วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2013, 12:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและผลงาน
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b49: :b50: :b49:

ประวัติทั่วไป

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
ที่บ้านโนนสูง ตำบลเลิงแฝก (ปัจจุบันคือตำบลหนองแวง)
อำเภอบรบือ (ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง) จังหวัดมหาสารคาม

ประวัติการศึกษาและการทำงาน

- เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน
ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ศึกษานักธรรมและบาลีไวยากรณ์
กับอาจารย์มหาบุดดี ปุญญากโร (บุดดี สุวรรณคำ) เจ้าอาวาส

- จนกระทั่งสอบได้นักธรรมโทจึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
โดยเป็นลูกศิษย์พระมหาชม ธมฺมธีโร (พระราชปริยัตยาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม)
สอบได้นักธรรมเอกและเปรียญ ๓ ประโยค

- หลังจากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดอัมพวันในบ้านเกิด สอบได้เปรียญ ๔ ประโยค
แล้วจึงเดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
เป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ

- พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต
ณ วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Trinity College, Cambridge University)
ประเทศอังกฤษ โดยการติดต่อประสานงานของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์
และได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิการศึกษาวัดทองนพคุณ พ.ศ. ๒๕๑๒
สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม)

- เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยได้สอนพระปริยัติธรรม ณ วัดทองนพคุณ ดังเดิม

- พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้ลาสิกขาและรับราชการเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

- พ.ศ. ๒๕๑๙ โอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ โอนกลับไปคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรตามเดิม
จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ ๙ ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕

วิทยฐานะ

- เปรียญธรรม ๙ ประโยคขณะเป็นสามเณร (หรือเรียกว่า “เณรนาคหลวง”
เป็นเณรนาคหลวงรูปแรกในรัชกาลที่ ๙ สมัยเริ่มสอบด้วยข้อเขียน
และเป็นรูปที่ ๓ ในสมัยรัตนโกสินทร์) อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์

- ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

- ปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาสี-สันสกฤต) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๔๘

- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
(มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะมหานิกาย) พ.ศ. ๒๕๕๐

ผลงาน

ด้านการประพันธ์

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้เขียนบทความลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์
เมื่อครั้งเป็นพระภิกษุ โดยการชักชวนของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์
ภายหลังได้เขียนบทความลงในนิตยสารต่างๆ เช่น ต่วยตูน, แม่และเด็ก, รักลูก, ชีวจิต เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์มติชน
มีผลงานที่พิมพ์เป็นเล่มประมาณ ๑๐๐ เล่ม

นามปากกา

ไต้ ตามทาง ใช้เขียนเรื่องประเภทขำขันทีเล่นทีจริง
เปรียญเก้าประโยค ใช้เขียนเรื่องประเภทการใช้ภาษา
เสฐียรพงษ์ วรรณปก ใช้เขียนเรื่องประเภทวิชาการและสารคดี

มีผลงานหนังสือทางวิชาการและกึ่งวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่มากกว่า ๑๐๐ เล่ม
อาทิ พุทธวจนะในธรรมบท, พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์, พุทธจริยาวัตร พากย์ไทย-อังกฤษ,
พุทธจริยาวัตร ๖๐ ปาง, มีศัพท์มีแสง, บทเพลงแห่งพระอรหันต์ : Song of the Arahant,
เพลงรักจากพระไตรปิฎก, พระไตรปิฎกวิเคราะห์, สองทศวรรษในดงขมิ้น,
สู่แดนพุทธภูมิ, ไปไหว้พระบาทพระพุทธองค์, เนื้อติดกระดูก, นิทานปรัชญาเต๋า,
พุทธวิธีแก้ทุกข์, สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ, ยุทธจักรดงขมิ้น, ใต้ร่มใบบุญ,
ฤาสมัยนี้โลกมันเอียง, จุดศูนย์ถ่วง, บัวบานกลางเปลวเพลิง, ฝ่าความมืดสีขาว,
ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ, สวนทางนิพพาน, พุทธศาสนสุภาษิต, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ,
ชุดสิบล่อหั่น (สิบอรหันต์) สี่เล่ม (๑. สิบล่อหั่นต้นพุทธกาล ๒. สิบล่อหั่นชีวิตพิสดาร
๓. สิบล่อหั่นหญิง ๔. สิบล่อหั่นน้อย) จุดประกายแห่งชีวิต, ภูฏาน ดินแดนแห่งพุทธศาสนา,
ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา, พระไตรปิฎกศึกษา ชุด ๑ ธรรมะนอกธรรมาสน์,
พระไตรปิฎกศึกษา ชุด ๒ วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์, คำบรรยายพระไตรปิฎก,
ช่องที่ไม่ว่าง, ผีสางคางแดง, สูตรสำเร็จชีวิต, ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์,
คุณธรรมสำหรับนักบริหาร, จากเสฐียรพงษ์ถึงพระเทพเวที และพุทธทาสภิกขุ,
ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย : ทางออกกรณียันตระ อมโร,
สองอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ หลวงพ่อพุทธทาส และหลวงพ่อชา,
คิดเป็นทำเป็นตามนัยพุทธธรรม, บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์,
เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม,
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นอุบาสกรัตนะ,
พระสูตรดับทุกข์, ธรรมะสู้ชีวิต, เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก,
มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางสองมิติ และสัปปุริสธรรม ๗ นัยที่สอง, ๙ พุทธ ๙ เต๋า ๙ เซ็น,
สติ-สมาธิ, พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์, ธรรมะ HOW TO ฯลฯ

เกียรติคุณที่ได้รับ

- ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต
ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๕

- ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้เขียนหนังสือพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๓๕
ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ รายการส่งเสริมคุณธรรมดีเด่น
รายการ “ดรุณธรรม” ทางช่อง ๕ พ.ศ. ๒๕๓๕

- ได้รับประทานเข็มเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายร้อยอากาศอาวุโส กองทัพอากาศ พ.ศ. ๒๕๓๕

- ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายร้อยสามพราน กรมตำรวจ

- ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ. ๒๕๔๓ สาขามนุษยศาสตร์
ในฐานะได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ความสามารถ
และแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและมีชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา

- ได้รับรางวัลหนังสือวิชาการยอดเยี่ยมแห่งปี พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จากบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยรับรางวัลร่วมกับคุณดำเนิน การเด่น

- ได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จากคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๕๓

รูปภาพ
พระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม) กับ อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ตำแหน่งและประสบการณ์

- เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาปรัชญาศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร

- เป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาศิลปากร, จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และเป็นอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและจริยธรรมตามสถาบันต่างๆ

- เป็นที่ปรึกษา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ข่าวสด

- เป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์, รายปักษ์ และรายเดือน หลายฉบับ

- เป็นราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์

- เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๑

- เคยรับราชการเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ ๙ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

- เป็นกรรมการร่างหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

- เป็นผู้แต่งตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

- เป็นประธานกรรมการจัดทำคู่มือการสอนพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

- เป็นประธานกรรมการผลิตตำราเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน

- เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการศาสนา จริยธรรม และวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙

- เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการฝ่ายกฎหมายพระพุทธศาสนา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙

- เป็นรองประธานคนที่ ๓ กรรมาธิการวิสามัญศึกษาและส่งเสริมการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
แก่นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙

- เป็นประธานอนุกรรมาธิการจริยธรรมสำหรับข้าราชการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙

- เป็นประธานอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙

- เป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ บรรพชาสามเณร ๘๔,๐๐๐ รูป
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙

- เป็นกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ไถ่ชีวิตโค-กระบือ
และบรรพชาสามเณร ๘๔,๐๐๐ รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙

:b45: :b45:

:b8: :b8: :b8: ที่มา ::
๑.) http://th.wikipedia.org/
๒.) อ้างอิงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ (นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก)
๓.) ราชกิจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย
ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ข วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2018, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


“สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก”
สามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยค รูปที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยค รูปแรก
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙





เดี๋ยวมาต่อค่ะ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2018, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อดีตชาติ
ของ
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b50: :b49: :b50:

รูปภาพ
หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน)
อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ หรือวัดทองแอ๋ กรุงเทพฯ
พระอาจารย์ของ ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


รูปภาพ
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b44: อดีตชาติของผม

ผมเป็นเด็กบ้านนอกชาวอีสาน เกิดที่จังหวัดมหาสารคาม (ไม่ใช่ในจังหวัด อยู่หมู่บ้านกลางป่ากลางดอย ชายแดนระหว่างอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม) ไม่มีสายสัมพันธ์อะไร ทางไหน กับวัดทองนพคุณ หรือหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นชาวบ้านโพ จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่มาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อได้อย่างไร ทั้งๆ ที่หลวงพ่อไม่เคยมีศิษย์สามเณรรับใช้เลย ท่านอยู่องค์เดียว มีเด็กวัดอุปัฏฐากรับใช้อยู่กุฏิเดียวกันคือ คณะ ๓ กับหลวงพ่อเจ้าคุณภัทร แล้วเณรบ้านนอกชาวอีสานโผล่เข้ามาได้อย่างไร

หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ท่านบอกว่าเป็น “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งหลังจากผมสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคแล้ว ท่านได้ปิดประตูเล่าเรื่องมหัศจรรย์พันลึกให้ผมทราบ หลังจากเล่าให้คุณพยุง ตัญญะแสนสุข ไวยาวัจกรสมัยนั้น ฟังมาก่อนแล้ว

นิสัยของหลวงพ่อนั้นไม่ค่อยเชื่อในเรื่องที่เหนือสามัญวิสัย ยิ่งเป็นเรื่องหมอดูหมอเดาแล้วยิ่งไม่เอาเลย ท่านเคยเล่าว่า หมอจีนเคยมาเคาะกระดูกขาท่าน แล้วทายว่าอายุ ๕๐ จะตาย (ประมาณนั้น ผมจำไม่แม่น) แต่แล้วก็ไม่เห็นตาย ไอ้หมอดูหมอเดามันตายก่อนพ่อเสียอีก เล่าพลางหัวเราะด้วยความขบขัน แต่เรื่องเกี่ยวกับผม ท่านไม่ยักหัวเราะเยาะ กลับเชื่อสนิทว่าเป็นเรื่องจริง ยิ่งพิสูจน์ว่าผลออกมาตรงกับข้อสมมติฐานก็ยิ่งเชื่อแบบฝังหัวเลย

เรื่องอะไรหรือครับ ก็เรื่องที่ว่า ผมชาติก่อนเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับท่าน ท่านว่าก่อนท่านมาบวชนั้นท่านมีแฟนอยู่แล้ว (ชื่อ สุภาพ) และกำหนดจะแต่งงานกัน แต่พระญาติกันที่มาอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปเยี่ยมบ้านเกิด นำท่านมาบวชเรียนอยู่ที่วัดทองนพคุณ (เข้าใจว่า พระครูธรรมกิจจานุรักษ์) เมื่อบวชแล้วก็แล้วเลยลืมเรื่องนี้สนิท

จนกระทั่งเรียนบาลีมาถึงประโยค ๕ ประโยค ๖ เป็นโรคปวดศีรษะอย่างแรง เพราะเรียนหนัก หมอแนะนำให้ไปพักผ่อนต่างจังหวัด ท่านก็กลับบ้านเกิด ก็ไปรู้จากโยมชื่อแสง ว่า แฟนเก่าของท่าน ซึ่งปฏิเสธการแต่งงานกับคนที่มาขอทุกราย ครองตัวเป็นโสดมาตลอด ตอนนี้ป่วยเป็นวัณโรค ต้องการพบท่าน โยมแสงนำท่านไปพบผู้หญิงคนนี้ซึ่งป่วยหนัก นางได้นำหนังสือสวดมนต์มาถวาย แล้วอธิษฐานว่า ถ้าชาติหน้ามีจริง ก็ขอเกิดเป็นศิษย์เล่าเรียนจากท่านให้สำเร็จชั้นสูงๆ


หลวงพ่อกล่าวว่า หลังจากท่านกลับวัดทองนพคุณแล้วไม่นาน ก็ได้ข่าวว่า สาวชื่อสุภาพนั้นก็สิ้นชีวิต และท่านก็ลืมเรื่องนี้สนิท ท่านว่าอย่างนั้น พอวันที่พบหน้าสามเณรน้อยจากอีสานรูปหนึ่ง (คือผมเอง) ภาพเก่าๆ ก็ผุดขึ้นในสมอง ถามไถ่ว่ามาเรียนบาลีประโยค ๕ กับท่าน ท่านเล่าว่า “พ่อจึงแน่ใจว่า ลูกคือสุภาพ และถ้าจริงตามนี้ ลูกจะต้องสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคตั้งแต่เป็นเณร และบัดนี้ก็เป็นจริงแล้ว” หลวงพ่อเล่าให้ผมฟัง พร้อมกับหยิบหนังสือสวดมนต์ ซึ่งมีลายมือหญิงชื่อสุภาพมายืนยันว่า “นี่พ่อเก็บหนังสือนี้ไว้จนบัดนี้”

ผมก็ถึงบางอ้อในวันนั้นว่า “ทำไมหลวงพ่อจึงพูดกับใครต่อใคร แม้กับพระผู้ใหญ่ว่า จะสอนให้เณรได้เปรียญ ๙ ประโยค มิไยใครจะหัวเราะขบขันว่า ไม่มีทางเป็นจริงได้”

เมื่อผมมาอยู่กับท่านแล้ว หลวงพ่อได้เปลี่ยนชื่อให้ผม จากชื่อเดิม “ทองพัฒน์” เป็น “เสฐียรพงษ์” (ซึ่งเป็นชื่อที่ผมไม่ชอบเลย) เหตุผลของท่าน นอกจากจะหาว่าชื่อบ้านนอกแล้ว ลึกๆ คือ อยากให้ชื่อผมมีพยัญชนะ ส ตัวเดียวกับชื่อหญิง สุภาพ ที่ท่านเชื่อนักเชื่อหนาว่าเป็นผู้มาเกิดเป็นผมในชาตินี้ ผมเล่าถึงตอนนี้ ศิษย์รุ่นน้อง เช่น อุทัย เมตตานุภาพ วีระ บัวทอง แม้กระทั่ง สวัสดิ์ เอบกิ่ง อดีตคนขับรถหลวงพ่อ ร้องว่า ไม่เห็นรู้เลยว่า ชื่อเดิม “ทองพัฒน์” ฝ่ายอุทัยหัวไว พูดขึ้นมาทันทีว่า “สงสัยเขียน พัด มากกว่า เด็กบ้านนอกมีหรือชื่อจะเขียนแบบบาลีว่า พัฒน์” ซึ่งจริงดังอุทัยตั้งข้อสังเกตครับ (ฮิฮิ)

จำได้ว่าเคยเล่าให้คุณชูเกียรติ อุทกพันธ์ เพื่อนผู้ล่วงลับฟัง คุณชูเกียรติเอ่ยว่า “ผู้หญิงคนนั้นคงขี้เหร่น่าดูสินะ” ผมย้อนว่าทำไม “อ้าว แหมน่าจะรู้” แล้วก็หัวร่อขบขัน ตามปกติเพื่อนผมเป็นคนสุภาพมาก นานๆ จะกระเซ้าเย้าแหย่แรงขนาดนี้ คงถือว่าเป็นเขยจุฬาฯ ด้วยกัน

ขอย้อนไปอีกนิด ว่าผมได้เข้ามาอยู่วัดทองแอ๋ได้อย่างไร ตอนผมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ พักอยู่ที่วัดพิชัยญาติ กับหลวงพี่มหาสมพร ประวรรณากร (ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อด้วย) ได้มาเรียนบาลีประโยค ๕ ที่วัดทองนพคุณ ร่วมกับพระนักเรียนจากวัดต่างๆ ประมาณ ๑๐๐ รูปเห็นจะได้ เป็นชั่วโมงแรก ปีนั้นโรงเรียนพระปริยัติธรรมถูกไฟไหม้ โรงเรียนสร้างใหม่ยังไม่เรียบร้อยดี ท่านจึงเปิดการเรียนการสอนที่ศาลาในโบสถ์

ทันทีที่เห็นผมก็ถามว่า เณรเปี๊ยกนี้มาทำไม ผมเรียนท่านว่า มาเรียนประโยค ๕ ท่านถามอีกว่า “เณรนี่นะหรือจะเรียนประโยค ๕ อายุเท่าไหร่” ผมก็บอกท่านไป ท่านก็อธิบายวิชาเรียน สักพักหนึ่งแล้วก็แจกกระดาษคำถาม ให้นักเรียนทำในห้อง ใครทำเสร็จก็ให้กลับวัดได้

ผมก็ตั้งใจตอบ เสร็จแล้วก็เดินลงศาลาจะกลับวัด หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ยืนรออยู่ที่ประตูโบสถ์ (ภาพนั้นก็ติดตาผมจนบัดนี้เหมือนกัน) ท่านถามว่าอยู่กับใคร เมื่อทราบว่าอยู่กับหลวงพี่มหาสมพร ท่านก็ชวนว่า “เณรอยากมาอยู่ด้วยกันไหม” ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร จึงว่าแล้วแต่หลวงพี่มหาสมพร ท่านจึงให้ไปบอกมหาสมพรมาหา ผมไปถึงวัดก็เล่าให้หลวงพี่ฟัง หลวงพี่ผมก็รีบมาหาท่าน กลับมาบอกหลังจากประมาณหนึ่งชั่วโมง ว่าให้รีบเก็บข้าวเก็บของ ย้ายวันนี้แหละ

ผมถามว่าจะให้ผมย้ายไปไหน หลวงพี่ว่า “ไปอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณวัดทอง”

“ทำไมต้องวันนี้” ผมแย้ง

“หลวงพ่อบอกว่า วันนี้เป็นวันเปลี่ยนแปลง ชีวิตเณรจะได้เปลี่ยนด้วย”

“เปลี่ยนแปลงอะไร”

“วันนี้เป็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน ตรงกับวันปฏิวัติ” หลวงพี่บอก ผมจึงถึงบางอ้อ


ครับ ชีวิตผมเกี่ยวข้องกับเรื่องประหลาดๆ เกี่ยวกับหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิลพัทธ สุนัขตัวโปรด และเรื่องอื่นๆ อีก ทำให้ได้เรียนรู้จิตใจของคนบางคนหรือหลายคน ซึ่งจะไม่ขอเล่า แต่จะเล่าไปตามลำดับเท่าที่นึกได้ คราวนี้ขอเล่าเรื่อง “อดีตชาติ” ของผมก่อน ความจริงก็เคยเล่าใน “ต่วยตูน” และรวมพิมพ์ใน “สองทศวรรษในดงขมิ้น” (สำนักพิมพ์มติชน) ถึงนำมาเล่าอีกก็คนละ version (ฮิฮิ)

ศิษย์รุ่นน้อง ซึ่งที่ถูกควรเรียกหลานศิษย์คนหนึ่ง หาหนังสืออนุสรณ์ฉลองและเปิดตึกโรงเรียนนพคุณวิทยาประสิทธิ์ มาให้ผม หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์หลังจากโรงเรียนเก่าถูกไฟไหม้ แล้วก็ได้สร้างอาคารเรียนขึ้นมาใหม่ ด้วยเงินที่ประชาชนบริจาครวมทั้งงบประมาณจากรัฐบาล ๑ แสนบาท ถ้าสังเกตสักนิดจะเห็นป้ายโรงเรียนว่า “นพคุณวิทยาประสิทธิ์” แต่ป้ายบริเวณที่ตั้งโรงเรียนกลับเขียนว่า “บริเวณล้อมวิทยาประสิทธิ์” มิใช่ความผิดพลาด หรือเผอเรอแต่อย่างใด หากเป็นความตั้งใจที่จะปลูกสำนึกแห่งคุณธรรมความกตัญญูกตเวทีแก่อนุชนรุ่นหลัง (รายละเอียดเล่าไว้แล้วในตอนที่ ๒)

หนังสืออนุสรณ์เล่มนี้มีภาพพระนักเรียน นั่งเรียนบนศาลาในโบสถ์บ้าง ในโบสถ์บ้าง ตามเสมานอกโบสถ์บ้าง โดยพระมหาเสรี ธมฺมเวที (พระเทพปริยัติสุธี) อดีตเจ้าอาวาส เขียนกลอนบรรยายไว้ เห็นภาพยิ่งนัก ผมขออนุญาตนำมาให้อ่าน

ภาพที่หนึ่งศาลาคราไฟไหม้ ที่อาศัยศึกษาหน้าวิหาร
หลังคารั่วฝนสาดนั่งอัดกัน แดดไล่ทันหมดที่หนีกำบัง

ภาพที่สองมองไปในด้านหน้า ทั้งเณรพระเต็มหมดถึงจดหลัง
ตั้งเก้าอี้ยัดเยียดจนเบียดบัง จากหน้าหลังมองดูไม่รู้ใคร

ภาพที่สามด้านหน้าในท่าเฉลียง เฉพาะเพียงทิศเหนือก็เหลือหลาย
ต่างจังหวัดวัดวามามากมาย เวลาบ่ายโมงครึ่งจึงเข้าเรียน

ภาพที่สี่จากหลังไปข้างหน้า นักศึกษาเพ่งพิศและขีดเขียน
ท่านเจ้าคุณกิตติสารฯอาจารย์เรียน แจกข้อเขียนยืนดูหมู่ศิษยา

ภาพที่ห้าเก้าอี้ที่โยมสร้าง ไม่พอนั่งนักเรียนเขียนปัญหา
อาศัยโบสถ์พากเพียรเรียนวิชา จนถึงห้าชั่วโมงตรงทุกวัน

ภาพที่หกยังดีมีที่เขียน นั่งวงเวียนเรียงตามทั้งสามด้าน
รอบอาสน์สงฆ์นั่งชิดติดติดกัน น่าสงสารนั่งเบียดยัดเยียดกาย

ภาพที่เจ็ดเหลือทนบนอาสน์สงฆ์ ชวนกันลงข้างล่างก็ยังได้
บ้างนอนคิดนั่งเขียนเรียนกันไป ที่เมื่อยไซร้ลงนอนพักผ่อนพลาง

ภาพที่แปดในโบสถ์ก็หมดที่ ยังพอมีสีมาด้านหน้าหลัง
ทั้งสี่ทิศรองเขียนเรียนประทัง บ้างใช้ต่างโต๊ะเขียนเรียนวิชา

ภาพที่เก้าใช้ที่เก้าอี้ตั้ง สองรูปนั่งเขียนได้บ้างใช้ขา
รอญาติโยมสร้างให้ใจศรัทธา จะจัดหาสร้างให้พอได้เรียน


ท่านเป็นศิษย์รุ่นหลังเกิดไม่ทันบรรยากาศสมัยที่วัดเราเป็นสำนักให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรจากต่างวัด ดุจเป็น “มหาวิทยาลัยตักกสิลา” ก็มิปาน ลองหลับตาวาดภาพดู จะเห็นบรรยากาศดังกล่าวแจ่มชัดในใจ เป็นที่ปลื้มปีติอย่างยิ่ง

:b8: :b8: :b8: จากบทความ...สำนักวัดทองนพคุณ
เขียนโดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25870

• ประวัติและผลงาน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44336

• รวมคำสอน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38913

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร