการอบรมฝึกฝนจิตของท่านให้ชำนาญแล้วจึงเข้า เมื่อเข้าแล้วจึงมีปาฏิหาริย์มาก ถึงแม้ใครๆ จะมาทำร้ายท่านในขณะนั้น ขนาดเอาไฟมาเผาก็ไม่ไหม้


ส่วนนิพพานธาตุแตกขันธ์ดับได้ หากท่านจะออกจากนิโรธสมาบัติด้วยอำนาจแรงอธิษฐานของท่าน เมื่อถึงกำหนดแล้วลมหายใจจะค่อยๆ หยาบขึ้นโดยลำดับ ต่อจากนั้นไปทุกสิ่งทุกอย่าในตัวของท่านก็จะปกติเช่นเดิม นิโรธสมาบัติมิใช่พระนิพพาน เป็นฌานเพราะขาดปัญญาสัมมาทิฏฐิที่จะวินิจฉัยเหตุปัจจัยของกิเลสนั้นๆ คือกามาพจรและรูปาพจร อันเป็นภูมิของวิปัสสนาญาณ ญาณทัสสนะ มัคควิถี ฌานทั้งหมดเป็นแต่เครื่องสนับสนุนแลขัดเกลามรรคให้มีกำลังเท่านั้น

ฉะนั้น พระพุทธองค์ก่อนจะปรินิพพานจึงเข้าฌานผ่านไปโดยลำดับ แล้วกลับเข้าจตุตถฌานอันเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาแล้วนิพพานในระหว่างกามาพจร กับรูปาพจรที่เป็นฐานของโลกุตตรธรรม

หากจะมีคำถามว่า เอ ตานี่ ทำไมแกจึงพูดถึงนิโรธ นิพพาน ฌานสมาบัติ แกได้ แกถึงแล้วหรือเปล่า แกก็จะตอบว่า มิได้ จะหาว่าข้าพเจ้าพูดอวดอุตริมนุสสธรรมอย่างนั้นหรือ ความจริงท่านผู้เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธก็ดี ถึงมรรคผลนิพพานก็ดี หรือเข้าถึงฌานสมาบัติก็ดี ท่านมิได้สำคัญว่าเราเข้าอยู่ เราถึงแล้วหรือถึงอยู่ เป็นแต่ท่านชำนาญในอุบายที่จะให้เข้าถึงเท่านั้น ขณะที่เข้าถึงจริงๆ ถ้ายังมีความสำคัญอยู่อย่างนั้นก็จะไม่เข้าถึงแล้วคนทั่วไปเรียนรู้แลฉลาดในธรรมวินัยทั้งหลายก็จะพากันถึงมรรคผลนิพพาน ฌานสมาบัติกันไปทั้งหมดทั้งบ้านทั้งเมืองละซี ขณะนั้นไม่ใช่วิสัยของใครที่จะไปแต่งตั้งสมมุติบัญญัติขึ้นมา เมื่อพ้นจากภาวะเช่นนั้นแล้ว ท่านจึงมาอนุสรณ์ตรวจตราลำดับเหตุผล แล้วบัญญัติเรื่องทั้งหลายเหล่านั้นขึ้น

ผู้อธิบายทั้งหลายไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้นๆ แล้วจึงจะอธิบายได้ เมื่อมีบัญญัติไว้แล้ว เข้าใจเนื้อความแล้ว ก็อธิบายตามความเข้าใจของตนๆ ผิดบ้างถูกบ้าง ถ้ามิฉะนั้นแล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ไหนจะจีรังถาวรมาได้จนบัดนี้ ผู้ฟังก็เถอะน่า ฟังเรื่องเดียว หัวข้ออันเดียวกันแต่เข้าใจไปคนละแง่กันก็เยอะ ถ้าแม้ผู้ที่เข้าถึงขั้นนั้นอย่างเดียวกันด้วยอุบายเดียวกัน แต่ก็ยังใช้แยบคายคนละอย่างกันธรรมที่เห็นด้วยตนเองจึงจะเป็นอัศจรรย์และทำได้ด้วยยาก ทำไมจึงมาปรักปรำใส่โทษข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว ไม่ยุติธรรมเลย

ขออภัยด้วยที่ข้าพเจ้าได้นำท่านผู้อ่านแหวกแนวพาไปเที่ยวโลกเมืองผี
บัดนี้ขอนำเข้าสู่ เรื่องอัตตโน-ประวัติต่อไป


ออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์สิงห์ได้พาคณะเราไปกราบนมัสการทานอาจารย์มั่นที่บ้านสามผง ดังเคยปฏิบัติกันมาเป็นอาจิณ ในระหว่างทางเราได้เล่าเรื่องทั้งหมดนั้นถวายท่านอาจารย์สิงห์ ทานก็ไม่ว่ากระไร ได้แต่นิ่งๆ เมื่อพวกเราไปถึงท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านได้นำเรื่องนั้นกราบเรียนท่านอาจารย์มั่นอีกที ขณะนั้นเรายังนั่งอยู่ห่างท่านไปหน่อย ไม่ทราบว่าท่านพูดอย่างไรในเรื่องของเรา เราก็ไม่ได้ยิน เข้าใจว่าเป็นเรื่องไร้สาระ มิใช่มัคควิถีท่านจึงไม่ปรารภต่อเหมือนกับเรื่องอื่นๆ

การรวมกันกราบนมัสการพระอาจารย์ผู้ใหญ่ในครั้งนี้ ถึงแม้พระเณรทั้งหมดรวมกันจะหย่อนร้อย ก็นับว่ามากเอาการอยู่ในสมัยนั้น แล้วท่านอาจารย์มั่นได้ให้เราพร้อมด้วยพระอีกองค์หนึ่งกับสามเณรหนึ่งองค์ตามท่านออกเดินทางไปบ้านข่าโนนแดง ซึ่งอาจารย์อุ่น อาจารย์กู่ และอาจารย์ฝั้น จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น ได้พักอยู่ ณ ที่นั้นสามวัน ได้เล่าเรื่องที่เราหัดนอนหลับและไม่หลับให้เพื่อนฟัง ทุกองค์พากันเงียบไม่พูดว่าอย่างไร โดยเฉพาะท่านอาจารย์อุ่น ซึ่งเป็นผู้ปรารภเรื่องนี้ก่อนตั้งแต่เรายังทำไม่ได้ ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นอยู่ที่วัดป่าสามผงท่านเทศน์ทุกวัน ถ้าใครอ่อนแอท้อแท้เจ็บป่วยท่านก็เทศน์ว่า นั่นมิใช่กลัวตาย แต่อยากตายหลายหน (คือหมายความว่า ถ้าทำความเพียรกล้าแข็งเข้า ใจบริสุทธิ์แล้วความกลัวตายก็จะลดน้อยลง)

พอท่านออกจากวัดไปไม่มีใครเทศน์ให้ฟัง จิตใจของลูกศิษย์ก็อ่อนลงจึงอยู่ไม่ได้ ที่วัดนี้อากาศร้ายนัก ไข้มาลาเรียก็ชุม ใครใจอ่อนแอจะต้องโดนเป็นไข้ทุกๆ คน หมู่คณะที่อยู่บ้านสามผงได้ตามมาทั้งหมดวัดเลย บอกว่า แย่ อยู่ไม่ไหว อากาศวัดบ้านสามผงมันร้ายกาจมาก ทำให้ซึมมึนเมาง่วงนอนตลอดทั้งวัน เมื่อหมู่คณะไปรวมพร้อมกันแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้ปรารภถึงการเที่ยววิเวกของหมู่คณะเพื่อเผยแพรศีลธรรมต่อไปว่า ในสามสี่จังหวัดแถบนี้คือ สกลนคร อุดร หนองคาย เลย พวกเราก็ได้เที่ยวมามากแล้ว ต่อไปนี้พวกเราจะไปจังหวัดไหนดี ส่วนมากเห็นว่าลงไปทางอุบล แต่ตัวท่านเองไม่ค่อยพอใจเพราะหาป่าเขาและถ้ำยาก แต่ว่ามติส่วนมากเห็นเช่นนั้นท่านก็อนุโลมตาม

เมื่อตกลงกันแล้วก็เตรียมออกเดินทางเป็นกลุ่มๆ หมู่ๆ ส่วนเราจำเป็นต้องตามส่งโยมแม่กลับบ้านจึงไม่ได้ติดตามท่านด้วย การที่คณะท่านอาจารย์มั่นไปครั้งนี้ ถูกมรสุมอย่างขนาดหนักมีทั้งผลดีและผลเสีย ดี ก็คือ ได้ขยายจำนวนวัดมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนพระกัมมัฏฐานวัดป่าไม่มีเลย ที่จังหวัดอุบลพึ่งมามีและตั้งรกรากลงได้ครั้งนี้เอง แล้วก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้มีวัดพระธรรมยุตแทบทุกอำเภอแล้ว ที่ เสีย ก็คือ เสื่อมคุณภาพในทางปฏิบัติก็ครั้งนี้...เป็นประวัติการณ์จนท่านอาจารย์มั่นผละหนีจากคณะขึ้นไปเชียงใหม่เสียเลย

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2015, 19:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๓. พรรษา ๕ จำพรรษาอยู่ที่บ้านนาช้างน้ำอีก (พ.ศ. ๒๔๗๐)

พรรษานี้ เราได้วกกลับมาจำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำอีกเป็นครั้งที่สอง พี่ชายของเราได้จำพรรษาที่บ้านนาสีดากับโยมพ่อ ออกพรรษาแล้วเราได้พาพี่ชายของเราไปทำความเพียรที่ถ้ำพระนาหักผอก ตอนหลังนี้พี่ชายของเราได้กลับลงไปหาพระอาจารย์เสาร์ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่นครพนม ออกพรรษาแล้วได้อุปสมบทเป็นพระ ณ วัดศรีเทพนั่นเอง

๑๔. พรรษา ๖ จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพระนาผักหอก (พ.ศ. ๒๔๗๑)

เราได้พาเอาโยมพ่อไปอยู่ถ้ำด้วย ตั้งแต่ท่านบวชเป็นชีปะขาวมาได้ ๑๑ ปีแล้ว เรายังไม่เคยได้ให้ท่านอยู่จำพรรษาด้วย และก็ไม่เคยมาจำพรรษาใกล้บ้านอย่างปีนี้เลย ปีนี้นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้อุปการะท่านในด้านทางธรรมและท่านก็ได้ทำภาวนากรรมฐานอย่างสุดความสามารถของท่านได้ผลอย่างยิ่งจนท่านอุทานออกมาว่า ตั้งแต่เกิดมาในชีวิตพึ่งได้ซาบซึ้งในรสชาติของพระธรรมในครั้งนี้เอง ท่านนั่งภาวนากัมมัฏฐานได้นานเป็นเวลาถึง ๓-๔ ชั่วโมงทีเดียว

เราดีใจมากที่ได้สังเคราะห์ท่านสมเจตนารมณ์ของเรา แต่เมื่อถึงกาลเวลาเข้าแล้ว คนเรามันมักมีอันเป็นไป กล่าวคือ ท่านมาเกิดอาพาธ ลูกหลานเขามองเห็นความลำบากเมื่อเจ็บมากในเวลาค่ำคืน เพราะอยู่สองคนพ่อลูกด้วยกันเท่านั้น ไม่ทราบว่าจะวิ่งไปพึ่งใคร เขาจึงได้พากันมารับเอาลงไปรักษาที่บ้าน แต่ท่านก็ไม่ยอมกลับไปอยู่ที่วัดเดิม ให้เขาเอาไปไว้ที่ห้างนาของท่านกลางทุ่ง เราได้ตามไปให้สติบ่อยๆ

ในปีนั้น มีสิ่งที่น่ามหัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่งสำหรับโยมพ่อของเรา กล่าวคือ ข้าวกล้าในนาของชาวบ้านทั้งหมดแถบนั้นไม่ดีเลยทั้งๆ ที่ฟ้าฝนก็พอปานกลาง ต้นข้าวแดงไปหมด มีข้าวที่เขียวงามผิดหูผิดตาของคนทั้งหลาย เฉพาะทุ่งนาที่ท่านอยู่เท่านั้น จนชาวบ้านพูดกันว่า คุณพ่อปะขาวคงจะไม่รอดปีนี้ แล้วก็เป็นความจริงอย่างที่เขาพูด

วันนั้นเราได้ไปให้สติและอุบายต่างๆ จนเป็นที่พอใจของท่าน ท่านก็ยังแข็งแรงดี จวนค่ำเราจึงกลับที่อยู่ถ้ำพระนาผักหอก กลางคืนวันนั้นเองท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการมีสติสงบอารมณ์อยู่ตลอดหมดลมหายใจ รุ่งเช้าเขาได้ไปตามเรามา แล้วก็ทำการฌาปนกิจศพของท่านให้เสร็จเรียบร้อยในวันนั้นเอง ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ อายุได้ ๗๗ ปี บวชชีปะขาวอยู่ ๑๑ ปี

ก่อนโยมพ่อของเราจะไปอยู่ด้วย เราอยู่คนเดียว หลังจากโยมพ่อของเราถึงแก่กรรมแล้วเราก็อยู่คนเดียวอีกนับว่าหาได้ยากที่จะได้วิเวกอย่างนี้ เราได้กำหนดในใจของเราไว้ว่า ชีวิตและเลือดเนื้อตลอดถึงข้อวัตรที่เราจะทำอยู่ทั้งหมด เราขอมอบบูชาพระรัตนตรัยเหมือนกับบุคคลเด็ดดอกไม้บูชาพระ

ฉะนั้น แล้วเราก็รีบเร่งปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า ตั้งสติกำหนดจิตมิให้คิดนึกส่งออกไปภายนอก ให้อยู่ในความสงบเฉพาะภายในอย่างเดียว ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ก่อนจะนอนตั้งสติไว้อย่างไรตื่นมาก็ให้ได้อย่างนั้น


แม้บางครั้งนอนหลับอยู่ก็รู้สึกว่าตัวเองนอนหลับแต่ลุกขึ้นไม่ได้ พยายามให้กายเคลื่อนไหวแล้วจึงจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาโดยความเข้าใจในตนเองว่า จิตที่ไม่คิดนึกส่งส่ายออกไปภายนอก สงบนิ่งอยู่ ณ ที่เดียว นั่นแลคือความหมดจดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ปัญญาก็เอามาใช้ชำระใจที่ส่งส่ายแล้วเข้ามาหาความสงบนั่นเอง

ฉะนั้นจึงไม่พยายามที่จะใช้ปัญญาพิจารณาธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นต้น หาได้รู้ไม่ว่า กายกับจิตมันยังเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เมื่อวัตถุหรืออารมณ์อันใดมากระทบส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าแล้ว มันจะต้องกระเทือนถึงกัน ทำให้ใจที่สงบอยู่แล้วนั้นหวั่นไหวไปตามกิเลสได้

เราทำความเพียรเดินจงกรมจนเท้าทะลุเลือดออกแล้วก็เป็นไข้ตลอดพรรษา แต่เราก็หาได้ท้อถอยในการปรารภความเพียรไม่ เราเคยได้อ่านเรื่องของพระเถระบางองค์ในสมัยก่อนเดินจงกรมจนเท้าแตก เราไม่ค่อยจะเชื่อ คำว่า แตก คงหมายเอาไปกระทบของแข็งอะไรเข้าแล้วก็แตก ก็เดินจงกรมสำรวมในทางเรียบๆ จะไปกระทบอะไร

ความจริงศัพท์บาลีคำว่า แตกหรือทะลุ ใช้ศัพท์เดียวกันนั่นเองและที่ว่าพระอาพาธ (ไข้) เกิดจาก กรรม ฤดู น้ำดีกำเริบ การกระทบสิ่งภายนอก แลเกิดจากทำความเพียร ก็เพิ่งมาเข้าใจเอานี่เองว่า ความเพียรที่มีจิตกำลังกล้า ไม่มีปัญญา แต่นี่เราอยู่คนเดียวไม่มีกัลยาณมิตร กล้าแต่ความเพียรจิตไม่กล้าปัญญาไม่ค่อยดี จึงทำให้เป็นไข้


ออกพรรษาแล้ว เราจึงได้ย้อนกลับไปหาพี่ชายของเราและพระอาจารย์เสาร์ที่นครพนม เพราะเราห่างจากหมู่เพื่อนและครูบาอาจารย์มาสองปีแล้ว ตั้งแต่ท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น พร้อมทั้งหมู่คณะจากท่าบ่อไปในแถบนี้ยังเหลือพระคณะนี้เฉพาะเราองค์เดียว

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2015, 20:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๔.๑ เรื่องของหลวงตามั่น

ขณะนั้นหลวงตามั่นบ้านค้อ ได้มาจำพรรษาบ้านนาสีดา อันเป็นบ้านเกิดของเรา แกเที่ยวคุยและอาละวาดพระที่มีความรู้น้อยกว่าว่า แกเป็นผู้เก่งทางศาสนา สามารถโต้ตอบกับใครต่อใครให้ปราชัยไปได้ แม้พระกัมมัฏฐานทั้งหลายเห็นหน้าแกแล้วก็หลบหน้า

ดูซิ พระกัมมัฏฐานทั้งหลายอยู่ไม่ได้หนีไปหมดเพราะกลัวเรา ยังเหลือแต่คุณเทสก์องค์เดียว นี่อยู่ไม่กี่วันก็จะไปแล้ว เขาได้ยินแล้วเบื่อไม่อยากพูด ถึงพูดแกก็ว่าถูกแต่แกคนเดียว โต้กันไปเป็นเรื่องเป็นราว

พอดีพรรษานั้นเกิดอธิกรณ์กับพระบ้านกลางใหญ่ เขาแอบไปนิมนต์เราให้ลงมาจากถ้ำพระเพื่อมาชำระอธิกรณ์ พอเราลงมาแกกลับให้ล้มเลิกอธิกรณ์นั้นเสีย แกชวนทำอย่างนี้อยู่ร่ำไปจนเป็นเหตุให้พระแถวนั้นเอือมระอาไปหมด นี่จะเป็นเพราะบ้ายอดังคนปักษ์ใต้พูดก็ได้ เพราะเขาขี้เกียจพูด พูดไปก็ไร้สาระประโยชน์

พอดีวันนั้นเป็นวันปวารณา เขาทำบุญตามประเพณี เขาไปนิมนต์แกมาร่วมเทศน์ด้วย และเขาได้ไปนิมนต์เราลงมาร่วมด้วยเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้บอกให้แกรู้ พอดีเราเดินผ่านบ้านมาไม่เห็นมีคน เขาไปรอคอยเราอยู่ที่วัดหมดแล้ว ซึ่งผิดปกติจากทุกวัน ก็แต่ไหนแต่ไรมาพอรู้ว่าเราจะเดินผ่านบ้านเขาจะมารอดูเราเต็มไปหมดสองข้างทาง บางคนร้องเรียกจ้าละหวั่น จนเราไม่อยากจะเดินผ่านบ้านกลางใหญ่

พอแกเทศน์จบ เราเรียกประชุมสงฆ์ทั้งหมดแล้วปรารภเรื่องที่แกพูดว่า ไหว้พระเอาอะระหังขึ้นก่อนนั้นผิด เราไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ไหว้อรหันต์ไม่ได้ ให้แกอ้างเหตุผลประกอบ แกบอกว่า ต้องว่า นะโมขึ้นก่อนซิแล้วว่า นะโม อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ เราชี้ให้แกเห็นว่า มันก็ไหว้อรหโตเหมือนกัน หลวงตาเป็นพระอรหันต์หรือ จึงไหว้อรหโต

ถึงตอนนี้ แกชักจะโกรธอย่างแรงทีเดียวว่า ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้วไม่บวชอยู่อย่างนี้ดอก สึกออกไปนอนกับเมียดีกว่า และพูดหยาบคาย...หลายอย่าง ล้วนแต่คำไม่น่าฟังทั้งนั้น

จึงย้อนถามต่อไปว่า ที่เราเป็นพระอรหันต์มีอะไรเป็นเครื่องวัด แกตอบว่า ดูดินเป็นเครื่องวัด เราบอกว่า ดินใครๆ ก็ดูได้ แม้แต่วัวควายมันก็กินหญ้าก้มดูดินอยู่ตลอดวันยังค่ำ มันเป็นอรหันต์หมดด้วยกันละซิ หลวงตานี่อวดอุตริมนุสสธรรมแล้ว

พอเราพูดเท่านี้แกตกใจ หยุดชะงักพูดอะไรไม่ได้เลย เราได้พูดหลายเรื่อง เป็นต้นว่า แกพูดท้าทายหมู่เพื่อนและพระกัมมัฏฐานต่างๆ นานา เป็นจริงไหม ขอให้พูดออกมา แกไม่พูดเลยเด็ดขาด เวลานั้นจวนค่ำแล้ว พระเขาจะปวารณา แกเข้าไปในอุโบสถจะปวารณากะเขาบ้าง แต่พระไม่ให้ปวารณาด้วย แกเลยกลับบ้านนาสีดาคนเดียว

วันนั้นคนทั้งบ้านแทบจะไม่มีคนอยู่เฝ้าบ้านเลย มารวมกันที่ ณ ที่วัดนั้นหมด กำนันตัวเอกซึ่งไม่เคยเข้าวัดเลยแต่ไหนแต่ไรมา ก็เข้าวัดตั้งแต่วันนั้นมาจนกระทั่งวันตาย พอดีเย็นวันนั้นเราไม่ได้กลับถ้ำพระ

แต่นอนวัดบ้านนาสีดา หลวงตามั่นได้กระหืดกระหอบมาหาเราแล้วพูดแทบไม่เป็นศัพท์เป็นแสงด้วยความน้อยใจ แล้วจะหนีไปในคืนนั้น ได้บอกว่าอับอายขายหน้าเขา อยู่ไม่ได้ เราได้ร้องขอให้อยู่ต่อไป รุ่งเช้าจึงไป ผมพูดตามเหตุผล ผมไม่มีความอิจฉาริษยาอะไรดอก

คืนนั้นแกนอนไม่หลับหมดคืน เช้ามืดแกก็ไปโน่นไปหาเจ้าคณะอำเภอเขาโน่น แกไปขอลาสึก คืนเดียวเสียงกระฉ่อนดังไปหมด เจ้าคณะอำเภอเขาก็รู้เรื่องนี้ด้วย บอกว่าไม่ต้องลาก็ได้ สึกเลยแกมาบ้านค้อ ลาพระเป็นครูสอนนักธรรม พระเขาก็รู้อีกเหมือนกัน เขาบอกว่าไม่ต้องลาก็ได้ สึกเลย ผลสุดท้าย สึกแล้วเข้าห้องนอนเงียบอยู่บ้านภรรยาเก่าเป็นตั้งหลายวัน จึงค่อยมาให้คนเห็นหน้า

เรื่องไร้สาระนำมาประกอบอัตตโนประวัติเพื่อให้สมบูรณ์ฉบับไม่นำมาหรือก็จะขาดเรื่องไม่สมบูรณ์ไป

๑๔.๒ เรื่องของหลวงเตี่ยทองอินทร์

นำเรื่องไร้สาระมาเล่าสู่กันฟังแล้ว ทีนี้จะนำเอาเรื่องที่มีสาระมาเล่าสู่กันฟัง หลวงเตี่ยทองอินทร์เดิมแกเป็นคนโคราช บ้านโคกจอหอ แกมาค้าขายอยู่ท่าบ่อ เป็นพ่อค้าใหญ่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในแถบนี้ แกเป็นคนมีศรัทธาทั้งผัวทั้งเมีย คนท่าบ่อรู้การรักษาศีลก็เพราะแก แกถวายสวนทำเป็นวัดชื่อ วัดอัมพวัน เอาชื่อของสองผัวเมียใส่ด้วย เพราะผัวชื่ออินทร์ เมียชื่ออ่ำ แล้วแกก็บวชทั้งสองผัวเมียอยู่มาได้ ๔-๕ พรรษา

แกเป็นโรคฟกบวมไปไหนไม่ได้ นอนอยู่กับที่ ถึงปีมาลูกๆ เขาจะต้องทำบังสุกุลเป็นให้แก เราเลยถูกนิมนต์ไปทำบุญด้วย ทั้งที่เราไม่เคยเห็นหน้ามาแต่ก่อนเลย เราได้ ๕ พรรษา แกได้ ๗ พรรษาแก่กว่าเรา ๒ พรรษา แกบอกว่า เวลานี้ผมเหมือนคนตายแล้วครับ

เราบอกว่า คนตายแล้วมันดีซิ แกบอกว่า ผมไม่ห่วงอะไรทั้งหมด จิตจดจ่อแต่มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เท่านั้นแหละ เราบอกว่า ถ้ายังปรารถนาอยู่ก็เรียกว่ายังไม่ตาย คนตายแล้วไม่ปรารถนาอะไรเลย ตอนนี้แกชักอึ้งแล้ว แกซักว่า ไม่ให้ปรารถนาจะให้ผมทำอย่างไร เราบอกว่า ให้ภาวนาพุทโธๆ เป็นอารมณ์เดียว

ตอนนี้เรามองดูข้างล่างมีพระมาอยู่เต็มไปหมด เราจึงรีบทำพิธีเสร็จแล้วก็ลงไป ให้พระวัดอื่นมาทำพิธีต่อ (ตามปกติแล้ว เมื่อแกดีๆ อยู่ขยันไหว้พระสวดมนต์มาก ๗ วันจึงจะรอบของเก่า เวลาพระอาจารย์ผู้ใหญ่มา เช่น อาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์ เป็นต้น แกเข้าไปหาแล้วออกมาบอกลูกและเมียว่า ทำบุญทำทานตักบาตรเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องอะไรหนักหนา แต่ลูกสาวปฏิบัติได้ดีมาก)

พอรุ่งเช้าขึ้นมีคนมาบอกว่า นิมนต์ไปหาหลวงเตี่ยด้วย แกมีเรื่องที่จะเล่าให้ฟัง เราบอกว่า ฉันเช้าแล้วจะไปให้รอประเดี๋ยว พอเราไปถึงแกรีบเล่าเรื่องมหัศจรรย์ให้ฟังว่า อาจารย์คืนนี้ผมแปลก ไก่ซึ่งแต่ก่อนมันขันเสียงว่า เอ้กอี๊เอ้ก-เอ้ก แต่เมื่อคืนนี้ไม่ยักเป็นอย่างนั้น มันบอกว่า จิตเจ้าเป็นเอกๆ ดังนี้ (เมื่อจิตเป็นเอกคตารมณ์แล้ว เสียงมันจะปรากฏเป็นอย่างนั้น)

อาจารย์-ตุ๊กแก เมื่อก่อนมันร้องว่า ตุ๊กแกๆ คืนนี้มันบอกว่า ตัวเจ้าแก่แล้วๆ (เป็นธรรมเทศนาเสียงอะไรซึ่งมีอาการคล้ายกันเป็นเครื่องสอนและจะสอนทันที) เราได้บอกแกว่า ถูกแล้วให้ตั้งใจภาวนาเข้า ทำใจให้แน่วแน่ ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน อย่าให้เผลอได้ ไหนๆ เราก็ตั้งต่อความตายแล้ว


วันหลังมีคนมาบอกว่า ขอให้อาจารย์รีบไปเร็ว หลวงเตี่ยจะสึกแล้ว เราตกใจ เรื่องอะไรทำไมจึงจะสึกเสียแล้ว ภาวนาพึ่งเป็น เราบอกว่า เดี๋ยวก่อนอย่าพึ่งสึก ฉันข้าวเสร็จแล้วจะไป พอเราไปกุฏิแกมีลูกกรงกั้นสองชั้น เราเปิดชั้นนอกเข้าไป แล้วให้เด็กเฝ้าแกอยู่นั้น เปิดอีกชั้นหนึ่ง แกได้ยินเสียงของเราเท่านั้นแหละ ความสงสัยหายหมดเหมือนปลิดทิ้ง

แล้วเล่าให้ฟังว่า ผมได้เล่าเรื่องต่างๆ ที่ผมภาวนาเป็นให้ลูกสาวฟังดังผมได้เล่าถวายอาจารย์นั้น พอเล่าไปเกิดวิตกขึ้นมาว่าตายจริง กูนี่ เป็นปาราชิก ข้อที่ว่าอวดอุตริมนุสสธรรมให้คนฟังแล้ว เกิดความร้อนใจแล้วจะสึกให้ได้ พอดีได้ยินเสียงอาจารย์มา ความเดือดร้อนอันนั้นเลยหายวาบไป ผมไม่สึกแล้วคราวนี้ เราได้บอกว่า ไม่เป็นการอุตริมนุสสธรรมดอก เราไม่ได้หวังลาภหวังยศและความสรรเสริญ เราพูดเพื่อศึกษาธรรมกันต่างหาก ไม่เป็นอาบัติ

หลังจากนั้น เราเป็นห่วงคิดถึงครูบาอาจารย์เพราะเราหนีจากอาจารย์มาได้ ๒ ปี จึงได้ลาท่านไปนครพนมเพื่อเยี่ยมพระอาจารย์เสาร์

๑๔.๓ อยู่ด้วยท่านอาจารย์เสาร์

ท่านอาจารย์เสาร์ตามปกติท่านไม่ค่อยเทศนา ถึงจะเทศน์ก็เป็นธรรมสากัจฉา ปีนี้เราไปอยู่ด้วยก็เป็นกำลังของท่านองค์หนึ่ง คือเดิมมีท่านอาจารย์ทุมอยู่แล้ว เราไปอยู่ด้วยอีกรูปหนึ่ง จึงเป็นสองรูปด้วยกัน และเราก็ได้ช่วยท่านอบรมญาติโยมอีกแรงหนึ่ง ปีนี้เราได้ขออาราธนาให้ท่านถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ทีแรกท่านก็ไม่อยากถ่าย พอเราอ้อนวอนอ้างถึงเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้บรรดาศิษยานุศิษย์และลูกหลานยุคต่อไปได้มีโอกาสกราบไหว้เคารพบูชาท่านถึงได้ยอม

นับเป็นประวัติการณ์ เพราะแต่ก่อนมาท่านไม่ถ่ายรูปเลย แต่กระนั้นเรายังเกรงท่านจะเปลี่ยนใจ ต้องรีบให้ข้ามไปตามช่างภาพมาจากฝั่งลาวมาถ่ายให้ เราดีใจมาก ถ่ายภาพท่านได้แล้วได้แจกท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ และท่านพระครูสีลสัมปัน (ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณธรรมสารมุนี) รูปท่านอาจารย์เสาร์ที่เราจัดการถ่ายครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นรูปของท่านครั้งเดียวที่มีโอกาสถ่ายไว้ได้

แม้ท่านอาจารย์มั่นก็เช่นเดียวกัน การถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเป็นเรื่องที่ท่านปฏิเสธเสมอ เราอาราธนาอ้อนวอนบ่อยๆ ท่านก็ว่า ซื้อขนมให้หมากินดีกว่า แต่เมื่อเราอ้อนวอนชี้แจงเหตุผลหนักเข้า สุดท้ายท่านก็ใจอ่อน ทำให้เป็นบุญของคนรุ่นหลังๆ ได้มีโอกาสมีรูปของท่านไว้กราบไหว้สักการะ

ออกพรรษาแล้วท่านพระอาจารย์เสาร์ได้เที่ยวไปฟากโขงฝั่งโน้น ไปพักอยู่ถ้ำส้มป่อย ซึ่งถ้ำนี้เมื่อท่านออกวิเวกครั้งแรก ท่านได้มาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น เป็นถ้ำใหญ่ มีหลายซอกหลายถ้ำติดกัน มีตู้พระไตรปิฎกอยู่ในนั้นด้วยแต่ไม่มีหนังสือ

เราได้ตามท่านไป แต่ท่านไม่ได้อยู่เสียแล้ว ท่านเข้าไปในถ้ำเสือ ซึ่งเดินไปอีกไกลจึงจะถึง ทางเข้าไปเป็นเขาวงกต มีภูเขาสลับซับซ้อนกันเป็นคู่ๆ ถ้ำที่ท่านอยู่มีเสือมาออกลูกทางใต้ถ้ำ เขาจึงเรียกถ้ำเสือ ทางบนขึ้นไปสูงราวเส้นหนึ่งเป็นถ้ำยาวไปทะลุออกฟากโน้น

ชาวบ้านเขาบอกว่าจุดไต้ไปหมด ๕ เล่ม จึงทะลุออกฟากโน้น ท่านอยู่ปากถ้ำนี้ มีพระเณร ๒-๓ รูป ไปด้วย มีตาแก่คนหนึ่งตามไปปฏิบัติท่าน ตาแก่คนนี้แกสุมไฟนอนอยู่ปากถ้ำ กลางคืนวันหนึ่งได้ยินเสียงดังฮือๆ แกลุกขึ้นมาก็ไม่เห็นมีอะไร แกสงสัยรุ่งเช้าเดินไปดูตรงที่ได้ยินเสียงนั้น ปรากฏว่าเห็นรอยเสือมายืนอยู่ตรงนั้น เข้าใจว่ามันจะเข้าไปในถ้ำ พอเห็นคนนอนอยู่มันเลยกลับ

ถ้ำนี้ราบเกลี้ยงสองข้างเป็นเหมือนหิ้งตู้รถไฟ มีน้ำย้อยอยู่ข้างใน พระไปตักเอาน้ำที่นั้นมาฉัน ไม่ต้องกรอง สะอาด ไม่มีตัวสัตว์ พระพาเราไปจุดเทียนไขหมดราวครึ่งเล่มสบายมากไม่มีอึดอัดใจ ห่างไกลจากหมู่บ้านราวหนึ่งกิโลเมตร เราอยู่ด้วยท่านสองคืนแล้วเดินทางกลับ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเราได้ข่าวว่าพวกคอมมิวนิสต์ขนครัวไปซุกอยู่ในนั้น อเมริการู้เข้าเอาลูกระเบิดไปทิ้งใส่ถ้ำ ลูกระเบิดถล่มปากถ้ำเป็นเหตุให้พวกคอมมิวนิสต์ตายอยู่ ณ ที่นั้นเป็นอันมาก ไม่มีใครไปรื้อออกน่าสลดสังเวชชีวิตของคนเรานี้ หาค่าไม่ได้เสียเลย

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2015, 20:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๕. พรรษา ๗ จำพรรษาบ้านนาทราย (พ.ศ. ๒๔๗๒)

จวนเข้าพรรษาท่านอาจารย์เสาร์ได้ให้เราไปจำพรรษาที่บ้านนาทราย พระอาจารย์ภูมีไปจำที่บ้านนาขี้ริ้นเพื่อฉลองศรัทธาญาติโยม พรรษานี้สุขภาพของเราไม่ดีเลย แต่เราก็ไม่ท้อถอยในการทำความเพียรภาวนากัมมัฏฐาน จนถึงขนาดพลีชีพเพื่อบูชาพระรัตนตรัยเอาเลย

มันให้คำนึงถึงอนาคตภัยทั้งส่วนตัวและพุทธศาสนาว่า บรรพชาเพศของเราจะอยู่ตลอดไปได้หรือไม่หนอ บางทีบ้านเมืองเกิดจลาจลประเทศชาติถูกข้าศึกรุกราน เราอาจถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร หรือมิฉะนั้นชาติบ้านเมืองตกไปเป็นขี้ข้าของชาติอื่น เราจะบวชอยู่ได้อย่างไร ถึงแม้จะอยู่ไปก็ไม่สะดวกแก่การปฏิบัติธรรมวินัย เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร


อนึ่งเวลานี้ครูบาอาจารย์ของเราก็ยังมีหลายท่านหลายรูปอยู่ เมื่อท่านเหล่านั้นแก่เฒ่าชราล่วงโรยไปหมดแล้วใครหนอจะเป็นผู้นำหมู่นำคณะในทางปฏิบัติศีลธรรมเล่า แสงแห่งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีแต่จะหรี่ลงทุกที เมื่อคิดไปๆ ก็ทำให้ใจเศร้าสลดสังเวชทั้งตัวเองแลพุทธศาสนาคล้ายๆ กับว่า กาลนั้นจะมาถึงเข้าในวันสองวันข้างหน้า ทำให้ใจว้าเหว่ยิ่งขึ้นทุกที พอมาถึงจุดนี้เราหวนระลึกย้อนกลับเข้ามาหาตัวว่า ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังปกติดีอยู่

ครูบาอาจารย์ผู้นำก็ยังมีอยู่พร้อมและเราก็ได้อบรมมาพอสมควรแล้ว เมื่อมีโอกาสเช่นนี้ เราจะต้องรีบเร่งทำความเพียรภาวนา จนให้เข้าใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจนพึ่งตนเองได้ หากจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนตัวหรือพระพุทธศาสนา เราก็จะได้ไม่เสียที

พอได้อุบายอันนี้ขึ้นมามันทำให้ใจกล้าปรารภความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว ทั้งๆ ที่ในพรรษาเรานั่งไม่ได้ ต้องใช้อิริยาบถเดินเป็นส่วนใหญ่ ออกพรรษาแล้วได้ทราบข่าวว่า คณะท่านอาจารย์สิงห์และพระมหาปิ่นกลับจากอุบลไปถึงขอนแก่นแล้ว เราจึงได้ไปลาท่านอาจารย์เสาร์แล้วออกเดินทางไปเพื่อนมัสการท่านทั้งสอง

พอดีในปีนั้นทางราชการได้ประกาศไม่ให้ประชาชนนับถือภูตผีปีศาจ ให้พากันปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัย ทางจังหวัดจึงได้ระดมคณะของท่านอาจารย์สิงห์ให้ช่วยปราบผี เมื่อเราไปถึงก็เลยเข้าขบวนกับท่านบ้าง

๑๖. พรรษา ๘ จำพรรษาที่บ้านพระครือกับพระมหาปิ่น (พ.ศ. ๒๔๗๓)

เราได้พาชาวบ้านย้ายวัดจากริมห้วยบ้านพระครือ ไปตั้งตอนกลางทุ่งริมหนองบ้านแอวมอง ภายหลังท่านอาจารย์มหาปิ่นจึงได้มาร่วมจำพรรษาด้วย ในพรรษานี้พระผู้ใหญ่มี พระอาจารย์ภูมี อาจารย์กงมา แลเรา โดยพระอาจารย์มหาปิ่นเป็นหัวหน้าตลอดพรรษาเราได้รับภาระแบ่งเบาเทศนาและรับแขก ช่วยท่านเป็นประจำทุกๆ วันพระ พระเณรและญาติโยมก็พากันตั้งใจปรารภความเพียรโดยเต็มความสามารถของตนๆ นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก

บางคนภาวนาเห็นนั้นเห็นนี่ต่างๆ นานา จนลืมบ้านลืมลูกเมียด้วยการเพลินใจในการภาวนา ออกพรรษาแล้วเราพร้อมด้วยอาจารย์ภูมีและคณะได้ลาท่านอาจารย์มหาปิ่นออกไปเที่ยววิเวกทางบ้านโจด หนองบัวบาน อำเภอกันทรวิชัย (โคกพระ) จังหวัดมหาสารคาม เขาได้นิมนต์ให้ไปพักที่หนองแวง ข้างโรงเรียนนั่นเอง ได้เทศนาอบรมประชาชนอยู่ ณ ที่นั้นพอสมควร แล้วญาติโยมทางบ้านโจด หนองบัวบานไปตามกลับมาภายหลัง ณ ที่นั้นได้กลายเป็นวัดถาวรไปแล้ว

การกลับมาบ้านโจด หนองบัวบานครั้งหลังนี้ ได้ไปพักที่ป่าดง ข้างหนองตอกแป้น คราวนี้มีผู้คนมาอบรมกัมมัฏฐานมากแลเป็นแม่ชีและชีปะขาวก็มาก ผู้ที่เข้ามาอบรมได้ผลเป็นที่อัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ลูกหลานผิดด่าว่าร้ายกันอยู่ในบ้านโน้น ภาวนาอยู่ที่วัดก็รู้ได้ คนที่ภาวนาเป็นก็เป็นอย่างน่าอัศจรรย์ คนที่ภาวนาไม่เป็นเพียงแต่บวชกับเพื่อนไปก็มี

วันหนึ่งพระภาวนา ได้นิมิตแม่ชีสาวมาขอจับเท้าพระ เราได้เรียกแม่ชีมาเทศน์ ให้เห็นโทษในกามทั้งหลายว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วชี้ลงที่รูปเป็นเหตุให้ติดหลายอย่าง จนเป็นเหตุให้แม่ชีคนนั้นรู้ตัว แกได้พูดว่า รู้ได้อย่างไร

จวนเข้าพรรษา ท่านอาจารย์สิงห์ได้สั่งให้เราไปจำพรรษาที่อำเภอพล ให้อาจารย์ภูมีอยู่แทนต่อไป

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.พ. 2015, 18:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1342


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๗. พรรษา ๙ จำพรรษาที่อำเภอพล (พ.ศ. ๒๔๗๔)

พรรษานี้ท่านเกตพี่ชายของเราก็ได้ไปอยู่ด้วย เรื่องการอบรมญาติโยมก็เป็นไปตามปกติ ด้านความเพียรส่วนตัวและพระเณรที่อยู่ด้วยก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ มีพิเศษอยู่ก็ที่โยมผู้หญิงคนหนึ่งแกเป็นหมอผี มีลูกน้องสิบกว่าคน แกเที่ยวรักษาคนป่วยเป็นอาชีพ เราได้แนะนำให้แกทิ้งผีเสีย แล้วมาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ถือผีเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เป็นบุญ ถือเอาคุณรัตนตรัยไว้เป็นสรณะ จึงเป็นบุญเป็นกุศลและได้ชื่อว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกา เป็นสัมมาทิฏฐิในพุทธศาสนาด้วย

แกบอกว่า ของแกก็ดี เวลาผีเข้าทรงแล้วนำไปเอาทรัพย์ในดิน แลกระโดดเข้าไปในกอไผ่หนามไม่เกี่ยวเลย

เราบอกแกว่า อันนั้นก็ดีดอกสำหรับผู้เชื่อ แต่ผีไม่เคยสอนให้ผู้ถือละบาปบำเพ็ญบุญ และรักษาศีลเลย มีแต่จะบอกให้เซ่นด้วยหัวหมูและเป็ดไก่เท่านั้น มันสอนให้เซ่นแล้วมันก็ไม่กิน แต่คนเป็นผู้ฆ่าสัตว์แล้วเซ่นผี เมื่อผีไม่กิน คนก็เอามากินเสียเองผีไม่ต้องรับบาป คนเป็นผู้รับบาปแล้ว ผีจะมาช่วยอะไรเราได้

พระพุทธเจ้านิพพานแล้วมิได้ไปเกิดเป็นผี นิพพานแล้วทิ้งคำสอนไว้สอนคนให้ละความชั่ว บำเพ็ญแต่ความดี ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น แล้วพระสงฆ์นำคำสอนนั้นมาสอนพวกเรา ตามแนวที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เราจึงได้รู้จักบาปบุญคุณโทษมาจนตราบเท่าทุกวันนี้มิใช่คำสอนของผี


แกตัดสินใจตกลงทิ้งผีมาปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัย ในคืนวันนั้นแกนำเอาคำสอนของเราไปปฏิบัติตามได้ผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ คือก่อนนอนไหว้พระสวดมนต์แล้วนั่งกัมมัฏฐานปรากฏว่าแกเห็นเด็กสองคน ผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายคนหนึ่ง มาโหนชิงช้าอยู่ที่ราวมือจับกระเดื่องตำข้าวที่ตีนบันไดบ้านแกนั้นเอง ไม่พูดไม่ทำอะไรทั้งนั้น การเห็นครั้งนี้คล้ายกับว่าเห็นด้วยตาเปล่า

แต่ขณะนั้นแกยังหลับตาอยู่ แกเลยมั่นใจว่าเออนี้ ผีมันเข้ามาหาเราไม่ได้แล้วนี่ คุณพระรัตนตรัยนี้ดีจริง สามีของแกก็เป็นหมอวิชาเหมือนกัน ถือเคร่งขนาดไม่ไหว้พระ ก่อนจะเข้าวัดต้องยกเท้าขึ้นไหว้ก่อน (ขอโทษ) เมื่อถือได้เคร่งตามครูสอนจริงๆ เหนียวทดลองได้เลย ฟันแทงตีไม่เข้าไม่แตกจริง

คืนวันนั้นแกนอนไม่หลับ พอเคลิ้มๆ ทำให้สะดุ้งตื่นตกใจเหมือนกับมีอะไรมาทำให้กลัว ฉะนั้นรุ่งเช้ามาจึงถามภรรยาว่า เธอไปหาอาจารย์ได้ของดีอะไร เมื่อคืนนี้ฉันนอนไม่หลับทั้งคืน ภรรยาบอกว่าอาจารย์ให้ของดีฉันมา ฉันจะพาไปหาอาจารย์ ในที่สุดได้พากันทิ้งผี มาปฏิญาณตนขอถึงพระรัตนตรัยทั้งสองตายาย


นี่เป็นเหตุการณ์ในพรรษานั้น

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 75 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร